ฉบับที่ 246 หลอก หลอก หลอก

        ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ยังไม่ลดลง สถานการณ์การหลอกหากินของกลุ่มมิจฉาชีพ บนความหวาดกลัวจะติดเชื้อของประชาชนก็ไม่ลดลงเช่นกัน มีอะไรๆ มาพวกนี้ก็ช่างหาเรื่องมาหลอกได้ทุกเรื่อง         หลอกขายสมุนไพรต้านโควิด         มีข้อมูลของแพทย์ออกมาเตือนภัยผ่านทางโซเชียล ซึ่งข้อมูลที่อ่านพบปรากฎว่าคล้ายกับข้อมูลที่น้องๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาเล่าให้ฟัง คือ ในโลกออนไลน์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์บรรจุในแคปซูล โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรต้านโควิด นำมาจากคลินิก ไหนๆ ก็โฆษณาแล้วจะไม่ขายก็ดูกระไรอยู่ หลังจากปลุกอารมณ์และความหวังของผู้คนที่กำลังหวาดระแวงว่าตนเองจะติดเชื้อโควิดหรือไม่ ก็ขายมันซะเลย ทำให้ผู้ที่กังวลว่าจะป่วยหรือผู้ป่วยโควิดบางรายหลงเชื่อ ยอมเสียเงินสั่งซื้อมากิน กินไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น บางรายอาการกลับแย่ลง ตรวจพบว่ามีภาวะผิดปกติ บางรายพบว่าเซลล์เม็ดเลือดลดลงด้วย         หลอกขายประกันโควิด         ไม่ได้มีแต่หลอกขายผลิตภัณฑ์ มีข้อมูลจากน้องในชุมชนทางอีสานเล่าให้ฟังว่า ในขณะที่หลายคนกำลังลังเลว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดดี จะไม่ฉีดก็กลัวคิดเชื้อ แต่ถ้าฉีด ก็กลัวจะเกิดการแพ้จนอันตราย ในที่สุดก็มีแก๊งหัวใส อาศัยจังหวะนี้ตระเวณไปหลอกขายประกันเกี่ยวกับโควิด ทั้งประกันการติดเชื้อโควิด และประกันการแพ้วัคซีน โดยเลือกเหยื่อที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการประกัน สุดท้ายเมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายเงินไปแล้ว ก็หายหน้าไปเลย ไม่ได้กรมธรรม์อะไรกลับมา         หลอกขายวัคซีนทางเลือก         ที่จังหวัดอุดรธานี พบเหตุการณ์มีผู้ตระเวณหลอกขายวัคซีนซิโนฟาร์ม ในราคาเข็มละ1,800 บาท โดยอ้างว่าเหลือจากที่ฉีดให้บุคลากรของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผู้หลงเชื่อรวม 20 คน ตกลงจ่ายเงินยอมซื้อ โดยผู้ที่หลอกขายอ้างว่า เมื่อจ่ายเงินแล้ว จะให้ไปฉีดได้ที่จุดบริการฉีดของโรงพยาบาล มีการระบุเวลานัดหมายให้เรียบร้อย นอกจากนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังพยายามสร้างความน่าเชื่อถือ โดยสร้างกลุ่มไลน์ โดยมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นแพทย์เป็นผู้ดูแลกลุ่ม คอยให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ตลอด จนเมื่อถึงวันฉีดวัคซีน ผู้ที่จ่ายเงินไปแล้วเดินทางไปฉีดวัคซีนที่จุดบริการของโรงพยาบาล ปรากฎว่าไม่มีรายชื่อของตนแต่อย่างใด เมื่อไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลก็พบว่า แพทย์ที่มีการอ้างชื่อและคอยให้ข้อมูลในกลุ่มไลน์ ก็ไม่ใช่แพทย์ด้วย         เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ ทุกครั้งจะได้ไม่ถูกหลอก         เนื่องจากการจัดการปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานประเทศต้องมาร่วมกันดูแล ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียด มีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีใครมาหลอกลวงจนเกิดอันตรายได้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องมาขออนุญาตและพิสูจน์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าปลอดภัยไม่มีอันตราย การขายประกันก็มีหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้ดูแลอยู่ ส่วนการบริการฉีดวัคซีน ก็มีระบบและรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดดูแล ดังนั้นหากใครมาแนะนำหรือชักชวนอะไรเกี่ยวกับโควิด ให้เราเสียเงินเสียทอง อย่าเพิ่งรีบเชื่อนะครับ ให้ เอ๊ะๆๆ ไปหลายๆ ครั้ง ถ้าไม่แน่ใจก็ไปสอบถามที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้ตัวได้เลย เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ จะได้ไม่ถูก หลอก หลอก หลอก นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 อย่างนี้ก็ได้เหรอ เมื่อต้องเจอโควิด (2)

2. ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ก่อนตัดสินใจนำมาใช้        2.1 กินฟ้าทะลายโจร ป้องกันรักษาโควิด 19        ตามที่มีข่าวว่าฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ได้ ทำให้ประชาชนหลายคน แห่ไปซื้อยาฟ้าทะลายโจรเพื่อมารับประทานอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโควิด 19  หรือหากตัวเองติดเชื้อแล้วก็จะสามารถหายได้โดยไม่ต้องไปรักษาที่ไหน ในแง่วิชาการ ฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญคือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งการทดลองในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ แต่ปีที่ผ่านมาทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการทดลองเพิ่มเติมพบว่า เมื่อมาอยู่ในเซลล์ร่างกายจะป้องกันโคโรนาไวรัสได้หรือไม่ ปรากฏว่ายังไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้         อย่างไรก็ตามสารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรนั้น ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางตัวได้และฟ้าทะลายโจรยังเป็นยาลดไข้ที่ดี จึงมีการกำหนดในบัญชียาหลักในสรรพคุณที่ ลดไข้ได้ และเนื่องจากในผู้ป่วยโควิด19 จะมีภาวะการอักเสบ ซึ่งฟ้าทะลายโจรสามารถลดการอักเสบและส่งเสริมภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งในการศึกษาวิจัยใน 9 รพ. (มีผู้ป่วยจำนวน 304 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยอาการน้อย) เมื่อให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง อาจมีเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือถ่ายเหลว แต่ไม่มาก จึงน่าจะเป็นทางเลือกในการใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และมีแนวโน้มที่ดีในการจะนำมาใช้ประโยชน์ในผู้ป่วยโควิด 19 ได้ ซึ่งหากมีความก้าวหน้ามากขึ้นจะนำมาเผยแพร่ต่อไป         แต่ฟ้าทะลายโจรเองก็มี ข้อห้ามในการใช้ เช่นกัน เช่น ผู้ป่วยรายใดมีประวัติเคยแพ้ฟ้าทะลายโจร หากรับประทานครั้งแรกมีผื่นคันขึ้นต้องหยุดใช้ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรก็ไม่ควรใช้ รวมทั้งผู้ป่วยโรคตับ โรคไตก็ต้องหลีกเลี่ยงและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและรับประทานยาประจำ โดยเฉพาะยาลดการแข็งตัว อย่างยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ซึ่งเป็นยาที่จ่ายให้กับผู้ป่วยอัมพฤตอัมพาต หรือเส้นเลือดหัวใจตีบต้องระวัง และผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันโลหิตก็ไม่แนะนำให้ใช้ร่วมกัน”         การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน สามารถเป็นข้อแนะนำได้ในเบื้องต้น แต่ต้องรับประทานฟ้าทะลายโจรประมาณ 20 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หยุด 2 วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 3 เดือน         2.2 กิน กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ป้องกันรักษาโควิด 19         ตามที่มีคลิปผู้ป่วยโควิด19 ใช้สมุนไพรพวก กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มาต้มแล้วดื่ม ปรากฏว่าอาการป่วยดีขึ้น จึงแนะนำให้ผู้ป่วยอื่นๆ ทำตามดูบ้าง         ในแง่วิชากการ สมุนไพรเหล่านี้ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อโควิด 19 ได้ แต่อาจมีประโยชน์ตรงที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง การป่วยจึงฟื้นตัวจนหายได้เร็วขึ้น แม้ในการศึกษาจะพบว่า กระชายได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงกับฟ้าทะลายโจรในการต้านไวรัส แต่ก็ต้องใช้ปริมาณมากจนเป็นไปยากเพราะต้องใช้กระชายถึงครั้งละ ครึ่งกิโลกรัม         ดังนั้นหากเราจะเลือกสมุนไพรเหล่านี้มาบริโภค ก็อย่าคาดหวังผลในการรักษาโควิด 19 แต่ให้หวังผลในแง่สุขภาพที่อาจจะดีขึ้นบ้างเล็กน้อย และไม่ควรไปซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ราคาแพงๆ ที่วางขาย เพราะจะไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไปในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 อย่างนี้ก็ได้เหรอ เมื่อต้องเจอโควิด (1)

        การระบาดของโควิด 19 ในระลอกล่าสุด ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ และเกิดความตื่นตัวของผู้คนในการแสวงหาสิ่งต่างๆ มาป้องกันตัวหรือต่อสู้กับเจ้าเชื้อโควิด 19 กันจ้าละหวั่น นักวิชาการและนักวิชาเกิน เช่น ผู้ผลิต ผู้ขาย หลายท่านก็ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน ยิ่งให้ข้อมูลบางทีชาวบ้านก็ยิ่งสับสนเพราะมันดูน่าเชื่อถือไปหมด สุดท้ายพอตัวเองคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ก็อ่อนระทวยเสียเงินไปหามากินมาใช้ไปตามๆ กัน         ผมพยายามรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดและตัดสินใจได้ว่าอะไรควรใช้ อะไรไม่ควรใช้ อะไรน่าเสี่ยง อะไรไม่ควรเสี่ยง สรุปพอหอมปากหอมคอในช่วงนี้ดังนี้ 1. ห้ามเด็ดขาด เพราะได้ไม่คุ้มเสีย1.1 ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพวิโดน ไอโอดีน กลั้วคอ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ลงสู่ปอด         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นเท็จ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึง คือ โพวิโดนไอไอดีนชนิดกลั้วคอ มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค จุลินทรีย์หรือแบคทีเรีย ลดอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอดได้         นอกจากนี้ การที่มีผู้แนะนำให้ใช้น้ำมะนาวมากลั้วคอแทน ก็ไม่สามารถได้ผลเช่นเดียวกัน 1.2 ห้ามตุนยา Hydroxychloroquine เพื่อใช้รักษาโควิด-19         ตามที่มีการแชร์ข้อความว่า "ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ใช้ยา Hydroxychloroquine รักษาหายทุกราย ให้หาซื้อยามาไว้ที่บ้าน" ทางกรมการแพทย์ได้ชี้แจงว่า มีข้อมูลบิดเบือน เนื่องจากปัจจุบันยา Hydroxychloroquine ถูกแนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการ ตามแนวทางการรักษาที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขจริง แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงขนาดรักษาได้หายทุกรายตามที่กล่าวอ้าง และในแนวทางการรักษาล่าสุด มีการแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ไม่ใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา นอกจากนี้การใช้ยาไม่ถูกวิธีทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของยาได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อมและมีโอกาสทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยมากขึ้น 1.3 ตระเวณหา ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสอื่นๆ เพื่อมากักตุนใช้เองที่บ้าน         จากการที่ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ถูกนำมาใช้ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนบางคนถึงกับพยายามตระเวณไปตามร้านยาเพื่อเสาะหายานี้ หรือหายาต้านไวรัสอื่นๆ มากักตุนไว้กับตัวเองเพื่อใช้รับประทานป้องกันการติดโควิด         ขอย้ำเตือนว่า ยาต้านไว้รัสเหล่านี้จะต้องใช้ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์และใช้เมื่อจำเป็น การนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง นอกจากจะเกิดผลเสียต่อร่างกายตนเองแล้ว ยังจะยิ่งทำให้เกิดการดื้อยาจนส่งผลเสียต่อระดับประเทศได้ 1.4 กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง กินรักษาโควิด 19         ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่สรุปได้ชัดเจนว่า กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง สามารถป้องกันหรือฆ่าเชื้อโควิด19 ได้ การหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากินจึงไม่เกิดประโยชน์ หนำซ้ำจะเกิดผลเสียตามมาอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 นักโภชนาการก็มา ใบอนุญาตโฆษณาก็มี

        ผลิตภัณฑ์อาหารที่อวดอ้างสรรพคุณในการลดน้ำหนักยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีอยู่เรื่อยๆ แม้หลายรายจะโดนดำเนินคดีฐานโฆษณาเกินจริงไปแล้วก็ตาม  และแม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะร่วมมือกับหน่วยงานร่วมต่างๆ พยายามช่วยกันกวดขันและออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุม แต่อย่าลืมว่าผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ต่างก็พัฒนาวิธีการของตนเองให้หลบเลี่ยงกฎหมายได้อยู่เรื่อย         ล่าสุดพบผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่แชร์กันมาในโซเชียล เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ก็มีข้อความที่บอกถึงสรรพคุณในการลดน้ำหนัก และเนื่องจากข้อกำหนดตามกฎหมาย การโฆษณาสรรพคุณอาหารไม่สามารถนำบุคลากรทางการแพทย์มาประกอบการยืนยันได้ ผู้ผลิตจึงเลี่ยงไปใช้ข้อความอ้อมๆ ดังนี้          “ซื้อ (ชื่อผลิตภัณฑ์) แถมที่ปรึกษานักโภชนาการตัวจริง ลดได้ไวกว่าใคร สบายใจกว่า แถมฟรีด้วยนะ         1. ได้ผลจริง ไม่เสียเวลา ไม่เสียเงินฟรี  กินยังไงให้ถูกวิธี ได้ผลดีที่สุด ลดเร็วที่สุด        2. ลดน้ำหนักได้อย่างถาวร ไม่กลับมาโยโย่ นักโภชนาการจะบอกวิธีที่หยุดทานแล้วไม่กลับมาโยโย่        3. ไม่ต้องกังวลผลข้างเคียง มั่นใจปลอดภัย รู้ลึก รู้จริง แก้ปัญหาได้ทุกสิ่งอย่าง            มีสารสกัดจากพริกอเมริกาช่วยในการเผาผลาญมากถึง 5 เท่า                  ที่น่าสังเกตคือในภาพที่โฆษณา มีการใช้ภาพของบุคคลที่สวมเสื้อสีขาวคล้ายๆ เสื้อกาวน์ และมีหูฟังตรวจไข้คล้องคออยู่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าบุคคลในภาพน่าจะเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ในด้านล่างของภาพยังมีข้อความว่า “บริการฟรีดูแลลูกค้า ระหว่างทาน โดยนักโภชนาการลดน้ำหนัก” แต่ยังมีลูกเล่นอีก ด้วยข้อความว่า “เบอร์สายด่วนนักโภชนาการจะส่งให้เฉพาะลูกค้าที่ชำระเงินแล้วเท่านั้น”         และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โฆษณาชิ้นนี้ยังมีการนำใบอนุญาตโฆษณาอาหารที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมทั้งแสดงข้อความเน้นอย่างชัดเจนว่า  “มั่นใจทุกคนโฆษณาไม่เกินจริง ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข” ที่น่าสังเกตคือมีการเบลอข้อความบางจุด และไม่มีการนำข้อความหรือภาพที่ได้รับอนุญาตจริงๆมาแสดง ซึ่งหากใครดูผ่านๆ แล้วไม่ฉุกคิดก็คงนึกว่าได้รับการอนุญาตให้โฆษณาแบบที่เห็นมาข้างต้นได้  แต่ถ้าผู้บริโภคที่พอมีความรู้มาบ้าง ก็จะรู้ได้ทันทีว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คงไม่ยอมให้ใช้ข้อความหรือภาพประกอบการโฆษณาที่ชวนให้เข้าใจผิดอย่างนี้แน่นอน        ผู้บริโภคในยุคนี้จึงต้องรอบคอบและอย่าเพิ่งรีบเชื่อในสิ่งที่เห็น แม้จะมีการสดงข้อมูลว่า มีนักวิชาการ หรือใบอนุญาตโฆษณาแล้วก็ตาม ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนนะครับว่า มันโอเวอร์เกินจริงหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจปรึกษาเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคก่อนจะไม่เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และจะปลอดภัยกว่าครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ระวังเข้ากลุ่มออนไลน์ จะได้คนแอบแฝง

        ยุคนี้ใครไม่มีสังคมในโลกออนไลน์ดูจะล้าสมัยไปแล้ว  หลายคนจึงมีทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ กันมากมาย เมื่อใช้กันจนคล่อง ก็เริ่มมองหากลุ่มที่ชื่นชอบอะไรเหมือนๆ กัน รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นเพจ เป็นสังคมต่างๆ หลากหลาย เช่น กลุ่มศิลปะ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มทำอาหาร แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่างๆ เท่าที่เห็น มีทั้งกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มลดน้ำหนัก เป็นต้น         ผมลองเข้าไปสังเกตการณ์ในกลุ่มเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ พบว่าหลายคนที่เป็นสมาชิก มีทั้งที่ใช้ชื่อตัวตนชัดเจน และใช้ชื่อเป็นคำต่างๆ แทนชื่อจริง บรรยากาศการพูดคุยก็มักจะเป็นการช่วยเหลือแนะนำสิ่งต่างๆ ซึ่งกันและกัน ยิ่งสมาชิกเข้ามาพูดคุยกันบ่อยๆ สุดท้ายก็เกิดความสนิทสนมกัน ทั้งที่บางคนแทบไม่รู้จักกันในโลกแห่งความจริง แต่กลับสนิทสนมกันในโลกออนไลน์         หากลองติดตามอ่านเนื้อหาที่พูดคุยไปเรื่อยๆ แม้หัวข้อและเนื้อหาที่พูดคุยจะเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ แต่หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่ามีสิ่งต่างๆ แอบแฝงมาแบบเนียนๆ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยก็มักจะมีสมาชิกบางคนมาบอกเล่าประสบการณ์ในการดูแลตัวเอง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วลงท้ายว่าได้ผล หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง หรือทุเลาลงอย่างน่าอัศจรรย์ กลุ่มออกกำลังกาย ก็มักจะมีสมาชิกบางท่านเข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์สร้างกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะพวกเวย์โปรตีนมากมายหรือในกลุ่มลดน้ำหนัก ก็มักจะมีการนำภาพของตนเองช่วงก่อนปฏิบัติตัวและหลังปฏิบัติตัว ซึ่งมักจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างชัดเจน สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าทำให้ตนเองมีหุ่นที่ดีขึ้น         เพื่อความปลอดภัย ไม่ให้พวกเราหลงใหลไปกับ สมาชิกที่แอบแฝงมาแนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีคำแนะนำดังนี้         1. อย่าเพิ่งเชื่อตัวตนที่เห็นในโลกออนไลน์ เพราะทุกวันนี้ตัวตนที่เห็นในโลกออนไลน์นั้น มีทั้งตัวจริง และตัวปลอมที่ใครก็สามารถอุปโลกน์ขึ้นมาก็ได้         2. อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่สมาชิกเหล่านั้นพูด ไม่ว่าจะเป็นภาพรูปร่างที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพราะสมัยนี้คอมพิวเตอร์สามารถประดิษฐ์ตกแต่งภาพให้ดูดีเสมอ ส่วนคำบอกเล่า ก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเป็นจริง เพราะในโลกออนไลน์ใครจะพิมพ์อย่างไรก็พิสูจน์ได้ยากว่าเป็นจริงหรือเท็จ         3. อย่าเพิ่งเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผล เพราะบรรดาผู้คนที่มาสนับสนุนผลิตภัณฑ์เหล่านั้น บางทีก็เป็นหน้าม้า ทำเป็นขบวนการ แบบที่เราจะเห็นอาชีพใหม่คือรับจ้างรีวิวสินค้าต่างๆ และภาพถ่ายสินค้าในกล่องกระดาษกองมหึมา ที่อ้างว่ากำลังส่งให้ลูกค้าก็อย่าเพิ่งเชื่อ กล่องจริงกล่องปลอมกล่องเปล่า โลกออนไลน์ทำได้หมด          4. อย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่อ้างว่าผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว แม้เราจะตรวจสอบจากทะเบียนข้อมูลแล้วก็ตาม เพราะปัจจุบันผู้ผลิตสามารถขออนุญาตออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเองได้อย่างรวดเร็ว จนการตรวจสอบไล่ตามแทบไม่ทัน ทำให้ผู้ผลิตบางรายฉกฉวยโอกาสนี้ มาขอ อย.ออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเอง โดยอาจจะแจ้งรายละเอียดไม่ตรงกับความเป็นจริง         5. ขอให้ท่องให้ขึ้นใจว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เทวดาใดๆในโลกนี้ ที่ใช้ได้ผลทันที ดีจนตะลึง หากมันดีจริง มันควรถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาล ไม่ใช่มาโฆษณากันเยอะแยะ แต่ในสถานพยาบาลต่างๆ กลับไม่มีใครนำไปใช้เลย         6. สรุปสุดท้ายว่า ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเสี่ยงมาใช้ ติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ช่วยตรวจสอบและแนะนำจะปลอดภัยกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ขบวนการทัวร์ลง ชกตรงๆ ผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย

        ในแวดวงโลกโซเชียลจะมีศัพท์หนึ่งคือ “ทัวร์ลง” หมายถึงการที่ผู้คนต่างๆ ที่ใช้โซเชียล หันมาสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และพร้อมใจกัน แสดงความคิดเห็น เปิดโปง หรือกดดันให้เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังที่เราเคยเห็นในแวดวงบันเทิง การเมือง ฯลฯ          “ทัวร์ลง” มันมีทั้งแง่ลบและแง่บวก ในแง่ลบ เช่น ไม่มีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวจนเกิดความเข้าใจผิด หรือบางทีเลยเถิด ขุดคุ้ย ด่าทอ จนเป้าหมายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งที่ไม่ได้ก่อเรื่อง แต่ในแง่บวกมันก็มีประโยชน์เพราะจะเกิดพลังความร่วมมือในการแสวงหาข้อมูล แสดงความคิดเห็นและระดมกันกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ควร         เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราคงได้เห็นกระแสทัวร์ลงพิธีกรสาวคนหนึ่งที่ไลฟ์สดโอ้อวดสรรพคุณสินค้าของตนเอง ตั้งแต่การมีผลเปลี่ยนโครงหน้าตนเองจนสวย  เลยเถิดไปถึงการป้องกันรักษาโควิด-19 ได้ ชาวโซเชียลในโลกไซเบอร์ เลยหันมาขุดคุ้ยหลักฐานการกระทำของเธอ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมารับลูกไปจัดการ        ปรากฎว่าชาวโซเชียลไม่ยอมหยุด มีประเด็นต่อเนื่องไปถึงถั่งเช่า ที่นักร้องลูกทุ่งคนหนึ่งโฆษณาขาย อ้างสรรพคุณต่างๆ อย่างเกินจริง จนมีคนเสียเงินไปซื้อหามาตามๆ กันมากมาย มีการขุดคุ้ยหลักฐานและโยงไปถึงบรรดาคนในวงการบันเทิงต่างๆ จนในที่สุดนักร้องลูกทุ่งรายนี้ก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว หลังจากนั้นไม่กี่วันโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำเสนอข่าวจากทวิตเตอร์ ที่มีคนรายงานว่ามีการขายครีมหน้าขาวจากเขมรใส่กระปุก ไม่มีฉลากใดๆ สภาพคล้ายน้ำตาลมะพร้าว ถัดไปไม่กี่วันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็รายงานผลการจับกุมดำเนินคดีได้สำเร็จ         ผมจำได้ว่าทั้งสามเรื่องนี้ เคยมีเครือข่ายผู้บริโภคและเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน พยายามดำเนินการมาแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างกรณีถั่งเช่ามีข้อมูลทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาเตือนว่า มีผลต่อไตด้วย ส่วนครีมจากเขมร ผมก็เคยนำมาเตือนในคอลัมน์นี้เมื่อนานมาแล้วด้วยซ้ำ แต่กระแสก็ไม่เปรี้ยงเท่าตอนนี้ ผลิตภัณฑ์พวกนี้ก็เลยผลุบๆ โผล่ๆ        สำหรับกรณีทัวร์ลงที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า พลังของผู้บริโภคในโลกโซเชียลปัจจุบันมันมีอิทธิพลขนาดไหน ผู้คนที่มาร่วมมือกันจัด “ทัวร์ลง” เหล่าคนดังที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์อย่างไม่เหมาะสมต่างมาจากหลายวัย หลายอาชีพ หลายแหล่ง จนเกิดเป็นกระแสสังคมกระตุ้นและกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุยจัดการอย่างทันที        ดังนั้นขอเชิญชวนให้พวกเราร่วมสร้างขบวนการ “ทัวร์ลง” อย่างมีประโยชน์ หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม นอกจากแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ขอให้ช่วยกันนำเสนอในโซเชียลและเพื่อทำให้เกิดเป็นประเด็นดังๆ จะได้เกิดแรงกระเพื่อมให้มีการจัดการอย่างรวดเร็วเสียที เริ่มจากพวกคนดังในแวดวงบันเทิงเลยดีไหม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 รู้ทันขบวนพาเหรดผลิตภัณฑ์สู้โควิด

ตอนนี้ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง นอกจากเชื้อที่ระบาดได้อย่างรวดเร็วแล้ว ความตื่นกังวลของผู้คนก็ระบาดได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน สิ่งที่ตามมาเหมือนเดิมคือบรรดาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ก็เริ่มทยอยออกมาเรื่อยๆ และน่าจะมีมากขึ้นไปอีก โดยมีสังคมออนไลน์เป็นตัวช่วยกระพือส่งต่อข้อมูลผิดๆ สเปรย์พ่นปากและลำคอฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19          ผลิตภัณฑ์นี้เริ่มมีการโฆษณาและส่งต่อๆ กันในโลกโซเชียล โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพ่นปากและลำคอที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องรีบออกมาชี้แจงและเตือนประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับพ่นปากและคอ ที่ผ่านการขออนุญาตจาก อย.นั้น  เป็นเพียงสเปรย์ที่มีตัวยาโพวิโดน ไอโอดีน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเพียงยาฆ่าเชื้อโรค ลดอาการอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ตามที่มีการกล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า การโฆษณาขายโดยแสดงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์สเปรย์ดังกล่าว ถือเป็นการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางยา มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หน้ากากชนิดต่างๆ และชนิดมีวาล์วระบายอากาศ         มีการแชร์ภาพแสดงข้อมูลประสิทธิภาพของหน้ากากชนิดต่างๆ โดยระบุว่าชนิดนั้นดีกว่าชนิดนี้ มีการอ้างอิงประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคแต่ละชนิดของหน้ากากต่างๆ ทำให้ผู้คนหลงเชื่อและแชร์ภาพกันต่อๆ ไป และกังวลว่าเมื่อใช้หน้ากากต่างๆ จะใช้กันโควิดไม่ได้ และพยายามจะหันมาใช้หน้ากากชนิด N95 ซึ่งราคาแพงกว่า ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว หน้ากากผ้า หน้ากากฟองน้ำ หน้ากากทางการแพทย์ ก็สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ เพียงแต่ใช้ให้ถูกวิธี ล่าสุดยังมีความเข้าใจผิดอีกว่า หน้ากากแบบมีวาล์วระบายอากาศ นอกจากจะใส่สบายกว่าแล้ว ยังป้องกันโควิด-19 ได้ดีอีกด้วย จนนักวิชาการต้องงัดข้อมูลและรีบออกมาเตือนว่า การที่มันมีช่องระบายอากาศจะยิ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะมันมีช่องให้เชื้อโควิด-19 เล็ดลอดเข้ามาได้ง่าย ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง         เร็วๆ นี้มีคนดังในโลกโซเชียลซื้อชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองมาใช้ และบอกว่าตนเองปลอดภัย เพราะตรวจแล้วให้ผลเป็นลบจนนักวิชาการต้องออกมาเตือนกันใหญ่ ความจริงแล้ว ชุดตรวจโควิด-19 ในลักษณะแบบนี้ มีการผลิตออกมาหลายแบบ การจะเอามาใช้ในประเทศต้องได้รับอนุญาตจาก อย. และมักจะให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เบื้องต้นในบางเงื่อนไข แต่ทั้งนี้ก็ต้องยืนยันผลด้วยการตรวจในห้องแล็บทุกครั้ง การที่ประชาชนนำไปใช้ด้วยตนเองโดยไม่มีข้อมูลทั้งระยะเวลาที่ใช้การอ่านผลเอง อาจจะยิ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะผลที่ได้อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น อาจเกิดผลบวกลวง (ตัวเราไม่มีเชื้อ แต่ชุดตรวจให้ผลออกมาว่าเจอเชื้อ) แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือผลลบลวง (ตัวเรามีเชื้อ แต่ชุดตรวจให้ผลออกมาว่าไม่มีเชื้อ) ทำให้ผู้ใช้เข้าใจผิดว่าตนเองปลอดภัยและอาจไปแพร่เชื้อโควิด-19 ให้กับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ทุกข์จากยา หรือยาทำให้ทุกข์

        วันที่ 4 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side Event)ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็น"ประชาชนตื่นรู้ ร่วมมุ่งสู่ประเทศใช้ยาสมเหตผล (RDU country) วันนั้นมีการจัดนิทรรศการนำเสนอปัญหาการใช้ยาที่พบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหากมองภาพโดยรวมเราจะเห็นภาพของผู้ป่วยหรือประชาชนที่มีความทุกข์จากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อมองลึกลงไปอีกที ก็พบว่าบางทียาที่มีรูปแบบไม่เหมาะสมต่างหากที่อาจจะทำให้เกิดความทุกข์         ยาเหลือใช้มากมายมหาศาล เป็นปัญหาที่สะท้อนการใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือยหรือไม่เหมาะสมอย่างมาก อาจจะเกิดจากคนไข้ไม่ยอมรับประทานยา หรือผู้สั่งจ่ายยาจ่ายยาให้เกินจำเป็น หรืออาจจะเกิดจากคนไข้บางคนร้องขอให้สั่งจ่ายให้ตนเอง         การตระเวณขายยาเร่ไปตามหมู่บ้าน เป็นอีกปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในสังคม ในวันนั้นมีน้องเภสัชกร โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งทางภาคอิสาน นำยามาให้ดู ราคากระปุกละ 500 บาท มีคนนำมาเร่ขายให้กับผู้ป่วยในชุมชน ให้ซื้อเป็นชุดมีสามกระปุก ผู้ป่วยเสียเงินไป 1500 บาท สุดท้ายไม่กล้ารับประทาน จึงนำมาให้เภสัชกรดูอีกที         ยาชื่อพ้องมองคล้าย เช่น ยาสองชนิดที่มีชื่อและรูปแบบของภาชนะบรรจุที่คล้ายคลึงกันมาก ตัวหนึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อโรคกลุ่มเพนนิซิลิน อีกตัวหนึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อโรคกลุ่มซัลฟา ยาทั้งสองตัวก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงได้(กรณีแพ้ยา) การที่อนุญาตให้ยาสองชนิดนี้มีชื่อและรูปแบบของภาชนะบรรจุที่คล้ายกัน ย่อมเกิดความเสี่ยงอย่างสูงได้ หากคนที่แพ้ยาตัวหนึ่ง พลาดไปกินยาอีกตัวหนึ่งเพราะคิดว่าเป็นคนละตัวกัน         ขนาดบรรจุที่เอื้อต่อการกินกระปริบกระปรอย เช่น ยาฆ่าเชื้อโรค ที่จะต้องรับประทานติดต่อกันหลายวัน แต่กลับมียาบางชนิดผลิตโดยบรรจุในแผงละ 4 เม็ด ทำให้ผู้ป่วยบางคนไม่ได้รับประทานยาจนครบจำนวนวัน เพราะหยุดยาเองเมื่อรับประทานหมด 4 เม็ด         แอบแฝงโฆษณาบนฉลาก มียาหลายชนิดที่แอบใช้ข้อความ หรือรูปภาพบนฉลาก แฝงโฆษณา เช่น ตั้งชื่อกึ่งๆ ระบุสรรพคุณ หรือมีภาพที่สื่อไปในการโฆษณาสรรพคุณของยาแทรกบนฉลาก         จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนตั้งคำถามก่อนจะรับยามาใช้ว่า ยานี้คือยาอะไร เราจำเป็นต้องใช้หรือไม่ หรือถ้าจำเป็นจะต้องใช้อย่างไร แล้วถามแพทย์ เภสัชกร หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกครั้งให้มั่นใจ และหากเจอยาแปลกๆ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อตรวจสอบโดยด่วน ขณะนี้ชมรมเภสัชชนบทร่วมกับเภสัชกรในส่วนภูมิภาค กำลังจะผนึกกำลังให้แก้ไขทะเบียนยาที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศไทยเสียที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ของขวัญที่ให้ แน่ใจแล้วหรือ?

        ในยุคที่คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ช่วงเทศกาลทีไร ผมมักจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับเป็นของขวัญ ทั้งๆ ที่ผู้ให้ก็ตั้งใจจะมอบสิ่งดีๆ ต่อสุขภาพแก่ผู้รับ แต่บางครั้งของขวัญที่ให้อาจเกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง มีตัวอย่างและคำแนะนำเบื้องต้นในการตัดสินใจเลือกของขวัญเพื่อให้ผู้รับเกิดความปลอดภัยดังนี้         1.ผลิตภัณฑ์อาหารบำรุงสุขภาพหรือที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมให้เป็นของขวัญกันมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารที่กล่าวอ้างสรรพคุณในด้านการบำรุงหรือรักษาโรค เคยมีกรณีที่ลูกชายซื้อผลิตภัณฑ์โสมสกัดมาเป็นของขวัญให้คุณแม่ โดยลืมนึกไปว่าคุณแม่มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง ส่วนคุณแม่แม้เคยได้รับคำเตือนว่า โสมอาจมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่เห็นว่าลูกชายอุตส่าห์ซื้อมาให้แล้ว ก็เลยรับประทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องไปโรงพยาบาล เพราะความดันโลหิตสูงขึ้นแบบคุมไม่อยู่         2. วิตามินต่างๆ เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่หลายคนนิยมซื้อให้ผู้ใหญ่ที่เคารพ เพราะเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็เคยมีกรณีที่ผู้ที่รับบางคน รับประทานไปแล้วเกิดอาการแพ้วิตามิน หรือวิตามินบางชนิดเมื่อรับประทานพร้อมกับอาหารหรือยาบางประเภท ก็จะเกิดปฏิกิริยาเพิ่มหรือลดคุณภาพของตัวมันเองหรือยา ที่ผู้รับประทานไปด้วย      ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้รับจึงไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามินให้เป็นของขวัญ โดยขาดข้อมูลเบื้องต้น เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ หากอยากจะให้เป็นของขวัญจริงๆ ควรมีข้อมูลว่าผู้รับเคยรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นประจำหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจไม่ควรให้เป็นของขวัญ นอกจากนี้ต้องตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่า มีรายละเอียดต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่ และต้องระวังด้วย หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วจะยิ่งเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วย หนำซ้ำถ้าผู้รับนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่เกิดอันตรายแต่ก็จะทำให้เขาเสียเงินโดยไม่จำเป็นในระยะยาวด้วยเช่นกัน         3. ยาสามัญประจำบ้าน แม้จะเป็นยาที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย เหมาะที่จะมีติดไว้ประจำบ้าน แต่ก็พบว่ายาสามัญประจำบ้านที่จัดไว้เป็นชุดขายสำเร็จรูปนั้น ยาบางตัวผู้รับแทบไม่ได้นำไปใช้เลย เพราะไม่มีความจำเป็นสุดท้ายเมื่อหมดอายุก็ต้องนำไปทิ้ง   หากจะซื้อยาสามัญประจำบ้านให้เป็นของขวัญ ควรเลือกรายการยาที่ผู้รับจำเป็นจะต้องใช้ หรือควรมีไว้ติดบ้านจริงๆ โดยอาจปรึกษารายการยากับเภสัชกรประจำร้านยาก็ได้         4. หนังสือหรือสื่อความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นอีกสิ่งที่ผู้คนชอบซื้อให้เป็นของขวัญ แต่เคยพบว่าผู้บริโภคบางคนที่ได้รับหนังสือความรู้ด้านสุขภาพ และนำมาสอบถามข้อมูล ปรากฎว่าหนังสือนั้นกลับให้ข้อมูลสุขภาพผิดจากข้อเท็จจริงเยอะมาก มีคำแนะนำในการเลือกซื้อหนังสือหรือสื่อความรู้เกี่ยวกับสุขภาพที่จะให้เป็นของขวัญว่า ควรเลือกจากผู้จัดทำที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานทางด้านวิชาการ มีตัวตนหลักแหล่งที่ชัดเจน รวมทั้งมีบทบาทในการสร้างสุขภาพจนเป็นที่ยอมรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 จับพิรุธ ตระเวนซื้อยาแก้แพ้ แก้ไอ

        วัยรุ่นยุคนี้มักมีพฤติกรรมแปลกๆ เพื่อโชว์ให้คนสนใจ บางครั้งกลับทำให้เกิดอันตรายกับตัวเองดังกรณีล่าสุดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมาเตือนวัยรุ่นว่า อย่าลอกเลียนแบบการทำ Benadryl challenge เด็ดขาด หลังพบรายงานผู้เสียชีวิตจากการเข้าร่วมทำไวรัลดังกล่าวผ่านแอพพลิเคชั่น TIKTOK เพราะยาเบนาดริล (Benadryl) แม้จะเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา แต่หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดอาการข้างเคียงจนถึงแก่ชีวิตได้         ยาเบนาดริล (Benadryl) มีชื่อสามัญทางยาคือ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เป็นยาแก้แพ้ที่ใช้ในการบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบนและอาการหวัด เช่น น้ำมูกไหลและจาม ในแง่กฎหมายจัดเป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดความผิดปกติกับหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หัวใจหยุดเต้นและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้         ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หลายตำรับ ทั้งยาน้ำ ยาเม็ด และยาแคปซูล มีชื่อการค้าต่างๆ มากมาย  ร้านขายยาที่จ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยจะต้องจัดทำบัญชีการขายยาเพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด         จากการลงพื้นที่ตรวจสอบตามร้านขายยาและข้อมูลในชุมชนพบว่า วัยรุ่นมักจะตระเวณมาขอซื้อยานี้ตามร้านต่างๆ ทั้งจากร้านยาหรือร้านขายของชำบางแห่งที่แอบลักลอบนำมาขาย ในอดีตวัยรุ่นที่มาซื้อยาเหล่านี้ เราจะสังเกตได้ง่าย โดยดูจากท่าทีและพฤติกรรมของพวกเขาที่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่เมื่อทางการเข้มงวดมากขึ้นก็เลี่ยงหาวิธีต่างๆ มาซื้อ เช่น จ้างผู้ใหญ่มาซื้อโดยอ้างว่าจะนำไปใช้กับบุตรหลาน เคยมีข้อมูลว่าบางครั้งมีการจ้างคนแต่งกายเป็นพระสงฆ์หรือผู้สูงอายุมาขอซื้อ อ้างว่ารับประทานประจำ ล่าสุดมีการจ้างเด็กวัยรุ่นที่ท่าทางสุภาพเรียบร้อยมาขอซื้อยาเหล่านี้         วิธีง่ายๆ ที่จะจับพิรุธคือ เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาในร้านยามักจะคอยสอดส่ายสายตา กวาดตามองยาตามชั้นวางยาพยายามเพ่งไปบริเวณที่มียาน้ำ และเมื่อจะขอซื้อก็มักจะเอ่ยปากขอซื้อยาโดยระบุชื่อการค้าของยาพวกนี้ที่วัยรุ่นนิยมแทนที่จะบอกอาการเจ็บป่วยไม่สบาย  หรือบางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่กลับจะซื้อแต่ยาน้ำเชื่อมและมักจะวนมาขอซื้อบ่อยๆ จนมีพิรุธว่าทำไมอาการป่วยไม่หายสักที และทำไมรับประทานยาหมดก่อนกำหนดตามปริมาณที่ได้รับไป         หากใครเจอพฤติกรรมเหล่านี้ หรือเจอร้านขายยาที่ไม่เข้มงวดปล่อยปละละเลยในการขายยาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ช่วยไปกระซิบเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ลงไปตรวจสอบด้วยนะครับ เพื่อคุ้มครองให้บุตรหลานเราปลอดภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >