ฉบับที่ 236 สะดวกซื้อ สะดวกร้อง?

        บทเรียนการเรียนรู้จากผู้บริโภคที่มาปรึกษาเหตุการณ์การซื้อสินค้าจากร้านค้าและร้านสะดวกซื้อหลายราย        รายแรก ผู้บริโภคซื้อนมสดชนิดบรรจุถุงจากร้านสะดวกซื้อไปให้ลูกชายรับประทาน เมื่อลูกชายรับประทานบอกว่านมมีรสเปรี้ยว ตนเองจึงลองชิมดูบ้าง ปรากฏว่ารสเปรี้ยวจริงๆ นมน่าจะบูด ตนจึงเช็ควันหมดอายุที่ข้างถุง ก็ยังไม่เลยวันหมดอายุ จึงมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร        รายที่สอง ผู้บริโภคซื้อเกี๊ยวกุ้งจากร้านสะดวกซื้อ จะนำมาอุ่นรับประทานที่บ้าน พอตัดถุงจะนำไปอุ่นในไมโครเวฟ พบว่ามีเกี๊ยวหนึ่งชิ้นที่ไม่มีไส้บรรจุอยู่ ผู้บริโภครายนี้จึงอุ่นรับประทานไปหมด แล้วมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ว่าจะดำเนินการกับผู้ผลิตได้อย่างไรบ้าง         รายที่สาม ผู้บริโภคซื้อแกงกะทิบรรจุในถุงจากแม่ค้าขายข้าวแกงในตลาด โดยแกงนี้จะถูกตักไว้เป็นถุงๆ วางไว้ที่โต๊ะข้างหม้อแกงที่แม่ค้าตักขาย เมื่อใครจะซื้อก็หยิบให้เลยเพื่อความสะดวก ผู้ร้องซื้อแกงกะทิตั้งแต่เช้าแล้ววางตั้งไว้ในครัว โดยไม่ได้แช่ไว้ในตู้เย็น เมื่อกลับจากทำงานถึงบ้านตอนค่ำ จะนำมารับประทานปรากฎว่าแกงกะทิบูด         การดำเนินการในสามกรณีข้างต้น จะเห็นว่ามีรายละเอียดที่ต้องพิสูจน์ และค่อนข้างจะสรุปได้ยาก เพราะอาจเกิดการโต้แย้งจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ กรณีแรกอาจง่ายหน่อยตรงที่ผลิตภัณฑ์นมยังไม่หมดอายุ แต่ดันมีรสเปรี้ยว และผู้ร้องเพิ่งรับประทานจึงมีหลักฐานอยู่ ส่วนกรณีที่สองจะพิสูจน์ได้ยาก เนื่องจากเกี๊ยวกุ้งถูกรับประทานไปจนหมด ข้อกล่าวหาจึงเป็นคำพูดลอยๆ ของผู้ร้องเท่านั้น  ส่วนกรณีที่สามแม้แกงกะทิจะบูดจริง แต่ก็พิสูจน์ได้ยากว่า มันบูดตั้งแต่ตอนตักใส่ถุง หรือบูดเพราะผู้ซื้อไม่ได้นำไปเก็บในที่ที่เหมาะสม         เจ้าหน้าที่จึงแนะนำว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ ให้ผู้บริโภครีบนำสินค้ากลับไปหาผู้ขายโดยเร็วที่สุด หากเป็นร้านสะดวกซื้อให้นำใบเสร็จรับเงินที่ได้รับไปเป็นหลักฐานด้วย (กรณีซื้อสินค้าที่มีใบเสร็จรับเงิน ไม่ควรรีบทิ้งใบเสร็จรับเงิน เราควรแนบติดกับสินค้าไว้ก่อน เผื่ออาจจะจำเป็นต้องใช้กรณีฉุกเฉินดังกล่าว) เท่าที่มีประสบการณ์ ร้านสะดวกซื้อหลายแห่งมักจะรับเรื่องและชดเชยสินค้าให้ด้วย บางรายเขาจะชดเชยให้กรณีที่เสียเวลามาด้วยซ้ำ ส่วนกรณีแกงถุงจากแม่ค้า จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ถ้าคุยกันดีๆ มักจะได้ชดเชยให้ฟรีๆ ด้วยเช่นกัน         รายที่สี่ ผู้บริโภคซื้อยาแผนโบราณมาจากคนรู้จัก เป็นผงสีน้ำตาลอ่อนบรรจุในซองซิบใส ไม่มีฉลากใดๆ คนรู้จักที่นำมาขายบอกว่าแก้ปวดเส้นและแก้โรคเก๊าท์ ตนเองกินแล้วได้ผลดี กินไปหลายซองแล้ว สงสัยว่ายานี้มีสารอะไรบ้างจึงนำยามาให้เจ้าหน้าที่ตรวจ         เมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามว่ายานี้ซื้อมาจากใคร หรือพอทราบแหล่งที่ส่งต่อยามาขายหรือไม่ ผู้ร้องก็บอกว่าไม่กล้าบอก เป็นห่วงคนที่ขาย เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่าที่สอบถามก็เพื่อจะติดตามไปยังแหล่งต้นทางที่ผลิต ขอให้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ในการติดตาม และจะได้ช่วยคนอื่นๆ ด้วย ผู้ร้องก็ไม่ยอมบอกและขอนำยากลับคืนไป        ในทีสุดเจ้าหน้าที่จึงได้แต่แนะนำว่า ยาที่ผลิตเพื่อใช้รักษาโรคจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบว่ายาตำรับนี้มีความปลอดภัยหรือไม่ ถ้าปลอดภัยถึงจะอนุญาตให้ผลิตได้ ยาผงที่นำมาให้ตรวจสอบไม่มีรายละเอียดใดๆ เลย แสดงว่าไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนตำรับและยังไม่แสดงชื่อที่อยู่ผู้ผลิตอีก แสดงว่าผู้ผลิตมีเจตนาหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่แนะนำให้รับประทาน เพราะไม่รู้ว่าในยานี้มีสารอันตรายหรือไม่และยิ่งกินแล้วได้ผลดีอย่างรวดเร็ว ยิ่งน่าสงสัยว่าจะมีการปลอมปนสารเคมีอันตราย เช่น สเตียรอยด์ด้วยซ้ำ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 อย่าปล่อยให้ความเชื่อเหนือ ความจริง

        1. ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเลขอนุญาต (เช่น อย ทะเบียนยา เครื่องสำอาง) อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป         ผู้บริโภคที่มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ มักจะตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่ามีรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่ และเมื่อพบว่าครบถ้วนแล้ว ก็มักจะคิดว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการอนุญาตหรือตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่จากประสบการณ์ทำงาน มักพบว่าผลิตภัณฑ์อันตรายหลายอย่าง มักจะแอบลักลอบเติมสารอันตรายหลังจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว หรือผู้ผลิตบางรายอาจแสดงข้อมูลปลอม หรือเอาข้อมูลของผลิตภัณฑ์อื่นมาแสดงในของตนแทน (เช่น ทะเบียน อย. ทะเบียนตำรับยา หรือเลขจดแจ้งเครื่องสำอาง)         ดังนั้นนอกจากการตรวจสอบฉลากแล้ว ผู้บริโภคควรต้องสังเกตสิ่งพิรุธอื่นๆ ด้วย เช่น โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ หรือหลังจากใช้แล้วเกิดอาการผิดปกติ หรือใช้วิธีการขายแบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือแปลกๆ          2. อาหารที่มี อย. รักษาโรคได้เหมือนยา         ผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด มักแจ้งว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการรับรองแล้ว จึงมีเลข อย. และอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคได้ แต่ในแง่ความจริง ผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ หากผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าให้ข้อมูลเท็จและโฆษณานั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย          3. ผลิตภัณฑ์ที่มีบุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองสรรพคุณ ย่อมมีความปลอดภัย         ผลิตภัณฑ์หลายชนิด มักใช้บุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองคุณภาพเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้บริโภคหลายรายหลงเชื่อ แต่ข้อเท็จจริงคือ สภาวิชาชีพต่างๆ ที่ควบคุมดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์ จะห้ามมิให้บุคลากรทางการแพทย์ไปการันตีหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ หากพบแสดงว่า บุคลากรเหล่านั้นกระทำผิดจรรยาบรรณหรือข้อบังคับทางวิชาชีพ นอกจากนี้บางครั้งยังเคยพบว่า ภาพบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้โฆษณานั้น ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ตัวจริง เป็นตัวปลอมที่ใช้หลอกลวงผู้บริโภค          4. การแจ้งเรื่องร้องเรียน ทำให้ผู้ร้องเดือดร้อน         หลายครั้งที่ผู้บริโภคมาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผู้ร้องเรียนมักจะไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะเกรงว่าตนเองจะเดือดร้อน ทำให้เรื่องร้องเรียนที่สำคัญๆ หลายเรื่อง ดำเนินการตรวจสอบได้ยาก เพราะขาดข้อมูลที่เพียงพอ จึงอยากชี้แจงให้ทราบว่า ปกติแล้วเจ้าหน้าที่จะถือว่าเรื่องร้องเรียนต่างๆ เป็นความลับ แต่หากผู้บริโภคยังกังวลเมื่อมาร้องเรียนก็สามารถย้ำกับเจ้าหน้าที่ได้ว่า ขอให้เก็บข้อมูลของตนเป็นความลับ นอกจากนี้หากผู้บริโภคให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ก็จะเป็นการร่วมมือกันสกัดผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาที่ต้นตอ แลเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภครายอื่นๆ ด้วย          5. เมื่อแจ้งข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่ย่อมจัดการปัญหาได้ทันที         เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนแล้ว บางเรื่องเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าหากข้อมูลไม่ชัดเจน เช่น เป็นคำพูดลอยๆ หรือแหล่งจำหน่ายไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือบางครั้งอาจต้องส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทำให้ต้องใช้เวลากว่าจะทราบผล ดังนั้นในช่วงนี้ผู้บริโภคควรระงับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สงสัยไว้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ยาจากวัด ขจัดความปลอดภัย ?

        ผมมักจะได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการซื้อยามากินเองอยู่เสมอๆ ส่วนใหญ่มักจะซื้อมาใช้รักษาอาการปวดเมื่อยตามแขนขา เมื่อใช้ครั้งแรกๆ จะได้ผลเร็ว อาการปวดเมื่อยต่างๆ มักจะหายทันที แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะได้อาการอื่นๆ แถมมาด้วย เช่น ตัวเริ่มบวม ปวดท้อง กระเพาะเป็นแผล บางคนเป็นมากถึงขนาดถ่ายออกมาเป็นเลือดจนต้องเข้าโรงพยาบาล          เมื่อนำยาที่ผู้ป่วยมาตรวจหาสารสเตียรอยด์จะพบว่ามีสารสเตียรอยด์ผสมในยาเกือบทุกตัวอย่าง และเมื่อสอบถามถึงแหล่งที่ซื้อยา พบว่าผู้ป่วยหลายคนซื้อยามาจากวัดเนื่องจากคิดว่า ยาที่ขายในวัดคงเป็นยาที่ปลอดภัย คนขายก็คือคนในวัด บางวัดก็มีพระสงฆ์เป็นผู้ขายเองด้วยซ้ำ          จากประสบการณ์ที่เคยไล่ติดตามตรวจสอบยาที่ไม่ปลอดภัยเหล่านี้ พอสรุปลักษณะของยาที่ไม่ปลอดภัย ที่มักจะแอบจำหน่ายในวัดบางแห่ง ดังนี้        1. ส่วนใหญ่มักจะเป็นยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณ รูปแบบอาจเป็นยาผง ยาลูกกลอน หรือตอกอัดเป็นเม็ดแบบง่ายๆ บางครั้งอาจมีการบรรจุในแคปซูล แต่ดูด้วยสายตาจะแตกต่างจากยาแผนปัจจุบัน         2.ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อในลักษณะยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณ มีการระบุสรรพคุณต่างๆ มากมาย ชนิดที่ยาแผนปัจจุบันยังไม่กล้าระบุขนาดนี้         3. ในฉลาก ไม่มีหมายเลขการขึ้นทะเบียนตำรับยาแต่อย่างใด แสดงว่ายาเหล่านี้ไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิต (ในแง่กฎหมาย ยารักษาโรคจะต้องแสดงหมายการขึ้นทะเบียนตำรับยาทุกตัว)         4. แม้ฉลากของยาที่ขายจะแสดงข้อมูลมากมาย แต่สิ่งที่หาไม่เจอคือสถานที่ผลิต ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกติดตามดำเนินการตามกฎหมาย         5. มักบรรจุในภาชนะที่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน อาจใส่ซองใส หรือขวดใส ฉลากก็พิมพ์แบบง่ายๆ         บ่อยครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ไปสอบถามข้อมูลแหล่งที่ซื้อจากผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ข้อมูลเนื่องจากกลัวข้อมูลจะไปถึงวัดผู้ป่วยบางคนถึงกับบอกว่า กลัวพระ เพราะพระที่นี่เป็นผู้มีอิทธิพล (ว่าเข้าไปนั่น)         เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของตัวเราและคนในชุมชน มีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้        1. ไม่แนะนำให้ซื้อยาจากวัด หากไม่มั่นใจ ขอให้ไปสอบถามหรือขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ก่อน        2. ตรวจสอบฉลาก หากไม่มีทะเบียนยาแสดงว่ายานี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตตามกฎหมาย แต่ถ้ามีทะเบียนยาแล้ว ก็อย่าเพิ่งมั่นใจเพราะโดยทั่วไปแล้วสถานที่ขายยาจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน ยกเว้นสถานที่ขายยาสามัญประจำบ้านที่ไม่ต้องมาขออนุญาต         3. แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือกลุ่มงานค้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้มาติดตามตรวจสอบก่อน หากกังวลอาจแจ้งข้อมูลในทางลับหรือส่งเป็นเอกสารระบุข้อมูลให้ครบถ้วนก็ได้         4. หากไม่สะดวกที่จะแจ้งข้อมูลกับสาธารณสุขอาจแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดประจำจังหวัด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมวัดต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ป้องกันโควิดแบบไหน ถึงเสี่ยงโควิด

แม้ผู้บริโภคจะปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ เพื่อป้องกันตนเองจากโควิด 19 อย่างเคร่งครัดแล้ว แต่ก็พบความเข้าใจผิดหลายๆอย่างที่เราก็คาดไม่ถึง ทำให้ผู้บริโภคหลายรายยังคงเสี่ยงต่อโควิด 19 จึงขอทำความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้ความเสี่ยงดังกล่าวลดลง         กินร้อน : คำว่ากินร้อนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงห้ามใครกินอาหารที่เย็น หรือต้องกินอาหารที่ร้อนควันฉุยเท่านั้น แต่หมายถึงให้กินอาหารที่ปรุงจนสุกใหม่ๆ เพราะการปรุงอาหารให้สุกโดยผ่านความร้อนนั้น ความร้อนจะฆ่าเชื้อโรคตาย ส่วนใครจะกินตอนร้อนๆ ทันที หรือทิ้งไว้ให้คลายร้อนก็ได้ ส่วนอาหารที่เย็น เช่น เครื่องดื่ม หวานเย็น ไอศครีม ฯลฯ ก็กินได้ เพียงแต่ขอให้ตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่า ได้ผ่านกรรมวิธีที่สะอาดมาก่อนถึงปากเราหรือเปล่า         ช้อนกลาง : เนื่องจากเราไม่อาจจะรู้ได้ว่า มือของใครไปสัมผัสเชื้อโรคมาแล้วบ้าง ดังนั้นการกินอาหารโดยมีช้อนกลางเพียงอันเดียวแต่ทุกคนมาใช้ร่วมกัน ก็อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงได้ เพราะช้อนที่สะอาดก็อาจจะเจอมือของบางคนที่อาจมีเชื้อโรคมาสัมผัส และเมื่อมือของเราที่แม้จะทำความสะอาดแล้วไปสัมผัส ก็จะทำให้มือเราติดเชื้อโรคได้ ดังนั้นการใช้ช้อนกลางจึงหมายถึงการใช้ช้อนกลางในวงกินข้าว (ที่ไม่ใช่ช้อนที่เราใช้ตักอาหารเข้าปาก) ที่แต่ละคนมีเป็นของตนเอง เพื่อใช้ตักอาหารในวงสำรับให้ตนเองเท่านั้น เพราะช้อนของเราจะมีเพียงตัวเราเท่านั้นที่สัมผัสมัน แต่ถ้ามันยุ่งยาก วิธีง่ายๆ คือ ตักกับข้าวหรืออาหารใส่จานเราตั้งแต่แรกให้เป็นอาหารจานเดียวไปเลย จะได้ไม่ต้องปวดหัวหาช้อนหลายอันให้วุ่นวาย         ล้างมือ : ผู้บริโภคหลายคนคิดว่าการล้างมือบ่อยๆ จะป้องกันเชื้อโควิดได้ เพราะจำมาเพียงว่า เชื้อโควิด 19 เจอสบู่ก็ตายแล้ว ซึ่งมีส่วนถูกแต่ยังไม่หมด เพราะการล้างมืออย่างรวดเร็ว ไม่ถูสบู่ให้ทั่วทุกซอกทุกมุมทั้งซอกนิ้วและข้อมือ และยังใช้เวลาล้างมือแบบรวดเร็ว ก็อาจจะทำให้เชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อโควิด 19 หลงเหลืออยู่ตามบริเวณที่ไม่โดนสบู่ หรืออาจโดนสบู่แต่ยังไม่ทันจะตาย ก็เจอน้ำชะล้างเอาคราบสบู่ไปแล้ว ดังนั้นการล้างมือจึงต้องล้างให้ทั่วทุกซอกทุกมุมและใช้เวลาให้มือสัมผัสสบู่สักครู่หนึ่ง มีคนแนะนำง่ายๆ ว่า เวลานานประมาณร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ หรือเพลงช้างช้างช้างจบสองรอบประมาณนั้นก็น่าจะใช้ได้         บางคนใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ หรือใช้แอลกอฮอล์สเปรย์พ่นมือ แม้จะเลือกยี่ห้อที่มีปริมาณของแอลกอฮอล์ได้ตามมาตรฐาน และมีฉลากดูต้องแล้ว แต่หากใช้ไม่ถูกวิธี เช่น พอมือสัมผัสเจลหรือแอลกอฮอล์ ก็ไม่ถูให้ทั่ว บางคนยังเอามือไปเช็ดเสื้อผ้าให้แห้งอีก แบบนี้แอลกอฮอล์ก็ไม่สามารถไปฆ่าเชื้อโควิดได้ วิธีที่ถูกต้องคือไม่ต้องเช็ดมือ ปล่อยให้มันแห้งไปเอง แอลกอฮอล์จะได้ไปฆ่าเชื้อโรคให้ตายหมด         ใส่หน้ากาก : เราใส่หน้ากากไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ละอองฝอยจากน้ำมูกหรือน้ำลายจากการไอหรือจามของคนอื่นหรือเชื้อโควิดที่อาจฟุ้งอยู่ในบริเวณนั้น เข้ามาสู่ปากหรือจมูกเรา ขณะเดียวกันหากเรามีเชื้อโรค หน้ากากก็จะกันไม่ให้กระเด็นไปสู่คนอื่นๆ ดังนั้นเมื่อเราสวมหน้ากากแล้ว เราไม่ควรเอามือของเราไปสัมผัสด้านนอกของหน้ากาก เพราะเราจะไม่รู้เลยว่าบริเวณนั้นมีเชื้อโรคมาติดอยู่หรือไม่ หรือถ้าเผลอไปสัมผัสแล้ว ควรรีบล้างมือให้สะอาดทันที และเมื่อจะถอดก็ควรระวังไม่ให้มือสัมผัสบริเวณด้านนอก จับสายคล้องหูแล้วถอดออกจะปลอดภัยกว่า และควรเปลี่ยนหน้ากากทุกวัน ถ้าใช้หน้ากากผ้าก็ให้ซักทำความสะอาดทุกวัน อย่าทิ้งไว้รวมๆ กันแล้วค่อยมาซัก เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ถึงโควิดบุกแหลก ก็อย่าสติแตกกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

        ยุคโควิด 19 ระบาด สิ่งที่บุกแหลกไม่แพ้เชื้อโควิด 19 ก็คือ ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ จริงบ้าง มั่วบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง กระหน่ำมาตามๆ กัน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อโรคก็ไม่ยอมตกขบวนมีจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย แต่ละผลิตภัณฑ์ก็อ้างว่าจัดการเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้อยู่หมัด แต่ที่แน่ๆ มันจะจัดการดูดเงินในกระเป๋าสตางค์เราไปก่อนเป็นอันดับแรก ฉลาดซื้อเล่มนี้ขอแนะนำผลิตภัณฑ์และวิธีการการทำความสะอาดอย่างฉลาดซื้อฉลาดใช้เพื่อความปลอดภัยและไม่สิ้นเปลือง        สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือ โควิด 19 มันคือไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งหากมันเข้าไปอยู่ในร่างกายของเรา มันก็จะมีชีวิตอยู่ได้เรื่อยๆ ยิ่งคนที่อ่อนแอ หรือมีภูมิต้านทานต่ำๆ มันก็จะยิ่งออกลูกออกหลานกันสนุกสนานอยู่ในร่างกายเราเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าเราเป็นคนแข็งแรงมีภูมิต้านทานสูงภูมิต้านทานในร่างกายเราก็จะช่วยกันจัดการเจ้าไวรัสตัวแสบนี้ได้         และเมื่อมันหลงเข้ามาอยู่ในร่างกายเราแล้ว บางทีเราก็จะเผลอแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ เพราะมันจะหลุดออกมากับละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และน้ำตาของเรา กระเด็นไปสู่คนรอบข้างที่อยู่ใกล้ๆ หรือกระเด็นไปติดตามที่ต่างๆ แล้วดันมีคนโชคร้ายไปสัมผัสตรงพื้นที่นั้นก็รับเชื้อจากเราไปโดยไม่รู้ตัว นี่คือเหตุผลที่เขาจึงรณรงค์ให้ กินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง เร่งล้างมือ คาดหน้ากากปิดจมูกและปาก และอย่าอยู่ใกล้ชิดกันเกินไป         โดยทั่วไปแล้ว เชื้อไวรัสเมื่อมันอยู่นอกร่างกายเรา มันจะใจเสาะอายุสั้น แค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ตายแล้ว แต่เจ้าโควิด 19 มันเป็นไวรัสพันธุ์หัวแข็งตายยากกว่าไวรัสอื่นๆ เช่น ถ้าอยู่บนโต๊ะ พื้นผิวต่างๆ หรือลูกบิดประตู ก็อยู่ได้ถึง 4 – 5 วัน แต่ถ้ามันเจออากาศที่ร้อนกว่า 30 องศาเซลเซียส อายุก็จะสั้นลง ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์ ที่อ้างว่าสามารถใช้ทำลายเชื้อโควิด 19 ได้ ซึ่งขึ้นกับชนิดของสารเคมี บางชนิดก็ราคาแพงมาก แต่ที่จริงแล้วเจ้าโควิด 19 นี้ มันตายได้ง่ายถ้าเจอสบู่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ตลอดจนเจอความร้อนสูงๆ  รู้อย่างนี้จะจ่ายแพงกว่าทำไม ขอแนะนำในการทำความสะอาดสิ่งต่างๆ ที่ง่ายและประหยัดดังนี้        การทำความสะอาดมือ ถ้าอยู่บ้านหรือสำนักงาน ให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือก็พอแล้ว ทางสาธารณสุขเขาแนะนำให้ล้างมือ 7 ขั้นตอน แต่ถ้าจำไม่ได้ ก็จำง่ายๆ แค่ล้างให้ละเอียดทั่วทุกซอกทุกมุม ให้มือสัมผัสกับสบู่หรือน้ำยานานพอสมควร นานประมาณร้องเพลงช้างช้างช้าง 2 รอบก็ได้ และหากออกไปนอกบ้าน หาที่ล้างมือไม่ได้ ก็สามารถใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแทนได้ จะเป็นน้ำยาแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์เจลก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมี % ของแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 70% และเมื่อใช้แล้วก็ไม่ต้องเช็ดออก ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้มือแห้งเองด้วย         ถ้วยชามภาชนะต่างๆ ใช้น้ำยาล้างจานทั่วไปก็พอแล้ว ถ้าไม่มั่นใจก็นำมาตากแดด หรือลวกด้วยน้ำร้อนหรือน้ำเดือดสัก 30 วินาที         สำหรับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็ใช้ผงซักฟอกเหมือนที่เคยใช้ แล้วเอามาตากแดดร้อนๆ ของเมืองไทย ก็ใช้ได้แล้ว         ส่วนพื้นผิวต่างๆ เช่น โต๊ะ ลูกบิด ราวบันได ใช้แอลกอฮอล์ 70 %  หรือน้ำยาทำความสะอาดชนิดที่ระบุว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช็ดถูทำความสะอาดให้ทั่ว และเช็ดบ่อยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีคนมาสัมผัสมากน้อยขนาดไหน         สำหรับพื้นที่เราเหยียบย่ำนั้น สามารถใช้ ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดพื้นชนิดที่ระบุว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช็ดถูทำความสะอาด วันละ 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับสถานการณ์ต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 รับยาอย่างปลอดภัยในเทศกาลโควิด19

        ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 กลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังได้รณรงค์ให้ประชาชน ลดการเดินทางไปในที่ชุมชน โดยให้เก็บตัวอยู่ที่บ้าน โรงพยาบาลเองก็พยายามหาทางลดความเสี่ยงของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในการมารับยาที่โรงพยาบาลด้วยเช่นกัน เช่น มีการสั่งจ่ายยาในแต่ละครั้งในจำนวนเพียงพอที่จะรับประทานในระยะเวลาที่มากขึ้น มีนโยบายให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือส่งยาไปให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และให้ผู้ป่วยไปรับยาอีกทอดหนึ่ง         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า บางโรงพยาบาลเริ่มมีการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ หรือผู้ป่วยบางรายอาจไม่สะดวกที่จะเดินทางไปรับยา เนื่องจากเกรงว่าอาจได้รับเชื้อระหว่างการเดินทาง จึงมีการไหว้วานให้คนใกล้ตัว หรือบางทีก็จ้างมอเตอร์ไซค์ไปรับยาจากร้านยาหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแทน         เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา ไม่ว่าผู้ป่วยจะได้รับยามาด้วยวิธีใด          มีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้         1. ตรวจสอบ “ชื่อของตนเอง”ที่ระบุบนซองยาหรือฉลากยาเป็นอันดับแรก เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่ได้รับมานั้น เป็นของเราจริง ไม่ได้สลับกับของผู้ป่วยรายอื่น และต้องเช็คชื่อให้ครบทุกชนิดของยาที่ได้รับ รวมทั้งตรวจสอบด้วยว่ามียาใดที่หายไปจากเดิมที่เราเคยได้รับหรือไม่ หากไม่ตรง ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา         2. ตรวจสอบ ”ชื่อยา” บนฉลากว่าตรงกับยาเดิมที่เราเคยได้รับหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจให้เอายาเดิมที่เคยได้รับมาเทียบให้แน่ใจ และแม้ชื่อจะเหมือนเดิม แต่ถ้ารูปแบบยา หรือสีของยา เปลี่ยนไปจากยาเดิมที่เคยได้รับ ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา         3. ตรวจสอบ “ขนาดยา” ที่ระบุบนฉลากว่า ตรงกับขนาดเดิมที่แพทย์เคยสั่งให้ใช้หรือไม่ หากไม่ตรง ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา          4. ตรวจดู “ลักษณะ” ของยาด้วยสายตาว่า ยาที่ได้รับมีสภาพชำรุดหรือเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยได้หรือเปล่า เนื่องจากอาจมีการขนส่งยาต่อกันมาหลายทอด หากยาที่ได้รับชำรุดหรือเสื่อมสภาพ ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา          5. รีบนำยาที่ได้รับไปเก็บในที่ที่เหมาะสมเหมือนเดิม เช่น บางชนิดอาจต้องเก็บให้พ้นแสง บางชนิดอาจต้องแช่ในตู้เย็น         6. ห้ามปรับขนาดในการใช้ยาด้วยตนเองอย่างเด็ดขาดหาก “ไม่มั่นใจ” ในการใช้ยา ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา หรือปรึกษาเภสัชกรใกล้ตัวท่าน         และที่สำคัญอีกประการหรึ่งคือ ไม่ต้องขวนขวายหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาหรือป้องกับ โควิด 19 มาใช้อย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้เสียเงินแล้ว อาจส่งผลกระทบให้เสียสุขภาพอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 มันมาแล้วกับโควิด 19

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดในหลายประเทศ ก่อให้เกิดความตระหนกและตื่นตัว ผู้บริโภคต่างแสวงหาวิธีการ หรืออุปกรณ์ต่างๆ มาป้องกันตนเองและครอบครัว หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขาดแคลนเป็นระลอกๆ        เมื่อเข้าตาจน ผู้บริโภคหลายรายที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์นี้ จึงแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ป้องกันตัว เช่น มีการนำน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ใช้ล้างแผลมาใช้ล้างมือแทนแอลกอฮอล์ หรือนำสุราขาวมาใช้แทนแอลกอฮอล์ล้างแผล ซึ่งความจริงแล้วแอลกอฮอล์ที่ใช้ฆ่าเชื้อได้ดีที่สุดต้องมีความเข้มข้น 70% หากน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ประสิทธิภาพจะลดลง        นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ผลิตบางรายถือโอกาสนำผลิตภัณฑ์แปลกๆ มาขายผู้บริโภค จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมาเตือนผู้บริโภคไม่ให้หลงเชื่อแผ่นป้ายหรืออุปกรณ์ห้อยคอต่างๆ (เช่น ปากกา พัดลม) ที่จำหน่ายในสื่อออนไลน์ โดยอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถปล่อยสารบางอย่างออกมา เพื่อช่วยกรองอากาศ ป้องกันและยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศได้ สามารถใช้แทนหน้ากากอนามัยได้ ซึ่งความจริงผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าสามารถฆ่าเชื้อในอากาศได้นั้น จะจัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ตามบ้านเรือน ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน และต้องผ่านการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนด้วย จึงจะสามารถจำหน่ายได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ชนิดใด มาขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเล         หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการเผยแพร่ทางออนไลน์อีก เป็นการเผยแพร่บทสวดมนต์อ้างว่า ปัดเป่าขับไล่ไวรัสได้ ในจังหวัดสมุทรสงครามเอง ก็มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า มีคนนำเหรียญหรือยันต์มาชักชวนให้ตนซื้อ เพื่อใช้ป้องกันโรคได้เช่นกัน          ดังนั้นขอย้ำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไวรัสและเชื้อโรคต่างๆ คือ         1. กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ : รับประทานอาหารปรุงร้อนจนสุก ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน         2. ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง เมื่อต้องไปอยู่ในที่ชุมชน หรือที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีผู้คนหนาแน่น         3. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค         วัตถุประหลาดใดๆ ไม่อาจช่วยให้รอดจากไวรัสได้ อย่าไปหลงเชื่อโดยเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 4 เรื่องเล่า เฝ้าระวัง

เมื่อยุคโลกอยู่ใกล้กัน (แต่ตอนนี้ควรห่างกันสักพัก) ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ จึงเดินเข้าหาผู้บริโภคได้ไม่ยาก        1. น้องเภสัชกรจากจังหวัดนราธิวาสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอพานักเรียน อย.น้อยไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามบ้าน เมื่อไปถึงบ้านคุณยายท่านหนึ่ง พบผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดหนึ่งในบ้าน ดูจากฉลากแล้วไม่มีภาษาไทย แต่เป็นฉลากภาษาอาหรับ จึงสอบถามได้ความว่า คุณยายมีเพื่อนไปแสวงบุญที่ต่างแดนแล้วซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้กลับมาฝาก คุณยายคิดว่าน่าจะเป็นของดีเพราะเป็นของจากต่างประเทศและเมื่อรับประทานแล้วก็ได้ผลดี อาการปวดเมื่อยหายเร็วมาก น้องเภสัชกรสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์นี้น่าจะมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์จึงใช้ชุดทดสอบตรวจได้ผลว่าผลิตภัณฑ์จากต่างแดนนี้ มีส่วนผสมของสเตียรอยด์จริงๆ อย่างที่สงสัย จึงรีบแนะนำคุณยายให้หยุดรับประทาน และรีบดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชนนี้         2. ผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม โดยให้ข้อมูลว่าตนซื้อเครื่องสำอางจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง ผู้ขายชักชวนให้ซื้อแล้วจะได้คูปองชิงโชค ตนเห็นราคาถูก ตรวจสอบแล้วมีฉลากครบถ้วนจึงซื้อมา เมื่อถึงบ้านตรวจสอบที่เว็บของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ถูกยกเลิกแล้ว จึงรีบนำมาแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมนำเอกสารหลักฐานต่างๆ มาให้ดูด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตที่จังหวัดจันทบุรี และมีตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในจังหวัดเพชรบุรี จึงได้แจ้งเรื่องต่อไปยังจังหวัดจันทบุรีและเพชรบุรี เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบต่อไป         3. เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนึ่งเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ของตนเห็นดาราชายสูงวัยเสียงนุ่มท่านหนึ่งโฆษณารับรองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในโทรทัศน์และเฟซบุ๊ค อ้างว่ารับประทานเป็นประจำแล้วสุขภาพดี จึงตัดสินใจจะสั่งซื้อมารับประทาน ตนทราบเรื่องจึงรีบห้ามทัน เพราะสรรพคุณที่โฆษณานั้นโอ้อวดมากจนเกินจริง         4. น้องเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง เล่าให้ฟังว่ามีผู้ป่วยหญิงร่างท้วมเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยเห็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้โฆษณาขายทางเฟซบุ๊ค มีเลข อย แล้ว จึงสั่งซื้อมารับประทาน หลังจากรับประทานไประยะหนึ่งเริ่มมีอาการดังกล่าวจึงรีบมาโรงพยาบาลตอนนี้ยังเหลืออยู่ 6 แคปซูล น้องเภสัชกรจึงรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป        จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสี่ยงอันตรายเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่ยาก แต่หากเจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูลพร้อมได้รับเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ได้อย่างละเอียดและรวดเร็วแล้วก็สามารถจะจัดการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีเพราะมันจะได้ไม่ไปเสี่ยงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 หลอกลวงแบบเนียนๆ

        ผู้บริโภครายหนึ่งเล่าเหตุการณ์ที่พลาดเสียเงินไปโดยไม่รู้ตัวให้ฟังว่า เพื่อนบ้านมาชวนไปเที่ยว “บอกว่างานนี้ฟรีทุกอย่าง เขาจัดล่องเรือชมวิว แนะนำสินค้า เราไม่ซื้อก็ไม่เป็นไรถือว่าได้เที่ยวฟรี” ผู้บริโภครายนี้คิดว่าตนเองคงไม่ยอมเสียเงินซื้อแน่ๆ แต่ใจก็อยากเที่ยวฟรี ในที่สุดเลยตกลงไปเที่ยวลงเรือตามที่เพื่อนชวน        “เมื่อขึ้นไปบนเรือ เขาพาล่องแม่น้ำ มีอาหารให้กินฟรีจริงอย่างที่เพื่อนบอกนะ แต่พอเรือล่องไปได้สักระยะหนึ่ง ก็มีคนมาแนะนำสินค้าต่างๆ ส่วนมากเป็นพวกโสม มีทั้งโสมผสมถังเช่า โสมตังจือ โสมเกาหลีสีส้ม ราคาขวดละเกือบสามพันบาท เขาบรรยายสรรพคุณต่างๆ เยอะมาก ฟังแล้วเคลิ้มเลยล่ะ เขาชวนให้เราทดลองซื้อมาใช้ดูก่อนก็ได้ สุดท้ายเราก็ใจอ่อนเอง ซื้อไปหลายอย่าง รวมๆ แล้วเกือบสามหมื่น มาถึงบ้าน นึกไปนึกมา นี่ถ้าเราไม่ไปเที่ยว เราก็คงไม่เสียเงินขนาดนี้ พอเราไป ไอ้ที่คิดว่าฟรี มันไม่ฟรีแล้ว เพราะเราหมดไปสามหมื่น สงสัยเหมือนกันว่า มันคงรวมๆ ค่าเที่ยวค่ากินไปในค่าโสมแน่นอน นึกแล้วเจ็บใจจริงๆ ไม่น่าเสียรู้เลย ไม่กล้าไปเตือนใคร อายเขา”        อีกเรื่องหนึ่ง มาจากน้องเภสัชกรที่ทำงานในชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล่าให้ฟังว่า ยุคนี้ผลิตภัณฑ์สุขภาพบุกถึงวัดแล้ว อ้างว่าเป็นสะพานบุญ คนขายพวกนี้มักจะตระเวณไปตามวัด ไปแอบหาข้อมูลว่าพระตามวัดต่างๆ มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง โดยมากจะเล็งไปที่พระที่รูปร่างอ้วนๆ น้ำหนักมากๆ        แต่พวกนี้ไม่ได้ไปขายผลิตภัณฑ์สุขภาพกับพระ แต่จะไปสังเกตญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด พอมีโอกาสก็จะเข้าไปพูดคุยชวนทำบุญ อ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นเสมือนผลิตภัณฑ์สะพานบุญ สามารถลดน้ำหนักให้พระสงฆ์ที่ญาติโยมเคารพได้ เมื่อท่านน้ำหนักลดลง ท่านจะได้ไม่ป่วย ไม่เสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สุดท้ายญาติโยมก็ใจอ่อน บางคนก็เกรงใจ ยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์พวกนี้ถวายพระไปด้วย หมดกันคนละเป็นหมื่น        ล่าสุด มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า “มีคนมาในช่วงที่ผู้สูงอายุในชุมชนกำลังประชุม บอกว่าจะขอแนะนำความรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ มีการใช้คอมพิวเตอร์ฉายภาพ เป็นรูปคนสุขภาพดีหน้าตาแจ่มใส แล้วผู้ขายก็บรรยายสรรพคุณสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์รากมะเดื่อ และเชิญชวนให้ผู้สูงอายุลองซื้อไปรับประทาน ผู้สูงอายุบางคนก็มีเงินเยอะ พอผู้สูงอายุคนหนึ่งซื้อ ที่เหลือก็เริ่มซื้อตาม สุดท้ายก็ขายได้หลายหมื่น หลังจากวันนั้นเขาก็มาอีก คราวนี้ตระเวณไปถึงบ้าน มาทราบทีหลังว่าขายได้ด้วย บางบ้านซื้อเยอะ รวมๆ หลายบ้าน น่าจะหมดเป็นแสน”        เท่าที่สอบถามข้อมูล ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับอนุญาตแล้ว มีเครื่องหมาย อย. และฉลากถูกต้อง ไม่มีเอกสารใดๆ ที่ผิดกฎหมายหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แต่พฤติกรรมประกอบการขายที่โอ้อวดเกินจริง โดยใช้คำพูดโน้มน้าว ทำให้ผู้บริโภคที่ใจอ่อน หลงเชื่อ สุดท้ายก็เสียเงินเสียทองมากมาย ในการจัดการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำได้ยาก เพราะเอกสารหลักฐานมักไม่ค่อยชัดเจน นอกจากคำพูดโน้มน้าวระหว่างขายสินค้าเท่านั้น ต้องช่วยกันเตือนผู้บริโภค ให้มีภูมิต้านทาน ให้เท่าทันกับสถานการณ์แบบนี้ ท่องไว้เลยว่า “ยาเทวดาไม่มีในโลก ถ้ามันเจ๋งขนาดนี้ ทำไมโรงพยาบาลไม่เอาไปใช้รักษาผู้ป่วย และถ้าได้ผลดีต่อสุขภาพจริง ทำไมมาขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร .. สรุปง่ายๆ คือ หลอกลวงแบบเนียนๆ นั่นเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ใช้สิทธิผู้ป่วย … ใช้สิทธิในการมีสติ

        เพื่อนนอกวงการสุขภาพคนหนึ่งของผม พิมพ์ข้อความปรึกษาผ่านมาทางไลน์ เกี่ยวกับอาการท้องเสียของเขา เล่าว่าถ่ายบ่อยๆ ติดกันมาสองวันแล้วจะทำอย่างไรดี เท่าที่ผมดูอาการก็ไม่น่ากังวลอะไร เพราะไม่ได้ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ไม่เพลีย ไม่มีไข้หรืออาเจียนจากอาหารเป็นพิษ สอบถามข้อมูลก็ไม่ค่อยทราบอะไรมากนัก จึงแนะนำในแง่การปฏิบัติตัว ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายรสไม่จัดไปก่อน หากอาการไม่ดีขึ้นอาจไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ         เพื่อนคนนี้หายไปห้าหกวันก็ไลน์กลับมาปรึกษาอีก เล่าว่าหลังจากสองวันอาการถ่ายก็หาย แต่ด้วยความไม่สบายใจจึงไปตรวจที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง สถานพยาบาลแห่งนั้นตรวจแล้ว ก็ขอตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่าในอุจจาระมีเชื้ออะไรที่อาจทำให้เกิดโรค หลังจากยอมให้ตรวจโดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เมื่อกลับไปอีกครั้งทางสถานพยาบาลก็บอกอีกว่า น่าจะตรวจลำไส้หาสาเหตุต่างๆ เพิ่มอีก รวมทั้งให้ตรวจมะเร็งลำไส้ด้วย         ตนเองเริ่มรู้สึกแปลกๆ เพราะปกติตนเองก็ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอมาโดยตลอด และไม่เคยพบว่าผิดปรกติอย่างไร เพียงแค่ครั้งนี้ถ่ายบ่อยๆ ติดต่อกันสองวันนั้นเอง และอาการก็หายไปแล้วด้วยซ้ำ แต่เมื่อถูกทักและชักชวนให้ตรวจอะไรต่างๆ มากขึ้นก็เริ่มกังวล และหากตรวจเพิ่มตนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย         ผมแนะนำให้กลับสอบถามทางสถานพยาบาลให้ชัดว่า ทำไมถึงต้องชักชวนให้ตรวจอะไรหลายๆ อย่าง มีเหตุผลจำเป็นอย่างไร เพื่อนก็บอกว่าไม่กล้าถาม        เพื่อนของผมก็คงคล้ายๆ กับผู้ป่วยอีกหลายคน เมื่อไปรักษาทางการแพทย์แล้วมักเกิดความสงสัยต่างๆ แต่กลับไม่กล้าสอบถามอะไรกับบุคลากรทางการแพทย์ และกลับมาวิตกกังวลเสียเอง ผู้ป่วยหลายท่านอาจไม่ทราบว่า แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ฯลฯ ได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิของผู้ป่วย เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพกับผู้ป่วย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอันดีและเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน          โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเกี่ยวกับการได้รับข้อมูลต่างๆ เช่น ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอม หรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือที่รีบด่วนหรือจำเป็น  นอกจากนี้ยังมีสิทธิที่จะได้รับทราบ ชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน ตลอดจนสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพท่านอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการ และสถานบริการได้ ฯลฯ         การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีโรคหลายชนิดที่เป็นภัยเงียบ การตรวจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม หากพบจะทำให้รักษาได้ง่าย และมีโอกาสหายขาดได้ แต่การตรวจสุขภาพต้องตรวจให้เหมาะสมกับตัวเรา หากตรวจเกินจำเป็นก็ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ การตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี แต่ควรตรวจตามระยะ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง          และอย่าลืมว่า เราสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ โดยการตรวจสังเกตพฤติกรรม น้ำหนัก การวัดเส้นรอบเอวว่าอยู่ในภาวะลงพุงหรือไม่ หากพบว่ามีคมเสี่ยงต่างๆ เราก็จะได้รีบหันมาดูแลสุขภาพของตนเองได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >