ฉบับที่ 227 ใช้สิทธิผู้ป่วย … ใช้สิทธิในการมีสติ

        เพื่อนนอกวงการสุขภาพคนหนึ่งของผม พิมพ์ข้อความปรึกษาผ่านมาทางไลน์ เกี่ยวกับอาการท้องเสียของเขา เล่าว่าถ่ายบ่อยๆ ติดกันมาสองวันแล้วจะทำอย่างไรดี เท่าที่ผมดูอาการก็ไม่น่ากังวลอะไร เพราะไม่ได้ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ไม่เพลีย ไม่มีไข้หรืออาเจียนจากอาหารเป็นพิษ สอบถามข้อมูลก็ไม่ค่อยทราบอะไรมากนัก จึงแนะนำในแง่การปฏิบัติตัว ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายรสไม่จัดไปก่อน หากอาการไม่ดีขึ้นอาจไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ         เพื่อนคนนี้หายไปห้าหกวันก็ไลน์กลับมาปรึกษาอีก เล่าว่าหลังจากสองวันอาการถ่ายก็หาย แต่ด้วยความไม่สบายใจจึงไปตรวจที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง สถานพยาบาลแห่งนั้นตรวจแล้ว ก็ขอตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่าในอุจจาระมีเชื้ออะไรที่อาจทำให้เกิดโรค หลังจากยอมให้ตรวจโดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เมื่อกลับไปอีกครั้งทางสถานพยาบาลก็บอกอีกว่า น่าจะตรวจลำไส้หาสาเหตุต่างๆ เพิ่มอีก รวมทั้งให้ตรวจมะเร็งลำไส้ด้วย         ตนเองเริ่มรู้สึกแปลกๆ เพราะปกติตนเองก็ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอมาโดยตลอด และไม่เคยพบว่าผิดปรกติอย่างไร เพียงแค่ครั้งนี้ถ่ายบ่อยๆ ติดต่อกันสองวันนั้นเอง และอาการก็หายไปแล้วด้วยซ้ำ แต่เมื่อถูกทักและชักชวนให้ตรวจอะไรต่างๆ มากขึ้นก็เริ่มกังวล และหากตรวจเพิ่มตนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย         ผมแนะนำให้กลับสอบถามทางสถานพยาบาลให้ชัดว่า ทำไมถึงต้องชักชวนให้ตรวจอะไรหลายๆ อย่าง มีเหตุผลจำเป็นอย่างไร เพื่อนก็บอกว่าไม่กล้าถาม        เพื่อนของผมก็คงคล้ายๆ กับผู้ป่วยอีกหลายคน เมื่อไปรักษาทางการแพทย์แล้วมักเกิดความสงสัยต่างๆ แต่กลับไม่กล้าสอบถามอะไรกับบุคลากรทางการแพทย์ และกลับมาวิตกกังวลเสียเอง ผู้ป่วยหลายท่านอาจไม่ทราบว่า แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ฯลฯ ได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิของผู้ป่วย เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพกับผู้ป่วย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอันดีและเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน          โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเกี่ยวกับการได้รับข้อมูลต่างๆ เช่น ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอม หรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือที่รีบด่วนหรือจำเป็น  นอกจากนี้ยังมีสิทธิที่จะได้รับทราบ ชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน ตลอดจนสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพท่านอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการ และสถานบริการได้ ฯลฯ         การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีโรคหลายชนิดที่เป็นภัยเงียบ การตรวจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม หากพบจะทำให้รักษาได้ง่าย และมีโอกาสหายขาดได้ แต่การตรวจสุขภาพต้องตรวจให้เหมาะสมกับตัวเรา หากตรวจเกินจำเป็นก็ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ การตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี แต่ควรตรวจตามระยะ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง          และอย่าลืมว่า เราสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ โดยการตรวจสังเกตพฤติกรรม น้ำหนัก การวัดเส้นรอบเอวว่าอยู่ในภาวะลงพุงหรือไม่ หากพบว่ามีคมเสี่ยงต่างๆ เราก็จะได้รีบหันมาดูแลสุขภาพของตนเองได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจยา

        “ช่วงนี้ชิคุนกุนย่ากำลังระบาด เรามียาดีจำหน่าย สนใจสั่งซื้อด่วน”          ข้อความประกาศขายผลิตภัณฑ์  Air Herba นี้กำลังถูกส่งต่อๆ ในสื่อโซเชียล จากการติดตามข้อมูลของเครือข่ายเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ เป็นผลิตภัณฑ์จากมาเลเซียระบาดเข้ามาทางชายแดนใต้ เมื่อมีการแจ้งข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังและติดตามหาแหล่งจำหน่าย ก็พบว่ามีการโฆษณาขายยาแถวๆจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรักษาโรคชิคุนกุนย่าเหมือนกัน  โดยอ้างว่าเป็นยาสมุนไพรจากพม่า จากการติดตามข้อมูลพบว่าผู้ป่วยหลายรายที่นำมารับประทานกลับมีอาการบวม         เครือข่ายเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ติดตามสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจากมาเลเซียและพม่าพบว่า ผลิตภัณฑ์  Air Herba ที่มาจากมาเลเซียนั้น เป็นยาสมุนไพรแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เนื่องจากพบส่วนผสมของสารสเตอรอยด์  เช่นเดียวกับยาสมุนไพรพม่า ก็เป็นยาที่ถูกยกเลิกทะเบียน เนื่องจากผสมยาแผนปัจจุบัน (diclofenac) ซึ่งขณะนี้เครือข่ายเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ติดตามเพื่อดำเนินงานจัดการต่อแล้ว         โรคชิคุนกุนยา เป็นโรคที่ติดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่จะไม่มีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อก โรคนี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ต่างจากไข้เลือดออกที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี ผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา จะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน  มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคือ อาการปวดข้อ จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อซึ่งจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ  บางคนอาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ และอาการจะหายภายใน 1 - 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี           ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง จะรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ เช่น ให้ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน โปรดอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 หุ่นจะดี ขอให้มีเงิน

โฆษณาขายผลิตภัณฑ์แปลกๆ ตามโซเชียลมีเดีย มันผุดเป็นดอกเห็ด หมุนเวียนเปลี่ยนไปจนตามไล่จับไม่ทัน ในยุคแรกๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ ต่อมาสื่อโซเชียลมีหลากหลายชนิดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเปลี่ยนช่องทางการขายหันมาทางเฟซบุ๊คขาย พอเจ้าหน้าที่ไล่ตรวจเช็คเฟซบุ๊ค ก็ย้ายฐานการโฆษณามายังไลน์ และล่าสุดย้ายไปขายในอินสตราแกรมกันครึกโครม เล่นเอาเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ไล่แทบไม่ทัน พอจะดำเนินการบางรายก็ปิดเฟซ ปิดไลน์ ปิดอินสตราแกรมหนี หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มาเปิดใหม่อีก และถ้าเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มแวดวงของพวกเขา เราก็จะไม่รู้ข้อมูลพวกนี้เลย เพราะทุกวันนี้มันมีกลุ่มปิด กลุ่มเฉพาะ ทางสื่อโซเชียลเหล่านี้มากมาย         ผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับกลุ่มหนุ่มสาวที่มีเงิน สนใจเข้าฟิตเนสออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายให้คนกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ราคาถูกๆ แต่มักจะขายในราคาแพง และมักจะโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งแทบทุกชนิดที่เจอ จะไม่มีการขออนุญาตในประเทศไทยตามกฎหมาย แต่ผู้ขายจะอ้างว่าตนหิ้วมาเองจากต่างประเทศ         ล่าสุดผมได้รับแจ้งว่า มีผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งสำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนัก โดยผู้ขายบอกว่าถ้าจะใช้ต้องซื้อเป็นเซ็ต ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดแคปซูลสามชนิดสามขวด อ้างสรรพคุณว่าชนิดแรกจะเพิ่มการเผาผลาญไขมันที่เรารับประทานเข้าไป ชนิดที่สองจะไปบล๊อคการดูดซึมแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตจากอาหารที่เรารับประทาน และชนิดที่สามจะไปบล๊อคความหิวของเรา         ผู้ขายอ้างว่า สามารถลดน้ำหนัก และลดไขมันส่วนเกินที่เกาะตามส่วนต่างๆ ได้ ทั้ง ต้นแขน ต้นขา หน้าท้อง หรือส่วนต่างๆ ทั้งไขมันเก่าและใหม่  เหมาะกับคนที่หิวบ่อย อยากปรับกระเพาะไห้เล็กลง คนที่กินจุบจิบ อยากกินอาหารเยอะๆ เหมาะสำหรับคนที่จะไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด ประเภททริปตะลุยกินโดยเฉพาะ  ตลอดจนยังเหมาะกับคนที่ออกกำลังกายและอยากให้น้ำหนักลงเร็ว หรือคนที่ชอบกินของมันๆ ของหวาน หรือกินแป้งเยอะๆ พิซซ่า ชาบู  ของทอด ฯลฯ มีการย้ำว่ารับรองลดไขมันได้ 5 กิโลกรัมขึ้นไป  ราคาทั้งเซ็ต  4,790 บาท ถ้าแยกซื้อเป็นชนิดๆ ก็ตกชนิดละเกือบสองพันบาท         ตามไปดูที่โฆษณา ก็เหมือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆที่ โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แจ้งว่าสกัดจากธรรมชาติล้วนๆ ทั้งสารสกัดจากถั่วขาว  และสารสกัดจากผลส้มแขก โดยอ้างว่าจะสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ย่อยแป้งได้ถึงกว่า 50% และยับยั้งการสังเคราะห์กรดไขมัน ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันน้อยลง ลดความอยากอาหาร ไม่รู้สึกหิว และเร่งการสลายไขมัน และยังแนะนำให้ดื่มน้ำเย็นเฉียบตามหลังรับประทานผลิตภัณฑ์นี้ เพราะจะยิ่งช่วยให้ร่างกายนำพลังงานมาปรับเพิ่มอุณหภูมิน้ำ ให้เท่าอุณหภูมิในร่างกาย         ถ้าจะให้สรุปว่าผลิตภัณฑ์นี้ได้ผลตามที่อวดอ้างหรือไม่ ขอยืนยันเลยว่ายังไม่มีผลการวิจัยที่เป็นทางการออกมายืนยัน แม้ผู้ขายจะอ้างว่านำหิ้วเข้ามาจากประเทศอังกฤษ แต่การนำเข้ามาโดยไม่มาขออนุญาต จึงทำให้ไม่ได้ถูกตรวจสอบว่า การโฆษณาสรรพคุณตามที่อ้างมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ฟันธงได้เลยว่า ผลิตภัณฑ์นี้ ผิดกฎหมาย และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หนำซ้ำยังเสียเงินโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ตะละแม่หน้าขาว กับหม่องหายเมื่อย

        เรื่องสุขภาพแข็งแรงและความสวยงาม ไม่ว่าชนชาติไหนในโลกคงไม่ต่างกัน ในขณะที่ในประเทศไทย เรายังไล่ตามกวดจับผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายชนิด ที่ลักลอบผลิตหรือใส่สารอันตรายกันอย่างแทบไม่หมดสิ้น กลับพบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่ได้มีเฉพาะของไทยๆ ที่ไทยทำไทยใช้เท่านั้น         ผมได้ข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ป่วยเขตกรุงเทพมหานคร พี่เขาเล่าให้ฟังว่า ที่บ้านมีคนงานต่างชาติชาวพม่า เธอเป็นคนรักสวยรักงาม หลังๆ แอบสังเกตว่าหน้าเธอขาวขึ้นแบบผิดหูผิดตา ซักไซร้ไล่เลียงเลยทราบว่าเธอใช้ครีมทาหน้าขาว ที่ซื้อมาจากเพื่อนชาวพม่าที่มาทำงานใกล้ๆ บ้านกัน ด้วยความเป็นห่วงเพราะข่าวครีมหน้าขาวอันตรายเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เลยไปขอดูครีมที่เธอใช้กัน ปรากฎว่าครีมที่ใช้เป็นครีมที่ไม่มีฉลากภาษาไทย แต่แสดงเป็นภาษาพม่าทั้งหมด จากการสอบถามได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกเธอสั่งซื้อจากเพื่อนของเธอ ซึ่งซื้อต่อๆ กันมาจากผู้ขายผ่านทางโซเชียล เวลาสั่งก็จะสั่งทางไลน์ แว่วๆ ว่าผลิตในประเทศนี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าคนผลิตคือโรงงานในประเทศ ผลิตแล้วติดฉลากภาษาพม่า เพื่อจำหน่ายในกลุ่มพวกเธอ หรือเป็นคนชาติเดียวกับเธอแอบลักลอบทำมาขายกันเอง         สาวใช้พม่ารายนี้ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ไม่ได้มีแค่ครีมหน้าขาวนะ ยาแก้ปวดเมื่อยสำหรับแรงงานชาวพม่าก็มีจำหน่าย จัดเป็นชุดๆ มักขายให้พวกผู้ชาย ผู้หญิง ที่ใช้แรงงานหนักๆ หรือทำงานจนปวดเมื่อย กินแล้วได้ผลชะงัด เวลาซื้อก็จะสั่งต่อๆ กัน เขาก็จะส่งมาให้ ส่วนรายละเอียดบนฉลากก็เป็นภาษาพม่าเช่นเคย         พี่จากเครือข่ายภาคประชาสังคมค่อนข้างเป็นห่วง เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร ชาติไหน ก็ไม่น่าจะต้องมาเสี่ยงอันตรายจากผลิตภัณฑ์พวกนี้ และยังเกรงว่าหากนิยมกันมากๆ อาจแพร่ระบาดมายังคนไทยที่ชอบลองของใหม่ๆ อีกด้วย ผมแนะนำเธอว่าถ้าเป็นไปได้ อยากให้ช่วยขอข้อมูลเพิ่มเติมว่าซื้อจากที่ไหน หรือถ้ามีตัวอย่างผลิตภัณฑ์พวกนี้ ขอให้นำมาให้ดูด้วย จะได้ช่วยกันสืบหาต้นตอแหล่งผลิต ว่าเป็นของที่ลักลอบผลิตกันในประเทศ หรือลักลอบนำเข้ามาทางชายแดนกันแน่         ตามกฎหมายอาหาร ยา เครื่องสำอาง ทุกชนิดที่ผลิต จำหน่าย หรือนำสั่งเข้ามาในประเทศ จะต้องแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และต้องขออนุญาตให้ถูกต้องด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่สาวพม่านำมาใช้ หรือยาที่แรงงานต่างๆ นำมาใช้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย และยังมีความเสี่ยงเพราะไม่ทราบว่ามันมีส่วนผสมของอะไร และอันตรายหรือไม่ แต่ที่น่าสงสัยคือ ผลหลังจากการใช้มันเกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งหน้าขาว หรือหายปวดเมื่อย จึงมีแนวโน้มว่าน่าจะผสมสารอันตราย         ฝากผู้อ่านทุกท่านคอยสอดส่องด้วยนะครับ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 โอ้ละหนอ ... ดวงตาเอย

        ปัจจุบันเราใช้สายตาผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตกันมาก ทำให้หลายคนอาจเกิดปัญหาต่างๆ ทางสายตามากขึ้น  จึงเป็นโอกาสทองของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะเข้ามาแทรกตรงนี้เพื่อให้ผู้บริโภคเคลิบเคลิ้มจนเสียเงินอย่างไม่จำเป็น โดยสารสำคัญล่าสุดที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยกมาอ้างถึงประโยชน์คือ “ลูทีน”         ในเว็บขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ที่แจ้งว่ามีส่วนผสมของลูทีนและวิตามินต่างๆ แต่ที่เหมือนๆ กันคือ ทุกชนิดจะอ้างว่าตนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงรักษาดวงตา บางผลิตภัณฑ์มีการนำผลการวิจัยที่มีตัวเลขต่างๆ มาอ้างอิงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการรักษา เหมือนว่าเพิ่มความขลัง แรกๆ ก็อ้างว่าสามารถรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ แต่ลองอ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีการอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ มากขึ้นไปอีก ประหนึ่งว่ามันคือ อาหารเทวดา เช่น ความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ  อาการหลอดเลือดแข็ง ลดไขมัน ทำให้ผิวพรรณสดใส ฯลฯ แต่ที่หาไม่เจอคือ ข้อมูลแสดงที่มาของการวิจัยว่าเป็นหน่วยงานทางวิชาการที่ไหนทำ หรือพูดภาษาบ้านๆ คือ ยกเมฆเอาข้อมูลมาอวดอ้าง แต่ไม่บอกแหล่งที่มาว่าใครวิจัย ดีที่ไม่อ้างว่าเทวดาวิจัย(ฮา)         เมื่อตามเข้าไปดูในเฟซบุ๊คของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ยิ่งหนักขึ้นไปอีก มีการนำภาพผ้สูงอายุมาประกอบการโฆษณา โดยมีข้อความชวนตะลึงเข้าไปอีก เช่น “ทานต่อเนื่อง 3 กล่อง ต้อเนื้อหลุด ตาพร่ามัวดีขึ้น มองชัด” ผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโน และยังแทคข้อความแฝงสรรพคุณต่างๆ เช่น #แสบตา #เคืองตา #น้ำตาไหล #ตาพร่ามัว #แพ้แสง #แพ้ลม #มองไม่ชัด#ภาพซ้อน #หยากไย่ลอยไปลอยมา #ตาบอดกลางคืน #ต้อลม #ต้อกระจก#ต้อเนื้อ #ต้อหิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีภาพกล่องพัสดุที่เตรียมส่งไปรษณีย์กองใหญ่ รวมทั้งโชว์ภาพใบส่งของไปรษณีย์ที่ยาวเหยียดมากมาย เหมือนโชว์ว่าสินค้านี้มีผู้สั่งซื้อจำนวนมาก         อันที่จริง ลูทีน เป็นสารอาหารในกลุ่มเดียวกับ เบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ พบได้มากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ คะน้า ข้าวโพด กีวี องุ่น ส้ม ฯลฯ ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปเสียเงินเสียทองซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแพงๆ มากิน หากใครติดตามข่าวจะพบว่าแม้กระทั่งจักษุแพทย์ เช่น ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเคยออกมาเตือนผ่านทางสื่อต่างๆ ว่า โรคตาแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นต้อกระจกต้องผ่าตัดต้อกระจก หากเป็นต้อหินก็ต้องให้ยาลดความดันลูกตา ไม่สามารถใช้วิตามินกินแล้วบอกว่ารักษาทุกโรคได้         สารลูทีนและซีแซนทีน เป็นกลุ่มวิตามิน ซึ่งมีการศึกษาที่พิสูจน์ว่าได้ประโยชน์เฉพาะผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุบางประเภท “ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ก่อน” จึงจะสามารถใช้ยาได้ “ดังนั้นการโฆษณาว่ารักษาโรคตาได้ทุกโรคนั้นไม่เป็นความจริง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หนำซ้ำจะทำให้เกิดอันตราย ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้โรครุนแรงขึ้นจนถึงขั้นตาบอดได้” เช่น ถ้าเป็นต้อเนื้อ ก็จะลุกลามจนบังการมองเห็น ถ้าเป็นต้อกระจกก็จะทำให้อาการรุนแรงเกิดผลแทรกซ้อนกลายเป็นต้อหินและตาบอดในที่สุด ยิ่งถ้าเป็นต้อหินอยู่เดิมแล้วไม่ได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันลูกตาอาจจะทำให้ตาบอดได้ บางคนอาจจะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนก็ทำให้ตาบอดได้        ทราบข้อมูลขนาดนี้แล้ว ช่วยๆ กันเตือนคนที่เรารัก ให้เท่าทัน หากมีปัญหาเรื่องตา ควรไปหาจักษุแพทย์ตรวจรักษาอย่างถูกวิธีดีกว่า อย่าไปหลงเป็นเหยื่อ ให้ผลิตภัณฑ์พวกมา...โอ้ละหนอ หลอกดวงตาจนอาจจะบอดเอย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ขายของหลอกลวง ล้วงคองูเห่า

        ยุคนี้ผู้คนตื่นตัวกับผลิตภัณฑ์สินค้าที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น ระบบการเฝ้าระวังก็เริ่มมีมากขึ้นตามไปด้วย แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจเกินไป เพราะผู้ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยหลายราย ก็เริ่มมีพัฒนาการวิธีการขายให้รอดพ้นจากการตรวจจับด้วยเช่นกัน บางรายเลือกใช้แหล่งที่เราอาจมองข้ามหรือคาดไม่ถึง บางรายก็เลือกใช้วิธีที่สร้างความน่าเชื่อถือแบบแปลกๆ                สีเปลี่ยนไป นั่นไงคือการล้างพิษ         เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายหนึ่งที่ทำงานใกล้ชิดกับวัดเล่าให้ฟังว่า มีคนนำเครื่องดื่มที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งมาแนะนำให้หลวงพ่อบริโภค บอกว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถล้างพิษที่สะสมในร่างกายของหลวงพ่อได้ ไม่เพียงแนะนำด้วยวาจา ผู้ขายยังมีวิธีนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนอย่างคาดไม่ถึง โดยนำน้ำเปล่ามาแก้วหนึ่ง แล้วเทน้ำยาใส่แผลเบต้าดีนลงไปในแก้ว คนจนน้ำในแก้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ หลังจากนั้นผู้ขายก็จะเทเครื่องดื่มชนิดนี้ลงไปในแก้ว คนน้ำในแก้วให้ทั่ว สักครู่หนึ่งน้ำในแก้วจะกลับมาใส ผู้ขายก็จะบอกว่า เห็นมั้ย เครื่องดื่มชนิดนี้จะล้างพิษในร่างกาย เหมือนสลายน้ำยาที่อยู่ในน้ำจนน้ำกลับมาใสได้ (ใช้เทคนิคสร้างความน่าเชื่อถือจากสีที่เปลี่ยนไป)         นัดเจอกัน แต่ไม่ให้เจอหน้าตา        เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกรายเล่าให้ฟังว่า ตนเห็นคุณแม่นำยาลูกกลอนมารับประทาน เมื่อนำยามาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจึงพบว่ามีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ตนกับไปคาดคั้นสอบถามคุณแม่ได้ความว่า คุณแม่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับยานี้มาจากไลน์กลุ่มเพื่อนผู้สูงอายุ หลังจากนั้นจึงโทรศัพท์ไปสั่งยาจากผู้ขาย แต่ผู้ขายบอกว่าจะไม่ส่งยาทางไปรษณีย์ ผู้ซื้อจะต้องไปหาตามจุดที่นัดไว้ โทรแจ้งแล้ว ผู้ขายจะให้คนอื่นนำยามาส่งมอบ โดยผู้ซื้อจะไม่เห็นหน้าผู้ขาย จะเห็นแต่หน้าคนที่เอายามาส่งเท่านั้น (พยายามไม่ให้มีหลักฐานมาถึงตัวเอง)         ขายกันตรงที่คนคาดไม่ถึง        ผมได้รับข้อมูลจากผู้บริโภคเล่าว่า ตนเห็นยาลูกกลอนของญาติที่นำมารับประทาน คล้ายกับยาที่เจ้าหน้าที่เคยแจ้งว่าตรวจพบสารสเตียรอยด์ผสมอยู่ จึงสอบถามว่าซื้อมาจากไหน ญาติจึงเล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่ไปตรวจที่โรงพยาบาล ระหว่างที่นั่งรอรับยาจะมีคนมานั่งข้างๆ และแนะนำยาชนิดนี้ให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่นั่งรอรับยา เห็นผู้ป่วยหลายคนซื้อ ตนเลยซื้อมาบ้าง         ฝากหลวงพ่อแนะนำ        รายนี้ผู้ขายจะเป็นลูกศิษย์ที่มาวัดบ่อยๆ เห็นหลวงพ่อปวดเมื่อย ก็จะนำยามาถวาย โดยบอกว่าเป็นยาที่ตนใช้อยู่แต่แบ่งมาให้หลวงพ่อลองใช้ดูบ้าง พอหลวงพ่ออาการดีขึ้น ก็จะรับอาสาไปซื้อมาให้คราวละมากๆ ทำไปทำมาหลวงพ่อก็เลยกลายเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้แนะนำสินค้าแก่ญาติโยมอื่นๆ ไปโดยปริยาย กว่าจะตรวจพบว่ามีสารสเตียรอยด์ญาติยามก็รับประทานไปหลายรายแล้ว         เฝ้าระวังและเตือนภัยเร่งด่วน        รูปแบบการขายที่หลากหลายแบบนี้ ลำพังเจ้าหน้าที่คงไม่สามารถไปเฝ้าระวังได้ตลอดเวลา แต่ถ้าหากผู้บริโภคคอยสอดส่องดูแล หากพบอะไรผิดปกติขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบโดยด่วน ก็จะสามารถช่วยกันสกัดปัญหาได้ทันทีและยังช่วยไม่ให้ผู้บริโภครายอื่นต้องตกเป็นเหยื่อและเสี่ยงกับอันตรายอีกด้วย ช่วยๆ กันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ผู้ป่วยควรเข้าถึงยาจากกัญชา แต่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่าให้ถูกหลอก

        ช่วงที่สังคมกำลังตื่นตัวเรื่องการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ มีการกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ป่วยที่กำลังใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา มาแจ้งข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละจังหวัด ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยที่มาแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การได้รับผลิตภัณฑ์จากกัญชา ทราบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะให้ข้อมูลว่า มีคนนำมาจำหน่ายให้ หรือบางรายก็สั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต        ประเด็นที่เจ้าหน้าที่และพวกเราควรจะช่วยกันหาทางเพื่อคุ้มครองดูแลผู้ป่วยเหล่านี้คือ ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขายอมเสียเงินเสียทองซื้อมา เป็นน้ำมันกัญชาจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลราคาของน้ำมันกัญชาที่ผู้ป่วยแต่ละคนซื้อมา มีราคาแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ขวดละ 500 ไปจนถึง 10,000 บาท         ผู้ป่วยที่น่าสงสารหลายรายที่ป่วยโรคเรื้อรังยอมเสียเงินแพงๆ เพราะคาดหวังผลในการรักษา ยิ่งสอบถามวิธีการใช้ ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะส่วนมากจะดูข้างขวดและมักจะเพิ่มขนาดการใช้เอง เพราะต้องการผลที่รวดเร็วขึ้น บางรายก็แอบใช้โดยไม่บอกใคร พอมาเจอยาแผนปัจจุบันที่ตนเองรับประทานเป็นประจำก็ยิ่งเสริมฤทธิ์กัน จนต้องนำส่งโรงพยาบาล กว่าผู้ป่วยจะยอมบอกคุณหมอ ก็แทบแย่         ล่าสุด ได้รับข้อมูลจากน้องเภสัชกรจากหลายๆ จังหวัดแจ้งว่า เริ่มมีขบวนการนำยามาเร่ขาย อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา โดยคนที่มาเร่ขายจะบอกว่าเป็นยาจากโครงการหลวง เวลาจะซื้อต้องบอกหมายเลขบัตรประชาชนด้วย  และให้ไปขอใบรับรองจากแพทย์ว่าป่วย  อ้างว่าจะนำชื่อผู้ป่วยไปเข้าโครงการให้ ถ้าซื้อยาในวันนี้ ราคากระปุกละ 500 บาท แต่ถ้าไปซื้อที่โรงพยาบาลจะต้องเสียเงินถึง 750 บาท หลังจากเสียเงินแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับแจกกัญชาสองต้น และอัญชันอีกหนึ่งต้น มีเหยื่อหลงเชื่อหลายราย         จากข้อมูลที่พบคาดว่า สถานการณ์ที่จะเอากระแสกัญชามาหลอกลวงผู้ป่วยเริ่มจะมีมากขึ้น และหลากหลายรูปแบบด้วย การนำผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ทางการแพทย์ เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างหนึ่ง แต่ผลิตภัณฑ์จากกัญชาก็เหมือนยาทั่วๆ ไป ที่มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามที่จะดูแลให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาอย่างปลอดภัย หากพบผู้ป่วยรายใดที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาแล้วเกิดผลข้างเคียง ก็สามารถแจ้งข้อมูลยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านทางช่องทางนี้ได้ที่ http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Marijuana/input-form.jsf        เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลแล้ว จะติดต่อกลับ เพื่อสอบถามอาการ และรวบรวมเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังผลข้างเคียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยต่อไป        หากเราพบเห็นผลิตภัณฑ์แปลกๆ ที่อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา ตลอดจนมีพฤติกรรมการขายที่หลอกให้ผู้ป่วยเสียเงินเสียทอง ขอให้รีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อจะได้ช่วยกันดูแล อย่าให้ใครมาอาศัยสถานการณ์นี้ หลอกลวงซ้ำเติมผู้ป่วยที่น่าสงสารเหล่านี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ถึงเวลาเอาคืนดาราและเน็ตไอดอล

        ข่าวที่ปรากฏครึกโครมทางสื่อมวลชล  ตั้งแต่กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไล่จัดการเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แอบผสมยาลดน้ำหนัก จนกระทั่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ สั่งเพิกถอนเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับดวงตา จนผู้ป่วยจำนวนมากหลงเชื่อโฆษณาดังกล่าวและปล่อยให้อาการของโรคลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้          หากติดตามข่าวจะพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ มีคนที่มีชื่อเสียง ทั้งดารา เน็ตไอดอล แม้กระทั่งนักแต่งเพลง ใช้ความดัง ความน่าเชื่อถือ หรือความชื่นชอบของบรรดาแฟนๆ มาโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แม้ทางราชการจะไล่จับ แต่ก็ไม่ค่อยทัน ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคจะต้องตั้งสติ ให้เท่าทันการโฆษณาหลอกลวง         1. เห็นโฆษณาเมื่อใด ให้ตั้งคำถามกับตัวเองไว้ก่อนว่า เราเชื่อว่าพวกดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองโฆษณาจริงหรือไม่ ถ้าดีจริงคนกลุ่มนี้ต้องไม่เจ็บไม่ป่วย เพราะผลิตภัณฑ์มันโฆษณาว่ารักษาได้สารพัดนึกนี่นา         2. ถ้าผลิตภัณฑ์พวกนี้ดีจริงอย่างที่โฆษณา ทำไมในโรงพยาบาลต่างๆ ไม่เอาไว้ใช้รักษาโรคให้กับผู้ป่วยที่มารักษาตัวในโรงพยาบาล         สิ่งสำคัญอีกอย่างที่พวกดาราและเน็ตไอดอลกลัว คือผลกระทบต่อความดัง หรือความฉาวของชื่อเสียง ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกัน เอาคืนดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้เสียที          1. เจอโฆษณาที่ไหน ให้บันทึกข้อมูลให้ละเอียด เช่น เว็บไซต์ไหน สื่อโซเชียลไหน ถ้าจับภาพหน้าจอหรือบันทึกคลิปได้ ให้บันทึกไว้เลย ระบุวันเวลาที่พบด้วย ถ้ามีเอกสารสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ ต่างๆ ให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน         2. หาช่องทางติดต่อสอบถามดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ว่าใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จริงหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนจะต้องตอบว่าใช้แน่นอน หลังจากนั้น ให้สอบถามถึงสรรพคุณต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ที่ดาราและเน็ตไอดอลพวกนี้ว่าเป็นจริงที่ตามที่โฆษณาหรือไม่ เพื่อให้มีข้อมูลออกมาจากเขาโดยตรง จะได้ไม่ต้องอ้างเวลาถูกดำเนินคดีว่า ตนไม่รู้เรื่อง เจ้าของผลิตภัณฑ์เอาภาพตนไปทำโฆษณาเอง         3. จับภาพหน้าจอ หรือบันทึกคลิปที่ดาราหรือเน็ตไอดอลเหล่านี้ ยืนยันสรรพคุณต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน         4. นำข้อมูลและเอกสารต่างๆ ที่รวบรวมได้ ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินคดีต่อไป         5. พวกดาราและเน็ตไอดอล มักกลัวความฉาวส่งผลกระทบต่อความดัง มาตรการเอาคืนอีกทางหนึ่งคือ นำข้อมูลที่รวบรวมได้ ส่งต่อให้สื่อมวลชนที่เรารู้จัก หรือสื่อโซเชียลที่สนใจประเด็นเหล่านี้ นำไปขยายผลหรือติดตามตรวจสอบต่อไป         6. เมื่อผลคดีตัดสินว่า ดาราและเน็ตไอดอลทำผิดจริง ช่วยกันแสดงความคิดเห็นและทวงถามความรับผิดชอบจากดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ หรือชวนกันบอยคอตไม่สนับสนุนผลงาน         ยิ่งเรารัก เราชื่นชอบดาราหรือเน็ตไอดอลคนไหน เรายิ่งต้องตรวจสอบ เพื่อดูแลให้พวกเขาอยู่ในร่องในรอยที่ถูกต้อง ไม่เผลอไผลไปกระทำผิดให้บรรดาแฟนๆ เจ็บช้ำใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 รู้ทันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (ตอนที่2)

        หลังจากฉบับที่แล้วเราได้พิจารณารูปโฉมโนมพรรณภายนอกของเจ้าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไปแล้ว เรามาล้วงลูกผ่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดูภายในกันเลย ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ผลิตจากแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ภายใน จะแยกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นถังเก็บน้ำ และส่วนที่ติดตั้งระบบการกรองและระบบฆ่าเชื้อโรค                      จะเห็นได้ว่าส่วนที่จะส่งผลทำให้น้ำดื่มที่จะจ่ายออกมาสะอาดหรือไม่ คือ ถังเก็บน้ำมันสะอาดจริงหรือ? และระบบการกรองและระบบฆ่าเชื้อมันยังคงมีประสิทธิภาพเหมือนตอนผลิตใหม่ๆ หรือไม่? คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องสอบถามหาคนรับผิดชอบ หรือสอบถามคนใกล้เคียง เพื่อหาข้อมูลการดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้ให้มั่นใจ โดยสอบถามในประเด็นต่างๆเกี่ยวกับการดูแล บำรุงรักษา ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้        1. ใครเป็นผู้รับผิดชอบดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้ แล้วมาดูแลอย่างไร บ่อยแค่ไหน           การดูแลนั้น ไม่ใช่แค่มาดูว่าตู้ฯพังหรือไม่? หรือมาเปิดเพื่อเก็บเงิน แต่ต้องมาดูแลเช็ดถู ทั้งภายนอกและภายใน ของตู้ฯให้สะอาด        2. มีการดูแลระบบและอุปกรณ์ที่การกรอง และฆ่าเชื้อตามระยะเวลาตามที่ติดไว้บริเวณด้านหน้าของเครื่องหรือไม่ เช่น มีการล้างไส้กรอง มีการเปลี่ยนไส้กรองแต่ละชนิด หรือหลอดยูวีตามวัน เดือน ปี ที่ระบุหรือไม่         3. มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากตู้นี้บ้างหรือไม่ อย่างไร        โดยการตรวจสอบคุณภาพน้ำจะทำได้สองแบบ         (1) การตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น ซึ่งควรจะทำการทดสอบให้ครบทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ ทดสอบความเป็นกรด-ด่าง (ผลที่ได้ควรมีค่าอยู่ในช่วง 6.5 – 8.5) ทดสอบความกระด้าง (ผลที่ได้ไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัม/ลิตร) และทดสอบเชื้อโรคด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (ผลที่ได้ไม่ควรพบเชื้อโรค)         (2) การเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลบ เพื่อยืนยันว่าน้ำดื่มได้มาตรฐานจริงๆหากสอบถามแล้วเรายังไม่ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ก็เหมือนการยอมเสียเงินเพื่อได้น้ำดื่มที่เราไม่รู้ว่าสะอาดหรือไม่มาบริโภคนั่นเอง          ไม่มั่นใจหรือสงสัย สอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 รู้ทันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ(ตอนที่1)

        แม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะหาซื้อน้ำดื่มบรรจุในขวดหรือบรรจุในถังมาบริโภคได้ไม่ยาก แต่ในต่างจังหวัดหรือในชุมชนต่างๆ กลับพบว่ามีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาติดตั้งมากมาย ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากเงินกองทุนต่างๆที่ชุมชนเลือกดำเนินการ แต่เมื่อได้ติดตั้งตู้ฯ ไประยะหนึ่งแล้ว มักพบว่าตู้เหล่านี้เหมือนถูกทอดทิ้งชอบกล บางตู้ไม่มีผู้ดูแลประจำ บางตู้แม้มีการมอบหมายคนดูแล แต่คนดูแลก็ไม่ค่อยมาใส่ใจดูแลสม่ำเสมอ สุดท้ายผู้บริโภคที่มาหยอดเหรียญซื้อน้ำ เลยไม่รู้ว่าตนเองได้น้ำสะอาด หรือน้ำแถมเชื้อโรคกันแน่ ดังนั้นหากเราเป็นผู้บริโภคที่จะต้องเสียเงินซื้อน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเพื่อนำมาบริโภคแล้ว เราควรรู้เท่าทันมัน จะได้คุ้มค่าและได้น้ำที่สะอาดจากตู้ฯ มาบริโภค         การผลิตน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญก็คล้ายๆ กับการย่อโรงงานผลิตน้ำดื่มให้เล็กลงแล้วยัดลงไปในตู้ หากมองจากภายนอก เราจะเห็นว่ามันมีช่องให้หยอดเหรียญ มีบริเวณให้วางภาชนะเพื่อรองรับน้ำที่ไหลออกมาจากหัวจ่าย  ดังนั้นอันดับแรกก่อนจะเสียเงิน ให้มองดูฮวงจุ้ยของตู้ฯ เสียก่อน ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งใกล้ถังขยะ ใกล้แหล่งน้ำขังน้ำเน่า หรือใกล้จุดที่มีฝุ่นละอองต่างๆ มาก ถือว่าเป็นอัปมงคลแห่งทรัพย์ที่จะเสีย เพราะย่อมมีความเสี่ยงที่สิ่งสกปรกเหล่านี้จะมาปนเปื้อนที่ตัวตู้ฯ อย่างแน่นอน ที่น่ากลัวคือบริเวณหัวจ่ายน้ำ หากพบว่าหัวจ่ายสกปรก มีคราบตะไคร่คราบฝุ่นติดมากมาย (ทดสอบโดยการนำเอากระดาษทิชชู่เช็ดที่หัวจ่าย) แสดงว่าสิ่งสกปรกเหล่านี้กำลังรอที่จะผสมลงไปในน้ำดื่มที่ตู้ฯ กำลังจะจ่ายให้เรา        เสร็จจากดูฮวงจุ้ยของตู้น้ำหยอดเหรียญแล้ว ถ้ามันผ่านก็อย่าเพิ่งรีบดีใจจนเนื้อเต้น ให้ตั้งสติหันมาดูรายละเอียดที่บริเวณด้านหน้าของตู้ฯด้วย เพราะ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522  ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่  31  (พ.ศ.  2553) กำหนดให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งต้องแสดงรายละเอียด ติดไว้ที่ด้านหน้าของตู้ให้อ่านได้ชัดเจน คงทนถาวร และมีรายละเอียดครบถ้วนดังนี้         1. ข้อแนะนําในการใช้  ต้องระบุรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้                    (ก) ต้องดูความสะอาดของหัวจ่ายน้ำ                (ข) ต้องหลีกเลี่ยงการใช้บริการจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีลักษณะ ไม่ถูกสุขอนามัย                    (ค) ต้องใช้ภาชนะที่สะอาดในการบรรจุน้ำ                    (ง) ต้องหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีสีกลิ่นหรือรสผิดปกติ                    (จ) ไม่ควรนําภาชนะที่เคยบรรจุของเหลวชนิดอื่นมาบรรจุน้ำ        2. ระบุวัน  เดือน  ปี  ที่เปลี่ยนไส้กรอง  แต่ละชนิด        3. คําเตือน  ต้องระบุว่า  “ระวังอันตราย  หากไม่ตรวจสอบวัน  เดือน  ปีที่เปลี่ยนไส้กรอง  และตรวจสอบคุณภาพน้ำ”  โดยข้อความที่เป็น  “คําเตือน”  ต้องใช้ตัวอักษรหนาสีแดงขนาดไม่ต่ำกว่า  1  เซนติเมตร  บนพื้นสีขาว            ดังนั้นหากเราดูภายนอกแล้วพบว่าตู้น้ำหยอดเหรียญนี้ไม่แสดงฉลาก แสดงว่าตู้นี้เป็นตู้ที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522   แจ้งเจ้าหน้าที่ สำนักงานจังหวัดที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522 ที่ศาลากลางจังหวัดที่ตู้นั้นตั้งอยู่ได้เลย        หากเราตรวจสอบลักษณะภายนอกของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังข้างต้นแล้ว พบว่าถูกต้องครบถ้วน อย่าเพิ่งไว้ใจ ฉบับต่อไปเราจะชวนผู้บริโภคผ่าตู้ให้รู้ทันกันไปเลยว่าข้างในมีอะไร อย่าลืมติดตามอ่านในฉบับต่อไปนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >