ห้องน้ำและห้องนอน (ต่อ) : หลายคนมักเก็บเครื่องสำอาง ซึ่งบางทีเป็นของใช้ส่วนตัวแยกต่างจากเครื่องสำอางที่ใช้ทั่วๆไป เครื่องสำอางเหล่านี้มักเป็นเครื่องสำอางสำหรับผิวกาย ผิวหน้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนจะหาซื้อมาตามความชอบใจ หากเป็นยี่ห้อที่มีวางขายเปิดเผยตามห้างหรือร้านสะดวกซื้อพวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะฉลากจะมีรายละเอียดครบถ้วน ทั้ง เลขจดแจ้ง ชื่อสถานที่ผลิตหรือจำหน่าย วันผลิตวันหมดอายุ ฯลฯ ซึ่งหากเกิดปัญหา เราสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแจ้งทางห้างหรือร้านที่นำมาจำหน่ายได้แต่เครื่องสำอางที่พบปัญหาเป็นส่วนใหญ่ คือเครื่องสำอางที่ซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต ซื้อจากเน็ตไอดอล หรือตามที่ดารามารีวิวแนะนำสินค้า เครื่องสำอางเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง เพราะมักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสถานที่ผลิตที่เราอาจไม่รู้จัก และจากกรณีที่เป็นข่าวก็ทำให้เราทราบว่า หลายผลิตภัณฑ์ไม่มีสถานที่ผลิตจริง หากแต่ไปจ้างโรงงานผลิต เวลาไปขอจดแจ้งจากราชการ ก็อาศัยช่องโหว่ที่กฎหมายสมัยนั้นไม่ได้กำหนดว่าต้องตรวจสถานที่ เลยแจ้งที่อยู่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สถานที่ผลิตจริง ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบได้ยาก นอกจากนี้พวกเน็ตไอดอลหรือดาราหลายคน ก็ออกมาสารภาพกันแล้วว่าไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เลย (บางคนก็อ้อมๆ แอ้มๆ ว่าเคยใช้แค่ครั้งสองครั้งเอง ซึ่งไม่รู้ว่าโกหกอีกหรือเปล่า) ดังนั้น ถือโอกาสสังคายนา ตรวจสอบเครื่องสำอางประจำตัวของสมาชิกในบ้านเลยว่า มีเครื่องสำอางที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้อยู่หรือไม่ เพราะเครื่องสำอางเหล่านี้ดูเหมือนจะอยู่ในกลุ่มที่กำพืดไม่ค่อยจะชัดเจน และที่อันตรายอย่างยิ่ง คืออาจมีการเติมสารอันตรายต่างๆ เข้าไปด้วย และหากพบว่าสมาชิกในบ้านใช้ไม่เท่าไร ดันเห็นการเปลี่ยนแปลงทันที เช่น ผิวขาวกะทันหัน ขาวผิดพ่อผิดแม่ ยิ่งส่อให้เห็นว่าแนวโน้มมีสารอันตรายเจือปนสูง ควรกำจัดออกจากบ้านไปเลยพื้นที่อื่นๆ : นอกเหนือจากอาหารและเครื่องสำอางแล้ว เราลองตรวจสอบผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สมาชิกในบ้านนำมาใช้ด้วย โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังประจำตัว เพราะจะเป็นเป้าหมายหลักในการถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสี่ยงๆ มาใช้ เช่น ยาน้ำสมุนไพรหรือยาลูกกลอนบางชนิด(หรือผลิตภัณฑ์อาหาร) ที่อ้างรักษาอาการปวดเข่า หรือรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดัน ฯลฯวิธีสังเกตง่ายๆ ก็เหมือนที่เคยบอกไปแล้ว เช่น ถ้าเป็นยาต้องมีเลขทะเบียนยา ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารถ้าอ้างว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายแน่นอน เพราะอาหารรักษาโรคไม่ได้ (ถ้ารักษาได้แสดงว่าต้องเติมอะไรเข้าไปแนอน) และที่ต้องย้ำคือ แม้จะมีฉลากถูกต้อง ระบุสรรพคุณเหมาะสมอยู่ในร่องในรอยแล้ว แต่หากสมาชิกในบ้านรับประทานแล้วเกิดได้ผล อาการป่วยต่างๆ หายอย่างน่าประหลาดใจ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่มาช่วยตรวจสอบทันที จำไว้ว่า “ยาเทวดาสุดมหัศจรรย์ไม่มีในโลก” อย่าลืมนะครับ ใช้วิธีการที่เคยแนะนำไปแล้วตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆในบ้านตั้งแต่วันนี้ หากพบ “สี่สงสัย” ให้รีบใช้ “สองส่งต่อ” เพื่อเตือนคนใกล้ตัวและแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ
อ่านเพิ่มเติม >ข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องสำอางและอาหารเสริมผิดกฎหมาย ที่มีดารานักร้องนักแสดงหลายรายเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนหันมาสนใจและเริ่มตั้งคำถามว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ที่เราใช้นั้นปลอดภัยหรือไม่ โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านหันมาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ รอบๆ ตัวเรา เริ่มต้นจากบ้านของเราเอง เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกของบ้านเราห้องครัว : เป็นห้องที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของทุกคนในบ้าน ผลิตภัณฑ์ที่พบในห้องครัวส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องปรุงรสต่างๆ ถ้าเป็นอาหารสด เราคงรู้อยู่แล้วว่าต้องเก็บรักษาอย่างไรเพื่อไม่ให้เน่าเสีย ก่อนนำมาใช้ก็ต้องล้างให้สะอาด ยิ่งเป็นอาหารที่รับประทานสดๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านความร้อน (เช่น ผัก ผลไม้) ยิ่งต้องล้างให้สะอาด เพื่อกำจัดสิ่งอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง ไข่พยาธิ ฯลฯ ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ หากบรรจุในภาชนะปิดสนิท เช่น ขวด กระปุก กระป๋อง ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องขออนุญาตก่อนผลิตจำหน่าย ซึ่งเราจะสังเกตได้จากเลขสารบบอาหาร ซึ่งจะแสดงในกรอบเครื่องหมาย อย. แต่เพื่อความปลอดภัย เราควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ บนฉลากเพิ่มเติม เช่น มีชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายชัดเจนหรือไม่ ถ้าไม่มีแสดงว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแน่นอน นอกจากนี้ อย่าลืมดูวันผลิตหรือวันหมดอายุด้วย (ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่เก็บได้นานหลายปี กฎหมายยกเว้นไม่ต้องแสดงวันหมดอายุ) และที่สำคัญอย่าลืมดูว่าของที่เหลืออยู่นั้น มันเลยวันหมดอายุที่ระบุตรงฉลากหรือไม่ หรือถ้าเราเก็บมานานหลายปีแล้ว หากไม่มั่นใจก็อย่าเสียดาย นำไปทิ้งดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในบ้านของเรา นอกจากรายละเอียดทั่วๆ ไปบนฉลากแล้ว หากเราลองอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนประกอบหรือฉลากโภชนาการต่างๆ เราก็จะทราบข้อมูลพวกสารอาหารหรือวัตถุเจือปนต่างๆ ด้วย เช่น ทราบว่ามีน้ำตาล เกลือ ไขมัน หรือพลังงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อสมาชิกในครอบครัว หากจะต้องจำกัดการบริโภคอาหารบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจต่างๆนอกจากผลิตภัณฑ์อาหารที่เราใช้ปรุงรับประทานแล้ว พบว่าหลายบ้านยังซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทานด้วย อย่าลืมว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเท่านั้น มันไม่สามารถรักษาโรคได้” เพียงแต่มันอาจมีการเติมวิตามิน แร่ธาตุ หรือสารอาหารบางอย่างเพิ่มเข้าไป เพื่อจูงใจผู้ซื้อหรือประโยชน์ในการอ้างตอนโฆษณา ดังนั้นหากตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของสมาชิกในบ้าน มีการระบุสรรพคุณทางยา เช่น ระบุว่ารักษาโรคต่างๆ หรือลดความอ้วน ได้ แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายแน่นอน หรือแม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ตรวจสอบจะแสดงฉลากถูกต้อง แต่หากสมาชิกในบ้านรับประทานไปแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติหลังรับประทานไปเพียงไม่กี่วัน เช่น ผอมลงทันที หรือผลการตรวจเลือดต่างไปจากเดิม แสดงว่าอาจมียาหรือสิ่งอันตรายเจือปนอยู่ได้ห้องน้ำและห้องนอน : ส่วนใหญ่เรามักจะพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ ในสองห้องนี้ (บางคนอาจเก็บเครื่องสำอางบางชนิดในตู้เย็น) เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเพื่อประทินผิว จึงไม่สามารถรักษาโรคหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างร่างกายได้ โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นเครื่องสำอางพื้นฐานที่เราใช้กันอยู่ เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ฯลฯ มักไม่ค่อยพบปัญหา แต่หากเป็นเครื่องสำอางบางชนิด เราต้องระวัง (อ่านต่อฉบับหน้านะครับ)
อ่านเพิ่มเติม >การจัดการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยไม่ให้ไปทำร้ายผู้บริโภค จำเป็นต้องมีเครื่องมือง่ายๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ป้องกันตัวเอง เครื่องมือง่ายๆ เริ่มจากการ “สงสัย” และ ”ส่งต่อ” ข้อมูลเพื่อร่วมมือกันในการจัดการปัญหา1. สงสัย : ไม่มีหลักฐานการอนุญาต?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ มีหลักฐานว่าได้รับอนุญาตหรือยัง เช่น ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาเช่น Reg.No…. , อาหารต้องมีเลขสารบบอาหาร... (หรือที่เรารู้จักกันดีคือเลข อย...) , เครื่องสำอาง ต้องมีเลขจดแจ้ง… , สถานพยาบาลต้องมีหลักฐานใบอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินการ , หน่วยตรวจสุขภาพต้องมีหลักฐานการได้รับอนุญาต “หากไม่มีแสดงว่ายังไม่ได้รับอนุญาต”2. สงสัย : ขาดข้อมูลแหล่งที่มา?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแหล่งผลิตจริงหรือไม่ เพราะตามกฎหมายฉลากและเอกสารโฆษณาต้องระบุชื่อที่อยู่ผู้ผลิตชัดเจน “หากไม่มีชื่อที่อยู่ผู้ผลิต จะรู้ได้อย่างไรว่าใครผลิต? เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะตามผู้ผลิตได้ที่ไหน?”3. สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า สรรพคุณที่โฆษณาเป็นไปได้จริงหรือไม่ หากอวดอ้างว่าได้ผลดีแบบมหัศจรรย์ จะพิสูจน์ได้อย่างไร? อย่าเพิ่งเชื่อบุคคลที่เขาอ้างอิงในโฆษณา ถ้าไม่รู้จักเขาดีพอ เพราะอาจเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น หากได้ผลจริง ผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านี้ จะต้องได้การรับรองจากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน หรือมีการนำไปใช้ในสถานพยาบาลอย่างชัดเจน “จำให้ขึ้นใจว่าผลิตภัณฑ์เทวดาไม่มีในโลก”4. สงสัย : ใช้แล้วผิดปกติ?ให้เริ่มสงสัยทันที หากพบว่าหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ แล้ว เห็นผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปรกติ เช่น หายปวดเมื่อยทันที ผอมลงอย่างรวดเร็ว อาการต่างๆ ของโรคเรื้อรังหายหมด ผิวขาวขึ้นทันใด ฯลฯ “หากได้ผลรวดเร็วขนาดนี้ อาจมีอะไรที่ไม่ปลอดภัยผสมลงไปในผลิตภัณฑ์”2 ส่งต่อ1. ส่งต่อข้อมูลเตือนภัยเมื่อเราเจอผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธ อันดับแรกต้องรีบแจ้งเตือนข้อมูลเบื้องต้นให้คนรอบข้างทราบโดยเร็ว แม้ว่าเรายังไม่อาจสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ แต่การแจ้งข้อมูลให้ผู้บริโภคหรือคนในชุมชนทราบเบื้องต้น เป็นการช่วยเตือนไม่ให้ผู้บริโภคผลีผลามไปใช้ และยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนช่วยกันเฝ้าระวัง ในระหว่างรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ “ยิ่งแจ้งได้เร็ว ก็เท่ากับช่วยให้คนข้าง เราให้เสี่ยงลดลง”2. ส่งต่อเจ้าหน้าที่รีบส่งต่อข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบโดยเร็ว ข้อมูลที่แจ้งเจ้าหน้าที่ควรรวบรวมรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น ผลิตภัณฑ์อะไร สรรพคุณที่อ้างอิงในการโฆษณา วิธีการขาย แหล่งที่มา ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ ฯลฯ “ยิ่งแจ้งข้อมูลอย่างละเอียด จะทำให้เจ้าหน้าที่ตามรอยต้นตอแหล่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
อ่านเพิ่มเติม >ผมได้รับข้อมูลจากน้องเภสัชกรร้านยาว่า ระยะหลังๆ มีคนมาซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่ง เป็นผลิตภัณฑ์ใบแปะก๊วยสกัดชนิดเม็ด กล่องละ 30 เม็ด ราคาประมาณ 230 - 260 บาท ทีแรกก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ระยะหลังๆ พบว่ามีผู้บริโภคมาซื้อกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ บางรายมาซื้อทีละ 10 กล่อง จากการสอบถามผู้ซื้อจึงได้ข้อมูลว่า หลายรายซื้อไปกินรักษาโรคต่างๆ เพราะฟังโฆษณาทางวิทยุว่ากินแล้วดี น้องเภสัชกรพยายามอธิบายว่าผลิตภัณฑ์ใบแปะก๊วยสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น ไม่ใช่ยารักษาโรค ผู้ซื้อก็ไม่ยอมเชื่อ แปะก๊วยสกัดที่ได้รับอนุญาต มี เลข อย.คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ที่ไม่สามารถรักษาโรคได้” ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแป๊ะก๊วยสกัด จึงไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ตามที่หลายคนเข้าใจไปผิดๆ ซึ่งข้อมูลการศึกษาในคนพบว่า แปะก๊วยมีผลอาการโรคความจำเสื่อมได้เพียงเล็กน้อย และไม่มีผลป้องกันโรคความจำเสื่อมผมประสาน อสม.ในชุมชนให้ลองสอบถามคนในชุมชนว่า ใครรับประทานผลิตภัณฑ์ใบแปะก๊วยสกัดชนิดนี้บ้างหรือเปล่า พบข้อมูลว่า มีผู้บริโภคในชุมชนหลายรายซื้อเพราะเห็นในสื่อโซเชียล บอกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีสรรพคุณมากมาย บางคนบอกว่าได้ยินโฆษณาในรายการเพลงทางวิทยุ ซึ่งจัดโดยนักจัดรายการท่านหนึ่ง มีการให้ข้อมูลจากบุคคลที่บอกว่าเป็นแพทย์ อ้างถึงประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยเพิ่มความทรงจำในผู้สูงอายุ ที่มีอาการความจำเสื่อมจากสมองขาดเลือด ที่มีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ช่วยบำรุงสายตา สายตาที่มองไม่ชัด ตาพร่ามัว จากอาการเบาหวาน ช่วยลดอาการเสียงในหู การทรงตัวไม่ดี จากความผิดปกติของการควบคุมจากสมอง ช่วยลดอาการขาดเลือดของเนื้อเยื่อในผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการเส้นเลือดอุดตัน เช่น อาการปวดขาเป็นครั้งคราว ช่วยในอาการสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ และบรรเทาอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เนื่องจากเลี้ยงไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง ฯลฯ โดยในโฆษณาแนะนำให้กินผลิตภัณฑ์ใบแปะก๊วยสกัดชนิดนี้เป็นประจำ สุดท้ายก็เลยซื้อมากิน บางคนมีโรคประจำตัว เวลาไปหาหมอก็ไม่กล้าบอกว่าแอบกินแปะก๊วยสกัดชนิดนี้ เพราะกลัวว่าหมอจะว่าแม้แป๊ะก๊วยจะเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้มานาน โดยชงเป็นชาดื่ม ปัจจุบันยังมีการผลิตเป็นทั้งยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยความแตกต่างคือ ถ้าเป็นยาจะมีปริมาณสารสำคัญค่อนข้างสูง กว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยาแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอนุญาตให้แจ้งสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย) แปะก๊วยสกัดที่ได้รับอนุญาต มี เลข อย.คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ที่ไม่สามารถรักษาโรคได้” ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแป๊ะก๊วยสกัด จึงไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ตามที่หลายคนเข้าใจไปผิดๆ ซึ่งข้อมูลการศึกษาในคนพบว่า แปะก๊วยมีผลอาการโรคความจำเสื่อมได้เพียงเล็กน้อย และไม่มีผลป้องกันโรคความจำเสื่อมยุคปัจจุบัน สื่อโฆษณามีอิทธิพลต่อผู้บริโภคสูง ดังนั้นแม้ว่าการนำรับประทานผลิตภัณฑ์ใบแป๊ะก๊วยสกัดอาจจะไม่ก่อให้เกิดโทษ(ยกเว้นคนที่อาจจะมีปัญหาแพ้แปะก๊วย) แต่การที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินมากมายไปซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากิน โดยหวังผลในการรักษาโรค จึงเป็นการเสียเงินที่อาจไม่คุ้มค่า ท่องไว้ในใจกันลืมนะครับ “แปะก๊วยไม่ได้ช่วยได้ทุกเรื่อง”
อ่านเพิ่มเติม >“ซื้อยาลูกกลอนในราคาไม่กี่ร้อยบาท แค่ดาดไม่ถึงว่าสุดท้ายเกือบตาย ต้องจ่ายค่ารักษาในราคาหลักแสน”มารดาของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท่านหนึ่ง ซื้อยาลูกกลอนแพ็คละ 100 บาท มาสองสามแพ็ค(ในแต่ละแพ็คจะมียาใส่ถุงซิบใสจำนวน 10 ซอง ซึ่งในแต่ละซองจะมียา 5 เม็ด เม็ดสีน้ำตาลแดง 2 เม็ด เม็ดสีเขียวขี้ม้า 2 เม็ด และเม็ดกลมสีดำ 1 เม็ด) ฉลากระบุให้กินหลังอาหารวันละ 2 ซอง (เช้า เย็น) “จู่ๆ แม่ก็มีอาการหน้าบวม ถ่ายเป็นเลือดออกมาเป็นชามๆ หลังจากนั้นอีก 1 วัน แม่อ่อนเพลียไม่มีแรง ดูแล้วอาการแย่มาก น้องชายเข้าใจว่าโรคหัวใจโตของแม่กำเริบ จึงรีบพาไปโรงพยาบาล ระหว่างทางแม่ช็อคหมดสติในรถปลุกไม่ตื่น ตกใจมาก ดูเหมือนเป็นตายเท่ากัน จึงตัดสินใจรีบพาเข้า รพ.เอกชน เพราะอยู่ใกล้ที่สุด” เมื่อไปถึง แพทย์ พยาบาลและทีมฉุกเฉิน รีบดำเนินการ เจาะตรวจน้ำตาลในเลือด พบว่าเหลือแค่ 30 กว่าๆ mg/dl หมอจึงฉีดกลูโคสเข้าเส้นเลือดทันที แม่จึงฟื้นขึ้นมาได้ และถูกนำตัวส่งเข้า ICU ทันที หลังจากอยู่ ICU และให้น้ำเกลือที่มีกลูโคสแล้ว แม่มีอาการเบลอๆ และยังพบอาการน้ำตาลต่ำเกิดอีกน่าจะสัก 2 ครั้ง ทั้งๆ ที่น้ำเกลือที่ให้ก็มีกลูโคสแต่ก็ยังเอาไม่อยู่ จนหมอต้องฉีดกลูโคสเข้าเส้นเลือดเพิ่มอีก หมอเองก็ยังงงกว่าทำไมน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ Hematocrit ของแม่เหลือแค่ 22% หมอจึงสั่งให้เลือด 2 ถุง แม่นอนใน ICU 1 คืน จนระดับน้ำตาลคงที่ และอาการดีขึ้น หมอจึงให้ออกจาก ICUน้องสะใภ้ สังเกตว่า 3 วันก่อนที่จะแม่มีอาการหนัก แม่กินยาลูกกลอน จึงเอาถุงยามาให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่จึงเอาไปส่งตรวจสเตียรอยด์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจยา 5 เม็ด ในถุงย่อย ยาเม็ดสีน้ำตาลแดง 2 เม็ด และยาสีเขียวขี้ม้า 2 เม็ดมีสเตียรอยด์ ส่วนลูกกลอนเม็ดกลมสีดำ 1 เม็ดไม่พบสเตียรอยด์“แม่เพิ่งทานไม่ได้ทานยานี้มาเป็นเวลานานนะ ทานไปแค่สามวันเอง แม่มีโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจโต กินยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์เข้าไป ทำให้เกือบตาย ต้องจ่ายค่ารักษาไปเป็นแสน หมดไป 1 แสน กว่าๆ ผลการส่องกล้องทางเดินอาหาร มีแผลที่กระเพาะ และลำไส้ใหญ่”เพื่อนแม่แนะนำว่ามียาที่กินแล้วดี บอกว่าตัวเขาเองกินก็ดีมาก แม่จึงโทรไปสั่งกับคนขาย คนขายให้แม่ไปที่บ้าน เมื่อไปถึงตามจุดที่เขาบอก คนขายออกมาพบที่ถนน และบอกให้รอ แล้วเดินเข้าไปที่บ้านไปหยิบยาให้ เขาไม่ได้ขายหน้าร้าน ต้องเดินไปเอาหลังบ้านเหตุการณ์จริงที่ออกจากปากของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายนี้ ขณะนี้ถึงมือเจ้าหน้าที่แล้ว เอามาเล่าเพื่อเป็นบทเรียนให้ผู้อ่านรับรู้ และช่วยกันเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังภัยใกล้ตัวแบบนี้ให้มากๆ นะครับ ยาอันตรายบางทีมันก็ผ่านมาทางผู้หวังดี และการขายมันก็หลบๆ ซ่อนๆ ยากที่เจ้าหน้าที่จะรู้ได้ หากเราพลาดไป นอกจากเสียเงินแล้ว เรายังอาจจะเสียใจไปตลอดชีวิต
อ่านเพิ่มเติม >ยุคนี้ การขายสินค้าออนไลน์ทำรายได้ให้กับคนรุ่นใหม่มากมาย นักขายของออนไลน์หน้าใหม่ผุดขึ้นดังดอกเห็ด แต่สุดท้ายหลายรายก็เสียรู้ถูกหลอก เสียทั้งเงินและยังเสียรู้ทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว คนรุนใหม่หลายคนมาปรึกษาผมทั้งทางตรงและโทรเข้ามาสอบถาม เนื่องจากหาทางออกเกี่ยวกับการขายของออนไลน์ไม่ได้รายแรกเธอสนใจจะขายสินค้าออนไลน์ จึงเปิดตามเน็ตเห็นโฆษณาว่ารับจ้างผลิตสบู่ พร้อมขออนุญาตจาก อย. และทำฉลากให้เสร็จ สามารถนำไปจำหน่ายได้ทันที ภายหลังจากติดต่อกันแล้ว เธอก็ส่งข้อมูลส่วนตัวทั้งบัตรประชาชน บ้านเลขที่ พร้อมทั้งเลือกสบู่ที่เธอต้องการจะจำหน่ายจากแคตตาล๊อคที่เขาส่งมาให้ดู (ทั้งหมดนี้ ติดต่อทางอินเทอร์เน็ต) หลังจากนั้นเธอก็ได้สบู่ที่มีชื่อเธอเป็นผู้ผลิตส่งกลับมาให้เธอจำหน่ายได้ตามต้องการ เธอจำหน่ายได้สักระยะหนึ่ง เห็นว่าธุรกิจจะไปไม่รอด จึงติดต่อทางผู้ผลิตขอยกเลิก แต่ปรากฏว่าไม่มีการตอบรับใดๆ เธอกลัวว่าจะมีผลทางกฎหมาย หากมีสบู่ที่มีชื่อเธอเป็นเจ้าของขายต่อไปเรื่อยๆรายที่สอง เธอเห็นขนมชนิดหนึ่งที่คนกำลังนิยมรับประทาน แต่ขนมนี้ขายทางออนไลน์ มีเลข อย.เรียบร้อย เธอจึงสนใจจะนำมาขายบ้าง จึงติดต่อผู้ผลิตเพื่อจ้างให้ผลิตส่งให้เธอ โดยขอให้ระบุชื่อเธอเป็นผู้ผลิต หลังจากติดต่อกันเรียบร้อยแล้ว เธอก็มีขนมที่มีชื่อเธอเป็นผู้ผลิตส่งมาให้เธอเพื่อจำหน่ายทางออนไลน์ เมื่อจำหน่ายไปสักระยะหนึ่ง ลูกค้าออนไลน์ของเธอแจ้งกลับมาว่าขนมขึ้นราง่าย บางห่อมีราอยู่ข้างในตั้งแต่เมื่อได้รับของ ลูกค้าขอเงินคืนและยังขู่ว่าหากไม่ยอมจะไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ให้ดำเนินคดีด้วยผู้ขายสินค้าออนไลน์ทั้งสองรายข้างต้น ต่างเป็นเหยื่อผู้ผลิตและเหยื่อของความไม่รู้ของตนเองทั้งคู่ ผู้ผลิตเครื่องสำอางหรือผู้ผลิตขนมที่รับจ้างผลิตให้ผู้ขายทั้งสองราย อาศัยประโยชน์ที่ตนเองได้รับอนุญาตแล้วมาเป็นช่องทางในการหาประโยชน์ให้ตนเอง ผู้ผลิตสบู่รายแรกได้รับเลขที่จดแจ้งแล้ว จึงอาศัยที่สามารถจดแจ้งทางออนไลน์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้อย่างง่าย จดแจ้งตราใหม่เพิ่มเติม และเมื่อได้แล้วก็พิมพ์ฉลากโดยใช้ชื่อผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผลิต และส่งมาให้เธอจำหน่าย ส่วนผู้ผลิตขนมก็ทำเช่นเดียวกันคือขอ อย.ตราใหม่ของขนมชนิดเดิม โดยใช้ตราตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ และแสดงชื่อและสถานที่ของผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผลิตแทนสถานที่ผลิตจริงของตนเองในแง่กฎหมายนั้น การแสดงฉลากต้องตรงกับความเป็นจริง ผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดนี้ แม้จะผลิตจากผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่การแสดงชื่อสถานที่ผลิตไม่ตรงกับสถานที่จริง ถือว่ามีความผิด เป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และเมื่อพบว่าคุณภาพผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ที่มีชื่อเป็นผู้ผลิตบนฉลากจึงต้องมาเกี่ยวข้องรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิต ซึ่งหากจะพิสูจน์ความผิดว่าตนไม่ใช่ผู้ผลิตตัวจริง ก็ต้องวุ่นวายพิสูจน์หลักฐานต่างๆ อีก เสียทั้งเวลา เจ็บทั้งใจการทำมาหากินไม่ใช่สิ่งผิด หากผู้ที่จะทำธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งวิธีการขออนุญาต การแสดงฉลาก การโฆษณา ฯลฯ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะกระทำผิดกฎหมายหรือถูกหลอกให้ต้องร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน ผู้อ่านท่านใดที่สนใจจะขายสินค้าออนไลน์ ประเภท อาหาร เครื่องสำอาง ฯลฯ ขอให้ติดต่อสอบถามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ทุกจังหวัดเลยนะครับ จะได้ไม่พลาดเหมือนสองรายที่ผมเล่ามาครับ
อ่านเพิ่มเติม >นักคุ้มครองผู้บริโภคหลายท่านเล่าให้ฟังว่าเดี๋ยวนี้ ผู้จำหน่ายสินค้าทั้งหลายก็มีการปรับกลยุทธ์ หรือมีเทคนิคการเอาตัวรอดมากขึ้นเช่นกัน ลองดูกลยุทธ์ของพวกเขา เพื่อเราจะได้เท่าทัน 1. ตาต่อตาฟันต่อฟัน : ผู้จำหน่ายสินค้าหลายรายเริ่มหันมาเผยแพร่ข้อมูลตอบโต้นักคุ้มครองผู้บริโภคกันตรงๆ แบบแลกหมัด เช่น เปิดเฟซบุ๊คด่าเจ้าหน้าที่ อ้างว่าผลิตภัณฑ์สินค้าของตนปลอดภัย รุ่นที่ผู้บริโภคนำไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจเป็นของปลอม นอกจากนี้ยังอ้างว่า ตนทำมาหากินบริสุทธิ์เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ หาเงินเป็นทุนการศึกษาก็ถูกกลั่นแกล้ง 2. เข้าพบหัวหน้า อ้างอิงคนใหญ่คนโต : ผู้จำหน่ายสินค้าบางรายจะใช้วิธีอ้างอิงคนใหญ่คนโตที่มีอิทธิพลในสังคม และขอเข้าพบหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่หรือผู้บริโภค อ้างว่าตนได้รับผลกระทบจากการทำงานของผู้บริโภคหรือเจ้าหน้าที่ 3. ใช้รูปถ่ายอวดบารมีข่มขวัญ : บางรายก็จะงัดเอารูปที่ตนเองถ่ายกับคนใหญ่คนโตมาโชว์ เพื่อให้นักคุ้มครองผู้บริโภคหรือเจ้าหน้าที่ยำเกรง บางรายก็ทำทีเป็นเข้ามาพบผู้ใหญ่เพื่อมาชี้แจงหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็ถือโอกาสขอถ่ายรูปคู่ด้วย สุดท้ายก็เอารูปไปโชว์หลอกชาวบ้านว่า ตนได้เข้าพบผู้ใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่รับทราบว่าปลอดภัย วิธีนี้ผู้ใหญ่บางคนเคยเสียมวยไม่ทันเกม โดนเด็กหลอกมาแล้ว 4. ส่งหนังสือขอให้แก้ข่าว : ผู้ผลิตหลายรายเริ่มฉลาด เมื่อถูกตรวจพบสารอันตราย ก็จะงัดเอกสารหลักฐานผลการตรวจวิเคราะห์ของตนเองออกมาต่อสู้ โดยอ้างว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนตรวจทำไมไม่เจอ เจ้าหน้าที่อาจไปเจอของปลอมก็ได้ บางรายหัวหมอทำทีไปแจ้งความว่า มีคนปลอมผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนบริสุทธิ์และขอให้หน่วยงานแก้ข่าวให้ตนด้วย หากหน่วยงานไหนไม่เท่าทันก็จะหลวมตัวไปแก้ข่าวให้ สุดท้ายผู้ผลิตก็ใช้ข่าวที่หน่วยงานแก้ให้ไปแสดงประกอบการขายอีก งานนี้เลยไม่รู้ว่าใครโง่ ใครฉลาดกว่ากันเจอไป 4 กลยุทธ์ อย่าเพิ่งกังวล หากจะสู้กับผู้ผลิตที่หลอกลวงและหัวหมอแบบนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องเก็บให้ครบถ้วนชัดเจน เช่น เมื่อเจอผลิตภัณฑ์ที่อันตราย พยายามคงสภาพเดิมให้มากที่สุด อย่าแบ่งถ่ายใส่ขวดอื่น บันทึกรายละเอียดต่างๆ ให้ละเอียดมากที่สุด เช่น ผลิตภัณฑ์อะไร พบอะไร จำหน่ายที่ไหน โฆษณาอย่างไรคนที่ซื้อไปใช้มีอาการผิดปกติหรือไม่ ตรงนี้ถ้าเก็บข้อมูลได้เยอะยิ่งดีพยายามหาพยานบุคคลมารับรู้พร้อมๆ กับเรา เช่น นักข่าว หรือถ้าได้เจ้าหน้าที่ของรัฐมาเป็นพยานรับรู้ก็ยิ่งดีหากจะต้องนำส่งตรวจวิเคราะห์ต้องปิดผนึกให้มิดชิด เพื่อกันข้อครหาว่าเราสลับสินค้า และควรเก็บผลิตภัณฑ์ตามสภาพที่เหมาะสมของแต่ละชนิด เช่น แช่เย็น เก็บให้พ้นแสง ฯลฯ เพื่อไม่ให้ผู้ผลิตอ้างได้ว่าผลิตภัณฑ์เสียหายระหว่างทางหากเรามีข้อมูลชัดเจนแล้ว เมื่อต้องชี้แจงหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาก็จะง่ายขึ้นในกรณีที่พบว่าผู้ผลิตลงข้อมูลตอบโต้เราในโลกโซเชี่ยล ขอให้เก็บบันทึกข้อมูลให้ละเอียด และหากจำเป็นเราอาจต้องใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จัดการกับพวกนี้ได้
อ่านเพิ่มเติม >หลายครั้งที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ต้องปะทะกับผู้ขายสินค้าที่หลอกลวง และมักจะเกิดเรื่องเกิดราวหรือเพลี่ยงพล้ำ จนบางครั้งพาลจะหมดกำลังใจ คอลัมน์นี้ขอให้กำลังใจนักคุ้มครองผู้บริโภคทุกคนครับ แต่อย่าลืมว่าการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมันก็เหมือนการต่อสู้ มันต้องมีรูปมวยหรือวรยุทธ์ที่ดี ถึงจะได้เปรียบจนโค่นคู่ต่อสู้ลงได้ผมเคยไปฟังนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ต้องทำงานเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม แต่ละท่านได้เล่าประสบการณ์ของท่าน ผมเห็นว่าน่าสนใจ เลยนำมาเล่าให้นักคุ้มครองผู้บริโภคทราบ เผื่อลองนำไปปรับใช้เป็นแนวทางของตนเอง1. ต้องลงไปสัมผัสกับข้อมูลจริงๆ : การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ การที่คนทำงานได้ลงไปในพื้นที่ ได้สอบถามข้อมูลจากผู้บริโภค จะทำให้เราได้รายละเอียด ตลอดจนพยานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานได้มากขึ้น 2. พยายามหากลุ่มคนหรือภาคีเครือข่ายที่สนใจในปัญหาเดียวกันหรือคนที่ได้รับผลกระทบ : เพราะคนกลุ่มนี้จะมีหัวอกเดียวกัน และจะมีข้อมูลชัดเจน เพราะเคยใช้ผลิตภัณฑ์และได้รับอันตรายมาก่อน นอกจากนี้การรวมกลุ่มกัน จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาในการลุกขึ้นมาช่วยกันจัดการปัญหาต่างๆ3. ควรนำเสนอข้อมูลปัญหาในลักษณะการเปรียบเทียบ : การนำเสนอข้อมูลในลักษณะเปรียบเทียบ จะทำให้คนทั่วไปรับรู้ได้ง่ายว่า ขนาดปัญหามันใหญ่ หรือรุนแรงขนาดไหน เช่น อาจนำเสนอว่า เงินที่ผู้บริโภคถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้ง เท่ากับกี่เท่าของเงินเดือนที่เขาได้รับ หรือค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวหลังใช้ผลิตภัณฑ์เท่ากับกี่เท่าของราคาที่ซื้อมาใช้4. ใช้การสื่อสาร ที่สั้น กระชับ : ในแต่ละวันผู้บริโภคเองมีเรื่องต่างๆ ให้จำมากมาย การให้ความรู้เพื่อเตือนภัยผู้บริโภค แม้เราจะหวังดี โดยพยายามยัดข้อมูลให้มากที่สุด บางทีมันอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคแต่ละคนมีศักยภาพในการรับรู้ที่ต่างกัน เราควรเลือกใช้ให้เหมาะสม โดยเน้นข้อความ ให้สั้นกระชับ เข้าใจง่าย และเมื่อเขาสนใจแล้ว เราค่อยเพิ่มรายละเอียดเนื้อหาให้มากขึ้น ตามที่เขาสนใจในลำดับต่อๆ ไป5. ไม่ต้องกังวลแต่ควรระวัง “ต้องพูดความจริง” : นักคุ้มครองผู้บริโภคหลายคนมักจะกังวลว่า หากเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์อันตรายไปแล้ว อาจถูกผู้จำหน่ายสินค้าฟ้องร้องได้ ในประเด็นนี้มีคำแนะนำว่า การพูดความจริงในที่นี้หมายถึงการนำเสนอข้อเท็จจริง เช่น แจ้งว่าผลิตภัณฑ์นี้ รุ่นที่ผลิตนี้ ตรวจพบสารอะไรบ้าง และสารชนิดนี้มีอันตรายอย่างไร สิ่งที่ต้องควรระวังคือคำพูดที่ไปแสดงความรู้สึก เพราะอาจไปเข้าข่ายหมิ่นประมาท เช่น ผลิตภัณฑ์นี้มีสารอันตรายผสม เลวมาก ทั้งนี้หากไม่มั่นใจ อาจแจ้งให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้แจ้งข้อมูลก็ได้6. ลองใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวกบ้าง : การใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวก ไม่ได้หมายถึงการห้ามนำเสนอข้อมูลด้านลบ แต่หมายถึงการใช้ศักยภาพดึงพลังบวกในตัวของแต่ละคนออกมาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น เราอาจใช้วิธีชักชวน หรือโน้มน้าว ให้เขาลุกขึ้นมาเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชน โดยเน้นให้เขาเห็นว่าเมื่อเขาช่วยกันแล้ว จะเกิดสิ่งดีๆ อะไรขึ้นในชุมชน เช่น พ่อแม่ ลูกหลานในชุมชนของเราเองจะได้ปลอดภัยลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ เชื่อว่าคราวนี้แหละ พลังนักคุ้มครองผู้บริโภคจะเข้มแข็งขึ้นทันตา
อ่านเพิ่มเติม >คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค การเฝ้าระวังดูแลผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แต่จากประสบการณ์การทำงาน กลับพบว่าในโลกที่การติดต่อสื่อสารถึงกันอย่างรวดเร็ว ผลิตภัณฑ์มหัศจรรย์พันลึกชนิดอึ้ง ทึ่ง เสียว มันกลับผุดขึ้นมามากมาย และที่ประหลาดใจคือ ยังมีผู้บริโภคหลายรายเสียเงินไปซื้อมาใช้ หรือบางรายถึงกับเสียสุขภาพไปก็มี ลองมาดูผลิตภัณฑ์เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไรว่าเคยมีคนใกล้ตัวเราเสียเงินไปซ้อมาใช้บ้างหรือเปล่า“น้ำจากกระบอกไม้ไผ่” ผลิตโดย ใช้สว่านเจาะเข้าบริเวณปล้อง แล้วใช้หลอดต่อ ทิ้งไว้ 3 – 4 ชั่วโมงจะมีน้ำไหลออกมา แล้วนำไปบรรจุขวด อ้างว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์ สามารถขับสารพิษออกจากร่างกาย สลายนิ่ว นอกจากนี้ยังลดเบาหวาน ความดัน ปวดหลัง เอว เกษตรกรหลายรายผลิตกันเป็นล่ำเป็นสัน ราคาขายขวดละ 20 บาท“น้ำมันจิ้งเหลนตราลิงลมผสมสมุนไพร” ขวดละ 400 บาท โฆษณาว่าเพิ่มขนาดน้องชายใหญ่ยาว 4- 7 นิ้ว ชะลอการหลั่ง บำรุงเลือดให้ไหลเวียนไปยังน้องชายได้ดี มีกลิ่นหอมสมุนไพร ลองตามไปดูในอินเทอร์เน็ตมีทั้งการรีวิว อธิบายวิธีการใช้ และท่าทางจะขายดี จนทางผู้ขายถึงกับต้องออกมาเตือนว่า ขณะนี้มีคนทำของปลอมออกมาจำหน่าย ขอให้ระวังด้วยอย่าคิดว่ามีแต่น้ำมันนวดเท่านั้น ตอนนี้มี “สบู่ชายใหญ่” ออกมาบำรุงใจสุภาพบุรุษอีกชนิด โดยอวดอ้างสรรพคุณชนิดตึ่งโป๊ะว่า แค่ฟอก นวด 3 - 5 นาที ทำให้อวัยวะเพศชายใหญ่ขึ้น มีการแชร์ต่อไปทางอินเทอร์เน็ตต่อๆ กันมากมาย บางเว็บก็บอกโต้งๆ เลยว่า “ฟอกจู๋ เลยค่ะ” ราคาก้อนละ 80 บาทบางผลิตภัณฑ์ก็มีการใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ไม่รู้ว่าจงใจเลี่ยงชื่อภาษาไทยหรือเพื่อยกระดับเพื่อให้ดูอินเตอร์ขึ้น เช่น “Hoii Waan” และ “Chu Chan” มองผ่านๆ อาจนึกว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ แต่พอเห็นข้อความบนฉลากและตามไปดูในเว็บ ก็พบว่า ผลิตภัณฑ์ Hoii Waan หอยหวาน สวยกว่าเก่า สาวกว่าก่อน ฟิตหอมมั่นใจ ผลิตภัณฑ์ Chu Chan ชูชัน ก็คืนพลังความเป็นชาย มั่นใจทุกท่วงท่า เขียนชัดขนาดนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากบางครั้งก็มีชนิดที่ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน บอกกันโต้งๆ ไปเลย “ครีมหอยใสไล่ดำ” “เซรั่มหอยชมพูรูผิวฟิต” เป็นผลิตภัณฑ์ที่อิงกระแสเกาหลี ฉลากผสมผสานตัวอักษรเกาหลีเพื่อความน่าเชื่อถือ ส่วนสรรพคุณก็แทบไม่ต้องอธิบายอะไรเลย เข้าใจตรงกันนะครับที่ฮือฮาล่าสุดคือ “สบู่ล้างซวย LANG SUAY SOAO” มีการโฆษณาว่า เป็นความเชื่อส่วนบุคคล อาบแล้วรวย ใช้แล้วผิวใสเนียน มีชีวิตชีวา ดูเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล สบู่ล้างซวยผสานพลังงานจากหิน 9 ชนิด เป็นสบู่มงคล ใช้แล้วชีวิตจะดีขึ้น เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี เอากันเข้าไปถึงศรัทธามหานิยมกันไปเลยที่นำมาเล่าในคอลัมน์นี้ไม่ได้ส่งเสริมหรือเชียร์ให้ไปซื้อนะครับ แต่อยากสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีการเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์อันตรายหรือที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ยังผุดชนิดใหม่ๆ มาเรื่อยๆ คงต้องอาศัยแรงผู้อ่านและเครือข่ายผู้บริโภคช่วยกันแนะนำคนรอบข้างให้ใช้วิจารณญานที่ดี และหากเจอแหล่งต้นตอ ช่วยแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตามไปตรวจสอบได้เลย แว่วว่าผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่กล่าวมาข้างต้น กำลังถูก อย.ดำเนินการ
อ่านเพิ่มเติม >ตอนนี้ ไทยแลนด์ 4.0 กำลังฮิต แต่ผมว่าที่มาแรงกว่า คือ ไทยลวง 4.0 เพราะเป็นการลวงผู้บริโภคอย่างได้ผล โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ไม่ค่อยเท่าทันคนลวง จะเผลอเป็นเหยื่อได้ง่าย มาลองดูกันว่าคนใกล้ตัวเราเคยเจอแบบนี้บ้างหรือเปล่า1. บูชาสาธุ : เทคนิคนี้ ผู้ขายสินค้าหลอกลวงจะอ้างอิงความเชื่อและศรัทธาของคนไทย พยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนดูศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเทคนิคแพรวพราว บางทีเจ้าของผลิตภัณฑ์จะยกยาหรือพระขรรค์ขึ้นเหนือหัว อ้างว่าเคารพครูบาอาจารย์ บางทีก็ท้าสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เล่นแบบนี้ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ สุดท้ายก็ระทวยทรัพย์ไปจากกระเป๋าเพราะค่ายกครูยาแบบนี้ราคาไม่ถูก ส่วนใหญ่ก็หมดเป็นร้อยเป็นพัน บางรายหมดไปเกือบหมื่นก็มี2. อ้างอิงไปทั่ว : เทคนิคนี้จะใช้การอ้างอิงกับผู้ป่วยรายอื่น และแน่นอนจะต้องบอกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ดี เคยมีผู้ป่วยรายก่อนๆ นำไปรับประทานแล้วหาย อ้างว่าอัมพฤกษ์ อัมพาต ยังลุกขึ้นมาเดินได้ บางครั้งอ้างถึงขนาดว่าตาบอดยังกลับมามองเห็นได้ แต่ส่วนใหญ่ที่ว่าหายๆ พอขอดูตัวเป็นๆ กลับหายหัวไปหมด3. หวาดกลัวยาเคมี : เทคนิคนี้จะจับกระแสที่คนกลัวยาแผนปัจจุบัน อยากได้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ผู้ขายจะโน้มน้าวว่า ยาแผนปัจจุบันคือสารเคมี ควรหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตนจำหน่ายดีกว่า เพราะเป็นของจากธรรมชาติล้วนๆ (แต่คงลืมนึกไปว่า กว่าจะสกัดมาขายอย่างนี้ ก็ใช้สารเคมีสกัดมาเหมือนกัน) สุดท้ายเหยื่อก็เคลิ้มไปเรียบร้อย4. ส่งทุกที่ไปรษณีย์ไทย : เทคนิคนี้ ผู้ขายจะหาพื้นที่สื่อในโลกโซเชียล โฆษณาสรรพคุณมหัศจรรย์จนตะลึง และให้สั่งซื้อได้ทางไปรษณีย์ ซึ่งรวดเร็วถูกใจเหยื่อที่ใจร้อนอยากหายไวๆ แค่นี้ก็ขายได้แล้ว ไหนๆ ก็เจอไทยลวง 4.0 แล้ว ขอเสนอ คาถาปราบลวง 4.0 สู้กันซึ่งๆ หน้าไปเลย1. สู้บูชาสู้สาธุ : ค่ายกครูตามความเชื่อของคนไทยต้องไม่แพง ในชนบทเขายกกันไม่กี่บาท ถ้ายกเป็นร้อยเป็นพันน่ะ มันไม่ใช่ยกครูแล้ว มันทำท่าจะยกเค้าซะมากกว่า ถ้าแพง อย่าเพิ่งรีบเชื่อ2. สู้อ้างอิงไปทั่ว : ลองช่วยกันแอบดูว่า พวกคนขายที่อ้างอิงว่าผลิตภัณฑ์ของตนดีแบบมหัศจรรย์นั้น เวลาเจ็บป่วย เขาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขายรักษาตนเองหรือไม่ หรือแอบไปรักษาตัวที่ไหน เท่าที่เจอมา ส่วนใหญ่เวลาเจ็บป่วยก็หอบสังขารไปโรงพยาบาลกันทั้งนั้น ท่องไว้เลยว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ดีจริง ทางโรงพยาบาลต้องเอาไว้ใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยแล้ว ไม่ใช่ให้มาแอบขายโฆษณาโอเวอร์ๆ แบบนี้3. อย่าหวาดกลัวยาเคมี : ตั้งสติให้ดีครับ ยาเคมีกว่าจะออกมาใช้กับมนุษย์ได้ เขาต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยจนมั่นใจ แต่ยาก็เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ บางคนอาจมีการแพ้ หรือมีผลข้างเคียงได้ บุคลากรสาธารณสุขเขามีหน้าที่ดูแลตรงนี้อยู่แล้ว ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มาหลอกขายราคาแพงๆ นั้น กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ มันก็ต้องผ่านกระบวนการทางเคมีบ้างเหมือนกัน ไม่ใช่หยิบมาจากธรรมชาติมากินได้ทันที4. ส่งทุกที่แต่ส่งมาจากที่ไหน : ปกติกฎหมายจะกำหนดให้ยาต้องจำหน่ายในสถานที่ที่ต้องได้รับอนุญาต เพื่อให้มีหลักแหล่งแน่นอน ตรวจสอบได้ ของที่ส่งมาแบบไม่มีหัวนอนปลายเท้า ชื่อผู้และสถานที่ส่งก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า เราจะยอมเอาสุขภาพเราไปเสี่ยงหรือยังไงผู้บริโภคยุค 4.0 ตั้งสติกันให้ดีนะครับ ไม่ชอบมาพากลใช้คาถาปราบลวง 4.0 สู้กันเลย โชคดีนะครับ
อ่านเพิ่มเติม >