“ผมเห็น อ.เจิมศักดิ์(ปิ่นทอง) ฟ้องโดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาดีผู้บริโภคได้ โดยไม่ต้องใช้ทนาย ผมก็ลองใช้บ้าง แต่พอเอาเข้าจริงมันไม่ง่ายเลย...” คุณณัฐพงศ์ เอกะโรหิต ผู้ซึ่งมี อ.เจิมศักดิ์ เป็นต้นแบบในการฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องใช้ทนาย จะมาบอกเล่าถึงอุปสรรคที่เขาได้เจอ เมื่อถึงเวลาจะใช้สิทธิฟ้องร้องจริงๆ มันทั้งอึดอัดและน่ารำคาญ แต่ถึงอย่างไรมันก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จ แม้เส้นทางจะยากแค่ไหน เขาก็รู้สึกดีที่ได้ “ลงมือทำ” พูดจาภาษากฎหมาย ประสบการณ์อันล้ำค่า วันที่ 1 ธันวาคม 2554 ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกนั่งบัลลังก์ พิพากษา คดีละเมิดให้บริษัท ทีที แอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายให้ คุณณัฐพงศ์ จำนวน 8,300 บาท และให้จ่ายเงินค่าเสียหายเชิงลงโทษ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 อีก 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 23,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายจนครบ แต่คดียังไม่สิ้นสุดเพราะจำเลยได้ขอขยายเวลาในการยื่นอุทธรณ์ไปวันที่ 1 มี.ค. 2555 “อ.เจิมศักดิ์ บอกว่า พ.ร.บ.นี้ฟ้องเองได้เลย เดินเข้ายื่นฟ้องได้เลยไม่ต้องใช้ทนาย ทุกอย่างจบลงสวยงาม ผมก็มองว่าเอ้ย ถ้า อ.เจิมศักดิ์ ฟ้องได้เราก็น่าจะฟ้องได้ ก็เข้าไปฟ้อง อ่ะ...แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น ตอนไปยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่คดีบอกว่า ‘ถ้าเขาละเมิดพี่แต่พี่ไม่มีความเสียหายพี่ก็ฟ้องไม่ได้และถ้าพี่เสียหายแต่เขาไม่ละเมิดพี่ ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้’ ฟังแล้วงงไหมครับ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาจะเข้าใจไหมครับ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่า พ.ร.บ.ตัวนี้ คนเขียน คนตรากฎหมายมีความตั้งใจมาก ต้องทำความเข้าใจ เหมือนปัจจุบัน กฎหมายผู้บริโภคตัวนี้ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ กลายเป็นเครื่องมือของนายทุน ผู้ประกอบการใช้บังคับกับผู้บริโภคแทนอย่างคดีไฟแนนซ์ คดีเช่าซื้อ นัดเดียวจบ พอผู้บริโภคอย่างผมไปฟ้องบ้างนานนะครับ ไม่แป๊บเดียว” บริการเจ้าปัญหา ทวงหนี้ ทั้งที่ไม่เป็นหนี้คุณณัฐพงศ์ ยื่นฟ้องบริษัททีที แอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 ซึ่งยื่นฟ้องทั้ง 2 บริษัทในฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด ที่ประกอบกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ต เป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 กรณีเรียกเก็บค่าบริการจำนวน 927.32 บาท ทั้งที่ได้แจ้งยกเลิกบริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2552 หลังจากนั้นก็ยังคงได้รับบิลเรียกเก็บค่าบริการอีก ซึ่งคุณณัฐพงศ์ ได้เข้าชี้แจงกับบริษัทผู้ให้บริการว่าได้ยกเลิกบริการเรียบร้อยแล้ว ด้านพนักงานก็รับปากว่าจะจัดการให้เรียบร้อย จนวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ก็ยังได้รับหนังสือทวงถามให้ไปจ่ายค่าบริการอีก ทำให้เขาต้องหยุดงาน เข้าไปชี้แจงว่าได้ชำระค่าบริการและได้ยกบริการไปตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2552 แล้ว พร้อมขอคำอธิบายถึงจดหมายทวงถามให้ชำระหนี้ แต่ไม่ได้คำตอบ ซึ่งพนักงานได้ขอให้นำใบเสร็จรับเงินว่าได้ชำระค่าบริการแล้วมายืนยัน คุณณัฐพงศ์ดูทีท่าแล้วคงจะคุยกันไม่รู้เรื่อง จึงขอพบผู้ลงนามในจดหมายทวงถามพร้อมทั้งขอให้ทางบริษัททำจดหมายขอโทษถึงสิ่งที่เกิดขึ้น “ผมสงสัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับผมจะเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ หรือเปล่าจึงลองค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตดู ทำให้รู้ว่าเรื่องในรูปแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นผู้บริโภครายอื่นๆ ด้วย คือไม่แสดงยอดค้างชำระในใบเสร็จรับเงิน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้บริโภคไม่ได้เก็บใบเสร็จไว้ เมื่อมีการทวงถามให้ชำระหนี้อีก ใครเก็บใบเสร็จไว้ก็ให้นำไปแสดง ใครไม่เก็บก็ต้องจ่ายซ้ำอีก ซึ่งถ้าผู้บริโภคที่ไม่เก็บใบเสร็จรายใดไม่ยอมจริงๆ และเมื่อนำไปฟ้องร้อง ก็จะมีการเจรจาลดหนี้ให้ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นมิได้เป็นหนี้เลย” และเพื่อพิทักษ์สิทธิของตัวเองคุณณัฐพงศ์จึงเข้าร้องเรียนต่อ สคบ. ซึ่งทาง สคบ.ได้แนะนำให้ไปร้องต่อ สบท.และทาง สบท.ได้แนะนำให้ไปพึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ท้ายที่สุดเพื่อพิสูจน์กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จึงเข้าแจ้งความสถานีตำรวจภูธรอำเภอหัวหินไว้เป็นหลักฐาน และยื่นเรื่องฟ้องศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผมมันบ้ามากกว่า ที่ลุกขึ้นมาฟ้อง คนทั่วไปเขายื่นฟ้องกันด้วยเหตุความเสียหายเยอะๆ แต่ของผมแค่ 927.32 บาท ไม่ท้อและไม่ถอยจากการนับหนึ่งเข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2553 เพื่อหวังใช้สิทธิตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2554 รวมระยะเวลาในการพิจารณาคดี 1 ปี 2 เดือน 11 วัน และปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการขยายเวลาในการอุทธรณ์ “มันยากครับตั้งแต่การพิจารณาว่าเป็นคดีผู้บริโภคไหม หรืออาจจะเพราะติดรูปแบบเดิมที่ยึดติดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งระยะเวลาในการพิจารณา ภาระการพิสูจน์ว่าเราไม่ได้เป็นหนี้ ต้องรื้อหาใบเสร็จรับเงินมายืนยันว่าเราจ่ายไปแล้ว คือไม่รู้ว่าผู้บริโภคจะต้องเก็บใบเสร็จไว้นานแค่ไหน หรือว่าต้องตลอดชีวิตหรืออย่างไรเพื่อเป็นหลักฐาน แต่ก็จะสู้ต่อไปครับ มันไม่คุ้มหรอกถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป เราสู้นะเหนื่อยกายไม่เท่าไร แต่เราเหนื่อยใจมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่ยังขาดความเข้าใจ ผมมันบ้ามากกว่า ที่ลุกขึ้นมาฟ้อง คนทั่วไปเขายื่นฟ้องกันด้วยเหตุความเสียหายเยอะๆ แต่ของผมแค่ 927.32 บาท ซึ่งศาลก็พิพากษาออกมา ซึ่งผมก็พิสูจน์แล้วว่ากฎหมายตัวนี้ใช้ได้จริงครับแต่…ยังมีเรื่องต้องปรับปรุงอีกเยอะครับ อย่างในกฎหมายระบุว่า สามารถฟ้องได้ด้วยตัวเองไม่ต้องใช้ทนาย แต่เอาเข้าจริงผู้พิพากษาก็ยังถามหาทนายของผมในวันนัดสืบพยาน และบอกว่าจะไม่สืบพยานให้ถ้าไม่มีทนาย และยังว่าหัวหมอ เรียกค่าเสียหายสูง แล้วคิดดูครับค่าเสียหายผมเท่านี้ จะมีทนายที่ไหนมาทำให้กับผม ผมจึงยื่นเรื่องร้องเรียนกับคณะกรรมการตุลาการฝ่ายวินัยเพื่อขอความเป็นธรรม เพื่อขอเปลี่ยนผู้พิพากษา สุดท้ายก็ได้เปลี่ยนผู้พิพากษา หรือแม้แต่การเลื่อนวันพิจารณาคดีซึ่งในกฎหมายระบุไว้ว่าเลื่อนได้ไม่เกินครั้งละ 15 วัน แต่นี่เลื่อนผม 4 เดือน ผมอยากให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทำความเข้าใจกฎหมายตัวนี้ให้มากๆ เพราะเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ ขอยกกรณีตัวอย่างของ อ.เจิมศักดิ์ ซึ่งศาลได้พิจารณาคดีออกมาแล้วว่าชดเชยให้ อ.เจิมศักดิ์ 50,000 บาท แล้วถ้าคนบนเครื่องบินในเที่ยวบินเดียวกับ อ.เจิมศักดิ์ ฟ้องด้วย ศาลจะพิจารณาคดีอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่ อ.เจิมศักดิ์จะตกใจเป็นคนเดียวนะ จริงไหม ถึงแม้จะกินเวลาหรือเสียเวลาในการฟ้องคดี แต่ผมคิดว่าผลการฟ้องคดีไม่ใช่มีผลกับเราแค่คนเดียว แต่คนอื่นก็ได้ด้วย และสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานได้ ถ้าเป็นไปได้ผู้บริโภคก็ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธินะ ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่าทางออกที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดก็คือควรจะมีองค์การอิสระในการคุ้มครองผู้บริโภค และมีอำนาจหน้าที่ในการฟ้องแทนผู้บริโภคได้ครับ”
อ่านเพิ่มเติม >“ก๊าซ LPG เขาไม่อยากให้ใช้เลย ซึ่งในส่วนภาคครัวเรือนนั้น อาจจะใช้อยู่ คือถ้าหากเขาบอกให้ประชาชนไปใช้ “ถ่านหุงข้าว” ได้หมด โดยที่ไม่มีใครโวยวายเขาคงอยากให้ทำ เพราะว่า LPG นั้น ปิโตรเคมีมันต้องการใช้ แล้วคนของ ปตท.ที่เคยมาชี้แจงกับกรรมาธิการนั้นบอกว่าการผลิตของปิโตรเคมีจะได้กำไร 9 – 20 เท่า ในขณะที่ใช้ในการหุงต้มและการขนส่ง มูลค่าจะเพิ่มขึ้นไม่เท่าไร และต้องถามต่อไปว่า กำไรที่เพิ่มขึ้น 9 – 20 เท่านั้น เงินเข้ากระเป๋าใคร...” จากการตามติดอย่างชนิดกัดไม่ปล่อยในเรื่องพลังงาน วันนี้เราลองมาเปิดโลกเรื่องพลังงานไทยกันอีกครั้ง กับท่าน สว.รสนา โตสิตระกูล ดูกันว่าเธอค้นพบอะไรที่ไม่ชอบมาพากลในระบบพลังงานไทยบ้าง ปัญหาใหญ่สุดของกิจการพลังงานประเทศนี้คืออะไรการขึ้นราคาเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกลดลง ในขณะที่เรากำลังจะขึ้นราคาสวนทาง คิดว่ากลไกในการจัดการของภาครัฐต้องถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเดือนตุลาคม 2554 เมื่อดูจากแหล่งก๊าซธรรมชาติ Henry Hub ในเดือนตุลาคม ปี 54 อยู่แค่ กก.ละ 4 บาท ในขณะที่ ปตท.ประชาสัมพันธ์ต้นทุนที่แท้จริงของราคาก๊าซ NGV ว่าเป็นเท่าไร ได้จะแสดงตัวเลข 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ราคาเนื้อก๊าซ ซึ่งเขาบวกกำไร ค่าบริหาร ค่าผ่านท่อ ไว้เรียบร้อยแล้วเพราะฉะนั้น 8.39 บาท/กก. จากตัวเลขที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รวมทั้ง ปตท.ซึ่งเคยชี้แจงกรรมาธิการ แล้วเราเทียบตั้งแต่ปี 46 จนถึงปี 51 ราคาก๊าซในตลาดโลก กับราคาก๊าซจากปากหลุมที่ ปตท.ซื้อ ของเราจะถูกกว่าตลาดโลกตั้งแต่ 45 % จนถึง 67% การที่เค้าตั้งราคา 8.39 บาท จะเห็นว่าสูงกว่าราคาตลาดโลกมากกว่า 100 % ถือเป็นการเอากำไรเกินควร จุดนี้จำเป็นต้องตั้งคำถามโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานทำไมปล่อยให้มีการแสวงหากำไรเกินควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจโดยงบประมาณมีรัฐบาลถือหุ้น 52% รัฐก็น่าจะสามารถกำกับราคา ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ จะมาเอาเปรียบประชาชนอย่างนี้ได้อย่างไร ส่วนที่สองที่ ปตท.ชี้แจงคือค่าบริหารจัดการและการขนส่ง 5.56 บาท ค่าภาษีอีก 1.01 บาท รวมทั้งหมดแล้ว 14.96 บาท ซึ่งราคานี้ทาง ปตท.อ้างว่าเป็นราคาที่สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยกำหนด จากตัวเลขการโฆษณา ถ้าเรานำต้นทุนค่าก๊าซ 8.39 บาท บวกด้วยค่าขนส่ง 5.56 บาท ค่าใช้จ่ายในการขนส่งจะเท่า 40 % ของต้นทุนทั้งหมดถือว่าเยอะมากนะ ทีนี้มาดูราคาเนื้อก๊าซ ถ้าตลาดโลก กก.ละ 4 บาท ของบ้านเราก็จะ กก.ละ 2 บาท ค่าขนส่งจะกลายเป็น 73% ธุรกิจอะไรที่ค่าขนส่ง 73% นั้นเป็นธุรกิจที่ไม่ควรทำอยู่แล้ว ค่าการบริหาร 40 – 73 % อันนี้เป็นอะไรที่ไร้เหตุผลสิ้นดีเลยนะ เป็นกิจการที่รัฐไม่ควรส่งเสริมเลย แต่ทำไมรัฐถึงพยายามส่งเสริมถึงขนาดนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปให้รถแท็กซี่ เพื่อให้เปลี่ยนจากถึง LPG มาเป็น NGV แล้วอุดหนุนเงินอย่างน้อยปีละ 3,600 ล้านบาทช่วยค่าขนส่งกิโลกรัมละ 2 บาท รัฐยอมควักเงินตัวเอง ซึ่งก็มาจากภาษาประชาชนมาให้กับกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าราคาพลังงานในตลาดโลกมันถูกกว่าในบ้านเรา ก็นำเข้ามาเลย บ้านเรากิโลกรัม 8.39 บาท ก็ให้เก็บไว้ลูกหลานใช้ แล้วให้ซื้อเข้ามาจากต่างประเทศเลยกิโลกรัมละ 4 บาท ซื้อเลย เวลาจะขายบอกว่าราคาตลาดโลกราคาเท่านั้นเท่านี้ แต่ต้นทุนไม่ยอมใช้ราคาตลาดโลกบ้าง เพราะฉะนั้นก็นำเข้าเลย ราคาถูกกว่าตั้งเยอะ แล้วก็เก็บพลังงานที่แพงๆ ไว้ ให้ลูกหลานใช้ ก็ของเรามันแพง ก็ต้องเก็บไว้ใช้ จริงไหม ซื้อของคนอื่นมาใช้ดีกว่า ถูกกว่าเยอะ เหมือนนโยบายที่ออกมาก็ส่งเสริมให้คนใช้แต่ก๊าซ NGV เขาต้องการให้รถเล็กเปลี่ยนมาใช้ NGV ทั้งหมด ส่วน LPG เขาไม่อยากให้ใช้เลย ซึ่งในส่วนภาคครัวเรือนนั้น อาจจะใช้อยู่ คือถ้าหากเขาบอกให้ประชาชนไปใช้ “ถ่านหุงข้าว” ได้หมด โดยที่ไม่มีใครโวยวายเขาคงอยากให้ทำ เพราะว่า LPG นั้น ปิโตรเคมีมันต้องการใช้ แล้วคนของ ปตท.ที่เคยมาชี้แจงกับกรรมาธิการนั้นบอกว่าการผลิตของปิโตรเคมีจะได้กำไร 9 – 20 เท่า ในขณะที่ใช้ในการหุงต้มและการขนส่ง มูลค่าจะเพิ่มขึ้นไม่เท่าไร และต้องถามต่อไปว่า กำไรที่เพิ่มขึ้น 9 – 20 เท่านั้น เงินเข้ากระเป๋าใคร ก็เข้ากระเป๋าคนเพียงกลุ่มเดียว ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติมาจากทรัพยากรในประเทศ ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะได้ใช้ ตอนนี้เขาไม่กล้าให้ประชาชนไปใช้ “ถ่านหุงข้าว” เขาก็เลยต้องยอมกล้ำกลืนว่าตรงนี้ต้องใช้ แต่ว่ารถนั้นเขาไม่อยากให้ใช้ก็พยายามดึงภาคขนส่งให้มาใช้ NGV แต่หลังจากที่ส่งเสริมให้คนมาใช้ NGV ให้มากขึ้นก็จะเกิดปัญหาว่า “การผูกขาด” โดยเจ้าเดียว เขาจะขึ้นราคาอย่างไรก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีกระทรวงพลังงาน ที่ไม่กำกับดูแล แต่กระทรวงพลังงานกลายเป็นหน่วยงานที่คอยเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัท ปตท. เพราะฉะนั้นมันก็กลับตาลปัตร กระทรวงพลังงานจะทำหน้าที่คอยกำกับให้กำหนดราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค และให้ราคาไม่กระทบต่อการครองชีพ เพราะว่าเวลาก๊าซขึ้นราคานั้นส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นใช่ไหม คิดอย่างไรกับบทบาทของกระทรวงพลังงาน เป็นส่วนที่คอยเปิดช่องให้ ปตท. มากกว่าการเป็นผู้กำกับ อย่างกรณีที่มีการออกประกาศให้ก๊าซ NGV มีส่วนประกอบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ถึง 18% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน 6 เท่า เพราะในระดับโลกให้มีได้ไม่เกิน 3 % แล้วต้องบอกว่าการส่งเสริมก๊าซ LPG นั้นเป็นกลไกที่บิดเบี้ยว เพราะเนื่องจากเขาไม่ต้องการให้คนไปก๊าซ LPG ที่ไปแข่งกับธุรกิจปิโตรเคมีของเขา ก็เลยต้องพยายามดันให้ทุกคนที่จะต้องใช้พลังงานที่เป็นก๊าซ หันไปใช้ NGV เพราะคนที่หันมาใช้ก๊าซหนีราคาน้ำมันใช่ไหม สิ่งที่ต้องถามต่อไปก็คือกิจการของก๊าซ NGV ผลักภาระให้กับประชาชนทั้งนั้นเลย 1.ถึงบรรจุก๊าซต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% ทำเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นยิ่งส่งเสริมให้ใช้มากขึ้นเท่าไรก็จะเสียงบดุลให้กับต่างประเทศ เพราะต้องนำเข้าถัง และถังบรรจุกำหนดไว้ว่าสามารถรับ Co2 ได้ 3 % แต่ในบ้านเราล่อซะ 18 % มากกว่า 6 เท่า จริงๆ ต้องมีระบบตรวจเช็คทุก 5 ปีด้วยว่า ถังที่ใช้เสื่อมสภาพหรือยัง และยิ่งกว่านั้นเปิดให้มี Co2ถึง 18 % ถังก็จะเสื่อมขึ้น 6 เท่านะ ไม่มีการตรวจสอบระบบเหล่านี้เลย แล้วค่าดูแลรถที่ใช้ก๊าซ NGV สูงกว่ารถที่ใช้ LPG มาก ภาระก็ตกอยู่กับประชาชน สิ่งเหล่านี้รัฐทำอะไรบ้าง...ไม่ทำอะไรเลย ยังสมควรที่จะเป็นรัฐอยู่ไหม? ทำไมไม่ทำหน้าที่ตรง หรือมีมาเพื่อจะเป็น “กระดองหุ้ม ปตท.” เท่านั้นเอง กระทรวงพลังงานตอนนี้เป็นกระดองหุ้ม ปตท.นะ ปตท.เป็นเนื้ออยู่ข้างใน ปตท. ถือว่าเป็นหน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่มีการหมุนเวียนของเงินมากกว่ากระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นใหญ่ของภาครัฐ 3 เท่า ถือว่าใหญ่กระทรวงการคลังไหม คิดว่ากระทรวงพลังงานจะควบคุม ปตท.ได้ไหม เมื่อมีเงินมากกว่าก็ย่อมที่จะเป็นฝ่ายคอนโทรล กระทรวงพลังงานก็จะถูกคอนโทรล รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ด้วย พวกนี้มีมาร์เก็ตแท็บอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 30 % เพราะฉะนั้นมันเป็นกระบวนการที่ขาดธรรมาภิบาลอย่างยิ่งในการบริหารแบบนี้ แต่มันยังอยู่ไ/ด้...เพราะอะไร...มันต้องถูกตั้งคำถาม ปตท.ถูกแปรรูปมาเพื่อให้เกิดการแข่งขันใช่ไหม ถูกแปรรูปออกมาเพื่อที่จะเป็นอิสระจากรัฐจะได้ไม่ถูกผูกขาดใช่ไหม แล้วทำไมรัฐถึงให้เอกชนมาผูกขาด แบบนี้เรียกว่าฉ้อราษฎร์โดยสุจริตได้ไหม (หัวเราะ) กฎหมายจริงๆ เขาก็ไม่ได้ให้ทำนะ เพราะว่ากฎหมายมาตรา 84 (5) ที่บอกว่ารัฐต้องส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีให้เป็นธรรมและต้องป้องกันการผูกขาด ไม่ว่าโดยทางตรง ทางอ้อมและต้องคุ้มครองผู้บริโภค เพราะฉะนั้นจะผูกขาดทั้งทางตรง หรือทางอ้อมไม่ได้ แต่นี่ผูกขาดตรงๆ เลย แบบนี้อยู่ได้อย่างไร แล้วรัฐบาลก็ออกกฎเอื้อเขาตลอดเลย กระทรวงพลังงานเคยมาชี้แจงที่กรรมาธิการ เรื่องการให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 18 % นี่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคนะ เพราะจ่ายเงิน 100 บาท แต่จะได้เนื้อก๊าซแค่ 82 นะ ที่เหลือเป็นขยะ กระทรวงพลังงานชี้แจงว่าจำเป็นต้องออกหลักเกณฑ์นี้มาเพื่อให้ธุรกิจพอจะดำเนินต่อไปได้ อ้าว...นี่ตกลง จะคุ้มครองธุรกิจใช่ไหม ไม่คุ้มครองผู้บริโภค รัฐธรรมนูญ บอกให้คุ้มครองธุรกิจเหรอ รัฐธรรมนูญเคยบอกหรือว่าจะต้องส่งเสริมธุรกิจเสรีที่เป็นธรรมและให้ผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม และคุ้มครองธุรกิจ รัฐธรรมนูญเขียนอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่ได้เขียนอย่างนั้นเลย (หัวเราะ) แต่ทำไมรัฐบาลทำตรงกันข้าม คือไม่มีใครไปจัดการกับเขา เพราะว่าระบบของเรามันยังมีจุดโหว่ค่อนข้างมาก กฎหมายดีมีเยอะแต่ไม่มีการบังคับใช้ จึงทำให้สภาพการณ์แบบนี้ยังคงดำรงอยู่ ดูที่ก๊าซ NGV สาเหตุสำคัญก็มาจากก๊าซ LPG นี่ล่ะ ก๊าซ LPG สามารถดึงส่วนประกอบอย่างก๊าซโพเพน และบิวเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่สามารถนำไปใช้ในปิโตรเคมีต่างๆ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ 9 – 20 เท่า แต่การที่กระทรวงพลังงานต้องจัดสรรให้เกิดการใช้ที่แบ่งปันกัน จะให้ภาคปิโตรเคมีทั้งหมดไม่ได้ หรือให้ภาคครัวเรือนหันไปใช้ถ่านหุงข้าว ก็พูดไม่ได้ใช่ไหม หรือจะภาคขนส่งมีคนออกมาพูดกันเยอะว่าใช้กับรถไม่น่าจะใช้กับรถเลย ไม่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันต่างประเทศอย่างฮ่องกงให้รถแท็กซี่มาใช้ก๊าซ LPG แทนดีเซล จริงๆ ของในประเทศเรามันถูกหมด แต่ว่าตอนแรกที่เขาขายก๊าซ NGV นั้นเขาบอกว่าเป็นของเหลือ หากยังจำโฆษณายุคแรกๆ ที่ชักชวนให้รถแท็กซี่ รถบ้าน เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซ LPG มาใช้ NGV ด้วยการให้ราคาที่ถูกกว่า เพราะว่าราคาก๊าซ LPG ราคา กิโลกรัมละ 18.13 บาท ช่วงที่ขาย NGV ในช่วงแรกๆ ขายที่ราคา 8.50 บาท เพื่อตัดราคา LPG ให้คนหันมาใช้ NGV เพราะราคาถูกกว่า แต่ตอนนี้เขาก็จะขยับราคาก๊าซ NGV ให้ขึ้นไป กิโลกรัมละ 14.50 บาท เพราะเขาจะเทียบราคาจากดีเซล หากราคาดีเซล 30 บาท เขาก็จะขายในราคาครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซล อาจจะ 14.50 บาท หรือ 15 บาท ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไร้เหตุผล เอามาตรฐานที่ไหนมาคิดว่าทำไมต้องเป็นครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซล ทั้งที่ในต่างประเทศ พลังงานที่จะสามารถทดแทนกันได้ “ต้องแข่งกัน” และให้ประชาชนมีสิทธิเลือกว่าจะเลือกใช้อะไร แต่บ้านเราเขากำหนดให้หมดเลยว่าคุณใช้อันนี้ราคานี้ คุณใช้อันนั้นราคานี้ มันไม่ใช่ราคาที่เกิดจากการแข่งขัน เป็นราคาที่เกิดจากการกำหนด แต่เวลาพูดก็จะบอกว่า “เราใช้กลไกตลาด” นี่เป็นกลไกตลาดตรงไหน ไม่มีกลไกการตลาดเลย แต่ชอบอ้างกลไกการตลาด ความจริงพลังงานทั้งหมดมันต้องแข่งกันมันถึงจะได้ราคาที่เป็นธรรม พอไม่มีการแข่งขัน ทีนี้ไม่ว่าจะมีการลงทุนแย่ขนาดไหน ก็โยนภาระมาให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่จะต้องรับกรรม เหมือนผู้ใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหลาย ที่ลงทุนผิดพลาดแล้วโปะมาลงที่ค่า Ft หมด LPG ไม่อยากขาย แต่ลองให้รัฐไม่ตรึงราคา แล้วปล่อยให้เท่ากับราคาตลาดโลก รับรอง ปตท.จะต้องบอกว่า ให้รถเล็กมาใช้ได้เลย เพราะได้กำไรเท่ากัน ไม่ต้องส่งขายเมืองนอก และจะไม่มีการห้ามให้รถเล็กใช้ ตอนนี้รัฐมีการตรึงราคา LPG ไว้ทำให้ นโยบายต่างๆ มันบิดเบือนให้คนมาใช้ NGV ในขณะที่ NGV สร้างภาระมหาศาล การขึ้นราคาก๊าซ ประชาชนทำอะไรได้บ้าง ต้องเดินขบวนหรือเปล่า (หัวเราะ) พี่คิดว่าจริงๆ แล้ว จำเป็นต้องมีเสียงจากสังคม เพราะถ้าไม่มีเสียงจากสังคมขึ้นมา รัฐบาลก็ไม่ได้สนใจอะไร ถ้าหากประชาชนยังเงียบก็จะขึ้นราคาแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ เพราะฉะนั้นเสียงสะท้อนจากประชาชนก็จะมีผลช่วยได้ แต่เขาก็ฉลาดนะมีการทำบัตรเครดิตพลังงานไว้รองรับ แต่นี่อาจจะเป็นช่วงโปรโมชั่นใช่ไหม ไม่ใช่ให้ตลอดไป แต่ให้เพื่อที่จะลดกระแสเพื่อไม่ให้ออกมาโวยวายใช่ไหม และจะให้บัตรเครดิตพลังงานไปได้นานเท่าไร แต่การที่ออกบัตรเครดิตพลังงานนั่นก็เงินของเราอีก ในที่สุดเราก็เสียเงินอยู่ดี แค่ควักกระเป๋าซ้าย ย้ายไปกระเป๋าขวา และเป็นวิธีการที่รัฐผ่องถ่ายกำไรให้กับเอกชน แต่ขาดทุนมาอยู่ที่รัฐ หนี้มาไว้ที่รัฐ แต่กำไร ไปให้กับเอกชน แปลว่าอะไร แปลว่ารัฐก็มีเอี่ยวด้วยใช่ไหม เราเคยถามไหมว่า 48% ที่ถือหุ้นของ ปตท. มีนักการเมืองเข้าไปถือหุ้นเท่าไร ไม่เคยถูกเปิดเผย ว่าใครถือหุ้น มีฝรั่งหัวดำที่ไหนบ้างที่มาถือหุ้นในกองทุนนอมินีทั้งหลาย รวมทั้งข้าราชการกระทรวงพลังงานที่เข้าไปนั่งในบอร์ด ปตท. ก็เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งโบนัส ทั้งเบี้ยประชุม เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจตัดสินใจแบบนี้ก็เท่ากับใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองด้วย ประชาชนต้องออกมาออกเสียง ส่งเสียง ไม่ใช่เงียบ เพราะความเงียบคือการยอมรับ และต้องตั้งคำถามว่าราคาแบบนี้เป็นธรรมไหม
สำหรับสมาชิก >“ถ้าปีหน้าน้ำมันท่วมอีก ข้าวของก็คงขาดตลาดอีก คนก็ตุนมาม่า ปลากระป๋อง ไข่ พอมีความต้องการเยอะ ราคาของก็แพงขึ้น ทำไมเราไม่คิดกลับบ้าง ซื้ออาหารสดพวกปลา หมู มาทำหมูเค็ม ปลาเค็ม ก็เก็บไว้ได้นานเหมือนกัน ที่สำคัญคือผัก น้ำท่วมเราปลูกกินเองได้ ถั่วงอก ผักบุ้งนี่ก็ปลูกง่ายคุณค่าทางโภชนาการก็เยอะ” แก้วตา ธัมอิน นักเขียนบทกวีคนรุ่นใหม่เผยแนวคิดที่แตกต่าง แต่ลงตัวให้กับฉลาดซื้อได้เห็นในอีกมุมมองของการใช้ชีวิต เพื่อจะมีชีวิตอยู่และอยู่อย่างมีชีวิต ในการข้ามฝ่าวิกฤต ที่อาจอยู่ใกล้เรามากกว่าที่คิด ฉลาดซื้อขอบอกเล่ากิจกรรมโครงการรณรงค์ของมูลนิธิชีววิถี โดยผ่านเรื่องราวจากปากของ แก้วตา ธัมอิน ที่วันนี้ไม่ได้มาในบทบาทของกวี แต่มาในบทบาทของเจ้าหน้าที่รณรงค์ เกิดกอ ก่อเมล็ดพันธุ์“โครงการ(ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์) นี้เกิดขึ้นมาเพราะภาวะน้ำท่วมขังที่ยาวนาน บางพื้นที่ เช่น จ.นครสวรรค์ ท่วมนานกว่า 3 เดือนทำให้พื้นที่การเกษตร ทั้งที่นา ที่สวน จนสวนรอบบ้าน ไม้ผล และพืชผักสวนครัว ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด เกษตรกรไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้ปลูกเพื่อการผลิตในรอบต่อไปได้อีกเลย และเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในระยะฟื้นฟู เราจึงรับบริจาคเมล็ดพันธุ์ผัก-ข้าว กิ่งพันธุ์ผัก-ผลไม้ ที่เกษตรกรสามารถเก็บและขยายพันธุ์ไปปลูกต่อได้ รวมถึงสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่น พืชผักสวนครัว เมล็ดพันธุ์ที่จะปลูกเพื่อเป็นรายได้ช่วงหลังน้ำท่วม” นั่นคือที่มาของโครงการดี ดี แบบนี้ แต่จุดหมายหลักๆ ก็คือความพยายามจะสร้างความยั่งยืนด้านอาหารนั่นเอง ไม่ให้เมล็ดพันธุ์ตกไปอยู่ในมือของนายทุน หรือบรรษัทไม่กี่บรรษัท เพราะตลาดเมล็ดพันธุ์มีมูลค่าทางการตลาดมหาศาล ซึ่งเมล็ดพันธุ์นั้นถือเป็นฐานความมั่นคงทางอาหาร ถ้าหากเกษตรกรไม่ได้จัดการเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเอง สุดท้ายพันธุ์พื้นเมืองก็จะสูญหายไป ความหลากหลาย การเข้าถึงด้านอาหารก็ยากขึ้น ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นที่ทางมูลนิธิชีวิถีเล็งเห็นก็คือ เกษตรกรมีรายได้น้อยเมื่อต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ที่จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสม(hybrid) ทั้งหมด แล้วไหนจะต้องติดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ก็จะเพิ่มต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดวงจรการเข้าไม่ถึงอาหาร ต้องเข้าเป็นหนี้ และยากจน หมุนวนเป็นวงจร เมล็ดพันธุ์ที่ทางมูลนิธิชีววิถีจับตาและรณรงค์อยู่ก็คือเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด รวมถึงผักพื้นบ้าน ที่พยายามให้พื้นที่เครือข่ายได้แลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดความหลากหลายนั่นเอง ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ความยั่งยืนด้านอาหาร พื้นที่เครือข่ายโรงเรียนชาวนาที่เราทำงานด้วยอย่างจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุบลราชธานี ก็จะมีการแบ่งปันพันธุ์ข้าวมาให้กัน อย่างคนที่อบรมกับเครือข่ายโรงเรียนชาวนาที่อยู่จังหวัดกำแพงเพชรก็ปันเมล็ดข้าวมาให้ ถึงแม้มันไม่มากมายแต่ก็ถือว่าเบาแรงกับต้นทุนที่ต้องลงทุนใหม่ ตอนนี้ชาวบ้านต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวที่อายุสั้น เพื่อที่จะได้เก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว เพราะว่าไม่ได้ทำนามารอบหนึ่งแล้ว แล้วข้าวที่ทางเรามีอยู่ก็เป็นข้าวปี ซึ่งต้องใช้เวลานาน ข้าวอายุสั้นจึงเป็นที่ต้องการของชาวบ้าน เพราะถ้าดูแล้วในฤดูกาลหน้า น้ำก็จะมาอีกแล้ว พฤษภาคม น้ำก็จะมีอีกแล้ว ถึงแม้ทาง.ธ.ก.ส.ที่ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยเกษตรกร โดยการนำพันธุ์ข้าว ซีพี 111 มาขายให้ชาวบ้านในราคาถูก แต่ก็ต้องพ่วงปุ๋ย พ่วงยาของเขาไปด้วยพร้อมๆ กัน เรื่องผักที่เรารวบรวมก็เป็นพวกเครื่องเทศต่างๆ เพราะมันตายหมดเลยนะ ทั้งพริก ขิง ข่า ตะไคร้ กระเพรา คือเหมือนห้องครัวของบ้านหายไปเลย เราก็รวบรวมให้ได้เยอะที่สุดแล้วนำไปให้กับชาวบ้าน รวมกันเป็นผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ 12 – 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็ได้นำไปมอบเป็นผ้าป่าให้กับชาวนครสวรรค์ ซึ่งรวบรวมจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน ยกตัวอย่างจังหวัดฉะเซิงเทรา จะทำพวกผักพื้นบ้านเยอะ ก็จะรวมมาให้เยอะ ตอนนี้ก็จะมีพันธุ์พริก มะเขือ ถั่วพู เราจะไม่เพาะเป็นกล้านะ เพราะจะยากตอนขนย้าย ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ไปเลยจะสะดวกกว่า สวนผักคนเมืองที่นครปฐม คลองโยงก็ได้รับผลกระทบนะ ทางเครือข่ายเชียงใหม่ที่จับเรื่องที่ดินก็จะระดมเมล็ดพันธุ์ไปช่วย ชาวบ้านที่ปลูกผักออร์แกนิคที่ลาดหลุมแก้ว ก็ได้รับผลกระทบเยอะก็คิดไว้ว่าน่าจะมีผ้าป่าเมล็ดพันธุ์เพื่อไปช่วยเหลือชาวบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ถูกน้ำท่วมด้วย ภาพการเคลื่อนไหวในหลายๆ ส่วนที่เราระดมช่วยเหลือกันเรื่องเมล็ดพันธุ์ ซึ่งน่าจะได้มาพูดกันในเรื่องวิกฤติของอาหาร ทั้งเรื่องภัยพิบัติ ทั้งเรื่องการจะถูกคุกคามจากบรรษัทด้วย เพื่อหาทางออกร่วมกัน พยายามสต๊อกอาหารไว้เพื่อจะผ่านน้ำท่วมไป แต่ว่าไม่ได้คิดเรื่องผัก ไม่ได้คิดเลยว่าชีวิตคนเราต้องกินผักเหมือนกันนะ กินอาหารกระป๋องเยอะมันก็เบื่อ ขาดคุณค่าโภชนาการด้วยนะ แล้วทำไมไม่ตุนผักไว้บ้างละ อย่างฟักทอง ฟักเขียว นี่ก็เก็บไว้ได้นาน จินตนาการเกี่ยวกับอาหารของคนมันหายไปไหนหมด การพึ่งตัวเองในภาวะวิกฤต ถ้าหากภาวะวิกฤตแบบนี้เกิดขึ้นอีก คุณจะเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง หลายคนอาจเตรียมตัวไว้แล้วว่าจะตุนอะไรไว้บ้าง ทั้งอาหาร น้ำ แต่สำหรับแก้วตาเธอมีแผนไว้แล้วว่า จะอยู่กับน้ำยังไง “น้ำมาอีก ก็ปลูกผักลอยน้ำเลย หลายคนอาจเตรียมมาม่า ปลากระป๋อง มีน้องคนหนึ่งบ้านอยู่แถวนนทบุรี บอกว่าซื้อไข่เก็บไว้เป็นแข่งเลย ครอบครัวก็พยายามสต๊อกอาหารไว้เพื่อจะผ่านน้ำท่วมไป แต่ว่าไม่ได้คิดเรื่องผัก ไม่ได้คิดเลยว่าชีวิตคนเราต้องกินผักเหมือนกันนะ กินอาหารกระป๋องเยอะมันก็เบื่อ ขาดคุณค่าโภชนาการด้วยนะ แล้วทำไมไม่ตุนผักไว้บ้างละ อย่างฟักทอง ฟักเขียว นี่ก็เก็บไว้ได้นาน จินตนาการเกี่ยวกับอาหารของคนมันหายไปไหน ทำไมจินตนาการไม่พ้นอาหารกระป๋องใช่ไหม พวกปลาเค็ม ปลาแห้ง เก็บไว้ได้ตั้งเยอะ หน่อไม้ดอง หน่อไม้อัด แต่คนเราจินตนาการไปไม่ได้ ก็ไปแย่งกันซื้อไข่ ซื้ออาหารกระป๋อง อยากมีผักกินสดกินใช่ไหม อ้าวก็เพาะถั่วงอกสิ คือมันต้องคิดถึงการสำรองอาหารในอีกรูปแบบ อ่ะอยากซื้อหมูใช่ไหม เราก็เก็บได้ ซื้อมา ไม่ใช่ไปเก็บในช่องฟรีซในตู้เย็นนะ พอถูกตัดไฟขึ้นมาจะทำไง คุณก็ทำแหนม ทำหมูเค็ม หมูแดดเดียว เห็นไหมทำได้ตั้งหลายอย่างง่ายๆ แต่พอถึงสถานการณ์นั้นจริงๆ คิดอะไรไม่ออกเลย ก็นะมันเป็นเรื่องที่เราต้องจินตนาการกับมันหน่อย แล้วเราจะใช้ชีวิตได้อย่างมีชีวิต” สำหรับใครที่อยากร่วมทำบุญผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ส่งมาได้ที่ มูลนิธิชีววิถี 125/356 ม.3 หมู่บ้านนราธิป ถ.รัตนาธิเบศร์ ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 หากเป็นกิ่งพันธุ์ หรือต้นกล้าจะขนมาส่งที่มูลนิธิชีววิถีก็ได้ หรือไม่สะดวกจะให้ไปช่วยขนก็สามารถแจ้งมาได้ที่ 02-9853837-8 หรือ คุณสุบิน 086-9194868,คุณนนทวรรณ 086-1828423 ทำบุญกับคนที่เขาต้องการจริงๆ ด้วยของที่ขาดแคลนจริงๆ ได้บุญเยอะนะเออ
อ่านเพิ่มเติม >“ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้ พวกเราใช้โอกาสเปลืองนะ เราพยายามกันน้ำทุกอย่าง กัน กัน และกันหมด กันจนน้ำไม่มีที่ไป แล้วน้ำในปริมาณเยอะก็เหมือนกับคอขวด ที่พยายามบีบให้ไปตามทางที่จำกัดไว้ แต่น้ำที่เห็นไม่ใช่น้ำในขวด น้ำก็จะหาทางลงสู่ที่ต่ำโดยการไปตามคลอง ไปตามท่อน้ำ ผุดขึ้นมาตามท่อบ้าง...” ฉลาดซื้อคราวนี้เราจะมาคุยกับ คุณกำชัย น้อยบรรจง ชายหนุ่มจากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง และอีกฐานะหนึ่งคือ อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งจะได้สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาโดยกำลังของอาสาสมัครคนหนึ่งที่เปี่ยมด้วยจิตอาสา ผู้ประสบภัยกลายเป็นผู้ให้“ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ประสบภัย ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้นะ ทั้งที่มันไม่น่าท่วม อย่างปีก่อนไปช่วยที่นครราชสีมาซึ่งสูงกว่าสระบุรี ช่วยเหลือเครือข่ายผู้บริโภคลพบุรี น้ำท่วมที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเหมือนโบราณ ไม่ใช่น้ำหลาก ที่คนโบราณมีภูมิปัญญาโบราณในการตั้งรับทั้งการดำเนินชีวิต การกิน การอยู่ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ ส่วนหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือการก่อสร้างบ้านเรือนขวางทางน้ำ และการจัดการน้ำไม่เป็นระบบ” กำชัยให้ความเห็นในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งของประเทศ และจากบทเรียนการให้ความช่วยเหลือพี่น้องในปีที่ผ่านมา ทำให้เขามองเห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ควรจะทำเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุดก็คือ “ระบบเครือข่าย” และ “อาสาสมัคร” “ระบบการลำเลียงของช่วยเหลือผู้ประสบภัยเราใช้ระบบเครือข่าย และอาสาสมัครในพื้นที่ อาสาสมัครส่วนหนึ่งก็เป็นอาสาสมัครที่เราทำงานในแต่ประเด็น เช่นในจังหวัดสิงห์บุรี เราก็ได้อาสาสมัครที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นอาสาสมัคร ช่วยประสานงานในพื้นที่ และส่งข้อมูลเข้ามาให้เราว่าในพื้นที่เป็นอย่างไร ทีมงานของเราและอาสาสมัครก็จะประเมินสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือว่าในส่วนของภาครัฐ ให้การช่วยเหลือถึงไหม หรือความช่วยเหลือเข้าไปเฉพาะบางจุด การให้ความช่วยเหลือเราก็ค่อยๆ เรียนรู้เหมือนกันนะ ช่วงแรกเราจะช่วยเหลือผู้อพยพตามศูนย์ผู้ประสบภัย เพราะเราเชื่อมั่นว่าหน่วยงานราชการไม่น่าจะตกสำรวจ แต่พอเราเข้าไปดูเราก็เห็นข้อจำกัด อย่างบางศูนย์ฯ รับคนได้ 500 คน พอคนเกินก็เกิดความแออัด ผู้เดือดร้อนบางคนไม่ยอมออกมาเพราะความเป็นห่วงของในบ้าน หรือคนแก่ไม่ยอมออกจากบ้าน” อาสาสมัครมีใจอย่างเดียวไม่พอเมื่อเริ่มเรียนรู้ ทีมงานของกำชัยก็กลับมาพูดคุย แลกเปลี่ยนถึงแนวทางและบทบาทการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่ออุดช่องโหว่ของรัฐในการให้ความช่วยเหลือ “พอเราเห็นช่องโหว่ก็กลับมาคุยกันในทีมทำงานในจังหวัดว่า ‘บทบาทของเราในการให้ความช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร’ ต้องบอกว่านะว่าอาสาสมัครแค่มีใจอย่างเดียวไม่พอนะ หนึ่งต้องมีเพื่อน สองต้องหาของไปช่วย สามต้องรู้ความต้องการของผู้ประสบภัย จริงไหม น้ำ ข้าวสาร อาหารแห้งไว้ให้พวกเขาได้ใช้หุงหาเองได้ เพราะแต่ละพื้นที่แตกต่าง เราเริ่มที่จังหวัดสระบุรีก่อน ที่ดอนพุดซึ่งหนักมากนะ หลังจากนั้นเราก็เริ่มประสานงานกับเครือข่ายผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในส่วนที่ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึงได้จริง ส่วนตัวผมนะ ผมมองว่าถึงกลุ่มเป้าหมายนะ เพราะพื้นที่ที่เราจะเข้าไปต้องขนของใส่รถทหาร ไปถ่ายใส่รถอีแต๋น ไปถ่ายของลงเรือและนั่งเรืออีก 2 – 3 ชั่วโมง เข้าไป 20 กิโลเมตร ทำให้เราเห็นว่าคนที่ตกสำรวจจริงๆมันมีเยอะ และเข้าไม่ถึงทรัพยากร เข้าไม่ถึงน้ำใจคนที่ร่วมบริจาคมาให้มีอีกเยอะ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าการบริหารจัดการคน การบริหารจัดการของบริจาค ของหน่วยงานรัฐเข้าถึงผู้ประสบภัยแค่ไหน” กำชัยและทีมงานเป็นตัวประสานงานในการจัดหาของบริจาค ทั้งน้ำ ถุงยังชีพจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ข้าวสารจากชาวบ้าน ร่วมกับทีมทำงานช่วยกันแพ็กถุงยังชีพ บ้างก็ทำอาหารกล่องไปให้กับพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคที่จังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท ปทุมธานี นอกจากนี้แล้วยังช่วยส่งน้ำ ให้กับเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครอีกด้วย “ถ้าเทียบการจัดการถึงพื้นที่ต้องบอกว่าภาคประชาชนทำงานได้คล่องตัวกว่ารัฐบาล แต่ถ้าจะต้องช่วยอีกให้ปีต่อๆไป ต้องมาวางแผนให้ชัด วางจังหวะ และจัดการความรู้ในการแก้ปัญหา อย่างในเครือข่ายผู้บริโภคที่เกิดปัญหาจะต้องรับมืออย่างไร ที่ตามมาก็คือเครือข่ายฯจะช่วยเพื่อน ช่วยชาวบ้านได้อย่างไร เหมือนกับการขยายเครือข่ายความร่วมมือในหลายๆเครือข่ายก้าวไปพร้อมๆกัน ไม่ต้องรอคอยหน่วยงานรัฐว่าจะมาแจกของเมื่อไร ต้องเตรียมครับ ฟันธงว่า ‘มีแน่นอน’” แก้ปัญหาน้ำต้องให้คนรู้มาทำกรมชลประทานต้องบริหารงานน้ำให้เป็น ถ้าสอบผมว่าก็ตก การให้ข้อมูลกับประชาชนโดยหลักที่นานาประเทศใช้ก็คือสันนิษฐาน ถึงความเร็วร้ายที่สุดที่มันจะเกิด และวางแผนรับว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะมีแผงการตั้งรับแบบไหน ควรที่จะบอกประชาชนอย่างไร เขื่อนกำลังจะแตก น้ำจะไหลไปทางไหน ประชาชนจะต้องอพยพไปตรงไหน น้ำท่วมขนาดนี้คุณจะอยู่ได้กี่วัน จะต้องเตรียมตัวอย่างไร คือมันต้องชัดเจนในการให้คำตอบกับประชาชน ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้ พวกเราใช้โอกาสเปลืองนะ เราพยายามกันน้ำทุกอย่าง กัน กัน และกันหมด กันจนน้ำไม่มีที่ไป แล้วน้ำในปริมาณเยอะก็เหมือนกับคอขวด ที่พยายามบีบให้ไปตามทางที่จำกัดไว้ แต่น้ำที่เห็นไม่ใช่น้ำในขวด น้ำก็จะหาทางลงสู่ที่ต่ำโดยการไปตามคลอง ไปตามท่อน้ำ ผุดขึ้นมาตามท่อบ้าง น้ำท่วมครั้งนี้ผมไม่ถือว่าเป็นอุทกภัยนะผมมองว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด จากคะแนนเต็ม 10 ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ผมให้ 4 นะ มีอย่างที่ไหนเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแต่กลับต้องมาย้ายหนีน้ำ แบบนี้มีที่ไหน ชาวบ้านหรือโดยเฉพาะชาวกรุงเทพต้องการความเชื่อมั่นนะ เปรียบเทียบง่ายๆ ประเทศญี่ปุ่น ถูกสึนามิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่ว เขาก็ให้ความเชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะต้องแก้ไขได้ เขาก็ยอมอพยพ ถ้าเทียบความเชื่อมั่นในบ้านเราก็อาจจะเทียบกันไม่ได้เลย ผมว่าการบริหารจัดการน้ำต้องเป็นคนที่รู้และเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำเข้ามาจัดการและควรทำให้รวดเร็ว อยู่ย้อนยุคกำชัยสะท้อนถึงการใช้ชีวิตหลังน้ำท่วมว่าควรที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ กลับมาใช้วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน “ส่วนตัวผมนะผมว่าพวกเราต้องให้ความสำคัญกับการหันกลับมาใส่ใจวิถีการบริโภคที่ยั่งยืน การบริโภคที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ไม่ทำประเทศ บริโภคอย่างรู้จักความว่าพอ ไม่ใช่เป็นอย่างทุกวันนี้ ซึ่งก็จะนำไปสู่แผนพัฒนาประเทศต่อไปว่าควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ถ้าสมมุติว่ารัฐบาลจะมีแผนพัฒนาประเทศต่อไปในระบบแบบอุตสาหกรรม ก็ต้องมีการวางแผนที่จัดการกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและทางน้ำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก
อ่านเพิ่มเติม >ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้พาคุณนั่งรถไฟไปย้อนรำลึกเหตุการณ์อุบัติเหตุ รถไฟตกราง โดยขบวนรถด่วนที่ 84 ตรัง – กรุงเทพ ตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บ 88 ราย นับเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดฝัน และไม่น่าจะเกิดขึ้น สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สรส.ร.ฟ.ท.) ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการรถไฟไทยมากว่า 29 ปี จะช่วยไขปริศนาที่ว่า ทำไมรถไฟไทยทำไมถึงไม่พัฒนา และควรจะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยกันอย่างไร รถไฟไทยทำไมไม่พัฒนา ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยเรามีรถไฟใช้เป็นประเทศแรกและเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการด้านการโดยสารและสินค้าตามพระราชบัญญัติการรถไฟฯ พ.ศ. 2494 แต่ปัจจุบันลองไปดูประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียก็จะเห็นว่าไทยเราล้าหลังที่สุดในขบวนการพัฒนา ต่อประเด็นนี้สาวิทย์ มองว่า ผมก็คิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ภาคส่วนต่างๆ จำเป็นต้องหันมาดู โดยเฉพาะรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา 115 ปี รถไฟไทยนั้น ก็อย่างที่เห็นว่าสภาพรถเก่า(มาก) ขาดการเหลียวแล ทั้งเรื่องงบประมาณและนโยบายของรัฐบาล อันนี้ก็เป็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนารถไฟ ทั้งที่รถไฟต้องทำหน้าที่บริการขนส่งสาธารณะที่สำคัญของประเทศ ต้องสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสารว่า จะถึงที่หมายปลายทางอย่างปลอดภัย และต้องมีหัวรถจักรที่ลากจูงขบวนรถที่มีสภาพที่สมบูรณ์ 100 % ถ้าดูจากกรณีการเกิดอุบัติเหตุที่สถานีเขาเต่า สาเหตุที่หนึ่งก็คือเรื่องบุคลากร คือคนขับรถไฟ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ ปัจจุบันเราขาดแคลนมากๆ เพราะมีมติ ครม.ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 41 กำหนดว่าพนักงานรถไฟที่เกษียณออกไปให้รับใหม่ไม่เกิน 5 % ของผู้เกษียณอายุ ซึ่งในปีหนึ่งๆ มีคนเกษียณประมาณ 300 – 400 คน นั่นก็เท่ากับว่าปีหนึ่งเรารับคนได้แค่ 20 คนเท่านั้นเอง ทำให้บุคลากรน้อยลง แต่ความต้องการของพี่น้องประชาชนก็ยังคงมีอยู่มาก ก็เลยจำเป็นที่จะต้องทำงานในชั่วโมงที่ยาวนาน แล้วก็ไม่มีวันหยุด นั่นก็เป็นด้านหนึ่งที่ทำให้พนักงานทั้งคู่ของขบวนที่ 84 ตอนนั้น วูบหลับไป เราพบว่าใน 1 เดือน พนักงานขับรถได้พักผ่อนแค่วันเดียว สาเหตุที่สองก็คือเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัย ซึ่งถือว่าสำคัญมาก สหภาพฯ หยิบขึ้นมารณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในห้องบังคับจะมีระบบความปลอดภัยป้องกันพนักงานหลับหรือหมดสติ เรียกว่าระบบ Vigilance ซึ่งระบบนี้จะทำงานตลอดเวลาจะอยู่ที่เท้าของพนักงาน และต้องใช้เท้าเหยียบทุกๆ 8 วินาที ถ้าไม่เหยียบก็จะส่งเสียงสัญญาณเตือน ถ้าหากไม่มีการตอบโต้ต่อสัญญาณเตือนภายใน 120 วินาที ระบบความปลอดภัยก็จะเริ่มลดกำลังไฟลงที่เรียกว่าระบบ Deadman ระบบห้ามล้อก็จะทำงานและขบวนรถก็จะหยุดในที่สุด แต่ระบบความปลอดภัยของรถไฟขบวนที่ 84 ปี 2552 มันใช้การไม่ได้ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือซีนยางของประตูห้องเครื่องกับห้องคนขับมันรั่ว ก็เป็นไปได้ที่ควันไอเสียเข้ามาแล้วทำให้พนักงานดมควันเข้าไปแล้วหมดสติ ทางออกเรื่องการพัฒนาความปลอดภัยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อการรถไฟ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของการรถไฟ โดยการรถไฟต้องเร่งจัดซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ บนรถจักร รถพ่วง ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ก่อนนำรถออกไปวิ่งและต้องมีระบบ Vigilance และ Deadman ที่ใช้งานได้ เพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป แนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก และไม่เกิดผลดีกับใครเลยไม่ว่าจะเป็นการรถไฟที่จะต้องสูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งเกิดจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ เราไม่ต้องการให้ประชาชนต้องไปสุ่มเสี่ยงกับการเดินรถที่ไม่ปลอดภัย เหมือนการเกิดอุบัติเหตุที่สถานีรถไฟเขาเต่าอีก ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงในช่วง 30 ปีของการรถไฟเลยทีเดียว อีกทางหนึ่งในการพัฒนาความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ได้แก่ ผู้โดยสารควรได้รับความคุ้มครองในการเดินทาง มีระดับมาตรฐานความปลอดภัย คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน รัฐบาลควรกำหนดนโยบายให้การรถไฟจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการรถไฟขึ้นมา โดยมีบทบาทในการกำกับดูแลมาตรฐานการบริการสาธารณะ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟด้วย จริงๆ แล้วการขนส่งทางราง เป็นการขนส่งที่ปลอดภัยสูงสุด ถ้าหากเราสนับสนุนกันจริงจัง และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งกันทางรางในแง่เศรษฐกิจเราจะสูญเสียน้อยที่สุด การเยียวยา ค่าชดเชยที่ไม่ตายตัวด้วยหลักเกณฑ์การเสียชีวิตการบาดเจ็บ เราเองไม่ต้องการให้เกิดขึ้นและมองว่าการชดเชยเยียวยาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะการชดเชยไม่ว่าจำนวนเท่าไรมันก็ไม่เพียงพอสำหรับความสูญเสียที่ต้องเสียไป เพราะว่าชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งมันชดใช้ด้วยเงินแค่ สองสามแสนบาท ไม่ได้ มันไม่สามารถที่จะไปทดแทนชีวิตคนได้หรอก เพราะว่าถ้าเขามีชีวิตอยู่ ก็มีโอกาสที่จะเอื้อชีวิตให้กับครอบครัว ต่อชุมชนเยอะแยะมากมาย ในแง่ของจำนวนเงินบางครั้งมันอาจจะช่วยเยียวยาช่วยเหลือได้บางส่วนก็จริง แต่การชดเชยเยียวยา ไม่ควรไปมองแค่การกำหนดตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ แต่ควรดูว่า อายุ ครอบครัว ฐานะ กับสิ่งที่เขาจะมีจะได้ถ้ามีชีวิตอยู่เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ครอบครัวสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่ใช่มองว่าตามระเบียบ ตามเกณฑ์กำหนดไว้แค่นี้ ก็ชดเชยแค่นี้ ผมว่าเรื่องแบบนี้ไม่ถูกต้อง บ้านเราเรื่องความปลอดภัยเหมือนเป็นเรื่องที่ห่างไกลและเบาบางมาก ในขณะที่บ้านเราทุ่มงบประมาณเรื่องความปลอดภัยจำนวนมาก อย่างการให้สวมหมวกนิรภัย มีการรณรงค์ “คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” มันก็ถือเป็นการดีนะที่มีการรณรงค์และให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย แต่ถึงอย่างไรเทศกาลทีไรก็มีคนตาย คนบาดเจ็บไม่ต่ำกว่าพันราย ซึ่งนั่นเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันในการกำหนดมาตรการ โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทางราง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการขนส่งที่ปลอดภัยสูงสุด ถ้าหากเราสนับสนุนกันจริงจัง และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งกันทางรางในแง่เศรษฐกิจเราจะสูญเสียน้อยที่สุด การขนส่งบ้านเราถือว่าน่ากลัวนะ อย่างการใช้รถตู้ขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดจะมีคนขับรถเพียงแค่คนเดียวอย่างกรุงเทพฯ -หัวหิน หรือ กรุงเทพฯ – นครสวรรค์ แล้ววิ่งทำรอบกัน แล้วรถตู้เหล่านั้นก็ออกแบบใช่ว่าจะแน่นหนา พอเกิดอุบัติเหตุทีไรก็เกิดความสูญเสียที่ไม่คาดฝัน แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นมาพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะให้มันดีกว่าที่เป็นอยู่ องค์การอิสระผู้บริโภคจะมีประโยชน์ไหมต่อการพัฒนารถไฟไทยองค์การอิสระฯ ปัจจุบันมีหลายองค์กรนะ ผมคิดว่าต้องทำให้เกิดได้จริง ในแง่ของความเป็นอิสระ และเห็นด้วยในเชิงหลักการ แต่ก็ยังเป็นกังวลว่า ทำอย่างไรจะไม่ถูกครอบงำ จะไม่ถูกแทรกแซง แล้วประชาชนจะมีอิสระในการบริหารจัดการได้อย่างไร และองค์การอิสระฯ นี้จะมีอำนาจได้อย่างไร อย่างเช่น อุบัติเหตุที่เขาเต่า เราจะมีอำนาจบังคับการรถไฟได้อย่างไรว่า รถที่ไม่มีความปลอดภัยไม่ให้นำมาวิ่งรับส่งประชาชน ซึ่งอำนาจตรงนี้เรา(องค์การอิสระฯ)ต้องสามารถกำหนดได้ เมื่อตอนที่ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้นยื่นฟ้องศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและขอให้ศาลออกคำสั่งไม่ให้การรถไฟนำรถไม่ปลอดภัยออกมาวิ่งให้บริการกับผู้โดยสาร ศาลท่านบอกว่าในชั้นศาลแพ่งศาลไม่มีอำนาจในการบังคับได้ เพราะฉะนั้นองค์การอิสระฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องมีอำนาจในการสั่งการด้วยเพราะเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ไม่งั้นก็จะเหมือนองค์การอิสระอื่นๆ ที่ให้ความเห็น แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับและสั่งการ อีกอย่างคือ ต้องมีอำนาจในการบริหารจัดการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีอำนาจอะไรมาแทรกแซง ที่สำคัญคือต้องวางโครงสร้างดีๆ และต้องสร้างกระบวนการรับรู้ให้กับประชาชนด้วยจะได้เคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
สำหรับสมาชิก >ทุกคนมีสิทธิขอเกาะกระแสเรื่องเด่นฉบับนี้ พาทุกท่านไปพูดคุยกับ น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงแนวทางการทำงานคุ้มครองกันค่ะ พร้อมทั้งเลียบเคียงถามถึงองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเกิดในรัฐบาลนี้หรือไม่ นโยบายการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลที่ถือว่าเร่งด่วนคือเรื่องอะไร เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำจริงๆ ตอนนี้ก็คือการสร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคให้กว้างขึ้น บุคลากรเรามี 200 คน งบประมาณ 190 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างเครือข่ายในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า เครือข่ายการทำงานปัจจุบันก็มีเครือข่ายผู้บริโภคที่ทำงานกันด้วยใจ ถึงแม้จะมีหน่วยงานรัฐที่ตั้งขึ้นดูแลผู้บริโภคในระดับจังหวัด ในระดับอำเภอแล้วก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้นต้องมีการประสานกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ที่ทำงานภายใต้กฎหมายและอาจจะมีงบประมาณบางส่วนช่วยสนับสนุนในการทำงานลงไป เราเพิ่มคนไม่ได้ การขยายเครือข่ายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็น่าจะเป็นไปได้ ส่วนที่สองก็คือการสร้างทีมเฉพาะกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมา เพื่อหนุนเสริมทีมงานของ สคบ. อย่างทีมตำรวจหน่วยสืบสวนสอบสวน การร่วมเผยแพร่ข่าวกับสื่อมวลชน เพราะการเผยแพร่ข่าวก็ถือเป็นการปรามคนที่กำลังจะทำความผิด และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครู้ช่องทางการใช้สิทธิของตัวเองด้วย อีกส่วนที่สำคัญก็คือการพัฒนาระบบเอกสารเป็นระบบของเทคโนโลยีสาระสนเทศที่สามารถค้นข้อมูลได้ง่าย เพราะคนเราน้อยจะได้ทำงานได้เร็วขึ้น องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ไหม ต้องบอกว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายของประชาชน และกฎหมายก็เข้าถึงชั้นวุฒิสภาแล้ว ไม่ต้องย้อนกลับไปพิจารณาที่สภาผู้แทน ก็จะให้วุฒิสภาประชุมต่อเลย ถ้าหากมีการแก้ไขนิดหน่อยก็ผ่านเป็นกฎหมายออกมาได้เลย แต่ถ้ามีการแก้ไขมากก็ย้อนไปที่สภาผู้แทน แต่กฎหมายตัวนี้พิจารณาแน่นอน ฝากถึงประชาชนเรื่องการใช้สิทธิผู้บริโภค อยากให้ประชาชนรู้สิทธิและตระหนักถึงการใช้สิทธิของตัวเองในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เมื่อถูกละเมิด เมื่อใช้แล้วไม่เกิดผลก็ประสานงานร้องเรียนมาที่หน่วยงานเพื่อให้เกิดการแก้ไข ถ้าหากว่าเป็นไปได้จะเกิดเครือข่ายภาคประชาชนในการคุ้มครองสิทธิก็จะเป็นการดีมาก เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการทั้งเรื่องราคา เรื่องคุณภาพ ราคาแพงเกินไป คุณภาพไม่ได้มาตรฐานเราก็ไม่ซื้อ ดูสิว่าผู้ประกอบการจะอยู่ได้อย่างไร จริงไหม มันก็จะเป็นกลไกการตลาดที่ผู้บริโภคสามารถกำหนดคุณภาพสินค้าได้เลยนะ ******************************************** ผู้บริโภคต้องมีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล เพื่อให้เห็นภาพของปัญหาผู้บริโภคที่ต้องติดอาวุธทางความคิดและทางปัญหาให้กับตัวเอง อย่างสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล หญิงผู้ซึ่งกล้าฟ้องศาลเรียกความยุติธรรมจากบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากแดนปลาดิบ เธอยื่นฟ้องบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 , บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด ที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท -----------------------------------------------------------------------------------------------สุภาภรณ์ซื้อรถยนต์โตโยต้า รุ่นอินโนว่า เมื่อปี 2547 เพื่อขับรับส่งลูกๆ 3 คนไปโรงเรียน แต่หลังจากใช้รถได้ไม่นาน เธอรู้สึกว่า มีกลิ่นคล้ายกลิ่นจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้แจ้งกับพนักงานขายของบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด ก็ได้รับคำชี้แจงว่าเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเธอไม่เคยใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซลจึงไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นเรื่อง ปกติหรือไม่ จึงใช้รถยนต์ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 เธอใช้รถยนต์คันดังกล่าวครบระยะ 50,000 กิโลเมตร จึงได้นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด พร้อมแจ้งกับพนักงานว่า มีกลิ่นควันคล้ายกลิ่นท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร แต่แล้วก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกับพนักงานขายว่า เป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล พร้อมทั้งแนะนำให้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เธอจึงทำตามคำแนะนำ แต่กลิ่นก็ยังไม่หายไป และเริ่มมีคราบเขม่าเข้ามาในห้องโดยสาร วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2550 เธอจึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการของบริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด และได้ให้เจ้าหน้าที่เทคนิคของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด มาตรวจสอบโดยให้เธอทิ้งรถยนต์ไว้ เมื่อครบกำหนดรับรถพนักงานได้แก้ไขให้โดยเปลี่ยนช่องลมบังโคลน ซ้าย – ขวา และบอกกับเธอว่าสามารถนำรถไปใช้ได้อย่างสบายใจ แต่กลิ่นและคราบเขม่าดังกล่าวก็ยังไม่หายไป วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เธอจึงนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คกับศูนย์ฯ บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังตรวจเช็คแล้ว ผู้จัดการศูนย์ฯ บอกกับเธอว่าไม่เป็นไร เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เมื่อได้รับคำยืนยันว่า ‘เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล’ มาตลอด เธอเชื่อตามที่ผู้จัดการศูนย์ฯ บริษัทโตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด บอกว่า กลิ่นควันคล้ายท่อไอเสียดังกล่าวเป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จึงทนใช้รถยนต์เรื่อยมา และในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2552 เริ่มมีคราบเขม่าสีดำเข้ามาในห้องโดยสารเป็นจำนวนมาก สุภาภรณ์จึงนำรถเข้าตรวจสอบที่ศูนย์ฯของบริษัทโตโยต้าทีบีเอ็น จำกัด อีกครั้งพบว่า มีคราบเขม่าสีดำเข้ามาในห้องโดยสารจำนวนมากจริง พนักงานของบริษัทโตโยต้าทีบีเอ็น จำกัด จึงได้ถ่ายรูปแล้วแล้วส่งเรื่องไปยังบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด โดยปกปิดไม่ให้เธอรู้ เธอจึงเริ่มเอะใจว่าต้องมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2552 จึงได้มีการตรวจรถยนต์คันดังกล่าวร่วมกันระหว่าง ตัวแทนบริษัทบริษัท โตโยต้า ฯ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสุภาภรณ์ ทดสอบโดยขับรถยนต์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยตรวจสอบรถยนต์ 2 คันเปรียบเทียบพร้อมๆ กันคือรถยนต์คันของสุภาภรณ์ กับรถยนต์ยี่ห้อ...ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า ผลปรากฏว่า พบค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในห้องโดยสารรถยนต์คันของสุภาภรณ์สูงถึง 16 พีพีเอ็ม ส่วนรถยนต์ยี่ห้อ... ตรวจไม่พบก๊าซดังกล่าว เธอถึงบางอ้อถึงอาการผิดปกติของร่างกายทั้งในเรื่องระบบทางเดินหายใจ มีภาวะการหายใจลำบาก เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบบ่อยครั้ง มึนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มีอาการคล้ายจะเป็นลม แสบตา คันจมูก มีอาการคล้ายหัวใจเต้นผิดจังหวะมา จากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์นี่เอง เธอจึงหยุดใช้รถคันเจ้าปัญหาตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา!!! และถามการชดเชยจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด ซึ่งทางบริษัทฯ เสนอที่จะซ่อมรถให้เธอ แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปี ของการใช้บริการได้พิสูจน์บางอย่างให้สุภาภรณ์เห็นแล้วว่าไม่มีอะไรดีขึ้น เธอยื่นข้อเสนอที่จะขอเปลี่ยนรถคืนรถยนต์ แต่ทางบริษัทฯ ปฏิเสธข้อเรียกร้องและให้ทำตามที่บริษัทฯ เสนอจะดีกว่า ‘ถึงแม้ว่าจะไปร้องเรียนก็ไม่ระคายผิวบริษัทแม้แต่น้อย’ “ยอมรับว่าผิดหวังนะเราเชื่อในความเป็นโตโยต้ามาตลอด ซ่อมก็ซ่อมที่ศูนย์ของโตโยต้า ไม่เคยไปซ่อมที่อู่ไหนเลย แต่ดูเขาทำกับเราสิ” หลังจากนั้นได้ร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 แต่บริษัทฯ ก็ยังไม่ยอมชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น สุดท้ายเธอจึงยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท และศาลได้พิพากษา วันที่ 25 พ.ค. 2554 ให้จำเลยที่ 1 คือบริษัท โตโยต้า ธนบุรี และ จำเลยที่ 3 คือบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ รุ่นเดียวกับสุภาภรณ์ หรือไม่ก็ซื้อรถยนต์คันที่มีปัญหาคืน ในราคา 759,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี และบริษัทฯทั้งสองให้ร่วมจ่ายค่าเสียหายอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 ----------------------------------------------------------------------------------------------------- เราบริสุทธิ์ใจ “เรายื่นฟ้องก็เพื่อจะสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นกับสังคม พี่ว่ามันถึงเวลาแล้วนะที่ผู้บริโภคจะต้องมีองค์การอะไรสักอย่างขึ้นมาคุ้มครองให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ถึงแม้จะมีหน่วยงานอย่าง สคบ. แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ในเรื่องกระบวนการให้ความช่วยเหลือ ที่ทำมามันก็เหนื่อยนะที่ต้องสู้กับบริษัทใหญ่ แต่เราอยากจะบอกกับทุกคนเรื่องความถูกต้องและในการที่เราจะไปสู้กับบริษัทใหญ่อันดับแรกเราต้องบริสุทธิ์ใจก่อน แล้วก็ต้องคิดความเสียหายตามจริง ไม่ใช่คิดจะไปเอาเปรียบเขา ไม่ใช่คิดเอาแต่ได้ เรามองไปที่ความถูกต้อง ความเชื่อใจในบริษัทของเขา และเราทำตามมาตรฐานของเขามาโดยตลอด ทั้งการดูแล การประกันภัย พยายามทำตามมาตรฐานทุกอย่างเท่าที่ทำได้ น้ำมันเครื่องแม้แต่หยดเดียวก็ไม่เคยไปทำที่อื่น มีอะไรก็ใช้บริการศูนย์ของบริษัทฯ โดยตลอด แล้วพอมีความผิดพลาดเขากลับไม่รับผิดชอบ ไม่ได้ละมันต้องมีมาตรฐานความรับผิดชอบ รถยนต์ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญนะ การเรียกร้องให้ผู้ประกอบการออกเยียวยาแล้วต้องไปทุบรถให้เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ทุกครั้งๆ แล้วถึงจะออกมารับผิดชอบ มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเราใช่ไหม ก็ยอมรับว่าบ้านเรามีการพัฒนาอะไรหลายๆ อย่าง การเรียกร้องทางกฎหมายก็น่าจะเป็นทางออกในการสร้างบรรทัดฐานในการเยียวยาได้ ไม่ใช่ต้องทุบรถตลอดเวลาจริงไหม” การใช้สิทธิต้องแลกกับระยะเวลา ‘ถึงแม้ว่าจะไปร้องเรียนก็ไม่ระคายผิวบริษัทแม้แต่น้อย’ ถ้อยคำจากตัวแทนบริษัทกลายเป็นคำที่สร้างพลังให้สุภาภรณ์สู้สุดใจที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องรับผิดชอบ มันก็จริงอย่างที่เขาพูดนะ เพราะเวลาเราใช้สิทธิ เราต้องวุ่นทุกอย่างทั้งเอกสาร ทั้งเวลา ที่ต้องแลก ถามว่า 1 ปีที่ฟ้องศาลไปคุ้มไหม มันเทียบกันไม่ได้ แต่มันเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบ ก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไมบริษัทฯ ไม่ยอมรับความผิดพลาด ในต่างประเทศพอรถยนต์เกิดปัญหาเขาเรียกคืนรถยนต์เป็น "ล้านคัน" แล้วบริษัทฯ นั้นก็ยังขายรถรุ่นอื่นๆ ได้ กลับเป็นผลดีเสียอีกในการสร้างความเชื่อถือให้กับบริษัทฯ ว่ามีความรับผิดชอบ ผู้บริโภคก็จะบอกต่อๆ กันเอง โดยที่บริษัทฯ ไม่ต้องเสียค่าประชาสัมพันธ์แม้แต่บาทเดียวจริงไหม เราเดินถือเงินล้านบาทไปให้บริษัทฯ เพราะเราเชื่อและไว้ใจในบริษัทฯ แล้วจริงไหม เพราะฉะนั้นเมื่อสินค้าเกิดปัญหาผู้ประกอบการก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ อยากให้ทุกคนใช้สิทธินะคะแต่เราต้องมีความบริสุทธิ์นะ และอดทนในการใช้สิทธิเพราะต้องแลกด้วยระยะเวลา แต่สุดท้ายผลที่ออกมาจะช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้ผู้ประกอบการและสังคมเห็นความเปลี่ยนแปลง
สำหรับสมาชิก >“การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา...” คุณปภาวี รอดแก้ว วัย 49 ปี เป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เธอมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่ผลการรักษาทำให้ตาบอด ต่อมาภายหลังโรงพยาบาลฯ ได้ยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเธอจำนวนหนึ่ง ดวงตาที่เริ่มมองไม่เห็นคุณปภาวี มีอาการเจ็บป่วยทางสายตาทั้งสองข้าง จึงได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดรักษาจอประสาทตา ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องทำทั้งหมด 4 ครั้ง โดยทำการผ่าตัดจอประสาทตาขวาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ครั้ง เมื่อ 6 สิงหาคม 2552 ส่วนอีก 3 ครั้ง จำเป็นต้องย้ายไปทำการผ่าตัดจอประสาทตาซ้ายโดยแพทย์ของโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นคู่กรณี โดยเข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 4 มีนาคม, 4 เมษายน และ 28 เมษายน 2553 การผ่าตัดตาทั้งสองข้างนั้นคุณปภาวีทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์ เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนน้ำวุ้นในตาและอัดแก๊สไว้ นอนคว่ำนาน 1 เดือนครึ่งทุกครั้ง ซึ่งเธอบอกว่าได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เหมือนกันทุกครั้ง ผลการรักษาที่ได้รับคือ จอประสาทตาด้านขวากลับมามองเห็นได้ปกติหลังการผ่าตัด ส่วนตาข้างซ้ายหลังการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ตากลับมืดบอดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลย “ตอนเข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลแรกเพื่อรักษาตาข้างขวาพี่เริ่มมองไม่เห็นแล้วนะ ส่วนตาข้างขวายังพอมองเห็นอยู่หลังผ่าตัดเช้าวันรุ่งขึ้นคุณหมอเปิดผ้าปิดตา พี่เริ่มจะเห็นแสงแล้วนะ วันต่อมาก็เริ่มเห็นหน้าหมอ หมอเองก็ยังแปลกใจเลย วันต่อมาอาการก็ดีขึ้น จนมองเห็นเป็นปกติ ซึ่งมันต่างกันมากจากการผ่าตัดตาข้างซ้ายที่โรงพยาบาลอีกแห่ง เช้าวันรุ่งขึ้นนักศึกษาแพทย์ก็มาเปิดตาพี่แล้วก็ตรวจตาก่อนอาจารย์หมอจะมาตรวจ แต่ครั้งนี้พี่มองเห็นเป็นภาพขาวดำ หลังจากนั้นก็กลับไปพักฟื้นที่บ้านจังหวัดพิษณุโลก 1 เดือนให้หลังตาก็มองไม่เห็นอะไรเลย” เลือกเพราะวางใจ คุณปภาวีบอกว่า เหตุที่มาเข้ารับการรักษาที่ ร.พ. อีกแห่ง ก็เพราะโรงพยาบาลแรกนั้น เครื่องยิงเลเซอร์เสีย แพทย์เจ้าของไข้จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ไปรักษาต่อที่อื่น “มาที่โรงพยาบาลนี้เพราะใกล้กับโรงพยาบาลแรก และเชื่อมั่นว่าแพทย์คงจะชำนาญในการรักษาเช่นเดียวกัน แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามทั้งที่ทำการผ่าตัดรักษาเหมือนกัน แต่แพทย์ก็เข้ามาชี้แจงว่า ตำแหน่งจอตาฉีกขาดนั้นต่างกัน คือตาขวาเป็นด้านบนจะติดง่ายกว่า ส่วนตาซ้ายเป็นด้านล่าง” คุณปภาวีซึ่งมีอาชีพเป็นพยาบาล เธอมีข้อสังเกตหลายอย่างที่ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่า โรงพยาบาลคู่กรณีอาจมีข้อบกพร่องในขั้นตอนการรักษา เธอบอกว่า “ผ่าตัดครั้งแรกกับนายแพทย์....... ซึ่งพี่ก็ไม่ทราบว่ามีความชำนาญพร้อมเพียงพอที่จะทำการรักษาหรือไม่ เพราะได้ยินพยาบาลห้องผ่าตัดพูดกับแพทย์คนนี้ว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอ..... อีกเดือนเดียวก็จะจบแล้ว เราฟังแล้วก็เอ๊ะทำไมพูดแบบนี้ แล้วการผ่าตัด(ตาข้างซ้าย)ครั้งแรก ใช้เวลานานมากคือ 3 ชั่วโมงกว่า (ขณะที่ร.พ.แรกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) มันปวดมากจนต้องขอฉีดยาชาเพิ่มเพราะมันหมดฤทธิ์ยาชา เราไม่ได้สลบนะ ก็จะได้ยินทุกอย่างที่ทั้งหมอและพยาบาลคุยกันในห้องผ่าตัด เราก็จะรู้” เธอย้อนบอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งวัดดวงกับการผ่าตัดครั้งนั้น หลังรู้ผลการผ่าตัดตาข้างซ้ายของตนว่า “ตาบอด” ปภาวี จึงได้ไปตรวจที่ ร.พ.ศิริราช จักษุแพทย์ได้บอกกับเธอว่า ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะจอประสาทตาเป็นแผลเป็น ลักษณะก้อนแข็งกลม ถ้าหากว่าแผ่เป็นแผ่นบางๆ ก็อาจจะช่วยรักษาได้บ้าง ที่เป็นอย่างนั้นแพทย์บอกว่ามันเป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นได้ ร้องเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ“เราก็ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับเรา ก็เลยทำบันทึกข้อความร้องเรียนไว้ที่สำนักผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต่อมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ก็เรียกเข้าไปคุยบอกว่า “โรงพยาบาลไม่มีนโยบายจะจ่ายเงินชดเชย เพราะท่านเองไม่มีอำนาจ ได้แต่บอกว่า จะช่วยผ่าตัดตาขวาซึ่งมีต้อกระจกให้ เรารีบปฏิเสธเลย ผ่ามา 3 ครั้งยังไม่ดีขึ้นเลย แล้วการที่เราตาบอดมันส่งกระทบกับเรามากทั้งครอบครัว ทั้งการงานของเราด้วยเนื่องจากจะไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษในอาชีพของตนเองจากที่เคยได้ รับเดือนละ 2,000 บาท ตาที่มองไม่ชัดทำให้ทำคลอดไม่ได้ เย็บแผลไม่ได้ ทำหัตถการต่างๆ ไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ช่วยสรุปเขียนแฟ้มประวัติผู้ป่วยกลับบ้าน ส่งแฟ้มคืนห้องบัตร ทำเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ มากกว่า คืนมันเปลี่ยนไปหมดเลย” เธอจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังศูนย์ฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำจดหมายขอเข้าพบเพื่อรับทราบคำชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 และในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ผู้บริหารของโรงพยาบาลจึงได้นัดเจรจากับคุณปภาวีพร้อมครอบครัว โรงพยาบาลยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น 278,500 บาท ประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าสูญเสียรายได้ ตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา “การเยียวยาของโรงพยาบาลก็ถือเป็นการดี แต่เป็นการเยียวยาในระยะสั้น อยากให้ทางโรงพยาบาลได้เฝ้าระวัง การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา และอยากจะให้เรื่องของดิฉันเป็นตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เตือนใจทั้งแพทย์และการแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก อยากจะฝากบอกถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ด้วยว่า เมื่อได้รับความเสียหายก็ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธิอย่าเงียบเฉยๆ หรือจะร้องเรียนที่โรงพยาบาลก็ได้เพราะในแต่ละโรงพยาบาลก็มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนแล้ว” คุณปภาวีกล่าว
สำหรับสมาชิก >หลังเก็บเงินมากว่าครึ่งชีวิต “ธวัชชัย ฤทธิ์มนตรี” ก็ทุ่มเงินก่อนซื้อบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นที่หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน สมุทรปราการ โดยหวังสร้างครอบครัวอบอุ่น เล็กๆ ในฐานะผู้นำครอบครัว ไม่ต่างจากพระเอกในภาพยนตร์เรื่องลัดดาแลนด์ ครั้นอยู่มาเพียงแค่ 3 ปี ทุกอย่างที่เขาทุ่มเททำมาก็พลันมลายลงใน ราวๆ เวลา 21.00 น. ของคืนวันที่ 10 กันยายน 2553 “คืนนั้นมีเสียงดังสนั่นตั้งแต่หลังคา ฝ้าเพดาน ผนังห้อง พื้นห้อง ทรุดตัวแตกร้าวตามจุดต่างๆ มันน่ากลัวมาก” ธวัชชัย บอกเล่ากับทีมฉลาดซื้อ เช้าวันรุ่งขึ้นเขาและเพื่อนบ้านในทรัพย์ยั่งยืน ซอย 22 และ 24 รีบเข้าแจ้งความกับตำรวจให้เข้าไปตรวจสอบ บ้านทั้ง 16 หลังซึ่งสร้างเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ลักษณะหันหลังชนกัน ซึ่งกลายเป็นข่าวดังขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2553 ในเนื้อข่าวให้รายละเอียดไว้ว่า ‘หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน ก่อสร้างเสร็จเมื่อ 5 ปีก่อน มีทั้งหมด 450 หลัง เดิมพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลา ดินจึงอาจทรุดตัว’ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ จึงประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในวันที่ 14 ก.ย. 53 สำนักงานเทศบาลตำบลบางเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ได้ระดมความช่วยเหลือให้กับชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน โดยนำเต๊นท์กางเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว พร้อมมอบเงินช่วยเหลือหลังคาเรือนละ 20,000 บาท ด้านบริษัท ส.มณีสิน วิลล่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบโครงการหมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน ให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น 30,000 บาท หลังการไกล่เกลี่ยจึงให้เพิ่มเป็นเงิน 200,000 บาท กับบ้านที่เสียหาย 16 หลังคาเรือนและไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดอีก โดยให้เหตุผลว่า บริษัทฯ ก่อสร้างตามมาตรฐานของแบบแปลนที่ฝ่ายโยธาธิการกำหนดไว้แล้ว จากวันผ่านเป็นเดือน เต๊นท์หลังเดิมยังถูกกางไว้หน้าบ้านของธวัชชัย ข้าวของในบ้านถูกทยอยขนออกไปอยู่บ้านเช่าทีละชิ้นสองชิ้น หลงเหลือไว้เพียงความฝันของธวัชชัยที่คลุ้งอยู่เต็มทุกอณูของบ้านที่แตกร้าว ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาคุณผู้อ่าน ไปพูดคุยกับธวัชชัยและเพื่อนบ้าน ที่เฝ้ารอวันตื่นจากฝันร้าย เงินที่ได้รับบริจาคมามันหมดไปนานแล้วครับ ก็คิดหาทางต่อสู้กันต่อว่าจะอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปต่อสู้ ก็ระดมทุนเก็บเงิน เก็บอาทิตย์ละ 100 บาทจาก 16 หลัง เพื่อเป็นกองทุนในการวิ่งเต้นเรื่อง อย่างค่าถ่ายเอกสาร ค่าประสานงาน ในการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เพราะวันข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น…แต่นี้เราถือว่าเราเกิด “อุบัติเหตุชีวิต” ร่วมกัน บ้านในฝัน(ร้าย) ธวัชชัย ฤทธิ์มนตรี เลือกซื้อบ้านหลังนี้จากโฆษณาโครงการฯ ที่ดูดี ที่สำคัญเขาตัดสินเลือกเพราะว่าโครงการฯ นี้เหมาะกับการเดินทางเรื่องงานและอยู่ติดกรุงเทพฯ แต่เขาลืมคิดไป(จริงๆ เรียกว่า คาดไม่ถึงมากกว่า) ว่าโครงการฯ นี้ใกล้แม่น้ำ ทำให้มันกลายมาเป็นปัญหาการทรุดตัวของบ้าน “ก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ บ้านมีประกันอัคคีภัย แต่ไม่คิดว่ามันจะทรุด ก่อนซื้อเราก็ดูแล้วว่าโครงการฯ นี้เป็นโครงการใหญ่ แต่อยู่ๆ ไปเข้าปีที่ 4 บ้านก็ทรุด” (โครงการใหญ่ตามคำนิยามของธวัชชัยก็คือมีทั้งหมด 450 หลัง) ตั้งแต่วันเกิดเหตุนั้น ธวัชชัย พาครอบครัวออกจากบ้านในฝันราคากว่า 1 ล้านบาท ไปเช่าบ้านเดือนละ 5,000 บาทเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังคงต้องผ่อนบ้าน “ทรุด” หลังนั้นอีกเดือนละ 7,000 บาท ตามภาระผูกพันกับธนาคาร ไม่เช่นนั้นก็จะต้องถูกยึดบ้าน “ตอนเกิดปัญหาหน่วยงานราชการก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทั้งนำเต๊นท์มากาง นำอาหารมาให้ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามารับผิดชอบและแก้ไขปัญหานี้ ผ่านไป 9 เดือนแล้ว ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ก็ต้องวนกลับมาที่พวกผมล่ะว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เงินที่ได้รับบริจาคมามันหมดไปนานแล้วครับ ก็คิดหาทางต่อสู้กันต่อว่าจะอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปต่อสู้ ก็ระดมทุนเก็บเงินเก็บอาทิตย์ละ 100 บาทจาก 16 หลัง เพื่อเป็นกองทุนในการวิ่งเต้นเรื่อง อย่างค่าถ่ายเอกสาร ค่าประสานงาน ในการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เพราะวันข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องกันเงินส่วนนี้ไว้ก่อน อย่างน้อยๆ มันก็ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคนไว้ให้รวมกันเป็นกลุ่ม อยู่กันแบบพี่แบบน้อง แต่นี้เราถือว่าเราเกิด “อุบัติเหตุชีวิต” ร่วมกัน ผมยืนยันที่จะสู้ต่อไปกับเพื่อนบ้าน เพราะผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าความยุติธรรมมันอยู่ตรงไหน ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ตอนนี้ผมยังหาความยุติธรรมไม่ได้” ธวัชชัยหวังไว้ว่าความยุติธรรมที่เขาตามหาอยู่จะช่วยซ่อมผนังบ้านที่ปริแตก แยกตัวออกเป็นชิ้นๆ ช่วยซ่อมพื้นห้องครัวที่ทรุดลงไปเป็นฟุตๆ ช่วยซ่อมผนังในครัวที่แยกตัวออกจากกันจนเดินเข้าออกได้ ฝ้าเพดานพังลงมาทั้งหลัง ไม่สามารถจะมีพื้นที่ไหนที่จะซุกตัวอยู่ได้ บ้านหลังแรก แตกเป็นชิ้นสามารถ คารพุทธา พ่อบ้านอีกรายที่ตกลงใจซื้อบ้านหลังแรกของชีวิตที่หมู่บ้านนี้ ในราคา 890,000 บาท ขนาดพื้นที่ 16 ตารางวา “การอยู่การกินของเราลำบากครับ ผมทำงานรับจ้างตอนแรกก็ไปเช่าห้องอยู่ข้างนอก แต่ทนค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะต้องเช่าถึง 2 ห้อง ห้องละ 1,500 บาทต่อเดือน ห้องหนึ่งก็ไว้เก็บข้าวของในบ้าน อีกห้องก็เอาไว้นอน สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับเข้ามาอยู่ในบ้าน(แบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน) ก็คิดนะว่ามันคงไม่พังลงมาทีเดียวหรอกมั้ง แต่ก็เช่าอีกห้องไว้เก็บของ” ครอบครัวของสามารถมีด้วยกัน 4 คน พวกเขาต้องจัดการชีวิตใหม่ โดยให้ลูกคนเล็กไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย เขาและภรรยาอยู่กับลูกชายวัย 17 ปี ซึ่งจำต้องอยู่ต่อ เนื่องจากขณะนี้เรียนอยู่โรงเรียนใกล้บ้าน แล้วก็เช่นเดียวกับธวัชชัย สามารถยังต้องผ่อนบ้านอีกเดือนละ 6,700 บาท บ้านที่เขาเองก็ไม่รู้ว่ามันจะพังเมื่อไร บ้านของสามารถดูภายนอกจะเหมือนไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่ครั้นพอเดินผ่านประตูบ้านที่ปิดไม่สนิทเข้าไปในตัวบ้าน บานหน้าต่างที่บูดเบี้ยว เตียงนอนวางอยู่กลางห้องโถงชั้นล่างมีสายมุ้งมัด 4 ด้าน พื้นบ้านเอียงลาดไปด้านหลังบ้าน ฝาผนังมีรอยปูนแตกประดับประดาแทนภาพประดับบ้านทั่วไป ห้องครัวหลังบ้านพื้นยุบตัวลงไปเป็นคืบ ผนังแตกร้าว ชั้นสองห้องนอนด้านหน้าบ้านฝ้าเพดานพังลงมาหมดแล้ว ห้องนอนหลังบ้านซึ่งเป็นห้องนอนของลูกชาย หน้าต่างบิดเบี้ยวผิดรูป ฝ้าเพดาน มีรอยน้ำรั่ว “ช่วงที่ฝนตก จะทรมานมากครับ เพราะต้องคอยรองน้ำที่ไหลลงมาจากรอยรั่วที่หลังคา ไม่งั้นก็จะเอ่อท่วมทั้งบ้าน เวลานอนก็กังวลครับ ไม่เคยหลับอย่างเป็นสุข เพราะไม่รู้ว่ามันจะมีการยุบตัวอีกเมื่อไร ยิ่งฟ้าร้องนี้ก็ระแวงครับว่าเสียงบ้านทรุดหรือเปล่า คืนไหนที่ฝนตกจึงเป็นอีกคืนที่ไม่ค่อยได้นอน อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้ครับ เวลาเห็นสื่อมวลชนเข้ามาทำข่าว ยอมรับว่าดีใจครับ อย่างน้อยก็มีคนที่จะส่งผ่านเรื่องราวของพวกเราไปถึงหน่วยงานราชการให้เข้ามาแก้ปัญหา” ความรู้สึกที่ไม่อาจเยียวยากัญญภัค โคตรพัฒน์ เป็นอีกคนที่บ้านหลังนี้คือความหวังทุกอย่างของเธอ เงินที่เก็บมากว่าครึ่งชีวิตก็ทุ่มไปกับบ้านหลังนี้ ครั้นบ้านที่สู้อุตส่าห์ลงทุนลงแรงมาทรุดลง ความรู้สึกของเธอก็แตกร้าวทรุดตัวลงเช่นกัน “ผิดหวังมาก คือเราซื้อบ้านเราก็หวังที่จะมีความสุข แต่มันไม่ใช่ มันสับสนนะ มันเหนื่อยอยู่ข้างในมัน...” เราต้องปล่อยให้เธอสงบใจสักพัก เมื่อเห็นน้ำตาที่รื้นขึ้นมา เวลากลางวันกัญญภัคมาทำงาน มาเย็บผ้าที่บ้าน เพราะเป็นห่วงข้าวของที่ยังเก็บไว้ที่บ้านส่วนหนึ่ง เวลากลางคืนก็อยู่ที่ห้องพักที่สำนักงานขายหมู่บ้านปันพื้นที่บางส่วนให้ครอบครัวของเธออยู่ โดยช่วยจ่ายค่าน้ำค่าไฟรวมเดือนละ 1,000 บาท ครอบครัวของกัญญภัค มีด้วยกัน 4 คน และยังต้องผ่อนบ้านอีกเดือนละ 5,500 บาทกับธนาคาร ความช่วยเหลือไม่มาก แต่อย่าให้น้อย ตั้งแต่เกิดเรื่องราว “ธวัชชัย” และเพื่อนบ้านก็ไม่ได้นิ่งเฉย หลังจากไม่สามารถตกลงกันได้กับบริษัท ส. มณีสิน วิลล่า จำกัด ที่มีสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย หลังใช้เวลาไกล่เกลี่ย 3 ครั้งใช้เวลา 3 เดือน วันที่ 14 ม.ค. 2554 สำนักงานจังหวัดฯ จึงส่งเรื่องต่อไปที่สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสมุทรปราการ พิจารณาดำเนินคดีกับบริษัทฯ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายกับธวัชชัยและเพื่อนบ้านผู้เดือดร้อน “จะให้เราไปฟ้องร้องเองก็ไม่ไหว เพราะเงินก็ไม่มี ก็ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก เจตนาของเราก็คือต้องการไกล่เกลี่ย คือเรามาซื้อบ้านเราก็ไม่ได้ไปคดโกงใครมานะ เราเก็บเงินจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเรา พอได้มาก็คิดว่าทุกอย่างคงสมบูรณ์ แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผู้ประกอบการไม่รับผิดชอบช่วยเหลืออะไร ซึ่งเขาควรจะรับผิดชอบ ก็ขอให้มีหน่วยงานไหนสักแห่งที่เข้ามาลงโทษเอาผิดกับเขาได้บ้าง ถึงที่สุดจริงๆ ก็ต้องต่อสู้ต่อไปล่ะครับ แต่จะช้าจะเร็ว ก็ต้องดูกันไป” สุดท้ายธวัชชัยฝากบอกว่า “เวลาจะซื้อบ้านอยากให้มองไปถึงเรื่องความรับผิดชอบของผู้ประกอบการด้วย เพราะเราไปวิเคราะห์ที่โครงสร้างภายในไม่ได้ ก็อยากให้เรื่องของพวกผมเป็นบทเรียนให้ทุกคน” สถานการณ์ปัจจุบัน หลังเรื่องเข้าไปที่ สคบ.แล้ว จากการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. มีมติที่จะดำเนินการฟ้องแทนผู้บริโภค ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกรณีความชำรุดของโครงสร้างก็จะมีหน่วยงานมาช่วยพิสูจน์ให้ ความคืบหน้าจะรายงานต่อไปค่ะ
สำหรับสมาชิก >“นักศึกษาร้อง ‘เอแบค’ เปลี่ยนหลักสูตรไม่บอก” “‘เอแบค’แจงหลักสูตรดนตรีได้มาตรฐาน” “นศ.คณะดนตรี ม.เอแบค ร้อง สกอ.เยียวยา 21 ล้าน” พาดหัวข่าวโต้ตอบดุเดือดระหว่างนักศึกษาและมหาลัยชื่อดังในช่วงปลายปี 2553 และต้นปี 2554 หลายคนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้นักศึกษาลุกขึ้นมาเรียกร้อง เราขอพาท่านผู้อ่านมาพบกับ ณัฏฐา ธวัชวิบูลย์ผล นักศึกษาผู้เป็นต้นเรื่องนี้ค่ะ--------------------------------------------------------------------------------------------------- สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือ ABAC ได้มีการเปลี่ยนแปลงหสักสูตรคณะดนตรี จากเดิม 4 สาขาวิชา นั่นคือ 1. Music Performance 2.Professional Music 3.Contemporary Music Performance 4. Contemporary Music Writing and Production เป็น 2 สาขาวิชาคือ 1.Music Business 2.Music Performance ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 โดยไม่แจ้งนักศึกษาให้ทราบล่วงหน้าเลย และจะเป็นอย่างไรถ้าในขณะนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรที่ยังมีนักศึกษาหลักสูตรเดิมเรียนอยู่ด้วย และไม่สามารถเทียบโอนบางรายวิชาได้ --------------------------------------------------------------------------------------------------- ความฝันฝันค่ะ ฝันไว้ตั้งแต่ ม.4 แล้วว่าจะเลือกเรียนดนตรีคลาสสิก กะไว้ว่าจะเข้า มหิดลแต่ว่าเข้าไม่ได้ จนจบ ม.6 ก็เอาละ จริงๆ ใจเราก็ไม่ได้รักคลาสสิกมาก แต่เราอยากเล่นดนตรีมากกว่า แล้วเห็นพี่สาวเข้าเรียนแจ๊ส พอมาเจอดนตรีแจ๊ส หลักสูตรดนตรีของมหาวิทยาลัยเอแบค ก็สนใจ ดูแล้วจบมามีงานทำแน่นอน ก็ฝันนะคะเพราะถ้าจบมาเราก็ทำได้หลายอย่างทั้งเพอร์ฟอร์มเมอร์ นักแต่งเพลง คือเราฝันที่จะมีชีวิตที่เดินบนเส้นทางของดนตรี ฝันมลายทั้งที่เพิ่งวางโครงสร้าง จนปี 2551 ความฝันของ “ณัฐฏา” ก็พังคลืนลงไม่เป็นท่า เมื่อมหาลัยเอแบค ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรดนตรีที่เธอเรียนอยู่ ตอนปี 2 เทอม 1 นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงระหว่างปรับเปลี่ยนหลักสูตรยังจะต้อง เรียนเพิ่มในบางรายวิชา ตัวอย่างเช่น จากหลักสูตรเดิม Contemporary Music Performance ปี 2548 นักศึกษาเรียน 142 หน่วยกิต แต่หลักสูตรใหม่ Music Performance ปี 2551จะต้องเรียนเพิ่มเป็น 158 หน่วยกิต บางรายวิชาที่เทียบโอนไม่ได้ ทำให้ผู้ปกครองจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีก 16 หน่วยกิต หน่วยกิตละ 1,600 บาทโดยประมาณ (อัตราไม่เท่ากันทุกรายวิชา) เป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นโดยประมาณ 25,600 บาท ถ้าเป็นวิชาในคณะหน่วยกิตละ 2,000 หรือ 2,500 บาท เฉลี่ยค่าเทอมแล้ว เทอมละ 75,000 บาท “อยู่ดี ๆ ก็ปรับเปลี่ยนหลักสูตร แล้วตัดวิชาที่สำคัญในการเรียนคณะนี้ออกไป ซึ่งถ้าไม่ได้เรียนแล้วฝีมือตกต่ำแน่นอน อย่างวิชารวมวง (Ensemble) ซึ่งวิชานี้เป็นการเตรียมความพร้อมกับนักศึกษา Music Performance ไปสู่การลงวิชาการแสดงคอนเสิร์ตก่อนจบการศึกษา แต่เขาก็ตัดวิชาสำคัญตรงนี้ออกไป อีกตัวอย่างก็คือ สาขา Song Writing กลุ่มวิชาเอกบังคับ ในหลักสูตรปี พ.ศ. 2551 มีวิชาเกี่ยวกับการเขียนเพลงเพียง 2 วิชา เมื่อเทียบกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอื่นมีวิชาการเขียนเพลงถึง 6 – 8 วิชาด้วยกัน รวมทั้งนำวิชาอื่นไม่เกี่ยวข้องมาใส่ และในกลุ่มวิชาบังคับของหลักสูตรใหม่ ก็ไม่มีการเปิดสอนวิชาเขียนเพลง แต่ก็ควรจะมีวิชาที่เทียบเท่ากันได้อย่าง Introduction to Film Scoring ,Writing and Production Techniques in Pop/Rock Idioms,Contemporary Arranging for String ถึงแม้จะมีวิชา Lyrics Writing ในหลักสูตรใหม่ก็ไม่เคยเปิดสอน ปัจจัยเกื้อหนุนก็ไม่พร้อม อย่างห้องซ้อมดนตรีก็มีเครื่องดนตรีไม่ครบ ทั้งที่ประกาศในสัญญาแล้วว่าต้องมีจำนวนเท่าไร มีอะไรบ้าง ถ้ามองในมุมมองของนักศึกษาอย่างหนูก็คือ ‘คณะมันไม่พร้อมที่จะเปิดตั้งแต่ต้น’ จากแต่ก่อนเราคิดว่าเราจบจากที่นี่อนาคตเราดีแน่นอน แต่ว่าเขาเปลี่ยนหมดเลย” อย่าคิดเพียงว่าปล่อยให้มันผ่านๆ ไป ไม่ใช่ปล่อยเรื่องให้ยอมๆ กันไปแล้วก็จบมันไม่ใช่ ถ้าเราปล่อย เขาก็จะไปทำกับคนอื่นอีก เพราะเรื่องการศึกษามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ลุกขึ้นมาสู้ เธอยอมรับว่าช่วงแรกๆ ก็งงว่าจะทำอย่างไร เริ่มคุยกับรุ่นพี่ ปรึกษาอาจารย์ว่าควรทำอย่างไร แล้วก็เริ่มถามตัวเองว่าชีวิตจะไปต่ออย่างไร เพราะวิชาสำคัญๆ ที่ต้องเรียน และต้องใช้ประกอบอาชีพถูกตัดออกไป “ต้องมาเรียนวิชาการแสดง เราก็คิดว่าจบออกไปแล้วก็คงไม่ได้อะไร พยายามปรับตัวเอง ให้หันไปแต่งเพลงดีไหม แต่พอจะมุ่งมาทางการแต่งเพลงจริงๆ ก็มีวิชาการแต่งเพลงเพียงไม่กี่ตัวให้เรียน ‘เหมือนเขาจะสอนเป็ด ทั้งสอนว่ายน้ำ ทั้งสอนบิน แต่ก็ไม่ได้อะไรสักอย่าง’” เธอกับเพื่อนร่วมคณะจำนวนหนึ่ง เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปีการศึกษาที่ 2 ของภาคเรียนที่ 2 พ.ศ. 2551 จนถึงล่าสุดวันที่ 20 มกราคม 2553 รวม 11 ครั้งในระยะเวลา 3 ปี จึงเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภควันที่ 24 ธันวาคม 2553 และเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ยื่นข้อเรียกร้องช่วย 3 ประเด็น 1)ให้มหาวิทยาลัยฯ คืนเงินชดเชยค่าลงทะเบียน และค่าขาดโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษา 2) ต้องการให้ปรับปรุงคณะดนตรี อุปกรณ์การเรียนการสอน และจัดอาจารย์สอนให้ตรงกับสาขาวิชา และ 3) ต้องการให้ สกอ.ประสานมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่นักศึกษาคณะดนตรี เอแบค ต้องการย้ายไปเรียน ซึ่งเบื้องต้น สกอ.รับปากจะช่วยไกล่เกลี่ยให้ “การที่หนูออกมาเรียกร้อง เพราะได้เข้าพบผู้บริหารในเดือนพฤศจิกายน 2553 แล้วเขาบอกว่า ‘ถ้าไม่พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ก็ให้ย้ายออกไปเรียนที่อื่น’ การออกมาเรียกร้องของพวกหนูก็ได้รับเพียงคำชี้แจงจากผู้บริหาร มากกว่าจะเป็นการแก้ไข แล้วยังว่าพวกหนูอีกว่าจะเรียกร้องอะไรกันมากมาย อยากให้เขารับผิดชอบและทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เรื่องแรกก็คือเขาจะรับผิดชอบอย่างไรกับชีวิตคนๆหนึ่ง เพราะเขาทำให้ชีวิตเด็กเสียหาย ถ้านับเป็นชีวิตก็ทั้งคณะนะคะ บางคนก็ไม่กล้าออกมาเรียกร้อง จะมีบางกลุ่มอย่างพวกหนูที่กล้าออกมาเรียกร้อง และอีกกลุ่มก็คือพ่อแม่ไม่อยากให้ยุ่ง อย่างที่สองที่ต้องรับผิดชอบก็คือค่าหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียนไป ซึ่งทางมหาลัยฯ ก็ต้องชดเชยเช่นกัน ซึ่งหากทางมหาวิทยาลัยยังเงียบ ไม่ยอมเจรจาด้วย คุยๆ กับเพื่อนไว้ค่ะว่าก็ต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เพราะอย่างน้อยก็ต้องมีใครเข้ามารับผิดชอบต่อเรื่องนี้ อยากให้คนที่พบกรณีแบบเดียวกันนี้รักษาสิทธิของตัวเอง อย่าคิดเพียงว่าปล่อยให้มันผ่านๆ ไป ไม่ใช่ปล่อยเรื่องให้ยอมๆ กันไปแล้วก็จบมันไม่ใช่ ถ้าเราปล่อย เขาก็จะไปทำกับคนอื่นอีก เพราะเรื่องการศึกษามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ” ฝันเปลี่ยนแต่รักดนตรีไม่เปลี่ยนณัฎฐาเองยังคงหวังที่เดินบนถนนดนตรี จึงหวังจะย้ายเข้าไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเรียนสายดนตรี แต่เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีปาฏิหาริย์ทุกคน เธอไม่สามารถเข้าเรียนต่อที่นี่ได้ เพราะเทียบโอนได้บางวิชาเท่านั้น บางรายวิชาต้องไปเรียนใหม่ตั้งแต่ปี 1 เรียนได้เทอมละ 1 วิชาเท่านั้น จึงไม่ต่างกับการเข้าเรียนใหม่ตั้งแต่ปี 1 “เหมือนเราไปนับหนึ่งใหม่ในเส้นทางที่เราเดินมาแล้ว พอปรึกษากับพ่อ พ่อก็แนะนำให้ไปเรียนในอีกสาขาหนึ่งในสิ่งที่ชอบเท่ากันก็คือการครัว สุดท้ายก็ย้ายมาเรียนการครัว แต่ใจก็ยังรักดนตรีนะคะ” หลังติดต่อหาที่เรียนเป็นที่เรียบร้อยที่ วิทยาลัยดุสิตธานี ในภาควิชาอุตสาหกรรมการบริหาร เธอยื่นจดหมายลาออกจากการเป็นนักศึกษาปี 4 ของมหาวิทยาลัยเอแบค วันที่ 11 พ.ค. 2554 ณัฐฎากลายเป็นนักศึกษาปี 1 อีกครั้ง โดยเริ่มเรียนปรับพื้นฐานวันที่ 16 เม.ย. 54 ก่อนจะเปิดเทอมในเดือน มิ.ย. “เป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เหมือนเรามีหวังกับที่ใหม่ เป็นอีกทางที่เราเลือก พ่อเค้าก็อยากให้หนูได้สิ่งที่ดีที่สุด คืออย่างเอแบคเทอมละ 70,000 บาท สำหรับหนูถือว่าแพงแล้ว แต่พอต้องมานับหนึ่งใหม่ในอีกที่เรียนหนึ่งตกปีละ 300,000 บาท พ่อต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นก็เห็นใจพ่อนะคะ ปัจจุบันก็ต้องวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งครอบครัวและของตัวเอง อะไรที่ไม่จำเป็นละได้ก็ละ พ่อกับแม่บอกว่า ‘เงินก้อนสุดท้ายแล้วนะลูก’ ฟังแล้วสะอึก เราทำให้เขาผิดหวังไม่ได้ จบมาแล้วต้องคืนทุนอย่างรวดเร็ว” อนาคตเชฟสาวผู้มีหัวใจรักดนตรีพูดทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติม >รัศมี เผ่าเหลืองทอง นักเขียน นักแปล ผู้กำกับ ที่หลายคนรู้จักในนาม คณะละคร สองแปดนักเขียนบท มือรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีหรือ ตุ๊กตาทอง บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2528 จากเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม พ.ศ. 2534 จาก วิถีคนกล้าโดยมีประโยคเด็ดที่เป็นจั่วหัวของเรื่องคือ "ทำให้คนอื่นกลัว ทำให้ไม่กลัวคนอื่น” ประโยคนี้อาจจะเป็นประโยคต้นแบบที่ให้ความหมายเหมาะสมกับคนใน“ วิถี ”แห่งยุคการบริโภคสื่อ อย่างในปัจจุบันก็ได้ เมื่อครึ่งหนึ่งของชีวิตประจำมีโฆษณา ถ้าพูดถึงอิทธิพลของสื่อ “โฆษณา” จะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นชัดเจนมากที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตคน การทำโฆษณามันเป็นการพยายามที่จะทำให้คนอยากได้ พอเราไปเห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ ตอนปี 2533 ช่วงที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องวิถีคนกล้า (ภาพยนตร์วิถีคนกล้าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2534 กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ชื่อเรื่องเดียวกันของ มาลา คำจันทร์ และเขียนบทภาพยนตร์โดย อ.รัศมี เผ่าเหลืองทอง) ต้องเดินทางไปบนดอย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรถเข้าไม่ถึงนะ ก็ได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนที่เป็นนายอำเภอว่าชาวเขาได้ดูทีวี ซึ่งการที่จะดูทีวีได้ต้องใช้ไฟเสียบจากแบตเตอรี่รถยนต์ แล้วทีนี้พอลงดอยเข้าเมืองไปซื้อของใช้ก็จะบอกกับร้านค้าว่า “เอารีจ้อยส์ขวดนึง” นึกภาพออกเลยว่าเขาคงเห็นภาพผมพลิ้ว สลวย หอม แน่นอนละเขาต้องอยากเป็นแบบนั้น พอเข้าเมืองก็ซื้อทันที เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นภาพชัดมากในสิ่งที่สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ทำกับคนดู การทำโฆษณา 1 ชิ้นมีงบประมาณเยอะมากทั้งการใช้ดารา ใช้ซูเปอร์สตาร์ของประเทศมาโฆษณา ค่าตัวกี่ล้านบาท ไหนจะค่าการผลิตอีกรวมแล้วก็ไม่น่าต่ำกว่า 20 ล้าน เพื่อโฆษณาลูกอมขาย 2 เม็ดบาท 3 เม็ดบาท เขาต้องขายให้ได้มากเท่าไรเพื่อที่จะคุ้มทุน และภาพโฆษณามันก็จะฝังเข้าไปเป็นค่านิยมของคนโดยไม่รู้ตัว ถูกกระตุ้นให้เกิดความยาก ต้องซื้อ ต้องใช้ เพื่อให้เหมือนกับคนอื่นๆ จะได้ไม่ตกยุค เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งตรงนี้เองเป็นเรื่องที่น่ากลัว ในต่างประเทศการทำโฆษณามีจริยธรรมมาก เขาจะใส่อารมณ์ขันเข้าไป ต่างกับเมืองไทยที่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่ดูติด มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ใช้แรงดึงดูดทางเพศในการโฆษณา เพื่อให้คนติดตาและจำสินค้าได้ ไม่ว่าสินค้าจะมีคุณภาพหรือไม่ก็ตาม ที่เราต้องคิดกันต่อก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้มันเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็เลยมองไปว่าข้อแรกตัวผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องแข็งแรง ต้องเท่าทันโฆษณา แม้แต่คนที่มีความรู้ก็ตกอยู่ในความอยากได้เมื่อดูโฆษณา ข้อสองก็คือคนที่ทำโฆษณาต้องมีสำนึกและต้องรู้ว่าสิ่งที่เขาทำและสื่อออกมาส่งผลอย่างไรบ้าง ไม่ใช่หลอกล่อผู้บริโภคอย่างเดียว ข้อสามก็คือการควบคุมโฆษณาให้ไม่เกินเลย ต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารส่วนหนึ่งอยู่ได้ด้วยโฆษณา แต่ก็ต้องมีการควบคุมด้วยว่าไม่ควรจะเกินเลยมากไปเช่นการโฆษณาแฝงในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร อย่างการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ถูกนำเสนออยู่หน้าข้างๆ แถบจะแยกไม่ออกเลยว่าเป็นการโฆษณา เพราะเจตนาที่จะหลอกล่อ เหมือนดูถูกสติปัญหาของคนอ่าน สิ่งที่กองบรรณาธิการทำเหมือนดูถูกสติปัญญาของคนอ่านชัดเจน เหมือนโฆษณาแฝงในละครก็มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ วางประกอบฉาก บางรายการทีวีนึกว่าทำรายการโฆษณา ซึ่งเราต้องเฝ้าระวังและต้องมีการควบคุมด้วยเช่นกัน การให้เราต่อต้านบริโภคนิยม แต่ทั้งๆ ที่เรายังปล่อยให้มีโฆษณาแบบนี้อยู่ แล้ววันๆ ก็ไม่มีสาระอะไร เป็นเพียงคำขวัญที่พูดกันไปวันๆ การควบคุมในเรื่องการทำโฆษณามีมานานแล้ว ทั้งการเฝ้าระวังโฆษณาที่เกินจริง ที่ถี่เกินไป ถ้าการควบคุมไม่ได้ผลจริงๆ ก็ต้องออกมาเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงาน อีกส่วนก็คือต้องเรียกร้องกลุ่มผู้บริโภคให้ออกเคลื่อนไหวโดยการใช้สื่อนี่ละในการออกมารณรงค์และเรียกร้อง ซึ่งต้องต่อสู้อย่างมากทั้งกลุ่มทุน ทั้งผู้ผลิต ก็ต้องลองดู โซเชียลเน็ตเวิร์คกับการผลิตสื่อเพื่อผู้บริโภค ถ้าหากเราทำสื่อที่มีเนื้อหาก็ต้องค่อยๆ ทำไป อาจจะไม่ต้องดังตูมตาม เหมือนโฆษณาลดเหล้า แต่เราค่อยๆ ซึมลึกก็น่าจะดีนะ อย่างการนำเสนอเรื่องทดสอบ ข้อมูลวิชาการต่างๆ ของฉลาดซื้อ ก็น่าจะมีคนสนใจ และคิดว่ามีความจำเป็นที่จะขยายสื่อของเราออกไปในสื่อวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ อย่างสื่อวิทยุทำได้ง่าย อีกอย่างก็คือมีเนื้อหาอยู่แล้วและคนเราก็ฟังเป็นหลัก ทำงานบ้าน ขับรถ ก็ฟังวิทยุได้ ทำเป็นละครวิทยุหรือทำเป็นเรื่องเล่าก็ได้ อย่างเรานำเรื่องราวจากหนังสือฉลาดซื้อมาเล่าให้คนฟังได้ แล้วก็จะเป็นช่องทางรับสมาชิกได้เพิ่มขึ้น เปิดช่องทางการมีส่วนร่วมให้เพิ่มขึ้นอย่างการเปิดรับสายโทรศัพท์ให้เข้ามาพูดคุยในรายการ ซึ่งปัจจุบันก็ง่ายขึ้น และต้องหาบุคลิกของรายการของตัวเราให้เจอ เรื่องมีสาระไม่จำเป็นต้องเครียด ทำให้เป็นเรื่องสนุกๆ ได้ น่าจะทำได้นะเพราะเรามีเครือข่ายวิทยุชุมชนหรืออาจจะประสานงานกับเครือข่ายพุทธิกา หากไม่มีคนจัดรายการก็เปิดรับคนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษา เปิดรับอาสาสมัครเข้ามาจัดรายการ ให้เขาเหล่านั้นได้เข้ามาเรียนรู้โลกจริงๆ เพื่อเป็นการเปิดให้มีส่วนร่วมทางสังคมด้วยก็น่าจะดี ละครดี ไม่ต้องตบตีคนก็ติดได้ ละครไทยผ่านไปกี่ปีก็ยังเหมือนเดิม ถ้าบอกว่าคนดูชอบ...ซึ่งถ้ามองไปที่คนดูก็ต้องบอกว่าเอ่อ..ดูละครแล้วมันสะใจ ดูแล้วมาคุยได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความถ้ามีละครที่ดีแล้วพวกเขาจะไม่ดู หรือดูแล้วไม่ได้ความคิด ไม่งั้นทำไมเขาถึงดูหนังจีนเปาบุ้นจิ้น สามก๊ก คนที่ดูละครน้ำเน่ากันอยู่ก็ดู ดูแล้วเขาก็ได้ความคิด แต่ทำไมไม่เอาละครดีๆ มาให้ดู ก็เพราะว่าคนทำละครไม่มีจิตสำนึกทางสังคมเลย แล้วก็มักง่าย เมื่อตัวเองไม่มีความสามารถที่จะทำเรื่องที่มันยากๆ ลึกซึ้ง ที่ซับซ้อน ให้ง่ายต่อความเข้าใจ แบบเรื่องเปาบุ้นจิ้น เรื่องสามก๊ก หรือของญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำงาน แต่ละครที่เราเห็นฉายกันอยู่เราจะรู้ว่ามันไม่ได้ใช้เวลา หรือใช้ความคิดสักเท่าไรเพราะว่ามันใช้สูตรเดิมๆ ตัวละครจะมีอาชีพ เหตุการณ์ ฉาก คำพูด ประเด็นขัดแย้ง ก็แบบเดิม ก็จะเห็นว่าทำไปอย่างง่ายๆ คนดูก็ตอบรับดี แล้วก็พยายามเอาชนะละครเรื่องอื่นๆด้วยการใส่ความรุนแรงมากขึ้น ใส่ความวาบหวามมากขึ้น เพื่อเป็นการเอาชนะกัน ซึ่งไม่ใช่เป็นการเอาชนะกันด้วยความสามารถและสติปัญญา พูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นความมักง่ายของคนทำ แล้วคนดูก็ถูกอ้างว่าเป็นเพราะคนดูชอบ ถึงต้องทำออกมาแบบนี้ แต่จริงๆ แล้ว คนทำไม่มีความสามารถที่จะทำออกมาในรูปแบบอื่นมากกว่า แล้วพอดูเยอะมันก็ส่งผลต่อสังคม ส่งผลต่อคนผลิตด้วยก็จะขาดความมั่นใจในการผลิตรูปแบบอื่นด้วย มันจึงกลายเป็นปัญหาในการทำงานสร้างสรรค์และการทำงานที่มีรสนิยมด้วย เพราะฉะนั้นต้องหาทางผลิตและแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยไปแบบนี้...”
สำหรับสมาชิก >