ฉบับที่ 267 “ผมคิดทุกคนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องเดียวกันนี้ เพราะการตรวจข้อมูล K-ETA ใช้ AI ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องนี้”

        ประเทศเกาหลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมาก  นิยมกันไปทั้งแบบเดี่ยวและแบบกรุ๊ปทัวร์ โดยการท่องเที่ยวกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน การซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวย่อมสร้างความสะดวกให้มากกว่า จึงได้รับความนิยมค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามทัวร์เกาหลีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวไปประเทศเกาหลีใต้หลายกรณีด้วยกัน หลายรายประสบปัญหาจากการซื้อทัวร์เกาหลี ทำให้สูญเงินหรือไม่ได้ท่องเที่ยวตามที่หวังไว้หลายลักษณะ  ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับนี้ ฉลาดซื้อได้รับความกรุณาจาก คุณพฤกษ สามกษัตริย์ มาแบ่งปันเรื่องราวปัญหาที่ได้พบเจอจากการซื้อทัวร์เกาหลีใต้  มาติดตามกันเลยค่ะ เหตุการณ์เริ่มเกิดขึ้นอย่างไร         เริ่มที่ผมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ตั้งใจจะไปเที่ยวเกาหลี ครอบครัวผมมีลูกและภรรยา ครอบครัวของเพื่อนก็เหมือนกัน รวม 3 ครอบครัว เราจะไปกัน 9 คน  ตัวผมไปมาหลายรอบแล้ว แต่เพราะจากสถานการณ์โควิดเราทราบว่ามีความยุ่งยาก ญาติพี่น้องเลยบอกว่า งั้นเราไปซื้อทัวร์แล้วกัน การไปเองมันเดินทางลำบาก ถ้าไปกับทัวร์ เราได้ขึ้นรถบัส มีเซอร์วิส บริการดี  แล้วราคาก็ถือว่ายุติธรรม  โปรแกรมที่ผมจะไปคือเดินทางช่วงกลางเดือนมีนาคม  5 วัน 3 คืน  บริษัททัวร์ที่เกิดปัญหาขึ้น ผมจองทัวร์กับเขาเพราะว่า มีคนที่รู้จักเคยไปมาแล้ว และแนะนำมาพอติดต่อไป บริษัทบอกว่า ตอนนี้เรามีโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 จากราคาต่อคนที่ 30,999 บาท เฉลี่ยลดลงมาที่ 17,499  จัดโปร 4 ชุด บวกกับอีก 1 คน  ราคาคำนวณทั้งหมดคือ 151,796 บาท         ทีนี้ผมทราบว่า ก่อนเดินทางต้องมีลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาก็บอกว่า  “ใช่ค่ะ ต้องทำคะ แต่จะรบกวนจองทัวร์เข้ามาก่อนได้ไหม  เพราะว่าเดี๋ยวโปรมันจะหมด ”เราเลยบอกว่า “ได้ๆ เดี๋ยวผมจะเริ่มโอนตังค์มาให้”   เขาเลยบอกว่า ขอเก็บเต็มจำนวนเลย เพราะว่าเวลาเหลืออีกไม่กี่วันแล้ว ผมเลยโอนเต็มจำนวนไปเลย 151,796 บาท แล้วปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไหร่        เริ่มเกิดในขั้นตอนลงทะเบียน K-ETA บริษัททัวร์บอกว่า เดี๋ยวเขาทำให้ มันจะได้ผ่านง่ายเป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนกันหมด แล้วเขาก็คิดเงินค่าดำเนินการคนละประมาณ  350 บาท ผมก็ส่งรายละเอียด ทั้ง 9 คนไปให้ คือครอบครัวผมและครอบครัวเพื่อนๆ ไป 3 ครอบครัว ปรากฏลงทะเบียน K-ETA ส่งไป 9 คน  คนที่ผ่าน  มี 4 คนครับ คือมีผมคนเดียวและเด็กอีก 3  คน  กลายเป็นพ่อแม่ของที่เหลือไม่ผ่านกันสักคน ผมเลยบอกว่า “อ้าว แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทำยังไงถ้าไม่ผ่าน”  เขาก็แนะนำว่า อย่าทำรอบ 2 – 3 เลย   เพราะว่าถ้าทำ จะไม่ผ่านอยู่ดี แล้วทำได้แค่ 3 รอบ การลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ ครั้งนี้คือบริษัทลงให้           ผมส่งข้อมูลให้บริษัทลงให้  คือผมวางใจเพราะผมไปเที่ยวเกาหลีเองแล้วหลายครั้ง คือเราไม่ค่อยเป็นคนที่น่าสงสัย แล้วน้องๆ คนอื่นๆ ที่ไปด้วยกันคนอื่นๆ เป็นเจ้าของกิจการ ได้รายสูงทุกอย่างโปรไฟล์ดีมากๆ  เขาไปต่างประเทศมาเยอะมาก เพียงแต่ว่ายังไม่เคยเข้าประเทศเกาหลีใต้  ส่วนเด็กๆ เขาไม่มีประวัติอะไร  ผมเลยให้ข้อมูลไป  ทางบริษัททัวร์ก็บอกว่า “ไม่น่ามีปัญหาค่ะ เดี๋ยวจัดการให้เลย” แต่ผู้ใหญ่ไม่ผ่านสักคน  มีผมคนเดียว         แต่ถามว่าลงทะเบียน K-ETA  ไม่ผ่านเพราะอะไร  ผมกำลังสันนิษฐานว่า บางทีรูปไม่ชัดเพราะว่าเขาใช้ AI ตรวจ ไม่ได้ใช้คนตรวจ ผมรู้สึกได้เลยว่าบางรูปมันไม่ตรงปก เพราะเนื่องจากว่า เขาจะให้เราถ่ายรูปหน้าตรงพื้นหลังสีขาว  ใส่เสื้อสีขาวแล้วส่งไป รูปพวกนี้ เราดูด้วยตาเรายังรู้สึกเลยว่าไม่เป็นธรรมชาติ  แต่ทางบริษัททัวร์ที่ทำให้ เขาก็ไม่ช่วยเราติงว่า “พี่คะ รูปมันไม่เคลียร์นะคะ  พี่คะ ช่วยถ่ายรูปใหม่ได้ไหม” จะไม่มีข้อแนะนำใดๆ เลย เขาได้อะไรจากเรา  เขาก็เอาไปทำต่อเลย พอเกิดปัญหา แล้วเริ่มแก้ไขอย่างไร          ผมก็ถามทางเจ้าหน้าที่ว่า สถานการณ์เป็นอย่างนี้แล้วเราต้องทำยังไง  เราผ่านกันแค่ 4 คน  เขาบอกว่า ก็จะต้องไป 4 คน เราบอกว่า “ไม่ได้สิ  ผมจะเอาลูกคนอื่นไปยังไง  พ่อแม่เขาต้องไปด้วย” ทางทัวร์เลยบอกว่า  อย่างนั้นเท่ากับว่าผมยกเลิกซึ่งเงื่อนไขการยกเลิกของเขา คนที่ผ่านคือผมกับเด็กอีก 3  คน จะได้รับเงินคืนแค่ครึ่งเดียว จะหัก 50%  ส่วนคนที่ไม่ผ่านถูกหักรายละ 500 บาท  ผมเลยบอกว่าในความเป็นจริง ทำไมคุณถึงไม่บอกว่าให้ลงทะเบียน K-ETA ก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินจองทัวร์ ถูกไหม เพราะว่าถ้าคุณมีเงื่อนไขคืนครึ่งเดียวสำหรับคนที่ผ่าน แล้วถ้าเราจะไปเป็นบางคนมันเป็นไปไม่ได้แน่นอน เขาไม่แจ้ง เขาบอกว่ามันไม่ได้จริงๆ ค่ะ มันเป็นกฎ         ผมจึงแจ้งยกเลิกการเดินทาง ยกเลิกทัวร์และเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร         ผมคิดว่าเขาควรจะสื่อสารความเสี่ยงให้ผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจนกว่านี้ ต้องให้ชัดเจนมากๆ ผมติดที่ว่า เขาไม่พูดความเสี่ยงให้เราฟัง และไม่ช่วยเหลือเราในการแบบว่า “เห้ย เดี๋ยวพี่จะเสียเงินฟรีนะ ถ้าทำตรงนี้ไม่ผ่าน”   เขาไม่ช่วยเรา  แล้วอีกกรณีที่สำคัญ พอเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ผมคิดว่าช่วยๆ กันได้ เพราะว่าเขาก็ยังไม่ได้ซื้อตั๋วอะไรให้เราเลย เพราะล่วงหน้าเป็นเดือน เราเลยคิดว่าเขาจะคืนเงินให้เราเยอะกว่านี้ ผมจะรู้สึกดีกว่านี้         ถามว่าในเอกสารโปรแกรมการท่องเที่ยวของบริษัทเขาระบุไว้ไหม เขาเขียนชัดเจนครับ  คือเขาระบุเลยนะว่า กรณีที่เราจ่ายเงินแล้ว และลงทะเบียนไม่ผ่าน เขาจะคืนเงินให้ 50% แต่กรณีผ่านแล้วมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ไปเขาจะหักไว้ครึ่งนึงแล้วกำหนดเวลาคุณจะต้องทำลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ให้ผ่าน คือในเอกสารเขามี แต่การขายทัวร์ของเจ้าหน้าที่ของไม่สื่อสารเราแบบนี้ มันจะมีแชท ที่ผมส่งรูปเข้าไป ที่ผมสอบถาม แล้วเราจะต้องทำยังไง เขาจะบอกว่าโอนจองก่อน รีบโอน เดี๋ยวหมดโปร คือเขาโทรมา เขาไม่ได้พิมพ์  เขาพิมพ์มาแค่ว่า ช่วยโอนเงินจองก่อนค่ะ เพียงแต่ผมคิดว่า เขาควรจะบอกว่า “คุณลูกค้า ช่วยทำ K-ETAให้ผ่านก่อนนะคะ แค่คนละ 350 บาท ”  แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร เขาไม่แนะนำให้ทำ K-ETA ก่อน เราไม่เชิงปรึกษา เราถามเขาเพราะเห็นในเอกสารว่าต้องทำ เจ้าหน้าที่บอกว่า  “ไม่น่ามีปัญหานะคะ เพราะว่าไม่เคยมีใครมีประวัติอะไรเลย ดังนั้นทำคิดว่าน่าจะผ่าน” ผมเชื่อตามด้วยความคิดแบบนี้ ผมเลยซื้อทัวร์         อีกอย่าง สมมติถ้าผมรู้เงื่อนไขนี้อยู่แล้ว ผมบอกว่า ให้เขาทำ K-ETA ให้ก่อนได้ไหม ในนั้นเขาระบุว่าไม่ได้  เขาจะทำ K-ETA  ให้ต่อเมื่อเราลงทัวร์กับเขาแล้ว  เขาถึงจะมีบริการทำให้ อันนี้เป็นข้อที่ผมรู้สึกว่าผิด จริงๆ คุณต้องทำก่อนสิ  เราถึงจะจ่ายเงินทัวร์ ถึงจะยุติธรรม แต่กลายเป็นเราจ่ายทัวร์  แล้วให้เขาไปทำ ถ้าไม่ผ่าน ก็โดนเงื่อนไข โดนหักเงิน  ผมโดนหักเงินไป 33,732 บาท จนถึงปัจจุบันปัญหาได้รับแก้ไขอย่างไร          ตอนแรกครอบครัวก็บอกว่า เราแจ้งไปที่  สคบ. เลยไหม แต่เงินกว่า 150,000 บาทเกิดจากการรวมกันของหลายครอบครัว   พวกเราหลายคนกลัวว่าเงินจะจม ต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะได้คืน เงินแสนนึงเราเอามาทำอะไรได้มากมาย  ญาติพี่น้องผมบอกว่า ถ้าไม่ได้ไปเกาหลีเขาก็อยากเอาเงินไปเที่ยวประเทศเวียดนาม  ต้องใช้เงินในการทำทริปต่อไป เราเลยจำใจต้องเอาเงินคืนกลับมาให้ได้ก่อน เพราะว่ายังไงเราก็ไปไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องทิ้ง  เราก็ยอม แล้วทำเรื่องส่งไปให้ทำเงินคืนให้หน่อย  บริษัทบอกว่าจะคืนให้ภายใน 7 วัน  เราก็รอไปเกือบเดือน กว่าจะได้เงินคืน จนผ่านเวลาที่จะเดินทางไปแล้ว เราตามหลายครั้งจนได้เงินคืน  มาราว 1 แสน 1 หมื่นกว่าบาท   อยากฝากอะไรถึงผู้ที่สนใจจะซื้อทัวร์ไปประเทศเกาหลี         ผมอยากให้บริษัททัวร์สื่อสารกับนักท่องเที่ยว กับผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจน  สื่อสารความเสี่ยงให้ชัดเจนเลยว่า เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเรื่องอะไรบ้าง แบบขอตัวแดง บันทึกไว้ทุกที่เลย แค่ระบุว่า  อันนี้เขาพูดแบบ ก็มีกรณี มีตายาย พ่อแม่และลูกจะไปด้วยกันแต่พ่อแม่ไม่ผ่านเขาก็ไปกับตายายได้ ผมมองว่ามันตลกหรือเปล่า หลายกรณีมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปเที่ยวได้  เอาจริงๆ ครับ ผมคิดทุกคนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องเดียวกันนี้ เพราะการตรวจข้อมูล K-ETA ใช้ AI ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องนี้ ผมเลยคิดว่าง่ายมากเลย  บังคับให้ลูกค้า หรือคนที่จะไปทัวร์ลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ ให้ผ่านก่อน  วิธีทำให้เรียบร้อยครับ  มีการสื่อสารแนะนำให้ประชาชนเข้าใจว่าจะลงลงทะเบียน K-ETA ให้ผ่านได้อย่างไร ผมคิดว่าต้องมีชุดความรู้ที่ถอดออกแนะนำได้ ทำให้เรามีความเข้าใจที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 บขส.วางเงินจ่าย 15 ล้าน คดี 11 ชีวิตอุบัติเหตุรถตู้จันทบุรี

        “ถ้าเราไม่มีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ เราไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลย เราสูญเสียลูกไป แล้วใครต้องรับผิดชอบบ้าง  ประชาชนทั่วไปไม่รู้ เราอยากให้สังคมมีระบบที่รับผิดชอบชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์มากกว่านี้”         วันที่ 2 มกราคม 2560 เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร สาย จันทบุรี – กรุงเทพ หมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมาอย่างรุนแรง จนเกิดเพลิงลุกไหม้รถทั้งสองคัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทั้งหมด 14 ราย ผู้โดยสารในรถกระบะเสียชีวิต 11 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุทั้งหมด 25 ราย           นี่คืออุบัติเหตุครั้งสำคัญในช่วงปีใหม่ของปี 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า ครอบครัวผู้สูญเสียควรได้รับความเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญมาจากบริษัทเจ้าของรถยนต์ เจ้าของบริษัท และบริษัทขนส่งจำกัด ไม่กำกับดูแลให้การเดินทางมีความปลอดภัยอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาลปีใหม่นำมาสู่การฟ้องคดีทั้ง 3 หน่วยงานตั้งแต่ปี 2560 ในวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาคดีความได้ถึงที่สิ้นสุด ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ บริษัทขนส่งจำกัด ชดเชยค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตกว่า10 ครอบครัวที่รวมกันฟ้องคดีกับมูลนิธิฯ  หนึ่งในนั้นคือครอบครัวของ คุณเกษมสันต์ และ เกศรา ไทยตรง พ่อและแม่ ที่ได้สูญเสียลูกชายจากอุบัติเหตุสุดสลดใจครั้งนี้ ตลอดระยะ 6 ปีที่รอความยุติธรรม นี่คือเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งของครอบครัวผู้สูญเสียที่ยืนหยัดต่อสู้จนถึงวันที่คดีความสิ้นสุด ช่วยเล่าถึงสถานการณ์ในตอนนั้น         อุบัติเหตุครั้งนี้ ครอบครัวพี่สูญเสียลูกชาย คือน้องคิว กันตินันท์ อายุ 23 ปี  พี่มีลูกทั้งหมด  2 คน คนที่เสียเป็นคนโต  เขาไปเรียนอยู่กรุงเทพ ครอบครัวก็ส่งเสีย พอเรียนจบเข้าได้ทำงาน ที่ธนาคารเกียรตินาคินฯ อยู่ที่กรุงเทพต่อและเขาดูแลตัวเอง และส่งเงินมาให้พ่อแม่ และน้อง  พอเขาเสีย เราไม่มีรายได้จากตรงนั้น ตอนนี้คุณพ่อก็ไม่ได้ทำงานแล้ว           วันที่เกิดอุบัติเหตุ คือวันที่ 2 มกราคม ปี 2560  มีคนโทรมาบอกช่วงบ่าย ตอนแรกไม่เชื่อแต่พอได้ดูกล้องวงจรปิดของบริษัทรถตู้ ตอนที่เขาไปขึ้นรถตู้ที่อำเภอเมือง จันทบุรี  เลยรู้ว่าลูกชายเราขึ้นรถตู้คันนั้นไปด้วย จุดเริ่มต้นของการฟ้องคดี เริ่มได้อย่างไร         พอเกิดเรื่อง เราเสียใจมากๆ ทุกครอบครัวก็เหมือนกัน เป็นความสูญเสียที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ พี่ไม่ได้เริ่มต้นอะไร เราสูญเสียแต่เราไม่รู้ว่า จะเรียกร้องตรงนี้ได้จากใคร  เราคิดว่าสิทธิของเราอยู่แค่นั้นคือมีบริษัทจากประกันรถยนต์เขาเข้ามาชดเชยให้ ตอนแรกเราไม่ได้เริ่มต้นที่จะรวมตัวแล้วไปเรียกร้อง เพราะเราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร แล้วเรามีสิทธิ์อะไรนอกจากนี้         จนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ามาเสนอ ให้คำแนะนำ มูลนิธิมองว่า เราควรจะได้รับการเยียวยา ช่วยเหลือมากกว่านี้  เราไม่รู้จักมูลนิธิเลย มูลนิธิฯ ลงมาหาครอบครัวผู้เสียหายหลายครั้ง ให้ความช่วยเหลือ เราก็คิดว่าเราไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่านี้แล้ว เมื่อมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ แล้วถ้าเรามีสิทธิ์จริง เราคงจะทำเองไม่ได้นะ  เรามีกำลังใจขึ้นมาจึงตัดสินใจดำเนินการ มูลนิธิฯ ดำเนินการให้ทั้งหมด เพราะกลุ่มผู้เสียหายเราไม่รู้จักกันเลยตอนแรก มูลนิธิเริ่มรวบรวมแต่ละครอบครัวๆ เราเลยได้รู้จักมูลนิธิจากตรงนี้  อุบัติเหตุเกิดต้นปี 60 ภายในปีเดียวกัน เราก็ฟ้องคดี ระหว่างการต่อสู้ทางคดี ครอบครัวประสบกับอะไรบ้าง  มีปัญหาอุปสรรคอะไรไหม         มีหลายอย่างมากๆ  เรามีความไม่สะดวกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการเดินทาง  ต้องลางาน    สำหรับพี่นะ แล้วในกลุ่มแต่ละคนก็หลากหลายมาก  คนอื่น เขาก็อยู่ไกลกว่าพี่ เขาเดินทางลำบาก เพราะเราไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน บางคนอยู่ต่างอำเภอ บางคนอยู่สวนลึกๆ เขาไม่สะดวก เขาไม่มีรถยนต์ เขาเดินทางลำบากมาก  แต่ละครั้งเราก็มาตามที่ศาลนัดกันครบ  ระหว่างที่รอคอยการสิ้นสุดคดี มีปัญหาตรงที่ เราไม่รู้ว่าคดีจะจบลงอย่างไรด้วย  ทางฝั่งจำเลย เราคิดว่าเขายื้อคดี เพราะเขาไม่มาศาลบ่อยมาก แล้วเขาสู้จนถึงศาลฎีกา ทำให้ระยะเวลามันยาวนานมาก  เรารอคอย คอย ถึงเวลาที่ไปศาลเราก็รวมตัวกันไป ปีแล้ว ปีเล่า เราคอยด้วยความหวัง แต่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่  รอคอยมา 6 ปี คิดว่านี่คือเรื่องสำคัญ แม้ดูเลือนลางแต่ลึกๆ เราต้องรอคอยด้วยความหวัง   แต่ในที่สุด ทุกคนในกลุ่มรวมกลุ่มอยู่ด้วยกันจนถึงวันที่คดีสิ้นสุด          เราก็สู้มาตลอดเลย  มูลนิธิให้กำลังใจว่าอย่าท้อ  จริงๆ เราในกลุ่มหลายคน เราเริ่มท้อกันตั้งแต่ปีที่ 2 ปีที่ 3 แล้ว  หลายคนเราไม่มีเงินไปศาล ต้องไปหยิบยืมเงินคนอื่น แล้วไปศาลแล้วต้องไปอีกกี่ปี ก็มีความคิดแบบนี้ แต่ถึงที่สุดแล้ว เราก็อยู่กันจนครบ ต้องบอกว่าเรามี 2 กลุ่ม กลุ่มที่เราฟ้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรายังอยู่กันจนครบ ทั้งหมด เรามีกัน 14 คน รวมทั้งพ่อแม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง         เรื่องค่าใช้จ่ายในการทำคดีต่างๆ ไม่มีเลย ไม่มีค่าใช้จ่าย มูลนิธิไม่เรียกร้องเลยออกให้หมดเลย  เขาไม่เรียกร้องอะไรเลย เวลาเดินทาง กรณีพี่นะเราต่างคนต่างไป เรานัดเจอกันที่ศาล พี่ยังสะดวกว่าบ้านพี่อยู่ในตัวเมืองและขึ้นศาลที่ตัวจังหวัดจันทบุรี แต่คนอื่นๆ ต้องออกมาจากสวน หรือเขาอยู่ในอำเภอที่ไกลๆ ก็จะลำบาก อยากฝากอะไรถึงสังคม หรือประชาชน         พี่ว่าควรมีหน่วยงานที่ออกมารับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น เพราะ บางครอบครัวเขาไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหน หน่วยงานควรจะออกมช่วยเหลือ แนะนำว่าเราควรทำอะไร สิทธิของเรามีอะไรบ้าง  เรียกร้องค่าเสียหายจากใครก็ได้ ถ้าเราไม่มีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ เราไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลย เราสูญเสียลูกไป แล้วใครต้องรับผิดชอบบ้าง  ประชาชนทั่วไปไม่รู้ เราอยากให้สังคมมีระบบที่รับผิดชอบชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์มากกว่านี้ เพราะขนาดเรามีกลุ่มมูลนิธิมาช่วย  เรายังต้องคอยมาถึง 6 ปี  บางครอบครัว 6 ปี นานมาก เขาสูญเสียคนที่หารายได้ เลี้ยงดูครอบครัว แล้วยังไปขอยืมกู้หนี้ ยืมสินมาสำรองระหว่างที่เราต้อสู้คดี  เวลาที่รอคอยมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง อยากให้รับผิดชอบกับชีวิตประชาชนให้มากกว่านี้ อาจเป็นรูปแบบกองทุน เพื่อสำรองจ่ายให้บางครอบครัว  เขาไม่ได้มีเงิน แต่ถ้ามีกองทุนสำหรับช่วยเหลือตรงนี้ สำรองจ่ายให้แต่ละครอบครัว ไม่ใช่ว่า ให้เราดำเนินการเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 “ท่อน้ำแตกเป็นเดือนแต่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัว”

        ปัญหาของลูกบ้าน เมื่อซื้อบ้านจัดสรรแล้วเข้าอยู่อาศัยเกิดขึ้นอยู่เสมอ กรณีที่นำมาเล่าในฉบับนี้ เหตุเกิดจากท่อน้ำแตกแบบที่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัวได้เลย ทำให้คุณวุฒิชัย วงศ์สิริวิทยา เจ้าของบ้านถูกเรียกเก็บค่าน้ำในรอบ 1 เดือน สูงถึง 18,635.01 บาท ซึ่งคุณวุฒิชัยไม่ได้ทำท่อน้ำแตกและคาดว่ามาจากการวางโครงสร้างผังบ้าน จึงร้องเรียนให้บริษัทเจ้าของโครงการหมู่บ้านรับผิดชอบค่าน้ำที่เขาได้จ่ายไปแล้ว...เรื่องราวจะจบลงอย่างไร มาติดตามกันเลยค่ะ ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไหร่         เกิดช่วงหลังปีใหม่ เจ้าหน้าที่การประปาเข้ามาจดมิเตอร์แล้วแจ้งว่า ค่าน้ำผิดปกติน่าจะมีท่อรั่วภายในบ้าน มิเตอร์ไม่ได้เสีย เพราะเจ้าหน้าที่โทรไปถามแล้ว เขาก็แจ้งว่าน่าจะท่อน้ำรั่วภายใน ผมจึงเพิ่งทราบตอนบิลค่าน้ำมาเรียกเก็บเลย รู้ตอนนั้นเลย ค่าน้ำผิดปกติ หน่วยค่าน้ำมันสูงกว่าปกติ เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ค่าน้ำสูงมาก 18,600 กว่าบาทครับอาจมีคนถามว่า ท่อน้ำแตกเป็นเดือนแต่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัวเลย เพราะอะไร         ทุกหมู่บ้าน ทุกโครงการจะมีแทงค์น้ำอยู่หลังบ้าน ลักษณะที่ท่อนำแตกของบ้านผม เมื่อแตกแล้วน้ำยังไหลเข้าแทงค์ปกติ ปั้มน้ำทำงาน ปกติน้ำที่แตกเยอะขนาดนี้จะต้องเอ่อล้นออกมามานอกบ้าน ข้างบ้านแล้ว แต่ไม่ล้น ไม่มีอาการอะไรเลย ผมถามเพื่อนบ้านแล้วว่ามีน้ำเอ่อออกมาบ้างไหม เขาบอกว่า ไม่มีน้ำอะไรเอ่อออกมาเลย แล้วทำอย่างไรต่อ         ผมจึงเข้าไปที่สำนักงานการประปาก่อน เพราะไม่แน่ใจ อยากเช็คอีกรอบว่ามิเตอร์น้ำปกติดีใช่ไหม เมื่อเข้าไปเจ้าหน้าที่ที่อยู่ที่เคาน์เตอร์ให้ผมเข้าไปหาช่างส่วนจดมิเตอร์ซึ่งเขาอธิบายให้ฟังว่า ถ้ามิเตอร์เสีย ตอนที่หมุนน้ำเข็มมันอาจจะไม่กระดิกเลย เขายืนยันว่าไม่ใช่มิเตอร์เสียแน่นอน หลังจากนั้นผมจึงไปติดต่อนิติบุคคลของหมู่บ้าน อยู่ตรงส่วนด้านหน้าของสำนักงานขาย เขาก็ไม่รับเรื่องอะไร เรื่องค่าน้ำเขาบอกว่าไม่รับผิดชอบให้ เขารับผิดชอบให้แค่เขาจะเดินท่อน้ำแบบลอยให้ คือเดินให้ใหม่ แต่เป็นการเดินลอยอกมาข้างบ้าน และต่อเข้าแทงค์น้ำ เขารับผิดชอบแค่นั้น ส่วนค่าน้ำ ก็พยายามถามเขาว่า มีงานส่วนไหนที่ช่วยได้บ้าง เขาไม่ตอบ เขาเงียบกันหมดเขาให้ผมเขียนคำร้องส่งไป แล้วเดี๋ยวช่างจะมาเดินลอยให้ แล้วตอนนั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยหรือไม่ เพราะเขาไม่ตอบว่าถ้าเดินลอยใหม่แล้วผมต้องเสียค่าใช้จ่ายไหม เรื่องค่าน้ำไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนรับผิดชอบให้ ไม่มีการประสานงานต่อ         ในระหว่างที่กำลังเดินลอย ผมก็คิดหาวิธีต่างๆ แล้วลูกบ้านด้วยกันเขาแนะนำให้ไปติดต่อที่สำนักงานใหญ่อยู่แถวโลตัสบางกะปิ ผมเข้าไปบริษัทก็ให้ทางเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM เข้ามาดู ซึ่งเขาก็ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ที่ดูแลโครงการที่ผมอยู่โดยเฉพาะพอประสานงานเสร็จกลับเงียบหายไปเลย ที่สำนักงานใหญ่ก็เงียบต่อมาเขาแจ้งมาว่าให้ผมรับผิดชอบเอง ผมถามไปชัดเจนว่า “มีหน่วยงานไหน ฝ่ายไหนที่จะรับเรื่องร้องทุกข์ผมได้บ้าง” เขาก็รับเรื่องไว้ แล้วไม่ตอบเลย เขาโยนกันไปมา ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ CRM ที่ดูแลโครงการนี้ ผมก็ทำทุกอย่าง  เขาก็แจ้งว่าให้ส่งเอกสารทุกอย่าง เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน ปัญหาที่เกิด จุดที่ท่อน้ำแตกส่งไปให้เขา ผมส่งด่วน EMS เขาได้รับเรียบร้อย แต่ก็เงียบเป็นอาทิตย์ ผมก็คิดว่าคงเหมือนเดิม ไม่ได้เรื่อง ไม่ตอบกลับ โทรไป เขาก็แจ้งว่าอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ ผมก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เราต้องร้องเรียนทางอื่นแล้วในเอกสารตอนนี้คือต้องการคำตอบว่า บริษัทจะรับผิดชอบค่าน้ำไหม และค่าเดินท่อลอยที่กำลังทำอยู่ใครจะออกค่าค่าใช้จ่ายใช่ไหม         ใช่ครับ ตอนแรกที่ผมเข้าไปหานิติบุคคล เขาจะให้ช่างมาเดินลอยให้แต่เรื่องค่าใช้จ่ายเขาไม่ยืนยัน เขาอ้างว่าผมต่อเติมบ้านไปแล้ว แต่แค่ปูกระเบื้อง ผมก็งงว่ากระเบื้องหนักขนาดไหน ถึงทำให้ท่อน้ำใต้บ้านแตกได้ คือผมไม่ทราบจริงๆ ว่าแตกตอนไหน เพราะว่าพี่ที่เขาเป็นช่างทางโครงการเข้ามาหาจุดแตกเขาหาจุดแตกไม่ได้ จนต้องเดินลอยใหม่         เรื่องนี้ถ้าไม่ถามไปเขาจะไม่ทำให้ฟรี  ผมพยายามเถียงจนสุดท้ายทางโครงการจะรับผิดชอบค่าเดินท่อลอยให้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายการที่เขาบอกว่าท่อน้ำแตกอาจจะเกิดเพราะปูกระเบื้องตรงนี้คุณวุฒิชัยมองว่าไม่สมเหตุสมผล เลยเดินหน้าสู้ต่อเรื่องให้บริษัทรับผิดชอบค่าน้ำ         ครับ คือผมซื้อบ้านมา ผมก็อยากทำกระเบื้อง เพราะตอนแรกพื้นบ้านไม่ได้ระดับบ้างด้วย น้ำขัง ต้องทำใหม่ เลยจบปัญหาโดยการปูกระเบื้องแล้วไล่ระดับน้ำให้น้ำออก ปัญหาก็หาย ทีนี้ค่าน้ำใครจะจ่ายผมไปที่สำนักงานใหญ่แล้วไม่มีใครช่วยได้ ผมจึงมาร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตอนร้องเรียน แต่ละที่ดำเนินการอย่างไร          ผมไปที่ สคบ. ก่อน และลองดูช่องทางร้องเรียนอื่นคือ มพบ.ผมลองหาข้อมูลเขาแจ้งว่าสามารถร้องเรียนได้ที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปรากฏว่าเขาตอบกลับเร็วมาก ดีจริงๆ ต้องขอขอบคุณมาก เจ้าหน้าที่พยายามขอข้อมูล รายละเอียดและสอบถามว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร อันนี้ดีเลย         ส่วนที่ทาง สคบ. เขาติดต่อกลับมาช้าเพราะ ผมคิดว่าเขาคงรับเรื่องเยอะ ผมเลยตัดสินใจให้ มพบ.ช่วยเหลือผม   หลังจากมูลนิธิรับเรื่องแล้ว ดำเนินการร่วมกันต่ออย่างไร         ผมส่งเอกสาร หลักฐานทั้งหมดที่ให้บริษัท หลักฐานที่ผมมีทั้งหมดให้มูลนิธิฯ หมดเลย หลังจากได้รับข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาว่าขอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จากนั้นมูลนิธิออกจดหมายไปถึง บริษัทที่สำนักงานใหญ่ ประมาณกว่า 2 สัปดาห์เลยกว่าที่สำนักงานใหญ่จะตอบกลับมูลนิธิมาว่า  บริษัทอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบข้อเท็จจริง มูลนิธิขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น รูปรอยแตก สภาพแวดล้อม บิลค่าน้ำย้อนหลังว่าเราใช้น้ำอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ แล้วก็ส่งเอกสารเหล่านี้ไปที่สำนักงานใหญ่ และอีกประมาณครึ่งเดือนมูลนิธิก็แจ้งมาว่าบริษัทรอว่าจะตกลงกันอย่างไร จนช่วงเดือนมีนาคม ผมก็ได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายของบริษัทจะเข้ามาดูแล ตอนแรกเขาจะชดเชยที่ร้อยละ 50 ซึ่งผมไม่รับเพราะว่าส่วนที่ผมต้องรับผิดชอบยังเยอะ และตอนแรกผมดำเนินการแล้ว บริษัทไม่ประสานงานอะไรให้เลย จนเราต้องร้องเรียนให้มูลนิธิช่วยแล้วท่อน้ำที่อยู่ใต้บ้านแตก แสดงว่าผิดตั้งแต่ก่อสร้างแล้วไม่ใช่ว่าผมต่อเติมกระเบื้อง ผมซื้อมาได้ 2 ปีเอง มันไม่น่าจะเป็นไปได้ โครงการระบุว่ารับประกันโครงสร้างบ้าน 5 ปี ด้วย ซึ่งเรื่องนี้พอผมถาม บริษัทบอกว่าท่อน้ำเป็นเรื่องสถาปัตย์ ไม่ได้อยู่ในการรับประกันโครงสร้าง         ผมไม่รับแล้วบอกว่าขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าน้ำ ร้อยละ 80 ฝ่ายงานกฎหมายของบริษัทเขาขอลดมาที่ 70 จึงได้ข้อสรุป มันนานแล้ว ผมไม่ไหว ผมหยุดงานเพื่อไปดำเนินการต่างๆ โดนหักเงิน 3 วันทั้งที่ไปสำนักงานประปา ไปคุยที่สำนักงานใหญ่ หยุดงานเพื่อให้ช่างเข้ามาดูสาเหตุที่ท่อน้ำแตก  อยากจะจบเรื่องตรงนี้ ผมเลยเข้าไปไกล่เกลี่ยกับบริษัทที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน บริษัทรับผิดชอบ 70% ผมจ่าย 30 %  บริษัทจ่ายเชคให้ผมจำนวน 13,000 บาท         เรื่องกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผมก็ได้แจ้งว่าเรื่องของผมยุติแล้ว การร้องเรียนที่ สคบ. ก็ยุติเรียบร้อย ฝากถึงคนที่อาจจะเจอปัญหาได้         ตอนซื้อบ้านนะครับ  นี่คือบ้านหลังแรกของผม ผมไม่ทราบว่าโครงการอื่นๆ เขามีงานก่อสร้าง แบบไหนอย่างไรแต่ต้องระวังด้วย ไม่ว่าจะค่าน้ำ ค่าไฟ ต้องคอยเช็คตลอด         และเมื่อเกิดเรื่อง แม้เราไม่ทราบ เราต้องหาข้อมูลทุกช่องทาง ออนไลน์ต่างๆ อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้เขาช่วย อย่าไปยอม ผมมองว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ต้องสู้บางคนอาจจะยอมแพ้ไปถึงสำนักงานใหญ่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ผมมองว่าไม่ใช่ ถ้าไม่สมเหตุสมผลเขามาโทษเราก็ไม่ได้ เราต้องสู่เพื่อความชอบธรรม  เพื่อสิทธิของเราครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 เมื่อผู้บริโภคถูก “ฟ้องปิดปาก”

        การฟ้องปิดปาก (SLAPPs) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ”  เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ย่อมบั่นทอนกำลังใจ สำหรับคุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง หรือคุณนะ หนึ่งในผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกระทะโคเรีย คิง มีเพียงความเชื่อมั่นในสิทธิของผู้บริโภคเท่านั้นที่ทำให้เธอสามารถเดินหน้าต่อไปได้         ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้ยื่นฟ้องบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด  ผู้นำเข้า‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีกลุ่ม เนื่องมาจากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณกัลยทรรศน์ได้เข้าร่วมการไต่สวนคำร้องการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามนัดของศาลมาอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมาคุณกัลยทรรศน์ กลับถูกบริษัทวิซาร์ด โซลูชั่น ฟ้อง ใน 2 คดีซึ่งล้วนเป็นคดีอาญาคือ คดีที่ 1 อ.169/2565 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ศาลจังหวัดสตูล และคดีที่ 2 ในข้อหาเบิกความเท็จ หมายเลขดำที่ อ.2961/2565  ศาลอาญา         ทั้ง 2 คดีบริษัทฟ้อง คุณกัลยทรรศน์เป็นการส่วนบุคคล ซึ่งล้วนมีที่มาจากการที่คุณกัลยทรรศน์เข้าร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทุกรายที่ซื้อสินค้ามากกว่า 1,650 ล้านบาทเหตุการณ์เริ่มต้นอย่างไร ทำไมบริษัทถึงฟ้องได้         ต้องเล่าย้อนกลับไปถึงการฟ้องคดีกลุ่ม เพราะเกี่ยวข้องกัน เราฟ้องบริษัทในฐานะที่เขาขายสินค้าไม่ตรงที่โฆษณาว่าสามารถที่จะ ผัด ทอด โดยที่ไม่ต้องใช้น้ำมันแล้วสินค้าไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะว่าทุกครั้งที่เราใช้กระทะเราก็ต้องใช้น้ำมันอยู่ดีเรารู้สึกว่ามันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาโฆษณาไว้ อีกอย่างหนึ่งก็หลายสตางค์นะ เราเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เราทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล เราจึงร่วมฟ้อง         แต่การซื้อ ตอนนั้นเห็นโฆษณาเราก็สั่งซื้อกัน  แต่ใช้ชื่อน้อง‘อนัตตา’  เป็นเพื่อนร่วมงานซื้อ ซื้อแล้ว  เราก็เฉลี่ยเงินแล้วก็มาแบ่งกัน  พอซื้อแล้ว เราต่างคนก็ต่างเอากระทะกลับไปใช้แล้วก็รู้ว่าคุณสมบัติเรื่องของการโฆษณาไม่เป็นไปตามนั้นเลย พอรู้ว่าตอนนั้นก็มีผู้เสียหายหลายคน และมูลนิธิจะฟ้องเราก็จะร่วมด้วย  แต่ใบเสร็จรับเงินที่อยู่ในกล่องตอนที่ซื้อมามันหายไป เราเลยไปแจ้งความ ตำรวจก็ให้ลงบันทึกประจำวันไว้ว่าใบเสร็จได้สูญหายไป ยืนยันว่าเราได้ซื้อกระทะจากบริษัทจริง กระทะทั้งสองใบก็ยังอยู่นะ  ตรงนั้นเราจึงเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีกลุ่ม แล้วบริษัทมาฟ้องได้อย่างไร         บริษัทเขาบอกว่าค้นในระบบแล้วไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ เราไม่ใช่ผู้ซื้อ  ไม่มีประวัติในการซื้อ ซึ่งกระทะก็อยู่ที่เราจนถึงตอนนี้ เลยเป็นที่มาของการฟ้อง         บริษัทฟ้องเรากลับมาคนเดียว ฟ้องคดีแจ้งความเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล  สองก็คือเบิกความเท็จ ฟ้องที่ศาลอาญา เมื่อบริษัทเขาไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ  ที่เราได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เขาเลยเอาตรงนั้นมาแจ้งข้อหาและฟ้องที่ศาลจังหวัดสตูล เมื่อช่วงปลายปี 2565         เราเองก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับเรานะเพราะเป็นคนซื้อจริงๆ  แล้วก็จ่ายเงินจริง ใช้จริง  เราก็มั่นใจ มันเหมือนกันว่าถ้าเอาตามตัวหนังสือแน่นอนว่าไม่มีชื่อเรา  สุดท้ายศาลท่านแนะนำว่าเป็นคดีที่ไกล่เกลี่ยกันได้  ซึ่งทนายความทางศาลก็ไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ฟ้องกับเราที่เป็นจำเลย  โดยถ้ายอมรับสารภาพว่าเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ซื้อ แล้วบริษัทก็จะถอนฟ้อง แล้วอีกคดีที่บริษัทฟ้องในข้อหาเบิกความเท็จ         คดีนี้เขาฟ้องที่ศาลอาญา ฟ้องในเวลาไล่เลี่ยกันเลย เขาฟ้องว่าในคดีที่ฟ้องกลุ่ม เราเบิกความเท็จว่าเป็นผู้ซื้อ พอถูกดำเนินคดีแล้ว เราเสียอะไรไปบ้าง         วันที่หมายศาลมาที่บ้าน กลัวมาก นอนไม่หลับเครียดมาก ร้องไห้ เครียดกลัวพ่อแม่ กลัวลูกไม่สบายใจ ตอนนั้นเครียดจนต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย  เราเป็นคนธรรมดา ไม่มีความรู้กฎหมาย เราก็กลัว แล้วเรื่องค่าใช้จ่าย เราต้องเดินทางขึ้นกรุงเทพ เดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง แล้วมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับสภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร         ก็ช่วยตลอดมาตั้งแต่แรก  ช่วยเรื่องเงินประกัน มีทนายความมาช่วย มูลนิธิฯ ออกค่าที่พักที่นอนให้แต่เราเองก็ต้องออกไปก่อนครั้งละ 5,000 -6,000 บาท เวลาที่ขึ้นไปศาลฯ ที่กรุงเทพ         ที่ศาลอาญา ช่วงที่รอไต่สวน เราต้องเข้าไปอยู่ในห้องขัง ต้องไปเจอผู้ต้องขังเยอะแยะมากมาย เราเสียใจ ร้องไห้นะ ในคดีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล ทำไมเราถึงยอมรับสารภาพ         ความหมายของผู้บริโภคเมื่อเกิดความเสียหายก็สามารถฟ้องได้  เราพูดในฐานะที่เป็นผู้บริโภคแล้วเวลาเราฟ้อง ในวันนั้นที่เราฟ้องคดีกลุ่ม ฟ้องในฐานะผู้บริโภค ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ซื้อด้วยและเราก็บริโภคด้วยเพราะเราเป็นคนใช้ แต่ศาลที่สตูลเขาบอกว่าถ้าด้วยตัวกฎหมายก็คือว่ามันไม่ใช่ชื่อกัลยทรรศน์ แต่มันเป็นชื่ออนัตตา มันผิดตรงนั้นที่เราไปลงบันทึกประจำวันไว้ ทำไม บริษัทถึงมาฟ้องเรื่องนี้ในปี 65  ทั้งที่เริ่มฟ้องคดีกลุ่มมาตั้งแต่ปี 60 แล้ว          ในคดีกลุ่ม บริษัทฯ ก็ทยอยไกล่เกลี่ย คืนเงินชดเชยซึ่งอาจเหลือไม่กี่คนแล้ว อันนี้เขาบอกนะ ถ้าสมมุติว่าเขาทำให้พี่ถอนฟ้องได้ การฟ้องแบบนี้มันเหมือน ฟ้องปิดปากเพื่อที่จะให้เราไปถอนฟ้อง เหมือนกับคดีปิดปากอื่นๆ เขาทำให้เรารู้สึกกลัว แล้ว จำนวนคนที่ยังอยู่ที่บริษัทจะชดใช้เงินคืนก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้กำลังใจเป็นอย่างไร          เรามีกำลังใจจากคนที่เข้ามาช่วยเรา ทั้งจาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และน้องๆ ทนายความจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่คอยปลอบใจ ให้กำลังใจเราเสมอ สิ่งที่อยากฝาก         เราได้บทเรียนว่าวินาทีที่เราตั้งใจซื้อไม่ว่าทางไหนก็แล้วแต่จะต้องมีหลักฐานเอกสารขนาดต้อง Copy ไว้หมดเลยการซื้อของทุกวันนี้ต้องเก็บหลักฐานตั้งแต่วินาทีสั่งของ เวลาที่ของมาถึงเราแล้วก็ต้องถ่ายรูปคนที่เขามาส่ง ต้องจำให้หมดแล้วถ่ายสำเนาไว้หมด ต้องมีหลักฐานหมด จุดเริ่มต้นที่ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม และหลังจากถูกฟ้องจากบริษัท ความคิด ความเชื่อได้เปลี่ยนไปไหม            เราก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปตามโฆษณาอย่างนั้นจริงๆ เพราะเราเชื่อโฆษณาไง เราก็ไม่อยากใช้น้ำมันเราอยากดูแลสุขภาพ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นไปตามนั้น  เราก็ใช้ทุกครั้งมันก็ติดกระทะมัน ก็ไม่เป็นจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ยกเลิกการสั่งสินค้าได้ แต่ต้องจ่ายค่าขนส่ง

เสียงของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ในวันนี้ คือ คุณเฉลิมศิริ พิพัธนไชย แฟนตัวยงและสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อ ปัจจุบันนี้ทำงานอยู่ที่บ้าน เป็นแอดมินฟรีเลนซ์ งานที่ทำค่อนข้างเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคพอสมควร เธอเล่าว่า “โดยนิสัยส่วนตัวคือตั้งแต่เด็กมาแล้วเป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครมาเอาเปรียบในเรื่องสิทธิของเรา และก็เป็นคนไม่ชอบเอาเปรียบใครในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน จะเป็นคนที่ไม่ค่อยยอมถ้ามีใครมาเอาเปรียบเรื่องพวกนี้ เช่นถ้าซื้อของแล้วบอกเราจะได้แบบนี้แล้วปรากฏว่าไม่ได้ตามที่คุยไว้เราก็จะถามเลยว่าเพราะอะไร ทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นบางคนเขาก็จะยอมๆ ไป ทำไมต้องเรื่องเยอะเรื่องมาก แต่สำหรับเรามีความรู้สึกว่าถ้าเรายอมให้เขาทำแบบนี้เรื่อยๆ คนที่ทำเขาก็จะคิดว่าทำได้ไม่ผิดแล้วเขาก็จะทำต่อไป” อยากให้เล่าเหตุการณ์ณ์ที่เกิดขึ้น         ย้อนกลับไปสัก 6  เดือนที่แล้ว วันนั้นนั่งดูโทรทัศน์รายการหนึ่งช่วงเช้า ก็ดูรายการตามปกติช่วงท้ายรายการเขามีการโฆษณาขายสินค้าทุกวัน วันนั้นเป็นการขายเซรั่มทาหน้าของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งซึ่งเราจะเจอได้บ่อยๆ ตามรายการต่างๆ อยู่แล้ว วันนั้นเป็นการโฆษณาขายเซรัมทาหน้า เราก็ฟังที่เขาพูดพอดีสรรพคุณของเซรัมที่เขาโฆษณามันตอบโจทย์ตรงกับที่เราต้องการพอดี เนื่องจากช่วงนี้ผิวหน้าเรามันเริ่มมีริ้วรอยจุดด่างดำ แล้วกำลังหาข้อมูลของครีมหรือเซรัมที่จะมาใช้พอดี เราฟังสรรพคุณแล้วมันตรงกับที่เราต้องการแล้วราคาที่เขาบอกเราพอจะซื้อได้ ราคาเซรัมที่เขาแจ้ง คือ 990 บาท ซื้อ 1 แถม 1 ถ้าสั่งซื้อตอนนี้คือส่งฟรี สามารถเก็บเงินปลายทางได้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แล้วเซรั่มสามารถใช้งานได้นานถึงครึ่งปี ก็เลยตัดสินใจว่าจะซื้อมาทดลองใช้ดู เขาให้สแกน QR Coad ที่ขึ้นหน้าจอเพื่อ Add Line ติดต่อสั่งซื้อกับพนักงานขาย หลังจาก Add Line แล้วก็มีพนักงานน่าจะเป็นผู้ชาย ทักมาบอกโปรโมชั่นนี้ตามที่โฆษณาในทีวี เราก็สั่งซื้อไป 1 ชุด ในราคา 990 บาท ส่งฟรี เก็บเงินปลายทาง จำได้ว่าสั่งไปช่วงประมาณไม่เกิน 11 โมงเช้าของวันนั้น เพราะรายการที่ดูจบตอน 10 โมง         หลังจากนั้นช่วงบ่ายสามหรือสี่โมงเย็นในวันนั้นเราต้องการยกเลิกการสั่งซื้อ เนื่องจากมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนและคิดว่าน่าจะยังไม่สามารถซื้อได้ช่วงนี้ เลยแจ้งเจ้าหน้าที่คนที่รับคำสั่งซื้อทางไลน์ว่าจะขอยกเลิกการสั่งสินค้าไปก่อนเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินช่วงนี้ยังไม่สะดวก ถ้าสะดวกแล้วจะสั่งไปใหม่อีกครั้ง ทางเจ้าหน้าที่น่าจะเป็นผู้ชายเพราะตอนที่คุยใช้คำว่าครับ แจ้งกลับมาว่าสามารถยกเลิกได้แต่เราจะต้องรับผิดชอบค่าขนส่งสินค้าเป็นจำนวนเงิน 150 บาท เขาบอกว่าสินค้าของเรามีการจัดส่งแล้ว เราถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมเราจะต้องรับผิดชอบเสียค่าขนส่งในเมื่อสินค้าก็ยังไม่ได้มาถึงบ้าน แล้วตอนที่คุณโฆษณาทางเจ้าของที่มาพูดก็แจ้งว่าจัดส่งฟรี แล้วเราเพิ่งสั่งสินค้าคุณไปช่วงเช้าเอง แล้วขอยกเลิกในช่วงเย็นทำไมถึงมีการส่งออกสินค้าเร็วขนาดนั้น เราคิดว่าระยะเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง ทางบริษัทน่าจะยกเลิกให้ได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าสินค้ามีการส่งแล้วเราสามารถยกเลิกได้ แต่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่าขนส่ง 150 บาท โดยเจ้าหน้าที่ให้เลขที่บัญชีมาเพื่อให้โอนเงินไปให้ ทางเราก็ยืนยันว่าเราจะไม่ขอรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้ในเมื่อตอนที่เราดูในทีวีกับตอนที่เราคุยกันไม่มีใครแจ้งว่าถ้ายกเลิกสินค้าแล้วเราจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งเป็นเงิน 150 บาท ตามที่เขาบอก         ก็คุยเหตุผลกันไปมาในไลน์สักพักเขาก็แจ้งว่าเขาต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้แทนเรา เราก็บอกว่าขอดูเอกสารการส่งสินค้าและใบเสร็จค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้า ซึ่งถ้าเขาต้องรับผิดชอบเราก็จะจ่ายให้แต่ขอจ่ายจริงตามใบเสร็จที่ส่งของ ทางเจ้าหน้าก็ที่ส่งใบส่งของให้ดูว่ามีการส่งในวันนี้เวลากี่โมง ซึ่งเป็นเอกสารของทางบริษัทที่ออกเองไม่ใช่ของทางบริษัทขนส่ง ส่วนใบเสร็จค่าส่ง เขาก็ไม่ให้ดูโดยให้เหตุผลว่าเขาไม่สะดวกไม่มีนโยบายให้ลูกค้าดู เราก็ยืนยันว่าจะไม่จ่ายตามจำนวนที่แจ้งมาจะจ่ายให้ตามใบเสร็จค่าขนส่งเท่านั้น         จริงๆ เราจะไม่จ่ายก็ได้แต่เห็นเจ้าหน้าที่พูดว่าถ้าเราไม่จ่ายเขาจะต้องเป็นคนจ่ายเงินตัวเองให้กับทางบริษัทเราก็เลยจะรับผิดชอบแทนให้ แต่เขาก็ยืนยันว่าเราต้องจ่ายให้เขา 150 บาทเท่านั้น คุยกันสักพักเขาเริ่มพูดจาไม่ดี มีการต่อว่าเรา เขาบอกว่าตั้งแต่เขาขายของมาไม่เคยเจอลูกค้าแบบเรา ว่าเราเป็นคนที่นิสัยแย่มากไม่มีความรับผิดชอบ ลูกค้าคนอื่นๆ ที่เขายกเลิกเขาก็ยินดีโอนเงินจ่ายคืนให้บริษัททุกเคสคือ 150 บาท ไม่มีใครเคยปฏิเสธ เพิ่งเคยเจอเราเป็นคนแรกที่ไม่ยอมจ่าย หลังจากนั้นก็ส่งใบประกาศที่ออกโดยบริษัทขนส่งสีส้ม สีเหลือง แล้วก็บริษัทอื่นอีกมาให้เราดู โดยในรายละเอียดใบประกาศมีมาตรา กฎหมายแจ้งว่าถ้ามีการสั่งสินค้าแล้วลูกค้ายกเลิก ลูกค้าจะต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายที่ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย ถ้าไม่จ่ายทางบริษัทสามารถดำเนินคดีกับลูกค้าได้ เนื้อหาโดยจะประมาณนี้         เราแคปเอกสารที่เขาส่งไว้ทั้งหมดรวมทั้งคำพูดที่คุยกันในไลน์ ทางเจ้าหน้าที่ที่คุยกับเราเขาบอกว่าจะไม่คุยต่อแล้วไว้ให้ไปเจอกันในศาลจะให้ทางบริษัทดำเนินคดีกับเราให้ถึงที่สุด จะให้เป็นเคสตัวอย่างกับลูกค้าคนอื่นๆ ที่จะทำแบบเรา เราก็เลยแจ้งไปว่าก็แล้วแต่คุณเห็นสมควร แต่เรายืนยันว่าเราจะไม่จ่ายเงินให้อย่างแน่นอน หรือถ้าจ่ายก็ต้องจ่ายตามใบเสร็จเท่านั้น หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้คุยต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้ชายคนนั้นอีก ตอนที่เจ้าหน้าส่งเอกสารประกาศของบริษัทขนส่งที่แจ้งว่าจะดำเนินคดีกับลูกค้าที่สั่งสินค้าแล้วปฏิเสธการรับสินค้ามาให้แล้วได้ดำเนินอะไรต่อบ้าง         หลังจากนั้น เราได้โทรไปถามกับบริษัทขนส่งชื่อดังสีส้ม Call Centre เขาให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางไลน์ น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ เราเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ แล้วส่งใบประกาศที่แคปมาจากบริษัทนั้นให้เจ้าหน้าที่ดู แล้วถามเขาว่าทางบริษัทของเขาได้ทำประกาศฉบับนี้ออกมาใช่หรือเปล่า ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทางบริษัทเขาไม่เคยจัดทำและไม่ได้จัดทำประกาศฉบับนี้ออกมา เราเลยแจ้งว่าเราได้รับเอกสารประกาศนี้จากเจ้าหน้าที่บริษัทที่เราสั่งของส่งมาให้ โดยเขาอ้างว่าเอามาจากบริษัทของคุณทางบริษัทของคุณเป็นคนออกประกาศนี้ เราเลยบอกว่าถ้าทางบริษัทคุณไม่ได้ออกเอกสารฉบับนี้ก็เท่ากับว่าบริษัทนั้นจัดทำเอกสารขึ้นมาเองโดยอ้างชื่อบริษัทคุณว่าเป็นคนจัดทำ แล้วอย่างนี้ทางบริษัทคุณจะจัดการอย่างไรบ้าง แสดงว่าเขาปลอมแปลงเอกสาร ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะแจ้งให้ทางหัวหน้ารับทราบ แล้วก็เลิกคุยไปเลย เราก็ถามไปว่าสรุปคุณจะจัดการอย่างไร แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งสีส้มไม่คุยกับเราต่อแล้วบล็อกเราไปเลย         เราเลยโทรปรึกษาเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แล้วเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เขาฟัง เขาก็เลยให้เราแจ้งเรื่องนี้เข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเหลือในเรื่องนี้ หลังจากนั้นอีกประมาณสองวัน สินค้าตัวที่เราแจ้งยกเลิกไปมาส่งที่บ้านเรา โดยมีเจ้าหน้าที่จากขนส่งโทรมาแจ้งว่าจะมีสินค้ามาส่งเก็บเงินปลายทางเป็นจำนวนเงิน 999 บาท เราเลยแจ้งเจ้าหน้าที่ไปว่าไม่ต้องเอาเข้ามาส่งเพราะเราแจ้งยกเลิกไปแล้ว เขาก็เลยไม่ได้นำส่ง หลังจากนั้นสักพักมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงจากบริษัทที่เรายกเลิกสั่งของโทรมาแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโกดังจ่ายของเขาถามว่าเราปฏิเสธการรับของใช่หรือไม่ เราแจ้งว่าใช่เพราะเราแจ้งยกเลิกไปกับเจ้าหน้าที่ขายผู้ชายในไลน์แล้ว เมื่อมีของมาส่งเราเลยปฏิเสธการรับ เขาแจ้งว่าจริงๆ เรายกเลิกไม่ได้เราเลยบอกขอไม่คุยต่อเพราะเหตุผลต่างๆ ได้แจ้งไปตั้งแต่แรกแล้วให้ไปถามกับคนที่เรายกเลิกเอง สักพักมีไลน์จากบริษัทนี้แจ้งเข้ามาจากเจ้าหน้าที่ผู้ชายที่คุยกับเราคนแรก แจ้งว่าให้เรารอรับหมายศาลได้เลยจะให้ทางบริษัทดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง เราก็บอกว่าไม่เป็นไรเอาตามที่คุณเห็นสมควรคงคุยกันแค่นี้เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากนั้นเราก็รอว่าจะมีการดำเนินคดีหรือมีการติดต่อใดๆ จากบริษัทมาอีก แต่ปรากฏว่าเงียบหายไป ไม่มีการติดต่อกลับมาอีกเลย แถมยังมีการส่งไลน์มาขายของอีกเป็นระยะด้วย ทางบริษัทฯ ยังติดต่อเข้ามาหรือไม่         ทางบริษัทไม่มีการติดต่อใดๆ มาเลยทั้งจากบริษัทที่สั่งของไป หรือบริษัทขนส่งสีส้มที่เราถามเรื่องประกาศแจ้งการยกเลิกสินค้า ทั้งสองที่ไม่มีการติดต่อเข้ามาเลย ซึ่งหลังจากที่เกิดเรื่อง เราได้ติดต่อไปที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดยเล่าให้กับเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่ฟัง แล้วก็มีการเขียนร้องเรียนไปที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่โทรติดต่อมาสอบถามเรื่องราวต่างๆ ว่า สรุปว่าทางบริษัทได้มีการดำเนินคดีตามที่เขาแจ้งหรือมีการติดต่อกลับมาว่าอย่างไร ซึ่งทางเราได้แจ้งไปว่าทางบริษัทเขาไม่ได้มีการติดต่อเข้ามา ทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิก็แจ้งว่าในกรณีถ้ามีการแจ้งดำเนินคดีหรือมีเรื่องที่เกี่ยวข้องจะให้ความช่วยเหลือต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้น มีคำแนะนำกับผู้บริโภคท่านอื่นๆ ในการพิทักษ์สิทธิ์อย่างไร         คือมองว่าการที่เราเป็นผู้บริโภค เป็นผู้ซื้อหรือผู้รับบริการต่างๆ ทุกคนควรมีสิทธิที่จะดูแลปกป้องสิทธิของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเวลาที่เราทุกละเมิดถูกกระทำแล้วเราจะต้องกลัวว่าจะมีเรื่องมีราวตามมาหรือจะต้องยอมทุกครั้งทั้งๆ ที่เราไม่ได้ผิด คือสำหรับตัวเองถ้าเราไม่ผิดเราจะไม่ชอบให้ใครมาเอาเปรียบ เรามีสิทธิที่จะปกต้องตัวเราและผู้บริโภคคนอื่นๆ ที่เกิดเหตุการณ์เหมือนเรา         ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าทุกครั้งควรศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน ชื่อบริษัท รายละเอียดสินค้าต่างๆ ควรดูให้ครบถ้วน อย่างกรณีโฆษณาขายสินค้าในทีวี เราควรถ่ายรูปรายละเอียดที่เขาขึ้นหน้าจอไว้ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง หรือถ้าใน Platform ต่างๆ เราก็ควรแคบหลักฐานต่างๆ ไว้ให้ครบถ้วน ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดหรือเสียหายเราจะได้มีหลักฐานเก็บไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 จองห้องพัก ตัดบัตรเครดิตเต็มจำนวน...แต่ไม่ได้เข้าพัก!!

เดี๋ยวนี้ เรามักจะได้ยินข่าว เช่นว่า เด็กเผลอกดโหลดแอพดูดเงินออกจากบัญชี  หรือ สารพัดแอพที่ดูดเงินจากธนาคารออนไลน์ได้ของเราได้ง่ายๆ  แต่จริงๆ แล้ว แม้ศึกษาข้อมูลมาอย่างดี ความผิดพลาดจนเสียเงินก็ยังเกิดขึ้นได้ เช่นเรื่องราว คุณพาณิภัค ทิพย์เที่ยงแท้ ที่เธอได้จองที่พักเพื่อไปพักผ่อนกับครอบครัวในช่วงวันหยุดยาวเอเปคระหว่างวันที่ 16- 18 พฤศจิกายน ที่หัวหินที่ผ่านมา ซึ่งการจองที่พักเธอคิดว่าสามารถผ่อนชำระได้ แต่เมื่อเข้าไปจองระบบกลับตัดยอดค่าที่พักเต็มจำนวนจากบัตรเครดิตในครั้งเดียว เมื่อเธอพยายามติดต่อขอยกเลิกการจอง แต่กลับถูกหักเงินและไม่ให้บ้านพักที่จองไว้อีกด้วย เรื่องนี้ แม้ปัญหาจะได้รับการแก้ไขแล้ว แต่คุณพาณิภัคก็อยากส่งต่อเรื่องราว เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน รักษาสิทธิไม่ให้ใครมาละเมิดได้         “เราไม่ได้ยอมแพ้ เราเลยได้เงินจำนวนนี้คืนมา  เพราะมันก็เป็นสิทธิที่ไม่ควรเสียไปตรงนี้”  ตอนที่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้น  มีที่มาอย่างไร          คือช่วงวันที่ 16 – 18  พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษ ที่ทำงานเราก็หยุดด้วยเลยอยากพาครอบครัวไปเที่ยว พักผ่อนที่หัวหิน แล้วเลยต้องจองที่พัก เราจึงเลือกใช้บริการกับ Agoda  เพราะว่าใช้กันมานานแล้ว  แล้วเราสอบถามไปที่โรงแรมที่ต้องการไปพักแล้วแพงกว่าราคาใน  Agoda เชคตอนนั้นราคาใน Agoda คือถูกที่สุดเราก็เลยจอง  ตอนนั้นที่จองเป็นบ้าน 1 หลังเลยเพราะไปพักกับครอบครัว มี  3 ห้องนอน แล้วปัญหาเริ่มเกิดขึ้น ตอนไหน ยังไง          คือปกติ  Agoda จะมีให้ผ่อนชำระด้วยบัตรเครดิต คือผ่อนได้ทั้งทางบัตรเครดิต และผ่านทางแอพพลิเคชันของเขา ผ่อนชำระได้  3- 6 เดือน ซึ่งตอนจองเราคิดว่าตอนเลือกชำระเงินก็ต้องมีให้เลือกว่าจะจ่ายเงินอย่างไร แต่พอกดตกลงไปแล้ว มันไม่ได้มีผ่อน กดไปแล้วชำระเต็มจำนวนเลย  45,000  บาท  คือในเว็บไซต์ราคา 45,000 แต่จะมีส่วนต่างที่จะคืนเป็นแคชแบ็กให้ ที่ตัดไปจากบัตรจะตัดไป 43,000 กว่าบาท ตอนที่จองเวลาประมาณ 22.27 น. พอเห็นยอดตัดเด้งเข้ามาที่มือถือ เราเลยรีบยกเลิก  เขาก็ขึ้นมายกเลิกไม่ได้ การจองนี้เป็นการจองที่ยกเลิกไม่ได้ เราเลยโทรไปที่ Agoda  แจ้งว่าเป็นการกดชำระผิด  Agoda ก็บอกว่าให้เราติดต่อไปที่โรงแรมด้วยตัวเอง ถ้าเกิดโรงแรมยินยอมให้ยกเลิก  Agoda ก็ยินดีที่จะคืนเงินให้เต็มจำนวน  แต่ตอนนั้น 4 ทุ่มครึ่งแล้ว  ฝ่าย reservation ของโรงแรมเลิกทำงานไปแล้ว เราเลยติดต่อในวันรุ่งขึ้น ที่ต้องการจะยกเลิกเพราะไม่พอใจ ที่บริษัทบอกว่า สามารถผ่อนชำระได้ แต่ตัดจ่ายในครั้งเดียว         ไม่พอใจที่ตัดยอดเต็มจำนวน   ตรงที่เลือกตรงที่ให้ผ่อนได้  มันหายไป  เราเข้าใจว่าอีกหน้าหนึ่งหรือเปล่า ตอนที่กด เขาบอกว่าห้องพักนี้ผ่อนชำระได้ แต่เข้าไปแล้ว ไม่มีตัวเลือกนั้น  กลายเป็นตัดเต็มจำนวนไปเลย ตอนหลังเราลองทำในคอมพิวเตอร์ก็มีผ่อนชำระ  แต่ไม่สามารถทำได้ในแอพนะ ยังไงก็ทำไม่ได้  ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ได้ถามปัญหานี้กับบริษัทนะ  ยอมรับว่า เราก็ห่วงแต่เรื่องเงินของเรา แล้วคิดว่าถ้าจบแล้ว จะไม่ได้ใช้บริการแล้ว ถ้าทำผิดอีก แล้วเงินมันเยอะ เราก็รู้สึกว่า ถ้าเงินเยอะ แล้วมีปัญหา กดดันมากกว่าเงินจำนวนน้อย แล้วการติดต่อโรงแรมในวันรุ่งขึ้นเป็นอย่างไร         ฝ่าย reservation ของโรงแรม เขาก็บอกว่า ยินดียกเลิกให้ คืนเงินให้ แต่เขายังไม่เห็นว่ามีการจองนี้เข้ามาเลย          ตรงนี้เราเลยโทรกลับมาที่ Agoda อีกครั้งว่า โรงแรมแจ้งว่ายังไม่มีการจองนี้เกิดขึ้น  ซึ่งถ้ามีเข้าไป โรงแรมจะยกเลิกให้  เราบอกเขาว่า โรงแรมยินดียกให้     โอเค Agoda ก็ให้รออีก  48 ชม.  ผ่านไป เราก็ร้อนใจ มันขึ้นสถานะว่ายังไม่ได้ยกเลิก เราก็โทรกลับไปใหม่ เขาบอกว่าจะติดต่อกลับ อีกวันหนึ่งเขาก็โทรมา เขาใช้คำว่า ‘Property’ ไม่ให้ยกเลิก ซึ่งก็ต้องหมายถึงโรงแรมใช่ไหม  เขาใช้คำนี้ เราเลยบอกว่า ไม่ใช่นะ เพราะได้คุยกับโรงแรมแล้ว  แต่เราก็เอ๊ะ หรือว่าโรงแรมเขาเปลี่ยนคนหรือเปล่า ไม่ใช่คนที่คุยกับเราแล้วเขาเลยไม่ยกเลิกให้เรา เลยโทรกลับไปที่โรงแรมใหม่ แล้วเลยถามชื่อ ว่าคนที่เราคุยด้วย ชื่ออะไร เขาเลยบอกว่า ชื่อคุณคนนี้ .... แล้วเขาบอกว่า เขายินดีให้เราบอก Agoda ได้เลย เขาชื่อนี้ เขายินดียกเลิกให้         สรุปสุดท้าย Agoda พูดว่า การจองนี้ เป็นการจองที่เขาส่งไปให้บริษัท Supplier  อีกเจ้าหนึ่งเป็นคนจองให้  เราเลยบอกว่า เราไม่รับรู้ เราไม่ได้จองผ่านที่อื่น ถ้ารู้ว่าเขาจะไปส่งต่อให้  Supplier แล้วมันยุ่งยากเราจะไม่จอง เพราะว่าเราก็เชื่อถือใน  Agoda  แล้วทางโรงแรมไม่ได้มีปัญหาเลย แล้วตอนนั้น เริ่มแก้ปัญหาอย่างไร          เราเลย อีเมลไปต้นสังกัด ที่สำนักงานใหญ่ Agoda สิงคโปร์  ต้นสังกัด เขาตอบกลับมาอีกว่าเป็นเพราะ ‘Property’ ไม่อนุญาตให้คุณยกเลิกการจอง แล้วเวลาหยุดก็ใกล้เข้ามาก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร เราเข้าไปจองวันที่ 22 ตุลาคม จนวันที่ 27 ตุลาคม เขามาแจ้งว่าจะไม่คืนเงินให้ เขาจะยืดเงินไว้ทั้งหมด แล้วจนถึงตอนนั้นเราโทรไปที่โรงแรม  โรงแรมก็ยังไม่ได้รับการจองเลย  คือไม่มีการจองเข้าไป  เราเลยโทรกลับไปที่ Agoda อีกครั้งว่า ก็มันยังไม่มีการจอง แล้วจะมายึดเงินเรื่องอะไร  เสียหายอะไรถึงจะมายึดเงิน คือการจองยังไม่สมบูรณ์อะไร  โรงแรมเขาก็ยืนยันว่ามันไม่มีชื่อนี้จองเข้ามา ถามเขาแล้วว่า แล้วมีชื่ออื่นไหมที่จองเข้ามาระหว่างวันที่ 16 – 17 พ.ย.  โรงแรมบอกว่า ไม่มีเลย ไม่มีชื่อใครจองเข้ามา ทาง  Agoda  ยืนยันอีกว่าเขาจะไม่คืนแต่เขาจะช่วยนั่นนี่ คือเขาจะคืนเงินให้เรา 70 % อีก 30% เขาจะหักไว้คือประมาณ 12,000   เราบอกว่าไม่รับ เพราะว่าเขายังไม่ได้ทำอะไรให้เลยจะหักเงินไป เฉยๆ 12,000 ได้ยังไง  เขาบอกว่าให้รับไปเถอะ เพราะว่าวันนี้ Supplier ยอมแค่นี้  แต่ว่าถ้าเลยวันนี้ไปเขาไม่รับประกันว่าจะคืนเงินให้หรือเปล่า เขาอาจไม่คืนให้เลยก็ได้  เราเลย อ่ะ ไม่เป็นไร  เดี๋ยวเราจะฟ้องเพราะว่าทุกอย่างมันยังไม่เกิดขึ้น  เขายังไม่ได้เสียอะไร   นั่นคือจุดเปลี่ยนที่แบบ ปัญหานี้แก้เองไม่ได้แล้ว  ต้องการความช่วยเหลือ          ถึงตอนนี้ เรายังพยายามนะ สุดท้ายเราก็บอกว่า งั้นเอาแบบนี้ได้ไหม ถ้าคืนเงินให้ไม่ได้จริงๆ   คุณเอาห้องให้เราได้ไหม ให้เราไปพักในราคานี้ก็ได้  เพราะ เราก็เสียเงินไปแล้วจริงไหม  เขาบอกว่า ทำให้ไม่ได้ เขาจะหักเงินเท่านั้น  คือเขาไม่คุย เขาจะหักเงินเท่านั้น  คือห้องก็ไม่ให้  คือเขาไม่ให้อะไรเลย  เราเลยไม่โอเคแล้ว   ตอนนั้น Agoda  สำนักงานที่ไทยหรือ สิงคโปร์ที่บอกว่าจะหักเงินไว้ 30%         ตอนแรกคือ Agoda Thailand  เป็นอีเมลที่เขาตอบโต้มา แต่ก็ Agoda สิงคโปร์ด้วยที่ตอบกลับมา  เราเลยบอกว่า เราไม่รับนะ  เราไม่โอเค แล้วเลยเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   งั้นปัญหาจริงๆ  น่าจะอยู่ที่บริษัท Supplier ไม่ได้เข้าไปจองกับโรงแรม        ใช่   สุดท้าย พอใกล้ถึงเวลาจริงๆ เราต้องไปจองอีกเว็บหนึ่ง  เพราะว่าใกล้วันที่จะเข้าไปพักแล้ว เราจองไปตอนสายๆ  พอจองแล้วโทรไปถามตอนเที่ยง มีชื่อเราแล้ว โรงแรมได้รับจองแล้ว   แต่จาก Agoda   ยังไม่ไปขึ้นอยู่ดี  ก็เหมือนจริงๆ แล้วไม่ได้จองให้เรา   แล้วพอตัดสินใจว่าไม่ยอม คุณพาณิภัค เข้าไปร้องเรียนที่ไหนบ้าง          มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทางระบบร้องเรียน และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ (สคบ)  แค่ 2 ที่นี้  เข้ามาร้องเรียนช่วง  1 พ.ย.  ก่อนเข้าพักไม่นาน เพราะมูลนิธิยังโทรกลับมาถามว่า ใกล้ถึงช่วงที่เราจะเข้าพักแล้ว มีอะไรคืบหน้าไหม   ระหว่างนั้น มูลนิธิเข้าไปดำเนินอะไรบ้าง        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โทรเข้าไปที่บริษัท  Agoda จากที่เราให้เบอร์ไว้ ซึ่ง Agoda เขาไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดกับมูลนิธิฯ ได้ เพราะไม่ใช่คนที่จองเข้าพัก  มูลนิธิเลยบอกว่าจะส่งจดหมายไปที่บริษัท Agoda เลย        ส่วนทาง  สคบ.เขาก็มีหนังสือเป็นจดหมายลงทะเบียนจะขอให้เรียกบริษัท Agoda  เข้ามาชี้แจง ท่าทีของบริษัทเปลี่ยนไปไหม  เมื่อมีหลายหน่วยงานเข้าไป         ใช่ๆ  เพราะตอนแรก  เขาไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย เราก็โอเค ในเมื่อคุณไม่คืนเงินนะ เราก็จะดำเนินการฟ้องร้อง คือไม่มีติดต่อกลับมาอีกเลย     ไม่มีบอกว่าจะช่วยเหลือหรืออะไรอย่างไร  จนวันเข้าพักผ่านไป เขาก็ไม่ติดต่อกลับมา  จนมีหนังสือกลับมาจาก สคบ. แล้วมูลนิธิโทรมาบอกว่า  Agoda  บอกว่าจะติดต่อกับมูลนิธิ เป็นหนังสือภายใน  10 ม.ค.         สุดท้ายวันที่ 25 ธันวาคม บริษัทโทรมาบอกว่า  เขาเห็นว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดี เขาจะคืนเงินให้เต็มจำนวน แล้วไม่นาน อีเมลก็เข้ามา เราเข้าไปดู เขาคืนเงินมาแค่  70%  เราเลยโทรไปถามว่า จากที่โทรมาบอกว่าจะคืนให้เต็ม 100% นะ  เขาบอกว่า ตอนแรกเขายอมแค่  70%  แต่ตอนนี้เขาโอเคแล้ว อีกยอดหนึ่งจะเข้ามา แล้วอีกประมาณ  3-4 วัน ก็ได้อีกยอดหนึ่ง 30% จำนวน  11,999  สุดท้ายคือได้ครบ ภายในเดือน ธ.ค. ตอนนี้ก็ได้เงินคืน ครบหมดแล้ว ตอนนี้ปัญหาได้รับเงินคืนแล้ว แต่เป็นเรื่องที่อยากบอกเล่า เพราะอะไร          เพราะเขาบอกว่า ยกเลิกแล้ว ไม่มีสิทธิ์ดึงห้องกลับมา เราเลยถามว่า เราต้องเสียเงินไปฟรีๆ เลยหรือ  โดยที่เขาไม่ได้ทำอะไร เหมือนเอาเงินเราฟรี เขาไม่ยอมเลย จนมูลนิธิช่วย เขียนจดหมายไปหาเขา  เลยมีฟีดแบ็คกลับมา   เราคิดว่าถ้าตัวเราเอง คงไม่สามารถทำอะไรได้ เขาปฏิเสธการคืนเงินอย่างเดียวเลย  แล้วเราไปที่ สคบ. ออนไลน์ ด้วย เลยได้คืนมา อยากฝากอะไรถึง ผู้บริโภคที่อาจได้ทำธุรกรรมแบบนี้บ้าง         ฝากว่าเรื่องบางอย่างที่ไม่เป็นธรรม  ก็อย่าคิดว่าจะไม่มีที่ไหนช่วยเหลือได้  เราลองหาข้อมูลก่อน เพราะอย่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สคบ. เราก็หาข้อมูลด้วยตัวเอง  ที่ไหนที่จะดูแล คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคได้  เราก็หาข้อมูลจาก google  แล้วเข้าไปปรึกษาไป แล้วเราไม่ได้ยอมแพ้ เราเลยได้เงินจำนวนนี้คืนมา  เพราะมันก็เป็นสิทธิ์ที่ไม่ควรเสียไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 คดีแพ้ คนไม่แพ้ ตีแผ่ฟิตเนสเอาเปรียบผู้บริโภค

        “นี่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเจ้าปัญหา แต่เป็นเรื่องว่าด้วยสิทธิของผู้บริโภคในการรับบริการ ถ้าเราชำระเงินค่าบริการครบถ้วนแล้ว เราได้รับบริการที่ครบถ้วนตามนั้นหรือไม่ เมื่อผมเห็นว่าไม่ได้ ผมสมัครได้ก็เลิกได้สิครับ”         ด้วยความคิดนี้ คุณจตุพล ปัทม์วิชัยพร จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาลผู้บริโภคว่าเขาถูกละเมิดสิทธิจากฟิตเนสแห่งหนึ่งซึ่งเขาเป็นสมาชิกรายปีอยู่ ในกรณีที่ฟิตเนสปฏิเสธการขอยกเลิกสมาชิกของเขา         ถึงแม้ในวันนี้เขาจะแพ้คดี แต่เขายังคงเชื่อมั่นในพลังของผู้บริโภค และยินดีมาคุยกับ “ฉลาดซื้อ” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนอื่นๆ ได้รู้เท่าทันการถูกเอาเปรียบจากธุรกิจฟิตเนส สมัครเป็นสมาชิกฟิตเนสนานแค่ไหน แล้วทำไมถึงจะขอยกเลิก         ตั้งแต่ปลายปี 2561 ผมสมัครสมาชิกประเภทรายปี คือชำระเงินในวันแรกที่สมัครเต็มจำนวน แล้วก็มาเล่นให้ครบหนึ่งปี พอเข้าปีที่สองตอนจะต่ออายุทางฟิตเนสแจ้งว่าเขาเปลี่ยนเจ้าของ เปลี่ยนชื่อใหม่ สัญญาที่เซ็นครั้งที่สองก็เลยเป็นชื่อของที่ใหม่ เริ่มประมาณสัญญาใหม่เดือนมกราคม ปี 2563 พอดีมีการระบาดของโควิดเข้ามาช่วงกุมภาพันธ์ ต่อมารัฐบาลก็สั่งล็อคดาวน์ ฟิตเนสก็ต้องปิด พอเริ่มผ่อนคลายให้เปิดได้บางช่วง ผมก็ไปใช้บริการอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะปิดอีกในช่วงตุลาคมแล้วยาวเลย เพราะโควิดระบาดหนักมาก         ฟิตเนสกลับมาเปิดได้ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 ผมก็มาออกกำลังกาย แต่ว่าบริการต่างๆ ตามที่ตกลงกันไว้ถูกตัดออกไปหมด ทั้งห้องซาวน่า (ห้องอบไอน้ำ) คลาสโยคะ คลาสออกกำลังกายก็ไม่เปิด เปิดเฉพาะส่วนยกน้ำหนัก ลู่วิ่ง ผมก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้นะ เพราะเราตกลงกันแล้วว่าจะต้องให้บริการอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าช่วงนี้ยังไม่พร้อม ผมก็บอกว่าถ้าคุณจะทำอย่างนี้ คุณต้องมีมาตรการชดเชยให้ลูกค้านะ ก็คือว่าคุณมาเปิดแล้ว แต่คุณให้บริการไม่ครบ คุณต้องมีอย่างอื่นมาตอบแทน ผมก็ต่อว่าไป เจ้าหน้าที่เขาก็เถียงว่าไม่ใช่เจ้าของ ตัดสินใจอะไรไม่ได้ ผมก็ขอคุยกับเจ้าของ เขาก็เลี่ยงไม่ให้เจ้าของมาเจอผม พอผมเข้าไปที่ฟิตเนส เขาก็ทำเฉยกัน อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่พอใจ         แล้วผมก็ยังกังวลว่าจะติดเชื้อโควิดจากลูกค้าท่านอื่นที่มาใช้บริการด้วย เพราะไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยเลย แล้วบางทีเขาก็ให้เข้ามาโดยไม่ได้วัดอุณหภูมิ ไม่ได้ตรวจอะไร ไม่ได้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง อีกอย่างหนึ่งคือพอผมมาออกกำลังกายแล้วผมใส่หน้ากากอนามัย ผมก็หายใจไม่สะดวกด้วย ทีนี้ผมก็บอกเขาไปว่าจะขอยุติไว้เท่านี้ ส่วนที่เล่นไปแล้วก็ให้จ่ายเงินตามปกติ เพราะผมให้เงินไปแล้ว แต่ส่วนที่ผมไม่มาเล่นจะขอคืนตามสัดส่วนไป ก็พูดกันตรงๆ อย่างนี้เลย แล้วทางฟิสเนสตอบกลับมาว่ายังไงบ้าง         เจ้าหน้าที่เขาก็พูดว่าจะขอแจ้งเจ้าของก่อน เขาตัดสินใจเองไม่ได้ เขาจะซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ จนดูว่าเริ่มไม่จริงใจกับสิ่งที่ผมเรียกร้องไปแล้ว ผมก็บอกไปว่าขอหยุดวันนี้เลยแล้วกัน คุณมีเอกสารใบลาออกหรือใบอะไรไหม ผมจะเขียนเลยว่าขอคืนเงิน ขอยุติ เขาก็บอกว่าไม่มี ผมก็เลยบอกว่าผมพูดปากเปล่าวันนี้เลยนะว่าผมหยุดตั้งแต่วันนี้ แล้วผมจะทำหนังสือมาให้คุณเซ็น ผมก็กลับไปทำหนังสือมาให้เซ็น เขาก็ยังไม่ยอมเซ็นชื่อในเอกสารที่เราเตรียมไปให้ แค่ลงชื่อว่ารับเรื่องไว้เท่านั้น พออีกประมาณสองอาทิตย์ ผมก็เข้าไปตามเรื่อง เขาก็มีหนังสือปฏิเสธว่าไม่ให้ยกเลิกมา อ้างว่าผมกลัวโควิดไปเองอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐบาลเขาให้เปิดแล้วคุณก็ต้องมาเล่น แต่ว่าเขาไม่ได้ดูไงว่าคนที่เขามาเล่นจริงๆ เขาได้รับผลกระทบอย่างไร         ผมก็เลยบอกว่าสัญญาที่เราเซ็นกันไว้คือตกลงกันในสถานการณ์ปกติ แต่วันนี้มีโควิดแล้วไปต่อไม่ได้ในการที่จะออกกำลังกายในสถานการณ์อย่างนี้ ทิ้งไปเลยก็เสียเงินฟรี คุณได้ผลประโยชน์ ผมเสียประโยชน์ ก็ต้องยุติกันไว้ เขาก็ไม่ยอม ผมก็เลยต้องไปฟ้องศาลผู้บริโภค แล้วทำไมเลือกไปฟ้องศาลผู้บริโภค         ผมได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าลองมาใช้บริการช่องทางนี้ว่าเป็นอย่างไร แล้วผมก็ลองค้นหาจากอินเทอร์เน็ตดู เขาก็จะพูดกันโดยทั่วๆ ไปว่าศาลผู้บริโภคเขาค่อนข้างอยู่ข้างผู้บริโภค มีอะไรเรามาทางนี้ดีกว่า ถ้ามีความจริงใจ มีปัญหา ตรงไปตรงมา ก็มาเคลียร์มาพิสูจน์กันที่นี่ ก็เลยไปยื่นเรื่องที่นี่ ซึ่งพอผมเข้ากระบวนการต่างๆ แล้ว ผลออกมาก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้บริโภคคาดหวัง ในด้านของคำตัดสินต่างๆ แล้วก็การยกเลิก ก็สรุปว่ายกเลิก (สัญญา) ไม่ได้ ที่ศาลผู้บริโภค ไปดำเนินการคนเดียวเลย        ผมก็ไม่เคยขึ้นศาล ผมติดต่อสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ทางไลน์ เขาให้ผมส่งเอกสารข้อมูลเพื่อทำสำนวนคำฟ้อง ต่อไปก็เริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย ผมก็ไม่รู้ว่าบทบาทของศาลในกระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นอย่างไร แต่เมื่อไกล่เกลี่ยแล้วทางฝ่ายฟิตเนสเข้าไม่ยอมคืนเงิน ผมเห็นว่าทางผู้ประกอบการเขาจ้างทนายมา แล้วเขาคงมองว่าไม่แพ้หรอกคดีอย่างนี้ เพราะถูกรัฐบาลสั่งปิดไม่ได้อยากหยุดเอง ตัวผมเองก็ไม่ได้โทษรัฐบาลที่สั่งปิด ที่ผมยกเลิกเพราะว่าคุณเปิดแล้วบริการไม่เหมือนเดิม ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวก และประโยชน์จากการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ อันนี้คือประเด็น ผมก็ไม่รู้ว่าไปตีความกันอย่างไร ไปโทษเป็นทำนองว่าผู้บริโภคเจ้าปัญหา หาเรื่อง เรื่องแค่นี้มาขึ้นศาลทำไม ตอนที่ไปขึ้นศาล ต้องมีทนายฝั่งเราไหม หรืออย่างไร         เขาบอกว่าศาลนี้เหมือนเป็นศาลพิเศษ คือเป็นศาลผู้บริโภค เป็นคดีผู้บริโภค เขาบอกว่าผู้บริโภค คุณไม่ต้องไปจ้างทนาย คุณมาที่นี่แล้วเดี๋ยวเขาจะมีคนร่างคำฟ้องให้คุณ ตอนแรกผมก็ว่าดีนะ คือได้ช่วยผู้บริโภคจริงๆ แต่พอไปเข้าจริงๆ กลับไม่ใช่ไง กลายเป็นผมไม่รู้เรื่องไปเลยและไม่มีคนแนะนำด้วย พอผมจะถามเพื่อขอคำแนะนำ เขาโยนไปทนายอาสา ไปถามทนายอาสา คุยกันเอาเอง ที่นี่คือทำสำนวนให้แล้วก็จบแค่นี้ แล้วไม่เกี่ยวอะไรแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของคุณแล้ว ไม่ได้แจ้งอะไรผมเลย เขาไม่ได้ยุ่งอะไรกับผมด้วย เขาให้เราไปขึ้นศาล ผมก็ไปแบบไม่มีอะไรทั้งนั้น ไม่มีทนาย ก็ไปพูดเอง สืบเอง เตรียมเองหมด แต่ผมก็มองว่าไม่น่าจะยาก เพราะว่าผมก็เชื่อว่าผมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือไปประเด็นแค่นี้ ไม่ได้ไปหาเรื่องอะไรใคร ผมก็เขียนไปชัดเจนแล้ว หลักฐานเราก็มีหมด ปัญหาที่ผมไปร้องคือ คุณเปิดแล้ว ผมไปใช้บริการแล้ว แต่ไม่ได้เป็นบริการตามที่ตกลงกัน อันนี้คือประเด็น ผมไปศาลเพราะเรื่องนี้ นอกจากศาลผู้บริโภคแล้วได้ไปที่อื่นอีกไหม หรือจบแค่นี้         ผมมาตรงนี้ ผมไม่ได้ต้องการมาเอาแพ้ชนะ ผมต้องการสิทธิผู้บริโภค ให้เห็นว่าเขาเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไร ผู้บริโภคเสียหายอย่างไร คือมาร้องกับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เห็นว่ามีเรื่องอย่างนี้นะ ในประสบการณ์ตรงนี้ผมจึงคิดว่าผมมาทางช่องทางของผู้บริโภคดีกว่า         ศาลตัดสินอย่างไรไม่เป็นไร ผมจบตรงนั้นไป ผมมาให้ความรู้ผู้บริโภคดีกว่า ให้ระวังป้องกัน แล้วเดี๋ยวจะเกิดมาตรฐานเอง เพราะผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ถ้าเขารู้ว่าผู้บริโภครู้ทันแล้ว เขาจะมาหลอกก็หลอกไม่ได้ เมื่อหลอกไม่ได้ เขาก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเขา ไม่เปลี่ยนคุณก็ต้องเจ๊ง ต้องปิดกิจการไปเพราะว่าเขาอยู่ไม่ได้ นี่คือให้ผู้บริโภคเป็นผู้บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องไปวิ่งเรื่องกฎหมายเรื่องอะไร ไม่มีประโยชน์ แนะนำให้ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร         หนึ่ง-ถ้าไม่จำเป็น อย่าทำสัญญาลักษณะที่จ่ายเงินก่อนแล้วมาผ่อนรับบริการทีหลัง และอย่าไปจ่ายผ่านบัตรเครดิต คุณรูดเต็มจำนวนไป เขารับเงินไปแล้ว แต่ว่าคุณไปเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกต่อ คือเขาจะพยายามดำเนินธุรกิจที่ได้เปรียบเรา ในด้านของการรับเงินก่อนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ต้องระวังไว้ก่อนว่า ตรงนี้คุณจะเดินเข้าไปสู่ทางที่เสียเปรียบ         สอง-เรื่องสัญญา ก่อนจะลงชื่อต้องดูให้เรียบร้อย ถ้าเห็นจุดไหนที่เสียเปรียบ ไม่ต้องเซ็น แต่หากอยากสมัครจริงๆ ก็ต้องมีสัญญาพ่วง (สัญญาพ่วง หมายถึง สัญญาที่ผู้บริโภคร่างเตรียมไปเองเพื่อให้สถานประกอบการลงนาม) ระบุให้ละเอียดเลยว่ามีเครื่องออกกำลังกายตัวไหน ณ วันที่ออกกำลังกายกัน คลาสออกกำลังกาย ห้องออกกำลังกายอะไรพวกนี้ มีบริการอะไรบ้าง เขียนให้ครบถ้วนเลย แล้วถ้าเกิดว่าคุณไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าคุณผิดสัญญากับเรา เรามีสิทธิบอกเลิกได้ อันนี้เป็นสัญญาของเรา ให้เขาเซ็นไว้เลย อย่าไปเซ็นฝ่ายเดียวเพราะถ้าเซ็นของเขา เขาจะเขียนเฉพาะประโยชน์ของเขา เช่น ไม่คืนเงินให้ ยกเลิกสัญญาไม่ได้ บริการต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถ้ามีปัญหาอะไรในการใช้บริการทางสถานบริการจะไม่ขอรับผิดชอบใดๆ คือเขาจะเขียนอะไรที่เป็นประโยชน์ของเขาอย่างเดียว ผู้บริโภคไม่ได้อะไร         คือถ้าคุณเซ็นให้เขา เขาต้องเซ็นให้คุณด้วย แล้วคุณต้องรู้ว่าผู้บริหารของเขาชื่ออะไร เวลาที่คุณเอาสัญญาของคุณไปให้เขาเซ็น เขาจะต้องเซ็นโดย หนึ่ง-ลงนามพร้อมประทับตรา สอง-แนบสำเนาหนังสือรับรองบริษัทอายุไม่เกิน 6 เดือนมาด้วย ให้เราไว้ชุดหนึ่งเพื่อไม่ให้เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบกัน อันนี้จะเป็นทางที่ช่วยได้ เพื่อให้เวลามีปัญหาในอนาคตจะได้มีทางออกว่า คุณก็ตกลงกับฉันไว้แบบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ลักษณะที่เป็นสัญญาทางเดียว         สาม-แนะนำให้สมัครเป็นรายเดือน คือผู้ประกอบการเขาอยากได้รายปี อยากได้หลายๆ ปีเพราะเขาอยากได้เงินก้อนเยอะๆ แต่อย่างที่ผมบอกคือผู้บริโภคเสียเปรียบตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นอย่างมากที่สุดคือชำระเป็นรายเดือน เดือนนี้ขอเล่นก่อน สมมติเล่น 1 มกราคม ถึง 30 มกราคม วันที่ 30 ค่อยจ่ายเงิน พยายามให้เป็นแบบนี้ให้ได้ ถ้าจะขอยกเลิกต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน อย่าเป็นลักษณะทุ่มเงินก้อนระยะยาว เพราะพวกนี้ถ้าหนีไปแล้วคุณตามไม่ได้เลย มีโดนมากันเยอะแล้ว ฝากตรงนี้ให้ระมัดระวัง         สุดท้าย พอหลังจากผมไปฟ้องศาลผู้บริโภคได้ไม่นาน เจ้าของฟิตเนสเขาก็ขายกิจการทิ้งเลย คือ นิสัยของผู้ประกอบการอย่างนี้ลูกค้าก็ขยาดหมด เขาก็เข็ด คุณบริการไม่เต็มที่ เขาจะเลิกก็เลิกไม่ได้ แต่เงินของลูกค้าคุณก็เก็บไปเต็มจำนวนทั้งหมดแล้ว อย่างนี้ก็ทำให้ลูกค้าเขาก็หนีกันหมด ซึ่งตรงนี้ก็ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้นในธุรกิจนี้ในวงการนี้ ปากต่อปากลูกค้าก็หายหมด         “ผมว่าพลังผู้บริโภคอย่างของมูลนิธิฯ หรือว่าสภาฯ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลกเลยนะ สำคัญกว่าทุกองค์กรของภาครัฐด้วยซ้ำ เพราะว่าผู้บริโภคคือสิ่งสำคัญและเป็นหลักของการทำธุรกิจ เพราะธุรกิจเขาอยู่ได้เขาต้องมีลูกค้า มีผู้บริโภค แล้วการปฏิบัติของผู้บริโภคจะสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบธุรกิจเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 “เยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน” เสริมทักษะชีวิตให้เยาวชนเป็นพลเมืองมีชีวิตที่มีคุณภาพ เท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์

        “นักเรียน ม.5 ถูกหลอกโอนเงินเพราะกลัวพ่อแม่ติดคุก”  “แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงินเด็กน้อยวัย 10 ขวบ เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท”  หลายครั้งที่เยาวชนถูกล่อลวง  ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพสูญเสียเงินไปจำนวนมาก ในระดับประเทศปัจจุบัน เรายังกำลังเผชิญกับภาวะที่คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยยังพบว่า คนไทยไม่มีพฤติกรรมการออม  ส่งผลให้มีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมาก  ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเหตุร้องเรียนเรื่องบัตรเครดิต การชำระหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากที่สุดตลอดการทำงานที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  จัด ‘โครงการเยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ พัฒนาหลักสูตร สร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน และเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการการเงินให้แก่เยาวชน แล้วกว่า 30 โรงเรียน ตั้งแต่ปี  2563  ถึงปัจจุบัน           ฉลาดซื้อได้พูดคุยกับน้องเยาวชนหลายคนที่ได้เข้าอบรม โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เสียงของพวกเขา สะท้อนกลับมาถึงมูลนิธิฯ อีกครั้งว่า การมีความรู้และทักษะด้านการเงินจะช่วยคุ้มครองเยาวชนและช่วยติดอาวุธให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่มีชีวิตที่มีคุณภาพเป็นผู้บริโภคที่จะสามารถรักษาสิทธิของตนเองได้ต่อไป            ด.ช. อดิสรณ์   ปรีชา  (ดัมมี่)  ชั้น ม.2/2           “ตอนแรกเห็นชื่อหลักสูตร เยาวชนเท่าทันทางการเงิน คิดว่าจะน่าเบื่อครับ  แต่พอได้มาเข้าเรียนแล้วสนุก แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรต้องรู้ด้วย เรื่องภัยการเงินออนไลน์ เป็นเรื่องใกล้ตัวผมมาก เพราะว่าคนรอบข้างหลายคนก็เจอปัญหานี้         เรื่องการออม เป็นเรื่องสำคัญมาก  เราควรสนใจ เพราะหลายๆ เรื่อง ถ้าวันนี้เราไม่สบาย เราจะทำอย่างไร  เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจริงๆ สิ่งที่ผมได้คิดจากการเข้าร่วมอบรม 2 วันนี้ครับ   นอกจากเรื่องการเงินแล้ว  มีความรู้เรื่องสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย         ฝากถึงเพื่อนเยาวชนรุ่นเดียวกันที่อาจไม่ได้มีโอกาส เข้ามาเรียนรู้ว่า   เรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญ   เราอยู่ในยุคที่เรามีช่องทางที่หารายได้มากขึ้น  แต่เราก็ถูกล่อลวงได้จากหลายช่องทางได้เช่นกัน   และเราเป็นเยาวชน อายุเรายังเท่านี้  ถ้าเรามีความรู้เรื่องการเงิน รู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่างๆ  เราจะวางแผนการเงิน รายได้ รายจ่ายได้ดีขึ้นครับ  ผมคิดว่าเป็นเรื่องนี้จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพดีได้ ที่สำคัญ ความรู้นี้เรายังเอาไปใช้กับคนในครอบครัว พ่อแม่ของเราได้ครับ  ”           ด.ญ. พรทิพย์  ทองเปราะ  (มุก)  ชั้น ม.2/1          “เคยมี call center  โทรมาบอกว่า บัญชีหนูไปทำธุรกรรมอะไรไม่รู้ ที่มันไม่ดี หนูก็วางสายไปเลยเพราะว่ากลัวโดนหลอก เรื่องแบบนี้ เขาโทรหาใครก็ได้ เขาไม่ได้โทรหาคนมีเงิน เด็กแบบหนูก็โดนได้ แม่หนูก็โดน   นอกจากนี้ ยังเสี่ยงจากการไปกู้หนี้นอกระบบ โดนทำร้ายร่างหาย ตอนนี้ก็เห็นกันเยอะเลย         วันนี้มาเรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงินแล้วดีใจมาก ได้ความรู้เรื่อง การออม  การเก็บเงิน การใช้เงิน  สิทธิของผู้บริโภค   รู้เท่าทันการโกงต่างๆ มากขึ้น แล้วรู้ว่าถ้าเกิดขึ้นจะต้องทำยังไงต่อไป   นอกจากความรู้แล้ว ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน น้องในกลุ่มเดียวกัน ตอนแรกไม่รู้จักกันแต่ช่วยกันทำ  ได้มาช่วยกันคิดตลอดเลย         ฝากถึงเพื่อนวัยเดียวกัน คืออยากให้ระวังตัวไว้หน่อยพวก call center  พวกเป็นหนี้ ยืมเงินเพื่อน ไม่อยากให้ยืมเงินเพื่อนบ่อย เด็กๆ  เรามีการยืมเงินกันจริงๆ นะคะ อยากให้ระวังการใช้เงิน แล้วการวางแผนการเงินสำคัญมาก  ถ้าเรามีสิ่งที่เราอยากได้ แล้วเราวางแผนการใช้เงิน การหารายได้ดีๆ และทำจริงจัง มันเป็นไปได้ค่ะ ”         ด.ญ. อาทิตยา   เบิกสันเทียะ (ใบหยก)  ชั้น ม.1/1          “เรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน แล้วได้อะไรบ้าง  รู้เรื่องการออม สิทธิของผู้บริโภค เรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนูมาก คือการหารายได้ อยากรวย   เพราะครอบครัวหนูลำบาก ก็อยากให้พ่อแม่ สบาย หนูเลยทำงานมีรายได้แล้ว  หนูรับจ้างล้างห้องน้ำ มีรายได้เดือนละ 200- 300  บาท นอกจากหารายได้แบบนี้ หนูก็คิดว่า ตอนนี้ทางออนไลน์ มีหลายช่องทางที่หนูสามารถหารายได้ได้ แต่ก็ต้องระวัง เพราะมีล่อลวง ต่างๆ  ตามมาด้วย         รู้เรื่อง สิทธิผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ หนูว่ารู้ว่าผู้บริโภคคืออะไรจากการเรียน เศรษฐศาสตร์  คือรู้แค่หลักการความหมายว่า ผู้บริโภค คือใคร   ผู้ผลิตคือใคร  แต่การเรียนรู้จากหลักสูตร ทำให้หนูเข้าใจสิทธิของผู้บริโภคเราว่าไม่ใช่แค่คนที่มาซื้อของ เรามีสิทธิที่ตามมาด้วย         รู้สึกดีใจ ที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามาทำกิจกรรมภายในโรงเรียน หนูกับเพื่อนๆ และรุ่นพี่ เลยได้มาเรียนรู้ และมาทำกิจกรรมด้วยกัน ฝากบอกเพื่อนๆ  รุ่นเดียวกันว่า เราลองหันมามอง ศึกษาเรื่องที่เราอาจคิดว่ามันน่าเบื่อ ทั้งที่เราก็รู้ว่าเป็นปัญหารอบตัวเรา และเราจะได้ประโยชน์มากๆ  ลองเปิดใจ เรียนรู้ เราจะไม่โดนโลกจากข้างนอกหลอกเราได้ค่ะ”        ด.ญ. มัญฑิตา   เฮงสวัสดิ์  (แพว) ม.2/1           “หนูเป็นเด็ก แม้จะยังไม่มีรายได้ หรือหารายได้เองไม่ได้แต่หนูก็จำเป็นที่ต้องรู้เรื่องการเงิน  อนาคต เราต้องเก็บเงินไว้เพื่ออนาคต  ตอนนี้ยิ่งมีภัยออนไลน์ต่างๆ  เขายิ่งคิดว่าเด็กไม่รู้จะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ก็จะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ ที่ผ่านมา คนใกล้ตัวหนูก็เจอปัญหาค่ะ เสียเงินจากการสมัครงานออนไลน์  เป็นเพื่อนในห้องเรียน เคยโดนหลอก เพื่อนไปลงทุนกับงานๆ หนึ่งไป เสียค่าสมัคร 50 บาท  แต่พอเข้าไปแล้ว ไม่ได้ทุนคืนมาด้วยซ้ำ         หนูดีใจแล้ว ที่โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้เรียนรู้เรื่องนี้  เรื่องการออมเงิน  แรงบันดาลใจที่ได้ คือ หนูอยากออมเงินให้มากขึ้น เพราะว่าเป็นคนใช้เงินฟุ่มเฟือย แล้ว หนูมีความฝัน อยากเป็นหมอจิตเวช  ยังมีอนาคตการเรียนอีกไกลที่ต้องใช้เงิน การออม การวางแผนรับ - รายจ่ายจะช่วยหนูได้ ”          ด.ช. นิรักษ์  กองกูล (ติว) ชั้น ม.2/1         “เรื่องการออม การวางแผนการเงิน มีความสำคัญมากครับ เพราะว่า เด็กและเยาวชนบางคนอาจจะไม่ได้รู้อะไรมาก อาจจะไปหลงเชื่อได้ เท่าที่ผมเคยเจอ  ญาติของผมเกือบจะถูกหลอกให้โอนเงิน แต่สุดท้ายไม่ได้โอน แต่ผมรู้สึกว่ามันใกล้ตัวพอสมควรเลยครับ         การเรียน 2 วันนี้ ได้รู้หลายๆ เรื่องที่อาจจะเคยได้ยินมาแล้วบ้าง แต่จะได้รู้เจาะลึกเข้าไปอีก  ผมรู้สึกว่า เท่าทันภัยอันตรายต่างๆ มากขึ้น เพราะผมไม่ได้มีความรู้เรื่องภัยสังคม  ภัยออนไลน์ต่างๆ  มากเท่าไหร่  ก็รู้เบื้องต้นเท่าในข่าว          ฝากถึงเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันว่าควรเข้ามาสนใจเรื่องการเงินมากขึ้นเพราะว่า เยาวชนเราอาจจะยังไม่ได้หาเงินได้เอง  ก็อยากให้รู้ เข้าใจ ว่าคนที่เราไม่รู้จักเขาจะเข้ามาล่อลวงเราอย่างไรได้บ้าง   เขามาดีหรือมาร้ายยังไง มีรูปแบบไหนได้บ้างมันขึ้นอยู่กับเราด้วยว่า จะมีความรู้ที่จะรับมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ยกระดับคุณภาพน้ำดื่มหยอดเหรียญ ทำได้จริง

กลางเดือน กันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภคและสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ จัดเสวนาหัวข้อ “การคุ้มครองผู้บริโภค กทม. จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง” และได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาสำคัญ 3 เรื่อง คือ ระบบขนส่งสาธารณะ คุณภาพตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ  และเรื่องผังเมือง         ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครมายาวนาน โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญก่อนการจัดเวทีและยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ ทีมงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 15 – 31 สิงหาคม 2565 จำนวน 1,530 ตู้ในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ พบข้อมูลสำคัญ คือตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่สำรวจว่าร้อยละ 90 ไม่ติดใบอนุุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ร้อยละ 91 ไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ และร้อยละ 87.2 ไม่มีการติดฉลาดระบุการตรวจไส้กรอง        ฉลาดซื้อพูดคุยกับ คุณก้อ ฐิตินัดดา รักกู้ชัย ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ที่ทำงานเฝ้าระวังคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาอย่างยาวนาน ยืนยันว่าแม้สถานการณ์คุณภาพของตู้ดื่มน้ำหยอดเหรียญจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เรื่องตู้น้ำมีความสำคัญอย่างไรมาเริ่มทำงานเรื่องนี้ได้อย่างไร         เรื่องตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราเริ่มเห็นว่าตู้สกปรกมาก ฝุ่นเกาะ  หรือเอากระป๋องนมที่ขึ้นสนิมมารอง แบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  เพราะประชาชนเสียเงิน เขาควรได้รับความปลอดภัย         เราทำงานมาตั้งแต่ปี 2559 -2560 ทำงานและสื่อสารตั้งแต่ทำให้รู้ว่าส่วนประกอบของตู้น้ำคืออะไร  ตอนนั้นยังไม่มีการจดทะเบียนภาษี การขออนุญาตตอนแรกตู้ละ 2,000 บาท ผู้ประกอบการรายย่อย เขาบอกว่า เขาไม่ไปจดทะเบียนนะเพราะบางตู้ คนมากดยังไม่ถึงเลย  พอได้เงินแล้วเขาต้องหักค่าไฟ ค่าน้ำ ตอนหลังการจดทะเบียนไม่ถึง 2,000 บาทแล้ว เหลือ 500 บาทในตู้แรก ตู้ต่อไป 25 บาท 2 ตู้จ่าย 525 บาท ศูนย์สิทธิผู้บริโภค ทำงานอย่างไรบ้าง         การทำงานคล้ายๆ อสม. แต่ศูนย์สิทธิฯ เรารับเรื่องร้องเรียน สถานที่จะเป็นที่สาธารณะ หรือที่บ้านก็ได้ แต่ขอให้ประชาชนที่มาสามารถมาร้องเรียนหรือ เล่าเรื่องของเขาได้ ปัจจุบันศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ก็ทำงานให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วย ตามมาตรา 50 (5) เป็นการบันทึกข้อมูลในระบบ CRM แล้วเราไม่ได้นั่งรับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น แต่ลงตรวจคุณภาพน้ำด้วย เราสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจโคลิฟอร์ม เรากำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบกันชัดเจน ว่าในพื้นที่ที่แต่ละคนดูแลอยู่จะต้องสุ่มตรวจอย่างน้อยกี่ตู้ พอได้ผลเป็นอย่างไร เราจะคืนข้อมูลให้สำนักงานเขต เขตก็ลงมาตรวจตู้ ถ้าน้ำไม่สะอาดเขาต้องไปเปลี่ยนไส้กรอง การทำงานที่ผ่านมา พบปัญหา อุปสรรคอย่างไร           เราพบจากการสำรวจว่า ผู้ประกอบการรายย่อยก็ยังไม่รู้นะ ว่าต้องไปขออนุญาต ไม่มีคนมาแนะนำว่าเขาต้องไปจด เขาถามว่าทำไมเราต้องลงไปสำรวจ เราก็บอกว่าเราทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค บางทีเจ้าของตู้ก็ด่า บางทีเจ้าของบ้าน เขาก็เป็นเจ้าของเองหน้าบ้านเขาก็ตั้งตู้น้ำดื่ม เขาจะได้กินด้วย มีรายได้ แล้วพอไปตรวจ เขาก็กลัวว่าเราไปจับผิดเขา เพราะว่าที่เราลงไป เรามีการทำหนังสือ เหมือนเขาก็เดือดร้อนว่าต้องไปจดใบอนุญาต แล้วเมื่อผ่านได้ใบอนุญาตมาแล้ว ทางเจ้าของจะกลัวว่า จะถูกสุ่มลงมาตรวจ ไม่ได้ทำความสะอาด เปลี่ยนไส้กรองไหม เขาเลยตั้งตู้เฉยๆ อยู่แบบนั้นไม่ไปจด คนที่ขอไปแล้ว แต่ไม่ไปเอาใบอนุญาตจึงเยอะ  เพราะเขากลัวว่าเรื่องจะเยอะตามมา         แล้วหากน้ำไม่สะอาด การล้างแต่ละครั้งต้องมีช่างมาล้าง  เจ้าของตู้เขาต้องใช้เงินจากกำไร ที่เขาต้องได้เป็นพันก็ต้องมาจ่ายตรงนี้ แต่ก่อนจากที่เขาได้กำไรเยอะตอนที่ตู้ยังน้อย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะมีตู้เยอะขึ้น แล้วเวลามีข่าวตู้น้ำดื่มไม่สะอาด คนก็หันมาติดตั้ง เครื่องกรองน้ำที่บ้านมากขึ้น         ส่วนชาวบ้านเขาก็คิดว่า แล้วทำไมต้องมาจด รัฐบาลไม่มีเงินเลยจะมาเอาเงินภาษี แบบนี้ก็มี แต่คนทำงานมองว่าสถานการณ์คุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเริ่มดีขึ้น         ใช่ ทำงานตอนแรก ทั้งชาวบ้าน ทั้งผู้ประกอบการ เขาไม่ได้สนใจเลย ชาวบ้านด้วยก็ไม่ได้สนใจ แต่พอเรารณรงค์มากขึ้น ชาวบ้านเขาเริ่มรู้ ทำงานไปเรื่อยๆ ก็ต้องแอบนะเพราะเขาเริ่มรู้ว่าเรามาทำอะไร เขาเห็น เขาก็มาเช็ดๆ ตู้ เราก็บอกเขาว่าไม่ใช่ ต้องทำความสะอาดข้างในด้วย เขาก็ทำด้วย เราบอกว่ากลัวว่ากดไปดื่มแล้วจะท้องเสีย         แล้วบางทีจุดตั้งตู้อยู่ใกล้ถังขยะ เปิดแล้วหนูก็วิ่งขึ้นไป คือตอนที่สำรวจอาจจะยังไม่เจอหนูก็จริง แต่สภาพแวดล้อม สถานการณ์มันมีได้         ตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงคือเราเห็นตู้ใหม่ๆ เยอะ การขอใบอนุญาตไม่ยากแล้ว   สำนักงานเขตจะมีข้อมูล ผู้ประกอบการที่เขายอมเปลี่ยนแปลงได้เพราะอะไร           เขาไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร แต่บางทีเราชี้แจง แล้วตัวเขาบางทีเขากดไปกินน้ำด้วย เขาตั้งตู้แล้วเขาก็กินเองด้วย เขาก็แก้ไข บางคนเขาดีนะ เราบอกแล้วเขาก็แก้ไข บางทีเขาไม่รู้ว่า ตู้น้ำต้องไปขอใบอนุญาต  เขาก็กลัวว่าเขาจะมีความผิดเหมือนกัน  บางคนเขาทำแล้ว มาบอกเราให้ไปทดสอบเลยว่า คุณภาพดีขึ้นไหม  มาตรวจเลย         แล้วผู้ประกอบการบางคนเขามีใบอนุญาตนะ แต่เขาไม่รู้ว่าต้องนำมาติดไว้ที่ตู้ ทำงานมาเรื่อยๆ เขาก็รู้มากขึ้น         การทำงานที่ผ่านมา เราคิดว่า ทางเขตตอบรับเราดี ลงมาตามเรา เขาบอกว่าถ้ามีอะไร ให้เขาลงไป  เขายินดี ถ้าเราจะไปสำรวจอะไร เขาดีใจที่มีอาสาสมัครมาทำงานแบบนี้ แล้วจริงๆ เขตเขามีคนน้อย การทำงานของศูนย์สิทธิผู้บริโภค ช่วยให้เขตทำงานได้ถูกจุดมากขึ้น         ใช่       การทำงาน เมื่อเราแจ้งเขต เป็นการกระตุ้นให้เขาทำงานด้วย พอเราส่งข้อมูลให้เขต เขตบอกว่าจะไปตรวจ  ตอนแรกเขาจะตักเตือนก่อน  แต่ตักเตือนแล้วยังไม่ทำ  เขาก็จะฟ้อง เพราะมีกฎหมาย เขาเลยจะเตือนมาก่อนตอนนี้ กทม. มีเทศบัญญัติ แล้ว เทศบัญญัติที่มีเกิดจากการทำงานของเครือข่าย         เทศบัญญัติที่มีมาตั้งแต่ ปี 2562 เกิดจากการทำงานของเครือข่าย  ไปผลักดันจนเกิดนโยบาย ช่วงปี 60- 61 พี่ไปที่สำนักงานเขต ถามเขาว่า ถ้าเกิดเจอตู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตบอกว่า หัวหน้าสิ่งแวดล้อมบอกว่าเขาจะตักเตือน ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วยังไม่มา เขาจะลงไปเอาโซ่ล่าม การฟ้องมันใช้เวลา ส่วนมากจะจบที่การไกลเกลี่ย เขาไม่อยากถูกฟ้อง เขาก็ต้องทำ         การทำงานที่ผ่านมาเรายังได้ ประสานกันหลายฝ่าย เราก็ได้พัฒนาตัวเองด้วย  น้ำที่ไม่สะอาด พอเอาโคลิฟอร์มมาตรวจ น้ำจะเปลี่ยนสีเลย น้ำที่ได้มาตรฐาน จะเป็นสีส้ม น้ำที่ตรวจเจอแล้วเป็นสีเหลือง มันมีอันตรายอย่างไร คือเป็นน้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ท้องร่วงได้ เราก็ให้ศูนย์สาธารณสุขมาให้ความรู้กับ อาสาสมัครเราด้วย         พี่เลยมองว่า สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนมีความรู้มากขึ้น ผู้ประกอบการเขาก็มีความตระหนักขึ้นนะ แล้วการทำงานร่วมกันในพื้นที่ก็มีส่วนเสริมกัน เรามองว่าช่วยกันได้ แล้ว อาสาสมัครถ้าทำงานไปเรื่อยๆ ก็ได้พัฒนาตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กลุ่มผู้เสียหายเรียกร้องความยุติธรรม หลังชมการแสดงที่จกตาและไม่คุ้มค่าตั๋ว

        ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปติดตามประสบการณ์การใช้สิทธิของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผนึกกำลังกันในเฟซบุ๊กกรุ๊ปชื่อ “รวบรวมผู้เสียหายจาก TRANCE STUDIO (เจ้าชายน้อย)” ผ่านการพูดคุยกับคุณณัฐนันท์ ชำนาญประดิษฐ์กุล (ทราย) และคุณณัฐนรี ลาภาอเนกอนันต์ (มิ้ม) ในฐานะตัวแทนผู้เสียหายและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นด้วย โดยทั้งคู่จะมาเล่าถึงวิธีดำเนินการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม หลังจากเข้าชมการแสดงเรื่อง “ Me&My Little Prince” ในช่วงวันที่ 3-19 มิถุนายน 2565 แล้วปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่บริษัทประชาสัมพันธ์ไว้ และไม่คุ้มกับค่าตั๋วที่จ่ายไปคุณณัฐนันท์ ชำนาญประดิษฐ์กุล (ทราย) คุณณัฐนรี ลาภาอเนกอนันต์ (มิ้ม) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีความเป็นมาอย่างไรคุณณัฐนันท์ :  ต้องย้อนไปเมื่อปี 2562 ทรายได้ไปชมการแสดงเรื่อง “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ของ Blind  Experience ที่ผู้ชมต้องปิดตา เราประทับใจการจัดแสดงละครด้วยเทคนิคและวิธีการต่างๆ ของเขา แล้วทางบริษัทก็ทิ้งท้ายไว้ว่าถัดไปจะแสดงเรื่องเจ้าชายน้อย เราก็ติดตามในเพจมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีโฆษณาผ่านเพจบริษัทนี้ว่าจะจัดแสดงเรื่องเจ้าชายน้อยขึ้น แต่คนโพสต์บอกว่าจัดในนามบริษัท Trance studio และเขาเคยเป็นหนึ่งในผู้จัดของ Blind Experience มาก่อน เราก็ไม่ได้เอะใจอะไร เขามีลิงก์ให้เข้าไปกดต่อในเพจ Trance studio ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ว่าใช้เทคนิคอะไร ยังไง ทำให้เราเข้าใจว่าคงเป็นการแสดงแบบเดิมที่เคยประทับใจ ก็จองบัตรและจ่ายเงินเลย แต่พอถึงวันที่เข้าไปชมการแสดง กลับไม่เหมือนกับที่เราเคยดูเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่ได้ใช้เทคนิคเหล่านั้นในการแสดงจริงเลยคุณณัฐนรี :  มิ้มคิดว่า 90% ที่ซื้อบัตรดูเรื่องนี้ คือลูกค้าเก่าที่ตามมาจาก “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ซึ่งประสบความสำเร็จมาก มีคนบอกต่อกันค่อนข้างเยอะ คือเหมือนบริษัท Trance studio เขาพยายามมาร์เกตติ้งให้ไปในทางที่ว่าการแสดงจะคล้าย ๆ กัน เราก็เข้าใจว่าทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย แค่เปลี่ยนบริษัท แต่พอเข้าไปชมแล้วก็ต้องออกมาตั้งแต่ 10 นาทีแรก พร้อมกับอีกหลายคนเลย ทั้งที่การแสดงน่าจะเกือบ 2 ชั่วโมง ช่วยเล่าหน่อยว่าผิดหวังจากการเข้าชมการแสดงครั้งนี้ยังไงบ้างคุณณัฐนันท์ :  ครั้งก่อนที่เคยดูการแสดงแบบนี้ เขาจะมีห้องให้รอเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ผ้าปิดตารับรู้ประสาทสัมผัสอื่นๆ แต่ครั้งนี้คือไม่มีการจัดระเบียบใด ๆ ทั้งๆ ที่เขาระบุว่ามีมาตรการป้องกันโควิด ตอนเดินเข้าไปในฮอลล์จะมีแสงนำทางและเสียงจากเทปเล่าเรื่อง พอถึงด้านใน ที่นั่งก็ติดกัน ห้องเป็นแบบมีเสา เอาผ้าดิบมาเป็นเวที 4 ด้าน แล้วฉายแสงจากโปรเจกเตอร์เข้าไป และเปิดเหมือนนิทานเสียง ซึ่งต่างจากที่เคยเข้าชมการแสดงรูปแบบนี้มาก่อนมาก ที่จะเป็นการแสดงจากคนจริงๆ มีคนตาบอดมาร่วมแสดงด้วย มีการใช้แสง สี เสียง กลิ่น มีการเดินมาสัมผัสเรา ทั้ง ๆ ที่ปิดตาแต่เรายังรับรู้ถึงมิติอื่นได้จริงๆคุณณัฐนรี :  พอมีฟีดแบกว่าการแสดงนี้ หนึ่ง-ไม่ใช่จัดโดยบริษัท Blind Experience สอง-ไม่มี 6 มิติที่เกิดขึ้นจริงตามที่โฆษณา มิมก็ทักไปถามบริษัทว่านี่เป็นการหลอกลวงหรือเปล่า เหมือนเขียนให้เข้าใจผิดในหลายๆ รูปแบบ ก็เลยอยากขอรีฟันด์ เขาก็แจ้งว่าไม่สามารถรีฟันด์ได้ในทุกกรณี ตอนแรกคิดว่าไม่เป็นไร แต่พอไปดูปุ๊บ มันไม่ใช่เลย ไม่มีอะไรที่เขาเคลมไว้เลย รู้สึกว่าหลายๆ อย่างทั้งการบริการ อุปกรณ์ หรือตัวการแสดงเอง ไม่สมกับราคาที่จ่ายไป 1,800 บาทเลย ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยดูการแสดงต่าง ๆ มาบ้าง ถ้าราคานี้ควรจะเป็นกึ่งๆ ละครเวที มีการแสดงจากคนจริง ๆ ด้วย แล้วหลังจากนั้นได้ติดต่อกลับไปยังบริษัทไหมคุณณัฐนันท์ :  ทรายติดต่อเพจ Trance studio เขาไม่อ่าน ไม่ตอบ จึงไปถามทางเพจ Blind Experience ซึ่ง          หนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักก็อินบอกซ์ส่วนตัวกลับมาชี้แจงว่า คนที่โพสต์โฆษณาเรื่อง“ Me&My Little Prince” บนเพจของเขานั้น เคยเป็นเหมือนหัวหน้าฝ่ายพีอาร์ในการจัดแสดงครั้งที่แล้ว คือเคยมีส่วนร่วมจริง แต่ว่าไม่ได้เป็นคนคิดคอนเซ็ปต์หลักค่ะ แล้วพวกเขาตกลงกันว่าหากแต่ละคนแยกย้ายกันไป เขายังคงเพจไว้ ทุกคนยังเป็นแอดมินเพจที่สามารถพีอาร์งานศิลปะการแสดงของตัวเองมาในเพจได้ ซึ่งทรายก็รู้สึกว่าเรายังไม่ได้รับความยุติธรรมใดๆ แค่ได้รับการอธิบายที่ไม่ได้ช่วยอะไรเราได้เลย พอเห็นว่ามีผู้ชมหลายคนไปคอมเมนต์ตำหนิในเพจ Trance studioนี่คือผิดปกติแล้ว จึงลองรวมกลุ่มคนที่ไปดูว่าคนอื่นรู้สึกเหมือนเราไหมคุณณัฐนรี :   วันนั้นพอเดินออกมาแล้ว นิมไปคอมเมนต์ในเพจ Trance studio เขาลบและบล็อกเลย เรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่าไหร่ อย่างน้อยเขาควรจะขอโทษ หรือว่ารับผิดชอบอะไรสักอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่เข้าใจผิด เราก็เลยกลับเข้าไปขอคุยกับเจ้าของถึงหน้าเธียเตอร์ รออยู่เกือบ 2 ชั่วโมง เขาไม่ยอมมาคุย เรารู้สึกไม่โอเค จึงมาร่วมกันตั้งกลุ่มผู้เสียหายในกรณีนี้กับคุณทราย แสดงว่ากลุ่มผู้เสียหายนี้คือรวบรวมมาจากคนที่เข้าไปคอมเมนต์ในเพจ Trance studioคุณณัฐนันท์ :  ใช่ค่ะ ทรายก็ทักส่วนตัวบ้าง มีเพื่อนๆ ที่อยู่หลังบ้านช่วยกันอินบอกซ์ไปหาคนที่คอมเมนต์บ้าง แล้วจากนั้นทุกคนที่เราติดต่อไปก็มารวมกัน ถ้านับตั้งแต่ที่ทรายเริ่มสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊กจนถึงวันที่ 27 มิถุนายนนี้ มี 230 บัญชีผู้ใช้ที่เข้ามาในกลุ่ม แล้วก็มีความคิดเห็นที่บอกว่าตัวเองเหมือนถูกหลอก แล้วก็ไม่คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เป็นจำนวน 195 ความเห็น และมี 38 บัญชีผู้ใช้ที่กรอกกูเกิลฟอร์มที่ทรายทำขึ้นมาเพื่อจะขอคืนค่าตั๋ว รวมบัตรแล้ว 90 ใบ เป็นเงิน 143,031 บาท ซึ่งทรายมีหลักฐานยืนยันทั้งหมด หลังจากรวมกลุ่มกันได้แล้ว ดำเนินการอย่างไรต่อคุณณัฐนันท์ :  ทรายไปติดต่อ สคบ.ก่อน เขาบอกว่าให้รวบรวมหลักฐาน พวกใบกำกับภาษีอะไรอย่างนี้ให้เสร็จทีเดียวก่อนค่อยมาแจ้ง แล้วมีเพื่อนในกลุ่มที่ติดต่อไปทางสรรพากร ให้ตรวจสอบรายได้ เพราะบริษัทไม่ได้ออกใบกำกับภาษีให้ทุกคน เราต้องขอไปเอง อย่างนี้ดูมีพิรุธ ซึ่งเพื่อนแต่ละคนก็ทำวิธีที่ตนถนัด จนไปเจออีกว่าภาพโฆษณาที่เขาใช้นั้นก็ไปก็อปมาจากที่อื่นแบบ 100% แค่ปรับแสงนิดเดียว ซึ่งเราอ้างอิงได้ว่าภาพมาจากเว็บอะไร ถูกจัดแสดงจริงที่ไหนแล้วทรายก็ต้องไปขอให้ตัวแทนจำหน่ายบัตรช่วยติดต่อ Trance studio เรื่องใบกำกับภาษี เขาถึงยอมตอบกลับมาว่าจะทำให้ ตอนนั้นเองที่ได้คุยกันว่าละครเวทีนี้เป็นไปตามที่คุณโฆษณาเลยไหม เขาก็ยังยืนยันว่าเป็นไปตามนั้น อยากจะแจ้งอะไรก็แจ้ง ระหว่างนั้นทรายก็ติดต่อมาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ด้วยอีกทาง เพื่อให้ช่วยเหลือในการขอคืนเงินค่าตั๋วและดำเนินคดีตามกฎหมายคุณณัฐนรี : พวกเราคุยกันว่าต้องหาตัวกลางเพื่อมาประสาน หรือดูว่าสุดท้ายแล้วยังไง ใครถูกใครผิด ใครต้องรับผิดชอบ หรือว่าความถูกต้องคือตรงไหน หลังจากรวมกลุ่มกัน รวบรวบหลักฐานแล้ว ไปติดต่อผ่านตัวกลางน่าจะดีกว่า ซึ่งล่าสุดทางมพบ.ทำจดหมายนัดให้มาเจรจาไกล่เกลี่ยกันวันที่ 13 กันยายน แต่ทางบริษัทเขาขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 30 กันยายน ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไร แล้วถ้าเขาไม่มา ก็อยากจะรู้ว่าปกติเลื่อนได้กี่รอบ เพราะว่าที่จริงถ้าเขาผลัดไปเรื่อยๆ ก็ลำบากพวกเราเหมือนกัน อยากให้ฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นว่าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าชมการแสดง ควรจะเลือกอย่างไรคุณณัฐนันท์ :  ถ้าเหมือนกรณีทรายนะคะ คงจะต้องสอบถามไปทางบริษัทหรือว่าเพจที่เคยดูว่าเป็นการแสดงลักษณะเดียวกันไหม ผู้จัดเดียวกันไหม ยังคงเป็นเทคนิคการแสดงเดียวกันไหม เพื่อความมั่นใจก่อนจะซื้อบัตร เพราะว่าทรายแค่เห็นเพจเดิมถูกแชร์ออกมา ก็กดซื้อเลย ไม่ได้สอบถามก่อนว่าเหมือนกับที่เคยดูไหม อะไรอย่างนี้ อยากฝากว่าจะต้องเช็กให้มั่นใจก่อนจะจ่ายเงิน ครั้งนี้ทรายไม่ได้รีเช็กอะไรเลย เพราะเราเชื่อว่าจะเหมือนครั้งที่ผ่านมา  คุณณัฐนรี : เดี๋ยวนี้อาจจะดูคำโฆษณายาก ดูรูปยาก มิมคิดว่าหลักๆ แล้วน่าจะดูความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทที่จัดว่าก่อตั้งมานานแล้วหรือยัง เจ้าของมีใครบ้าง เคยทำโชว์แบบไหนมาบ้าง ตรงนี้เราอาจจะพลาดเองเพราะแทรนซ์เพิ่งเปิดเลย ไม่มีการโชว์ที่ไหนมาก่อน ไม่มีดิจิตอลฟุตปริ้นต์มาก่อนว่าเคยทำอะไรมาบ้าง แต่เราไปเชื่อแค่ว่าเขาเป็นคนที่เคยจัดเรื่องเล่าจากหิ่งห้อย เพราะประทับใจกับรอบที่แล้วมากๆ แล้วเข้าใจว่าเป็นทีมผู้จัดเดิม ต่อไปต้องละเอียดกว่านี้ หรือถ้าจะให้เซฟจริงๆ อาจรอดูรีวิวจากรอบสื่อก่อน แต่ต้องเลือกสื่อที่ตรงไปตรงมาและเชื่อถือได้จริงๆ ไม่ใช่สื่อที่บริษัทจ้างรีวิวนะคะ             ครั้งต่อไป คุณจะเลือกซื้อบัตรเข้าชมการแสดงต่างๆ จากอะไร ? 

อ่านเพิ่มเติม >