ฉบับที่ 247 ประสบการณ์ในการเคลมค่าสินไหมจากผู้บริโภค “ประกันภัยโควิด-19”

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพาผู้ร้องเรียน กรณีบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน ไปยื่นเรื่องเร่งรัดบริษัทประกันให้จ่ายค่าสินไหม ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นั้น มีผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว แต่ยังมีผู้เดือดร้อนกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไปที่ไม่ได้รับค่าสินไหม ฉลาดซื้อ จึงพาผู้อ่านมาพบกับผู้บริโภค 2 ท่าน ที่จะมาเล่าถึงประสบการณ์ในการเคลมค่าสินไหม “ประกันภัยโควิด-19”         ท่านแรก คุณนุชนาฎ หอมชื่น ผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า กล่าวว่า เธอทำประกันกลุ่มกับบริษัทที่ทำงานซึ่งทำประกันโควิดให้ เพื่อเป็นสวัสดิการด้านการเจ็บป่วย โดยเลือกทำประกันกับเอเชียประกันภัย เพราะมีข้อเสนอและเงื่อนไขที่น่าสนใจ เมื่อเทียบข้อเสนอและเบี้ยประกันที่จ่ายกับบริษัทอื่นแล้ว มีความคุ้มค่ากับสิ่งที่พนักงานควรได้รับ         คุณนุชนาฎ เป็นคนแรกที่ติดเชื้อโควิดในบริษัท ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 หลังจากที่หายป่วยเธอจึงรีบยื่นเอกสาร จนผ่านมาเป็นเดือนก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา         “คือจริงๆ ตอนแรกคิดว่าอย่างไรเขาก็ต้องจ่ายเพราะว่าทางบริษัทมีเอกสารที่ถูกต้องในการยื่นขอกรมธรรม์ มีเอกสาร มีบัตรประชาชนมีเลขกรมธรรม์ แล้วเราก็ยื่นเอกสารปกติไม่คิดว่าจะล่าช้า พอยื่นเอกสารหลังจากที่หายป่วย ยื่นเอกสารตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม จนแบบมาเป็นเดือนแล้วคะพี่ ก็คือทั้งโทรไปแล้วก็ไลน์ไปตามก็คือโทรแต่ไม่มีผู้รับสายเลย ส่วนไลน์เช็คก็จะขึ้นว่าคุณไม่พบข้อมูล ประมาณนี้คะพี่ แล้วในช่วงระหว่างหนึ่งเดือนพนักงานก็เริ่มมีการติดเชื้อโควิดมากขึ้น คือหนูเป็นคนแรกที่ติดเชื้อเลย แล้วก็พอระยะเวลาที่เรายื่นประกันไปก็มีเพื่อนร่วมงานติด เพื่อนก็ยื่นเราก็เลยคิดว่าเราต้องติดตามแล้วนะ ก็มาตั้งคำถามว่าเอกสารเรามันไปถึงไหนแล้วอย่างนี้คะ” เมื่อติดต่อบริษัทไม่ได้แล้ว ไปร้องเรียนที่ไหนบ้าง         ทีนี้พอติดต่อไม่ได้เราก็เลยปรึกษาฝ่ายบุคคลของบริษัท ปรึกษาว่าทำไมถึงติดต่อประกันไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ยื่นเอกสารไปก่อนหน้านี้แล้ว HR จึงปรึกษาฝ่ายบริหารว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่ติดโควิดยื่นเอกสารไปแล้วแต่ประกันไม่ติดต่อกลับมาเลย         โชคดีค่ะ ที่บริษัทมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลที่คอยให้คำปรึกษาและก็ช่วยเหลือก็เลยได้ไปปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเป็นธุระจากนั้นมูลนิธิฯ จึงพาไปที่ คปภ.ค่ะ        หลังจากมูลนิธินัดหมายให้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ คปภ. พร้อมแนบเอกสารหลักฐานตามที่ประกันร้องขอ เพื่อดำเนินการเร่งรัดบริษัทประกันให้จ่ายค่าสินไหม หลังจากนั้น 3 วัน คุณนุชนาฎก็ได้รับค่าสินไหม พร้อมกับพนักงานคนอื่นที่ยื่นเอกสารไปภายหลังทั้งหมด ได้รับการชดเชยอย่างไร         ตัวของนุชนาฎเองได้เบี้ยไม่ครบนะพี่ ได้เงินไม่ครบเพราะว่าหนูนอนที่โรงพยาบาลทั้งหมด 6 วัน แล้วก็ได้ย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามอีก 4 วัน ก็คือหนูจะได้แค่เบี้ย เจอจ่ายจบ แล้วก็นอนโรงพยาบาลแค่ 6 วันเป็น 56,000 หักไป 4 วันแล้วก็คือหลังจากวันที่เงินเข้าก็มีเจ้าหน้าที่จาก คปภ.โทรมาสอบถามว่าใช่คุณนุชนาฎไหมเขาก็ถามได้เงินเบี้ยประกันหรือยัง หนูก็ตอบไปว่าคือได้แล้วแต่ได้เงินไม่ครบและพี่เขาก็ถามว่าหนูไปนอนที่ไหนต่อหนูเลยบอกว่าอีก 4 วันหนูนอนเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งในใบรับรองแพทย์มีระบุอยู่แล้วเราก็ได้ไม่ครบแต่เขาก็ ครับๆ ไม่ได้พูดอะไร ฝากอะไรถึงผู้บริโภคที่มีปัญหาการเคลมประกันล่าช้าบ้างคะ         จะฝากว่าก่อนคุณจะทำประกันอะไรก็ควรศึกษาให้ดีก่อนว่าบริษัทที่คุณทำว่ามีความมั่นคงหรือว่าอยู่ในหน่วยงานที่สามารถติดตามได้หรือไม่ เบี้ยประกันดูน่าสนใจไหม ทำแล้วมันคุ้มกับเบี้ยที่คุณทำไปไหม ตัดสินใจเลือกให้ดีก่อนคะศึกษาก่อนที่จะทำ ให้ศึกษาหาข้อมูลก่อนที่จะเลือกทำประกันนะคะ         ท่านที่ 2 คุณสาร์รัฐ รุ่งนาค ผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เล่าว่า  บริษัทเลือกทำประกันกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงานทั้งหมดภายในโรงพยาบาลกับเอเชียประกันภัย โดยมองจากความเหมาะสมของเบี้ยประกัน ความคุ้มค่าในการทำประกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับหากติดเชื้อโควิด และความมั่นคงของบริษัท ดูจากประกันการรักษาแบบอื่นของเอเชียประกันภัยนั้น เคลมไม่นานก็จ่ายคืนโรงพยาบาล มั่นคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเมื่อเทียบตัวเลือกกับบริษัทอื่นแล้วคุ้มค่ามากที่สุด รู้สึกอย่างไรตอนเกิดเหตุการณ์         คือตอนแรกเลยเราไม่ได้คิดอะไรเลยเพราะเราทำงานโรงพยาบาลเราก็รู้ว่าคนไข้คือมัน Over อยู่แล้วคือมันด้วยความที่ว่ามันป่วยกันเยอะแล้วก็การรักษาด้วยเรื่องอะไรด้วย เราก็คิดว่าอาจจะมีการเขาเรียกว่ามีภาระเหมือนกับว่าคนเคลมเยอะหรือเปล่า หรือว่ามีการ Work from Home หรือเปล่า มีการลดจำนวนพนักงาน แต่เมื่อพอไประยะหนึ่งมันเหมือนกับข่าวมันเริ่มออกแล้วพนักงานก็รู้สึกว่ามันนานไปแล้วเดือนกว่าสองเดือนคือมันยังไม่ได้อีก ผมส่งเอกสารไปครบถ้วนเขาก็ประสานมาเราก็ตรวจสอบให้พอตรวจสอบให้เราก็โทรไปให้ปรากฏว่าก็ไม่มีคนรับสายบ้าง และให้ไปติดต่อทางระบบเหมือน AI ครับ สถานะก็ขึ้นอยู่อย่างเดียวก็คือ  รอตรวจสอบ รอตรวจสอบซึ่งเราได้คำตอบอย่างนี้มาเป็นหลายเดือนเรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ พอเราพบว่ามีปัญหาติดต่อไม่ได้แล้วเราได้ทำอะไรบ้าง         ตอนแรกเราก็พยายามดูและก็หาวิธี คือหาตัวแทน หาทุกอย่าง โทรทุกอย่างและสุดท้ายก็ไปเจอมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั่นแหละครับ มูลนิธิฯ ให้คำแนะนำอย่างไร         คือเราก็เอาเอกสารไปให้ดูแล้วก็ให้รายละเอียดว่าเราส่งเอกสารไปเมื่อไหร่แล้วก็เอกสารมีอะไรบ้างเหตุเกิดอย่างไร ซึ่งทางมูลนิธิเขามองว่ามันล่าช้า เขาจึงประสานให้เรา แล้วนัดเราไปที่ คปภ. ในวันที่ 10 กันยายน ในการแก้ไขปัญหา คปภ.ดำเนินการอย่างไรบ้าง         ถ้าอธิบายเป็นวิธีก็คือเบื้องต้นเขาก็จะมีศูนย์รับไว้ใช่ไหมครับ เขาก็จะมีศูนย์เหมือนรับเรื่องร้องเรียนอยู่ด้านหน้าและเข้าไปเขาก็จะตรวจเอกสารให้เราว่าเรามีเอกสารครบไหม จริงๆ เอกสารก็ไม่เยอะนะครับก็จะมีพวกกรมธรรม์ สำเนาบัตรประชาชนแล้วก็เอกสารยืนยันว่าเรามีการยื่นเคลมไปแล้ว หลังจากนั้นพอเราเข้าไปในระบบเขาก็จะดูในระบบให้ เขาจะมีเลขรับว่าเป็นเรื่องร้องเรียนเลขที่เท่าไหร่และก็จะมีใบกลับมาให้เราซึ่งใช้ระยะเวลาไม่นานครับไม่นาน ไม่เกิน 30 นาทีครับ ได้รับเงินชดเชยมาหลังจากที่ยื่นเรื่อง         ก็หลังยื่นเรื่องวันที่ 10 ใช่ไหมครับ ก็มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาอีกสักประมาณห้าหกวันโทรเข้ามา แล้วก็วันที่ 17 กันยายน ก็มีการจ่ายเข้ามาครับ ฝากอะไรถึงผู้บริโภคที่มีปัญหาเรื่องการเคลมประกันล่าช้า         อยากจะฝากเรื่องของการรักษาสิทธิของตัวเองว่า ยังมีหน่วยงานหลายๆ หน่วยงานที่เขายังคอยให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น คปภ.อาจจะมีหน่วยงานอื่นๆ อีกที่เขายังคอยช่วยเหลืออยู่สามารถปรึกษาได้นะครับ แนะนำคนที่กำลังจะทำประกันโควิด         อยากให้ดูความมั่นคงผมยังยืนยันว่าให้ดูความมั่นคงของบริษัทประกันว่าถ้าเกิดมันเกิดมีเรื่องขึ้นมาแล้วถึงเวลาเขาจะมีเงินชำระให้เราหรือเปล่า เรื่องขั้นตอนระเบียบขั้นตอนต่างๆ ไม่สร้างความยุ่งยากหรือเป็นภาระให้กับเราเพราะบางที่อาจจะแบบเจอจ่ายจบ จริงๆ ผมยังมองว่าเจอจ่ายจบ แค่ผล LAB ก็พอ ซึ่งตอนแรกพวกบริษัทประกันต้องใช้ประวัติการรักษาด้วยผมคิดว่ามันไม่จำเป็นเพราะว่ามันเจอจ่าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 “มือแชร์ข่าวปลอมเลยพวกนี้ ต้องเอากลับมาแชร์ข่าวดีแทน”

        นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับนี้พาไปพบคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกท่าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา หลังจากเรียนจบสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ก็มุ่งมั่นมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ การดูแลสุขภาพ โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรมชุมชน เธอบอกเราว่า “เราอยากจะเห็นสินค้าที่มันอยู่ในชุมชนได้รับการสนับสนุนและมีมาตรฐาน” ประสบการณ์และเรื่องเล่ามากมาย แต่ครั้งนี้จะเน้นถึงงานเรื่อง ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวดี ว่ามีผลต่อผู้บริโภคอย่างไร และการทำงานด้วยพลังของอาสาสมัครนั้นสำคัญอย่างไร งานที่อาจารย์ให้ความสำคัญมากคือการเฝ้าระวังสินค้าออนไลน์         คืองานเฝ้าระวังออนไลน์ของเราตอนนี้ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครคนทำงาน ซึ่งสินค้าออนไลน์ส่วนหนึ่งนี่มันก็จะมีการแชร์ โพสต์ขาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดค่อนข้างเยอะ    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษาหรือว่าชุดผลิตภัณฑ์ต่างๆ การตรวจพวกนี้หรือว่าสมุนไพร ซึ่งพอมีคนโพสต์แนะนำหรือให้ข่าวว่าสมุนไพรตัวนี้ใช้ดี สักพักเดี๋ยวก็จะมี “ตัวผลิตภัณฑ์” เกี่ยวกับสมุนไพรนั้นโผล่ขึ้นมาในกลุ่มไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะความที่เป็นกลุ่มเฉพาะมันก็จะทำให้การตรวจสอบจากข้างนอกมันเข้าไปไม่ถึง การที่เรามีอาสาสมัครที่เป็นกลไกอยู่ในกลุ่มไลน์ต่างๆ กลุ่มชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่ม อพม.อะไรอย่างนี้ พอเจอประเด็นอะไรเขาก็สามารถแคปหน้าจอกลับมาให้เราตรวจดูได้ อาจจะมีการแชร์เรื่องสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริง มีการแชร์กันเกิดขึ้นอย่างนี้นะคะ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ ในการที่จะใช้สื่อออนไลน์แบบมีประสิทธิภาพ คนอายุเยอะส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครของเรา อายุประมาณ 50-60 หรือ 40 แถวๆ นี้         แต่ก็ยากตั้งแต่แคปหน้าจอเลย พอเราบอกว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เชื่อง่าย แชร์ง่ายด้วย แชร์เร็ว แต่ว่าหาหลักฐานหาข้อมูลไม่ได้ เราก็จะให้เขาช่วยแคปข้อมูลกลับมาแล้วเราก็ตรวจสอบ หลักจากนั้นก็ทำกระบวนการให้เขาสามารถเชคเกอร์ (Checker) หรือตรวจข้อมูลจาก Application ของ อย. หรือ FDA ได้ อย่างน้อยๆ ตรวจเลข อย.เป็น ว่าอันนี้คือตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือว่าเป็นยาสมุนไพร เขาก็จะตรวจสอบผ่าน Application เป็นนะคะ อย่างนี้นะคะ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าแคปหน้าจอหลายยี่ห้อนะโทรศัพท์ มือถือหลายยี่ห้อมันก็จะแคปหน้าจอลำบาก พอแคปมาตัวหนังสือเขาก็จะเป็นฟอนต์ประมาณ 30 ตัวอักษรใหญ่ๆ ยาวๆ เต็มจอ มันก็จะมองไม่เห็นไม่ครบหน้าจอ ก็แคปได้ทีละจออะไรอย่างนี้ เราจะสอนให้เขาแคปแล้วก็แคปรูปแบบยาวๆ ให้มีข้อมูลครบ ก็จะเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็จะกลายเป็นเหมือนเราฝึกทักษะทางดิจิตอลให้กับอาสาสมัครผู้บริโภคในการเฝ้าระวังด้วย ตอนนี้มีอาสาสมัครกี่คนที่กระจายตามกลุ่มไลน์ต่างๆ         เราทำอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ตอนนี้ก็จะมีของสงขลา ประมาณ 100 คน แล้วเราก็ขยายเฉพาะโครงการนี้เป็นการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ คือรวมถึงเรื่องการเคลียร์เรื่องข้อมูลเท็จ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย แล้วก็จะมีประปรายไปว่าเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มันมีปัญหานะคะ ก็มีเริ่มไปอีก 5 จังหวัด แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะว่าสถานการณ์โควิด การฝึกอบรมที่จะต้องจับมือทำงาน  เลยจับไม่ได้เพราะว่าต้องใกล้ชิด โทรศัพท์เขาบางทีก็จะเป็นโทรศัพท์ที่มีปัญหาว่าข้อมูลเต็มเล่นอะไรไม่ได้แล้ว โทรศัพท์ลูกให้ ข้อมูลเต็มไปหมดแล้วก็ดี ไปกดรับอะไรก็ไม่รู้เป็นข้อความ SMS ยืมเงินอีก ก็เจอนะ ก็ต้องมานั่งช่วยเคลียร์ให้ เคลียร์แคช (Cache) เคลียร์อะไรให้ อันนี้ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งเรื่องศักยภาพในเรื่องของการใช้พวกมือถือในการสื่อสาร         แต่ในช่วงโควิดนี้ อสม.ส่วนหนึ่งเขาก็จะได้รับหน้าที่ในเรื่องของการสำรวจข้อมูล ทำ Google from มันก็เลยทำให้งานแบบนี้มันได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันช่วยการทำงานของเขา อาสาสมัครเราส่วนหนึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกนนำเป็น อสม.อยู่ในชุมชนที่ต้องใช้เรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันก็จะมีงานอีกชุดหนึ่งร่วมกับ กพย.กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในเรื่องของการเฝ้าระวังยาชายแดน แล้วก็คิดงานในลักษณะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำงานเสริมศักยภาพเครือข่ายการทำงานร่วมกัน         เครือข่ายภาคีทำงานร่วมกันก็จะมีตั้งแต่ สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการที่มีเภสัชฯ อยู่ในโรงพยาบาลระดับชุมชน เพราะว่างานเรื่องการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง ก็จะมีกลุ่มเภสัชฯ ในโรงพยาบาลชุมชนที่เขาต้องลงไปดูเรื่องยาชุด ยาที่มีปัญหาสารสเตียรอยด์เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือตัวอื่นๆ อย่างเช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มันขายอยู่ตามตลาดนัด  ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นี้จะไม่มีฉลากภาษาไทย รวมถึงยาบางตัวที่อยู่ตามเขตชายแดนก็จะเป็นภาษามลายู ภาษารูมี ที่เป็นภาษาของทางมาเลเชียเขียนแบบภาษาอังกฤษแต่อ่านคำเป็นภาษามาเลเชีย ก็จะสอดคล้องกับในพื้นที่เองเขาก็มีกระบวนการทำงานของอีกด้านหนึ่ง ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไปเชื่อมกันที่เรียกว่า Border Health ที่เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน คณะเภสัชฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นกลไกวิชาการประสานประชาคม ซึ่งพวกเราเองคือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ก็จะมีประเด็นทำงานร่วมกันมีการเฝ้าระวังผลิภัณฑ์ชายแดน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะว่าปัญหาอยู่ในส่วนของชุมชน             “คือส่วนหนึ่งคนไม่ค่อยไปแจ้ง อย.หรือแจ้ง สสจ.แต่พอเราไป Survey สำรวจ มีกระบวนการเฝ้าระวัง เราก็จะไปถึงต้นตอปัญหาก็คือการใช้ยาในครัวเรือน” ครัวเรือนนี้ได้ยามาจากไหน ได้ยาจากคนที่เพิ่งไปกลับมาจากอินโดฯ กลับจากมาเลย์ แล้วก็มีการส่งต่อ รวบรวมมาแล้วก็ส่งให้ศูนย์วิทย์ฯ ก็เลยกลายเป็นการร่วมมือของภาคี ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง คณะเภสัชฯ ก็จะไปทำกระบวนการที่เรียกว่า ฝึกให้เราเป็นนักวิจัยร่วม คือเก็บข้อมูล แล้วก็ออกแบบสอบถามให้มันสามารถมาประมวลผลวิเคราะห์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะไปเก็บข้อมูลก็ต้องมานั่งออกแบบสอบถาม แบบ Survey ก่อนว่าเราต้องการข้อมูลแบบไหน มันก็จะทำให้เห็นทิศทางการจัดการปัญหา         เช่น ถ้าเกิดเจอแบบนี้แสดงว่าสเตียรอยด์ที่เราเจอ คือมันค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็จะส่งไปตรวจสอบ แล้วก็หลังจากนี้เราก็จะดูว่าถ้าเกิดตัวนี้มีปัญหาเราก็จะพูดคุยผ่านใครล่ะ ก็ต้องส่งไปที่ Border Health ส่วนหนึ่งก็จะมีทางสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสนะคะ ที่ทำงานกับตรงนี้แล้วก็กับด่านสินค้า ด่านตรวจสินค้าก็จะมีด่านศูนย์วิทย์ฯ ของสงขลาด้วยส่วนหนึ่งนะคะ หลังจากนี้เราก็จะเอาข้อมูลพวกนี้มานั่งคุยกันว่าจะมีข้อเสนอต่อไปอย่างไรเพื่อจัดการตัวผลิตภัณฑ์นี้ อันนี้ก็จะเป็นกระบวนการทำงานและอาสาสมัครเองส่วนหนึ่งก็จะตรวจง่ายๆ เป็นสเตียรอยด์จะเป็นในกลุ่มที่เขาถ้าพัฒนาอีกนิดหนึ่งเขาก็จะเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญที่เขาเรียกว่า อาสาสมัครนักวิทย์ อสม.เขาจะมีกลุ่มนี้ก็จะตรวจสเตียรอยด์กันเป็นเบื้องต้นก่อน ศักยภาพของกลุ่มอาสาสมัครที่น่าสนใจ         คือกลุ่มไลน์พวกนี้ที่เขาเป็นสมาชิกกันเขาก็จะเกรงใจกันส่วนหนึ่ง แต่ว่าเขาก็จะมีศักยภาพคืออย่างน้อยๆ ตอนนี้เขาเริ่มพิมพ์เป็น คือกดพิมพ์ไม่ใช่กดแชร์อย่างเดียว พอเริ่มกดพิมพ์ได้เขาก็จะเริ่มถามว่าถ้าพูดไปอย่างนี้ดีไหม อย่างคนที่ส่งข้อมูลมามีวุฒิการศึกษานะเป็นอาจารย์โรงเรียนด้วย แต่อาจารย์คนนี้ส่งข้อมูลที่มันไม่น่าเชื่อถือ น่าสงสัย เรา (อาสาสมัคร) จะตอบกลับไปอย่างไร ก็จะมีกลุ่มไลน์เพื่อปรึกษาหารือกันเป็นกลุ่มไลน์เพื่อส่งข้อมูล คือแชร์หน้าจอมาแล้วเหล่าอาสาสมัครเขาก็จะถามว่าอันนี้จะตอบไปอย่างไรดี ให้ไม่หักหน้ากันมากนัก ปัจจุบันก็ยังมีข้อความที่แชร์เรื่องผิดๆ อยู่มาก มีวิธีจัดการอย่างไร         ใช่ค่ะ ถูก เพราะฉะนั้นตอนนี้ศักยภาพของอาสาสมัครเราที่เห็นได้ชัดเจนคือ ข่าวปลอมๆ พวกนี้ที่ได้รับมาบางส่วนมันเริ่มเป็นข่าววนซ้ำ เขา (อาสาสมัคร) จะจำได้ เช่น ข่าววนซ้ำว่าแชร์เรื่องคลิปที่อาจารย์มหิดลเขาทำวิจัยเรื่องกระชาย อาสาสมัครของเราก็สามารถบอกกันต่อได้ว่า “เออวิจัยนั้นเขาก็จะยังไม่เป็นยานะ เป็นแค่การทดลองในเซลล์ที่อยู่ข้างนอกที่เป็นในหลอดทดลองยังไม่ได้ใช้ในคน” เขาก็จะพิมพ์พวกนี้ได้เรียกว่ามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง  คือมีชุดคำที่พร้อมจะไปอธิบายว่า เห้ย ยังไม่ได้เป็นยาอันนี้อันนั้น หรือว่าอันนี้น้ำกระชายจริงๆ ยังไม่ควรกินแบบคั้นสด เพราะมันกินแล้วมันจะระคายเคืองปาก ปากคุณจะเป็นตุ่มนะและก็ไม่ได้รักษามีแค่เสริมภูมิ ก็จะชุดคำที่เขาเอาไปพูดได้แต่มันจะเริ่มวนซ้ำแล้ว เดี๋ยวสักพักจะมีคนในกลุ่มเขาก็จะแชร์เนื่องจากความยากในการเข้าถึงยาตอนนี้นะคะ          แต่ตอนนี้ก็อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นความคลุมเครือยังไม่ลงตัวกันของข้อมูล เช่น ATK Antigen Test Kit ตอนนี้มันคืออะไรแน่มันต้องผ่าน WHO ก่อน หรือมันผ่าน อย.ก่อน ก็เป็นเรื่องประเด็นถกเถียงกัน ซึ่งการสื่อสารของ อย.ก็ไม่ชัด สื่อสารของหน่วยที่จัดซื้อก็ไม่ชัด อันนี้ก็จะลำบากนิดหนึ่ง จากประสบการณ์ของอาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ         คือเราเองความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องมาตรฐานหรือเรื่อง อย.เราก็คิดว่าเป็นเกณฑ์แรก แต่ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องของไลฟ์สไตล์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพการบำรุงสุขภาพเป็นพวก Function Drink  อะไรพวกนี้ไปไกลมากกว่าการที่จะมารับรองมาตรฐาน  แล้วคนก็สนใจในเรื่องภูมิคุ้มกันเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการรักษา เพราะฉะนั้นตัวผลิตภัณฑ์พวกนี้มันค่อนข้างจะคลุมตลาดได้กว้างมากขึ้นนะคะ แล้วก็การให้ใบอนุญาตอะไรพวกนี้มันก็ง่ายขึ้นแต่ไม่มีใครยืนยันความชัดเจน คือมันขายเหมือนอาหารนั่นแหละแต่มันโฆษณามากเกินกว่าอาหาร อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็น         เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันคนก็ชอบทางลัดคือกินอะไรง่ายๆ กินนิดเดียวก็ได้ผัก 2 กิโลกรัม อะไรอย่างนี้ก็จะยิ่งสอดรับกับวิถีแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไปบอกเขาห้ามกินไม่ได้ แต่เราก็จะต้องทำเรื่องกำกับคุณภาพกับหน่วยงาน หน่วยงานรัฐให้เขาทำเรื่อง Post Marketing ให้เยอะขึ้น เพราะเขาอนุญาตไปแล้วแต่เขาไม่ได้มาตามดูคุณภาพหลังจากที่มีใบอนุญาตออกมาแล้ว ก็มีการขายในท้องตลาดแล้ว มันควรจะมีหน่วยงานต่างหากที่มาทำเรื่องนี้ ทำวิจัยที่เรียกว่า Out of Pocket ด้วย ก็คือเราจะสุขภาพเกินไปไหม คือบางคนพร้อมจะจ่ายนะ แต่การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นการตลาดเหมือน Functional Drink ที่เราเห็นบางโครงการมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และหน่วยงานก็ไม่ได้กำกับดูแล กลายเป็นเราต้องไปซื้อหาเพื่อดูแลสุขภาพมากเกินจำเป็น แต่ก็ยังเจ็บป่วยอยู่เหมือนเดิม อันนี้ก็เห็นอยู่ในประเด็นเรื่องสุขภาพ         สำหรับประเด็นเรื่องอื่นของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีแหล่งข้อมูลรีวิวสินค้าที่เป็นกลางมาก อันนี้ก็จะเห็นพัฒนาการว่าเรายังไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูแลสินค้าที่น่าเชื่อถือ ก็คาดหวังว่าหน่วยงานรัฐเองจะสนับสนุนเรื่องเกณฑ์สินค้าที่เป็นมาตรฐานจริงๆ แล้วก็สินค้าบางตัวที่มันทำให้เสื่อมเร็ว ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มันก็ควรจะมีข้อบ่งใช้ให้พวกบริษัท ร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจร่วมรับผิดชอบด้วยเกี่ยวกับขยะต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้น อันนี้ในแง่มุมผู้บริโภค ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้บริโภคยั่งยืนด้วยคะ ก้าวต่อไปที่คิด         ก็คิดว่าส่วนหนึ่งคือ เราต้องไปทำระบบที่มันเป็นระบบข้อมูลที่คนเข้าถึงได้ง่าย คือตอนนี้ Application มันเยอะ สแกน QR Code ก็ง่ายแต่มันไม่มีเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคที่เราจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างนี้นะ ก็คิดว่ามันควรจะมีใครมาทำเรื่องพวกนี้ เปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆ เปรียบเทียบคุณภาพจากการสแกน QR Code คือผู้บริโภคจะต้องทำได้ง่ายขึ้น ก็คงจะต้องไปพัฒนาเขาเรียกว่า Smart People ให้เท่าทันกับสถานการณ์ว่าเรารีวิวสินค้าไม่ได้ แต่เราควรจะต้องมีเครื่องมืออะไรที่เรารู้ว่าอันนี้มันมีคะแนนให้จากคนทั่วไป ชุมชนอื่นหรือ อสม. หรือเครือข่ายผู้บริโภคอื่นๆ ที่สนใจ มีคำแนะนำอย่างไร         คือเริ่มต้นจริงๆ อสม.ทำได้นะคะ มันมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นรวมตัวกันแล้วก็เขียนโครงการเป็นเรื่องพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้เลยในเรื่องของสุขภาพในเรื่องของการตรวจสอบความเท่าทันข้อมูลสุขภาพที่เรียกว่า Health literacy อาจจะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยหน่อยเป็นเรื่องความฉลาดทางสุขภาพนะคะ Health literacy ซึ่งมันต้องใช้พวกเครื่องไม้เครื่องมือนี้นะคะ ไปเขียนโครงการพัฒนาศักยภาพและก็ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยเรื่องพวกนี้ แต่ว่าติดต่อมาทางเราได้ ยินดีเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ร้านข้าวกล่องที่วางแผนการผลิต เพื่อลดขยะจากอาหาร

เดินทีละก้าว กินข้าวที-ละ-คำคุณๆ เลือกซื้อข้าวกล่องจาก...ราคา หน้าตา รสชาติ หรือกล่อง ?          ฉลาดซื้อฉบับนี้พาไปรู้จักร้านขายข้าวกล่องออนไลน์ในจังหวัดระยอง ชื่อ ที -ละ-คำ ร้านที่สมาชิกในครอบครัว รวมใจมาร่วมมือกันทำเมนูอาหารสุขภาพด้วยความพิถีพิถัน ตั้งราคาสมเหตุสมผลแต่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้และเลือกวัตถุดิบแบบรู้ที่มา ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญวางแผนการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อลดขยะจากอาหาร         คุณกิ๊บ-มณีรัตน์ นานาประเสริฐ เล่าย้อนว่า เมื่อราว 5 ปีก่อนตอนนั้นเธอทำงานเป็นออแกไนซ์ ที่ มักจะได้กินข้าวกล่องเมนูเดิมๆ ซ้ำๆ เช่น ข้าวผัด ผัดกะเพรา ในระหว่างทำงาน ทำให้เบื่อข้าวกล่องมากๆ พอดีร้านส้มตำของที่บ้านปิดตัวลง เธอก็เลยชวนคนในบ้านให้มารับทำข้าวกล่องขาย โดยเลือกเมนูประจำบ้านมาเสนอลูกค้า เช่น ข้าวน้ำพริกกะปิ ข้าวพริกเกลือกุ้ง ข้าวไก่ย่างน้ำจิ้มแจ่ว ข้าวคลุกกะปิ ข้าวผัดปลาสลิด ในราคา 50-60 บาท เบื่อข้าวกล่อง แต่มาทำข้าวกล่องขาย         กิ๊บมีโอกาสทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เลยอินเรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องสุขภาพ จึงตั้งใจทำข้าวกล่องที่เป็นข้าวหอมมะลิผสมข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นกึ่งอาหารสุขภาพ แต่ยังคงรสจัดจ้านแบบที่เรากิน แล้วลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของเราก็พอดีเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล คุณหมอ พยาบาล เขาแนะนำว่าให้ใส่ผักให้ครบสี ไม่ว่าเมนูอะไรให้มีผักด้วย จะเห็นเลยว่าข้าวกล่องของเราจะมีผักสีสันสวยงาม ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากการแนะนำบอกต่อกัน เพราะเราไม่มีหน้าร้าน มีเพจอย่างเดียว หลายคนเคยได้รับข้าวกล่องตอนไปร่วมงานประชุม งานสัมมนา แล้วถูกใจ เขาก็จะมาสั่งค่ะ กินอย่างไร ทำขายอย่างนั้น         ที่บ้านจะพิถีพิถันเรื่องอาหารการกินมากๆ โดยเฉพาะการเลือกใช้วัตถุดิบ ต้องสดและสะอาด อย่างหมูบด เราจะไม่ซื้อหมูที่บดไว้สำเร็จแล้ว แต่จะให้ร้านขายหมูเจ้าประจำล้างหมูเนื้อแดงชิ้นๆ และล้างเครื่องบดให้ก่อนแล้วค่อยบดหมูให้เรา พอมารับทำข้าวกล่องขาย เราก็ยังทำแบบเดิมอยู่ แม้ว่าราคาจะสูงกว่าซื้อหมูบดสำเร็จก็ตาม เพื่อมั่นใจในความสะอาดและเป็นความสบายใจของแม่ครัวด้วยค่ะ           เมนูประจำบ้านที่เราชอบและลูกค้าส่วนใหญ่ชอบจะเป็นข้าวน้ำพริกกะปิ ที่เราใช้กะปิระยองอย่างดี เอามาย่างไฟก่อน เพราะการตำน้ำพริกกะปิ จะเป็นเมนูที่ไม่ได้ผ่านความร้อนเลย เราจึงต้องเอากะปิมาย่างไฟ เพื่อให้มั่นใจว่ากะปิจะสะอาด ปลอดภัย เมนูแบบที่ร้านนำเสนอลูกค้าพอใจไหม           ก็มีขัดใจบ้าง อย่างช่วงหน้าฝน หน้ามรสุม พวกอาหารทะเลไม่สดมีแต่แบบแช่แข็ง เราเคยซื้ออาหารแช่แข็งมาลองทำกินเองก่อนแล้ว รู้สึกว่าไม่โอเค เราก็พยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ บางคนก็ยอมเปลี่ยน เพราะเห็นว่าเราใส่ใจให้เขาจริงๆ แต่ก็มีที่ลูกค้าไม่ยอมเปลี่ยนเมนู เราก็ขออนุญาตไม่รับออเดอร์ ก็เสียดายนะ แต่รู้สึกว่าลูกค้าส่วนใหญ่เขาสั่งไปแจกต่อ บางที 100 กล่อง ถ้าวัตถุดิบไม่สดจะส่งผลกระทบกับคน 100 คน ถ้าเขากินแล้วท้องเสียขึ้นมา มันไม่คุ้มเลย เราก็เลือกไม่ทำดีกว่า แล้วเรื่องแผนการผลิตเพื่อลดขยะอาหารมีที่มาอย่างไร         เริ่มมาจากไอเดียที่เห็นว่าช่วงนี้ในสวนของที่บ้านมีหน่อไม้ผุดขึ้นเยอะ อ่อนๆ ชวนกินมาก จึงโพสต์พรีออเดอร์เมนูขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ใส่หน่อไม้สด ซึ่งลูกค้าตอบรับดีมาก ดังนั้นส่วนใหญ่คือ เราจะเลือกใช้ผักในฤดูกาลมากกว่า เพราะเราเชื่อว่าการกินผักตามฤดู เกษตรกรจะไม่เร่งสารให้พืชผลโต วัตถุดิบหลายอย่างก็จะมาจากที่สวนเองด้วย เช่น หน่อไม้ มะเขือ กะเพรา พริก โหระพา สะระแหน่  เราปลูกแบบออแกนิก หรือถ้าใช้ผักที่สวนไม่มี เราก็ไปดูตามตลาดนัดที่ชาวบ้านเอามาขาย ถ้าไปตลาดใกล้ๆ แล้ววัตถุดิบไม่สด ไม่สวยถูกใจ ก็จะไปดูตลาดอื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนพอใจ            แล้วทีนี้สมาชิกในครอบครัวแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ทุกเมนูต้องทดลองปรุงมาชิมก่อน แล้วคำนวณวัตถุดิบที่ต้องใช้ต่อกล่องก่อนถึงจะลงมือผลิตตามออเดอร์ลูกค้า เมื่อได้ออเดอร์ (มีทั้งแบบลูกค้ารีเควสมาและให้เราเสนอเมนูไป) พวกเราก็จะมานั่งดูว่าช่วงนี้มีเมนูอะไร ใครกินบ้าง มานั่งคุยกันในบ้าน อย่างเช่น ข้าวคลุกกะปิ เราจะลองทำกินกันก่อน ใช้ข้าวเท่าไหร่ ใช้กะปิเท่าไหร่ ใช้หมูเท่าไหร่ อะไรเท่าไหร่ต่อหนึ่งกล่อง ต้องเอามาคำนวณให้ได้ทั้งหมดก่อน แล้วก็มาคุยกันเรื่องรสชาติว่าแบบนี้เราชอบกันหรือเปล่า ส่วนใหญ่จะเอาแบบที่บ้านกินอร่อย ช่วยกันชิมช่วยกันติ เมื่อมีการคำนวณวัตถุดิบแต่ละเมนูมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีปัญหาวัตถุดิบส่วนเกินเยอะหรือวัตถุดิบเหลือเยอะ แล้วด้วยรูปแบบการรับทำตามออเดอร์ลูกค้านี้ ก็ทำให้เราวางแผนการซื้อวัตถุดิบได้ค่อนข้างเกือบพอดีกับออเดอร์ที่เข้ามา อาจมีบ้างที่เหลือ แต่ก็ไม่ได้เหลือมากจนเป็นปัญหาหรือกลายเป็นขยะ จัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะพลาสติกด้วย         กิ๊บสนใจเรื่องการจัดการขยะและการจัดการสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว พอมาทำข้าวกล่องก็พยายามเลือกว่าจะใช้กล่องอะไร กล่องแบบไหนที่ตอบโจทย์ความสะดวกลูกค้า ต้นทุนของเรา แล้วก็เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คือลูกค้าที่เขาอินเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็มี ถ้าเป็นลูกค้าประจำก็จะเอากล่องมาฝากไว้ให้ใส่เลย แต่ช่วงนี้มีโควิด-19 เราก็ต้องงดรับภาชนะจากลูกค้าก่อน         “ ช่วง 2 ปีแรก กิ๊บเลือกใช้กล่องกระดาษเพื่อลดขยะพลาสติก แม้ต้นทุนจะสูงก็ยอมแบกไว้ เพราะถูกใจลูกค้าและแม่ค้าก็สบายใจด้วย แต่ต่อมาเมื่อได้รับรู้ข้อมูลอัปเดตว่าขยะพลาสติกไม่ได้ไร้ค่าอีกต่อไป เพราะใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย จึงเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกแทน ซึ่งช่วยลดต้นทุนลงได้ด้วย จริงๆ กล่องกระดาษที่เราใช้อยู่มันก็ไม่ใช่กระดาษ 100%  มันเคลือบพลาสติกไว้ด้วย การย่อยสลายก็ยังคงหลงเหลือเป็นนาโนพลาสติกอยู่ดี แล้วการจัดการขยะกล่องข้าวที่ทำจากกระดาษเคลือบพลาสติกนี้ ปลายทางคือถูกฝังกลบ เพราะเอาไปทำอะไรต่อไม่ได้ ซึ่งปัญหาคือพื้นที่การฝังกลบขยะของบ้านเราก็เหลือน้อยลงไปทุกที ”         พอดีได้มีโอกาสไปทำงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงงาน (Waste-To-Energy) คือเป็นการนำขยะทั่วไป ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงแห้ง (RDF) โดยผ่านกระบวนการต่างๆ และได้รู้ว่าที่ระยองมีบริษัทที่พัฒนาระบบการจัดการขยะที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีการแปลงขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า ในรูปแบบเชื้อเพลิงแห้งอยู่ด้วย จึงสนใจ เพราะแม้ว่าหัวใจจริงๆ ของการจัดการขยะคือ การลดปริมาณหรือทำให้เกิดเป็นขยะน้อยที่สุด แต่เราก็มองว่าในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานได้ก็น่าจะดีกว่าถูกฝังกลบ         กิ๊บคุยกับเพื่อนที่มีความรู้ว่าอยากเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบนี้  จะเอาไปทำ RDF ได้หรือเปล่า เขาก็ว่าแบบนี้ได้ แล้วสติ๊กเกอร์ที่ไม่ใช่กระดาษมันส่งผลต่อการเอาไปเผาหรือเปล่า เขาก็ว่าไม่ แบบนี้แหละ เป็นตัวเชื้อเพลิงอย่างดีเลย เราจะถามหาความรู้ก่อน เพื่อให้ชัวร์ว่าการตัดสินใจเปลี่ยนของเรามันไม่ใช่แบบคิดไปเอง เมื่อเราศึกษาจนได้คำตอบว่าขยะพลาสติกทั่วไปที่รีไซเคิลไม่ได้นั้นนำไปผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อป้อนสู่เตาเผาขยะได้ เราก็เปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกเลย         ก่อนหน้านี้ ลูกค้ารับรู้ว่าเราใช้กล่องกระดาษเพื่อลดพลาสติก พอเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติก เขาก็จะถามว่า เฮ้ย ไม่รักษ์โลกแล้วเหรอ เราก็บอกว่าไม่ใช่ แต่ตอนนี้มีวิธีจัดการที่ทำให้ขยะพลาสติกมันไปต่อได้แล้วไง เราก็โพสต์อธิบายบนเพจ ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยรู้ว่าบ้านเรามีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ บ้านเรามีโรงแยกขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ไปทำ RDF นะ พอหลายคนรู้แล้วก็บอกว่า ดีจังเลย กิ๊บเชื่อว่าทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกจากกล่องข้าวได้         โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เขาจะเอาขยะขึ้นสายพาน แล้วดึงขยะที่เผาได้ออกมาทั้งหมด ปัญหาคือเศษอาหาร ความชื้น น้ำ ที่มีอยู่ในขยะพวกนี้ ในการคัดแยก ถ้าเขาเห็นว่ามีน้ำเยอะ มีความชื้น มันก็จะต้องผ่านหลายกระบวนการ ไปลดความชื้น หรือบางส่วนที่เขาแยกไม่ได้จริงๆ มันก็จะไม่ถูกนำไปใช้         พอคนไม่รู้ว่าขยะมันไปไหนต่อได้ เขาก็ไม่ทำ คือแยกไปก็เอาไปทิ้งรวมกัน คือถามว่าเขาเอาไปรวมกันไหม ใช่ รวมจริงๆ แต่พอรวมแล้วก็เอาไปแยกต่อจริงๆ เพราะฉะนั้นต่อให้เขาจะรวมหรือไม่รวม ถ้าเราแยก เขาจะทำงานง่ายขึ้น ตอนนี้เราชวนลูกค้าให้ช่วยกันแยกเศษอาหารออกจากกล่องพลาสติกหลังทานเสร็จ ในใจมีแพลนต่อไปว่าจะชวนลูกค้าประจำแยกกล่องพลาสติกแบบนี้เอาไว้ แล้วเราจะเก็บให้ค่ะ ในสถานการณ์วิกฤติปรับแผนธุรกิจอย่างไร         เมื่อโควิด-19 ระบาด จากเดิมที่รับออเดอร์ล็อตใหญ่ๆ 30-50 กล่องขึ้นไป ก็ต้องปรับมารับพรีออเดอร์ลูกค้ารายย่อย ส่วนใหญ่เป็นหมอ พยาบาล ครู พนักงานออฟฟิศ และคนทำงานที่บ้าน จัดส่งเองทุกออเดอร์ เพิ่งลงมือจริงจังเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา          แรกๆ บางวันได้ 10 กล่อง เราก็ทำ บางทีมันไม่ได้ยอดหรือไม่ได้กำไร ก็มองว่าอย่างน้อยเราก็ยังได้กิน ยังได้ค่ากับข้าวทำไปไม่ขาดทุนหรอกแม้ออเดอร์ไม่เยอะ แต่ก็ดีใจทุกครั้งที่ลูกค้าบอกว่าข้าวกล่องของเราไม่เคยทำให้ผิดหวัง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเรามั่นใจว่าลูกค้ารับข้าวกล่องของเราไป ถ้าไม่กินเที่ยง แล้วไปกินเย็น ไม่เสียแน่นอน ตรงนี้เป็นเคล็ดลับเฉพาะของเราเลย         กิ๊บมองว่าลูกค้าเลือกซื้อข้าวกล่องจากข้อมูล จากความพิถีพิถันของวัตถุดิบมากขึ้น สังเกตจากช่วงแรกๆ ที่โพสต์ว่าวันนี้มีเมนูนี้นะ เขาจะเฉยๆ แต่ถ้าเราโพสต์ไปว่าวันนี้เรามีเมนูนี้ และบอกด้วยว่าวัตถุดิบเรามาจากที่นี่ เราเลือกใช้อันนี้ เหมือนเราใส่คอนเทนต์เข้าไป ลูกค้าก็จะอินบ็อกซ์มาสั่งกันรัวๆ แล้วยิ่งเราอธิบายเรื่องการใช้กล่องพลาสติกให้เข้าใจ เขาก็จะรู้สึกว่าเราใส่ใจทุกอย่างจริงๆ เราใส่ใจด้วยใจจริงๆ ไม่ใช่ใส่ใจเพื่อโฆษณา แล้วลูกค้ารับรู้ได้ก็บอกต่อกันเองลูกค้าจะบอกว่าเราเป็นข้าวกล่องพรีเมี่ยมในราคาที่จับต้องได้          ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้ามาขายข้าวกล่องกันเยอะ เราต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของเราเอาไว้ให้ดีๆ เรามองว่าคำติของลูกค้าคือของขวัญที่เขายอมพูดความจริงกับเรา แล้วเราเอามาปรับเราก็จะอยู่ได้ ตอนนี้มีคนสั่งข้าวกล่องของเราไปให้บุคลากรทางการแพทย์และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เรื่อยๆ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้คิดว่า เราก็เดินกันไปทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ค่อยๆ ปรับตัวกันไป เหมือนเป็นกำลังใจให้ทั้งตัวเองและลูกค้าด้วย  วันนี้คุณสั่งข้าวกล่องแล้วหรือยัง ? ที-ละ-คำ เราใส่ใจในวัตถุดิบและพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ทุกเมนูเป็นมื้อพิเศษFacebook : ข้าวกล่องของว่างระยอง link :   www.facebook.com/TeeLaKam.Rayongโทร : 086-6555443

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนต้องมาใช้สิทธิ์

ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปพบกับการใช้สิทธิ์ของคุณสมฤทัย​ วาทิน เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี  สมฤทัยหรือน้องหยก จากเดิมที่ทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์จากพี่น้องผู้บริโภคภายในจังหวัด กลับต้องมาพิทักษ์สิทธิ์ของตนเอง เธอจึงมีประสบการณ์ดีๆ มาถ่ายทอดให้เราได้ใช้ประโยชน์กัน ทำไมจึงมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค        สนใจงานด้านนี้เพราะสนใจเรื่องสิทธิค่ะ ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องสิทธิมาก่อน​ มองเป็นเรื่องยุ่งยาก​ เวลาคนพูดถึงเรื่องเหล่านี้จะใช่คำทางกฎหมายบ้าง​ คำศัพท์​แปลกๆ บ้าง​ เลยมองว่ามันไกลตัว​ และดูยุ่งยาก​ หลังจากที่ได้เข้ามาทำงานจึงรู้สึกชอบเพราะว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน​ เป็นเรื่องที่เราต้องรู้​ และมองว่าถ้าเราต้องการให้เรื่องเหล่านี้ง่ายสำหรับคนทั่วไป เราต้องทำให้เข้าถึงง่าย​ ทุกครั้งที่ทำงานเวลาต้องอธิบายเราจะใช้คำง่ายๆ​ ยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น​เพื่อทำความเข้าใจกับคนทั่วไป มีกรณีอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกประทับใจบ้างคะ         กรณีบัตรทอง​ เนื่องจากลูกของเจ้าของเรื่องเป็นมะเร็งกระดูก​ เขาต้องใช้ยานอกบัญชียาหลัก​ ซึ่งคนแม่เขาเป็นแม่บ้านบริษัทธรรมดา เขาก็ไม่มีเงินจ่ายตรงนี้​ พนักงานในบริษัทเลยช่วยติดต่อมาทางสมาคมผู้บริโภคฯ ​ หยกได้ช่วยประสานงานดำเนินการเรื่องยื่นขอเงินคืนให้​ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการระดมทุนเพื่อช่วยค่ารักษาคือจ่ายให้ทาง รพ.ไปก่อน ถึงสุดท้ายน้องคนนั้นจะเสียชีวิตแต่ก็ได้ช่วยคุณแม่ไว้   แล้วเรื่องที่ต้องมาพิทักษ์สิทธิ์ของตัวเองเป็นเรื่องอะไร         เป็นเรื่องของพ่อหยกเอง พ่อเจอโพสพวกขายอุปกรณ์ตกปลาในเฟซบุ๊ก​ จึงทักไปถามรายละเอียด​ ตกลงกันว่า ซื้อรอกตกปลาในราคาสามพันกว่าบาท​ พ่อโอนเงินให้​ พร้อมส่งที่อยู่​ หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาเลย​ ไม่รับโทรศัพท์ด้วย​         พ่อมาเล่าให้ฟัง ​เลยมาคุยกับพี่ๆ ที่สำนักงานสมาคมฯ คำแนะนำที่ได้คือ ต้องไปแจ้งความค่ะ​ เมื่อไปถึงโรงพัก ตำรวจบอกเราว่ามีเรื่องแบบนี้เยอะมากเลย​ แต่โดยมากจะไม่ได้เงินคืนกัน ส่วนใหญ่ลงบันทึกประจำวันไว้​ แต่สำหรับเราเลือกแจ้งความแบบร้องทุกข์​กล่าวโทษเลย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีผลอะไรกับพวกหลอกลวง         เนื่องจากหยกได้แคปหน้าจอเฟซบุ๊ก​และแชททั้งหมดรวมถึงสลิปทุกอย่างในการซื้อขายกัน ไว้เป็นหลักฐาน ทางตำรวจเลยสามารถโทรติดต่อเจ้าของบัญชีที่พ่อโอนเงินไป​ แต่ไม่มีคนรับสาย​ จึงได้โทรติดต่อญาติ​เจ้าของบัญชีนั้น จนได้คำตอบกลับมาว่าจะติดต่อกลับมา          หลังจากนั้นได้คุยกัน​ เจ้าของบัญชีไม่ยอมรับและยืนยันที่จะไม่โอนคืน เนื่องจากบอกว่าไม่มีเงินเข้า เราจึงดำเนินการต่อเพื่อขอหนังสือในการอายัด​บัญชี ทางเจ้าของบัญชีจึงติดต่อกลับมาขอให้ถอนแจ้งความแล้วก็โอนเงินกลับมาค่ะ         เรื่องทุกอย่างเสร็จภายใน 2 วันหลังจากแจ้งความ​ ไม่ได้อายัดบัญชี สรุปก็คือได้เงินคืน  ตอนคุยกันเรายืนยันจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด​ ถ้าบอกไม่ได้รับเงินเราก็จะตรวจสอบกับทางธนาคารจะตามให้ถึงที่สุดจริงๆ แล้วมีผู้เสียหายคนอื่นแบบเดียวกับคุณพ่อไหม         มีค่ะ​ มีคนติดต่อพ่อมา​ แต่เขาไม่อยากแจ้งความเพราะบอกว่าไม่อยากยุ่งยากและเสียเวลา​ ซึ่งก็ไม่น่าจะได้เงินคืน​ กับทางเพจ ตำรวจดำเนินการอย่างไรต่อ        ไม่ได้ทำอะไรค่ะ​ และบอกให้เราถอนแจ้งความเพราะเขาก็โอนเงินคืนตามสัญญา ทางเพจนี้เขาปลอมเฟซบุ๊กขึ้นมาค่ะ​ แล้วไปโพสขายของตกปลาในเพจขายอุปกรณ์ตกปลา (เพจจริงๆ)  ตอนนั้นเขาปิดเฟซหนีไปแล้วด้วย ตำรวจเลยไม่ดำเนินการต่อ  ได้ประสบการณ์อะไรบ้างจากกรณีนี้         มองว่าอันดับแรก เราต้องเริ่มจากการป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้ค่ะ​ ควรเลือกเพจหรือผู้ขายที่มีรีวิวที่น่าเชื่อถือ​ มีการขายมาอย่างยาวนานหรือมีหน้าร้าน​ ส่วนหลังจากนั้นหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น​ เราต้องมีสติ​ เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลไม่ว่าจะเป็นสลิปการโอนเงิน​ แคปรูปการแชทการพูดคุยตกลงซื้อขาย​ หน้าเพจ​ของผู้ขายเพื่อเป็นหลักฐานไว้แจ้งความดำเนินคดี         แต่อย่างหนึ่งทีพบคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักมองว่าเงินไม่เท่าไหร่ เราไม่เอาเรื่องดีกว่า เพราะเสียเวลา​ กระบวนก็การยุ่งยากและอายด้วยที่จะไปแจ้งความกับเงินจำนวนไม่มาก น้องหยกเปลี่ยนใจผู้บริโภคอย่างไรให้เขาหันมาสนใจใช้สิทธิ         เริ่มจากการปรับทัศนคติ​ก่อนเลยค่ะ​ เราทุกคนที่ซื้อสินค้าและบริการต้องมีสิทธิเลือกและรับข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง​ สินค้าต้องตรงตามที่ตกลงกันไว้​ หากเกิดปัญหาผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอายที่เราจะเรียกร้องสิทธิ​ เงินจะมากหรือน้อยเราก็สามารถเรียกร้องได้​ หากพบเจอกรณีการโกงก็ควรแจ้งความ​ ต่อให้จำนวนเงินไม่มากแต่เพื่อไม่ให้เขาไปทำกับคนอื่นได้อีก ถ้าไม่ทำอะไรคนก็จะโดนหลอกอีกมาก         การแจ้งความไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือเสียเวลาเลย หยกทำมาแล้ว​ เพียงแต่การแจ้งความต้องระบุว่า​ แจ้งความร้องทุกข์​กล่าวโทษ​ ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวันค่ะ บางเรื่องเราสามารถทำได้เองโดยที่ไม่ต้องแจ้งความด้วยใช่ไหมคะ         ได้ค่ะ​ ในกรณีที่เราสามารถตกลงต่อรองได้ อาจจะเริ่มจากการที่ทุกคนต้องรู้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองก่อน จะได้เจรจากับคู่กรณีได้อย่างเท่าทันให้เขาจัดการแก้ไขปัญหาให้เรา สำคัญคือไม่ปล่อยเลยตามเลย จากที่ทำงานกับพี่น้องชาวสุราษฎร์ ปัญหาหลักๆ ของที่นี่คือเรื่องอะไรบ้าง         ปัญหามาแรงตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องของการซื้อของออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้คนนิยมหันมาซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งของใช้ทั่วไปและรวมไปถึงของกิน ซึ่งพบปัญหาเป็นอย่างมากทั้งสินค้าที่ได้ไม่ตรงกับรูปที่โพสขาย เวลาที่ตกลงว่าจะได้รับสินค้าต้องถูกเลื่อนไปอย่างไม่แน่นอนและผู้บริโภคไม่สามารถยกเลิกหรือทำอะไรได้เลย         อีกประเด็นคือ การที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิจากการใช้รถโดยสารโดยเฉพาะในสถานการณ์ช่วงโควิด เช่น การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากตอนนี้ผู้โดยสารน้อย ทำให้รถออกไม่ตรงเวลา  หรือเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารจากสภาพรถที่ดูไม่ค่อยได้รับการดูแล ตลอดจนเรื่องราคาค่าโดยสารที่แพงขึ้น ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ให้ความสนใจมากๆ และอยากให้ผู้บริโภคได้รู้จักคุ้มครองสิทธิของตนเอง โดยไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและตกอยู่ในสภาวะจำยอม โดยผู้บริโภคเองคือคนที่ต้องคุ้มครองสิทธิของตนเองก่อนเลยนะ หากถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ควรเพิกเฉยต่อการเรียกร้องสิทธิเมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม  ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นแผนงานในการทำงานระยะต่อไปของสมาคมฯ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ร้านพลังรักษ์ เมื่อความรักทำงาน

มาค่ะ ฉลาดซื้อจะพาไปช็อปปิ้งในร้านค้าชุมชนแห่งหนึ่ง ที่สินค้ามี “ราคา” และ “คุณภาพ” ดีเท่าเทียมกัน เป็นร้านที่รับหน้าที่เป็นผู้คัดสรรของดีแทนผู้บริโภค แบบที่เรียกได้ว่า ” กินอย่างไร ขายอย่างนั้น ” หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ และหลายๆ คนคงคุ้นเคยกับร้านนี้ “พลังรักษ์”  ร้านอาหารมังสวิรัติ ย่านถนนนวมินทร์ (ปัจจุบันมี 3 สาขา ตั้งอยู่ระหว่างซอยนวมินทร์ 44 ถึง 46 แต่ละร้านจะจำหน่ายสินค้าที่แตกต่างกัน ร้านพลังรักษ์ สาขา 1 และสาขา 2 อยู่ในซอย 46 เป็นร้านอาหารและร้านขายวัตถุดิบ เครื่องปรุงอาหาร ส่วนสาขา 3 ตั้งอยู่ที่ปากซอยนวมินทร์ ซอย 44 เป็นร้านขายผักสด ผลไม้ และเครื่องปรุงรส รวมทั้งน้ำผักปั่นและนมอัลมอนด์)         สุวรรณา  สุมณฑา ผู้จัดการร้านพลังรักษ์  เล่าอย่างมีความสุขเมื่อเราถามว่าตั้งราคาเป็นมิตรแบบนี้มีกำไรบ้างไหม “เราก็เอากำไรบางส่วนไง เราสงสารเกษตรกร ท่านอุตส่าห์ทำลำบาก ตลาดก็ปิดหมดไม่มีที่ลง เราก็ให้ท่านลง ช่วยท่าน เราก็คิดเปอร์เซ็นต์ถูกไม่แพง เอาแค่ให้เราพออยู่ได้ เป็นค่าอะไรต่ออะไรของเรา” สินค้าที่ขายมาจากที่ไหน         ของตามฤดูกาลของญาติธรรม คือเราเป็นนักปฏิบัติธรรมนะ ที่เรามาตรงนี้เสียสละเพราะว่าเราเป็นลูกศิษย์ของพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ไหว้ครูก่อน คือท่านสอนให้เราพึ่งตนเองและก็ช่วยผู้อื่นเมื่อเราเต็มที่แล้ว เราเพียงพอแล้ว เราก็หัดอยู่แบบพอเพียงเหมือนพ่อหลวงแล้วเราก็ปลูกกินเอง ทั้งทำเองเสร็จแล้วเราก็มีเหลือ เรามีเหลือแล้ว บางคนเขาไม่มาค้าขายอย่างนี้เขาจะมีที่ดินของเขา เขาก็ปลูกอยู่ปลูกกินแล้วก็เอามาขาย สินค้าเป็นสินค้าสุขภาพ        ใช่ค่ะเราเน้นเลย โดยเฉพาะถ้าไม่มีสารพิษเลยยิ่งดี ดีกว่าปลอดสารฯ ปลอดสารนี่ยังมีระยะเวลาในการที่ฉีดแล้วรอเวลา ของเรานี่ไม่ใส่เลยเอาน้ำไปตรวจเอาดินไปตรวจบริสุทธิ์เพราะบางทีมันโกหกได้ไง พอเกิดโควิดมันก็เลยพลิกกลับว่าเราต้องมาพึ่งตนเอง ที่พ่อหลวงสอนก็เลยมีความสำคัญ พ่อครูก็เลยได้สอน 3 อาชีพที่ท่านบอก 3 อาชีพกู้ชาติ ต้องทำกสิกรรมไร้สารพิษ ต้องเอาขยะมาเป็นปุ๋ย มันก็เลยกลับมาสู่วิถีชีวิตดั้งเดิม เรากินแบบไหน ก็ขายแบบนั้น         ใช่ๆ ก็เป็นการขายสินค้าที่ปราศจากเนื้อสัตว์ เป็นมังสวิรัติของดีราคาถูก เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ถือว่าเป็นโมเดลหนึ่งนะ จะมีทั้งหมด 3 ร้านใหญ่ๆ ก็คือร้านผัก ผลไม้ แล้วมีน้ำปั่นเป็นโมเดลนะ น้ำปั่นคือสูตรผักพื้นบ้าน สูตรผลไม้และสมุนไพรเป็นผักพื้นบ้านของไทย เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นที่ตอบโจทย์ของลูกค้ามาก ลูกค้ามีสุขภาพดีได้ดื่มน้ำผัก         นอกจากนี้เรามีข้าวสวยจากเลิงนกทา ที่พวกเราเองที่เป็นเกษตรกร 5 กระสอบต่อสัปดาห์  บางคนต้องการกับข้าวเราก็ขายพวกนี้ด้วย พวกนี้เป็น Food for Health มีน้ำปั่นสูตรที่เราคิดขึ้นมากันเองเป็นสูตรผักพื้นบ้านเพราะเราว่ามันเหมาะกับคนไทย ผักพื้นบ้านยีนมันแข็งแรง ทานแล้วก็แข็งแรงแล้วต้นทุนราคาก็จะถูก จุดเด่นที่ให้เอาภาชนะมาใส่เอง         ลูกค้ามาครั้งแรกถ้าไม่ได้เอาภาชนะมาเราก็ให้บริการถุงกระดาษ แต่ว่าเราก็ขอคิดสตางค์ถุงละ  1-2  บาท เพราะถ้าไม่คิดลูกค้าจะไม่ยอมเอามาเลยแล้วก็มาหาข้างหน้าตลอดเวลา แต่พอเราคิดบาทหนึ่ง ครั้งต่อไปเขาก็จะเอาภาชนะของเขามา เป็นถุงอะไรของที่เขามีอยู่เขาก็จะเอามาใส่กัน มันลดปริมาณขยะไปโดยปริยาย สินค้าก็จะราคาไม่แพงเพราะมันไม่มี Package มันจะตอบโจทย์ลูกค้า โดยเฉพาะช่วงโควิดนะ แล้วเขาจะซื้อทีละเล็กทีละน้อย คนละนิดคนละหน่อย ยุคนี้เงินเขาน้อย         ทำไมพลังรักษ์ถึงขายดี ทำไมพลังรักษ์ถึงขายได้เยอะ ลูกค้าเยอะมาก ของดีราคาถูกแล้วก็ขายปริมาณน้อยก็ได้ ไม่อย่างนั้นเขาซื้อข้าวไปถุงหนึ่งบางทีนะแล้วมันก็เหลือก้นถุง อันนี้เขาซื้อแค่ต้มข้าว ต้มพอกิน เขาซื้อพอกินบางทีเขามีเงินมาสักห้าสิบบาท เขาพอซื้อได้เยอะเลย เขาตักเองได้ตามปริมาณที่เขาต้องการ อันนี้นะคือเป้าหมาย  เราหักปริมาณภาชนะก่อนนะ ชั่งแล้วเขียนปริมาณภาชนะไว้ แล้วพอไปชั่งมารวมแล้วก็หักภาชนะออก เครื่องมันจะหักโดยอัตโนมัติมันก็จะคิดราคาออกมาเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้ถามว่าโควิดนี่ตอบโจทย์ได้ดีมาก ถ้าพูดตรงๆ นะ หลายร้านอาจจะบอกว่ายากๆ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์ของถั่วพวกนี้ ธัญพืช ซึ่งมันเป็นโปรตีนจำเป็นมากสำหรับเรา แต่ทำไมอันนี้ขายได้ถูกเพราะเราซื้อปริมาณมากๆ แล้วเราอบเอง ก่อนอบล้างให้สะอาดแล้วอบเองจะตอบโจทย์ลูกค้าเช่นเดียวกับพวกน้ำยาซักผ้าล้างจาน น้ำยาขัดห้องน้ำ ผลิตเองแล้วก็ขายได้ในราคาถูกๆ เพราะฉะนั้นมันจะตอบโจทย์ลูกค้าตรงนี้ได้ ควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างไรคะ         ตรวจสอบกันประจำและคนทำก็คือคนมีศีล วันต่อวันนะ ถั่วอบวันต่อวันคือถ้าไม่มีคุณภาพเราถือว่าเป็นบาปนะ เราเอาของไม่ดีให้กับลูกค้า เราเน้นเรื่องศีลเพราะฉะนั้นคนที่มาอยู่ที่นี่ก็ถามว่าพนักงานจะมี 3 ระดับ หนึ่งจิตอาสา สองจิตอาสาและก็มีรายได้บ้าง อย่างที่สามคือพนักงาน พนักงานก็คือรับเงินไปมีเงินเดือนอย่างเช่นเขาเป็นคนต่างด้าวเราอาศัยแรงงานเขา เราก็ไม่ได้จ้างแพงมาก แต่มีข้าวกิน เป็นอาหารมังสวิรัติ เรามีที่พักให้ มันจะลงตัวตรงที่ว่าพอสินค้าเราดูว่ามันจะเก่าแล้วอะไรแล้ว เราจะรีบนำมาทำอาหาร เพราะฉะนั้นมันจะมีของใหม่มาทดแทน ผักผลไม้เก็หมือนกัน เราขายเสร็จเหลือเราก็เอาไปเข้าโรงครัวเอามาปรับ ไม่ทิ้งมันจะไม่มีคำว่าเสียวัตถุดิบอะไร เหลือวันนี้เราออกอาหารที่มันเป็นเมนูนั้นเลย อะไรเยอะเราจะทำเมนูนั้นก่อนออกขาย แล้วอาหารของเราก็ไม่ใส่ชูรส เป็นอาหารสุขภาพ ( คุณสุวรรณาเสริมว่า  คนจีนเขานับถือนะถ้าทำแบบนี้เขาว่าคนไทยว่ากินทิ้งกินขว้างแต่เราไม่เลย ทุกอย่างของเราเป็นประโยชน์หมดเลย)  เครือแก้ว คุณะวัฒนา ผู้ช่วยผู้จัดการการลดขยะจากสินค้าไร้หีบห่อ         คือแต่ละคนก็จะเอาภาชนะของตนเองมา จะเอากล่องเอาถ้วยอะไรอย่างนี้แล้วก็มาตักของ เขาก็สนุก สนุกกับการที่จะได้ตักแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง พอตรงนี้บางทีเรามีของมา มีของที่จะใช้ซ้ำได้พวกกล่องภาชนะต่างๆ เราก็มาใช้ซ้ำ อย่างขวดอย่างนี้ ลูกค้าบางทีลูกค้าก็เอาให้เรานะ อย่างขวดพอดีเห็นเราหิ้วมาอย่างนี้ ขวดไม่เอาเหรอ รับบริจาคไหม เราบอกรับค่ะ รับหมด พอมาซื้อก็กลายเป็นมีขวดมา ลูกค้าบางคนก็นอกจากมาซื้อของก็มาสละเหมือนกับที่เราสละ  บางทีอย่างนี้ตรงนี้จะเป็นมุมแบ่งปันก็จะมีคนเอาซอง เอาพลาสติก ถุง หรือเอาซองที่แบบว่ายังสะอาดอยู่เอามาให้เราใช้ซ้ำอีก ภาชนะที่เป็นซองอย่างนี้ เอามาใส่ถั่วดิบได้ มันก็ไม่ได้เลอะอะไร แล้วขวดก็เอามาใส่น้ำยาล้างจานซึ่งเป็นน้ำ ก่อนหน้านี้เราจะมีแชมพูด้วยนะคะ ลูกค้าชอบเพราะว่าเขาเอาขวดของเขามากรอกใช้ซ้ำ ลูกค้าประทับใจ         ขยะแต่ละชิ้นมันมีที่ไป มันมีที่ไปที่มันจะไปต่อได้หรือว่ามันเป็นประโยชน์อะไร ตอนนี้ปัญหาของโลกคือขวดเยอะที่สุดในโลก มันก็กลายเป็นแพขยะ ถ้าเราแยกและทำความสะอาดมันก็เอาไปขายได้ หรือตอนนี้เราใช้ขวดสะอาดมาเติมเป็น Refill ของให้ลูกค้าได้ คือมันมีหลายตัวที่มันสามารถจัดการกับเขาได้โดยที่ไม่ต้องทิ้งไป แล้วมันก็ยังได้ประโยชน์อีกหลายๆ อย่าง ล่าสุดยังแบ่งเอาไปบริจาคทำน้ำมัน และตัวเองเน้น Eco bricks ด้วย คือขยะพลาสติกบางตัวที่มันไม่สามารถจะใช้ได้อย่างพวกของที่มัน Refill ตัวนั้นขายไม่ได้ ราคาสุดท้ายถ้าไปอยู่ในทะเลก็จะเป็นอาหารปลาอาหารเต่า แต่ว่าถ้าเรามาลงขวดแล้วเรามาทำเป็นอัดใส่ขวดให้มันแน่นๆ เขาเรียกขวด Eco bricks  มันก็สามารถเอาไปต่อได้ทำเป็นชิ้นงานได้ ทำเก้าอี้ ทำเป็นโต๊ะ ทำเป็นจัดแต่งสวนสวยงาม สมมติถ้าไปปลูกผักก็ไม่ต้องไปซื้อล้อยางมาทำกระถาง เอาขวด Eco bricks วางเป็นกลมๆ หรือจะทำทางเดิน ทำอะไรได้หลากหลาย ที่ผ่านมาเราทำเรื่องนี้ เห็นว่าขยะทุกอย่างมันไม่ใช่ขยะเลย มันคือทรัพยากรแต่ละชนิดแต่ละชิ้นที่มันจะไปต่อได้ เป็นประโยชน์ต่อๆ ได้แม้กระทั้งกล่องโฟม กล่องโฟมถ้าเราล้างสะอาดเอามาทำเป็นหินเทียมก็ได้ ตรงนี้ส่วนใหญ่บางทีเราก็รวบรวมเอาทุกอย่างก็พยายามทำทุกอย่างให้มันเกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุด สำคัญคือ เราปฏิบัติธรรมเราใช้ความประณีต ประณีตในทรัพยากรทุกๆ ตัวแล้วมันจะเกิดประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เมื่อผู้ค้ำประกันถูกฟ้องให้ใช้หนี้

คุณสุภาพร  พันธุ์เลิศวิไล เป็นผู้ค้ำประกันเช่าซื้อรถยนต์ให้คุณพ่อ  เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดจึงทำหนังสือแจ้งขอพักชำระหนี้ถึงบริษัทฯ  แต่บริษัทฯ ไม่ตอบ คุณสุภาพรในฐานะผู้ค้ำประกันจึงผ่อนชำระต่อ  แต่กลับถูกบริษัทฟ้องคดี  เธอเล่าเรื่องราวให้ฉลาดซื้อฟังว่า         หนูเป็นผู้ค้ำประกันให้คุณพ่อค่ะ ทีนี้เราผ่อนชำระมาเกินครึ่งทางแล้ว แล้วมีสถานการณ์โควิดรอบแรก คุณพ่อเลยไปทำหนังสือขอพักชำระหนี้หกเดือน เสร็จแล้วพอยื่นไปใช่ไหมคะ บริษัทเขาก็มีการเซ็นต์รับทราบกลับมาค่ะ แต่ว่าเขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาไม่ร่วมโครงการ (โครงการพักชำระหนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้) หรืออะไร ทีนี้พอมันใกล้ๆ ถึงกำหนดชำระที่เราขอยื่นไป เขาก็โทรมาแจ้งว่าเขาไม่ได้ร่วมโครงการนะ พอเขาไม่ได้ร่วมเราก็ต้องส่งต่อใช่ไหมคะ เราก็ส่งต่อไปประมาณสักสองเดือน สองสามเดือนนี่แหละค่ะ         หลังจากนั้นก็มีหนังสือแจ้งมาที่ผู้ค้ำประกันว่าขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แล้วขอให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ประมาณแสนนิดๆ เราเห็นแล้วว่าเราจ่ายมาประมาณหนึ่งแล้ว ถ้าจะให้เราจ่ายอีกแสนกว่าบาทก็คิดว่าเรามีเงินก้อนอยู่สำหรับมาเติมตัวนี้ได้ น่าจะปิดดีลรถคันนี้ได้ เราก็เลยไปเจรจาตั้งแต่วันที่เขาส่งจดหมายแจ้งมาเลยว่าขอปิดยอดรถคันนี้ โดยที่จะเอาเงินสดไปจ่ายให้ ทางบริษัทเขาอยากให้เราไปเจรจาก่อน เขาก็พูดว่าถ้าไปเจรจาลดได้เยอะ อย่างโน้นอย่างนี้            เราคุยกับพนักงานของบริษัทใช่ไหมคะ         ใช่ค่ะ พอเราไปถึงบริษัทเราไปดูยอดจริงๆ ปรากฎว่ายอดของเขามันไม่เคยตรงกับยอดที่เราส่งเลย เพราะว่าเขาหักต้นหักดอกแบบไม่ใช่ร้อยละ 15 ตามที่เคยสัญญาไว้ ซึ่งเขาบอกว่าการหัก การคิดของเขามันเป็นการคิดทางธุรกิจ ซึ่งเราก็ว่ามันไม่ใช่ แล้วเราก็บอกว่ามันควรจะเหลือยอดเท่านี้สิ เราขอจ่ายยอดเท่านี้ เพราะเราจ่ายล่วงหน้าสองปี ก็ไม่ควรที่จะคิดดอกเบี้ยเรา แต่เขาก็ไม่ยอมลดค่ะ พอไม่ลดเราก็จ่ายของเราปกติก็คือไม่เจรจาแล้ว เราก็ผ่อนของเราไปตามปกติ พอเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็คือเท่ากับผ่อนหลังโควิดมาประมาณสี่ถึงห้างวดแล้วนะคะ พอเดือนมกราคมเขาก็ไปฟ้องศาล ฟ้องขอรถคืนหรือให้ชำระราคารถ         ทั้งที่เราผ่อนส่งตามปกติแต่เขาก็ยังเดินหน้าฟ้องเรา        เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรตอนที่เข้าไปเจรจา เขาก็โอเค ไม่ได้ปิดยอด เราก็ผ่อนไปตามปกติ แต่เขาฟ้องคดีค่ะ ทนายที่คุยด้วยบอกว่าฟ้องแล้วก็ให้เราไปเจรจาในศาลแทน ซึ่งเราต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว อยากจะไปเจรจาเพื่อปิดยอดรถคันนี้ในศาลแทน เพราะว่าศาลท่านลดให้มากกว่า ถูกไหมคะ คือศาลท่านจะเมตตากว่า อะไรที่มันเกินความเป็นจริง เขาจะไม่ได้มาคิดจากเราไม่ได้หรอก         ทีนี้พอขึ้นศาล นัดแรกเลย ขึ้นไปนัดเดียวนะคะ ศาลบอกว่าท่านสามารถพิพากษาให้ได้ว่าจ่ายตามที่เราต้องการได้ แต่รู้ไหมว่าบริษัทไม่ยอมโอนรถให้ ศาลท่านพูดแบบนี้ ศาลพูดขึ้นมาให้ก่อนเลย คือศาลคำนวณมาให้คร่าวๆ เลย ก็ตรงกับที่เราคำนวณไป คือเราทำการบ้านคำนวณไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ ตรงกันใกล้เคียงกันมากเลย ผู้พิพากษาท่านก็พูดว่าเคสแบบนี้บริษัทไม่โอนหรอก ท่านไม่ได้เจอมาเคสแรกนะ  ท่านเจอมาหลายเคสแล้ว ทนายบริษัททำหน้างงว่า ไม่นะเขาเคยได้ ศาลก็บอกไม่จริงไม่เชื่อให้โทรถามที่บริษัทเดี๋ยวนี้เลยว่าโอนหรือไม่โอน ให้ทนายโทรหน้าบัลลังก์เลย แล้วทางบริษัทก็บอกว่าไม่โอนให้จริงๆ ด้วย         บริษัทให้เหตุผลว่าอย่างไรคะ         ไม่ได้ให้เหตุผลอะไร ทนายบอกว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าเคสเป็นอย่างนี้ไม่โอนรถให้ ซึ่งเราไม่เชื่อไงว่าไม่รู้ แต่เราก็ไม่อะไรนะเพราะว่าเราทำตามศาลท่านมีคำวินิจฉัย ศาลบอกให้ไปคุยเลยให้ไปคุยกับที่บริษัทนี้อีกครั้งหนึ่ง เราก็เลยไปเจรจาอีกรอบ ซึ่งต้องขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ส่งผู้แทนคือคุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ ไปกับเราด้วย  พอไปคุยแล้ว ทางเราบอกตัวเลขไป เขาไม่โอเค เราก็เลยบอกว่าไม่เอาแล้วค่ะ คืนรถไปเลย         บริษัทกำหนดให้เราจ่ายเท่าไหร่         เขาก็ยังให้ตัวเลขมาเท่าเดิมกับที่เจรจาครั้งแรกก่อนไปศาลอยู่ดี ตัวเลขที่เราคุยกับเขารอบแรก มีการบอกว่านี่เป็นยอดหลังฟ้อง นี่เป็นยอดก่อนฟ้อง ซึ่งเราคิดว่าคุณจะให้เป็นยอดไหนเราก็ไม่โอเคตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เขาลดให้หนึ่งหมื่นบาท ก็ไม่รู้จะเอาไปทำไม เราก็จ่ายดอกเบี้ยมาให้เยอะแล้ว สรุปคือเราเอารถไปคืนแล้ว ตอนนี้เขากำลังทำเรื่องถอนคดี         ส่วนเรื่องที่ว่าจะมีการขายทอดตลาดนั้น ในกรณีเราก็คือ ในส่วนของค่าขาดประโยชน์ ก็คือจะเป็นแค่ในช่วงที่รถอยู่กับเรา อันนี้เราก็จ่ายปกติคือเราจ่ายไปแล้ว แล้วบริษัทคุณรับเงินในตรงนั้นไปแล้ว โดยไม่แจ้งอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเราเลย จุดนี้คือถือว่ามันเป็นลาภไม่ควรได้ที่บริษัทจะได้อยู่แล้ว ดังนั้นมันต้องหักกันตั้งแต่ตอนที่คุณบอกว่าไม่เอาไม่ให้จ่ายแบบนี้ แล้วก็ยกเลิกสัญญาไป ถูกไหมคะ ไม่ให้ผ่อนผันตอนโควิด  แต่ว่าคุณให้เราผ่อนมาตลอดๆ ตอนนั้น         ฝากบทเรียนต่อผู้บริโภคท่านอื่นๆ         อยากจะฝากว่าการคำนวณเรื่องค่างวด ค่าดอกเบี้ย  เราต้องคำนวณของเราไว้เองด้วย โดยที่ว่าเขามีในเอกสารมาว่า เวลาที่เราผ่อนชำระต่อเดือนเท่านี้ มันจะเป็นดอกเบี้ยเท่าไหร่ ดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าภาษี 7 เปอร์เซ็นต์อะไรของเขา คือเราก็ทำตามสูตรเขานั่นแหละ แต่เมื่อถึงเวลาจริง ถ้าเขามาอ้างตัวเลขกับเรา เขาก็จะบอกว่าเป็นหักเงินต้นแค่เท่านี้หักดอกแค่เท่านี้ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะว่าอัตราของเขามันคือ อัตราคงที่ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเท่ากันทุกเดือน มันไม่ใช่ลดต้นลดดอก ตรงนี้ต้องตามเขาให้ทัน แล้วตอนนี้มีกฎหมายใหม่ที่ออกมาแล้ว ว่าต้องมีการลดต้นลดดอก         แล้วส่วนหนึ่งที่เป็นข้ออ้างของบริษัทคือ เขามักอ้างว่า รถแท็กซี่กับรถยนต์ส่วนบุคคล มันไม่เหมือนกัน แต่ในเมื่อคดีที่เขาฟ้องเรามันก็เป็น “คดีผู้บริโภค” เหมือนกัน อย่างแรกเลยคุณใช้กฎหมายตัวไหนในการฟ้องคดีผู้บริโภค เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม คือ คนที่เป็นผู้ค้ำประกันแบบเรา หรือจะเป็นคนที่เป็นลูกหนี้เองก็ตาม ถ้าหากว่าเราจ่ายหรือทำอะไรไปเช่นการเจรจา คุณก็ต้องเก็บหลักฐานตรงนั้นไว้ให้หมดทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือหนังสือสัญญาต่างๆ เราต้องเก็บไว้ทั้งหมดเก็บทุกเดือน หรือสิ่งที่เรายื่นอะไรให้ทางบริษัท แล้วบริษัทเซ็นรับทราบกลับมาเราก็เก็บเอาไว้ ตอนก่อนที่จะเอารถไปคืน ก็เช็คสภาพมาอย่างไรโดยมีช่างให้หนังสือรับรอง (จริงๆ กรณีของเราก็ไม่ได้บอกที่บริษัทนะว่าเราเช็คสภาพรถมาก่อนคุณอีก แต่เราทำเช็คสภาพเผื่อไว้ก่อน) แล้วถ้าบริษัทเขาเช็คส่วนอะไรบ้าง เราก็ต้องคอยดูเขาเพื่อเปรียบเทียบกัน เออ...ตอนมามันเป็นอย่างไร เราก็จะต้องมีการยืนยันกับเขาได้ แล้วหลังจากนี้เมื่อบริษัทถอนฟ้องเสร็จแล้ว   เราควรจะต้องไปคัดสำเนาถอนฟ้องไว้นะคะ         การเป็นผู้ค้ำประกันต้องดูละเอียดแบบเดียวกับคู่สัญญาเลยนะคะ             อย่างแรกเลยคือคงต้องมองที่บริษัท เพราะว่าพูดตามตรงนะคะว่าตรงนี้ก็พลาดไปเหมือนกัน เพราะว่าคุณพ่อเขาก็ไม่ได้ดูข้อมูลอะไรมาเลย นอกจากการชักชวนกันไปแล้วบอกว่าอันนี้โอเค แต่จริงๆ แล้วเราควรดูข้อมูลบริษัท เพราะบริษัทพวกนี้มันมีตั้งเยอะแยะเราสามารถเลือกได้ ถ้าเราไม่โอเคกับบริษัทนี้ เราเป็นผู้ค้ำประกันก็คงจะบอกได้ว่าอย่าไปทำกับบริษัทนี้เลยไปทำกับที่อื่นดีกว่า         พอรู้ว่าจะต้องเป็นผู้ค้ำประกันแล้วก็ควรที่จะหาข้อมูล หาข้อมูลทั้งบริษัท หาข้อมูลทั้งคนที่เราจะค้ำประกันให้ด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่ญาติ ควรจะเก็บเอกสารทุกอย่างให้ดี คือถ้าเป็นผู้ค้ำประกันคงต้องคอยติดตามลูกหนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้มาผู้ค้ำก็เดือดร้อน กรณีนี้คือเป็นคุณพ่อเราสามารถคุยได้ว่าเอกสารเอามาให้เราเก็บนะ เอกสารอยู่ที่ไหน อะไรอย่างไร แต่ถ้าเกิดเขาเป็นผู้ค้ำอย่างเช่นช่วยเพื่อนอย่างนี้ จะได้ติดตามเรื่องว่าเอกสารเรียบร้อยไหม หรือถ้าเพื่อนไม่ได้ชำระตามเวลาเราจะได้ไปตาม จริงๆ การเป็นผู้ค้ำก็ต้องใส่ใจเขานิดหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นผู้ค้ำแล้วจบ         ถ้าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้ก็ควรที่จะเผชิญหน้าสู้กับมัน คุณมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ ปรึกษาผู้ที่รู้ ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ค่ะ เราไม่ควรจะหนีหนี้ ทุกอย่างมันมีทางออก แก้ปัญหาให้เร็วที่สุด เราจะได้เริ่มต้นใหม่ให้เร็วที่สุด พอเราตั้งต้นใหม่ได้เร็ว ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ไม่จมอยู่กับมัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 “ ขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึง ”

ข้อมูลจากนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 226 บอกว่า “ถ้าคุณต้องเดินทางไปทำงาน ไป-กลับ ด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทตั้งแต่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนถึงสถานีเคหะฯ คุณต้องชำระเงินค่าบัตรโดยสารรวม 118 บาท  ในขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 อยู่ที่ 331 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงไปหรือเปล่า? เป็นคำถามที่ถูกตั้งจากหลายๆ คน และราคาค่ารถไฟฟ้าที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร เพราะอะไร และจะทำได้ไหม? ฉลาดซื้ออาสาพาไปพูดคุยกับ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยทางด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย( TDRI ) ค่ารถไฟฟ้าที่ทุกคนสามารถขึ้นได้ควรมีราคาเท่าไหร่         ถ้าพูดเรื่องของความสามารถในการจ่ายเองมันก็อาจจะซับซ้อนนิดหนึ่ง เพราะว่ามันจะมาสอดคล้องกับว่าถ้าสมมติว่า ระบบเรามีความสามารถในการให้บริการ  มีต้นทุนในการให้บริการเท่าไหร่ เสร็จแล้วรัฐพร้อมจะอุดหนุนเท่าไหร่ มันจะได้เป็นราคาที่เหมาะสมระดับหนึ่ง อันนี้ราคาที่เหมาะสม ส่วนหนึ่งถ้าดูเฉพาะส่วนในส่วนของรายได้และก็เหมาะสมกับความสามารถในการจ่ายของกลุ่มรายได้ต่างๆ ถ้าเราเทียบก่อนว่าค่ารถไฟฟ้าปัจจุบันจะเหมาะกับกลุ่มรายได้ที่ค่อนข้างสูง ก็คือต้องมีรายได้เดือนหนึ่งสองหมื่นขึ้นไปต่อคน ถึงจะสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นเองคำถามต่อไปคือถ้าสมมติเราอยากให้กลุ่มรายได้ที่รายได้ต่ำลงมา อย่างเช่นเงินเดือนหมื่นนึง เงินเดือนหมื่นสองขึ้นรถไฟฟ้าได้ ค่ารถไฟฟ้าอาจจะต้อง drop ลงมาประมาณอีก 10 เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าเราอยากจะให้คนมีเงินเดือนต่ำกว่าหมื่นขึ้นรถไฟฟ้าได้ ค่ารถไฟฟ้าควรเป็นเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ ถ้าบอกว่าความสามารถในการจ่ายแล้วก็สัดส่วนรายได้ของประชาชนในกรุงเทพฯ ก็ต้องถือว่าประชนคนกรงเทพฯ มีรายได้สูงสุดในประเทศแล้ว แต่ว่ากลุ่มรายได้นี้ถึงแม้ว่ามีรายได้สูงแต่ก็ยังไม่ได้มีรายได้สูงถึงขั้นประมาณเฉลี่ยหมื่นสองหมื่นสามยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นนี่กลุ่มรายได้ที่ต่ำๆ ลงมาบ้าง อย่างกลุ่มรายได้ประมาณปานกลางถึงต่ำค่อนไปทางด้านล่าง รายได้เขาอยู่ที่ประมาณหมื่นต้นๆ เขาก็น่าจะอยากได้ราคารถไฟฟ้าที่มันถูกกว่านี้ สิ่งที่ผมพยายามพูดส่วนหนึ่งก็คือเราอาจจะมีปัญหาถ้าเราจะต้องตั้งอัตราค่ารถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเลย ก็คือกลุ่มที่เป็นรายได้ขั้นต่ำเลย ซึ่งตรงนี้เองถ้ามีรายได้ขั้นต่ำค่ารถไฟฟ้าเราอาจจะถูกมาก ซึ่งพอถูกมากเสร็จปัญหามันจะเกิดว่าระบบมันอาจจะอยู่ไม่ได้ในระยะยาว         คำถามคือถูกมาก ถูกมากเท่าไหร่ สมมติเราตั้งไว้ถูกมากคือประมาณถูกมาก 10 บาทตลอดสาย หรือ 15 บาทตลอดสาย ถ้าถึงขั้นลักษณะนั้นนี่ผมว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องของต้นทุนของรายได้ ต้นทุนของรถไฟฟ้าและรายได้ของรถไฟฟ้าในอนาคตด้วย แต่ถ้าถามว่าทำได้อยู่ที่ 15 บาทตลอดสายต่อเที่ยวนะ 15 บาทตลอดสาย อันนี้นะโอเคเลยนี่คือแบบใช้ได้ แต่ว่าถามว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่รัฐบาลอาจจะต้องกุมขมับ ทีนี้ถ้าจะให้รัฐบาลกุมขมับน้อยหน่อยมันก็คงเป็นค่าโดยสารที่ตามระยะทางและอาจจะเริ่มต้นที่ประมาณ 10,15 บาท เป็นค่าแรกเข้า เสร็จแล้วยิ่งเดินทางเป็นระยะไกลก็อาจจะขึ้นค่าโดยสารหน่อย แต่ค่าโดยสารสูงสุดเองผมยังมองภาพอยู่ที่ประมาณ 40-50 บาทต่อเที่ยว ถ้าได้ 40-50 บาทต่อเที่ยวมันหมายถึงเราต้องมีระบบตั๋วที่เชื่อมโยงกันระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้าแล้ว         สิ่งที่เราพยายามพูดคือว่าเราไม่อยากให้รถไฟฟ้าแต่ละเส้น คิดต่างคนต่างคิดแยกกัน ซึ่งพอต่างคนต่างคิดแยกกันมันหมายถึงค่าโดยสารที่เวลาเราต้องเดินทางไกล แล้วก็ผ่านหลายระบบ ค่าโดยสารเราก็จะสูงมากๆ เลย อันนี้คือกรอบที่ผมเริ่มคิดอยู่แต่ถามว่าตัวเลขควรเป็นที่เท่าไหร่ อันนี้นี่ยังต้องถกเถียงกันอยู่แล้วก็คงต้องทำวิจัยเพิ่มเติม บางคนเสนอแบบ 25 บาทตลอดสาย เป็นไปได้ไหม         ถือว่ามันค่อนข้างยากแล้ว แม้กระทั่ง 25 บาทตลอดสายเอง คำถามก็จะถามต่อว่าถ้าผมขึ้น 2 สถานีคุณจะเก็บเท่าไหร่ 25 บาทมันก็ไม่คุ้มในมุมมองคนซื้อ ในมุมมองผู้บริโภค ในมุมมองคนใช้บริการ เวลาเราพูดถึงตลอดสายเองนี่มันต้องมีนิยามของคำว่าตลอดสายระดับหนึ่งแล้วเที่ยวเดียวเที่ยวสั้นๆ เดินทางสั้นๆ จะคิดค่าโดยสารอย่างไร (อาจารย์คิดว่าในราคา 45-50 บาท ยังพอมีความเป็นไปได้มากกว่า) ผมว่ายังพอที่จะบริหารจัดการได้แล้วก็ลองมาคำนวณดูว่าอาจจะมีให้รัฐอุดหนุนบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับอุดหนุนเยอะ ราคานี้อาจารย์คิดว่าคนทุกกลุ่มจะสามารถเข้าถึงได้         ก็น่าจะไม่ถึงขั้นที่ใช้คำว่ามีรายได้ต่ำที่สุดในกรุงเทพฯ เข้าถึงได้ ซึ่งคนกลุ่มนั้นนี่เราอาจจะต้องให้การช่วยเหลือโดยตรงต่อไป แต่คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ น่าจะเข้าถึงได้ แล้วถ้ามองในแง่ของธุรกิจเจ้าของรถไฟฟ้าหรือของสัมปทาน BMGS        ก็ต้องมีการเจรจาครับ เรื่องพวกนี้ก็คงต้องดูเพราะว่าเรา คำถามคือว่ารัฐอยากจะทำไหมเพราะว่ารัฐเองก็ลงทุนรถไฟฟ้าค่อนข้างเยอะ แต่ตอนนี้เองรัฐไม่ได้มีแผนในการควบคุมราคาอัตราค่าโดยสารเลย ปล่อยให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานเป็นอย่างเดียว เพราะฉะนั้นคำถามรัฐตอนนี้คือว่ารัฐเองจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ รัฐก็ต้องดำเนินการสัญญาที่ยังไม่เซ็นก็ต้องกำหนดให้เซ็นในรูปแบบที่มีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม สัญญาไหนที่เซ็นแล้วก็อาจจะต้องเรียกเอกชนมาเจรจาถ้ามีในเรื่องรายได้ที่ไม่เหมาะสมต้องชดเชยอะไรกันไปหรือปรับเปลี่ยนสัญญาสัมปทานอะไรก็ว่าไป  ในส่วนของการเชื่อมต่อของระบบรถไฟฟ้า         ประเด็นเรื่องของระบบรถไฟฟ้าเอง เวลามีการวางแผนการเชื่อมต่อ มันต้องทำทั้งระบบแล้วก็เชื่อมต่อทั้งทางกายภาพแล้วก็ทั้งทางการเงิน และรวมถึงเรื่องอัตราค่าโดยสารด้วย สิ่งที่เราคาดหวังก็คือว่าการเชื่อมต่อระบบ หลายๆ คนก็เคยไปต่างประเทศมาบ้างไปเมืองที่เขามีรถไฟฟ้าดีๆ บ้าง ความสะดวกสบายของรถไฟฟ้าในต่างประเทศก็ถูกออกแบบมาไว้ค่อนข้างดี แต่ระบบของเราเอง ณ ตอนนี้เท่าที่ทราบคืออาจจะมีปัญหาในเรื่องของการซื้อตั๋ว ซื้อตั๋วโดยสาร ถ้าเราซื้อตั๋วโดยสารถ้าเป็นต่างสายกันมันอาจจะต้องซื้อตั๋วโดยสารทุกสาย ทุกครั้งไปที่มีการเปลี่ยนสาย ซึ่งมันก็จะดูตลกแม้กระทั่งยกตัวอย่าง ณ ตอนนี้เอง เรามีบัตรใช้บัตรกันนี่ BTS รถไฟฟ้ากับรถใต้ดินใช้คนละบัตร เพราะฉะนั้นเวลาเราเดินทางก็ต้องใช้สองบัตรซึ่งมันก็สร้างปัญหาแบบหนึ่งแล้ว อันนี้ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาเชิงกายภาพอีกว่าถ้าระบบไหนที่มันไม่ควรจะต้องมีการซื้อตั๋วใหม่เข้าออกระบบใหม่มันต้องออกแบบร่วมกันตั้งแต่ต้น ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุที่คงต้องเริ่มเข้าไปดูแล้ว         มันก็เป็นคำถามที่ผมถามเหมือนกันว่าเขาไม่ได้คิดตั้งแต่ต้น แล้วผมก็ไปถามคนที่เกี่ยวข้องมาเบื้องต้นบ้างคำตอบที่ได้รับก็คือไม่ได้คิด เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้คิดก็ไม่เป็นไรแต่ว่า ณ ตอนนี้มันก็ต้องเริ่มคิดได้แล้ว ก็สายไปถ้าไม่ได้คิดตั้งแต่ต้น มันก็มีปัญหาแหละ แต่ว่าอย่างน้อยก็คือว่าต้องเริ่มคิดแหละ จะช้าจะเร็วก็ต้องคิด แต่ว่ายิ่งคิดเร็วก็ยิ่งดี ตอนต้นอาจารย์พูดถึงความสามารถในการให้บริการ หมายความว่าอย่างไร         ความสามารถในการให้บริการหมายถึงจริงๆ เรื่องระดับราคาถูกออกแบบในเรื่องของจำนวนผู้โดยสารระดับหนึ่งด้วย ยกตัวอย่างเช่นถ้าพรุ่งนี้ลดค่ารถไฟฟ้าไปเลย 10 เปอร์เซ็นต์ ครึ่งหนึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ คนจะมาขึ้นเยอะขึ้นคำถามคือจังหวะที่คนมาขึ้นเยอะขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่ Capacity หรือความจุของรถไฟฟ้าเองไม่สามารถที่จะปรับปรุงได้ชั่วข้ามคืน เพราะฉะนั้นเองตัวระบบมันต้องออกแบบให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารระดับหนึ่งแล้วก็มีการวางแผน เพราะฉะนั้นการวางแผนในเรื่องของระบบรถไฟฟ้าเรื่องของการขยายความจุเองก็คงต้องพิจารณาให้ดี อย่าให้รถไฟฟ้าเองมันแน่นจนเกินไป ซึ่งในต่างประเทศเองความแน่นรถไฟฟ้า ปกติเขาก็จะทำรูปแบบสองสามรูปแบบ ก็คือหนึ่งอย่างน้อยก็คือว่าถ้ารถคนแน่นก็เพิ่มขบวน แต่ในแต่ละสายเองถ้าคนนั่งเยอะๆ ขบวนมันแน่นไปแล้วเพิ่มขบวนไม่ได้แล้ว ก็อาจจะต้องเพิ่มสายใหม่ก็คือมีการตัดรถไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อผ่องถ่าย เพื่อระบายความแออัด ซึ่งภาพพวกนี้คงต้องคิดไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่จะฝากถึงผู้บริโภค         ในวันนี้เรามีสภาองค์กรของผู้บริโภคแล้ว ซึ่งมีผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งยานพาหนะซึ่งก็คงจะขออนุญาตรับเรื่องตรงนี้ไปพิจารณาในตัวคณะกรรมการต่อไป เรื่องอื่นๆ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจไม่ใช่เฉพาะเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า ในอดีตเรามีเรื่องของผู้บริโภคที่เกี่ยวของกับรถไฟฟ้ามากกว่านี้ อย่างเช่นรถไฟฟ้าขัดข้องจะขอคืนบัตร คืนตั๋วอย่างไร มีความเป็นธรรมมากน้อยขนาดไหน คุณภาพไม่ดีตรงไหน บางส่วนตรงนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทั้งหมด ในอดีตเราไม่มีองค์กรที่จะมาเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรม ผู้บริโภคเองจะเป็น Individual คือเป็นคนๆ คนใช้รถไฟฟ้าวันหนึ่งมากกว่าสี่ห้าแสนคนในบางวันก็เป็นล้านคน แต่เสียงเขา เวลาเขาเป็นเสียงของคนใช้บริการคนหนึ่งเสียงมันจะไม่ค่อยดังเท่าไหร่ ซึ่งวันนี้เองเรามีสภาองค์กรผู้บริโภคแล้วสมมติถ้ามันมีปัญหาในเรื่องของการใช้บริการรถไฟฟ้าในด้านต่างๆ ผมคิดว่าตัวสภาองค์กรผู้บริโภคเองจะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการส่งเสียงให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ถึงปัญหาแล้วมีการชดเชยมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แล้วถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องชดเชยก็สามารถชดเชยได้ด้วย สามารถเรียกร้องได้ สภาองค์กรผู้บริโภคเองน่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะเป็นองค์กรช่วยผลักดันช่วยส่งเสียงให้ผู้บริโภคอีกทางหนึ่งครับผม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 “เรากำลังหยิบยื่นมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คือส่งคนไปตายเพื่อแลกกับความเติบโตของทางเศรษฐกิจ”

เมื่อครั้งที่นิตยสารฉลาดซื้อแถลงข่าวเรื่องประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ ครั้งที่ 2 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น เราได้ฟังรายละเอียดเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จาก ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ ซึ่งพบว่าน่าสนใจจนต้องขอนำมาเผยแพร่ผ่านฉลาดซื้ออีกครั้ง “เรื่องมลพิษทางอากาศมันซับซ้อนต้องจัดการร่วมกันหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับสังคม รวมถึงต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกันการหาทางจัดการที่ต้นเหตุด้วย” สิทธิผู้บริโภคข้อหนึ่งคือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลรวมถึงเรื่องอากาศ         เราไม่ได้รับการปกป้องสิทธิพื้นฐานเรื่องอากาศ คือสิทธิที่จะรู้ รู้ข้อมูลของอากาศที่เราหายใจอยู่เพื่อเราจะได้ปกป้องตัวเองได้ ซึ่งข้อมูลของอากาศที่เราหายใจอยู่ก็มีพวก Application ต่างๆ ตอนนี้ที่มีคนไปใช้ Air Visual กันเยอะๆ หรือว่า AQI CN ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลแบบ Real Time  แต่ไม่ได้เป็นข้อมูลที่ได้รับการพัฒนาจากรัฐ แนวคิดของรัฐมองว่าประชาชนทุกคนเหมือนกัน คือทุกคนเป็นคนปกติ ออกไปหายใจอากาศที่มันมีมลพิษสูงแป๊บเดียวคงไม่เป็นไร แต่ลืมคิดไปว่ามลพิษทางอากาศสูงขนาดนี้ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่เจ็บป่วยเกิดอาการรุนแรงหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่ารัฐยังละเลย         แล้วก็เวลามีการเรียกร้องของภาคประชาชนรัฐก็จะบอกว่าก็เป็นแค่ประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นเอง เราจะต้องยึดตามมาตรฐานคือการรายงานค่ามลพิษทางอากาศ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้นรัฐก็จะยึดกฎระเบียบ สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ พลังของภาคประชาชน ที่จะต้องเรียกร้องสิทธิที่จะรู้ข้อมูลคุณภาพของอากาศ ไม่ใช่ว่าประชาชนต้องลงทุนเองเพื่อให้ได้อากาศสะอาด อย่างการลงทุนไปซื้อเครื่องมาฟอกอากาศ คือประชาชนจะต้องปกป้องตัวเองเพื่อจะให้มีอากาศสะอาดที่จะหายใจ         สิ่งที่เครือข่ายอากาศสะอาดพยายามจะเรียกร้องมาตลอดคือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องดูแลให้เขาได้รับอากาศสะอาดที่หายใจเข้าไปจริงๆ อย่างการปกป้องมาตรฐานของสินค้าอันนี้คือเครื่องฟอกอากาศก็เป็นเรื่องหนึ่งนะครับ มันยังมีสินค้าอื่นๆ อีกมากมายตอนนี้ที่ออกมาอย่างเช่น หน้ากากหรือว่าเครื่องวัดฝุ่น มีอีกเยอะมากเลยที่เอกชนเขาอาศัยความเป็นห่วง โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกอันนี้ชัดเจนที่สุด พ่อแม่ยอมลงทุนนะครับ พวกสินค้าหน้าตาดูสวยงาม ยี่ห้อดูดี แต่ว่าอะไรคือ มาตรฐาน อย่างผลทดสอบวันนี้ผลออกมาแล้วน่าเสียใจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะใช้ผลการทดสอบนี้เป็นจุดเริ่มต้น ประชาชน ฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการร่วมกันเป็นยามเฝ้าระวัง ติดตามสิ่งที่รัฐไม่เฝ้าระวัง ติดตามในสิ่งที่รัฐไม่ยอมติดตามให้เรา ผลการทดสอบถึงมาตรฐานการควบคุมสินค้าต่างๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเอาตรงนี้มาให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนกำลังได้รับผลกระทบ โดยที่รัฐควรจะดูแลให้ดีขึ้นครับ         และยิ่งไปกว่านั้นเราจะต้องมาร่วมกันติดตามและก็เรียกร้อง “มาตรฐานคุณภาพอากาศ” มีเครื่องมือที่รายงานให้ประชาชนรู้และควรจะมีการรายงานที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนเจ็บป่วย ประเทศไทยขาดอะไรที่ทำให้ต้องจมอยู่กับปัญหาฝุ่นอย่างนี้ทุกปี         จริงๆ เป็นคำถามที่ดีมากครับเรามีกฎหมายเยอะ เรามีหน่วยงานเยอะมาก เรามีอะไรดีๆ เยอะครับ แต่ว่าปัญหามันคือกระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการก็คือการที่ภาครัฐประสานทำงานร่วมกันแล้วก็ยึดเอาประโยชน์ของประชาชนการปกป้องสุขภาพเป็นตัวตั้ง ตอนนี้นโยบายและทิศทางของการพัฒนาจะยึดเอาการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเป็นที่ตั้ง สุขภาพของประชาชนมาทีหลัง ที่เราคุยกันในเครือข่ายก็คือว่า เรากำลังหยิบยื่นมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คือส่งคนไปตายเพื่อแลกกับความเติบโตของทางเศรษฐกิจ         กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือในขณะที่ประเทศจีนมีการควบคุมมลพิษอย่างมาก ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษร้ายแรงหลายๆ อย่างต้องย้ายฐานออกจากประเทศจีน ประเทศไทยก็เปิดรับครับให้มาลงทุนตั้งโรงงานเหล่านี้ในประเทศไทย และก็มีการแก้กฎหมายโรงงาน ทำให้โรงงานบางอย่างไม่จำเป็นจะต้องรายงานว่าเป็นโรงงานด้วยซ้ำไป  และเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมว่าประชาชนมีสิทธิรู้ว่าไอ้โรงงานที่ตั้งอยู่ข้างบ้านปล่อยมลพิษอะไรบ้าง จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้นะครับ องค์ความรู้มีอยู่ กลไกรัฐมีอยู่พอสมควร แต่ต้องการการบริหารจัดการที่มันมีการเชื่อมประสานกันของทุกหน่วยงาน นี่ก็เลยทำให้เครือข่ายอากาศสะอาดตอนนี้พยายามเสนอร่าง “กฎหมายอากาศสะอาด” ฉบับที่เน้นเรื่องของการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เพื่อสุขภาพของประชาชน ขณะนี้กำลังรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อประมาณ 10,000 รายชื่อซึ่งตอนนี้ก็ได้ไปเป็นหลักพันนะครับ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กฎหมายอากาศสะอาดและจะลงชื่อหรือร่วมทำอะไรได้บ้าง         กฎหมายอากาศสะอาดเป็นกฎหมายที่เรียกว่าเริ่มต้นจากในประเทศอเมริกานะครับ เขามีกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายน้ำสะอาด เป็นกฎหมายที่ต้องการให้เกิดระบบการจัดการที่ควบคุมตั้งแต่ต้นกำเนิดจนถึงปลายทางก็คือลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดแล้วก็มีการปกป้องสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากต่างประเทศ เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาและในอีกหลายๆ ประเทศที่มีกฎหมายอากาศสะอาดแล้วนะครับ คำว่ากฎหมายอากาศสะอาดนี้ในประเทศไทยเองก็มีผู้เสนอหลายกลุ่ม แล้วทำไมเครือข่ายอากาศสะอาดถึงจะต้องมีการเสนอร่างกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากอย่างนี้ครับ         ร่างกฎหมายของเครือข่ายอากาศสะอาดเรียกว่าเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งเน้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการบริหารจัดการ ก็คือเราเห็นแล้วว่าในกลไกของภาครัฐ ณ ปัจจุบันมีกฎหมายอยู่เยอะแล้ว มีองค์กรอยู่เยอะแล้ว แต่สิ่งที่ขาดคือการเชื่อมประสานให้เกิดการทำงานร่วมกัน และให้มีการปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่กฎหมายฉบับนี้เน้นก็คือ เรื่องของการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เพราะฉะนั้นนี่คือจุดเน้นของกฎหมาย แล้วก็เป็นกฎหมายภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้การรวบรวมรายชื่อ เนื่องจากว่ามันมีการออกกฎหมายอากาศสะอาดมาแล้วมันก็มีการรวบรวมรายชื่อไปหลายครั้ง แต่สำหรับฉบับนี้สิ่งที่อยากจะมุ่งเน้นก็คือว่าให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการมองในเรื่องการบริหารจัดการว่าต้องการแก้ไข แต่อันหนึ่งที่สำคัญในทีมของเครือข่ายอากาศสะอาดก็คุยกันและก็รู้ว่ากฎหมายภาคประชาชนนี่ยากมากที่จะผ่าน แต่เราจะใช้กระบวนการการร่างกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้มาสนใจในเรื่องนี้ แล้วได้มาร่วมเรียนรู้ว่าปัญหาของประเทศเราในเรื่องมลพิษทางอากาศมันอยู่ตรงไหนบ้าง และเราจะไปพ้นจากการพูดถึงเรื่องอากาศสกปรกเรื่องของมลพิษในอากาศไปสู่อากาศสะอาดอย่างไร         เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะเชิญชวนคืออยากจะเชิญชวนให้เข้าไปศึกษาเนื้อหาของกฎหมายที่เว็บไซด์ของเครือข่ายอากาศสะอาด Thailandcan.org  Can คือ clean care network ตรงนี้เข้าไปจะมีตัวกฎหมายแล้วก็มีสื่อต่างๆ ที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องว่าสิ่งที่เราต้องการจะให้เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ กฎหมายฉบับนี้มันแตกต่างจากกฎหมายฉบับอื่นๆ อย่างไร เพราะว่ามีคนออกมาพูดเรื่อยๆ ว่ากฎหมายก็มีอยู่แล้วดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการจัดการก็คือเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นก็อยากเชิญชวนนะครับไปร่วมกัน ถ้าเห็นด้วยก็ร่วมกันเป็นผู้เสนอชื่อเพื่อเสนอกฎหมายได้นะครับ              วิธีการคือ ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน เนื่องจากระบบกลไกของการเสนอกฎหมายในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศไทย 4.0 แต่ระบบเสนอกฎหมายยังเป็น 1.0 อยู่เลย ก็คือต้องเอกสารตัวจริง เพราะฉะนั้นก็เชิญชวนร่วมกันสร้างการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ตื่นรู้เพื่อการจัดการคุณภาพอากาศในประเทศไทย เพื่ออากาศสะอาดครับ กฎหมายที่เรียกว่า PRTR        กฎหมายที่เรียกว่า PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ก็คือเป็นกฎหมายซึ่งต้องการบังคับให้ผู้ประการที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายสารมลพิษและการปล่อยมลพิษรายงานต่อรัฐว่ากิจการของตัวเองมีการขนย้ายและการปล่อยสารมลพิษอะไรบ้าง ซึ่งในประเทศไทยมีการเรียกร้องกันมาค่อนข้างนานแล้ว โดยเฉพาะมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ที่ติดตามเกี่ยวกับเรื่องมลพิษในอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้ทางกรมโรงงานก็บอกว่ามีการดำเนินการแล้วเป็นคล้ายๆ กับ มอก.เลยครับคือเป็นแบบสมัครใจ เพราะฉะนั้นเขาไม่รายงานก็ไม่ผิด สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือว่าการที่ไม่มีกฎหมายมาบังคับให้เขาทำสิ่งนี้    ทำให้ ณ ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ก็ยังไม่รู้เลยครับว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่รายรอบกรุงเทพมหานครที่ปล่อยมลพิษเข้ามาในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง         เมื่อไม่มีการรายงานทำให้นักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อจะหาว่ามลพิษที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครมาจากแหล่งไหนบ้าง ไม่มีข้อมูลที่จะมาใช้ในการคำนวณว่าสัดส่วนของมลพิษจากภาคอุสาหกรรมมีมากแค่ไหนในอากาศกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายอากาศฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ที่เราเรียกร้องให้มีสิ่งนี้ที่เป็นภาคบังคับเพื่อสิทธิที่จะรู้ของประชาชนที่จะรู้ว่ามลพิษทางอากาศที่หายใจอยู่ ต้องย้ำนิดหนึ่งว่า PM2.5 มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ปัญหาของ PM2.5 ที่มันเยอะขึ้นเราไม่รู้ว่ามันมาจากธรรมชาติหรือมันมาจากแหล่งอะไร และอันที่สองคือ PM2.5 ที่มันเป็นพิษทั้งตัวขนาดของมันเองและองค์ประกอบที่เป็นสารพิษที่มีอยู่หลายร้อยชนิดใน PM2.5 นั้น เพราะฉะนั้นคนที่ทางภาคเหนือที่ต้องทนกับเรื่องนี้มานานกับคนที่สมุทรสาครที่ตอนนี้เผชิญหน้ากับโควิด แต่จริงๆ มันมีสารพิษมากมายที่ชาวบ้านที่นั่นต้องหายใจอยู่และเป็นไปได้ว่าที่เขาป่วยด้วยโควิดกันมากๆ นี่เพราะว่าปอดของเขาเสียหายจากการได้สูด PM2.5 และสารพิษมากมายอยู่มานานแล้วครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ว่าด้วยเรื่องการคงอยู่ของวิตามินซี

ฉลาดซื้อฉบับนี้ พารองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มาพูดคุยว่าด้วยเรื่องวิตามินซี ถึงรายละเอียดเรื่องการทดสอบและเหตุของการอยู่และหายไปของวิตามินซี การวิเคราะห์ของวิตามินซีโดยทั่วไปใช้วิธีการอะไร        วิตามินซี เป็นวิตามินที่อ่อนแอต่อแสง อากาศ (ก๊าซออกซิเจน) และความร้อน หรือ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  การวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีจะต้องทำในห้องที่ไม่มีแสงยูวี  แสงยูวีปกติอยู่ในแสงแดด  ในหลอดไฟฟ้า  และทำในห้องที่ปรับอากาศ อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียสนะครับ  โดยจะทำการสกัดวิตามินซีออกมาด้วยตัวทำละลายวิตามินซี  โดยจะต้องเป็นการสกัดเย็น จากนั้นทำการตรวจวัดด้วยเครื่อง  HPLC หรือ ชื่อเต็มว่า High Performance Liquid Chromatography   วิธีที่ใช้เครื่อง HPLC เป็นวิธีที่ดีที่สุด และมีความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์  ซึ่งโดยทั่วไปวิตามินซีในธรรมชาติหรือในเครื่องดื่มต่างๆ จะมีอยู่ทั้งสองรูปแบบ  คือ  แบบออกซิไดซ์ (oxidized form) และ  แบบรีดิวซ์  (reduced form)    มีบางคนก็พูดถึงไปแล้วว่ามันถูกออกซิเดชันได้ง่ายจากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน  ทำให้มีฟอร์มที่เป็นออกซิไดซ์เพิ่มขึ้น  ซึ่งการออกซิเดชันแบบไม่รุนแรง วิตามินซีไม่ได้สูญหายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนรูปไป แต่หากเป็นการออกซิเดชันที่รุนแรงที่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น อากาศ แสงและอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น หรือมีสารประเภทโลหะร่วมด้วย  วิตามินซีจะถูกทำลายในระดับโครงสร้าง แบบนี้เปลี่ยนกลับมาไม่ได้คือ สลายตัวไปเลย ดังนั้นในการวิเคราะห์วิตามินซีทั้งหมดในอาหารจะต้องวิเคราะห์ทั้งสองฟอร์มจะวิเคราะห์เพียงฟอร์มใดฟอร์มหนึ่งไม่ได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเติมสารเคมีบางอย่างลงไปทำปฏิกิริยารีดักชันเพื่อทำให้วิตามินซีมาอยู่ฟอร์มเดียวกันทั้งหมดก่อนที่จะทำการตรวจวัด   ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วไม่พบว่ามีวิตามินซี  ไม่ได้แปลว่า ค่าที่ได้เป็นศูนย์หรือไม่มีวิตามินซีเสมอไป  แต่สามารถบอกได้แค่ว่า  ปริมาณที่มีอยู่ต่ำกว่าที่เครื่องมือจะตรวจวัดได้เขาเรียกว่าเป็น Detection Limit คือ ต่ำกว่าขีดจำกัดการตรวจจับได้ของการวิเคราะห์นั้น  ทำให้ไม่สามารถบอกเป็นปริมาณได้ บางเครื่องอาจจะตรวจวัดและรายงานผลได้ตั้งแต่  0.5 มิลลิกรัมขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านี้ไม่สามารถจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ซึ่งโดยทั่วไปจะรายงานว่า ตรวจไม่พบ (not detected หรือ nd)            เราไปคุยประเด็นเรื่องเขาบอกไม่ตรงฉลาก  หนึ่งคือว่าตัววิตามินซีมันสามารถที่จะสลายได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยแสง อากาศ ออกซิเจนและก็ความร้อนนะครับ รวมถึงอาจจะเรื่องของการเก็บ การขนส่ง Transportation มันก็ทำให้มันเกิดการสูญเสียได้ ทีนี้ออกซิเจนมันมาจากไหน  คือในตัวขวดมันก็จะมีอากาศอยู่แล้ว ตรงช่วงต่อระหว่างฝากับตัวน้ำ เขาเรียก Head Space ตัวนั้นนะครับ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งถ้าขนส่งมันก็อาจจะมีการเขย่า มีอะไรทำไปอีกด้วยมันก็มีโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาได้ง่ายขึ้นได้เพิ่มขึ้น  แล้วก็คือวิตามินซีในฟอร์มที่มันเป็นแบบแห้งมันจะคงอยู่ทนกว่าไงครับ  ทีนี้พอมันเป็นแบบที่เป็นน้ำการออกซิเดชันมันเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากมันสามารถทำปฏิกิริยากับอากาศได้ง่ายขึ้น  เพราะฉะนั้นมันสลายได้ ขึ้นอยู่กับสภาพการเก็บรักษาการขนส่งว่าทำให้มันเปลี่ยนไปอยู่ในอีกฟอร์มหนึ่งที่เปลี่ยนกลับได้หรือว่าสลายหายไปเลย  (อันนี้ ต้องขอบอกก่อนว่าผมพูดในด้านวิชาการนะครับ   ส่วนประเด็นที่เป็นข่าวไม่ได้ส่งมาวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการนะครับ) อายุการเก็บของวิตามินซี         อายุการเก็บของผลิตภัณฑ์กับอายุการเก็บของวิตามินซี   ต้องแยกออกจากกัน  อายุการเก็บมันเก็บได้ไม่เน่าเสีย แต่ว่าอายุการเก็บมันอาจจะไม่ได้ถูกศึกษาด้วยตัววิตามินซีว่ามันเหลือเท่าไหร่   คืออายุการเก็บเขาจะดูการเสื่อมสภาพ การเป็นตะกอน การเสียรสชาติ อะไรอย่างนี้มากกว่า  ที่เขาเอามาใช้  หรือการเกิดเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เน่าเสียหรือก่อโรค  ที่เขาเอามาใช้เป็นอายุการเก็บ  ไม่ใช่อายุการเก็บวิตามิซี บางคนบอกว่ามันอยู่ได้ถึง 1 ปี แต่วิตามินมันไม่เหลือแล้ว  จริงๆ แล้ววิตามินซีมันสลายเร็วกว่าวิตามินตัวอื่นๆ เมื่อเทียบกัน  วิตามินซี ถือว่าสลายได้เร็วที่สุด  เพราะฉะนั้น ในทางโภชนาการเขาใช้วิตามินซีเป็นตัวชี้วัดการคงอยู่ของวิตามินที่อยู่ในอาหาร   ถ้าวิตามินซีมันอยู่ได้ตัวอื่นก็อยู่ได้ ถ้าตัวมันอยู่ไม่ได้ตัวอื่นๆ ก็อาจจะยังอยู่  แต่ว่ามันก็จะเหลือน้อยลง  แต่ถ้าวิตามินซียังอยู่เยอะแสดงว่าตัวอื่นๆ ก็ยังอยู่เยอะ  แต่ถ้าวิตามินซีหายไปเยอะค่อยไปดูตัวอื่นๆ น่าจะลดลงไปบ้าง  แต่มันก็ไม่ลดเท่าวิตามินซีนะ   สมมติว่าออกจากโรงงานแล้วบริษัทเขาส่งไปวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการ  ที่เขาส่งไปวิเคราะห์เขาก็ได้ค่าหนึ่ง  ค่าอันนั้นเขาก็เอาไปขึ้นทะเบียนทำเป็นฉลาก  แต่ทีนี้พอเวลาไปเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ซ้ำ  มันได้ไม่เท่ากันก็คือมันไม่ใช่ตัวอย่างเดิม  มันถูกสลายแล้ว ที่ออกมาจากโรงงานแล้วก็ส่งเข้า Lab เลยนี่มันก็จะได้อีกค่าหนึ่งนะมันก็ยังไม่ได้สลายไปไง  เพราะฉะนั้นวิตามินซีมันลดลงตั้งแต่เริ่มออกจากโรงงาน ตั้งแต่วันแรก   คือมันก็ค่อยๆ ลดลงขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งสองอาทิตย์ก็อาจจะเหลืออยู่สักครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยด้วย   เรื่องการขนส่ง  (Transportation) อุณหภูมิในการเก็บ  และระยะเวลาการเก็บ อันนี้ดูจากวันผลิตก็ได้  ถ้าหากเก็บอุณหภูมิในตู้เย็นก็จะยืดระยะเวลาที่จะสลายตัวให้ช้าลงได้ แต่มันก็ยังสลายตัวอยู่นะไม่ใช่ไม่สลายนะ   หากไปวางตั้งไว้ข้างนอกบางทีอยู่นอกร้านภูมิอากาศบ้านเรามันก็ร้อนนะวิตามินมันก็เกิดการสูญเสียเร็วขึ้นนะครับ    ความแตกต่างของภาชนะบรรจุส่งผลต่อการสลายของวิตามินซีไหมคะ         โดยหลักการภาชนะบรรจุที่ทึบแสง หรือที่แสงผ่านเข้าไม่ได้  และภาชนะที่ไม่มีโลหะผสมจะป้องกันวิตามินซีได้ดีกว่าภาชนะบรรจุที่ใสและแสงผ่านเข้าได้   คนจะสงสัยค่ะอาจารย์ว่ามันก็ใสเหมือนกันขวดแบบเดียวกันทำไมอันหนึ่งมันอยู่ Stable อีกอันหนึ่งทำไมมันหายไป        น่าจะเป็นเรื่องกระบวนการผลิต  การขนส่ง ระยะเวลาหลังจากผลิต  การเก็บรักษา  อุณหภูมิในการเก็บอะไรต่างๆ  บางทีจะเห็นไปตั้งเอาไว้เป็นสต็อกไม่โดนแอร์เลย  ตั้งเอาไว้ข้างร้านๆ   บางทีตั้งไว้อยู่ริมถนน  อากาศมันก็ร้อนนะ  บางทีโดนแดดคือผมพยายามไม่พูดถึงยี่ห้อนะครับ ผมพูดเรื่องวิชาการอย่างเดียวนะครับ   มีคำแนะนำสำหรับคือการผลิตจะมีคำแนะนำอย่างไรดีคะสำหรับการคงคุณภาพหรือการผลิตที่ต้องดูแลควบคุม         ก็ต้องเริ่มจากการควบคุมกระบวนการผลิต   เลือกใช้สารวิตามินซีที่มีความบริสุทธิ์หรือมีเปอร์เซนต์ของวิตามินซีสูง   อุณหภูมิขณะเติมวิตามินซีและตลอดกระบวนการผลิตไม่ควรเกิน 25 องศา  ควรใช้ขวดทึบแสงหรือขวดที่ป้องกันแสงผ่านได้   ลดพื้นที่อากาศบริเวณปากขวดให้เหลือน้อย เก็บรักษาในที่เย็น ห่างจากแสงแดดและความร้อน           ในแต่ละวัน เราสามารถรับวิตามินซีจากแหล่งอาหารอื่นๆ จากที่ไหนได้บ้าง         ผลไม้รสเปรี้ยวเป็นแหล่งของวิตามินซี รวมทั้ง  ส้ม ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ มะขามป้อม  สตรอว์เบอร์รี  เป็นต้น กรณีที่มีบางยี่ห้อเราตรวจได้ปริมาณวิตามินซีมากๆ         อย่างเช่นถ้าเราตรวจพบ   500 ต่อ Serving เพราะฉะนั้นถ้าคนไปกินแทนน้ำนี่มันก็มีความเสี่ยงถ้าคนกินแทนน้ำวันหนึ่งสักสามขวดอย่างนี้  ขวดหนึ่งมัน  140 มิลลิลิตรเองนะ ขวดเล็กด้วยนะ  ถ้าหากใครกินสามขวดก็จะได้ไป 1,500 มิลลิกรัม  ก็มีความเสี่ยงต่อการได้รับมากเกินไป  เช่น  โรคนิ่วในไต  แต่อย่างไรก็ตามโรคนิ่วในไต มีปัจจัยอื่นๆ ด้วย  เช่น  กรดออกซาลิก  กรดยูริก  แต่ถ้าจะลดความเสี่ยง ก็คือวันหนึ่ง  ไม่ควรกินเกิน 1,000 มิลลิกรัม ขณะที่ในอาหารเสริม หนึ่งเม็ดก็จะมี 500 หรือ 1,000 มิลลิกรัม กินวันละเม็ดเดียวก็พอแล้ว    เพราะเรายังได้รับวิตามินซีจากอาหารอีก  เพราะเราไม่ได้กินแต่น้ำ  จริงๆ แล้วร่างกายต้องการน้ำเพื่อแก้กระหาย  น้ำเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย  ช่วยในการนำของเสียออกจากร่างกายและช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายแต่มีการไปเติมวิตามินลงไปเพื่อให้มันมี  เพื่อความสะดวกคือดื่มน้ำแล้วได้วิตามินซีด้วยแต่มันไม่เสถียร  ไม่คงทน  มันสลายได้จึงอยากให้เน้นกินผลไม้ที่มีวิตามินซีที่สด  ซื้อมาปอกเปลือกแล้วกินเลยอันนี้เราควบคุมได้เองวิตามินซีอยู่ครบหรือลดลงแค่เล็กน้อย   เราจะได้ทั้งวิตามินซีทั้งใยอาหารด้วย  ใยอาหารช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ทำให้ผิวพรรณสดใส  เมื่อลำไส้เราสะอาดผิวพรรณเราก็จะสดใสก็จะเปล่งปลั่งขึ้นมา    ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายรับได้ต่อวันเป็นอย่างไร         การกินวิตามินซีวันละ  60 มิลลิกรัมต่อวันก็เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย   อย่างไรก็ตาม ร่างกายสามารถรับวิตามินซีในปริมาณมากกว่านี้ได้ มีผลวิจัยว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันบางโรค ช่วยให้ผิวพรรณสดใสและอาจช่วยป้องกันหวัดหรือบรรเทาอาการหวัด   ข้อดีของวิตามินซี คือ เป็นวิตามินซีที่ละลายในน้ำ   เพราะฉะนั้นหากได้รับมากจนเกินไปร่างกายก็จะขับออกทางปัสสาวะ  อย่างไรก็ตามไม่ควรกินเกิน  1,000 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วในไต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เสียงของผู้บริโภคในปี 2563

ฉลาดซื้อ ฉบับส่งท้ายปี 2563 ที่กำลังจะหมดไปพร้อมๆ กับการกลับมาเยือนของเจ้าโควิด19 ระลอกใหม่ พามาสรุปสถานการณ์เรื่องร้องเรียนภายในปี 2563 จากคำบอกเล่าของคุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปีที่ผ่านมาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน จำนวน 3,463 เรื่อง         อันดับ 1 ได้แก่ ปัญหา อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพยังคงครองแชมป์ มีจำนวน 1,027 เรื่อง (ร้อยละ 29.66)   ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง  ไม่มี อย. ผ่านช่องทางออนไลน์            อันดับ 2 หมวดบริการสาธารณะ จำนวน 753 เรื่อง (ร้อยละ 21.74) เป็นเรื่องปัญหารถโดยสารสาธารณะ การเยียวยากรณีเกิดอุบัติเหตุ การเฝ้าระวังรถนักเรียนและรถโดยสารผิดประเภท และปัญหาการขอเงินคืนกรณีการยกเลิกเที่ยวบินช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ช่วงโรคไวรัสโควิด19 ระบาด         และอันดับ 3 หมวดสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 724 เรื่อง (ร้อยละ 20.91) เป็นเรื่องการสั่งสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่ง   ไม่ได้มาตรฐาน ราคาแพงเกินจริง  สินค้าชำรุดบกพร่อง         สถานการณ์ของผู้บริโภคของปี 2563 เป็นอย่างไร         สถานการณ์ผู้บริโภคตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน จากสถิติที่มูลนิธิฯ รวบรวมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศอยู่ที่ 3,463 กรณีร้องเรียน  โดยสามอันดับแรกที่ร้องเรียนเข้ามาคือ ปัญหาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ครองแชมป์อันดับหนึ่ง (1,027 เรื่อง) ปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาคือการขายผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพประเภทโฆษณาเกินจริง สินค้าที่ซื้อไม่มี อย.  เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิด คนก็จะซื้อสินค้าพวกนี้ทางออนไลน์ค่อนข้างเยอะ แล้วก็ปัญหาโฆษณาเกินจริง ซื้อมากินแล้วไม่ได้ผล กินแล้วบางทีก็มีผลกระทบกับสุขภาพตัวเอง อย่างเช่นอาจจะเกิดอาการแพ้ อาจจะเกิดอาการที่ไม่เป็นไปตามที่บอก หรือไม่เป็นไปตามที่ผู้ประกอบการโฆษณา          อันดับที่สองคือหมวดบริการสาธารณะ 753 เรื่อง ซึ่งปัญหาหลักๆ คืออุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ มีทั้งรถตู้ ซึ่งจะเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง แล้วก็จะมีเรื่องของรถทัวร์โดยสารแล้วก็รถโรงเรียน  สิ่งที่มันเกิดปัญหามากที่สุดก็คือเรื่องของการเยียวยาผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ มีกรณีร้องเรียนเข้ามาขอความช่วยเหลือเยอะ อีกเรื่องหนึ่ง ก็มีเรื่องเฝ้าระวังรถโดยสาร รถนักเรียนปลอดภัย พบว่ามีรถนักเรียนที่เป็นรถผิดประเภทเช่นเอารถกระบะมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียน         อีกปัญหายอดฮิตในช่วงสถานการณ์โควิดก็คือการยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งก็จะเจอปัญหาเรื่องของการขอเงินคืน มีหลายกรณีที่มีการยุติ ก็คือผู้บริโภคยอมที่จะใช้บริการต่อโดยการเก็บเครดิตไว้แล้วก็ไปใช้บริการตามที่ผู้ให้บริการกำหนด อาจจะใช้ได้ถึงสิ้นปีหรือปีหน้า คือมีข้อตกลงกันและก็ยอมรับกันได้ กับอีกเรื่องหนึ่งคือบางทีผู้บริโภคเขาไม่จำเป็นต้องเดินทางก็ต้องการเงินทั้งหมดคืน อันนี้จะเป็นเรื่องที่ยังค้างอยู่ หมายถึงเราต้องช่วยเหลือผู้บริโภคต่อ ต้องติดตามผู้ประกอบการว่าถ้ามีการยกเลิกแบบนี้จะมีการดำเนินการแบบใด          อันดับสามเป็นเรื่องสินค้าและบริการทั่วไป ที่เจอมากที่สุดก็คือการสั่งสินค้าออนไลน์ ล่าสุดคือที่นอนยางพารา ซึ่งเกิดปัญหาเรื่องของการสั่งซื้อแล้วไม่ได้สินค้า แล้วก็ผู้ประกอบการก็ถูกร้องเรียน ถูกแจ้งความดำเนินคดีในคดีอาญา อีกอย่างหนึ่งก็คือสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณาหรือตกลงกัน ก็จะมีเรื่องชำรุดบกพร่อง ไม่ได้ของแถม หรือซื้อสินค้ามาแล้วไม่ตรงปก เสื้ออาจจะย้วย อาจจะมีปัญหาของเรื่องการใส่ไม่ได้ อันนี้ก็จะมีการคืนสินค้ากับผู้ประกอบการค่อนข้างยาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มันจะเกิดกับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ Platform แต่เป็นผู้ประกอบการที่ขายผ่าน Facebook ผ่าน Instagram หรือ Line ซึ่งมีการโอนเงินให้กับผู้ประกอบการโดยทันที ไม่ใช่แบบ Platform ที่เขามีการโอนเงินไว้กับตัว Platform แล้วก็ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคจะติดต่อกันได้ผ่าน Platform ซึ่งจะเป็นผู้เก็บเงินหรือจะจัดการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเอาไว้ ถ้าผู้บริโภคยังไม่ได้รับสินค้าก็แจ้ง Platform ไป เขาก็จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคเลย หรือว่าผู้บริโภคขอคืนเงินเพราะว่าสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน พวกนี้ก็จะได้รับการคุ้มครองได้คืนสินค้าตามกติกาที่กระทรวงดิจิทัลกำหนด อาจจะคืนได้ภายใน 14 วัน         แต่มันก็จะมีลักษณะที่อยากเตือนคือ ผู้บริโภคมักจะไปตกลงในแชทของผู้ประกอบการผ่าน Platform ซึ่งเขาจะเตือนเอาไว้เลยว่าถ้าคุณไปแชทคุยกันเองมันคือนอกเหนือกติกา อันนี้ผู้บริโภคต้องระวัง คือเขาก็จะใช้วิธีชักชวนว่าถ้าซื้อผ่านแชทแล้วโอนเงินให้เขาเลยคุณก็ไม่เสียค่าดำเนินการกับ Platform ดังนั้นราคาก็จะถูกลง แต่ถ้ามันเกิดปัญหาขึ้น สินค้าที่ส่งมาไม่เป็นไปตามที่สั่งหรือไม่ตรงปก แล้วเราอยากคืน เราก็จะไม่ได้คืนเพราะ Platform เขาถือว่าคุณไปคุยกันเอง         ขณะที่สถานการณ์โควิดกลับมาอีกรอบ ปีหน้าช่องทางซื้อขายออนไลน์ก็จะยังคงถูกใช้มากขึ้น สิ่งที่อยากฝากเตือนกับผู้บริโภคมีหลายเรื่อง ดังนั้นเวลาจะซื้อสินค้าถ้าจะเลือกว่ามันจูงใจด้วยราคาหรือว่าซื้อผ่าน Inbox ผ่าน Facebook Line Instagram อะไรต่างๆ เหล่านี้ที่เป็น Social Market พวกนี้มันไม่ถูกกฎหมายต้องระมัดระวังมาก เพราะพอมันไม่ถูกกฎหมายมันก็ไม่มีตัวตนของผู้ประกอบการ ก็ค่อนข้างยากที่จะได้รับการดูแลที่ดีหรือว่าได้รับสินค้าไม่ตรงปก คุณอาจจะเจอปัญหาว่าตอนที่ยังไม่ซื้อคุณคุยกันได้แต่พอซื้อแล้วปุ๊บ ถ้าสินค้ามีปัญหาคุณก็ไม่สามารถที่จะไปคุยกับเขาได้แล้ว เขาอาจจะบล็อก อาจจะปิดเฟสปิดไลน์หนีคุณไป  คนทำงานคุ้มครองสิทธิอย่างเราก็หาวิธีการที่จะไปตรวจสอบกลุ่มคนที่สร้าง Line สร้าง Instagram สร้าง Facebook ยากอีกเหมือนกันเพราะว่าเป็นสื่อที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ช่องทางนี้มันสะดวกก็จริง แต่มันก็มีความเสี่ยงสูงที่จะโดนหลอก         อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องฝากให้ระวังคือ กู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเขากำหนดว่า คุณสามารถทำสินเชื่อหรือธุรกรรมทางการเงิน ประกอบธุรกิจการสินเชื่อปล่อยกู้สินเชื่อผ่านแอปฯ  ได้ แต่คุณต้องขออนุญาต ตอนนี้เราทราบจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่ายังไม่มีผู้ประกอบการรายไหนเข้าไปขออนุญาต ดังนั้นการประกอบธุรกิจสินเชื่อแบบนี้ก็ผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ชัดเจน เช่น กู้ได้ไม่เกินวงเงินครั้งละ 20,000 บาท แล้วระยะเวลาในการกู้ก็กู้ได้ไม่เกิน 6 เดือน แล้วดอกที่ผู้ประกอบการคิดได้ก็คือร้อยละ 25 เท่านั้น ถ้าเกินจากนี้ผิดกฎหมาย กติกาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเขากำหนดไว้ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเป็นผู้ปฏิบัติมีชัดเจน แต่ตอนนี้ผู้ประกอบธุรกิจปล่อยกู้ผ่านแอปฯ ก็ใช้ช่องทางที่คุยกันทางไลน์ ทาง Inbox บ้าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผู้ประกอบการเป็นใคร         ปัญหาที่เจอก็คือ กู้ 2,000 ได้เงินแค่ 1,200 ถูกหักไปเลย 800 บาทเพราะเขาอ้างว่าเป็นความเสี่ยง ถ้าคุณคืนดีพอหักไปแล้ว 800 แต่คุณต้องคืนจำนวนเต็มคือ 2,000 ซึ่งไม่ใช่ 1,200 พูดง่ายๆ คุณโดนหัก 40 เปอร์เซ็นต์เลย ซึ่งมันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน แต่ถามว่าแอปฯ นี่ตอนนี้มันถูกขออนุญาตหรือยัง ไม่มีใครรู้ว่าแอปฯ นั้นเปิดโดยใคร อันนี้ก็ตามไม่ได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การกู้เงินผ่านแอปฯ มันจะให้เรากรอกข้อมูลแล้วก็อนุญาตให้มันเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลญาติเรา พี่น้องเรา เพื่อนเรา แล้วเวลาเราผิดนัดชำระหนี้มันก็จะส่งข้อความหรือส่งไลน์ไปกับกลุ่มคนที่เรามีเบอร์อยู่ในโทรศัพท์  เพื่อนฝูงพี่น้องหรือญาติมิตรก็จะได้รับข้อความทวงหนี้ถ้าเราไม่ชำระหนี้ อันนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิแล้วก็เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเพราะเราอนุญาตแค่ข้อมูลเรา แต่จริงๆ แล้วมันดึงข้อมูลของเราไปทั้งระบบ ถ้าเรามีเบอร์โทรศัพท์อยู่ในนั้นมันสามารถแฮกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์เราไปทั้งหมดได้ อันนี้เป็นเรื่องที่เราอนุญาตเองแล้วก็เข้าถึงข้อมูลได้ด้วย เป็นเรื่องระบบที่ยังไม่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ชัดเจน         กรณีการกู้เงินผู้บริโภคควรแก้ปัญหาอย่างไร         ถ้าเป็นไปได้ ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการเงินตอนนี้ เราคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเขามีหลายมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือผู้บริโภค เช่น มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการการปล่อยกู้สินเชื่อที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น จำนำทะเบียนรถ  แต่ว่าดอกเบี้ยจะเป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และสมมติเรามีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระหนี้กับ Bank หรือ Nonbank ที่เรากู้เขามา แล้วเขาบอกว่าไม่มีนโยบายในการช่วยเหลือลูกหนี้ คุณร้องเรียนตรงไปที่หมายเลขโทรศัพท์ 1213 สำนักงานของศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน หรือ สคง. ได้เลย เขาจะมีแบบฟอร์มให้คุณกรอกว่าคุณประสงค์ที่จะพักชำระหนี้อย่างไร ช่องทางแบบนี้มันสามารถช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งข้อมูล อย่างเช่น คุณทำกับธนาคารใดธนาคารหนึ่งแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยเขาจะมีข้อมูลว่าคุณทำกับธนาคารนี้ เขาจะส่งข้อมูลของคุณเข้าธนาคาร แล้วบอกว่าคุณต้องจัดการช่วยเหลือลูกหนี้แบบนี้เพราะลูกหนี้ประสงค์ที่จะพักชำระหนี้  ตรงนี้จะมีคนกลางที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลไปชี้ให้เขาดำเนินการให้คุณ ทั้งที่จริงๆ ตอนแรกเขาอาจจะปฏิเสธ  ช่องทางแบบนี้ จริงๆ ผู้บริโภคควรเข้าถึง แล้วก็ควรใช้บริการกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะมันรวดเร็วแล้วก็ได้รับคำตอบว่าจะแก้ไขปัญหาให้ได้ไหม         อีกเรื่องงคือการถูกหลอกหรือแฮกข้อมูลส่วนตัว ที่เป็นข่าวล่าสุดที่มีการส่ง SMS เข้ามาแฮกข้อมูล นั่นคือ SMS ที่มันได้ข้อมูลจากการลงทะเบียนผ่านแอปฯ ต่างๆ ที่บางทีเราดาวน์โหลดมาและเราอนุญาตให้เข้าถึง หรือว่ามีอีเมลที่ส่งเข้ามาให้เรายืนยันตัวตนและก็ขอข้อมูล OTP เข้าไป อันนี้ตั้งเป็นข้อสังเกตเลยว่า ธนาคารมีข้อมูลของเราอยู่ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการยืนยันกันบ่อยๆ ถ้าเราคิดว่ามีธนาคารไหนส่งมาเราควรมีการตรวจสอบกลับไปก่อนที่จะทำธุรกรรมตามที่เขาแจ้งมา เพราะว่าธนาคารมีข้อมูลของเราอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้เรายืนยันตัวตน ยกเว้นว่าธนาคารมีปัญหาและอันนั้นนี่เขาควรจะต้องติดต่อเราโดยตรง ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวให้เราไปจัดการแก้ไขปัญหาและต้องไม่ใช่การบอกล่าวผ่านช่องทางพวก SMS หรือแอปฯ หรืออีเมล เพราะมันไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าอีเมลที่ส่งมาเป็นของธนาคารจริงหรือไม่         “เราคิดว่าความรอบคอบของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญในการคุ้มครองสิทธิตัวเอง อย่าเชื่อในสิ่งที่เราเห็น แล้วก็อย่าเพิ่งทำอะไรจนกว่าเราจะตรวจสอบแล้วได้รับการยืนยันที่ชัดเจน” เราอาจจะเข้าไปที่สาขาของธนาคารเองก็ได้เพื่อขอตรวจสอบเรื่องพวกนี้  เดินเข้าธนาคารไปขอตรวจสอบเลยว่ามีคนส่ง SMS นี้มา เป็นของธนาคารจริงหรือเปล่า หรือมีคนส่งอีเมลนี้มาให้เรายืนยันตัวตน ทำไมธนาคารจะต้องมาให้เรายืนยันตัวตนอีกอะไรทำนองนี้ ก็คือการตรวจสอบย้อนกลับไปที่ธนาคารมันจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคมากกว่าที่เราจะหลงเชื่อและดำเนินธุรกรรมทางการเงินไปเลย ลิงก์ธนาคารก็ไม่ได้หมายความว่ามันใช่ของธนาคารจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMS ที่เป็นลักษณะชื่อบุคคล อันนี้ยิ่งสำคัญใหญ่เพราะคนที่โดนแฮกส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเหมือนส่ง SMS มาจากบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร อันนี้ก็จะเป็นประเด็นที่เราควรจะมีการตรวจสอบ มีความรอบคอบในการทำธุรกรรมต่างๆ เพราะมันเป็นข้อมูลของเรา ถ้าเราไม่ให้ ใครก็ไม่สามารถจะดำเนินการอะไรต่อได้ ต่อให้เขาแฮกข้อมูลเรามา แต่ถ้าเราไม่ยืนยันตัวตนกลับไปเขาก็ไม่สามารถเอาข้อมูลของเราไปใช้ได้ เรื่องพวกนี้เป็นความรอบคอบของผู้บริโภคที่ต้องปกป้องสิทธิและคุ้มครองตัวเองด้วย เพราะหน่วยงานและองค์กรผู้บริโภคอย่างเราทำงานที่ปลายน้ำ ไม่สามารถปกป้องสิทธิผู้บริโภคได้ทุกคน ดังนั้นอย่างแรกผู้บริโภคต้องลุกขึ้นมาจัดการเองก่อน         ในปี 2564 ที่จะถึงนี้ มีแผนกิจกรรมอะไรต่อ         ปีหน้าเราจะมีคดีสำคัญที่เป็นคดีผู้บริโภครายกลุ่มอีกสามกรณี คือ กรณีสายการบิน คดีสามล้อเอื้ออาทร โครงการนี้มีกลุ่มผู้บริโภคที่ถูกธนาคารฟ้อง อันนั้นก็จบไปแล้วก็เป็นเรื่องฟ้องแพ่ง แต่ตอนนี้เราพบว่าผู้ซื้อสามล้อยังมีปัญหาเรื่องของการถูกฟ้องคดีอาญา ดังนั้นคดีต้องเดินหน้าต่อในปีหน้า ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นเรื่องกลุ่มของการซื้อสินค้าออนไลน์กลุ่มที่นอนยางพารา ซึ่งอาจจะมีการฟ้องคดีแบบกลุ่มเพื่อให้ผู้ประกอบการยุติการดำเนินธุรกิจ ไม่ให้ผู้บริโภครายอื่นได้รับความเสียหายต่อไป อันนี้ก็จะมีสามประเด็นหลักๆ ที่อาจจะต้องทำในเชิงต่อเนื่องจากปีนี้         ส่วนด้านนโยบายจะมีเวทีเรื่องของการผลักดันกฎหมาย Lemon Law ซึ่งปีหน้าจะต้องมีการผลักดันให้เกิด (ตอนนี้ยังอยู่ในชั้นกฤษฎีกา)  

อ่านเพิ่มเติม >