ฉบับที่ 224 การซื้อขายออนไลน์(ทั่วโลก) ต้องเป็นมิตรกับผู้บริโภค

   จากการติดตามดูนโยบายเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี มีการนำเสนอหลักการ 3 ข้อ        ·    การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองไม่น้อยไปกว่าการซื้อของแบบออฟไลน์        ·    กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคของอียู จำเป็นต้องคงไว้และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค        ·    ความปลอดภัยของสินค้า เป็นนโยบายที่สำคัญอันดับแรก ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างชาติ         สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอด ในเวทีการค้า WTO ของสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 76 ประเทศ ซึ่งมีกลุ่มประเทศ อียู เข้าร่วมเพื่อพิจารณา รอบการเจรจาการค้าระหว่างชาติ ว่าด้วยข้อตกลงการค้า e commerce โดยเป้าประสงค์ของกลุ่มอียู คือ เสริมสร้างสิทธิแก่ผู้บริโภค มีสิทธิในการกำหนดมาตรฐานของตนเองและขยายวงเวทีในการเจรจาต่อรองในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค         ซึ่งผลการเจรจาการค้าในครั้งนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากการเจรจาการค้ารอบนี้จะมีกฎเกณฑ์ระเบียบการค้าออนไลน์ เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำธุรกรรมออนไลน์ทั่วโลกนั้น มีมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของมาตรฐาน อียู ยกตัวอย่างผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในอียู ซื้อสินค้าออนไลน์และได้รับสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ส่งผลให้ ผู้บริโภคได้รับความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิ ในการคืนสินค้า หรือสิทธิในการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคประสบปัญหา กรณีได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากประเทศต้นทางสินค้านอกอียู ผลการศึกษานี้ เผยแพร่โดยวารสารผู้บริโภค Which ? ของประเทศอังกฤษ        ผู้แทนการเจรจาประเด็น e commerce ของ กลุ่มประเทศอียู ได้วางเป้าหมายการเจรจา โดยเน้นไปที่ 4 ประเด็นสำคัญ คือ        ·   มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีกว่า ในการค้าระบบ e commerce ในระดับนานาชาติ        ·   การคงไว้ของมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในอียู        ·   การมีกลไกในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และ        ·   การต่อสู้กับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ที่โฆษณา Online         อย่างไรก็ตามการเจรจาการค้าในประเด็นนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่เช่นกัน ซึ่งในมุมมองของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในอียู เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้มีการบรรจุไว้ในวาระการเจรจาในประเด็นที่สำคัญๆ หลายประเด็น ได้แก่ เรื่อง Artificial Intelligence(ปัญญาประดิษฐ์) Cybersecurity(ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์) Data Protection(การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) Data Transfer(การส่งผ่านข้อมูล) และ Network Neutrality(ความเป็นกลางของระบบเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูล)         ตัวอย่างล่าสุดคือ การตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้นำไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าแบบดิจิทัล(Digital Trade) ซึ่งประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าในรูปแบบ Digital Trade เพิ่งจะเริ่มต้นอภิปรายสาธารณะในกลุ่มประเทศอียูเท่านั้น และจุดยืนขององค์กรผู้บริโภคอย่างสหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีนั้น เห็นว่าข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ไม่ควรที่จะใช้มาเป็นข้ออ้างในการจำกัด หรือละเลยมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีประเทศไทย        เมื่อย้อนกลับมาดูปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเราในการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกหลอกลวง และการถูกฉ้อโกง การได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ครบถ้วน ส่งมอบสินค้าผิดจากที่ตกลงสั่งซื้อ ปัญหาบริการหลังการขาย ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จหรือ ผิดกฎหมาย และปัญหาผู้บริโภคขาดความรู้ ฯลฯ ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอ “การกำกับตลาดออนไลน์ให้เป็นธรรม” ไปยังหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาธุรกกรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าหลายประการในการร่วมมือกันทำงาน โดยเฉพาะกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภคของผู้บริโภคชาวไทย         แต่อย่างไรก็ตามการซื้อขายสินค้าออนไลน์ปัจจุบันเป็นการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ติดตามและเฝ้าระวังการเจรจาการค้าเสรีรอบต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามมา ดังนั้นผมคิดว่า ทางองค์กรผู้บริโภคโดยเฉพาะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ ประเด็นต่างๆ ที่จะมีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเกิดขึ้นของสภาองค์กรผู้บริโภคขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้   แหล่งข้อมูลเวบไซต์สหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (Federation of German Consumer Organizations)https://www.vzbv.de/meldung/online-handel-verbraucherfreundlich-gestaltenวันที่ 24 กันยายน 2562

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ว่าด้วยเรื่อง การบริจาค

ข่าวคราว การระดมเงินบริจาคให้กับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ น้ำท่วม ให้กับดารานักแสดง ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมากกว่าการทำงานภาครัฐ ซึ่งทำให้สามารถระดมเงินช่วยเหลือ หลายร้อยล้านบาทภายในเวลาอันรวดเร็ว จนอาจจะทำให้การบริหารจัดการเงินบริจาค เป็นปัญหาตามมาหลังจากน้ำลดแล้วนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทุกพลังทางสังคมต้องช่วยกัน ด้วยการบริจาคเงินและสิ่งของไปยังผู้ที่ประสบทุกข์ได้ยาก เป็นสิ่งที่เราพึงกระทำตามกำลัง อย่างไรก็ตาม เรามักพบการขอรับบริจาค การเรี่ยไรเงิน ทั้งจากองค์กรสาธารณกุศล และองค์กรที่มีความน่าสงสัยอยู่ ตลอดจนมิจฉาชีพที่อาจแฝงตัวมา โดยใช้ความน่าสงสารเป็นเครื่องมือในการประกอบการที่ไม่สุจริต         วันนี้ขออนุญาตเล่าเรื่องการบริจาคและการจัดการเงินบริจาคของ องค์กรร่มแห่งการบริจาคของเยอรมนี ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ขอรับบริจาคความช่วยเหลือ เนื่องจากในแวดวงเงินบริจาคที่ประชาชนชาวเยอรมัน บริจาคให้กับองค์กรสาธารณกุศลนั้น ในแต่ละปี อยู่ระหว่าง 2,000 – 5,000 ล้านยูโร มีองค์กรที่ขึ้นทะเบียนและขอรับบริจาคเงินจากประชาชนได้ ประมาณ 17,400 องค์กร เงินที่ได้รับจากการบริจาคส่วนมากจะถูกนำไปใช้ช่วยเหลือในเรื่อง ผู้ประสบภัยพิบัติและเด็ก ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือผ่านทางองค์กรศาสนา         สำหรับองค์กรร่ม ที่ทำหน้าที่ในการดูแล เรื่องการบริจาคเงินขององค์กรที่ขึ้นทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย มีกฎหมายรองรับคือ Deutscher Spendenrat e.V.(German Donation Council) ก่อตั้งในปี 1993 จดทะเบียนในรูปแบบ สมาคม และมีสมาชิก ที่เป็นองค์กรสาธารณกุศลอื่นๆ ทำหน้าที่ในการช่วยให้การบริจาคเงินไปยังองค์กรต่างๆ ได้รับความน่าเชื่อถือจากสังคม ปัจจุบันมีองค์กรที่เป็นสมาชิกอยู่ 65 องค์กร รวมทั้งองค์กรกาชาดแห่งเยอรมนี ซึ่ง มีหลักการทำงานที่สำคัญดังนี้ คือ        ·  ความโปร่งใส (Transparency)         ·  ควบคุมคุณภาพ (Quality)         ·  มีการกำหนดมาตรฐานในการทำงาน (Standard)        ·  มีการเผยแพร่ข้อมูลให้กับสังคม ในรูปแบบของรายงานประจำปี เพื่อทบทวนผลงานที่ผ่านมา และมองถึงแนวโน้มในอนาคต (Information for the public)        ·  สนับสนุนให้สังคมเป็นสังคมแห่งการให้ (Donation readiness)        ·  อยู่ในกรอบของกฎหมาย (Legal Framework) เพื่อให้มีกฎ กติกาที่ยืดหยุ่น ผ่อนคลาย กฎระเบียบที่สร้างความยุ่งยากในการทำงาน โดยให้ประชาสังคม สามารถใช้ช่องทางการ ลดหย่อนภาษี ให้กับทั้งผู้บริจาค และอาสาสมัครที่อาสาเข้ามาช่วยงานในรูปของอาสากิตติมศักดิ์(Ehrenamtlich Taetigkeit)         สำหรับการจัดการเรื่องการบริจาค อาจจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการที่มีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ เพื่อให้พลังทางสังคมได้แสดงบทบาทในการจรรโลงสังคมที่อยู่ร่วมกัน โดยมีช่องทางให้อาสาสมัครและผู้ใจบุญ มีพื้นที่ในการทำงานสาธารณกุศลและป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพใช้การบริจาคในการหลอกลวงประชาชน แหล่งข้อมูล https://www.spendenrat.de

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 เครื่องชาร์จไฟ มือถือแบบเหนี่ยวนำ (inductive charging device)

การชาร์จไฟยุคปัจจุบันนี้ มีเครื่องชาร์จไฟ โดยเฉพาะการชาร์จไฟของมือถือ หรือ อุปกรณ์สื่อสาร สมาร์ทโฟน แทบเบล็ต ที่ใช้หลักการการเหนี่ยวนำไฟฟ้า แทนการเชื่อมต่อด้วยสายไฟ        ภายใต้หลักการและแนวคิดที่เน้นในเรื่องความสะดวกสบายและปลอดภัย เครื่องชาร์จไฟชนิดนี้ สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคยุค 4.0 ได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากสายเชื่อมต่อของระบบชาร์จไฟยุค 2.0 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีหลายมาตรฐานไม่ว่าจะเชื่อมต่อ ด้วย MicroUSB หรือ USB-C ทำให้การใช้สายไฟชาร์จร่วมกันเป็นปัญหามาก ในขณะที่ มาตรฐานของเครื่องชาร์จไฟแบบเหนี่ยวนำ มีมาตรฐานเดียวคือ มาตรฐาน Qi (อ่านว่า ชี) นอกจากนี้ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของเครื่องชาร์จไฟแบบนี้ คือ มีความปลอดภัยสูงกว่าการชาร์จแบบมีสายไฟ เนื่องจากในกรณีที่เราใช้สายไฟชาร์จของ ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ อาจเกิดการติดโปรแกรมไวรัส ได้ส่งผลต่อการทำงานและความปลอดภัยของโทรศัพท์มือถือ แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องชาร์จไฟแบบเหนี่ยวนำ ก็มีข้อเสีย เช่นกัน คือ ใช้พลังงานไฟฟ้าในการชาร์จไฟสูงกว่าเครื่องชาร์จไฟแบบมีสาย และในกรณีที่ทิ้งเครื่องชาร์จไฟแบบเหนี่ยวนำข้ามคืน เมื่อมีไฟเต็ม 100 % แล้ว ก็จะยิ่งสิ้นเปลืองพลังงานเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรีเสื่อมสภาพเร็วขึ้น นอกจากนี้ ตำแหน่งในการชาร์จไฟ ก็มีผลต่อความเร็วในการชาร์จไฟ ในประเด็นนี้ ผู้บริโภคควรวางตำแหน่งของมือถือให้ถูกต้องตามที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ         ผมขอสรุปผลการทดสอบ เครื่องชาร์จไฟแบบเหนี่ยวนำ กับแบบใช้สาย USB ตามข้อมูลของ วารสาร Test ฉบับที่ 7/2562 ดังนี้ เคล็ดลับในการใช้งานและดูแลรักษาแบตเตอรีมือถือ        แบตเตอรีมือถือส่วนใหญ่ เป็นแบบ Lithium Ion แบตเตอรีประเภทนี้ มีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับ แบตเตอรีชนิดอื่น ความร้อนส่งผลต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี และ หากแบตเตอรีอยู่ภายใต้ความร้อนสูงก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตราย (แบตเตอรี ระเบิด) อุณหภูมิที่แนะนำสำหรับสภาพการใช้งานที่เหมาะสม คือ ระหว่าง 20-30 °C         หากอุณหภูมิเกินกว่า 60 °C ก็ยิ่งไม่ปลอดภัย เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาเคมี ภายในแบตเตอรีได้         สำหรับการชาร์จแบตเตอรี เมื่อชาร์จได้ 80 % ก็สามารถหยุดการชาร์จไฟได้ เนื่องจาก การชาร์จไฟ เต็ม 100 % ทำให้แบตเตอรีเสื่อมสภาพเร็ว และควรชาร์จไฟในที่ร่ม ไม่ชาร์จไฟในที่โล่งแจ้งมีแสงแดด เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 10 °C แบตเตอรีจะเริ่มให้กระแสไฟฟ้าลดลง เราสามารถเพิ่มอุณหภูมิเพื่อช่วยการทำงานของแบตเตอรี นอกจากนี้แบตเตอรีที่ไม่ได้ใช้งานนานๆ ก็เสื่อมสภาพได้  ดังนั้นควรให้แบตเตอรีทำงานบ้าง และควรชาร์จแบตเตอรีอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง .กรณีที่มือถือตกจากที่สูงหรือได้รับการกระแทกแรงๆ ก็เป็นสาเหตุในการเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันสมควรได้เช่นกัน และเพื่อความปลอดภัย กรณีมือถือได้รับการกระแทกรุนแรง ควรเปลี่ยนแบตเตอรีทันทีเพื่อป้องกันระบบไฟฟ้าภายในลัดวงจร และเป็นสาเหตุการเกิดอัคคีภัยได้ หากเราดูแลสภาพการใช้งานของแบตเตอรีมือถือได้ดี ก็สามารถใช้งานได้นาน 3-5 ปี แต่ถ้าเราไม่ดูแลสภาพการใช้งานให้เหมาะสม อายุการใช้งานของแบตเตอรี ก็จะเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียว (1- 2 ปี)        (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 7/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 เครื่องทอดลมร้อน (Hot air fryer)

ปัจจุบันกระแสการดูแลรักษาสุขภาพก่อนป่วย เป็นกระแสที่กำลังมาแรงในทุกสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการกินการอยู่ ที่ต้องถูกลักษณะหลักการอนามัย เนื่องจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดเรื้อรัง (Non communicable dieseases: NCD) พบมากขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ และบริโภคแบบไม่ยั้งคิด การนิยมรับประทานอาหารทอด ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดโรค NCD นี้ได้ เครื่องทอดแบบไร้น้ำมัน จึงได้ถูกผลิตออกมาวางจำหน่าย เพื่อตอบโจทย์ให้กับเรื่องการชอบรับประทานของทอด เมื่อเร็วๆนี้ ผมก็ได้ลองตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ในการทำครัวแบบนี้ มาลองใช้ดู ก็พบว่า สะดวกดีและช่วยให้มีชีวิตรอดจากการอดอาหารได้ โดยเฉพาะในวันที่ฝนตกและไม่อยากออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เมื่อเดินทางไปมาเลเซีย ก็พบมีการโฆษณา ขายอุปกรณ์ทำครัวแบบนี้ ตลอดเส้นทางด่วนไปเมืองกัวลาลัมเปอร์ และเมื่อลองจอดรถแวะพักรับประทานอาหาร ตามที่จอดรถ ก็พบว่า อาหารที่ขายให้กับผู้เดินทาง ก็มีของทอดวางขายอยู่เป็นจำนวนมาก ผมเข้าใจว่าคนเดินทางก็น่าจะชอบรับประทานอาหารทอดเช่นเดียวกับผมเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทนี้ในการทำให้อาหารสุกแบบไม่ใช้น้ำมัน แต่ใช้ความร้อนจากอากาศ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับการใช้เตาอบนั้น ก็มีทั้งจุดเด่น จุดด้อย ซึ่งผมขออนุญาต นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบ ในการทำให้อาหารสุก ด้วยอุปกรณ์ที่จะนำมาเปรียบเทียบกันดังนี้ เครื่องทอดไร้น้ำมัน(Hot air fryer)เป็นหลักการที่ใช้ความร้อนของอากาศไหลผ่านอาหาร เหมือนกับการ ปิ้ง ย่าง (Grill)จุดเด่นสามารถใช้งานได้หลากหลาย และมีกลิ่นรบกวนจากการทำอาหารน้อย และสามารถใช้น้ำมันในการพรมหรือทาอาหาร เพียงเล็กน้อย เพื่อให้มีสภาพเหมือนกับการทอดจุดด้อยใช้เวลาในการทอดนานกว่าการทอดด้วยน้ำมัน และรสชาติของอาหาร คือ เฟรนช์ฟราย จะแห้งและแข็งกว่าการทอดด้วยน้ำมัน เครื่องทอดใช้น้ำมัน (Fat fryer)เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทอดอาหารที่คุ้นเคยและใช้กันทั่วๆ ไป ใช้ความร้อนจากน้ำมันในการทำให้อาหารสุก กรอบจุดเด่นรสชาติอาหารจากการทอดจะฉ่ำ กว่า และกรอบกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า และสามารถทำอาหารจำนวนมากๆ ได้สะดวกรวดเร็วกว่าจุดด้อยใช้น้ำมันมากกว่า มีกลิ่นอาหารออกมารบกวน ทำความสะอาดยากกว่า และอาจเกิดอุบัติเหตุ น้ำมันลวกได้ ในการเปลี่ยนน้ำมัน ถ้าไม่ระมัดระวัง และทำอาหารได้แบบเดียว เนื่องจากกลิ่นอาหารที่ตกค้างในน้ำมัน จะไปรบกวน การทอดอาหารประเภทอื่น เตาอบ (Oven)ใช้ความร้อนอากาศในการทำให้อาหารสุก เหมือนกับการ ปิ้ง ย่าง(Grill) ความร้อนจะมาจาก ด้านล่าง และด้านบน หรือ ทั้งสองด้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับพลังงานที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็น เตาแก๊ส ไฟฟ้า หรือ ถ่าน จุดเด่นสามารถทำอาหารที่มีปริมาณมาก และมีความหลากหลายในมื้อเดียวกัน ได้ดี สามารถใช้ ในการอบทำขนมเค้ก ขนมปัง และเบเกอรี่ ได้อย่างดีจุดด้อยเปลืองพื้นที่ และมีราคาสูงกว่าอุปกรณ์ อื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว เตาไมโครเวฟแบบผสม (Combi- Microwave)เป็นอุปกรณ์การทำครัว ที่สามารถทำอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะ อุ่นอาหาร ละลายอาหารแช่แข็ง ปิ้ง ย่างจุดเด่นใช้เวลาน้อยในการทำอาหารให้พร้อมรับประทาน เมื่อเปรียบเทียบกับเตาอบ เหมาะสำหรับ คนโสดที่ยังไม่มีครอบครัว และอาศัยอยู่ในคอนโดหรือห้องพักขนาดเล็กจุดด้อยเตาไมโครเวฟบางรุ่น หรือบางยี่ห้อ ไม่สามารถทำอาหารได้หลากหลาย ข้อพึงระวังในการรับประทานอาหารทอดบางประเภท คือ เรื่องสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง คือ สาร Acrylamide ได้มีการตรวจพบสารประเภทนี้ ในอาหารทอดบางชนิด เช่น เฟรนช์ฟราย คุกกี้ มันฝรั่งทอด และกาแฟสำเร็จรูป สารเคมีอันตรายนี้ เกิดขึ้นเมื่ออาหารบางประเภทได้รับความร้อนมากกว่า 120 องศาเซลเซียส ซึ่งอัตราการเกิดของสารอันตรายนี้ ขึ้นอยู่กับ ความร้อนและเวลาที่ใช้ในการทำอาหาร และสารเหล่านี้ยังไม่มีมาตรฐานมากำหนดปริมาณสารนี้ว่าจะอนุญาตให้มีอยู่ในอาหารเท่าใด สำหรับคำแนะนำของ อียู คือ ไม่ควรเกิน 500 ppm ต่อ กิโลกรัม(แหล่งข้อมูล วารสาร Test 1/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 การจ่ายเงินออนไลน์ ด้วยบัตรเครดิตหรือการชำระเงินด้วยวิธีการอื่นๆ ต้องไม่มีค่าธรรมเนียม

หลายครั้งที่ เราทำธุรกรรมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วเครื่องบิน จองรถเช่า จองห้อง หรือสั่งซื้อสินค้า มักจะพบเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดใจให้กับผู้บริโภค คือการคิดค่าธรรมเนียมการจ่ายเงินเพิ่ม หากเราต้องจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือจำกัดวิธีการในการจ่ายเงิน เช่น ต้องจ่ายผ่านระบบ Paypal เท่านั้นในกรณีใกล้เคียงกันนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ได้ฟ้องบริษัท Opodo Ltd. ซึ่งมีการจดทะเบียนที่ตั้งในกรุงลอนดอนคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ชนะคดี โดยให้เหตุผลว่า“ผู้บริโภคในประเทศสมาชิกอียู ต้องไม่ถูกคิดค่าธรรมเนียมในการจ่ายเงิน ผ่านบัตรเครดิต ผ่านระบบ Giropay หรือการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร เนื่องจากการคิดค่าธรรมเนียมจะทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินมีราคาเพิ่มขึ้นมากถึง 40 ยูโร”         คดีนี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภค จองตั๋วเครื่องบินไปกลับจาก เบอร์ลินถึงสนามบิน เมือง Olbia ประเทศอิตาลี จากการสืบค้นหาตั๋วเครื่องบินผ่านเวบไซต์ Opodo ราคาตั๋วเครื่องบินจะมีราคา 239.98 ยูโร ซึ่งถูกที่สุดตามที่เวบไซต์ได้แจ้งแก่ผู้บริโภค แต่ปรากฏว่าหลังจากดำเนินการจองตั๋วและจะจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ปรากฏว่ามีค่าธรรมเนียมจากการจ่ายด้วยบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 282.78 ยูโร เพิ่มขึ้นกว่าก่อนทำการจอง ถึง 40 ยูโร (ประมาณ 1600 บาท) ซึ่งเป็นการละเมิด บทบัญญัติ ของ European Payment Services Directive (PSD2) ฉบับปรับปรุง ซึ่งบทบัญญัตินี้ ใช้บังคับมาตั้งแต่ ปี 2018 ซึ่งใช้บังคับกับบริษัทที่ทำธุรกรรมในประเทศเยอรมนี บทบัญญัตินี้ระบุว่า ห้ามไม่ให้บริษัทคิดค่าธรรมเนียมในการชำระเงินผ่านระบบบัตรเครดิตและบัตรเดบิต(SEPA: Single Euro Payment Area) เนื่องจากการจ่ายเงินด้วยวิธีการ ดังกล่าวยังจัดอยู่ในกลุ่มของ SEPA (หมายเหตุ คดีนี้ยังไม่สิ้นสุดอาจมีการอุทธรณ์จากฝั่งผู้ประกอบธุรกิจ)         ผมคาดหวังว่า การจ่ายเงินทำธุรกรรมด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ก็ไม่ควรที่จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาเพื่อหาความเป็นไปได้ในการทำให้แนวความคิดที่เป็นมิตร และไม่เอาเปรียบผู้บริโภคลักษณะนี้เป็นจริงขึ้นมาในประเทศไทย ที่มา Landgerichts Berlin vom 21.03.2019, Az. 52 O 243/18 – nicht rechtskräftighttps://www.vzbv.de/urteil/zahlung-mit-kreditkarte-oder-sofortueberweisung-muss-kostenlos-sein

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 Search Engine ผลการทดสอบเปรียบเทียบ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

Search Engine ผลการทดสอบเปรียบเทียบ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ขออนุญาตนำเสนอผลการทดสอบ search engine ที่ทำการทดสอบโดย  องค์กรทดสอบและเปรียบเทียบสินค้าและบริการ ของเยอรมนี (วารสาร Test ฉบับ เดือนเมษายนที่ผ่านมา)  โดยมีผลการทดสอบตามตารางและข้อสรุป ดังต่อไปนี้ ตารางแสดงผลการทดสอบ Search EngineสรุปผลการทดสอบStartpage.com ได้รับคะแนนสูงสุดจากการทดสอบครั้งนี้ เนื่องจากสามารถคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ดีมาก  search engine ของบริษัทนี้ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ก็ใช้เทคโนโลยีของกูเกิลด้วย ไม่มี option สำหรับการค้นหาแยกระหว่าง News- Search แต่มีคุณภาพดีสำหรับการค้นหาข้อมูลทั่วไป         Google เป็น search Engine ที่ได้คะแนนสูงสุดในเรื่องคุณภาพการค้นหาข้อมูล ได้คะแนนสูงสุดในประเด็นการทดสอบเรื่องความสะดวกในการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ มีโฆษณาน้อยมาก ไม่รบกวนการใช้งานของผู้บริโภค แต่ได้รับคะแนนน้อยมากในประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และยังมีประเด็นในเรื่องข้อบกพร่องในการแจ้งเรื่อง (สัญญา) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับผู้ใช้งาน นอกจากนี้กูเกิลยังรวบรวมและเก็บข้อมูลการใช้งานผ่าน App อื่นๆ ในเครือ         Ecosia เป็น search engine สัญชาติเยอรมัน ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยบริจาครายได้บางส่วนคืนสู่สังคม ซึ่งเงินที่บริจาคคืนสู่สังคมนี้สามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้มากถึง 50 ล้านต้นในทวีปอัฟริกาและอเมริกาใต้ ใช้เทคโนโลยีของ search engine เดียวกันกับ Bing (Microsoft) มีโฆษณารบกวนน้อย แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังมีประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ         Web.de  เป็น search engine สัญชาติเยอรมัน ที่ไม่มี option ในการค้นหาไฟล์วิดิทัศน์ และไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาของการค้นหาข้อมูลได้ มีโฆษณารบกวนมาก และไม่มี App เฉพาะสำหรับการใช้งานในสมาร์ตโฟน ได้รับคะแนนน้อยกว่า Google และ Ecosia แต่ได้รับคะแนนสูงกว่าในประเด็นเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล         Qwant เป็น search engine สัญชาติฝรั่งเศส ที่มีโฆษณารบกวนน้อย ใช้เทคโนโลยี ของ search engine เดียวกันกับ Bing (Microsoft) และเป็น search engine เดียวของยุโรปที่มีข้อบกพร่องในการชี้แจงเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลBing เป็น search engine ของ ไมโครซอฟท์ สัญชาติอเมริกัน ใช้งานได้สะดวก มีข้อบกพร่องในเรื่องการชี้แจงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาก         Yahoo! เป็น search engine ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับ Bing มีโฆษณารบกวนมาก และไม่แยกโฆษณากับผลการค้นหาออกจากกัน สะดวกในการใช้งาน มีข้อบกพร่องในเรื่องการชี้แจงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากเนื่องจาก search engine นี้จะส่งข้อมูลส่วนบุคคลไปยังบริษัทอื่นๆ ที่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้สมาร์ตโฟนได้         t-online.de สัญชาติเยอรมัน มีข้อจำกัดในการค้นหารูปภาพ  และไฟล์วิดิทัศน์ ใช้เทคโนโลยีเดียวกับกูเกิล มีโฆษณารบกวนมาก และไม่มี App เฉพาะสำหรับการใช้งานในสมาร์ตโฟน         DuckDuckGo สัญชาติอเมริกัน โฆษณาว่ามีนโยบายความเป็นส่วนตัว และไม่เก็บข้อมูลของผู้ใช้งานที่ไม่จำเป็น แต่การชี้แจงเรื่องนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่มีภาษาเยอรมัน ซึ่งผิดกฎหมายเยอรมัน และไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภค มีโฆษณารบกวนน้อย และใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับ Bing         Metager เป็น search engine เดียวที่พัฒนาภายใต้สมาคมเพื่อสาธารณะประโยชน์ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ไม่มี option ในการค้นหาไฟล์รูปภาพและวิดิทัศน์ อย่างไรก็ตาม มีนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดเพิ่มขึ้นมาก  มีโฆษณารบกวนมาก         สำหรับเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องให้ความรู้และข้อมูลพื้นฐานกับประชาชนและผู้บริโภคของประเทศไทยว่ามีความสำคัญอย่างไร ซึ่งในงานวันคุ้มครองผู้บริโภคสากลที่จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและภาคเครือข่ายได้เริ่มรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีคณะทำงานรณรงค์และให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินของประชาชนและผู้บริโภคนั่นเอง         สำหรับกระบวนการการทดสอบ search engine นั้น สามารถดูรายละเอียดวิธีการทดสอบได้จาก www.test.de/suchmaschinen/methodik        (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 4/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 สกูเตอร์ไฟฟ้า (E-Scooter)

        เป็นกระแสข่าว ที่สร้างความฮือฮาในบ้านเรา จากกรณีที่ท่านเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทยได้เลือกใช้ สกูเตอร์ไฟฟ้า(E- Scooter) เดินทางในกรุงเทพมหานคร โดยจอดรถยนต์ประจำตำแหน่ง ยี่ห้อหรูเก็บไว้ (https://www.matichon.co.th/politics/news_1347367)        สำหรับการจราจรในเมืองใหญ่ๆ ที่ประสบปัญหาเรื่องรถติด และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอากาศเป็นพิษ จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์นั้น สกูเตอร์ไฟฟ้า เป็นรูปแบบการเดินทางทางเลือกที่ประชาชนสามารถใช้ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีระยะทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร        ยานพาหนะ การเดินทางส่วนบุคคลอย่าง สกูเตอร์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ผลิตออกมาขาย แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลเยอรมัน ก็ยังไม่ได้มีกฎหมายมาบังคับใช้อุปกรณ์การเดินทางลักษณะนี้ ซึ่ง ภายในปี 2019 นี้ คาดว่าจะมีกฎหมายที่ใช้สำหรับการควบคุมและบังคับใช้สกูเตอร์ไฟฟ้าตามออกมา        การขับเคลื่อนสกูเตอร์ไฟฟ้าอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี ที่สามารถชาร์จไฟเก็บไว้ได้ ซึ่งการชาร์จไฟ 1 ครั้งสามารถเดินทางได้ 15 -20 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วได้ถึง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักของสกูเตอร์ไฟฟ้ารวมแบตเตอรี จะมีน้ำหนักประมาณ 16 กิโลกรัม ความยาวของสกูเตอร์ คือ 120 เซนติเมตร และมีส่วนสูงสำหรับบังคับทิศทาง สามารถปรับได้สูงถึง 116 เซนติเมตร มีระบบเบรกทั้งล้อหน้าและล้อหลังที่เป็นอิสระจากกัน มีสัญญาณไฟ และมีกระดิ่งเพื่อบอกสัญญาณเสียงปัจจุบันราคาประมาณ 2000 ยูโร สามารถพับเก็บได้        จากองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้สามารถลดช่องว่างของระบบการเชื่อมต่อระหว่างบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปในซอยกับป้ายสถานีรถขนส่งสาธารณะได้เป็นอย่างดี        อย่างไรก็ตามการขนส่งด้วยยานพาหนะนี้ จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายมาควบคุมเพื่อสร้างความปลอดภัยสาธารณะให้กับผู้ขับขี่ และผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ในกรณีของเยอรมัน หากยานพาหนะมีความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถที่จะขับบนทางจักรยานได้ และหากไม่มีทางจักรยานก็สามารถขับขี่บนท้องถนนได้ แต่การขับขี่บนทางเท้าไม่สามารถทำได้ เพราะจะผิดกฎจราจรทางบก นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายที่จะใช้บังคับควบคุมการขับขี่สกูเตอร์ไฟฟ้า ก็มีข้อเสนอให้ มีประกันภัยและคนขับต้องมีใบอนุญาตในการขับขี่ รถเครื่องยนต์ขนาดเล็ก(Mofa) โดยผู้ขับขี่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์        ผมประเมินว่า ลักษณะการเดินทางด้วยยานพาหนะแบบนี้ ต่อไปจะเป็นที่นิยมทั่วโลกและคงมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยแน่นอน จะเห็นได้ว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นมาก่อน และทำให้เกิดประเด็นทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีกฎหมายออกมาบังคับใช้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนในสังคมครับ(แหล่งข้อมูล: https://www.adac.de/rund-ums-fahrzeug/e-mobilitaet/info/elektro-tretroller/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เบี้ยประกันสำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้ประชาชนในฐานะ พลเมือง และผู้บริโภค

            หลายๆ ครั้งที่ติดตามข่าว โดยเฉพาะกรณีที่ ประชาชนหรือผู้บริโภค ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการรักษาสิทธิของตนเองนั้น มักปรากฏว่า มักจะมีทนายอาสา หรือ มูลนิธิต่างๆ เอื้อมมือเข้ามาช่วยเหลือ สงเคราะห์ เนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมนั้น คดีความต่างๆ จำเป็นต้องใช้บริการของทนายทั้งในกรณีขอคำปรึกษา และว่าความให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน            กรณีของเยอรมันเอง ได้มีบริการสำหรับ ให้ผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้บริการ ทนายความโดยอาศัยหลักการ การซื้อเบี้ยประกันสิทธิของประชาชน (Rechtsschutzversicherung: Legal Expense Insurance)            หลักการของประกันลักษณะนี้จะคล้ายกับ การซื้อประกันสุขภาพ ที่จะต้องหาหมอในกรณีป่วย ประชาชนที่มีประกันสุขภาพ ก็ใช้บริการประกันสุขภาพ แต่บริการประกันสิทธิ คือ การใช้บริการของทนาย ในกรณีที่สิทธิถูกละเมิด และต้องใช้บริการทนาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นระบบประกันสิทธิแบบจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าจึงเข้ามาปิดช่องว่าง ของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้กับ ประชาชนหรือผู้บริโภคที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ สำหรับวันนี้จะขอยกตัวอย่าง ประกันสิทธิทางถนน (Verkehrrechtschutz: Traffic right Insurance) ซึ่งเป็นประกันภัยที่เหมาะและมีประโยชน์กับทุกคนที่จะต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน ขี่รถจักรยาน หรือ ขับรถยนต์ ในกรณีที่เกิดคดีความกันบนท้องถนน ประชาชนที่มีประกันสิทธิ ก็สามารถปรึกษาเรียกหาทนายความมาเป็นที่พึ่งได้             เหตุการณ์ลักษณะใดบ้างที่ประกันสิทธิบนท้องถนนให้ความคุ้มครอง                1 กรณีกิดอุบัติเหตุ หลายๆ ครั้งที่ รถยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยาน การพิสูจน์ถูก ผิดในคดี จำเป็นที่จะต้องใช้บริการทนายในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายผู้ขับขี่รถยนต์ หรือ คนขับขี่จักรยาน ที่มักได้รับบาดเจ็บ จากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดถูก หรือผิด จนกว่าจะได้รับคำพิพากษาจากศาล                2 กรณีซื้อยานพานะแล้วปรากฏว่าเป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจำเป็นต้องใช้ ทนายในการทำคดี                3 ในกรณีที่ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งขอกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนกฎจราจร ก็สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ต่อศาลโดยสามารถปรึกษากับทนาย โดยภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด บริษัทรับทำประกันรับผิดชอบ                4  ในกรณีที่ผู้ประกันสิทธิเป็นฝ่ายผิด ก็สามารถใช้บริการนี้ เพื่อป้องกัน การเรียกร้องค่าเสียหายเกินจริงได้                5 ในการต่อสู้ทางคดีความ ฝ่ายผิด เป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้คดีความให้กับอีกฝ่ายด้วย ดังนั้น หลายๆ กรณี มักจะจบด้วยการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็ต้องใช้บริการปรึกษาทนายความ            ขอยกตัวอย่าง กรณีการเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ เฉี่ยวชน กับรถจักรยาน กรณีที่ เกิดความเสียหายเฉพาะตัวรถจักรยาน เจ้าของจักรยาน เรียกค่า เสียหาย 1000 ยูโร แต่ ประกันของฝ่ายรถยนต์มองว่า เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป เมื่อตกลงกันไม่ได้จึง ต้องฟ้องคดีต่อศาลเรียกค่าเสีย ซึ่งค่าใช้จ่ายของทนายความ คือ 350 ยูโร และค่าฤชาในการฟ้อง อีก 160 ยูโร ในกรณีที่คนขับขี่รถจักรยานเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ต้องรับภาระจ่ายค่าคดีความที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งของคู่ความด้วย รวมๆแล้ว คนขับขี่จักรยานต้องจ่ายรวมเบ็ดเสร็จ 770 ยูโร ในกรณีที่คดีเข้าสู่ชั้นอุทธรณ์ ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นไปเป็น 1560 ยูโร และถ้าเป็นชั้นฎีกา อาจเพิ่มสูงถึง 2600 ยูโร ซึ่งมากกว่า มูลค่าความเสียหายถ้าเกิดกรณีบาดเจ็บ และคนขับขี่จักรยานเรียกร้องค่าเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บ 25000 ยูโร คนขับขี่จักรยานก็ต้องจ่ายค่าทำคดี ในศาลชั้นต้นสูงถึง 6480 ยูโร ชั้นอุทธรณ์ 13265 ยูโร และชั้นฎีกา 22300 ยูโร ดังนั้นค่าคดีความจึงขึ้นอยู่กับมูลค่าความเสียหาย            เบี้ยประกันสิทธิคุ้มครองทางถนน จึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญกับผู้ใช้เส้นทางการเดินทางทุกคน ระบบประกันสิทธิโดยใช้รูปแบบของการจ่ายเบี้ยประกันจึงเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ ในประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเลือกซื้อประกันสิทธิแบบนี้ โดยสามารถเปรียบเทียบราคา และสิทธิประโยชน์ได้จาก การรวบรวมข้อมูลของ องค์กรผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ ทดสอบเปรียบเทียบของสินค้าและบริการเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อเบี้ยประกันได้ตามความสมัครใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซลวิ่งในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี !!!

       มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ประเด็น “สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย”       โดยที่ ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of European Union) พิพากษายืนยันมาตรการ การห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ ในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดของเยอรมนี ก็ได้มีคำพิพากษาห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฮัมบวร์ก  มิวนิค สตุ๊ตการ์ต โคโลญจน์  ดึสเซลดอร์ฟ เบอร์ลิน ดอร์ตมุน ฯลฯ และอีกกว่า 20 เมืองที่จะมีกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมืองเหล่านี้ เนื่องจากเมืองใหญ่ประสบปัญหา มีปริมาณ NOx  (ออกไซด์ของไนโตรเจน) เกินค่ามาตรฐาน  มาตรการการห้ามรถยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถบรรทุกวิ่งในเขตเมือง คือ การแบ่งโซนนิง พื้นที่ที่มีความเข้มข้นของ ก๊าซ NOx ที่มีค่าสูงจนเกิดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง พื้นที่ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามผ่าน จะมีผลต่อรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EUEO 4 และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ก็จะขยายมาตรการห้ามรถยนต์ที่เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EURO 5 วิ่งในพื้นที่ ที่ได้ประกาศไว้ด้วยเช่นกัน       อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้น สำหรับ ผู้พิการที่จำเป็นต้องใช้รถเก่า และประชาชนที่อาศัยในเขตห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งผ่าน แต่อาจต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในกรณีพิเศษ โดยจะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งเป้า การห้ามรถยนต์ดีเซลที่มีมาตรฐานต่ำกว่า EUEO 6  วิ่งในพื้นที่ห้ามวิ่ง ภายในปี 2564 เพิ่มเติมอีกด้วยรัฐบาลมีมาตรการอย่างไรในการรับมือกับคำพิพากษาของศาลปกครอง-  รัฐบาล ไม่ห้ามรถยนต์ดีเซล มาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 แต่รถต้องปล่อย NOx ไม่เกิน 270 mg/ km -  รัฐบาลมีงบสนับสนุนการเปลี่ยนรถใหม่ (Exchange Premium) ในกรณีที่รถยนต์ต่ำกว่ามาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 ที่ปล่อยก้าซ NOx เกินกว่า 270 mg/km โดยมีเงื่อนไขว่า เงินสนับสนุนนี้จะให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่ง หรือต้องขับรถเข้ามาทำงาน ในพื้นที่ห้ามวิ่งและครอบครองรถยนต์มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งเงินสนับสนุนของรัฐบาลนี้มีวัตถุประสงค์ในการชดเชย มูลค่ารถที่เสียไปจาก มาตรการทางกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลมาตรฐานต่ำๆ วิ่งในพื้นที่ต้องห้ามวิ่ง-  มาตรการการเปลี่ยนชิ้นส่วน หรือระบบกรองอากาศ มาตรการนี้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าได้ยกเลิกการพัฒนาระบบกรองอากาศ แต่ บริษัทรถยนต์ชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Mercedes, Volkswagen และ BMW พร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในวงเงินไม่เกิน 3000 ยูโร ถ้า ลูกค้าไม่สนใจในมาตรการรับเงินสนับสนุน (Exchange Premium) จากรัฐบาล          ในกรณีที่ประชาชนละเมิดกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรการการห้ามรถวิ่งผ่านพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเสียค่าปรับ ประมาณ 80 ยูโร หรือ อาจต้องเสียค่าปรับถึง 160 ยูโร หากทางเจ้าหน้าที หรือ ศาลเห็นว่าจงใจฝ่าฝืนมาตรการหรือคำสั่งดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 การฟ้องร้องคดีประวัติศาสตร์ ขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี

จากเหตุการณ์ กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา (EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์คสวาเกน (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข่าวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ของเยอรมนี(Musterfeststellungsklage) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา องค์กรผู้บริโภคเยอรมนี(The consumer protection federal association: VZBV) ร่วมกับ สมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี(The German automobile club: ADAC) ได้เป็นแกนนำในการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะในการฟ้องคดีที่มีผู้บริโภคเสียหายเป็นจำนวนมาก ลักษณะการฟ้องคดีแบบเฉพาะนี้เรียกว่า Musterfeststellungsklage(Pattern Declaratory Action) ผมขออนุญาตนำประเด็นและสาระสำคัญขององค์กรผู้บริโภค ที่จำเป็นต้องดำเนินการการฟ้องคดีด้วยวิธีพิเศษนี้ มาเล่าสู่กันฟังครับ1 ทำไมองค์กรผู้บริโภคต้องฟ้องคดีองค์กรผู้บริโภคได้รณรงค์ให้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม(Pattern Declaratory Action) มาเป็นเวลากว่า 10 ปี เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับผู้บริโภคในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการใช้สินค้าและบริการ ที่กระทบกับประชาชนในฐานะผู้บริโภคในวงกว้าง เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าสูง และด้วยวิธีการฟ้องคดีแบบพิเศษนี้ จะช่วยให้ข้อจำกัดในเรื่องของอายุความหมดไป        2 บทบาทหน้าที่ของสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนีคดีประวัติศาสตร์นี้ เป็นคดีแรกที่ทั้งสององค์กรได้ร่วมมือกันฟ้องคดี ซึ่งการร่วมกันฟ้องคดีของทั้งสององค์กร จะช่วยเพิ่มโอกาสในการชนะคดีมากกว่าการแยกกันฟ้อง และสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนีเองก็มีหน้าที่ในการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก ที่เป็นผู้บริโภค คือ ผู้ใช้ และผู้ซื้อรถยนต์        3 ใครสามารถมาร่วมฟ้องคดีนี้ได้อีกบ้าง ?ผู้บริโภคทุกคนที่เป็นเจ้าของ รถยนต์ยี่ห้อ VW, Audi, Seat และ Skoda ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล รุ่น EA 189 ขนาด 1.2, 1.6 และ 2 ลิตร)        4 ประเด็นอะไรที่ศาลพิจารณาในคดีนี้ศาลพิจารณาว่า VW ที่ ผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าว แสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลผิดพลาด เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษกำหนด ทำให้เกิดความเสียหาย จากการชำรุดบกพร่อง อันเป็นผลมาจากการจงใจ แสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ(Software Manipulation) 5 ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่สามารถเข้าร่วมการฟ้องคดีครั้งนี้สามารถทำอะไรได้บ้างสำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่ได้เข้าร่วมลงชื่อฟ้องคดีในครั้งนี้ ควรปรึกษาทนายความหรือ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอื่นๆ        6 เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไปการฟ้องคดีแบบพิเศษนี้ มีไว้เพื่อให้ศาลตัดสินว่า การกระทำของ บริษัท VW มีความผิด แต่ไม่ใช่การฟ้องคดี เพื่อเรียกชดใช้ค่าเสียหาย  ซึ่งหากศาลตัดสินคดีทางผู้บริโภคแต่ละรายต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาล จะส่งผลให้การดำเนินคดีที่ต่อเนื่องกับการฟ้องร้องคดีนี้สะดวกรวดเร็วในการดำเนินคดีในศาล ข้อดีของการฟ้องคดีด้วยวิธีการแบบนี้ คือ ความเสี่ยงจะตกอยู่กับองค์กรผู้บริโภคไม่ใช่ ตัวผู้บริโภค และผู้บริโภคยังมีเวลาในการตัดสินใจฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายหากผลของการตัดสินคดี เป็นคุณกับโจทก์ที่เป็นองค์กรผู้บริโภค7 ในกรณีที่องค์กรผู้บริโภคแพ้คดี มีผลอย่างไร ในกรณีที่ศาลตัดสินว่า VW ไม่ได้กระทำผิด ผลของคำพิพากษามีผลผูกพันไปยังศาลอื่นๆ ด้วย องค์กรหรือบุคคลที่ร่วมฟ้องคดี ไม่สามารถอุทธรณ์คดีได้        8 ผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมฟ้องคดีได้อย่างไรผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายสามารถลงชื่อเข้าร่วมการฟ้องคดีได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และทางองค์กรผู้บริโภคจะส่งรายชื่อผู้ร่วมฟ้องร้องไปยัง สำนักงานกระทรวงยุติธรรมยุติธรรม (Bundesamt fÜr Justiz) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากนั้น ทางสำนักงานจะส่ง คำฟ้องคดีและรายชื่อผู้ร่วมฟ้องไปยังฝ่ายจำเลย ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลา 14 วัน        9 ผู้บริโภคสามารถถอนรายชื่อในภายหลังได้หรือไม่สามารถทำได้ จนกว่าศาลจะนัดคู่ความมาศาลครั้งแรก ซึ่งหากศาลบอกวันนัดมาแล้วทางองค์กรผู้บริโภคจะแจ้ง ผู้ที่ลงชื่อร่วมฟ้องทันทีที่ได้รับหมายนัดจากศาล10 ในกรณีที่ผู้บริโภคใช้สิทธิในการฟ้องคดีเองไปแล้วยังสามารถร่วมฟ้องคดีนี้ได้อีกหรือไม่ ผู้บริโภคสามารถร่วมลงชื่อฟ้องร้องคดีได้ หากกระบวนการทางศาลยังไม่ถึงที่สุด(คำพิพากษาศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งรัฐ (Bundesgerichthof) แต่กระบวนการทางศาลของผู้บริโภคจะถูกระงับไว้ เพื่อรอผลของการฟ้องร้องคดีนี้11 จะสามารถร่วมฟ้องคดีได้หรือไม่ถ้า เคยทำสัญญาไกล่เกลี่ยกับ บริษัท VW มาแล้วโดยทั่วไปการทำสัญญาไกล่เกลี่ย มักจะมีข้อสัญญาที่ไม่ให้คู่ความไกล่เกลี่ยใช้สิทธิฟ้องคดีทางศาลได้ ในภายหลัง ดังนั้นหากสนใจจะลงชื่อ ร่วมฟ้องคดี ผู้บริโภคต้องปรึกษากับทนายความ และฝ่ายกฎหมายขององค์กรผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีก่อน        12 ผู้บริโภคที่ขายรถไปแล้วสามารถร่วมฟ้องคดีได้หรือไม่กระบวนการลงชื่อร่วมฟ้องเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ซื้อรถยี่ห้อ และรุ่นดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2008 สามารถร่วมลงชื่อได้ รวมทั้งผู้บริโภคที่ซื้อรถใช้แล้ว ด้วยเช่นกัน13 ใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะมีคำพิพากษาออกมาเป็นประเด็นที่ตอบได้ยาก เนื่องจากเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ กระบวนการนี้ เริ่มที่ศาลสูงแห่งรัฐ(Oberlandesgericht: OLG) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา ไม่ต่ำกว่า 2  ปี ในการพิจารณาพิพากษาคดี และอาจไปจบที่ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งรัฐ (Bundesgerichthof) ในเวลา 2-3 ปี        14 ผู้บริโภคที่ร่วมฟ้องคดีสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้อย่างไรผู้บริโภคสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้ ที่เวบไซต์ของสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี (adac.de/musterfeststellungsklage) และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  (www.musterfeststellungsklagen.de* (vzbv))กระบวนการฟ้องคดีแบบกลุ่มตาม เยอรมนีโมเดลนี้ ค่อนข้างใช้เวลานาน กว่าที่ผู้บริโภคจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีแบบกลุ่ม(Musterfeststellungsklage) ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา และประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2018  และเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว องค์กรผู้บริโภคก็ได้ทดลองใช้เครื่องมือในกระบวนการยุติธรรมเลยทันที สำหรับประเทศไทยในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 46 ก็บัญญัติให้  “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองบุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคองค์กรของ  ผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ผมมองว่า องค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระควรมีส่วนร่วมในการร่างและพิจารณากฎหมาย ที่มีผลกระทบกับผู้บริโภคทุกฉบับ และควรมีบทบาทในฐานะกรรมาธิการในวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ ให้ความเห็นและกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค จนต้องใช้การฟ้องร้องคดี หรือใช้ความรุนแรง ในการทวงถามความยุติธรรมเหมือนหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน เท่าที่เราพบเห็นในข่าวสารทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >