ฉบับที่ 151 ว่าด้วยเรื่อง โทรทัศน์ 3 มิติ (3D- TV)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการประมูลทีวีดิจิตอล กำลังเริ่มขึ้น ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสื่อดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ผมลองไปเดินดู เพื่อหาซื้อโทรทัศน์จอแบน ดิจิตอล ตามท้องตลาด และได้ไปเห็นทีวี 3 มิติ หลายรุ่นน่าสนใจอยู่ เลยต้องกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการเลือกซื้อโทรทัศน์ ว่าจะมีแนวทางในการเลือกซื้ออย่างไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง บทความนี้จะอธิบายถึงเรื่องนี้ครับ การมองเห็นภาพ 3 มิติของคน การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฎการณ์ Accomodation การมองเห็นภาพ 3 มิติของสายตาเกิดจากการโค้งงอของเลนส์สายตา เพื่อโฟกัสการมองเห็นไปยังวัตถุระยะใกล้ๆ ในภาพการมองวัตถุระยะใกล้เลนส์ตาจะโค้งงอมากกว่าการมองในระยะไกล ดังรูปที่ 1 รูปที่ 1 ปรากฏการณ์ Accomodation การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฎการณ์ Convergence การมองเห็นภาพ 3 มิติแบบคอนเวอร์เจนซ์ เป็นปรากฏการ์ที่ ลูกตาหมุนเข้าหาทำมุมระหว่างกันไปที่วัตถุ ระยะที่ลูกตาสามารถปรับไปมาได้จะอยู่ไม่เกิน 2-3 เซนติเมตรจากระยะปลายจมูก (Squint Effect) แต่ถ้าสายตามองวัตถุในระยะไกลๆ สายตาที่มองออกไปจะขนานกันปรากฏการณ์ คอนเวอร์เจนซ์ของตามนุษย์จะเกิดขึ้นในการมองวัตถุในระยะไม่เกิน 3 เมตร ดูรูปที่ 2 รูปที่ 2 ปรากฏการณ์ Convergence   การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฏการณ์ Parallax การที่ลูกตาแต่ละข้างจะมองเห็นภาพที่ต่างกัน ตามคำอธิบายในรูปที่ 3 รูปที่ 3 ปรากฏการณ์ Parallax   หลักการทำงานของทีวี 3D ภาพที่เกิดขึ้นจากทีวี 3D เป็นภาพที่ซ้อนกันภายใต้ระยะห่างที่เท่ากัน เมื่อสายตามองเห็นภาพดังกล่าวก็จะปรับลักษณะการมองเห็น ตามปรากฏการณ์ คอนเวอร์เจนซ์ โดยมีสมองสั่งการและควบคุมการมองเห็นอย่างรวดเร็ว แต่การดูภาพ 3 มิติ เป็นระยะเวลานานจะทำให้สายตาเมื่อยล้า และรู้สึกไม่สบายสายตา   ความสบายตาในการรับชมทีวี (Cinema Compatible) เนื่องจากระยะห่างระหว่างจอกับลูกตาในโรงภาพยนต์จะมากกว่า 3 เมตร การดูหนังในโรงภาพยนต์การโค้งตัวของเลนส์ตาจะน้อยกว่า การดูทีวี 3D ในบ้านที่ระยะห่างระหว่างจอกับลูกตาน้อยกว่า 3 เมตร เพราะฉะนั้นหากจะดูที่วี 3D แบบสบายตา ควรตั้งให้จอทีวีอยู่ห่างจากโซฟาหรือที่นั่งไม่ต่ำกว่า 3 เมตร   เด็กเล็กไม่ควรดูทีวี 3D เพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพสายตา และการดูทีวี 3 D เป็นระยะเวลานานๆ ก็อาจเป็นโรคลมชักได้ (Epilepsy)!   แหล่งข้อมูลอ้างอิง www.test.de

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 150 ตัวอย่างหลักสูตร การคุ้มครองผู้บริโภคในโรงเรียน: ความเท่าทันสื่อ (Media Competency)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ผมได้แปลสรุปมาจากสื่อการเรียนการสอนของ องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ที่ได้จัดทำสื่อให้กับคุณครูและเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดทำหลักสูตรดังกล่าวมีองค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงานได้เข้ามาร่วมกันทำงาน  สำหรับเนื้อหาในเรื่องความเท่าทันสื่อนี้ องค์กรคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่างานบางอย่างรัฐไม่ได้ดำเนินการเอง แต่สนับสนุนให้องค์กรภาคเอกชนดำเนินการ แม้แต่เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนในการศึกษาขั้นพื้นฐานรัฐก็ไม่ได้ผูกขาดไว้คนเดียว องค์กรปกครองส่วนท้องถื่นในบ้านเราที่มีความเข้มแข็งในการปกครองตนเอง ก็น่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับ โรงเรียนในสังกัดกันบ้างนะครับ ในปี 1998 ผลการศึกษาของ JIM* การใช้มัลติมีเดียของวัยรุ่นอายุระหว่าง 12- 19 ปี พบว่ามีเพียง 19 % เท่านั้นที่ใช้อินเตอร์เน็ต และ 20 % ที่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับอินเตอร์เน็ตหรือ โทรศัพท์มือถือเลย ในขณะที่ผลการศึกษาในปี 2010 กว่า 90 % ของวัยรุ่นเล่นอินเตอร์เน็ตทุกวันและวันละหลายครั้ง วัยรุ่น 97 % มีโทรศัพท์มือถือส่วนตัว และหากนับรวมสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และยูทูบ ตลอดจนเกมส์คอมพิวเตอร์ จะเห็นว่าสื่อทั้งหลายเหล่านี้อยู่รอบๆ ตัวของวัยรุ่น เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ รับทราบ และเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ครู อาจารย์ยุคนี้ ที่กลัวว่าสื่อยุคใหม่จะส่งผลในเชิงลบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นยุคนี้ จนเป็นที่มาของความเสื่อมในด้านวัฒนธรรม (Sittenverfall) การแพร่หลายของสื่อประเภทต่างๆ นี้ มีผลต่อวัยรุ่นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผลทางด้านบวก หรือผลทางด้านลบ เป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งความเสี่ยง หน้าที่อย่างหนึ่งของคุณครูและพ่อแม่ต่อการรับมือกับสภาพของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นก็คือ เข้าไปทำความรู้จัก เรียนรู้ นำตัวอย่างที่ดีมาสอน อธิบายเรื่องความเสี่ยงและความน่ากลัวของสื่อ ให้วัยรุ่นรับฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่วัยรุ่นในยุคนี้จะต้องเรียนรู้ และสามารถคิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนกำหนดการใช้เวลาอยู่กับสื่อต่างๆ เหล่านี้ ได้ด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของหลักสูตร การเท่าทันสื่อ (Media Competency) พัฒนาการและการสนับสนุน หลักสูตรการเท่าทันสื่อ จะมีกระบวนการดังต่อไปนี้ คือความรู้ในเรื่องสื่อ (Knowledge) กระบวนการการประเมินผล (Reflexion) และกระบวน การการจัดการ (Take action) จากกระบวนการเรียนรู้การเท่าทันสื่อตามแนวความคิดดังกล่าว วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ คือ การสามารถวิเคราะห์การใช้สื่อต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งกระบวนการประเมินผล จะเป็นกระบวนการสำคัญ เนื่องจากเด็กวัยรุ่นจำนวนมากได้ใช้สื่อต่างๆ อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การที่เปิดโอกาสให้เด็กสามารถทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สื่อของตัวเอง การอภิปรายในเรื่องงานอดิเรกอื่นๆ ในเวลาว่าง และสามารถทำการประเมินระดับของการเสพติดสื่อได้ สำหรับคุณครูหรือพ่อแม่ที่ เกิดก่อนปี 1980 นั้นต้องเข้าใจว่า เป็นพวกอพยพเข้ามาสู่ยุคดิจิตอล(Digital Immigrants) ในขณะที่เด็กที่เกิดหลังปี 1980 นั้น จะเป็นพวกชนพื้นเมืองยุคดิจิตอล(Digital Natives) เนื่องจากคนกลุ่มนี้พอเกิดมาจำความได้ ก็รู้จักสื่อต่างๆ ที่รายรอบตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมารุ่นก่อนต้องทำความเข้าใจในการสอน Media Competency ภายใต้หลักการที่ว่า เป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน คือ ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยกับบางสิ่งบางอย่างที่คนรุ่นใหม่กระทำทุกเรื่อง แต่ภายใต้ความหวังดีที่มีให้นั้น ก็สามารถเป็นที่ปรึกษากับพวกเขาเหล่านั้นได้ เนื่องจากพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีวุฒิภาวะที่สมบูรณ์ เพียบพร้อมกว่าเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนการเจริญเติบโต เนื้อหาในหลักสูตรนั้นทางองค์กรผู้บริโภค ได้จัดเตรียมไว้ให้กับคุณครูทางอินเตอร์เน็ต คุณครูสามารถดาวน์โหลด เพื่อมาประกอบการเรียนการสอนในห้องได้ นอกจากนี้ยังมีช่องทางให้คุณครูสามารถประเมินหลักสูตร เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้กับฝ่ายจัดทำหลักสูตรได้อีกด้วย เยอรมันเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาทุกระดับ และสิทธิในการได้รับการศึกษาก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของไทย เพียงแต่เขาเอาจริง และทำจริงมากกว่าของเราในตอนนี้   *JIM เป็นโครงการการสำรวจอิทธิพลของสื่อที่มีต่อเด็กวัยรุ่น โดยทุกๆปี โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1998 จะทำการสอบถามวัยรุ่นจำนวน 1,000 คน ในประเด็นดังต่อไปนี้ การทำกิจกรรมในยามว่าง หัวข้อที่สนใจและแหล่งของข้อมูล รายการโทรทัศน์ที่ชื่นชอบ การใช้สื่อประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ การใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต แนวความคิดในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์กับโรงเรียน การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 149 การไกล่เกลี่ยคดี ของเยอรมนี: บริบททางสังคมที่ต่างจากประเทศไทย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ผมได้แปลและเรียบเรียงมาจากบทความในวารสาร Finanztest  ซึ่งเป็นวารสารสำหรับผู้บริโภคในเรื่องเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และการเงิน ฉบับเดือน มกราคม 2555 เพื่อเสนอเป็นข้อมูลประกอบสำหรับการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ในบทความนี้การไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ในเยอรมนี ให้การไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องของเอกชนครับ (รัฐไม่ได้เข้าไปยุ่งในกระบวนการเหมือนบ้านเรา ที่รัฐต้องยุ่งทุกเรื่อง และก็ยุ่งเป็นยุงตีกัน ท้ายสุดประชาชนไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร และรัฐต้องจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสามารถดำเนินการได้ไม่ว่าเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในที่ทำงานบริษัท ห้างร้าน และภายในหน่วยงานราชการ ปัจจุบันในเยอรมนีมี พ.ร.บ. ที่ออกมาเพื่อสนับสนุนกระบวนการไกล่เกลี่ย คดีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เช่น คดี ครอบครัว เช่นมีคดีหนึ่งที่สามีภรรยา แยกทางกัน และมีข้อพิพาทในประเด็นที่ว่า จะส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนไหน และใครจะดูแลจัดการเรื่องใด เช่นใครจะไปรับไปส่งตอนไหน ใครจะดูแลเรื่องเครื่องแต่งกาย คดีแบบนี้ทางรัฐสนับสนุนให้ใช้การไกล่เกลี่ย เพราะมีรายละเอียดมากสำหรับการที่จะตกลงร่วมกันในการดูแลลูก   กรณีตัวอย่างนี้ใช้เวลาในการไกล่เกลี่ย 12 ครั้งกว่าจะได้ข้อยุติ  ซึ่งการไกล่เกลี่ยจะเป็นผลดีต่อ พ่อ แม่และลูก มากกว่าการฟ้องร้องคดีกัน  การไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นนี้มีค่าใช้จ่ายสำหรับคู่ความคือ 600 ยูโร(คู่กรณียอมรับว่าเป็นเงินที่คุ้มค่า) โดยปกติราคาสำหรับการไกล่เกลี่ยคดีจะอยู่ระหว่าง 90- 400 ยูโรต่อชั่วโมง (3600 – 16000 บาท) ขึ้นอยู่กับลักษณะคดี  ค่าครองชีพของเมืองที่เกิดคดี และความสามารถและทักษะของผู้ไกล่เกลี่ย ผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยจะเป็นคนกลาง (Mediator) ไม่ได้เสนอคำตอบหรือทางออกสำหรับข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาท แต่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ (Moderator) ไกล่เกลี่ยให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งคู่กรณีทั้งสองสามารถหาทางออกได้ด้วยตัวเอง คดีที่มีข้อพิพาทกันในครอบครัว ระหว่างเพื่อนบ้าน กรณีพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ธนาคารกับลูกค้า ประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็สามารถใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ (แต่ไม่ยักมีคดีระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการนะครับ) ในเยอรมนี เป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ใช้การไกล่เกลี่ยแก้ไขข้อพิพาท  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2012 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการไกล่เกลี่ย หลังจากใช้เวลาร่างและพิจารณากฎหมายในสภา bundestag เป็นเวลากว่า 3 ปี พ.ร.บ.นี้จะมีส่วนสนับสนุนการไกล่เกลี่ย ตลอดจนสนับสนุนพัฒนาหลักสูตรการไกล่เกลี่ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อแนะนำสำหรับการไกล่เกลี่ยคือ คู่กรณีควรมีทนายความของตนเองมาร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้การรักษาความเป็นกลางของผู้ไกล่เกลี่ยเป็นไปได้ง่ายขึ้น “ มิชาเอล พลาสสมานน์ นักไกล่เกลี่ยและทนายความให้คำแนะนำ การทำงานของผู้ไกล่เกลี่ยควรต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค องค์ประกอบของทีมประกอบด้วยเพศหญิงและเพศชาย นักกฎหมาย และนักการศึกษา ครู อาจารย์ เมื่อคู่กรณีตกลงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ก็ต้องรักษาข้อเสนอเป็นความลับทั้งคู่กรณีและผุ้ไกล่เกลี่ย ซึ่งในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ผู้ไกล่เกลี่ยก็สามารถปฏิเสธ การเป็นพยานในชั้นศาลได้ (Zeugnisverweigerungsrecht)   ผู้ไกล่เกลี่ยที่ได้รับการรับรอง (Certified Mediator) ใน พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดวิธีการสอบ หรือหลักสูตรบังคับ แต่จะระบุลักษณะที่พึงปรารถนาของผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยที่ขึ้นทะเบียน เช่น ต้องผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 120 ชั่วโมงสำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิชากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ย เทคนิคการต่อรอง และการสื่อสาร (Verhandlungs- und Kommunikationstechnik) การดำเนินรายการสานเสวนา (Gesprächführung) และการจัดการความขัดแย้ง (Konfliktkompetenz) นอกจากนี้ยังมี เนื้อหาที่เป็นภาคปฏิบัติ โดยที่จะมีระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการตรวจสอบของผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อพัฒนาความสามารถของนักไกล่เกลี่ยในระหว่างการฝึกอบรม สหพันธ์การไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง (www.bmev.de) เป็นองค์กรเอกชนระดับสหพันธรัฐ ที่พัฒนาหลักสูตรการไกล่เกลี่ย สำหรับนักไกล่เกลี่ยมืออาชีพ ข้อดีของการไกล่เกลี่ยคือ เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่มีราคาถูกสำหรับคู่ความในกรณีที่ มีมูลค่าสูงๆ เช่น คดีมรดก ข้อดี อีกอย่างหนึ่งสำหรับการไกล่เกลี่ยคือ ได้ข้อยุติที่รวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับการฟ้องร้องคดีในศาล สำหรับคนเยอรมันเองนั้นนับว่าการไกล่เกลี่ยเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะคนเยอรมันจะมีประกันความยุติธรรม (Rechtsschtuzversicherung เบี้ยประกันความยุติธรรมจะอยู่ระหว่าง 200- 360 ยูโรต่อปี) ที่บริษัทรับประกันมีกรมธรรม์คุ้มครองลูกค้า ในกรณีที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการไกล่เกลี่ยนั้น Rechtschutzversicherung ก็ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับกระบวนการไกล่เกลี่ยด้วย การไกล่เกลี่ยที่ประสบความสำเร็จ คือ การที่คู่กรณีได้ลงนามตกลงในสัญญาไกล่เกลี่ย ซึ่งคู่ความควรจะต้องให้ทนายฝ่ายตนตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งก่อนลงนามในข้อตกลง ในกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาดังในข้อตกลงดังกล่าว ก็สามารถนำเรื่องฟ้องศาลเพื่อบังคับคดีต่อไปได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 148 สถานการณ์สารพทาเลต DEHP- อันตรายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ ได้ข้อมูลมาจากผลการศึกษาปริมาณของสาร DEHP ที่ปนเปื้อนอยู่ในประชากรชาวเยอรมนีที่ทำการศึกษาโดยสถาบันประเมินความเสี่ยงแห่งสหพันธ์ (Federal Institute for Risk Assessment) กับสำนักงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (Federal Environment Agency) ซึ่งทางยุโรปได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลสารเคมีในกลุ่มพทาเลต ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ยังไม่ได้ทบทวน และประกาศใช้มาตรฐานกำกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารพทาเลตเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ใส่ใจต่อสุขภาพของและความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนเป็นการจะช่วยสกัดกั้นป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายหลุดเข้ามาสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคครับ   สาร DEHP คืออะไร สาร DEHP ย่อมาจาก di (2-ethyl hexyl) phthalate เป็นสารเคมีที่นิยมใช้ในการผลิตพลาสติก เพื่อให้พลาสติกมีความอ่อนตัว เหมือนกับสารพทาเลตตัวอื่นๆ อีกหลายตัว และสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศให้สาร DEHP เป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ เนื่องจากมีการอ้างถึง การที่สาร DEHP มีผลต่อระบบสืบพันธ์ และส่งผลทางด้านลบต่อทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาฅ สำหรับผู้ใหญ่การได้รับสาร DEHP ส่วนใหญ่ได้รับผ่านทางการกินอาหาร เข้าสู่ร่างกายซึ่งมีปริมาณน้อย และยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากปริมาณที่ผู้ใหญ่ได้รับสารเคมีนี้ยังน้อยกว่าปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากในร่างกายของผู้ใหญ่สามารถที่จะกำจัดสาร DEHP นี้ออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว สำนักงานที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ได้กำหนดปริมาณสาร DEHP สูงสุดที่  50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักมนุษย์ 1 กิโลกรัมต่อวัน ที่ร่างกายมนุษย์สามารถขับออกจากร่างกายได้ โดยที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ (TDI: Tolerable Daily Intake) สำหรับข้อมูลจากรายงานการสำรวจในประเทศเยอรมนี พบปริมาณสาร DEHP ที่คนเยอรมนีได้ขับถ่ายออกมาเฉลี่ยที่ปริมาณ 13-21 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม   อาหารประเภทไหนที่อาจมีสาร DEHP ปนเปื้อนอยู่ ? อาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปเช่น เนื้อสัตว์ ไขมัน น้ำมัน ธัญพืช ผลไม้ ผักสด นมและผลิตภัณฑ์จากนม ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ เปรียบเทียบกับอาหารที่ไม่ได้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ และอาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูป จะมีการปนเปื้อนของ DEHP ในปริมาณสูง เพราะอาหารสามารถที่จะละลายสาร DEHP และพทาเลตตัวอื่นๆ ในระหว่างกระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการบรรจุ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมีการสั่งห้ามใช้สาร DEHP ในบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารที่มีไขมันในปี 2007 (พ.ศ. 2550) และในปี 2015 อียูก็ได้สั่งห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว (consumer product) หากไม่ได้มีการพิสูจน์ตามมาตรฐานของ REACH ที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมและกำกับการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ในกรณีของเด็ก สาร DEHP ครึ่งหนึ่งของปริมาณสารเคมีที่ได้รับ ผ่านทางอาหาร ส่วนที่เหลือจะได้รับผ่านทางผลิตภัณฑ์อื่นๆ และของเล่น เนื่องจากเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นบนพิ้นห้อง ซึ่งอาจได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ ในการศึกษาครั้งนี้ ประมาณกาณ์ว่า เด็กได้รับสาร DEHP ระหว่าง 15-44 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว1 กิโลกรัม แต่ก็ยังต่ำกว่าปริมาณค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ (TDI-Value)   วิธีการป้องกันสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายได้ดีคือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป ลดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ยี่ห้อเดียวกันเป็นประจำ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนไปบริโภคยี่ห้ออื่นบ้าง เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะมีปริมาณสาร DEHP ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ควรหมั่นทำความสะอาดพิ้นสม่ำเสมอในกรณีที่มีเด็กเล็ก และปล่อยให้เด็กเล่นบนพื้นห้อง เลือกของเล่นสำหรับเด็กที่ไม่มีสารพทาเลตเป็นส่วนผสม ซึ่งในยุโรปมีกฎหมายห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์และของเล่นสำหรับเด็กตั้งแต่ปี 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งยุโรปจะมีเวบไซต์แจ้งเตือนทุกๆสัปดาห์  (RAPEX: http://ec.europa.eu/consumers/dyna/rapex/rapex_archives_en.cfm ) เมื่อมีการตรวจพบผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีสาร DEHP ผสมอยู่   ข้อมูลอ้างอิง Phthalate Contamination of the Population in Germany: Exposure-relevant sources, exposure paths and toxicokinetics using the example of DEHP and DINP, Federal Institute for Risk Assessment, Federal Environment Agency, ISSN 1862-4340, 2012

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ธุรกิจ ธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และ Tablet PC : ประเด็นสำคัญที่องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการธุรกิจ ธุรกรรมผ่าน สมาร์ตโฟน และ Tablet PC : ประเด็นสำคัญ ที่องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญ (Mobile Commerce via Smartphone and Co.- Analysis and and outlook of the future market from the user’s point of view สำหรับบทความในวันนี้ จะขอแปลและเรียบเรียง ผลการศึกษาขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี ที่ได้เผยแพร่งานวิจัย ในเรื่องการทำธุรกรรม ผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน และ แทบเลต ที่จะมีบทบาทสำคัญทางการค้าขาย ในยุค 3G และ 4G ของการสื่อสาร และการเสนอกรอบสำหรับการกำกับดูแลในประเด็นดังกล่าว สมาร์ตโฟนและแทบเลต เป็นเครื่องมือที่นอกจากจะใช้การติดต่อสื่อสาร รับส่งข้อมูล แล้วยังสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วย ทำให้เป็นที่นิยมในสังคมเยอรมนีเป็นอย่างมาก ความนิยมดังกล่าวส่งผลให้ การให้บริการรับส่งข้อมูล (Data mobile service) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การสื่อสารประเภทเสียง (Voice mobile service) ก้าวเข้าสู่ยุคการอิ่มตัวของตลาด การสื่อสารประเภทข้อมูล (Data mobile service) มีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปิงออนไลน์ ซื้อตั๋วรถไฟ ตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ   ความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมเป็นผลมาจาก เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3G) และ ยุคที่ 4 (4G) ที่ผู้ให้บริการโครงข่ายการสื่อสารได้เพิ่มความสามารถในการรับส่งข้อมูล ในโครงข่ายของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกัน การติดตั้งไว ไฟ (Wi-Fi) ภายในบ้านและสถานที่สาธารณะ ก็ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ตโฟนและแทบเลต สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ในราคาผู้บริโภคเข้าถึงได้ ประสิทธิภาพของสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทุกๆ 2 ปี และในอนาคตสมาร์ตโฟนจะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า โทรศัพท์มือถือ เพราะสมาต์โฟนก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ที่มี processor ประสิทธิภาพสูง มีหน่วยบันทึกความจำปริมาณมาก ประกอบไปด้วยทัชสกรีน ที่มีความไวสูง มีกล้องถ่ายรูปที่มีจำนวน pixel มากๆ และมีเซนเซอร์หลายตัว และการพัฒนาสมาร์ตโฟนใอนาคตก็จะทำให้การใช้งานเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ   สมาร์ตโฟน: อุปกรณ์ส่วนตัวที่ดึงดูดให้เกิดการทำธุรกรรมแบบเคลื่อนที่ (mobile- commerce) ระบบปฏิบัติการของสมาร์ตโฟนและแทบเลต ไม่ว่าจะเป็น Android, Apple iOS, Blackberry OS, Windows Mobile จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน การติดตั้ง Apps จะง่ายขึ้น Apps หรือโปรแกรมทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสมาร์ตโฟน เป็นประตูที่จะรับส่ง ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของ sensor (sensor data) ตำแหน่งของสมาร์ตโฟน (location data) ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ การดาวน์โลด app มักจะทำการดาวโลดน์ผ่าน app store เช่น Apple App store (ระบบปฏิบัติการ iOS), BlackBerry App world (ระบบปฏิบัติการ BlackBerry OS), Google Play Store (Android), Samsung App (ระบบปฏิบัติการ Android และ Bada) หรือ Microsoft Market Place (ระบบปฏิบัติการ Windows) โดยที่ Apps เหล่านี้ เกิดจากการสร้างสรรค์และพัฒนาโดยนักเขียนโปรแกรมอิสระ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นแหล่งของการงานสร้างสรรค์อย่างมหาศาล เป็นแหล่งที่นักพัฒนาซอฟท์แวร์อิสระสามารถเข้าสู่ตลาดที่กว้างใหญ่ได้โดยง่าย ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคมี Apps ให้เลือกมากกว่า ครึ่งล้าน Apps สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคล ที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้มากมายด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Address book ปฏิทินกิจกรรม รูปภาพ และ ลิงค์เชื่อมต่อ Social Network เนื่องจากสมาร์ตโฟนได้ออกแบบมาสำหรับการใช้งานส่วนบุคคลมากที่สุด ทำให้สามารถใช้สมาร์ตโฟนได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการประกอบธุรกรรม ไม่ว่าผู้บริโภคต้องการตรวจสอบโปรโมชันของสินค้าหรือบริการ เปรียบเทียบราคา เสาะหาร้านค้า สั่งสินค้า ชำระค่าสินค้าและบริการ ด้วยเทคโนโลยี Geo-Localization (เทคโนโลยีการระบุตำแหน่งบนโลก) ทำให้สามารถตรวจจับ ตำแหน่งของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนได้ และ App บางตัว ทำให้ผู้บริโภคสามารถได้รับข้อมูลที่จำเป็น ว่าจะเดินทางไปที่ไหน และจะเดินทางไปอย่างไร ในเรื่องการระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนนั้น ถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานเบื้องต้น สำหรับการทำธุรกรรมแบบเคลื่อนที่ (m-commerce services) อย่างไรก็ตามข้อมูลระบุตำแหน่ง เป็นข้อมูลส่วนบุคคลจำเป็นต้องมีความระมัดระวังระมัดระวัง เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือในการบอกพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการค้าขายนำมาใช้ในทางที่ผิด ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้โดยง่าย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมผู้บริโภคจึงได้ App บางตัวมาฟรีๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ เพราะสิ่งที่ผู้ประกอบการบางรายต้องการคือข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค เพื่อนำมาใช้ในเชิงธุรกิจ   กระเป๋าสตางค์ในอนาคต (M-Payment) ในอนาคตสมาร์ตโฟนจะเป็นกระเป๋าสตางค์ของผู้บริโภคด้วย ที่ผ่านมาเราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เนตได้แล้ว และกำลังจะเคลื่อนไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ สมาร์ตโฟน (m-payments of mobile online purchase) การทำธุรกรรมทางการเงิน ใช้การรับส่งสัญญาณและข้อมูลผ่านระบบการติดต่อไร้สายระยะใกล้ (Near Field Communication (NFC) wireless technology) การจ่ายเงินหรือการชำระค่าบริการผ่านสมาร์ตโฟนสามารถทำได้ทุกที่ ขณะนี้ในประเทศเยอรมนีก็เริ่มมีการแข่งขันกันในการ ทำระบบ m- payment system ไม่ว่าจะเป็นบัตรสมาชิก คูปองแลกซื้อสินค้า ก็สามารถใช้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือในการใช้งานได้ผ่าน NFC ชิป (NFC-Chips) เงื่อนไขความสำเร็จของระบบตลาดภายใต้การทำธุรกรรม m-payment ผ่านระบบ NFC คือ การยอมรับเทคโนโลยีของผู้บริโภคและผู้ค้าปลีก รายย่อย ซึ่งจะต้องดูว่าในอนาคตนั้น m-payment จะประสบความสำเร็จเพียงใด จะสามารถไปถึงจุดคุ้มทุน (critical mass) ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟนได้หรือไม่ ปัจจุบันรูปแบบการทำธุรกรรมแบบนี้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟน ในปี 2011 ชาวเยอรมันจำนวน 2.9 ล้านคน ใช้สมาร์ตโฟนในการทำธุรกรรมทางการเงิน ในขณะที่คนมากกว่า 5 ล้านคน ใช้ประโยชน์จากการการรวบรวมข้อมูล จากสมาร์ตโฟนมากกว่าการซื้อสินค้า M-shopping ได้เพิ่ม ความโปร่งใสของระบบตลาดทั้งในด้านผู้บริโภคและผู้ให้บริการ ผู้บริโภคได้รับข้อมูลด้านราคา ความหลากหลายของสินค้า โปรโมชัน ส่วนผสมของสินค้า และแหล่งที่มาของสินค้า ดีขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการ Apps ก็ได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลของผู้บริโภคที่มีค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการซื้ออย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร มาเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจได้ ภายใต้บริบท การทำธุรกรรมเป็นแบบส่วนตัว นี้ ผู้บริโภคก็มีความกังวลในประเด็น เรื่องความเสี่ยง (Risk) การบิดเบือนข้อเท็จจริง (Manipulation) หลอกลวง ปลอมแปลง ต้มตุ๋น ทำให้เข้าใจผิด (Deception) และ การเลือกปฏิบัติ (Discrimination)   เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และแทบเลต เป็นช่องทางที่รวดเร็วมาก หน้าจอของอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นแบบสัมผัส ที่มีความไวต่อการสัมผัสสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรม เพราะฉะนั้นสมควรที่จะพัฒนากฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกการทำธุรกรรม การคืนสินค้า ข้อมูลของการทำธุรกรรมที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค   แนวทางการกำกับดูแล การทำธุรกรรมในระบบ m-commerce การยอมรับ ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญ ในการทำธุรกิจภายใต้ m-commerce ที่เกิดขึ้นตามกระแสโลกาภิวัฒน์ การกำกับดูแลจากภาครัฐมีความจำเป็นในการกำหนดกรอบกฎหมายที่จะใช้เป็นเครื่องมือ ในการดูแล ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวขั้นสูงสุดของผู้บริโภค สมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสถานที่ที่ผู้บริโภคกำลังสถิตอยู่ หรือแม้แต่พฤติกรรมการจ่ายเงิน ข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้สมควรจะได้รับการคุ้มครอง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นที่จะต้องมีแนวคิด ที่ว่า ความเป็นส่วนตัวสามารถกำหนดได้ (privacy by design) คือ อุปกรณ์สมาร์ตโฟนและซอฟท์แวร์ที่ผลิตออกมาจากโรงงาน สมควรจะติดตั้ง ระดับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอย่างสูงสุด (default settings offer the highest degree of privacy)   การออกกฎเพื่อลดช่องว่างของกฎหมาย เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และแทบเลต เป็นช่องทางที่รวดเร็วมาก เนื่องจาก หน้าจอของอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นแบบสัมผัส ที่มีความไวต่อการสัมผัสสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรม เพราะฉะนั้นสมควรที่จะพัฒนากฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกการทำธุรกรรม การคืนสินค้า ข้อมูลของการทำธุรกรรมที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค จากงานวิจัยขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนีพบว่า Apps ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมส่วนมาก มีเงื่อนไขของสัญญาที่ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด (German Telemedia legislation) เนื้อหาในสัญญามีความยาวมากเกินไป และบางครั้งเนื้อหาในสัญญาเองก็เข้าข่าย ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (German’s Federal Privacy Act) กลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างหลักประกันความมั่นใจให้กับผู้บริโภค (Reputation Mechanism) คือ การออกมาตรฐานและการรับรองจากหน่วยงานที่เป็นอิสระในทางวิชาการ สำหรับสมาร์ตโฟน Apps และบริการ m-commerce ต่างๆ ที่นำเสนอในอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจสำหรับการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น พัฒนาการสำหรับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลในอนาคตคือ การที่ผู้บริโภคสามารถจัดแบ่งลำดับความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล สามารถที่จะเลือกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคลได้มากกว่าปัจจุบัน ที่ยังอยู่ในระดับแค่การยอมรับ หรือไม่ยอมรับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เป็นสัญญาสำเร็จรูปจากผู้ประกอบการ (ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ยอมรับเงื่อนไข การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ประกอบการเสนอมาในรูปแบบของสัญญาสำเร็จรูป ก็ไม่สามารถดำเนินการทางธุรกรรมต่อไปได้ เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ) และการประกอบธุรกรรมภายใต้ระบบ m-commerce ควรที่เพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของข้อมูล สามารถลด และลบร่องรอยของข้อมูล ที่มักจะทิ้งไว้ให้สะกดรอยตามได้โดยง่าย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 146 เมื่อต้องซื้อ Set top box

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ถึงแม้ว่าจะก้าวแบบช้าๆ ตามก้นหลายๆประเทศก็ตาม แต่หวังว่าการเริ่มช้าในตอนเปลี่ยนผ่าน จะทำให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความผิดพลาดของหลายๆ ประเทศนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในประเทศไทยได้ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เราควรให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด มีการแข่งขันที่จริงจัง เป็นธรรม และองค์กรกำกับดูแลก็โปร่งใส ยอมรับการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์จากสังคมด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น เหตุที่ผมเขียนเรื่องอุปกรณ์การรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั้น เพราะยังจำวิกฤติจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012 นั้นได้ดี ถึงแม้ว่าเราจะมีดาวเทียม เคเบิล แต่เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ ก็ยังอาจจะทำให้เกิดจอดำขึ้นอีก การที่แต่ละบ้านสามารถรับสัญญาณผ่านเสาอากาศ(รุ่นใหม่) ได้ ก็จะขจัดปัญหานี้ออกไป และ กสทช. ต้องควบคุมให้ช่องทีวีสาธารณะ ขยายพื้นที่การแพร่สัญญาณออกไปให้มากที่สุด ตามแผนแม่บทด้วย ก็จะช่วยผู้บริโภคได้มาก   คราวนี้ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภค Stiftung Warentest ที่ทำหน้าที่ทดสอบสินค้า ข้าว ของ เครื่องใช้ และเผยแพร่ เพื่อเป็นข้อมูลในทางวิชาการในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า องค์กรนี้ทำหน้าที่เหมือนกับวารสารฉลาดซื้อที่เพื่อนสมาชิกกำลังอ่านอยู่นั่นแหละครับ และเราคาดหวังว่าหน้าที่ที่สำคัญขององค์การอิสระที่กำลังค้างอยู่ในสภานั้น จะคลอดออกมาในเร็ววัน เพื่อเป็นหลักประกันของผู้บริโภคไทยว่า จะสร้างความสมดุลในเรื่องความรู้ และข้อมูล ภายใต้ระบบการค้าที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรมและไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้   คำแนะนำสำหรับผลการทดสอบ set top box นั้น ต้องยอมรับว่าผลการทดสอบค่อนข้างจะเก่า คือ ทดสอบในปี 2005-2006 หากท่านต้องการทราบผลการทดสอบล่าสุด อาจต้องให้ทางฉลาดซื้อนำผลของ ICRT มาลงในฉบับต่อๆ ไป การทดสอบนี้ทางผู้ทดสอบให้คะแนนในด้านคุณภาพของสัญญาณภาพ 30 % คุณภาพของสัญญาณเสียง 10 % ความยากง่ายในการติดตั้งและใช้งาน 30 % ค่าความอ่อนไหวในการรับสัญญาณ เช่น การรบกวนกันของสัญญาณ (Sensitivity) 10 % และ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ ใช้ไฟน้อย และความสามารถในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (Recyclability) อีก 10 %   ในการทดสอบครั้งนี้ได้แบ่ง set top box ออกเป็น  2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มี Hard disc สำหรับบันทึกข้อมูลในกรณีมีการอัดรายการโทรทัศน์เก็บไว้ และแบบที่ไม่มี hard disc ราคาตั้งแต่ 1,000 – 4,000 บาท ผลการทดสอบสรุปได้ว่า คุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา   นอกจากนี้ยังมี เสาหนวดกุ้งรับสัญญาณโทรทัศน์ ที่ไว้ใช้ดูผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ผลทดสอบของอุปกรณ์ได้คะแนนเพียงพอใช้ เนื่องจากปัญหาจะเกิดตอนใช้งานคอมพิวเตอร์จะทำให้เกิดการกระตุกของภาพ และภาพจะเคลื่อนไหวช้าลง (แต่คาดว่าปัญหาเทคนิคในเรื่องนี้ เครื่องรับสัญญาณรุ่นใหม่ คงพัฒนาให้ดีขึ้นแน่นอน คาดว่า ICRT น่าจะมีผลการทดสอบเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านคอมพิวเตอร์ใหม่ล่าสุดเช่นกัน   สรุป กสทช. ควรจะรีบออกมาตรฐาน ของ Set top box ออกมารองรับตลาดในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะ จะมีการแจกคูปอง เพื่อให้ประชาชน สามารถไปซื้อ set top box ในราคาที่ถูกลง ซึ่งมาตรฐานของสินค้าจะเป็นการรับประกันให้ผู้บริโภคได้ทั้งของถูก และของดี ด้วย เอาใจช่วย กสทช.ในเรื่องนี้ครับ     ภาพประกอบ ภาพที่ 1 ตัวอย่าง set top box แบบไม่มี hard disc ที่ได้คะแนนดีจากการทดสอบ ภาพที่ 2 ตัวอย่าง set top box แบบมี hard disc รุ่นซ้ายมือสุดได้คะแนนดี อีกสองรุ่น คะแนนพอใช้   ภาพที่ 3 เสารับสัญญาณขนาดเล็กสำหรับดูผ่านคอมพิวเตอร์ (แหล่งข้อมูล วารสาร Test ฉบับ 3/2006 และ 3/2007)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 145 ความจำเป็นของเสาหนวดกุ้ง ก้างปลา สำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอล

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้   สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภคภาคเอกชนของเยอรมนี (Stiftung Warentest) มานำเสนอแด่เพื่อนสมาชิก องค์กรนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายปี แต่รายได้หลักขององค์กรนี้จะมาจากสมาชิกที่สมัครรับวารสาร ทำหน้าที่เหมือนกับหนังสือฉลาดซื้อของเรานี่แหละครับ   การทดสอบแต่ละครั้งจะทดสอบสินค้าเชิงคุณภาพ และเปรียบเทียบเทียบความคุ้มค่าที่เรียกว่า cost effectiveness ในการเลือกซื้อเลือกจ่ายแต่ละครั้งคนเยอรมัน จะมีข้อมูลรอบด้าน ครบถ้วน สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นผู้กำหนดตลาดที่มีการแข่งขันตัวจริงเสียงจริง เป็นองค์กรที่ช่วยราษฎร์ เสริมรัฐ และผมหวังว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานจะให้การสนับสนุนองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่กำลังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ให้กฎหมายนี้ผ่านมาได้ และทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของบริโภคเฉกเช่นกัน   บทความในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ในการแนะนำผู้บริโภคในการเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์สัญญาณภาคพื้นดิน (Digital Video Broadcasting: Terrestrial DVB-T)   การรับสัญญาณโทรทัศน์ในยุคดิจิตอลนั้นหากเป็นการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ก็ต้องมีอุปกรณ์รับสัญญาณเช่นเดียวกับการรับสัญญาณแบบอนาลอกคือ เสาก้างปลา (Outer Antenna) (ดูรูปที่ 1)   สำหรับรับสัญญาณภายนอกอาคาร และเสาหนวดกุ้งที่เรียกว่า (Inner Antenna) (ดูรูปที่ 2)   ปัจจุบันเทคโนโลยีของอุปกรณ์รับสัญญาณทั้งสองแบบได้พัฒนาการไปจนรูปร่างลักษณะจะไม่เหมือนกับหนวดกุ้ง ก้างปลาในอดีตแล้วครับ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ถ้าใครต้องการเปลี่ยนเพราะ เราใช้อุปกรณ์ดังกล่าวมานานแล้วคุณภาพในการรับสัญญาณเริ่มจะลดลงก็ลองหันมาดู อุปกรณ์ใหม่ๆ ดังกล่าวได้เช่นกัน   ความจำเป็นในการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณแบบ เสาหนวดกุ้งก้างปลายังคงมีอยู่ ในเยอรมนีเองการรับสัญญาณผ่านเสาสัญญาณแบบนี้ ถือได้ว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดสูงกว่ารับสัญญาณผ่านจานดาวเทียม หรือผ่านเคเบิล ถ้าพิจารณาจากการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบภาคพื้นดินของช่องฟรีทีวีในเยอรมนีแล้ว จะเห็นว่าครอบคลุมพื้นที่ มากกว่า 95 % (รูปที่ 3) การติดตั้งจานดาวเทียมในเยอรมนีนั้นไม่ได้ติดตั้งกันง่ายๆ เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่ต้องขออนุญาตทั้งจากรัฐและเจ้าของอาคารก่อน เพราะจานดาวเทียมนั้น ถ้าติดตั้งโดยไม่ควบคุมจะเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง เรียกว่ามลพิษทางทัศนียภาพ ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นในเมืองหลวงของเรา (เราจะเห็นจานดาวเทียมที่มีสีต่างๆ ผุดขึ้นเหมือนกับเชื้อรา ตามตึก อาคารต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่งามตาเลย)   สำหรับประเทศไทยนั้นก็ยังมีความจำเป็นเช่นกันสำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หากเราดูปรากฎการณ์จอดำ เมื่อปีผ่านมา และคาดว่าก็อาจประสบปัญหาจอดำอีก แต่ถ้าเราสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านหนวดกุ้ง ก้างปลาได้ ก็จะไม่เจอกับปัญหาจอดำ ตอนนี้ในขั้นตอนการประมูลช่องโทรทัศน์ดิจิตัล กสทช. สามารถออกกฎเกณฑ์ให้ช่องสถานีฟรีทีวี หรือช่องสถานีสาธารณะทั้งหลาย ต้องสามารถส่งสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศเหมือนที่เยอรมนี ก็จะสามารถลดปัญหาได้ระดับหนึ่งเช่นกัน คาดว่าปัญหาจอดำและปัญหาพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณ (White Spot) ก็จะไม่เกิดเช่นกันครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 เมื่อไม่ได้โทร ก็ไม่ต้องจ่าย

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ คำพิพากษาตัดสินคดีของศาลแพ่งเยอรมัน แห่งเมือง Kiel (Landgericht Kiel 20 136/11) วันที่ 29.11.2011 ตัดสินให้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องชนะคดีบริษัท Mobilcom debitel เนื่องจากบริษัท Mobilcom ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 5 ยูโรจากลูกค้า ทั้งๆ ที่ลูกค้ารายนั้นไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือนาน 3 เดือน ถึงแม้ว่าในสัญญาทางบริษัทจะเขียนไว้ว่า มีค่าธรรมเนียมถึงจะไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือก็ตาม ศาลอธิบายว่าข้อความดังกล่าว เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ศาลเห็นตามคำฟ้องของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (VZBV) หันมาดูกรณีคล้ายๆ กับของไทย คือ กรณีบริษัทผู้ให้บริการมือถือ แบบให้บริการล่วงหน้า (Prepaid) ยึดเงินในระบบของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคโดนบังคับให้เติมเงินทั้งๆ ที่ยังมีเงินเหลืออยู่ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน และเป็นการละเมิดสิทธิแบบไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้ล่าสุดเลขาธิการ กสทช. ได้มีคำสั่งบังคับทางปกครองบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย โดยให้บริษัทชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ต่อสำนักงาน กสทช. ให้ครบถ้วนทั้งนี้ซึ่งคิดแล้วเป็นการจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 3 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีคำสั่งปรับทางปกครองไปตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมปีที่ผ่านมา ในเรื่องดังกล่าวผู้ประกอบการมักอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายจากการรักษาเลขหมาย จริงๆ แล้ว กสทช. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมาย เลขหมายละ 2 บาท ต่อเดือน หากจะให้ความเป็นธรรมกับบริษัท ใครใช้คนนั้นจ่าย ก็สามารถทำได้ เช่นให้สามารถเติมเงินเพื่อเป็นค่ารักษาเลขหมายได้ โดยให้ค่ารักษาเลขหมายและค่าใช้บริการแยกออกจากกัน  ซึ่งในทางเทคนิคผู้ประกอบการตู้เติมเงินออนไลน์ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร แต่ กสทช. อาจต้องไปดูแลในเรื่องค่าบริการที่ไม่ควรจะคิดสูงเกินจริง แล้วเป็นช่องทางให้เอาเปรียบผู้บริโภคอีก   จริงๆ ข้อเสนอดังกล่าวทางอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการกำกับดูแลตู้เติมเงินไปแล้ว แต่ทาง กสทช.ก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตนอีกเช่นกัน จริงๆ แล้วหาก กสทช. ไม่กำกับดูแล ผู้ประกอบการก็สามารถจัดการเรื่องค่าธรรมเนียมรักษาเลขหมายได้ เพราะถ้าหากทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบลูกค้า ชาวบ้านและเทวดาจะพากันสรรเสริญ แต่ถ้าอ้างกฎระเบียบของ กสทช. เพื่อมาเอาเปรียบชาวบ้าน ต่อให้ถูกกฎหมาย ก็คงจะได้รับคำสาปแช่งเฉกเช่นกัน และตอนนี้ทางบริษัทก็ยังไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาเลขหมายรายเดือนได้ ตราบใดที่ กสทช. ยังไม่ออกประกาศเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่   เพราะฉะนั้นใครที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 70,610,490 เลขหมาย ขอให้ผู้บริโภคช่วยกันร้องเรียนเรื่องนี้ให้มากๆ โดยสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช. 1200 เพื่อให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการสั่งปรับทางปกครองแบบลงโทษให้สอดคล้องกับความเสียหายของผู้บริโภค หรือถ้าไม่ได้ความยังไงก็ติดต่อมาที่ฉลาดซื้อ หรือศูนย์พิทักษ์สิทธิ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เบอร์ติดต่อ 02 2483734-7   เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดทุกราย ปฏิบัติตามประกาศ เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการ พ.ศ. 2549 ข้อ 5 คือ ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ผู้ให้บริการต้องยุติการระงับบริการแก่ผู้ร้องเรียนทุกราย จนกว่าเรื่องร้องเรียนนั้นจะได้ข้อยุติด้วย ใครมีลูกบอกลูก มีหลานบอกหลาน เป็นอาจารย์ บอกลูกศิษย์ นะครับ เงินของเรา สิทธิของเรา เราต้องทวง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 ค่าโทรศัพท์จะถูกลง เมื่อประเทศเรามี 3 G ?

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่มีมติไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีการประมูล 3 G ที่ผ่านมานั้น กระบวนการแจกใบอนุญาติประกอบกิจการโทรคมนาคมในยุค 3 G ซึ่งกำลังจะหมดยุค เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4 G ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และผู้บริโภคก็ยังคาดหวังการเปลี่ยนผ่านจากยุคสัมปทานไปสู่ยุคที่มีผู้ประกอบการน้อยราย (Oligopoly) จะสามารถได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ และราคาต้องถูกลง ไม่ว่าจะเป็นบริการประเภทเสียงหรือบริการประเภทข้อมูล ที่ผ่านมาถึงแม้นว่า กสทช.จะมีประกาศกำหนดราคาขั้นสูงสำหรับการให้บริการประเภทเสียง ที่กำหนดไว้ไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ แต่ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งสามราย ก็ยังมีการละเมิดประกาศของ กสทช. กันอยู่ เช่น โปรโมชัน จ่ายเดือนละ 649 บาท รับฟรีอินเตอร์เนตใช้ได้ไม่จำกัด โทรฟรี 550 นาที แต่ทำไม เวลาโทรเกินสามารถคิดค่าบริการ นาทีละ 1.50 บาท ทั้งๆ ที่ ประกาศ กสทช. ก็บอกชัดเจนว่าห้ามคิดเกิน นาทีละ 99 สตางค์ จริงๆ แล้วอัตราการใช้บริการประเภทเสียงนั้น สมควรที่จะมีการทบทวนให้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะการคิดอัตราค่าเชื่อมต่อ ที่จะต้องถูกลงกว่าเดิม วันนี้ขออนุญาตนำข่าวความเคลื่อนไหวของการกำกับดูแลค่าเชื่อมต่อที่เรียกว่า Interconnection Charge จากทางฝั่งเยอรมนีมาฝาก เพื่อให้ตอบรับกับกระแสการที่ท่านประธาน กทค. จะทำให้การให้บริการโทรคมนาคมถูกลง   การกำกับดูแล Interconnection Charge ของเยอรมนี กสทช. เยอรมนี กำหนดราคาค่าเชื่อมต่อ(Interconnection Charge) ใหม่ กรณีใช้โครงข่ายของบริษัท Telekom Deutschland โดยจะมีราคาถูกกว่าอัตราเดิมโดยเฉลี่ย 20 % ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจะแบ่งเป็น 4 ระดับ (Price Tariffe) โดยเฉพาะอัตราพื้นฐาน (Tariffe Zone I: Main Tariffe) วันทำงานจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น.คิดอัตรา 0.36 Ct/ Minute (14.4 สตางค์/นาที)  วันหยุด เสาร์ อาทิตย์และวันหยุดราชการ คิดอัตรา 0.25 Ct/ Minute (10 สตางค์/นาที) ราคาที่กำหนดต้องเป็นราคาเดียวกับการคิดค่าเชื่อมต่อของ บริษัทผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย เนื่องจากการปรับลดราคาค่าเชื่อมต่อ เป็นผลมาจากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา WIK GmbH เพื่อเป็นฐานสำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมในยุคใหม่ (Next Generation Networks: NGN) เนื่องจากโครงข่ายโทรคมนาคมยุคใหม่ (NGN) นี้ จะต่างจาก โครงข่ายเดิม (Public Switched Telephone Networks: PSTN) โดยมีข้อดีคือ นอกเหนือจากการให้บริการประเภทข้อมูล เช่น E mail, Internet Etc. แล้วบริการประเภทเสียงจะใช้ bandwidth ที่น้อยกว่า มีผลทำให้ต้นทุนถูกลง และประสิทธิภาพการใช้โครงข่าย (Cost Effectiveness) ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามค่าเชื่อมต่อโครงข่ายใหม่นี้ เป็นการกำหนดอัตราแบบชั่วคราวเนื่องจาก  ในเดือน ม.ค. 2556 ทาง กสทช. จะต้องนำประกาศกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อนี้ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในระดับชาติ (National Consultation Process: Nationales Konsultationsverfahren) และจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการยุโรปตลอดจน ประเทศสมาชิกอื่นๆ ของยุโรปด้วย จึงจะทำให้การประกาศอัตราค่าเชื่อมต่อมีความสมบูรณ์ใช้บังคับเป็นทางการต่อไป อัตราค่าบริการประเภทเสียงที่ถูกลง จะมีส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในการทำธุรกิจของประเทศโดยรวม เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตที่จำเป็นจะต้องมีต้นทุนที่ถูกลง เช่นเดียวกับ ค่าน้ำ ค่าไฟ พลังงาน และดอกเบี้ย เนื่องจากประเทศไทยเราสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับชาวบ้านได้ ผมก็เห็นด้วย และการลดอัตราค่าบริการประเภทเสียงคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงนอกจากภาคธุรกิจ ซึ่งก็ควรต้องช่วยส่งเสียงไปยัง กทค.อีกแรงหนึ่งด้วย นอกจากผู้บริโภคอย่างเราตัวจริง เสียงจริง ที่ส่งเสียงทุกครั้งจนเป็นขาประจำไปแล้วครับ (ที่มาของข้อมูล: http://www.bundesnetzagentur.de/cln_1912/SharedDocs/Pressemitteilungen/DE/2012/121130_IC_EntscheidungBK3.html?nn=65116)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 141 การจัดการธุรกิจที่เข้าข่ายการพนันของ เยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการสำหรับเนื้อหาช่วง ฉลาด ช้อปในครั้งนี้ ยังคงอยู่แวดวงโทรคมนาคมครับ เพราะหลังจากการประมูลคลื่น 2.1 GHz  สังคมและเสียงส่วนใหญ่ก็ได้ตั้งข้อสงสัยต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ จนสุดกำลังความสามารถหรือเปล่าในการที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนตามที่ได้ทุ่มทุนออก spot โฆษณา ว่าเป็นภารกิจเพื่อชาติ แต่เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นลง คนที่ยิ้มได้ก่อนกลับเป็นผู้ประกอบการสามราย ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของ กทค. เองที่จะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นครับ ว่าการออกแบบการประมูลนั้นสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ และไม่เอื้อประโยชน์เอกชน สำหรับผู้บริโภคนั้นคงต้องจับตาดูการทำงาน ของ กทค. ในประเด็นราคาที่จะถูกลง และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ท่านประธาน กทค.ให้สัมภาษณ์ว่าจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ องค์กรผู้บริโภคของไทยคงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปครับ   สำหรับมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อประเทศไทยจะก้าวไปสู่ยุค 3 G นั้น การใช้ช่องทางการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่นี้ ภาครัฐและองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช.ก็ต้องฉลาด และเท่าทันกับ 3ก (เกมส์-กล-โกง) ของธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้วย โดยเฉพาะในยุค 3G นั้น มีการกล่าวกันไว้ว่า 3G ที่กล่าวถึงนั้นคือ Girl, Game and Gambling ปัจจุบันนี้เราจะเห็นการโฆษณาชักจูงให้เราต้องเสียสตางค์กับเรื่องเหล่านี้มาก จนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่สำหรับการกำกับดูแลในประเทศเยอรมนีเขาไม่ได้มองว่าเรื่องนี้ธรรมดาครับ องค์กรกำกับดูแลเขาเอาจริง ทำจริงเพราะมองว่า ไม่สมควรที่จะให้ธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภค ล่อลวงเด็กและเยาวชนนั้นใช้เทคโนโลยีนี้เหล่านี้ทำลายคนในชาติของเขาครับ มาดูว่า กสทช.ของเยอรมันให้ความสำคัญอย่างไรกับเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค “ศาลปกครองสูงสุดแห่งมลรัฐนอร์ดไรน์เวสฟาเลน (OVG Nordrheinwestfalen) ได้ตัดสินยืนตามมติของ กสทช. แห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ที่ได้สั่งระงับการคิดค่าบริการ เนื่องจากเป็นบริการที่เข้าข่ายการเล่นพนัน “คำตัดสินของศาลได้ยืนยันถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช*. (die Bundesnetzagentur) ในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นเรื่องการให้บริการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค (unlautere Geschäftspraktiken) และเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และเราจะติดตามสอดส่องพฤติกรรม และป้องปราม การทำธุรกิจประเภทนี้” มัทเทียส คัวร์ท ประธานกสทช.ได้กล่าวย้ำถึงคำตัดสินของศาลปกครอง ในเดือนธันวาคม 2010 และเดือนมกราคม 2011 กสทช.*(die Bundesnetzagentur)  ได้สั่งห้ามผู้ประกอบการรับเงินจากผลการประกอบการ ภายใต้หมายเลข Artikel-/Leistungsnummer 61404 และ 83917 (product identity 11004 และ 12000 เนื่องจากภายใต้หมายเลขนี้ บริษัท telomax GmbH ได้ให้หลายๆ บริษัทที่เช่าเลขหมายทำการตลาด ที่อยู่ในรูปของการพนัน นอกจากนี้ ภายใต้หมายเลขนี้ หลายๆบริษัทยังได้ทำการตลาดโดยใช้การโฆษณาชักจูงทางโทรศัพท์ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้วย (unerlaubter Werbeanrufen) โดยบริษัทได้โฆษณาชวนเชื่อว่า เป็นผู้ได้รับรางวัลเครื่องสำอางมูลค่า 100 ยูโร ซึ่งหลังจากที่โฆษณาชักจูงผ่านโทรศัพท์แล้ว ผู้บริโภคก็จะตกเป็นเหยื่อคือ หลงสมัครเล่นพนัน ของเวบไซต์ win-finder.com หรือ glücksfinder.net หลังจากที่ กสทช. (die Bundesnetzagentur) ได้ออกคำสั่งการห้ามเรียกเก็บเงินจากการประกอบธุรกิจดังกล่าว ทางบริษัทได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดแห่งมลรัฐ และศาลก็ได้มีคำตัดสินยืนตามคำสั่งของทาง กสทช. บทสรุปจากการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศเยอรมนีคือ ไม่ส่งเสริมการทำธุรกิจประเภทหลอกลวง เอาเปรียบ และผิดกฎหมาย จริงๆ องค์กรกำกับดูแลในประเทศที่เจริญแล้ว เขามีอำนาจ และประชาชนไม่เคยสงสัยหรือ ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจที่ประชาชนให้มานั้นเลย ถ้าองค์กรกำกับดูแลใช้อำนาจในการกำกับดูแล และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชนและสังคม มากกว่าประโยชน์ในการค้าขาย ที่มา Press release of die Bundesnetzagentur 27.05.2011 หมายเหตุ Die Bundesnetzagentur ( Federal Network Agency) ทำหน้าที่ เป็นผู้กำกับดูแลโครงข่าย ขนาดใหญ่ของประเทศ ได้แก่ ไฟฟ้า ท่อขนส่งก๊าซ โทรคมนาคม รางรถไฟ และไปรษณีย์

อ่านเพิ่มเติม >