ฉบับที่ 274 ภัยครีมผิวขาวผิดกฎหมาย

ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการทดสอบเครื่องสำอางที่ขายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์พบสารห้ามใช้ 8 รายการ อาทิ ปรอท สารสเตียรอยด์ ที่อาจทำให้เกิดการแพ้ เกิดฝ้าถาวร เสี่ยงพิษร้ายแรง  ทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2566 ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) EcoWaste Coalition จากประเทศฟิลิปปินส์ และเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IPEN-SEA) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคมจากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่ติดตามปัญหามลพิษในระดับนานาชาติ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเรียกร้องให้ อย. เปิดเผยรายชื่อรายการเครื่องสำอางที่ปนเปื้อนสารปรอทที่มีการเพิกถอนแล้วให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงขอให้นำระบบการแจ้งเตือนภายหลังออกสู่ท้องตลาดของอาเซียน (ASEAN Post-Marketing Alert System: PMAS) มาใช้แจ้งเตือนหน่วยงานรัฐและผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนให้ทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะที่ปนเปื้อนสารปรอทและสารต้องห้าม หรือสารควบคุมอื่นๆ  “ได้โปรดดำเนินการจัดการผู้กระทำความผิด เพื่อยุติการขายเครื่องสำอางที่มีการปนเปื้อนของสารปรอทอย่างผิดจริยธรรมและกฎหมาย และเพื่อปกป้องสิทธิทางสุขภาพที่ดีและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ไร้มลพิษ”         เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์ EcoWaste Coalition  ตรวจพบการปนเปื้อนของสารประกอบของปรอทนั้น ได้แก่       ครีมเลดี้โกลด์ สาหร่ายทองคำ ผสมกลูต้า, ครีม Super Gluta Brightening, ครีมหมอยันฮี จำนวน 5 สูตร (Dr. Yanhee), ครีม Dr. วุฒิ-ศักดิ์ จำนวน 2 สูตร (Dr. Wuttisak), ครีมสมุนไพรสาหร่ายเหมยหยง ซุปเปอร์ไวท์เทนนิ่ง (Meyyong Seaweeds Super Whitening), ครีมพอลล่าโกลด์ (Polla Gold Super White Perfects), ครีมไข่มุกนาโน (White Nano), ครีมบำรุงหน้า 88 สูตรกลางคืน (88 Whitening Night Cream), ครีมรักแร้ขาว 88 (88 Total White Underarm Cream) และครีมรักแร้ขาว สโนว์ไวท์ (Snow White Armpit Whitening Underarm Cream) ซึ่งพบสารปรอทในปริมาณที่สูงมากระหว่าง 2,486 ppm ไปจนถึง 44,540 ppm และทุกตัวอย่างฉลากระบุว่า “ผลิตในประเทศไทย”          ต่อมาทาง อย.ได้สื่อสารต่อสาธารณะในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โดย ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ว่า  “อย. ตรวจสอบพบว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง 13 รายการ จดแจ้งแล้ว 1 รายการ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการกระทำผิดหรือลักลอบใส่สารห้ามใช้ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายและประกาศผลวิเคราะห์ทันที สำหรับเครื่องสำอางเถื่อน อย. จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาแหล่งผลิตและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” ในไทยก็ขายเกลื่อน         จากข้อสรุปข้างต้นคือ เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบการปนเปื้อนสารประกอบของสารปรอทนั้น เกือบทั้งหมดเป็นเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ไม่มีการกำกับเบื้องต้นจากหน่วยงาน อย. หรือไม่มีเลขจดแจ้ง (เครื่องหมาย อย.สำหรับเครื่องสำอาง) สำหรับ 1 ตัวอย่างที่พบเลขจดแจ้ง ต้องรอดูว่า ทาง อย.จะดำเนินการอย่างไร จะยกเลิกสถานะและดำเนินคดีทางกฎหมายหรือไม่         อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง ตั้งข้อสังเกตว่า แล้วทำไมสินค้าเครื่องสำอางปลอมจึงระบาดไกลไปถึงฟิลิปปินส์ และในประเทศไทยจะยังมีวางขายหรือไม่ หาซื้อง่ายหรือไม่  จึงได้ทดลองหาซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทอ้างว่าทำให้ผิวขาวหรือครีมผิวขาวผิดกฎหมาย โดยตั้งใจตามหายี่ห้อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ทางเอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบว่ามีการปนเปื้อนสารประกอบของปรอท ในเดือนมีนาคม 2566 หลังจากนั้นเพื่อยืนยันในเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปรากฎแลขจดแจ้ง หรือจะเรียกอีกอย่างว่า เป็นสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ มีการใส่สารต้องห้าม อย่างปรอทจริงหรือไม่ (เมื่อจำหน่ายในประเทศ) ฉลาดซื้อและมูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 12 ตัวอย่างที่เก็บตัวอย่างมา โดยทดสอบด้วย  ชุดตรวจปรอทในเครื่องสำอางเบื้องต้น (Mercury test kit in cosmetic)    พบว่า มีสารประกอบของปรอททุกตัวอย่าง ในไทยก็ขายเกลื่อน         จึงฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภค อย่าซื้อ อย่าใช้เครื่องสำอางผิดกฎหมาย ถ้าไม่แน่ใจเลขจดแจ้งที่ผู้ผลิตระบุ ตรวจสอบได้ที่  https: //oryor.com/check-product serial ลิ้งก์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) (oryor.com)  อันตรายของเครื่องสำอางที่มีการพบสารปรอท อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ       ข้อแนะนำ         1.ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน น่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน         2.ฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทเครื่องสำอาง ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือปีเดือนที่ผลิต คำเตือน (ถ้ามี) และเลขที่ใบรับจดแจ้ง         3.กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ                   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ดูแลผมชนิดไม่ต้องล้างออก (ลีฟออน)

            ผลิตภัณฑ์ดูแลผมชนิดไม่ต้องล้างออก โดยเฉพาะที่มีคุณสมบัติปกป้องและบำรุงเส้นผมภายนอกจะมีทั้งที่เป็นน้ำมัน เซรั่ม เจลวิตามิน และลีฟออนครีม จัดเป็นไอเท็มโดนใจสำหรับใครที่ต้องการปรับสภาพเส้นผมที่แห้งเสีย เนรมิตให้ผมไม่ชี้ฟู ดูมีน้ำหนัก และเงางามสลวยได้ทันใจในชั่วโมงเร่งด่วน หรือต้องการปกป้องเส้นผมจากความร้อนของแสงแดดหรืออุปกรณ์ทำผมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายสูตรเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเส้นผมที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความที่ใช้แล้วไม่ต้องล้างออก แสดงว่าส่วนประกอบต่างๆ จะเคลือบเกาะติดอยู่บนเส้นผมนานกว่าแชมพูและครีมนวดที่ต้องล้างออกทันที ดังนั้นนอกจากคาดหวังผลลัพธ์ให้ผมสวยแล้ว ผู้บริโภคควรใส่ใจความปลอดภัยจากสารที่อาจตกค้างหลังใช้ด้วย           นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผมชนิดไม่ต้องล้างออก จำนวน 12 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อสำรวจฉลากว่า มีสารเคมีหรือสารกันเสียที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         ซิลิโคน (Silicone) เป็นสารโพลิเมอร์ที่ใช้เพื่อให้ผมลื่น หวีง่าย เคลือบเส้นผมให้เงางาม แต่ล้างออกยาก จึงเกิดการสะสมอยู่ที่เส้นผมและหนังศีรษะ ใช้บ่อย ๆ เส้นผมจะลีบแบนและเป็นมันเยิ้ม ซึ่งสารซิลิโคนที่ตกค้างอาจจะไปอุดตันรูเส้นผม ทำให้เซลล์ผมทำงานผิดปกติ การขับของเสียและดูดซึมสารอาหารลดลง และหากใช้ไปนานๆ จะทำให้ผมร่วงได้         พาราเบน (Parabens) : สารกันเสียที่มีรายงานว่าอาจเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้เป็นมะเร็ง         พีน็อกซี่เอทานอล (Phenoxyethanol) : สารกันเสียที่มีคุณสมบัติทำให้กลิ่นหอมคงตัว ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ได้ไม่เกิน 1.0 % หากสัมผัสกับผิวในปริมาณที่มากอาจทำให้ผิวแพ้ ระคายเคือง และเกิดผดผื่นได้ ผลการสำรวจ ·     พบสารซิลิโคน ใน 11 ตัวอย่าง คิดเป็น 91.67% ของตัวอย่างทั้งหมด·     พบพาราเบน ใน 3 ตัวอย่าง คิดเป็น 25% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน, โลแลน อินเทนซ์ แคร์ แฮร์ เซรั่ม ฟอร์ เอ็กซ์ตร้า ดราย แฮร์ และฟรี แอนด์ ฟรี แดเมจ เอด·     พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 3 ตัวอย่าง คิดเป็น 25% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ซันซิล สมูท & เมเนจเจเบิ้ล ลีฟออนครีม แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น, แพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน และแคริ่ง เมอร์เมด ซุปเปอร์ ซิลกี้·     เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ  1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อบู๊ทส์ เนเจอร์ส ซีรีส์ อาร์แกน ออยส์ แฮร์ ซีรั่ม แพงที่สุดคือ 4.20 บาท ส่วนยี่ห้อซันซิล สมูท & เมเนจเจเบิ้ล ลีฟออนครีม แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น และแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน ถูกที่สุดคือ 0.98 บาท ข้อสังเกต·     ยี่ห้อบู๊ทส์ เนเจอร์ส ซีรีส์ อาร์แกน ออยส์ แฮร์ ซีรั่ม ไม่พบทั้งซิลิโคน พาราเบน และพีน็อกซี่เอทานอล·     ยี่ห้อแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน พบทั้งซิลิโคน พาราเบน และพีน็อกซี่เอทานอล·     สารกลุ่มซิลิโคนที่พบในตัวอย่างครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น Dimethicone (9 ตัวอย่าง) รองลงมาคือ Cyclopentasiloxane (8 ตัวอย่าง) และ Dimethiconol (6 ตัวอย่าง)·     สารกลุ่มพาราเบนที่พบในตัวอย่างครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น Methylparaben (3 ตัวอย่าง) รองลงมาคือ Propylparaben (2 ตัวอย่าง)·     ตัวอย่างทั้งหมดที่ระบุวันผลิตไว้ ผลิตในปี 2003  ยี่ห้อเอ็กซ์คิวท์ มี ออร์แกนิค อาร์แกน ออยล์ แฮร์ เซรั่ม ระบุอายุไว้นานสุดคือ 5 ปี ส่วนยี่ห้อซันซิล สมูท & เมเนจเจเบิ้ล ลีฟออนครีม แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น ระบุอายุไว้น้อยสุดคือ 2 ปี โดยส่วนใหญ่ระบุไว้ที่ 3 ปี ·     ยี่ห้อลอรีอัล ปารีส เอลแซฟ เอ็กซ์ตรอว์ดินารี่ ออยล์ เฟรนช์ โรส ออยล์ อินฟิวชั่น ฟรากรานซ์ แฮร์ ออยล์ และแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน ระบุเฉพาะวันผลิต ส่วนยี่ห้อเดอะเฟสซ็อป เอสเซ็นเชี่ยล ดาเมจ แคร์ แฮร์ เซรั่ม ระบุเฉพาะวันหมดอายุในปี 2024 ·     ทุกตัวอย่างระบุวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ไว้ และมี 6 ตัวอย่างที่ไม่ระบุคำเตือนหรือข้อควรระวังกำกับไว้ ฉลาดซื้อแนะ·     ควรเช็กเลขที่จดแจ้งบนฉลากว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบแอบสวมทะเบียนปลอม ·     ควรอ่านและทำความเข้าใจวิธีใช้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่อาจมีรายละเอียดขั้นตอนแตกต่างกัน และปฏิบัติตามคำเตือนที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ถ้าเข้าตาควรล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที เก็บให้พ้นมือเด็กและแสงแดด หากเกิดการผิดปกติให้หยุดใช้ และปรึกษาแพทย์ เป็นต้น  ·     ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำมันเหมาะสำหรับเส้นผมที่โดนความร้อนเป็นประจำ ส่วนเส้นผมที่แห้งเสียมากควรใช้ประเภทครีมหรือเจลเพื่อปรับสภาพผมให้ชุ่มชื้นขึ้น·     ควรสระผมและเช็ดผมให้หมาดๆ ก่อนใช้ ผลิตภัณฑ์จะเคลือบเส้นผมได้ดี และช่วยให้ประหยัดด้วย เพราะไม่ต้องใช้ปริมาณเยอะ แค่ลูบไล้บริเวณปลายผมก็เพียงพอแล้ว·     แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผมชนิดที่ไม่ต้องล้างออก แต่ถ้ามีซิลิโคนและสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ หลังใช้ 1-2 วันควรสระผมทำความสะอาด ไม่ควรปล่อยให้สารเคมีเกาะเคลือบอยู่บนผมนานเกินไป เพื่อไม่ให้สารเหล่านั้นตกค้างและสะสมมากจนเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมาได้ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 257 มีอะไรน่าสนใจใน “ครีมนวดผม”ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 261 เรื่องยุ่งๆ ของซิลิโคนในครีมนวดผมhttps://th.my-best.com/48384https://thaieurope.net/2018/03/16/eu-restriction-d4-and-d5/ EU

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 สำรวจฉลากคลีนซิ่ง รีมูฟเวอร์

        คลีนซิ่ง (Cleansing) หรือ รีมูฟเวอร์ (Remover) เป็นผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดผิวหน้าหน้าได้ล้ำลึก ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นช่วยขจัดคราบเครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว ความมันส่วนเกิน รวมถึงละอองฝุ่นควันจากมลภาวะต่างๆ ให้หลุดออกไปอย่างหมดจด ช่วยลดการอุดตันจากไขมันหรือสิ่งสกปรกที่เป็นสาเหตุให้เกิดสิวและปัญหาผิวต่างๆ ทำให้ผู้ใช้เผยผิวหน้าสุขภาพดีอย่างมั่นใจ         ปัจจุบันมีผู้ผลิตพัฒนาคลีนซิ่งออกมาหลายสูตรมาก ผู้บริโภคควรเลือกให้ตอบโจทย์กับสภาพผิว ความจำเป็น และความคาดหวังผลหลังใช้ รวมทั้งเลี่ยงสารที่อาจทำให้มีอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวด้วย         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกคลีนซิ่ง/รีมูฟเวอร์ จำนวน 23 ตัวอย่าง 22 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 มาสำรวจฉลากว่ามีสารอันตรายต้องห้ามในเครื่องสำอางหรือไม่ มีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเปล่า และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจ         • มี 16 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้งพาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม คิดเป็น 69.56% ของตัวอย่างทั้งหมด         • พบพาราเบน (Methylparaben : เมทิลพาราเบน) ในยี่ห้อบิโอเร         • พบแอลกอฮอล์ ใน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า และโอเรียนทอล พริ้นเซส         • พบน้ำหอม ใน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, โอเรียนทอล พริ้นเซส, อีฟโรเซ, สมูท อี และคลีนแอนด์ เคลียร์         • เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณคลีนซิ่ง 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุดคือ ยี่ห้อไบโอเดอร์มา = 3.56 บาท ส่วนที่ถูกสุดคือ ยี่ห้อเคที่ดอลล์ = 0.39 บาท ข้อสังเกต         • เมื่อเช็กเลขที่จดแจ้ง (11-1-6400007766) บนฉลากยี่ห้อคิวท์เพรสเพียว ออริจิน ไมเซลลาร์ เคล็นซิ่ง วอเทอร์ พบว่าสถานะใบรับจดแจ้งเป็น “ยกเลิก” โดยมีข้อมูลว่าใบอนุญาตหมดอายุเมื่อ 20/6/66 (เช็กได้ที่ https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx)         • มี 12 ตัวอย่าง ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคืองผิว โดยในจำนวนนี้มี 5 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบโดยผู้เชี่ยวด้านจักษุร่วมด้วย ได้แก่ ยี่ห้อบิโอเร, การ์นิเย่, นูโทรจีนา, นีเวีย และสมูท อี         • มี 4 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคือง แต่พบสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในส่วนประกอบ ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า(มีแอลกอฮอล์), บิโอเร(มีเมทิลพาราเบน), สมูท อี และคลีน แอนด์ เคลียร์ (มีน้ำหอม)         • มี 3 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันหมดอายุ ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, บิโอเร และลอรีอัล ปารีส ไมเซลล่า วอเตอร์             • มีระบุวันผลิต-หมดอายุไว้นานสุดคือ 4 ปี(ยี่ห้อบิเฟสต้า) รองลงมาคือ 3 ปี (16 ตัวอย่าง) และน้อยสุดคือ 2 ปี (3 ตัวอย่าง)         • ยี่ห้อแพลนท์เนอรี่และเซนกะมีกรดซาลิไซลิกในส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสารที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทารก ฉลาดซื้อแนะ         • คลีนซิ่งจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง ผู้บริโภคควรเช็กเลขที่จดแจ้งบนฉลากว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบแอบสวมทะเบียนปลอม         • หากเพิ่งเริ่มใช้คลีนซิ่ง หรืออยากเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ ควรซื้อขวดเล็กมาทดลองใช้ก่อน ถ้าใช้ได้ผลดีถูกใจแล้วค่อยซื้อแบบขวดใหญ่มาใช้จะคุ้มค่ากว่า         • ตัวอย่างที่นำมาสำรวจฉลากครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น คลีนซิ่งสูตรน้ำ (คลีนซิ่งวอเตอร์ หรือ ไมเซล่าวอเตอร์) ที่ต้องใช้คู่กับสำลีเช็ดหน้า เหมาะกับคนที่มีผิวมัน ผิวผสม โดยเฉพาะผิวเป็นสิวง่าย แต่มักขจัดคราบที่เป็นน้ำมันได้ไม่มาก คลีนซิ่งบางยี่ห้ออาจต้องใช้ปริมาณเยอะและเช็ดหน้าซ้ำๆ นานๆ ทำให้มีโอกาสที่ผิวจะระคายเคืองได้ง่าย และควรเลือกใช้สำลีเช็ดหน้าที่มีผิวสัมผัสอ่อนโยน เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหน้าอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดริ้วรอยได้         • ควรทำตามวิธีใช้และคำเตือนที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ไม่ใช้บริเวณผิวที่เป็นแผล ถอดคอนแทคเลนส์ก่อนเช็ด หากเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ เป็นต้น         • แม้หลายยี่ห้อจะระบุว่าเช็ดคลีนซิ่งแล้วไม่ต้องล้างออก แต่ก็อยากแนะนำให้ล้างออกโดยไวถ้าทำได้ เพราะสารต่างๆ ในคลีนซิ่งจะได้ไม่ต้องสัมผัสกับผิวหน้านานเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการระคายเคืองผิวนั่นเอง         • การเลือกคลีนซิ่งที่ผ่านการทดสอบการระคายเคืองอาจการันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องดูส่วนประกอบด้วย เพราะอาการแพ้เป็นลักษณะเฉพาะบุคคล เพื่อความมั่นใจให้ทดสอบโดยทาคลีนซิ่งไว้บริเวณหลังหู ข้อพับแขน หรือท้องแขน ถ้าหลังจาก 48 ชั่วโมงแล้ว ผิวไม่บวมแดง แสบหรือคัน ก็ใช้ได้ ข้อมูลอ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/news/prnews/1027713 https://www.pobpad.com/salicylic-acid

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 สำรวจฉลากแผ่นมาส์กหน้า

         “แผ่นมาส์กหน้า” เป็นนวัตกรรมเพื่อดูแลผิวหน้าโดยเฉพาะ ซึ่งนำวัสดุจำพวกกระดาษ เส้นใยหรือแผ่นเจล ฯลฯ มาทำเป็นรูปใบหน้าแล้วชุบส่วนผสมของสารบำรุงผิวหน้าเข้มข้นจนชุ่ม เวลาใช้ให้วางแผ่นมาส์กหน้าแนบสนิทกับผิวหน้า สารบำรุงต่างๆ จะเข้าสู่ผิวได้อย่างล้ำลึก ช่วยกระตุ้นให้กระบวนการทำงานของผิวดีขึ้น จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทั้งดูแล บำรุง และฟื้นฟูผิวหน้าที่เห็นผลเร็ว ใช้สะดวก หาซื้อง่าย และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย         ปัจจุบันแผ่นมาส์กหน้ามีให้เลือกหลากหลายสูตรที่ตอบโจทย์ปัญหาผิวต่างๆ ทั้งเพิ่มความชุ่มชื้น ลดสิว ลดริ้วรอย ลดจุดด่างดำ ฯลฯ นอกจากผู้บริโภคจะคาดหวังผลลัพธ์ให้ผิวหน้าเนียน สดใส ฉ่ำวาว หลังจากใช้แล้ว ก็ต้องอย่าลืมนึกถึงความปลอดภัยควบคู่กันด้วย         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์แผ่นมาส์กหน้า จำนวน 32 ตัวอย่าง 20 ยี่ห้อ ทั้งที่ซื้อจากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 มาสำรวจดูว่ามีข้อความที่ควรระบุไว้บนฉลากไหม มีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (พาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม) หรือเปล่า และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกว่ายี่ห้อไหนเหมาะสมกับความต้องการ คุ้มค่าและปลอดภัย ผลการสำรวจ        · ทุกตัวอย่าง บนฉลากระบุ”เลขที่จดแจ้ง” ของเครื่องสำอางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุข        · ไม่พบ พาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม ใน 11 ตัวอย่าง        · พบพาราเบน (Methyl Paraben : เมทิลพาราเบน) ใน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อเซนกะ เพอร์เฟ็ค อควา ริช มาส์ก ลูมิเนียส มอยส์ และเบาวซี มาส์ก เบาวซี มอยส์ ยี่ห้อลูลูลูน เฟซ มาสก์ และยี่ห้อเมดิฮีล  ออร่า  อัลฟ่า มาสก์ อีเอ็กซ์        · พบแอลกอฮอล์ ใน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อเฟธ อิน เฟซ ไอ แอม ออลเวย์ส ไบรท์ เพิร์ล เซลลูโลส ชีท ยี่ห้อเอสสึโอะเอะสึ ไฮยาลูรอน โฟร์ดี เฟิร์มมิ่ง มาสก์ ยี่ห้อลูลูลูน เฟซ มาสก์ ยี่ห้อการ์นิเย่ สกิน แนทเชอรัลส์ ซากุระ โกลว์ วอเตอร์- โกลว์ เซรั่ม  มาส์ก และยี่ห้อปาล์มเมด เพิร์ล มาส์ก ชีท        · พบน้ำหอม ใน 17 ตัวอย่าง         · เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อ 1 แผ่น พบว่า แพงสุดคือ ยี่ห้อเซนกะ เพอร์เฟ็ค สกิน ฟิท มาส์ก ไฮเดรติ้ง อีเอ็กซ์ ซี เกรพ ราคา 139 บาท ส่วนที่ถูกสุดคือ ยี่ห้อมิว-นิค ไบร์ทเทนนิ่ง สุพรีม มาสก์ ราคา 9 บาท ข้อสังเกต        ·     ราคาแพงสุดและถูกสุดมีส่วนต่างห่างกันมาก ประมาณ 15.4 เท่า โดยรวมแล้วราคาต่อแผ่นจะอยู่ในหลักสิบและมีราคาแตกต่างกันพอสมควร แต่มี 2 ตัวอย่างที่ราคาหลักร้อยขึ้นไป            ·     ปริมาณน้ำหนักสุทธิของแผ่นมาส์กหน้า มากที่สุดคือ 30 กรัม/แผ่น น้อยที่สุดคือ 18 กรัม/แผ่น        ·     มี 13 ตัวอย่าง ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคืองของผิว         ·     มี 5 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต (แผ่นมาส์กหน้าควรมีอายุไม่เกิน 3 ปี นับจากวันผลิต) ฉลาดซื้อแนะ        ·     ควรตรวจสอบส่วนผสมของแผ่นมาส์กหน้าก่อนทุกครั้งว่ามีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเปล่า โดยเฉพาะคนที่ผิวแพ้ง่าย และหากใช้แล้วพบว่าเกิดอาการแพ้ก็ควรหยุดใช้ทันที        ·    หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร และผู้ที่มีอาการแพ้พาราเบน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของพาราเบน โดยมักจะระบุคำว่า “ไม่มีส่วนผสมของพาราเบน (Paraben Free)”  ไว้บนฉลาก        ·     ควรเลือกแผ่นมาส์กหน้าให้เหมาะกับสภาพผิวและตอบโจทย์ปัญหาผิวของตนจริงๆ  เช่น สภาพผิวแห้งหรือต้องการบำรุงให้หน้าชุ่มชื้นเป็นพิเศษ ให้เลือกที่มี Hyaluronic Acid หรือ Ceramide  หรือสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น แตงกวา ว่านหางจระเข้ สาหร่ายทะเล หรือน้ำผึ้ง เป็นต้น เพราะมีคุณสมบัติช่วยคืนความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำใต้ชั้นผิวได้นานขึ้น หากมีปัญหาหน้ามันหรือต้องการลดสิว ควรเลือกที่ไม่มีซิลิโคนและน้ำมันแร่ เพื่อป้องกันการเกิดสิวอักเสบหรือสิวอุดตัน เป็นต้น        ·    เลือกขนาดให้พอดีกับใบหน้า หากไม่ชัวร์ ให้ซื้อมาลองใช้แผ่นหนึ่งก่อนว่าจะแนบสนิทพอดีกับหน้าไหม        ·    ควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่แนะนำบนฉลาก ไม่ควรมาส์กหน้าทิ้งไว้นานกว่าเวลาที่ระบุไว้ เพราะแผ่นมาส์กจะเริ่มดึงความชุ่มชื้นออกจากผิวหนังเรา ทำให้ผิวยิ่งแห้งกว่าเดิม        ·    แผ่นมาส์กหน้าเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หากเลือกได้ควรเลือกวัสดุที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย และหากใช้ประจำควรซื้อแบบบรรจุห่อละหลายแผ่น เพื่อลดปริมาณขยะได้ ข้อมูลอ้างอิง https://my-best.in.th/20805https://bestreview.asia/best-sheet-mask/https://www.pobpad.com : บทความ พาราเบน สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ เป็นอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ผลิตภัณฑ์กันแดด 2023

        ได้เวลานำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดประจำปีกันอีกครั้ง ระหว่างที่บ้านเราเข้าสู่ฤดูฝน (แต่แดดจ้าไม่เคยหายไป) ทางยุโรปกำลังเข้าสู่ฤดูร้อนและเป็นช่วงที่ผลิตภัณฑ์นี้กำลังเป็นที่ต้องการ เรามีผลิตภัณฑ์กันแดดทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ในรูปแบบของครีม โลชัน และสเปรย์ ที่มีค่า SPF30 และ SPF50+ ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศในยุโรปร่วมกันส่งเข้าทดสอบมาฝากสมาชิก ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงคัดเลือกมาเพียง 24 ผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนในลำดับต้นๆ เท่านั้น คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้ร้อยละ 65       ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVBร้อยละ 20       ความพึงพอใจของผู้ใช้ (เช่น ไม่เหนอะหนะ ไม่ทิ้งคราบ)ร้อยละ 10       ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร้อยละ 5         ฉลากเป็นมิตรต่อผู้บริโภค        ในภาพรวมเราพบว่าคะแนนประสิทธิภาพในการกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนัก (ทั้งหมดจัดอยู่ในระดับ 4 ดาวขึ้นไป)  แต่ก็มีผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อที่ต้องปรับปรุงเรื่องฉลากและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเคลมเกินจริงหรือเคลมในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้  ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เราทดสอบไม่มีสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และไม่มีพาราเบน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก แต่เราก็พบว่าค่า SPF ที่แจ้งไว้นั้น มีทั้งที่เกินและขาดจากค่าที่วัดได้จริงในห้องปฏิบัติการ ที่ให้มาเกินเราไม่ว่า แต่ก็มีอย่างน้อย 6 ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF น้อยกว่าที่แจ้งไว้บนฉลากผลการทดสอบยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ราคาแพงเพื่อดูแลผิวหนังก่อนออกเผชิญแสงแดด พลิกหน้าถัดไปเพื่อหาครีม/สเปรย์กันแดดที่ถูกใจคุณได้เลย         ·     ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร ปอนด์อังกฤษ หรือแดนิชโครน เป็นต้น โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 266 ผลสำรวจฉลากยาดมสมุนไพร

        ฉลาดซื้อฉบับที่แล้ว นำเสนอผลสำรจฉลากยาดมในรูปแบบหลอด น้ำ และขี้ผึ้งกันไปแล้ว ฉบับนี้เราจะมาดูฉลากยาดมสมุนไพรกัน ซึ่งจะแตกต่างจากยาดมทั่วไปตรงที่มีชิ้นส่วนสมุนไพรแห้งที่มีกลิ่นหอมเติมลงไปในส่วนประกอบด้วย เช่น กานพลู ดอกจันทน์ พริกไทยดำ กระวาน และผิวผลส้มมือ เป็นต้น         ในปัจจุบัน กระแสการแพทย์ทางเลือกที่บำบัดอาการป่วยด้วยสมุนไพร เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ยาดมสมุนไพรได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งมีขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยากและมีต้นทุนที่ไม่สูง จึงมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยผลิตยาดมสมุนไพรออกมากันหลายสูตรหลายกลิ่น ทำให้บางครั้งผู้บริโภคมองจนตาลายก็ยังตัดสินใจเลือกไม่ได้         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก ยาดมสมุนไพร ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ใช้สูดดมแก้วิงเวียนและคัดจมูก ที่บรรจุทั้งในขวด/กระปุกแก้ว พลาสติกและโลหะ จำนวน 15 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 มาสำรวจการแสดงข้อความบนฉลาก ส่วนประกอบที่พึงระวัง และเปรียบเทียบราคา เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากยาดมสมุนไพร 15 ตัวอย่าง แบ่งเป็นแบบบรรจุในกระปุกแก้วและพลาสติกอย่างละ 7 ตัวอย่าง และกระปุกโลหะ 1 ตัวอย่าง พบว่า        ·     ยาดมสมุนไพร ตราโบว์แดง (กระปุกพลาสติก) เป็นตัวอย่างเดียวที่มีข้อความที่ควรแสดงบนฉลากอยู่ครบ (ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา วัน/เดือน/ปี ที่ผลิต คำว่า “ยาสิ้นอายุ” และวัน/เดือน/ปี ที่ยาสิ้นอายุ  ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบ คำว่า “ยาแผนโบราณ” “ยาสามัญประจำบ้าน” และ “ยาใช้เฉพาะที่” )        ·     มี 9 ตัวอย่าง ระบุว่าเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” โดยปรากฏสัญลักษณ์  คิดเป็น 60% ของตัวอย่างทั้งหมด        ·     มี 6 ตัวอย่าง ระบุคำว่า “ยาแผนโบราณ” ได้แก่ ยาดมสมุนไพร ตราคุณเปรมา ตราวังว่าน  ตราราสยาน และตราโบว์แดง (ทั้งแบบกระปุกแก้ว กระปุกพลาสติก และสูตร 2)          ·     มี 4 ตัวอย่าง ระบุคำว่า “ยาสิ้นอายุ” พร้อมแสดงวัน/เดือน/ปีที่ยาสิ้นอายุ โดยระบุไว้ไม่เกิน 3 ปี ได้แก่    ยาดมสมุนไพร ตราคุณเปรมา ตราโบว์แดง(กระปุกแก้วและพลาสติก) และยาดมชุติภา        ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่ แพงสุด คือ 32.50 บาท ส่วนยาดมผสมสมุนไพร ตราหงส์ไทย สูตร 2 (กระปุกพลาสติก) ถูกสุด คือ 0.70 บาทข้อสังเกต        ·     ตัวอย่างที่แสดงข้อความที่ควรมีบนฉลากไว้ไม่ครบ มีดังนี้            (1) ไม่มีชื่อทางการค้ากำกับไว้ ได้แก่ สมุนไพรดมโบราณ และสมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ            (2) ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ได้แก่ ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรดมโบราณ, ยาดมโบราณ ตราศรีษะอโศก, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย            (3) ไม่ระบุปริมาณของยาที่บรรจุ ได้แก่ ยาดมชุติภา และยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์            (4) ไม่ระบุเลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา ได้แก่  5 ตัวอย่างที่ไม่มีเลขทะเบียนยา และยาดมสมุนไพร ตราโบว์แดง(กระปุกแก้ว)            (5) ไม่ระบุจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ได้แก่ สมุนไพรดมโบราณ และยาดมโบราณ ตราศรีษะอโศก            (6) ไม่ระบุวัน/เดือน/ปีที่ผลิตยา ได้แก่ ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย            (7) ไม่ระบุคำว่า “ยาใช้ภายนอก” หรือ “ยาใช้เฉพาะที่” ด้วยอักษรสีแดงเห็นได้ชัด ได้แก่ ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่, ยาดมชุติภา, ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรดมโบราณ, สมุนไพร ไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย        ·     ยาดมชุติภา ระบุอายุยาอยู่ที่ 33 ปี (วันผลิต 25/8/2022 ยาสิ้นอายุ 25/8/2055) น่าจะเป็นการพิมพ์ผิด        ·     ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่ และยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์ ไม่ระบุส่วนประกอบไว้        ·     มี 7 ตัวอย่างที่ไม่ระบุปริมาณของส่วนประกอบไว้        ·     มี 5 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุว่ามี ‘การบูร’ ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยาดมทีเอฟดี, ยาดมชุติภา, สมุนไพรดมโบราณ, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย        ·     ยี่ห้อสมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ มีหน่วยปริมาณเป็นซีซี ในขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ ระบุเป็นกรัม        ·     ส่วนใหญ่จะมีพิมเสน การบูร เกล็ดสะระแหน่ และน้ำมันยูคาลิปตัส เป็นส่วนประกอบเหมือนยาดมทั่วไป ส่วนสมุนไพรอื่นๆ ที่นำมาใช้มากสุด 3 ลำดับแรก คือ กานพลู (กลิ่นหอมจัด น้ำมันหอมระเหยมาก ช่วยขับลม) ดอกจันทน์ (แก้ลม ขับลม) และผิวมะกรูด (มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลม วิงเวียน)        ·     3 ใน 5 ของตัวอย่างที่ไม่มีเลขทะเบียนยา ใช้คำว่า ‘สมุนไพร’ นำหน้าชื่อผลิตภัณฑ์ ฉลาดซื้อแนะ        ·     ยาดมสมุนไพรจัดเป็นยาแผนโบราณ หากผลิตเพื่อจำหน่ายต้องทำการขึ้นทะเบียนเป็นตํารับยาแผนโบราณให้ถูกต้อง แต่ไม่บังคบหากเป็นในรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีส่วนประกอบและลักษณะการใช้สูดดมเพื่อแก้อาการวิงเวียน คัดจมูก คล้ายกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในระดับหนึ่ง หากเลือกได้ผู้บริโภคควรเลือกยาดมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ดมที่มีเลขทะเบียนยาถูกต้องหรือมีสัญลักษณ์ยาสามัญประจำบ้าน หรืออย่างน้อยๆ ควรมีแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตหรือซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือได้          ·     การบูร เป็นสารกระตุ้นในระบบประสาทชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ หากสูดดมกลิ่นที่เข้มข้นของการบูรบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรืออักเสบได้ จึงไม่ควรสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน        ·     ระวังการสัมผัสถูกกับบริเวณริมฝีปาก รอบดวงตา หรือบริเวณผิวหนังอ่อน อาจทำให้ระคายเคืองได้ และควรเก็บให้พ้นจากมือเด็กด้วย        ·     การสูดดมนานๆ บ่อยๆ อาจทําให้เกิดอาการระคายเคืองจมูกและทางเดินหายใจได้ ควรใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ หากใช้แล้วเกิดความผิดปกติ ควรหยุดใช้ทันทีและรีบปรึกษาแพทย์        ·     มีคำแนะนำจากผู้ผลิตบางรายว่า หากกลิ่นยาดมสมุนไพรเริ่มจางแล้ว ให้นำไปตากแดด จะทำให้กลิ่นสมุนไพรกลับมาหอมขึ้นได้ (ผู้บริโภคลองทำตามดูว่าได้ผลจริงหรือไม่)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ผลสำรวจฉลากยาดม ตอนที่ 1

        อากาศเมืองไทยตลอดปีมีทั้งร้อน ร้อนมาก ร้อนสุดๆ ทำให้หลายคนเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม จึงต้องมียาดมพกไว้ให้พร้อมเพื่อผ่อนคลายอาการซึ่งนี่เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดยาดมเติบโตมีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านต่อปี โดยนอกจากสำรวจพบว่าคนไทย 10% ใช้ยาดม และใช้อย่างน้อยเดือนละ 2 หลอดแล้ว (ข้อมูล : Nielsen ประเทศไทย) ปัจจุบันยาดมของไทยยังเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวต้องหิ้วกลับไปอีกด้วย อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่ายาแล้วก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญด้วย เพราะยาดมในรูปแบบต่างๆ นั้น หาซื้อได้ง่ายในราคาไม่แพง         ส่วนประกอบหลักๆ ในยาดม คือเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันหอมระเหยต่างๆ ซึ่งจะทำให้รู้สึกเย็นซ่าในโพรงจมูก สดชื่น ตื่นตัวได้ แต่การสูดดมสารเหล่านี้บ่อยๆ อาจเสี่ยงทำให้เยื่อเมือกบุทางเดินจมูกที่สัมผัสกับกลิ่นที่เข้มข้นเป็นประจำเกิดการระคายเคืองได้         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ยาดมที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ใช้ดมหรือทาแก้วิงเวียนและคัดจมูก ทั้งแบบหลอด แบบน้ำ และแบบขี้ผึ้ง จำนวน 22 ตัวอย่าง 16 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 มาสำรวจการแสดงข้อความบนฉลาก ส่วนประกอบที่พึงระวัง และเปรียบเทียบราคา เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไปผลการสำรวจฉลาก        จากยาดม 22 ตัวอย่าง แบ่งเป็น รูปแบบหลอด 8 ตัวอย่าง แบบน้ำ 13 ตัวอย่าง และแบบขี้ผึ้ง 1 ตัวอย่าง พบว่า        ·     ทุกตัวอย่าง ระบุ ‘ชื่อยา’ ‘เลขทะเบียนตำรับยา’ ‘เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ยา’ ‘วัน เดือน ปี ที่ผลิต-หมดอายุ’ และ ‘คำเตือน เช่น  ยาใช้ภายนอก  ยาใช้เฉพาะที่ ห้ามรับประทาน หรือ For external use only’ ไว้บนฉลาก         ·     มี 16 ตัวอย่าง ระบุเป็น ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ โดยปรากฏสัญลักษณ์ คิดเป็น 72.73 %  ของตัวอย่างทั้งหมด        ·     มี 18 ตัวอย่าง แสดง ‘คำระบุบนฉลาก’ ว่าเป็น ยาแผนโบราณ หรือ ยาแผนไทย        ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 หน่วย (ซีซี / มิลลิลิตร / กรัม)            - จากตัวอย่างยาดมทั้งหมด พบว่า ยาดมพิมเสนน้ำ ตราหงส์ไทย(ขวดแก้ว) แพงสุด คือ 16.88 บาท / ซีซี  ส่วนยี่ห้อไอซ์ เจลลิ บาล์ม  ถูกสุด คือ 2.86 บาท / กรัม            - จากตัวอย่างยาดมแบบหลอด พบว่า ยาดมตราพาสเทล แพงสุด คือ 16.67 บาท / มิลลิลิตร  ส่วน ยาดมพีเป๊กซ์  ถูกสุด คือ 8 บาท / ซีซี / หลอด            - จากตัวอย่างยาดมแบบน้ำ พบว่า พิมเสนน้ำตราโป๊ยเซียน(กระปุก) ถูกสุด คือ 4 บาท /ซีซี ข้อสังเกต        ·     มี 4 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุว่ามี ‘การบูร’ ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยาดมพีเป๊กซ์ ยี่ห้อวาเป๊กซ์ เอชอาร์ พิมเสนน้ำและยาหม่องน้ำ ตราขาวละออ        ·     ยาดมพีเป๊กซ์ มีเมทิล ซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) ปริมาณ 0.05% ในส่วนประกอบ ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติแก้ปวดเมื่อย            ·     ยาหม่องน้ำเซียงเพียวอิ๊ว สูตร 1 มีอายุยาอยู่ที่ 5 ปี (ผลิต 21/7/22 หมดอายุ 21/7/27) ขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ มีอายุยาอยู่ที่ 2 - 3 ปี          ·     ยี่ห้อไอซ์ เจลลิ บาล์ม และยาดมตราพาสเทล แสดงคำว่า “ยาสิ้นอายุ” ไว้บนฉลาก โดยไม่ได้เป็นยาสามัญประจำบ้าน        ·     เมื่อดูตามเกณฑ์ข้อความที่ต้องแสดงบนฉลากในกลุ่มที่เป็น’ยาสามัญประจำบ้าน’ พบว่า            - ยาดมผสมสมุนไพร ตราหงส์ไทย สูตร 2 (หลอด) ไม่ระบุปริมาณของยาที่บรรจุ            - ยาดมสมุนไพร ตราอภัยภูเบศร และยาหม่องน้ำขาวละออ ไม่ระบุปริมาณของส่วนประกอบ            - มีเพียง 2 ตัวอย่าง ที่แสดงคำว่า “ยาสิ้นอายุ” ได้แก่ ยี่ห้อวาเป๊กซ์ เอชอาร์ และยาดมท่านเจ้าคุณ            - พิมเสนน้ำตราโป๊ยเซียน(กระปุก) ไม่ระบุชื่อผู้ผลิตและจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ฉลาดซื้อแนะ        ·     หลายคนเลือกซื้อยาดมเพราะติดกลิ่นและใช้แล้วเห็นผลดั่งใจ แต่ก็อย่าลืมเลือกที่มีเลขทะเบียนยาถูกต้องด้วย หรือเลือกที่มีสัญลักษณ์ยาสามัญประจำบ้าน เพื่อความปลอดภัยในระดับหนึ่ง        ·     เภสัชกรแนะนำว่า ยาหม่องน้ำซึ่งมีข้อบ่งใช้คือทาแก้อาการปวดเมื่อย ที่มีเมทิล ซาลิไซเลต เป็นตัวยาหลักนั้น ไม่ควรนำมาใช้สูดดม เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ        ·     การบูร เป็นสารกระตุ้นในระบบประสาทชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ หากสูดดมกลิ่นที่เข้มข้นของการบูรบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรืออักเสบได้ เช่น โพรงจมูกอักเสบ ติดเชื้อในโพรงจมูก ไซนัสอักเสบ เยื่อบุโพรงจมูกเสียหาย และการระคายเคืองที่อาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้ จึงไม่ควรสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน และใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นหลีกเลี่ยงพฤติกรรมติดยาดม คือหยิบมาสูดดมหรือทาเป็นประจำ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอาการวิงเวียนหรือคัดจมูกใดๆ เพราะอาจเสี่ยงได้รับสารต่างๆ ในยาดมเกินความจำเป็น  และทำให้เสียบุคลิกอีกด้วยข้อมูลอ้างอิง  mahidol.ac.th บทความ ยาดมมีอันตรายหรือไม่BrandAge Onlinehttps://wizsastra.com/2017/10/15/householddrugs/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 มาสคารา

        แม้ว่ามาสคาราจะมียอดขายลดลงเพราะมีขนตาปลอมและบริการต่อขนตาเข้ามาแย่งตลาด แต่ค่ายเครื่องสำอางก็ยังส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อสนองความต้องการของคนทุกเพศทุกวัยที่รักการมีขนตางอนงาม         หากยังคิดไม่ตกว่าจะเลือกมาสคารายี่ห้อไหน ลงทุนเท่าไรถึงจะคุ้มค่า ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบเปรียบเทียบมาสคารา 24 รุ่น ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำไว้เมื่อปลายปี 2565 มาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ (ติดตามผลการทดสอบเปรียบเทียบมาสคารามาครั้งก่อนหน้านี้ได้ในฉลาดซื้อ  ฉบับที่ 138)    การทดสอบครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน        -       การทดลองใช้ โดยผู้ที่เชี่ยวชาญ (ด้านการใช้มาสคารา) ที่ใช้ผลิตภัณฑ์วันละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 30 วัน และตอบคำถามเกี่ยวกับการใช้งาน เช่น การเปิด/ปิด ความถนัดในการจับด้ามแปรง ความหนาและความโค้งงอนของขนตา ความสม่ำเสมอของเนื้อผลิตภัณฑ์บนเส้นขนตา ความเร็วในการแห้ง การติดทนและไม่ทิ้งคราบ ความยากง่ายในการล้างออก และอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น             -       การให้คะแนนโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยดูจากภาพถ่ายดวงตา ก่อนและหลังการใช้มาสคารา        -       การทดสอบในห้องปฏิบัติการซึ่งแบ่งออกเป็น            ·     การตรวจวิเคราะห์หาสารต้องห้ามและปริมาณโลหะหนัก และ            ·     การวัดปริมาณมาสคาราที่เหลือค้างในบรรจุภัณฑ์ (ทดสอบโดยใช้แปรงจุ่มมาสคาราในหลอดแล้วนำมาเช็ดออก ทำซ้ำจนกว่าจะไม่มีสีติดที่กระดาษหรือหลังมือ จากนั้นนำบรรจุภัณฑ์มาชั่งน้ำหนัก ก่อนจะนำไปล้างและเช็ดให้แห้งด้วยสำลีก้าน แล้วนำมาชั่งอีกครั้งเพื่อหาส่วนต่าง) ผลทดสอบที่น่าสนใจ        ·     การทดสอบครั้งนี้พบว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่มีสารเคมีหรือโลหะหนักเช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม นิกเกิล ฯลฯ เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด ที่น่าสนใจคือตรวจไม่พบสารเหล่านี้เลยในมาสคาราของ Benefit  Lancome  และ Kiko           ·     ในเรื่องของความพึงพอใจและความสามารถในการแปลงลุคขนตาของผู้ใช้ เราพบว่าราคาไม่ใช่ตัวชี้วัดเสมอไป แม้ผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนสูงสุด YVES SAINT LAURENT Mascara Lash Clash จะมีราคาเกิน 1,300 บาท แต่ ISADORA Build-Up Mascara Extra Volume ที่ได้คะแนนตามมาติดๆ ราคาไม่ถึง 500 บาท และมาสคาราหลายยี่ห้อที่ราคาเกินหนึ่งพันบาท ก็ได้คะแนนในอันดับไม่ดีนัก---ข้อควรระวัง หลีกเลี่ยงการใช้มาสคาราที่เปิดใช้งานมานานเกิน 3 เดือน และไม่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ร่วมกับใคร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 264 สำรวจฉลากผลิตภันฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับผู้ชาย

        เมื่อแฟนคลับสุภาพบุรุษส่งข้อความมาถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรลออนฟอร์เมน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงจัดให้ตามคำขอ พอเราได้ไปสำรวจก็พบว่า ผลิตภันฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับผู้ชายนั้นมีให้เลือกหลายรูปแบบและหลายสูตรมาก โดยหลักๆ เน้นประสิทธิภาพของการระงับกลิ่นกายและลดเหงื่อ ซึ่งสินค้ากลุ่มที่เน้นเพศชายนี้ส่วนใหญ่ใช้คำโฆษณาที่ระบุถึงประสิทธิภาพ เช่น พลังหอม เย็นสดชื่น แห้งสบายผิว ระงับกลิ่นนาน หอมปกป้องยาวนาน มั่นใจตลอดวัน         นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก”ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับผู้ชาย” จำนวน 18 ตัวอย่าง 11 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 มาสำรวจฉลากดูคุณสมบัติ ส่วนประกอบที่เสี่ยงเกิดอาการระคายเคือง (อะลูมิเนียมคลอโรไฮเดรต แอลกอฮอล์ และน้ำหอม) สารกันเสียที่พึงระวัง (ไตรโคลซาน และพาราเบน) ระยะเวลาติดทนนาน และราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ใช้ตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้กลิ่นตัวหาย กลิ่นกายหอม เสริมความมั่นใจอย่างปลอดภัยและคุ้มค่า ผลการสำรวจฉลาก         จากผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับผู้ชาย จำนวน 18 ตัวอย่าง 11 ยี่ห้อ แบ่งเป็นรูปแบบลูกกลิ้ง(โรลออน) 11 ตัวอย่าง แบบแท่ง(สติ๊ก) 2 ตัวอย่าง และแบบสเปรย์ 5 ตัวอย่าง พบว่า         -  ทุกตัวอย่างระบุว่ามีคุณสมบัติระงับกลิ่นกาย         -  8 ตัวอย่าง ระบุว่ามีคุณสมบัติทั้งระงับกลิ่นกายและลดเหงื่อ ได้แก่ ยี่ห้อทรอส เฟรช & โพรเทค ดีโอ โรลออน และเอไอ เชิ้ต โพรเทคชั่น ดีโอ โรลออน ยี่ห้อนีเวีย เมน คูล คิก โรลออน, ซิลเวอร์ โพรเทค โรลออน, ดราย อิมแพ็ค สติ๊ก และคูล คิก สเปรย์  ยี่ห้ออาดิดาส ไอซ์ไดฟ์ แอนตี้-เพอร์สพิแรนท์ และยี่ห้อวัตสัน เมน อินสแตนท์ คูลลิ่ง โรลออน ดิโอโดแรนท์         -   11 ตัวอย่าง ระบุว่ามีอะลูมิเนียมคลอโรไฮเดรต หรือคิดเป็น 61.11% ของตัวอย่างทั้งหมด         -    6 ตัวอย่าง ไม่ระบุว่ามีแอลกอฮอล์ ได้แก่ ยี่ห้ออาดิดาส ไอซ์ไดฟ์ แอนตี้-เพอร์สพิแรนท์, ทรอส เอไอ เชิ้ต โพรเทคชั่น ดีโอ โรลออน, วัตสัน เมน อินสแตนท์ คูลลิ่ง โรลออน, โอเรียนทอล พริ้นเซส ฟอร์เมน, ดีโอ เคลียร์ คลาสิค เพียว (สติ๊ก) และนีเวีย เมน คูล คิก สเปรย์         - ทุกตัวอย่างระบุว่ามีน้ำหอม ยกเว้น ยี่ห้อดีโอ เคลียร์ คลาสิค เพียว(สารส้มแท่ง)        - พบ ไตรโคลซาน ในยี่ห้อโฟกัส ไอซ์ซี่ เฟรช คูลลิ่ง โรลออน         - พบ พาราเบน (Methyl Paraben และ Propyl Paraben)ในยี่ห้อโอเรียนทอล พริ้นเซส ฟอร์ เมน อัลตร้า เฟรช แมคซิมัม โพรเทคชัน ดีโอเดอแรนท์         - มี  10 ตัวอย่างที่ระบุระยะเวลาติดทนนานไว้ 48 ชั่วโมง และมี 1 อย่างระบุไว้ 24 ชั่วโมง          - เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตรจากทุกตัวอย่างที่สำรวจ พบว่า ยี่ห้อนีเวีย เมน ดราย อิมแพ็ค สติ๊ก มีราคาแพงสุด คือ  4.38 บาท ส่วนยี่ห้อดีโอ เคลียร์ คลาสิค เพียว(สติ๊ก) มีราคาถูกสุด คือ 1.08 บาท แต่หากเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร เฉพาะในกลุ่มโรลออล 11 ตัวอย่าง พบว่า ยี่ห้อโอเรียนทอล พริ้นเซส ฟอร์ เมน มีราคาแพงสุดคือ 2.85 บาท และยี่ห้อโฟกัส ไอซ์ซี่ เฟรช คูลลิ่ง โรลออน และไคลแม็กซ์ โรลออน มีราคาถูกสุดคือ 1.13 บาท ส่วนในกลุ่มสเปรย์ 5 ตัวอย่าง มีราคาใกล้เคียงกัน อยู่ที่ตั้งแต่ 1.11 – 1.35 บาท   ข้อสังเกต         - ยี่ห้อนีเวีย เมน ซิลเวอร์ โพรเทค โรลออน แสดงข้อมูลบนฉลากไม่ครบ เช่น ไม่ระบุเลขที่ใบรับจดแจ้ง ส่วนประกอบ และที่อยู่ผู้ผลิต/จัดจำหน่าย เป็นต้น         -  8 ตัวอย่างที่มีคุณสมบัติลดเหงื่อ ส่วนใหญ่มีสารอะลูมิเนียมคลอโรไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก ยกเว้น ยี่ห้อนีเวีย เมน ดราย อิมแพ็ค สติ๊ก ที่มีสารลดเหงื่อชนิดอื่นคือ อะลูมินัมเซอร์โคเนียมเททระคลอโรไฮเดรกซ์ (Aluminum Zirconium Tetracholorohydrex) และ อะลูมีเนียมเซสคิวคลอโรไฮเดรต (Aluminum Sesquichlorohydrate)           - ยี่ห้อดีโอ เคลียร์ คลาสิค เพียว(สติ๊ก) เป็นสารส้มประเภทแอมโมเนียมอะลัม (Ammonium Alum) ที่ทําให้เกิดสารประกอบของเอมีน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ผิวหนังและตาได้ แต่ไม่ปรากฏคำเตือนนี้บนฉลากผลิตภัณฑ์          - มีเพียง 4 ตัวอย่างที่ระบุถึงความปลอดภัย เช่น 0%Paraben  0%Aluminum Salts ไม่มีสารเคมีหรือสารกันเสียที่ทำให้แพ้หรือระคายเคือง เป็นต้น  ฉลาดซื้อแนะ         - บางยี่ห้อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นจุดขาย ผู้บริโภคอย่าเพิ่งเชื่อโฆษณา ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีเลขที่ใบรับจดแจ้งชัดเจน และมีฉลากภาษาไทยแสดงรายละเอียด เช่น ชื่อและชนิดของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ วันเดือนปีที่ผลิต ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/หรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ให้ครบถ้วน         - ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ เพราะแต่ละคนอาจเกิดอาการแพ้ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการแพ้แอลกอฮอล์ น้ำหอม หรือสารกันเสียในผลิตภัณฑ์ ถ้าพบความผิดปกติใด ๆ ต้องหยุดใช้ทันที อย่าเสียดาย         - ก่อนตัดสินใจซื้อ ควรอ่านฉลากดูว่ามีส่วนประกอบที่อาจเป็นอันตรายไหม แล้วเลือกรูปแบบที่ชอบและกลิ่นที่ใช่ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง จากนั้นมาดูประสิทธิภาพว่าระงับเหงื่อและกลิ่นตัวได้นานขนาดไหน อย่างน้อยต้อง 24 ชั่วโมง จะได้ไม่ต้องคอยทาซ้ำระหว่างวัน และหากเจอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์แต่แพงเกินไป อาจไปหายี่ห้ออื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบเหมือนกัน แต่ราคาถูกลงมาหน่อย ก็น่าจะคุ้มกว่า         -ใครที่เหงื่อออกเยอะและมีกลิ่นตัวแรงมาก ๆ แนะนำให้ใช้สูตรที่ไม่มีกลิ่นจะดีที่สุด เพราะหากกลิ่นตัวผสมกับกลิ่นน้ำหอมแล้ว อาจยิ่งทำให้เกิดกลิ่นที่แรงกว่าเดิมเข้าไปอีก          - ใครที่กลัวว่าจะแพ้หรือเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังจากผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและลดเหงื่อที่มีขายอยู่ทั่วไป อาจเลือกใช้ “สารส้ม” แทนได้ข้อมูลอ้างอิงบทความ โรลออน ผลิตภัณฑ์….ระงับ “กลิ่นกาย”  : ชมพูนุช ไปมูลเปี่ยม (นักวิทยาศาสตร์)ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 181 สารในโรลออนเสี่ยงมะเร็งเต้านมจริงหรือ?https://www.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=24772https://bestreview.asia/best-roll-on-deodorants-for-men/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 มีอะไรน่าสนใจใน “ครีมนวดผม”

        ในทุก ๆ วัน เส้นผมของเราต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผมเสียได้มากมาย ทั้งแสงแดด ฝุ่นควัน ความร้อนจากการเป่าและหนีบผม รวมถึงสารเคมีจากการทำสีผม ไฮไลต์ผม และดัดผมอีกด้วย หลายคนจึงนิยมเลือกใช้ “ครีมนวดผม” มาปรับสภาพเส้นผมหลังการสระผม เพื่อให้เส้นผมอ่อนนุ่ม ไม่พันกัน หวีง่าย อีกทั้งช่วยฟื้นฟูและดูแลสุขภาพผมให้ดีขึ้น         ในปี 2564 ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมในประเทศไทย เติบโต 5.6% มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดถึง 74% (Euromonitor, 2021) ส่วนในรายงานการตลาดระดับโลกพบว่า ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมและทรีตเมนต์มีมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2563 (Kantar, 2022)         ครีมนวดผมแต่ละยี่ห้อที่มีหลากหลายสูตรให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นสำหรับผมแห้งเสีย ขจัดรังแค ลดผมขาดหลุดร่วง หรือสูตรพิเศษสำหรับผมทำสีก็ตาม มักจะมีสารซิลิโคนและสารกันเสียเป็นส่วนประกอบพื้นฐานอยู่ ดังนั้นหากผู้บริโภคใช้ครีมนวดผมเป็นประจำอาจเสี่ยงสัมผัสสารเคมีเหล่านั้นเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน          นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ครีมนวดผม” จำนวน 12 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อสำรวจฉลากว่า มีสารเคมีหรือสารกันเสียที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         ซิลิโคน (Silicone) เป็นสารโพลิเมอร์ใช้เติมลงในครีมนวดเพื่อให้ผมลื่น หวีง่าย เคลือบเส้นผมให้เงางาม แต่ล้างออกยาก จึงเกิดการสะสมอยู่ที่เส้นผมและหนังศีรษะ ใช้บ่อยๆ เส้นผมจะลีบแบนและเป็นมันเยิ้ม ซึ่งสารซิลิโคนที่ตกค้างอาจจะไปอุดตันรูเส้นผม ทำให้เซลล์ผมทำงานผิดปกติ การขับของเสียและดูดซึมสารอาหารลดลง และหากใช้ไปนานๆ จะทำให้ผมร่วงได้         สารกันเสียในครีมนวดผมที่ควรระวังมีดังนี้พาราเบน (Parabens) : มีรายงานว่าอาจเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้เป็นมะเร็ง         ฟอร์มาดีไฮด์ (Formaldehyde) : หากสัมผัสสารในปริมาณมากอาจทำให้เกิดผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน จนถึงผิวหนังไหม้ เป็นผื่นอักเสบและติดเชื้อได้         อิมิดาโซลิตินิล ยูเรีย (Imidazolidinyl urea) : อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ และมีอันตรายจนสามารถทำลายเซลล์ผิวได้         เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : หากเกิดอาการแพ้จะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงควบคุมให้ใช้ในความเข้มข้นตามที่กำหนด และอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วล้างออกเท่านั้น         พีน็อกซี่เอทานอล (Phenoxyethanol) : พบได้ในครีมนวดผมที่มีส่วนผสมของน้ำหอม มีคุณสมบัติทำให้กลิ่นหอมคงตัว ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ได้ไม่เกิน 1.0 % หากสัมผัสกับผิวในปริมาณที่มากอาจทำให้ผิวแพ้ ระคายเคือง และเกิดผดผื่นได้ผลการสำรวจฉลาก “ครีมนวดผม”        -        พบสารซิลิโคนทั้ง 12 ตัวอย่าง        -        ไม่พบ พาราเบน ฟอร์มาดีไฮด์ และอิมิดาโซลิตินิล ยูเรีย        -        พบเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (MIT) ใน 7 ตัวอย่าง  คิดเป็น 58.33 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -        พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 66.67 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -        เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ  1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเคลียร์ แอนตี้แดนดรัฟ สกาล์ป แคร์ คอนดิชันเนอร์ ไอซ์คูล เมนทอล แพงสุดคือ 0.61 บาท ส่วนยี่ห้อซันซิล แดเมจ รีสโตร์เซรั่มคอนดิชันเนอร์ แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น ถูกสุดคือ 0.16 บาท ข้อสังเกต                                -        สารกลุ่มซิลิโคนที่พบในตัวอย่างนี้ส่วนใหญ่เป็น Dimethicone รองลงมาคือ Amodimethicone และ Dimethiconol ตามลำดับ        -        ยี่ห้อเคลียร์ แอนตี้แดนดรัฟ สกาล์ป แคร์ คอนดิชันเนอร์ ไอซ์คูล เมนทอล ไม่พบสารกันเสียที่ควรระวังตัวใดเลย        -        มี 4 ตัวอย่างที่พบสารกันเสียทั้งเมทิลไอโซไทอะโซลิโนนและพีน็อกซี่เอทานอล        -        ทุกตัวอย่างระบุวันที่ผลิต แต่มี 4 ตัวอย่างที่ไม่ระบุวันหมดอายุ ฉลาดซื้อแนะ                -        เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย และมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชื่อผลิตภัณฑ์ประเภทสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและสถานที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและปริมาณสุทธิ        -        ซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ยีสต์และราสูงเกินกำหนด โดยหากเรานำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้ อาจทำให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่อักเสบเป็นสิว แผล และเกิดการติดเชื้อได้        -        สังเกตฉลากบนผลิตภัณฑ์เพื่อดูส่วนผสมของสารกันเสียต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว หรือหากใช้ไปแล้วเกิดอาการแพ้ใดๆ ควรหยุดใช้ทันที หรือไปพบแพทย์เพื่อหาว่าแพ้สารชนิดใด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารชนิดนั้นอีกต่อไป        -        หากครีมนวดผมที่ใช้อยู่มีซิลิโคนและสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ เราจะต้องล้างครีมนวดผมออกให้เกลี้ยงทุกครั้ง เพื่อไม่ให้สารเหล่านั้นตกค้างและสะสมมากจนเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมาได้        -        ครีมนวดผมจะมีอายุ 2 - 3 ปี ไม่ควรซื้อครีมนวดผมที่ใกล้หมดอายุ โดยเฉพาะต้องดูให้ดีๆ เวลามีโปรโมชั่นลดราคาเยอะๆ เพราะอาจใช้ไม่ทันวันหมดอายุ จนเหลือทิ้ง กลายเป็นซื้อแพงโดยใช่เหตุ          -        เมื่อต้องการเปลี่ยนครีมนวดผมยี่ห้อใหม่ อาจซื้อแบบซองมาลองใช้ก่อน เพื่อดูว่าแพ้ไหม ใช้แล้วเหมาะกับสภาพผมและได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือเปล่า หากใช้ได้ผลดีค่อยซื้อขวดใหญ่คุ้มกว่า        -        ลองทำครีมนวดผมโฮมเมดง่ายๆ จากสมุนไพรอย่างมะกรูด อัญชัญ และวัตถุดิบในครัวเช่น ไข่ไก่ โยเกิร์ต กล้วย น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น ค้นหาวิธีทำได้จากเว็บไซต์และยูทูบต่างๆ มีหลายสูตรมากข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 185 ครีมนวด-ครีมหมักผม จำเป็นแค่ไหนhttps://marketeeronline.co/archives/266777https://www.komchadluek.net/news/521385

อ่านเพิ่มเติม >