ฉบับที่ 275 ประกันมะเร็งต้องอ่านเงื่อนไขดีๆ

        มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่การรักษานั้นค่อนข้างยาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งมีสถิติที่พรากชีวิตคนไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งจัดรูปแบบกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองเรื่องการรักษามะเร็ง มาเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภค         เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อเตือนใจจากคุณน้ำ ซึ่งเข้ามาขอคำปรึกษาในคดีหนึ่ง แต่เรื่องที่เล่านี้เป็นประสบการณ์เก่าที่เธอเคยประสบจากการทำประกันโรคมะเร็ง ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว เมื่อมองย้อนไปคุณน้ำพบว่าตัวเองพลาดที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขให้ดีจึงเสียโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำประกันมะเร็ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงได้ขออนุญาตนำเรื่องนี้มีเล่าเพื่อฝากไว้ให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นบทเรียน         คุณน้ำ เริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เธอจึงวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม นอกจากค่าใช้จ่ายรายเดือน เธอได้วางแผนการออมเงินด้วย ทั้งออมเงินแบบฝากกับธนาคาร และการทำประกันชีวิตหลายฉบับเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ โดยคาดการณ์ว่าเพื่อเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ลำบาก ทั้งนี้ ประกันชีวิต  1 ฉบับในหลายฉบับที่ทำคือ ประกันมะเร็ง เพราะคิดว่า มะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากเป็นหนึ่งในความเสี่ยงก็ควรทำประกันไว้ก่อน แม้ว่าค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างแพง         จากวันแรกๆ ที่เริ่มงานผ่านมาจนถึงหลังวัยเกษียณ เมื่อเธอเกษียณได้ไม่นาน แพทย์ตรวจพบว่าเธอเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น คุณน้ำตกใจแต่ก็รู้สึกว่า เอาน่ายังดีนะที่เธอได้ทำประกันมะเร็งเอาไว้ เธอจึงติดต่อตัวแทนบริษัทประกันเจ้าของกรมธรรม์ ต่อมาตัวแทนประกันซึ่งได้ขอเอกสารรายละเอียดที่หมอตรวจพบโรคมะเร็งพร้อมกับรายละเอียดการรักษาต่างๆ ไปจากเธอได้ไม่นานนัก ก็แจ้งกับเธอว่า บริษัทไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ เพราะมะเร็งระยะที่กรมธรรม์คุ้มครองคือ ระยะที่ 2          คุณน้ำได้ฟังก็ถึงขั้นตกใจมาก เพราะที่เข้าใจมาตลอดคือ เมื่อตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง บริษัทจะคุ้มครอง ทันที แต่ตัวแทนบริษัทได้อธิบายว่า ในเอกสาร/เงื่อนไขสัญญาเขียนว่า จะคุ้มครองในระยะที่สอง ซึ่งคุณน้ำก็ได้แต่คิดว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งแพทย์ก็ต้องเริ่มรักษาทันที ซึ่งไม่น่าจะมีใครรอให้โรคพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2  จึงเริ่มรักษาเพื่อหวังให้ประกันคุ้มครองแน่นอน         นี่เป็นบทเรียนที่คุณน้ำประสบมา จึงขอนำมาฝากเตือนผู้บริโภคท่านอื่นๆ ว่า เมื่อจะทำประกันโรคร้ายแรง อย่างเช่น มะเร็ง ต้องอ่านรายละเอียดของประกันมะเร็งด้วยว่า มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงประเด็นไหนบ้าง  เช่น มะเร็งทุกอวัยวะไหม หรือเฉพาะบางอวัยวะ หรือเจอมะเร็งจ่ายทันที คุ้มครองมะเร็งทุกระยะ รักษามะเร็งทุกขั้นตอน ฯลฯ ถามต่อตัวแทนประกันให้อธิบายอย่างละเอียด ตลอดจนซักถามตัวแทนประกันให้ละเอียดรอบคอบถึงข้อจำกัดต่างๆ  รวมทั้งต้องปรึกษาแพทย์เมื่อพบคำศัพท์เฉพาะทางทางการแพทย์ด้วย         ที่ควรพิจารณต่อมาคือ เรื่องเบี้ยประกันและวงเงินคุ้มครองเหมาะสมหรือเปล่า โดยต้องประเมินวงเงินคุ้มครองว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมาวงเงินที่จะได้รับนั้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลหรือการใช้จ่ายระหว่างการรักษาตัวหรือไม่ เช่น หากต้องการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องประเมินว่าค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เพื่อจะได้เลือกแผนประกันที่วงเงินคุ้มครองเหมาะสมที่สุด เป็นต้น         เลือกด้วยความรอบคอบว่าเราอยากได้เงินคุ้มครองลักษณะไหน เช่น ในกรณีที่เป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล อาจเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพและต้องการให้ประกันคุ้มครองเฉพาะการรักษาพยาบาลตลอดการรักษา ขณะที่ประกันแบบจ่ายเงินทันทีที่ตรวจพบมะเร็งนั้น อาจเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วแต่ต้องการเงินก้อน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาส่วนเกินจากประกันสุขภาพหรือนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น         อย่างไรก็ดีสำคัญที่สุดคือ อย่าพลาดการอ่านเงื่อนไขสัญญาให้ละเอียดเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 เจอแมลงสาบในแพ็คน้ำดื่ม อีกแล้ววว

        ขึ้นชื่อว่า น้ำดื่มสะอาด ก็ต้องสะอาด เพราะเราบริโภคเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกวันแต่กรณีของคุณหยาด เมื่อเธอซื้อน้ำดื่มบรรจุแพ็ค กลับเจอแมลงสาบเข้าไปอยู่ในแพ็คเสียอย่างนั้น แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี        เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  คุณหยาดได้ซื้อน้ำดื่มตามปกติแต่ในครั้งนี้กลับพบแมลงสาบตัวเบ้อเริ่มเข้าไปนอนตายสนิทอยู่ในแพ็คน้ำดื่ม ... แถมยังอยู่ตรงใกล้ปากขวดน้ำเสียด้วย  คุณหยาดไม่มีความรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพราะแมลงสาบไม่ได้เข้าไปอยู่ในขวดน้ำดื่มแต่อยู่ในแพ็คน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากโรงงานที่ผลิต หรือทางร้านค้าที่จัดจำหน่าย แต่คุณหยาดมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคควรได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทุกชนิด เมื่อข้างขวดมีฉลากระบุข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน คุณหยาดจึงส่งเรื่องเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันทีแนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหยาดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณหยาดว่า เมื่อพบเจอสินค้าอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย คุณหยาดสามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งกับ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ลงตรวจสอบสถานที่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งจำหน่าย ร้านค้า และโรงงานที่ผลิตได้ ซึ่งหลังจากให้คำปรึกษากับคุณหยาดแล้ว มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อขอให้ตรวจสอบสถานที่ผลิต รวมถึงสำเนาไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายด้วย         ทั้งนี้ในเรื่องน้ำดื่มบรรจุแพ็คต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 ที่กำหนดให้น้ำบริโภคและเครื่องดื่มเป็นอาหารควบคุม ต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ไม่พบจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ และต้องมีฉลากแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง  ฉลาก ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการอาหารและยา > กองอาหาร > กฎหมายอาหาร >น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  https://food.fda.moph.go.th/food-law/f2-drinking-water

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 โดนคิดค่าสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคา

        เชื่อว่าผู้บริโภคหลายๆ คน เมื่อถึงเวลาต้องจับจ่ายใช้สอยสินค้าเข้าบ้าน การไปเดินห้างค้าปลีกหรือเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะมีสินค้าครบครันในราคาที่อาจมีลด มีแถม แต่หากเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน “ราคาที่จ่าย ดันไม่ตรงกับราคาป้าย” คงเป็นเรื่องที่ไม่โอเคเลยใช่ไหมล่         เหมือนกับคุณจู ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอเล่าว่าได้ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งแถวบ้าน วันนั้นเธอได้ซื้อเห็ดชิเมจิ ยี่ห้อ Mao Xiong มา 1 ถุง ราคาที่ติดตามป้ายบนชั้นวาง 9 บาท แต่พอถึงเวลาจ่ายเงิน ราคาเห็ดที่ติดป้ายว่า 9 บาท ราคาจริงดัน 13 บาท อ้าว...ไม่ตรงตามป้ายที่ติดซะงั้น! เธอจึงมาสอบถามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าแบบนี้คือการหลอกลวงประชาชาชนหรือไม่ และควรทำอย่างไรดี?                แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อไปหาผู้ร้อง เธอแจ้งว่าหลังเกิดเหตุการณ์ได้ให้พนักงานตรวจสอบราคาสินค้าอีกครั้ง เนื่องจากราคาไม่ถูกต้องและทางพนักงานก็ยอมแก้ไขใบเสร็จให้ถูกต้องและคืนเงินเรียบร้อยแล้ว เธอจึงไม่ติดใจอะไร เนื่องจากทางซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้แก้ไขปัญหาให้เธอแล้ว         แต่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอปัญหานี้เช่นกัน ดังนี้หากเจอกรณีราคาสินค้าไม่ตรงตามป้าย สามารถโทรร้องเรียนไปที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำการร้องเรียน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ อย่าลืมถ่ายรูปราคาบนป้ายสินค้า และเก็บใบเสร็จที่จ่ายเงินเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วยในการร้องเรียนอีกด้วย เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย         สำหรับ ผู้ที่แจ้งเบาะแสนั้น ทางหน่วยงานมีรางวัลนำจับให้ ในกรณีมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งผู้ร้องจะได้รับรางวัลนำจับร้อยละ 25 ของค่าปรับ         นอกจากนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิผู้บริโภคของตัวเองด้วยการตรวจเช็กราคาความถูกต้อง สินค้าที่ซื้อครบถ้วนหรือไม่ ก่อนออกจากร้านทุกครั้งจะดีที่สุด              

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ซิมฟรี ไม่มีอยู่จริง

        ในประกาศของ กสทช. ระบุไว้ชัดเจน เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 6 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการใช้บริการโทรคมนาคมในของแต่ละบริการให้ชัดเจนและครบถ้วน และผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง         ถ้าทุกค่ายมือถือทำตามมาตรฐานนี้ คุณแก้วคงไม่ต้องมาเสียความรู้สึกจากความไว้วางใจในครั้งนี้         คุณแก้วเป็นลูกค้าของค่ายมือถือสีแดงมานานแล้ว จู่ๆ วันหนึ่งมีพนักงานค่ายมือถือนี้โทร.มาเสนอว่าจะส่งซิมโทรศัพท์มาให้ที่บ้าน เป็นแบบจ่ายรายเดือน 250 บาท ซึ่งถ้าได้รับแล้วยังไม่ใช้ก็ไม่เก็บเงิน สนใจไหม คุณแก้วเห็นว่าเป็นซิมฟรีถ้าไม่ใช้ก็ไม่เสียเงิน จึงตอบตกลง ก็มันฟรีเผื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในวันหนึ่ง         หลังส่งสำเนาบัตรประชาชนให้ไปตามที่พนักงานบอกว่าจะใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกนี้ จากนั้น 2 อาทิตย์ พนักงานก็โทร.มาถามว่าได้รับซิมหรือยัง เธอก็ตอบไปว่าได้รับแล้ว คิดว่าเรื่องคงจบตรงนี้ใช่ไหม แต่ไม่นานเธอถูกเรียกเก็บเงินจากซิมเบอร์นี้ เป็นเงิน 89.70 บาท ทั้งๆ ที่เธอยังไม่เคยแกะซองและนำซิมมาใช้เลยด้วยซ้ำ         “ตอนแรกยังนึกไปออกว่าเป็นเบอร์ใครนะคะ แต่พอคิดไปคิดมาก็เลยไปหยิบซิมที่ได้แจกมาดู โป๊ะเชะ! เป็นเบอร์เดียวกัน” คุณแก้วเล่าแบบติดโมโห ไหนพนักงานบอกว่ายังไม่ใช้ซิมก็ยังไม่ต้องจ่ายไงล่ะ เธอจึงโทร.ไปถามคอลเซ็นเตอร์ทันที พนักงานตอบว่า “ถึงจะใช้หรือไม่ใช้ ถ้าเกินกำหนดเวลาก็ต้องเสียเงินค่ะ” รู้สึกเหมือนโดนหลอก เธอจึงขอยกเลิกซิมเบอร์นี้ แต่พนักงานไม่ยอมให้ยกเลิกจนกว่าเธอจะจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้เสียก่อน แม้เป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่เธอจะไม่ยอมถูกเอาเปรียบเด็ดขาด จึงโทร.มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อพิจารณาในส่วนของสัญญาใช้บริการระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้บริโภคนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน แต่ในกรณีนี้ คุณแก้วไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับทางบริษัทแต่อย่างใด เธอให้สำเนาบัตรประชาชนไปก็เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกฟรีตามที่พนักงานบอกเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เกิดเป็นสัญญาการให้บริการหรือใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือนเกิดขึ้นระหว่างค่ายมือถือสีแดงกับคุณแก้ว         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณแก้วทำหนังสือบอกยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระเงินที่มีใบแจ้งหนี้ส่งมา โดยส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทของค่ายมือถือนี้ เพื่อให้ยุติการเรียกเก็บค่าบริการพร้อมระบุเหตุผลว่า ตั้งแต่ได้รับซิมมายังไม่เคยได้ใช้ซิมแต่กลับมีใบแจ้งหนี้ส่งมา หรือการให้บริการไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แล้วส่งไปแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น เพื่อให้มีหลักฐานในการตอบรับจากค่ายมือถือ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ กสทช. ด้วย หรือจะโทรศัพท์แจ้งยกเลิกการบริการที่ศูนย์ของซิมฟรีนั้นก็ได้ แต่วิธีนี้จะไม่มีหลักฐานเหมือนกับการส่งจดหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ค่าปรับจอดรถหลังเวลากำหนดแพงเกินไปไหม

        ปัญหาเรื่องที่จอดรถนั้นช่างคลาสสิกเหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อต้องไปติดต่อทำธุรกรรมหรือดำเนินการเรื่องอะไรก็ตามในสถานที่ที่ไม่มีที่จอดรถรองรับ ที่พึ่งหนึ่งซึ่งไม่ต้องทำให้เกิดการละเมิดกฎจราจรโดยการจอดในที่ห้ามจอด คือ เข้าจอดในสถานที่หรืออาคารที่เปิดให้นำรถเข้ามาจอดได้แต่จะเรียกเก็บเงินตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ถ้าใช้เวลาทำธุรกรรมไม่นานราคาก็ไม่แพงมาก แต่ถ้าเกิดเผลอลืมหรือใช้เวลานานจนล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้จอด เช่น ไม่อนุญาตให้จอดเกินเวลา 24.00 น. ราคาค่าปรับจะสูงโด่งจนน่าตกใจ                คุณพูนทรัพย์ นำเรื่องมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองนำรถเข้าจอดในอาคารแห่งหนึ่งใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้ตนเองเดินทางสะดวกขึ้นไม่ต้องเสี่ยงรถติดในบริเวณที่การจราจรหนาแน่น ปกติแล้วก็เข้าใช้อาคารจอดรถแห่งนี้บ่อยจนตัดสินใจจ่ายในลักษณะรายเดือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง         แต่วันหนึ่งมีเหตุให้เกิดความล่าช้า ตนเองกลับมาเอารถที่จอดไว้หลังเวลา 24.00 น. ทำให้ถูกเรียกเก็บค่าปรับสูงถึง 400 บาท คุณพูนทรัพย์เองก็เพิ่งทราบว่า ค่าปรับหลังเวลานี้โหดมาก จึงพยายามต่อรองกับทาง รปภ.แต่ไม่ได้รับความยินยอม จึงต้องจ่ายค่าปรับเพื่อนำรถออกมา ที่มาขอคำปรึกษาคือ ตนเองสามารถต่อรองให้ค่าปรับลดลงมาได้ไหม ทางอาคารจะยินยอมหรือไม่และทำไมค่าปรับจึงสูงเกิดจากอะไร  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้แจ้งต่อคุณพูนทรัพย์ว่า ทางมูลนิธิฯ จะนำเรื่องของคุณพูนทรัพย์ไปต่อรองกับทางอาคารดังกล่าวให้ เพราะคุณพูนทรัพย์เองก็เป็นลูกค้าประจำ ทางอาคารอาจพิจารณาลดราคาค่าปรับให้ อย่างไรก็ตาม เรื่องการคิดราคาที่จอดรถ ค่าปรับ ฯลฯ  เป็นไปตามวิธีการให้บริการสำหรับอาคารดังกล่าวซึ่งไม่มีการบังคับจากกฎหมายเพราะเป็นการทำธุรกิจของอาคารดังกล่าว ถือเป็นการเสนอขายบริการ หากคุณพูนทรัพย์ไม่พอใจราคา ก็ปฏิเสธไม่เข้าใช้บริการได้ ส่วนของค่าปรับที่แพงหลังเวลา 24.00 น. น่าจะเป็นเพราะทางอาคารไม่ต้องการให้มีการจอดรถในลักษณะค้างคืน จึงเรียกค่าปรับสูง เมื่อนำสัญญาที่คุณพูนทรัพย์ได้ทำกับทางอาคารไว้มาพิจารณา ก็พบว่ามีการระบุเงื่อนไข ราคาและค่าปรับต่างๆ ไว้ชัดเจน จึงขอให้ผู้บริโภคทุกท่านอ่านรายละเอียดของสัญญาต่างๆ ให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากความไม่รู้ (แต่จริงๆ ควรต้องรู้)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 โดนแอบอ้างใช้บัตรเครดิต เสียหายเป็นแสน

        เสียงผู้บริโภคในวันนี้เป็นเรื่องราวที่หลายคน คงได้เห็นกันตามข่าวกันมาเยอะ กับกรณีที่ถูกพวกแก๊งมิจฉาชีพหลอก นำข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อไปทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องของคุณน้ำตาลที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็เกี่ยวกับการโดนภัยออนไลน์หลอกเช่นกัน แต่มาในรูปแบบอีเมล         คุณน้ำตาลได้เล่าให้ฟังว่า เธอได้รับอีเมลจากทางเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น จองที่พัก จองเที่ยวบิน หรือจองรถเช่าต่างๆ  รายหนึ่ง (ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเว็บไซต์ปลอมที่พี่มิจฉาชีพแอบอ้างขึ้นมา) โดยในอีเมลมีการระบุข้อความว่า “แจ้งให้รางวัลสำหรับการเข้าพัก” หลังได้รับอีเมลดังกล่าว ตัวเธอเองก็ไม่ได้คิดอะไรตอนนั้น จึงให้ข้อมูลบัตรเครดิต และ OTP สำหรับการยืนยันไป แต่พอผ่านไปไม่ถึง 10 นาที เธอก็เริ่มมีสติ! รู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาได้ แต่...ก็ยังไม่ทันอยู่ดีเพราะเธอได้กรอกข้อมูลไปเรียบร้อยแล้วเลยคิดว่าคงโดนหลอกแล้วแน่ๆ เธอจึงรีบโทรติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อให้ยกเลิกการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเผลอให้ข้อมูลไปทางอีเมล ทางคอลเซนเตอร์ แจ้งรับทราบเรื่องพร้อมทั้งบอกว่าจะระงับธุรกรรมที่เกิดขึ้นและออกบัตรให้ใหม่คุณน้ำตาล         ทว่าในเดือนต่อมาดันมีสเตทเม้นท์แจ้งว่ามียอดการใช้จ่ายที่บริษัทแห่งหนึ่งในรายการชำระค่าบัตรเครดิตของเธอ ยอดค่าใช้จ่ายคือ 234,682.96 บาท คุณน้ำตาลก็ตกใจสิ! ฉันแจ้งระงับไปแล้วนะ เลยรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ทันที พร้อมกับปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้น เธอไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ใช่หรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งกับทางคุณน้ำตาลว่า เมื่อแจ้งระงับการใช้บัตรแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังการแจ้งระงับให้เธอสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติเลย         แม้เธอได้รับข้อมูลว่าจบ แต่เอาจริงเรื่องก็ยังคงไม่จบ เพราะว่ายังคงมีอีเมลส่งมาจากธนาคารว่าเธอได้ซื้อของทางออนไลน์เพิ่มเติมอีก โดยมีชื่อผู้ซื้อเป็นชื่อชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ชื่อเธอที่เป็นเจ้าของบัตร แถมการจัดส่งสินค้าก็ยังขึ้นที่อยู่จัดส่งอยู่ในประเทศโปแลนด์อีกด้วย     อีกทั้งต่อมาเธอได้รับจดหมายที่ส่งมาจากทางธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตอีกครั้งว่า หลังจากได้มีการตรวจสอบแล้วยอดค่าใช้จ่ายใหม่ที่เกิดขึ้นธนาคารได้ระงับการเรียกเก็บเงินทั้งหมด แต่ทางคุณน้ำตาลต้องเป็นคนรับผิดชอบยอดค่าใช้จ่ายครั้งแรกคือ 234,682.96 บาท         คุณน้ำตาลจึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำวิธีการแก้ไขให้ผู้ร้องเบื้องต้นดังนี้         1. ทำหนังสือปฏิเสธการชำระทั้งหมด ไปยังธนาคารดังกล่าว เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายเอง (มิจฉาชีพเป็นผู้ทำธุรกรรม) พร้อมทั้งแจ้งธนาคารเพื่ออายัด และให้ผู้ร้องมีการทำสำเนาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกด้วย โดยทางมูลนิธิฯ จะติดตามเรื่องและช่วยในการไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องเพื่อไม่ต้องชำระยอดค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องไม่ได้กระทำ         2. หากเกิดกรณีธนาคารฟ้องร้องได้อธิบายต่อผู้ร้องว่า อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ถึง 2 ปี ซึ่งแนะให้ผู้ร้องสู้คดี เพราะคำพิพากษาจะเป็นประโยชน์ต่อร้องเนื่องจากไม่ใช่ความผิดของทางผู้ร้องเอง         3. หากระหว่างนั้นผู้ร้องติดเครดิตบูโร แนะนำว่าถ้าสู้คดีในชั้นศาลเสร็จสิ้น ให้ไปแจ้งสาเหตุดังกล่าวต่อทางเครดิตบูโร          ดังนั้นจึงฝากเตือนใจ เตือนภัยผู้บริโภคให้ระมัดระวังให้มากเมื่อต้องทำข้อมูลทางออนไลน์ โดยเฉพาะไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญหรือ OTP แก่ผู้ติดต่อที่ไม่มีตัวตนแน่ชัด ไม่น่าเชื่อถือ แนะนำว่า ให้ลองถามคำถามแรกกับตัวเองก่อนว่า บุคคลเหล่านี้เป็นมิจฉาชีพหรือไม่          นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวัง ก็คือพวกลิงก์ปลอม ก่อนกดลิงก์ถ้าไม่แน่ใจว่า จริง หรือ ปลอม แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่กดไปเลยเพื่อความปลอดภัย หรือถ้ามาในรูปแบบแจกของรางวัลต่างๆ ให้เช็กกับทางเว็บไซต์ทางการเพื่อความแน่ใจดีกว่าก่อนที่จะกดเข้าไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ถูกหลอกจากสินค้าส่งปลายทางไม่ตรงปก

        ปัจจุบันประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการเปิดเพจส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทางทุกวัน ทั้งที่ตำรวจตามจับไม่เว้นวัน และสื่อต่างๆ ก็ได้เผยแพร่ข่าวผู้เสียหายมาตลอด แต่ด้วยมิจฉาชีพก็ปรับเปลี่ยนใช้วิธีการใหม่ๆ ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ เช่น กรณีของคุณสุวิมล         ภายในเดือนพฤศจิกายนเดือนเดียว คุณสุวิมลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่เปิดเพจหลอกขายสินค้าไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก คุณสุวิมลสั่งซื้อผ้าห่มนวม ราคาผืนละ 400 บาท แต่เมื่อสินค้ามาส่งจริงกลับเป็นผ้าขนหนูผืนเล็กๆ 1 ผืน และครั้งล่าสุดเมื่อศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน คุณสุวิมลต้องการหารองเท้ามาใส่ทำงานแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน จึงหาร้านที่สามารถจัดส่งได้ภายใน 1 วันและราคาไม่เกิน 200 บาท เมื่อค้นหาในเฟสบุ๊ค จู่ๆ ก็มีเพจร้านขายรองเท้ามาให้คุณสุวิมลเห็นเองอยู่บ่อยครั้ง เธออดไม่ได้เลยกดเข้าไปดูและเห็นรองเท้าแบบที่เธอกำลังหาอยู่มากมาย เมื่อดูรายละเอียดแล้วก็เห็นว่า เพจรายงานว่ามีสินค้าที่ขายแล้วจำนวนมากและอัพเดตสินค้าใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง คุณสุวิมล ทักไปสอบถามระยะเวลาการจัดส่ง แอดมินเพจก็ได้ถาม “คุณสุวิมลอยู่จังหวัดอะไร”  เมื่อตอบว่า อยู่จังหวัดอยุธยา แอดมินเพจจึงบอกว่า “สามารถจัดส่งให้สินค้าไปถึงได้ภายใน 1 วัน ”  เมื่อประกอบกับสินค้าราคารวมจัดส่งแล้วไม่เกิน 200 บาท คุณสุวิมลคิดว่าราคาสินค้าไม่สูง มิจฉาชีพน่าจะหลอกเอาเงินจำนวนมากกว่านี้จึงหลงเชื่อและสั่งรองเท้าไป 1 คู่          รองเท้าที่คุณสุวิมลสั่งเป็นรองเท้าผ้าใบสีขาว ลายสีฟ้าเบอร์ 38 แต่เมื่อพนักงานส่งของมาส่งวันเสาร์ที่ 25 พ.ย. คุณสุวิมลแกะกล่องออกมา  กลับเป็นรองเท้าหนัง สภาพเก่ามากเบอร์ 44 คุณสุวิมลจึงบันทึกวิดีโอตอนเปิดกล่องส่งให้ทางเพจดูว่าได้รับสินค้าไม่ตรง  แอดมินเพจเข้ามาอ่านแต่ไม่ตอบกลับข้อความใดๆ จึงสุวิมลจึงรู้แน่ว่า เธอถูกหลอกอีกแล้ว       แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อผู้บริโภค รู้ว่าซื้อสินค้าและถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐาน ข้อมูล ให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ ภัยทางการเงิน จากมิจฉาชีพ ของธนาคารต่าง ๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที และแจ้งธนาคาร        โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เพื่อตามตัว  ถ้าได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็นำหลักฐานส่งต่อให้กับทางตำรวจเพื่อประสานงานออกหมายเรียก ตามตัว หรือหมายศาลไปยังมิจฉาชีพ เพื่อดำเนินคดีความในลำดับต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 สายการบินทำกระเป๋าพัง ทรัพย์สินเสียหาย

        เมื่อคุณโดยสารเครื่องบิน แล้วพอถึงที่หมายพบว่าสายการบินทำกระเป๋าเดินทางพังจากการขนส่ง สิ่งแรกที่ควรทำคือถ่ายรูปความเสียหายทั้งหมดไว้ และติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่คุณเดินทางมา หรือเจ้าหน้าที่ของสนามบินเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหายของกระเป๋าเก็บไว้เป็นหลักฐาน และรีบขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที หรือเมื่อสะดวกหลังจากการเดินทาง แต่ก็ต้องเผื่อใจว่าค่าชดเชยที่สายการบินเสนอให้เบื้องต้นอาจดูไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้น         คุณเจนเป็นคนหนึ่งที่เจอประสบการณ์สุดเซ็งแบบนี้เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2566 เธอเล่าว่าซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศแห่งหนึ่ง เส้นทางดอนเมือง-ร้อยเอ็ด ราคา 2,499 บาท และซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มอีกต่างหาก เดินทางจากสนามบินดอนเมืองตอน 11โมงเช้า มาถึงร้อยเอ็ดตอนเที่ยงครึ่ง ทุกอย่างดูราบรื่นดี แต่พอเธอเดินไปรับกระเป๋าสัมภาระของตัวเองก็ต้องถึงกับอึ้ง เมื่อเห็นกระเป๋าพังยับเยินเกินเยียวยา ทำให้เครื่องสำอางและน้ำหอมราคาแพงที่อยู่ในกระเป๋านั้นเละตุ้มเป๊ะหมด ตอนนั้นตกใจมาก จนเธอไม่ทันได้ฉุกคิดเลยว่าจะต้องถ่ายรูปความเสียหายเก็บไว้         คุณเจนรีบไปติดต่อแผนกเคลมกระเป๋าสัมภาระ เจ้าหน้าที่ได้เสนอทางเลือกให้ว่าจะรับเป็นค่าชดเชย 800 บาท หรือกระเป๋าผ้าใบใหม่ไป เมื่อเธอปฏิเสธเพราะคิดว่าข้อเสนอนี้ไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ก็ให้ถุงดำมาใส่สัมภาระแทน คุณเจนไม่พอใจในการบริการของสายการบินนี้อย่างมากและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยที่เหมาะสม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ทางช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการไขแก้ปัญหา         ในกรณีนี้ ถ้าผู้โดยสารทำประกันการเดินทาง หรือประกันกระเป๋าเดินทางไว้ ก็จะสามารถเคลมได้ตามเงื่อนไขของประกัน แต่คุณเจนไม่ได้ทำไว้ ทางมูลนิธิฯ จึงให้ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ดังนี้         1.สรุปค่าเสียหายที่ต้องการเรียกร้องกับสายการบิน (ค่ากระเป๋า 5,000 บาท ค่าโหลดกระเป๋าที่ซื้อเพิ่ม 2,000 บาท ค่าเครื่องสำอางและน้ำหอม 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,000 บาท)         2.ภาพถ่ายสินค้าที่เสียหาย (ใช้ภาพสินค้าที่ได้ซื้อมาจากอินเตอร์เน็ต พร้อมราคาสินค้าก็ได้)         เมื่อมีข้อมูลครบ มูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัทสายการบินแห่งนี้ เพื่อขอให้พิจารณาชดเชยความ         เสียหายให้กับคุณเจนแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่คิดได้ว่าไม่สะดวกใจยกเลิกได้นะ

        ใครไม่เคยโดนบอกขายประกันทางโทรศัพท์บ้าง น่าจะน้อยคนนะยิ่งใกล้สิ้นปีนี้จะมากันเรื่อยๆ หวังปิดยอดการขาย ผู้บริโภคหากมีอาการเผอเรอคิดไม่ทันแล้วรับปากทำประกันทางโทรศัพท์ไป มันมีวิธีบอกเลิกอยู่นะ         คุณดวงพร ได้ตกปากซื้อประกันภัยรถยนต์กับนายหน้าไปในข้อตกลงที่ระบุเบี้ยประกัน 5 แสนบาท สามารถซ่อมศูนย์ได้ทั่วประเทศ ตอนที่ตัดสินใจทำประกันก็คิดว่ามันมีประโยชน์นะ ทว่าผ่านมาหลายวันเริ่มพบความจริงว่าเราอาจจะมีปัญหาถ้าทำประกันนี้เลยอยากยกเลิก แต่พอโทรศัพ์ไปที่บริษัทประกันภัยที่เป็นคู่สัญญา พบว่าไม่ง่าย คำตอบที่ได้รับคือ “คุณลูกค้าต้องรอให้ได้รับเล่มกรมธรรม์ก่อน” ก็ไม่อยากรออยากยกเลิก ทำไมต้องรอ ยิ่งพบว่า บัตรเครดิตของตนเองถูกเรียกเก็บเงินประกันงวดแรกไปแล้วด้วย คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย ทำให้ต้องโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “ช่วยทีค่ะ ทำอะไรได้บ้างไหม”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากซักถามเหตุต่างๆ ที่คุณดวงพรประสบ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ สงสัยว่าเหตุใดบริษัทประกันถึงเข้าถึงการตัดบัตรเครดิตได้แบบทันที คุณดวงพรแจ้งว่า นายหน้าที่มาขายประกันตนนั้นไม่ได้บอกว่ามาจากบริษัทประกันภัยแต่อ้างว่ามาจากบริษัทรถที่คุณดวงพรเป็นเจ้าของ เลยไม่สงสัยแล้วบอกเลขหน้าบัตรเครดิตและวันหมดอายุไปให้กับนายหน้าคนนั้น รู้ตัวอีกทีก็มีการเรียกเก็บเงินค่าประกันงวดแรกแล้ว “พยายามติดต่อหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีใครรับสายเลยหลังจากที่ได้รับคำตอบครั้งแรกที่ให้รอเล่มกรมธรรม์”         เมื่อได้ฟังที่มาที่ไปแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ตามกฎหมายนั้น ผู้บริโภคที่อาจเผลอตกลงทำสัญญาซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่ต้องการบอกเลิกภายหลัง ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกหรือยกเลิกสัญญาได้ “หากยังไม่ได้รับกรมธรรม์หรือไม่พึงพอใจสามารถบอกเลิกได้ตลอดเวลา แต่หากได้รับกรมธรรม์มาแล้ว ก็ยังสามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมแนบกรมธรรม์ประกันชีวิตส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนกลับไปยังบริษัทผู้เอาประกันภัย หรือแม้แต่ในกรณีแบบคุณดวงพรที่ถูกเรียกเก็บเงินจากกรณีชำระผ่านบัตรเครดิต หรือแม้แต่ชำระเป็นเงินสด ก็ให้แนบสำเนาบอกเลิกสัญญาแจ้งไปยังบริษัทบัตรเครดิต ซึ่งบริษัทประกันต้องคืนเงินทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา หากบริษัทเพิกเฉย สามารถร้องเรียนได้ที่ คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คปภ. หรือ สายด่วน 1186         ต่อมาทราบจากคุณดวงพรหลังจากได้ทำตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า บริษัทฯ ได้คืนเงินให้ครบถ้วนแล้วขอยุติเรื่องร้องเรียน         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะต้องเผชิญกับการขายประกันทางโทรศัพท์ หากไม่สนใจสามารถปฏิเสธได้ทันทีโดยวางสายได้เลย บริษัทประกันภัยดังกล่าวจะไม่สามารถมาติดต่อขายประกันได้อีกภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ถูกปฏิเสธ ถ้ายังถูกรบกวนสามารถแจ้งร้องเรียนพฤติกรรมของนายหน้าได้ที่ สายด่วน 1186 และอีกประการหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ หากถูกตื้อทำประกันทางโทรศัพท์ จงจำไว้ว่า อย่าปัดความรำคาญด้วยคำว่า "ตกลง" หรือ คำว่า “สนใจ” เพราะเสียงของผู้บริโภคที่ถูกบันทึกไว้จะถูกเอาไปเป็นหลักฐานการยืนยัน โดยถือว่า “สัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว” ดังนั้นหากไม่อยากเกิดปัญหาขอให้ยืนยันคำเดียวง่ายๆ ว่า “ไม่สนใจ” วางสายไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ยกเลิกทัวร์และได้เงินมัดจำคืน

        การจองทัวร์ไปท่องเที่ยวเมื่อถึงกำหนดแล้วได้ท่องเที่ยวตามที่ใจหวังนับเป็นโชคดี แต่หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นแล้ว การจ่ายเงินซื้อทัวร์ท่องเที่ยวก็ทำให้เงินสูญไปได้เฉยเลยเช่นเดียวกัน   การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตนเองก่อนทำการซื้อทัวร์จึงมีความสำคัญอย่างมาก เช่น กรณีของคุณส้มริน         เรื่องราวของคุณส้มรินเริ่มเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา คุณส้มรินได้จองทัวร์ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในพระคัมภีร์ไบเบิล ณ ประเทศอิสราเอล กับสถาบันที่ส่งเสริมศาสนาคริสต์แห่งหนึ่ง  โดยมีกำหนดเดินทางวันที่ 4-10 ม.ค. 2567  จำนวน 3 คน ราคามัดจำคนละ 15,000 บาท รวมทั้งสิ้น  45,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมและรัฐบาลอิสราเอลแจ้งว่าสงครามจะยืดเยื้อไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน คุณส้มรินและครอบครัวจึงเป็นกังวลต่อความปลอดภัยในการเดินทางจึงได้ติดต่อขอยกเลิกทัวร์และขอคืนค่ามัดจำ ซึ่งผู้จัดทัวร์ได้แจ้งคุณส้มรินว่าได้นำเงินชำระค่ามัดจำกับสายการบินแอล อัลอิสราแอร์ไลน์ (LY) ไปแล้ว ซึ่งสายการบินได้แจ้งว่า กรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางตั้งแต่เดือน ต.ค. - พ.ย. สามารถเลื่อนทัวร์ได้ แต่ยกเลิกไม่ได้ ส่วนกรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางในปี 2567 ไม่สามารถเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางได้         คุณส้มรินเห็นว่าการจำเป็นต้องยกเลิกทัวร์เป็นเหตุมาจากภัยสงครามไม่ได้เกิดปัญหาจากตัวเธอ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณส้มรินว่าหากผู้ซื้อทัวร์แจ้งขอยกเลิกให้ผู้จัดทัวร์ทราบล่วงหน้า 30 วัน (หรือเกิน 30 วันไปแล้ว) และยังไม่ได้รับเงินคืนสามารถแจ้งเพิ่มเติมได้ที่กรมการท่องเที่ยว เนื่องจากประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ในข้อ 4 (1) ว่า ‘ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันที่นำเที่ยวให้คืนในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’ และในข้อ 5 ยังระบุว่า ‘ในกรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกการนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยมิใช่ความผิดของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายเงินค่าบริการคืนแก่นักท่องเที่ยวในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’         อย่างไรก็ตามเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องของคุณส้มรินแล้วจึงติดต่อไปยังสถาบันผู้จัดทัวร์ดังกล่าว ซึ่งทางสถาบันฯ ได้แจ้งว่า “ปัจจุบันผู้จัดทัวร์ได้ติดต่อกลับคุณส้มรินแล้ว และแจ้งว่าถ้าคุณส้มรินต้องการเดินทางต่อสามารถเลื่อนออกไปก่อนได้จนกว่าจะพร้อม แต่ถ้าไม่ประสงค์ที่จะเดินทางต่อผู้จัดทัวร์จะคืนเงินมัดจำให้คุณส้มรินทั้งหมด”         ดังนั้นประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 เป็นกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ประชาชนศึกษาอย่างละเอียดก่อนการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวทุกครั้ง  

อ่านเพิ่มเติม >