ฉบับที่ 263 อาการป่วยกำเริบ จากอาหารเสริมในโลกออนไลน์

        ปัจจุบันในโลกออนไลน์มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมขายอย่างมากมาย พร้อมทั้งมีคำโฆษณาแบบเกินจริงของสรรพคุณที่นำมาหลอกล่อและกระตุ้นให้ผู้บริโภคอย่างเราซื้อสินค้า  โดยที่ผู้ซื้อหลายคนก็คงไม่ทราบเลยว่า “ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาสรรพคุณเกินจริงเหล่านั้น จะสามารถช่วยได้จริงอย่างที่โฆษณาไหม และมีผลอันตรายอะไรไหมหากเรากินเข้าไป” และยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคหลายคนมักเลือกที่จะกินอาหารเสริมมากกว่าที่จะไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่ถูกต้อง         เหมือนเรื่องราวของคุณเอก ที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเรื่องราวมีอยู่ว่าคุณเอกซึ่งมีอายุมากแล้ว มีอาการปวดข้อเข่ามาก วันหนึ่งเผอิญไปเห็นโฆษณาในเฟซบุ๊ก เป็นอาหารเสริม “เม็ดฟู่” มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัว “B” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่า พร้อมทั้งในเฟซบุ๊กที่ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวนี้นั้น มีรูปนายแพทย์ท่านหนึ่งโปรโมทอยู่เลยทำให้คุณเอกนั้น รู้สึกมั่นใจและเชื่อที่จะซื้ออาหารเสริมตัวนั้นเป็นจำนวน 3 หลอด แถมอีก 1 หลอด เป็นเงิน 3,490 บาท เมื่อเขาได้อาหารเสริมมารับประทานได้ 2 วัน ก็มีคุณพลอยซึ่งอ้างว่าเป็นพยาบาลโทรมาสอบถามถึงผลลัพธ์ของยา         ต่อมาอีก 3-4 วัน ปรากฏว่าอาการของคุณเอกนั้นไม่ดีขึ้นเลยกลับมีผลข้างเคียง คือ ปัสสาวะบ่อยขึ้น 5-6 ครั้ง/คืน ซึ่งทางคุณเอกก็ได้บอกว่าเขารู้สึกว่ามันรบกวนเวลานอนพักผ่อนของเขาเป็นอย่างมาก  เขาจึงพยายามที่จะติดต่อนายแพทย์ท่านนั้น ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งเมื่อเขาติดต่อนายแพทย์ท่านนั้นไม่ได้ก็เลยติดต่อคุณพลอยที่อ้างว่าเป็นพยาบาลและได้บอกกล่าวถึงอาการปัสสาวะบ่อยของเขา ทางพยาบาลคุณพลอยก็บอกว่ายอมรับว่าผลข้างเคียงคืออาการปัสสาวะบ่อย...อ้าวตอนขายไม่เห็นบอก และเธอบอกว่าจะแจ้งให้นายแพทย์ท่านนั้นทราบอีกครั้ง         คุณเอกนึกสงสัยเลยถามถึงที่อยู่ของนายแพทย์ท่านนั้นและนำไปเช็กกับทางนิติบุคคลสถานที่ที่ได้ข้อมูลจากคุณพลอย แต่พบว่าไม่มีชื่อดังกล่าวอยู่ที่ตึกแห่งนั้นประกอบกับข้อมูลเดิมที่ทางคุณเอกไปเช็กว่าไม่ได้มีบุคคลดังกล่าวอยู่ในทำเนียบแพทย์สภาอีกด้วย ทำให้คุณเอกคิดได้ว่าเขาคงถูกหลอกลวงแน่ๆ พร้อมทั้งเมื่อลองดูทั้งผลิตภัณฑ์ก็พบว่าไม่มีเครื่องหมาย อย. และไม่มีเอกสารกำกับอะไรเลย ทางคุณเอกแน่ใจล่ะว่าโดนหลอกแน่นอน จึงได้ร้องเรียนมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคควรจะทำอะไรอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นทางคุณเอกได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้ว พร้อมทั้งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังออกหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และกองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป         ทั้งนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากให้ผู้บริโภคหลายๆ คน ลองศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ทางออนไลน์ สังเกตว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่กำลังจะซื้อ หรือมาแล้วนั้นมีเครื่องหมาย อย. หรือไม่ หากไม่มีก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน นอกจากนี้ ถ้ามีการอ้างถึงบุคลากรทางการแพทย์ก็ควรตรวจสอบก่อนที่จะซื้อว่าในแพทย์สภา มีบุคคลดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยส่วนมากอาหารเสริมหลอกลวงต่างๆ มักจะมีโฆษณาที่เกินจริงหายได้ภายในไม่กี่วันหรือในระยะเวลาสั้นๆ หากใครที่เห็นแบบนี้ก็ควรจะระมัดระวังและไม่หลงเชื่อโดยง่ายเพื่อความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ระวัง เผลอกดลิงก์แอปฯเงินกู้ มือถือโดนดูดข้อมูล ถูกประจานว่าหนีหนี้

        ภัยออนไลน์เดี๋ยวนี้มีมาสารพัดรูปแบบ หากไม่ระมัดระวัง อาจตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพได้ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ให้ลูกเล็กใช้มือถือดูการ์ตูนหรือเล่นเกมต่างๆ  เด็กๆ อาจเผลอกดลิงก์อันตรายที่เด้งขึ้นมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เหมือนอย่างลูกชายของคุณขวัญใจก็ได้         คุณขวัญใจเล่าว่า วันหนึ่งลูกชายวัย 2 ขวบ หยิบโทรศัพท์มือถือของเธอไปเล่น แล้วบังเอิญไปจิ้มกดโหลดแอปฯ เงินกู้เงินด่วนฟ้าผ่า ผ่านลิงก์จากโฆษณาในยูทูป หลังจากนั้นเธอก็โดนแอปฯ นี้ ดูดเอาข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างในมือถือไปใช้ โดยพวกมิจฉาชีพได้โทรไปหลอกทุกคนที่มีรายชื่อในคลังเบอร์โทรศัพท์ของเธอว่า เธอได้กู้เงินจากแอปฯไปแล้วไม่ชำระคืน และยังพูดข่มขู่ให้พวกเขาจ่ายเงินคืนแทนเธอด้วย อีกทั้งยังนำรูปของเธอที่อยู่ในโทรศัพท์ไปโพสต์ประจานตามสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายมาก จนเธอต้องถูกไล่ออกจากงาน คุณขวัญใจจึงได้นำเรื่องนี้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา ในกรณีนี้คุณขวัญใจยังไม่สูญเสียเงินให้แก่มิจฉาชีพแต่อย่างใด ทางมูลนิธิฯ จึงแนะนำดังนี้        1. รีบดำเนินการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ให้พนักงานสอบสวน ตำรวจ สืบหาผู้กระทำความผิด หรือมิจฉาชีพ หรือคนร้ายดังกล่าว ในการหลอกดูดข้อมูลคลังเบอร์โทรศัพท์ที่มีอยู่ในมือถือไปใช้        2. รีบติดต่อทางไลน์ หรือทางเฟซบุ๊ก หรือโทรติดต่อกับทุกรายชื่อที่มีเบอร์บันทึกไว้ในมือถือ เพื่อแจ้งให้พวกเขารู้ว่า ตอนนี้มือถือของตัวเองถูกดูดข้อมูลไป ถ้ามีคนร้ายหรือมิจฉาชีพโทรไปขอให้โอนเงินมาใช้หนี้แทนตน อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 มีอะไรในซีเรียลไม่รู้...แต่ขอใช้สิทธิไว้ก่อน

        การเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารเป็นเรื่องที่เจอกันบ่อยครั้ง เมื่อพบเจอจึงยิ่งต้องช่วยกันบอกเล่า เพื่อทำให้สังคมเราดีขึ้น เช่นเรื่องราวของคุณคิม             เรื่องราวเริ่มเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม  ทุกวันศุกร์ คุณคิมจะไปซื้อของกินของใช้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านแห่งหนึ่งเสมอ และอาหารที่ซื้อเป็นประจำคือซีเรียล เพื่อรับประทานเป็นอาหารเช้ากับกาแฟ         เช้าวันต่อมา คุณคิมแกะซีเรียลยี่ห้อ ‘ซ’ กินเพียงคำแรกก็รู้สึกได้ถึงความผิดปกติที่ซีเรียลไม่กรอบเหมือนเช่นเคย คุณคิมจึงกินอีกคำต่อมา ช้าๆ แล้วยิ่งแน่ใจว่าซีเรียลไม่กรอบจริงๆ  คุณคิมจึงหยุดกินและเทซีเรียลจากห่อลงในชามทั้งหมด เขี่ยๆ ดูพบก้อนดำๆ ขนาดใหญ่บนซีเรียลชิ้นหนึ่ง และจุดดำๆ กระจายคล้ายเชื้อราในอีกชิ้น  คุณคิมเป็นคนรักสุขภาพมาก มักจะอาหารเป็นพิษเสมอๆ จึงระมัดระวังเรื่องอาหารเป็นพิเศษอยู่แล้ว เมื่อมาเจออาหารเป็นแบบนี้ คุณคิมจึงตกใจมาก        คุณคิมดูวัน เดือน ปี ที่ผลิต พบว่ายังไม่หมดอายุคุณคิมก็เบาใจ แต่ยังเธอยังคงติดใจ กังวล  เพราะซีเรียลยี่ห้อดังกล่าว เป็นยี่ห้อที่เธอรับประทานเป็นประจำทุกเช้า หากยังติดใจ คลายสงสัยไม่ได้ ทุกครั้งที่เธอรับประทานซีเรียลยี่ห้อนี้ในวันต่อไป เธอก็จะกังวลกลับมาคิดถึงก้อนดำๆ นี้ทุกครั้ง  คุณคิมจึงไม่ปล่อยผ่านเข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิฯ รับเรื่องร้องเรียนไว้และให้คุณคิม ทำบันทึกรายละเอียดการซื้อผลิตภัณฑ์ ปัญหาที่พบและแนะนำให้แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันความเสียหาย  นอกจากนี้ คุณคิมคิดว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้านี้ก็ควรจะได้รับรู้ปัญหาด้วยเช่นกัน  เย็นวันเดียวกันหลังจากร้องเรียนที่มูลนิธิฯ แล้ว เธอจึงกลับไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแจ้งปัญหาที่พบทันที         ซูเปอร์มาร์เก็ตดังกล่าว ตื่นตัวมากหลังจากคุณคิมแจ้งเรื่องแล้ว ก็ติดต่อไปยังบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายซีเรียลโดยตรง และคุณคิมได้พูดคุยกับฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคของบริษัทซึ่งได้แจ้งให้คุณคิมนำสินค้ามาเปลี่ยน หรือขอรับเงินคืน ซึ่งคุณคิมไม่พอใจ เพราะสำหรับเธอแล้ว  เธอไม่ได้อยากได้เงิน 40 กว่าบาทคืน แต่ในฐานะผู้บริโภค เธอเป็นห่วงสุขภาพตัวเอง เธออยากได้ความสบายใจ วางใจในความปลอดภัยทุกครั้งที่รับประทานอาหาร เธอจึงไม่รับข้อเสนอของเจ้าหน้าที่และแจ้งข้อเสนอของเธอ 2 ข้อคือ        1. ให้บริษัทพาเธอไปตรวจร่างกาย เพราะวันที่รับประทานซีเรียลที่มีปัญหา วันนั้นร่างกายของเธอแปรปรวนอย่างมาก ท้องเสียถึง 2 ครั้ง        2. ให้นำซีเรียลชิ้นที่พบก้อนดำ และจุดดำๆ คล้ายเชื้อรา ไปตรวจในห้องแล็บที่เชื่อถือได้ และแจ้งผลว่าคืออะไร         วันต่อมาผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ก็โทรมาหาคุณคิมและขอโทษด้วยดีและให้คุณคิมเลือกโรงพยาบาลที่สบายใจที่สุดเพื่อไปตรวจสุขภาพ และบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจทั้งหมด เย็นวันนั้นเองคุณคิมจึงเลือกโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านและไปตรวจสุขภาพกับตัวแทนของบริษัท ซึ่งคุณหมอได้แจ้งคุณคิมว่าร่างกายของเธอปกติดี และคุณคิมรับประทานซีเรียลที่มีปัญหาในปริมาณไม่มาก จึงไม่มีผลเป็นอันตรายต่อสุขภาพ         คุณคิมให้คุณหมอยืนยันความเห็นเป็นหนังสือ รับรองไว้เพื่อเป็นหลักฐานทางการแพทย์ บริษัทจ่ายค่าตรวจสุขภาพให้คุณคิมราว 1,200 บาท ส่วนตัวอย่างซีเรียลชิ้นที่มีปัญหา บริษัทได้ส่งตรวจแล็บที่เชื่อถือได้ตามข้อเสนอของคุณคิมทุกประการ วันที่ตรวจสุขภาพ ตัวแทนของบริษัทแจ้งว่า วันรุ่งขึ้นจะส่งกระเช้าของขวัญไปขอโทษคุณคิมอีกครั้ง คุณคิมจึงนัดหมายบริษัทมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ชี้แจงกับตัวแทนของบริษัทว่า กรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ไม่ปลอดภัยจากอาหาร  มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย เยียวยาจากบริษัทได้ คุณคิมจึงตกลงกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องค่าเสียหาย 5,000 บาท ตัวแทนของบริษัทนำเรื่องกลับไปหารือกับฝ่ายกฎหมายของบริษัทระหว่างนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ติอต่อประสานกับบริษัทยืนยันถึงสิทธิของผู้บริโภคที่สามารถได้รับการเยียวยา และภายใน 1 สัปดาห์  คุณคิมก็ได้รับเงินดังกล่าวเต็มจำนวนที่เรียกไป ใน 1 เดือนต่อมา บริษัทได้แจ้งผลการตรวจสอบจากในห้องแล็บมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคุณคิมผลการตรวจพบว่า ก้อนดำที่พบเป็นชิ้นส่วนที่เกิดจากการไหม้จากการอบซีเรียล ไม่ใช่เชื้อราแต่อย่างใด         คุณคิมได้คำตอบที่คลายความกังวลใจ และภูมิใจที่การใช้สิทธิผู้บริโภคของเธอได้รับการตอบสนองด้วยดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 หนุ่มงง! ถูกจับข้อหาใช้ป้ายแดงปลอม

        ข้อมูลจาก "กรมการขนส่งทางบก" ระบุว่า ป้ายแดงที่ถูกกฎหมายนั้นไม่มีขาย แต่มีอยู่ในความครอบครองของบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งมีไว้ใช้ติดรถเพื่อนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซมเท่านั้น โดยต้องใช้ควบคู่กับสมุดคู่มือประจำรถด้วย ดังนั้น ถ้าใครซื้อรถใหม่ติดป้ายแดงมาแล้วไม่มีสมุดคู่มือประจำรถมาด้วย ไม่ว่าเซลล์จะอ้างอย่างไร ก็อย่าเพิ่งรับรถ ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงเกิดความเสียหายอย่างคุณนพได้         ย้อนไปเมื่อกรกฎาคม 2565 คุณนพตั้งใจจะซื้อรถกระบะแบบมีคอกเอาไปใช้ขนส่งมะพร้าวแห้ง ได้เช็กโปรโมชั่นของหลายๆ ยี่ห้อ จนไปสะดุดตาโฆษณาบนเฟซบุ๊กที่เขียนว่า รีโวกระบะแต่งคอก รับรถเพียง 9,000 จึงโทร.ติดต่อไปคุยกับผู้จัดการศูนย์รถยนต์แห่งหนึ่งย่านตลิ่งชัน ทางผู้จัดการก็ได้ส่งให้คุยกับทางเซลล์ต่อ โดยเซลล์ขอให้แอดไลน์ส่วนตัวเพื่อส่งรูปภาพรถตัวอย่างมาให้ดู เมื่อได้คุยไลน์กับเซลล์เกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ เขาก็ประทับใจที่เซลล์คนนี้ดูมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจความต้องการของลูกค้าดี และสรุปราคาทุกข้อตกลงกันเป็นที่น่าพอใจ เขาจึงเข้าไปที่โชว์รูม พอได้ทดลองขับรถจริงแล้วก็ยิ่งถูกใจ จึงตัดสินใจซื้อและได้นัดทำสัญญากับไฟแนนซ์เลย         ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม คุณนพไปรับรถที่ศูนย์ เซลล์ถามว่าจะให้ติดป้ายแดงเลยไหม เขาบอกให้ติดได้เลยและขอสมุดเล่มป้ายแดงด้วย แต่ทางเซลล์แจ้งว่ายังไม่มี เนื่องจากทางขนส่งทำไม่ทันเพราะติดโควิด และรับปากว่าถ้าเสร็จแล้วจะรีบส่งให้ โดยเซลล์ได้ให้ความมั่นใจว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นให้โทร.หาได้ตลอด ในวันนั้นคุณนพจึงขับรถกระบะป้ายแดงกลับบ้านโดยไม่ได้เอะใจอะไร         แต่ขับรถป้ายแดงคันนี้ได้ไม่ถึงเดือน เขาก็โดนตำรวจจับข้อหาใช้ป้ายทะเบียนปลอม         วันนั้นระหว่างที่เขาขับรถกลับจากต่างจังหวัดเพื่อมายังที่พัก โดยใช้เส้นทางบูรพาวิถี กม.6 ต. บางแก้ว อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ ขณะที่กำลังเข้าช่องผ่านเงินเก็บค่าผ่านทาง ตำรวจโบกเรียกระหว่างออกจากช่องจ่ายเงิน และขอดูใบขับขี่ เขาจึงหยิบให้ดู แต่พอตำรวจขอดูสมุดคู่กับป้ายแดง เขาบอกไปว่าไม่มีเพราะเซลล์ไม่ได้ให้มา ตำรวจจึงให้ชิดช่องทางและเดินดูรถโดยรอบก่อนจะแจ้งว่าเขาใช้ป้ายทะเบียนปลอม พร้อมแจ้งข้อหาจับกุมในฐานปลอมแปลงเอกสารทางราชการ จากนั้นตำรวจก็ขับรถพาเขาไปที่จุดพักรถบนทางด่วน ถอดป้ายทะเบียนออกมาเป็นของกลาง เขียนบันทึกการจับกุมและอ่านให้เขาฟัง แล้วพาไปสอบสวนต่อที่พอสถานีตำรวจภูธรบางแก้ว เขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของตำรวจและได้โทร.หาเซลล์ให้รีบมาประกันตัวเขา ระหว่างนั้นเขาต้องเข้าไปนั่งในห้องขังประมาณ 3-4 ชั่วโมง กว่าเซลล์จะมาถึงและทำเรื่องประกันตัวจำนวน 50,000 บาท แล้วตำรวจยังบอกให้รอเรื่องที่กำลังส่งป้ายทะเบียนไปที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อให้ตรวจสอบว่าจริงหรือปลอมด้วย ถ้าปลอมก็จะได้ทำสำนวนฟ้องศาลต่อไป         คุณนพคิดว่าเขาไม่ได้เป็นคนผิด แต่ทางเซลล์ของโชว์รูมรถยนต์ต่างหากที่เป็นคนเอาทะเบียนปลอมมาติดให้ ทำให้เขาได้รับความเสียหาย จึงได้นำเรื่องมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้เกี่ยวข้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณนพไปแจ้งความที่สถานีตำรวจตลิ่งชัน เกี่ยวกับป้ายทะเบียน ซึ่งทางศูนย์รถยนต์เป็นผู้ที่ให้มาไม่ใช่เป็นของคุณนพ ซึ่งการแจ้งความถือเป็นการหาพยาน ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องจริงไม่ใช่เป็นการกล่าวหา เพราะถ้าโกหกก็ถือว่าแจ้งความเท็จ         คดีแพ่ง –คุณนพเรียกค่าเสียหายจากบริษัทรถยนต์ โดยการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกัน แต่หากตกลงกันไม่ได้ ผู้ร้องก็ยังสามารถฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้ ซึ่งในเคสนี้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัทรถยนต์ เพื่อให้เร่งเยียวยาค่าเสียหายให้กับทางผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว (จากนั้นมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันหลายครั้ง และคุณนพได้เล่าเรื่องนี้ออกสื่อต่างๆ จนได้รับความสนใจ ในที่สุดคู่กรณีก็ตกลงกันได้แล้วเมื่อธันวาคม 2565)         คดีอาญา – คุณนพถูกตำรวจตั้งข้อหาใช้ทะเบียนรถปลอม เข้าข่ายกรณีใช้เอกสารทางราชการปลอม เมื่อถึงศาลผู้ร้องจะต้องมีเงินวางประกัน เป็นจำนวนประมาณ 60,000 บาท แต่ถ้าไม่มีเงินประกันผู้ร้องจะต้องไปที่ศาลตรงชั้น 1 จะมีการซื้อประกันอิสรภาพ ซึ่งจะมีตัวแทนของประกันเช่น วิริยะประกันภัย ทิพยประกันภัย ช่วยในส่วนนี้ ซึ่งจะต้องเสียเงินประมาณไม่เกิน 20,000 บาท แต่ต้องมีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ญาติมาเป็นคนค้ำประกันด้วย ซึ่งในส่วนของผู้ค้ำประกันนั้นบุคคลธรรมดาจะต้องมีตำแหน่งซี 3 ขึ้นไป และถ้าเป็นตำรวจจะต้องเป็นชั้นสัญญาบัตร และผู้ร้องต้องนำเอกสารต่าง ๆ เช่น สลิปเงินเดือนไปแสดงด้วย (ในคดีนี้ ทางอัยการจังหวัดสมุทรปราการได้เข้ามาช่วยเหลือเพื่อไม่ให้มีการสั่งฟ้อง) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 โดยสารด่วนที่ยังด่วนไม่ได้ของ รถไฟฟ้า BTS

        ในเวลาเร่งด่วน  เชื่อว่าหลายๆ คนก็มักจะเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะที่รวดเร็ว ทันใจ รถออกตามเวลาที่กำหนดเพราะคาดหวังว่าจะช่วยให้สามารถเดินทางไปถึงที่หมายได้ตามเวลาที่ตั้งใจ แต่เรื่องของคุณนิคสะท้อนว่า แม้ผู้บริโภคจะจ่ายค่าโดยสารในราคาเร่งด่วน แต่ก็ยังไม่ได้รับบริการที่สามารถเดินทางไปได้ด่วนอยู่ดี         เรื่องมีอยู่ว่า  คุณนิค ก็เหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่ต้องจำเป็นต้องใช้ รถไฟฟ้า BTS ในเวลาเร่งด่วนคือช่วงเวลา 17.00- 17.30 น. ในเวลาดังกล่าวคุณนิคสังเกตว่าผู้โดยสารจำนวนมากต่อแถวรอซื้อบัตรจนเป็นแถวยาว คุณนิคจึงพยายามหลีกเลี่ยง และเพื่อความรวดเร็วจึงซื้อบัตรจากตู้ระบบอัตโนมัติ ด้วยการสแกน QR CODE ไม่ต้องแลกเหรียญ ไม่ใช้เงินสด แต่ครั้งนี้ คุณนิคกลับพบว่า ระบบตู้อัตโนมัติทำงานได้ล่าช้าอย่างมาก หลังจากที่ได้สแกนจ่ายแล้ว  คุณนิครอรับบัตรโดยสารเป็นเวลากว่า 10 นาที เพราะเกรงใจคนที่ยืนต่อแถวข้างหลัง และด้วยความรีบที่จะไปทำธุระต่อ คุณนิคจึงตัดใจเดินออกมาและก็พบว่า ทั้งช่องซื้อบัตรโดยสารกับพนักงาน  ช่องแลกเหรียญแถวยาวมาก จึงหาจังหวะกลับไปซื้อบัตรโดยสารจากระบบตู้อัตโนมัติอีกครั้งในตู้ใหม่ที่อยู่ถัดออกมา การซื้อครั้งที่ 2 คุณนิคยังใช้เวลารอนานกว่า 5 นาทีกว่าบัตรโดยสารจะจ่ายออกมา เมื่อได้รับบัตรแล้ว  คุณนิคจึงรีบวิ่งขึ้นบันไดเลื่อนเมื่อมองลงมายังพบว่า ตู้ระบบอัตโนมัติที่คุณนิคได้สแกน QR CODE ในครั้งแรกหน้าจอยังคงหมุนค้าง  ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีผู้โดยสารมาต่อแถว และไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการอะไรแต่อย่างใด         คุณนิคติดใจการทำงานของตู้ระบบอัตโนมัติอย่างมาก เพราะระบบได้ตัดเงินจากแอปธนาคารของเธอไปแล้ว แต่กลับไม่ได้รับบัตรโดยสาร ที่สำคัญ BTS สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นการโดยสารด่วน ทันสมัยแต่ในครั้งนี้ คุณนิคกลับใช้เวลาซื้อบัตรโดยสารทั้ง 2 ครั้ง เกือบครึ่งชั่วโมง !!           ปัญหาตู้ระบบอัตโนมัติยังมีต่อมาในครั้งที่ 2  คุณนิคเป็นผู้โดยสารที่ต่อแถวรอซื้อบัตรโดยสาร ด้วยการสแกน QR CODE อีกครั้ง  ครั้งนี้ คนข้างหน้าเจอปัญหาเหมือนที่คุณนิคเคยเจอมาทุกอย่าง คุณนิคเห็นเธอสแกนเงินแล้ว และได้แต่รอบัตรโดยสาร คุณนิครู้ว่าหากยืนรอก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าระบบจะทำงานได้ตามปกติได้เมื่อไหร่ คุณนิคจึงตัดใจเดินไปต่อแถวซื้อบัตรโดยสารจากพนักงานเพราะขณะนั้นมีคนจำนวนไม่มากนักและคงจะเร็วกว่าได้แต่รอตู้อัตโนมัติที่ยังมีปัญหาอยู่แน่นอน  คุณนิคได้บัตรโดยสารแล้วและยังเห็นคนข้างหน้าเธอยังคงยืนรอบัตรโดยสารออกมาจากตู้!         ครั้งที่ 3 ที่ทำให้คุณนิคสุดทนจนมาเล่ากับฉลาดซื้อครั้งนี้ คือเธอซื้อบัตรโดยสารด้วยการ สแกน QR CODE และเจอกับเหตุการณ์ที่เหมือนกับครั้งแรกทุกอย่างคือ ระบบได้ตัดเงินจากแอปธนาคารของเธอไปแล้วแต่บัตรโดยสารไม่ออกมา คุณนิคโมโหมาก เพราะรับปากว่าจะไปทำธุระสำคัญให้ทันเวลา ซึ่งหากครั้งนี้ไปสแกนซื้อบัตรครั้งใหม่ เท่ากับว่าเธอจะเสียเงินฟรีให้ระบบซื้อตั๋วเป็นครั้งที่ 2 เธอจึงเดินไปบอกเจ้าหน้าที่ว่าตู้ไม่ยอมจ่ายบัตรจะต้องทำอย่างไร ปรากฏว่า พนักงาน BTS แจ้งให้คุณนิคไปต่อแถวผู้โดยสารที่กำลังรอซื้อบัตรโดยสารกับพนักงานเพื่อแสดงหลักฐานการจ่ายเงินแลกกับบัตรโดยสารได้ต่อไป    คุณนิคมองไปเห็นแต่แถวยาว จึงโมโหมากและบอกกับพนักงานไปว่า “กว่าจะได้สแกน ฉันก็ต่อแถวนานแล้ว พอสแกนแล้วระบบก็ไม่จ่ายบัตร  คุณก็ให้ไปต่อแถวใหม่ที่ยาวมาก ระบบมันมีปัญหาไม่ใช่ความผิดของฉันเลย ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วจะโดยสารด่วนได้ยังไง ถ้าต่อแถวใหม่กว่าจะถึงฉัน ฉันใช้เวลาซื้อบัตรเกือบ 40 นาทีนะ” แล้วคุณนิคก็จำต้องเดินไปต่อแถวที่ยาวมากดังกล่าว  จึงมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนิคและทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ข้อสรุปตรงกันว่า ควรจะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ BTS ดังต่อไปนี้เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในช่วงเวลาเร่งด่วนได้จริง คือ   1. BTS ควรหมั่นตรวจสอบระบบตู้ซื้อบัตรอัตโนมัติทั้งแบบ สแกน QR CODE และหยอดเหรียญ ว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีผู้ซื้อบัตรจำนวนมากยังสามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่  หากตู้มีปัญหาควรติดประกาศว่า ‘หยุดให้บริการชั่วคราว’เพราะหากเกิดปัญหา ล่าช้า ตู้ไม่สามารถจ่ายบัตรได้ ผู้โดยสารจะเสียเวลาซื้อบัตรนานมากกระทบต่อการใช้ชีวิต การเดินทาง เสียเงินโดยที่ไม่ได้รับบริการอีกด้วยBTS ควรจัดให้มีพนักงานและช่องบริการรับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นได้ในทุกสถานีขึ้นมาโดยเฉพาะ การที่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจากระบบของ BTS เองและให้ผู้โดยสารต่อแถวร่วมกับช่องขายบัตรเพื่อรอรับการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การให้บริการที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วขึ้นได้แต่อย่างใด อีกทั้งการเสนอช่องทางให้ร้องเรียนการให้บริการใน 3 ช่องทางผ่านทาง Message  Line และ Call ย่อมจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงหน้าให้แก่ผู้โดยสารได้แต่อย่างใด ช่องทางดังกล่าวจึงไม่พอเพียง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 นั่ง BOLT ไปตั้งนานเพิ่งรู้ว่า คนขับไม่ตรงปก

        ปัจจุบันเชื่อหลายคนจะมีแอปพลิเคชันเรียกรถติดมือถือไว้แอปใดแอปหนึ่งหรืออาจจะหลายแอป เพราะบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นอย่างมาก แต่นอกจากความสะดวกแล้วจากเรื่องราวของคุณหญิง อาจจะยิ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพความปลอดภัยเพิ่มด้วย           เรื่องมีอยู่ว่าไม่นานมานี้ คุณหญิงได้ไปกินสุกี้ จิ้มจุ่มกับเพื่อนรอบดึก แต่เมื่อจะกลับที่พักซึ่งเป็นเวลาตี 3 แล้วนั้น มือถือของคุณหญิงแบตหมดและเธอไม่กล้านั่งแท็กซี่กลับห้องพักเพราะเคยมีประสบการณ์ไม่สู้ดี จึงใช้มือถือของเพื่อนเรียกบริการรถผ่านแอปพลิเคชัน Bolt         หลังจากเรียกรถ  ราว 6 นาที รถก็มาถึง คุณหญิงแยกย้ายกับเพื่อนนั่งมากับคนขับที่ตลอดทางจะขับกระชากไปมา  ทั้งยังมีท่าทางหลุกหลิก เธอนึกเอะใจว่าคนขับไม่ค่อยปกติหรือเปล่า แต่ก็พยายามคิดข่มความกลัวในใจว่าเดี๋ยวแป๊บเดียวก็ถึงที่พักแล้ว แต่แล้วก็สะดุ้งตื่นจากห้วงความคิด เมื่อรถเริ่มกระตุกซ้ำๆ และคนขับบอกเธอว่า “พี่ครับๆ รถผมน้ำมันใกล้จะหมดแล้วครับ” คุณหญิง “หมายถึงจะขับได้อีกนานแค่ไหนนะคะ” คนขับตอนว่า “จะหมดเดี๋ยวนี้เลยครับ” ยังไม่ทันสิ้นเสียงคนขับ รถมอเตอร์ไซค์ก็เริ่มชะลอตัว คนขับอาศัยขณะยังบังคับรถได้เบี่ยงรถเข้าข้างทาง และรถก็จอดนิ่งสนิทพอดี         คุณหญิงมองไปรอบๆ ตัว ณ ที่ที่คนขับพามาถึงจุดที่ใกล้ที่พักของเธอมากแล้ว คนขับถามเธอว่า “เหมือนใกล้ถึงแล้วนะ พี่รู้ไหมว่า แถวนี้มีปั๊มน้ำมันตรงไหนไหม”  คุณหญิงไม่รู้เพราะเธอไม่เคยขับรถใดๆ และบอกให้คนขับใช้ google map ค้นหาปั๊มน้ำมันที่ใกล้ที่สุด  แต่จังหวะที่คนขับรถกำลังขยายแผนที่ในจอโทรศัพท์  แบตโทรศัพท์มือถือของเขาก็ดับวูบไปทันที  จังหวะนั้นเอง วัยรุ่น ชาย 1 หญิง 2 ที่นั่งคุยกันอยู่ริมถนนก็เข้ามาทักว่า เกิดอะไรขึ้น มีอะไรให้ช่วยไหม เธอเลยบอกว่า รถน้ำมันหมด น้องวัยรุ่นผู้ชายจึงอาสาช่วยให้คนขับเกี่ยวรถของเขาไปหาปั๊มน้ำมัน          คุณหญิงมองไรเดอร์ที่เกี่ยวรถไปหาปั๊มน้ำมันแล้วก็หนักใจเพราะทั้งเธอและคนขับรถต่างแบตโทรศัพท์หมดแล้วจะติดต่อกันได้อย่างไร และจะมีปั๊มน้ำมันในระยะใกล้ๆ นี้หรือไม่ แล้วที่สำคัญเขาจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่เมื่อเห็นวัยรุ่นผู้หญิง 2 คน ที่นั่งรอด้วยอยู่ห่างๆ จึงพออุ่นใจขึ้นมาบ้าง         ผ่านไปราว 15 นาที คุณหญิงจึงตัดใจว่า จะโบกแท็กซี่ไปที่พักดีกว่าและจะติดต่อกับคนขับในวันรุ่งขึ้นเพื่อคืนหมวกกันน็อคให้เขาต่อไป ขณะที่ยืนเรียกแท็กซี่ น้องวัยรุ่นผู้ชายก็ขับรถกลับมา คุณหญิงดีใจคิดว่าคงได้เติมน้ำมันแล้ว แต่น้องวัยรุ่นผู้ชายกลับบอกว่า “รถผมมันใหญ่พี่ ตอนเกี่ยวมันลากไปเงอะงะๆ เขาเลยขอเข็นรถไปเอง หรือจะไปขอเกี่ยวรถคนอื่นไปต่อหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้ แต่ผมมารับเพื่อน แล้วจะไปกันแล้วนะพี่” แล้ววัยรุ่นทั้ง 3 คนก็ขับรถออกไป (อ้าวทิ้งกันเสียแล้ว) คุณหญิงยิ่งหนักใจ และยืนโบกแท็กซี่ต่อไป แท็กซี่ผ่านเธอไป 2 – 3 คัน ไม่มีคันไหนรับ อาจเพราะคนขับแท็กซี่ก็คงจะต้องกลัวผู้โดยสารที่มายืนโบกรถตอนเกือบจะตี 4 ด้วยเหมือนกัน จึงไม่มีคันไหนรับเลยสักคัน  ผ่านไปราว 40 นาที คนขับรถยังไม่กลับมา ไม่แน่ว่าถ้าเจอปั๊มน้ำมันแล้ว เขาอาจจะขอชาร์ทแบตโทรศัพท์ต่อก็ได้ นั่นแปลว่าเขาก็จะใช้เวลาต่อไป แต่...แล้วในที่สุดเขาก็ขับรถกลับมาพร้อมกับขอโทษขอโพยมากมายที่ปล่อยให้ต้องรอ         คุณหญิงทั้งกลัวที่ต้องยืนอยู่คนเดียวและโกรธคนขับที่ไม่เตรียมความพร้อมขณะทำงาน ทำให้ทั้งน้ำมันและแบตโทรศัพท์หมดและมีปัญหาแบบนี้   วันต่อมาเธอจึงขอเพื่อนดูประวัติคนขับ ตอนนี้โป๊ะแตก เธอพบว่า คนที่ขับไปส่งเธอเป็นคนละคนกับที่มีข้อมูลในบัญชีผู้ขับ  เพื่อนสาวของเธอยังบอกว่า “ถ้าไประยะไกล  เราไม่ชอบใช้แอปนี้นะ เพราะยังไม่ตรวจประวัติคนขับ” คุณหญิงคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากเพราะเท่ากับเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า คนขับรถที่ให้บริการอยู่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร จะเชื่อมั่นและปลอดภัยได้แค่ไหน แต่คุณหนิงยังไม่เชื่อเพื่อนเสียทีเดียว หลังจากนั้นเมื่อได้ใช้บริการ bolt อีก จึงถามขับเสมอๆ ประมาณเลียบเคียงหาข้อมูลว่า ถ้าตนเองอยากสมัครขับรถบ้าง ยากไหม คำตอบคือ “ไม่ยากเลยครับ ตอนนี้เขายังไม่ตรวจประวัติด้วย พี่รีบสมัครเลยครับ”           เธอหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า Bolt เปิดให้บริการขนส่งในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการสร้างภาพจำว่า ยกเว้นการเก็บค่าคอมมิชชันจากคนขับ ทำให้ค่าโดยสารถูกกว่าแอปอื่นๆ ถึง 20% โดยก่อนหน้านี้ ได้ให้บริการในโซนยุโรปและแอฟริกามาแล้ว   เธอไม่อยากเชื่อเลยว่าบริษัทที่ให้บริการระดับนานาชาติแบบนี้จะขาดการตรวจสอบคุณภาพของคนขับแบบร้ายแรงแบบนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องเล่านี้คุณหญิงได้สอบถามมายัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมข้อเสนอที่ฝากให้มูลนิธิช่วยดำเนินการต่อ คือ Bolt  ควรพัฒนาระบบสมัครคนขับ ให้สามารถคัดกรองคนขับที่มีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงเพิ่มเติมความปลอดภัยในเรื่องอื่นๆ เช่น มีข้อกำหนดให้คนขับ ต้องมีหมวกกันน็อคให้ผู้โดยสารสวมใส่ ทุกครั้งที่ให้บริการ  ข้อห้ามไม่ให้คนขับพาลูกหรือหลานไปด้วย  เนื่องจากรถจักรยานยนต์เป็นรถขนาดเล็ก ไม่เหมาะสมที่จะโดยสาร 3 คน และที่สำคัญเพื่อสิทธิความปลอดภัยของตัวเด็กเอง  เหล่านี้คือปัญหาที่คุณหญิงได้สังเกตและยังพบเจอได้เสมอ Bolt จึงควรเร่งพัฒนาปรับปรุงระบบ เพราะเมื่อเข้าไปกรอกสมัครเป็นผู้ขับตอนนี้จะพบว่ายังไม่มีข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยสักเรื่องเลย          เรื่องนี้ทาง มพบ.จะแจ้งต่อยังผู้ให้บริการและส่งเรื่องถึง กรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ปัจจุบัน (ธันวาคม 2565) กรมการขนส่งฯ ได้รับรองแอปบริการรถยนต์รับจ้างแล้วถึง 6 แอปอย่างถูกกฎหมาย ได้แก่ โรบินฮู้ด Robinhood , แกร็บ Grab , ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส Hello Phuket Service , เอเชีย แค็บ Asia Cab , บอนกุ Bonku และแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอป Airasia Super App   ถ้าผู้โดยสารพบความผิดปกติของคนขับทั้งพฤติกรรม ท่าทาง หรือการโกงใด ๆ สามารถงดจ่ายค่าโดยสารตามที่แอปพลิเคชันกำหนดได้ทันที พร้อมแจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กรมการขนส่งทางบก โทร.1584 ได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 โดนเก็บเงินค่ามอเตอร์ไซต์เกินราคา

การใช้บริการรถรับจ้างไม่ว่าจะรถมอเตอร์ไซต์ รถแท็กซี่ ฯลฯ นอกจากจะต้องระวังเรื่องความปลอดภัยแล้ว ก็คงไม่พ้นที่จะต้องระวังเรื่องการฉวยโอกาสคิดเงินเกินราคาของคนขับที่มีข่าวให้เห็นกันบ่อยๆ  ไม่ว่าจะชอบคิดเหมาๆ ไม่ยอมคืนเงินทอน หรือไม่กดมิเตอร์ เหมือนกับที่คุณน้ำตาล ซึ่งชอบนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆ เรื่องราวมีอยู่ว่าโดยปกตินั้นเธอมักจะนั่งรถมอเตอร์ไซต์ช่วงเย็นตอนกลับบ้านเนื่องจากมันสะดวกและเร็วดี วันเกิดเหตุเธอต้องแวะไปซื้อของที่ห้างใกล้บ้าน เธอจึงเลือกนั่งรถไฟฟ้าโดยให้เลยไปอีกหนึ่งสถานีซึ่งติดกันกับห้างสรรพสินค้า         เมื่อจัดการธุระซื้อข้าวของที่ห้างฯ อย่างสบายใจ ตอนกลับเธอก็เลือกกลับด้วยมอเตอร์ไซต์เพราะไม่อยากหิ้วของขึ้นรถไฟฟ้าย้อนกลับ จึงลงไปเข้าแถวเพื่อต่อรถวินเตอร์ไซต์กลับบ้าน พอถึงคิวก็บอกพี่วินว่าไป อพาร์ทเม้นท์.....ค่ะ  ครั้นพอมาถึงที่หมายปลายทางก็จ่ายพี่วินไป 30 บาท (เธอนั่งประจำ) แต่พี่วินบอก 35 บาทครับ ก็จ่ายไปโดยไม่คิดอะไร (ปกติ 30 บาท) เพราะตอนนั้นนึกว่าอาจจะขึ้นราคาแล้วก็ได้ก็น้ำมันมันแพง แต่...           “คือก็คิดว่าเรื่องราวจะจบลงไปแค่วันนั้นใช่ไหมคะ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นพออีกไม่กี่วันก็ไปขึ้นวินที่เดิมอีกแต่คราวนี้ยื่นแบงค์ 50 ไปพี่วินทอนมา 20 บาท”  อ้าว! ก็ 30 บาท เลยถามพี่คนขับ (คนละคนกับวันก่อน) ว่าวินขึ้นราคาแล้วไม่ใช่เหรอคะ พี่เขาก็ตอบว่าครับขึ้นราคาแล้วครับแล้วพี่วินก็ขี่รถไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เก็บเงินเธอเพิ่ม แม้จะงงๆ อยู่ แต่คุณน้ำตาลเชื่อว่า วันก่อนหน้านี้น่าจะคิดเกินราคาจริงแน่ๆ เพราะไม่ใช่ว่าเธอไม่เคยโดน สมัยตอนเป็นนักศึกษาเธอเคยโดนวินคิดเงินเกินราคาอยู่ แต่ที่ตอนแรกเธอไม่ได้เอะใจเพราะเธอไม่ได้นั่งนานแล้วจึงคิดอาจขึ้นราคาจริงๆ แต่พอมาเจออีกคันคิดแค่ 30 บาท จึงคิดขึ้นได้ว่าคงโดนซะแล้วววว  แถมตอนนี้จะให้ไปร้องเรียนกับใครก็คงไม่ได้เพราะเธอก็จำวินคันนั้นไม่ได้แล้ว จึงได้แต่มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้ระมัดระวังกันด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา                                   จริงๆ คุณน้ำตาลมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้บริโภคที่เจอประสบการณ์ดังกล่าวนั้น ได้ทราบถึงวิธีการร้องเรียนและแก้ไขปัญหาเพราะไม่อยากให้ปล่อยไปเหมือนคุณน้ำตาล เนื่องจากหากไม่ร้องเรียนวินมอเตอร์ไซต์บางที่ก็จะเอาเปรียบเราไปเรื่อยๆ ดังนั้นควรที่จะร้องเรียนเพื่อสิทธิของตนเอง วิธีการร้องเรียน มีดังนี้        1. จำเบอร์วินมอเตอร์ไซต์คันนั้นไว้ให้แม่น หรือ ชื่อ-นามสกุล        2.บันทึกทะเบียนไว้ หรืออาจจะถ่ายเก็บไว้ยิ่งดี        3.ควรจำเหตุการณ์ว่าเป็นวันไหน เวลาอะไร สถานที่เกิดเหตุที่ไหน        4. โทรไปร้องเรียนกับเบอร์ 1584 (กรมขนส่งทางบก) 24 ชั่วโมง และยังมีช่องทางอื่นๆ ได้แก่                4.1 Line ID “@1584dlt”                  4.2 เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/                4.3 E-Mail : dlt_1584complain@hotmail.com และ                4.4 เฟซบุ๊ก “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ”                      อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้บริการลองสอบถามราคาก่อนหรืออ่านป้ายแสดงราคา เพื่อไม่ให้พลาดพลั้งค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 พบเศษเชือกฟางในเมนู “ตำลึงผัดฉ่า”

        เจอกันบ่อยๆ อาหารที่สั่งจากดิลิเวอรี่มีของไม่พึงประสงค์มาอีกแล้วคุณน้ำตาลเข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เธอได้สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันสีชมพูเจ้าหนึ่งจากร้านย่านสุขุมวิท 34 โดยสั่งเมนู “ตำลึงผัดฉ่า” ซึ่งเป็นเมนูประจำที่เคยสั่งกับทางร้านและในอาหารก็มักจะเจอก้านตำลึงยาวๆ อยู่เป็นประจำซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ครั้งนี้ดันไม่ปกติ         ตอนที่เธอรับประทานเข้าไปแล้วสัมผัสในปากพบกับอะไรแปลกๆ ที่คิดว่าไม่น่าจะใช่ก้านตำลึงแน่ๆ คือมันเคี้ยวไม่แหลกเสียที จึงคายออกจากปากก็พบกับสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะคล้ายเชือกฟางเส้นบางๆ สีเขียว (เสียด้วย) ขนาดยาวเกือบครึ่งไม้บรรทัด หลังเจอเหตุการณ์ดังกล่าวเธอรีบติดต่อกับทางร้านเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบค่าเสียหายและการชดเชยเยียวยาทันที เพราะรู้สึกว่าถ้า ณ ตอนนั้นไม่เอะใจคายสิ่งแปลกปลอมออกมาแต่กลืนเข้าไปด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นก้านตำลึง อาจจะเกิดอันตรายต่อร่างกายหรือติดคอก็เป็นได้            ต่อมาเมื่อได้ติดต่อกับทางร้านอาหารเพื่อขอให้แสดงความรับผิดชอบ ผู้จัดการร้านอาหารดังกล่าวได้ยืนยันที่จะทำเพียงการคืนค่าอาหารและแจก Gift Voucher จำนวน 500 บาทให้เท่านั้น โดยพร้อมสาธยายถึงมาตรฐานวิธีการเด็ดผักของทางร้านให้ผู้ร้องฟังอยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้ร้องพยายามชี้แจงถึงความอันตรายของเส้นเชือกว่าหากรับประทานเข้าไปจะเกิดอันตรายอะไรได้บ้าง ทางร้านก็ได้บอกกลับผู้ร้องว่า “คงไม่ถึงขนาดนั้นหรอกมั้งครับ และนี่ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย”         น้ำตาลจึงคิดว่าการที่ร้านค้าประกอบอาหารให้ผู้บริโภครับประทานแต่เจอสิ่งแปลกปลอมที่อันตรายต่อผู้บริโภคแบบนี้ โดยที่ร้านอาหารดังกล่าวสามารถป้องกันได้แต่กลับประมาท ผู้ร้องจึงขอยื่นเรื่องให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือโดยต้องการเรียกร้องค่าเยียวยาการรับผิดชอบนี้เป็นจำนวนเงินที่ผู้ร้องเห็นว่าเหมาะสม แนวทางการแก้ไขปัญหา         เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อไปยังผู้ร้องเพื่อขอให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้กับทางสถานีตำรวจ เพื่อนำไปดำเนินการติดต่อการทางร้านอาหารและนัดไกล่เกลี่ย ต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปทางร้านอาหารดังกล่าวว่าได้ส่งหนังสือที่ขอเชิญเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย ทางร้านอาหารจะเข้าร่วมไหม? ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาว่า ไม่ขอเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย เพราะมั่นใจคุณภาพของร้านตนเองและผู้ร้องก็ไม่ได้รับประทานเข้าไปด้วย หากไม่พอใจในอาหารของร้านก็ยินดีคืนเงินให้กับผู้บริโภคตามที่บอกผู้ร้องไปตั้งแต่แรก        เมื่อนำคำตอบของร้านอาหารแจ้งกับผู้ร้อง และสอบถามว่ายังต้องการให้มีการเจรจาอีกหรือไม่ ผู้ร้องเองได้แจ้งว่าตนเองไม่สะดวกที่จะมาแล้ว อีกอย่างตอนนี้ตนเองก็ใจเย็นลงมาก เพราะในขณะเกิดเหตุการณ์นั้นค่อนข้างตกใจและไม่พอใจกับคำตอบของทางร้านอาหารเท่าไร ผู้ร้องจึงขอยุติเรื่องดังกล่าวไม่ขอดำเนินการต่อ พร้อมขอบคุณทางมูลนิธิฯ ที่ช่วยประสานงานให้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 หากลูกหนี้โดนข่มขู่ทวงหนี้ แจ้งความได้

        คุณชัดเจนเป็นลูกหนี้ที่ดีมาตลอด ถือคติ “ติดหนี้ ต้องจ่าย” แต่บังเอิญเกิดเหตุสภาพคล่องทางการเงินสะดุดอย่างสุดวิสัย จนชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนด ต่อมาเขาโดนโทรศัพท์ตามขมขู่ทวงหนี้แบบหยาบคายมากๆ เขาจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         เรื่องของเรื่องคือ คุณชัดเจนเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อบิ๊กไบท์มาในราคาประมาณ 300,000 บาท จากบริษัทลิซซิ่งแห่งหนึ่งต้องส่งค่างวดทั้งหมด 60 งวด งวดละ 5000 กว่าบาท ซึ่งเขาก็ส่งตรงกำหนดตลอด จนกระทั่งเขามีปัญหาทางการเงินอย่างกะทันหัน หมุนเงินไม่ทัน เขาจึงผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อมา 2 งวด หลังจากนั้นพนักงานของบริษัทรับจ้างทวงหนี้ สมมติชื่อบริษัท เอ็ม ก็โทรศัพท์ติดต่อมาทวงค่างวดรถที่เขายังค้างส่งอยู่ พนักงานคนนี้พูดจาหยาบคาย ข่มขู่ให้เขาเร่งจ่ายหนี้แบบไม่ไว้หน้ากันเลย แม้เขาจะเตือนอีกฝ่ายว่าการพูดทวงหนี้แบบนี้ผิดกฎหมายนะ แต่พนักงานก็ยังคงท้าทายและด่าเขาไม่หยุด เขาจึงอยากรู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพวกที่ทวงหนี้ผิดกฎหมายแบบนี้ได้บ้างแนวทางการแก้ไขปัญหา         ตาม “กฎหมายทวงหนี้” ที่ออกมาคุ้มครองลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ระบุไว้ ห้ามดุด่า พูดจาหยาบคาย หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3 ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดตามกฎหมายอาญา ถือเป็นการประจานหรือหมิ่นประมาท มีโทษขั้นต่ำจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        ในกรณีนี้ ได้แนะนำให้คุณชัดเจนไปแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ เพราะการกระทำของพนักงานจากบริษัททวงหนี้คนนี้เข้าข่ายการทวงหนี้ผิดกฎหมาย โดยให้อัดเสียงสนทนาในโทรศัพท์ที่พนักงานพูดจาข่มขู่ทวงหนี้หยาบคายเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน แล้วในวันที่ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อย่าเพิ่งบอกว่าตัวเองเป็นหนี้ เพราะตำรวจจะไม่รับเรื่อง แต่ให้บอกว่ามาแจ้งความในเรื่องทวงหนี้ผิดกฎหมาย         หากคุณชัดเจนไม่สะดวกจะไปแจ้งความ ก็ยังสามารถร้องเรียนไปได้ที่คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ ที่มีทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ เพื่อแจ้งการกระทำความผิดได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ไม่ให้สัญญากู้ยืมเงินแก่ผู้กู้ได้หรือไม่

        ปัจจุบันอัตราภาวะเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่ายภายในครอบครัว เงินสดทันใจก็เป็นที่พึ่งของใครหลายคนผู้ให้กู้ก็มีหลายเจ้า เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่...         ภูผามีค่าใช้จ่ายเพิ่มพูนขึ้นจำนวนมากเดือดร้อนหนักชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องการหาเงินมาหมุนเพื่อครอบครัวของเขาสามารถไปต่อได้ เขาเห็นโฆษณาของบริษัทสินเชื่อสีฟ้าแถวบ้าน ซึ่งมีสาขามากมายทั่วประเทศ ให้กู้ง่าย สะดวก รวดเร็ว แค่มีโฉนดที่ดินก็กู้ได้ ไม่ต้องจำนองด้วย เขาจึงลองเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทสินเชื่อสาขาใกล้บ้านเจ้านั้น เมื่อดูท่าทีว่ามีความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่และบริษัทสินเชื่อที่มีโฆษณาทางทีวี เขาจึงนำโฉนดที่ดินที่เป็นที่สวนของตัวเองเข้าไปกู้ยืมเงินกับบริษัทสินเชื่อ โดยเขากู้เงิน 150,000 บาท เซ็นชื่อในเอกสารของบริษัทเรียบร้อย มีการหักค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการอะไรต่างๆ ของบริษัทประมาณ 3,000 บาท เจ้าหน้าที่ของบริษัทก็ให้บัตรมาใบหนึ่งมีรายละเอียดว่าให้ชำระหนี้ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน หลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารเรียบร้อยสักประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากเขาจากบริษัท         หลังจากกู้เงินมาได้ 1 สัปดาห์ เขาก็เล่าให้ลูกชายว่าไปกู้เงินกับบริษัทสีฟ้ามา ลูกชายก็บ่นๆ เขา ว่าทำไมพ่อไม่บอก ไม่น่าไปกู้เงินมาเลย ลูกชายเขาจะได้หาทางช่วย ลูกชายขอพ่อดูสัญญากู้ เขาบอกว่าบริษัทให้บัตรรายละเอียดที่ต้องชำระเงินมา ไม่รู้ว่าบัตรนี้เรียกสัญญาไหม เมื่อเขาคุยกับลูกชายไปมาก็ถึงบางอ้อว่า เอกสารที่บอกว่ากู้เงินกี่บาท ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ต้องชำระยังไง เขาเรียกว่าสัญญา ก็คือเอกสารที่เขาได้เซ็นไปนั่นแหละ สรุปว่าภูผาไม่ได้สัญญากลับมา         พอเห็นว่าพ่อไม่ได้สัญญามาไว้กับตัว ลูกชายจึงให้เขาไปขอสัญญาเงินกู้กับบริษัทสินเชื่อ เมื่อภูผาไปขอสัญญาจากบริษัทฯ พนักงานบริษัทฯ ก็บอกว่าเดี๋ยวให้ๆ วันนี้กลับไปก่อนนะครับ จนเวลาได้ล่วงเลยมา 2 เดือนหลังจากกู้ยืมเงิน ลูกชายเขาเข้าใจว่าบริษัทในฐานะผู้ให้กู้ต้องให้สัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่วันที่ให้พ่อของเขากู้ไม่ใช่หรอ นี่ไปของสัญญากู้ตั้งนานแล้วทำไมยังไม่ได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ลูกชายของผู้ร้องเข้าใจถูกแล้วว่าเมื่อกู้ยืมเงินกันสัญญากู้ต้องทำเป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งผู้ให้กู้เก็บไว้ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ผู้กู้เก็บไว้ หรือทำสัญญาฉบับเดียวแล้วถ่ายสำเนาสัญญากู้ให้อีกพร้อมหนึ่งเก็บไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๔ ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดอย่างชัดเจนไว้ว่า “ผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญาเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินให้แก่ผู้บริโภคไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับทันทีที่ผู้บริโภคลงนามในสัญญา” ดังนั้นบริษัทสีฟ้าต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้ร้องทันทีเมื่อได้เซ็นสัญญากัน หากไม่ทำตามมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         ทั้งนี้ผู้ร้องสามารถดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงและให้บริษัทสินเชื่อส่งสัญญาให้ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >