ฉบับที่ 252 ส่งผลไม้กับบริษัทขนส่ง คนสั่งไม่ได้กินเพราะเหลือแต่เปลือกอยู่ในกล่อง

        การสั่งผลไม้จากสวนเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง และยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกร รายได้ก็เข้าเกษตรกรโดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง เพียงแต่การส่งสินค้าจำต้องใช้บริการของบริษัทขนส่งต่างๆ เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้บริโภค        ภูผา เป็นเจ้าของสวนมังคุดชื่อดังย่านประจวบคีรีขันธ์ เขาส่งมังคุดให้ลูกค้า จำนวน 4 กล่อง โดยใช้บริการขนส่งของ บริษํทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกค้าของเขาแจ้งมาว่า ได้รับสินค้าแล้ว แต่ว่ากล่องมังคุดที่ส่งมาชำรุด และพบว่าเหลือแต่เปลือกมังคุดอยู่ในกล่อง เขาจึงให้ลูกค้าถ่ายรูปกล่องที่ชำรุดและเปลือกมังคุดมาให้เขา เมื่อได้รับหลักฐานจากลูกค้าแล้ว ภูผาจึงสอบถามไปยังบริษัทฯ  ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต้องการความรับผิดชอบ แต่ทางบริษัทฯ ตอบเขามาว่าจะชดเชยให้เฉพาะค่าสินค้าที่ได้รับความเสียหายตามจริงเท่านั้น ไม่รับผิดชอบค่าขนส่ง เขาจึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายตามมูลค่าของสินค้า ตลอดจนค่าขนส่ง ค่าเสียโอกาส และสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทคู่กรณีคุณภูผา เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคตามสิทธิอันพึงมี           ต่อมาทางบริษัทขนส่งคู่กรณีทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมายังมูลนิธิฯ และเสนอชดเชยค่าสินค้าและค่าบริการขนส่งให้ผู้ร้องตามที่เสียหายจริง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,482 บาท ซึ่งคุณภูผายอมรับตามข้อเสนอของทางบริษัทฯ แต่ก็รู้สึกว่าทำไมต้องให้เสียเวลาใช้สิทธิในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วผู้บริโภคก็ควรได้รับการคุ้มครองทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนลวกขา

        เรื่องราวจากข่าวที่เกิดขึ้นในกระแสโซเชียลที่ผ่านมา สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนที่มีหญิงวัย 47 ปี  เข้าใจผิดคิดว่าถุงทำความร้อนเป็นซองเครื่องปรุงและได้รับประทานเข้าไป จนเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และอาเจียนนั้น ทำให้คุณน้ำตาลนึกถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับเธอเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนเจ้าปัญหานี้ทันที         คุณน้ำตาลได้มาเล่าเรื่องราวให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่าเมื่อปีที่ผ่านมานี้ ก่อนหน้านี้เธอฝึกงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งทุกเย็นหลังเลิกงานจะแวะเข้าร้านมินิมาร์ทเล็กๆ ข้างบริษัททุกวันก่อนกลับบ้าน วันเกิดเหตุเธอก็เข้าไปเลือกซื้อของในมินิมาร์ทแบบทุกวันเดินดูของไปเรื่อยๆ และไปสะดุดกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนทันที เธออยากจะลองซื้อมากินบ้าง เพราะเห็นว่าในอินเทอร์เน็ตมีรีวิวที่น่าสนใจและเป็นกระแสอยู่ จึงได้ตัดสินใจลองซื้อมา 1 ถ้วย         เมื่อถึงบ้านเธอรีบนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนออกมาทันที อ่านฉลากและวิธีการรับประทานว่าต้องทำอย่างไร และทำตามขั้นตอนที่มีระบุอยู่บนถ้วยร้อนทุกขั้นตอนไม่ผิดพลาด แต่พอน้ำในถ้วยเริ่มร้อนอยู่ๆ ถ้วยร้อนก็ตกมาจากโต๊ะทำให้น้ำที่อยู่ในถ้วยลวกขาเธอเกือบทั้งขา เธอบอกว่าตอนนั้นเธอตกใจและกรีดร้องดังมากเพราะน้ำจากถ้วยบะหมี่มันร้อนมาก พอเธอได้สติเธอก็พบว่าโต๊ะที่เธอวางถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นเป็นโต๊ะกระจก คาดว่าความร้อนในถ้วยร้อนนั้น ร้อนจนทำให้แผ่นกระจกของโต๊ะแตกลงมาจนถ้วยร้อนหกลวกขา          ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ฉลากไม่มีคำเตือนลักษณะนี้ ซึ่งเธอคิดว่าทางผู้ประกอบการควรจะมีป้ายฉลากเพื่อเตือนผู้บริโภคไว้สักหน่อย เพราะหากมีใครที่ไม่รู้เหมือนกรณีของเธออาจจะต้องเจ็บตัวแบบเธอก็เป็นได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณน้ำตาลไม่ได้อยากเรียกร้องอะไร เพียงแต่ว่าอยากจะมาเล่าประสบการณ์ให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังเพื่อเตือนผู้บริโภคด้วยกันให้ระวังไว้ เนื่องจากเรื่องราวของคุณน้ำตาลเป็นเรื่องที่ผ่านมา 1 ปีแล้ว จึงไม่ได้ติดใจอะไร แต่หากผู้บริโภคบางรายเจอปัญหาดังกล่าวแบบเธอก็สามารถร้องเรียนกับทางผู้ประกอบการได้ทันที นอกจากนี้ คุณน้ำตาลอยากให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคย้ำเตือนให้กับผู้ประกอบการว่าควรจะมีรายละเอียดที่ครบถ้วนในฉลากและชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ถุงเท้า 1 แถม 1 ที่ราคาไม่ตรงกับป้ายที่ติดไว้

        ผู้บริโภคคงเคยเจอเหตุการณ์ร้านค้าขายสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคาที่แจ้งไว้ แล้วได้จัดการปัญหานี้อย่างไรหรือว่าปล่อยเหตุการณ์แบบนี้ผ่านไป ถ้าเราอยากจัดการปัญหาลองมาดูกันสิว่าผู้บริโภคที่พบเจอเหตุการณ์แบบนี้เขามีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร         คุณจันจิราพนักงานบริษัทผู้แข็งขันได้รับมอบหมายให้จัดประชุมกรรมการบริหารของบริษัท จึงไปเตรียมการจัดประชุมที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เมื่อถึงห้องพักเธอนำเสื้อผ้าออกจากประเป๋า เพื่อเตรียมชุดสำหรับประชุมวันรุ่งขึ้น แต่กลับพบว่า เธอไม่ได้นำถุงเท้ามาด้วย จึงต้องออกไปซื้อถุงเท้าที่ร้านสะดวกซื้อใกล้โรงแรม เบื้องต้นก็ถามพนักงานว่า มีถุงเท้าขายไหม อยู่ตรงไหน พนักงานพาเธอมาตรงชั้นสินค้าที่วางถุงเท้า เธอเห็นป้ายราคาติดไว้ 35 บาท ซื้อ 1 แถม 1 “เออก็ถูกดีนะ” เธอจึงหยิบมา 2 คู่ ตามป้ายที่ระบุไว้ คือ 1 แถม 1 (ถุงเท้า 2 คู่ ราคา 35 บาท)        เมื่อพนักงานชำระเงินสแกนบาร์โค้ดสินค้า ราคาถุงเท้าจาก 2 คู่ 35 บาท เป็น 2 คู่ 49 บาท เธอจึงแย้งพนักงานว่า ที่ชั้นวางสินค้าติดราคาไว้ว่า 2 คู่ 35 บาท ทำไมราคาไม่ตรงกัน พนักงานจึงเดินไปดูที่ชั้นวางสินค้า พบว่าป็นอย่างที่เธอพูดจริงๆ คุณพนักงานรีบกล่าวขอโทษ แต่แจ้งเธอว่า “สินค้าหมดโปรโมชั่นแล้วค่ะ” คุณจันจิราคิดในใจ “ไม่เล่นแบบนี้นะคะน้อง” แล้วจึงหยิบป้ายที่ติดราคาไว้มาดูและชี้ให้พนักงานดูว่า “ยังไม่หมดโปรโมชั่นค่ะ” พนักงานจึงกล่าวขอโทษอีกครั้งและแจ้งว่าน่าจะติดราคาสินค้าผิด        คุณจันจิราเริ่มหงุดหงิด จึงบอกให้พนักงานเอาป้ายราคาที่ติดผิดออก พนักงานแจ้งว่า เดี๋ยวจะดำเนินการนำป้ายราคาที่ผิดออก “แน่ะ ยังจะเดี๋ยวอีก” คุณจันจิราแจ้งว่าให้นำออกทันทีสิคะ เพราะอาจจะมีคนอื่นซื้อเพราะเข้าใจผิดอีกก็ได้ เป็นพนักงานของร้านเมื่อพบว่า ป้ายสินค้ามีปัญหาก็ควรรีบแก้ไข และควรระวังการติดป้ายราคาผิดพลาดด้วย  หลังจากจัดพนักงานไปหนึ่งชุด สุดท้ายเธอก็จำต้องซื้อถุงเท้ามาในราคา 49 บาท เพราะจำเป็นต้องใช้งาน แต่ก็ยังสงสัยอยู่ในใจว่าถ้าเธอหรือคนอื่นเจอเหตุการณ์แบบนี้ต้องทำอย่างไร ที่เธอทำไปถูกหรือไม่ จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำว่า จริงๆ แล้ว ผู้ร้องสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ร้านค้าติดป้ายไว้ เพราะเป็นความผิดของทางร้านค้า การที่ผู้ขายขายสินค้าไม่ตรงกับราคาตามป้ายแสดงราคา มีความผิดต้องโดนปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผู้ร้องสามารถแจ้งไปได้ที่กรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง         นอกจากร้องเรียนไปยังหน่วยงานเพื่อให้แก้ไขปัญหาของตัวเองแล้ว ยังสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดของร้านค้า ทั้งนี้หน่วยงานยังมีรางวัลนำจับสำหรับผู้แจ้งเบาะแสถึง 25 เท่าของค่าปรับ เมื่อหน่วยงานดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ถูกแจ้งเบาะแสแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ควรจะร้องเรียนไปยังหน่วยงาน เพื่อใช้มาตรการทางอ้อมในการให้ร้านค้าคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 เตือนภัย! โทร.มาอ้าง คปภ. ล้วงข้อมูลกรมธรรม์ หลอกขายประกัน

        อย่าหลงกล ถ้าจู่ๆ มีคนโทร.เข้ามาว่าได้รับแจ้งจาก คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ให้มาดูแลผลประโยชน์ของผู้ที่ทำประกันเอาไว้ เพราะนี่คือรูปแบบการหลอกลวงของตัวแทนประกันนอกรีต ที่กว่าคุณจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปแล้ว         วันหนึ่งคุณไอติมได้รับโทรศัพท์อ้างว่า “เขา” เป็นผู้ที่จะเข้ามาดูแลผลประโยชน์ในเรื่องกรมธรรม์ให้นั้น เธอไม่ได้เอะใจอะไรเพราะได้ยินคำว่า คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐมอบหมายให้บุคคลผู้นี้โทร,มา จึงยอมให้เขานำกรมธรรม์ทั้งหมดของเธอกลับไปทำสรุปวิเคราะห์กรมธรรม์ส่งมาให้ ซึ่ง “เขา” บอกจะแจกแจงให้คุณไอติมได้ทราบว่าควรจัดการอย่างไรถึงจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด แต่... “เขา” หายไปเดือนกว่าจนเธอต้องโทร.ไปทวงกรมธรรม์คืน ซึ่งนั้นระหว่างนั้นก็มีคนโทร.เข้ามาพูดในลักษณะเดียวกันนี้อีก 3 ราย พอ “เขา” เอามาคืน ก็ไม่มีผลวิเคราะห์ใดๆ มาให้ มีแต่การนำเสนอขายประกันให้ ประจวบกับที่เธอกำลังมีปัญหาสุขภาพ และเห็นว่าเงื่อนไขที่เขาเสนอว่าค่ารักษาที่ไม่จำกัดวงเงินสามารถปรับเปลี่ยนเป็นค่าห้องได้นั้นเข้าท่าดี จึงตกลงซื้อประกันสุขภาพไป แต่เหมือนเธอยังมีโชคอยู่บ้าง ไม่รู้อะไรดลใจให้วันรุ่งขึ้นเธอโทรไปตรวจสอบเงื่อนไขนี้กับฝ่ายค่าสินไหมของโรงพยาบาลที่รักษาประจำ ซึ่งได้คำตอบว่าทำไม่ได้ ถ้ามีบริษัทประกันไหนมาอ้างแบบนี้อย่าไปเชื่อ เธอจึงโทร.ไปขอยกเลิกประกันสุขภาพฉบับนั้นได้ทันก่อนจะสายไป         ย้อนไปตอนที่เธอตกลงซื้อประกันสุขภาพไป เขาบอกว่าจะนำสรุปวิเคราะห์กรมธรรม์มาให้ แต่พอเธอยกเลิกประกันไป เขาบอกว่าไม่ทำให้แล้วเพราะเธอไม่ใช้บริการของเขา เธอจึงตำหนิไปตรงๆ ว่าถ้าอย่างนี้คือเขาตั้งใจหลอกลวงโดยอ้างว่า คปภ.ให้มาดูแล แต่จริงๆ แล้วมาเพื่อจะเสนอขายประกันมากกว่า เธอจึงไม่ไว้วางใจคนๆ นี้แล้ว เกรงว่าเขาจะเป็นมิจฉาชีพ จึงขอเอกสารสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลายเซ็นของเธอที่ใช้เป็นหลักฐานตอนซื้อประกันสุขภาพคืนมาทั้งหมด เขาก็รับปาก แต่ก็เงียบหายไปเลย คุณไอติมจึงมาเล่าเรื่องนี้ให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไว้เตือนภัยคนอื่นๆ พร้อมกับปรึกษาหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหากผู้อื่นนำเอกสารข้อมูลส่วนตัวของเธอไปใช้โดยพลการ      แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำให้คุณไอติมไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ว่า ได้ให้เอกสารไปกับบุคคลนี้ มีรายละเอียดดังนี้ ถ้าเกิดเหตุอะไรที่นอกเหนือจากนี้ คุณไอติมไม่รู้เรื่องและไม่ขอรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 สั่งซื้อกางเกงออนไลน์ใส่ไม่ได้เพราะมันคือกางเกงเด็ก

        การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์นั้น แม้จะเลือกซื้อจากเว็บขายสินค้าของบริษัทที่มีชื่อเสียง ก็ยังคงต้องรอบคอบ และอย่ารีบร้อน มิฉะนั้นจะยุ่งยากทั้งการขอเปลี่ยนสินค้าหรือขอเงินคืน        คุณภูผา ท่องเว็บไซต์ขายสินค้าเพราะต้องการหาของขวัญวันเกิดให้พี่สาวคุณบุปผา ทันใดนั้นก็สะดุดตาเข้ากับกางเกงตัวหนึ่ง ที่ปักลายแบบที่คุณพี่สาวชอบ จึงคลิกเข้าไปดูรายละเอียดทันที “แหม ราคาดีมาก” เลยรีบกดสั่งซื้อเนื่องจากทางหน้าเว็บบอกว่า ราคาลดไปถึง 30 %          ภูผาสั่งซื้อด้วยวิธีการเก็บเงินปลายทาง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อพนักงานขนส่งนำพัสดุมาให้ ภูผาก็รีบแกะถุงเพื่อเตรียมห่อของขวัญให้คุณพี่สาว “อ้าว นี่มันกางเกงเด็กนี่นา”  จึงรีบโทรศัพท์ไปแจ้งกับคอลเซ็นเตอร์ของเว็บไซต์ที่ขายเสื้อผ้าแห่งนั้น         เขาแจ้งพนักงานว่า การแสดงภาพสินค้าในเว็บไซต์ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่า เป็นกางเกงของเด็ก ไซส์ที่ให้เลือกก็เป็นเบอร์อย่างไซส์ฝรั่ง คือ 2 4 6 8 เขาก็เข้าใจว่าเบอร์ที่เลือกให้พี่สาวคือเบอร์ 6 ต้องพอดีกับพี่สาวแน่ๆ เพราะเป็นไซส์กางเกงที่พี่สาวใส่อยู่ เขาอยากขอเปลี่ยนสินค้าได้หรือไม่ แต่พนักงานคอลฯ แจ้งว่า “กางเกงตัวนี้เป็นสินค้าราคาพิเศษไม่สามารถแลกหรือเปลี่ยนคืนเงินได้นะคะ” ภูผาจึงต่อรองขอตนเองลองคุยกับผู้จัดการได้ไหม ตนเองไม่ได้ต้องการเงินคืนแต่อยากขอซื้อสินค้าใหม่แล้วเพิ่มเงินจากยอดเดิมที่จ่ายไปได้ไหม (ก็ชอบกางเกงตัวนี้นะ) พนักงานคอลฯ ก็ตอบเหมือนเดิมว่า เป็นนโยบายของบริษัท ถ้าเป็นสินค้าลดราคา ไม่สามารถเปลี่ยนได้ค่ะ        ภูผาจึงมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองพอจะทำอะไรได้บ้างไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีคุณภูผา ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิได้แนะนำ ให้ทำหนังสือส่งถึงบริษัทเพื่อแจ้งขอคืนเงินพร้อมส่งสินค้าไปยังบริษัทตามสิทธิผู้บริโภคอ้างอิง  พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งคุณภูผาก็ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของมูลนิธิฯ           ต่อมาทางบริษัทได้ติดต่อกลับมาหาคุณภูผาว่า ทางบริษัทจะให้การชดเชยเป็นส่วนลด และลูกค้าสามารถนำส่วนลดนี้กลับมาซื้อสินค้าที่บริษัทใหม่ได้ ทั้งนี้ยังบอกด้วยว่า กางเกงแบบที่คุณภูผาสั่งซื้อมีแบบของผู้ใหญ่ด้วยนะคะ  ลูกค้าใส่กางเกงเบอร์อะไร คุณภูผาจึงตอบไปว่า เบอร์เอสหรือเอ็ม ซึ่งทางบริษัทวางสายไปสักพักและโทรกลับมาใหม่ว่า ไม่มีขนาดที่บอกสินค้าหมด คุณภูผาจึงยืนยันไปว่า ถ้างั้นขอเงินคืน พนักงานบริษัทแจ้งว่า จะต้องนำเรื่องกลับไปขออนุมัติกับหัวหน้าก่อนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ คุณภูผารู้สึกร้อนใจจึงถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ว่า ถ้าบริษัทไม่คืนเงินเราจะทำอะไรเพิ่มได้ไหม         ผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้โดยใช้สิทธิเลิกสัญญา กล่าวคือให้ส่งสินค้าคืนไปยังผู้ประกอบธุรกิจ หรือเก็บสินค้าไว้ภายในระยะเวลา 21 วันนับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญา และจะต้องคืนสินค้าให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้มารับสินค้าที่ภูมิลำเนาของผู้บริโภค หรือส่งสินค้าคืนทางไปรษณีย์โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง ตามคำขอของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับคืนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อซื้อสินค้านั้น เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินเต็มจำนวน ภายในกำหนดเวลา 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา (พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง)         แต่ยังไม่ทันจะเตรียมตัวฟ้องร้อง บริษัทก็โทรมาแจ้งคุณภูผาว่า บริษัทจะคืนเงินให้ เป็นอันว่าจบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ซื้อขนมพายสตรอเบอรี่มาแต่มันขึ้นรา ทำไงดี?

        เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมาคงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของใครหลายคน เพราะเป็นเดือนสุดท้ายของปีก่อนจะเริ่มขึ้นปีใหม่ แถมยังเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวหลายคนคงจะเตรียมออกเดินทางที่จะท่องเที่ยวช่วงกับครอบครัวกันแน่นอน เรื่องราวเสียงผู้บริโภคที่เราจะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องจากคุณน้ำตาล ที่ช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมามีโอกาสไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงาน ทริปไปท่องเที่ยวไหว้พระทำบุญก่อนขึ้นปีใหม่         คุณน้ำตาลโอเคมาทริปแบบนี้ดีถือว่าเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเริ่มปีใหม่ เข้าวัดทำบุญเสียหน่อยเผื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีของเธอ วันนัดชาวคณะนั่งรถแท๊กซี่ไปโดยมีจุดมุ่งหมายปลายทาง คือ วัดดังย่านเขตดุสิต วัดแรกทำบุญและให้อาหารปลามีความสุขมาก หลังจากนั้นชาวคณะเริ่มเดินเท้าไหว้พระวัดที่ 2 ซึ่งไม่ไกลจากวัดแรกมากนัก อย่างไรก็ตามอากาศที่ร้อนก็ทำให้การเดินเท้าแบบเดินไปเรื่อยๆ นั้นเหนื่อยเอาเรื่อง เลยเดินเข้าวัดที่ 2 และแวะร้านกาแฟเล็กๆ ภายในวัดเพื่อหากาแฟดื่มให้ชื่นใจ คุณน้ำตาลเดินดุมๆ เข้าไปในร้านกาแฟทันที แต่ดันเห็นน้ำอัดลมและขนมพายสตรอเบอรี่เลยเปลี่ยนใจ ไม่กินกาแฟแล้ว สั่งน้ำอัดลมและขนมพายดีกว่า เมื่อรับสินค้ามาแล้วนั่งดูดน้ำอัดลมอย่างชื่นใจ ขณะฉีกซองพายสตรอเบอรี่เธอดันเห็นอะไรเขียวๆ ดำๆ เป็นจุดๆ หน้าตาเหมือนกับราเลย เธอคิดว่าจะเป็นวิธีการตกแต่งหน้าพายแบบใหม่ก็ไม่น่าใช่ จึงยื่นให้พี่ที่ทำงานช่วยดู ทุกคนก็บอกว่ามันคือราแน่นอน คุณน้ำตาลจึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี และแอบเสียดายเพราะอยากที่จะลองกินขนมพายสตรอเบอรี่ด้วย แต่ก็คิดว่าขนมทั้งหมดนั้นน่าจะมีปัญหาหมดอายุเหมือนกันทั้งหมดด้วยไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นคุณน้ำตาลได้เอาขนมไปเปลี่ยนกับทางร้านกาแฟทันทีที่เจอ ซึ่งทางร้านก็คืนเงินให้ทันที เพราะหากเปลี่ยนเป็นขนมชิ้นใหม่ ก็คือขนมล็อตเดียวกันและอาจจะขึ้นราอีกทางร้านจึงเลือกคืนเงินแทน พร้อมขอโทษขอโพยคุณน้ำตาล ซึ่งเธอก็ไม่ติดใจอะไรพร้อมรับเงินคืนจากทางร้าน  และขอให้เก็บสินค้าขนมพายสตรอเบอรี่ทั้งหมดออกจากชั้นวางขนมเพราะคิดว่า น่าจะหมดอายุเช่นเดียวกัน ซึ่งทางร้านยินดีจัดการปัญหาตามที่คุณน้ำตาลแนะนำ           ทั้งนี้ คุณน้ำตาลก็ได้มาเล่าประสบการณ์ที่เจอให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง เพื่อจะได้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอกรณีแบบนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่นำสินค้าไปเปลี่ยนและขอเงินคืนได้ทันที และอยากให้ผู้ประกอบการตรวจเช็คสินค้าเสมอก่อนจำหน่ายให้ผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 โรลออนทิพย์

        เหตุเกิดที่ร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่สุดในประเทศนี้ หลายครั้งที่การร้องเรียนของผู้บริโภคที่ผูกโยงจากร้านสะดวกซื้อมีความหลากหลาย เป็นสินค้าหมดอายุบ้าง ใช้งานไม่ได้บ้าง ซึ่งผู้บริโภคบางรายก็อาจจะได้รับการเยียวยาจากร้านสะดวกซื้อบ้างแล้ว หรือบางคนก็อาจจะรอไม่ไหวจนปล่อยผ่านไปบ้าง คราวนี้มีผู้บริโภคท่านหนึ่งแจ้งมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ซื้อโรลออนมาแล้วใช้ไม่ได้ ทำอย่างไรดี         คุณวันดีเล่าว่า เธอเดินทางไปที่จังหวัดระยองเพื่อไปสัมมนา ณ เกาะเสม็ด วันนั้นเป็นเช้าที่สดใสเมื่อถึงเวลาออกเดินทางรถก็แล่นไปตามเวลาจนเดินทางไปถึงท่าเรือเพื่อที่จะข้ามฟากไปที่เกาะเสม็ดเพื่อเข้าที่พัก ก่อนจะข้ามฟากเธออยากจะซื้อของใช้ส่วนตัวสักหน่อย ประจวบเหมาะกับที่ท่าเรือมีร้านสะดวกซื้อพอดี จึงเข้าไปในร้านและซื้อโรลออนระงับกลิ่นขนาดกะทัดรัดมา 1 ชิ้น ด้วยไม่แน่ใจว่า ตนเองจัดลงกระเป๋ามาด้วยหรือไม่ ซื้อเผื่อไว้ก็ไม่เสียหาย จ่ายเงินแล้วเพื่อนก็เร่งให้รีบไปขึ้นเรือ         เมื่อข้ามเรือไปเสม็ดและเข้าที่พักแล้ว ตอนที่อาบน้ำเสร็จคิดที่จะใช้โรลออนเสียหน่อย ปรากฏว่าโรลออนที่ซื้อมามันใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ยังไงล่ะ? คือ เจ้าโรลออนตัวนี้มันมีแค่ขวดโรลออนลูกกลิ้ง แต่ไม่มี “เนื้อครีมข้างใน” เอาง่ายๆ มันมีแต่ขวดนั่นเอง         คุณวันดีต้องหาซื้อจากร้านค้าบนเกาะแทน และสัมมนาอย่างเข้มข้นโดยลืมเรื่องดังกล่าวไป แต่มาเจอเจ้าขวดเปล่านี้อีกครั้งตอนเก็บเสื้อผ้าจากกระเป๋าเมื่อกลับมาถึงบ้านที่กรุงเทพฯ แล้ว ทำไงดีรู้สึกไม่ถูกต้องหากจะปล่อยเรื่องไป เงินก็อยากได้คืน แต่ก็ไม่สะดวกที่จะกลับเอาสินค้าไปเปลี่ยนที่ร้านสะดวกซื้อสาขาเดิม จึงขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรดี   แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้โทรศัพท์ไปแจ้งเรื่องกับทางร้านค้าสะดวกซื้อผ่านคอลเซนเตอร์ (ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์) ซึ่งทางคอลเซนเตอร์รับเรื่องไว้และแจ้งว่าจะประสานงานให้ทางสาขาดังกล่าวคืนเงินให้กับลูกค้า ต่อมาทางสาขาที่มีสินค้าโรลออนทิพย์นี้ได้ติดต่อกลับมาเพื่อคืนเงินให้ ทั้งนี้โชคดีที่คุณวันดียังเก็บใบเสร็จไว้ จึงมีหลักฐานว่าได้ซื้อสินค้านี้จริง เมื่อทางร้านสะดวกซื้อได้โอนเงินคืนคุณวันดีเรียบร้อย คุณวันดีก็สบายใจ  ดังนั้นมีเหตุการณ์เข้าข่ายนี้ให้รีบติดต่อฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของร้านสะดวกซื้อ อย่างไรก็ตามใบเสร็จคือหลักฐานสำคัญอย่าเพิ่งรีบทิ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ระวัง! SMS ชวนหารายได้เสริมแบบใหม่ สูญเงินเกือบ 3 แสน

        “สวัสดี เรามาจากกระทรวงพาณิชย์ของ shopee เราขอเชิญคุณทำงานเสริมที่บ้าน หาเงินง่ายๆ วันละ 3,000 บาทด้วยมือถือ แล้วเงินเดือนออกวันเดียวกัน สนใจสมัครแอดไลน์มาได้เลย ID:863690”         นี่เป็นข้อความ SMS หลอกลวงในรูปแบบใหม่อีกแล้ว หากใครได้รับละก็ แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและให้ลบทิ้งไปเลย ไม่อย่างนั้นคุณอาจต้องสูญเงินแสนเหมือนอย่างคุณพรรณีก็เป็นได้         เมื่อปลายปี 2564 คุณพรรณีได้รับข้อความ SMS เชิญชวนนี้ก็สนใจ เธอจึงแอดไลน์ไอดีนั้นไป ปรากฏข้อความขึ้นว่า ”สวัสดีฉันชื่อเทสซ่า คุณมาสมัครงานใช่หรือไม่?” แล้วแนะนำว่าเป็นแพลตฟอร์มของ shopee ต้องการพนักงานจำนวนมาก เพื่อช่วยผู้ค้าเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรม พร้อมกับส่งลิงค์มาให้ลงทะเบียน เธอกรอกชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ และกำหนดรหัสผ่านลงไป จากนั้นก็ได้รับบัญชีเพื่อทำภารกิจ งานที่ว่านี้ก็คือ การกดคู่สินค้าในแอปพลิเคชั่น เพื่อรับกำไร 7% จากราคาสินค้าต่อชิ้นที่จับคู่ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าเธอต้องเติมเงินก่อนเริ่มทำภารกิจ โดยโอนเข้าบัญชีของบุคคลหนึ่ง (ชื่อบัญชีนายชัยศักดิ์ เสาวิบูลย์ ) เมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้นก็จะถอนเงินจากบัญชีได้         ว้าว! เพียงครั้งแรกก็ได้กำไรมาเหนาะๆ เกือบ 300 บาท เมื่อเห็นว่าทำง่ายได้เงินจริง เธอจึงเติมเงินเพื่อทำภารกิจต่อ แต่ครั้งนี้แอดมินแจ้งเงื่อนไขใหม่ว่าจะต้องทำภารกิจทั้งหมด 30 ด่านก่อน ถึงจะถอนเงินจากบัญชีได้ เธอก็ทำตามนั้นโดยได้โอนเงินไปรวมทั้งสิ้น 279,607.49 บาท แต่หลังจากจับคู่สินค้าครบ 30 ภารกิจแล้ว เธอกลับถอนเงินออกมาไม่ได้ ครั้นสอบถามไป แอดมินก็แจ้งว่าเธออาจกดลิงค์ผิด ดังนั้นต้องทำเพิ่มอีก 20 ภารกิจถึงจะถอนเงินได้ เธอคิดว่าน่าจะไม่ชอบมาพากลซะแล้ว จึงไม่ได้ทำตามเงื่อนไขใหม่นี้ หลังจากนั้นแอดมินไลน์ก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปเลย คุณพรรณีเป็นกังวลมากจึงขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิฯ แนะนำให้คุณพรรณีรีบไปแจ้งความ โดยรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมนี้ทั้งหมด ได้แก่ หลักฐานข้อความสนทนากันในไลน์ สลิปการโอนเงิน โดยในสลิปจะมีชื่อบุคคลที่รับโอนเงิน ซึ่งข้อมูลตรงนี้สามารถให้ตำรวจเรียกบุคคลดังกล่าวมาพบ และอาจขอให้ตำรวจทำหนังสือถึงธนาคารให้ระงับบัญชีดังกล่าวได้         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อกลลวงจาก SMS ในลักษณะที่ต้องโอนเงินไปให้ก่อนเด็ดขาด เพราะในที่สุดแล้วก็จะได้ไม่คุ้มเสีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 สวัสดีปีใหม่เดินทางปลอดภัย

        ขณะทำต้นฉบับนี้ อีกไม่กี่วันปี 2564 ก็จะจากไป ขณะที่หลายคนต่างหวาดกลัวและกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาอีกมั้ย แต่พฤติกรรมคนส่วนใหญ่กลับละเลยการป้องกันตนเอง และกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันแล้ว โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบว่ากว่า 95 เปอร์เซ็นต์มาจากพฤติกรรมการขับขี่ การขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย (เหมือนเดิม) และกลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่ขำไม่ออก เมื่อทุกคนคิดว่าการมาของโควิด-19 นั้นทำให้อุบัติเหตุทางถนนลดลง จึงมีผลทำให้หลายมาตรการของรัฐหย่อนยานลดประสิทธิภาพลงตามไปด้วย         แน่นอนว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ รัฐบาลใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อหยุดการเดินทางของผู้คนทั้งประเทศ ตลอดจนการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มของมึนเมาเพื่อลดการรวมกลุ่มสังสรรค์ในทุกกิจกรรม รวมถึงการที่ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจได้เองว่า ต้องป้องกันตนเองจากสถานการณ์โรคระบาดและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในทุกกิจกรรม         อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะน่ากลัว แต่ก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันมากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งรัฐบาลก็ทำได้แล้วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และมีผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดของโรคระบาดโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ         นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีมาตรการเข้มข้นเพื่อต้องการหยุดเจ็บหยุดตายและป้องกันทุกชีวิตจากโควิด-19 ให้ได้ แต่เมื่อหันกลับมามองดูสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนที่มีคนเจ็บและตายมากกว่าหลายเท่าตัวตลอดหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า “ยังไม่เห็นความทุ่มเทของหน่วยงานเจ้าภาพหลักของประเทศและหน่วยงานในสังกัดทุกภาคส่วน ที่มีเป้าหมายร่วมเพื่อจะหยุดเจ็บหยุดตายให้ได้เหมือนโควิด-19” หากแต่เป็นเพียงวาทะกรรมอันสวยหรูของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและสังคมบางกลุ่ม เน้นสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ รณรงค์แบบเดิมทุกปี ที่สำคัญยังทำแค่เพียงช่วงเทศกาลเท่านั้น         ขณะที่ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 – 2563 (ที่ล้มเหลว) มาแล้วรอบหนึ่ง และปัจจุบันกำลังเข้าสู่แผนความปลอดภัยทางถนนในทศวรรษหน้า พ.ศ. 2565 – 2575 และยังมีแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติภายใต้แผนแม่บทด้านความมั่นคง เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัทางถนน มีเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตางถนนลงร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2565 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกและดิจิทัล มีเป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรในปี พ.ศ. 2564 - 2570 รวมถึงกรอบการดำเนินงานระดับโลกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศไทยรับมาดำเนินการด้วย เช่น 12 เป้าหมายโลกสำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน หรือ Global road safety performance targets ปฏิญญาสตอกโฮล์ม (Stockholm Declaration) หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน         จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีแผนดำเนินการและแผนปฏิบัติการมากมายหลายระดับชั้น เพื่อเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของข้อตกลงที่กำหนดไว้ หากแต่เมื่อขั้นตอนและระบบปฏิบัติงานยังขาดความชัดเจนต่อเนื่องและเชื่อมต่อในแต่ละระดับ หลายฝ่ายจึงมีความเชื่อในทางเดียวกันว่า เป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรภายใน 6 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 นั้น “ไม่น่าจะทำได้”         เพราะหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่ 27.20 คนต่อแสนประชากร หรือมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ 17,831 คน ลดลงจากในปี 2562 ที่ 19,904 คน (ส่วนหนึ่งที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลงมีผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19) ซึ่งต่อจากนี้หากจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรภายในปี 2570 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั่นเท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือเพียง 8,474 คนเท่านั้น         ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว เป้าหมายการลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรเชื่อว่าไม่น่าจะทำได้ หากถอดบทเรียนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาก็อาจจะพอพิสูจน์ให้เห็นว่าความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนนั้น เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและลดจำนวนลงได้  อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องเวรกรรมความเชื่อหรือมายาคติของสังคมอีกต่อไป การสร้างมาตรการ เป้าหมาย และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนตรงประเด็นเป็นนโยบายหลักของประเทศ ตั้งแต่ระบบการบังคับบัญชาลงมาถึงส่วนปฏิบัติงาน รวมถึงการสนับสนุนภาคีเครือข่าย และท้องถิ่นเพื่อให้มีการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนคือสิ่งที่ควรต้องดำเนินการให้จริงจังได้เท่ากับมาตรการป้องกันโควิด 19         แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดอาจจะเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องการเวลาและความร่วมมือ และปลายทางอาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ระหว่างทางตัวเลขผู้เสียชีวิตต้องน้อยลงกว่านี้ให้ได้ เพราะเราคงไม่หวังให้มีโรคระบาดใหม่เพื่อมาหยุดการเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนนอีกแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 จับตาให้ดี ยุบไม่ยุบ สถานีรถไฟหัวลำโพง

        จำข่าวใหญ่ส่งท้ายปี “ปิดตำนานหัวลำโพง” กันได้ไหม ที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าจะย้ายรถไฟทุกขบวนที่เข้าออกสถานีหัวลำโพงไปเริ่มต้นใหม่ที่สถานีกลางบางซื่อ ต่อด้วยข่าวลือยุบสถานีหัวลำโพงทำเมกะโปรเจค ผุดห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ ตลอดจนตึกสูงเสียดฟ้าท่ามกลางชุมชนโดยรอบพื้นที่เดิม  พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่ต้องให้รถไฟทุกขบวนไปใช้ที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนสถานีหัวลำโพงเดิมจะถูกแทนที่ด้วยการพัฒนาพื้นที่ใจกลางเมืองให้มีความทันสมัยเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคน โดยที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความงดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่         แต่แผนนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ทันทีที่กระแสข่าวโยกย้ายขบวนรถไฟไปสถานีกลางบางซื่อ พร้อมภาพสถานีหัวลำโพงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตออกมาสู่สายตาการรับรู้ของสังคมแล้ว นอกจากกลุ่มทุนที่เชียร์ให้สร้างแล้ว ก็แทบไม่มีใครออกมาสนับสนุนอีกเลย ขณะที่เสียงคัดค้านจากทุกสารทิศต่างพุ่งตรงไปที่กระทรวงคมนาคมโดยไม่ได้นัดหมาย พร้อมตั้งคำถามดังๆ ว่า ปิดหัวลำโพงนี้เพื่อการพัฒนาหรือผลักภาระให้ประชาชนกันแน่ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนของผู้คนรากหญ้าจำนวนไม่น้อยในทุกกลุ่มวัยที่ยังจำเป็นต้องใช้รถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมผ่านหัวลำโพงเข้าออกเมือง ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน ข้าราชการชั้นผู้น้อย พนักงานบริษัทเอกชน ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายที่ต้องอาศัยรถไฟเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน         ที่ผ่านมาหากกลุ่มผู้ใช้บริการหลักต้องเดินทางจากรังสิตถึงหัวลำโพงด้วยรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมจะเสียค่าโดยสารเพียง 6 บาทเท่านั้น ถ้ากระทรวงคมนาคมยืนยันให้จอดส่งผู้โดยสารแค่ที่สถานีกลางบางซื่อ ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าหัวลำโพง ต้องต่อรถโดยสารประจำทางและจะต้องเสียค่าโดยสารและเวลาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือหากจะเลือกเดินทางเข้าเมืองที่หัวลำโพงด้วยรถไฟฟ้า MRT แม้ว่าจะสะดวกสบายขึ้น ค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นจาก 6 บาท เป็น 46 บาท หรือมากกว่าเดิมถึง 700% เลยทีเดียว         ไม่เพียงผู้ใช้บริการรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เราไม่อาจมองข้ามชีวิตของประชาชนคนรายได้น้อยที่ต้องทำมาหากินรอบบริเวณสถานีหัวลำโพง ชีวิตพวกเขาเหล่านี้ต่างถูกนำเสนอผ่านสื่อทุกช่องทาง เพราะพวกเขาคือ คนที่เดือดร้อนที่สุด ถ้าสถานีหัวลำโพงถูกปิด         หนุนเสริมด้วยพลังของภาคประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง และขาดไม่ได้เลย คือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยที่ประกาศคัดค้านการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เพราะจะทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รวมถึงแผนการพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟหัวลำโพงอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย         อาจเป็นไปได้ว่ากระทรวงคมนาคมคงคาดไม่ถึงว่าแผนที่ตระเตรียมมาอย่างดีนี้ จะถูกกระแสคัดค้านที่สะท้อนออกมารุนแรงและขยายวงกว้างจนเกินกว่าที่จะต้านทานไหว เพราะอย่าลืมว่าหัวลำโพงไม่ใช่หมอชิตที่ใครคิดจะทำอะไรก็ทำได้ แต่หัวลำโพงเป็นมากกว่าแค่สถานีรถไฟเก่า หัวลำโพงคือพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์และความทรงจำ หัวลำโพงยังเป็นพื้นที่แห่งชีวิตของคนหลายกลุ่มหลายเชื้อชาติ และหัวลำโพงคือรากเหง้าการคมนาคมที่ผูกพันผู้คนและชุมชนจากทั่วทุกสารทิศมานานกว่า 100 ปี         ดังนั้นเราจึงได้ข่าวจากกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางรางเจ้าภาพหลักว่า จะยอมถอยเปลี่ยนเกมส์เป็นคนกลางเปิดวงสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่าจะไม่มีการทุบและปิดสถานีหัวลำโพงแล้ว         อย่างไรก็ตามหลายคนที่ติดตามก็ยังไม่เชื่อเพราะข่าวการยุบสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น ภายนอกอาจจะถูกสื่อสารต่อสังคมให้เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบคมนาคมทางรางเพื่อประโยชน์ของคนทั้งมวล รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟหัวลำโพงให้มีความทันสมัยเป็นชุมทางเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบหัวลำโพงและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง แต่เบื้องหลังก็เต็มไปด้วยภาพมายาผสมกับความเคลือบแคลงสงสัยถึงผลประโยชน์อันมหาศาลของกลุ่มทุน ที่จะมาทำให้สมดุลของพื้นที่กับชุมชนเปลี่ยนไป กลายเป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำเหมือนเช่นหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่เปลี่ยนไปเมื่อความเจริญทางวัตถุเชิงพาณิชย์เข้ามาแทนที่         อีกทั้งกระทรวงคมนาคมยังแสดงออกถึงความต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปแผน ด้วยการยื้อเวลาหาทางออกแบบเนียน ๆ ว่าจะนำข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นไปปรับปรุงพัฒนา แต่เชื่อเถอะหากจะพัฒนาก็เป็นการพัฒนาแบบมีธงปักไว้แล้ว เพราะเมื่อปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อถูกสร้างเสร็จพร้อมใช้งาน และที่สำคัญสถานีกลางบางซื่อได้ถูกวางตัวให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่สุดในอาเซียนแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้สถานีหัวลำโพงจึงแทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นศูนย์กลางชุมทางรถไฟแบบเดิมอีกต่อไป           ขณะนี้เมื่อกระทรวงคมนาคมยังยุบสถานีหัวลำโพงตามแผนไม่ได้ ขั้นตอนต่อจากนี้ก็ต้องลดบทบาทความสำคัญให้น้อยลง ด้วยการโยกย้ายขบวนรถไฟให้ออกเริ่มต้นทางที่สถานีกลางบางซื่อแทน ซึ่งอาจจะเริ่มขยับจากกลุ่มรถไฟทางไกลประเภทเชิงพาณิชย์ก่อน ส่วนกลุ่มรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เชื่อว่ายังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดที่ต้องคิดทบทวนให้ดี เพราะขึ้นชื่อว่าประเภทบริการสังคมที่ส่วนใหญ่คนใช้บริการคือคนรายได้น้อย ถ้ากระทรวงคมนาคมตัดสินใจผิดพลาด นอกจากจะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้ว แผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็อาจจะล้มไม่เป็นท่า เพราะคิดผิดก้าวพลาดไปนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >