ฉบับ 250 หลงซื้อน้ำมันงาโบราณ ไม่มีเลขทะเบียนยา

        "อย.ขอเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อยาสมุนไพรแผนโบราณใดๆ ที่แสดงสรรพคุณเกินจริงว่า สามารถรักษาได้สารพัดโรค เพราะนอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังอาจได้รับอันตรายอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากมักพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่แสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง มักลักลอบใส่ยาหรือสารที่เป็นอันตรายลงไป และการผลิตผลิตภัณฑ์มักไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อน”...นี่คือตัวอย่างคำเตือนที่มักปรากฏตามสื่อต่างๆ บ่อยๆ แต่บางครั้งบางคนก็หลงจ่ายเงินซื้อยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณครอบจักรวาลมา เพียงเพราะหลังทดลองใช้แล้วเห็นผลทันตาเพียงครู่ เลยลืมดูรายละเอียดของข้อความบนฉลากให้ถ้วนถี่ซะก่อน          คุณเด่น ไกด์หนุ่มก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเล่าว่าตอนที่เขาพาลูกทัวร์ไปท่องเที่ยวที่แก่งกึด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีแม่ค้ามาขายน้ำมันงาโบราณโดยบอกว่าใช้นวดแก้ปวดเมื่อยดีขนาด และจะมาขายแค่ปีละครั้งเท่านั้น เขาเองก็กำลังรู้สึกปวดที่ต้นแขนอยู่พอดี จึงขอลองใช้น้ำมันงาโบราณนี้นวดดูหน่อย อะ ได้ผลดีแฮะ นวดไปๆ กล้ามเนื้อที่ต้นแขนเริ่มหายปวดละ เขาจึงอุดหนุนแม่ค้าในราคาขวดละ 190 บาท มา 2 ขวด ว่าจะไว้ใช้เองขวดหนึ่ง อีกขวดจะเอาไปฝากแม่         เมื่อแม่ค้าคล้อยหลังไปแล้ว ไกด์หนุ่มจึงหยิบขวดน้ำมันงานั้นขึ้นมาอ่านฉลากให้ละเอียดอีกที ปรากฎว่าหมุนรอบขวดแล้วก็ยังหาเลขทะเบียนยา หรือ อย. ไม่เจอเลย ตัวฉลากก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดส่วนประกอบ ไม่มีวันหมดอายุ มีแต่เบอร์โทรคนขาย และเขียนวิธีใช้ว่า ใช้นวดเวลาปวด เช้า-เย็น มีสรรพคุณ ใช้นวดอาการปวดเส้น ปวดเอ็น ปวดเข่า ปวดขา แก้ปวดฟัน รักษาอาการผื่นคัน ใช้ทาริดสีดวง สารพิษสัตว์กัดต่อย บาดแผลทุกชนิด ซึ่งดูจะเกินจริงไปมาก ไกด์หนุ่มเห็นแบบนี้ก็ไม่กล้าใช้แล้วเพราะกลัวว่าจะแอบใส่สารอันตรายอะไรปนไปหรือเปล่า จึงมาร้องเรียนกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยาได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นกับคุณเด่นว่า ผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณจะต้องมีเลขทะเบียนยา ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต มีวันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ ซึ่งน้ำมันงาโบราณนี้ไม่มีรายละเอียดเหล่านี้เลย มีแต่สรรพคุณ วิธีใช้และเบอร์โทรผู้ขาย ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา และส่วนประกอบ จัดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อาจมีส่วนผสมของสารอันตราย ดีแล้วที่คุณเด่นไม่ใช้ต่อ ทางศูนย์ฯ จะนำผลิตภัณฑ์นี้ส่งตรวจหาสารต้องห้ามต่อไป หากพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายจะส่งเรื่องให้ทางสาธารณสุขจังหวัดจัดการต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 รถบัสประจำทางชนแล้วหนี ผู้โดยสารมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

        เมื่อผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถสาธารณะ แล้วเจ้าของรถหรือประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้ตามสิทธิ์ที่ผู้เสียหายพึงจะได้รับ ผู้โดยสารสามารถยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการประกันภัยและผู้ประกอบธุรกิจรถโดยสารได้                  คุณวิมลศรีเองก็เพิ่งทราบข้อมูลนี้ หลังจากที่เมื่อต้นปี 2562 รถบัสโดยสารประจำทาง สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ ที่เธอนั่งมานั้นเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพราะคนขับตีนผีซิ่งไปชนท้ายของรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ บรรทุกนั่งร้านเหล็กมาเต็มคันรถที่จอดอยู่ข้างทาง บนถนนทางหลวงหมายแลข 340 สุพรรณบุรี-ชัยนาท ส่งผลให้คุณวิมลศรีกับญาติอีกคนที่มาด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ได้รับบาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้างติดอยู่ภายในรถอีกเกือบ 10 คน ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้ว คนขับรถโดยสารก็หลบหนีไป คุณวิมลศรีเกรงว่าจะต้องเจ็บตัวฟรี จึงมาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้ยื่นเรื่องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค โดยมีคุณวิมลศรีเป็นโจทก์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก คนขับรถโดยสารเป็นจำเลยที่ 1 บริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งในข้อเท็จจริงทางคดีคือ โจทก์ใช้บริการจำเลยทั้ง 3 ในเส้นทางจังหวัดสุพรรณบุรีไปนครสวรรค์ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วไปอัดท้ายรถพ่วง จนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และคดีนี้ไม่ใช้ทนาย มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิรับมอบอำนาจเป็นผู้ฟ้องคดีแทน โจทก์ฟ้องเรียกเงิน 715,968 บาท นัดไกล่เกลี่ยกับจำเลยที่ 1 จนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า จำเลยทั้ง 3 ยอมจ่ายให้ 400,000 บาท โจทก์จึงถอนฟ้อง เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 อยากเปลี่ยนสีรั้วแต่นิติบุคคลห้าม

        การเข้าอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร แน่นอนวาย่อมจะต้องมีกฎกติกาบางอย่างที่ลูกบ้านต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น การทิ้งขยะ การจอดรถ ฯลฯ ทว่าจะก้าวล่วงไปถึงกระทั่งว่า ถูกห้ามทาสีรั้วบ้านใหม่ได้ด้วยหรือไม่         คุณวาริน เข้ามาเป็นผู้อยู่อาศัยใหม่ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งย่านชานเมืองหลวง ก่อนเข้าอยู่ก็ให้ซินแสมาทำนายทายทักตามความเชื่อส่วนบุคคลของตนเอง ซินแสทักให้ปรับปรุงหลายอย่าง จุดหนึ่งคือทักว่าสีรั้วไม่ถูกโฉลกกับดวงของเจ้าของบ้าน คุณวารินจึงหาช่างมาปรับปรุงสีรั้วบ้านใหม่ แต่ขณะที่ช่างกำลังทำงาน มีบุคคลอ้างว่าเป็นกรรมการ “นิติบุคคล” ของหมู่บ้าน มาบอกว่าจะเปลี่ยนสีรั้วบ้านไม่ได้ เพราะเป็นการละเมิดข้อห้ามที่ทางนิติบุคคลได้กำหนดไว้         “เฮ้ย...ทาสีบ้านตัวเองนี่ก็ทำไม่ได้หรือ” คุณวารินคิดในใจ และไม่แน่ใจว่า จริงๆ แล้วนิติบุคคลสามารถห้ามเรื่องแบบนี้ได้ด้วยเหรอ จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา        ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ค้นหาข้อกฎหมายของ “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” พบว่า กฎหมายที่กำหนดอำนาจของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไว้ ได้แก่ พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 48 ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้ “มาตรา 48 เพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้        (1) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค        (2) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการอยู่อาศัยและการจราจรภายในที่ดินจัดสรร        (3) เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคในส่วนที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีหน้าที่บำรุงรักษาจากสมาชิก        (4) ยื่นคำร้องทุกข์หรือเป็นโจทก์ฟ้องแทนสมาชิกเกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิหรือประโยชน์ของสมาชิกจำนวนตั้งแต่สิบรายขึ้นไป        (5) จัดให้มีบริการสาธารณะเพื่อสวัสดิการของสมาชิก หรือจัดสรรเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสาธารณะประโยชน์        (6) ดำเนินการอื่นใดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ระเบียบของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง หรือข้อบังคับของคณะกรรมการที่ออกโดอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้         การดำเนินการตาม (1) (2) และ (5) จะต้องได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก”         เมื่อพิจารณาตามนี้ จะไม่มีข้อใดที่ห้ามไม่ให้คุณวารินปรับปรุงทาสีรั้วบ้าน เพราะเป็นการกระทำที่กระทำแก่ทรัพย์สินของตนเองไม่ได้ไปละเมิดใคร และไม่อยู่ในอำนาจของนิติบุคคล แต่ก็ชวนให้คุณวารินคิดการเพิ่มสักหน่อย บางทีการที่กรรมการนิติบุคคลมาทัก ก็อาจเป็นไปได้ว่า ห่วงภาพรวมเรื่องความสวยงามของสภาพแวดล้อมในหมู่บ้าน ดังนั้นหากจะพบกันครึ่งทางได้ กล่าวคือเป็นสีรั้วที่ไม่โดดเด่นจนสร้างความแตกต่างมากจนเกินไปต่อภาพรวมของสภาพแวดล้อมก็จะเป็นการใช้ชีวิตร่วมกันที่น่ายินดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 เงินใครไม่รู้เข้าบัญชีเราต้องทำยังไง

        ถ้าเงินในบัญชีธนาคารของเรา จู่ๆ ก็หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการด่วน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แล้วในทางกลับกันอยู่ดีๆ มีเงินใครจากที่ไหนไม่รู้มาเข้าบัญชีของเรา เราจะเอาเงินนี้ไปใช้ได้หรือไม่ ก็ลาภลอยเห็นๆ ตรงนี้ขอฝากให้คิด เพราะการนำเงินที่ไม่รู้ที่มานี้ไปใช้อาจนำเรื่องร้ายมาให้ก็เป็นได้         ขณะที่คุณจริงใจกำลังทำงานอย่างมุ่งมั่น ข้อความจากเอสเอ็มเอสแจ้งมาว่า มีเงินถูกโอนเข้ามาให้คุณจริงใจ 5,000 บาท คุณจริงใจก็งงว่า ใครว่ะ เพราะเธอก็ไม่มีใครที่เป็นลูกหนี้หรือใครจะมาหยิบยื่นเงินทองให้ตั้ง 5,000 บาท แต่เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจก็ลองโทรศัพท์ถามคนใกล้ชิดว่ามีใครโอนเงินมาให้หรือไม่ ก็ไม่พบว่ามีใครโอนมาให้ ตอนแรกคิดว่าเออ เอาเงินนี้ไปใช้ดีไหม แต่ไม่ดีกว่าเพราะยังไงก็ไม่ใช่เงินเราและหากมีใครโอนผิดมาเดี๋ยวธนาคารก็คงโทรศัพท์ติดต่อมา แต่รออยู่สามวัน ก็ไม่มีใครติดต่อมา จึงปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ควรดำเนินการอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีมีเงินไม่ทราบที่มาเข้ามาอยู่ในบัญชีเรา สิ่งแรกที่ต้องจำไว้คือ อย่านำเงินดังกล่าวไปใช้ และไม่ควรดำเนินธุรกรรมใดๆ กับเงินในบัญชีจนกว่าจะได้เคลียร์ตัวเองก่อน         สิ่งที่เป็นไปได้อย่างแรกในกรณีที่เราไม่รู้ว่ามีเงินเข้ามาในบัญชีของเรา ซึ่งอาจเกิดจากมีคนโอนเงินผิดบัญชีโดยไม่ตั้งใจ ปกติคนที่โอนผิดจะรีบติดต่อกับธนาคารเพื่อขอให้เราคืนเงินให้ ซึ่งคนที่จะติดต่อกลับมาคือพนักงานธนาคารเพื่อแจ้งเรื่องการโอนผิดและนัดหมายให้เรายินยอมให้ทางธนาคารดึงเงินกลับไปยังบัญชีต้นทาง โดยที่เราไม่ต้องโอนเงินเอง และธนาคารจะแจ้งผลการดำเนินการหรือการทำรายการให้เราเก็บไว้เป็นหลักฐาน         อย่างที่สองเช่นกรณีคุณจริงใจ ที่มีเอสเอ็มเอสแจ้งมา คุณจริงใจควรติดต่อกลับไปยังธนาคารเพื่อแจ้งว่ามีเงินที่ไม่ทราบว่าเป็นเงินโอนจากที่ไหนเข้ามาในบัญชีเรา เพื่อขอให้ทางธนาคารช่วยติดต่อประสานงานให้ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันก็ปฏิบัติไปตามคำแนะนำของพนักงาน ซึ่งอาจจะยุ่งยากสักหน่อยเพราะเราต้องเป็นฝ่ายไปติดต่อเรื่องเอง (บางทีคนที่โอนผิดก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองโอนเงินผิด)        ทั้งสองกรณีนี้เราไม่ควรยุ่งกับเงินที่ไม่ใช่ของเรา เพราะหากเจ้าของเงินตามกลับมาแล้วเราไม่คืนให้ อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงได้         มีกรณีที่ควรต้องระวังคือ อาจเป็นการตั้งใจโอนเงินผิดเพื่อให้เราเป็นทางผ่านของเงินที่มีที่มาที่ไปไม่ถูกกฎหมาย เช่น อยู่ๆ ก็มีการติดต่อมาจากบุคคลที่เราไม่รู้จักโดยตรงและบอกให้เราโอนเงินกลับไปให้ ถ้าเรารีบร้อนโอนเงินกลับไป กรณีนี้เราอาจกลายเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดร่วมกับพวกมิจฉาชีพได้ ดังนั้นไม่ควรโอนเงินกลับไปเอง ควรดำเนินเรื่องผ่านธนาคาร และควรไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้ด้วยเป็นการยืนยันว่าเรามิได้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเกี่ยวกับการโอนเงินเข้ามาผิดนี้แต่อย่างใด   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ภัยโควิดกับรถรับส่งนักเรียน

        การเข้ามาของโควิด-19 เกือบสองปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกชีวิตบนโลกต้องเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ   ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่เตรียมตัวตั้งรับอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ตั้งตัวรับไม่ทัน หลายธุรกิจต้องล้มพับแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ขณะที่อีกหลายธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ต่างต้องกัดฟันสู้ต่อ ทั้งที่มองไม่เห็นอนาคตว่าสิ่งที่เคยรุ่งโรจน์จะกลับมาได้หรือเปล่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ระบบขนส่งสาธารณะที่แทบจะล่มสลายลงในช่วงเวลาเพียงสองปีที่โควิด-19 คืบคลานเข้ามา         ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในทุกมิติต้องรีเซ็ตจัดระบบตัวเองใหม่เท่านั้น ระบบการศึกษาของชาติที่มีนักเรียนนับล้านคนอยู่ในระบบก็ได้รับผลกระทบที่ไม่น้อยไปกว่ากันด้วย อีกทั้งการไม่มีมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 สำหรับนักเรียนทั่วประเทศของรัฐบาล ยิ่งส่งผลให้ระบบการศึกษาต้องหยุดชะงัก กระทรวงศึกษาธิการต้องสั่งการให้โรงเรียนทุกแห่งปรับการเรียนการสอนนักเรียนเป็นออนไลน์แทนการเรียนแบบออนไซต์หรือการไปโรงเรียนตามปกติ นัยนึงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่อีกนัยนึงก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่รู้จะจัดการป้องกันให้ปลอดภัยได้อย่างไร         แม้การเรียนออนไลน์จะลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด 19 ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างการเรียนการสอนในโรงเรียนและการเดินทางระหว่างบ้านไปโรงเรียนของนักเรียน แต่ข้อจำกัดที่สำคัญของการเรียนออนไลน์ คือ การมุ่งสนองนโยบายรัฐเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของนักเรียนส่วนใหญ่ เพราะนักเรียนจำนวนมากยังมีความไม่พร้อม และเข้าไม่ถึงหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเตอร์เน็ต หรืออุปกรณ์จำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ฯลฯ          แน่นอนว่าคงจะมีนักเรียนในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ตามภูมิภาคเท่านั้นที่มีศักยภาพพอจะเข้าถึงการเรียนสอนออนไลน์ แต่ยังมีนักเรียนอีกจำนวนมากในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศที่เข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ซ้ำเติม และเพิ่มช่องว่างทางสังคมให้เด่นชัดมากขึ้น  โดยการตอกย้ำผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจนหรือแนวทางแก้ไขปัญหา เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่กล้าให้ความมั่นใจในความปลอดภัยนักเรียนทั่วประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ก่อนหน้านี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันสำหรับเด็กและนักเรียน แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับนักเรียนและกำหนดมาตรการให้วัคซีนกับนักเรียนอายุตั้งแต่ 12-18 ปีแล้ว ก็คาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียนสามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้เหมือนเดิม         เพราะอย่างไรก็ดีชีวิตการเรียนของนักเรียนก็คือ การได้พบปะเพื่อนฝูง ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนสนธนาระหว่างกัน นี่คือชีวิตวัยเรียนที่มีคุณค่าที่มีข้อบ่งชี้ถึงการพัฒนาการของเด็กนักเรียนวัยนี้ มากกว่าการนั่งเรียนกับคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่ไม่มีตัวตน        เมื่อรัฐบาลประกาศให้ทุกคนต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ ถึงเวลาต้องเปิดประเทศและเปิดเรียนสำหรับนักเรียนทุกคนแล้ว โดยยืนยันแล้วว่า 1 พ.ย. 2564 คือ วันเปิดภาคเรียนเทอมสองของโรงเรียนทั่วประเทศ ท่ามกลางความวิตกกังวลของผู้ปกครองที่ห่วงว่า ถ้านักเรียนไปโรงเรียนแล้วจะโชคร้ายติดโควิด-19 หรือไม่ แม้กระทรวงศึกษาธิการจะออกประกาศเพิ่มความเชื่อมั่นว่า โรงเรียนและสถาบันการศึกษาสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามหลักเกณฑ์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความไว้วางใจดีขึ้นแม้แต่น้อย         เพราะการเปิดเทอมครั้งนี้ หมายถึง การเดินทางของนักเรียนทั่วประเทศ โดยที่ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่มีทางเลือกจำกัด ไม่มีพ่อแม่ไปส่งหรือไม่มีรถจักรยานยนต์ขับขี่ไปเอง นักเรียนเหล่านี้ต้องเดินทางไปโรงเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารสาธารณะที่มีโอกาสต้องพบเจอเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนอื่นหรือบุคคลอื่นที่โดยสารมาในรถคันเดียวกัน โดยที่ไม่รู้ว่าคนเหล่านี้มีการติดเชื้อมาแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นจุดเสี่ยงหรือคลัสเตอร์ใหม่สำหรับการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ได้ทุกเวลา และก็เป็นอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ ภายหลังเปิดเทอมสองได้ไม่นาน หลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคต่างก็พบว่ามีนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 กันแล้ว เช่น โรงเรียนที่นครราชสีมา หรืออุบลราชธานีที่เกิดคลัสเตอร์รถรับส่งนักเรียน ส่งผลให้ต้องปิดโรงเรียนแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง และอยู่ระหว่างการควบคุมอีก 3 แห่ง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มนี้ เกิดจากนักเรียนหลายพื้นที่มาใช้รถรับส่งนักเรียนคันเดียวกัน ทำให้การระบาดแพร่เชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว นักเรียนจำนวนมากจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงตามไปด้วย         สิ่งเหล่านี้คือข้อเรียกร้องที่อยากสะท้อนไปถึงกระทรวงศึกษาและกรมการขนส่งทางบก ในฐานะสองหน่วยงานหลักที่ต้องกำกับและจัดการความปลอดภัยของนักเรียนในทุกกลุ่ม และโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนที่ยังเป็นช่องว่างของปัญหาที่รอการแก้ไข เพราะการป้องกันที่ยากที่สุด คือ การป้องกันในที่สาธารณะที่อยู่นอกเขตโรงเรียนนั่นเอง         ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาและกรมการขนส่งทางบกที่ต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงให้กับนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารสาธารณะอย่างเป็นขั้นตอนที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง โดยความยินยอมร่วมมือของทุกฝ่าย (ถ้าขอความร่วมมือแล้วไม่ยอมก็ต้องมีมาตรการบังคับ) ทั้งโรงเรียน สำนักงานขนส่งจังหวัด ตำรวจ ผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียน  เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินทางไปกลับบ้านและโรงเรียนของนักเรียนทุกคนจะต้องปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 และจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนที่ยังเป็นปัญหาใหญ่หลอกหลอนอยู่จนวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ฝากไว้ให้คิดการซื้อซิมมือถือจากร้านสะดวกซื้อ

        เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณเอนกได้แจ้งข้อความมาที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ที่ consumerthai.org ว่า ตนเองได้สั่งซื้อซิมทรูมูฟเอชจาก  7- 11 Dilivery สาขามวกเหล็ก-เขาใหญ่ ซึ่งซิมมือถือนั้น จะยังไม่สามารถใช้งานได้ หากไม่มีการลงทะเบียน         แต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน คุณเอนกนำซิมที่ได้รับ ไปที่ร้านเซเว่นสาขาดังกล่าวเพื่อลงทะเบียน ปรากฏว่า พนักงานแจ้งว่า ซิมนี้ได้มีการลงทะเบียนแล้ว ขณะนั้นผู้ร้องไม่ได้นึกสงสัย เพราะคิดไป (เอง) ว่า คงเนื่องจากทางร้านค้าหรือ 7- 11 Dilivery อาจจะมีข้อมูลของผู้ร้องอยู่แล้วผ่านระบบ All Member จึงอำนวยความสะดวกโดยทำการลงทะเบียนให้เรียบร้อย พอคิดไปเช่นนั้นก็เลยทำให้เผลอประมาทไม่ได้ถามไถ่ให้เรียบร้อยว่าชื่อบุคคลที่ลงทะเบียนนั้นเป็นชื่อของตนเองหรือไม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นชื่อตัวเองแล้วและทางพนักงานเซเว่นก็ไม่ได้ช่วยบอกอะไรนอกจากบอกว่า ซิมลงทะเบียนแล้ว ผู้ร้องจึงใช้ซิมดังกล่าวมาโดยตลอดกว่า 5 เดือน         จนเข้าตุลาคม 2564 ผู้ร้องซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่จึงโหลดแอพพลิเคชัน TRUE 4 U มาโดยแอพดังกล่าวเป็นแอพเฉพะสำหรับผูกกับเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะสามารถสะสมแต้มเพื่อแลกและลุ้นรางวัลต่างๆได้ คราวนี้เมื่อผู้ร้องเช็ครายละเอียดเจ้าของบัญชีปรากฏว่า อ้าว ! ไม่ใช่ชื่อเรานะที่เป็นผู้ลงทะเบียนซิมนี้ โดยชื่อผู้ลงทะเบียนกลายเป็นชื่อใครก็ไม่รู้ ที่คุณเอนกไม่รู้จัก เป็นเรื่องแล้วงานนี้        คุณเอนกจึงรีบไปที่เซเว่นสาขาที่ซื้อซิม  แต่ทางพนักงานบ่ายเบี่ยงไม่ตอบปัญหา ไม่แก้ปัญหา แจ้งให้ผู้ร้องไปติดต่อที่ศูนย์ทรูช้อปเอง ผู้ร้องจึงไปศูนย์ทรูสาขาเซนทรัล ปิ่นเกล้า เพื่อขอข้อมูลและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดให้พนักงานทราบ แต่ทางพนักงานไม่สามารถให้ข้อมูลแก่ผู้ร้องได้เนื่องจากชื่อที่ใช้ลงทะเบียนไม่ได้เป็นชื่อผู้ร้อง โชคดีที่ผู้ร้องยังเก็บซองซิมไว้  จึงนำซองไปติดต่อเซเว่นอีกรอบเพื่อยืนยันว่าได้มีการซื้อซิมหมายเลขดังกล่าวจริง         คราวนี้พนักงานได้โทรศัพท์มาขอโทษและแจ้งว่าจะทำการติดต่อไปที่ศูนย์ทรูเพื่อระงับหมายเลขดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันซิมดังกล่าวก็ยังไม่ถูกระงับ ผู้ร้องจึงตัดสินใจจะไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการให้ทางร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางผู้ร้องแจ้งว่าขณะนี้กำลังเจรจากับทางร้านสะดวกซื้ออยู่ ที่ส่งเรื่องเข้ามาเพื่อให้ทางมูลนิธิฯ ได้นำเรื่องของตนมาเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น ให้รอบคอบอย่าเผลอคิดไปเองอย่างที่เกิดขึ้นกับตน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แม่อุ๊ยป่วยหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอเยียวยาค่ารักษา

        ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่าหากใครฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อที่รัฐบาลจัดสรรให้แล้วเกิดอาการแพ้และอาการไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิต ในทุกกรณีที่สงสัยว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีนนี้ ให้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปก่อนได้ แต่อาจไม่ได้รับการเยียวยาทุกกรณี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมติของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะพิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ ประกอบกันด้วย         แม่อุ๊ยวันดี อยู่ที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนเข็มแรกที่โรงพยาบาลฮอดไปได้ประมาณ 2 สัปดาห์ วันนั้นแม่อุ๊ยเริ่มรู้สึกเวียนหัว ร้อนตามตัว พอลุกมาเข้าห้องน้ำตอน 3 ทุ่ม ก็เป็นลมล้มหมดสติไป หลานจึงพาไปโรงพยาบาลฮอด แต่อาการแม่อุ๊ยไม่ดีขึ้นจึงถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลมหาราชทันที และนอนรักษาตัวอยู่ 2 คืน คุณหมอวินิจฉัยว่าแม่อุ๊ยวันดีเป็นเส้นเลือดตีบที่หัวใจ ต้องเจาะที่ต้นคอและต้นขา และกินยาต่อเนื่อง จากนั้นก็ถูกส่งตัวมานอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจอมทองอีกคืนหนึ่งจึงกลับบ้านได้ โดยหมอนัดมาตรวจอาการอีกทุกๆ 2 อาทิตย์ เป็นเวลา 1 ปี           ทุกวันนี้แม่อุ๊ยวันดีได้เงินเบี้ยผู้สูงอายุ 700 บาทและหลานให้อีก 500 บาทเท่านั้น อาการเจ็บป่วยทำให้แม่อุ๊ยได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีอย่างเมื่อก่อน และยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องด้วย  จึงได้ให้หลานร้องเรียนมายัง เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ ว่า ตนเองจะเรียกร้องค่าเยียวยาจากไหนได้บ้างไหม เพื่อมาจ่ายค่ารักษาอาการป่วยต่อเนื่องนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำให้ ครอบครัวแม่อุ๊ยวันดีเตรียมข้อมูลสำหรับยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนแล้ว โดยทำตามขั้นตอนที่ สปสช.ประกาศไว้ในเอกสารวิธียื่นคำร้องขอรับ “เงินช่วยเหลือเบื้องต้น” ที่ต้องยื่นภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย         ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง คือ ผู้เสียหายหรือทายาท ถ้าไม่มีทายาท ผู้อุปการะหรือผู้ดูแลใกล้ชิดกันมาต่อเนื่องพอสมควร หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ สามารถยื่นคำร้องแทนได้ โดยต้องเตรียมเอกสารประกอบ ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน  ความเห็นจากแพทย์ที่รักษาและการหยุดพักงาน  บันทึกเหตุการณ์ก่อนและหลังฉีดจนมีอาการข้างเคียง หรือสำเนาใบมรณบัตร(กรณีที่เสียชีวิต) ไปยื่นได้ที่โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ (13 เขต ทั่วประเทศ)         หลังจากยื่นคำร้องแล้ว หากคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ สปสช. พิจารณาลงมติว่าเห็นชอบที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ ทางสปสช.จะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วัน หลังจากมีมติ โดยอัตราการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้น คือ เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 400,000 บาท เสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 240,000 บาท บาดเจ็บ/บาดเจ็บต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้หากไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ซื้อรถยนต์มือสองชำรุดใครต้องรับผิดชอบ

        รถยนต์มือสอง ตัวเลือกที่หลายคนเลือก อาจเป็นเพราะราคาที่ถูกกว่ารถใหม่มาก เรียกว่าเป็นราคาที่เอื้อมถึง และหลายคนก็พบว่า หากเลือกได้ดีการมีหรือซื้อรถยนต์มือสองที่สภาพดีไว้ใช้งานก็คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม กรณีที่ใช้ไปนานๆ แล้วเกิดปัญหาของสภาพเครื่องยนต์ขึ้นมา ค่าซ่อมอาจมากกว่าราคาที่ซื้อมาก็เป็นได้ ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดี เรามาดูกรณีของผู้บริโภคท่านนี้เผื่อจะได้ไว้เป็นข้อคิดเตือนใจ           คุณอำพนเป็นอีกคนที่เลือกซื้อ รถยนต์มาสด้ามือสอง จากเต็นท์ขายรถยนต์มือสองแห่งหนึ่งไว้ใช้งาน ซึ่งตอนไปเลือกซื้อรถ เขาเจอรถที่ถูกใจและรุ่นที่ต้องการอยู่พอดี จึงตกลงซื้อรถด้วยเงินสดในราคา 290,000 บาท เขาตรวจสอบสภาพตัวรถยนต์และเครื่องยนต์ระดับหนึ่งก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร สภาพดูดีพร้อมใช้งานเลยแหละว่างั้นเถอะ         แต่...เมื่อได้รับรถยนต์มาแล้วปัญหาที่คาดไม่ถึงก็ปรากฎ คุณอำพนนั้นเมื่อได้ใช้รถยนต์คันนี้ไปได้สักพัก เขาก็พบว่ารถคันนี้มีอาการผิดปกติ คือเมื่อเข้าเกียร์ว่างแต่รถกลับเคลื่อนที่ได้เองโดยเคลื่อนที่ถอยหลัง และเครื่องยนต์มีอาการสั่นรุนแรง  เขาเริ่มไม่แน่ใจกับสภาพรถยนต์มือสองคันนี้ว่าจะปลอดภัยต่อการใช้งานหรือไม่  จึงนำไปรถเข้าเช็คที่ศูนย์รถยนต์มาสด้า เบื้องต้นช่างระบุว่า ตัวหัวฉีดและกระบอกสูบของรถยนต์มีปัญหา ส่วนเกียร์ก็มีปัญหาแต่ต้องใช้เวลาเพื่อตรวจดูอย่างละเอียดอีกรอบหนึ่งก่อน         เมื่อรู้ถึงปัญหาความชำรุดบกพร่อง คุณอำพนรีบแจ้งไปยังเต็นท์รถทันทีเพราะมองว่าควรเป็นความรับผิดชอบของทางเต็นท์ ที่รถยนต์มีสภาพผิดปกติ แต่ทางเต็นท์ได้แจ้งว่า ไม่ขอรับผิดชอบในความชำรุดที่เกิดขึ้น เพราะรถยนต์คันดังกล่าวได้มีการขายเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  อ้าว..ไหงงั้นล่ะ จะทำอย่างไรดี เมื่อคุณอำพนเจอคำปฏิเสธของเต็นท์รถมือสอง เขาจึงได้มาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา    มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นดังนี้        1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่ทำการซื้อขายรถยนต์ เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ว่าสิ่งที่ผู้ร้องได้พูดมานั้นเป็นความจริง เพราะถ้าไม่จริงก็ถือว่าแจ้งความเท็จซึ่งผู้ร้องจะต้องมีความผิดทางกฎหมาย        2. ทำจดหมายหรือหนังสือไปยังเต็นท์รถยนต์มือสองที่ผู้ร้องซื้อรถมา ให้รับผิดชอบกับความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ โดยส่งจดหมายแบบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ        3. ถ้าเต็นท์ขายรถยนต์มือสองไม่ตอบรับหรือไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่เยียวยาแก้ไขปัญหาผู้ร้องสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ โดยนำหลักฐานการตรวจสภาพรถ บันทึกประจำวัน จดหมายขอให้รับผิดชอบ มาใช้เป็นพยานในการดำเนินคดี เพื่อให้ผู้ขายรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น         เมื่อดำเนินการในข้อ 1 และ 2 แล้ว ทางมูลนิธิฯ จะช่วยผู้บริโภคในเรื่องการไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติต่อไป ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ซื้อเครื่องอบผ้าจากออนไลน์ แต่เสียงดังเกินไป ทำอย่างไรดี

ธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์ ในปัจจุบันนอกจากจะสะดวกสบายในการซื้อแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนติดกับดักหลุมพรางจนต้องเสียเงิน ก็คงหนีไม่พ้นการขยันออกโปรโมชันกระตุ้นยอดขายของบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะโปรโมชัน  9.9 , 10.10 , 11.11 ที่ขยันออกมา ล่อตา ล่อใจ ล่อเงินในกระเป๋าสตางค์อยู่เรื่อย ทำให้หลายคนที่มีแอปพลิเคชันธนาคารอยู่ในมือคงสั่นไม่น้อย พร้อมจะเสียเงินไปกับร้านค้าต่างๆ ที่จัดโปรโมชันเอาใจลูกค้าอย่างแรง ไม่ว่าจะเป็นลด แลก แจก แถม ลดแล้วลดอีก ก็แหมใครจะไปทนไหวกับโปรโมชัน ล่อตา ล่อใจ ขนาดนี้ล่ะเนอะ        ในกรณีนี้ คุณภูผาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชันนี้เช่นกัน แถมเขายังอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “งานบ้านที่รัก”อีกด้วย พอดีช่วงหน้าฝน มีคนในกลุ่มเฟซบุ๊กมาโพสต์รีวิวเครื่องอบผ้ายี่ห้อหนึ่งว่า “ของมันต้องมี มีแล้วชีวิตดีมาก ผ้าแห้งเร็ว ไม่ต้องง้อแดด ผึ่งแปบเดียวแห้ง ยิ่งหน้าฝนด้วยแล้วจำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง” เมื่อคุณภูผาเห็นโพสต์รีวิว พร้อมข้อความรีวิวดังกล่าวดูน่าสนใจมากเลยทีเดียว จึงได้ตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องอบผ้ายี่ห้อ G จากร้าน Power Buy ทางออนไลน์ ราคาประมาณ 20,000 บาท ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตทันที สินค้ามาส่งทันใจไม่รอนาน แต่...         เมื่อใช้งานโดยหวังว่าจะตากผ้าโดยไม่ต้องง้อแดดอย่างคำโฆษณา เพราะช่วงนี้ฝนตกทุกวันหากไม่อบผ้าผ้าก็อาจจะไม่แห้งและเหม็นอับจากการตากในที่ร่ม แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นจนได้ ผ้าที่อบได้นั่นโอเคไม่มีปัญหา ที่ไม่โอเคคือ เจ้าเครื่องอบผ้าที่เขาซื้อมาตอนปั่นหมาดนั้นมีเสียงดังมาก ดังราวกับจะพัง แก้อย่างไรก็ไม่หายสักที “จะทำยังไงดีล่ะเนี้ย” ภูผาปวดหัวตึ้บ จึงได้มาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องการขอเงินคืนจากทางบริษัทจะต้องทำอย่างไร ทำได้ไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำผู้ร้องเบื้องต้นให้ทำหนังสือไปยังสามบริษัท ได้แก่ บริษัทบัตรเครดิต บริษัท G ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องอบผ้า และบริษัท Power Buy ซึ่งเป็นผู้ขาย โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคร่าวๆ และแจ้งความต้องการว่าต้องการขอเงินคืน พร้อมส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ และระบุในหนังสือว่าผู้ร้องสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย         เมื่อผู้ร้องได้ทำตามคำแนะนำของฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่อมาผู้ร้องหรือคุณภูผาแจ้งกลับมาว่าได้รับเงินคืนเป็นยอดในบัตรเครดิตเรียบร้อยแล้ว และขอบคุณที่ทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้บริโภค วิธีการนี้สามารถนำไปใช้ได้ในกรณีใกล้เคียงกันหรือปรึกษามาที่มูลนิธิฯ เมื่อท่านประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 เสียงอะไรใต้หลังคา

        ปัญหาจากการซื้อบ้านแล้วเข้าไปอยู่อาศัยไม่ได้เพราะเหตุการณ์ประหลาดนี้ หากเกิดขึ้นกับใครก็คงปวดหัวไม่น้อย มาดูกันว่าผู้เสียหายประสบปัญหาอะไรและมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร         เมื่อปี 2562 คุณชัดเจนซื้อบ้านในโครงการของ บริษัท A ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากเข้าพักอาศัยได้ไม่กี่วัน คุณชัดเจนพบว่า ทุกวันจะได้ยินเสียงดัง “ตึงๆ” จากใต้หลังคาเป็นระยะตลอดทั้งวัน เสียงดังรบกวนจนไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้ เพราะทั้งรำคาญและกลัวว่าจะเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย เพราะตอนที่เขาตรวจรับบ้านเพื่อโอนกรรมสิทธิ์นั้น เขาพบว่า ทางโครงการฯ เก็บงานไม่เรียบร้อย หลายรายการ ไม่พร้อมให้เข้าอาศัยได้ทันที ซึ่งเขาต้องเรียกร้องให้ทางโครงการฯ จัดการเก็บงานอยู่หลายต่อหลายครั้งและใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะพอเข้าอาศัยได้         เมื่อเกิดปัญหาเสียงดังจากใต้หลังคาคุณชัดเจนแจ้งให้ทางโครงการฯ รีบเข้ามาแก้ไข ครั้งแรกทางช่างแจ้งว่า เพราะหลังคาเป็นเมทัลชีทดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่อาจมีเสียงดังเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการขยายตัวของโลหะ ทางช่างจะดูแลให้ สองเดือนต่อมาปัญหาไม่หายไป และคุณชัดเจนก็คิดว่า หากเป็นเสียงดังจากเมทัลชีทจริง ก็น่าจะเป็นกับบ้านทุกหลังในโครงการฯ ทำไมต้องมาเป็นเฉพาะบ้านของเขา ซึ่งเรื่องนี้เขาได้สอบถามเพื่อนบ้านทุกคนแล้ว ไม่มีใครเกิดปัญหาแบบบ้านเขาเลย         สองเดือนต่อมาเขาเร่งให้โครงการเข้าจัดการปัญหา เรื่องก็เงียบจนอีกสามสี่เดือนถัดมา ทางโครงการฯ นำผู้รับเหมาเข้ามาสำรวจและทดสอบเสียง พร้อมบอกว่าเกิดจากการขยายตัวของแผ่นหลังคาจริง ดังนั้นจะทำการรื้อและติดตั้งหลังคาให้ใหม่ หลังจากช่างแก้ไขให้แล้ว เสียงดังตึงก็ยังหลอนโสตประสาทเช่นเดิม         จนเข้าปลายปี 2563 เขาพยายามให้ทางโครงการฯ แก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เพราะเขาขาดประโยชน์ต้องไปพักอาศัยที่อื่น ไม่สามารถอยู่บ้านหลังนี้ได้ ซึ่งต่อมาทางโครงการนำผู้เชี่ยวชาญมาตรวจและเทสเสียงพร้อมแจ้งว่า เสียงที่ดังนี้ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเขาเห็นว่า มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหา การบอกว่าเสียงไม่เกินมาตรฐานกำหนดมันไม่ได้ทำให้เขาพักอาศัยได้ ทั้งกลัวว่าอาจมีปัญหาโครงสร้างของหลังคา อยู่ๆ เกิดพังถล่มลงมาจะทำอย่างไร           ล่าสุดก่อนตัดสินใจปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คุณชัดเจนระบุว่าทางโครงการฯ ได้นำวัสดุลดเสียงเข้ามาติดตั้งใต้หลังคาแต่ปัญหาก็ไม่หายไป และทางโครงการฯ ไม่พยายามเข้ามาสนใจติดตามผลงานเลย ทิ้งเรื่องเงียบหาย  เขาจะใช้สิทธิทางกฎหมายอย่างไรได้บ้าง คือสิ่งที่คุณชัดเจนปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหา         หลังให้คำแนะนำเรื่องการดำเนินการใช้สิทธิ เบื้องต้นผู้ร้องได้เข้าร้องเรียนปัญหานี้กับทางโยธาจังหวัดสมุทรปราการเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุของเสียงดังใต้หลังคา และเปิดเจรจากับทางโครงการฯ อีกครั้ง โดยทางศูนย์ฯ จะเข้าช่วยเหลือเรื่องการเจรจาเพื่อให้แก้ไขปัญหา หากไม่สามารถแก้ไขได้ก็ใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >