ฉบับที่ 246 ผู้รับเหมาใช้วัสดุผิดแบบจึงขอยกเลิกสัญญา

        "สัญญาก่อสร้าง หรือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง" คือ เอกสารสัญญาที่ระบุความตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน) ในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับงานที่ดำเนินการก่อสร้างตามที่กำหนดตามข้อตกลง และผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) ที่รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างตามรายละเอียดที่ตกลงก่อสร้างตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาว่าจ้างจนแล้วเสร็จ        เมื่อสัญญาไม่เป็นสัญญา ผู้รับเหมาทำผิดข้อตกลง เจ้าของบ้านก็บอกยกเลิกสัญญาได้         ย้อนไปเมื่อ 10 ตุลาคม 2563 คุณใบโพธิ์ได้ตกลงทําสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้านพักอาศัยชั้นเดียวกับ บริษัทรับเหมาสร้างบ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น แต่สร้างไปสร้างมา คุณใบโพธิ์สังเกตว่าการก่อสร้างดูเหมือนไม่ค่อยได้มาตรฐาน จึงลองตรวจสอบดู แล้วก็พบว่าบริษัทผู้รับเหมาลดขนาดวัสดุที่ใช้ซึ่งไม่ตรงตามสเปกที่ระบุไว้ในเอกสารแนบสัญญา คุณใบโพธิ์จึงบอกให้ช่างหยุดก่อนและถามหาความรับผิดชอบ         ต่อมาแม้ทางบริษัทชี้แจงว่าจะแก้ไขให้เป็นไปตามแบบ แต่คุณใบโพธิ์ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ไขที่จะปล่อยให้เลยตามเลยแบบนี้ และมองว่ายังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น อีกทั้งเขาเองก็ไม่ไว้วางใจให้ช่างของบริษัทนี้มาสร้างบ้านให้อีกต่อไปแล้วด้วย คุณใบโพธิ์ต้องการจะขอยกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัท ตามที่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญา จึงได้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญามาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านทางอีเมล และปรึกษาว่าควรจะทำยังไงต่อไป    แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อกลับไปยังคุณใบโพธิ์ เพื่อขอให้ส่งสำเนาสัญญาว่าจ้าง ใบเสร็จเงินค่างวดงานแต่ละงวดที่จ่ายไปแล้ว สลิปโอนเงิน รูปภาพก่อสร้าง เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นได้แนะนำให้คุณใบโพธิ์ทำหนังสือไปยังบริษัทให้ดำเนินการตามสัญญาแล้ว แต่บริษัทกลับเงียบเฉย ในกรณีนี้คุณใบโพธิ์สามารถดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเรื่องการผิดสัญญาได้ โดยว่าจ้างให้ช่างหรือบริษัทรับเหมารายอื่นมาประเมินความเสียหายว่า การก่อสร้างบ้านหลังนี้ไม่เป็นไปตามแบบอย่างไร ใช้วัสดุลดขนาดอย่างไร แล้วเหลืองานที่ไม่เสร็จอีกเท่าไหร่ คำนวณเป็นจำนวนเงินออกมา เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเรียกค่าเสียหายในคดีต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อให้การก่อสร้างสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยไม่เสียประโยชน์ในฝ่ายของคุณใบโพธิ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 กู้บ้านไม่ผ่านขอเงินคืนได้ไหมนะ

        การซื้อบ้านอาจเป็นการใช้เงินก้อนใหญ่ในชีวิตของหลายคน บางคนซื้อเงินสดบางคนซื้อโดยขอยื่นกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งการยื่นกู้จากธนาคารก็ไม่ได้ง่ายเลย เพราะธนาคารอาจจะไม่ให้กู้ก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าได้ทำสัญญาจองและจ่ายเงินมัดจำไปด้วยแล้ว ก็อาจจะเป็นเรื่องไม่ง่ายอีกเหมือนกันที่จะได้เงินมัดจำคืน         คุณภูผากับแฟนกำลังวางแผนสร้างครอบครัวเล็กๆ ของเขา โดยวางแผนกันว่าจะซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง เผื่ออนาคตจะได้ให้ลูกมีพื้นที่ไว้วิ่งเล่นได้ เขาและแฟนจึงตกลงทำสัญญาจองบ้านโดยได้จ่ายเงินมัดจำไปจำนวนหนึ่งกับเซลล์ของโครงการ หลังจากนั้นเขาได้ดำเนินเรื่องยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาคิด เพราะว่าเขาถูกธนาคารปฏิเสธ ธนาคารแจ้งมาว่าเรื่องกู้ซื้อบ้านที่เขายื่นมาธนาคารพิจารณาแล้วเขาไม่ผ่านเกณฑ์ เมื่อผลออกมาแบบนี้เขาก็แจ้งไปยังเซลล์ว่าเขายื่นเรื่องกู้ซื้อบ้านกับธนาคารไม่ผ่าน เขาต้องการเงินมัดจำคืนเนื่องจากในสัญญาจองระบุไว้ว่า ถ้าผู้ทำสัญญาจองกู้ธนาคารไม่ผ่าน ทางโครงการจะคืนเงินมัดจำให้เต็มจำนวน เขาแจ้งเซลล์ไปหลายครั้งหลังจากที่ธนาคารแจ้งผลการพิจารณามา แต่เซลล์ก็ยังไม่ยอมคืนเงินมัดจำเสียที โดนเลื่อนวันโอนเงินก็หลายครั้ง เขาอยากได้เงินจำนวนนั้นไปใช้ธุระอย่างอื่น ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงมาปรึกษาสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี แนวทางการแก้ไขปัญหา        สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานีแนะนำผู้ร้องว่า การคืนมัดจำให้กับผู้ทำสัญญาจองในกรณีกู้ธนาคารไม่ผ่านมีระบุไว้ในสัญญา โครงการต้องคืนเงินให้ผู้ร้องตามสัญญาไม่ต้องเป็นกังวล ถ้าโครงการไม่คืนเงินจริงๆ ผู้ร้องสามารถฟ้องดำเนินคดี เพื่อให้โครงการคืนเงินมัดจำตามสัญญาได้ ผู้ร้องชนะคดีแน่นอน         สมาคมฯ แนะนำวิธีการเพิ่มเติมว่า ให้ผู้ร้องกำหนดวันคืนเงินมัดจำให้เซลล์อีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดให้เซลล์คืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ร้องภายใน 15 วัน ถ้าครบ 15 วันแล้วเซลล์ยังไม่คืนเงินมัดจำ ผู้ร้องทำจดหมาย ขอให้โครงการคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ร้อง ส่งจดหมายไปยังผู้บริหารโครงการ เล่าเหตุการณ์คร่าวๆ ของผู้ร้อง โดยส่งแบบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เพื่อให้ทางโครงการคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ร้อง และอาจแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับเซลล์และโครงการ         หลังจากผู้ร้องแจ้งไปยังเซลล์ว่า ให้คืนเงินให้แก่ผู้ร้องภายใน 15 วัน ถ้าไม่คืนผู้ร้องจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เซลล์ก็โอนเงินให้แก่ผู้ร้องภายในเวลา 15 วัน ตามที่ผู้ร้องกำหนดไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 การปิดหนี้บัตรเครดิตที่เหมือนโดนเอาเปรียบ

        คุณสาวน้อยเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารแห่งหนึ่ง  จำนวนเงินประมาณ 75,000 บาท เพราะเธอมีปัญหาเรื่องการเงินจึงไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ในเวลาที่ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตามต่อมาเธอพอเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง จึงติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอตัดหนี้ปิดบัญชี โดยเธอได้ต่อรองขอลดยอดหนี้ลงมา ต่อรองไปต่อรองมาธนาคารตกลงให้เธอปิดหนี้กับธนาคารด้วยยอดเงินจำนวน 50,000 บาท หลังจากนั้นธนาคารได้ส่งใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาตามที่เธอต่อรองไว้มาให้เธอเรียบร้อย แต่...หลังจากนั้นไม่นานเรื่องกลับไม่เรียบร้อย เพราะเธอได้รับเอกสารคำฟ้องจากศาล คุณสาวน้อยจึงไม่รู้ว่าเธอควรดำเนินการอย่างไรดี จึงขอคำปรึกษา         แนวทางในการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า เมื่อผู้ร้องได้ใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาและตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ผู้ร้องสามารถไปโอนเงินให้กับธนาคารตามข้อตกลงได้ทันที โดยผู้ร้องจะต้องไปโอนเงินที่ธนาคาร ห้ามโอนเข้าไปในบัญชีของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่ธนาคารหรือสำนักงานกฎหมาย เนื่องจากจะไม่มีหลักฐาน         การโอนที่ธนาคารจะมีใบเสร็จหรือสลิปการโอนเงินหรือเปย์อิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน ย้ำต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นผู้ร้องต้องโทรแจ้งเจ้าหนี้ หรือธนาคารให้ทราบว่า ผู้ร้องได้โอนเงินตามข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว เมื่อผู้ร้องโอนเงินแล้วหนี้ของผู้ร้องจะเป็นศูนย์หรือบรรลุตามข้อตกลงแล้ว         หลังจากนั้นผู้ร้องต้องร้องขอให้ธนาคารส่ง ใบปิดบัญชี ของผู้ร้องมาไว้เป็นหลังฐานยืนยันว่า ได้รับเงินและได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว (ส่วนเอกสารใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาแล้ว ซึ่งธนาคารส่งมาให้ในตอนแรกนั้น ยังไม่ใช่ใบปิดบัญชี ใบลดหนี้เป็นเพียงแต่หลักฐานที่แสดงว่าทางเจ้าหนี้ได้ลดหนี้ให้กับผู้ร้องเท่านั้น)         เมื่อชำระหนี้ตามสัญญากับเจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ผู้ร้องต้องให้เจ้าหนี้ถอนฟ้องจากศาล เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องจะค้างอยู่ที่ศาล โดยนัดกันไปที่ศาลและทำคำร้องเพื่อขอถอนฟ้อง ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่ต้องให้เจ้าหนี้ไปด้วยในฐานะผู้ฟ้อง (โจทก์)  ผู้ร้องจะไปขอถอนคนเดียวไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 วุ่นวายมากไปไหมกับการจ่ายค่าโทรศัพท์แบบไร้ใบแจ้งหนี้

        คุณนิดดูแลบ้านพัก 3 หลัง จึงใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลายเลขหมาย โดยทุกเลขหมายมีชื่อผู้ใช้บริการเป็นชื่อเธอคนเดียว  ซึ่งแต่ละเลขหมายจะแยกจ่ายตามคนที่อยู่อาศัยหลักๆ ของบ้านนั้นๆ  ตัวเธอเองรับจ่ายค่าบริการของบ้านที่ดินแดง น้องสาวจ่ายค่าบริการของบ้านที่ราชเทวี ส่วนน้องชายจ่ายของบ้านที่บางเขน เวลาไปจ่ายเงินก็ใช้เพียงการบอกบ้านเลขที่บ้าน ไม่เคยต้องถือใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการไปให้ยุ่งยาก เพราะเธอรักษ์โลกช่วยลดการใช้กระดาษจึงระบุต่อผู้ให้บริการว่า ขอไม่รับใบแจ้งค่าใช้บริการแบบกระดาษ  ให้ทางบริษัทฯ ส่ง SMS แจ้งค่าบริการมาแทน         วันหนึ่งของเดือนที่อากาศร้อนมากๆ แต่วันนั้นอากาศค่อนข้างเย็นสบาย คุณนิดจึงเดินออกจากบ้านตอนบ่ายแก่เพื่อไปจ่ายเงินค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลังที่เธอรับผิดชอบที่ร้านรับจ่ายค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านอนุเสาวรีย์ชัย  เมื่อถึงร้านเธอจดเลขที่บัตรประชาชนเหมือนเคย แล้วบอกว่า จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้านเลขที่ 9999 (เลขสมมติ) เขตดินแดง... พร้อมกับส่งบัตรเครดิตให้พนักงาน         คุณพนักงานของร้านก้มหน้าสักพัก พร้อมยื่นใบเสร็จกลับมาให้ คุณนิดอ่านดูรายละเอียดเห็นเป็นบ้านเลขที่น้องสาว จึงบอกว่า “ไม่ใช่ค่ะน้อง ทำอย่างไรดีคะ อันนี้มันเป็นค่าใช้จ่ายที่บ้านน้องสาวที่ราชเทวี ไม่ใช่บ้านเลขที่ของพี่”  พนักงานตอบว่า “ระบบของเราดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายแยกตามบ้านเลขที่ที่ใช้งานไม่ได้ ถ้าจะดูรายละเอียดได้ คุณลูกค้าต้องไปที่สำนักงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ในห้างต่างๆ ร้านเรามีแต่ยอดที่เป็นยอดรวมตามชื่อลูกค้า เนื่องจากเป็นร้านดีลเลอร์ ไม่ใช่ร้านที่เป็นสาขาของบริษัทโดยตรง”           คุณนิดจึงแย้งว่าตนเองแจ้งเลขที่บัตรปรระชาชนพร้อมกับเลขที่บ้านให้แล้วนะ ทำไมคุณพนักงานไม่บอกหรือแจ้งข้อจำกัดนี้ให้ทราบก่อน พนักงานกล่าวขอโทษพร้อมกับทำเรื่องคืนเงินให้คุณนิด พร้อมกับแจ้งว่าหากคุณนิดมีรหัสลูกค้าจะทดลองจ่ายอีกรอบก็ได้ ทางเจ้าหน้าที่จะทำคืนเงินให้หากไม่ใช่บ้านเลขที่ของคุณนิด         คุณนิดค้นเลขรหัสลูกค้าที่มี SMS มาที่เธอ  2 หมายเลขให้กับทางเจ้าหน้าที่ไป เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งใบเสร็จให้เธออีกครั้ง คราวนี้ทั้ง 2 บิล แจ้งรายละเอียดว่า บ้านที่ใช้บริการเป็นเลขที่บ้านน้องสาวที่ราชเทวีเหมือนเดิมแม้ว่าตัวเลขบนบิลจะไม่ใช่ยอดเงินเดียวกันก็ตาม  อย่างไรก็ตามพนักงานได้รีบทำเงินคืนให้คุณนิดตามที่เขารับปากไว้  คุณนิดนั้นรับบัตรเครดิตคืนมาแบบหงุดหงิดเพราะแค่จ่ายบิลก็ไม่สำเร็จ หลังตรวจสอบวงเงินในบัตรเรียบร้อยว่าครบถ้วน เธอก็เก็บของเตรียมกลับบ้าน แต่ก็ฝากเรื่องกับพนักงานไว้ว่า เดี๋ยววันนี้ขอกลับไปโทรคุยกับคอลเซ็นเตอร์ก่อน           คุณนิดถึงบ้านอีกครึ่งชั่วโมงถัดมา เธอโทรปรึกษาคอลเซ็นเตอร์บอกเรื่องราวที่เกิดขึ้น  น้องน้ำหวานพนักงานรับสายแจ้งว่า  “ระบบของเรา สามารถบอกรายละเอียดได้นะคะ หน่วยงานที่เป็นสถานที่รับชำระเงินทั้งที่เป็นสาขาของเราและดีลเลอร์ต่างๆ สามารถแจ้งรายละเอียดกับลูกค้าได้ค่ะ  และคุณลูกค้าสามารถจ่ายค่าบริการผ่านแอปของเราได้นะคะ กดเลือกบ้านเลขที่ที่ต้องการได้เลยนะคะ คุณลูกค้ามีเรื่องสอบถามเพิ่มเติมไหมคะ” คุณนิดไม่มีเรื่องแจ้งเพิ่ม เพียงแต่ย้ำกับน้องน้ำหวานไปถึงเรื่องการให้บริการของบริษัทที่ควรจะมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ต้องให้ผู้บริโภคเสียเวลาแบบที่คุณนิดเจอมา           หลังจากดำเนินการด้วยตนเองไปแล้ว คุณนิดก็คิดได้ว่าน่าจะมาเล่าประสบการณ์ให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับทราบไว้ด้วย เพื่อจะได้ช่วยดำเนินการย้ำกับผู้ประกอบการบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ว่า ไหนๆ ก็มีทางเลือกในการจ่ายหนี้แบบไม่ใช่ใบแจ้งหนี้ (กระดาษ) ก็ช่วยทำให้ทุกช่องทางได้มาตรฐานเดียวกันด้วย        แนวทางแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รับเรื่องราวของคุณนิดไว้และพร้อมจะดำเนินการนำข้อเสนอของคุณนิดสู่ผู้ประกอบการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 หลงกลลวงให้ซื้อประกันทางโทรศัพท์

        หากมีใครโทรศัพท์มาชวนคุยเรื่องทำประกัน ถ้าคุณไม่ได้มีแผนจะทำประกันแล้วล่ะก็...ขอแนะนำให้บอกปัดไปเลย ไม่ต้องฟัง เพราะไม่อย่างนั้นอาจโดนคารมนายหน้าขายประกันใช้เทคนิคทำทีเป็นโทรมาสอบถามข้อมูลแล้วให้พูดตาม หรือพูดหว่านล้อมให้คุณตอบ “ตกลง”  โดยกว่าจะรู้ตัวอีกที เงินก็ถูกหักจากบัตรเครดิตไปซื้อประกันนั้นซะแล้ว         คุณทิพวรรณก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกมัดมือชกให้ซื้อประกันทางโทรศัพท์แบบเนียนๆ เธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนขายประกันได้โทรศัพท์มาเสนอสิทธิพิเศษบัตร X ของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยสอบถามข้อมูลส่วนตัวของเธอหลายอย่าง ซึ่งเธอเองก็ตอบยืนยันเฉพาะข้อมูลส่วนตัวของตนไปเท่านั้น ไม่ได้ตอบตกลงทำประกันตามที่ตัวแทนเสนอมาแต่อย่างใด         จู่ๆ วันหนึ่ง คุณทิพวรรณพบว่า อ้าว...เงินในบัญชีถูกหักไป 397 บาท เพื่อชำระเป็นค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าว เธอจึงเพิ่งมารู้ว่าที่พูดคุยทางโทรศัพท์กับตัวแทนประกันวันนั้น กลายเป็นว่าเธอตอบตกลงซื้อประกันไปโดยไม่รู้ตัวเลย เธอรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ชอบมาพากลเสียแล้ว  และน่าจะเข้าข่ายการกระทำที่หลอกลวงผู้บริโภค เธอต้องการจะยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นและทวงเงินค่าเบี้ยประกันคืนมาด้วย จึงได้ส่งอีเมลเล่าเรื่องราวกลลวงขายประกันทางโทรศัพท์นี้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้คุณทิพวรรณทำจดหมายยกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน ส่งเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับไปยังบริษัทประกันภัยคู่กรณี และทำจดหมายปฎิเสธการชำระหนี้ไปยังธนาคารเพื่อแจ้งเรื่องการยกเลิก พร้อมสำเนาจดหมายยกเลิกไปด้วย และเมื่อบริษัทประกันยกเลิกกรรมธรรม์แล้ว ก็จะต้องคืนเงินให้แก่คุณทิพวรรณคืน         อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วิธีการป้องกันเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม คือเมื่อมีสายโทรศัพท์เข้ามาชักชวนให้ซื้อประกัน หากคุณไม่ได้สนใจจริงๆ ก็ไม่ต้องฟัง ให้บอกไปว่าอาจบอกไปเลยว่าไม่มีเงินทำ เป็นหนี้เยอะมาก หรือตกงานอยู่ แล้วขอวางสายไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ย้อมแมวรถยนต์มือสอง

        คุณภูผา อยากได้รถยนต์คันใหม่แต่เมื่อคำนวณรายได้ ค่าใช้จ่ายตัวเอง ยี่ห้อ รุ่น ของรถยนต์ ที่อยากได้แล้วก็ตกลงใจว่าจะซื้อรถยนต์มือสอง เขาก็เริ่มดูเต้นท์รถยนต์มือสองจากอินเทอร์เน็ตและตระเวนดูเต็นท์รถยนต์มือสองที่เปิดขาย จนไปเจอเต็นท์ดูน่าเชื่อถือและมีรถยี่ห้อและรุ่นที่เขาอยากได้พอดี คือรถยนต์มิตซูบิชิ รุ่น ปาเจโร่          เต็นท์รถมือสองร้านนี้คุณภูผา พบว่า “ดูดี” เมื่อเช็คประวัติในอินเทอร์เน็ตแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร เขาจึงตกลงใจซื้อรถยนต์คันที่ชอบใจในราคา 650,000 บาท หลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือนมีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาสงสัยว่า เขาอาจจะถูกย้อมแล้วขายรถยนต์มือสองคันนี้ เขาจึงไปตรวจเช็คเลขกิโลเมตรรถยนต์ที่ศูนย์มิซูบิชิ แล้วก็พบจริงๆ ว่าเขาถูกย้อมแมวเข้าแล้ว         เพราะว่ารถยนต์ที่ซื้อมามีการกรอกเลขกิโลเมตรถอยหลัง เพื่อให้เห็นว่ารถยังใหม่อยู่ มีการใช้งานไม่เยอะ ตอนซื้อรถยนต์เลขกิโลเมตรอยู่ที่ 93,840  กิโลเมตร  แต่เมื่อไปเช็คที่ศูนย์มิตซูบิชิ พบว่าเลขกิโลเมตรจริงเป็น 273,480  กิโลเมตร ซึ่งรถยนต์ต้องได้รับการเปลี่ยนสายพาน ตั้งแต่ 100,000 กิโลเมตร ทำให้ไม่ทราบว่าอยู่ในระยะที่ต้องเปลี่ยนสายพานแล้ว หากใช้งานต่อไปอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้ และเมื่อรถยนต์ที่เลขกิโลเมตรเพิ่มขึ้น เป็น 200,000 กิโลเมตร ก็จะต้องเสียค่าบำรุงรักษาเพิ่มมากกว่าระยะ 100,000 กิโลเมตร เขาคิดว่าเต็นท์รถยนต์มือสองหลอกลวงเขา เขาจึงแจ้งมายังมูลนิธิฯ เพื่อให้ช่วยเหลือและเตือนให้ผู้บริโภคทราบ  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า การกระทำของเต็นท์รถยนต์มือสอง เป็นการกระทำทุจริตหลอกลวงผู้ร้อง โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้ทราบ เพื่อให้ผู้ร้องซื้อรถยนต์มือสอง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ร้องสามารถดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ เพื่อให้ดำเนินคดีเต้นท์รถยนต์นี้ได้ข้อหาฉ้อโกง         ศูนย์พิทักษ์ได้ทำหนังสือเชิญเจ้าของเต็นท์รถและผู้ร้องมาเจรจา เพื่อตกลงแก้ไขปัญหา ผลการเจรจาไปในทางที่ดี คือเต็นท์รถยนต์มือสองชดเชยเงินค่าเปลี่ยนสายพานไทมมิ่ง จำนวน 13,000 บาท และเปลี่ยนฝาเปิดปิด บริเวณห้องเก็บแม่แรง เปลี่ยนมือจับเคฟล่า แก้ไข ซ่อมแซมซุ้มล้อหน้า รถยนต์ด้านขวา และส่งมอบกุญแจให้เพิ่มอีก 1 ดอก เรื่องนี้จึงจบลงกันได้ด้วยดี..........ข้อแนะนำการซื้อรถยนต์มือสองอายุเกินห้าปี        1.รู้ข้อมูลเบื้องต้นก่อน คือดูข้อมูลจากรูปเล่มทะเบียนว่าคันนี้รุ่นอะไร ปีอะไร เลขไมล์เท่าไร        2.ดูรอบๆ ตัวรถ ดูเรื่องโครงสร้าง ลองเปิดปิดประตู ถอดยางประตูออกมาดูจุดกลมๆ ถ้าเกิดว่าไม่มีจุดไหนบิดเบี้ยวนี่มั่นใจได้เลยว่ารถไม่เคยชน ดูสภาพภายใน เช่น สภาพเบาะ ทดลองนั่งแล้วก็ปรับดูว่ายังใช้การได้ไหม เข็มขัดนิรภัยยังใช้ได้ดีหรือเปล่า        3.ลองสตาร์ทรถฟังเสียงเครื่องยนต์ เช็คระบบไฟฟ้าว่ายังทำงานไหม กระจกไฟฟ้า ไฟเลี้ยว ไฟหน้า ที่ปัดน้ำฝน แล้วก็ดูที่หน้าปัดว่ามีสัญญาณไฟอะไรขึ้นเตือนบ้าง        4.ตรวจเช็คแบตเตอรี        ขอบคุณข้อมูลจาก one2car inspection

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 รถป้ายแดงเสีย ส่งซ่อม ใครจ่าย ?

        คุณกล้า บ้านอยู่ขอนแก่น ถอยรถใหม่ป้ายแดงออกมาขับได้ 9 เดือนกว่า ไม่เคยมีปัญหา จู่ๆ วันหนึ่งขับรถไปแวะจอดพักที่ปั๊มน้ำมัน แต่พอจะขับไปต่อรถดันสตาร์ทไม่ติดซะแล้ว คุณกล้าจึงโทร. ไปแจ้งศูนย์บริการ 24 ชั่วโมงของบริษัทรถยนต์ แต่ก็ต้องคอยเก้อ โชคดีมีพลเมืองดีมาช่วยดูรถให้ก่อน รอจนเครื่องเย็นถึงจะสตาร์ทติด จากนั้นคุณกล้าจึงขับรถไปทำธุระต่อ พอกลับมาถึงขอนแก่นเขารีบนำรถไปที่ศูนย์บริการเพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและเช็คสภาพ         หลังจากช่างพิจารณาตรวจสอบได้สักพัก ก็แจ้งว่าเครื่องยนต์มีปัญหา อาจเกิดจากฝาหม้อน้ำหลุด ทำให้ฝาสูบโก่งตัว ทางศูนย์ 24 ชั่วโมงเคยให้แนะนำว่าให้นำรถเข้าศูนย์บริการ  แต่เจ้าของรถคือคุณกล้าไม่ได้มาในทันที ความเสียหายนี้จึงอยู่นอกเหนือการรับประกันของบริษัท เป็นความบกพร่องของเจ้าของรถ จึงต้องจ่ายค่าซ่อมเองทั้งหมด         คุณกล้ามองว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องนี้ แถมรถก็ไม่ได้ใช้ต้องจอดทิ้งไว้ที่ศูนย์ฯ ร่วมสองเดือนกว่าแล้ว และยังต้องจ่ายค่างวดรถอีก แม้จะขอเจรจาถึง  2  ครั้งแล้วก็ยังตกลงกันไม่ได้ จึงตัดสินใจไปร้องเรียนที่สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อต้นเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่ สคบ. ขอนแก่น ได้นัดให้คุณกล้าและตัวแทนบริษัทรถยนต์มาเจรจากัน ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น คุณกล้าร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับประกันรถยนต์ บริษัทรถยนต์ต้องรับผิดชอบค่าอะไหล่  ค่าซ่อมและค่าบริการเอง ขณะที่บริษัทรถยนต์ชี้แจงว่าความเสียหายของรถยนต์เกิดจากการที่ฝาหม้อน้ำหลุดทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่นรถยนต์มีความร้อนสูง  ความเสียหายไม่ได้เกิดจากบริษัท อยู่นอกเหนือการรับประกันตามที่กำหนดไว้ในคู่มือ เจ้าของรถต้องจ่ายค่าซ่อมเองทั้งหมด         ในวันนั้นคู่กรณีทั้งสองก็ยังตกลงกันไม่ได้ ซึ่งในเดือนกรกฎาคมทาง สคบ. จังหวัดขอนแก่น จะนำเรื่องนี้ให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยระดับจังหวัดพิจารณา ส่วนองค์กรผู้บริโภคจะได้หาแนวทางปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญต่อไปเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 เชียร์ยูโรก็โอเคแต่รองเท้านั้น ก็นะ

        คุณมะปรางเมื่อได้ยินเพลงแอโร่ซอฟท์ เชียร์ยูโรครั้งแรกก็ประทับใจว่า บริษัทได้ทำให้คนไทยที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลมีความสุขกับการชมกีฬาโปรด ซึ่งเธอคือหนึ่งในนั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการขอบคุณบริษัทจึงยินดีจะสนับสนุนบริษัทด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์รองเท้าสักคู่หนึ่ง         เมื่อขับรถกลับบ้านที่อยุธยา สายตาก็เห็นร้านรองเท้าในตลาดแห่งหนึ่งที่ขับผ่าน จึงแวะถามหาว่ามีรองเท้ายี่ห้อนี้ไหม เธอตั้งใจซื้อเพราะเห็นว่าเป็นร้านเก่าแก่และน่าจะช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจชุมชนไปด้วยในตัว จึงไม่ได้คิดจะสั่งซื้อจากห้างหรือร้านค้าออนไลน์ เผอิญว่า ร้านดังกล่าวมีรองเท้าแตะยี่ห้อนี้พอดี ความที่ดีใจไม่ได้ทันสังเกตตรวจสอบอะไรมาก สวมพอดีก็โอเคละ จึงจ่ายเงินซื้อมาทันทีแถมซื้อฝากพี่สาวอีกหนึ่งคู่ด้วย         หลายวันถัดมา คุณพี่สาวโทรศัพท์มาบอกว่า “รองเท้าแตะของเธอฉันใส่ได้แค่สามวัน พื้นรองเท้าแตกหมดสภาพแล้ว ฉันต้องทำอย่างไร” คุณมะปรางจึงให้พี่สาวถ่ายรูปมาให้ดูและเธอส่งภาพดังกล่าวไปให้ทางเพจแอโร่ซอฟท์ดูว่า พอจะทำอย่างไรได้บ้าง แต่ใจคุณมะปรางเองก็ไม่ได้คิดจะเคลมหรือขอเปลี่ยนคู่ใหม่ เพราะดูจากสภาพที่พี่สาวส่งมาให้เธอรู้ทันทีว่า น่าจะเป็นสินค้าหมดอายุหรือเก่าเก็บพอสมควร “ดิฉันคิดแค่จะแจ้งให้ทางบริษัททราบว่าควรบริหารสินค้าที่จะส่งมอบให้ผู้บริโภคดีขึ้นอีกสักนิด”         แต่ก็พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ จึงได้โทรศัพท์มาเล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคฟัง คือ สินค้าของทางแอโร่ซอฟท์จะมีสองแบบ “แบบที่คุณลูกค้าส่งภาพมาให้ดูนั้น เป็น ‘aerosoft’ ที่ขึ้นต้นด้วยอักษร a ตัวเล็ก ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกต่างประเทศ ส่วนที่ทำการโปรโมตในขณะนี้นั้น จะเป็น ‘Aerosoft’ ที่ตัว a จะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ A (ซึ่งคุณลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ทาง shopee) นะคะ” เมื่อคุณมะปรางถามต่อว่า “อย่างนี้ก็ซื้อที่ร้านแบบที่ดิฉันซื้อไม่ได้เหรอคะ” ทางแอดมินเพจตอบว่า “ได้คะ เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทเช่นกัน แต่วัสดุจะเป็นคนละประเภท...”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณมะปรางไม่ได้ต้องการร้องเรียนหรือเปลี่ยนสินค้า เพราะตนเองก็สะเพร่าที่ไม่ได้ตรวจสอบเรื่องวันหมดอายุ แต่เห็นว่าสินค้าของบริษัทนี้มีสองเกรด ซึ่งสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคจึงมาเล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฟัง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของผู้บริโภคต่อไป         สินค้าประเภทรองเท้านั้นผู้บริโภคควรคำนึงถึงเรื่องอายุของผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญนอกเหนือจากราคาและการสวมใส่ที่พอดีเท้า อย่ามุ่งเฉพาะเรื่อง ราคาถูกหรือรูปแบบที่ตนเองพอใจ อย่างไรก็ตามหากเป็นการซื้อสินค้าที่ยังไม่หมดอายุแต่ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพไม่เหมาะต่อการใช้งาน  ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ประกอบการหรือร้านค้าชำระเงินคืนหรือเปลี่ยนสินค้าให้ได้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะทดลองให้ถนนบางสายเป็น Bus Lane

        คงไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยจะมาถึงจุดนี้ จุดที่ระบบสาธารณสุขใกล้จะล่มสลาย และระบบขนส่งมวลชนกำลังจะสิ้นใจ อันเป็นผลมาจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่นี้ กับตัวเลขรวมผู้ติดเชื้อรายวันที่แตะหลักหมื่นคน         ทุกวันนี้ถามแต่ละคนได้เลยว่า ในเวลานี้หากเลือกได้ใครบ้างอยากใช้ชีวิตแบบปกติ หรือออกจากบ้านใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างเดิมไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถทัวร์ เรือโดยสาร  แท็กซี่ หรือแม้แต่วินจักรยานยนต์รับจ้าง เพราะที่บอกมาทั้งหมดนั้น คือ บริการขนส่งมวลชนที่มีอัตราความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทบทั้งนั้น เนื่องมาจากลักษณะของการแพร่ระบาด คือ การที่มีประชาชนจำนวนมากจากหลายทิศทางมารวมตัวอยู่ในยานพาหนะเดียวกัน ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อเพียงหนึ่งคนที่อาจจะไม่รู้ตัว และมีพฤติกรรมประมาทไม่ระมัดระวัง รวมถึงผู้โดยสารท่านอื่นที่อาจจะไม่ทันระมัดระวังตัวเอง ผู้ที่มีเชื้อก็อาจจะกลายเป็นพาหนะนำเชื้อแพร่สู่บุคคลอื่นได้อีกเป็นจำนวนมาก         ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้จากโควิด 19 สายพันธุ์แรกเริ่ม ที่พบว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนที่ไม่มีภูมิต้านทาน และไม่ป้องกันตัวได้ 2.4 - 2.6 คน ขณะที่สายพันธุ์อัลฟาที่โจมตีประเทศไทยไปก่อนหน้านี้ การแพร่เชื้อจะอยู่ที่ 4 - 5 คนในเงื่อนไขเดียวกัน แต่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตาที่กำลังกลายเป็นตัวอันตรายหลักในตอนนี้ ผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ถึง 5 - 8 คน เลยทีเดียว         ชี้ชัดว่าความรุนแรงของโควิดระลอกใหม่นี้น่ากลัวจริงๆ และยังส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งสาธารณะและการจราจรทั้งระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้นว่าคนใช้รถยนต์ส่วนตัวอาจจะชื่นชอบเพราะถนนหนทางในกรุงเทพมหานคร โล่งขับสบาย เหมือนการจราจรในช่วงเทศกาลหยุดยาว แต่หากมองออกนอกกระจก ชมเมืองรอบนอกรถแล้วจะพบความจริงที่แสนน่ากลัว เห็นแต่ความทุกข์และคราบน้ำตาของ ผู้คน พ่อค้าแม่ขาย ร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อย คนขับรถสาธารณะ เพราะกรุงเทพมหานครในตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเข้าใกล้ความเป็นเมืองร้างไปแล้ว         จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง ยิ่งตอกย้ำถึงความยากลำบากของบริการขนส่งสาธารณะที่ระบุว่า ในช่วงวันหยุดที่ 10 – 11 ก.ค. มีอัตราการใช้บริการขนส่งทางรางทุกระบบน้อยที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คือ มีผู้โดยสารมาใช้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบไม่ถึง 2 แสนราย ขณะที่ในวันทำการปกติวันที่ 12 – 13 ก.ค. มีอัตราผู้โดยสารขนส่งทางรางทุกระบบอยู่ที่ประมาณ 2.75 – 3 แสนราย ด้วยจำนวนตัวเลขผู้โดยสารที่ลดน้อยลงเช่นนี้ นั่นเท่ากับว่าประชาชนเลือกที่จะไม่ออกจากบ้านกันแล้ว และหากสถานการณ์ยังไม่ดีและรุนแรงขึ้น อัตราของผู้โดยสารก็อาจจะลดน้อยลงได้อีก         นอกจากนี้จากสถานการณ์โควิด 19 ยังส่งผลให้ รถเมล์ รถโดยสารต่างๆ มีจำนวนผู้โดยสารลดน้อยมากกว่า 80% เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มรถร่วมเอกชน ทั้งรถเมล์ รถตู้ และรถทัวร์โดยสารต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน หลายรายถึงขั้นถอดใจจอดรถหยุดวิ่งและบางรายยอมขาดทุนเลิกกิจการไปเลยก็มี เพราะไม่สามารถทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและค่าเชื้อเพลิงอีกต่อไปได้แล้ว         แตกต่างกับ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจและรัฐยังอุดหนุนค้ำจุนอยู่ แม้จำนวนผู้โดยสารจะลดลง แต่พันธะหน้าที่บริการรถเมล์ให้กับประชาชนของ ขสมก. จะหยุดตามไม่ได้ เพราะบริการรถเมล์ ขสมก. ถือเป็นเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงไปทั่วทุกเส้นทางในเมืองหลวงแห่งนี้ หากหยุดวิ่งบริการเมื่อไหร่ เชื่อได้ว่าจะยิ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมประชาชนในช่วงสถานการณ์ความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เพราะอย่าลืมว่าแม้รัฐบาลจะออกมาตรการขอความร่วมมือเชิงสั่งการให้ Work From Home 100% แต่ก็ยังมีประชาชนคนทำงานจำนวนมากที่ไม่สามารถทำได้ และคนเหล่านี้แหละ คือ กลุ่มคนที่ทำให้ ขสมก. อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้         อย่างไรก็ดีการให้บริการเดินรถเมล์ ขสมก. ภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์โควิดแบบนี้ พนักงานด่านหน้าของ ขสมก. กลับกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในทันที โดยพบว่ามีพนักงาน ขสมก. ทั้ง พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารจากหลายเส้นทางที่ทยอยกลายเป็นผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นการติดเชื้อจากที่พักอาศัย ไม่ได้มีต้นทางจากการให้บริการ แต่พนักงานที่ติดเชื้อก็ต้องให้พักงานเพื่อรักษาตัว และพักการใช้รถ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ใช้รถโดยสารสาธารณะอยู่ในขณะนี้         การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 รอบนี้สั่นคลอนประเทศในทุกระบบจริง ๆ  และถ้าภายในสองถึงสามสัปดาห์ข้างหน้าต่อไปนี้ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างที่เป็นมา เชื่อว่าคงเป็นเรื่องยากที่เราจะฟื้นฟูทุกอย่างให้กลับคืนมาได้ทัน เพราะตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของทุกคนแล้ว ก่อนที่ระบบทั้งหมดจะพังทลายลง อย่างไรก็ดีหากจะมองหาแง่ดี (ที่น้อยนิด) ของวิกฤตครั้งนี้ที่อาจจะเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส คือสามารถทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองได้รับการพัฒนา เนื่องจากในขณะนี้ปัญหารถติดไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไปแล้ว เพราะการจราจรบนท้องถนนในช่วงนี้อย่างน้อยก็ไม่ติดขัดเหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด 19         ดังนั้นการปรับนโยบายทดลองนำร่องให้ถนนบางสายบางช่วงเวลาเป็น Bus Lane สำหรับรถเมล์โดยไม่ต้องลงทุนก่อสร้างอะไรเพิ่ม รวมถึงการทดลองปรับระบบ และการควบคุมเวลาเดินรถให้สามารถทำรอบตามเวลาที่กำหนดได้ เพื่อเตรียมความพร้อมใช้งานยามเมื่อสถานการณ์โควิด 19 เบาบางลงแล้ว ก็ย่อมจะเป็นทางออกที่ดีของทุกฝ่ายและควรคิดที่จะเริ่มปรับแผนทดลองกันตั้งแต่ตอนนี้เลย แบบนี้จะดีไหมทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ปัญหารถรับส่งนักเรียน ยังรอมาตรการที่จริงจังจากรัฐ

        รู้หรือไม่ ประเทศไทยมีนโยบายทางการศึกษาให้เด็กเรียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นสิทธิของเด็กและเป็นบริการของรัฐ ที่เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนถึงการศึกษาภาคบังคับรวม 12 ปี  ซึ่งนโยบาย “เรียนฟรี” ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถึงสามฉบับติดต่อกัน (รัฐธรรมนูญปี 40 , 50 และ 60)           แม้บทบัญญัติด้านการศึกษาในรัฐธรรมนูญทั้งสามจะถูกสลับจับย้ายประโยคไปมา แต่ความหมายโดยรวมคือการเรียนฟรี 12 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในความเป็นจริงการศึกษาของรัฐที่ไม่มีค่าใช้จ่ายนั้นใช้ไม่ได้จริง ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางไปโรงเรียนด้วย ดังนั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงเป็นภาระและความรับผิดชอบของผู้ปกครองฝ่ายเดียว         สำหรับนักเรียนใน กทม. ด้วยการคมนาคมที่ดีกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะการขนส่งมวลชน เด็กนักเรียนดูจะมีทางเลือกมากกว่าเด็กนักเรียนในต่างจังหวัด         ระบบขนส่งสาธารณะที่ไร้ทิศทาง อีกทั้งบ้านเรือนที่อยู่ไกลจากโรงเรียนมาก หากผู้ปกครองไม่สามารถไปส่งถึงโรงเรียนได้ ทางออกจะมีเพียงสองทาง คือ หนึ่ง ออกรถจักรยานยนต์ให้ลูกขับขี่ไปโรงเรียน ซึ่งแม้จะสะดวกแต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง และ สอง จัดหารถรับส่งนักเรียนให้ลูกโดยสารไปโรงเรียนแทน แต่ก็กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ผู้ปกครองไม่เคยรู้ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับบุตรหลานไปนั้นส่วนใหญ่ “ไม่ปลอดภัย”         ทำไมรถรับส่งนักเรียนถึงไม่ปลอดภัย ?          จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ชัดว่า เพียง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) มีความรุนแรงจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้เกิดอุบัติเหตุมากถึง 8 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากถึง 134 คน และเสียชีวิต 2 คน  เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย         โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้นักเรียนได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ยังพบว่ารถคันดังกล่าววิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาต รวมถึงสภาพรถยังไม่มั่นคงแข็งแรง กล่าวคือ โครงสร้างรถที่ส่วนควบนั้นกระเด็นออกจากตัวรถไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกให้กับนักเรียนที่โดยสารมาได้ ส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น  และยังพบว่ามีการปล่อยให้นักเรียนนั่งบนหลังคารถ ซึ่งผิดกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด         ทั้งยังพบว่าในหลายพื้นที่ รถรับส่งนักเรียนถูกดัดแปลงสภาพรถต่อเติมที่นั่ง และเป็นรถที่ไม่ได้ขออนุญาต  ขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรมีในรถ  รวมถึงความประมาทเลินเล่อและพฤติกรรมเสี่ยงของคนขับรถบางคน เช่น ล่วงละเมิดทางเพศ ขับรถเร็ว หรือ ลืมเด็กไว้ในรถ นอกจากนี้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือคนขับรถรับส่งนักเรียน จำนวนมากยังขาดความเข้าใจ และแรงสนับสนุนองค์ความรู้ที่ถูกตรงเกี่ยวกับการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย         ตอกย้ำความเสี่ยงที่เกิดกับการเดินทางของนักเรียนทุกวันนี้ คือ รัฐขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหา กลไกของรัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ที่ผ่านมาจึงมุ่งแต่ออกกฎระเบียบบังคับให้ทำตาม แต่ขาดการประเมินว่าปฏิบัติตามได้หรือไม่ หรือแม้แต่จำนวนรถรับส่งนักเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันรัฐก็ยังไม่รู้จำนวนที่แท้จริง เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่ยินยอมนำรถมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด สะท้อนถึงความผิดผลาดของระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ต้องการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยสิ้นเชิง         อย่างไรก็ดีแม้การเดินทางมาโรงเรียนของนักเรียนในปัจจุบันจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัย และอาจทำให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนได้ แต่หลักการสำคัญของระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย คือ         การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้ง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีประสานงาน  ให้ความรู้  สื่อสารที่เป็นระบบ รวมถึงเป้าหมายการทำให้เรื่องการจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยเป็นมาตรการองค์กรหรือนโยบายของโรงเรียน เพื่อความต่อเนื่องที่ไม่ขาดตอนของการจัดการ รวมถึงผลักดันไปสู่การเป็นแผนจังหวัดในการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย เพื่อเป้าหมายร่วมสร้างการเดินทางที่ปลอดภัยขั้นสูงสุดให้กับนักเรียน ซึ่งเรื่องแบบนี้อาจจะไม่ไกลเกินฝัน ถ้าทุกคนคิดช่วยกันจริง ๆ เพื่ออนาคตของลูกหลานเราทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >