ฉบับที่ 244 รถชนเสาไฟ ไม่มีคู่กรณี จะตายและเจ็บฟรีไหม ?

        คุณวิษรุตยังเห็นภาพอุบัติเหตุเมื่อคืนส่งท้ายปีเก่า 2563 ที่จังหวัดระยองได้ชัดเจนในความทรงจำ แม้วันนี้ดวงตาของเขาจะมองไม่เห็นแล้วก็ตาม        วันนั้นเขาซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อนเพื่อกลับบ้าน ขณะที่เพื่อนขี่รถเข้าไปในซอยด้วยความเร็ว พอถึงทางเลี้ยวโค้งรถเกิดเสียหลักไปชนกับเสาไฟฟ้าอย่างแรง เพื่อนของเขาเสียชีวิตคาที่ ส่วนตัวเขาบาดเจ็บสาหัส เคราะห์ดีที่ทางกู้ภัยมาช่วยได้ทันการณ์ ส่งเขาไปรักษาที่โรงพยาบาลระยอง โดยในเบื้องต้นได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ.ภาคบังคับเต็มตามจำนวน 80,000 บาท จากนั้นได้ใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มจากจำนวนเงินค่ารักษาที่เกิน         แม้จะรอดตายมาได้แต่คุณวิษรุตเองยังกังวลว่าอาจจะกลับไปทำมาหากินไม่ได้เหมือนเดิม เพราะแขนข้างซ้ายไม่มีแรงคล้ายเป็นอัมพาตและตาก็มองไม่เห็น ยิ่งอุบัติเหตุครั้งนี้ไม่มีคู่กรณีด้วยแล้ว เขาเลยอยากรู้ว่าตัวเองยังพอมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยอะไรได้อีกบ้างไหมในเหตุการณ์นี้ เขาจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เพื่อนของคุณวิษรุต ซึ่งเสียชีวิตและเป็นคนขี่รถจักรยานยนต์จะได้รับเงินเบื้องต้น 35,000 บาท         2. ส่วนคุณวิษรุตตอนนี้แขนซ้ายคล้ายเป็นอัมพาตและตามองไม่เห็น เมื่อไม่มีคู่กรณีก็ต้องกลับมาดู พ.ร.บ.ภาคบังคับ ซึ่งคุณวิษรุตเป็นผู้นั่งซ้อนท้ายสามารถเบิกได้ตาม พ.ร.บ รถจักรยานยนต์ แต่ต้องให้แพทย์ระบุออกมาให้แน่ชัดก่อนจึงค่อยแจ้งกับทางประกัน ถ้าเป็นทุพพลภาพถาวรก็จะได้รับเงินเท่ากับการเสียชีวิต คือ 500,000 บาท แต่ถ้าสูญเสียอวัยวะก็จะได้ตาม พ.ร.บ. ภาคบังคับที่ระบุไว้         ล่าสุด คุณวิษรุตกำลังรอผลตรวจจากแพทย์เพื่อยืนยันความสามารถในการมองเห็นของเขาอีกครั้ง ถ้าแพทย์ระบุว่าเขาตาบอดจริง ก็จะนำใบรับรองผลไปยื่นทางประกันเพื่อขอรับค่าชดเชยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 วิธีรับมือกับการทวงหนี้

        เจษเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวนเงินประมาณ 70,000 บาท ต่อมาเขาผิดนัดชำระ เพราะมีปัญหาทางด้านการเงินไม่สามารถหมุนเงินเพื่อมาชำระหนี้ได้ ตอนนี้เขาผิดนัดมาประมาณ 2-3 งวด แต่ว่าตอนนี้มีบริษัท บริหารทรัพย์สิน เจ จำกัด ซึ่งรับซื้อหนี้มาจากธนาคารไทยพาณิชย์ได้โทรมาหาเขา และเรียกให้เขาชำระหนี้ พอเขาบอกว่าไม่มีชำระก็เริ่มพูดจาไม่ดี บอกว่าถ้าไม่ชำระจะไปเข้าหาผู้อำนวยการหรือผู้จัดการของเขาที่บริษัท ให้ทราบว่าไม่ควรมีพนักงานที่คิดโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเขาคิดว่ามันไม่ถูกต้องถ้าทวงหนี้ไม่ได้เจ้าหนี้ควรจะฟ้องศาลจะถูกต้องกว่า เขาจึงขอคำปรึกษาว่า จะมีทางไหนที่จะร้องเรียนหน่วยงานที่เอาเปรียบประชาชนเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ปัจจุบันมีกฎหมายทวงหนี้คือ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้มีการทวงหนี้โดยละเมิดสิทธิของลูกหนี้ เช่น พูดจาหยาบคาย ดุด่า หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3  ซึ่งถือเป็นการผิดกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท หรือประจาน มีโทษขั้นต่ำคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         เพราะฉะนั้นถ้าผู้ร้องหรือลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้เข้ามาทวงถามหนี้แบบผิดกฎหมาย ผู้ร้องสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งผู้ร้องจะต้องรวบรวมหลักฐานการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคลิปเสียงที่เจ้าหนี้โทรศัพท์เข้ามาด่า หรือพูดจาหยาบคาย จดหมายที่เขียนมาข่มขู่ ตลอดจนหลักฐานอื่นๆ ที่เกิี่ยวข้อง นำไปแจ้งความในคดีอาญาเพื่อให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้วผู้ร้องยังสามารถแจ้งได้ที่ กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการทวงหนี้ประจำจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ กองบัญชการตำรวจนครบาลอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เจ้าตูบหวิดกระเพาะทะลุหลังพบเศษกระดูกในอาหารสุนัข

        ปัจจุบันตลาดอาหารสุนัขยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขรูปแบบต่างๆ ที่วางจำหน่ายกันหลายยี่ห้อ โดยมีกลยุทธ์ต่างๆ มาดึงดูดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้เลือกซื้อ แต่ในหัวอกคนรักสุนัขแล้วย่อมคาดหวังถึงความปลอดภัยของอาหารเป็นสำคัญ  ดังนั้นข้อความ“คุณภาพระดับเดียวกับอาหารที่คนรับประทาน” บนผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขยี่ห้อ Dr.DOG จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณสุชาดาตัดสินใจซื้อมาให้เจ้าตูบที่บ้านกิน โดยไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น         วันหนึ่ง เมื่อได้เวลาให้อาหารสุนัข คุณสุชาดาหยิบถุงโครงไก่บดแช่แข็ง กลิ่นไก่ย่าง ตรา Dr.DOG มาตัดแล้วเทใส่ชามเตรียมไว้ แต่ยังไม่ทันได้เรียกสุนัขมากิน พลันสายตาไปสะดุดเข้ากับเศษกระดูกขนาด 1-1.5 เซนติเมตรจำนวนมากปะปนอยู่ในโครงไก่บดนั้น เมื่อหยิบขึ้นมาก็พบว่ามีลักษณะแข็งและคม คุณสุชาดาเกรงว่าถ้าให้เจ้าตูบกินเข้าไปน่าจะเป็นอันตราย มื้อนั้นจึงเตรียมอาหารอย่างอื่นให้แทน และเมื่อนำเศษกระดูกไปให้สัตวแพทย์ดู หมอบอกว่า “เศษกระดูกที่ปนมานี้ ถ้าสุนัขกินเข้าไปอาจแทงกระเพาะทะลุได้” คุณสุชาดาฟังแล้วก็โล่งใจที่ไม่ได้ให้สุนัขของตัวเองกิน แต่ก็เป็นห่วงว่าถ้าคนอื่นซื้ออาหารสุนัขยี่ห้อนี้ไปแล้วไม่ได้สังเกตดีๆ เผลอให้สุนัขกินเศษกระดูกที่ปนมานี้เข้าไป คงไม่ดีแน่ คุณสุชาดาจึงนำเรื่องนี้มาร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงซื้ออาหารสุนัขยี่ห้อนี้มาพิสูจน์ก็พบว่า ในถุงอาหารสัตว์มีเศษกระดูกปนอยู่จำนวนมากจริง จึงติดต่อไปยังผู้ประกอบการคือบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมกันนั้นก็ส่งหนังสืออีกฉบับถึงกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการตามกฎหมาย จากนั้นไม่นานทางผู้ประกอบการแจ้งกลับมาว่า ได้ระงับการจ่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากศูนย์กระจายสินค้าและนำมาตรวจสอบแล้ว         ประมาณหนึ่งเดือน ทางกรมปศุสัตว์แจ้งว่า ได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตและหารือกับตัวแทนบริษัทแล้ว ได้ข้อสรุปว่า บริษัทต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์โครงไก่บดแช่แข็ง กลิ่นไก่ย่าง ตรา Dr.DOG ที่ผลิตในล็อตเดียวกันกับที่ถูกร้องเรียน ( LOT N0. 63206 ผลิตวันที่ 24 กรกฎาคม 2563) กลับมาตรวจสอบ และให้กักผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปจากโรงงานอีกจำนวน 44,000 กิโลกรัมไว้ก่อน พร้อมทั้งแจ้งร้านค้าให้ชะลอการขายผลิตภัณฑ์นี้จนกว่าบริษัทจะตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัย ซึ่งหากภายหลังตรวจพบว่าเป็นอันตรายต่อสัตว์ก็จะต้องเรียกคืน         ทั้งนี้ทางกรมปศุสัตว์ได้กำชับให้บริษัทฯ ตรวจสอบกระบวนการผลิตในโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างละเอียด หากพบความเสี่ยงที่ทำให้มีอันตรายทางกายภาพหลุดรอดไปกับผลิตภัณฑ์ ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้อาหารสัตว์มีความปลอดภัยเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ความไม่สะดวกซื้อ

        ร้านสะดวกซื้อนั้นคือสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ไปแล้ว ในแต่ละชุมชนร้านสะดวกซื้อแบบ 24 ชั่วโมงจะวางตัวผ่าเผย พร้อมส่งเสียงยินดีต้อนรับเมื่อประตูเปิดออก แต่บางครั้งความสะดวกซื้อก็นำปัญหาแบบไม่สะดวกใจมาให้ได้ง่ายๆ และหลายครั้งท่าทีหรือการแสดงความรับผิดชอบก็ไม่ค่อยสวยงามนัก เรามาลองดูจากกรณีร้องเรียนเรื่องนี้กัน               ภูผา พี่สาว และหลานชายไปซื้อโยเกิร์ต 4 กระปุก ที่เซเว่นสาขาแถวงามวงศ์วาน ด้วยความที่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ตอนซื้อจึงให้ความสนใจฉลากโดยเพ่งเล็งแต่เรื่อง ยี่ห้อไหนมีน้ำตาลน้อยกว่ากัน และสุดท้ายเลือกอันที่น้ำตาลน้อยมาพร้อมจ่ายเงินซื้อมา เมื่อกลับมาถึงบ้านภูผาก็กินโยเกิร์ตกับหลานชายไป 1 กระปุกแบ่งกันคนละครึ่ง เขายังบอกกับหลานชายเลยว่ายี่ห้อนี้ไม่ค่อยอร่อยเนอะ สงสัยเพราะน้ำตาลน้อย         วันถัดๆ มาอากาศค่อนข้างร้อน ภูผาบ่นกับหลานว่าอยากกินอะไรเย็นๆ จัง หลานชายจึงเสนอไอเดียว่าในตู้เย็นมีมะม่วง สตรอว์เบอรี่ แล้วก็โยเกิร์ตที่เหลืออยู่จากเมื่อวาน 3 กระปุก เอามาทำสมูตตี้มะม่วงกับสตรอว์เบอรี่กินกันดีกว่า โอ้ ไอเดียดีงาม ภูผาเห็นด้วยและให้หลานดูก่อนว่าโยเกิร์ตหมดอายุหรือยัง หลานบอกว่า โยเกิร์ตหมดอายุแล้วด้วย 1 กระปุก ส่วนอีก 2 กระปุกยังไม่หมดอายุ แต่ว่ากระปุกที่หมดอายุแล้วมันหมดอายุตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วล่ะสิ         ภูผาเริ่มเครียดเพราะเขาซื้อสินค้าต้นเดือนมีนาคม และเจ้าร้านสะดวกซื้อร้านนี้เพิ่งเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไงวันหมดอายุของโยเกิร์ตถึงเป็นเดือนมกราคมไปได้ และเป็นลอตเดียวกับที่เขากินไปเมื่อวันก่อนกับหลานชายอีกด้วย เขาไม่รอช้าเมื่อรีบสตาร์ทรถไปเซเว่นสาขาที่ซื้อมาทันที พร้อมกับเอาโยเกิร์ตทั้ง 3 กระปุกไปด้วย เมื่อไปถึงก็เล่าเรื่องคร่าวๆ ให้พนักงานฟังและขอพบผู้จัดการ พนักงานแจ้งว่าผู้จัดการกลับบ้านไปแล้วค่ะ อีกทั้งสินค้านี้พนักงานก็ยังไม่มั่นใจว่าซื้อที่เซเว่นจริงหรือเปล่า ซื้อที่สาขานี้จริงหรือเปล่า เพราะว่าภูผาไม่ได้เก็บใบเสร็จเอาไว้ ภูผาเข้าใจได้เรื่องไม่มีใบเสร็จ แต่โชคดีหน่อยตอนจ่ายเงินเขาใช้บัตรสมาชิกของหลานชายจ่ายไป ดังนั้นจึงถือเป็นหลักฐานได้ว่า เขาซื้อสินค้านี้ที่นี่จริงๆ         เขาสอบถามพนักงานว่าจะรับผิดชอบอะไรบ้าง พนักงานก็หาข้อมูลอยู่เกือบชั่วโมง สุดท้ายก็บอกว่าต้องหาหลักฐานยืนยันก่อน ต้องดูกล้องว่าเขาเป็นผู้ซื้อที่สาขานี้จริงหรือไม่ แล้วจะติดต่อกลับไป ภูผาบอกได้ สิจะรอนะว่าทางร้านจะรับผิดชอบอะไรบ้าง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ผ่านไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการติดต่อกลับเขาจึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ผู้ร้องได้แจ้งร้านค้าและนำหลักฐานไปให้ร้านค้าดูเบื้องต้นแล้ว แต่ร้านค้ายังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร อย่างแรกที่ผู้ร้องต้องทำคือไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานว่าเซเว่นจำหน่ายสินค้าหมดอายุจริงๆ ผู้ร้องไม่ได้โกหก เซเว่นนี้เป็นสาขาหนึ่งของเซเว่นทั้งหมด ผู้ร้องต้องทำหนังสือโดยเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ภาพถ่ายโยเกิร์ตที่หมดอายุ เป็นต้น ส่งไปยังบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จ่าหน้าซองถึงประธานบริษัทหรือกรรมการผู้จัดการ เนื่องจากต้องการให้บริษัทแม่รับผิดชอบต่อการขายสินค้าหมดอายุของสาขา ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่า บางทีพนักงานที่ผู้ร้องแจ้งเรื่องไว้ หรือผู้จัดการสาขาไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องของผู้ร้อง วิธีนี้ทำให้บริษัททราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินการแก้ไขปัญหาและแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ร้อง         ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน การเลือกซื้อสินค้าควรพิจารณาฉลากให้ละเอียด โดยเฉพาะวันหมดอายุ หากพบว่ามีสินค้าหมดอายุต้องแจ้งแก่พนักงานให้เก็บจากชั้นสินค้าทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ขนส่งมวลชนกับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกันได้อย่างไร ?

        42 ปีที่แล้ว 30 เมษายน 2522  ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นเป็นฉบับแรก อีก 19 ปีต่อมาประเทศไทยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการกำหนดสิทธิของผู้บริโภคเพิ่มเป็น 5 ประการ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ประกอบไปด้วย 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วน 2.สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ 5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย           นอกจากนี้สิทธิของผู้บริโภคยังถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่องถึงสามฉบับ เริ่มแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 57 ได้บัญญัติถึงสิทธิผู้บริโภค ไว้ว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง” ต่อด้วยในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 61 ที่เพิ่มการรับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้ว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยา ความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค”         รัฐธรรมนูญ 2560 ได้พัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นอีกครั้งในมาตรา 46 ที่บัญญัติการรองรับสิทธิของผู้บริโภคไว้ว่า “สิทธิผู้ของบริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค”         จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาสี่สิบปีที่ผ่านมา สิทธิของผู้บริโภคได้รับการยอมรับและรับรองไว้ในกฎหมายหลายฉบับ แม้โดยหลักการสิทธิของผู้บริโภคไทยอาจจะไม่ครอบคลุมถึงสิทธิด้านต่างๆ เทียบเท่าสิทธิผู้บริโภคสากลที่ถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่เมื่อ 59 ปีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 1962 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันสำคัญสากลนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า Consumer Right Day โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ที่ปัจจุบันมีองค์กรสมาชิกจำนวน 222 องค์กร ใน 150 ประเทศทั่วโลก ที่เห็นร่วมกันถึงความสำคัญต่อสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ร่วมกันกำหนดขอบข่ายสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครองไว้        อย่างไรก็ดีแม้สิทธิของผู้บริโภคจะถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับ แต่ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องอยู่ในเกือบทุกประเภทของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะปัญหาด้านบริการขนส่งมวลชน ที่นอกจากจะกลายเป็นต้นแบบปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แบ่งแยกชนชั้นของผู้ที่ใช้บริการแล้ว ผู้บริโภคที่ใช้บริการยังต้องเจอกับการละเมิดสิทธิและจำยอมต่อความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยและไม่มีทางเลือกตามสิทธิที่ควรจะมี เช่น ความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุรถโดยสารพลิกคว่ำ รถโดยสารไฟไหม้ รถตู้บรรทุกเกิน รถผีรถเถื่อน รถเมล์เก่าควันดำ การคุกคามทางเพศ ตลอดจนปัญหาค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้าแพง สูงเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และสูงมากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะแบกรับได้         จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่แนวคิดการจัดระบบขนส่งมวลชนให้เป็นขนส่ง ”มวลชน” ของคนทุกกลุ่มที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าขนส่งมวลชนเป็นของมวลชนจริงๆ ทุกคนคงได้เห็นภาพบริการที่สะดวก ทั่วถึง ปลอดภัย ตลอดจนความสามารถของคนทุกคนที่จะเข้าถึงบริการที่ไม่ถูกแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งต้นตอของปัญหานี้ต้องแก้ที่แนวคิดการทำให้ขนส่งมวลชนเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน เพราะทุกวันนี้ปัญหาใหญ่ของขนส่งมวลชนในบ้านเรา คือ ความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4 บัญญัติไว้ชัดว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง หรือสิทธิผู้บริโภค”         ที่สำคัญหากหลักคิดขนส่งมวลชนของคนทุกคน คือ Mass Transit ที่เป็นบริการสาธารณะและเป็นสิทธิของทุกคนต้องขึ้นได้นั้น สิ่งแรกต้องมองโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนทุกประเภทให้เป็นระบบเชื่อมโยงกัน คือ รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร จะคิดแยกส่วน สร้าง แก้ ซ่อม เป็นแต่ละส่วนนั้นทำไม่ได้ สองมองภาพรวมของขนส่งมวลชนในทุกระบบทั้งประเทศมาเชื่อมต่อกัน สามพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแต่ละประเภทสนับสนุนเชื่อมร้อยกันและกันในการให้บริการแบบไร้รอยต่อ รวมถึงพัฒนาทางเท้าที่สะดวกคนทุกคนเข้าถึงได้จริงในทุกพื้นที่ และสี่ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการจัดบริการขนส่งมวลชนทุกระบบในทุกระดับ จัดทำความเชื่อมโยงของบริการขนส่งมวลชนทุกด้านทุกประเภท รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดทำสัญญาสัมปทานของรัฐกับเอกชนที่ปัจจุบันไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่โปร่งใส ไม่มีส่วนร่วมและสร้างภาระให้กับผู้บริโภค         ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน และบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมคนทุกคนทั้งประเทศ และทำให้สิทธิของผู้บริโภคด้านขนส่งมวลชนเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งหากทำทั้งสี่ขั้นตอนนี้ได้ เป้าหมายลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้นคงไม่ไกลเกินฝัน หากทุกคนร่วมมือกัน เพราะขนส่ง”มวลชน”ไม่ใช่แค่ของหน่วยงานรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของคนทุกคนที่ต้องทำให้ขนส่งมวลชนเป็นของคนทุกคนได้อย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 เมื่อโดนฟ้องปิดปาก

        เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าแล้วมีปัญหา แจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายแล้ว แต่วิธีการแก้ไขปัญหาของบริษัทก็ยังไม่ตอบโจทย์  ผู้บริโภคจึงไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการร้องต่อสื่อมวลชน หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจะให้บริษัทสนใจหาวิธีแก้ไขปัญหาที่สามารถใช้ได้จริง แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้บริโภคถูกบริษัทฟ้องคดีกลับ เพื่อให้หยุดร้องเรียน เรามาดูบทเรียนจากเรื่องนี้กัน        ผู้บริโภคท่านหนึ่งซื้อรถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ มาใช้ ต่อมาพบว่าเครื่องมีปัญหาเริ่มจากโช้ครั่ว โดยพบปัญหานี้หลังใช้รถเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ต่อมาก็พบปัญหาความผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือนและตัวเลขแสดงระยะทางที่ผิดพลาดอีก ล่าสุดพบปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่น และเร่งความเร็วไม่ขึ้นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เขาได้แจ้งไปยังบริษัทเพื่อให้แก้ไขปัญหา บริษัทก็นำรถไปซ่อมแล้วหลายครั้งอาการต่างๆ ก็ยังไม่หาย เขารู้สึกว่าเขาซื้อรถป้ายแดงก็อยากได้รถที่มีคุณภาพดี ไม่ใช่ซื้อมาเพื่อซ่อม แถมยังต้องระวังอันตรายขณะขับรถเพราะ รถมีปัญหา ซึ่งเขาก็แทบจะไม่ได้ใช้รถเลยเพราะรถต้องเข้าศูนย์เพื่อซ่อมบ่อยครั้ง ถ้ารถยนต์คุณภาพไม่ดีแบบนี้เขาขอให้บริษัทมาสด้าคืนเงินให้เขาและเอารถยนต์กลับคืนไปดีกว่า         เมื่อเขายื่นขอเสนอไปแล้วแต่บริษัทก็ปฏิเสธกลับมา จึงเกิดการเจรจากับบริษัทขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล เขาจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ เชิญบริษัทเจรจาอีกครั้ง และพาผู้บริโภคไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และออกสื่อเพื่อให้บริษัทมาสด้าแก้ไขปัญหา โดยขอให้บริษัทฯ ขยายเวลารับประกันและชี้แจงวิธีการแก้ไขปัญหาให้เป็นปกติ หากไม่สามารถแก้ไขได้ขอให้รับซื้อรถยนต์คืน และชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้งาน         อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้นำพาแก้ไขปัญหาตามที่ผู้บริโภคขอ แต่กลับเล่นงานผู้บริโภคกลับ ด้วยการฟ้องคดีอ้างว่า ใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง รวมทั้งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลง เรียกค่าเสียหาย 84 ล้านบาท          แนวทางการแก้ไขปัญหา        การฟ้องคดีผู้บริโภคลักษณะนี้ เรียกว่า การฟ้องปิดปาก/การฟ้องกลั่นแกล้ง (SLAPPs) Strategic Lawsuit against Public Participation หรือที่นิยมเรียกว่า SLAPPs คือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านขัดขวางการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะ โดยการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชน เพื่อให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะ หรือหยุดการแสดงออกของประชาชนในบางเรื่อง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทำให้ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นสาธารณะนั้นเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีหรือทำให้เกิดความกลัว จนในที่สุดประชาชนเหล่านั้นก็จะละทิ้งความตั้งใจที่จะออกมาใช้สิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งกรณีของผู้ร้องเป็นการที่บริษัทฟ้องปิดปากผู้ร้องไม่ให้ร้องเรียนหรือหยุดพูดถึงปัญหาการใช้งานของรถยนต์ ข่มขู่ ทำให้ผู้ร้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อีกทั้งยังเรียกค่าเสียหายจำนวนมากถึง 84 ล้านบาท         กรณีนี้ผู้ร้องต้องตั้งสติ ไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องคดี เมื่อถูกฟ้องคดีแล้วติดต่อทนายความเพื่อทำคำให้การ ยื่นให้แก่ศาลเพื่อต่อสู้คดี ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ทำคำให้การว่า  การออกมาฟ้องผู้บริโภคที่ออกมาใช้สิทธิว่าละเมิดใช้สิทธิเกินส่วน โดยยกข้อความจากเฟซบุ๊กว่า ข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความไม่ตรงกับความจริงนั้น ตามหลักกฎหมายแล้ว ปกติการใช้สิทธิของตนเอง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนบ้างก็ตาม การที่จะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนต้องมีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้ง โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียว จึงจะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน แต่กรณีของผู้ร้องไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งใคร จึงไม่เป็นการใช้สิทธิเกินส่วน         ต่อมาผู้ร้องได้มีทีมทนายความเข้ามาช่วยเหลือให้การสืบคำให้การ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางบริษัทในครั้งนั้น เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนเกินตามที่บริษัทอ้าง ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าทนายให้กับผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท         หลังจากนั้นคดียังไม่จบ เพราะว่าบริษัทอุทธรณ์คำพิพากษศาลชั้นต้น ศาลอุทธณณ์ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้อง เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น บริษัทก็ยังฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคำร้องขออนุญาตฎีกาของบริษัท จึงส่งผลให้คดีนี้สิ้นสุดลง กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ร้องใช้สิทธิตามปกติ ไม่ได้ใช้สิทธิเกินส่วน ไม่มีความผิดตามที่บริษัทฟ้อง ไม่ต้องจ่ายเงิน 84 ล้านบาทให้แก่บริษัท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 สั่งบราวนี่แต่ได้ของแปลกมาเป็นท๊อปปิ้งแถม

        อาหาร คือ สิ่งที่นำเข้าสู่ร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงบำรุง ดังนั้นอาหารจึงควรเป็นสิ่งที่สะอาดและปลอดภัย แต่บางครั้งอาหารที่เราไม่ได้เป็นคนทำเอง จัดซื้อจัดหาจากแหล่งอื่นๆ ก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมที่ดูไม่ค่อยโสภานักหลุดรอดมาได้ ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ต่ำ ซึ่งบางสิ่งที่ปนเปื้อนมาในอาหารนั้นก็แปลกใจมากๆ ว่า เอ...มันมาอยู่ในอาหารได้อย่างไร         เช้าวันหยุดจากการงานอันเหนื่อยล้า คุณภูผา ใช้บริการ Grab สั่งกาแฟเอสเปรสโซ 95 บาทและขนมบราวนี่ 85 บาท จากร้านกาแฟแบรนด์นกเอี้ยง(นามสมมติ)  มารับประทานที่บ้าน เมื่อได้มาก็เอาบราวนี่ใส่จานพร้อมหยิบเอสเปรสโซออกไปจัดวางเตรียมถ่ายภาพประกอบเฟซบุ๊กก่อนรับประทานที่สวนข้างบ้าน บรรยากาศช่างเหมาะอะไรเช่นนี้ แดดอ่อนๆ ยามเช้าส่องต้นไม้กับเสียงนกร้อง คิดแล้วก็ฟินสุดๆ ไปเลย         แต่ความฟินก็หายไปทันทีเมื่อเขาได้ชิมบราวนี่ไปเพียง 2 คำ เพราะเขากัดบราวนี่แล้วรู้สึกว่ามันแข็งแปลกๆ เขี่ยดูก็พบว่า มีฟัน (ฟันคนนี่แหละ) อยู่ในบราวนี่ เขางงมาก ฟันอยู่ในบราวนี่ได้อย่างไร ไม่ใช่ฟันของเขาแน่ๆ เขาจึงเล่าเรื่องเจอฟันในบราวนี่บนเฟซบุ๊กของตัวเอง หลังจากนั้นไม่นานนักร้านการแฟนกเอี้ยงก็ติดต่อกลับมาว่าชดเชยเงิน 85 บาท ซึ่งเป็นค่าบราวนี่ และกาแฟฟรีหนึ่งแก้วให้         ภูผามีคำถามเกิดขึ้นว่า ร้านค้ารับผิดชอบแค่นี้ได้เหรอ   แนวทางการแก้ไขปัญหา        ผู้บริโภคมีสิทธิสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ กล่าวคือ เมื่อรับประทานบราวนี่แล้วต้องปลอดภัย แต่เมื่อพบฟันซึ่งเป็นสิ่งปนเปื้อนในอาหารนั่นแสดงว่า มาตรฐานการผิดต่ำและชวนให้เชื่อได้ว่าไม่น่าจะปลอดภัยต่อการบริโภค ดังนั้นผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย กล่าวคือ ผู้บริโภคต้องได้รับค่าสินค้าหรือบราวนี่คืน และค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล หนังสือขอโทษจากบริษัท ซึ่งการชดเชยเยียวยาจะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บริโภคและผู้ขาย         กรณีพบสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ผู้ขายส่วนมากจะคืนเฉพาะค่าสินค้าเท่านั้น หรือถ้าต้องมีการรักษาพยาบาลก็จะชดเชยแค่ค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ผู้บริโภคไม่ได้เสียหายเพียงแค่นั้น ยังมีค่าเดินทาง การหยุดงาน ค่าเสียโอกาสอื่นๆ ดังนั้นผู้ขายควรชดเชยเยียวยามากกว่าราคาสินค้า และสิ่งสำคัญคือผู้ขายต้องกลับไปหาสาเหตุของปัญหาและมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ในอนาคตกับผู้บริโภครายอื่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 คุณครูประจำชั้นถูกทวงหนี้จากหนี้ของพ่อแม่นักเรียน

        การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างตกงาน ไม่มีรายได้ ความจำเป็นบังคับให้ต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งการกู้เงินกับธนาคารลูกจ้างรายวัน ส่วนมากไม่สามารถกู้ได้ เพราะไม่มีหลักประกัน การกู้นอกระบบจึงเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง ยิ่งปัจจุบันมีแอปพิเคชั่นสำหรับกู้เงินก็ยิ่งสะดวกรวดเร็วเข้าไปอีก ไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงที่อาจถูกทวงหนี้แบบผิดกฎหมาย หรือส่งผลกระทบกับคนรอบตัวลูกหนี้         แชมป์เป็นคุณครูโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก วันหนึ่งมีสายโทรศัพท์จากเบอร์แปลกเข้ามา เขารับสายทางปลายสายสอบถามว่า เขาคือครูแชมป์ใช่ไหม เขาตอบว่าใช่ หลังจากนั้นปลายสายก็แจ้งมาว่า โทรศัพท์มาจากบริษัทให้กู้เงิน คุณชบาได้กู้เงินผ่านแอปกู้เงิน จำนวน 3,000 บาท ให้ครูแชมป์ไปบอกให้คุณชบาช่วยใช้หนี้ด้วย หรือให้ครูแชมป์ใช้หนี้แทนคุณชบา แต่เขาก็ปฏิเสธไปเพราะเขาไม่รู้จักคุณชบา         ต่อมาคุณครูจึงทราบว่า คุณชบาที่บริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้คือ แม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขานั้นเอง เขางงมากว่าบริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้ที่เขาได้อย่างไร หลังจากนั้นเขาก็ได้รับโทรศัพท์ทวงหนี้จากการที่พ่อแม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขาไปกู้เงินผ่านแอปกู้เงินออนไลน์ไม่ว่างเว้น เขาจึงโพสเฟซบุ๊กแจ้งผู้ปกครองนักเรียนว่า ได้โปรดอย่าให้เบอร์โทรศัพท์ของเขากับบริษัทให้กู้เงิน ปรากฏว่ามีคุณครูหลายคนเข้ามาคอมเมนท์ว่า ได้รับโทรศัพท์จากบริษัทให้กู้เงินจากแอปกู้เงินเหมือนกัน ครูแชมป์จึงปรึกษามาว่า เขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องการทวงหนี้นั้น กฎหมายกำหนดว่าเจ้าหนี้ต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น คนรู้จัก เพื่อนที่ทำงาน คนข้างบ้าน ฯลฯ เว้นแต่จะระบุไว้แต่แรกในสัญญา หากฝ่าฝืนมีโทษโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามบอกกับคนอื่นว่าลูกหนี้เป็นหนี้ ยกเว้น สามี ภรรยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558         แอปกู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้กับครูแชมป์ซึ่งเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ และบอกกับคุณแชมป์ว่าแม่ของนักเรียนครูแชมป์เป็นหนี้กับตนเอง เป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นครูแชมป์สามารร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมายได้ที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำท้องถิ่น ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง, สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง, สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 แฟลชส่งพัสดุผิดบ้าน ผ่านมาปีกว่ายังไม่ได้ของคืน

        ส่งจดหมายผิดซองคงเป็นเจ้าของที่พลาดเอง แต่ถ้าส่งพัสดุไปผิดบ้าน งานเข้าบริษัทรับส่งของไปเต็มๆ คงยากจะปัดความรับผิดชอบ         คุณกันยากร อยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ เมื่อต้นเมษายน 2563 ได้สั่งซื้อกางเกงยี่ห้อมาริฮอร์นทางออนไลน์ให้จัดส่งไปบ้านของคุณพ่อที่เมืองไทย จากนั้นปลายเดือนเดียวกัน เธอไลน์ถามหลานชายว่ามีพัสดุมาส่งที่บ้านหรือยัง ทั้งหลานชายและคุณพ่อต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่เห็นมีของมาส่งเลย คุณกันยากรจึงถามกลับไปที่ร้านค้าว่าส่งของให้หรือยัง ทางร้านแจ้งว่าส่งให้แล้วโดยใช้บริการของแฟลช เอ็กซ์เพรส จากนั้นคุณพ่อของคุณกันยากรไปทวงถามที่บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ คุณพ่อจึงไปที่โกดังของบริษัทที่บางพลัด แต่ผู้จัดการดูไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เมื่อคุณพ่อโชว์หลักฐานให้ดู บริษัทก็บอกว่าจะชดเชยให้แค่ 400 บาท เป็นการเคลมนอกระบบ แต่คุณพ่อไม่ยอมรับ หลังจากนั้นพนักงานชื่อนพดลได้มาที่บ้านและสารภาพว่าเขาเป็นคนส่งพัสดุไปที่บ้านอีกหลังหนึ่งเอง และรับปากว่าจะติดตามของมาคืนให้ แต่แล้วก็เงียบหายไป         คุณกันยากรยังไม่ละความพยายาม แม้ตัวจะอยู่ไกล เธอก็ยังไลน์ถามหาความรับผิดชอบจากบริษัทตลอด ทางบริษัทก็ตอบว่ากำลังตามสินค้าให้ และจะให้พนักงานติดต่อกลับไป แต่วันแล้ววันเล่าก็ยังไม่มีพนักงานคนไหนติดต่อกลับมาอีกเลย คุณกันยากรจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเบื้องต้นแนะนำให้คุณพ่อของคุณกันยากรไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากมูลนิธิฯ ได้รับรายการตรวจเช็คพัสดุที่ส่งมา ซึ่งในใบพัสดุระบุว่า “เซ็นรับแล้ว” แต่ไม่มีลายเซ็นปรากฎอยู่ และมีรูปพัสดุที่คนส่งนำไปไว้ในตู้ของอีกบ้านหนึ่ง ศูนย์ฯ จึงทำจดหมายถึงบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ซึ่งทางบริษัทตอบกลับมาว่าจะติดตามให้ ล่าสุดแจ้งว่าจะชดเชยเป็นเงินให้ แต่จนแล้วจนรอด ณ วันนี้ คุณกันยากรก็ยังไม่ได้ของคืน หรือค่าชดเชยใดๆ ในกรณีแฟลชส่งพัสดุผิดบ้าน เรื่องแบบนี้คงต้องว่ากันในทางคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ปัญหาเนอร์สซิ่งโฮมดูแลผู้ป่วยไม่ดี

        เนอร์สซิ่งโฮม คือบริการในด้านสถานที่สำหรับการดูแลพักฟื้นและให้การช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันแก่ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะสั้น และผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ไม่สะดวกในการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงวัยด้วยตนเอง หรืออาจไม่มั่นใจว่าตนเองจะทำได้ดีพอ จึงเลือกใช้บริการด้านนี้ เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงวัย ด้วยว่ามีความเป็นมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญมากกว่า         คุณสาละวิน ตัดสินใจพาคุณแม่ไปอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง  สมมติว่าชื่อ สว. เนอร์สซิ่งโฮม เนื่องจากคุณแม่มีภาวะกระดูกหักที่สะโพกและต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งทางคุณสาละวินพิจารณาแล้วว่า การอยู่เนอร์สซิ่งโฮมที่มีพนักงานและอุปกรณ์พร้อมน่าจะดีกว่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งคุณแม่ก็เข้ารับบริการอยู่ที่นี่ได้สักพักหนึ่ง         วันหนึ่งได้รับแจ้งว่าคุณแม่ของเธอถูกส่งไปรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาล เพราะว่ามีอาการหายใจไม่ออกเจ็บหน้าอกและมีไข้ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าคุณแม่ของเธอต้องนอนพักดูอาการที่โรงพยาบาลก่อนยังไม่สามารถกลับบ้านได้ทันที ขณะนั้นเธอก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่ในช่วงเย็นวันเดียวกันขณะที่เธอเปลี่ยนผ้าอ้อมให้คุณแม่ คุณแม่ร้องบอกว่า “เจ็บ เจ็บ” เธอพลิกก้นคุณแม่ดูจึงพบว่า มีแผลกดทับที่ก้นคุณแม่ขนาดใหญ่ จึงโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของเนอร์สซิ่งโฮมว่า คุณแม่มีแผลกดทับได้อย่างไร เพราะตอนเข้าไปในเนอร์สซิ่งโฮมไม่มีบาดแผลดังกล่าวแน่นอน        ทางเจ้าของสถานบริการรีบปฏิเสธว่าคุณแม่ไม่มีแผลกดทับจากการดูแลของทางเรา ส่วนแผลที่คุณสาละวินเห็นเพิ่งเกิดที่โรงพยาบาล เพราะไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมนานๆ และไม่พลิกตัวจึงทำให้กลายเป็นแผลกดทับ เธอจึงคาดคั้นว่าเกิดจากที่โรงพยาบาลจริงหรือ อาการแผลกดทับที่เพิ่งเป็นกับที่เป็นมานานแล้วแตกต่างกัน ทางโรงพยาบาลจะพลาดจนแม่เกิดแผลกดทับจริงหรือ เธอไม่เชื่อตามที่ทางสถานบริการแจ้งมา และเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลหลายรอบ ในท้ายที่สุดเจ้าของเนอร์สซิ่งโฮมก็ยอมรับว่า “เกิดจากการที่ดูแลคุณแม่ของเธอไม่ดีและขอรับผิดชอบด้วยการที่จะดูแลคุณแม่ของเธอให้ดีในช่วงที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล”         คุณสาละวินจึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า กรณีเช่นนี้เธอสามารถเรียกค่าชดเชยจากเนอร์สซิ่งโฮมที่ทำให้คุณแม่เจ็บป่วยได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา             กรณีนี้เป็นการละเมิดทำให้ได้รับความเสียหาย ผู้ดูแลหรือทางสถานบริการจะต้องดูแลผู้สูงอายุตามหน้าที่ ตามสัญญา หากไม่ดำเนินการตามสัญญา อีกทั้งละเลยจนทำให้ได้รับความสียหายเกิดแผลกดทับ ผู้บริโภคสามารถเรียกเป็นค่าเสียหาย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่ารักษาให้กลับมาเป็นปกติ และอื่นได้ตามสมควร         หลังจากเกิดเรื่องร้องเรียนทางเนอร์สซิ่งโฮมได้ขอยกเลิกการมาดูแลคุณแม่ของคุณสาละวินขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณสาละวินได้ขอให้เนอร์สซิ่งโฮมคืนเงินที่เหลือ เพราะคุณแม่ของเธออยู่ใช้บริการในสถานบริการไม่ครบเดือนตามสัญญากับทางสถานบริการ         เรื่องนี้ได้มีการจัดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้เชิญผู้แทนทางเนอร์สซิ่งโฮมเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำคุณสาละวินให้ใช้สิทธิทางศาล เนื่องจากอายุความละเมิดมีกำหนดแค่ 1 ปี ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ให้ทางคุณสาละวินได้เตรียมพร้อมในส่วนข้อมูล เช่น การประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคุณแม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดและในอนาคต เพื่อนำไปใช้ประกอบการเรียกค่าเสียหายในการดำเนินคดี

อ่านเพิ่มเติม >