ฉบับที่ 273 ระวัง มิจฉาชีพหลอกเหยื่อให้โอนเงินเพื่อทำงานโปรโมตสินค้า

        ปัจจุบันการทำงานโปรโมตสินค้าในตลาดออนไลน์มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ Affiliate Marketing ซึ่งทำงานคล้ายเป็นนายหน้าและมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น เมื่อแนะนำสินค้าหรือบริการบนสื่อออนไลน์ต่างๆ พร้อมแปะลิงก์ (URL) สินค้าหรือบริการไว้แล้วมีคนคลิกเข้าไปซื้อผ่านลิงก์นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำการตลาดในรูปแบบนี้จะเปิดให้สมัครฟรี ดังนั้นหากเจอบริษัทไหนเก็บเงินค่าสมัครหรืออ้างเหตุผลใดๆ ที่ให้คุณต้องโอนเงินไปให้ก่อน รีบเหยียบเบรกไว้เลย เพราะคุณอาจจะเจอโจรในคราบนักบุญที่ใช้วิธีหมุนเงินแบบแชร์ลูกโซ่มาหลอกเชิดเงินไปเนียนๆ เหมือนอย่างที่คุณเชอร์รี่เพิ่งเจอ        เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คุณเชอรี่สนใจหารายได้ทางออนไลน์ จึงไปสมัครเป็นตัวแทนช่วยโปรโมตสินค้าหรือบริการในรูปแบบ Affiliate กับ บริษัท เอฟฟิลิเอท ประเทศไทย ซึ่งมีเงื่อนไขว่าเธอจะต้องโอนเงินไปให้ตัวแทนบริษัทก่อนเพื่อซื้อสินค้า เมื่อทำงานแล้วเธอจะได้ค่าคอมมิชชั่นคืนพร้อมค่าสินค้าที่จ่ายไป ในตอนนั้นคุณเชอรี่ยอมทำตามข้อตกลงนี้โดยไม่ได้เอะใจอะไร เมื่อเธอโอนเงินไปครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นก็ได้เงินคืนมาพร้อมค่าคอมมิชชั่นจริงๆ ต่อมาเธอจึงไม่อิดออดเมื่อตัวแทนแจ้งให้เธอโอนเงินไปก่อนเหมือนเดิม เธอโอนเงินไปแล้ว 3 รอบ และได้ค่าคอมมิชชั่นพร้อมเงินคืนมาครบทุกรอบ         จนล่าสุด เมื่อตัวแทนบอกให้เธอโอนเงินเข้าบัญชีที่เป็นชื่อบุคคลหลายครั้ง จำนวนรวมแล้ว 50,000 กว่าบาท แต่รอบนี้เธอกลับไม่ได้รับเงินคืน เมื่อทวงถาม ทางตัวแทนอ้างว่าเธอจะต้องทำงานให้ครบตามที่กำหนดก่อนจึงจะโอนเงินให้ได้ ซึ่งเธอแย้งกลับไปว่าตอนสมัครไม่เห็นมีการแจ้งเงื่อนไขนี้ไว้เลยและขอเงินคืนทั้งหมด แต่ทวงแล้วทวงอีกก็ยังไม่ได้เงินคืน เธอเชื่อว่าคงโดนมิจฉาชีพหลอกซะแล้ว จึงโทรศัพท์มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้เงินคืนมา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณเชอรี่รีบโทร.แจ้งธนาคารเพื่ออายัดธุรกรรม(อายัดบัญชีปลายทาง)ทันที และเข้าไปลงทะเบียนและแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com/ ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.) หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อกลับไปและแนะนำขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องทำต่อไป         ในกรณีนี้ หากคุณเชอรี่เอะใจเร็วกว่านี้ และแจ้งเรื่องไปยัง ศปอส.ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงหลังถูกหลอกถูกโกง ก็อาจทำให้มีโอกาสได้เงินคืนค่อนข้างมาก เพราะยิ่งปล่อยระยะเวลาให้นานออกไป การติดตามเส้นทางทางการเงินก็จะยากขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนน้อยลง         อย่างไรก็ตาม การสมัครทำงานหารายได้ทางออนไลน์ในรูปแบบใดก็ตาม ควรเลือกบริษัทที่มีประวัติน่าเชื่อถือ ศึกษาข้อมูล วิธีการทำงาน และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนอย่างรอบคอบทุกครั้ง หลีกเลี่ยงงานที่ต้องให้โอนเงินไปก่อน จะได้ไม่เสี่ยงเจอมิจาฉาชีพมาหลอกแล้วเชิดเงินหนีเข้ากลีบเมฆไป     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สายการบินทำกระเป๋าเดินทางหาย

        ปัญหาเกี่ยวกับกระเป๋าสัมภาระชำรุดเสียหายระหว่างเดินทางข้ามประเทศ ผ่านสายการบินต่างๆ นั้นมีผู้เสียหายได้ร้องเรียนมามากมายกับฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่างเช่นกรณีของคุณน้ำตาล         เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา คุณน้ำตาล ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า เธอได้เดินทางกลับจากออสเตรเลียโดยสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากเครื่องแล่นลงสู่ภาคพื้นดิน เธอก็มารอรับกระเป๋าสัมภาระของเธอ แต่ไม่พบกระเป๋าสัมภาระของตัวเองไม่ว่าจะรอนานแค่ไหน จึงได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ให้ช่วยตรวจสอบ หลังการตรวจสอบปรากฏว่าไม่มีกระเป๋าเดินทางของเธอในระบบ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เธอกลับบ้านไปก่อน หากพบว่ากระเป๋าของเธออยู่ตรงไหนแล้วทางเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับ คุณน้ำตาลจึงทำตามคำแนะนำที่ทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการแจ้งเพิ่มเติมว่า จะดำเนินการติดตามให้ภายใน 21 วัน         ผ่านมาแล้ว 21 วัน คุณน้ำตาลยังไม่ได้รับการติดต่อจากสายการบิน เธอร้อนใจเพราะว่าของที่อยู่ในกระเป๋าก็มีมูลค่าไม่ใช่น้อย กระเป๋าเดินทางก็ราคาไม่เบา 5,000 บาท เสื้อผ้า และของใช้ ประมาณ 20,000 บาท คอมพิวเตอร์+อุปกรณ์ 30,000 บาท และแทบเล็ตอีก 10,000 บาท จึงได้รีบติดต่อสายการบินอีกครั้ง ทางสายการบินได้ส่งอีเมล์แจ้งว่าไม่พบสัมภาระผู้ร้อง อ้าว ! ทำไมทำกันแบบนี้ ทางสายการบินได้ให้คุณน้ำตาลทำเรื่องเคลมกระเป๋าที่สูญหาย เธอเองกังวลว่า สายการบินจะชดเชยความเสียหายตามจำนวนที่เสียหายได้หรือไม่ จึงร้องมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ แนะนำให้ติดต่อสอบถามข้อเท็จจริงกับสายการบินเรื่องการเคลมว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และให้ผู้ร้องดำเนินการทำเรื่องเคลมกับสายการบินตามระเบียบดังกล่าวก่อน หากพบปัญหาอย่างไรให้แจ้งมายังมูลนิธิฯ อีกครั้ง โดยทางเจ้าหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ หากพบว่า ทางสายการบินชดเชยให้ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ หากกระเป๋าเดินทางสูญหายหรือชำรุดเสียหาย จากการขนส่งโดยสายการบิน มีวิธีการ  ดำเนินการตามนี้         1.  ติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่ใช้บริการเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหาย เพื่อเป็นหลักฐาน        2.  ถ่ายภาพความเสียหายของกระเป๋าเดินทาง (กรณีกระเป๋าชำรุดเสียหาย)         3.  รีบติดต่อขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที         4.  กรณีกระเป๋าสูญหาย ให้รีบแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สนามบินเพื่อลงบันทึกประจำวัน เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สูญหายในกระเป๋าเดินทาง สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อป้องกันเบื้องต้น        ·  ชื่อ – นามสกุล ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อ ไว้ที่แท็ก (tag) และด้านในของกระเป๋าเดินทางพร้อมกับ ถ่ายรูปกระเป๋าเดินทางเก็บไว้ก่อนทำการเช็กอิน        ·  หลังชั่งน้ำหนัก เช็กอินกระเป๋าเดินทาง แนะนำให้ตรวจสอบว่าได้รับแท็กบาร์โค้ดเท่ากับจำนวนกระเป๋าเดินทางหรือไม่ (กระเป๋า 1 ใบ ต่อ 1 แท็ก)        ·  ทำสัญลักษณ์ไว้บนกระเป๋าเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหยิบผิด กรณีกระเป๋ายี่ห้อเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 พนักงานโรงแรมทำ “โน้ตบุ๊ก” เสียหาย

        เวลาจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทั้งที คิดว่าหลายๆ คน คงจะเลือกแล้ว เลือกอีกกับที่พัก เพราะนอกจากเราจะเสียเงินทั้งที ก็คงอยากได้ที่พักแบบคุ้มค่าและปลอดภัย ให้คุ้มกับเงินที่เสียไปใช่ไหมล่ะ?         ก็เหมือนกับคุณวี ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่...ไม่ใช่เรื่องที่พักไม่ตรงปกอย่างที่คิดหรอกนะ แต่เป็น เรื่องที่ทางพนักงานของโรงแรมนั้น ทำทรัพย์สินของคุณวีเสียหายนะสิ โดยคุณวีเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังว่า เขาได้ไปเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเขาเดินทางถึงโรงแรมดังกล่าว ก็มีรถกอล์ฟมารอรับ-ส่งทันที ในขณะที่ขนย้ายทรัพย์สินขึ้นบนรถกอล์ฟ ก็มีกระเป๋าใบหนึ่งที่เขาตั้งใจวางในลักษณะยืนตั้งเอาไว้ปกติ เพราะในกระเป๋าดังกล่าวมีโน้ตบุ๊ก จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อขนย้ายเสร็จสิ้น ก็เดินทางไปห้องพักทันที แต่...เมื่อมาถึงห้องพักกลับต้องตกใจ! เพราะว่าพนักงานโรงแรมดันเอา กระเป๋าเป้ที่มีโน้ตบุ๊ก ไปวางไว้ในลักษณะแนวนอนราบไปกับพื้น ทำให้ขวดน้ำที่อยู่ในกระเป๋าไหลมาโดนโน้ตบุ๊ก ซึ่งทางพนักงานเองก็ยอมรับว่าเป็นคนวางไว้แบบนั้นเอง         คุณวี จึงต้องรีบแก้ปัญหาโดยการนำกระเป๋าเป้ตั้งขึ้น พร้อมกับรีบเอาของทั้งหมดออกจากกระเป๋า ซึ่งในขณะเดียวกัน ทางพนักงานก็ได้กล่าวว่า “ขอตัวก่อนนะครับ” จึงทำให้ทางคุณวีรู้สึกว่า ทางพนักงานไม่มีการพูดกล่าวขอโทษ หรือพยายามช่วยเหลือเรื่องดังกล่าวเลย และโน้ตบุ๊กของเขาก็เสียหายอีกด้วย         แนวทางแก้ไขปัญหา         หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางผู้ร้องได้มีการติดต่อส่งอีเมลไปยังโรงแรม พร้อมแจ้งรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต่อมา ทางโรงแรมก็ได้ติดต่อทางผู้ร้องมาว่าจะทำการตรวจสอบเรื่องราว 1 วัน และจะติดต่อกลับมา ซึ่งทางโรงแรมก็ได้ติดต่อกลับมาพร้อมแจ้งว่าจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้ผู้ร้องส่งข้อมูล เช่น ใบเสร็จรับเงิน และโน้ตบุ๊กที่เสียหายไปยังโรงแรม แต่เมื่อคุณวีได้ส่งข้อมูลไปแล้วพบว่า ไม่มีการติดต่อกลับมาจากทางโรงแรมอีกเลย จึงได้แจ้งไปทางสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ทางสำนักงานใหญ่จึงจะชดเชยเป็นเงินเพียง 5,000 บาท เท่านั้น ซึ่งทางผู้ร้องยังรู้สึกว่าไม่โอเค         เบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวัน และได้ทำหนังสือไปถึงทางโรงแรมดังกล่าวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้บริโภคนั้น ระมัดระวังทรัพย์สินตัวเองด้วย หากเป็นทรัพย์สินมีค่าหรือของที่รู้สึกว่าเสียหายได้ง่าย อ่อนไหว ควรป้องกันโดยการแจ้งพนักงานให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บัญชีเทรดคริปโตฯ โดนแฮ็ก หลัง login ผ่านเว็บไซต์ เงินดิจิทัลถูกขโมยเกลี้ยง

        การทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์นั้นไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินจริงหรือสกุลเงินดิจิทัล ต่างก็ต้องเสี่ยงกับเหล่ามิจฉาชีพที่คอยจ้องแฮ็กข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เพื่อรอจังหวะขโมยถอนเงินในบัญชีออกไปด้วยรูปแบบที่แนบเนียนและแยบยล จนมีหลายเคสที่ยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และผู้เสียหายเองก็ทำได้เพียงรอๆ ๆ ๆ         คุณกิจเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่รอคอยอย่างมีความหวัง เขาเล่าว่าซื้อขายคริปโตฯ (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มบิทคับ (Bitkub) มาประมาณ 1 ปีแล้ว โดยปกติจะ login ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่มีอยู่วันหนึ่งเขาจำเป็นต้อง login ผ่านเว็บไซต์ ปรากฎว่าเขาต้อง login 2-3 รอบ ถึงจะเข้าบัญชีตัวเองได้ พอเข้าได้ปุ๊บก็มีข้อความเด้งขึ้นมาปั๊บว่า "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว"          เขางงมาก ใครถอน? ถอนไปได้ไง? เพราะเขายังไม่ได้สั่งถอนเหรียญ หรือสั่งทำอะไรเลยด้วยซ้ำ เขารีบเข้าไปดูในกระเป๋าตังค์ดิจิทัล แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพบว่าไม่มีเหรียญเหลืออยู่เลย เขาจึงติดต่อไปทางบริษัทบิทคับ ซึ่งแนะนำให้เขาไปแจ้งความเพื่อให้ตำรวจออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ก่อน ทางบริษัทจึงจะเข้าไปดูข้อมูลย้อนหลังข้างในให้ได้ เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจขอนแก่น และแจ้งตำรวจออนไลน์ด้วย หลังจากนั้นทางบริษัทได้ส่งหลักฐานการทำธุรกรรมมาให้ พบว่าเหรียญของเขาทั้งหมดถูกขายไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะถูกนำไปซื้อเหรียญใหม่แล้วถอนออกไปทันที         คุณกิจพยายามทำทุกหนทางที่ทำได้ เขาติดต่อตำรวจออนไลน์อยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ จึงไปให้สถานีตำรวจที่ขอนแก่นติดต่อให้ หลังจากนั้นตำรวจออนไลน์จากส่วนกลางได้ทำเรื่องมายังสถานีตำรวจขอนแก่นให้สอบสวนเรื่องนี้ เขาได้ไปให้ปากคำพร้อมมอบหลักฐานทั้งหมดไปแล้ว แต่เขาไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะดูเหมือนการดำเนินการค่อนข้างช้า เขาจึงไลน์มาเพื่อปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อกลับไปยังคุณกิจเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม จึงทราบว่าทางตำรวจ สภ.ขอนแก่นได้ขอให้คุณกิจส่งสำเนาเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปให้เพิ่มเติม ซึ่งเขาก็จัดการเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว และยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้าของคดีอยู่ทุกสัปดาห์ด้วย แต่ก็ได้คำตอบเหมือนเดิมว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ         ล่าสุดทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสื่อถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายในกรณีนี้ ซึ่งทางสำนักงาน กลต.ติดต่อกลับมาว่าได้รับเรื่องร้องเรียนนี้และประสานไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้นจะแจ้งกลับมาที่มูลนิธิฯ อีกครั้ง ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการคริปโตฯ ว่า เคสแบบนี้ต้องตามกันยาวนานเป็นปีๆ ทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ชีวิตเสี่ยงภัย จากหม้อแปลงไม่ได้มาตรฐาน!

        การพักอาศัยอยู่ใกล้ทางสาธารณะอาจจะมีปัญหาได้เสมอ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนเป็นเรื่องใหญ่ เสี่ยงอันตรายได้ถึงชีวิต เช่นเรื่องราวของคุณนัด ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ หมู่ 2 ถนนกาญจนวนิช ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลามานานนับสิบปี โดยหน้าบ้านของคุณนัดนั้นมีเสาไฟฟ้าถึง 3 เสา คุณนัดไม่คิดว่า เสาไฟหน้าบ้านที่มีมานานจะเป็นอันตรายได้ จนเมื่อแขวงการทางได้ยกระดับทางหน้าบ้านให้สูงขึ้นอีกราว  2 เมตร นั่นจึงทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ถูกต้องตามมาตรฐานคือสูงกว่าระดับพื้น 4 เมตร กลับเป็นหม้อแปลงที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะสูงกว่าระดับพื้นเพียง 2 เมตร!           สถานการณ์ดังกล่าวกลับยิ่งเลวร้ายลง เมื่อนานวันสายไฟ สายสัญญาณต่างๆ ที่ติดตั้งและพาดผ่านหม้อแปลงและเสาไฟยิ่งมากขึ้น มากขึ้น กระจุก ยุ่งเหยิงอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้เดินผ่านสัญจรไปมา ยิ่งในช่วงหน้าฝนตกหรือพายุเข้าอาจเกิดฟ้าผ่าลงสายไฟฟ้าแรงสูง จนทำให้แรงดันไฟฟ้าวิ่งมาถึงหม้อแปลง เสี่ยงเกิดอัคคีภัยได้ และหากมีไฟฟ้ารั่วออกมา อาจทำให้ไฟดูดผู้คนบริเวณใกล้เคียงได้         คุณนัดอดรนทนเห็นต่อไม่ไหว จึงติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช. เขตสงขลา) ให้เข้ามาจัดการสายไฟที่พะรุงพะรัง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการแล้วก็ทำเพียงมัดรวมสายไว้ แต่นานวันเข้าสายไฟก็กลับมายุ่งเหมือนเดิม  อีกทั้งคุณนัดยังได้แจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ขอให้ตรวจสอบและแก้ไข ยกหม้อแปลงขึ้นแต่กลับได้รับการชี้แจงว่า การย้ายระดับหม้อแปลงไฟฟ้า คุณนัดจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อ้าว ! ทำไมภาระกลายมาเป็นของคุณนัด โดยค่าดำเนินการทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 78,056.50 บาท คุณนัดเห็นว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ผลักภาระที่จะต้องดำเนินการเองให้ประชาชนรับผิดชอบ จึงแจ้งมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา           หลังจากคุณนัดได้เข้ามาร้องเรียน และขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่า ความเดือดร้อนจากกรณีติดตั้งหม้อแปลงที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา  จึงแนะนำให้คุณนัดทำหนังสือร้องเรียนปัญหาถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาคุณนัดแจ้งว่า ได้ดำเนินการส่งหนังสือถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตแล้ว จนล่าสุดวันที่ 4 พ.ย. 2566  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลาได้ติดต่อพูดคุยกับคุณนัดว่าจะเข้ามาดำเนินการให้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งตามมาตรฐาน ภายในเดือน ก.พ. 2567 ทั้งนี้ คุณนัดและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะรอติดตามการทำงานครั้งนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บัตรเครดิตหายในต่างประเทศ

        จะทำอย่างไร เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศแล้วถูกขโมยกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ เงินสดและบัตรเครดิตหาย พอคิดถึงตรงนี้ก็เริ่มเวียนหัวกับปัญหาที่จะตามมาแล้ว หนักไปกว่านั้นเมื่อในกระเป๋าเงินมีบัตรเครดิตอยู่ถึง 3 ใบ!            เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณแยมเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวที่นครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์  ขณะคุณแยมและครอบครัว นั่งรับประทานอาหารกลางวันในร้าน KFC  โดยได้วางกระเป๋าไว้ข้างๆ ตัว   แต่...เพียงแค่ 10 นาที รู้ตัวอีกกระเป๋าก็หายไปแล้ว ในกระเป๋าใบนั้นมีทั้งเงินสด โทรศัพท์มือถือ พาสปอร์ต และบัตรเครดิตการ์ดอยู่ 3 ใบ         คุณแยมตกใจมากจึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ส่วนการระงับบัตรเครดิต เนื่องจากโทรศัพท์มือถือได้ถูกขโมยไปด้วย จึงแจ้งระงับบัตรเครดิตได้สำเร็จเมื่อเดินทางกลับถึงโรงแรมที่เข้าพัก        เวลาระหว่างตั้งแต่บัตรหาย จนเมื่อคุณแยมได้โทรศัพท์แจ้งติดต่อธนาคารของทั้ง 3 บัตรเครดิต บัตรเครดิตทั้ง 3 ใบ มียอดการใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งหมด บัตรใบที่ 1 (บัตรสีเงิน) มียอดใช้จ่าย 4-5 รายการ แล้วบัตรก็ถูกตัดไปเองโดยอัตโนมัติ  บัตรใบที่ 2 ( สีน้ำเงิน) มียอดซื้อสินค้าราคา 15,000 บาท แต่เมื่อแจ้งปฏิเสธรายการไป ยอดก็ถูกยกเลิก แต่ปัญหาที่คุณแยมหนักใจ และอยากส่งเสียงบอกเล่าเรื่องนี้คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในบัตรที่ 3 (บัตรสีม่วง) เพราะเมื่อหายมียอดรูดบัตรราคาเท่า ๆ กัน  ติดต่อกันถึง 24 ยอดเมื่อถึงโรงแรมแล้วจึงค่อยระงับได้         เมื่อกลับมาประเทศไทย คุณแยมจึงได้อีเมล์ถึงธนาคารของบัตรสีม่วงทันทีแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ คุณแยมจึงโทรไปทาง Call Center อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะมีการติดต่อกลับแต่ก็หายเงียบไป  คุณแยมจึงติดต่อแจ้งเรื่องนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศเพื่อขอให้เข้ามากำกับดูแลการทำงานของธนาคารสีม่วง และหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ธนาคารของบัตรสีม่วงได้แจ้งว่าจะประนีประนอมการชำระหนี้ให้คุณแยม โดยให้ชำระ 50% (ประมาณ 18,000 บาท) และให้ตอบรับภายในวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา         คุณแยมเห็นว่า ไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงไม่มีระบบป้องกันใดๆ ให้ผู้ถือบัตรเลย แม้จะเกิดการรูดบัตรเครดิต 24 ครั้งต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติชัดเจน ก็ไม่มีระบบที่ช่วยระงับการใช้งานโดยอัตโนมัติ การใช้งานระบบจ่ายเงินแบบ Contactless โดยไร้สัมผัส ผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต สมาร์ทวอทช์ ธนาคารต่างประเทศรวมถึงในประเทศด้วย ซึ่งหลายธนาคารได้มีระบบให้ใส่รหัสเพื่อตรวจพบการใช้บัตรผิดปกติแล้ว แต่ธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงก็ยังไม่มีระบบดังกล่าว  คุณแยมจึงมาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือเพราะการที่เธอต้องจ่ายเงิน ประมาณ 18,000 บาท จากการที่ธนาคารไม่มีระบบป้องกันและยังเป็นกรณีที่บัตรเครดิตถูกขโมยด้วย เธอมีหลักฐานการแจ้งความอย่างชัดเจน ไม่เป็นธรรมกับเธอสุดๆ  แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับคุณแยม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอแนะนำว่า          1.เมื่อบัตรเครดิตหาย ให้รีบโทรศัพท์อายัดบัตรกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารเจ้าของบัตร หรือ อายัดบัตรฯ ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือทันทีที่สามารถทำได้         2.รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่เกิดเหตุ         3.ทำหนังสือขอปฏิเสธการชำระยอดเงิน พร้อมแนบใบแจ้งความ และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต พร้อมกันนี้ให้ทำสำเนาอีกชุด ส่งไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา         4. เก็บหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุ, บันทึกการแจ้งอายัดบัตรฯ, ใบแจ้งความ, อีเมลที่โต้ตอบกับธนาคาร, หนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ทุกฉบับ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง         สำหรับกรณีคุณแยม ขณะนี้ได้ทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินและรอคำตอบจากทางธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงอยู่ ซึ่งหากไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเรื่องไม่อาจยุติลงได้ คงต้องใช้กระบวนการทางศาลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 เจอผลิตภัณฑ์เบเกอรี่แบรนด์ดังขึ้นรา

        ช่วงนี้ในโลกออนไลน์มีผู้บริโภคหลายคน พบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารที่ซื้อมาบริโภคอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารในร้านสะดวกซื้อหรือแม้แต่ในร้านอาหารทั่วไป ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้ทางมูลนิธิฯ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมาอยู่ตลอดเช่นเดียวกัน ดังนั้นเสียงผู้บริโภคที่ฉลาดซื้อจะมาเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของคุณวีผู้เสียหายที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ โดยเขาได้เล่าให้ฟังว่า         ได้ซื้อขนมเค้กแบรนด์ดังเจ้าหนึ่งมา 1 กล่อง (ภายในกล่องจะแยกขนมเป็นชิ้นๆ ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กจำนวน 10 ชิ้น) จากร้านขายของชำแถวบ้าน เป็นขนมแบรนด์โปรดของคุณวีเลยแหละเพราะก็กินตั้งแต่เด็กจนโต หลังจากซื้อมาก็ได้รับประทานไปตามปกติแถมขนมก็ยังอร่อยเหมือนเดิมเลย แต่ด้วยความขนม 1 กล่องมีหลายชิ้น เลยกินไปเรื่อยๆ ไม่ได้กินครั้งเดียวจนหมด ทีนี้พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เขากลับมากินอีกครั้งฉีกซองออกมาก็เจอราสีขาวปนเขียวๆ ขึ้นอยู่บนขนม อ้าว! มันหมดอายุแล้วหรอ!(คุณวีคิด) เมื่อดูฉลากวันหมดอายุก็พบว่ายังไม่หมดนะ จึงทำให้เขาเป็นกังวลและเลือกที่จะไม่บริโภคต่อ เขาได้นำผลิตภัณฑ์มาร้องเรียนและเปิดให้ทางมูลนิธิฯ ดู ซึ่งพบว่าขนมเค้กดังกล่าวขึ้นราอีก 4 ซอง ทีนี้คุณวีเลยเป็นกังวลเกรงว่าผู้บริโภครายอื่นจะได้รับปัญหาเช่นเดียวกัน จึงขอความช่วยเหลือว่าควรจะทำอย่างไรดี? แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ หลังจากได้รับเรื่องจากคุณวี ได้มีการแจ้งไปทางบริษัทดังกล่าวที่ผลิตสินค้าและได้นัดหมายเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีสินค้ามีลักษณะขึ้นราก่อนวันหมดอายุ ซึ่งทางผู้จัดการบริษัทดังกล่าวก็ยินดีที่จะชดเชยให้เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท พร้อมกับนำกระเช้าผลไม้และขนมเค้กดังกล่าว จำนวน 2 ลัง มามอบให้ เพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย รวมถึงทำหนังสือขอโทษและแจ้งผลตรวจขนมดังกล่าวจากห้องแล็ปให้แก่ผู้เสียหายทราบด้วย ถือว่าทางบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์ ดังกล่าวให้แก้ไขปัญหา ดังนี้         1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน เช่น ใบเสร็จจากร้านค้า         2. ไปพบแพทย์ตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน         3. นำหลักฐานแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่         4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) แจ้งความประสงค์ที่จะต้องการให้บริษัทแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร         5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท เขียนสรุปปัญหาที่พบ ส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า ระบุให้ชัดเจนถึงความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         กรณีที่ไม่ได้จะนำสินค้าเก็บไว้เพื่อร้องเรียน หากผู้บริโภคเจอ “เชื้อรา” ปนเปื้อนในอาหาร ทางฉลาดซื้อไม่แนะนำให้รับประทานต่อให้ทิ้งไปเลย เนื่องจากตัวเชื้อราอาจมีการแพร่เชื้อไปโดยที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากรับประทานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ซื้อบ้านทั้งที ต้องซ่อมยกหลังจน...อยู่ไม่ได้

        การซื้อบ้าน เป็นความฝันของใครหลายคนที่กว่าจะเป็นจริงได้ต้องทำงานอย่างหนัก และสำหรับบางคนอาจต้องใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตเพื่อให้ได้บ้านในฝันมาครอบครอง แต่การซื้อบ้านแม้เมื่อได้โอนบ้าน ครอบครองมีชื่อเป็นเจ้าของสมบูรณ์แล้ว ท่านอาจคิดว่าฝันเป็นจริงเสียที แต่เมื่อได้เข้าอยู่อาศัย จึงได้รู้ว่าฝันที่เป็นจริงนั้นกลับกลายเป็น ‘ฝันร้าย’ เมื่อบ้านที่เฝ้ารอกลับเป็นบ้านที่มีแต่จุดชำรุด ซ่อมเท่าไหร่ก็ไม่แล้วเสร็จ ซ้ำยังขยายให้เห็นจุดชำรุดเสียหายอื่นๆ ที่ยังหมกเม็ดให้เจ้าของบ้านได้เห็นอยู่เรื่อยๆ เช่น เรื่องราวของคุณหมูกรอบ        เรื่องราวคือ คุณหมูกรอบเข้าไปดูโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ย่านบางนา ตั้งแต่ในเดือนตุลาคมปี 2564 คุณหมูกรอบคิดว่าได้เข้ามาดูสภาพบ้านในช่วงหน้าฝนแล้ว ก็น่าจะสามารถพิสูจน์คุณภาพบ้านได้ ในเดือนพฤศจิกายนจึงทำสัญญาเริ่มผ่อนและมีการโอนบ้านในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน        หลังจากโอนแล้ว ขณะนั้นอยู่ระหว่างการตกแต่งภายใน คุณหมูกรอบจึงยังไม่ได้ย้ายเข้าไปอยู่อาศัย แต่ก็ได้เข้าไปตกแต่งและตรวจสอบสภาพบ้านสม่ำเสมอก่อนจะย้ายเข้ามาอยู่ในเดือนมิถุนายน ปี 2565         แล้วสัญญาณเตือนว่าบ้านที่ซื้อเต็มไปด้วยปัญหาก็เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 65 ที่รั้วบ้านทรุด แม้จะพยายามซ่อมแต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเป็นรั้วที่ให้ความปลอดภัยได้ ต่อมาในเดือนเมษายน หลังคาห้องครัวรั่วซึมจนฝนรั่วน้ำไหลลงมา ขณะนั้นคุณหมูกรอบยังไม่ได้เข้าอยู่อาศัย จึงแจ้งเรื่องให้ช่างเข้าซ่อมซึ่งตอนแรกช่างก็ตื่นตัวที่จะเข้ามาซ่อมให้อย่างรวดเร็วแต่เมื่อเข้าอยู่อาศัยท่าทีกลับเริ่มเปลี่ยนไป         นอกจากจุดที่แจ้งซ่อมยังแก้ไม่หายแล้ว เมื่อย้ายเข้าอยู่ในเดือนมิถุนายน จุดร้ายแรงที่พบอีก คือการชำรุดที่โรงรถซึ่งเกิดจาก ‘โครงสร้างไม่ถูกหลัก’ ทำให้น้ำรั่วซึมไหลเข้าไปทั่วบริเวณรอบๆ จนน้ำซึมไปทั่ว การซ่อมโรงรถทำให้ได้เห็นการก่อสร้างที่มีปัญหาหมกเม็ดอยู่ จุดที่ไม่สามารถตรวจสอบได้อีกหลายจุดและต่อมาหลังเข้าอยู่เพียงไม่กี่เดือน ผนังบันไดก็เกิดรอยร้าว แผ่นไม้ลูกราวบันไดแตกหัก         แน่นอนว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหา คุณหมูกรอบได้แจ้งซ่อมและให้ช่างของโครงการฯ ระบุปัญหาและสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาแต่กลับไม่มีการสื่อสารใดๆ เพียงแต่บอกรายละเอียดว่า ช่างจะเข้ามาซ่อมวัน เวลาใดเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอจะให้เข้าใจสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้บ้านของคุณหมูกรอบต้องซ่อมอยู่หลายครั้งได้         บ้านหลังดังกล่าวนี้ มูลค่ารวมกว่า 4.5 ล้านบาท คุณหมูกรอบผ่อนเดือนละประมาณ 25,000 บาท ปัจจุบันได้รับความเดือดร้อนอย่างมากอยู่อาศัยอย่างไม่มีความสุข ซึ่งในโครงการฯ ไม่ใช่บ้านของคุณหมูกรอบหลังเดียวที่มีปัญหาแต่บ้านหลังอื่นๆ ก็ปัญหาด้วยกันเช่นเดียวกันกว่า 5- 6 หลัง ซึ่งเจ้าของบ้านที่เกิดปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดจึงได้รวมตัวกันเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา         หลังจากรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายทั้งหมด มูลนิธิฯ ได้ประสานกับตัวแทนของบริษัทเพื่อนัดหมายการเจรจาไกล่เกลี่ย เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา กรณีบ้านของคุณหมูกรอบที่แทบซ่อมตลอดระยะเวลาที่อยู่อาศัยได้เพียงไม่นานนั้น เธอยืนยันว่าเธอต้องการขอคืนบ้าน ไม่ประสงค์อยู่ต่อแล้ว ซึ่งทางตัวแทนบริษัทบอกจะนำข้อเสนอไปปรึกษากับผู้บริหาร อย่างไรก็ตามภายหลังจากการเจรจาไกล่เกลี่ยเธอก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัทอีกเลย ทั้งนี้คุณหมูกรอบเธอยืนยันว่าหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขให้จบสิ้น ก็จะสู้คดีให้ถึงที่สุดต่อไป         จากกรณีปัญหาของคุณหมูกรอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องเรียนปัญหาจากการซื้อบ้านจัดสรรอีกหลายลักษณะ มูลนิธิฯ จึงมีคำแนะนำทั้งเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น และแนวทางรับมือเมื่อประสบกับปัญหาแล้วดังนี้         1.เมื่อสนใจและเข้าดูโครงการควรตรวจสอบรายละเอียดการสร้างบ้านว่าถูกต้องหรือไม่ และควรหารายละเอียดการใช้งานพื้นที่เดิมด้วย เช่น เคยเป็นพื้นที่ลุ่มหรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาบ้านทรุดได้         2.ผู้ซื้อบ้านจะต้องศึกษาสัญญาการซื้อบ้านโดยละเอียด เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า ส่วนใดของบ้านมีระยะเวลาประกันเท่าไหร่ ส่วนใดที่บริษัทรับประกันในระยะเวลา 5 ปี และ ส่วนใดที่บริษัทรับประกันเพียง 1 ปี เพื่อป้องกันการปัดความรับผิดชอบได้         3.ผู้ที่ยังไม่ซื้อบ้าน ยังไม่ได้รับโอนต้องหมั่นมาเช็คตรวจสอบสภาพบ้าน ซึ่งหากนัดเข้ามาบ่าย ช่างที่ดูแลอาจเก็บงานทำให้ไม่พบจุดที่เป็นปัญหาได้ จึงควรเข้ามาตรวจทั้งนัดหมายล่วงหน้า และการเข้าดูแบบไม่ให้รู้ก่อนด้วย         4.เมื่อถึงกำหนดโอนบ้านแต่บ้านยังไม่อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ผู้ซื้อไม่ควรจะรับโอนบ้าน แม้จะถูกหว่านล้อม โน้มน้าวด้วยโปรโมชั่นต่างๆ ในช่วงเวลาโอน หรือการถูกบอกกล่าวเชิงเตือนว่า ค่าโอนอาจเพิ่มสูงขึ้นในภายหลัง เพราะควรรับโอนเมื่อสภาพบ้าน สมบูรณ์แล้วเท่านั้นและหากบ้านยังคงมีปัญหาจนถึงกำหนดวันโอนและ ผู้บริโภคเป็นผู้เลื่อนกำหนดการรับโอน ผู้บริโภคควรเข้าไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานด้วยเพื่อยืนยันว่า ต้องเลื่อนการรับโอนเพราะสภาพบ้านยังมีปัญหาอยู่จริง         5.หากผู้ซื้อมีทุนทรัพย์เพียงพอ ควรจ้างบริษัทรับตรวจบ้านเข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย         6.ทุกครั้งที่มีการแจ้งซ่อม การสื่อสาร ร้องเรียนถึงบริษัท ต้องมีการเก็บเป็นเอกสารหลักฐานถ่ายภาพก่อนซ่อม ระหว่างซ่อม และหลังซ่อมโดยละเอียด ลงบันทึกประจำวันไว้ให้ชัดเจน ทุกครั้งจึงดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ถังก๊าซสนิมขึ้นเกรอะ เปลี่ยนกี่รอบ กี่รอบก็ให้แบบเดิม

       ถังก๊าซหุงต้มที่เราใช้อยู่ในครัวเรือนอยู่ทุกวันนี้ หากเห็นว่าถังมีสภาพเสื่อมโทรมชำรุด ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าทุกครั้งที่ใช้งานว่ามันจะมีความปลอดภัยไหม เราก็จะต้องรีบใช้สิทธิผู้บริโภคขอเปลี่ยนถัง อย่าปล่อยให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบ        คุณพีพี อาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ปกติใช้บริการร้านก๊าซหุงต้มที่เป็นร้านประจำอยู่ร้านเดียวคือ ร้าน xxx ซึ่งอยู่ในซอยเดียวกันกับบ้านของคุณพีพี ครั้งนี้เมื่อก๊าซหมด คุณพีพีได้ไปติดต่อใช้บริการ แต่เมื่อพนักงานนำถังก๊าซมาส่งที่บ้าน เขาพบว่าได้ถังแก๊สเก่ามาก เก่าขนาดว่ามองไม่เห็นรายละเอียดความปลอดภัยของถังก๊าซที่สำคัญเลยทั้ง ชื่อบริษัทผู้ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิตถังและหมดอายุ คุณพีพีจึงขอให้ทางร้านเปลี่ยนถังใหม่ให้ แต่ทางร้านก็ยังส่งถังก๊าซในสภาพ “อันตราย” กลับมาให้อีก และอีกสองสามครั้งเมื่อเรียกใช้บริการร้านก๊าซ เขาก็ได้รับถังที่ในสภาพทรุดโทรมทุกครั้ง คุณพีพีเกรงว่าปล่อยไว้แบบนี้ชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สินอาจจะไม่ปลอดภัย จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอคำแนะนำว่าตนเองจะได้ก๊าซหุงต้มที่มีสภาพถังปลอดภัยได้อย่างไร        แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.เมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วได้ติดต่อประสานแจ้งไปยังกรมธุรกิจพลังงาน ให้เข้าตรวจสอบในร้านดังกล่าวและอยู่ในระหว่างดำเนินการตรวจสอบ        2.มูลนิธิได้เข้าไปสังเกตการณ์หน้าเพจของร้านดังกล่าว ร้านได้ประกาศข้อความว่า “ถังแก๊ส เป็นสินค้าหมุนเวียน เมื่อแก๊สหมดหลังการใช้งาน (ต้องสลับถัง) กับลูกค้าท่านอื่นๆ เป็นไปไม่ได้ ที่ลูกค้าจะได้รับถังสภาพใหม่ทุกครั้งในการสั่งซื้อ ร้านขอสงวนสิทธิ์ เลือกถังแก๊สให้ลูกค้าเอง การเลือกถังแก๊สถือเป็นสิทธิ์ขาด” ซึ่งกรณีนี้ มูลนิธิมองว่า ถึงแม้ร้านจะเป็นผู้เลือกถังก๊าซ แต่ถังก๊าซก็จะต้องมีลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้            - ถังก๊าซ มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรับรองคุณภาพมีซีลปิดผนึกที่หัวถังในสภาพสมบูรณ์ พร้อมหมายเลขถังกำกับ และมีข้อความระบุชื่อบริษัท เดือน ปีที่ตรวจสอบถังครั้งสุดท้าย น้ำหนักถัง และน้ำหนักบรรจุอย่างชัดเจน รวมถึงตัวถังไม่มีรอยบุบ บวม หรือเป็นสนิท            - สายนำก๊าซ ต้องเป็นชนิดที่ใช้กับก๊าซหุงต้ม ไม่ทำจากยางหรือพลาสติก เพราะเมื่อถูกก๊าซหุงต้มจะละลายทำให้เกิดการรั่วไหลได้ ที่สำคัญต้องไม่หักงอง่าย ทนต่อแรงดันและการขูดขีด สามารถต่อกับลิ้นเปิด – ปิดได้สนิทและแน่นหนา            - เหล็กรัดสายยางส่งก๊าซ ต้องเลือกใช้ชนิดที่ไม่เป็นสนิม มีความแข็งแรงทนทาน และควรเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 2 ปี        3. ดังนั้นหากประชาชนได้รับบริการถังบรรจุก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อ 2 สามารถแจ้งร้องเรียน พร้อมหลักฐานประกอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงานในทุกๆ จังหวัด และ กองความปลอดภัยธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว กรมธุรกิจพลังงาน และ สำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงานในทุกๆ จังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ทำหน้ากระชับ แต่กลับได้หน้าเบี้ยว

        Ulthera (อัลเทอร่า) หรือ Ultherapy คือ เทคโนโลยียกกระชับแบบ Original มีหลักการทำงานโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง และมีความเฉพาะเจาะจง (Focused Ultrasound) ยิงลงไปใต้ชั้นผิวเพื่อให้ผิวเกิดการยกกระชับขึ้น         นี่คือคำโฆษณา ที่สถานเสริมความงาม คลินิกต่างๆ ให้คำจำกัดความนวัตกรรมอัลเทอร่าไว้ แต่เรื่องราวของคุณจอย ผู้ที่ได้รับบริการอัลเทอร่ากับคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะไม่ได้หน้ากระชับแต่กลับได้หน้าเบี้ยว เธอจึงเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         คุณจอยได้เข้ารับบริการกระชับหน้าด้วยการทำอัลเทอร่าที่ โนรา คลินิก (นามสมมุต) เมื่อปี 2565 แต่ใบหน้าที่ต้องการให้กระชับนั้น กลับกลายเป็นว่าทำให้มีปัญหาหน้าเบี้ยวหลังการทำอัลเทอร่า คุณจอยจึงกลับมาหาแพทย์ที่คลินิกอีกครั้งเพื่อให้ช่วยรักษาอาการผิดปกติ แต่แพทย์ของทางคลินิกปฏิเสธการรักษาเพื่อแก้ไขอาการเพียงแนะนำให้คุณจอยไปซื้อยารักษาอาการเอาเอง โดยคลินิกจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ คุณจอยจึงต้องไปหาแพทย์เพื่อรักษาอาการผิดปกติที่โรงพยาบาลอื่น         ระหว่างการรักษาอาการหน้าเบี้ยวคุณจอยจึงได้รู้เพิ่มเติมว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญอัลเทอร่า ( Ulthera ) โดยเฉพาะเป็นเพียงแพทย์ผิวหนังทั่วไปเท่านั้น จึงได้รับการบริการและการดูแลที่ไม่ดีและยังต้องหาทางรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง คุณจอยเสียเงินรักษาอาการไปแล้วกว่า 32,500 บาท (ก่อนร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ) แต่ทางคลินิกจ่ายเพียงแค่ 7,664 บาท ยังคงเหลือจำนวนที่ทางคลินิกต้องชดใช้คืนให้แก่คุณจอยอีกจำนวน 24,836 บาท ซึ่งคุณจอยยังไม่ได้รับเงินคืนจากคลินิกอีกเลย ทั้งที่คลินิกแจ้งว่าจะรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมดแต่แรก จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ

อ่านเพิ่มเติม >