ฉบับที่ 268 ท่อน้ำในหมู่บ้านจัดสรรแตก หลังเข้าอยู่เพียง 2 ปี

        หลายปัญหาในหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้น ภายหลังลูกบ้านเข้าไปอยู่อาศัย เช่น เรื่องราวของคุณดิว ที่ซื้อบ้านในหมู่บ้านจัดสรรที่ประกาศว่ารับประกันโครงสร้างถึง 5 ปี แต่เมื่อเข้าอยู่เพียง 2 ปี ปัญหาก็เริ่มเกิด เมื่อในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เกิดเหตุเกิดท่อน้ำที่โครงการฯ ได้ออกแบบไว้ใต้บ้านแตกแบบที่คุณดิวไม่อาจรู้ตัวได้เลย เพราะน้ำในบ้านยังใช้งานได้ตามปกติ และไม่มีน้ำไหลเอ่อ รบกวนเพื่อนบ้านเลยสักนิด            คุณดิวมารู้ตัวต่อเมื่อสิ้นเดือนถูกเรียกเก็บค่าน้ำสูงมาก 18,600 กว่าบาท คุณดิวจึงรู้ได้ว่าต้องมีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่ๆ  จึงไปติดต่อที่สำนักงานการประปาเพื่อให้ตรวจสอบและพบว่ามิเตอร์น้ำไม่ได้เสียแต่เป็นปัญหาที่ท่อน้ำใต้บ้าน   คุณดิวจึงไปกลับมาติดต่อที่นิติบุคคลของหมู่บ้านแต่แล้วนิติบุคคลกลับไม่รับเรื่องรับผิดชอบเรื่องใดๆ คุณดิวจึงเข้าไปเขียนคำร้องที่สำนักงานใหญ่ของโครงการหมู่บ้านจัดสรร เพื่อให้รับผิดชอบทั้งค่าเดินลอยทอน้ำใหม่ และค่าน้ำที่ถูกเรียกเก็บ         การติดต่อไปที่สำนักงานใหญ่ คุณดิวคาดว่าจะได้รับความช่วยเหลือ แต่กลับได้รับแต่ความเงียบเฉย คุณดิวร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ จึงออกจดหมายไปถึงบริษัทที่สำนักงานใหญ่ หลังจากนั้นคุณดิวจึงเริ่มได้รับการติดต่อจาก สำนักงานใหญ่ว่าจะรับผิดชอบค่าน้ำที่ถูกเรียกเก็บจำนวน 50 % ซึ่งคุณดิวไม่รับข้อเสนอเพราะยังน้อยกว่าค่าน้ำที่เขาจ่ายจากเหตุที่เสียหายอยู่มาก อีกทั้งตลอดหลายเดือนที่ติดตามทวงถามความรับผิดชอบ เขาได้หยุดงานเพื่อดำเนินเรื่องต่างๆ ยาวนานเป็นความเสียหายหรือภาระเพิ่มเติมอีกด้วย    แนวทางการแก้ไขปัญหา                 ·     คุณดิวฝากบอกว่า หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วและพยายามร้องขอความรับผิดชอบและถูกปฏิเสธหมดทุกช่องทางก็อย่าหมดความหวัง ให้พยายามหาข้อมูลต่อไปว่ามีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้บ้าง  กรณีการร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คุณดิวได้ร้องเรียนผ่านมาทางเฟสบุ๊คเพจ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ตอบกลับรวดเร็ว คุณดิวจึงกลับมามีความหวัง                ·     เมื่อเกิดปัญหาแล้ว รวบรวมเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ให้มากที่สุด อย่างรัดกุม กรณีของคุณดิวได้เก็บบิลค่าน้ำในเดือนก่อนๆ เอกสารที่ได้เข้าไปเขียนคำร้องต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน รูปถ่ายจุดท่อน้ำแตกไว้อย่างครบถ้วน          ในช่วงต้นเดือนเมษายน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างคุณดิวและบริษัทเจ้าของโครงการฯ และมีข้อสรุปให้ บริษัทฯ รับผิดชอบค่าเดินลอยท่อน้ำใหม่ และค่าน้ำ จำนวน 70% บริษัทจ่ายเงิน 13,000 บาท คืนให้คุณดิวเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 พ่อเลี้ยงเดี่ยว ไม่ได้จดรับรองบุตร อาจไม่ได้เงินค่าสินไหม

        คุณพ่อหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะเป็นสิทธิ์ของแม่ตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนพ่อต้อง “จดทะเบียนรับรองบุตร” ถึงจะมีสิทธิ์ในตัวลูก ซึ่งคุณชัยก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่เลิกกับเมียนานแล้ว และเลี้ยงลูกเองมาโดยไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรตั้งแต่แรก ซึ่งเขาไม่คาดคิดว่าเรื่องนี้จะทำให้มีปัญหาทางข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยุ่งยากตามมาในภายหลัง         เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อลูกชายวัย 14 ปีของเขาประสบอุบัติเหตุ จากการนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อนแล้วรถเกิดเสียหลักวิ่งแหกโค้งกระแทกพื้นถนน ลูกชายเขาถูกนำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล หมอเอกซ์เรย์ พบกะโหลกแตก มีเลือดคั่งในสมอง ต้องผ่าตัดด่วน รักษาตัวได้เพียง 5 วัน จึงเสียชีวิต         ขณะที่หัวอกคนเป็นพ่อที่ต้องสูญเสียลูกไปกะทันหันนั้นกำลังเศร้า เขากลับต้องมาเครียดซ้ำอีก เมื่อไปยื่นเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งระบุไว้ว่า ถ้าเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้ 500,000 บาท เพื่อหวังนำมาเป็นค่าปลงศพลูกชาย แต่กลับพบว่าตนไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนนี้ ซึ่งคนที่จะมีสิทธิ์นี้ได้ก็คือแม่ของลูก โดยทางตำรวจได้ออกหมายเรียกตัวแม่ของลูกไปแล้ว แต่ก็ยังติดต่อไม่ได้ คุณชัยจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาควรทำอย่างไรจึงจะมีสิทธิ์รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เมื่อผู้ร้อง(พ่อ)มีบุตรแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยาและไม่ได้จดรับรองบุตรที่เกิดมา ผู้ร้องจึงเป็นเหมือนบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวข้องกับบุตร ไม่สามารถรับค่าสินไหมตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ จำนวน  500,000 บาทได้ แต่แม่ของลูกยังมีสิทธิ์ได้รับเงินตามกฎหมาย จึงตามแม่ให้มารับเงินดังกล่าวได้         2. หากติดต่อแม่ของลูกไม่ได้ สิทธิ์นี้ก็ต้องตกกับทายาทโดยธรรมในลำดับถัดไป คือผู้ที่มีสายสัมพันธ์ทางสายโลหิต ได้แก่ 2.1 ผู้สืบสันดาน 2.2 บิดามารดา 2.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2.4 พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 2.5 ปู่ย่าตายาย 2.6 ลุงป้าน้าอา ถ้ายังมีอยู่ก็เรียกมารับค่าสินไหมตรงนี้ได้         3. แต่ถ้าไม่มี ผู้ร้องอาจจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอรับรองบุตรและให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องเป็นบิดาของบุตร ซึ่งผู้ร้องจะต้องหาเหตุผลรวมทั้งพยานหลักฐานเข้ามาประกอบให้ศาลเห็นว่า ผู้ร้องเป็นบิดาที่แท้จริง เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องจึงจะมีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ          ในกรณีนี้ หลังจากได้รับคำแนะนำไป คุณชัยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และศาลมีคำพิพากษาว่า “ให้พ่อเป็นผู้ปกครองเด็กอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” แล้ว เขากำลังเร่งขอคัดคำพิพากษาเพื่อนำไปยื่นต่อ “บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด” ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา เพื่อขอรับเงินค่าสินไหมในส่วนที่ได้ครึ่งหนึ่งคือ 250,000 บาท ส่วนแม่ของลูกยังติดต่อไม่ได้ ซึ่งหากเจอตัวแล้วแม่ทำหนังสือสละสิทธิ์เงินที่เหลืออีก 250,000 บาท คุณชัยก็จะได้เงินนี้ไปด้วย แต่ถ้ายังหาตัวแม่ไม่เจอ เงินส่วนนี้ก็จะเข้ากองทุนผู้ประสบภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ประกาศเลิกวิ่งเทรลกะทันหันแค่ 1 วัน ทำอะไรได้บ้าง

        คุณตุ๊กตาและครอบครัวหลงใหลการวิ่งมาราธอนมาก โดยเฉพาะวิ่งเทรล (Trail Running) หรือการวิ่งในรูปแบบของการผจญภัยตามบริเวณพื้นที่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่า ภูเขา ทุ่งหญ้ากว้าง แล้วแต่ภูมิประเทศของสถานที่จัดงาน เมื่อได้ทราบข่าวการวิ่งเทรลที่เกาะช้าง โดยบริษัทจัดงานที่มีชื่อเสียง คุณตุ๊กตาจึงสมัครทันทีไม่รีรอ และแน่นอนว่าไม่พลาดที่จะบริหารจัดการเรื่องตั๋วเรื่องที่พักบนเกาะช้างอย่างว่องไว พร้อมกับคาดหวังถึงความสุข สนุกสนานของงานวิ่งครั้งนี้         “เราสมัครวิ่งตั้งแต่เมษายน 2565 ล่วงหน้าเป็นปีเลยนะ เสียค่าสมัคร 2,400 บาท เป็นการวิ่งระยะทาง 40 กิโลเมตร แล้วยังจ่ายเงินค่าโรงแรมไปอีก 4,000 บาท มีค่าเดินทางด้วยแล้วนี่ก็เตรียมพร้อมล่วงหน้าไปถึงก่อน เข้าพักแล้วด้วย อ้าวเฮ้ย...บริษัทผู้จัดงานประกาศยกเลิกผ่านเฟซบุ๊กก่อนจะวิ่งแค่ 1 วัน เงิบเลยค่ะ”         คุณตุ๊กตาเล่าว่าในเพจของผู้จัดงานแจ้งเหตุผลว่า งานล่มเพราะทางอุทยานแห่งชาติหมูเกาะช้างและเทศบาลตำบลเกาะช้าง ไม่อนุญาต “แบบนี้ก็แสดงว่าทางผู้จัดการไม่ได้ทำเรื่องยื่นขออนุญาตใช่ไหม บริษัทนี้ใหญ่มากนะทำไมทำงานพลาดเรื่องง่ายๆ แค่นี้” และถึงทางบริษัทจะประกาศคืนเงินที่ทางบริษัทเรียกว่า ชดเชยสิทธิประโยชน์  แต่ต้องรอนานพอสมควรคือจ่ายคืนเป็นรอบไม่ใช่ทันที ตอนนี้ใกล้ถึงรอบที่เราต้องได้รับการชดเชยค่าสมัครแล้วยังไม่มีการติดต่อมาเลยดิฉันจะทำอย่างไรได้บ้างคะ เป็นคำถามเพื่อขอรับคำแนะนำจากทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         งานวิ่งเทรลนี้เป็นงานใหญ่มีผู้สมัครเข้าร่วมมากกว่า 2000 ราย เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ตรวจสอบจากข้อความหน้าเพจของทางผู้จัด เมื่อ 18 เมษายน 2566 ปรากฎข้อความแจ้งคืนเงินให้ผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่องขอรับการชดเชย ซึ่งยังปรากฎว่ามีผู้เสียหายหลายคนยังไม่ได้รับการคืนเงิน สำหรับคุณตุ๊กตานั้น ทางศูนย์ฯ ได้ช่วยทำหนังสือแจ้งบริษัทให้เร่งชดเชยเงินต่อผู้ร้องตามกำหนด แต่ขณะที่เขียนบทความนี้คุณตุ๊กตายังไม่ได้เงินคืนตามรอบที่กำหนดไว้ คือ 24 พฤษภาคม และสำคัญสุดคือ บริษัทประกาศชดเชยเฉพาะค่าสมัครวิ่ง ไม่รวมกับค่าเสียหายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก         กรณีคุณตุ๊กตา เป็นเพียงผู้ร้องรายเดียวที่ติดต่อมาที่ มพบ. ดังนั้นเพื่อให้เกิดการชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อคนในวงกว้าง มุลนิธิฯ จึงประกาศแจ้งให้ผู้เสียหายจากงานวิ่งเทรลเกาะช้างเร่งส่งหลักฐานมาที่ www.ffcthailand.org/complaint  เพื่อนำสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้จัดงานเพื่อให้คืนเงินอย่างเร่งด่วน และหากเจรจาไม่เป็นผลอาจเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ไปต่างประเทศ 10 วันฝากเลี้ยงนก แต่นกตาย

        หัวอกคนเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะแมว สุนัข กระต่ายหรือนก สัตว์เหล่านี้ยิ่งเราเอ็นดูมันมากก็ห่วงมันมากหากต้องมีธุระต้องเดินทางห่างจากสัตว์เลี้ยงหลายวัน มันจะอยู่จะกินอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่คนเลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องรวมเข้าไปในคู่มือการเลี้ยงด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีสถานให้บริการรับดูแลสัตว์เลี้ยงเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคมากมาย ทั้งรับเลี้ยงดูแลแบบค้างคืน ดูแลตามบ้าน แต่สถานบริการที่เปิดหลายแห่งเหล่านี้บางแห่งอาจไม่ใช่มืออาชีพ บริการไม่ดีจนทำให้ผู้เลี้ยงต้องเสียใจก็มีอยู่ จึงต้องเลือกให้ดีๆ          คุณขวัญใจ ผู้เสียหายที่ได้มาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เล่าว่า เธอได้ใช้บริการสถานรับดูแลสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่งและได้ฝากเลี้ยงนกแก้ว 8 ตัว เป็นเวลา 10 วัน เพราะเธอต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทว่าต่อมาพบว่าระหว่างอยู่ในบริการของสถานรับเลี้ยงดังกล่าวนี้ นกของเธอได้ตายไป 1 ตัว         คุณขวัญใจรักนกแก้วเหมือนลูก  นกแก้วของคุณขวัญใจเป็นสายพันธุ์  “ไวท์ บิลลี่ ไคท์”  ( White bellied caique ) ตัวเล็กน่ารัก สีสันสวยงาม สามารถพูดและเลียนแบบเสียงคนได้ นิสัยร่าเริง ฉลาด เรียนรู้ไว ต้องนำเข้าจากต่างประเทศราคาตัวละประมาณ 35,000 บาท  คุณขวัญใจฝากเลี้ยงเป็นเวลา 10 วัน รวมราคารับฝากเลี้ยง 7,200 บาท  โดยแยกเลี้ยงกรงละ 2 ตัว         วันแรกที่เข้าใช้บริการคือวันที่ 10 เมษายน ทางร้านยังแจ้งทางไลน์ให้คุณขวัญใจทราบว่าการเลี้ยงดู เรียบร้อยดี เป็นไปตามขั้นตอน แต่นกตัวโต ชอบรังแกนกตัวเล็กแบบรุนแรง  เมื่อคุณขวัญใจให้ทางร้านถ่ายคลิปให้ดูทางร้านกลับเฉยไม่ปฏิบัติตามคำขอ ต่อมาวันที่ 15 เมษายน ทางร้านได้แจ้งว่า อากาศร้อนจนทำให้นกหอบคุณขวัญใจจึงขอให้ทางร้านเปิดแอร์ให้นกตลอดเวลา แล้วจะเพิ่มเงินให้ ... แต่ต่อมาอีกเพียง 3-4 ชั่วโมง  ทางร้านแจ้งว่านกตีกันตายแล้ว 1 ตัว   คราวนี้มีส่งคลิปให้ดู         เมื่อได้ดูคลิปเห็นอาการคุณขวัญใจจึงทราบทันทีว่า ทางร้านไม่ช่วยเหลือนกออกจากกรงและช่วยนำตัวที่บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งทางร้านอ้างว่า ต้องดูแลนกอีกจำนวนมากแล้วไม่รู้จักหมอที่รักษานกเป็นการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อกลับมาจากต่างประเทศ คุณขวัญใจได้ถามหาความรับผิดชอบจากร้าน  แต่ทางร้านให้คำตอบว่า “ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องรับผิดชอบ “  !!! คุณขวัญใจโมโหมาก นกตายก็เสียใจมากแล้ว เจอทางร้านปัดความรับผิดชอบอีก จึงขอคำปรึกษามา แนวทางการแก้ไขปัญหา                เบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะให้แจ้งความที่สถานีตำรวจไว้เพื่อลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน ต่อมาเมื่อมูลนิธิฯ ได้ทำจดหมายไปถึงร้านเพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ย เบื้องต้นการเจรจาไม่บังเกิดผล ดังนั้นคุณขวัญใจจึงได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว  โดยทางศูนย์ฯ จะให้ความช่วยเหลือเรื่องข้อกฎหมายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 จองรถทัวร์แต่ขึ้นไม่ได้ เพราะรถออกก่อนกำหนดเวลา

        จู่ๆ ถูกเท มันก็จะเคว้งคว้างหน่อยๆ นี่คือเรื่องราวของ “คุณเมฆ”ที่จองตั๋วรถทัวร์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งพอถึงเวลากลับไม่เจอรถที่จุดจอดตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเพราะ “รถทัวร์ออกไปก่อนเวลา” เสียแล้ว ทำให้คุณเมฆต้องรีบซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับ เพราะต้องมาทำงานให้ทัน รวมมูลค่าความเสียหายที่ซื้อตั๋วรถทัวร์แต่ไม่ได้รับบริการและซื้อตั๋วเครื่องบินเกือบ  5,500 บาท         ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา “คุณเมฆ” เดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต  ขากลับวันที่ 16 เมษายน  2566 ได้จองตั๋วรถทัวร์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ เป็นรถทัวร์ Premium first class VIP24  ตั๋วราคา 1,192 บาท  นัดหมายขึ้นรถเวลา 18.10 น. ตามที่พนักงานของบริษัทรถทัวร์โทรศัพท์มาแจ้งล่วงหน้า   “คุณเมฆ” ไปถึงสถานีขนส่งก่อนเวลารถออกด้วยซ้ำเผื่อไว้เพราะไม่ชำนาญทาง แต่กลับไม่พบรถทัวร์คันที่ตนเองจองไว้  สอบถามรถทัวร์คันอื่นๆ รวมถึงผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น  บอกตรงกันว่ารถคันที่ผู้เสียหายจองไว้  ขับออกไปแล้ว คุณเมฆงงใจมาก ฉันมาก่อนเวลาด้วยซ้ำทำไมออกไปก่อน ทำไมไม่รอ นี่ทิ้งฉันใช่ไหม เรียกว่าสารพัดคำถามผุดขึ้นมาในหัวอยู่ตลอดเวลา         คุณเมฆพยายามติดต่อหาบริษัทขนส่งรายนี้ทุกช่องทางเพื่อแก้ปัญหา ทว่าติดต่อไม่ได้เลย  เมื่อล่วงเลยมา 1 ทุ่มเศษ  ตั๋วรถทัวร์บริษัทอื่นๆ ก็ไม่มีขายแล้ว  คุณเมฆจึงจำต้องซื้อตั๋วเครื่องบิน ราคา 4,250 บาท และขึ้นเครื่องเวลา 21.20 น. เพื่อให้ทันกลับมาทำงานที่กรุงเทพในวันรุ่งขึ้น “ผมทำอะไรได้บ้าง” คือคำขอที่ส่งให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “เอาเปรียบกันเกินไป ผมต้องการค่ารถทัวร์คืนและชดเชยค่าเครื่องบินให้ผมด้วย”  แนวทางการแก้ไขปัญหา                เบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำ ดังนี้  (1) ทำหนังสืออย่างเป็นทางการ  ส่งถึงบริษัททัวร์เพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด (2) รวบรวมหลักฐานนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการทางคดีร้องเรียนเรื่องรถโดยสารสาธารณะกับกรมการขนส่งทางบก ขณะเดียวกันทางมูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัททัวร์ให้เร่งดำเนินการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภค  โดยขอรับทราบผลดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษรและได้ทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลบริการขนส่งสาธารณะเพื่อหาข้อตกลงในการเยียวยาผู้บริโภคต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เจอแมลงสาบในอาหารของห้างดัง

        ในโลกออนไลน์มีข่าวการพบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เนื่องจากสิ่งแปลกปลอมนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเราได้ ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ เองก็ได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง แต่ละกรณีชวนให้คิดว่าทำไมกระบวนการผลิตจึงมีปัญหา เพราะขาดการควบคุมเรื่องสุขอนามัยหรือขาดความรอบคอบใช่หรือไม่         เหมือนกับผู้ร้องรายนี้ คุณน้ำตาล เธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เธอได้เข้าไปรับประทานอาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยเธอก็เลือกที่จะกินอาหารตามสั่งในโซนศูนย์อาหารของห้าง ขณะกำลังกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อยจนใกล้จะหมดจานแล้ว ก็พบว่า... มันมีอะไรแปลกๆ นะที่อยู่ในจานนั้น เมื่อลองเขี่ยดูก็พบว่า มันคือน้องปีเตอร์ (แมลงสาบนั้นเอง) เธอตกใจมาก พะอืดพะอมขึ้นมาทันที ทำไมอาหารที่กินถึงมีแมลงสาบได้และก็กินอาหารไปแล้วเกือบจะหมดจาน เลิกกินสิคะ แล้วนำจานไปบอกที่ร้านทันที พร้อมกับแจ้งพนักงานของทางห้างด้วย ทางร้านค้าก็ได้มีการขอโทษขอโพยกับเธอและพร้อมจะจ่ายค่าอาหารคืนให้        แต่...เธอนั้นอยากให้ทางร้านมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ จึงได้มีการปฏิเสธทางร้าน โดยจะไม่รับเงิน และแจ้งกับทางพนักงานของห้างว่า “เธอจะไปตรวจสุขภาพและทางร้านต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย”  ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องเธอไว้และแจ้งว่าจะติดต่อกลับในภายหลัง แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้นเธอก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย จึงได้มาร้องเรียนเพื่อให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องจึงติดต่อไปหาผู้ร้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ทันทีเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและขอเอกสารเพิ่มเติม พร้อมกับแนะนำให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน และวันถัดไปทางมูลนิธิฯ ทำหนังสือถึงบริษัทฯพร้อมสำเนาหนังสือไปยังสาขาที่เกิดเหตุเพื่อขอให้ดำเนินแก้ไขปัญหาต่อมาจึงได้ประสานติดต่อพนักงานของห้าง ทราบว่า ทางบริษัทฯ  ได้ดำเนินการเยียวยาค่าเสียหายกับผู้ร้องไปแล้ว โดยมีค่าชดเชยเยียวยา ได้แก่ ค่าตรวจสุขภาพ  ค่าอาหาร ค่าเสียเวลา  ค่ายาที่ผู้ร้องซื้อจากร้านยารวมทั้งสิ้น 7,020 บาท ซึ่งทางผู้ร้องก็ได้ตกลงรับเงินเยียวยาต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่าจบไปได้ด้วยดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ระวัง “ไลฟ์ tiktok หลอกกินเงิน”

        แอพ tiktok นั้นฮิตติดลมบน มีคอนเทนต์น่าสนใจมากมาย แน่นอนคอนเทนต์ขายของก็มาด้วย เจอที่ดีก็ดีไป เจอแย่ๆ จะเสียใจเจ็บใจอย่างเช่นผู้ร้องรายนี้ ดังนั้นก่อนจะหลงคารมผู้ขาย ท่องไว้อย่ามือไวโอนเร็ว         “สวัสดี ทุกคน ผมบอสหนึ่งเรากำลังตามหาผู้โชคดีได้สิทธิ์ซื้อ iPHONE มือ 1 รุ่นล่าสุด ราคาถูกสุดๆ 499 บาท ถ้าคุณอยากได้ของดี ของถูกต้อง @ LINE มาหาเรา แจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์ แล้วเราจะสุ่มเลือกผู้โชคดี”         ยังไม่สิ้นเสียงบอสหนึ่ง คุณสมชายผู้เสียหายของเรา LINE ไปทันที “บอสหนึ่งแจ้งรับโปร 499 จากนั้นแป๊บเดียวมีเสียงไลน์แจ้งเตือนเข้ามา แอดมินแจ้งว่า “คุณ (คุณสมชาย) เป็นผู้โชคดีได้ iPhone 13 Pro มือ 1 มูลค่าเกือบ 4 หมื่นบาท แต่คุณจ่ายเงินแค่ 499 บาท ก็รับของได้เลย”         คุณสมชายรู้สึกดีใจมากๆ “โหย โคตรโชคดี” (เขาคิดในใจ) ที่ตนเองเป็นผู้โชคดี ดังนั้นจึงส่งข้อความ “แอดมินส่งบัญชีรับโอนมาเลยครับ” ก็คนมันดีใจมากไม่ทันคิดอะไร จ่ายแค่เงินไป 499 บาท ได้ iPhone 4 หมื่นเลยนะ ทว่าทันทีที่ส่งสลิปโอนเงินเข้าไลน์ไป อีกฝั่งก็บล็อกไลน์คุณสมชายทันควัน ติดต่อไม่ได้อีกเลย         แน่ใจแล้วว่าตนเองโดนหลอกแน่ๆ หลังจากหลงกลจากคำเชิญชวนใน วันเกิดเหตุ 1 มีนาคม 2566  ไลฟ์ tiktok บัญชีที่ชื่อว่า steamedboss (บอสหนึ่ง) ไม่คิดเลยว่าจะถูกโกงไม่รู้จะเอาเงินคืนอย่างไร จึงอยากมาขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝากเตือนใจกันไว้ อย่าโอนไว กรณีนี้ “เป็นการสุ่มรับโทรศัพท์หลอกว่าจะได้โทรศัพท์...สุดท้ายไม่ได้รับอะไรเลย พฤติการณ์แบบนี้เจตนาโกงชัดเจน เพราะบล็อกทุกช่องทางการติดต่อเข้าข่ายฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นผู้เสียหายต้องรีบไปแจ้งความกับตำรวจ โดยต้องบอกถึงพฤติการณ์ที่บ่ายเบี่ยงของผู้ขาย ซึ่งน่าจะเป็นแก๊งมิจฉาชีพ การร้องทุกข์นี้ต้องดำเนินการภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นคดีอาญาจะขาดอายุความไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 สั่งของได้ไม่ตรงปก “ซื้อไอแพด แต่ได้ถ้วยกระเบื้องแทน”

        การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วได้สินค้าไม่ตรงปก ปัจจุบันมีผู้บริโภคหลายคนคงจะเจอปัญหาเหล่านี้กันเยอะ  อาชญากรรมทางออนไลน์ ระหว่างเดือน มีนาคม  2565 – กุมภาพันธ์ 2566 มีสถิติการแจ้งความถึง  192,031 คดี และเสียหายสูงสุด 100 ล้านบาท และกลโกงอาชกรรมที่ติดอันดับแรกๆ คือ การลวงหลอกให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์         เรื่องราวของผู้ร้องรายนี้ ก็เช่นกัน เกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก คุณน้ำตาลเธอได้เล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณน้ำตาลได้สนใจที่จะซื้อ “ไอแพดมือสอง” เพื่อที่จะเอามาไว้ใช้งาน จึงได้ลองเข้าไปค้นหาดูในเฟซบุ๊ก ซึ่งมักจะมีหลากหลายรุ่นให้เธอได้เลือกซื้อได้ พอเลือกไป เลือกมา คุณน้ำตาลก็เกิดสนใจในรุ่นไอแพด เจน 9 มือสอง ในราคา 3,600 บาท เธอเลยตกลงซื้อทันทีและเลือกแบบเก็บเงินปลายทางเอา         จากนั้นเธอก็รอวันที่สินค้ามาถึง  ผ่านไปไม่กี่วันสินค้าที่เธอสั่งก็มาถึงที่หมายและได้จ่ายเงินเรียบร้อย พร้อมเปิดพัสดุในกล่องทันที แต่...ก็ต้องตกใจอีกของที่ได้กับไม่ตรงกับที่สั่งเลยสักนิดเดียว เป็นเพียงถ้วยกระเบื้องจำนวน 4 ใบ แพ็คมาในกล่อง ยังไม่พอแถมถ้วยกระเบื้องที่ส่งมายังแตกไปอีก 2 ใบ อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลยังใจดีสู้เสือ ลองติดต่อไปตามที่อยู่ข้างกล่องเพื่อจะได้เจรจากับผู้ขายได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถติดต่อได้ ทีนี้ล่ะเธอโดนหลอกแน่แท้แล้วสิ จึงได้ติดต่อมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอแนวทางในการแก้ปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคำแนะนำตามนี้         1. ซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วชำรุดบกพร่องหรือได้ไม่ตรงปก ให้ทางผู้ร้องลองติดต่อกับผู้ขายให้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่ การขอเปลี่ยนสินค้าหรือการขอเงินคืน         2. ถ้าได้ดำเนินการตามข้อมูลข้างต้นแล้วพบว่า ไม่สามารถตกลงกันได้หรือติดต่อทางร้านค้าไม่ได้ ผู้ร้องต้องดำเนินการโดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปด้วย เช่น            2.1 ใบสั่งซื้อสินค้า            2.2. ข้อมูลร้านค้า ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า            2.3 ถ่ายรูปร้านค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน            2.5 หลักฐานในการโอนเงิน สลิปโอนเงิน เลขที่บัญชีของใคร                 3. หากเป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร ผู้ร้องสามารถไปขอใบอายัดบัญชีที่มีรูปตราครุฑเพื่อไปอายัดบัญชีที่ธนาคารเพื่อไม่ให้คู่กรณีสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้         นอกจากนี้ ช่องทางหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถไปร้องเรียนได้โดยตรง มีดังนี้             ·     สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ สายด่วน 1212             ·     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599            ·     กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สายด่วน 1195         ทั้งนี้ ยังสามารถฟ้องร้องทางออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/citizen/ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หากจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีฯ ตามหมอสั่ง

        จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยว่าในปี 2565 มีการร้องเรียนจากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง กรณีถูกเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 32 เรื่อง เป็นจำนวนเงิน 1,724,703 บาท         คุณบัวก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องจ่ายค่ายานอกบัญชีฯ เองมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ เธอได้ส่งข้อความมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาว่า เมื่อเธอใช้สิทธิบัตรทองไปรับยารักษาโรค Anxiety Disorder ที่โรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่ง จำนวน 2 รายการ ยาที่เบิกได้ คือ SENOLAX TABLET 7.5 MG แต่ยา OLAPIN TABLET 5 MG ซึ่งหมอบอกว่าเป็นยาที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีฯ เธอจึงต้องจ่ายค่ายาเองในจำนวนเงินหลายพันบาท โดยแต่ละครั้งที่ทำการรักษาก็มีการขอใบส่งตัวจากต้นสังกัดทุกครั้ง ซึ่งคุณบัวจำเป็นต้องได้กินยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง เธอเริ่มกังวลว่าอาจจะแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ต่อไปไม่ไหว เธอจึงขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยสอบถามไปยังสปสช.ว่า ถ้าหากการรักษายังคงมีต่อเนื่องในระยะยาว จะของดเว้นการชำระค่ายาตัวนี้ได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขอย้ำว่าแม้จะเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าให้ใช้ยานี้ ผู้ประกันตนในหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) ไม่ต้องจ่ายเพิ่มแต่อย่างใด         ในการณีนี้ ทางมูลนิธิฯ โทร.ไปยัง 1330 และได้ความว่า คุณบัวไม่ต้องชำระเงินค่ายา เพราะมีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาชนิดนี้ และแจ้งว่าถ้าคุณบัวมีนัดครั้งต่อไป ถ้าทางโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ายาให้โทร.มาแจ้งที่ 1330 ทางสปสช.จะประสานกับทางโรงพยาบาลให้งดเว้นการจ่ายเงิน         ทางมูลนิธิฯ ยังส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลแห่งนี้และได้รับคำชี้งแจงในกรณีนี้กลับมาว่า         "เบื้องต้นทางโรงพยาบาลขอชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายยาของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมการจ่ายยาตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่คุ้มครองการจ่ายยานอกบัญชี ยกเว้นหากแพทย์มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี โดยพิจารณาแล้วว่าไม่มียาในบัญชียาหลักแห่งชาติทดแทนได้ จึงจะสามารถใช้สิทธิเบิกได้  ซึ่งในกรณีของผู้ร้องนั้น ทางแพทย์ผู้รักษาได้ชี้แจงว่าสามารถปรับเปลี่ยนชนิดยาเป็น  Antipsychotic drug ตัวอื่นตามบัญชียาหลักแห่งชาติได้ เพื่อที่จะได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย อนึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยไม่เคยแจ้งแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับปัญหาค่าใช้จ่าย แพทย์จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนยาให้ซึ่งหลังจากนี้หากปรับเปลี่ยนยาแล้ว แพทย์จะมีการติดตามอาการและผลการรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย "

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 จะไปซับพอร์ตนักร้องคนโปรด เจอผู้จัดโหดซะงั้น

        แฟนคลับนักร้องเกาหลีกลุ่มหนึ่งร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า คอนเสิร์ต Mark TUAN the other side Asia Tour 2023 ซึ่งจัดที่ กรุงเทพฯและขอนแก่น (มาร์ก ต้วน เป็นหนึ่งในสมาชิกก็อตเซเวน บอยแบนด์เกาหลีใต้) ที่พวกเขาได้จ่ายเงินจองตั๋วไปนั้น ผู้จัดงานประกาศเปลี่ยนผังเวทีกะทันหัน อ้าวเฮ้ย... ที่จองและจ่ายเงินกันแพงๆ ก็เพราะอยากจะอยู่ในโซนที่พร้อมฟินกับนักร้องนะเฮ้ย ทำกันแบบนี้ได้อย่างไรละเมิดสิทธิกันชัดๆ         น้องแพรวหนึ่งในกลุ่มคนที่เสียหายไม่พอใจการทำงานของผู้จัดคอนฯ มาก จึงรวมตัวนับร้อยคนมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้ข้อมูลว่า ตนเองและเพื่อนซื้อบัตรคอนฯ รอบการเปิดขายบัตรรอบปกติวันแรก 2 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เป็นบัตรราคา 6,500 บาท ซึ่งเป็นบัตรยืนและจะได้ใกล้ชิดศิลปินแบบติดขอบเวที แต่พอวันที่ 4 เมษายน บริษัทผู้จัดงานกลับประกาศเปลี่ยนผังเวทีใหม่ ซึ่งผังเวทีใหม่นี้ทำให้ผู้ซื้อบัตรราคา 6,500 บาท ถูกร่นมาอยู่ด้านข้างแต่ผู้ซื้อบัตรราคา 5,500 บาท กลายเป็นผู้ที่ได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ชิดกับศิลปินแทน (บัตรราคาข้างต้นเป็นรอบการแสดงที่จะจัดที่กรุงเทพฯ 5-7 พฤษภาคมนี้ เวลา 18.00 น. ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี)         ดังนั้นพวกเขาจึงมาขอคำปรึกษาและขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยเหลือ ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกไม่เป็นธรรมเพราะที่ตัดสินใจซื้อบัตรราคาแพง เพราะผังเวทีเป็นตัวจูงใจได้ใกล้ชิดศิลปิน แต่ผู้จัดเวทีกลับมาเปลี่ยนผังเวทีเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา กลายเป็นว่าคนที่ซื้อตั๋วราคาแพง “ได้เห็นแต่ก้นของศิลปิน” แต่คนซื้อตั๋วราคา 5,500 บาท กลับได้อยู่ได้อยู่หน้าเวทีแทน ทั้งที่การจะจัดคอนเสิร์ตในแต่ละครั้งต้องผ่านการพูดคุยกับศิลปินและทีมงานจากต่างประเทศจนเบ็ดเสร็จหมดแล้วจึงค่อยเปิดขายตั๋วแต่นี่กลับมาลักไก่ทำแบบนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         การซื้อตั๋วคอนเสิร์ตของศิลปินต่างชาติเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่พบว่า ผู้บริโภคโดนละเมิดสิทธิมากขึ้นโดยเฉพาะความไม่พอใจที่เกิดจากผู้จัดคอนเสิร์ตไม่สามารถทำตามสัญญาที่ระบุในการขายตั๋วได้ เมื่อรับเรื่องราวจากผู้บริโภคแฟนคลับนักร้องดังท่านนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงช่วยเหลือด้วยการช่วยเจรจากับผู้จัดคอนเสิร์ต Mark TUAN ( มาร์ก ต้วน ) ให้ผู้ซื้อบัตรที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่ สามารถแจ้งเรื่องเพื่อรับเงินคืนได้         โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับผู้เสียหาย โดยสอบถามถึงสาเหตุที่เปลี่ยนผังเวทีโดยไม่แจ้งลูกค้าล่วงหน้า ทางเจ้าหน้าที่ของ brite_panther ที่เป็นผู้จัดคอนเสิร์ตอ้างว่า การจัดผังเวทีใหม่เป็นความต้องการของ Mark TUAN ที่ต้องการให้ใกล้ชิดศิลปินมากยิ่งขึ้น ทั้งจากเวทีกรุงเทพฯ และขอนแก่น จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นข้อเสนอให้ผู้จัดฯ ควรออกประกาศคืนเงินให้กับผู้ซื้อตั๋วที่ไม่พอใจกับผังเวทีใหม่ซึ่งทางผู้จัดฯ รับปากดำเนินการ         ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2566 ผู้จัดฯ ได้ประกาศผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก Brite Panther โดยระบุข้อความว่า จากผลกระทบของการปรับผังเวทีต่อความรู้สึกของแฟนคลับที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพและบัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น วันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้ เวลา 18.00 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น (KICE HALL) ทางผู้จัดได้มีการเปิดให้ผู้ประสงค์จะขอคืนเงิน ผู้จัดจะเปิดระบบให้ลงทะเบียน ได้ที่ https://forms.gle/2EBm5cTUdGQBjgnN8 ตั้งแต่วันที่ 12-18 เมษายน 2566 เวลา10.00 น - 20.00 น. นอกจากนี้ หากมีความประสงค์จะอัพเกรดที่นั่งผู้จัดจะเปิดระบบให้ลงทะเบียน ได้ที่ https://forms.gle/SHnC1Q29msDCYsoB9 ตั้งแต่วันที่ 12-18 เมษายน 2566 เวลา10.00 น - 20.00 น. ทั้งนี้ผู้บริโภคต้องอ่านข้อมูลเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนทำรายการ         อย่างไรก็ตามผู้จัดฯ ระบุเงื่อนไขการคืนเงินต้องไปดำเนินการ ที่เซเว่น-อีเลฟเว่น เท่านั้น ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า ทำไมไม่ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีหรือพร้อมเพย์ของผู้ซื้อโดยตรง เพราะบางคนมีที่พักอยู่ไกล เช่น ในต่างจังหวัด ที่สำคัญการจัดทำผังเวทีหรือรูปแบบใดของการจัดคอนเสิร์ตต้องดำเนินการให้เบ็ดเสร็จและรอบคอบก่อนเปิดขายบัตรไม่ใช่มาเปลี่ยนรายละเอียดระหว่างทาง ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและที่สำคัญการแจ้งให้ผู้คืนบัตรคอนเสิร์ตต้องมาลงทะเบียนผ่านช่องออนไลน์ อาจรับรู้ไม่ครอบคลุมทุกคนเพราะผู้ซื้อบัตรที่เป็นผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊กและ ทวิตเตอร์มีน้อยมาก

อ่านเพิ่มเติม >