ฉบับที่ 166 อุทาหรณ์ ของ ลูกหนี้ ที่ทำสัญญา “ขายฝาก”

ธุรกิจรับจำนำ  ขายฝาก  เฟื่องฟูมากในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม เงินในกระเป๋าของผู้ปกครองคงชักหน้าไม่ถึงหลัง  ช่วงนี้โรงรับจำนำ  ร้านทอง  จึงเนื่องแน่นไปด้วยผู้คนที่นำทรัพย์สินมาจำนำเพื่อหาเงินไปต่อชีวิตตัวเอง   กรณีคุณรัชนี ก็เช่นกัน  แต่เธอไม่ได้พึ่งพาโรงรับจำนำ  กรณีของเธอคือ นำเครื่องไอโฟน 5  ไปทำสัญญาขายฝากกับร้านโทรศัพท์มือถือ  เพราะต้องการใช้เงินด่วนมากคุณรัชนีได้เงินมา 7,000 บาท    โดยตกลงกับร้านว่าครบกำหนดไถ่ถอน ในวันที่ 27 ตุลาคม 57 จะต้องนำเงินไปไถ่ถอนจำนวน 7,700  บาท  แต่ปรากฏว่าเธอไม่ได้ไปไถ่ถอนตามกำหนด      เพราะหาเงินไม่ทันและคิดว่าไม่เป็นไร เพราะร้านอื่นที่เคยทำสัญญาขายฝากไม่เคยมีปัญหาอะไร  ถ้าเลยกำหนดไปบ้าง  ในวันที่  28 ตุลาคม  จึงได้ติดต่อไปที่ร้านโทรศัพท์ ล่าช้าไปเพียง  1  วัน  เธอบอกว่าไม่สามารถติดต่อได้แล้วและหลังจากนั้นอีกวันเธอเดินทางไปที่ร้านโทรศัพท์  แต่เจ้าของร้านบอกว่าขายโทรศัพท์ไปแล้ว  แกรู้สึกเสียดายโทรศัพท์อยากได้คืน  จึงมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดีศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับฟังปัญหา  ได้ชี้แจงเบื้องต้นให้กับผู้ร้องฟังว่า การขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่ง   ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกเป็นของผู้ซื้อฝากทันที แต่มีข้อตกลงว่าผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์คืนได้ภายในเวลาที่กำหนด  โดยต้องชำระค่าไถ่ถอนตามที่ตกลงกัน เรียกว่า สินไถ่ สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์สินได้ทุกประเภททั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์โดยมีข้อตกลงว่า ให้ผู้ขายมีสิทธิมาไถ่ทรัพย์สินที่ขายคืนได้ภายในกำหนดระยะตามที่ตกลงกัน  ซึ่งสัญญาประเภทนี้ หากผู้ขายฝากทราบอยู่แล้วว่าจะไถ่ถอนไม่ทัน ผู้ขายฝากสามารถที่จะแจ้งต่อผู้ซื้อฝากก่อนครบกำหนดไถ่ถอนได้   แต่ต้องทำข้อตกลงการขยายระยะเวลาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน   แต่หากไม่ติดต่อและไม่ไถ่ถอนตามกำหนด  ร้านค้าจะยึดทันทีโดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด  ร้านค้าได้กำไรงาม จึงเห็นได้ว่าสัญญาขายฝากเป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้ขายฝากเป็นอย่างยิ่ง และยิ่งหากเผลอไผลไม่ไปไถ่ถอนในกำหนดเวลาก็จะต้องเสียกรรมสิทธิทันที   ต่างกับ “สัญญาจำนำ” ที่ผู้รับจำนำต้องมีแนวปฏิบัติก่อนยึดทรัพย์จำนำดังนี้ 1.ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ลูกหนี้จัดการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ (ถ้ามี) ภายในเวลาอันสมควรซึ่งได้กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าว 2. ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามหนังสือบอกกล่าว ผู้รับจำนำมีสิทธินำเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้ 3. ผู้รับจำนำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนำทราบถึงวันที่จะขายทอดตลาดและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด ข้อยกเว้น แต่ถ้าลูกหนี้ค้างชำระเกินกว่าเวลาที่กำหนด 1 เดือน และไม่สามารถจะบอกกล่าว ก่อนได้ผู้รับจำนำไม่ต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบก่อนแต่อย่างใด ผู้รับจำนำมีอำนาจนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดได้ทันที (ป.พ.พ. มาตรา 765)เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ แก่ผู้ที่จะนำทรัพย์สินไปขายฝาก   ต้องรู้ว่าหน้าที่ของตนเองต้องไปไถ่ถอนตามเวลา  เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ซื้อทรัพย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 หมอผ่าตัดผิดพลาด ต้องรับผิดชอบ !

คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างที่ผู้เขียนอยากจะเผยแพร่ เพื่อให้เห็นถึงการวินิจฉัยและการใช้กฎหมายที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคอย่างแท้จริง...เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 นางกรวรรณ ได้ไปโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ด้วยอาการปวดท้องมาหลายวัน แต่อาการไม่ดีขึ้น เบื้องต้นแพทย์เวรได้ตรวจโดยการเอ็กซ์เรย์ปอดและเจาะเลือดพร้อมสังเกตอาการไปด้วย  ต่อมา นายแพทย์ ก. แพทย์ประจำแผนกสูตินรีเวช ผู้ทำการรักษาได้ตรวจนางกรวรรณด้วยวิธีใช้มือกดที่บริเวณท้องและแจ้งว่าน่าจะเป็นเนื้องอกขนาดใหญ่มาก จึงรีบดำเนินการผ่าตัดโดยด่วนโดยไม่มีการตรวจอัลตราซาวน์ก่อน  ภายหลังการผ่าตัดโดยเปิดหน้าท้องปรากฏว่านางกรวรรณ ตั้งครรภ์ มิใช่ก้อนเนื้องอกตามที่ นายแพทย์ ก. คิดไว้ จึงได้เย็บแผลผ่าตัดให้ปิดดังเดิม หลังจากนั้นนายแพทย์ ข. ผู้ทำการร่วมตรวจได้ส่งตัวนางกรวรรณไปฝากครรภ์ต่อที่โรงพยาบาลภูมิพลต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 นางกรวรรณ ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 อีกครั้ง ด้วยภาวะวิกฤตเลือดออกมากทางช่องคลอดเนื่องจากรกเกาะต่ำและเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ประกอบกับนางกรวรรณป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง นายแพทย์ ข. ผู้ทำการรักษาและคณะได้ร่วมกันตรวจวินิจฉัยและตัดสินใจต้องผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัดพบว่าทารกในครรภ์ได้เสียชีวิตแล้ว ส่วนนางกรวรรณเสียเลือดมาก แต่คณะแพทย์ที่ทำการผ่าตัดได้ช่วยกันจนห้ามเลือดไว้และเฝ้าดูอาการจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2557 นางกรวรรณ ก็ถึงแก่ความตาย...คดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ โดยนายวิเชียร หนูมา สามีผู้ตาย ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับ นายแพทย์ ก. เป็นจำเลยที่ 1 และ นายแพทย์ ข. เป็นจำเลยที่ 2 และโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 เป็นจำเลยที่ 3  ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 3557/2555  ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ระหว่างพิจารณาคดี คู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบหักล้างกัน  ต่อมาศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดแล้วจึงมีคำพิพากษา ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ ศาลเห็นว่า นายแพทย์ ก. และ ข. ได้ทำการรักษานางกรวรรณอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า นายแพทย์ ก. และ ข. ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นางกรวรรณถึงแก่ความตาย ดังนั้นเมื่อ นายแพทย์ ก และ ข. ในฐานะ จำเลยที่ 1 ที่ 2  ไม่มีความผิด  โรงพยาบาลนวมินทร์  9 จำเลยที่ 3  จึงไม่มีความผิดด้วย จึงมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์  ประการแรกว่า นายแพทย์ ข. จำเลยที่ 2 ที่ผ่าตัดครั้งที่ 2  ต้องรับผิด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีพยานบุคคลนายแพทย์ผู้ร่วมทำการผ่าตัดมาเบิกความประกอบกันว่า นางกรวรรณ ผู้ตายได้เข้ามารักษาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ด้วยภาวะวิกฤตเลือดออกมากทางช่องคลอด นายแพทย์ ข. จึงต้องทำการผ่าตัดโดยด่วน ซึ่งการผ่าตัดต้องเสียเลือดมาก ผลการผ่าตัดพบว่าทารกเสียชีวิตแล้ว เมื่อล้วงคลอดรกพบว่ารกเกาะทะลุมดลูก จึงต้องตัดมดลูกที่ทะลุออก และยังพบว่ารกยังเกาะอยู่กับอวัยวะใกล้เคียงและเลือดออกมาก จึงให้ศัลยแพทย์เข้าร่วมผ่าตัดด้วย ทั้งที่กระเพาะปัสสาวะ ผนังอุ้งเชิงกราน เมื่อเลาะรกออกแล้วมีเลือดซึมออกไม่หยุด จึงห้ามเลือด เย็บบาดแผลปิดหน้าท้อง และเฝ้าดูอาการ  แต่ผู้ตายยังมีเลือดออกมาก แพทย์จึงให้เลือดและยาตามอาการ จนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 นางกรวรรณ ก็ถึงแก่ความตาย ดังนั้นการเสียชีวิตของผู้ตายจึงเป็นไปตามพยาธิสภาพ นายแพทย์ ข. ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจและรักษาแล้วประการที่สอง โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่า นายแพทย์ ก. จำเลยที่ 1 ที่ผ่าตัดครั้งแรก ต้องรับผิดด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ได้ว่า การผ่าตัดในครั้งที่ 2 โดยนายแพทย์ ข. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ด้วยอาการเลือดออกทางช่องคลอดของผู้ตายเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการกระทำของนายแพทย์ ก. ที่ผ่าตัดครั้งแรก แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า นายแพทย์ ก. จะมีส่วนประมาทในการตรวจรักษาผ่าตัดผู้ตายในครั้งแรก แต่ก็ยังฟังไม่ได้ว่า นายแพทย์ ก. กระทำโดยประมาทเป็นเหตุนางกรวรรณถึงแก่ความตาย เนื่องจากการผ่าตัดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 กับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 เนื่องจากเป็นเหตุการณ์คนละช่วงคนละตอนไม่เกี่ยวกันอย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภค การพิจารณาคดีต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 39 ที่บัญญัติว่า “ ...ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ก็ตาม…”และมาตรา 42  ที่บัญญัติว่า ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร...”ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว สรุปได้ว่า  แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความอ้างว่ามีแพทย์เวรเป็นคนตรวจเบื้องต้นตอนแรกก่อนจะมาถึงตน  แต่จำเลยที่ 1 ก็ทำเพียงแค่ซักถามประวัติผู้ตายเบื้องต้นว่าทำหมันมาแล้ว ทั้งที่ทราบดีว่าการทำหมันแล้วก็มีโอกาสหมันหลุดได้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้ตรวจผลเอ็กซ์เรย์เอง ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและยอมรับว่าแพทย์ทางรังสีวิทยาจะเป็นผู้อ่านผลเอง แต่เนื่องจากการเอ็กซ์เรย์ของผู้ตายทำในเวลากลางคืนและจะทราบผลการอ่านของแพทย์รังสีวิทยาตอนเช้าดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เพียงตรวจดูผลจากการวินิจฉัยของแพทย์เวรที่ตรวจเบื้องต้น และซักประวัติโดยไม่ตรวจให้แน่ชัดเสียก่อนว่าก้อนเนื้อที่พบนั้นจะเป็นทารกหรือไม่  อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังยอมรับว่าการตรวจการตั้งครรภ์สามารถทำด้วยวิธีง่ายๆ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำ กลับรีบผ่าตัดผู้ตายในคืนเดียวกับที่เข้ามาตรวจ  ซึ่งผลการผ่าตัดของจำเลยที่ 1 ไม่พบเนื้องอกที่รังไข่ แต่พบทารกที่มีอายุครรภ์ 16 – 18 สัปดาห์ มีอวัยวะครบ ซึ่งมีส่วนของกระดูกและหัวใจของทารกเต้นแล้ว  ซึ่งการวินิจฉัยที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 จึงมีผลทำให้ผู้ตายต้องนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ของจำเลยที่ 3 ดังนั้นความเสียหายแก่ร่างกายของผู้ตายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ซึ่งความเสียหายในส่วนนี้แม้โจทก์จะไม่ได้เรียกร้องมาในคำขอบังคับก็ตาม ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39ส่วนค่าเสียหายนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า  ภายหลังการผ่าตัดที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 3 เคยเสนอเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์เป็นเงิน 500,000  บาท แต่โจทก์ได้เรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อโจทก์เคยเรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาท ประกอบกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้ตาย จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายข้างต้นอีก 300,000 บาท ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 500,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลที่ผู้ตายเข้าใช้บริการและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่นั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไปคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีสิทธิที่จะขออนุญาตศาลเพื่อฎีกา หากมีความคืบหน้าผู้เขียนจะนำมาบอกกล่าวให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับทราบอย่างแน่นอน ....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 ตาบอด เพราะขวดน้ำอัดลมระเบิด !!!

ทุกวันนี้บ้านเรามีน้ำอัดลมหลายยี่ห้อหลายสีให้เลือกดื่ม ทั้งดำ แดง เขียว ส้ม หรือกระทั่งสีฟ้า ความต้องการของผู้บริโภคทำให้น้ำอัดลมแทบจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคหลายคนขาดไม่ได้ไปแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะไปไหน กินอะไร ก็ต้องสั่งน้ำอัดลม ทั้งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าน้ำอัดลมไม่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเลยก็ตาม แต่ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ก็ไม่กลัวและพร้อมที่จะสั่งจะน้ำอัดลมมาดื่มกัน แต่จะมีใครรู้ไหมว่า บางครั้งน้ำอัดลมก็นำมาซึ่งความอันตรายที่คาดไม่ถึงเหมือนเช่นกรณีนี้...ช่วงสายของวันที่ 23 กันยายน 2557  คุณณิชาพร ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ช่วยป้าด้วย ลูกชายป้าถูกขวดน้ำอัดลมระเบิดใส่ทำให้ตาบอด อยากให้มูลนิธิช่วยเหลือ…เจ้าหน้าที่จึงสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ความว่า บุตรชายเป็นลูกจ้างร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น  ทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟ เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 ขณะนั้นบุตรชายอยู่ระหว่างการทำงาน และได้ไปรับออเดอร์ของลูกค้า โดยลูกค้าได้สั่งน้ำอัดลม 1 ขวด บุตรชายจึงเดินมารับน้ำอัดลมที่เคาน์เตอร์ โดยมีเพื่อนพนักงานหยิบน้ำอัดลมที่ยังไม่ได้เปิดฝามาวางบนเคาน์เตอร์ เพื่อให้บุตรชายหยิบขวดน้ำอัดลมใส่ถาดเตรียมนำส่งลูกค้าเมื่อบุตรชายหยิบน้ำอัดลมวางบนถาดทันใดนั้นขวดน้ำอัดลมก็ระเบิด เศษแก้วได้กระเด็นเข้าตาซ้ายของบุตรชาย เพื่อนพนักงานรีบนำตัวบุตรชายส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที โดยได้รับการรักษาเย็บ 5 เข็ม แต่ก็ไม่สามารถรักษาดวงตาข้างซ้ายให้มองเห็นได้ ปัจจุบันบุตรชายตาซ้ายบอดสนิทใช้การไม่ได้กรณีแบบนี้จะมีใครช่วยรับผิดเยียวยาความเสียหายให้กับบุตรชายได้ไหม  แนวทางแก้ไขปัญหา กรณีนี้ ทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้คุณณิชาพร รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการบาดเจ็บ รายละเอียดค่ารักษาพยาบาล พยานวัตถุที่เสียหาย (ถ้ามี)  ภาพถ่ายต่างๆ หรือพยานบุคคลที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึงข้อมูลการสั่งซื้อ การจัดส่ง การเก็บรักษา การจัดวางสินค้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาค่าเสียหายกับผู้ประกอบการ และให้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการเพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายด้วย และเมื่อคุณณิชาพร รวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดแล้ว ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะดำเนินการนัดหมายเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง เพื่อหามาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บาดเจ็บต่อไป ซึ่งกรณีนี้อาจจะต้องพิสูจน์ถึงสาเหตุของการระเบิดด้วยว่าเกิดจากอะไร โดยหากไม่สามารถเจรจาเยียวยาเพื่อหาข้อยุติได้นั้น ผู้บาดเจ็บที่เสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องศาลได้อีกช่องทางหนึ่งเพิ่มเติมด้วยข้อมูลเพิ่มเติมทั้งนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มีข้อมูลดีๆ โดยนายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ที่เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้มาให้ทราบเป็นอุทาหรณ์กันครับ“ ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปี 2557 ที่ผ่านมา มีคนงานโรงงานผลิตน้ำอัดลม 1 ราย ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา เนื่องจากขวดน้ำอัดลมระเบิด และฝาจีบปิดขวดกระเด็นใส่ดวงตา ขณะทำงานขนย้ายน้ำอัดลมที่บรรจุขวดแล้ว แรงระเบิดทำให้แก้วตาดำเป็นแผล ฉีกขาด และมีเลือดออกช่องหน้าม่านตา ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ เพื่อรักษาแผลให้หาย ป้องกันการติดเชื้อ และให้เลือดที่ออกในช่องม่านตาหยุดไหลและถูกดูดซึมตามธรรมชาติ จากการสอบถามผู้ป่วยพบว่าขวดที่ระเบิดใส่ เป็นขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลมที่บรรจุก๊าซและปิดด้วยฝาจีบโลหะ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการเกิดระเบิดของขวดน้ำอัดลม เกิดขึ้นได้ทั้งจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น หรือจากการกระแทกขณะขนส่ง โดยที่คนงานไม่มีการป้องกันตัวแต่อย่างใดทั้งนี้ น้ำอัดลม เป็นเครื่องดื่มที่ประชาชนนิยมดื่มในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน เครื่องดื่มประเภทนี้ จะอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในขวด เพื่อให้มีความซ่า เพิ่มความสดชื่นแก่ร่างกาย เมื่อขวดน้ำอัดลมถูกแดดหรืออยู่ในอากาศที่ร้อนจัด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในขวดจะขยายตัว ดันฝาขวดและขวดแก้วแตก โดยเฉพาะโซดาจะมีปริมาตรก๊าซสูงกว่าน้ำอัดลมชนิดอื่นๆ จึงมีโอกาสเสี่ยงเกิดการระเบิดได้ง่ายกว่าด้วย โดยหากฝาจีบปิดขวดหรือเศษแก้วที่แตก กระเด็นใส่หน้า ถูกดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและมีความบอบบางมาก หากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มีบาดแผลที่ตาดำ หรือมีเลือดออกในช่องหน้าม่านตา อาจทำให้ตาบอดได้ หรืออาจระเบิดระหว่างเปิดฝาขวดใส่มือ ทำให้เกิดบาดแผล หรือนิ้วมือขาดได้เช่นกัน ขอแนะนำว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าว อย่าเปิดฝาขวดโดยใช้มือหรือใช้ฝาขวด 2 ขวดมางัดกัน และอย่าเปิดฝาทันที เพราะอาจทำให้ฝาขวดกระเด็นโดนตา มือ หรืออวัยวะอื่นๆ จนเกิดการบาดเจ็บได้ วิธีที่ดีที่สุดคือให้ใช้อุปกรณ์เปิดขวด ก่อนเปิดให้ใช้ผ้าขนหนูพันที่เปิดขวด และค่อยๆ เปิดฝาขวดทีละน้อย เพื่อให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อยๆ ไหลออกมา ลดแรงดันของก๊าซในขวดลงก่อน ” นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวเมื่อทราบถึงข้อควรระวังกันแบบนี้แล้ว สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงถูกแรงระเบิดจากขวดน้ำอัดลมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานส่งของ ขายของ พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้บริโภคที่ชอบดื่มน้ำอัดลม ควรต้องตระหนักถึงความระมัดระวังในส่วนนี้อย่างมากด้วยครับ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าทุกอย่างสามารถป้องกันได้ อย่าลืมครับ กันไว้ดีกว่าแก้ ดีกว่าแย่แล้วแก้ไม่ทัน ครับผม....ขอบคุณข้อมูลบทสัมภาษณ์นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จาก thairat.co.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 บริษัทประกัน หลอกผู้เสียหายทำยอมรับเงิน เหตุรถทัวร์ตกเหว

เรื่องราวของอุบัติเหตุรถโดยสารมีให้เห็นกันแทบทุกวัน ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปไหน ไปทำงาน ทำบุญ หรือจะไปที่ไหนก็แล้วแต่  ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถแท็กซี่ รถเมล์ หรือรถทัวร์โดยสาร ก็เกิดกันได้ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ สิ่งที่ตามมาก็คือ มีผู้บาดเจ็บล้มตาย ความเสียหายเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของคนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ที่แย่กว่านั้นหากเป็นรถโดยสารที่เจ้าของรถหรือบริษัทประกันภัย ไม่มีความรับผิดชอบ หรือประวิงเวลาในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ปัญหาดังกล่าว จะยิ่งทำให้ผู้ประสบเหตุได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุขึ้น หน่วยงานแรกๆ ที่ต้องเข้าถึงตัวผู้เสียหายเพื่อจัดการเรื่องค่าสินไหมทดแทน คือ บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันภัยไว้กับรถยนต์คันเกิดเหตุ(ประกันภัยภาคสมัครใจ)  ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า หากบาดเจ็บ ไม่ว่าเจ็บน้อยหรือเจ็บสาหัสมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ถึงกับตาย การได้ค่าสินไหมจากบริษัทประกันภัยนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะบริษัทประกันภัยมีเทคนิคมากมาย ที่จะจ่ายค่าสินไหมให้น้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น  ผู้เสียหายหลายรายบ่นกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯว่า “บางครั้งเวลาเจรจาค่าเสียหาย รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังขอเงินเขาใช้ยังไงยังงั้น ทั้งที่เราเป็นคนเจ็บแท้ๆ แต่บริษัทประกันภัยกลับมาต่อรองเราครึ่งๆ เหมือนซื้อของกัน เขายังเห็นเราเป็นคนอยู่รึเปล่า อยากรู้จริงๆ”เมื่อผู้เสียหายต้องการมากเพราะเจ็บ แต่บริษัทประกันภัยต้องการจ่ายน้อยเพราะไม่อยากเสียเงินเยอะ  หลายรายจึงไม่สามารถตกลงกันได้ ขณะที่บางรายต้องจำยอมรับเงินเพียงบางส่วนเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล  และมีอีกหลายรายที่รู้ไม่ทันเกมของบริษัทประกัน ทำให้ต้องยอมรับค่าสินไหมทดแทนไปแบบ งงๆ มารู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว  และเรื่องราวต่อนี้ ก็เป็น 1 ในอีกหลายๆ เหตุการณ์ของความสูญเสียที่ไม่ได้เกิดเป็นเรื่องแรก แต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกของอุบัติเหตุรถยนต์โดยสาร ที่รอวันแก้ไขอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง…. เช้ามืดวันที่  23 ตุลาคม 2556  เวลา 5.00 น.   กลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุจำนวนกว่า 120 คน จากหมู่บ้านแม่สะลาบและหมู่บ้านบุปผาราม ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่  ได้ร่วมกันจ้างเหมารถยนต์รับจ้างจำนวน 3 คัน  เพื่อไปทำบุญทอดกฐินที่วัดใหม่สามัคคีธรรม บ้านวังเจริญ ตำบลวังแก้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ครั้นเมื่อทำบุญทอดกฐินและท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆมาทั้งวันแล้ว ในเวลาประมาณ 18.00 น. ขณะที่คณะกำลังเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่   โดยรถยนต์โดยสารทั้ง 3 คัน ขับเรียงกันมาตามเส้นทางถนนสายพะเยา-วังเหนือ มุ่งหน้าไปยังอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อรถยนต์ขับมาถึงบริเวณ หมู่ที่ 2 ตำบลวังทอง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นทางโค้งลาดลงเขารถยนต์โดยสารคันแรกเริ่มมีอาการกระตุก คนขับรถจึงได้หยุดจอด และพูดคุยกับคนขับรถคันที่ 2 ที่ขับตามมาว่า รถเบรกมีปัญหาเอาไม่อยู่ ให้รถที่ตามมาแซงไปก่อน เมื่อรถที่ตามมาแซงล่วงหน้าไปแล้ว ผู้สูงอายุที่นั่งด้านหน้าติดกับคนขับได้ยินก็ถามคนขับว่าจอดรถทำไมรถมีปัญหาหรือเปล่า คนขับรถตอบว่าไม่มีอะไรก่อนจะออกตัวขับรถยนต์โดยสารต่อไปหลังจากรถออกไป 5 – 10 นาที โดยประมาณ ผู้สูงอายุที่นั่งในรถก็เริ่มรู้สึกว่ารถแล่นเร็วผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมรถได้ และผู้โดยสารทางด้านท้ายรถเริ่มได้กลิ่นเหม็นน้ำมัน มีผู้โดยสารที่ไม่ได้นอนหลับ (ตอนหลังเสียชีวิต) ได้ตะโกนบอกให้คนขับจอดรถ แต่คนขับไม่ยอมจอด รถเริ่มส่ายไปมา ก่อนที่จะมีเสียงตะโกนว่ารถจะคว่ำแล้ว ไม่กี่อึดใจ รถก็พุ่งใส่ราวสะพานเหล็กกั้นริมถนน ชนเข้ากับต้นไม้ใหญ่หักโค่น หลังคารถฉีกขาด รถพลิกคว่ำพุ่งดิ่งลงเหวลึกด้านล่างประมาณ 100 เมตร มีผู้เสียชีวิตที่กระเด็นออกนอกรถและถูกร่างทับกันตายเป็นจำนวนมาก  หลังเกิดเหตุจึงทราบว่ามีผู้เสียชีวิต 22 คน และบาดเจ็บ 17 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของชาวอำเภอสารภี ที่หลายคนเป็นพี่น้อง ญาติ สามีภรรยา พ่อแม่และลูก ส่วนคนขับอาศัยช่วงชุลมุนกระโดดออกจากรถก่อนตกเหวเอาตัวรอดไปได้แต่เรื่องยังไม่จบ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ญาติพี่น้องล้มตายบาดเจ็บยังไม่พอ หลังเกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต ยังถูกเจ้าของรถปฏิเสธการชดเชยเยียวยา อ้างว่ารถมีคันเดียว ตอนนี้ไม่มีเงิน แถมยังถูกบริษัทรับประกันภัย บิดเบือน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน พูดง่ายๆ หลอกให้ทำสัญญายอมรับเงินบางส่วน หรือที่เรียกว่าสัญญาประนีประนอมยอม เพื่อเป็นค่าปิดคดีกับบริษัทรับประกันภัย นั่นหมายถึงว่า คนที่ลงชื่อในสัญญายอมรับเงินไปแล้ว จะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดกับคู่กรณีได้อีก…..เจอแบบนี้เข้า ชาวบ้านก็ไปต่อไม่ถูก แทนที่หน่วยงานที่กำกับดูแลจะมาช่วยชี้แจงให้ได้รับความเป็นธรรม กลับร่วมมือกับผู้รับประกันภัย มากล่อมเรา หรือจะเรียกว่า หลอกให้เราลงชื่อยอมรับเงินซะงั้น   “มาถึงเขาก็บอกให้ป้าเซ็นชื่อ  ป้าก็ไม่รู้ว่าเซ็นอะไร เขาไม่ได้ให้อ่าน บอกให้ลงชื่อตรงนี้ๆๆๆ  ป้าถามว่าเป็นเงินอะไร เขาบอกว่าเป็นเงินชดเชย ไม่ใช่เงินค่าเสียหาย  ป้าเลยเซ็นชื่อรับเงินไป  แต่ตอนหลังถึงรู้ว่าที่เซ็นชื่อไปนั้น เป็นสัญญายอมความ ผู้เสียหายทุกคนเจอแบบเดียวกัน  ป้าจะเรียกร้องอะไรไม่ได้อีกแล้ว ถ้ารู้แบบนี้แต่แรก ป้าไม่เซ็นชื่อแน่ ป้าโดนหลอก !!!  ” เสียงสะท้อนจากคุณป้าที่รอดชีวิตอุบัติเหตุครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักถึงความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง รวมถึงการไม่ประกอบธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการ  แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพียงแค่ความฝัน หรือการเฝ้ารอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นก็ไม่รู้ว่าจะมีการสูญเสียอีกกี่รายกรณีนี้จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ควรจะต้องได้รับการเผยแพร่ ตักเตือนให้กับผู้บริโภคทุกคนได้รับรู้ว่า หากวันหนึ่งเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น แล้วมีการพูดคุยเจรจาเพื่อตกลงค่าสินไหมทดแทนกับคู่กรณี  ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถหรือบริษัทประกันภัย แล้วต้องมีการลงชื่อเซ็นเอกสารนั้น ผู้เสียหายต้องอ่านและดูเนื้อหาเอกสารให้ละเอียดชัดเจน หากมีข้อความทำนองว่า ถ้ารับเงินแล้วตกลงจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป....  ข้อความลักษณะนี้ ห้ามลงชื่อยอมรับเด็ดขาด !!! เพราะหากลงชื่อไปแล้ว ผู้เสียหายจะเสียสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมทางแพ่งได้อีก  เมื่อรู้แบบนี้กันแล้ว ก็ช่วยกันบอกต่อกันไปนะครับ อย่างน้อยหากเราไม่สามารถหยุดเหตุความเสียหายให้เกิดขึ้นได้ แต่เราก็ยังรู้วิธีรับมือกับปัญหาที่จะตามมาได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 “สิทธิ” ของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องเดินหน้าชน

ผ่านไปกับงานสุขภาพดีวิถีไทย 24-27 กรกฎาคม 57 จัดขึ้นเพื่อคนรักสุขภาพ ที่เมืองทองธานี   งานนี้มีผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพมาหาซื้อสินค้ากันอย่างเนืองแน่น  ศูนย์พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีโอกาสไปตั้งบูธรับเรื่องร้องเรียนด้วย  ได้รับความสนใจจากประชาชนที่มีปัญหาเดินมาปรึกษาอยู่ตลอด  โดยเฉพาะผู้ร้องที่ชื่อ คุณนิรภา ที่แกเห็นบูธเราก็ตรงเข้ามาซักถามปัญหาที่แกหนักอกหนักใจที่ไม่รู้จะหาทางออกยังไง“ฉันโสดอยู่ตัวคนเดียวในคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่จำกัด   มีของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น  เช่น  ตู้เย็น  โทรทัศน์  พัดลม  เตารีด เป็นต้น ค่าไฟฟ้าต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 250-280  บาทไม่เกินนั้น เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 57 ได้รับบิลค่าไฟฟ้า จากการไฟฟ้านครหลวงเขตนนทบุรี  เป็นยอดค่าใช้ไฟของเดือนพฤษภาคมที่เรียกเก็บสูงถึง 512 บาท  ฉันตกใจมาก คิดไปก่อนว่าสงสัยตู้เย็นที่ใช้เก่ามากแล้วคงกินไฟ   แล้วกังวลว่าเดือนต่อไปค่าไฟคงสูงเป็นหลักพันแน่  จึงตัดสินใจซื้อตู้เย็นใหม่  หลังจากซื้อตู้เย็นใหม่   เดือนต่อมาก็เกิดอาการงง  เพราะไม่มีบิลค่าไฟฟ้ามาเรียกเก็บ  จึงโทรติดต่อไปที่ Call Center1130  เพื่อสอบถาม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วบอกว่า  เดือนนี้ค่าไฟฟ้าของฉันเป็น 0.00 บาท  ด้วยความงุนงง เดินไปดูมิเตอร์ก็พบว่าหมุนตามปกติ  ต่อมา บิลค่าไฟเดือนกรกฎาคม เป็นปกติอีก”    เอาละซิ  เกิดอะไรขึ้น ?คราวนี้คุณนิรภา เลยโทรไปถามเจ้าหน้าที่    การไฟฟ้าฯ อีกครั้ง ก็ได้รับเพียงคำตอบว่าจะตรวจสอบให้   หายเงียบไปอีก 7 วันก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ว่า  “จดมิเตอร์ผิด” ปริ๊ดแตกทันที  อารมณ์โกรธขึ้นสมอง แล้วทำไมไม่แจ้งกันสักคำ  เวลาค้างชำระยังส่งใบเตือนจะตัดไฟ ที่จดผิดกลับไม่แจ้ง  ถ้าไม่โทรไปถามก็ไม่ทราบ  คิดในใจว่าใครจะยอม เสียเวลา เสียเงินตั้งหลายพันบาท    เลยโทรติดต่อกลับไปใหม่ แจ้งให้การไฟฟ้าชดใช้ค่าเสียหาย เป็นค่าตู้เย็นที่ซื้อใหม่  และค่าไฟเดือนพฤษภาคม ที่เก็บเกินไปทั้งหมดคืน แต่การไฟฟ้าก็บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด  เลยต้องมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิ เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์ฯ  ได้ฟังปัญหา   และขอรายละเอียดการใช้ไฟย้อนหลังตั้งแต่มกราคม 57 จนถึงเดือนกรกฎาคม 57 มาตรวจสอบ  พบว่าไม่มีการเรียกเก็บค่าไฟเดือนมิถุนายนจริง  อีกทั้ง บิลเรียกเก็บค่าไฟเดือนกรกฎาคม  เริ่มจดเลขมิเตอร์ไฟโดยใช้เลขมิเตอร์ล่าสุดที่จดผิดจากเดือนพฤษภาคม  ทำให้ค่าไฟในเดือนกรกฎาคมนั้นถูกกว่าทุกเดือนที่ผู้ร้องใช้ปกติ    จึงอธิบายให้ผู้ร้องเข้าใจ   แต่ผู้ร้องยังยืนยันว่าการไฟฟ้าต้องรับผิดชอบค่าตู้เย็น  หากการไฟฟ้าไม่จดผิด  ตนเองก็ไม่เข้าใจผิด             ปวดหัวล่ะซิ  เรื่องนี้คนกลางอย่างเราคงจัดการลำบาก  แต่ในฐานะผู้ร้องซึ่งเป็นสามารถใช้สิทธิได้เต็มที่อยู่แล้ว  เลยแนะนำให้ทำหนังสือถึงการไฟฟ้าเพื่อให้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร  ส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจนต้นเดือนตุลาคม  ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับโทรศัพท์จากผู้ร้องแจ้งว่า  หลังจากที่ทำหนังสือส่งไปถึงการไฟฟ้าฯ  ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม   ผู้ร้องติดตามเป็นระยะ  ด้วยวิธีการ โทรศัพท์ไปถามความคืบหน้าและหาก ไปชำระค่าไฟจะสอบถามกับเจ้าหน้าที่    ทุกครั้งจะได้รับคำตอบว่า  แจ้งให้ผู้บริหารรับทราบแล้วน่าจะกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่  ล่าสุดทนไม่ไหว  เลยขอเข้าพบผู้จัดการ  ชื่อคุณสัมฤทธิ์  ได้เจรจากัน   การไฟฟ้าฯ อ้างว่าได้แก้ไขปัญหาแล้ว  จะให้เยียวยาความเสียหายเท่ากับเงินค่าตู้เย็นใหม่นั้น คงทำไม่ได้   ขอช่วยเหลือที่จำนวนเงิน  1,600  บาทเป็นค่าตู้เย็นเก่าแล้วกัน   ผู้ร้องเห็นว่าไม่อยากยืดเยื้อจึงยอมตกลง    และขอบคุณเจ้าหน้าที่ศูนย์ที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือ รายนี้   ต้องยอมยกนิ้วให้คุณผู้ร้องจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 กล่องโฟม เลิกได้ไหม

ทำดีต้องชม     ก่อนอื่นขอชื่นชมการทำงานของ อย.  ณ  ยุคสมัยนี้  ที่กล้าหาญ  ออกมาประกาศชื่อสินค้าไม่ปลอดภัยกว่า 20  รายการ  นับว่ามีกระบวนการพัฒนาการทำงานที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง   แต่ปัญหาเรื่องอาหารปลอดภัย  ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่รอการแก้ไขทั้งการโฆษณาหลอกลวง ทั้งกระบวนการผลิต ที่ผู้ผลิตขาดความรู้ความเข้าใจและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคโดยที่ผู้ผลิตเองก็มิได้ตั้งใจต้นเดือน พฤศจิกายน  2557  ผู้เขียนได้เดินทางไปร่วมประชุมกับเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดหนึ่ง ที่อยู่ใกล้ๆกับกรุงเทพฯ  น้องๆ บอกว่า  วันนี้อาหารว่างเป็นขนมไทย(อุ้ยดีใจ..ของชอบของเราเลย) ถึงเวลาน้องๆ ก็เอาขนมมาเสิร์ฟ    เห็นแล้วว่าเป็นขนมตะโก้เผือกอยู่ในกล่องโฟม   ไม่ทันดูให้ละเอียดตักกินเลย   คำแรกถึงกับอึ้ง  เพราะขนมที่กินเข้าไป กลิ่นโฟมฉุนมาก  เลยก้มไปดูในกล่อง   บอกตรงๆ เห็นแล้วตกใจ  เพราะไม่ใช่ขนมชิ้นๆ ตักใส่กล่องมาอย่างที่เคยเห็น    แต่เป็นการเอาขนมใส่นึ่งมาในกล่องเลยเราเชื่อว่าแม่ค้าคงเน้นความสะดวกเป็นหลัก  คงไม่ทันนึกว่าทำเช่นนี้ จะเกิดอันตรายต่อคนกินอย่างไร     แต่เรื่องนี้ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิผู้บริโภค  เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องออกมาเตือนกัน   ไม่อย่างนั้นจะเกิดวัฒนธรรมเลียนแบบ   และจะก่อให้เกิดอันตรายต่อคนกินในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ งานนี้บอกตรง   หากใครจะใช้สิทธิ ร้องเรียน  น่าลำบากมากในการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาดูแล  เพราะไม่รู้หน่วยงานไหนกันแน่ที่ดูแลเรื่องนี้     ถ้าเป็นอาหาร(ในบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป มีหีบห่อ) ก็รู้อยู่ว่า   อย. ดูแล  แต่ถ้าเป็นบรรจุภัณฑ์(ที่เป็นโฟม) สมอ. และ สคบ. ดูแล   แต่พอเอาอาหารมาใส่กล่องโฟม  เลยยุ่งๆ ไม่รู้ใครกันแน่ที่ต้องดูแลเรื่องนี้  เอาเป็นว่าหน่วยงานไหนก็ได้ ช่วยออกมาส่งเสียงเตือนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค   ถึงอันตราย  ที่เรามองเห็นแต่ “ไม่รู้” ให้ได้รู้เพื่อป้องกันต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 ไฟฟ้าไทย คำนวณผิดผลิตเกินผู้บริโภครับกรรม

คงยังไม่ลืมกันว่า เมื่อเดือนเมษายน  2557   มีการเสนอข่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐ  และนักการเมืองออกมาให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชน  ประหวั่นพรั่นพรึงตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ เรื่องไฟฟ้าอาจไม่พอใช้   เพราะหลุมก๊าซจากพม่าบางหลุมหยุดซ่อมบำรุงและงดส่งก๊าซ  ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพออาจจะเกิดไฟฟ้าดับได้ในบางพื้นที่   พร้อมโหมโฆษณาอย่างมโหฬารว่า  มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้า ปีนี้ ปีนั้นจากนั้นก็มี  พระเอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมาให้ข่าวว่า ไฟฟ้าสามารถจัดการไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับได้แล้ว   “โดยใช้ความสามารถจากการจัดการของการไฟฟ้าฯ” ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ(โถ....ช่างเป็นพระคุณจริงๆ ) แต่ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาคือ  การใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในเดือน เมษายน 2557   ใช้อยู่ที่ 26,940 mw  เท่านั้น  และเมื่อเปิดไปที่เอกสารกำลังการผลิตไฟฟ้าในเดือน มิถุนายน 2557  รวมทั้งสิ้น  34,4179 mw   ผลิตเกินจำนวนที่ใช้ไปถึง  7,237  mw  เอ...มาตรฐานการผลิตไฟฟ้า ต้องมีสำรองไฟฟ้าไว้ 15% หรือ 4,041 mw  มิใช่หรือ แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว หักไฟฟ้าสำรองแล้วก็ยังมีไฟฟ้าเกินไปอีกจำนวน 3,196 mw  รวมแล้วปัจจุบันมีไฟฟ้า สำรองถึง 15 %  คิดเป็นเงินลงทุนเกินความจำเป็นถึง ประมาณ 110,000  ล้านบาท     โดยที่กลุ่มผู้คำนวณการผลิต ผิดพลาดไม่ต้อง ”รับผิดชอบ” แต่โยนภาระให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นผู้รับผิดชอบ จ่ายเงินที่ลงทุนเกินเหล่านี้  โดยบวกเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้า ของประชาชนทุกครัวเรือน   ขอตั้งคำถาม คำโตๆว่า  ทำเช่นนี้ มันเป็นธรรมกับผู้บริโภคแล้วหรือที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือ  จำนวนไฟฟ้าที่เกินมานี้  ยังไม่รวมการผลิตจากโรงไฟฟ้า  ที่ประชาชนออกมาคัดค้านให้สร้างไม่ได้ เกือบ 10 โรง  ถึงตรงนี้ต้องขอบคุณกลุ่มผู้ที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้า ที่ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องแบกภาระกันหลังอานไปมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้มีการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน PDP 2014   ที่นายทุน/นักการเมือง/เจ้าหน้าที่รัฐรวมหัวกันกำหนด ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งพลังงานนิวเคลียร์  ถ่านหิน ฯลฯ นึกภาพไม่ออกว่ามันจะมีไฟฟ้าเกินไปอีกเท่าใด   ใครได้ประโยชน์  แล้วใครเสียประโยชน์ ถึงวันนี้ชาวกระบี่ ก็ยังต่อสู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะสร้างในพื้นที่กันอย่างเข้มข้น เราก็ขอเอาใจช่วย  หากสร้างได้เมื่อใดต้นทุนที่สร้างโรงไฟฟ้านั้นจะมาอยู่ในบิลค่าไฟของเรา  จึงขอเรียกร้องให้  ท่านนายกประยุทธ์   จันทร์โอชา   ช่วยคืนความสุขให้ผู้บริโภคได้ใช้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม  ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังภายใต้อำนาจพิเศษ  แล้วเราจะ “ไว้ใจ และศรัทธา”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 กระเป๋าหาย แอร์เอเชีย หาคืนไม่ได้ ก็จ่ายให้คุ้มหน่อย

ทุกวันนี้สายการบินต้นทุนต่ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศนั้น มีการแข่งขันกันสูง ทุกเจ้าต้องต่อสู้กันทางธุรกิจทั้งด้วยราคาและบริการ เพื่อครองใจลูกค้าให้ได้ การลด แลก แจก แถม... ก็มีให้เห็นกันตลอด คุณนันท์นภัส ก็เป็นคนหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่บ่อยๆ เธอจึงเลือกใช้บริการของ แอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก(โฆษณาเขาว่ามาแบบนี้นะ)ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2556  คุณนันท์นภัส โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า สายการบินแอร์เอเชียทำกระเป๋าเดินทางเธอหาย โดยเธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 26  พฤษภาคม 2556  ขณะที่เธอไปทำงานกับสามีที่ประเทศสิงคโปร์ เธอเลือกที่จะใช้บริการสายการบินแอร์เอเชีย โดยเครื่องออกจากท่าอากาศยานซางฮี สิงคโปร์  เพื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย เธอนำกระเป๋าโหลดเข้าเครื่องตามปกติ  แต่เมื่อถึงสนามบินดอนเมือง กระเป๋ากลับไม่ได้ตามออกมาด้วยคุณนันท์นภัสยืนรอที่สายพานลำเลียงกระเป๋าอยู่นานจนแน่ใจว่า ไม่มีกระเป๋าเดินทางของเธอแล้ว  เธอจึงสอบถามกับพนักงานของสายการบินทันที ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะเธอมีกำหนดเดินทางต่อไปจังหวัดอุบลราชธานี  ประเทศลาว  มาเก๊า และอีกหลายที่อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นที่พักของเธอ“ดิฉันพยายามติดต่อ สอบถามพนักงานของสายการบิน ตั้งแต่วันแรกที่หาย เพื่อขอให้ติดตามกระเป๋าคืนมาให้ได้โดยเร็ว เพราะในกระเป๋าเดินทางมีของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นอยู่จำนวนมาก ซึ่งพนักงานก็ได้ยืนยันว่ากระเป๋าไม่หายแน่นอน เพราะยังมีเที่ยวบินจากสิงค์โปร์อีก 2 เที่ยวในวันนั้น โดยอ้างว่าเมื่อพบกระเป๋าเดินทางแล้วจะส่งคืนให้ดิฉันที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันรุ่งขึ้นทันที” แต่พอถึงอุบลราชธานีแล้ว ก็ไม่มีการส่งมอบกระเป๋าคืนตามที่ว่าไว้แต่อย่างใด เธอหงุดหงิดมาก เพราะทุกครั้งเธอต้องเป็นฝ่ายพยายามสอบถามแล้วกับทางสายการบินตลอด แต่ไม่มีคำตอบและแทบไม่มีการติดต่อกลับ ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน 2556  บริษัท แอร์เอเชีย โดยแผนกติดตามสัมภาระ ฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นดิน ได้มีหนังสือแจ้งคุณนันท์นภัสว่า สายการบินหากระเป๋าเดินทางของเธอไม่เจอ จึงขอแสดงความรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย โดยอ้างข้อกำหนดและเงื่อนไขการบินของแต่ละสายการบิน ซึ่งในกรณีสัมภาระสูญหายสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศ กำหนดไว้ที่ 922 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อสัมภาระของคุณนันท์นภัส มีน้ำหนัก 15 กิโลกกรัม  คุณนันท์นภัส จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายเป็นเงินจำนวน 13,830 บาทจากจดหมายฉบับดังกล่าว เธอเห็นว่า “ไม่เป็นธรรม” เนื่องจากในกระเป๋าเดินทางมีของใช้ที่จำเป็นและทรัพย์สินหลายอย่างที่มีมูลค่ารวมเกินกว่า 50,000  บาท ในเมื่อบริษัทไม่สามารถติดตามกระเป๋าเดินทางคืนมาได้ การเสนอจะชดใช้โดยอ้างกฎระเบียบที่กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบและการเอาเปรียบของผู้ประกอบการต่อผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้เกิดการเอาเปรียบกับผู้บริโภครายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากในอนาคต  เธอจึงนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา ภายหลังรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ออกหนังสือเพื่อขอให้บริษัทแอร์เอเชีย เยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค  แต่ก็ได้รับการยืนยันจากบริษัทว่า ได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณนันท์นภัสแล้วเป็นเงิน 13,830 บาท ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคดังนั้นเมื่อไม่มีทางออกในการเจรจา คุณนันท์นภัส จึงจำเป็นต้องขอนำเรื่องเข้าสู่ศาล ด้วยการยื่นฟ้องบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแขวงดอนเมืองเมื่อฟ้องคดีแล้ว กระบวนการในคดีผู้บริโภคนั้น ศาลจะเน้นกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย  สำหรับคดีนี้โดยใช้ชั้นเจรจาไกล่เกลี่ยคู่กรณีทั้งสองฝ่าย พยายามหาข้อยุติร่วมกันในการเจรจาประนีประนอม แต่ก็ไม่สามารถหาจุดร่วมที่ตกลงกันได้เมื่อคดีมีแนวโน้มจะต้องตัดสินให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกผิดด้วยคำพิพากษา แต่ผู้ตัดสินเห็นว่ายังมีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ จึงได้พยายามหาทางไกล่เกลี่ยกันอีกครั้ง  โดยในครั้งนี้มีผู้ตัดสินเข้าร่วมการเจรจาด้วย  เบื้องต้นคุณนันท์นภัส ยืนยันถึงข้อเสนอให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 30,000  บาท พร้อมให้บริษัททำการขอโทษถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  แต่เพื่อให้การเจรจาสามารถดำเนินการต่อไปตามคำแนะนำของผู้ตัดสิน            คุณนันท์นภัสและบริษัท แอร์เอเชีย จึงสามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจากันได้ คือ บริษัท แอร์เอเชีย ยินดีชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท พร้อมปลอบใจด้วยบัตรโดยสารเส้นทางภายในประเทศไปและกลับจำนวน 1 ที่  และบริษัทยินดีรับจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปปรับปรุงแก้ไขการบริการให้ดีขึ้นต่อไป คุณนันท์นภัส ยินยอมรับข้อเสนอนี้ เรื่องจึงเป็นอันยุติลงในชั้นศาล ด้วยการจบคดีแบบประนีประนอมยอมความแม้ว่าผลของคดีนี้จะไม่ได้จบลงด้วยคำพิพากษาเพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง ตามที่คุณนันท์นภัสคาดหวังไว้ในตอนแรก แต่การจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ย  ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีลักษณะนี้สำหรับผู้บริโภครายต่อๆ ไปได้ว่า หากใครเจอปัญหาแบบนี้แล้วเจรจาตกลงกันไม่ได้  ให้เตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาฟ้องศาลได้เลย อย่าได้กลัวหรือคิดว่าจะเสียเวลา เพราะการพิทักษ์สิทธิตนเองเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล ก็สามารถสร้างแรงกดดัน เพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับบริษัทผู้ให้บริการต้องชดเชยความเสียหายคืนได้เหมือนคดีนี้ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เจ็บนี้อีกนาน!

ปลายเดือนกรกฎาคม  คุณนุชเพิ่งซื้อจักรยาน 24 นิ้ว ไม่ปรากฏยี่ห้อ รุ่น VALUE  ของบริษัท มาย จักรยาน  ในราคา 850 บาทจากห้างสรรพสินค้าดังแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง  ตอนที่ซื้อคุณนุชก็ได้ดูพนักงานประกอบ และทดสอบปั่นเบาๆ ในบริเวณห้างฯ  ขณะที่ทดสอบปั่นในห้างก็ไม่ปรากฏว่าชิ้นส่วนใดๆ จะหลุดออกมา จึงได้ปั่นจากห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมาที่พัก ซึ่งเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรอยู่ทุกอย่างก็โอเคต่อมาในเช้าวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  คุณนุชได้ปั่นจักรยานคันดังกล่าวเพื่อไปทำงานจากบ้านพักซอยอ่อนนุช 17 ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ขณะที่ปั่นถึงแยกคลองตันได้หยุดเพื่อรอสัญญาณไฟจราจร พอไฟเขียวคุณนุชได้ออกตัวขยับขึ้นปั่นเพื่อส่งแรงให้จักรยานเคลื่อนตัวปรากฏว่า บันไดรถจักรยานได้หลุดออกจากตัวจักรยาน ทำให้เสียการทรงตัว รถล้มและหัวเข่าคุณนุชกระแทกกับพื้นอย่างแรง คุณนุชไม่สามารถเคลื่อนขยับขาซ้ายได้ ผู้คนบริเวณนั้นจึงได้พาไปนั่งพักที่บริเวณฟุตบาท ก่อนที่คุณนุชจะโทรหาเพื่อนที่ทำงานเพื่อให้มาหาและนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แพทย์ได้ตรวจอาการพบว่า กระดูกบริเวณหัวเข่าซ้ายร้าวต้องรักษาด้วยการใส่เฝือกเป็นเวลา 1 เดือน เสียค่ารักษาพยาบาลกว่า 3,910 บาท ไม่รวมถึงต้องเหมารถยนต์ไปใส่ซากรถจักรยานกลับมาบ้านพักอีกเรื่องไม่จบแค่นั้น เมื่อพบว่าสินค้า(จักรยาน) ที่ซื้อมาชำรุดบกพร่อง ขณะที่ซื้อมาเพียง 1 วัน และอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากมีรถขับตามมาด้วยความเร็วสูง  คุณนุชจึงได้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเล่าเรื่องด้วยอาการเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น “ดิฉันไม่คิดเลยว่าห้างฯ ใหญ่มีชื่อเสียงจะนำสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาขายให้กับผู้บริโภค ดิฉันเพิ่งซื้อมาวันเดียวปั่นยังไม่ถึงไหน  ชิ้นส่วนรถหลุดเป็นชิ้นๆ แบบนี้ แถมดิฉันต้องมาเจ็บตัวอีก เดินไม่ได้ ลูกก็ต้องเลี้ยง แถมต้องเดินทางไปทำงานยากลำบากอีก ยังไงดิฉันต้องให้ทางห้างสรรพสินค้าและบริษัทผลิตรถจักรยานรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับดิฉัน”แนวทางแก้ไขปัญหา กรณีสินค้าไม่ได้มาตรฐานชำรุดบกพร่องและก่อให้เกิดการบาดเจ็บ  สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำกรณีที่เกิดเรื่องเช่นนี้ คือ 1. แจ้งความสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เพื่อเป็นหลักฐาน 2. เมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลต้องขอใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้เข้ารับการรักษาจริง 3.  ประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ประกอบด้วย - ค่าคืนสินค้าชำรุดบกพร่อง ราคาตามใบเสร็จรับเงิน - ค่ารักษาพยาบาลตามจริง (มีใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล) -  ค่าขาดประโยชน์กรณีที่ไม่สามารถทำงานได้ กรณีคุณนุช ไม่สามารถทำงานได้ 2 เดือน โดยคิดตามยอดเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัทฯ คือเดือนละ 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,000 บาท - ค่าจ้างคนดูแลบุตร เนื่องจากบาดเจ็บไม่สามารถดูแลบุตรวัย 11 เดือน 4. ให้ผู้เสียหายทำจดหมายถึงห้างสรรพสินค้า และบริษัทฯ เจ้าของจักรยาน เพื่อให้เยียวยาความเสียหาย ตามรายละเอียดใบประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น   ซึ่งกรณีของคุณนุชได้เรียกร้องให้ทั้งห้างสรรพสินค้าและบริษัทฯ จักรยาน ร่วมกันจ่าย เป็นยอดเงิน 47,260 บาท ต่อมาทางห้างสรรพสินค้าได้ส่งตัวแทนเพื่อเจรจากับคุณนุชที่บ้านพัก ซึ่งตัวแทนห้างสรรพสินค้า ได้แจ้งกับคุณนุชว่า จักรยานดังกล่าวทางห้างได้ซื้อมาเพื่อประกอบเอง จึงอาจมีปัญหาในกระบวนการประกอบ ซึ่งขณะนี้ได้มีการตรวจสอบการประกอบจักรยานให้รัดกุม เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยาน  พร้อมขอเยียวยาความเสียหายกับคุณนุช เป็นเงิน 25,000 บาท ประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งสิ้น 10,000 บาท ค่าขาดรายได้  1 เดือน เป็นเงินจำนวน 15,000 บาท คุณนุชยินดีรับเงินตามยอดดังกล่าว  เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ห้างสรรพสินค้ามีความรัดกุมในการตรวจสอบกระบวนการประกอบรถจักรยานมากขึ้น เพราะนั่นคือความปลอดภัยของผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เครื่องใช้ไฟฟ้า เกรด B ดีจริงๆ หรือ?

สินค้า เกรด B  เป็นสินค้าที่ผู้ขายมักบอกกับผู้ซื้อว่า  เป็นสินค้าเกรด A  นั่นแหละ  มีตำหนิ นิดหน่อย ซึ่งมักจะสังเกตพบได้ง่าย  เช่น ตู้เย็นที่มีรอยตำหนิบริเวณประตู สีไม่เรียบ  แต่อุปกรณ์ภายใน ไม่ว่าจะเป็นคอมเพรสเซอร์หรืออะไหล่ส่วนอื่นเหมือนสินค้าเกรด  A ทุกอย่าง  หากลูกค้าไม่ซีเรียสเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก  มักจะตัดสินใจซื้อ  เพราะได้สินค้าที่ราคาถูกกว่ามากคุณนิรภา ก็ใช้เหตุผลเดียวกันที่ยอมซื้อตู้เย็น 6.6  คิวและเครื่องซักผ้าขนาด 7.2  กก. ยี่ห้อโตชิบา มาใช้   ยอมควักเงินจำนวน 9,982  บาท   เพราะมั่นใจว่าจะได้รับสินค้าดีใช้งานได้ตามที่โทรศัพท์คุยกับพนักงานและติดต่อสั่งซื้อที่บริษัทโดยตรง    แต่เมื่อรับสินค้ามาใช้งาน ก็เริ่มพบปัญหา  ตู้เย็น บานประตูช่องแช่แข็งปิดไม่แน่น ตรวจพบว่าเขี้ยวที่เป็นตัวล็อคหัก   ขอบบนประตูตู้เย็นไม่แน่น  ช่องแช่แข็งไม่สามารถแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 3 องศาเซลเซียส   ส่วนเครื่องซักผ้า  มีปัญหาว่าตอนล้างผ้าและปั่น เสียงดังมาก     อ้าว?  ไหนว่าเกรด B มีตำหนิเฉพาะภายนอกไงคุณนิรภาจึงโทรไปแจ้งที่ศูนย์บริการลูกค้า  แต่บริษัทฯ กลับบอกว่า  สินค้าเกรด B ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้  แต่จะซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ให้ คุณนิรภาคิดว่าคงเปลี่ยนไม่ได้จริงๆ อย่างที่บริษัทแจ้ง  เลยยอมให้ช่างมาซ่อม ช่างเปลี่ยนคอยด์เย็นตัวใหม่ให้ ส่วนประตูช่างบอกเปลี่ยนอะไหล่ไม่ได้ ต้องซื้อเปลี่ยนทั้งบานราคาประมาณ 2 พันบาท ผู้ซื้อต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ส่วนเครื่องซักผ้า เปลี่ยนอะไหล่แล้วยังดังเหมือนเดิม   ทำยังไงดีล่ะ จะต้องซ่อมกันตลอดเวลาไหม  ซ่อมแล้วยังใช้ไม่ได้นี่แหละปัญหาใหญ่ อยากได้ของถูกสินค้าเกรด B จ่ายเงินเหมือนกันกลับบอกว่าเปลี่ยนไม่ได้  และเป็นที่คับข้องใจว่า สินค้าเกรด B  เปลี่ยนไม่ได้จริงหรือ คุณนิรภาจึงต้องหาตัวช่วย แนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ  ได้รับเรื่องร้องเรียนของคุณนิรภา สอบถามวัตถุประสงค์ก็รับทราบว่าต้องการเปลี่ยนสินค้าใหม่เท่านั้น  เจ้าหน้าที่ศูนย์จึงต้องถามกับคุณนิรภาว่า หากเกิดปัญหาอีกคุณนิรภายอมรับได้หรือไม่  เพราะสินค้าเกรด B  นั้นต้องยอมรับว่า เป็นสินค้าที่มีปัญหาคล้ายกับรถยนต์มือสอง ที่ต้องมีการซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา  ผู้ซื้อต้องยอมรับได้ตรงจุดนั้น แต่ถ้ารับไม่ได้ก็จะเป็นปัญหากวนใจไปตลอด   ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบันสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เกรด A ราคาไม่ต่างจากเกรด B  มากนัก อีกทั้งยังมีการประกันสินค้าหรือหากมีปัญหาในระยะ 7  วัน  ผู้ขายจะเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ทันทีสุดท้ายคุณนิรภาจึงตัดสินใจขอเงินคืนเพื่อเอาไปซื้อสินค้าใหม่เกรด A ดีกว่าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงแนะนำให้คุณนิรภา ทำหนังสือถึงบริษัทฯ แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น  และขอให้บริษัทฯ คืนเงินทั้งหมด  ด้วยเหตุที่ว่าไม่สามารถใช้สินค้าได้  ต้องซ่อมแซมมาตลอด และเมื่อซ่อมแล้วอาการเสียยังเหมือนเดิม  เมื่อบริษัททราบเรื่องร้องเรียนกลับบอกว่า คุณนิรภารู้อยู่แล้วว่าสินค้าเกรด B เป็นสินค้ามีปัญหาและผู้ซื้อยอมรับได้ บริษัทฯ คืนเงินให้ได้แต่ขอหักค่าเสื่อมราคาและค่าอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยน จากการใช้งานรวมแล้วเป็นประมาณเกือบ 5,000 บาทเรื่องจึงมาถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ  โดยสอบถามกลับไปที่บริษัทฯ เพื่อขอทราบเหตุผลการหักค่าเสื่อมและค่าอะไหล่ เพราะกรณีสินค้าที่ชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้ขายต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว  ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นสินค้าเกรด B  ผู้ซื้อทราบอยู่แล้วนั้น  ผู้ขายแจ้งข้อมูลเพียงว่า เป็นสินค้ามีตำหนิเฉพาะภายนอกเท่านั้น อีกทั้งเมื่อซื้อมาแล้วไม่สามารถใช้งานได้จนได้รับความเสียหาย  เสียทั้งเงินและเวลา จะมาหักค่าเสื่อมได้อย่างไรเมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถชี้แจงเรื่องดังกล่าวได้ จึงยอมคืนเงินให้กับคุณนิรภาทั้งหมด  คุณนิรภาสะท้อนความรู้สึกให้เราฟังว่า ตนเองมีสตางค์พอที่จะซื้อสินค้าเกรด A แต่ชอบของถูก  เข็ดแล้วกับสินค้าเกรด B   เพราะเหนื่อยกับการสู้รบกับบริษัทฯ ถ้าไม่มีตัวช่วยอย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คงไม่ได้เงินคืน  ต่อไปจะซื้ออะไรคงต้องตรวจสอบและตัดสินใจให้ดีกว่านี้

อ่านเพิ่มเติม >