ฉบับที่ 163 ป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย สำนักงานเขตบางซื่อช่วยเอาออกที !!!

เช้าวันที่ 11 มีนาคม  2557 คุณวิภาวรรณ ได้โทรศัพท์ร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเป็นผู้พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านประชาสุข ซอยประชาชื่น 33 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร โดยตนและกลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างป้ายโฆษณาเหล็กขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้บริเวณหมู่บ้านประชาสุข ซอยประชาชื่น 33 ระหว่างซอยย่อยที่ 8 กับด่านเก็บเงินทางด่วนประชาชื่นขาเข้า กรุงเทพมหานครคุณวิภาวรรณ  ระบุว่า ป้ายโฆษณาเหล็กดังกล่าวนั้น ก่อนที่จะมีการก่อสร้าง ก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่หรือใครที่เกี่ยวข้องเข้ามาแจ้งคนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงเลย ว่าจะมีการก่อสร้างป้ายโฆษณานี้ อยู่ดีๆ ก็มา สร้างๆ เสร็จก็ติดป้ายโฆษณาทันที โดยไม่สนใจเลยว่าคนแถวนี้จะคิดยังไง  ชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปติดต่อใครยังไง ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของป้ายนี้ แล้วได้ขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่รู้หลังจากที่ป้ายสร้างเสร็จและเปิดให้โฆษณาแล้ว  คนในหมู่บ้านได้พยายามติดต่อไปที่สำนักงานเขตในท้องที่แล้ว  แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตอนนี้ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน นี่ก็ใกล้หน้าฝนแล้ว ตอนนี้กังวลว่าเกิดมีลมพายุแรงๆ พัดมา หากป้ายไม่แข็งแรงล้มหล่นลงมาจะรุนแรงแค่ไหน เกิดมีคนเจ็บคนตายใครจะมารับผิดชอบ คุณวิภาวรรณ จึงมาร้องเรียน เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา หลังการรับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้สอบถามรายละเอียดของที่ตั้งและลักษณะป้ายโฆษณา ก่อนนัดหมายลงพื้นที่ถ่ายรูป ดูสถานที่จริงของป้ายโฆษณานั้น  เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา ซึ่งพบว่า ป้ายโฆษณาเหล็กขนาดใหญ่ดังกล่าว  เป็นป้ายที่มีความยาวไม่เกิน 32 เมตร (วัดจากพื้นดิน) สูงไม่เกิน 30 เมตร เข้าข่ายเป็นป้ายโฆษณาที่มีลักษณะเป็นอาคาร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 และตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ต้องมีการขออนุญาตก่อนจะได้รับอนุญาตก่อสร้างได้จึงแนะนำให้คุณวิภาวรรณ ทำหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงานเขตบางซื่อ พร้อมแนบเอกสารภาพถ่าย โดยขอให้สำเนาหนังสือร้องเรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นหลักฐานด้วย  สำหรับในส่วนของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ก็ต้องออกหนังสือถึงสำนักงานเขตบางซื่อเช่นกัน  ส่วนที่ต้องออกหนังสือด้วยนั้น ไม่ใช่ไม่เชื่อมั่นในสำนักงานเขตว่าจะไม่แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคหรือไม่  แต่การออกหนังสือของมูลนิธิฯ เองก็ถือว่าเป็นการส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหากรณีนี้  และเพื่อการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ด้วย ดังนั้นมูลนิธิฯ จึงออกหนังสือถึงสำนักงานเขตบางซื่อ เมื่อวันที่   11 เมษายน  2557  เพื่อขอให้ตรวจสอบการขออนุญาตก่อสร้างป้ายโฆษณานี้เช่นกันเวลาผ่านไปสามเดือน จนเมื่อวันที่  7  กรกฎาคม  2557  สำนักงานเขตบางซื่อ มีหนังสือตอบกลับมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจ้งผลการตรวจสอบป้ายโฆษณาว่า สำนักงานเขตบางซื่อได้ตรวจสอบป้ายโฆณษาดังกล่าวแล้วปรากฎว่า “ป้ายโฆษณาดังกล่าวเป็นป้ายที่ก่อสร้างโดยมิได้รับใบอนุญาต” และได้ออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อเปรียบเทียบปรับและแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายตามขั้นตอนต่อไปเห็นการทำงานของสำนักงานเขตบางซื่อแบบนี้แล้วต้องขอชื่นชม  ถึงจะใช้เวลานานไปหน่อย  แต่อย่างน้อยการร้องเรียนก็เป็นผล หน่วยงานก็ยังแลเห็นปัญหาของผู้บริโภค ที่เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็ใช้อำนาจตามกฎหมายมีคำสั่งห้ามใช้อาคาร  ตามมาตรา 40  และมีคำสั่งให้รื้อถอน ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  ซึ่งโทษของการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานของถิ่นในกรณี  มีความผิด โทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และวันละสามหมื่นบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนแต่เดี๋ยวก่อน เจอเข้าไปแบบนี้ ใครๆ ก็คิดว่าเรื่องจะจบ  แต่งานนี้ยังไม่จบง่ายๆ  หลังจากสำนักงานเขตมีคำสั่งห้ามใช้ป้ายโฆษณาดังกล่าวแล้ว เนื่องจากเป็นป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย  เจ้าของป้ายก็ยังไม่ยุติการใช่ป้ายโฆษณาดังกล่าว  กลับยังใช้ป้ายเพื่อการโฆษณาหารายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเปิดทางให้ผู้ประกอบการบริษัทโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่งเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือบนป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และยังพบว่ามีป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมายตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกันอีกด้วยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงมีหนังสือถึงสำนักงานเขตบางซื่ออีกครั้ง เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้อย่างเร่งด่วนทันที  เพราะเล็งเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการเอกชนหรือเจ้าของป้ายผู้ให้เช่าสถานที่  ไม่ได้มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย กลับยังยิ่งฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง  สมควรที่หน่วยงานของรัฐจะต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาด  ซึ่งต่อจากนี้มูลนิธิฯและชาวบ้านผู้ร้องเรียนมีหน้าที่จะต้องร่วมกันจับตา ตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงานเขตบางซื่อในครั้งนี้  ซึ่งหากมีความคืบหน้าในกรณีนี้ ผู้เขียนจะมาแจ้งให้ท่านผู้อ่านทราบอีกครั้งอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 “พรบ.ทวงหนี้” กฎหมายที่ลูกหนี้รอคอย

การกู้ยืมเงิน เพื่อการจัดซื้อสิ่งจำเป็นในชีวิต(บางสิ่งก็ไม่จำเป็น) เช่น ซื้อบ้าน เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ฯลฯ   สมัยนี้เป็นไปได้ง่าย เพราะมีทั้งสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจที่เสนอบริการเงินด่วน อันแสนง่ายดายให้กับผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อย ด้วยเงื่อนไขจูงใจ ทั้งจ่ายเงินคืนขั้นต่ำจากวงเงินที่ใช้จ่ายไปแล้ว ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ฐานเงินเดือนที่ไม่สูงมาก    จ่ายน้อย ผ่อนนาน ฯลฯ ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดการใช้จ่ายเงินจาก บัตรเครดิต และบัตรสินเชื่อหมุนเวียน กันเป็นจำนวนเงินมหาศาล บางคนก็ได้รับความสะดวกสามารถจ่ายคืนได้ปกติ แต่หลายคนได้เริ่มเข้าสู่สภาวะมีหนี้สินเกินตัวกันไปแล้วปัญหาหนี้สินที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้นั้นมีมากมาย  จนก่อให้เกิดอาชีพใหม่ คือ “การติดตามทวงหนี้”   พฤติกรรมของคนที่รับทวงหนี้มีหลากหลาย  ตั้งแต่  ทวงหนี้ทั้งวัน  โทรมาหาเจ้านายประจานหนี้   ข่มขู่ ว่าไม่ชำระจะต้องเข้าคุกเพราะโกงเจ้าหนี้  อ้างว่าเป็นตำรวจจะมาจับหากไม่ใช้หนี้  ทวงหนี้กับญาติพี่น้อง หรือใช้จดหมายที่เลียนแบบหมายศาลหลอกลูกหนี้  ฯลฯ  กลวิธีมีหลากหลายมากมาย  โดยเฉพาะการด่า หรือพูดจาหยาบคายดูหมิ่นเหยียดหยาม  เสมือนลูกหนี้ เป็น “อาชญากรของสังคม”ปัญหาการร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนที่ติดตามหนี้มีมากมาย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้กับลูกหนี้แก่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง แต่ยังคงเป็นเพียงแนวปฏิบัติที่มิได้มีบทลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืน และไม่ครอบคลุมถึงการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ หรือการรับจ้าง หรือรับมอบอำนาจจากนิติบุคคลผู้ให้สินเชื่อดังกล่าว  อีกทั้งข้อร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมการทวงหนี้มิได้ลดลงแต่อย่างใดในปีเดียวกันสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. .... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ลงมติรับหลักการเมื่อเดือนธันวาคม 2550 แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสุดสถานะลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา และต่อมาในเดือนกันยายน 2553 กระทรวงการคลังเสนอ ร่าง ร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าไปใหม่ และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ  และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างระราชบัญญัติฯ  เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป และต่อมามีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 จึงมิได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัตินี้ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ได้พิจารณาและจะนำเสนอ คสช. ให้ความเห็นชอบและบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในลำดับแรก  โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ. ฉบับนี้แล้ว  โดยมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ (ร่าง) พระราชบัญบัติการทวงถามหนี้ พ.ศ”สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ....1. ขอบเขตการใช้บังคับ- ผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งได้แก่ นิติบุคคลที่ให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ นิติบุคคลที่รับซื้อ หรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด และบุคคลอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง- ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อในการทวงหนี้- ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้2. กำหนดให้มีการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง3. การติดต่อกับบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ทำได้เพียงสอบถามสถานที่ติดต่อลูกหนี้เท่านั้นโดยกำหนดวิธีปฏิบัติในการติดต่อกับบุคคลอื่น เช่น ผู้ทวงถามหนี้ต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล ชื่อหน่วยงาน ไม่แจ้งความเป็นหนี้ของลูกหนี้ ไม่ใช้ภาษา สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมายหรือในหนังสือหรือในสื่ออื่นใดที่ทำให้เข้าใจว่าติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ ไม่ติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้4. กำหนดหลักเกณฑ์ในการทวงถามหนี้ ดังนี้4.1  วิธีปฏิบัติในการติดต่อกับลูกหนี้ผู้ทวงถามหนี้ต้องติดต่อกับลูกหนี้ตามสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ ติดต่อในเวลา 9.00น. – 20.00น. แจ้งลูกหนี้ทราบถึงชื่อผู้ให้สินเชื่อและจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ แสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากผู้ให้สินเชื่อต่อลูกหนี้ด้วย และเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้แล้วให้ผู้ทวงถาม ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้4.2 ข้อห้ามในการทวงถามหนี้ ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่น1) ไม่กระทำการในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่น เสียดสีลูกหนี้หรือบุคคลอื่น เปิดเผยความเป็นหนี้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ติดต่อลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึกหรือโทรสาร หรือใช้ภาษา สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมายหรือในหนังสือที่ทำให้เข้าใจว่าติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ และทวงถามหนี้ในลักษณะอื่นตามคณะกรรมการประกาศกำหนด2) ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการ ทวงถามหนี้โดยแสดงหรือใช้เครื่องหมาย เครื่องแบบหรือข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้ ทำโดยทนายความ สำนักงานกฎหมาย แสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกอายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือแสดงให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือแสดงให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต3) ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะไม่เป็นธรรม โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด หรือการเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค ทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้5. การกำกับดูแลผู้ทวงถามหนี้5.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 8 ท่าน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  นายกสภาทนายความ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร กฎหมาย และการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละ 1 คน และเจ้าหน้าที่ สศค. เป็นฝ่ายเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระคราวละ 3 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกันสศค. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้ ประสานราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ให้สินเชื่อ ผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใด รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย6. บทกำหนดโทษ6.1 กำหนดแยกระหว่างการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับการกระทำผิด ที่ไม่ร้ายแรงให้แยกเป็นโทษทางปกครอง เช่น ติดต่อโดยไม่แจ้งชื่อ ที่มา ติดต่อนอกเวลา เรียกค่าธรรมเนียมเกินอัตรา และกรณีความผิดร้ายแรงให้แยกเป็นโทษอาญา โดยกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินกิจการฝ่าฝืน ปรับทางปกครองไม่เกิน 1 แสน6.2 โทษอาญา1) จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประกอบธุรกิจโดย ไม่จดทะเบียน เปิดเผยความเป็นหนี้กับบุคคลอื่น ใช้วาจาดูหมื่น เสียดสี จูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค)2) จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เชื่อว่าเป็นการกระทำของทนายความ)3) จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ เครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ)7. บทเฉพาะกาลผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้อยู่ก่อนวันที่ พรบ. นี้มีผลใช้บังคับ ให้ยื่นขอจดทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ พรบ. นี้มีผลใช้บังคับลูกหนี้คงต้องตั้งตาคอยกันว่า  กฎหมายฉบับนี้จะคลอดเมื่อไร และจะคลอบคลุมพฤติกรรมของคนทวงหนี้ได้จริงหรือไม่  หวังว่า การพิจารณาร่างกฎหมายคงออกมาให้ลูกหนี้ได้ชื่นใจ สมกับคำที่ว่า   คสช. คืนความสุขให้กับคนไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 ปลั๊กไฟรุ่นพิเศษ เสียบปุ๊บ ไฟดับปั๊บ...

คุณโสภา  ได้ซื้อปลั๊กไฟชนิดอย่างดียี่ห้อหนึ่ง จากร้านจำหน่ายที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เป็นปลั๊กไฟแบบ 5 ช่องเสียบ ยาว 4.5 เมตร  มา 1 อัน ในราคา 400 บาทเมื่อกลับมาถึงบ้าน  คุณโสภาได้หยิบปลั๊กมาเพื่อใช้งานทันที หลังจากเสียบปุ๊บ ทันใดนั้นไฟฟ้าทั้งชั้นก็ดับสนิท อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เปิดอยู่ เช่น ทีวี พัดลม คอมพิวเตอร์ ทุกอย่างดับหมด  แต่คุณโสภา ยังไม่อยากเชื่อว่าปลั๊กไฟที่ซื้อมาจะเสีย ที่ไฟดับอาจเป็นเพราะพอดีการไฟฟ้าหยุดจ่ายไฟก็ได้ คุณโสภาจึงไปขอทดลองเสียบปลั๊กไฟอีกครั้งกับบ้านอีกหลังหนึ่งในบริเวณเดียววัน เมื่อเสียบปุ๊บ ผลเป็นเช่นเดียวกัน คือ ไฟฟ้าของบ้านหลังนั้นดับสนิท ทุกอย่างไม่สามารถใช้งานได้ คุณโสภาจึงรีบโทรศัพท์ไปที่ร้านเพื่อแจ้งว่าปลั๊กไฟที่ซื้อมามีปัญหา แต่ร้านที่ซื้อบอกไม่เกี่ยวกัน ให้ไปติดต่อกับบริษัทเอาเองเจอแบบนี้ คุณโสภา มึนแปดด้านไม่รู้จะทำยังไง ปลั๊กก็เสีย ไฟก็ดับ จึงมาขอคำปรึกษาและร้องเรียนที่มูลนิธิฯ แนวทางแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ จริงๆ แล้วง่ายมาก ตามสิทธิผู้บริโภคเมื่อซื้อสินค้ามาแล้วใช้งานไม่ได้ ผู้บริโภคก็ย่อมมีสิทธิได้เปลี่ยนสินค้าหรือได้เงินคืนกรณีนี้คุณโสภา สามารถนำสินค้าไปเปลี่ยนกับร้านที่ซื้อได้เลย แต่อาจจะมีปัญหาถกเถียงกันนิดหน่อย หากร้านที่ขายไม่ยอมให้เปลี่ยน อาจทำให้อารมณ์เสีย แต่ถ้าไม่อยากให้มีปัญหาและไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ซื้อมาแล้วยังต้องเอาไปเปลี่ยน เพื่อความรวดเร็วจึงแนะนำให้กดโทรศัพท์ไปที่บริษัทผู้ผลิตปลั๊กไฟ ที่ระบุชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่กล่องผลิตภัณฑ์ เพื่อขอให้บริษัทส่งพนักงานเข้ามาตรวจสอบปลั๊กไฟที่ซื้อและระบบไฟฟ้าที่บ้านว่าเกิดจากสาเหตุใด หากมีความชำรุดเสียหายของอุปกรณ์และระบบไฟฟ้า อันเกิดจากปลั๊กไฟที่ชำรุดเสียหายแล้วนำมาจำหน่าย บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขหลังการแนะนำ คุณโสภาได้ทำตาม  และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน บริษัทได้ส่งช่างเทคนิคมาตรวจสอบปลั๊กไฟและระบบไฟฟ้าของบ้านทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าระบบไฟฟ้าของบ้านไม่มีปัญหา ช่างของบริษัทสามารถแก้ไขให้เป็นปกติเหมือนเดิมได้ แต่ในส่วนปลั๊กไฟที่ซื้อมานั้น ทดสอบแล้วพบว่ามีความชำรุดบกพร่องของสินค้าจริง บริษัทจึงขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการนำปลั๊กไฟตัวใหม่ที่ทดลองแล้วว่าสามารถใช้งานได้มาให้แทน และขอนำปลั๊กไฟตัวปัญหากลับคืน เพื่อทดสอบหาสาเหตุต่อไปเรื่องเหมือนจะจบลงด้วยดี ถ้าคุณโสภาเป็นเพียงผู้บริโภคธรรมดาที่ไม่คิดมาก แต่คุณโสภา เข้าใจว่าปัญหาแบบนี้อาจเกิดได้กับทุกคนที่ซื้อปลั๊กไฟ และเพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงนั้น จึงได้ขอสงวนสิทธิที่จะไม่ให้ปลั๊กไฟตัวปัญหาให้กับบริษัท แต่จะขอนำส่งให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ทดสอบหาข้อเท็จจริงของการชำรุดเสียหายของปลั๊กไฟนี้ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะเจอปัญหาแบบเดียวกันนี้การดำเนินการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที กับการแสดงความรับผิดชอบของบริษัทเช่นนี้ ทำให้คุณโสภา ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เกิดความสบายใจและไม่คิดจะ ซึ่งหากใครที่เจอปัญหาแบบเดียวกันนี้ ก็สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมทั้งนี้เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้ว่า ปัจจุบันปลั๊กไฟ หรือปลั๊กพ่วง แบบต่างๆ ที่ขายกันในบ้านเรานั้น แท้จริงแล้ว มี มอก. เพียงเฉพาะในส่วนที่เป็นมาตรฐานสายไฟ คือ มอก. 11-2531  หรือ มอก. 11 ที่เป็นสายไฟหุ้มฉนวนทองแดง PVC  เท่านั้น โดยที่ในส่วนที่เป็นรางปลั๊กไฟทั้งชุด มอก. ไมได้กำหนดมาตรฐานควบคุมไว้ ซึ่งการกำหนดให้มีมาตรฐานดังกล่าวของสายไฟดังกล่าว ทาง มอก.  ได้ออกเป็นมาตรฐานประเภททั่วไป ที่ไม่มีการบังคับ คือจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าได้รับเครื่องหมายก็แสดงถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆนั่นหมายความว่า ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่นำปลั๊กไฟมาขายนั้น ขอแค่มีสายไฟที่ถูกหลักเกณฑ์ตามมาตรฐาน มอก. ก็จะสามารถนำมาขายในประเทศไทยได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายก็จะไม่บอกข้อมูลในส่วนนี้ให้ผู้บริโภคได้รับรู้กันด้วย บอกแค่ว่า ผลิตภัณฑ์นี้ได้ มอก. เท่านั้นเท่านี้ ผู้บริโภคก็คิดกันไปเองว่า มอก. นี้คือ มาตรฐานของปลั๊กไฟทั้งชุด... อึ้งกันเลยใช่ไหมล่ะ !!!เจอแบบนี้ ผู้บริโภคก็คงต้องดูแลตัวเอง การเลือกใช้ปลั๊กไฟจึงควรพิจารณาในส่วนประกอบต่างๆ ของปลั๊กให้ดี ทั้งตัวปลั๊กเสียบ สายไฟฟ้าและวัสดุที่ใช้ทำรางปลั๊ก และอย่างน้อยก็ อย่าลืมมองหาปลั๊กไฟที่มีตรามาตรฐาน มอก. ในการพิจารณาเลือกซื้อ แม้จะมีมาตรฐานเฉพาะสายไฟอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและความปลอดภัยในการใช้งานนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 ทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงคัดค้านการแจกคูปอง 1,000 บาท กรณีกล่องดิจิตอลทีวี

วันนี้ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องการแจกคูปองเพื่อให้ประชาชนไปแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล ของ กสทช.  คงเชยแย่....   แต่เอ๊ะ! เรื่องดีๆ อย่างนี้ ทำไมมีทั้งคนสนับสนุน และคัดค้านมากมายจัง    ผู้บริโภคค้านการแจกคูปองราคา 1,000  บาท  เสนอให้กำหนดราคาคูปองเพียง 690 บาท   แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล  กลับค้านการแจกคูปองราคา 690 บาท และสนับสนุนการแจกคูปองราคา 1,000 บาท  โอ้ย...มันกลับหัวกลับหางยังไงกันผู้บริโภคน่าจะดีใจที่ได้คูปอง 1,000 บาท  กลับไม่เอา   ได้มากก็ดีแล้วไง  ทำไมถึงมาค้าน เพราะอะไร?   โดยเฉพาะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  เป็น 2 องค์กรที่ออกมาคัดค้านเต็มเหนี่ยว  และโดนสังคมตั้งคำถามมากมายถึงการออกมาคัดค้านเรื่องนี้   ถามจริงๆ ก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่า สาเหตุที่คัดค้าน คือ 1. ราคา และ  2. ขั้นตอนการแจกค้านทำไม?  ชัดๆ นะเพราะเงินที่จะนำมาใช้ในการแจกคูปอง  22  ล้าน ครัวเรือน ต้องใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท     แม้จะเถียงว่าเงินนี้ไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดิน  แต่เป็นเงินที่ได้มาจากการประมูลคลื่นความถี่ ทีวีดิจิตอล(รัฐธรรมนูญกำหนดว่าคลื่นความถี่ “ถือว่าเป็นสมบัติชาติ”) เงินที่นำมาแจกคือเงินของประเทศ    ดังนั้นการใช้เงินนี้ต้องสุจริต โปร่งใส   และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ    การแจก “คูปอง” ไม่ใช่ปัญหา  แต่ปัญหาคือ “การกำหนดราคาคูปอง”แล้วทำไม? เครือข่ายที่ทำงานด้านผู้บริโภค จึงสนับสนุนการแจกคูปอง 690 บาท  คำตอบคือ  เพราะราคากล่องดิจิตอล  500  บาท ผู้ผลิตผู้ขายก็มีกำไรแล้ว(มีบริษัทผู้ผลิตและนักวิชาการออกมายืนยันชัดเจน) การกำหนดราคาคูปอง 1,000 บาท เป็นการกำหนดราคาเกินจริง  คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชน !  เพราะกำหนดราคาที่ 1,000 บาท ผู้ขายกล่องก็จะอัพราคาให้สูงกว่าราคาคูปองอยู่ดี  จะเห็นได้ว่า ตอนแรกที่ กสทช. มีแนวจะกำหนดราคาคูปองที่ 690 บาท ราคากล่องในท้องตลาดเรายังหาซื้อได้ในราคา 600-700 บาท ตอนมีข่าวว่า กสทช.จะกำหนดราคาคูปองใหม่เป็น 1,000 บาท  ราคากล่องก็ขึ้นราคาไปที่ 1,200  บาท   แต่ถึงเวลาเคาะราคาจริงที่ 690 บาท  ราคากล่องก็เริ่มลงราคามาแล้วในหลายยี่ฮ้อ  คงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า  ไม่ว่าจะแจกคูปองราคาเท่าไร   เราก็ต้องจ่ายเพิ่มส่วนต่างอยู่ดี  คนที่ได้ประโยชน์พุงปลิ้น ไม่ใช่ผู้บริโภคประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดแห่งการปฏิรูป   การปฏิรูป ก่อนอื่น เราต้องมองข้ามผลประโยชน์ส่วนตน   และต้องร่วมแรงร่วมใจรักษาผลประโยชน์ชาติ   ไม่ปล่อยให้เกิดการโกงด้านนโยบายซ้ำซากอีก   มหากาพย์คูปองดิจิตอลยังไม่จบ   ยังมีเรื่องวิธีการแจก  วิธีการจำหน่ายกล่องฯ  ใครจะมีสิทธิขายได้บ้าง จะเอื้อเพียงรายใหญ่  หรือรายเล็กรายน้อยก็มีสิทธิขายได้  ต้องติดตามตอนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 น้ำมะเขือเทศกล่อง ขึ้นรา !!! กินไปแล้วทำไงดี

กลายเป็นข่าวครึกโครมบนโลกออนไลน์กันอีกครั้ง เมื่อมีผู้บริโภครายหนึ่ง โพสกระทู้ในเว็บไซด์พันทิปดอดคอม ว่า  “ เตือนภัยน้ำผลไม้ยี่ห้อดัง !!! ”   พร้อมระบุถึงความผิดปกติของน้ำมะเขือเทศที่ดื่มไป และยังได้โพสภาพของสิ่งแปลกปลอมรูปร่างประหลาดที่อยู่ในน้ำมะเขือเทศดังกล่าวไว้ให้คนอื่นเห็นอีกด้วยกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณคทาธร ได้ซื้อน้ำมะเขือเทศบรรจุกล่อง UHT  ยี่ห้อมาลี จากห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน เพื่อให้ลูกสาวดื่ม ซึ่งลูกสาวได้เปิดกล่องและดื่มน้ำมะเขือเทศตามปกติ แต่ไม่ได้นำเข้าตู้เย็น ดื่มไปสามวันอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้สังเกตว่าน้ำมะเขือเทศที่ดื่มมีอะไรเจือปนอยู่หรือเปล่าจนเข้าวันที่สามก็ผิดสังเกต เมื่อจะดื่มปรากฏว่าเทน้ำไม่ออก เหมือนมีอะไรอุดอยู่ที่ปากกล่อง จึงลองเขย่า เทแล้วก็ยังไม่ออก ด้วยความสงสัยจึงตัดสินใจบีบกล่อง ดูเพื่อความแน่ใจ สิ่งที่เธอเห็น ทำให้เธอผงะ แทบอาเจียนออกมาเลยทีเดียว เพราะสิ่งแปลกปลอมที่ติดคาอยู่ในกล่อง  มีสภาพเหมือนหนังคางคกตากแห้งแช่น้ำลื่นๆ เหนียวๆ“ถ้ารู้ว่ามีสิ่งนี้แต่แรก คงไม่กินจนหมดแบบนี้ “เธอแจ้งคุณคทาธรผู้เป็นพ่อทันที คุณคทาธร จึงรีบโทรศัพท์แจ้ง Call Center  ผู้ผลิตตามเบอร์โทรศัพท์และเวลาทำการที่ติดอยู่ข้างกล่อง ลองโทรอยู่หลายที แต่ติดต่อไม่ได้ ไม่มีคนรับสาย คุณคทาธรจึงตัดสินใจโพสกระทู้ลงเว็บไซด์พันทิพย์ดอดคอม โดยเพื่อเป็นการเป็นการเตือนให้ผู้บริโภครายอื่นรับรู้ และหวังว่าบริษัทจะรู้ว่าสินค้าของบริษัทมีปัญหา เพื่อบริษัทจะแสดงความรับผิดชอบบ้างหลังจากโพสกระทู้ไปแล้ว ในคืนนั้นเอง ตัวแทนบริษัทก็ติดต่อกลับมา สอบถามรายละเอียดของสินค้ากับลักษณะของสิ่งแปลกปลอมที่พบเจอ พร้อมขอแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่คุณคทาธร คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นเรื่องการซื้อสินค้าของตนเอง แต่สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีขายอยู่จำนวนมาก อาจมีผู้บริโภคคนอื่นที่เจอปัญหาแบบตน และเพื่อให้บริษัทตรวจสอบหาความจริงของสิ่งปลกปลอมนี้ คุณคทาธร จึงตัดชิ้นสิ่งแปลกปลอมครึ่งหนึ่งให้กับบริษัทเพื่อนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุ โดยอีกส่วนหนึ่งจะขอนำส่งให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ตรวจสอบปัญหา เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างกับประชาชนผู้บริโภคต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา แม้ว่ากรณี บริษัทได้แถลงการณ์ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันที สรุปได้ว่า  เบื้องต้นกรณีนี้สามารถเกิดขึ้นจาก micro leak คือ รอยรั่วที่มีขนาดเล็กมากเฉพาะอากาศที่ผ่านเข้าไปได้เท่านั้น น้ำจะไม่สามารถไหลซึมออกมาได้ โดยอากาศจะค่อยๆ ซึมผ่านเข้าไปภายในกล่อง ทำให้จุลินทรีย์เติบโตกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมลักษณะดังกล่าวได้ ซึ่งสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้จากการกระแทกระหว่างขนส่ง หรือทางร้านอาจมีการทำกล่องตกหล่นแล้วนำกลับขึ้นไปวางใหม่ ทำให้บรรจุภัณฑ์ชำรุดได้เช่นกันแต่การแถลงการณ์ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นของบริษัท โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบหาสาเหตุหรือวิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น อาจจะยังไม่เป็นคำตอบสุดท้ายของผู้บริโภค  ที่หวังว่าปัญหาแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกเนื่องจากหากลองย้อนไปค้นข้อมูลในโลกออนไลน์ดูแล้วจะพบว่า ปัญหาน้ำผลไม้บรรจุกล่องที่เจอสิ่งปนเปื้อนแปลกปลอมนี้มีเกิดขึ้นโดยตลอด ซึ่งคำตอบของบริษัทที่ออกมาล้วนไม่แตกต่างกัน คือ เกิดจากระบบการขนส่งที่มีปัญหา ทำให้กล่องผลิตภัณฑ์มีรูรั่ว ทำให้อากาศที่มีเชื้อราและเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ปนเปื้อนเข้าไปในกล่องผลิตภัณฑ์และเป็นสาเหตุให้ผลิตภัณฑ์เสียและเกิดก้อนเชื้อราดังกล่าว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าว บริษัทรับรู้รับทราบ แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนไม่มีใครรับรองได้ว่าปัญหาจะไม่เกิดขึ้นอีก หรือเกิดขึ้นแล้วแต่ไม่มีใครรู้ จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทหรือผู้ผลิตที่จะออกมาตรการกำกับดูแลอย่างจริงจังเพื่อป้องกันและไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคตดังนั้น  เพื่อให้เกิดความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ของบริษัท วันที่  31 กรกฎาคม 2557   บริษัทจึงได้ขอเข้ามาชี้แจงสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาของบริษัทต่อผู้บริโภคร่วมกับคุณคทาธรที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 1.  บริษัทขอชี้แจงว่า ผลการวิเคราะห์จากตัวอย่างของผู้ร้องนั้น เป็นเชื้อรา Aspergilus  ที่น่าจะเกิดจากฝาเปิดกล่องที่ตรวจสอบพบรอยรั่ว สันนิษฐานว่า สินค้าอาจได้รับการกระแทกหรือตกหล่นในระหว่างการขนส่ง  และบริษัทจะส่งตรวจสอบเพิ่มเติม กับ หน่วยงานกลาง ได้แก่  หน่วยงานวิจัยของม.มหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ซึ่งน่าจะทราบผลประมาณ 30 วันทำการ2.  บริษัทจะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา  ตั้งแต่กระบวนการผลิต , ระบบการขนส่ง  และระบบการจัดเก็บของตัวแทนจำหน่ายจนถึงมือผู้บริโภค3.  บริษัทฯ จะเข้าไปชี้แจง  ในกระทู้ที่ร้องเรียน  มาลีสัมพันธ์ , เว็บพันทิปส่วนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะองค์กรรับเรื่องร้องเรียน เบื้องต้นนำน้ำมะเขือเทศกล่องใหม่ยี่ห้อดังกล่าว มาทดสอบด้วยการเปิดเทดื่มโดยไม่ได้นำเข้าเก็บในตู้เย็นเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน ตามแบบคุณคทาธร เพื่อต้องการพิสูจน์ว่าสาเหตุของการมีเชื้อราไม่ใช่เกิดจากการดื่มน้ำมะเขือเทศแล้วไม่นำเข้าตู้เย็น ซึ่งผลการทดสอบก็ไม่พบเชื้อราหรือสิ่งแปลกปลอมในกล่องน้ำมะเขือเทศแต่อย่างใด ซึ่งขั้นตอนต่อไปของมูลนิธิฯ นั้นจะนำตัวอย่างเชื้อราหรือสิ่งแปลกปลอมที่พบในกล่องน้ำมะเขือเทศของผู้ร้องนำส่งหน่วยงานด้านโภชนาการวิเคราะห์ตัวอย่างปัญหา เพื่อให้เป็นข้อมูลเฝ้าระวังสำหรับผู้บริโภคต่อไปขอฝากสำหรับผู้บริโภคเอง ก็มีหน้าที่ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าด้วยเช่นกัน เช่น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีวันหมดอายุ ไม่มีรอยบุบหรือชำรุดเสียหาย การรับประทานน้ำผลไม้บรรจุกล่องแบบนี้ ควรนำเข้าตู้เย็นทุกครั้งเมื่อรับประทานเสร็จ และควรต้องรับประทานให้หมดภายใน 3 วัน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเองด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เป็น “หนี้” เพราะยกเลิกประกันชีวิต

ยกเลิกประกันชีวิต  แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเป็นหนี้     ฟังแล้วก็งง ไปตามกัน  ลองค่อยๆ ติดตามกันว่าเรื่องมันมีที่มาที่ไปอย่างไรตอนที่ลุงสายันต์ หอบกรมธรรม์ที่ลุงเก็บไว้ในซองจดหมายของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ตั้งแต่ปี 2553  มากางให้เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ดู แล้วก็โวยวายว่า   ลุงเป็นหนี้เพราะถูก บริษัทฯ หลอกให้จ่ายเบี้ยประกันชีวิตต่อแล้วลุงจะได้เงินคืนทั้งหมด   ลุงอุตส่าห์ไปกู้เงินเพื่อนมาจ่ายเบี้ยประกันทุกเดือนรวมแล้ว หมื่นเจ็ดพันกว่าบาท แต่จ่ายครบแล้วบริษัทฯ กลับเบี้ยวคืนเงินให้ลุงไม่ครบ   ลุงจะไปแจ้งความข้อหาหลอกลวง  เอ้า !  ไปกันใหญ่เสียงลุงดังมาก จนต้องบอกคุณลุงใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ คุยกัน หลังจากปล่อยให้ลุงสงบ สติอารมณ์ สักพักเราซักถามลุงจึงรู้ว่าที่ลุงพูดเสียงดังๆ เพราะหูข้างซ้ายพิการไม่ได้ยิน  และนี่เป็นสาเหตุที่ลุงต้องไปขอยกเลิกสัญญากรมธรรม์กับบริษัทฯ  ความพิการทำให้ลุงไม่สามารถทำงานหาเงินส่งเบี้ยประกันชีวิตต่ออีกได้  แต่ตอนที่ลุงไปแจ้งบริษัทฯ  มันครบสองปีแล้ว  เจ้าหน้าที่ Call center บอกให้ลุงส่งเบี้ยประกันชีวิตต่ออีก 1  ปี เพื่อที่จะได้เงินคืนตามสิทธิ  ลุงคิดคำนวณแล้วว่า หากลุงส่งเบี้ยประกันเพิ่มอีกปี ลุงจะได้เงินคืนประมาณ ห้าหมื่นบาท  ลุงจึงไปกู้เงินเพื่อนมาส่งเบี้ยประกัน    แต่เมื่อครบกำหนด ลุงไปแจ้งยกเลิกกรมธรรม์  บริษัทฯ กลับคืนเงินให้ลุง เพียง 15,400 บาท  บอกว่าลุงมีสิทธิที่จะได้เงินคืนเท่านี้ลุงไม่ยอมจำนนง่ายๆ ไปร้องเรียนที่ คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย)  เจ้าหน้าที่เรียกบริษัทมาฯ ไกล่เกลี่ย  ทางตัวแทนบริษัทฯ  ก็บอกว่าจะเสนอบริษัทฯ เพิ่มเงินช่วยเหลือให้ลุงอีกสามพันกว่าบาท  ลุงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ คปภ.เข้าข้างบริษัทฯ ก็เลยไม่ตกลง  ลุงจึงไปปรึกษาทนายความที่รู้จัก  “เขาบอกว่าลุงฟ้องชนะแน่” ลุงบอกว่าอย่างนั้น ฟังลุงเล่าแล้วซับซ้อนน่าดู    แต่พอมาตรวจสอบจากเอกสาร  เจ้าหน้าที่อย่างเราเลยถึงบาง “อ้อ”  ว่าเงินที่ลุงแกเข้าใจว่าต้องได้คืนนั้น  คือ เบี้ยประกันชีวิตที่ส่งมา 3 ปี ส่วนที่บริษัทฯ บอกว่าแกจะได้เงินตามสิทธินั้น เป็น “มูลค่าเงินสด”  ที่หากผู้เอาประกันบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ภายหลังส่งเบี้ยประกันไปแล้ว 2 ปี  จะมีสิทธิได้รับเงินคืน ที่เราเรียกกันว่า “ค่าเวนคืนกรมธรรม์”  ซึ่งจะมีระบุอยู่ในกรมธรรม์ว่า ในแต่ละปีมีมูลค่าเงินสดเท่าไร      เมื่อทราบสาเหตุจึงได้พยายามอธิบายให้ลุงทราบ  ซึ่งกว่าลุงจะเข้าใจเสียงแหบเสียงแห้งไปตามๆ กัน แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้เชิญตัวแทนบริษัทฯ  และลุงเข้ามาพูดคุยเรื่องนี้  ทนายที่เป็นตัวแทนบริษัทฯ ชี้แจงว่า (1) ลุงไปบอกเลิกสัญญาก่อนครบ 2  ปีเพียงเดือนเดียว   ดังนั้นเจ้าหน้าที่ Call center เห็นว่าหากยกเลิกก่อนลุงจะเสียสิทธิไม่ได้รับค่าเวนคืนกรมธรรม์ประมาณเจ็ดพันกว่าบาท  และเหลือเวลาไม่นาน จึงแนะนำให้ลุงส่งต่อ  แต่ไม่แน่ใจว่าขณะอธิบายลุงเข้าใจอย่างไร  (2) เมื่อลุงสายันต์ส่งเบี้ยประกันต่อมาเรื่อยๆ  แต่ลุงไม่ได้แจ้งยกเลิกสักที  บริษัทฯ จึงคิดว่าคงไม่ยกเลิกแล้ว  แต่ลุงมาแจ้งยกเลิกเมื่อครบปีที่ 3  และพอลุงทราบว่าได้เงินไม่ครบตามที่ลุงคิด  ลุงจึงไปร้องที่ คปภ. ตัวแทนบริษัทฯ จึงไปชี้แจงพร้อมทั้งเสนอเงินช่วยเหลือ  แต่ลุงปฏิเสธ  เพราะความเข้าใจผิดหลังจากทุกฝ่ายได้พูดคุยและเข้าใจตรงกันแล้ว  จึงตกลงกันที่ข้อยุติที่ว่า  บริษัทฯ จะคืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ในปีที่ 2  และเงินค่าเบี้ยประกันในปีที่ 3  ทั้งหมด  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 24,712 บาท  วันที่ลุงมารับเช็คจากบริษัทฯ   ลุงบอกขอบคุณมูลนิธิฯ  มากมายที่ช่วยให้ลุงได้รับเงิน  ลุงจะได้มีเงินไปใช้หนี้เพื่อนที่ยืมมาซักทีข้อคิดจากเรื่องนี้คือ ผู้บริโภคพึงทราบว่า การซื้อประกันชีวิตต่างกับการฝากเงินออมทรัพย์ ตรงที่ว่าฝากเงินเท่าไร ถอนเงินเมื่อไรก็ได้ และจะได้เงินคืนเท่าที่ฝากพร้อมดอกเบี้ย   แต่หากทำประกันชีวิต เบี้ยประกันที่จ่ายไปจะไม่ได้คืน  และหากยกเลิกสัญญาก่อน 2 ปี จะไม่มีมูลค่าเงินสดเพื่อนำมาคำนวณ เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์เลย  ดังนั้นต้องตัดสินใจให้ดีก่อนทำสัญญาประกันชีวิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เจ็บป่วยด้วยอุบัติเหตุกับการใช้สิทธิประกันสังคมตามมาตรา 33

 คุณมิว...แวะซื้อนมถั่วเหลืองชนิดขวดแก้ว ราคา 10 บาท  จากร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอย  จำนวน 1 ขวด  เพื่อใช้กินแทนมื้อเย็น ระหว่างเดินชิลๆ เข้าห้องพัก ขณะที่เปิดประตูห้อง ถุงขวดนมถั่วเหลืองได้หลุดจากมือตกใส่เท้าอย่างแรง แรงขนาดนิ้วเท้าที่เพิ่งถอดรองเท้าออก โดนเศษแก้วบาดตรงบริเวณนิ้วโป้งจนเลือดไหลไม่หยุด  คุณมิวตกใจพยายามห้ามเลือด แต่ดูท่าจะเอาไม่อยู่เพราะเลือดไหลตลอดแม้ใช้สำลีพันแผลไว้ และรีบนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปคลินิกใกล้หอพักเพื่อรักษาแผลคลินิกรักษาโรคทั่วไปที่คุณมิวพาตัวเองไปใช้บริการนั้น ตรงกระจกด้านหน้าคลินิกดังกล่าวได้ระบุไว้ว่ารับบัตรประกันชีวิตกรุงไทย, AIA  และอีกหลายบริษัทฯ  และรับสิทธิประกันสังคม  คุณมิวจึงเข้าไปเพื่อให้ทำแผลที่เลือดไหลไม่หยุด  เมื่อให้นางพยาบาลดูบัตรประกันชีวิต พยาบาลประจำคลินิกแจ้งว่า ไม่สามารถใช้ที่คลินิกได้ต้องไปรักษาที่ รพ.พระราม 9 ซึ่งเป็นรพ.เอกชนที่รับบัตรประกันชีวิตทุกชนิด พอสอบถามเรื่องสิทธิประกันสังคม ก็ทราบว่าคลินิกให้บริการเฉพาะบุคคลที่ใช้สิทธิที่ รพ.ตากสินทำไมชีวิตมันยุ่งยากนัก เลือดก็ไหลไม่หยุด แผลเริ่มปวด นางพยาบาลถามย้ำว่าจะล้างแผลที่นี่หรือจะนั่งรถไปที่ รพ.พระราม 9 หรือจะไปใช้สิทธิตาม รพ.ที่รองรับสิทธิของตนเอง  คุณมิวจึงตัดสินใจให้นางพยาบาลที่คลินิกทำแผล โดยยื่นความประสงค์ขอจ่ายเงินเอง เนื่องจากคงไม่สะดวกที่จะหอบเอาเท้าที่เลือดยังไหลไม่หยุดไปรักษาถึง รพ.พระราม 9 หรือ รพ.ราชวิถี แพทย์ที่รักษาคนไข้อยู่ในห้องอีกห้องได้เดินออกมาดูอาการพร้อมแจ้งให้นางพยาบาลฉีดยาบาดทะยักให้กับผู้ป่วยด้วย  พร้อมกำชับให้ดูแลความสะอาดไม่ให้แผลโดนน้ำ เมื่อทำแผลเสร็จแพทย์ได้เดินมาฉีดยากันบาดทะยักพร้อมให้นางพยาบาลแจ้งการเก็บค่ารักษาพร้อมค่ายา ซึ่งประกอบด้วย ยาแก้อักเสบ และยาพาราเซตามอล  อย่างละ 1 ถุง  ค่ายารวมทั้งหมด 800 บาท คุณมิวได้ขอใบรับรองแพทย์ พร้อมใบเสร็จรับเงิน ก่อนจ่ายค่ารักษา และใบนัดฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก อย่างไรก็ตาม คุณมิว ซึ่งเป็นผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ตามมาตรา 33 สิทธิ เพียงแต่สิทธิขึ้นอยู่ที่ รพ.ราชวิถี เมื่อไปเข้าคลินิกที่ไม่ได้รองรับสิทธิ    จึงจำเป็นต้องจ่ายเงินล่วงหน้าก่อน  ต่อมาเมื่อได้ทำเรื่องเบิกเงินคืนจากประกันสังคม เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ ก็สามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้ตามที่กฎหมายประกันสังคมได้ระบุไว้   และได้รับเงินคืนครบตามจำนวนคือ 800 บาท โดยสำนักงานประกันสังคม โอนเงินผ่านทางธนาคาร ตามที่ระบุไว้ตอนที่ทำเรื่องเบิกเงินคืน แนวทางแก้ไขปัญหาจะพบว่า ผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคมไม่ได้รับความสะดวกในกรณีฉุกเฉินสักเท่าไร ถ้าไม่ใช่ รพ. ที่ระบุไว้ในบัตรหรือในเครือ ต้องออกเงินเองไปก่อน ต่อเมื่อทำเรื่องในภายหลังจึงจะได้รับเงินคืน ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เนื่องจากเป็นกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน  ให้ผู้ประกันตนนำใบเสร็จรับเงิน, ใบรับรองแพทย์ มาประกอบในการขอเงินคืน โดยแนะนำผู้ประกันตนไปยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ (สปส.2-01/ม.40)  สามารถโหลดแบบฟอร์มได้ในเว็บไซต์ http://www.sso.go.th/wpr/uploads/uploadImages/file/2sps201.pdf แนบใบรับรองแพทย์ (ตัวจริง)(ถ่ายสำเนาเก็บไว้ 1 ชุด)  ,ใบเสร็จรับเงิน (ตัวจริง) (ถ่ายสำเนาเก็บไว้ 1 ชุด)   และเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นๆ ที่หน่วยงานราชการออกให้  และสำเนาเวชระเบียน (ถ้ามี) แนบไปด้วย แนบสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร กรณีที่ให้สำนักงานประกันสังคมโอนเงินคืนทางธนาคาร ระบุแจ้งเบอร์โทรศัพท์ในใบข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อสะดวกในการติดต่อประสาน ผู้ร้องสามารถยื่นเอกสารโดยส่งทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานประกันสังคมเขตตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือนำเอกสารไปยื่นได้ด้วยตนเองได้เลย ประมาณ 2 อาทิตย์ จะมีหนังสือตอบกลับจากสำนักงานประกันสังคมกรณีอนุมัติเงินทดแทนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 เบื่อไหม ขายพ่วง

เดี๋ยวหากผู้บริโภค อย่างเราๆ เริ่มมีทางเลือกมากมาย แค่ไปเปิดบัญชีในธนาคาร   อันดับแรกของการเปิดบัญชีคือคำถามจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร  ว่า “ทำบัตร ATM  ด้วยมั้ยคะ”  ถ้าคุณตอบว่าทำ คำถามต่อไปคือ “จะทำแบบไหนดีคะ  จะทำแบบบัตร ATM อย่างเดียว   หรือทำประกันด้วย” หากทำบัตรATM  อย่างเดียวโดยไม่ซื้อพ่วงประกันคุณจะกดเงินในบัญชีของคุณได้ 50,000 บาทต่อวัน   แต่หากซื้อประกันพ่วงด้วย  นอกจากความคุ้มครองตามวงเงินเอาประกันที่มีให้เลือกแบบหลากหลายแล้ว     ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ      คุณจะสามารถ กดเงินในบัญชีของคุณเองได้มากกว่าการทำบัตร ATM อย่างเดียว ถึง 3 เท่า  นั่นคือ วันละ 150,000  บาทประเด็นอยู่ตรงนี้ คือการกำหนดวงเงินที่กดใช้ได้แต่ละวันที่ไม่เท่ากัน ทั้งๆที่ ไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกทำบัตรแบบไหน  การกดเงินก็คือเงินในบัญชีของเราเอง   ไม่ได้เกี่ยวกับการซื้อประกันใดๆ เลย การนำเรื่องการใช้วงเงินในบัญชีของเรามาเป็นข้อกำหนด  เป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อประกัน น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่ผู้เขียนได้ไปทำหน้าที่ สว.  และได้คุยแลกเปลี่ยนกับ กรรมาธิการ การเงินการธนาคาร บางท่าน ถึงเรื่องนี้ก็ได้คำตอบว่า   “ธนาคารเข้ามีสิทธิกำหนด ผู้บริโภค ก็มีทางเลือก หากผู้บริโภคไม่พอใจก็ไปธนาคารอื่นเลย”(คำตอบแบบนี้งง!  มากกว่าเก่าอีก) เพราะไปธนาคารไหนๆ ข้อกำหนดก็ล้วนเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่ดี คำถาม คือปัญหา เหล่านี้ ใคร? หน่วยงานไหน? บ้างที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง   อย่าตอบนะว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย   เพราะวันนี้ก็มีอยู่แต่ไม่เห็นแก้ปัญหาอะไรได้เลย      สังคมไทยกำลังเข้าสู่ โหมดของการปฏิรูป   เรื่องสำคัญที่ต้องรีบปฏิรูป คือ เรื่องการเงินการธนาคาร  ที่แสนจะเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเช่นทุกวันนี้   การที่จะลดความขัดแย้งได้ดีที่สุดคือทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม ในระยะเวลาอันใกล้นี้คงไม่มีใครที่จะเป็นที่พึ่งได้ดีเท่าพี่ ทะ-หาน   และจะให้ดีมากขึ้น  พี่ทะ-หาน ช่วยผลักให้ “พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว  เพื่อเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคในระยะยาว  อย่างยั่งยืน   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 เมื่อลุงผู้ใหญ่ ถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริมทางโทรศัพท์มือถือ.....

ปัญหาการคิดค่าบริการโทรศัพท์ โดยระบุว่า เป็นค่าบริการเสริม ค่ารับ SMS หรือ รับข้อมูลอื่นๆ เกิดขึ้นเยอะในกลุ่มผู้ใช้บริการ ทุกเครือข่าย  ช่วงหลัง มักเจอบ่อยเรื่องของการเก็บโหลดข้อมูล Facebook หรือจากทาง แอฟต่างๆ ที่ส่งมาทางข้อความผู้ใช้บริการโดยจะคิดค่าบริการจาก 10-20 บาท และเริ่มจะมากขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ใช้บริการไม่สังเกต  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการเหมาจ่ายรายเดือน และระบบจ่ายรายเดือน เนื่องจากมีรายการหลายอย่าง หรือแม้แต่ผู้ใช้ระบบเติมเงินก็มักถูกหักเงินบ่อยครั้ง แต่ทุกรายมักจะมีคำพูดที่ว่า “ไม่เป็นไร มันไม่เยอะ แค่ 10-20 เอง”  ถ้าลองคำนวณดูว่า 10 บาท กับ 1 ล้านคน ก็เป็น 10 ล้านบาท  เยอะไหมคะ พอที่เราจะต้องเรียกร้องเงินจำนวน 10 บาท ของเราคืนไหม เพื่อที่ประโยชน์จะได้ไม่ต้องไปตกกับกลุ่มเครือข่ายโทรศัพท์ที่เอาเปรียบผู้บริโภคลุงสำเริง เป็นคนหนึ่งที่พบปัญหาการใช้โทรศัพท์ชนิดเหมาจ่ายรายเดือน ลุงสำเริง เป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่แถวเชียงราย จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์หลายเครือข่ายและมักหาโปรโมชั่นที่คุ้ม สามารถติดต่อประสานงานได้ทุกช่วงเวลา  ลุงสำเริงสังเกตว่าค่าโทรศัพท์ของตนในแต่ละเดือน มักจะแจ้งยอดค่าบริการเสริม เช่นการรับ SMS หรือบริการดาวน์โหลดข้อมูลอื่นๆ อยู่บ่อยๆ  ซึ่งตนเองก็ไม่ได้เอะใจอะไรมากเนื่องจากเป็นยอดเงินไม่มากจนกระทั่งรอบบิลเดือนพฤษภาคม  ลุงสำเริงได้รับใบแจ้งหนี้ พบว่ามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวบริการเสริม คือ ค่าบริการรับข้อมูล/ข่าวสาร จำนวน 12 ครั้ง  เป็นเงิน 78  บาท และบริการดาวน์โหลดต่างๆ จำนวน 10 ครั้ง เป็นเงิน 30 บาท รวมเป็นเงิน  108 บาท  คุณสำเริงบ่นมาตามสายว่า "เอไอเอสเก็บตังค์ลุงแห๋มแล้ว ค่าอะหยังบ่ฮู้  บ่ได้ใจ้สักน้อยโทรศัพท์ก็ใจ้แบบรุ่นเก่า เล่นFacebook ก็บ่ได้  จ่วยลุงกำเต๊อะ หยะอี้บ่เข้าท่าก้า มาไล่เก็บตังค์คนอื่นจ๊ะอี้" น้ำเสียงลุงรู้สึกแย่ๆ  เนื่องจาก ถูกเรียกเก็บแบบนี้มา 2-3 เดือนแล้ว แต่จำนวนไม่เยอะมาก จึงไม่ได้สนใจ แต่พอเจอครั้งนี้ รวมแล้วร้อยกว่าบาท จึงทนไม่ไหว ลุงสำเริงจึงไปทำเรื่องขอย้ายค่าย จากเอไอเอส เป็น ดีแทค (ซึ่งระบบแถวบ้านก็ไม่ได้ดีมาก แต่คิดว่าคงจะไม่มีการเรียกเก็บแบบนี้นัก) แต่พนักงานดีแทคแจ้งว่า ลุงสำเริงต้องไปจ่ายค่าบริการทั้งหมดก่อนจึงจะทำการย้ายค่ายให้ได้   ลุงสำเริง ช่างใจอยู่ว่าจะจ่ายเงินไปเสียเพื่อตัดความรำคาญแล้วก็ทำการย้ายค่ายหนีไปเลย รึจะทำอย่างไรดี เพราะถ้าไม่จัดการ ก็เจออีก  ลุงสำเริงจึงตัดสินใจโทรศัพท์มาเล่าเรื่องให้ฟัง พร้อมกับขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยแก้ไขปัญหาให้   แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ ด้วยตนเองโดยการแจ้งเรื่องไปยัง 1175  เพื่อให้ยกเลิกและให้คืนเงินเนื่องจากไม่ได้ใช้บริการดังกล่าว หรือ กด *137 เพื่อยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารหรือ ข้อมูลดาวน์โหลดต่างๆส่วนกรณีลุงสำเริง  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ส่งอีเมล์ ไปยังหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เพื่อให้ตรวจสอบและยกเลิกการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค จำนวน 108 บาท ที่ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ใช้บริการแต่อย่างใด   ซึ่งในวันเดียวกัน ทางหน่วยรับเรื่องรียนของเอไอเอส ได้อีเมล์กลับมาแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะขอตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานโดยตรงว่าเป็นสาเหตุหรือการใช้งานด้านใด7 วัน ต่อมา พนักงานจาก 1175 โทรมาแจ้ง ได้เช็คจากระบบแล้วพบว่า เครื่องของคุณลุงมีการใช้รับ SMS ที่ถูกส่งเข้าไป แล้วกดรับ และมีการดาวน์โหลดข้อมูลจาก Facebook   ซึ่งจากข้อมูลที่ลุงสำเริงให้มาพร้อมกับถ่ายรูปมือถือให้ดูว่าใช้มือถือรุ่นที่ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่ถูกเรียกเก็บเงิน พนักงานจึงแจ้งว่าในกรณีนี้ จะยกเว้นค่าบริการ จำนวน 108 บาทให้ แต่หากผู้บริโภคไม่ต้องการรับข้อความหรือข้อมูลข่าวสาร ให้ทำเรื่องยกเลิก โดยกด *137 ได้ด้วยตนเอง..... ซึ่งก็อาจจะต้องแก้ไขปัญหากันเป็นรายๆ ไปเพราะเครือข่ายผู้บริโภคพยายามเรียกร้องให้ เครือข่ายมือถือทุกเครือข่ายแก้ไขปัญหาการส่ง SMS กวนใจ กวนเงินให้กับผู้บริโภค อย่างจริงจัง แต่ก็ไม่เห็นมีทางออกที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงฝากเตือนผู้บริโภคว่า ควรจะพึงใส่ใจเงินในระบบโทรศัพท์  ใส่ใจใบแจ้งหนี้ค่าโทรศัพท์ให้ดี เพื่อป้องกันการขโมยเงินในกระเป๋าโดยง่ายดายแบบลุงสำเริงที่เจอมา //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 รถหาย! ถูกฟ้องเรียกค่ากุญแจ

พี่คะ  “แม่หนูถูกฟ้อง  ทำยังไงดี ”   คำถามของคุณจิราภรณ์ ที่ซื้อรถยนต์มือสอง ยี่ห้อ TOYOTA ซึ่งจัดไฟแนนท์กับ  กับบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อคุณแม่ เพราะตนเองเพิ่งทำงานและพักอยู่กับแม่ที่ ปทุมธานี  ปลายปี 54  เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ต้องอพยพทั้งข้าวของและรถยนต์มาพักบ้านพี่สาวแถวงามวงศ์วาน ทำให้บ้านคับแคบข้าวของต้องวางไว้นอกบ้าน จนจอดรถไม่ได้  เลยต้องนำรถไปจอดไว้ข้างทาง เหมือนที่ชาวบ้านทั่วไปเค้าจอดกัน  โดยล็อกพวงมาลัย ล็อกเบรก และล็อกกุญแจประตูรถยนต์  ตามที่จะสามารถล็อกได้ จอดไว้ได้ประมาณเกือบปี  รถหาย!ในวันเดียวกันกับที่ทราบเรื่อง น้องรีบพาแม่ไปแจ้งความ  ตำรวจแนะนำให้ไปขอหนังสือมอบอำนาจเพราะไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถแจ้งความเองไม่ได้  ตนเองกับแม่ก็รีบไปขอหนังสือฉบับนั้นทันที  แล้วรีบมาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจทำคดีอีกครั้ง จัดการเรื่องนี้เสร็จก็ทำหนังสือถึงไฟแนนท์ขอหยุดชำระทันที  ถูกไฟแนนท์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปอีก 500  บาท ตนเองเสียดายรถยังคิดที่จะตามหารถ โดยโพสต์ Facebook บ้าง ไปตามที่มีแหล่งข่าวว่ารถน่าจะถูกขายแถวไหนบ้าง ก็ไม่พบ เรื่องเงียบหายไปปีกว่า  อยู่ๆ แม่ก็ได้รับหมายศาลถูกไฟแนนท์ฟ้องเป็นจำเลย คดีผิดสัญญา  ไฟแนนท์เรียกให้คืนรถ หรือคืนเงิน  ชาวบ้านอย่างเรา จะสู้เค้ายังไง  มีแต่กุญแจ ไม่มีรถ  ไม่มีเงิน  จะหาทนายช่วยอย่างไร  ได้มาปรึกษากับมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากพยานหลักฐานของผู้ร้อง ที่มีอยู่ครบถ้วน  เช่น หลักฐานการแจ้งความที่มีรายละเอียดครบถ้วน, หนังสือบอกกล่าวให้บริษัท อยุธยาฯ  รับทราบว่ารถหายไม่ขอชำระค่างวด และใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการหยุดใช้รถ ภาพถ่ายต่างๆ เช่น การโพสต์ใน Facebook เพื่อตามหารถยนต์ของตนเอง สถานที่จอดรถ เป็นต้น   โดยแนวทางการต่อสู้คดีนั้น ชี้ให้เห็นว่า “รถหายมิได้เกิดจากความประมาทของผู้ซื้อ  และผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร” อีกทั้งบริษัทฯ ทราบดีอยู่แล้วว่ารถยนต์คันเช่าซื้อสูญหายไป โดยการแจ้งของผู้ร้อง ตามหลักฐานที่ผู้ร้องมี แล้วยังนำคดีมาฟ้อง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม คดีนี้ได้ขอให้ศาลยกฟ้อง    ภายหลังการพิจารณาคดี  ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง คดีนี้บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์   คงต้องตามกันต่อไปว่าจะสิ้นสุดอย่างไร //

อ่านเพิ่มเติม >