ฉบับที่ 152 เครื่องซักผ้านำเข้า...ซักผ้านวมแล้วเอ๋อ

เมื่อปลายปี 2553 ในงานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี ประสารได้ซื้อเครื่องซักผ้านำเข้าจากนิวซีแลนด์ ยี่ห้อ Fisher & Paykal บริษัท ทิมแลง 2000 จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่าย เครื่องซักผ้าที่ซื้อเป็นระบบฝาบน ขนาดความจุประมาณ 10 กิโลกรัม ราคา 25,000 บาท เหตุผลสำคัญที่ซื้อเพราะตัวแทนขายสินค้ายืนยันว่า เครื่องซักผ้ารุ่นนี้สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตอนที่ซื้อเครื่องซักผ้า ประสารเพิ่งปลูกบ้านหลังใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงฝากเครื่องไว้กับตัวแทนขายก่อน และได้รับเครื่องซักผ้าจริงๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554พอได้เครื่องซักผ้ามาก็ฉลองใช้งานเลย เสื้อ-กางเกงผ้าชิ้นไม่ใหญ่น้ำหนักไม่มาก ซักได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเอาผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตมาซักปรากฏว่าเกิดปัญหาทุกครั้ง“เครื่องจะมีอาการหยุดทำงานระหว่างที่การซักยังไม่จบ หน้าจอเครื่องร้องว่าเครื่องขัดข้อง พร้อมกับมีน้ำค้างที่ก้นถังซัก ปั่นออกไม่หมด และไม่สามารถดำเนินการซักต่อได้”วิธีการแก้ไขของประสารคือ ต้องเอาผ้าห่มออกและถอดปลั๊ก ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ พร้อมกับกดโปรแกรมให้ปั่นน้ำออก เครื่องก็จะกลับมาทำงานได้ใหม่ และซักผ้าอื่นๆ ต่อไปได้ แต่หากเอาผ้าห่มนวม 6 ฟุตกลับมาซักอีกก็จะเกิดปัญหาแบบเดิมซ้ำๆ ทุกครั้ง บางครั้งเกิดหลังซักผ้าห่มนวม 1-2 ผืน บางครั้งซักผ้าห่มนวมผืนแรกก็เกิดปัญหาที่ว่าแล้ว และประสารต้องใช้วิธีแก้ไขแบบเดิมๆ ทุกครั้งเขาตั้งข้อสงสัยว่า เครื่องซักผ้าที่ซื้อมา น่าจะซักผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตไม่ได้จริงตามที่โฆษณาก่อนที่จะนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประสารติดต่อไปที่บริษัทจัดจำหน่ายคือบริษัททิมแสง 2000 ให้มาตรวจสอบแก้ไข บริษัทแสดงความรับผิดชอบด้วยการส่งช่างเข้ามาซ่อมหลายครั้งในช่วงเวลาราว 1 ปี ตั้งแต่ที่รับเครื่องมาเมื่อต้นปี 2554 จนถึงปี 2555 การซ่อมของช่างจากบริษัททุกครั้งก็ทำและได้ผลชั่วคราวเหมือนกับที่ประสารจัดการแก้ปัญหาเอง “คือเครื่องซักผ้ากลับมาใช้งานได้ชั่วคราว ก่อนจะเกิดปัญหาเดิมอีกครั้งเมื่อซักผ้าห่มนวม 6 ฟุตอีก”สำหรับสาเหตุอาการเสียของเครื่องซักผ้าก็มีความแตกต่างกันไปในการซ่อมแต่ละครั้ง เช่น ยกท่อน้ำทิ้งสูงเกินไป เครื่องชื้นจากโดนละอองน้ำฝน หรือเครื่องชื้นจากการอยู่ในห้องปิดระบายน้ำไม่ดี เครื่องวางบนพื้นเอียง อุปกรณ์บางชิ้นเสื่อม ซึ่งเปลี่ยนแล้วก็ไม่หาย“ผมได้ร้องเรียนที่บริษัทหลายครั้งในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ด้วยความเชื่อว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้อาจไม่สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้จริงตามที่โฆษณา สุดท้ายทางผู้จัดการบริษัทแจ้งผมว่า ถ้าเครื่องมีปัญหาอีกให้รีบโทรบอก อย่าเพิ่งถอดปลั๊ก ให้ปล่อยเครื่องร้องข้ามวันข้ามคืนไปก่อนเพื่อให้การบันทึกการเสียโดยอัตโนมัติยังอยู่ที่เครื่องซักผ้า จะรีบนำเครื่องเข้ามาตรวจจับให้เพื่อจะได้ทราบสาเหตุเสียที่แน่นอนและแก้ไขได้ถูกต้อง และจะยอมคืนเงินพร้อมรับเครื่องคืน ถ้ามีหลักฐานชัดเจนแจ้งไปที่บริษัทผู้ผลิตที่นิวซีแลนด์ว่าเครื่องใช้ไม่ได้จริงๆ” ข้อเสนอของผู้จัดการบริษัทนี้มีขึ้นในช่วงปลายปี 2555หลังจากนั้นเครื่องซักผ้ายังคงทำงานตามปกติ คือรับซักเฉพาะเสื้อและกางแกง แต่ไม่รับซักผ้านวมเจอผ้านวม 6 ฟุตลงเครื่องเมื่อไหร่เป็นต้องหยุดปั่นผ้าทุกครั้ง แต่ประสารก็ไม่สามารถเปิดเครื่องให้ร้องข้ามวันข้ามคืนไว้ให้ทางบริษัทเข้ามาตรวจได้ตามที่บอก เพราะกว่าบริษัทจะเข้ามาได้ก็ต้องนัดนานเป็นสัปดาห์ ก็ต้องทนใช้วิธีการแก้ปัญหาชั่วคราวแบบเดิมไปพลางๆ“จนถึงต้นปี 2556 เมื่อเกิดปัญหาแบบเดิมอีก ผมได้แจ้งบริษัทให้ส่งช่างมาดู พร้อมกับบอกว่าจะยอมเปิดเครื่องให้ร้องทิ้งไว้ข้ามสัปดาห์ ทางบริษัทแจ้งว่า ผู้จัดการคนเดิมที่เคยคุยกับผมมาตลอดนั้นตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ทราบว่าตกลงยังไงกันไว้บ้าง ให้ปิดเครื่องไปได้เลยแล้วจะส่งช่างเข้ามาดูในสัปดาห์ถัดไป” ประสารเล่าพอถึงวันนัด มีช่างเข้ามาดูแลแจ้งว่าอุปกรณ์บางชิ้นเสื่อมอีก จะเปลี่ยนให้ฟรีแม้จะหมดประกันแล้ว แต่ช่างมาสังเกตพบว่า น้ำไหลเข้าเครื่องไม่สม่ำเสมอ และตรวจพบว่าเกิดจากแผงวงจรเสีย ซึ่งต้องเปลี่ยนแผงวงจรราคา 4,000 บาท เพราะหมดประกันแล้วประสารไม่ตกลงเพราะอะไหล่ที่จะเปลี่ยนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องซักผ้าไม่ยอมซักผ้านวม ทางช่างจึงกลับไปโดยไม่คิดค่าตรวจ แต่เครื่องซักผ้าก็ถูกทิ้งในสภาพเดิมที่แจ้งสถานะว่า ใช้งานไม่ได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาประสารพยายามโทรติดต่อกับผู้จัดการคนใหม่หลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้เลย เลขาหรือเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ว่างทุกครั้ง แล้วจะติดต่อกลับมาแต่ไม่เคยติดต่อกลับมาอีก ประสารจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแม้เรื่องนี้จะเกิดมาเนิ่นนานหลายปี แต่ก็เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทเองก็ไม่สามารถแก้ไขให้เครื่องสามารถใช้งานได้ตามโฆษณา มูลนิธิฯ จึงติดต่อไปที่บริษัทเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคประสารแจ้งว่า หลังจากที่มูลนิธิฯ ช่วยประสานงานให้ ในที่สุดทางผู้จัดการคนใหม่ได้ยอมพูดคุยด้วย และส่งช่างเข้ามาดู ทางผู้จัดการยังคงยืนยันว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้ซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตามที่โฆษณา แต่คาดว่าประสารอาจจะโชคร้ายได้รับเครื่องการผลิตที่มีปัญหาเอง แต่ยินดีที่จะรับเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้มาใช้ต่อประสารบอก ผมไม่สามารถเชื่อใจทางบริษัทได้อีก จึงยื่นข้อเสนอขอคืนเครื่องและรับเงินคืนหลังจากการเจรจาต่อรองกันอีกราว 2 เดือน ในที่สุดจึงได้ข้อตกลงร่วมกัน โดยทางบริษัทยอมรับคืนเครื่องและคืนเงินให้จำนวน 15,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติความจริงแล้ว กระบวนการร้องเรียนเพื่อการเยียวยาความเสียหายไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ยืดยาว รอซ่อมแล้วซ่อมอีก หากผู้บริโภคพบว่า สินค้ามีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่โฆษณาก็สามารถที่จะแสดงเจตจำนงขอเปลี่ยนสินค้าหรือคืนสินค้าเพื่อขอคืนเงินได้ตั้งแต่การมาตรวจซ่อมครั้งแรกแล้ว หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอมผู้บริโภคก็สามารถร้องเรียนต่อ สคบ. หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทันที  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 หม้อมิเตอร์หมุนปรื๊ด ทำค่าไฟกระโดดกบ

 เมื่อเดือนธันวาคม 2555 อรรถนนท์ ได้เช่าบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านนันทนาการ์เดนท์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นที่พักอาศัยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สามเดือนแรกของการเข้าพักอาศัยหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าหมุนดีไม่มีปัญหา มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยในบ้านหลังนี้ประมาณ 285 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟตกเดือนละประมาณ 1,200 บาท จนเมื่อวันที่ 15 เมษายน  อรรถนนท์เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และกลับมาที่บ้านเช่าอีกทีในวันที่ 3 พฤษภาคม พบใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่ส่งมาถึงบ้านก็ตกใจค่าไฟฟ้าในช่วงรอบเดือนล่าสุดระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2556 ปรากฏว่าบิลค่าไฟฟ้าแจ้งว่ามีหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,032 หน่วย คิดเป็นค่าไฟ 9,488.61 บาท “เหยียบหมื่น...”อรรถนนท์เห็นว่า เป็นค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก จึงรีบแจ้งไปที่การไฟฟ้าบางพลีเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ทางการไฟฟ้าส่งคนมาตรวจสอบแล้วแจ้งกลับมาว่า ไม่มีปัญหาอะไรทุกอย่างปกติการไฟฟ้าบอกหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าปกติ และให้ลูกค้าจ่ายเงินซะดีๆ แต่สำหรับอรรถนนท์เขาเห็นว่า ค่าไฟรอบนี้ไม่ปกติแน่นอน จากที่เคยใช้แค่ 200-300 หน่วยแล้วอยู่ดีๆ หม้อมิเตอร์กลับหมุนปรื๊ดทำเอายอดหน่วยค่าไฟขึ้นไปถึง 2,000 หน่วยภายในเดือนเดียว“ผมขอยืนยัน บ้านผมใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัดมากๆ เปิดไฟเท่าที่จำเป็นจริงๆ ครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับใครที่เจอปัญหาแบบนี้ สิ่งแรกที่ควรทำคือการวิ่งไปดูเลขหน่วยค่าไฟฟ้าที่หม้อมิเตอร์ที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้านทันที ว่าใช่หรือใกล้เคียงกับเลขหน่วยในบิลค่าไฟฟ้าหรือไม่ หากใช่หรือใกล้เคียง ก็ต้องมาตรวจดูต่อไปว่ามีการใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไม่ก็ต้องมาตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังดูล่ะ เพราะเรากำลังตั้งสมมติฐานว่า หม้อมิเตอร์ไฟฟ้ามันเพี้ยน ดังนั้น บิลค่าไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับหลักฐานฝั่งผู้บริโภคว่าเรามีสถิติการใช้ไฟฟ้าในระดับไหน หากมีการเก็บบิลค่าไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 2 ปีก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะจะได้เทียบไปถึงช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนได้ แต่ไม่ค่อยมีใครทำกัน...!ดังนั้น เมื่อพบความผิดปกติของค่าไฟฟ้าเกิดขึ้นในรอบเดือนใดและตัวเองก็ไม่มีหลักฐานอะไรไปยืนยัน ก็ให้ผู้บริโภคทำหนังสือทักท้วงและขอให้การไฟฟ้าแสดงปริมาณการใช้ฟ้าย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี เช่น เมื่อพบว่ามีค่าไฟฟ้าผิดปกติในช่วงเดือนเมษายน 2555 ก็ควรขอให้การไฟฟ้าแสดงยอดการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังไปถึงเดือนเมษายน 2554 เพื่อจะได้เห็นทิศทางแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ในช่วงเวลาและฤดูกาลเดียวกัน ซึ่งขณะที่มีการทักท้วงและยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ผู้บริโภคปฏิเสธการจ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนที่มีปัญหาได้โดยที่การไฟฟ้าจะมาตัดไฟฟ้าไม่ได้ จนกว่าการไฟฟ้าจะสามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าจริงเป็นไปตามบิลที่แจ้งกรณีนี้เมื่อตรวจสอบแล้วตั้งแต่ช่วงที่ผู้บริโภคเข้ามาพักอยู่อาศัยในบ้านเช่า พบว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงผิดปกติเป็นอย่างมากในรอบเดือนสุดท้ายอย่างเห็นได้ชัดถึง 10 เท่าตัว เราจึงแนะนำให้ผู้บริโภคยื่นเรื่องทักท้วงต่อการไฟฟ้าทันที ท้ายที่สุดเมื่อตรวจสอบแล้ว การไฟฟ้าบางพลีจึงงดเก็บค่าไฟฟ้าจำนวน 9,488.61 บาททั้งหมด และได้ดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์ที่แสดงค่าการใช้ไฟฟ้าผิดเพี้ยนเป็นมิเตอร์ใหม่ทันทีนับเป็นข้อดีประการหนึ่งของการจ่ายค่าไฟฟ้าแบบเงินสด เพราะหากจ่ายแบบหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต ฝั่งผู้บริโภคอาจมีความยุ่งยากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องของการติดตามทวงถามเงินคืนจากค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้จริง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 สมาร์ทโฟนแค่เดือนเดียวเจ๊งต้องขอเปลี่ยนคืน

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 6 โมงเย็นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภูษิตเข้าไปซื้อสมาร์ทโฟน Sony Xperia SZ(LT26i) ในราคา 15,990 บาทจากบริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด สาขาที่ 108หลังจากใช้งานได้ประมาณ 1 เดือน มือถือเริ่มมีอาการค้างบูทเอง และเปิดเครื่องไม่ได้ในท้ายที่สุด“วันที่ 15 ตุลาคม 2555 ผมเอาเครื่องไปส่งซ่อมที่ศูนย์โซนี สาขามาบุญครอง ช่างบอกว่าต้องลงโปรแกรมใหม่ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงมารับเครื่องได้ หลังจากรับเครื่องไปใช้ได้เพียงหนึ่งวัน เครื่องก็มีอาการเดิมครับ”“วันที่ 17 ตุลาคม 2555 ผมนำเครื่องกลับไปที่ศูนย์มาบุญครองอีก ช่างแจ้งว่าต้องนำไปที่ศูนย์ทองหล่อ ซอย 9 เพื่อตรวจสอบ เพราะอาจเสียที่ฮาร์ดแวร์และเป็นศูนย์ใหญ่แน่นอนกว่า”“ในวันเดียวกันผมจึงเดินทางไปที่ศูนย์ทองหล่อซอย 9 ช่างยืนยันจะลงโปรแกรมให้เหมือนเดิม อ้างว่าศูนย์มาบุญครองอาจลงไม่ครบ”“หลังจากที่ผมรอ 2 ชั่วโมงกลับมารับเครื่อง ระหว่างตรวจสอบก่อนรับเครื่องคืน เครื่องก็มีอาการดับเอง บูทเครื่องเองอีก ต้องใช้เวลานานมากเพื่อให้ช่างรับเครื่องไว้ เพื่อให้ตรวจสอบฮาร์ดแวร์”“ช่างพยายามบอกให้ผมนำเครื่องกลับไปใช้ก่อน แต่ผมไม่มีความมั่นใจอีกแล้ว สุดท้ายเจ้าหน้าที่จึงรับปากจะตรวจสอบฮาร์ดแวร์ให้อย่างละเอียด บอกว่าใช้เวลา 3 วัน” วันที่ 19 ตุลาคม 2555 ครบกำหนดสามวันภูษิตกลับไปรับเครื่อง เมื่อเปิดเครื่องตรวจสอบเครื่องก็ดับต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของศูนย์โซนีเลย“ผมไปรับเครื่องตั้งแต่บ่ายสามโมงเย็น คุยจนศูนย์ปิดห้าโมงเย็น ถามเจ้าหน้าที่ว่าเครื่องมีปัญหาชัดเจนแบบนี้ทำไมไม่ทำอะไรให้ ช่างจึงรับปากว่าจะเปลี่ยนเมนบอร์ดให้ แต่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 อาทิตย์”“ผมไม่มีความมั่นใจในบริการอีกแล้ว เครื่องไม่สามารถใช้ได้ต้องรอนาน ศูนย์ไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหา ผมเขียนอีเมล์ถึงบริษัทโซนี เพื่อขอให้รับซื้อสินค้าคืน และขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยติดตามเรื่องด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาโดยทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจมักจะมีระยะเวลารับประกันสินค้าหากเกิดความชำรุดบกพร่องอันเนื่องจากสภาพตัวเครื่องหรือการใช้งานตามปกติ และมักจะใช้วิธีการซ่อมแล้วซ่อมอีกซ่อมไปเรื่อยๆ จนหมดระยะเวลารับประกัน หลังจากนั้นก็โบกมือบ๊ายบายแต่เดี๋ยวนี้มือถือนี่เหมือนรถยนต์ ราคาไม่ใช่ถูก จึงเป็นสินค้าที่เอามาขายต่อได้ ซื้อมาใช้ อยากเปลี่ยนใหม่ก็ขายต่อได้ แต่ถ้าต้องเจอแบบซื้อมาแป๊บเครื่องซ่อมแล้วซ่อมอีก ซ่อมก็ไม่หายจะเอาไปขายต่อใครก็ไม่ได้ เพราะเครื่องยังเจ๊งอยู่ซ่อมไม่หาย ใช้งานไม่ได้ ขายไม่ได้ ดังนั้นผู้ขายผู้ผลิตจึงต้องรับผิดชอบที่เกิดขึ้นซ่อมได้ หายก็จบ ซ่อมไม่ได้ก็ต้องคืนสินค้าและเรียกร้องค่าใช้จ่ายทั้งหมดคืนหลังจากที่ภูษิตส่งอีเมล์ถึงโซนี และได้แสดงอาการเสียและความล้มเหลวในการซ่อมให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง และได้แสดงความประสงค์อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการเปลี่ยนสินค้าตัวใหม่เพราะขาดความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ท้ายที่สุดโซนีจึงให้บริษัททีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด ผู้จำหน่ายสินค้า ชำระเงินคืนทั้งหมดจำนวน 15,990 บาทคืนแก่ภูษิตจนเป็นที่เรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 3)

จากตอนที่แล้ว เราเห็นๆ กันอยู่ คือเมื่อไฟฟ้าดับ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ต่างออกหน้ามาให้ข่าวกันอย่างครึกโครม จนเราลืมไปเลยว่ายังมีอีกองค์กรหนึ่ง ที่มีหน้าที่กำกับดูแลประเด็นนี้โดยตรงคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แห่งชาติ(กกพ.) หรือ 7 อรหันต์(ที่มีเงินเดือนสูงส่ง แต่กลับมีบทบาทเรื่องนี้น้อยมากจนน่าใจหาย เพราะไม่เห็นตัวตนของท่านเลย) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 จึงได้ทำข้อเสนอมาตรการแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการพลังงาน ตามมาตรา 99 แห่ง พระราชบัญญัติ ประกอบกิจการพลังงาน 2550 ดังนี้1. ขอให้ กฟผ. แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายร้ายแรงในครั้งนี้ โดยเสนอให้ กกพ. กำหนดมาตรการชดเชยผู้ได้รับความเสียหาย และกำหนดว่าการเสียหายกรณีใด จึงจะได้รับการเยียวยา2. ขอให้กพพ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายนอกอย่างเร่งด่วน กรณีดังกล่าวโดยการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงการให้ตัวแทนผู้ใช้พลังงานในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีดังกล่าว มิใช่รอให้ กฟผ.มารายงานฝ่ายเดียว3. ขอให้ กกพ. กำหนดมาตรการ บังคับให้ กฟผ.มีแผนฉุกเฉินรองรับกรณีไฟฟ้าในระดับ และกฟผ.ต้องแจ้งเดือนประชาชน กรณีมีการซ่อมบำรุงที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่จะก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้างให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน 4. ขอให้ กกพ. มีนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถ นำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ มาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใช้เอง ลดการพึ่งพาแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ป้องกันเหตุไฟฟ้าดับในวงกว้างได้อย่างยั่งยืน โดยแต่ละพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในพื้นที่ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริงให้กับประเทศไทย5. ขอให้ กกพ.ออกมาตรการให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำแผนพลังงานระดับจังหวัดได้ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัด มีส่วนร่วมกำหนดแผนพลังงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลาง6. ขอให้ กกพ.มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ในการกระจายกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปในระดับจังหวัด เพื่อหนุนเสริมแผนพลังงานจังหวัดนี่คือข้อเสนอที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นพัฒนาการของการบริหารจัดการ ด้านพลังงาน ที่จะสร้าง ความเป็นธรรม ให้กับผู้บริโภคไฟฟ้า แต่คงไม่ใช่เสนอแล้วก็จบไป คงต้องร่วมกันติดตามและผลักดันกันต่อไป ด้วยความหวัง ด้วยพลังของผู้บริโภค .......  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 “สังฆทาน บาป”

“สังฆทาน บาป” รู้หรือไม่ว่าของในถังสังฆทานที่ซื้อมาหมดอายุก่อนวันซื้อ คุณทำได้มากกว่าการนำไปเปลี่ยนคืนธ.ก.ส. ลดหนี้มโหฬาร ล้างบาป “กลุ่มเกษตรกรพันธุ์ใหม่” เมื่อกลุ่มเกษตรกร “คนรุ่นใหม่” ต้องตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐสังฆทาน เป็นชื่อเรียกการถวายทานแก่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์มาก โดยเฉพาะการถวายสังฆทานแก่คณะพระสงฆ์จะมีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือแม้แต่การถวายทานแก่พระพุทธเจ้าแม้ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ยังได้บุญสู้การถวายทานแก่พระสงฆ์ที่เป็นหมู่คณะไม่ได้...ผู้รู้ทางพุทธศาสนาท่านว่าไว้อย่างนั้นแต่เดี๋ยวนี้...ในยุคสังคมแบบ “เร็วเข้าว่า ช้าไม่เป็น” สังฆทานถูกแปรรูป แปรเจตนาไปเยอะ มีการจัดชุดสังฆทานขายอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ต้องการบุญแบบแดกด่วน หวังกำไรมาก ไม่คิดถึงบาปบุญ จนกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทั้งคนทำบุญและสงฆ์ที่รับทานคุณบารมี ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตราดอกบัว ย่านรังสิต เดี๋ยวนี้แทบทุกห้างมีแผนกนี้ล่ะ “แผนกเครื่องสังฆภัณฑ์” บารมีเตรียมหาของไปทำบุญวันเข้าพรรษา เห็นป้ายโฆษณาขายชุดถังสังฆทานใส่ในถังพลาสติกใบเหลืองเล็ก ขนาดพอหิ้วดูเก๋ไก๋ แกว่งไปมาได้ไม่เจ็บข้อมือ “ซื้อ 1 แถม 1” ราคา 155 บาท“โอว พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ...ได้บุญมาก ราคาไม่แพง แถมยังแบ่งกับเพื่อนได้อีกถัง” บารมีเห็นหนทางนิพพานของตัวเองทันที หิ้วถังสังฆทาน 2 ใบ ไปที่ทำงาน เห็นพลาสติกใสหุ้มสิ่งของจนล้นปากถังเลยอยากรู้ว่ามีอะไรอยู่บ้างดูซะล้นถังอย่างนั้น ชวนเพื่อนที่จะเป็นคู่บุญกันมาแกะดูสิ่งของที่อยู่ในถัง ขาดเหลืออะไรจะได้ซื้อเพิ่มเติมได้รายการของที่มีอยู่ในทั้งสองถังเหมือนกันเด๊ะ คือ ยาหอม 1 ถุง คงเข้าใจว่าพระเป็นลมบ่อยเลยใส่เข้ามา ชาจีน 1 กล่อง ถือเป็นมาตรฐานสังฆทานต้องมีชาจีน ชาเก๊กฮวย 1 กล่อง เผื่อพระไม่ชอบชาจีน น้ำส้มผสม 1 ขวด เผื่อให้พระเวลาสวดเวลาเทศน์เสียงจะได้สดได้ใส เกลือ 1 ถุง อาจจะเอาไว้ให้พระใส่เติมเพิ่มรสชาติน้ำชา น้ำส้ม ขันน้ำพลาสติกสีเหลือง 1 ใบ มีความบางจนน่าจะเขียนคำเตือนว่า “อย่าตักน้ำแรงเดี๋ยวขันแตก” และของที่ใหญ่ที่สุด สูงที่สุดซึ่งอยู่ก้นถัง และเป็นตัวการสำคัญที่ทำของดูพอกพูนจนล้นถัง มันคือ กระดาษชำระเนื้ออย่างเลว 1 ห่อ พิจารณาดูเนื้อกระดาษแล้ว หากนำไปเช็ดก้นเป็นประจำก็อาจทำให้เป็นริดสีดวงทวารได้ ว่างั้นเหอะ รวมกับถังพลาสติกใบเล็ก 1 ใบที่ใช้ใส่สิ่งของรวมเป็นชุดสังฆทาน 1 ชุดทั้งหมด ราคา 155 บาทแถมอีก 1 ถัง“ถึงว่าทำไมขายลดราคาได้” บารมีเริ่มตรัสรู้แต่เอ๊ะ...น้ำส้ม ทำไมวันหมดอายุไม่เหมือนกัน บารมีกับเพื่อนช่วยกันดู แล้วก็นะจังงัง เพราะน้ำส้มที่อยู่ในถังสังฆทานใบหนึ่ง มันหมดอายุไปเป็นเดือนแล้ว“ยังดีนะที่ไม่ได้เอาไปถวายพระ ไม่งั้นคงบาปแย่ เพราะนำของหมดอายุไปถวาย” บารมีรำพึงกับเพื่อนสรุปว่า วันเข้าพรรษาครานั้นบารมีและเพื่อนต้องไปหาซื้อของจัดชุดสังฆทานเพื่อถวายพระกันใหม่ ส่วนชุดสังฆทานที่ซื้อมาแล้วก็ต้องหิ้วมาร้องเรียนกันที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาสังฆทานจัดชุดแล้วนำมาขายให้ชาวพุทธเกิดปัญหาบ่อยมาก เพราะเป็นการนำสินค้าหลายชนิดมาบรรจุหุ้มห่อรวมกัน สินค้าบางชนิดที่นำมารวมนั้นโดยเฉพาะจำพวกอาหารการกิน มีกำหนดอายุหรือเวลาที่ควรใช้ แต่คนที่ซื้อก็ไม่รู้ว่ามันหมดอายุหรือเปล่าเพราะถูกหุ้มห่อไว้ด้วยพลาสติกใสใส่ในถัง ผู้ผลิตที่แย่ๆ บางรายก็ชอบเอามาซุกมาห่อรวมกันขาย อีกปัญหาคือความไม่ลงรอยของสินค้าที่ถูกยัดใส่ในถังรวมกัน ชอบทำปฏิกิริยาหาเรื่องใส่กัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนสี กลิ่น หรือรส จนมาสร้างความซวยให้กับพระสงฆ์องค์เจ้าให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้ ที่สำคัญตัวสินค้าในชุดสังฆทานน่ะต้นทุนไม่เท่าไหร่แต่ค่าจัดชุดสังฆทานนี่สิแพงที่สุดร่วม 30-40%ของราคาสินค้าทั้งหมด แถมของที่จัดมาพระสงฆ์ไม่ได้ใช้เลย เพราะเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณภาพคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงออกประกาศให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ประกาศเมื่อปี 2550 ใครจะขายต้องมีการแสดงฉลากแสดงรายละเอียดของรายการสินค้า ที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้าแต่ละรายการ ต้องแสดงชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ต้องแสดงวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน ของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด ต้องระบุวันเดือนปีที่บรรจุ และราคารวมชุดจัดบรรจุระบุหน่วยเป็นบาทประกาศฉบับนี้ยังควบคุมไปถึงปัญหาสินค้าที่อยู่ในชุดสังฆทานจะทำปฏิกิริยากันจนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่พระสงฆ์ หรือผู้บริโภคได้ จึงให้มีการระบุคำเตือนในฉลาก ด้วย เช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากัน จนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรแยกสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันได้นั้นออกจากกันโดยเร็ว แม้จะเป็นคำเตือนที่ดูแปลกๆ เพราะหากสินค้ามันจะเกิดปฏิกิริยากันมันก็สามารถเกิดได้ตั้งแต่ตอนวางขายอยู่ในห้างแล้ว แม้จะแยกกันออกมาภายหลัง สี กลิ่น หรือรส ที่เปลี่ยนแปลงไปก็คงไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ง่าย สุดท้ายก็ต้องทิ้งของนั้นไป แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้ามาควบคุมดูแลการขายชุดสังฆทานจากที่ไม่เคยมีมาก่อนตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 52 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก(ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) สั่งเลิกใช้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำข้างต้นเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วยโทษที่สูงเอาการ เราจึงแนะนำให้ผู้ร้องเรียนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน ยังไม่ต้องแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และมีจดหมายเชิญตัวแทนห้างดอกบัวในฐานะผู้ขายสินค้ามาเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค ผลการเจรจาทางห้างยินยอมเยียวยาความเสียหายให้เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท  ซึ่งผู้ร้องยินดีรับค่าเยียวยาความเสียหายและไม่ติดใจเอาความใดๆ ส่วนห้างเมื่อต้องจ่ายค่าเสียหายไปแล้ว ก็เดินหน้าเช็คบิลเอาผิดกับผู้ผลิตชุดสังฆทานต่อไป โดยจะทำการตรวจสอบสินค้าและหากพบว่าสินค้าที่อยู่ในชุดสังฆทานหมดอายุจริง ก็จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องร้องกับบริษัทผู้ผลิตชุดสังฆทาน ขณะที่ผู้ร้องเรียนก็ยินยอมที่จะเป็นพยานในชั้นศาลอีกด้วย   กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 52 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก(ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) สั่งเลิกใช้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำข้างต้นเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ธ.ก.ส. ลดหนี้มโหฬาร ล้างบาป “กลุ่มเกษตรกรพันธุ์ใหม่”

เมื่อปี 2531 ต่อเนื่องปี 2532 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรและคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาด้านการเกษตรให้มาเข้าร่วม “โครงการนิคมเกษตรกรรมเพื่อการส่งออกร่วมกับภาคเอกชน” หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ในสมัยนั้นว่า “โครงการเกษตรกรยุคใหม่” หรือ “เกษตรกรก้าวหน้า”ครั้งนั้น ธ.ก.ส. ให้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนระยะยาวเพื่อให้พวกเขามีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีบ้าน มีที่ดินอันสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก จะช่วยส่งเสริมความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนจากการบริหารงานของบริษัทเอกชน ที่ ธ.ก.ส. จัดหามาให้ด้วยคำโฆษณาและความเชื่อมั่นในความเป็นธนาคารของรัฐ หนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบหลายร้อยรายตัดสินใจสมัครสอบเข้าร่วมโครงการฯ มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 80 คน ซึ่งทั้งหมดจะต้องทำสัญญาซื้อที่ดินที่ทุ่งดอนโพ ซึ่งเดิมอยู่ในเขตหมู่ 2 บ้านบางกะโด ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เนื้อที่ 565 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา จากบริษัทร่วมโครงการคือบริษัท มีดีเทค จำกัด ในราคา 27.3 ล้านบาท โดยทำสัญญาจำนองกับ ธ.ก.ส. และทุกคนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมกัน และมีบริษัท นิวเจนเนอร์เรชั่น ฟาร์มโปรดิวส์ จำกัด (เอ็น จี ซี) ทำหน้าที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ และมีพนักงานประจำในพื้นที่เพื่อประสานงานด้านการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ควบคุมการคัดคุณภาพของผลผลิต จัดการเรื่องการบรรจุหีบห่อ และการขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง รวมทั้งให้บริการเครื่องจักรอุปกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ เช่น รถไถ เครื่องพ่นยา เครื่องรดน้ำ เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้ยกระดับเป็นหมู่บ้าน มีชื่อกลุ่มว่า สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์ หมู่บ้านดอนโพ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โครงการผ่านไปเพียงแค่ 3-4 ปี บริษัทเอกชนก็ละทิ้งโครงการ ส่วน ธ.ก.ส. ก็มุ่งแต่ติดตามทวงหนี้ ปล่อยให้ชาวบ้านต่อสู้ดิ้นรนอย่างโดดเดี่ยวไปตามยถากรรม และต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำมาลงทุนทำเกษตร และเพื่อนำไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทมีดีเทคฯ ในราคาร่วม 27.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นมาก จนปี 2551 กลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้ได้นำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า พวกเขาเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ แต่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินรวมกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร่วม 100 ล้านบาท และเกษตรกรจำนวน 16 รายถูก ธ.ก.ส. ดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วรวม 19 คดี เป็นทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท ขอให้มูลนิธิฯ หาหนทางช่วยเหลือด้วย   ธ.ก.ส. ให้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนระยะยาวเพื่อให้พวกเขามีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีบ้าน มีที่ดินอันสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก จะช่วยส่งเสริมความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนจากการบริหารงานของบริษัทเอกชน ที่ ธ.ก.ส. จัดหามาให้     ผ่านไปเพียงแค่ 3-4 ปี ...พวกเขากลายเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ แต่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินรวมกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร่วม 100 ล้านบาท และเกษตรกรจำนวน 16 รายถูก ธ.ก.ส. ดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วรวม 19 คดี เป็นทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท   แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อเราได้สอบถามข้อมูล ทราบความเป็นมาเห็นความเป็นจริงทั้งหมด จึงได้วางแนวทางการช่วยเหลือเป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ การช่วยเหลือด้านคดีความ และการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสนำปัญหาของตัวเองฟ้องต่อสังคม โดยแนวทางทั้งสองมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเกษตรกรและ ธ.ก.ส.อย่างเป็นธรรมการช่วยเหลือด้านคดีความ ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จัดทนายความเข้าไปช่วยเหลือต่อสู้คดีโดยชี้ให้ศาลได้เห็นว่า หนี้ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรมิได้เกิดจากปัญหาของเกษตรกรโดยตรงแต่มาจากการดำเนินโครงการที่ล้มเหลวของรัฐบาลเองส่วนการช่วยเหลือเพื่อการฟ้องต่อสังคมนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบในเวลาต่อมาว่ายังมีกลุ่มกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาดิน อ.เดิมบางนางบวช และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี อีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน จึงได้ใช้พลังจากสภาพของสุนัขจนตรอกของชาวบ้านรวบรวมกำลังใจและกำลังคนมารวมตัวที่หน้า ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ นางเลิ้ง เมื่อ 12 มิถุนายน 2551 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเต็มขั้นคือ(1)ให้ ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งหมด(2)ให้ธ.ก.ส. ยกเลิกหนี้สินให้เกษตรกรทั้งหมด และ(3) ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาและชดใช้ค่าเสียโอกาสของชาวบ้านจากความล้มเหลวของโครงการดังกล่าว และได้มารวมตัวกันอีกครั้งที่หน้า ธ.ก.ส. เพื่อฟังคำตอบในวันที่ 19 มิถุนายน 2551ผลของการดำเนินการในครั้งนั้น ธ.ก.ส. รับพิจารณาข้อเสนอของเกษตรกรทั้งหมด โดยเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ดำเนินการคือการขอให้ศาลชะลอการดำเนินคดีออกไปก่อนและยุติการเรียกเก็บหนี้กับเกษตรกรทั้งต้นและดอกออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการเจรจาหาข้อยุติที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายกระบวนการเจรจาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ต่อมาคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้มีการประชุมครั้งที่  9/2553 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 พิจารณาและให้ความเห็นชอบในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว ดังนี้(1) ให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายหนี้เงินกู้ต้นเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดหนี้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าดังกล่าวเป็นหนี้สูญ รวมทั้งโครงการอื่นที่จำเป็นต้องจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญด้วย(2) อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างนี้ ด้วยการลดต้นเงินบางส่วน ลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด และงดดอกเบี้ยใหม่ โดยให้มีต้นเงินคงเหลือรายละ 130,000 บาท แล้วนำมาขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 9 ปีตามศักยภาพของลูกค้า และงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ โดยใช้หลักประกันจำนองเดิม และอนุญาตให้ลูกค้าไถ่ถอนที่ดินหลักประกันจำนองได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นจากมติบอร์ด ธ.ก.ส. ดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรและ ธ.ก.ส. จึงได้มีหนังสือไปถึงกระทรวงการคลังในช่วงต้นปี 2554 เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว ปรากฏว่าเรื่องไม่มีความคืบหน้า จนปี 2556 มูลนิธิฯได้มีหนังสือติดตามเรื่องไปอีกครั้ง ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่า ได้มีการแก้ไขกฎระเบียบภายในของ ธ.ก.ส. แล้วว่าตามแนวทางดังกล่าว ธ.ก.ส.สามารถดำเนินการเองได้เลย โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ย้อนกลับไปติดตามเรื่องกับ ธ.ก.ส. ทำให้ทราบว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่เคยมีมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากยอดหนี้เดิมตกคนละ 1.5-1.6 ล้านบาทลดเหลือเพียง 130,000 บาท กำหนดเวลาผ่อนชำระคืนไม่เกิน 9 ปี ใช้หลักประกันจำนองเดิม ส่วนเรื่องงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ ธ.ก.ส.ขอคิดอัตราดอกเบี้ย บวกลบ MRR 3% ซึ่งปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4 ของยอดหนี้ที่ 130,000 บาทเพื่อให้เกิดสภาพบังคับไว้บ้างกลุ่มเกษตรกรได้พิจารณาเทียบกับระยะเวลาที่ได้หยุดพักชำระหนี้ไปตั้งแต่ปี 2552 จนมีโอกาสฟื้นฟูความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตามลำดับ เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวแม้จะมีการคิดดอกเบี้ยอยู่บ้างแต่ก็มีความเหมาะสมแล้วและสามารถที่จะชำระหนี้ดังกล่าวได้ในเวลาอันรวดเร็ว เกษตรกรจำนวนกว่า 90 ครัวเรือนที่เคยตกเป็นทาสหนี้ครัวเรือนละ 1.5-1.6 ล้าน จึงยินยอมตกลงทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เองส่วนคนที่เคยถูกฟ้องร้อง ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการถอนฟ้องทั้งหมด แนวทางนี้ได้ถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาหนี้ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาดิน อ.เดิมบางนางบวช และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน จนสามารถปลดหนี้ไถ่ถอนที่ดินสร้างความเป็นไทให้กับครอบครัวได้ในเวลาไม่นานวันนี้ฟ้าใหม่เปิดแล้ว เนื้อที่ 565 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวาของกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์กำลังกลับคืนสู่ความเป็นเจ้าของของพวกเขาอีกไม่นาน หมู่บ้านดอนโพ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นสถานที่ผลิตพืชผักผลไม้นานาพรรณ ใครผ่านไปทางนั้นควรไปแวะเยี่ยมชมและซื้อหาผลผลิตได้ในราคาย่อมเยา ชาวบ้านฝากบอกว่า ยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่ง   แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร จากการประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 (1) ให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายหนี้เงินกู้ต้นเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดหนี้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าดังกล่าวเป็นหนี้สูญ รวมทั้งโครงการอื่นที่จำเป็นต้องจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญด้วย (2) อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างนี้ ด้วยการลดต้นเงินบางส่วน ลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด และงดดอกเบี้ยใหม่ โดยให้มีต้นเงินคงเหลือรายละ 130,000 บาท แล้วนำมาขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 9 ปีตามศักยภาพของลูกค้า และงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ โดยใช้หลักประกันจำนองเดิม และอนุญาตให้ลูกค้าไถ่ถอนที่ดินหลักประกันจำนองได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 2)

เรื่องไฟฟ้าดับตอนที่แล้ว เขียนถึงข้อสงสัยกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้  ตอนนี้เรามีข้อมูลจากผู้ปฏิบัติการจริงในพื้นที่ มาตอบข้อสงสัยกัน(ไม่รู้ว่าจะใช่คำตอบที่แท้จริงหรือไม่) เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยผู้เขียนใช้ฐานะ ประธานคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 ราชบุรี  (มีพื้นที่ดูแล 6 จังหวัด)เชิญผู้อำนวยการกองควบคุมและบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 เพชรบุรี (ภาคใต้)  เข้าชี้แจงสาเหตุการเกิดไฟฟ้าดับ   ซึ่งมีคำชี้แจงว่า1.การเกิดไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้และภาคกลางบางส่วน เมื่อวันที่        21 พฤษภาคม  2556  เหตุเกิดจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) มีการปิดซ่อมสายส่งขนาด 500 KV สายส่งจาก อำเภอ       จอมบึง-อำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ระหว่างเวลา 08.00 น. – 17.00 น. ในพื้นที่ อำเภอบ้านลาดจังหวัดเพชรบุรี   มีกำหนดการนำสายส่งกลับเข้าระบบเพื่อจ่ายไฟในเวลา  18.00 น.  แต่ปรากฏว่าการซ่อมบำรุงล่าช้ากว่ากำหนดเวลา 20.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556  เกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่งเส้นสำรองทำให้เกิดการชำรุดและไฟฟ้าดับ โดยไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำสายส่งที่ซ่อมบำรุงเข้ามาติดตั้งได้เวลา 02.00 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายวงกว้าง(แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  กลับออกมาคนละทาง  กับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่    ดังที่เราได้เห็นข้อมูลที่ รมต.พลังงาน  ออกมา ให้ข่าวสรุปผลการสอบ  ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของระบบ) 2. กรณีภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก  แต่ทำไมไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งได้   สาเหตุเป็นเพราะระบบการส่งกระแสไฟฟ้ามีการคำนวณโดยใช้สูตร N- 1  สรุปได้ว่า เมื่อกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางถูกตัดขาด  เทคโนโลยีของแต่ละโรงไฟฟ้าคำนวณได้ว่าหากส่งกระแสไฟเข้าสายส่งจะเกิดความเสียหายต่อระบบผลิต  ก็จะตัดการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งแบบอัตโนมัติ  เป็นเหตุให้ในพื้นที่ภาคใต้ไฟฟ้าดับเต็มพื้นที่ คำถามสำคัญคือ  แนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มในภาคใต้ สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือ? เพราะประสบการณ์ผ่านมาทำให้เราเห็นได้ว่า    นโยบายที่ทำให้ระบบการการส่งกระแสไฟผูกติดกับส่วนกลาง ส่งผลให้พื้นที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ปัญหามันอยู่ที่แนวคิดและนโยบาย ที่ใช้อำนาจผูกขาดการตัดสินใจไว้เพียงในส่วนกลางเท่านั้น  ที่สำคัญคือ เราบอกว่าประเทศไทยปรกครองในระบบประชาธิปไตย  การบริหารหลายส่วน มีการกระจายอำนาจลงพื้นที่  แต่ที่ส่วนกลางกอดติดไม่ยอมกระจายอำนาจ คือ  “พลังงาน” เพราะอะไร? แหม...ข้อมูลกำลังเข้มข้นเลย  หมดเนื้อที่ซะแล้ว ......โปรดติดตามตอนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ตรวจสุขภาพฝากครรภ์ ใครๆ ก็ใช้บัตรทองได้

เราอาจเคยได้ยินว่าสิทธิด้านสุขภาพต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ทั้งสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) หากใครมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะไปใช้สิทธิอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ ด้วยความรู้แบบนี้และความอ่อนแอในการสื่อสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้ประชาชนพลาดสิทธิที่มีอยู่ได้เช่นกันสุพัตรา เป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งมีสิทธิประกันสังคม เธอตั้งครรภ์อยากจะฝากครรภ์พอเปิดไปดูรายละเอียดความคุ้มครองเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในประกันสังคม ก็พบแต่เงินช่วยเหลือเหมาจ่าย 13,000 บาทให้ค่าคลอดบุตรเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้องควักเงินสำรองจ่ายไปก่อนจนคลอดบุตรแล้วถึงจะไปขอเบิกคืนได้ ก็อยากจะประหยัดเงินมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เธอจึงขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมจนทราบว่า ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือบัตรประกันสังคมและคนไทยทุกคนให้มาใช้สิทธิบัตรทองได้ในการรับบริการสาธารณสุขเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ซึ่งรวมถึงการฝากครรภ์ด้วย โป๊ะเช่ะ...ไม่ต้องควักเงิน ลุย !สุพัตรา เดินเข้าไปที่โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอฝากครรภ์และขอใช้สิทธิบัตรทอง เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นงง  บอกใช้ไม่ได้มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วก็ให้ไปเบิกเงินกับทางนั้นซะ คนถือบัตรประกันสังคมจะใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้เพียงเรื่องการคุมกำเนิดเท่านั้น รอคลอดก่อนแล้วค่อยใช้สิทธิทำตอนทำหมันนะจ๊ะซึมเล็กๆ เมื่อได้รับคำตอบแบบนั้น สุพัตราหยิบมือถือโทรไปที่ call center สปสช. 1330 ถามความชัดเจนว่ามันเป็นยังไงกันแน่ เห็นใบประชาสัมพันธ์บอกว่าใช้ได้ไง call center สปสช. ยืนยันว่า ผู้ถือบัตรประกันสังคมสามารถใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเรื่องการฝากครรภ์ได้ และแนะนำให้สุพัตราไปคุยกับทางศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง สุพัตราอุ้มท้องอ่อนๆ แล้วค่อยๆ เดินไปที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอยืนยันการใช้สิทธิอีกคำรบ“ไม่ได้ค่ะ เราเคยมีผู้ถือบัตรประกันสังคมมาขอใช้สิทธิแบบน้องนี่แหละค่ะ ก็ต้องแจ้งว่าผู้ที่ใช้สิทธิได้จะเป็นผู้ที่ส่งประกันสังคมไม่ครบ 7 เดือนเท่านั้นค่ะ” เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลอธิบาย สุพัตราจึงกดโทรศัพท์และขอให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ คุยกันอยู่พักใหญ่สุดท้ายศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลก็ยังยืนยันไม่ให้เธอใช้สิทธิ แถมยังบอกว่า ไม่มีนโยบาย หากต้องการใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ไปขอใช้สิทธิที่สถานพยาบาลอื่นแทน  จะเรียกว่าเป็น “ไล่” อย่างสุภาพก็ว่าได้เมื่อการใช้สิทธิล้มเหลว สุพัตราจึงโทรคุยกับเจ้าหน้าที่ สปสช. อีกครั้ง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าแม้ สปสช.จะมีนโยบายดังกล่าว แต่ สปสช. ไม่มีอำนาจบังคับให้โรงพยาบาลทำตามนโยบายดังกล่าวได้“เอ้า...แล้วมันจะเรียกว่านโยบายได้ไงน่ะ เที่ยงนี้ขนมจีนอย่ากินดีกว่า มันคงไม่มีน้ำยาเหมือนกัน” สุพัตราบ่นกับตัวเองพร้อมควักเงิน 760 บาทเป็นค่าดำเนินการฝากครรภ์ให้กับโรงพยาบาล ก่อนนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตรวจสอบที่มาที่ไปในสิทธิการรับบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้พบความเป็นมาว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานภายใต้นโยบายสาธารณสุขที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการทางสุขภาพทั้งด้านการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอย่างมีมาตรฐาน เสมอภาค และเท่าเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราตายของเด็กและทารก อัตรามารดาตาย การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ เป็นต้น จึงได้ดำเนินการแปลงนโยบายที่ว่าสู่การปฏิบัติเพื่อให้มีการดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง มีระบบบริการเน้นการดูแลในระดับ Primary care และในชุมชน โดยจัดให้มีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์จนถึงวัยสูงอายุโดยการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว/ตามกิจกรรมหรือตามผลงานบริการ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้มีสิทธิอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในอนาคต  โดยเปิดให้ผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิราชการ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้จากเอกสารเผยแพร่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพยังยืนยันว่า ผู้มีสิทธิประกันสังคมสามารถเข้าขอใช้สิทธิการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ไม่ใช่แค่การฝากครรภ์ แต่ยังรวมไปถึงการวางแผนครอบครัวแบบชั่วคราว ทั้งการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย แม้กระทั่งการจะขอรับการตรวจหามะเร็งปกมดลูก ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้เมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว มูลนิธิฯจึงได้ทำหนังสือเรียนถึง ประธานคณะกรรมการคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพื่อให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ในเวลาต่อมาได้มีการประสานงานระหว่าง สปสช. กับโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง และมีการยินยอมให้สุพัตราสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ เนื่องจากการฝากครรภ์อยู่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้ความคุ้มครองแก่คนไทยทุกคน โดยต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพประเด็นนี้ทำให้เห็นจุดอ่อนใหญ่ๆ 2 จุด คือ ความคุ้มครองด้านสุขภาพของประกันสังคมใครอยากใช้สิทธิต้องควักเงินก่อนและมีข้อจำกัดของวงเงินซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และเน้นให้ความคุ้มครองด้านการรักษาแต่ไม่เน้นด้านการป้องกัน ขณะที่นโยบายในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพแม้จะมีนโยบายที่ดีมุ่งหวังดูแลประชาชนถ้วนหน้าแต่ยังมีการปฏิบัติที่ไม่ถ้วนหน้าจากสถานพยาบาลบางแห่งหรือบางครั้งอยู่ จำเป็นที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องวางกรอบระเบียบแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างแท้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ซื้อเตียงนอกแถมได้มอดนำเข้า

พลชัย เป็นหนุ่มฐานะดีมีงานทำอยู่ต่างประเทศ 1-2 เดือนถึงจะได้กลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยสักครั้งหนึ่ง ลงทุนซื้อคอนโดใหม่เป็นนิวาสสถานอยู่คอนโดใหม่จะใช้ของเก่าไม่เข้าสไตล์ก็กระไรอยู่ เลยลงทุนซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่เอี่ยมยกชุดรวมถึงเตียงนอน พลชัยไปซื้อเตียงหรูจากห้างเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังย่านบางนาราคาสี่หมื่นเก้าพันกว่าบาทเขาบอก ประทับใจตั้งแต่วันแรกที่นัดส่งของ นัดครั้งแรกปล่อยให้รอถึง 5 โมงเย็น สุดท้ายโทรมาบอกสินค้าชำรุดส่งไม่ได้ นัดครั้งที่สอง เอาเตียงมาส่ง แต่เอาของชำรุดมาหัวเตียงหัก พลชัยเลยไม่ยอมรรับของ นัดครั้งที่สาม พลชัยบอกต้องรับของเลยเพราะจะเข้าอยู่แล้วไม่งั้นคงได้นอนปูเสื่อในคอนโดหรูแน่หลังจากที่รับสินค้ามาใช้งานก็สังเกตว่า ใต้เตียงมีผงไม้ตกอยู่ที่พื้น พลชัยนึกในแง่ดีว่าคงเป็นแค่เศษไม้ที่ใสไม่ดีมีเศษค้างอยู่และร่วงหล่นมา จนเวลาล่วงเลยมาได้ 6 เดือนหลังจากรับเตียงมาใช้ ทางคอนโดมีการฉีดยาฆ่าแมลง พลชัยกลับจากทำงานต่างประเทศจะนอนเตียงซะหน่อย ก็เจอตัวอะไรสักอย่างตายเกลื่อนพื้นตกอยู่ใต้เตียง พอพลิกฟูกขึ้นมาดูเห็นซากแมลงตัวเล็กๆ ที่ดูคล้ายมอดเขาโทรแจ้งไปที่ห้างเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังแห่งนั้น บอกว่าเตียงน่าจะมีตัวมอดอยู่ให้ส่งคนเข้ามาตรวจสอบดูและกำจัดมอดให้ด้วย พนักงานจากร้านเฟอร์นิเจอร์มาดูและยอมรับว่าเตียงมีมอดจริง พร้อมแสดงความรับผิดชอบด้วยการรับเตียงกลับไปและบอกให้พลชัยไปเลือกเตียงใหม่ที่ร้านได้ โดยไม่ได้มีการกำจัดมอดที่อาจหลงเหลืออยู่ในห้องปรากฏว่าเตียงใหม่ที่ได้มาหัวเตียงสไตล์หลุยส์แต่ราคาร่วมหกหมื่นบาท เขาต้องจ่ายเพิ่มอีกเกือบหนึ่งหมื่นบาท เอามาใช้นอนได้สักพักปรากฏว่าเตียงตัวใหม่มีมอดเป็นของแถมเหมือนกัน “ห้างฯ บอกว่าเป็นเตียงนำเข้า ตัวมอดก็นำเข้ามาจากต่างประเทศมาแพร่เชื้อเมืองไทย ทุกครั้งที่เห็นโฆษณาของห้างฯ ชื่อดังแห่งนี้ เห็นเตียงเราปรากฏบนหน้าจอทีวี เจ็บช้ำใจมาก ไม่รู้คนอื่นซื้อไปติดตัวมอดไปอีกกี่คน” พลชัยถาม แนวทางแก้ไขปัญหาจากการตรวจสอบข้อมูล ทราบว่าผู้ร้องเรียนรายนี้ได้รับการแจ้งข้อมูลจากพนักงานหลายคนของห้างเฟอร์นิเจอร์แห่งนี้ว่า สินค้าล็อตแรกๆ ช่วงที่เปิดห้างสินค้านำเข้าไม่ได้ผ่านการอบฆ่าเชื้อ และรีบส่งให้ลูกค้า ทำให้มีปลวกมีมอดติดมาในเนื้อไม้ด้วย หลังจากที่ได้มีการประสานงานเจรจากัน ห้างเฟอร์นิเจอร์ยอมรับสินค้าคืนและคืนเงินให้แก่ผู้ร้องเรียนเต็มตามจำนวนที่จ่ายไปเกือบหกหมื่นบาท และยังยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องเรียนต้องจ้างบริษัทกำจัดปลวกมากำจัดสัตว์ไม่พึงประสงค์ที่ตกค้างในคอนโดให้อีก 8,000 บาทพลชัยยอมรับการชดเชยด้วยอารมณ์เซ็งฝุดๆ เข็ดแล้วเลือกเตียงตามโฆษณา แถมอะไรไม่แถม ดันแถมมอดปลวกนำเข้าซะนี่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ถูกเรียกค่าเช่าห้องก่อนย้ายออกไม่เป็นธรรม

ปรารถนา ทำสัญญาเช่าห้องกับอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งย่านอ้อมน้อย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2555สัญญาระบุค่าเช่าห้องและค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ราคา 3,900 บาทต่อเดือน เก็บค่าประกันเฟอร์นิเจอร์ 5,000 บาท กำหนดพักอาศัยไม่ต่ำกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่เช่า  หากเช่าไม่ครบกำหนด อพาร์ทเม้นท์จะไม่คืนเงินค่าประกันให้ในขณะที่ปรารถนาได้ให้ข้อมูลว่า ห้องที่เข้าพักเป็นห้องวีไอพี สัญญาจึงต้องอยู่ขั้นต่ำ 3 เดือน โดยจะครบกำหนดวันที่ 4 มิถุนายน 2555 (ตรวจสอบสัญญาแล้วไม่มีข้อความไหนที่ระบุตามเงื่อนไขนี้) พอเข้าพักอาศัยปรารถนาบอกว่าพบความไม่สะดวกหลายอย่างในการเข้าพักที่อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ เช่น เสียงดังจากถนนใหญ่ การเก็บค่าไฟฟ้ามากเกินจริง ร้านซักรีดรีดเสื้อผ้าไม่ประณีต และเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่สกปรก รวมไปถึงเรื่องการจราจรที่ต้องใช้เวลารอการข้ามถนนนานมากทำให้ไปงานสาย จึงอยากย้ายออกก่อนกำหนดที่เข้าใจว่าคือวันที่ 4 มิถุนายน 2555 แต่ต้องการเงินประกันคืนในวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ปรารถนาจึงไปปรึกษากับเสมียนสำนักงานอาคารว่าอยากขอย้ายออกก่อนกำหนด โดยให้เหตุผลแบบเนียนๆ ว่า ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ดูเท่ไม่เบา เสมียนก็เห็นใจแจงว่า หากย้ายออกก่อนกำหนดและต้องการเงินประกันคืน ทางอาคารจะคิดค่าเช่าถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2555 แล้วถึงจะได้เงินประกันคืนหลังจากนั้น ซึ่งปรารถนาก็ยินยอมวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จึงได้ไปกรอกแบบฟอร์มแจ้งความจำนงขอย้ายออก พบเงื่อนไขในแบบฟอร์มว่า “กรณีผู้เช่าออกไม่เกินวันที่ 15 ของเดือน จะเก็บค่าเช่าห้องพักถึงวันที่ 15 เท่านั้น โดยสามารถรับเงินค่าประกันห้องพักคืนได้ตั้งแต่วันที่ 20 ของเดือนที่ย้ายออกเป็นต้นไป กรณีผู้เช่าย้ายออกหลังจากวันที่ 15 ของเดือน จะเก็บค่าเช่าห้องพักเต็มเดือน โดยสามารถรับเงินค่าประกันห้องพักคืนได้ตั้งแต่วันที่ 10 ของเดือนถัดไปเป็นต้นไป” จากเงื่อนไขที่ว่า ทำให้ปรารถนาต้องถามย้ำกับเสมียนอพาร์ทเม้นท์ว่า ตนเองจะต้องเสียค่าเช่าถึงวันที่เท่าไหร่ ก็ได้รับคำตอบยืนยันเหมือนเดิมว่า คิดค่าเช่าถึงวันที่ 4 มิถุนายนเท่านั้นและเงินประกันห้องจะได้คืน พอถึงวันย้ายของออก ได้มีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานมาแจ้งกับปรารถนาว่าจะต้องจ่ายค่าเช่าถึงวันที่ 15 มิถุนายนหรือจ่ายอีกครึ่งเดือนตามเงื่อนไขที่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วถึงจะได้เงินประกันคืน ปรารถนาเลยไม่ยอมเพราะเจรจาและเข้าใจมาโดยตลอดว่าจ่ายถึงวันที่ 4 มิถุนายนเท่านั้น แล้วนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาได้ฟังเรื่องราวแล้วดูชุลุมุนอีรุงตุงนังเหมือนกัน เนื่องจากการสื่อสารที่ไม่ได้ยึดข้อสัญญาที่ทำไว้ และด้วยความปรารถนาดีของเสมียนอพาร์ทเม้นท์ที่อยากจะช่วยเหลือผู้ร้องเรียนทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจ ก็เลยทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนห่างไกลไปจากข้อสัญญาที่ทำไว้มากขึ้นเรื่อยๆอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้แม้จะมีข้อเสียหลายประการ แต่จุดดีอย่างหนึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้เช่าแจ้งย้ายออกได้โดยให้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 15 วันเท่านั้น เพราะที่เห็นมาบางแห่งต้องแจ้งก่อนเป็นเดือน และอีกประการคือหากแจ้งย้ายก่อนวันที่ 15 ของเดือนก็จะคิดค่าเช่าแค่ครึ่งเดียวบางแห่งก็ฟาดซะเต็มเดือนดังนั้นเมื่อปรารถนาแจ้งย้ายเป็นทางการด้วยการกรอดแบบฟอร์มแจ้งความจำนงขอเลิกสัญญาเช่าในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ตามสัญญาที่ถือกันอยู่ปรารถนาก็มีสิทธิที่จะอยู่พักในห้องเช่าได้ไปจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2555 เพราะมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าอีกครึ่งเดือนตามสัญญาอยู่แล้ว ที่ว่ามานี้เป็นไปตามสัญญาทั่วไปที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่แต่ทั้งนี้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัย หรือเมื่อสัญญาเช่าเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ให้เช่าประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่าไม่ได้ทำความเสียหาย ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ให้เช่ารับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันตามวิธีการที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบดังนั้น เมื่อปรารถนาบอกเลิกสัญญาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 และแจ้งจะขนย้ายของออกในวันที่ 27 พฤษภาคม 2555  ส่วนผู้ให้เช่าขอตรวจสอบความเสียหาย แล้วไม่พบความเสียหายก็จะต้องคืนเงินประกันภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ซึ่งสามารถที่จะหักค่าเช่าห้องครึ่งเดือนที่ค้างอยู่ตามสัญญาได้หากอพาร์ทเม้นท์หรือห้องเช่าแห่งไหนที่มีการเรียกเก็บเงินประกันไม่มีข้อความหรือรายการแจ้งสิทธิตามประกาศของ สคบ. ผู้บริโภคสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ให้เช่าได้ทันที ฐานความผิดคือมีใบเสร็จรับเงินที่ไม่มีรายการตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด มีความผิดตามมาตรา 57 ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถไปซื้อแบบหลักฐานการรับเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ที่กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โทรติดต่อสอบถามได้ที่ 02-1430377-83

อ่านเพิ่มเติม >