คุณพชร ซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบโครงการหลวง สูตรแครอท ที่ร้านโครงการหลวง สาขาคิงพาวเวอร์ สนามบินสุวรรณภูมิ“ราคาห่อละ 25 บาทครับ ก็เปิดถุงมานั่งกิน ระหว่างนั่งกินก็ดูรูปประกอบ ดูข้อมูลต่างๆ ที่แสดงอยู่ตามข้างถุงไปเรื่อย ผมมาสะดุดมือสะดุดตาตรงสติ๊กเกอร์ที่แปะแสดงวันผลิต วันหมดอายุครับ แกะออกมาดูมันมี 2 อันแปะทับกันอยู่”สติ๊กเกอร์อันบนระบุวันผลิตไว้ที่ 05/12/54 วันหมดอายุ 05/01/55 ส่วนอันที่ถูกแปะทับปิดไว้ ระบุวันผลิตเป็นวันที่ 25/11/54 วันหมดอายุ 25/12/54 วันที่คุณพชรซื้อข้าวเกรียบห่อนี้นั้นคือวันที่ 10 ธันวาคม 2554“ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ทั้งสองฉลากก็ตาม แต่ก็ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าแล้ววันผลิตวันหมดอายุที่แท้จริงคือวันไหนกันแน่”นอกจากนี้ คุณพชร ยังสังเกตพบว่า มีการนำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่าสูตรแครอท มาแปะทับบนบรรจุภัณฑ์แต่ว่าไม่มีการระบุรายละเอียดในส่วนประกอบหลังบรรจุภัณฑ์ว่ามีแครอทผสมในสัดส่วนเท่าไหร่“ผมว่าการแสดงฉลากแบบนี้เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค อยากจะให้มูลนิธิฯ ช่วยประสานไปยังผู้ผลิตให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหานี้ด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหา ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 การที่อาหารที่มีฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ถือว่าเป็นอาหารปลอม ห้ามผลิตหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทด้วยการกระทำที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามข้อกฎหมายดังกล่าว มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปยัง มูลนิธิโครงการหลวงในฐานะผู้ผลิตสินค้า และบริษัท คิงพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ในฐานะผู้จำหน่าย ให้ช่วยกันตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นและได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคตามสมควรไม่นานมูลนิธิโครงการหลวง ได้มีหนังสือชี้แจงตอบกลับมา โดยมีข้อชี้แจงที่สำคัญดังนี้ประเด็นที่ 1 การนำสติ๊กเกอร์วันผลิตแปะทับกันเนื่องจากพนักงานติดสติ๊กเกอร์วันผลิต (25/11/54) ที่ถุงในจำนวนที่เผื่อไว้ เมื่อถึงรอบการผลิตชุดใหม่ (05/01/55) พนักงานไม่ได้แกะสติ๊กเกอร์อันเดิมออกจากถุงที่เผื่อไว้ แต่แปะสติ๊กเกอร์อันใหม่ทับไป ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าผู้ผลิตนำสินค้าเก่ามาติดวันผลิตใหม่ ซึ่งระบบการผลิตนั้น ผู้ผลิตจะทำการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเท่านั้น โดยไม่มีการผลิตสินค้าสต๊อกไว้ จึงไม่มีสินค้าที่เป็นชุดการผลิตเก่าส่งจำหน่ายให้ลูกค้า อนึ่งทางผู้ผลิตได้ทำการตักเตือนพนักงาน รวมทั้งอบรมกระบวนการทำงานให้พนักงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีกประเด็นที่ 2 การนำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่า สูตร Carrot มาติดที่บรรจุภัณฑ์เนื่องจากผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบโครงการหลวงมีทั้งหมด 3 สูตร คือ สูตรแครอท สูตรฟักทอง และสูตรเห็ดหอม ซึ่งการผลิตถุงอลูมิเนียมฟอยด์นั้นจำเป็นต้องสั่งซื้อจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ผลิตจึงใช้บรรจุภัณฑ์แบบเดียวกันในการบรรจุผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบทั้ง 3 สูตร แต่จะมีสติ๊กเกอร์ที่มีการระบุสูตรติดไว้ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นการควบคุมต้นทุนการผลิต ซึ่งการใช้บรรจุภัณฑ์แยกชนิดกันนั้นจะทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนในการทำบล๊อกพิมพ์ และต้นทุนในการสั่งผลิตบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ทั้งนี้ส่วนประกอบที่แจ้งในบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นส่วนประกอบจริงของผลิตภัณฑ์ เช่น สูตรแครอท ในส่วนประกอบระบุว่า มีผลิตผลโครงการหลวง 36% ความหมายคือ มีแครอทเป็นส่วนประกอบอยู่ 36% หรือ สูตรฟักทอง ในส่วนประกอบระบุว่ามีผลิตผลโครงการหลวง 36% ความหมายคือ มีฟักทองเป็นส่วนประกอบอยู่ 36% เป็นต้น ดังนั้นผู้ผลิตจะให้พนักงานขายชี้แจงให้ลูกค้าทุกรายเข้าใจถึงส่วนประกอบของผลิตผลโครงการหลวง“ฝ่ายตลาด มูลนิธิโครงการหลวง ขอขอบพระคุณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคุณพชร เป็นอย่างสูงที่ได้แจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ทางมูลนิธิฯ(โครงการหลวง)ได้รับทราบ ซึ่งทางมูลนิธิฯ(โครงการหลวง) จะนำไปปรับปรุงต่อไป สำหรับการพิจารณาเยียวยาในความเสียหายแก่ผู้ร้องนั้น ทางมูลนิธิโครงการหลวงจะขอมอบกระเช้าเป็นการตอบแทนในคำแนะนำ และขอโทษที่ทำให้คุณพชร เข้าใจผิด...”คุณพชรมีความพึงพอใจในคำชี้แจงและการดำเนินการที่ได้รับ ส่วนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ขอบพระคุณมูลนิธิโครงการหลวงเป็นอย่างสูงต่อการใส่ใจในปัญหาของผู้บริโภคในครั้งนี้
อ่านเพิ่มเติม >คุณนันทวัน เปิดร้านขายโยเกิร์ตสดและเต้าหู้นมสดแบบทำเองขายเอง เน้นสด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารกันบูดเคล็ดไม่ลับในการผลิตโยเกิร์ตสดของคุณนันทวัน คือใช้นมข้นกระป๋องผสมกับนมสดเป็นส่วนผสม ตั้งแต่เปิดร้านทำโยเกิร์ตสดขายเธอเลือกใช้ นมข้นแปลงไขมันหวานตรามะลิมาโดยตลอ“ร้านเราไม่ใส่สารกันบูดค่ะ เลยต้องทำให้พอดีขายไม่เก็บไว้นาน นมข้นกระป๋องที่เอามาใช้ผสมกับนมสดก็เลยซื้อมาน้อย ใช้ยี่ห้อนี้มานานแล้วไม่เคยมีปัญหาค่ะจนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2554 คุณนันทวันพบปัญหาในนมข้นหวานตรามะลิที่ซื้อมาใช้ ครั้งนั้นคุณนันทวันซื้อมา 1 แพ็คจำนวน 6 กระป๋อง ดูวันหมดอายุแล้วระบุไว้ที่กลางเดือนธันวาคม 255“เหมือนที่เคยทำมาทุกครั้งเวลาทำโยเกิร์ตสด เราจะเปิดฝากระป๋องด้านบนด้วยที่เปิดกระป๋อง แล้วเทนมข้นออกมาใส่ถ้วยเพื่อรอผสมกับนมสดที่เตรียมไว้ ไม่มีการเปิดกระป๋องค้างไว้ เมื่อเปิดเทจนเกือบหมดกระป๋องแล้ว จะใช้ช้อนขูดนมข้นส่วนที่เหลือติดอยู่ก้นกระป๋องออกมาใส่ถ้วยจนหมด ทำอย่างนี้ทุกกระป๋อง”ด้วยวิธีเปิดกระป๋องเอานมออกจนหมดกระป๋องนี่แหละ ทำให้คุณนันทวันพบปัญหา ปรากฏว่าในนมข้น 6 กระป๋อง มีอยู่กระป๋องหนึ่งที่ในเนื้อนมข้นมีก้อนสีเขียวคล้ายเชื้อราปนเปื้อนมาด้วย จึงแจ้งไปที่บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตนมตรามะลิเพื่อให้นำสินค้ากลับไปตรวจสอบ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ ได้ตรวจสอบสินค้าแล้วแจ้งกลับมายังคุณนันทวันว่า เครื่องจักรขัดข้องระหว่างการบรรจุ ทำให้อากาศเข้าไปในกระป๋องนม จึงทำให้เกิดเชื้อราขึ้น บริษัทฯ ชดเชยความเสียหายของคุณนันทวันด้วยการเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ “พอเราได้รับคำชี้แจงและเอาสินค้ามาเปลี่ยนให้ใหม่แล้ว ก็ไม่ติดใจอะไรก็ซื้อนมยี่ห้อนี้ใช้ต่อมาอีกค่ะ”ต่อมาในราวปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ในเขตภาคกลาง คุณนันทวันได้ซื้อนมข้นมะลิมาใช้เหมือนเคยจำนวน 1 แพ็ค พอต้นเดือนสิงหาคมจึงนำมาเปิดพบกระป๋องหนึ่งเจอก้อนสีเขียว สีส้ม สีเหลือง และสีดำที่ก้นกระป๋อง โดยที่นมข้นยังไม่หมดอายุ จึงโทรแจ้งไปที่บริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ“พนักงานบอกว่า นมยังสามารถบริโภคได้”คุณนันทวันเธอก็เชื่อ อีกไม่กี่วันต่อมาเธอเปิดนมข้นกระป๋องใหม่มาใช้อีกครั้ง คราวนี้พบปัญหาในลักษณะเดิมทีเดียว 2 กระป๋อง คือมีก้อนสีดำตามตะเข็บกระป๋องด้านใน และมีสนิมขึ้นด้วย“เคยเอากระป๋องแช่น้ำไล่มดครั้งเดียวกระป๋องเดียวและก็ใช้น้ำแค่ระดับก้นกระป๋องเท่านั้นพอกันมดได้กระป๋องที่แช่น้ำก็มีสนิมเกิดขึ้นด้วย แต่กระป๋องอื่นไม่เคยเอากระป๋องแช่น้ำเลยค่ะก็มีปัญหาเห็นเป็นก้อนสีดำๆ ในนม”คุณนันทวันได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน และทำหนังสือแจ้งไปที่บริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ ให้นำนมข้นที่เปิดและที่ยังไม่เปิด ไปตรวจสอบพร้อมกับขอให้ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2554 บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า ปัญหาคราบดำที่ตะเข็บก้นประป๋อง น่าจะเกิดจากคุณภาพกระป๋องบางกระป๋องที่มาจากซัพพลายเออร์ ได้เสนอให้ผู้บริหารพิจารณาปรับปรุงคุณภาพกระป๋องโดยการเคลือบกระป๋องด้านใน ตามมาตรฐานการผลิตกระป๋องบรรจุอาหาร เพื่อป้องกันปัญหาคราบดำแบบ 100% ส่วนปัญหาสนิมที่ก้นกระป๋องนั้น น่าจะเกิดจากการนำกระป๋องนมไปแช่น้ำ ตามมาตรฐานการจัดเก็บสินค้าให้จัดเก็บสินค้าไว้ในที่แห้งและสะอาด หากกระป๋องบรรจุผลิตภัณฑ์เปียกน้ำหรืออยู่ในสภาพที่ชื้น อาจทำให้เกิดสนิมได้ง่าย“ควรมีการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ในที่แห้งและสะอาด ตามคำแนะนำที่ระบุไว้ที่ฉลากข้างกระป๋อง หากลูกค้าต้องการแช่น้ำเพื่อกันมด ควรนำผลิตภัณฑ์ใส่กล่องพลาสติกที่แห้งและสะอาดก่อนนำไปแช่น้ำ” บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ ให้คำแนะนำพร้อมกับคำชี้แจงครั้งนี้ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย ได้มอบนมข้นให้ใหม่จำนวน 18 กระป๋อง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อเปิดใช้นมข้นกระป๋องตรามะลิอีกครั้งก็พบก้อนสีเหลือง สีส้มและสีของนมไม่ขาวเหมือนทุกครั้งและยังเหนียวข้นผิดปกติอีก เมื่อแจ้งไปที่บริษัทฯ ก็ได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้นมกล่องยูเอชทีแทน พร้อมทั้งได้นำนมยูเอชทีมาให้คุณนันทวันจำนวน 3 ลัง“ดิฉันเจอปัญหาต่อเนื่องถึง 4 ครั้ง ไม่ไหวแล้วค่ะ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือที” แนวทางแก้ไขปัญหาตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย หรือเป็นอาหารที่ได้ผลิต บรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะหรือ อาหารที่มีภาชนะบรรจุประกอบด้วยวัตถุที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ อาหารที่มีลักษณะข้างต้นให้ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏลักษณะการเสียของนมข้นที่มีการร้องเรียนก็อาจเข้าข่ายของอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งห้ามไม่ให้ผลิตหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาในความเสียหายที่เป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เราจึงได้เชิญตัวแทนบริษัทอุตสาหกรรมนมไทย ผู้ผลิตสินค้า และตัวแทนบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า เข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย และท้ายที่สุดบริษัทอุตสาหกรรมนมไทยได้ยินยอมชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับคุณนันทวันเป็นเงินรวม 30,000 บาท“เราไม่คิดว่าความเสียหายของเราจะเรียกค่าเสียหายได้ หากไม่ทราบเรื่องสิทธิของผู้บริโภคจากเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณมูลนิธิฯที่ให้ความช่วยเหลือค่ะ”คุณนันทวันขอบคุณเรา ซึ่งเราก็คงต้องส่งคำขอบคุณต่อไปยังบริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ ด้วยที่แสดงความรับผิดชอบกับผู้บริโภคอย่างเต็มกำลัง และหวังให้คุณภาพการผลิตสินค้าจะดียิ่งขึ้น เพื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกคนต่อไป
อ่านเพิ่มเติม >เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2555 คุณชุตินันท์เปิดร้านขายของชำในหมู่บ้านที่ ต.แม่เปา อ.พญาเม็งราย จ.เชียงรายวันที่ 31 ธันวาคม 2554 คุณชุตินันท์ ได้เดินทางเข้าตัวอำเภอพญาเม็งรายเพื่อไปหาซื้อสินค้าเข้าร้าน และได้ซื้อขนมกรุบกรอบจากร้านนรารัฐพาณิชย์หลายรายการ ในจำนวนนั้นมีขนมกรุบกรอบ ชื่อข้าวเกรียบกุ้งจำนวน 12 ถุง ราคารวม 48 บาท“ก้อเอามาแบ่งขายที่ร้านค่ะ ขายถุงละ 5 บาท 12 ถุงก็ได้เงิน 60 บาท ได้กำไรอยู่ 12 บาทแต่ถ้าหักค่ารถค่าแรงไปด้วยก็คงจะไม่ถึง”“ซื้อมาวันที่ 31 ธันวาคม พอวันรุ่งขึ้น 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ก็มีคนในหมู่บ้านมาซื้อเลย เขาซื้อข้าวเกรียบกุ้งไป 1 ถุง แล้วก็ซื้อขนมกรุบกรอบยี่ห้ออื่นๆไปอีกหลายห่อ แต่พอตกตอนเย็นลูกค้าก็เอาขนมข้าวเกรียบกุ้งมาคืน บอกว่ามีเศษก้นบุหรี่ปนใส่มาอยู่ในถุงด้วย ขอเปลี่ยนเป็นขนมอื่นแทน ก็ต้องเปลี่ยนให้เขาไป”“เราเอาขนมมาดูอย่างละเอียด ซองไม่มีร่องรอยฉีกแกะ แต่ถุงขนมเป็นพลาสติกใส ก็เห็นเศษก้นบุหรี่ที่สูบแล้วปนมาในขนมด้วย ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่เห็นเพราะสีและขนาดของก้นบุรี่ใกล้เคียงกับสีและรูปทรงของขนมข้าวเกรียบกุ้งมาก” หลังจากนั้นคุณชุตินันท์จึงได้นำขนมถุงดังกล่าวไปแจ้งความกับสถานีตำรวจเพื่อให้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน และได้ส่งขนมถุงนี้พร้อมภาพถ่ายและสำเนาบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจร้องเรียนมาที่มูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้อาจเข้าข่ายการผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์อันอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือถึงห้างส่วนจำกัด วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ในฐานะผู้ผลิต และเจ้าของร้านนราพาณิชย์ในฐานะผู้จำหน่ายเพื่อขอให้ร่วมกันพิจารณาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคตามสมควร โดยส่งไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ได้มีหนังสือชี้แจงกลับมาที่มูลนิธิฯ ว่า ได้ตรวจสอบดูแล้วว่าเป็นความผิดพลาดและเลินเล่อของพนักงานที่บรรจุข้าวเกรียบบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ดูแลการบรรจุข้าวเกรียบลงในซองให้ถูกสุขลักษณะ ทาง หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ได้จัดการว่ากล่าว ตักเตือนพนักงานดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ยินดีเยียวยาค่าเสียหายให้แก่คุณชุตินันท์เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ทั้งนี้ ทางหจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ได้จัดการเรียกเก็บคืนสินค้าชุดนั้นกลับจากร้านค้ามายัง หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ แล้ว“ต่อไปนี้ทาง หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ จะดูแลการผลิตและการบรรจุให้เข้มงวดยิ่งขึ้นกว่านี้”นอกจากจะดำเนินการตามที่ว่ามาแล้ว หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ยังได้บริจาคเงินให้กับมูลนิเพื่อผู้บริโภคอีก 2,000 บาท จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม >ขณะที่เขียนเรื่องนี้ข่าวหนังสือพิมพ์และเว็บไซด์กำลังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพกันอย่างร้อนแรง(ในขณะที่ข่าวทีวีค่อนข้างเงียบ) เกี่ยวกับที่รัฐบาลจะกลับมาเก็บ 30 บาท เพื่อเอาชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรคกลับคืนมาเป็นโลโก้ของพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ซึ่งผู้เขียนไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเห็นว่าถึงไม่เก็บ30 บาท ชาวบ้านร้านตลาดเขาก็จำได้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นจากพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันผู้เขียนเป็นกรรมการใน สปสช. คนหนึ่งมีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างหลากหลายมีเหตุผลมากมายที่สนับสนุนให้เก็บ30 บาท แต่ละเหตุผลฟังแล้วปวดใจจริงๆ เช่น บอกว่าต้องเก็บ 30 บาท เพื่อให้ชาวบ้านรู้จักคุณค่าของยาจะได้กินให้หมดไม่ทิ้งขว้าง ไม่เก็บแล้วคนไข้มาหาหมอมาก เพราะเห็นว่าฟรี เป็นต้น และคนที่แสดงความคิดเห็นเหล่านั้น ล้วนใช้สิทธิอื่นไม่ได้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเลยทั้งสิ้น พวกเขาจึงไม่มีความเข้าใจจริงๆ ว่าการไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลแต่ละครั้งของคนชนบทห่างไกลมันลำบากแค่ไหนผู้เขียนในฐานะคนใช้สิทธิหลักประกันฯ ตัวจริง(อยู่ต่างจังหวัด) ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจ นี่หรือคนที่เข้ามารับตำแหน่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ละความคิดเห็นบ่งบอกว่า ดูถูกชาวบ้านอย่างชัดเจนในนัยยะสำคัญคือ ชาวบ้านเห็นของฟรีแล้วจะมาใช้บริการอย่างไม่ยั้งคิด ผู้เขียนถามหน่อยว่าโรงพยาบาลมันน่าเข้าไปเดินเล่นนักหรือ ที่โรงพยาบาลมีแต่โรคภัยไข้เจ็บ บรรยากาศก็ชุลมุนวุ่นวาย แถมจะไปหาหมอแต่ละครั้งต้องไปจองคิวตั้งแต่ตี3 ตี4 กว่าจะได้พบหมอ รอรับยาก็ปาเข้าไปค่อนวันกว่าจะกลับถึงบ้านก็เย็นพอดี วันที่มาหาหมอที่ต้องเสียแน่ๆ คือค่าเดินทาง และค่าแรงวันนั้นสำหรับคนหาชาวกินค่ำ การไปหาหมอแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายแน่นอน ดังนั้นคงไม่มีใครไปเพราะอยากได้แค่ยาฟรี การเก็บ 30 บาท ยังจะไปเพิ่มความวุ่นวายตามมาอีกมาก เช่น มหาดไทยต้องไปดูว่าใครหนอที่จนจริง จะได้ยกเว้นการจ่ายและออกบัตรยกเว้นให้ คนไปหาหมอต้องพกบัตร 2 ใบ คือ 1. บัตรทอง 2. บัตรประชาชน ในอดีตสมัยที่ยังเก็บ 30 บาท ผู้เขียนจำได้แม่นยำว่า ตอนไปหาหมอต้องพกบัตร 2 ใบนี้มาให้ครบ หากขาดใบหนึ่งใบใดไป นั่นหมายความว่าวันนั้นใช้สิทธิไม่ได้ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด จนมีการพัฒนาให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวยืนยันการใช้สิทธิได้ทันที ซึ่งนอกจากลดค่าใช้จ่ายการทำบัตรทองแล้วชาวบ้านก็ไม่ต้องรุงรังพกบัตรหลายใบอีกด้วยแต่เรื่องเก็บ 30 บาทยังคงไม่จบง่ายๆ เพราะ ฯพณฯ ท่านนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศในที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช. ว่าหากจะเก็บ 30 บาทบริการต้องดีขึ้นกว่าเดิม หากยังไม่ดีขึ้นก็ยังไม่เก็บ ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมของระบบสุขภาพทั้ง 3 ระบบมากกว่าขอส่งเสียงสรรเสริญ นายกฯ มาล่วงหน้าและขอเอาใจช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเร็ววัน
อ่านเพิ่มเติม >คุณจันทนาถามผ่านทาง www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาว่า“ไปซื้อคอนโด Parc Exo ของ บ .อั่งเปา เครือณุศาศิริ เมื่อประมาณปีครึ่งที่ผ่านมา โดยโครงการประกาศว่าจะเริ่มก่อสร้าง พ.ย. 53 – มิ.ย. 55 ปัจจุบันโครงการเพียงแค่ลงเสาเข็มยังไม่ดำเนินการต่อ เนื่องจากบอกว่าติด EIA โดยทางผู้ซื้อหลายรายได้สอบถามไปทางโครงการฯ ว่าจะสร้างหรือไม่ เพื่อความมั่นใจ ทางโครงการฯ จะตอบว่าสร้างเสร็จทันแน่นอน โดยทางผู้ซื้อรวมตัวกันเพื่อจะหยุดการผ่อนชำระเนื่องจากความไม่แน่ใจ“ทางโครงการฯ แจ้งว่าถ้าหยุดผ่อนจะไม่คืนเงินให้ ไม่ทราบว่าทางกลุ่มผู้ซื้อจะทำอะไรได้บ้างคะ จะหยุดผ่อนชำระได้หรือไม่คะ โดยในสัญญาไม่ได้ระบุว่าหยุดผ่อนกี่งวดถึงจะไม่คืนเงิน” แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาจำพวกจะซื้อจะขายบ้านหรือคอนโดมีเนียมที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง เป็นลักษณะสัญญาต่างตอบแทนกันและกันระหว่างฝ่ายซื้อคือผู้บริโภคกับฝ่ายขายคือผู้ประกอบธุรกิจ ฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจสัญญาว่าจะสร้างบ้านหรือห้องชุดบนที่ดินที่จัดสรรให้ ส่วนฝ่ายผู้บริโภคก็ให้สัญญาว่าจะจ่ายเงินชำระเป็นงวด ๆ แต่เมื่อฝ่ายที่จะสร้างกลับไม่สร้าง ล่าช้าเลยเถิดไปเรื่อยโดยที่ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายผู้ซื้อ ประเมินสถานการณ์แล้วไม่น่าที่จะเสร็จได้ทันตามกำหนดเวลาที่ได้กำหนดกันไว้เป็นสัญญา และหากขืนจ่ายชำระค่างวดกันต่อไปจะทำให้ฝั่งผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพิ่มมากขึ้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ กฎหมายให้สิทธิแก่ฝั่งผู้บริโภคในการบอกเลิกสัญญาได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งค่างวดในส่วนที่เหลือเพื่อรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบบ้านหรือคอนโดนั้น และยังมีสิทธิเรียกเงินที่ได้ชำระไปก่อนหน้านั้นคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 อีกด้วยดังนั้นหากผู้บริโภคจะหยุดชำระและบอกเลิกสัญญาขอเงินคืน ควรทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการว่าจะหยุดชำระค่างวด เพราะบริษัทไม่ดำเนินการก่อสร้างให้ทันได้ตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ พร้อมทั้งขอเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และหากมีความเสียหายอื่นอีกก็สามารถเรียกร้องเพิ่มเติมได้เช่นกัน ที่สำคัญ เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ ผู้บริโภคไม่ควรเจรจาทางวาจาอย่างเดียว เพราะจะกลายเป็นว่าไม่เคยมีการเจรจากันมาก่อนเนื่องจากไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาได้เมื่อไม่ชำระค่างวดและจะถูกริบเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดได้
อ่านเพิ่มเติม >คุณสุรางค์ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองปากพนัง นครศรีธรรมราช ใช้รถฮอนด้า ซีวิค ปี 2002 อยากจะขายรถเพื่อเอาเงินไปซื้อรถคันใหม่เธอเที่ยวตระเวนไปตามศูนย์ซื้อ-ขายรถหลายแห่งในเมืองนครฯ ก็ยังไม่เจอศูนย์รถที่ให้ราคาที่ถูกใจ ท้ายสุดมาเจอกับพนักงานขายรถยอดแสบ นายทวี ปานถนอม ของบริษัท จ.วินิต จำกัด จึงได้เรื่องนายทวีบอกรับซื้อรถของคุณสุรางค์ที่นำมาเสนอขาย แต่ขอโทรศัพท์ไปสอบถามราคากับผู้ประเมินราคารถก่อน ซึ่งคุณสุรางค์ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่นานนายทวีวางโทรศัพท์หันมาบอกว่าผู้ประเมินฯ ให้ราคาอยู่ที่ 320,000 บาท คุณสุรางค์นึกกระหยิ่มเพราะได้ราคาสูงกว่าที่บริษัทอื่นประเมินราคามา แถมรถใหม่ที่จะซื้อนายทวีบอกว่าจะได้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 1.99% และอาจน้อยกว่านี้อีกขึ้นอยู่กับเงินดาวน์คุณสุรางค์ดีดลูกคิดในใจ ว้าว ...ดอกเบี้ยต่ำกว่าหลายๆ บริษัทที่ไปคุยมา ราคาและเงื่อนไขซื้อขายดีขนาดนี้ “อย่าปล่อยให้หลุดมือเชียว” จึงตกลงใจที่จะซื้อขายรถกับบริษัท จ.วินิต ผ่านทางนายทวีทันทีตอนนั้นเป็นช่วงเย็นนายทวีบอกว่าศูนย์จะปิดบริการแล้วไม่สะดวกในเรื่องเอกสารและการออกใบเสร็จบอกว่าจะนำเอกสารสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ถึงที่ทำงานเลยในวันรุ่งขึ้น ส่วนรถคันเก่าจะทำสัญญาซื้อขายในวันออกรถใหม่คุณสุรางค์ไม่ได้เอะใจอะไร คิดแต่ว่าช่างเป็นวันที่ดีจริงๆ ได้มาเจอศูนย์ขายรถที่ให้ราคารับซื้อรถเก่าที่สูง แถมจะได้สินเชื่อผ่อนรถใหม่ดอกถูกแสนถูกอีก หาที่ไหนไม่ได้แล้ว วันรุ่งขึ้นนายทวี มาหาคุณสุรางค์ถึงที่ทำงานที่เทศบาลปากพนังในชุดพนักงานบริษัท จ.วินิต จำกัด มีป้ายชื่อพนักงานแขวนคอมาพร้อมสรรพ นำใบสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ คุณสุรางค์เซ็นต์เสร็จก็ล้วงเงิน 5,000 บาทจ่ายเป็นค่าจองรถไป นายทวีให้สำเนาใบจองรถที่มีหัวเป็นชื่อบริษัท จ. วินิตเป็นหลักฐาน พร้อมหยอดข้อเสนอใหม่ก่อนจากว่า จะรีบติดต่อธนาคารเรื่องขอสินเชื่อให้ถ้ารีบทำในช่วงนี้จะได้ดอกเบี้ย 1.55% พอได้ยินดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าครั้งแรก คุณสุรางค์น้ำตาแทบเล็ดไม่คิดว่าจะมีเซลล์แสนดีขนาดนี้อยู่ในโลก รีบขอบอกขอบใจนายทวีเป็นการใหญ่สามวันต่อมาหลังเซ็นต์สัญญาจองรถ นายทวีพาผู้ชายคนหนึ่งมาหาคุณสุรางค์ แนะนำตัวว่าอยู่แผนกสินเชื่อ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานครศรีธรรมราช รับผิดชอบการทำสินเชื่อรถยนต์ และนำเอกสารการขอสินเชื่อให้คุณสุรางค์เซ็นต์ ส่วนนายทวีบอกว่าจะได้รับรถภายในกลางเดือนถัดไป หลังเซ็นต์สัญญาขอสินเชื่อไป 2-3 วัน ก็มีโทรศัพท์มาหาคุณสุรางค์เป็นเสียงผู้หญิงบอกว่าโทรจากธนาคารไทยพาณิชย์ ขอสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่จอง และแจ้งว่าจะดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่พิจารณาต่อไป ทำให้คุณสุรางค์มั่นใจว่านายทวีได้ดำเนินการจองรถให้จริงกระบวนการต้มเหยื่อยังไม่จบ จากนั้นไม่นานนายทวีโทรมาหาเหยื่ออยู่หลายครั้งเพื่อหลอกล่อให้ใส่อุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติม คุณสุรางค์ทนลูกตื๊อไม่ไหวจึงตกปากรับคำซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติมเป็นเงินอีก 33,000 บาท โดยที่นายทวีอาศัยจังหวะน้ำท่วมใหญ่เข้านครศรีธรรมราชอ้างเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทาง ขอให้คุณสุรางค์โอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง คุณสุรางค์โอนเงินให้โดยไม่เอะใจอะไรเพราะคิดว่ายังพอมีใบโอนเงินของธนาคารเป็นหลักฐานอยู่ต่อมาก่อนถึงเวลารับรถ 1 สัปดาห์ นายทวีโทรมาหาเหยื่อบอกว่า ตอนนี้มีคนสั่งจองรถเป็นจำนวนมาก อาจมีปัญหาไม่ได้รับรถตามกำหนด ขอให้คุณสุรางค์จ่ายเงินค่าล็อครถจำนวน 20,000 บาท ไม่งั้นอาจมีคนอื่นแย่งไปได้คุณสุรางค์โดนรีดเงินไปแล้ว 38,000 บาท(5,000+33,000) พอได้ยินค่าล็อครถอีก 20,000 บาทก็ถึงกับสะอึก “มีด้วยเหรอค่าล็อครถ” คุณสุรางค์ขอวางสายกับนายทวี แล้วโทรไปหาน้องเขยที่กรุงเทพฯ ซึ่งเคยใช้บริการกับบริษัทมิตซูบิชิผู้ผลิตรถปาเจโรเรื่องค่าล็อครถ 20,000 บาท น้องเขยยืนยันว่ามีจริง คุณสุรางค์จึงเดินทางไปที่บริษัท จ.วินิตเพื่อจะจ่ายเงินค่าล็อครถ 20,000 บาทผ่านนายทวี แต่ก่อนจ่ายเงินคุณสุรางค์เอ่ยขอใบเสร็จรับเงิน นายทวีบอกว่าจะออกให้ในวันที่ออกรถทีเดียวทั้งหมด คุณสุรางค์จึงถามหาใบเสร็จรับเงินชั่วคราว นายทวีก็บ่ายเบี่ยงบอกว่าต้องขอเวลาสัก 1 ชั่วโมงจะไปถามหัวหน้าดูก่อนและจะไปช่วยเพื่อนพนักงานขนของด้วย“แค่ขอใบเสร็จ ให้รอนานขนาดนี้ กลับบ้านดีกว่า” คุณสุรางค์บอกกับตัวเองกลับมาถึงบ้านไม่ถึง 20 นาที นายทวีได้โทรมาหาบอกว่า ปรึกษากับหัวหน้าแล้วให้ออกใบเสร็จได้ และจะไปขอรับเงินที่บ้านพักของคุณสุรางค์เลยเพื่อจะได้รีบกลับมาดำเนินการส่งเรื่องให้บริษัทใหญ่ภายในวันนี้ คุณสุรางค์จึงตกลงไม่นานนายทวีได้มารับเงินสดค่าล็อครถ 20,000 บาทจากคุณสุรางค์ แต่แทนที่จะได้รับเป็นใบเสร็จรับเงิน นายทวีกลับใช้ใบสั่งจองรถยนต์ของบริษัท จ.วินิต เป็นหลักฐานการรับเงินแทน คุณสุรางค์นึกสงสัยแต่เห็นหัวเห็นตราของบริษัทในกระดาษ คิดว่าไม่มีปัญหาจึงยอมจ่ายเงินให้ไปหลังจากจ่ายเงินไปแล้วคุณสุรางค์ยังรู้สึกไม่สบายใจเรื่องหลักฐานการจ่ายเงินที่ได้จากนายทวีที่เป็นใบสั่งจองรถทั้งหมด หยิบขึ้นมาเทียบดูก็เห็นความผิดปกติ ใบแรกที่ได้รับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 073 ส่วนใบที่สองที่เพิ่งได้มากลับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 065 ซึ่งย้อนหลังไปอีก กำลังมึนๆ งงๆ กับตัวเลขในใบสั่งจองรถอยู่ นายทวีได้โทรศัพท์เข้ามาพอดี บอกว่าจะขอค่ามัดจำรถอีก 30,000 บาท คุณสุรางค์นึกในใจจ่ายไปแล้ว 58,000 บาท ยังไม่เห็นหน้ากระโปรงรถเลย นี่จะเอาอีก 30,000 บาท สงสัยจะโดนต้มเสียแล้ว จึงบอกกับนายทวีว่าเดี๋ยวจะจัดการให้แล้ววางสายทันที แนวทางแก้ไขปัญหาคุณสุรางค์ได้ติดต่อกลับไปที่บริษัท จ.วินิต และนำหลักฐานใบจองรถที่ได้รับจากนายทวีให้บริษัทฯตรวจสอบ บริษัทฯ ตรวจสอบแล้วบอกว่า ไม่เคยมีการจองรถคันนี้ และไม่มีการนำเงินเข้าบริษัทฯ เลย แต่บริษัทฯ จะรับผิดชอบทั้งหมด ตอนนี้อย่าเพิ่งกระโตกกระตากและให้หยุดการติดต่อกับนายทวี ซึ่งบริษัทฯ แจ้งว่าเป็นเพียงพนักงานชั่วคราวยังไม่ได้รับการบรรจุจากบริษัทฯ และขณะที่บริษัทฯ ทราบเรื่องนายทวีก็ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขายให้บริษัทฯ อยู่ บริษัทฯ จึงไปขอยึดรถจักรยานยนต์ของนายทวีไว้เป็นประกันก่อนจากนั้นคุณสุรางค์และเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้พากันไปหาพ่อแม่ของนายทวีถึงบ้าน ก็ทราบว่าพ่อแม่มีฐานะยากจนไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายแทนลูกชายได้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ จึงแนะนำให้คุณสุรางค์ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายทวีที่สถานีตำรวจภูธรปากพนัง และบริษัทฯ เสนอที่จะชดใช้เงินเฉพาะตามหลักฐานของบริษัทฯ คือเงินจองและเงินค่าล็อกรถรวม 25,000 บาท คุณสุรางค์ไม่ตกลง ต่อมาได้มีการเจรจากันอีกครั้งที่สถานีตำรวจ ท้ายสุดคุณสุรางค์ยอมรับเงินจากนายทวีที่ 50,000 บาท ที่เหลือ 8,000 บาทนั้น ยินยอมลดให้นายทวี โดยได้มีการทำบันทึกเป็นหลักฐานไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญาอีกต่อไป พอทำบันทึกออกมาเช่นนี้ เป็นผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของนายทวีทันทีเรื่องนี้มาถึงมูลนิธิฯ หลังจากที่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงที่ว่ามาเรียบร้อยแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจึงเป็นอันต้องยุติไปด้วย จึงนำเรื่องมาแจ้งเตือนให้ระวังภัยโดยทั่วกัน
อ่านเพิ่มเติม >ชาวบ้านลำลูกกา ปทุมธานี ลงชื่อกว่าครึ่งร้อย เรียกร้องการไฟฟ้าลำลูกกาแก้ไขปัญหากระแสไฟไม่เพียงพอ ไฟตกบ่อยครั้งทำเครื่องใช้ไฟฟ้าเจ๊งกันระนาว ร้องไปร่วม 5 เดือนไม่มีความคืบหน้าเมื่อเดือนมกราคม 2555 คุณอาทิตยาเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากกระแสไฟฟ้าตกในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ถึงขั้นต้องไปขอให้ตำรวจช่วยลงบันทึกประจำวันเนื่องจากกระแสไฟตกทำให้จอคอมพิวเตอร์ขนาด 18 นิ้วได้รับความเสียหาย และได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 50 รายชื่อไปแจ้งให้การไฟฟ้าลำลูกกาให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้รับคำตอบว่าต้องรอหม้อแปลงไฟฟ้า จนถึงเดือนมกราคม 2555 ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงต้องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาเกี่ยวกับการไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้การประกอบการของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วแต่กรณีพื้นที่ และทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งจะมีสำนักงานประจำตามเขตต่างๆ กรณีนี้เกิดขึ้นที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จึงอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 7 และผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา โดยระบุไปในจดหมายว่ามีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนถึง 4 หมู่จากปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอและมีกระแสไฟฟ้าตกเป็นระยะตั้งแต่ช่วงเวลา 18.00-23.00 น. ซึ่งทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านได้รับความเสียหายหลังทำหนังสือร้องเรียนไป การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา ได้ส่งพนักงานเข้าไปตรวจสอบและได้วัดโหลดปรับปรุงเพิ่มขนาดหม้อแปลงจาก 100 กิโลโวลท์แอมแปร์ เพิ่มเป็น 160 กิโลโวลท์แอมแปร์ และตัดต่อจุดต่อสายใหม่พร้อมจัดโหลดให้สมดุลได้ 220 โวลท์ทุกเฟส หลังจากนั้นจึงได้ติดต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ร้องเรียนเพื่อสอบถามถึงประสิทธิภาพของไฟฟ้าได้รับคำตอบว่าใช้ไฟฟ้าได้ปกติแล้ว ในอนาคตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา มีแผนงานปรับปรุงเพิ่ม โดยจะติดตั้งหม้อแปลงเสริมฝั่งตะวันออกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป
อ่านเพิ่มเติม >ตอนกำลังเผชิญหน้าน้ำท่วมใหญ่ มีคำแนะนำมากมายเรื่องรถยนต์ หนึ่งในนั้นก็คือ กรณีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ที่นักวิชาการด้านรถยนต์เขาแนะนำว่า หากน้ำท่วมรถไม่มาก แต่แช่น้ำอยู่นานก็ควรถ่ายน้ำมันเครื่องเสียเพื่อให้มั่นใจในการใช้รถต่อไปทีแรกได้ยินเรื่องนี้ก็ไม่ได้คิดอะไร เปลี่ยนก็เปลี่ยน แต่เมื่อมีน้องคนหนึ่งโทรมาปรึกษาว่า น้องเพิ่งซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิมาใช้ได้ประมาณหนึ่งปี โดยในข้อสัญญาระบุว่ามีการประกันการใช้รถ ระยะทางจำนวน 150,000 กม.ในระยะเวลา 5 ปี และฟรีค่าบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รถยี่ห้อนี้ ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องกับศูนย์บริการของมิตซูเองเท่านั้น เพราะหากไปถ่ายที่อื่นหากเกิดอะไรขึ้นอาจเป็นเหตุให้บริษัทมิตซู อ้างได้ว่าผู้ซื้อผิดกติกาของมิตซู และอาจถูกปฏิเสธการรับประกันดังกล่าวได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาผู้ซื้อก็จะตัดสินใจไปถ่ายน้ำมันเครื่องที่ศูนย์ของมิตซู (ประหยัดค่าจ้างถ่ายน้ำมันด้วย)น้องคนที่มาปรึกษามีบ้านอยู่ที่สมุทรสงครามสะดวกสุดก็จะถ่ายที่สมุทรสงคราม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ศูนย์มิตซูบิชิสมุทรสงคราม น้องบอกว่าไปถ่ายครั้งแรก เสียค่าใช้จ่ายไปเกือบ 3,000 บาท(ใช้น้ำมันเครื่องเชลล์) น้องก็เลยตรวจสอบสเป็กน้ำมันว่าใช้สเป็กไหน และมีการไปเทียบราคาเพื่อจะได้ประหยัดในการถ่ายครั้งต่อไป(น้องเขาก็ฉลาดซื้อเหมือนกัน) น้องบอกว่าน้องได้ซื้อน้ำมันเครื่องของ ปตท.ในสเป็กเดียวกัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราวๆ 1,300 บาทมาให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนให้ แต่ศูนย์ฯ ปฏิเสธที่จะถ่ายให้บอกว่าศูนย์ฯ ขอสงวนสิทธิ ไม่ให้ลูกค้านำน้ำมันจากภายนอกเข้ามา และอ้างว่าน้ำมันที่น้องซื้อมาเองไม่ดี (อ้าวปตท.ว่าไง!) น้องก็ใช้สิทธิผู้บริโภค โดยการโทรหาบริษัทมิตซูส่วนกลางเพื่อสอบถามเรื่องการสงวนสิทธิของศูนย์บริการ ก็ได้รับคำตอบว่าการสงวนสิทธิไม่ใช่นโยบายของมิตซู แต่เป็นนโยบายของแต่ละศูนย์ฯ เอง ศูนย์ฯ บอกว่างั้นก็ไปถ่ายศูนย์ฯ อื่นล่ะกัน น้องก็บอกว่าบ้านอยู่ที่นี่ทำไมต้องเสียน้ำมันขับไปถ่ายจังหวัดอื่น ศูนย์ฯ ก็จะยอมให้น้องคนเดียวเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งน้องได้ตอบปฏิเสธไปเพราะน้องบอกว่าที่น้องเรียกร้องสิทธิไม่ใช่แค่แก้ไขให้คนร้องคนเดียว แต่ต้องปฏิบัติกับผู้ใช้บริการทุกคนอย่างเสมอภาพไม่ใช่เลือกปฏิบัติน้องถามอีกว่า...การที่ศูนย์ฯ สงวนสิทธิไม่ยอมให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ ? เอาละซิ ! คำถามนี้เป็นคำถามที่ท้าทายมาก.... เพราะการกระทำของศูนย์ฯ ผิด พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 4 สิทธิผู้บริโภค อนุ 2 ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งชัดเจนว่าหรือศูนย์บริการมิตซู สมุทรสงคราม ออกระเบียบละเมิดกฎหมาย โดยใช้สัญญามาผูกมัดให้ผู้บริโภคต้องยินยอม เรื่องนี้ผู้เขียนแนะนำให้น้องไปร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคสมุทรสงคราม(ซึ่งไม่น่าจะทำงานยาก) เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่กำลังละเมิดสิทธิผู้บริโภคเช่นนี้อีก
อ่านเพิ่มเติม >คุณจีวัฒน์ร้องเรียนผ่านทาง www.consumerthai.orgผมซื้อเครื่องดูดฝุ่นแอลจี เพราะมีหัวดูดพิเศษ sani punch ปรากฏว่าหัวดูดมันไม่ทำงาน ขอเคลมผ่านตัวแทนจำหน่ายหนึ่งอาทิตย์ผ่านไป ตัวแทนจำหน่ายแจ้งว่า ทางแอลจีบอกว่าเคลมไม่ได้ เพราะถือว่าหัวดูดนั้นเป็นของแถมในกล่อง “ตอนที่โฆษณาบอกว่ามันคือคุณสมบัติเด่นของสินค้าเลยนะครับนั่น ที่ผมซื้อก็เพราะมันมีคุณสมบัตินั้นนั่นแหละ ผมควรทำไงดี แนะนำด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้เปิดไปดูข้อมูลโฆษณาของเครื่องดูดฝุ่นของ LG ที่ถูกร้องเรียนเข้ามา มีรายละเอียดทางอินเตอร์เน็ตคร่าวๆ ว่าLG VC4920NHTMY เป็นเครื่องดูดฝุ่นกำลังไฟ 2,000 วัตต์ มีหัวดูด Mop อเนกประสงค์ ซึ่งช่วยให้ดูดฝุ่นและถูพื้นได้พร้อมกันในครั้งเดียว พร้อมหัวดูด Sani Punch ซึ่งมีลูกกลิ้งสัมผัสพื้นผิวถึง 3,000 ครั้งต่อนาที สามารถลดไรฝุ่นตามที่นอนและโซฟาได้มากถึง 80% หลังจากใช้เพียง 5 ครั้ง ทำให้บ้านสะอาดอย่างแท้จริง ประโยชน์ของหัวดูด Sani Punch มีการโฆษณาข้อมูลเพิ่มเติมว่า“กำจัดผิวหนังที่หลุดร่วงบนที่นอนของคุณผิวหนังที่หลุดลอกออกมาบนที่นอนของคุณ เป็นอาหารชั้นเลิศให้กับไรฝุ่นทั้งหลาย ทำให้ไรฝุ่นขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วกำจัดไรฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพหัวดูด Sani Punch จะช่วยลดไรฝุ่นบนที่นอน ที่เป็นสามาเหตุของโรคภูมิแพ้ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ครอบครัวของคุณพักผ่อนได้อย่างสบายตัว และสบายใจ”ดูจากเนื้อหาโฆษณาแล้ว ต้องถือว่าเจ้า หัวดูด Sani Punch นั้นเป็นสาระสำคัญในการขายสินค้า จะอ้างว่าเป็นเพียงของแถมเมื่อเสียแล้วเปลี่ยนให้ใหม่ไม่ได้ ดูจะเป็นพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบไปหน่อยเมื่อลูกค้าเขาเชื่อโฆษณาว่ามันสามารถดูดไรฝุ่นหรือแม้กระทั่งเศษผิวหนังของมนุษย์ได้ เลยซื้อมาใช้ แต่เมื่อซื้อมาแล้วกลับเปิดใช้ไม่ได้ หรือไม่สามารถดูดไรฝุ่น เศษผิวหนังของมนุษย์ได้อย่างที่กล่าวอ้าง เจ้าของสินค้าและผู้ผลิตก็จะต้องรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเรียกร้องปากเปล่ากันไม่ได้เรื่อง เราจึงแนะนำให้ผู้ร้องรายนี้ได้ทำหนังสือไปถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท แอลจี เพื่อขอให้เปลี่ยนหัวดูดไรฝุ่นอันใหม่ให้ ไม่นานหลังได้รับหนังสือทวงสิทธิจากผู้บริโภค บริษัทแอลจีก็ได้ส่งหัวดูดไรฝุ่นอันใหม่มาให้คุณจิรวัฒน์ใช้งาน ปัญหานี้จึงจบลงได้ด้วยดีส่วนจะดูดไรฝุ่น เศษผิวหนังได้ดีขนาดไหน ใครที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ช่วยบอกมาด้วยนะครับ
อ่านเพิ่มเติม >คุณลลิตา ชาวจังหวัดพิจิตร ได้ซื้อรถเก๋งฟอร์ดเฟียสต้าสีน้ำเงินจากศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกในราคา 699,000 บาท และทำสัญญาเช่าซื้อผ่านธนาคารแห่งหนึ่ง ผ่อนได้ไม่กี่เดือนรถก็มีปัญหาคุณลลิตาบอกว่า ตั้งแต่ได้รับรถมาก็ใช้รถตามปกติ ไม่เคยทำการดัดแปลงใดๆ กับรถเลย แต่ต่อมาไม่กี่เดือนพบอาการผิดปกติของรถ คือขณะที่ขับรถอยู่ได้กลิ่นเหม็นไหม้ที่หน้าเครื่องยนต์ จึงรับนำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิจิตร ศูนย์น แจ้งว่าไม่พบสาเหตุ อาจจะเป็นที่ผ้าเบรค ช่างก็ได้ถอดผ้าเบรคมาขัดและเช็ด แต่อาการเหม็นไหม้ก็ยังมีอยู่“ช่างบอกว่าให้นำรถกลับไปใช้ก่อน ถ้าอาการยังไม่หายให้นำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกที่ได้ซื้อรถมา”เมื่อนำรถกลับมาใช้อาการก็เป็นเหมือนเดิม คุณลลิตาจึงนำรถไปตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลก ในวันนั้นช่างรับรถและเปิดห้องเครื่องปรากฏว่ามีควันลอยขึ้นมา ช่างบอกว่าต้องทิ้งรถไว้เพราะไดร์ชาร์ตไหม้ ช่างบอกว่าจะเปลี่ยนให้ใหม่แต่ต้องรออะไหล่มาจากกรุงเทพฯ“ดิฉันไม่มีรถใช้เพราะต้องไปรับส่งลูกที่โรงเรียน และต้องใช้รถยนต์ขับไปทำงานทุกวัน จึงขอรถใช้ระหว่างซ่อมกับทางศูนย์ฯ”ศูนย์ฯ บอกว่าไม่มีรถสำรองให้ใช้ และไม่มีโครงการนี้ ! เมื่อเจอคำตอบแบบไร้เยื่อขาดใย คุณลลิตาก็ไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่ทิ้งรถไว้ให้ช่าง ส่วนตัวเองก็กลับมาบ้านและคอยติดตามถามไถ่ความคืบหน้าการซ่อมรถเป็นระยะๆคุณลลิตาส่งรถเข้าศูนย์ฯ ไปตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2554 จนถึงวันที่ 19 กันยายน ปีเดียวกัน ช่างของศูนย์ฯ ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดฟันธงได้ว่าปัญหาที่รถมีกลิ่นไหม้เวลาวิ่งนั้นเกิดจากอะไรแน่“ช่างบอกว่าเปลี่ยนไดร์ชาร์ตให้ใหม่แล้ว พอทดลองติดเครื่องและเปิดแอร์อาการก็ยังเหมือนเดิม พอถึงวันที่ 19 กันยายน ช่างประจำศูนย์ฯ จึงโทรมาแจ้งว่าพบสาเหตุแล้ว แต่บอกว่าอาจเป็นที่แผ่นครัช เบรก หรือเกียร์ แต่ก็ไม่ได้ระบุสาเหตุที่แน่ชัด”ช่างบอกว่าต้องถอดออกมาดูก่อน ทางคุณลลิตาก็มองว่าเป็นการถอดไปเรื่อยๆ จึงเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพของรถคันนี้ และมองว่ารถคันนี้ไม่มีความปลอดภัยในการใช้งาน จึงติดต่อไปที่ศูนย์ฟอร์ดฮอตไลน์เพื่อแจ้งขอให้เปลี่ยนรถคันใหม่ให้“ฟอร์ดฮอตไลน์บอกว่า ทางบริษัททำได้แค่การเปลี่ยนอะไหล่ให้ คงจะไม่เปลี่ยนรถให้ใหม่เพราะรถได้มีการใช้งานแล้ว ดิฉันจึงได้ถามว่า ซ่อมแล้วจะมีอะไรรับรองได้ว่ามันจะไม่กลับมาเป็นอีก และถ้าเสียอีกจะทำอย่างไร”“เสียอีกก็ต้องซ่อมอีก รถเสียก็ต้องซ่อม” ฟอร์ดฮอตไลน์ตอบคำถามของคุณลลิตาอย่างชัดถ้อยชัดคำพอได้รับคำตอบแบบนี้ คุณลลิตาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับทางฟอร์ดขอรับเงินดาวน์พร้อมค่างวดรถจำนวน 272,215 บาทที่ได้จ่ายไปแล้วคืน แนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากการร้องเรียนผ่านมูลนิธิฯ ครั้งแรกคุณลลิตาต้องการให้ฟอร์ดเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ และต้องการเรียกร้องค่าขาดโอกาสในการใช้รถในระหว่างซ่อมด้วย แต่เมื่อคุณลลิตาได้มีการเจรจากับศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกในเวลาต่อมา ก็ได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจคือ ศูนย์ฟอร์ดฯ จะทำการเปลี่ยนไดร์ชาร์ตและยกชุดเกียร์ให้ใหม่ และจะมีการรับประกันอะไหล่ให้ 4 ปี หรือที่ระยะทาง 120,000 กิโลเมตร และฟรีโปรแกรมเช็คระยะ 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว คุณลลิตาจึงได้รถกลับมาใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 และขอยุติเรื่องร้องเรียนในท้ายที่สุด
อ่านเพิ่มเติม >