ฉบับที่ 141 ขอยกเลิกใช้บริการมือถือยุ่งยากจริงหรือเปล่า

คุณวิศว์ เป็นสมาชิกฉลาดซื้อของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ใช้เบอร์มือถือของค่ายทรูสองเบอร์ สองซิม โดยไม่รู้ตัว เรื่องวุ่นๆ เลยเกิดคุณวิศว์ ผู้มีถิ่นพำนักอยู่ในกรุงเทพมหานคร เขียนจดหมายมาถึงบก.ฉลาดซื้อเล่าว่า เขาเคยใช้ซิมมือถือของทรูมูฟ หมายเลข 080901XXXX ต่อมาได้เดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัด และเกิดความไม่สะดวกในการใช้งานมือถือที่มีเบอร์อยู่ต้องการยกเลิก จึงไปติดต่อที่บูธของทรูมูฟทั้งใน จ.ลำพูนและเชียงใหม่เพื่อเลิกใช้บริการ ได้รับคำตอบว่าจะต้องขอยกเลิกการใช้บริการกับสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯเท่านั้น“ผมจึงได้โทรติดต่อที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ได้รับแจ้งว่า จะต้องเดินทางมาดำเนินการด้วยตนเอง ไม่อาจใช้ผู้ใดดำเนินการแทนได้ หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ผมได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้รับใบแจ้งค่าบริการว่าจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 317.79 บาท”คุณวิศว์เขียนข้อปรึกษาสำคัญมาว่า เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่เขาไม่ได้ใช้บริการใดๆ เลย และไม่ได้รับความสะดวกในการยกเลิกการใช้บริการ และเสียค่าบริการดังกล่าว แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้บริโภค  ทำให้รู้ว่าคุณวิศว์มีเบอร์ของทรูมูฟอยู่สองเบอร์ และเข้าใจมาตลอดว่าเป็นซิมแบบระบบเติมเงินทั้งคู่ ได้พยายามติดต่อยกเลิกการใช้บริการเบอร์หนึ่งแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ซ้ำเมื่อปล่อยเวลายืดยาวต่อมา มีใบแจ้งค่าบริการจำนวน 317.79 บาทโผล่ขึ้นมา คุณวิศว์จึงยอมรับไม่ได้เพราะคิดว่ามือถือในระบบเติมเงินไม่น่ามีค่าค้างจ่ายเกิดขึ้นได้ เราได้สอบถามไปที่ทรูมูฟ ได้รับคำชี้แจงว่า เบอร์ที่คุณวิศว์ต้องการยกเลิกนั้นเป็นเบอร์ในระบบรายเดือน โดยใช้โปรโมชั่นเดือนละ 99 บาท และผู้ร้องไม่ชำระค่าบริการคงค้างมา 3 เดือนแล้ว จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายเท่ากับ 99 X 3 + VAT 7% = 317.79 บาท และเมื่อรวมยอดปัจจุบันอีกเดือนเลยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 423.72 บาท ทรูจึงไม่สามารถยกเลิกเลขหมายดังกล่าวให้ได้ฟังข้อมูลมาถึงตรงนี้แล้ว ประเด็นก็เหมือนกับว่าคุณวิศว์จะต้องชำระค่าค้างจ่ายเสียก่อนถึงจะยกเลิกการใช้บริการได้ แต่เมื่อย้อนตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วคุณวิศว์ได้ไปติดต่อขอยกเลิกบริการกับทรูมูฟแล้วก่อนหน้านี้แล้ว 3 เดือนซึ่งขณะนั้นยังไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เมื่อผู้บริโภคไม่มีค่าค้างจ่ายก็ย่อมมีสิทธิเลิกการใช้บริการได้ แต่ทรูมูฟใช้วิธีการโยกโย้ไม่ยอมยกเลิกบริการให้ ไปบอกเลิกที่ลำพูน เชียงใหม่ ก็บอกให้กลับมาบอกเลิกที่กรุงเทพฯ เสียอย่างนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังนั้น คุณวิศว์จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธค่าใช้จ่ายดังกล่าว และมีสิทธิที่จะบอกเลิกบริการได้ส่วนวิธีการยกเลิกก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปๆ มาๆ อย่างที่ทรูมูฟแนะนำ การยกเลิกใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อตรวจสอบแล้วว่าไม่มีค่าใช้จ่ายคงค้างกันอยู่ ก็ให้เขียนเป็นจดหมายบอกเลิกส่งไปให้บริษัทผู้ให้บริการมือถือ จะส่งแฟกซ์หรือจดหมายอีเอ็มเอสก็ได้ แต่ให้เก็บจดหมายไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าหากมีค่าใช้จ่ายค้างกันอยู่ก็ให้ชำระค่าใช้จ่ายที่ค้างเหลืออยู่ก่อนแล้วค่อยบอกยกเลิก แต่หากไม่ได้เปิดใช้บริการซิมมือถือนั้น หรือเปิดใช้บริการเพราะหลงผิดคิดว่าเป็นซิมแบบเติมเงิน เพราะตัวแทนบริษัทให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนอย่างนี้ก็สามารถปฏิเสธค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้โดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 ชวนลงทุนไม้กฤษณา ผลตอบแทนอาจต่ำกว่าที่คิด

ด้วยราคาอันสูงลิ่วของน้ำมันกฤษณา และมักมีข่าวการลักลอบตัดไม้กฤษณาถี่ขึ้นเรื่อยๆ จึงมีคนหัวใสตั้งบริษัทลงทุนปลูกไม้กฤษณาขึ้นมา ชวนคนมาร่วมระดมทุน นำเสนอผลตอบแทนแบบสูง แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับไม่เป็นอย่างที่คิดไม้กฤษณา เป็นสินค้าส่งออกราคาสูงของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 ...ในประเทศไทย บริษัท ทัชวู้ด ฟอร์เรสตรี จำกัด ได้รับอนุญาตจัดตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันกฤษณา เพื่อการขายและการส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันจะส่งผลให้บริษัทฯ เป็นศูนย์กลางในการกลั่นน้ำมันไม้กฤษณาขนาดใหญ่ได้ในอนาคตด้วย...”เมื่อสัก 6 ปีที่แล้ว คุณอัฐวุฒ ได้เห็นข้อความโฆษณาชวนลงทุนปลูกต้นกฤษณาจากนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ชื่อดังฉบับหนึ่ง และบริษัทแห่งนี้ยังไปจัดบูธกิจกรรมตามห้างสรรพสินค้าใหญ่  ข้อความโฆษณาที่โดนใจเอามากๆ คือ ผลประโยชน์ทางการเงินจากการร่วมลงทุน แจ้งว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ร่วมลงทุน ในระยะเวลา 6 ปี สามารถได้รับผลประโยชน์ถึง 230,000 บาท จากเงินลงทุนเพียง 82,000 บาท และสูงสุดถึง 3,680,000 บาท จากเงินลงทุน 1,173,000 บาท  ทำให้เขาซึ่งเป็นช่างภาพอิสระและเป็นคนรักธรรมชาติ คิดอยากจะเพิ่มรายได้จากเงินออมที่เก็บไว้ด้วยการเข้าร่วมลงทุนปลูกต้นกฤษณากับบริษัทแห่งนี้คุณอัฐวุฒเข้าทำสัญญาซื้อขายแปลงปลูกต้นไม้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 โดยเลือกโปรแกรมการลงทุนขนาดเล็กสุดคือ เนื้อที่ปลูก 25 ตารางวา กับไม้กฤษณาจำนวน 23 ต้น โดยวางเงินก้อนแรก 55,000 บาท และต้องจ่ายเป็นรายปีในปีต่อๆ มาอีกปีละ 5,500 บาทเป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินร่วมลงทุนทั้งสิ้น 82,500 บาท   ซึ่งบริษัทฯ ได้แสดงราคาผลตอบแทนทางการตลาดที่ผู้ร่วมลงทุนจะได้รับอยู่ที่ประมาณ 138,000-230,000 บาท โดยประเมินจากมูลค่าทางการตลาดของต้นกฤษณา ณ เวลาที่เก็บเกี่ยวคือ 10,000 บาทต่อต้น เวลา 6 ปีผ่านไปไวเหมือนฝัน หลังจากส่งเงินค่างวดไปจนครบ ตามสัญญาบริษัทบอกว่าจะตัดต้นไม้ในปีนี้ คุณอัฐวุฒนั่งดีดลูกคิดทันที ปลูกไว้ 23 ต้น ต้นละ 10,000 บาท จะได้เงิน 230,000 บาท ลงทุนไป 82,500 บาท   กำไร 147,500 บาท หาร 6 ปี เท่ากับว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 24,583 บาทเหมือนรู้ใจ...ไม่นานเกินรอ บริษัทฯ ได้ส่งเอกสารขออนุญาตตัดต้นไม้มาให้ พร้อมให้เซ็นชื่อรับเงิน ด้วยอารามดีใจจรดปากกาเซ็นรับเงินทันที พอเซ็นไปแล้วถึงเพิ่งเห็นจำนวนเงินที่บริษัทฯจะจ่ายให้ เป็นเงิน 138,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นผลตอบแทนขั้นต่ำสุดของการลงทุน ไม่รู้จะแก้ไขยังไงเพราะตัวเองเซ็นชื่อลงไปแล้ว ตอนหลังจึงโทรไปถามพนักงานดูแลของบริษัทฯ ว่า สภาพการปลูกต้นไม้เสียหายอะไรบ้างหรือเปล่า ทำไมถึงได้รับแค่นี้ พนักงานก็ตอบว่า ไม่มีความเสียหายใดๆ แม้แต่เรื่องของน้ำท่วมก็ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ปลูกคุณอัฐวุฒ ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ได้แต่เลยตามเลย ส่งเอกสารพร้อมลายเซ็นยอมรับค่าตอบแทนจำนวนดังกล่าวกลับคืนให้บริษัทฯ มาขุ่นใจเพิ่มเติมตรงที่ว่า จะได้รับเงินต้องรออีก 3 เดือน พอมีเวลาว่างเลยคิดทบไปทบมาว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไรไม่ตรงไปตรงมาตรงไหน ตัวเองจะได้เงินหรือเปล่า สับสนวุ่นวายไปหมดท้ายที่สุดเลยส่งเรื่องมาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของสติเป็นสำคัญ ดีที่คุณอัฐวุฒไม่โลภมากเลือกลงทุนในโปรแกรมที่เล็กที่สุดก่อนกับธุรกิจที่ตัวเองไม่มีความสันทัด หรือมีข้อมูลประกอบในการตัดสินใจค่อนข้างน้อยในเอกสารของบริษัทฯ ที่แสดงเงื่อนไขการได้รับผลตอบแทน ให้ข้อมูลว่า ผลตอบแทนจะอิงกับราคารับซื้อคืนต้นไม้ที่ปลูก โดยราคารับซื้อคืน หมายถึง ถ้า ณ วันเก็บเกี่ยว ราคาตลาดของกฤษณาลดลงน้อยกว่าราคารับซื้อคืน บริษัทฯ จะจ่ายผลตอบแทนให้ไม่น้อยกว่าราคารับซื้อคืน โดยที่ทางบริษัทจะเป็นผู้ให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของการตลาด รวมทั้ง กำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวของลูกค้าแต่ละราย กระบวนการเก็บเกี่ยว ทางบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด โดยจะแจ้งรายละเอียด ขนาด ข้อมูลของต้นไม้ น้ำหนัก ราคาโดยมีการคำนวณก่อนการตัดโค่น เพื่อให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า และหลังการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 30 วัน บริษัทฯ จะดำเนินการจ่ายคืนลูกค้าตามราคาตลาดเต็มจำนวนถ้าพูดกันแบบสั้น ราคาตลาดที่บริษัทว่ามา ก็คือราคาตลาดที่บริษัทกำหนดมานั่นเอง เพราะเป็นทั้งผู้ปลูก ผู้กำหนดจำนวนปลูก ผู้กำหนดเวลาปลูก ผู้กำหนดเวลาเก็บเกี่ยว ผู้เก็บเกี่ยวและวัดขนาด น้ำหนักของต้นไม้ และเป็นผู้จำหน่ายไม้กฤษณาด้วย จึงทำให้บริษัทเป็นผู้กุมข้อมูลสภาพการตลาดทั้งหมด      ดังนั้น ผู้ร่วมลงทุนจึงแทบไม่มีข้อมูลที่จะต่อรองได้เลย ซ้ำยังไม่มีความรู้พื้นฐานของการตลาดว่าจะไปเช็คตรวจสอบราคาตลาดเปรียบเทียบได้ที่ไหน ไม่เคยไปดูสภาพการเจริญเติบโตของต้นไม้ ไม่เคยเห็นขนาดของต้นไม้ที่ตนเองปลูกชัดๆ  ข้อมูลทุกอย่างบริษัทฯจัดทำให้ ผู้ร่วมลงทุนเป็นแต่เพียงผู้รับทราบข้อมูลที่บริษัทแจ้งมาเท่านั้น และที่สำคัญเมื่อเซ็นยินยอมรับในราคาแล้วก็ยากจะดึงกลับคืนมาได้มีจุดเดียวที่พอจะต่อสู้กันได้คือ การจ่ายเงินคืนลูกค้าเกิน 30 วัน จึงได้แนะนำให้ติดตามเงินผลตอบแทนที่บริษัทฯ ตกลงจะจ่ายให้อย่างใกล้ชิด ท้ายสุดคุณอัฐวุฒได้ถอนหายใจโล่งอกเมื่อได้รับเงินขั้นต่ำสุดในท้ายที่สุดในเวลาไม่นานนัก โดยได้กำไรเพิ่ม 55,500 บาทด้วยระยะเวลาลงทุน 6 ปี“เอาน่ะ ยังได้” คุณอัฐวุฒรำพึง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กรณีทีวี “จอดำ”(ตอนที่ 3 “ฟ้องทั้งที ต้องทำให้ดัง”)

เจอกันอีกครั้ง กับกรณีทีวี “จอดำ” จากเดิม ที่มาถึงตอนที่ ผู้บริโภคตัดสินใจ ปฏิบัติการ “สิบล้อชนตึก” นั่นคือต้องฟ้อง แต่ใครล่ะ! ที่จะฟ้อง   และจะฟ้องศาลไหน?   ที่สำคัญคือเรื่องนี้ช้าไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อน  และมีเวลากระชั้นชิด  เพราะนัดการถ่ายทอดก็ลดลงทุกวัน  จากการตั้งวงคุยก็ได้ข้อสรุปว่ากรณีจอดำเป็นการละเมิดสิทธิ การเข้าถึงฟรีทีวีของผู้บริโภคอย่างชัดเจน  เป้า.....การฟ้องก็หนีไม่พ้นการฟ้องให้เป็นคดีผู้บริโภค ภายใต้กฎหมาย วิธีพิจารณาความผู้บริโภค  แต่การฟ้องด้วยกฎหมายนี้ฟ้องแทนไม่ได้  ต้องให้ผู้เสียหายมาเป็นผู้ฟ้องด้วยตนเอง   และด้วยระยะเวลาที่จำกัด เราหาผู้ร่วมฟ้องได้ 5 คน  คือ(ภายในไม่กี่ชั่วโมง) 1. นางสาวสารี   อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  2. นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 3. นางสาวเรณู  ภู่อาวรณ์   ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  4. นายขวัญมนัส  ภูมินทร์   ตัวแทนศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี  5. นายเฉลิมพงศ์  กลับดี  หัวหน้าศูนย์ทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     ซึ่งต้องบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้   มีทั้งเสียงชื่นชม   และเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ อื้ออึง... ทั้งว่าคนฟ้องเป็นพวกอยากดูฟุตบอลจนขึ้นสมอง   ไม่ยอมลงทุน(ซื้อกล่อง) ดูไม่ได้แล้วออกมาตีโพย  ตีพาย ...(ว่าไปนั่น..)  บ้างก็ว่า ประเด็นนี้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มาทำเรื่องเล็กๆ อย่างนี้ทำไม  มีเรื่องใหญ่ๆ กว่านี้มากมาย  ทำไมไม่ไปทำ   แต่หลายเสียงก็ชื่นชมบอกขอบคุณที่ช่วยออกมาส่งเสียงต่อสังคมว่าคนส่วนใหญ่กำลังถูกเอาเปรียบ  มีทั้งโทรมาเชียร์  จดหมายมาร้องทุกข์ เมื่อคนทำงานอย่างเรา เจอทั้งกองเชียร์ และคนที่ตั้งคำถาม ก็ทำให้มึนๆ ดีเหมือนกัน   แต่ที่แน่ๆ คือต้องเดินหน้าฟ้องสถานเดียว   เพราะเรื่องนี้กระทบกับผู้บริโภคมากกว่า 11 ล้านครัวเรือน   ที่สำคัญการฟ้องครั้งนี้ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ลุกขึ้นมาทำหน้าที่(ที่ต้องทำ)  โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคประเด็นนี้ให้ชัดเจน   ให้เป็นบรรทัดฐานการให้บริการฟรีทีวีในประเทศไทย     เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ  ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคมากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเริ่มตั้งแต่กลุ่มผู้ฟ้องร่วมกันเขียนคำฟ้อง  และเตรียมพยานส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ   ต้องทำเองทุกขั้นตอนเพื่อความรอบคอบของคดี   เมื่อคดีนี้กระทบผู้บริโภคจำนวนมาก    การฟ้องคดีก็ต้องฟ้องให้ดังๆ ดังนั้นก่อนฟ้องจริง  กลุ่มผู้ฟ้องได้จัดเวทีแถลงข่าว  เพื่อให้ฝ่ายธุรกิจรู้ว่าผู้บริโภค “สู้โว้ย...แล้วนะ...” ที่มากไปกว่านั้นคือพวกเรานัดหมายศาลออกอากาศกันเลย......ว่าเราจะไปฟ้องกันวันไหน เพื่อให้ศาลเตรียมการ  หลักจากการแถลงข่าวของพวกเรา (ได้ผลมากกก........)  เพราะสามารถทำให้นักการเมืองที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง   แสดงตัวออกมาเป็นเจ้าภาพเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารแกรมมี่มาหารือเพื่อแก้ปัญหา “จอดำ” อย่างเร่งด่วน...(ทั้งที่เดิมหลับอยู่) กำลังเข้มข้น  เจอกันเล่มหน้านะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 ช่วยบอกหน่อยว่าเมล็ดพันธุ์เป็นหมัน

“เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ผ่านการคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์จนได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ก่อนจัดจำหน่ายไปยังลูกค้า ทุกขั้นตอนได้มาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์”ใครที่เคยซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ดอกไม้ ถ้าเพ่งพินิจหน้าซอง มักจะเห็นข้อความโฆษณาเลิศหรูแบบนี้ แต่มันไม่จะไม่มีข้อความส่วนไหนที่บอกให้คุณรู้เลยว่า มันเป็นหมันคุณดาลิน เป็นนักวิทยาศาสตร์เคมี และเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2555 ที่ผ่านมานี่เอง เธอไปออกบูทงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ครั้งล่าสุด มีเกษตรกรรายหนึ่งเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ของบริษัทด้านเกษตรข้ามชาติยักษ์ใหญ่ว่า เมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ซื้อมา เพาะปลูกไปแล้วไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้เพาะปลูกอีกครั้งได้  เช่น พริกก็เป็นหมัน  เอามาทำพันธุ์เพาะปลูกต่อไม่ได้   แม้กระทั่งตัวคุณดาลินเองที่เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่มีใจรักด้านการเกษตร ลงทุนร่วมกับพี่ชายไปซื้อที่ทำนาในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากบริษัทข้ามชาติมาปลูก เมื่อปลูกและได้ผลผลิตข้าวแล้ว จะเก็บพันธุ์ข้าวเพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์อีก  ปรากฏว่าเสียรู้  เพาะปลูกไม่ขึ้นในฤดูกาลถัดไป หรือปลูกได้ก็ได้ผลผลิตแย่มากไม่เหมือนปลูกครั้งแรกคุณดาลินเธอบอกว่า เคยติดต่อสอบถามไปที่หน่วยงานด้านเกษตรหลายหน่วยงานอย่าง กรมวิชาการเกษตร สหกรณ์การเกษตร รวมไปถึงกรมวิชาการพันธุ์พืชได้คำตอบจากข้าราชการไทยเป็นเสียงเดียวกันว่า “เกษตรกร รู้อยู่แล้ว ทำไมไม่ไปร้องเรียน ....ที่อื่น”คุณดาลินเห็นว่า หากเกิดความเสียหายด้วยความไม่รู้ของเกษตรกรแล้วมาร้องทุกข์ ก็จะโดนภาษาจากข้าราชการ อย่างนี้เช่นเดียวกัน และ อาจโดนคำพูดปลอบใจว่า เค้ารู้กันทั่วบ้านเมือง ...ดิฉันวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เคมี ยังไม่รู้เลยค่ะ ว่าคำว่า OP ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน คำว่า S1 ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน หรือคำว่า เมล็ดพันธุ์ลูกผสม ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน “ข้อความแบบนี้เป็นภาษาที่ไม่สื่อ ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายไม่ชัดเจน กำกวม และทำให้ เกษตรกรเข้าใจผิด หรือเป็นเหตุให้เกิดการหลงเชื่อไปในทางเข้าใจผิดได้ อยากจะขอให้มีการเพิ่มข้อความ ระบุบนซองเมล็ดพันธุ์  ที่ขึ้นชื่อว่า OP, S1, เมล็ดพันธุ์ลูกผสม  หรือเมื่อมีแนวโน้มเอียงไปในทางไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป  ให้มีถ้อยคำเพิ่มเติม  ดังนี้1.ให้ระบุฉลากให้มีคำว่า  เมล็ดพันธุ์ “ หมัน “ บนหน้าซอง2.ให้ระบุฉลาก ให้มีข้อควรระวังว่า “ ไม่สามารถเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป“ บริเวณด้านหลังซองเพื่อป้องกัน  ความเข้าใจผิด  หรือลดการหลงผิดแก่เกษตรกรรายใหม่  และช่วยทำให้เกษตรกรที่มีการศึกษาน้อย วุฒิการศึกษาขั้นประถมศึกษา สามารถอ่านภาษาไทย  แม้เขียนภาษาไทยไม่ได้ ได้รู้ถึงความหมาย เมื่อแรกที่หยิบซองเมล็ดพันธ์ขึ้นมาอ่าน  และเข้าใจได้ทันที  ด้วยภาษาที่ง่าย หรือเป็นภาษาที่ใช้งานกันบ่อยในชีวิตประจำวัน   และแปลความหมายเข้าใจได้ง่ายกว่า  คำว่า  พันธ์ลูกผสม  (ซึ่งข้าพเจ้า วุฒิการศึกษาปริญญาตรี สาขาเคมี ยังไม่รู้เลยว่า  ผลคือ หมัน ) แล้วจะคาดหวังเกษตร หลงเข้าใจได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหานายอำพล เสนาณรงค์อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุวิศวกรรมการเกษตร ได้เคยกล่าวถึงพันธุ์พืชที่เรียกว่าพันธุ์ลูกผสมไว้ว่าพันธุ์ลูกผสม  หมายถึง  ลูกผสมชั่วที่  ๑  (F1) ของพันธุ์สองพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างกัน พ่อแม่ของพันธุ์ลูกผสมอาจจะเป็นพันธุ์ผสมเปิด ประชากร หรือพันธุ์บริสุทธิ์  ปัจจุบันพันธุ์ลูกผสมเป็นพันธุ์พืชที่ใช้มากในการอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เพราะลูกผสมมักมีผลิตผลสูงและคุณภาพดีกว่าพ่อแม่ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เรียกว่า "ความดีเด่นของลูกผสม" (Hybrid vigor  หรือ Heterosis)   และเกษตรกรผู้ใช้จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมใหม่ทุกฤดูปลูก  เนื่องจากลูกชั่วต่อไปของลูกผสมจะมีผลิตผลลดลง  และคุณสมบัติอื่น ๆ ปรวนแปร และไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เองเนื่องจากไม่มีเมล็ดพันธุ์พ่อแม่ เพราะบริษัทผู้ผลิตจะหวงพันธุ์และเก็บไว้เป็นความลับ พืชที่ใช้ลูกผสมปลูกเป็นการค้าอยู่ในปัจจุบันได้แก่ ข้าวโพด ผัก และไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณดาลิน ที่อยากจะเห็นข้อความที่ให้สารสาระบ่งชี้ชัดเจนเข้าใจโดยไม่คลาดเคลื่อนว่า เมล็ดพันธ์ลูกผสมใช้ได้แค่ครั้งเดียว เมล็ดที่ได้จากการปลูกครั้งแรกไม่สามารถนำมาเพาะปลูกได้อีก หรือปลูกได้แต่ผลผลิตก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพื่อให้เกษตรกรได้มีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการเลือกเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พิจารณาปรับปรุงการแสดงฉลากบนซองเมล็ดพันธุ์ให้มีความชัดเจนนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 ซื้อจักรยานราคาแพง ได้ยางแตกลายงา

“จักรยานของพี่ราคาไม่กี่ร้อยบาท...”ยอดรัก สลักใจ สมัยยังหนุ่มเคยร้องเพลง “จักรยานคนจน” บอกราคาไว้ในเนื้อเพลงเสร็จสรรพ  แสดงว่าจักรยานสมัยก่อนราคาไม่แพงมาก แต่ตอนนี้ราคาจักรยานเปลี่ยนไปมากแล้วจักรยานที่คุณสุรัตน์ไปซื้อที่ร้านแห่งหนึ่ง แถวสบตุ๋ย จ.ลำปาง  เป็นจักรยานของ LA  รุ่น ELILE ราคา 7,000 บาท ซึ่งคุณสุรัตน์ไม่ได้ติดใจในเรื่องราคามากนัก แต่ที่เป็นปัญหาคือ หลังซื้อมาได้เพียง 6 เดือน สังเกตเห็นว่าขอบยางล้อจักรยานมีรอยแตกลายงาโดยรอบทั้งสองเส้น ก็ไม่รู้ว่าไปเลียนแบบปัญหาป้ายทะเบียนรถยนต์แตกลายงาด้วยหรือเปล่า คุณสุรัตน์บอกว่า จักรยานถูกใช้งานน้อยมากส่วนใหญ่จอดอยู่ในโรงรถวันต่อมาจึงนำรถจักรยานไปให้เจ้าของร้านที่ขายจักรยานดูเพื่อขอเปลี่ยนยางใหม่ คิดว่ายางไม่น่าจะหมดอายุไวขนาดนี้ ร้านน่าจะช่วยรับผิดชอบได้ แต่เจ้าของร้านกลับพูดว่า รับผิดชอบให้ไม่ได้เพราะเป็นจักรยานรุ่นที่บริษัทโละมาขาย“ตอนที่เราซื้อมา ร้านไม่ได้พูดแบบนี้ และยังท้าให้เราไปฟ้อง สคบ. ใช้กิริยาที่ไม่สมควรหลายอย่าง เช่น บอกว่าจะต่อโทรศัพท์ให้เราคุยกับตัวแทน แต่พอต่อได้ กลับคุยกันเรื่องอื่นหลายเรื่อง เช่น เรื่องเป้าของบริษัท เรื่องการไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่สนใจว่าเรารอคำตอบอยู่” สุดท้ายในการเจรจาวันนั้น ร้านตัวแทนจำหน่ายให้ข้อเสนอว่า จะรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่ายาง 2 เส้นใหม่ให้ในราคารวมสองร้อยบาท พอคุณสุรัตน์ได้เห็นยางใหม่ที่เจ้าของร้านเอามานำเสนอ ก็ต้องส่ายหน้าเพราะเป็นยางคุณภาพต่ำ คุณสุรัตน์ยืนยันขอเปลี่ยนเป็นยางยี่ห้อเกรดเดียวกับที่ขายมากับรถ แต่ทางร้านบอกจัดให้ไม่ได้ แถมแนะนำให้ไปฟ้อง สคบ. เสียอีกเรื่องนี้คุณสุรัตน์ไม่ได้ไปที่ สคบ. แต่ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแทน แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาความรับผิดเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้า กฎหมายกำหนดว่าให้ผู้ซื้อเรียกร้องให้ผู้ขายต้องรับผิดได้ภายในหนึ่งปี พ้นจากนี้ไปจะเรียกร้องบังคับกันไม่ได้ นี้คือหลักพื้นฐานของกฎหมายที่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นแนวทางในการเจรจาเรียกร้องต่อผู้ขายให้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวสินค้าเราได้แนะนำให้คุณสุรัตน์มีหนังสือไปถึงบริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล(ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเปลี่ยนยางเส้นใหม่รุ่นเดิมให้ หลังคุณสุรัตน์ส่งหนังสือไปไม่นานเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงได้ติดตามเรื่องให้อีกทางกับฝ่ายการตลาดของบริษัท ซึ่งได้ขอให้คุณสุรัตน์ช่วยส่งภาพถ่ายรถ และยางที่เกิดปัญหาให้กับบริษัทได้ตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งในที่สุดบริษัทฯ ได้แสดงความรับผิดชอบตามที่คุณสุรัตน์ร้องขอ ด้วยการส่งยางจักรยานเกรดเดียวกับที่คุณสุรัตน์ต้องการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายถามว่าเรื่องนี้ทำไมผู้บริโภคถึงสามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ผล พอกลับมาดูเนื้อจดหมายที่คุณสุรัตน์เขียนถึงบริษัทก็เลยถึงบางอ้อ คุณสุรัตน์ทิ้งท้ายไว้ว่า“ขอให้ทางบริษัทอย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แล้วไม่เอาใจใส่ เพราะอาจกระทบถึงชื่อเสียงของบริษัท หากไม่มีความรับผิดชอบ และขอให้บริษัทพิจารณาคุณภาพการบริการของตัวแทนจำหน่ายด้วย”อย่างนี้ต้องเรียกว่ามีลูกอ้อนลูกประณามลูกฟ้องครบครัน      หากบริษัทไม่รับผิดชอบก็ไม่ไหวแล้ว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 สารพันปัญหามือถือต้อนรับ 3G

การประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ในกลางเดือนตุลาคมนี้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตคงไม่พ้นผู้ให้บริการ 3 เจ้าใหญ่ คือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรูแน่นอนว่าการประมูลครั้งนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะได้ใช้ระบบมือถือทันสมัยแบบใหม่เสียทีหลังจากที่แคล้วคลาดกันมานาน แต่คำถามสำคัญที่ผู้บริโภคควรตระหนักไปพร้อมกัน คือเรื่องคุณภาพบริการที่ปัจจุบันแนวทางการแก้ไขจาก กสทช. ยังไม่ค่อยคืบหน้านัก เพื่อไม่หลงปลื้มกับโทรศัพท์ระบบใหม่จนลืมความจริงในปัญหาการดูแลผู้บริโภค เลยขอนำเรื่อง “เจ็บแล้วต้องจำ” เอามาให้อ่านเตือนสติต้อนรับระบบ 3G กันเรื่องเจ็บแล้วต้องจำของบริการมือถือ1.ซิมแจกฟรี ระวังโดนดีถูกเก็บรายเดือนมีร้องเรียนเข้ามากันเยอะ อย่างรายนี้บอกว่า ช่วยหน่อยนะคะ พอดีไปเดินอนุสาวรีย์ชัย เจอซุ้มแจกซิมทรูมูฟ มีพนักงาน 4-5 คน เดินเข้ามาหาและบอกว่าถ้าบัตรประชาชนมีเลข 0 มารับซิมฟรีได้เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ขอดูบัตรประชาชนด้วย แล้วเค้าก็เอาบัตรประชาชนไป แล้วเอาซิมมาให้โดยให้เซ็นชื่อรับซิมบอกว่าแค่เซ็นรับซิมเฉยๆ ไม่มีอะไร และถ้าไม่เปิดใช้ซิมก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร พอได้ซิมมาก็ไม่ได้เปิดใช้ เพราะซิมเป็นรายเดือนและเป็นไมโครซิม ต่อมามีใบแจ้งหนี้มาที่ที่อยู่ตามบัตรประชาชน และต้องชำระก่อนวันสิ้นเดือน เลยโทรติดต่อที่ศูนย์บริษัทมือถือเจ้าของซิม พนักงานบอกว่าเป็นซิมรายเดือนถึงไม่เปิดก็มีค่าใช้จ่ายให้ชำระยอดนี้ก่อนถึงจะปิดเบอร์ให้ได้ ถ้าไม่ชำระก็จะมีการเรียกเก็บต่อไปอีกประมาณ 3 เดือน ถ้ายังค้างชำระอยู่จะตัดเบอร์แต่จะต้องติด Black list  ต่อไปจะทำธุรกรรมอะไรไม่ได้ 2. เอสเอ็มเอสขยะ ขยะที่กำจัดยากที่สุดในโลก ขอบอก...!เป็นลูกค้า DTAC ค่ะ ในช่วงบิลสองเดือนที่ผ่านมา มีค่าบริการที่ไม่เคยสมัครรับบริการ ในใบแจ้งหนี้ ตรวจดูแล้วเป็น “ค่าบริการข้อมูลข่าวสารบันเทิง ผ่าน SMS” โทรไปคอลเซ็นเตอร์ว่ามีค่าใช้จ่ายนี้มาได้อย่างไร ได้รับคำอธิบายว่า เป็นลักษณะของการ ส่ง sms เข้าโทรศัพท์ แล้ว DTAC ก็คิดเงินกับลูกค้าเลยเราร้องทุกข์ไปว่า ไม่ต้องการ ไม่รับ ไม่สมัคร ป้องกัน ลบ SMS ดังกล่าวออกไปให้หมด แต่คำตอบที่ได้รับคือ“ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากผู้ให้บริการมีค่อนข้างเยอะและมีรูปแบบบริการที่หลากหลาย”วิธีป้องกันที่ผู้ให้บริการให้คำแนะนำคือ หากได้รับข้อความลักษณะดังกล่าวอีก สามารถแจ้ง ลักษณะข้อความ กลับไปที่ DTAC ได้เฮ้อ...จะหาหนทางอย่างไรดีคะ ที่ไม่ต้อง โทรไปรบกับ call center ทุกๆ ครั้งที่ได้รับใบแจ้งหนี้เพราะทางลูกค้าเองก็ยืนยันว่า ไม่ต้องการ ไม่รับ ไม่สมัคร บล็อค SMS ดังกล่าวออกไปให้หมด ทำไมบริษัทมือถือถึงช่วยลูกค้าไม่ได้3.สั่งซื้อสินค้าทางเน็ต เจ้าของเว็บไม่รับผิดชอบผมสั่งซื้อกล่องรับสัญญาณเคเบิลทีวีจากเว็บไซต์ขายสินค้าแห่งหนึ่ง  จำนวนเงิน 4,000 บาท ใช้งานได้ไม่ถึง 24 ชม.สินค้ามีปัญหา ชี้แจงอาการไป ผู้ขายแจ้งให้ส่งกลับเพื่อเคลมของใหม่ แล้วผู้ขายก็ทวงถามเรื่องค่าส่ง EMS ผมปฏิเสธเพราะผู้ขายควรจะรับผิดชอบ และผมก็เสียค่าส่ง EMS กลับไปให้ 97 บาท จึงเห็นว่าต่างคนต่างรับผิดชอบค่าส่ง แต่ผู้ขายพยายามผลักภาระค่าส่งมาให้ผม พยายามบอกว่าเป็นภาระของผู้ซื้อ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการระบุเงื่อนไขการเคลมสินค้าบนหน้าเว็บไซต์ ผมเห็นว่าคุยกันไม่รู้เรื่องและไม่ประทับใจในการให้บริการ จึงขอยกเลิกและขอเงินคืน แต่กลับมาบอกว่าไม่มีนโยบายคืนเงิน เงื่อนไขนี้ในหน้าเว็บไซต์ก็ไม่มีระบุเหตุการณ์เกิดขึ้นและผ่านมากว่า 45 วันแล้ว ผมเขียนไปทวงถามเรื่องเงินคืนหลายครั้ง ก็เงียบ ล่าสุดผมเขียนไปบอกว่ายินดีรับสินค้าคืน แต่ขอเปลี่ยนรุ่น ก็ยังคงเงียบอีกเห็นว่าถูกโกงแน่แล้ว จึงต้องมาขอคำแนะนำครับ ควรทำอย่างไรครับ แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาทั้ง 3 เรื่องที่ยกมายังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวทางการแก้ไขปัญหาของ กสทช. ก็ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากการออกประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องยังไม่คืบหน้ามากนัก ผู้บริโภคจึงต้องรู้วิธีการช่วยเหลือตัวเองไปพลางๆ ก่อนปัญหาในเรื่องที่ 1 และ 2 สามารถจัดการได้โดยผู้บริโภคควรมีหนังสือไปถึงผู้ให้บริการมือถือกรณีที่เป็นเรื่องหนี้ค่าโทรศัพท์ที่ไม่เคยเปิดใช้บริการ หรือถูกหลอกให้เปิดใช้บริการมือถือโดยที่ไม่ทราบว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน เมื่อได้รับใบเรียกเก็บหนี้ค่ามือถือรายเดือน ไม่ต้องไปตกใจ หรือต้องไปที่ศูนย์บริการ เพราะเจรจามักไม่ได้หมายความตามตัวอย่างเรื่องที่ยกมาให้เห็น วิธีที่ดีที่สุดและจบเรื่องได้ไว คือ ให้มีหนังสือปฏิเสธตอบกลับไป ว่าเราไม่เคยเปิด ไม่เคยใช้ และไม่มีความต้องการที่จะใช้มาแต่แรกแล้ว ดังนั้นอย่าส่งจดหมายทวงหนี้ค่าโทรศัพท์มารังควานอีก ไม่เช่นนั้นจะขอเรียกค่าเสียหายฐานก่อความเดือดร้อนรบกวนรำคาญกรณีเรื่องเรียกเก็บค่าเอสเอ็มเอสขยะ หรือเอสเอ็มเอสที่เผลอสมัครเข้ารับบริการโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็ให้ใช้วิธีการเดียวกัน ส่วนคนที่ต้องการโทรศัพท์มือถือของตัวเองสะอาดมากๆ ไม่มีข้อความแปลกปลอมเข้ามาเลย ตามจริงมีเทคโนโลยีสามารถทำได้แต่ผู้ให้บริการเมืองไทยเรายังไม่ริเริ่มทำ วิธีแก้ก็ให้เขียนจดหมายเสนอไปที่บริษัทมือถือว่า หากจะปล่อยให้มีข้อความแปลกปลอมเข้ามาที่มือถือเราอีก ขอคิดค่าเสียหายครั้งละ 100 บาท 1,000 บาท หรือจะสูงต่ำไปกว่านี้ก็พิจารณากันดู ขึ้นอยู่กับเส้นความรำคาญใจของแต่ละคน ยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทมือถือให้พิจารณาดู ใครใช้วิธีนี้ได้ผลช่วยกลับมาเล่าให้ฟังกันด้วยกรณีที่ 3 มีข้อแนะนำอย่างเดียว อย่าไปซื้อมัน ตราบใดที่เราไม่รู้ตัวตนว่ามันเป็นใคร บ้านช่องห้องหออยู่ที่ไหน คำโบราณสอนไว้ คนไม่มีหัวนอนปลายตีนไม่น่าคบ เอามาใช้กรณีพวกขายของทางเน็ตได้ จะซื้อสินค้าผ่านเน็ตรอแป๊บครับ ทราบข่าวว่าภาครัฐตอนนี้กำลังมีการวางมาตรการออกประกาศให้ผู้ขายสินค้าผ่านเน็ตต้องมาลงทะเบียนเสียก่อน แต่เหตุผลสำคัญคือรัฐบาลอยากจะเก็บภาษีคนพวกนี้ ไม่ได้หวังคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง ทราบแล้วเปลี่ยน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 กรณีทีวี “จอดำ” (ตอนที่ 2 “ปฏิบัติการ สิบล้อชนตึก”)

เจอกันอีกครั้ง กับเรื่อง “จอดำ” จากเดิม ที่มาถึงตอนที่ กสทช.ออกมาประกาศว่าไม่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคที่ดูทีวีผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณด้วยจานดาวเทียมได้  เพราะแกรมมี่เป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต ประกอบกิจการจากกสทช. และที่สำคัญคือ  การที่แกรมมี่ ได้ไปทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดฟุตบอล ยูโร กับ ยูฟ่า    ซึ่งแกรมมี่ เป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอในสัญญาไปว่า “ฟรีทีวี” ในประเทศไทย ให้มีแต่  ผู้ที่รับสัญญาณทางภาคพื้น ที่ใช้อุปกรณ์รับสัญญาณ โดย หนวดกุ้ง,ก้างปลา เท่านั้น  ที่น่าตกใจคือ  กลุ่มคนที่ถูกกีดกัน (คนมีจาน)เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ประมาณราวๆ 75% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ (อุแม่เจ้า..ทำไปได้....)   และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ที่กสทช.  ออกมาประกาศชัดเจนว่า ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในกรณีนี้ได้เพราะ “กสทช.ยังไม่มีระเบียบปฏิบัติในเรื่องนี้” จึงต้องปล่อยไปก่อน  เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ลิขสิทธิ์ “ เอา.....ละซิ   เจอลูกนี้เข้าไป  ผู้บริโภคอย่างเราถึงกับมึน..... ในเมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล อย่างกสทช.ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบด้วยเหตุผล “ยังไม่ได้ออกระเบียบ หรือยังออกระเบียบไม่ทัน” เราจะทำอะไรกันดี    ในขณะเดียวกันที่ กสทช.บอกว่าช่วยอะไรผู้บริโภคไม่ได้  ตรงกันข้ามกับการที่มีนำเข้ากล่องรับสัญญาณต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น  กล่อง GMM-Z ทีมีการนำเข้าโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน(เป็นผู้ประกอบการเถื่อน)  แต่กสทช. กลับบอกว่าเมื่อ กสทช.ยังไม่มีระเบียบเรื่องนี้ต้องยกประโยชน์ให้ผู้ประกอบการโดยต้องปล่อยให้เขานำเข้ามาก่อน จนกว่าจะมีระเบียบ   เป็นไงจ๊ะ....  อ่านถึงตรงนี้แล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ รู้สึกตื้นตันใจมากไหม! กับการใช้ดุลพินิจของ กสทช.ในครั้งนี้     ซึ่งเห็นชัดว่า ในส่วนของผู้บริโภค ถูกตีความว่าช่วยอะไรไม่ได้  ต้องปล่อยให้ถูกละเมิดไปก่อน   และในส่วนของผู้ประกอบการ กับใช้ดุลพินิจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอย่างชัดเจน..... ดูซิ! การใช้ดุลพินิจเรื่องนี้ช่าง เป็นธรรมเสียเหลือ..เกิ้นนนนนน....   ซึ่งชี้ชัดแล้วว่า  ผู้บริโภคอย่างเราๆ  พึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไม่ได้จริง  ..  ช่องทางที่เหลือคือ “ต้องช่วยเหลือตัวเอง” วงคุยเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น(หลายรอบ)   ในที่สุดที่พึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้น การนำเรื่องนี้เข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของศาล  เพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน ในกรณี จอดำ เพื่อมิให้เกิดปรากฏการ จอดำในอีกหลายกรณี  ทั้ง โอลิมปิก และรายการสำคัญๆที่มาผ่าน ฟรีทีวี  คนไทยทุกคนต้องได้ดู    เมื่อตัดสินใจฟ้อง...  ก็ต้องมาดู  ว่า จะฟ้องศาลไหน!  และจะฟ้องใครบ้าง!    เมื่อมาดูว่าศาลไหน  ที่ง่ายและตรงประเด็นที่สุดคงหนีไม่พ้น  ศาลผู้บริโภค (ศาลแพ่ง)ภายใต้กฎหมายวิธีพิจารณาความผู้บริโภค  ที่เป็นกฎหมายที่ตรงประเด็นที่สุด    เมื่อหันมามองคู่กรณีที่เราจะฟ้อง  ก็หนีไม่พ้น  ฟรีทีวี  ช่อง 3,5,9  และ บ.แกรมมี่ เช่นกัน เขียนเท่านี้ เหมือนไม่มีอะไรมากมาย  แต่พอแตกออกมา การฟ้องช่อง 5 หมายถึง การที่ผู้บริโภคตัวเล็กๆอย่างเรา  ต้องฟ้อง กองทัพบก ฟ้องช่อง 3 ช่อง 9 คือการฟ้อง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) แกรมมี่ก็เป็นบริษัทธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับการเมืองไทย       เอาละซิ...งานใหญ่แล้วละทีนี้    แต่เมื่อคิดจะสู้ ใหญ่ยังไงก็ต้องสู้  เสมือนว่า เล็กก็ล้มใหญ่ได้ถ้าใจมันถึง   สิ่งที่ต้องหาต่อไปคือใครจะเป็นหน่วยกล้าตายที่จะอาสามาเป็นผู้ฟ้อง (ปฏิบัติการสิบล้อชนตึก) ใครบ้าง?จะฟ้องมุมไหน?  ในกระบวนการฟ้องต้องเจอกับอะไรบ้าง ? โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 ถูกยกเลิกเที่ยวบิน แถมคืนเงินไม่ครบ

คุณอาทรร้องเรียนสั้นๆ มาว่า....ผมได้จองตั๋วเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-โคลอมโบ ศรีลังกา เพื่อไปท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2555 ปรากฎว่าทางสายการบินแจ้งยกเลิกครับ และแจ้งว่าจะคืนเงินให้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าตั๋วและค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่จะไม่คืนเงินในส่วนที่ซื้อเพิ่มเติมคือ ค่าโหลดกระเป๋าและค่าอาหารบนเครื่อง และยังไม่สามารถแจ้งให้โอนเงินเข้าบัญชีได้อีกครับ จะโอนเงินผ่านช่องทางที่ซื้อเข้ามาเท่านั้น คือผ่านทางบัตรเครดิตให้ซึ่งเงินก็จะไปอยู่ในบัตรไม่สามารถเบิกมาได้เป็นเงินสด แถมยังคืนไม่ครบอีกจึงอยากจะขอปรึกษาว่าผมจะดำเนินการอย่างไรได้บ้างครับ รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมและเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งๆ ที่เป็นความผิดของตนเองแท้ๆ ที่ยกเลิกไฟท์การบิน ทำให้เกิดความเสียหายแถมยังรับผิดชอบแบบครึ่งๆ กลางๆ อีกครับ แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ หรือเครื่องบิน ล้วนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายในเรื่อง “รับขนคนโดยสาร” ที่มีข้อกำหนดหลักๆ สรุปเป็นภาษาให้พอเข้าใจได้ว่า ผู้ประกอบการรับส่งผู้โดยสารจะต้องรับผิดต่อผู้โดยสารในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวผู้โดยสาร หรือในความเสื่อมเสียอย่างใดๆ ที่เป็นผลโดยตรงจากการที่ต้องชักช้าในการขนส่งผู้โดยสาร เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้โดยสารเอง ในขณะที่กระทรวงคมนาคม ได้ออกประกาศเรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 แม้จะบังคับใช้เฉพาะสายการบินของไทย และบินในเส้นทางภายในประเทศ แต่ก็พอนำมาเทียบเคียงเรียกร้องสิทธิให้กับผู้โดยสารท่านนี้ได้ประกาศฉบับนี้ได้กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในกรณีการยกเลิกเที่ยวบิน หรือการปฏิเสธการขนส่ง ว่าสายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร โดยมีทางเลือกให้ผู้โดยสาร 2 ทาง ทางเลือกแรกคือ รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ถูกเรียกเก็บคืนเต็มตามจำนวนที่จ่ายไป หากสายการบินจะชำระเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียม จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น ทางเลือกที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกัน วันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร และที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจัดให้ได้ โดยสายการบินต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใด ๆ แต่หากการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นมีค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นที่ต่ำกว่าจำนวนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียมที่ผู้โดยสารได้ชำระไว้แล้ว สายการบินต้องชำระเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารด้วยสำหรับวิธีปฏิบัติในการคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่น หรือเงินส่วนต่างให้แก่ผู้โดยสารนั้น สายการบินจะต้องคืนเงินให้ผู้โดยด้วยวิธีการที่ผู้โดยสารเลือก เช่น เงินสด โอนผ่านบัญชีธนาคาร เช็คธนาคาร เป็นต้น ซึ่งประกาศฉบับนี้ยังได้กำหนดระยะเวลาการคืนเงินด้วย คือ(ก) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยเงินสดต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน (ข) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยบัตรเครดิตต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วันระเบียบนี้แม้จะไม่ใช่ระเบียบที่ใช้กับการบินระหว่างประเทศ แต่ก็ใช้เป็นหลักในการเรียกร้องสิทธิของเราได้ เบื้องต้นเมื่อเกิดปัญหาการถูกแจ้งยกเลิกเที่ยวบินและต้องการเรียกร้องเงินคืนให้ผู้โดยสารทำหนังสือจะเป็นจดหมายหรืออีเมล์ก็ได้ไปถึงสายการบินเพื่อแสดงเจตจำนงความต้องการของตนเองให้ชัดเจน และกำหนดวิธีการคืนเงินให้ชัดเจนด้วย เท่านี้ก็ถือเป็นการประกาศสิทธิของผู้บริโภคที่สายการบินจะต้องรับผิดชอบแล้วครับ ผลที่ได้รับก็ไม่นานเกินรอ และดีกว่าโทรคุยอย่างเดียวแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 เสียความรู้สึกเอทีเอ็มเออเรอร์ ไร้รับผิดชอบ

เดือนนี้ 2 รอบแล้วค่ะ คุณพิมพ์พรผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มธนาคารกรุงไทยเธอว่างั้นรอบแรกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 เป็นบัตรประเภทรายปี 200 บาท แล้วได้เข้าไปทำใหม่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 เปลี่ยนเป็นประเภท 500 บาท ฟรีรายปี 3 ปี กดได้ทุกธนาคาร ทุกสาขา ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการกดแล้วล่าสุด โดนยึดเมื่อ 27 มีนาคม 2555 (วันที่ส่งเรื่องร้องเรียน) ตอนประมาณ 12.00 น. ที่ตู้ธนาคารกรุงเทพ สาขาบิ๊กซี จ.ตากเธอบอกว่า กดเอทีเอ็มใส่รหัสถูกต้อง แต่พอจะไปกดไปที่เมนูบัญชีออมทรัพย์ ทันใดนั้นหน้าจอได้ขึ้นข้อความ งดใช้บริการชั่วคราวและไม่ยอมคายบัตรออกมาพอเข้าไปติดต่อที่ธนาคารกรุงเทพเจ้าของตู้ แจ้งว่าเป็นบัตรเอทีเอ็มของธนาคารทหารไทย ได้รับคำตอบว่า รอไปก่อน ไม่รู้ว่าจะไปเปิดตู้เมื่อไหร่ เพราะไม่รู้ว่าเงินจะหมดเมื่อไหร่คุณพิมพ์พรบอกว่า ตอนนี้ตู้ขึ้นข้อความว่า งดใช้บริการชั่วคราวแล้ว ได้รับคำตอบกลับมาว่า “อืมมม นั่นแหละ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะไปแก้ไข ให้รอไปก่อน ไม่ก้อไปติดต่อทำบัตรใหม่”ได้รับคำตอบแบบนี้เลยถึงอึ้งกิมกี่ ไม่รู้จะเซ้าซี้ขอความช่วยเหลือจากธนาคารเจ้าของตู้ยังไงต่อไป คุณพิมพ์พรจึงรีบมาแจ้งทางธนาคารทหารไทย ได้รับคำแนะนำว่า ให้ทำบัตรใหม่ อายัดบัตรเดิม เพราะตู้อื่นยึด เราเอาคืนไม่ได้ “แบบนี้แล้วจะให้เราทำบัตรประเภทกดได้ทุกตู้ทำไมล่ะคะ คุณพี่ แล้วยังจะให้เราทำบัตรใหม่เสียค่าบัตร อีก 500 บาท ทั้งๆ ที่เราเพิ่งทำใหม่ไปเมื่อไม่ถึง 2 อาทิตย์ เราถามว่า ไม่มีทางออกทางไหน อีกเหรอคะ เค้าตอบว่าไม่มี ต้องทำใหม่อย่างเดียวและเสีย 500 บาท ถ้าแบบนี้ เดือนหนึ่ง เราไปกดเงินแล้วโดนยึดบัตรทุกครั้งที่กด เราก้อต้องเสียเงินทำบัตรใหม่ทุกครั้งเหรอคะ ถ้ากด 10 ครั้ง เสีย 10 รอบ รอบละเท่าไหร่คะ เสียดายเงินค่ะ รบกวน ขอคำปรึกษา และคำแนะนำหน่อยค่ะ” แนวทางแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ทำนองนี้ต้องเรียกว่า “ผีซ้ำด้ำพลอย” คือโดนกระทำจากผีนอกบ้านแล้วยังโดนผีเรือนในบ้านเหยียบซ้ำอีก (ด้ำ ภาษาอีสานแปลว่า ผีบ้าน ผีเรือน )เท่าที่ติดตามการร้องเรียนในเรื่องนี้ มีปัญหากันเยอะเหมือนกัน บางรายกดเงิน เงินไหลออกมา แต่ตัวบัตรไม่ยอมคืนออกมา บางรายกำลังทำรายการอยู่ อยู่ๆหน้าจอตู้ดับเครื่องรีเซ็ทใหม่ เงินไม่ได้บัตรไม่ออก เดือดร้อนกันเป็นแถวๆ เพราะไม่มีบัตรกดเบิกเงิน พอไปติดต่อกับธนาคารเจ้าของตู้ก็บอกว่าต้องรออีก 10-15 วันถึงจะมาเปิดตู้ให้ แต่บอกไม่ได้ว่าจะมาเมื่อไหร่เพราะต้องเป็นความลับเดี๋ยวโจรมันรู้ สุดท้ายทนรอไม่ไหวก็ต้องเสียเวลาเสียเงินทำบัตรใหม่กันข้อแนะนำ1.ใช้บัตรเอทีเอ็มของธนาคารไหนก็ควรกดของธนาคารนั้นดีที่สุด จำเป็นหรือหาตู้ไม่ได้จริงค่อยไปกดตู้ของธนาคารอื่น เวลาเกิดเรื่องยุ่งยากจะได้ติดต่อแค่ธนาคารเดียว2.ตู้ที่จะกดเงิน ส่ายสายตาหาดูก่อนว่า มีกล้องวงจรปิดที่สามารถใช้งานได้เป็นปกติ ไม่มีสิ่งกีดขวาง อาทิเช่น รังนกมาบังมุมกล้อง เมื่อเกิดปัญหาให้แสดงอาการฟ้องต่อหน้ากล้องทันที เช่น ได้เงินไม่ครบก็ให้นับเงินหน้ากล้องแล้วชูบอกให้เห็นว่าเงินไม่ครบ เพื่อให้ภาพบันทึกไว้เป็นหลักฐาน3.ถ้าเป็นไปได้เลือกกดตู้ที่ตั้งอยู่หน้าธนาคารนั่นแหละดีที่สุด มีทั้งกล้อง มีทั้งเจ้าหน้าที่ พนักงานรักษาความปลอดภัยคอยให้ความช่วยเหลือ4.หากบัตรเอทีเอ็มถูกยึดไม่ว่าจะเกิดที่ตู้ของธนาคารเจ้าของบัตรเองหรือธนาคารอื่น คนที่จะเอาออกมาได้ก็คือธนาคารที่เป็นเจ้าของตู้ ให้เข้าไปแจ้งพร้อมกรอกเอกสารร้องเรียนทันที ระบุตำแหน่งที่ตั้งและหมายเลขของตู้ พร้อมขอชื่อพนักงานและผู้จัดการสาขา พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อเรื่องการติดตามรับบัตร หากพนักงานบริการไม่เอาอ่าวเอาทะเล ให้รีบติดต่อร้องเรียนกับผู้จัดการสาขาโดยตรงทันที โดยขอให้เร่งรัดติดตามเอาบัตรกลับคืนโดยเร็วและให้นัดหมายวันเวลารับบัตรให้ชัดเจน5.ในกรณีที่ไม่ใช่ความผิดพลาดของผู้บริโภค ไม่ควรใจด่วนทำบัตรใหม่ หากธนาคารไม่มีนโยบายยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับปัญหาเออร์เรอร์ลักษณะนี้ ควรเบิกถอนเงินด้วยสมุดบัญชีก่อน ดังนั้นไม่ควรหลงเชื่อธนาคารง่ายๆ ที่แนะนำให้ทำบัตรเอทีเอ็มโดยไม่มีสมุดบัญชี กันไว้ดีกว่าแก้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 ปัญหาหนึ่งของบัตรสมาร์ทเพิร์ส บัตรไม่ชำรุดแต่ถูกบอกว่าชำรุด แนะให้ทำบัตรใหม่จ่ายเงินเพิ่ม

คุณยิ่งยศร้องเรียนเข้ามาว่า...ผมได้ซื้อบัตรสมาร์ทเพิร์ส Smart Purse ที่บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ออกร่วมกับ SF cinema city ก็ใช้ได้ตามปกติตลอดจนมาวันหนึ่งนำบัตรไปแตะกับเครื่องอ่าน แต่เครื่องไม่อ่านแจ้งไปทางบริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด เขาให้ไปติดต่อกับเอสเอฟ แต่เอสเอฟไม่รับคืนเพราะเลิกใช้บัตรนี้แล้วทาง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด จึงให้ไปคืนที่ 7-11 ก่อนส่งบัตรไป ผมให้ทางผู้จัดการร้าน 7-11 ตรวจดูบัตรว่าแตกหักหรือไม่ แต่ก็ไม่มีร่องรอยแตกหัก พอส่งบัตรไป ทาง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด แจ้งว่าบัตรแตก ให้ซื้อบัตรใหม่ในราคา 160 บาท และบัตรโอนได้แต่เงินคงเหลือในบัตร แต้มไม่สามารถโอนได้ ผมไม่ยอมตอนหลัง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด จึงให้โอนแต้มได้ แต่ต้องซื้อบัตรใหม่อยู่ดี พร้อมส่งหนังสือและบัตรกลับมาให้ จึงเรียนสอบถามว่าผมจะสามารถทำอะไรได้บ้างกับกรณีนี้ครับ เพราะก่อนส่งไป ผู้จัดการร้าน 7-11 ก็ตรวจสอบแล้วว่าบัตรไม่แตกแต่พอไปถึง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด กลับแจ้งว่าบัตรแตก แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลที่ http://www.thaismartcard.co.th ได้รับคำอธิบายขยายความว่า บัตรสมาร์ทเพิร์ส คือ การเก็บเงินสดไว้ในบัตรในรูปของเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่อง ณ ร้านค้าที่รับบัตรสมาร์ทเพิร์ส เหมาะสำหรับการใช้จ่ายที่มีมูลค่าไม่มากนักแทนการใช้ธนบัตรหรือเหรียญ โดยมูลค่าในบัตรจะลดลงตามปริมาณการใช้ และสามารถเติมเงินลงในบัตรได้ด้วยเงินสด ที่จุดรับบริการเติมเงิน ได้แก่ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทรูช้อป ยามาฮ่า โชคดีติ่มซำ และSF Cinema ซึ่งการทำบัตรหายเท่ากับการทำเงินหายจึงควรดูแลเหมือนเงินสดและเก็บในที่ปลอดภัยสำหรับข้อดีที่บริษัทใช้ชักชวนผู้บริโภคมีหลายข้อ เช่น- บัตรสมาร์เพิร์สสามารถลดภาระ และความเสี่ยงจากการถือเงินสดช่วยให้ผู้ถือบัตรมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นในการพกพาบัตรเพียงใบเดียวแต่ใช้งานได้หลากหลาย- ผู้ถือบัตรจะได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว แก้ปัญหาการซื้อของแล้วไม่มีเงินทอน- ผู้ถือบัตรสามารถนำบัตรสมาร์ทเพิร์สไปใช้ยังบริการอื่นๆ ที่รับบัตร นับเป็นช่องทางใหม่ในการจับจ่ายใช้สอย เช่น โทรศัพท์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม โรงภาพยนตร์ ร้านหนังสือ-บันเทิง ระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น- บัตรสมาร์ทเพิร์สช่วยบริหารค่าใช้จ่ายส่วนตัวอย่างมีประสิทธิภาพ- ผู้ถือบัตรสามารถใช้บริการของธุรกิจหลากหลายประเภทที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจนภายในบัตรใบเดียวกัน พร้อมระบบความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด- ผู้ถือบัตรมีโอกาสได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เพิ่มเติมสำหรับผู้ถือบัตรจากร้านค้าและเครือข่ายบัตรที่บริษัท ออกร่วมกับองค์กรภาคเอกชน (Co-Branded Card)เมื่อได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่าการที่บัตรใช้งานไม่ได้ ไม่ได้เกิดจากการใช้งานหรือความบกพร่องของผู้บริโภค เราจึงได้โทรติดต่อไปที่บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด เพื่อขอให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องแจ้งกลับมาว่าจะปรึกษากับผู้ใหญ่และติดต่อมาอีกครั้งหลังจากประสานงานกับทางบริษัทไทยสมาร์ทการ์ดแล้ว ได้มีการชี้แจงว่าได้ดำเนินการเปลี่ยนบัตรใหม่ให้กับทางผู้ร้องเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ทางบริษัทฯ แจ้งว่าเป็นการเข้าใจผิดระหว่างลูกค้ากับทางส่วนหน้าร้านในการเปลี่ยนบัตร บริษัทฯ ต้องขออภัยทางลูกค้าด้วย จบข่าว สมาร์ทเพิร์ส  

อ่านเพิ่มเติม >