ฉบับที่ 132 น้ำท่วมก่อนงานวิวาห์ ขอเรียกค่าจัดงานแต่งคืน

คุณพลวิษฐ์ ได้ฤกษ์หามยามดีกำหนดแต่งงานกับเจ้าสาวในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เลยเถิดถึงขั้น “เอาไม่อยู่” ในช่วงเวลานั้นพอดีตอนนั้นกำหนดสถานที่จัดงานแต่งไว้ที่หอประชุมกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยากะว่าได้บรรยากาศสุดๆ  ลงทุนว่าจ้างธุรกิจรับเหมามืออาชีพจัดงานแต่งอย่างเว็ดดิ้ง เซ็นเตอร์มาจัดโต๊ะจีนเลี้ยงแขกเหรื่อในวันงาน วางเงินไปถึง 70,000 บาทเป็นค่ามัดจำการจัดงานยังไม่ทันจะเริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มวลน้ำก้อนใหญ่ก็ถาโถมถล่มเข้ากรุงเทพฯ เสียก่อนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม เห็นแววว่าจะ “เอาไม่อยู่” ผู้คนเริ่มทยอยอพยพหนีภัยน้ำท่วมกันจ้าละหวั่น คงไม่มีใครจะมีกะจิตกะใจมางานแต่ง และขืนฝืนจัดงานไปอาจมีเพียงแค่สองบ่าวสาวลอยคอพิสูจน์รักกันอยู่กลางน้ำเป็นแน่ เลยตัดสินใจเลื่อนงานแต่งไปเป็นวันคริสมาสต์วันที่ 25 ธันวาคม 2554 และเปลี่ยนสถานที่หนีน้ำไปที่โรงแรมมณเฑียรแทนเมื่อรู้แน่ว่าจะไม่แต่งงานในวันและสถานที่เดิมด้วยเหตุมีภัยน้ำท่วม คุณพลวิษฐ์จึงมีอีเมล์แจ้งบอกยกเลิกโต๊ะจีนที่ว่าจ้างเว็ดดิ้ง เซ็นเตอร์จัดหาให้ โดยแจ้งบอกเลิกก่อนวันแต่งวันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นเวลา 12 วัน และขอเงินค่ามัดจำ 70,000 บาทคืนคำตอบที่ผู้รับเหมาจัดงานแต่งแจ้งกลับมาคือ คุณพลวิษฐ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทมีสิทธิยึดเงินดังกล่าวทั้งหมด คุณพลวิษฐ์จึงตั้งคำถาม ถามมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า  การที่จะยกเลิกโต๊ะจีนเพราะมีเหตุคาดว่าน้ำจะท่วมและขอเงินมัดจำคืนในทางกฎหมายนั้น จะมีทางเป็นไปได้หรือไม่ เพราะทางบริษัทบอกแต่เพียงว่าเราเป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องคืนเงินมัดจำ“ผมว่ามันไม่เป็นธรรมกับผมเลยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาที่ไปว่าจ้างให้ใครมาจัดงานแต่ง เป็นธุระจัดหาโต๊ะจีนมาเลี้ยงแขกแทน ต้องมีซุ้มดอกไม้ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวยืนถ่ายรูปกับแขกเป็นที่ระลึก มีน้ำแข็งแกะสลักปล่อยให้ละลายเป็นน้ำอยู่ในงาน หรือต้องมีเค้กให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้ตัดแบ่งแจกเป็นทานให้กับแขกที่มาร่วมงาน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ.มาตรา 587 คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นตามแต่ถ้ากิจกรรมที่จ้างไปแล้วยังทำไม่แล้วเสร็จ อาจจะทำไปแล้วเพียงบางส่วน เช่น ผู้รับจ้างเริ่มติดต่อประสานงานหาคนมาออกไอเดียว่าจะแกะน้ำแข็งเป็นรูปหมาหรือรูปควายคู่ตั้งไว้กลางงานดี จะทำซุ้มประตูเข้างานแบบไหน เค้กจะเป็นรูปอะไรจะทำกี่ชั้น ซึ่งเป็นงานทางความคิดที่ต้องดำเนินเตรียมการกันเป็นอาทิตย์ก่อนจะทำกันจริงในก่อนวันงานวันหรือสองวัน แต่เมื่อมาถูกผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเสียกลางคันไม่ว่าเหตุที่เลิกจ้างจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 605ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ สมควรใช้วิธีการเจรจากันเพื่อที่จะตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่ผู้รับจ้างได้ดำเนินการไป ไม่ใช่จะไปเจรจาเพื่อขอเงินค่ามัดจำคืนทั้งหมด ตรงนี้ก็จะไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายผู้รับจ้างได้เช่นกัน เพราะเขาอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้วในบางส่วนก็เป็นได้ผลของการเจรจาปรากฏว่า คุณพลวิษฐ์ได้รับเงินคืนเป็นจำนวน 49,000 บาท ถูกหักเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับการบอกเลิกสัญญาไป 21,000 บาท เงินที่เสียไปจำนวนนี้หากคุณพลวิษฐ์พอมีเวลาอาจจะยื่นเรียกค่าเสียหายฟ้องรัฐบาลในฐานที่ประกาศว่า “เอาอยู่” แต่ถึงเวลาจริงๆ กลับ “เอาไม่อยู่” ก็ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ตื่นเถิด กกพ.

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ส่งผลให้มีผู้คนเดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก  และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิต ด้วยเหตุถูกไปช้อตตาย 100 กว่าคน ถือว่ามีคนตายด้วยเหตุนี้มากที่สุดในโลก  พูดถึงไฟฟ้า วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง  เอาตั้งแต่โครงสร้างไฟฟ้าในบ้านเรา  ประเทศไทยเรามี พรบ. กำกับกิจการพลังงาน(ที่กำกับโครงสร้างทั้งราคาและบริหารน้ำมันไม่ได้เพราะเขียนกฎหมายยกเว้นน้ำมันไม่ให้อยู่ใน พรบ.นี้) เรามีกระทรวงพลังงาน(ที่กำลังวุ่นวายกรณีจะลอยตัวราคาแก๊ส) แต่น่ามหัศจรรย์มาก เพราะกระทรวงพลังงานดูแลได้แค่ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น    ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะไม่ให้ว่ามันมหัศจรรย์ได้อย่างไร  ในเมื่อนโยบายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล  แต่การบริหารจัดการมหาดไทยดูแล  โอ้ย...ยิ่งคิดยิ่งซับซ้อนเอา...มาเข้าเรื่องที่จะคุยวันนี้ดีกว่า   เรื่องมีอยู่ว่ามีกรณีผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีเหตุอันที่ทำให้ไปจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ตรงเวลา แล้วถูกตัดไฟ   เมื่อไปจ่ายเงินและขอให้มาต่อมิเตอร์ไฟฟ้า  ผู้ร้องต้องเสียค่าต่อไฟฟ้า 107 บาท(บวกภาษี) ซึ่งเป็นที่รู้กัน แต่ก็มีกรณีซ้อนกรณีเข้ามาอีกนั่นคือ ไฟฟ้ายังไม่โดนตัดแต่ไปจ่ายไฟฟ้าเลยกำหนดก็ถูกเรียกเก็บ 107 บาท เช่นกัน   ซึ่งกรณีนี้มีผู้ร้องเรียนว่าเมื่อไฟฟ้ายังไม่ได้ไปตัดไฟ  ก็ยังไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วมาเรียกเก็บเงินเขาค่าอะไร เรื่องนี้มีการร้องเรียนไปถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ(กกพ.)  จนนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กกพ.และไฟฟ้า  ว่าไฟฟ้าจะเรียกเก็บ 107 บาทได้เฉพาะกรณีมีการตัดไฟฟ้าจริงแล้วเท่านั้น(ไฟฟ้าไม่ดับปรับ 107 ไม่ได้) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี 2554  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น   ฝ่ายปฏิบัติ(การเงิน)ของการไฟฟ้าในหลายที่(ตามข้อมูลร้องเรียน)ยังเก็บเงิน107 บาท โดยไม่สนใจว่าไฟฟ้าจะถูกตัดหรือไม่ตัด   ยึดเพียงวันที่ตามบิลเรียกเก็บเงินเป็นหลักหากเลยวันที่กำหนดเรียกเก็บทันทีป้าอ้วน(คนที่มาร้องเรียนและเป็นคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตด้วย)เล่าให้ฟังว่า “ฉันเถียงเขาว่าฉันออกจากบ้านมาไฟฟ้าที่บ้านฉันยังไม่ถูกตัดเลย ทำไมมาเก็บเงินฉัน  ก็กกพ.มีข้อตกลงกับไฟฟ้าแล้วว่าไฟฟ้ายังไม่ถูกตัดจะไม่เก็บ 107 บาท”   เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่าไม่สนใจข้อตกลงอะไรทั้งนั้นทำตามหน้าที่ไม่พอใจไปฟ้องร้องเอาผู้เขียนในฐานะประธานผู้ใช้พลังงานเขต  จึงได้ทำหนังสือไปหารือกับ กกพ.ถึงข้อตกลงที่ไฟฟ้าไม่ปฏิบัติตามก็ได้คำตอบว่า กกพ.ได้ทำหนังสือไปถึงการไฟฟ้าแล้ว 3 ฉบับ ในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง   รายใดร้องเรียนก็จะได้เงินคืนรายใดไม่ร้องก็เสียเงินฟรี  เราก็ทำหนังสือกระตุ้นเข้าไปอีก  เพื่อให้ กกพ.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลทำงานตามหน้าที่ ที่ต้องทำ  ไม่ใช่เข้ามานั่งเสวยสุขกันไปวันๆขอแรงพวกเราช่วยกันร้องเรียนและเฝ้าระวังให้องค์กรที่มีหน้าที่ ได้ทำงานตามหน้าที่(กันบ้าง?) คิดถึง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จัง เมื่อไหร่จะคลอดเสียที.. จะได้มาช่วยดันก้น องค์กรเหล่านี้ให้ทำงานได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 พฤกษา ยอมคืนเงินผู้บริโภค เหตุสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับคนที่จะซื้อบ้านใหม่ ซ่อมบ้านใหม่ หลังภาวะน้ำท่วม บทเรียนของผู้บริโภคเรื่องนี้น่าสนใจทีเดียวเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2553 คุณภัทรวรรธน์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินในโครงการบ้านพฤกษา 47/2 (เทพารักษ์-หนามแดง) จ.สมุทรปราการ กับบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)บ้านที่จะซื้อจากโครงการของพฤกษา เป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น หน้ากว้าง 5 เมตร ห้องริมไม่มีหน้าต่าง อยู่บนเนื้อที่ 16.20  ตารางวา ราคารวมทั้งสิ้น 909,000 บาทกลยุทธ์การขายบ้านราคาไม่ถึง 1 ล้านของพฤกษา เรียลเอสเตท มักจะล่อลูกค้าผู้มีรายได้ปานกลางไปถึงน้อยด้วยการคิดเงินจองเงินดาวน์ในอัตราที่ไม่สูง สำหรับโครงการบ้านพฤกษา 47/2 พฤกษาเรียลเอสเตทคิดค่าจองเพียง 3,499 บาท ส่วนเงินดาวน์คิด 36,000 บาทให้แบ่งจ่าย 8 งวด งวดละ 4,500 บาท เงินค่าบ้านก้อนใหญ่ที่เหลืออีก 869,500 บาท ให้ผู้บริโภคไปหากู้เงินจากธนาคารมาจ่ายในวันนัดโอนบ้านคุณภัทรวรรธน์ทำเรื่องติดต่อธนาคารและจ่ายเงินจองเงินดาวน์มาถึง 6 งวด โครงการได้นัดเข้าไปตรวจรับบ้านเพื่อเตรียมการโอนบ้าน คุณภัทรวรรธน์จึงมอบหมายให้บริษัทตรวจรับบ้านที่มีประสบการณ์เข้าไปตรวจสภาพการก่อสร้างบ้านผลการตรวจบ้านพบปัญหาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหลายจุด ดูไม่สมกับชื่อเสียงของโครงการฯ ที่หนักหนาสาหัสที่สุดตรงที่ผนังบ้าน ไม่แน่ใจว่าช่างตาเอียงตาเหล่แค่ไหน ถึงได้ก่ออิฐบิดเบี้ยวจนทำให้ผนังบ้านซึ่งเป็นส่วนรับน้ำหนักบ้านเอียงไม่ได้ฉากและเกิดรอยร้าวอย่างเห็นได้ชัด คุณภัทรวรรธน์ จึงได้แจ้งให้โครงการฯ ทราบ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ช่างของโครงการฯ เสนอวิธีการแก้ไขแบบง่ายแสนง่าย ว่า จะซ่อมแซมให้ด้วยการฉาบปิดรอยร้าว และฉาบปูนเพิ่มเพื่อให้กำแพงได้ฉาก คุณภัทรวรรธน์จึงสอบถามไปที่บริษัทตรวจรับบ้านว่าปัญหาผนังบ้านเอียงไม่ได้ฉาก จะใช้วิธีฉาบปูนเพิ่มเข้าไปได้หรือเปล่า ได้รับคำตอบว่า ผนังบ้านที่เอียงอย่างเห็นได้ชัดขนาดนั้นเป็นส่วนรับน้ำหนักของตัวบ้าน ซึ่งจะเกิดอันตรายในอนาคตได้ หากไม่ดำเนินการรื้อและก่อผนังขึ้นใหม่คุณภัทรวรรธน์ ได้พยายามเรียกร้องให้โครงการฯ แก้ไขงานบ้านตามที่บริษัทตรวจรับบ้านให้คำแนะนำแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ซ้ำยังกำชับให้จ่ายค่างวดที่เหลือต่ออีก ในขณะที่ธนาคารก็นัดวันเซ็นสัญญาใกล้เข้ามา จึงปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า จะขอให้โครงการแก้ไขต้องทำอย่างไร และยังต้องจ่ายค่างวดให้ครบและต้องรับโอนบ้านหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหาถ้าผู้บริโภคคนไหนทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านหรือว่าจ้างก่อสร้างบ้านใหม่ แล้วเรื่องเดินมาถึงจุดที่พบว่าสภาพการก่อสร้างมีปัญหา คิดจะใช้วิธีไม่จ่ายค่างวดที่เหลือ หรือไม่รับโอนบ้าน กะจะใช้เป็นเงื่อนไขกดดันหวังให้เจ้าของโครงการทำการซ่อมแซมแก้ไข ต้องระวังให้ดีเพราะผลีผลามทำไปโดยไม่รู้ขั้นตอนจะตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาถูกฟ้องคดีบังคับให้ต้องจ่ายเงินตามสัญญาที่เหลือได้โดยที่บ้านก็ไม่ได้ซ่อม หรืออาจจะสูญบ้านทั้งหลังไปเลยก็ได้หากต้องการจะหยุดส่งค่างวดหรือไม่รับโอนบ้าน โดยไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง การมีหนังสือแจ้งถึงปัญหาเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาก่อนหน้า ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของโครงการไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด อย่าใช้ปากเรียกร้องเพียงอย่างเดียว เพราะมีแต่ลมจับต้องอะไรมาเป็นหลักฐานยืนยันในภายหลังไม่ได้ยิ่งได้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาประกอบถึงการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งทำให้เหตุผลของฝั่งผู้บริโภคมีน้ำหนักมากขึ้น และหากความชำรุดบกพร่องนั้นเกี่ยวกับโครงสร้างหลักของตัวบ้าน เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่อาจทำการแก้ไขได้ตามกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ได้ชำระไปคืนทั้งหมดได้  โดยให้ทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาส่งไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับก็ได้หลังจากได้รับคำแนะนำ คุณภัทรวรรธน์ไม่มั่นใจในคุณภาพการก่อสร้างบ้าน จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืน ซึ่งบริษัทไม่ได้งอแงอิดออดแต่อย่างใด ยอมคืนเงินทั้งหมดให้ในเวลาไม่นานท้ายที่สุดของเรื่อง หวังว่าปัญหาของบ้านหลังนี้ บริษัทฯจะได้ทำการซ่อมแซมให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีก่อนนำไปขายต่อให้ใคร อย่าให้เสียชื่อกันอีกรอบเพียงเพราะบ้านไม่ได้มาตรฐานเพียงแค่หลังเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 แอร์หรือระเบิดเวลา?

ซื้อแอร์ใหม่ราคา 2 หมื่นเศษ แทนที่จะทำงานเย็นเฉียบเงียบสนิท ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ในยามพักผ่อนหลับนอน แอร์เจ้ากรรมกลับมีเสียงดังติ๊กๆ น่ารำคาญหูเล็ดลอดตลอดเวลา พาอารมณ์หงุดหงิด สะกิดหัวใจ ฟังไปเรื่อยๆ ยิ่งหนัก คิดว่ากำลังนอนหลับกับระเบิดเวลา ลุ้นและเครียดเอาเรื่องเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา คุณสุรพิเชษฐ์ ได้ซื้อเครื่องปรับอากาศยี่ห้อไดกิ้น รุ่น F13 HV2S ในราคา 21,000 บาท จากบริษัท เจเอสบี แอร์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัดหลังจากให้ช่างมาติดตั้งเสร็จสรรพ เปิดใช้งานกะว่าเย็นฉ่ำสบายอารมณ์แน่ พอแอร์เริ่มทำงาน ความเย็นค่อยๆไหลไล่ความร้อนให้หลบหนี“อืม เย็นจัง” กำลังเคลิ้มๆ กับความเย็นแต่ก็ต้องร้องเอ๊ะ“ติ๊ก ติ๊ก ติ๊กๆๆๆๆ” มันดังไม่หยุด ดังอยู่ตลอดเวลาที่แอร์เปิดทำงานคุณสุรพิเชษฐ์เงี่ยหูฟังเสียงไม่พึงประสงค์แทรกเข้ามาพร้อมความเย็นฉ่ำจากการทำงานของแอร์ที่เพิ่งซื้อมา“เสียงอะไร เสียงจากไหน” คิดในใจพร้อมกับลองปิดแอร์เงียบ...! “ไหนลองเปิดอีกครั้งสิ”“ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก...” เสียงที่น่ารำคาญดังมาทันทีวันนั้นคุณสุรพิเชษฐ์ ลองปิด-เปิดแอร์อยู่หลายครั้ง และทุกครั้งก็มีเสียงดังติ๊กๆ ออกมา เหมือนว่าเป็นมาตรฐานติดมากับแอร์เครื่องนี้เมื่อพบความผิดปกติ จึงได้แจ้งบริษัท เจเอสบี แอร์ แอนด์ เซอร์วิส ให้ส่งช่างมาตรวจสอบ หลังจากที่ช่างมาตรวจสอบอยู่ครู่ใหญ่ จึงได้มีคำตอบที่น่าผิดหวังว่า เสียงติ๊กๆ ที่เกิดขึ้นช่างไม่สามารถซ่อมได้ ต้องให้ช่างของบริษัทไดกิ้นโดยตรงมาซ่อมให้ ซึ่งบริษัทเจเอสบีฯ จะติดต่อกับไดกิ้นให้ส่งช่างมาซ่อมต่อมาช่างของไดกิ้นเข้ามาซ่อมแก้ไขแอร์ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากเสียงของแผ่นพลาสติกที่ไปกระทบกันภายในเครื่องแอร์ จึงใช้แผ่นกำมะหยี่เป็นวัสดุแทรกกันการกระแทกสั่นไม่ให้เกิดเสียงดัง ปรากฏว่าเช้าวันต่อมาแอร์ที่เพิ่งซ่อมไปมีน้ำหยดออกมาจากตัวเครื่องคุณสุรพิเชษฐ์รู้สึกว่าเช้านั้นเซ็งอารมณ์สุดๆ“แอร์ซื้อมาใหม่ๆ แท้ๆ ครับ ใช้ไม่กี่วันก็ต้องเรียกให้ช่างมาซ่อมแล้วซ่อมอีก”“ช่างที่มาซ่อมบอกว่าที่บ้านก็ใช้แอร์รุ่นนี้ก็มีเสียงดังเหมือนกัน”เมื่อนำเหตุผลทั้งหมดมารวมกัน ความไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์สินค้าจึงเกิดขึ้น จึงได้ติดต่อไปที่บริษัทไดกิ้นเพื่อจะขอเปลี่ยนแอร์รุ่นใหม่ หลังติดต่อไปบริษัทก็ไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธที่ชัดเจน ทำให้คุณสุรพิเชษฐ์มีความกังวลและคิดว่าบริษัทไดกิ้นอาจจะไม่ยอมเปลี่ยนแอร์รุ่นใหม่ให้ จึงโทรปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับฟังปัญหาของผู้บริโภคจนได้รายละเอียดเสร็จสิ้น เราจึงแนะนำให้คุณสุรพิเชษฐ์รีบทำจดหมายไปที่บรัทไดกิ้นโดยทันที โดยให้ระบุเนื้อหาในจดหมายว่า ผู้บริโภคได้ซื้อแอร์เครื่องใหม่และเลือกยี่ห้อไดกิ้นก็เพราะว่า เป็นสินค้าที่ดีมีมาตรฐาน แต่เมื่อใช้ไปได้ไม่กี่วัน เครื่องมีอาการผิดปกติ มีเสียงดังเล็ดลอดออกมาตลอดเวลาที่เครื่องเปิดใช้งาน การที่ได้ซื้อแอร์เครื่องนี้ในราคาเป็นหมื่น เพราะประสงค์ที่จะได้แอร์ที่ดีมีคุณภาพพร้อมทั้งมาตรฐานที่ดี เพื่อนำความสุขมาให้ครอบครัว แต่เมื่อแอร์เกิดปัญหาเช่นนี้โดยไม่ใช่ความผิดจากการใช้งานของผู้บริโภค บริษัทที่มีความรับผิดชอบจะต้องทำการเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพื่อที่จะรักษาชื่อเสียงและยี่ห้อของสินค้าให้คงอยู่ตลอดไป จึงขอให้ทางบริษัทไดกิ้นฯ ช่วยพิจารณาดำเนินการเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ให้ด้วยหลังจากที่ได้ทำจดหมายออกไป ปรากฏว่าบริษัทไดกิ้น ได้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการแจ้งว่า บริษัทยินดีที่จะเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ให้กับคุณสุรพิเชษฐ์โดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใดใครที่มีปัญหาซื้อสินค้าใหม่ใช้งานแล้วไม่ได้ผลหรือเกิดปัญหาจนต้องเรียกช่างมาซ่อมแซมแก้ไข หากต้องการจะให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ ลองใช้วิธีนี้ดู  ไม่สงวนลิขสิทธิ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 อพาร์ทเมนต์ ถูกคนเช่าทวงเงินมัดจำ

แจ้งย้ายออกจากห้องเช่า แต่เจ้าของหอไม่ยอมคืนเงินค่ามัดจำ หลายคนคงปล่อยทิ้งไม่อยากวอแว แต่สำหรับคุณเบญจมาภรณ์ยืนยัน ไม่มีวันเสียล่ะที่จะเสียเงินมัดจำไปง่ายๆ เจออย่างนี้ต้องเอาคืนคุณเบญจมาภรณ์ ได้เช่าอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในย่านอนุสาวรีย์ชัย เป็นอพาร์ทเมนต์ไม่มีชื่อ ชั้นล่างทำเป็นร้านขายก๋วยจั๊บ ต้องจ่ายค่ามัดจำ 6,000 บาท และค่าเช่าห้องล่วงหน้า 1 เดือน อีก 3,000 บาท รวมเป็นเงินที่จ่ายควักไป 9,000 บาท สำหรับห้องเช่าธรรมดาๆ ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม“สุดๆค่ะ ต้องเอาพัดลมมาเอง แรกเข้ามาอยู่ก็ไม่ได้ทำความสะอาดไว้ให้ เจ้าของห้องเขาตั้งน้ำยาทำความสะอาด แปรงถูกพื้น และกระป๋องไว้หน้าห้อง ไปกับเพื่อนก็ช่วยกันทำความสะอาดกันเอาเอง”“ห้องแคบมาก...ของที่ขนไปเข้าไม่หมด บานเกร็ดไม่มีเหล็กดัด ถ้าถามว่าทำไมต้องทนอยู่ ก็คงบอกได้ว่า มันใกล้กับที่ทำงาน มีรถไฟฟ้า และคิดว่าคงจะอยู่เพียงแค่ชั่วคราว” คุณเบญจมาภรณ์สาธยายให้เห็นภาพคงเพราะเป็นอพาร์ทเมนต์ที่ไม่มีชื่อเสียงหรือไม่ คุณเบญจมาภรณ์ก็ไม่แน่ใจ อยู่ได้ไม่กี่วันก็ต้องอึดอัดใจ เพราะอพาร์ทเมนต์ไม่มีชื่อแห่งนี้ หาความสงบแทบไม่ได้เลย มีคนเดินขึ้นลงตลอดเวลา เพราะร้านก๋วยจั๊บที่เปิดขายอยู่ชั้นล่าง เปิดยาวถึงตีสาม เวลาเข้าห้องน้ำ น้ำจะรั่วและมีสนิมปนมากับน้ำ แจ้งให้เจ้าของมาแก้ไขก็ไร้วี่แววมีครั้งหนึ่งที่คุณเบญจมาภรณ์เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด พอกลับเข้าห้องสังเกตเห็นว่าหวีไม้ที่วางไว้ในห้องมีราขึ้น ชั้นวางโทรทัศน์ก็มีราขึ้น พอเห็นราขึ้นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ คิดในใจว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายด้วยหรือเปล่าแจ้งเจ้าของห้องเพื่อขอย้ายออก ได้รับคำตอบว่าให้ย้ายตอนสิ้นเดือน จะคืนเงินมัดจำให้ 3,000 บาท“เราก็ไม่มีปัญหานะ ขอให้ได้ย้ายออกจะได้ค่ามัดจำเท่าไหร่ก็ยอมทั้งนั้น” พอถึงสิ้นเดือนก็ยังไม่ได้ย้าย เจ้าของห้องบอกยังไม่มีเงินให้อยู่ไปก่อน ได้เงินมัดจำคืนแล้วค่อยย้ายออก จนถึงกลางเดือนถัดมาคุณเบญจมาภรณ์บอกไม่ไหวแล้ว ตัดสินใจย้ายออกทันที“โทรติดต่อเจ้าของห้อง แต่ไม่เจอตัวเจอแต่คนดูแล เอาเงินมัดจำคืนไม่ได้  เลยฝากบอกกับคนดูแลให้เจ้าของห้องช่วยโอนเงินค่ามัดจำคืนเข้าบัญชีด้วย”เมื่อออกจากห้องเช่าแล้ว คุณเบญจมาภรณ์ ได้พยายามโทรไปทวงเงินค่ามัดจำคืนอยู่หลายสิบครั้ง มีเสียงเรียกแต่ไม่มีคนรับสาย มีครั้งหนึ่งมาตามด้วยตัวเองก็ได้ผลเหมือนเดิมหันซ้ายหันขวาเห็นป้ายสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่ใกล้ๆ จึงเดินเข้ามาร้องเรียนขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาข้อแนะนำของเรา เมื่อโทรเข้าไปแล้วไม่รับสาย ก็ให้ไปดักรอที่หน้าอพาร์ทเมนต์เลยจะดีที่สุด เพราะเจ้าของห้องต้องออกมาขายก๋วยจั๊บทุกวันอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเจอเมื่อเจอแล้วก็ทวงถามได้เลย ถ้ายังบ่ายเบี่ยงปฏิเสธอีก ทีนี้ก็สามารถไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานได้ทันที แต่อยากให้พูดคุยกันดีๆ ก่อนเป็นดีที่สุดหลังได้รับคำแนะนำ คุณเบญจมาภรณ์จึงไปดักรอที่ร้านก๋วยจั๊บที่เจ้าของห้องเปิดขายทันที คิดในใจว่า ไม่ออกมาก็ไม่ต้องขายของกันละวันนี้ ปรากฏว่าเจอตัวเจ้าของเป็นๆ ซึ่งยอมคืนเงินค่ามัดจำให้ แต่ก็ยังทิ้งลายด้วยการขอหักค่าทำความสะอาดและค่าดูแลส่วนกลางรวม 300 บาท เหลือคืนให้ 2,700 บาท“ไม่เป็นไรค่ะ ไม่อยากให้มันยืดเยื้อ เพราะเสียเวลามามากแล้ว” คุณเบญจมาภรณ์บอกพร้อมขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ช่วยให้คำแนะนำจนทวงคืนค่ามัดจำได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 รับจำนำที่ดิน บนสำนักงานที่ดิน

น้ำคือชีวิต  ไม่มีเงินอยู่ได้  ไม่มีน้ำอยู่ไม่ได้  แต่ที่ผ่านมาหลายจังหวัด น้ำทำให้ผู้คนในหลายจังหวัดอยู่บ้านตนเองไม่ได้ ต้องอพยพกันวุ่นวาย  แต่เหตุการณ์นั้นกำลังจะผ่านไป  ว่ากันใหม่ปีหน้าว่าน้ำจะมาอีกไหมเนี่ย....  ก็ขอให้กำลังใจ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องต่อสู้และอยู่กับมันให้ได้เอ้า...มาถึงเรื่องราวที่จะเขียนเล่าสู่กันฟังกันดีกว่า..  วันก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดิน  ที่ดินจังหวัดสมุทรสงคราม   สิ่งที่ได้เห็นเมื่อก้าวเข้าไปคือ หน่วยงานของรัฐพัฒนาไปมาก  ดูเป็นระบบและเอาใจใส่ประชาชนที่มาใช้บริการมากขึ้น   ผู้เขียนทำธุระจนเกือบเรียบร้อย  เหลือแค่ไปจ่ายเงินที่แผนกบัญชี   ไปนั่งรอเลยมองหาหนังสือพิมพ์เพื่อมาอ่านค่าเวลา   สายตาก็ไปสะดุดที่ข้อความ  มีที่ดิน มีบ้าน มีรถ มาจำนำได้ที่....ติดหราสง่างามอยู่ที่วางหนังสือพิมพ์ หน้าเคาน์เตอร์จ่ายเงิน  บนสถานที่ราชการ    “หา...นี่มาโฆษณารับจำนำที่ดินบนที่ดินจังหวัดกันอย่างนี้เลยหรือ” ผู้เขียนงงหลายคนอาจมองแล้วไม่คิดอะไร  แต่ในฐานะคนทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค มันก็อดคิดไม่ได้   เลยไปถามเจ้าหน้าที่ ว่าทำไมยอมให้เขามาโฆษณาบนสำนักงานที่ดินได้  ก็ได้คำตอบว่า  บริษัทศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ  ได้นำที่วางหนังสือพิมพ์ มาบริจาคให้   โดยที่วางหนังสือพิมพ์มีชื่อบริษัทและมีข้อความเชิญชวนให้ไปใช้บริการ ติดอยู่  ทางที่ดินไม่ได้คิดอะไร เขาเอามาให้ก็รับไว้   นี่ไง...เห็นเล่ห์เหลี่ยม บริษัทพวกนี้มั้ย...เขาเก่งจริงๆ ลงทุนไม่กี่บาท  สามารถเอาป้ายโฆษณาของบริษัทเข้าไปตั้งโฆษณา ในสถานที่ที่มีคนมาใช้บริการได้อย่างถาวร โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ เลยสักบาท  แถมยังได้รับความชื่นชมจากเจ้าหน้าที่  ว่าบริษัทนี้มีน้ำใจนำของมาบริจาคให้   เรียกได้ว่าชั้นเชิงการตลาดเข้าขั้นเซียนเหยียบเมฆกันเลยทีเดียว(เจ้าหน้าตามไม่ทันจริงๆ) และไม่รู้เป็นไงผู้เขียนเห็นอะไรอย่างนี้แล้ว ได้แต่บอกตัวเองว่าหากไม่ทำอะไรเลย  กลับบ้านต้องนอนไม่หลับแน่ๆ เลย   คิดได้ดังนั้น ก็เลยไปคุยกับหัวหน้าเขาว่าทำไมถึงยอมให้บริษัทนี้เข้ามาโฆษณารับจำนำที่ดินบนสำนักงานที่ดินที่เป็นสถานที่ราชการ   เขาก็ทำหน้างง..แล้วถามว่าเขามาโฆษณาที่ไหน  ผู้เขียนเลยบอกว่าก็ที่วางหนังสือพิมพ์ไง ถ่ายรูปไว้แล้วนะ  มาคราวหน้าคงไม่เห็นการโฆษณานี้นะ (ขู่กันให้เห็นๆ เลย) ที่เอาเรื่องนี้มาเล่า เพื่อชี้ให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้ใช้กลยุทธ การตลาดโฆษณาในรูปแบบใหม่ๆ  เล่นกันแบบสดๆ ทันทีที่ชาวบ้านทำโฉนดเสร็จ  มาจำนำได้เลยจริงอยากบ่นมากกว่านี้  แต่บ่นไปไม่มีประโยชน์   สู้ไปกดดันให้การโฆษณาพ้นไปจากที่ดินจังหวัดน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่าการบ่น   แล้วเจอกันนะสถานที่ราชการที่รัก  ไม่ใช่แค่ที่ดินที่ไหนมีการโฆษณาอย่างนี้โปรดขยับขยาย ไม่อย่างงั้นเจอกันแน่  .....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 เซอร์วิส ชาร์จ ในร้านอาหาร ไม่จ่ายได้หรือเปล่า

เรื่องร้องเรียนหลายเรื่องที่เข้ามาหาเรา มีเนื้อหาเรื่องราวเพียงสั้น ๆ แต่ก็เป็นประเด็นที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนคุณรุ่งทิพย์จึงได้ถามมาสั้นๆ ว่า...“ไปกินอาหารร้านดัง แถวสีลมคอมเพล็กซ์ ในบิลบวกค่าบริการประมาณ 10% ของค่าอาหาร จากค่าอาหาร 160 บาท คิดเป็นค่าบริการ 16 บาทบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนแรกว่าจะให้ทิปแล้ว เลยไม่ให้ดีกว่า ปกติไม่ค่อยได้ไปย่านนั้น ถ้ารู้ก็จะไม่กินร้านนี้หรอก ตอนนี้สงสัยว่าร้านอาหารพวกนี้สามารถบวกค่าโน้นนี้ได้ตามอำเภอใจเลยหรือ แล้วใช้หลักอะไรคิดกัน บริการก็ไม่เห็นแปลกพิเศษอะไรเลยคงด้วยความรู้สึกเหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องจ่ายค่าทิปอาหาร จึงได้ถามมาสั้นๆ ว่า ค่าทิปหรือเซอร์วิส ชาร์จ แบบนี้จะไม่จ่ายได้ไหม แนวทางแก้ไขปัญหา ผู้รู้ท่านหนึ่งได้กรุณาเขียนให้ความรู้เกี่ยวกับ ทิป และ เซอร์วิส ชาร์จไว้ว่าทิป คือ เงินจำนวนหนึ่งที่ผู้รับบริการมอบให้แก่ผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่ตนเอง โดยจ่ายเพิ่มให้เป็นพิเศษนอกเหนือการจ่ายค่าสินค้า หรือบริการที่ได้รับไปแล้ว การทิปของแต่ละประเทศนั้นจะไม่เหมือนกัน บางประเทศจะรวมค่าทิปไปในบิลเรียกเก็บเงินหลังเช็คบิล หรือใช้บริการเสร็จ โดยในบิลจะระบุว่า “Service Charge” หรือ “ค่าบริการ” ไว้แล้ว ซึ่งจะกำหนดเป็นค่าร้อยละของยอดจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายให้แก่บริการ นั้นๆ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 5-15 เปอร์เซ็นต์แต่ละประเทศมีการคิดค่าธรรมเนียมในการทิปที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศฝรั่งเศส มีกฎหมายให้ภัตตาคารสามารถบวกค่าบริการได้ ทำให้พนักงานเสิร์ฟที่ประเทศฝรั่งเศสมีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี แต่สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาไม่บังคับ ทำให้รายได้ของพนักงานส่วนใหญ่ได้มาจากการทิป สำหรับเงินเดือนได้น้อยมากดังนั้นเมื่อไปกินอาหารที่ภัตตาคารที่ฝรั่งเศสที่ได้บอกค่าบริการไปแล้วใน บิลจึงไม่ต้องให้ทิปเพิ่มอีก แต่ถ้าหากได้รับบริการที่ดีอาจจะให้เพิ่มตามความสมัครใจก็ได้ โดยปกติจะอยู่ประมาน 1-5 ยูโรต่อจำนวนสมาชิกในโต๊ะสำหรับ ประเทศไทย ไม่ได้มีกฎหมายการเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จเป็นการเฉพาะ มีเพียงแต่กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่กรมการค้าภายในดูแลเฉพาะเรื่องการแสดงราคาสินค้าให้ผู้บริโภคทราบก่อนที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการ คือ หากสินค้าหรือบริการใดไม่ได้อยู่ในการรายการควบคุมราคาสินค้าก็สามารถที่จะจำหน่ายหรือเก็บค่าบริการในราคาเท่าไรก็ได้ เพียงแต่ขอให้มีการแจ้งราคาให้ผู้บริโภคทราบในป้ายสินค้าหรือบริการก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สมองของตัวเองพินิจพิจารณาว่าจะซื้อหรือจะใช้บริการนั้นหรือไม่ดังนั้น หากในร้านอาหารใหญ่ๆ หรือการสั่งอาหารตามโรงแรมบางแห่งได้มีการเขียนบอกไว้ในเมนูอาหารอยู่แล้วว่ามีค่าบริการ เพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาศัยกติกาสากลมาเทียบเคียง ก็สามารถที่จะทำได้ และเดี๋ยวนี้ก็ทำกันหลายที่เพราะคนไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการจ่ายค่าทิปให้เด็กร้าน  และหากผู้บริโภคมีความพอใจในบริการมากๆ อยากจะจ่ายค่าทิปเพิ่มให้อีกก็ทำได้ส่วนการปฏิเสธไม่จ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จนั้น ผู้บริโภคควรมีเหตุผลที่เหมาะสมว่าไม่พึงพอใจบริการเพราะเหตุใด เช่น สั่งอาหารอย่างหนึ่งได้มาอีกอย่างหนึ่ง เสียเวลารอนานเกินเหตุ เข้าร้านไปไม่มีใครสนใจมาถามไถ่ให้บริการเลย ทำเหมือนเราเป็นแมลงวันหลงบินเข้าร้านอะไรทำนองนี้ และเมื่อเทียบกับอัตราค่าเซอร์วิสชาร์จที่ถูกเรียกเก็บเห็นว่าไม่คุ้มค่า ตรงนี้ก็พอที่จะเรียกผู้จัดการร้านมาเจรจาชี้แจงที่จะปฏิเสธค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุเลย ไม่อยากจ่ายซะงั้นก็ดูจะใจจืดใจดำกับลูกจ้างชั่วคราวที่เขาได้ค่าแรงต่ำอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องนึกถึงใจเขาใจเรากันบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 นางงามประเภทสอง หวิดบอดเพราะฉีดฟิลเลอร์

น้องต๊อกแต๊ก เป็นสาวประเภทสอง มีรายได้จากการเดินสายแข่งขันประกวดความงามบนเวทีทั่วราชอาณาจักร ความงามบนใบหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเธอหรือเขา...คนนี้“ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะฉีด” ภาษิตใหม่ของน้องต๊อกแต๊ก เธอบอกว่ามันช้าและอาจไม่สวยเด่นหากจะให้งามเพราะแต่งอย่างเดียว มันต้องมีฉีดด้วย และที่ได้รู้จัก ได้ยินมาคือการฉีดสารฟิลเลอร์ ดูจะสะดวกรวดเร็วในเว็บไซต์หนึ่งให้ข้อมูลว่า  Filler (HA) ถูกนำมาฉีดเพื่อช่วยในการปรับแก้ไขรูปหน้า  เช่น เสริมจมูก เสริมคาง หรือเพื่อเติมเต็มริ้วรอยบนใบหน้า ลดริ้วรอย ร่องลึก หรือแม้แต่การบำรุงผิวให้กลับกระชับ เปล่งปลั่ง สดใสอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใบหน้า ลำคอ หลังมือ หรือแม้กระทั่งบริเวณผิวหน้าอก และเมื่อสาร Filler นั้นเป็นสารที่ร่างกายมีอยู่แล้ว ดังนั้นการฉีดสารชนิดนี้เข้าไปในชั้นผิวหนังจึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย และสามารถย่อยสลายไปเองได้ตามกระบวนการทำงานของร่างกายพอเลื่อนหน้าจอคอมพิวเตอร์ดูข้อมูลที่พูดถึง การฉีดปรับแก้ไขรูปหน้าหรือฉีดแบบเฉพาะจุด ยิ่งน่าสนใจ บอกว่า เหมาะสำหรับคนที่ต้องการปรับแก้ไขเฉพาะส่วน เช่น ฉีดเพื่อเสริมจมูก เสริมคาง เติมแก้มที่ตอบ เติมร่องใต้ตา โดยผลลัพธ์การรักษาจะอยู่ได้นานประมาณ 9-12 เดือนต๊อกแต๊ก อยากเสริมหน้าผากให้โหนกนูนเต็มอิ่มขึ้นมาอีกนิด จึงติดต่อเข้าใช้บริการฉีดฟิลเลอร์ที่คลินิกความงามแห่งหนึ่งย่านถนนรัชดาภิเษกก่อนเกิดเหตุ การฉีดฟิลเลอร์เข้าหน้าผากต๊อกแต๊กทำมาก่อนแล้ว 2 ครั้ง เว้นระยะห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ ฉีด 2 ครั้งแรก ไม่มีอะไรผิดปกติ เสียเงินรวมไป 7,000 บาท ในราคาที่แพทย์แจ้งว่าเป็นราคาทุนเพราะเห็นใจว่าเป็นนักศึกษาต้องทำงานกลางคืนเพื่อหารายได้พิเศษ จนถึงการฉีดครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการฉีดในบริเวณเหนือคิ้วซ้ายใกล้ดวงตา จึงเป็นเรื่อง... แพทย์ผู้ฉีดให้ข้อมูลหลังเกิดเหตุว่า โดยปกติจะฉีดฟิลเลอร์ให้คนไข้ครั้งละประมาณ 2-3 มิลลิลิตร ด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะผิวหนังอักเสบ ติดเชื้ออย่างรุนแรง หากคนไข้ต้องการฉีดฟิลเลอร์ในปริมาณที่มาก จึงจะนัดให้มาฉีดเพิ่มในภายหลังครั้งละประมาณ 1-2 มิลลิลิตร ในการฉีดครั้งที่ 3 หลังจากฉีดเสร็จ เธอมีอาการปวดหัวอย่างแรงบริเวณเหนือคิ้วซ้ายที่ได้ฉีดสารเข้าไปทันที มีอาการตาพร่ามัวและมีอาเจียนร่วมด้วยแพทย์ที่คลินิกได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยการให้น้ำเกลือและฉีดยาแก้ปวดให้ หลังจากนั้นอาการยังไม่ดีขึ้น ตาซ้ายมองไม่เห็นมีอาการบวมแดงแพทย์จึงทำการเจาะเอาสารฟิลเลอร์ออก และนำคนไข้ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมาหลังจากวันนั้นน้องต๊อกแต๊กก็มีอาการปวดหัวเป็นพักๆ ส่วนตานั้นมีอาการพร่ามัวมองเห็นได้ไม่ชัด แต่ที่สำคัญคือ มันทำให้เธอหมดโอกาสเฉิดฉายบนเวทีประกวดความงามและไม่สามารถทำงานหารายได้ได้เหมือนเดิม ต๊อกแต๊กจึงต้องร้องเรียนและขอให้แพทย์รับผิดชอบในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหากรณีแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ว่า การรักษาเป็นไปโดยมีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่  มีความระมัดระวังเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเมื่อถามฝั่งแพทย์ผู้ทำการรักษาได้รับคำตอบว่า การรักษาเป็นไปตามมาตรฐานที่ดี มีความระมัดระวังทุกขั้นตอน แต่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นก็พร้อมจะรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเราจึงแนะนำให้น้องต๊อกแต๊กใช้วิธีเจรจาเรียกค่าเสียหายกับคลินิกที่ทำการรักษาก่อน และแนะนำให้ประเมินค่าเสียหายที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่จะตามมาอย่างถูกต้องเหมาะสมเป็นจริง การเรียกค่าเสียหายในด้านความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย การขาดโอกาสในการทำมาหารายได้ก็ให้เรียกอย่างเหมาะสม ไม่สูงสุดโต่งจนเลยจุดที่จะทำให้ไม่สามารถเจรจากันได้ท้ายที่สุด แพทย์ผู้ทำการรักษาได้แสดงน้ำใจให้ความช่วยเหลือน้องต๊อกแต๊กเป็นเงินรวม 100,000 บาท ขอแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ละ 50,000 บาท น้องต๊อกแต๊กพึงพอใจในค่าเสียหายที่ได้รับ ยอมยุติเรื่อง และหันมาตั้งหน้าตั้งตารักษาตัวที่จวนใกล้จะหาย เพื่อก้าวขึ้นสู่เวทีประกวดอีกครั้งเชื่อว่า...ทุกเวทียังมีมงกุฎให้เธอไขว่คว้าอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 ขอคืนเครื่องทำน้ำอุ่นกับพาวเวอร์บาย

วันที่ 28 สิงหาคม 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ คุณจำนง สมาชิกฉลาดซื้อ ได้ไปซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นที่พาวเวอร์บาย สาขารัตนาธิเบศร์คุณจำนงจ่ายเงินไป 3,790 บาท สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น ฮิตาชิ รุ่น HES-35R นำมาให้ช่างติดตั้ง ใช้อาบได้ปกติ แต่พออาบเสร็จ คุณจำนงได้ลองกดปุ่มทดสอบป้องกันไฟรั่วตามวิธีที่คู่มือแนะนำ  ได้ผลเป็นอย่างดีคือ เครื่องตัดการทำงานทันที  แต่พอจะเปิดให้ใช้งานอีกครั้งปรากฏว่า เครื่องดันตัดไฟไม่ทำงานแบบถาวรไปเลย ใช้อาบน้ำอุ่นไม่ได้คุณจำนง นำใบเสร็จรับเงินของพาวเวอร์บายมาดู พลิกไปที่ด้านหลังมีข้อความระบุถึงเงื่อนไขในการรับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าว่า“รับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าที่มีใบเสร็จรับเงินพร้อมกล่องบรรจุ, ใบรับประกัน, คู่มือและอุปกรณ์ต่อพ่วงของสินค้าภายใน 7 วัน นับจากวันซื้อสินค้า (ยกเว้นไม่รับคืนมีดังนี้ : กล้องถ่ายรูป, กล้องวีดีโอ, โทรศัพท์มือถือ, เพจเจอร์, )สินค้าตัวโ ชว์, สินค้าลดล้างสต๊อก, ทีวีจอใหญ่กว่า 30 นิ้ว) และยังมีข้อยกเว้นเพิ่มเติมอีกว่า “ยกเว้นสินค้าที่ใช้แล้ว หรือแกะกล่องไม่รับคืนมีดังนี้ : ตู้เย็น, เทปคาสเซท, แผ่นซีดี, วีดีโอเทป, คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์, ฟิล์ม, ถ่านไฟฉาย, ถ่านชาร์จ, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, เครื่องดูดฝุ่น, ไมโครเวฟ, เครื่องครัวเล็ก , ผ้าหมึก, อุปกรณ์ทำความสะอาด)เห็นข้อยกเว้นในประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ก็เกือบจะครอบคลุมแทบทุกชนิดอยู่แล้วที่ห้างจะไม่รับคืน ยังดีหน่อยที่อ่านอยู่ 2-3 รอบ ไม่พบเครื่องทำน้ำอุ่นอยู่ในข้อยกเว้นไม่รับคืน“โอ้...โชคดีอะไรเช่นนี้ ที่ยังมีเครื่องทำน้ำอุ่นเหลือรอดให้คืนให้เปลี่ยนได้” คุณจำนงคิดในใจ รีบถอดเครื่องทำน้ำอุ่นนำกลับไปที่ห้างพาวเวอร์บายเพื่อขอเปลี่ยนเครื่องใหม่ในวันรุ่งขึ้นทันที เพราะกลัวจะหลุดเวลาการเปลี่ยนคืนสินค้าภายใน 7 วัน แต่คำตอบที่ได้รับคือ...“เขาไม่เปลี่ยนให้ครับ บอกว่าต้องให้ช่างฮิตาชิมาดูก่อน” แนวทางแก้ไขปัญหาพอทราบคำตอบว่าพาวเวอร์บายจะไม่ยอมเปลี่ยนสินค้าให้ง่ายๆ และกลัวจะหลุดกรอบ 7 วันที่ห้างยอมให้เปลี่ยนหรือคืนสินค้า จึงรีบโทรศัพท์และส่งแฟกซ์รายละเอียดมาให้เราในวันที่ 30 สิงหาคม 2554ประมาณ 10.30 น. ของวันที่ 31 สิงหาคม 2554 เราได้ติดต่อกลับไปที่คุณจำนงพร้อมข้อแนะนำว่า ให้นำสินค้าและใบเสร็จรับเงินไปขอเปลี่ยนสินค้าใหม่อีกครั้งตามเงื่อนไขที่พาวเวอร์บายแสดงเวลา 13.40 น. ของวันที่ 1 กันยายน 2554 คุณจำนงโทรติดต่อกลับมาว่า ได้นำสินค้าไปเปลี่ยนตามคำแนะนำ แต่ทางห้างอ้างว่าจะให้ช่างจากฮิตาชิมาตรวจสอบก่อน ว่าเครื่องเสียด้วยตัวของผลิตภัณฑ์เองหรือเปล่า ถ้าช่างยืนยันว่าการเสียเกิดจาตัวผลิตภัณฑ์เอง ทางห้างยินดีเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยช่างจะมาภายใน 3 วันคุณจำนงเห็นว่าเป็นธรรมดี แต่เกรงว่าจะหลุดกรอบเวลาการยื่นเคลมสินค้าภายใน 7 วัน ด้วยความรอบคอบจึงได้ขอให้ห้างออกใบยืนยันเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ติดต่อขอเปลี่ยนสินค้าก่อน 7 วัน ซึ่งทางห้างได้ออกใบยืนยันให้ ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2554 ช่างจากฮิตาชิได้เข้ามาตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่น“ช่างทำการเช็คเครื่องโดยขันน๊อต 2 ตัว ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็สามารถใช้ได้เป็นปกติ ช่างห้ามไม่ให้กด(ปุ่มตรวจสอบสวิทช์ป้องกันไฟรั่ว)หลายครั้ง ประมาณ 1 เดือนถึงจะกดครั้งหนึ่ง”เมื่อเห็นว่า ซ่อมแล้วใช้ได้ คุณจำนงเลยตกลงที่จะรับเอาสินค้าตัวเดิมไว้ และเมื่อไปทำการติดตั้งที่บ้านก็ใช้ได้ดีเหมือนเดิมไม่มีปัญหาแต่อย่างใดถือเป็นการตัดสินใจของผู้บริโภคแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำให้เรื่องยุติกันไปแบบน้ำใจงามๆ ของคนไทย แต่ในมุมสิทธิของผู้บริโภคแล้ว แม้สินค้านั้นจะซ่อมได้ แต่เหตุที่ผู้บริโภคต้องเทียวไปเทียวมาพาเครื่องทำน้ำอุ่นมาร้องเรียนอยู่ถึงสองสามรอบกับทางห้างก็นับว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ความรับผิดชอบของห้างในกรณีเช่นนี้จึงถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นและต้องปรับปรุง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 แอร์เอเซีย เรียกเก็บค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน

คุณยิ่งปลิวและลูกชายจองตั๋วสายการบินแอร์เอเซีย ไป-กลับ กรุงเทพมหานคร-นครศรีธรรมราช แต่มีเหตุไม่ได้ไปเพราะคุณแม่ของคุณยิ่งปลิวป่วยเข้าโรงพยาบาลกะทันหันคุณยิ่งปลิวจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินเป็นเงินทั้งสิ้น 5,568.96 บาท  แบ่งเป็นค่าตั๋วและภาษี 4,683 บาท ค่าประกันภัยและดำเนินการ 885.96 บาท โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัยว่า หากผู้เอาประกันภัยจำเป็นต้องยกเลิกการเดินทางอันมีสาเหตุจากการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัส หรือการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันภัย คู่สมรส บิดามารดาของผู้เอาประกันภัย บิดามารดาของคู่สมรส ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร พี่ น้อง ของผู้เอาประกันภัย ทำให้ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดได้ จะให้ความคุ้มครองการบอกเลิกการเดินทางด้วยการคืนเงินชดเชยสูงสุดไม่เกินราคาค่าโดยสาร (ค่าตั๋ว + ภาษี + น้ำมัน)“แม่ผมป่วยอยู่โรงพยาบาล อยู่ในเงื่อนไขการคืนเงิน และทางแอร์เอเซียก็ไม่ขัดข้องใดๆ เพราะไม่ได้คืนเงินให้จริง แต่ให้เป็นเครดิตไว้สำหรับการเดินทางครั้งต่อไปภายใน 90 วัน แต่เมื่อคำนวณการคืนเงินให้ผู้โดยสาร ผมคิดว่าเอาเปรียบผู้โดยสารอยู่ดี” แนวทางแก้ไขปัญหา แอร์เอเซียเอาเปรียบหรือไม่ ลองมาพิจารณาโครงสร้างการหักเงินก่อนคืนเงินค่าโดยสารครั้งนี้ดู แอร์เอเซียหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน (749 บาท/คน/เที่ยว) เป็นเงิน 2,996 บาท หักค่าประกันและดำเนินการ 885.96 บาท รวมเงินที่หัก 3,881.96 บาท จากเงินที่จ่ายไป 5,568.96 บาท  คงเหลือเงินที่คืนให้แก่ผู้โดยสารเพียง 1,687 บาท“ผมทำประกันการยกเลิกเที่ยวบิน แต่ยังมาหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบินอีก ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำประกันไปทำไม” คุณยิ่งปลิวถามด้วยความเคืองใจเมื่อไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดการคืนเงิน คุณยิ่งปลิวจึงส่งเสียงทักท้วงไปที่แอร์เอเซีย ผลปรากฏว่า แอร์เอเซียได้ดำเนินการชดเชยให้แก่ผู้ร้องโดยการส่งตั๋วบินไปกลับฟรีมาให้ แถมยังคืนเงินที่หักค่าธรรมเนียมการยกเลิกเที่ยวบินมาให้อีกด้วย ทำให้คุณยิ่งปลิวรู้สึกพอใจกับการชดเชยของแอร์เอเซียเป็นอย่างมากใครที่เจอปัญหาทำนองนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >