ฉบับที่ 124 เครื่องหมายสัญลักษณ์ แห่งความอร่อย ใช้ได้จริงหรือ...

 พูดถึงความอร่อย...ท่านผู้อ่านคงรู้แล้วสินะว่า ผู้เขียนต้องเขียนเรื่องเกี่ยวกับอาหารแน่นอน ใช่ !คุณทายถูก วันนี้เราจะคุยกันเรื่องอาหารอร่อย(หรือเปล่า?)ว่าไปประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่โชคดี   เพราะเรามีภูมิประเทศที่ดี มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นประเทศที่เป็นแหล่งผลิตอาหาร เราจึงรอดพ้นปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน    นอกจากไม่ขาดแคลนแล้วเรียกได้ว่ามีกินอย่างเหลือเฟืออีกต่างหาก  การที่มีมากเช่นนี้ทำให้เกิดการแข่งขันสูงมากเช่นกัน  ดังนั้นยุทธศาสตร์การโฆษณาสินค้า(อาหาร)ทั้งกลวิธี ยุทธวิธีที่ทันสมัยจึงถูกนำมาใช้สื่อสารกับประชาชนแบบท่วมท้นทะลักทลาย ทั้งนี้ก็เพื่อแข่งขันกันหาลูกค้าเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจและผลกำไรวันก่อนมีคุณพี่คนหนึ่ง เป็นผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูป(ปลาหยอง) อันเป็นกลุ่มอาชีพในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้มาคุยให้ฟังว่า   มีคนโทรมาติดต่อและแนะนำตัวว่าเป็นเจ้าของสัญลักษณ์สินค้าอร่อย.. ชื่อ “ช้อนทองชวนทาน” แล้วบอกว่าได้ซื้อสินค้าปลาหยองจากร้านค้าร้านหนึ่งในกรุงเทพฯ ไปรับประทาน แล้วบอกว่าอร่อยมาก  ต่อจากนั้นก็ได้บอกต่ออีกว่า “ช้อนทองชวนทาน” ของเธอนั้นได้จดทะเบียนไว้กับพาณิชย์(เขาหมายถึงกระทรวงพาณิชย์) มาสิบหกปีแล้ว   ถ้าใครเอาสัญลักษณ์ของเธอไปติดสินค้า สินค้านั้นจะขายดีขึ้น  หากตกลงเธอจะรีบส่งตราสัญลักษณ์มาให้แต่มีข้อแม้ว่าผู้ผลิตต้องจ่ายเงินค่าตราสัญลักษณ์นั้นให้เจ้าของตราสินค้าก่อน    คุณพี่ผู้ผลิตของเราเขาไหวพริบดีเลยตอบกลับไปว่า เอ๊ะ! ก็คุณบอกเองว่าปลาหยองของเราอร่อยอยู่แล้ว   และเราก็ได้ อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้ว ทำไมต้องเสียเงินเพื่อซื้อสัญลักษณ์ของคุณ   เจ้าของสัญลักษณ์ก็เลยวางสายไป ที่นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังเพื่ออยากจะสื่อสารกับผู้บริโภคว่า ไอ้เจ้าตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มีทั้งแม่นั่นชิม แม่นี่รำต่างๆ มันน่าเชื่อถือแค่ไหน? หากมีการนำตราสัญลักษณ์เหล่านี้มาซื้อ-ขายในเชิงธุรกิจ โดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ   เช่นรายที่เล่าให้ฟังนี้บอกขายสัญลักษณ์กันตรงๆ เลย โดยไม่ต้องลงไปตรวจแหล่งผลิต ไม่ต้องดูกรรมวิธีการผลิตใดๆ ชิมแล้วอร่อยบอกขายตราสัญลักษณ์กันเลยอย่างนี้   ถ้าเจ้าช้อนทองชวนทานนี้ มีกระทรวงพาณิชย์รับรองจริงอย่างที่กล่าวอ้าง ก็วานกระทรวงพาณิชย์ช่วยดูแลหน่อยเถอะ ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเหนื่อยใจ ผู้บริโภคอย่างเราๆ มันยิ่งหาที่พึ่งยากเสียด้วย  โน่น...คงต้องรอองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่กำลังถูกแช่อยู่ในชั้นวุฒิสภา(เมื่อประกาศยุบสภาการพิจารณากฎหมายต้องหยุดจนกว่าจะมีสภาใหม่) ก็ได้แต่หวังไว้เพียงว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาคงจะยืนยันกฎหมายฉบับนี้ให้สามารถเดินหน้าต่อไปและมีผลบังคับใช้โดยเร็วรอลุ้นกันนะว่าใคร พรรคใดจะมาสานต่อเรื่องนี้ที่เรารอมา 14 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ไอเสียรั่วในรถโตโยต้า อินโนว่า ศาลสั่งเปลี่ยนรถใหม่ให้ผู้บริโภค

 ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาสั่ง โตโยต้าเปลี่ยนรถใหม่ให้ผู้บริโภค เหตุเชื่อว่ารถมีความบกพร่องก่อนส่งมอบให้ผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 759,850 บาท หลังฟ้องศาลผู้บริโภค 1 ปีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน คุณสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล กับบุตร 3 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 เป็นคดีผู้บริโภค เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท สาเหตุที่ฟ้องร้องกันเนื่องจาก คุณสุภาภรณ์ได้ซื้อรถยนต์โตโยต้า รุ่นอินโนว่า แต่ปรากฏว่ามีไอเสียจากเครื่องยนต์รั่วเข้ามาในห้องโดยสารทำให้คุณสุภาภรณ์และบุตรซึ่งใช้รถคันนี้ไปรับส่งลูกที่โรงเรียนเป็นประจำมีสุขภาพย่ำแย่ไปตามๆ กันจุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้น เมื่อประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 คุณสุภาภรณ์ไปเที่ยวงานมหกรรมรถยนต์ที่ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี และได้ตกลงซื้อรถยนต์โตโยต้า อินโนว่า ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลกับบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด ต่อมาได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวมาเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ใช้งานตามปกติวิสัยรวมทั้งใช้รับส่งลูกทั้งสามไป-กลับโรงเรียนเช้า-เย็นตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ เท่ากับว่าคุณสุภาภรณ์กับลูกๆ ต้องอยู่ในรถยนต์คันดังกล่าววันละประมาณ 5-6 ชั่วโมงหลังจากนั้นไม่นาน คุณสุภาภรณ์เริ่มรู้สึกว่า มีกลิ่นคล้ายกลิ่นจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้แจ้งกับพนักงานขายของบริษัท โตโยต้า ธนบุรีฯ พนักงานก็แจ้งว่าเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งคุณสุภาภรณ์ไม่เคยใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลมาก่อน จึงไม่ทราบว่าว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ คุณสุภาภรณ์ใช้รถยนต์คันนี้ (ร่วมกับกลิ่นท่อไอเสีย) จนครบระยะ 50,000 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 จึงได้นำรถยนต์เข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์ของโตโยต้า โดยแจ้งกับพนักงานว่า มีกลิ่นควันคล้ายกลิ่นท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร พนักงานแจ้งว่า เป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและแนะนำให้คุณสุภาภรณ์ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศไปแล้วแต่กลิ่นดังกล่าวก็ยังไม่หายไป และเริ่มมีคราบเขม่าเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้นำรถกลับไปให้ศูนย์ดูอีกหลายครั้งก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิมว่า “ไม่เป็นไร เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล”ยิ่งใช้รถไปรอยคราบเขม่าในห้องโดยสารยิ่งชัดยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.2552 จึงได้มีการนัดตรวจรถยนต์คันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการตรวจสอบว่ามีควันพิษของท่อไอเสียรั่วไหลอยู่ในห้องโดยสารของรถจริงหรือไม่ โดยทำการตรวจวัดประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้วิธีขับรถยนต์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนำรถยนต์อีกยี่ห้อหนึ่งมาเปรียบเทียบกับรถของคุณสุภาภรณ์ ผลปรากฏว่า พบค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์ในห้องโดยสารรถยนต์ของคุณสุภาภรณ์สูงถึง 16 พีพีเอ็ม ส่วนรถยนต์ยี่ห้อที่นำมาเปรียบเทียบตรวจไม่พบก๊าซดังกล่าวคุณสุภาภรณ์ มาทราบภายหลังว่า รถยนต์ที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2547 มีก๊าซอันตรายและเขม่าจากไอท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนและลูกทั้งสาม จึงหยุดใช้รถยนต์คันนี้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในเวลาต่อมา ผลของคำพิพากษาวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 ศาลแพ่งธนบุรีออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดี ซึ่งได้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานการนำสืบของฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจแล้ว เห็นว่า จำเลย(โตโยต้า)ไม่สามารถพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงและสาเหตุของปัญหาไอเสียเครื่องยนต์ที่รั่วเข้ามาในห้องโดยสารได้ว่า เหตุของไอเสียเกิดจากสภาพการใช้งานของผู้บริโภคไม่ได้เกิดจากปัญหาการผลิต ทำให้เชื่อได้ว่า รถยนต์คันพิพาทมีความชำรุดบกพร่องมาตั้งแต่บริษัทโตโยต้า ธนบุรี จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ให้แก่คุณสุภาภรณ์ และไม่ได้เกิดจากการใช้งานของคุณสุภาภรณ์แต่อย่างใด ดังนั้นบริษัทโตโยต้า ธนบุรี จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จำหน่าย และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ผลิต นำเข้า จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานพิพากษาให้บริษัททั้งสอง เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ที่เป็นรุ่นเดียวกับที่ขายให้กับคุณสุภาภรณ์ หรือไม่ก็ซื้อรถยนต์คันที่มีปัญหาคืน ในราคา 759,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น และยังสั่งให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้บริโภคอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 หรือวันที่คุณสุภาภรณ์รู้ว่าในรถมีควันพิษและหยุดใช้รถ“รู้สึกพอใจกับคำพิพากษามากและรู้ว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง ซึ่งกฎหมายผู้บริโภคเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ จึงอยากฝากบอกกับผู้บริโภคที่มีปัญหาว่าให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายเหมือนดิฉัน” คุณสุภาภรณ์กล่าว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 เขียนจดหมายสองฉบับ ช่วยสร้างบ้านให้เสร็จได้

“เหนือกว่า...ด้วยประสบการณ์”สโลแกนรับจ้างสร้างบ้านของซีคอนโฮมที่ดำเนินการโดยบริษัท ซีคอน จำกัด น่าจะสร้างความประทับใจให้กับคนอยากมีบ้านหลังงามบนที่ดินของตัวเองหลายคน และสองแม่ลูกอย่างคุณชไมพรและคุณแม่เพียงพร ก็น่าจะรวมอยู่ในคนจำนวนนั้นด้วย ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551 คุณชไมพรพร้อมคุณแม่ได้ไปทำสัญญารับเหมาก่อสร้างบ้านกับบริษัท ซีคอน จำกัด ให้สร้างบ้านหนึ่งหลังบนที่ดินของตัวเองเนื้อที่ 52 ตารางวาเศษ โดยซีคอนตกลงจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน คิดค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าแรง รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เบ็ดเสร็จแล้วอยู่ที่ 5.1 ล้านบาทเศษๆสองแม่ลูกต้องวางเงินในวันทำสัญญาจำนวน 7 แสนบาทเศษ ส่วนที่เหลืออีก 4.3 ล้านบาท สัญญากันว่าจะแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ อีก 6 งวดตามความก้าวหน้าของเนื้องานก่อสร้าง และหากบริษัทฯ ทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดโดยที่มิใช่ความบกพร่องของผู้ว่าจ้าง หรือเหตุสุดวิสัย บริษัทฯ ยินยอมให้ปรับได้วันละ 1 พันบาทเศษต่อมาผู้รับเหมาก่อสร้างของบริษัทฯ ได้ทำการสร้างบ้าน และมีการชำระเงินตามงวดสัญญาเรื่อยมา แม้บางช่วงจะเจอปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน แต่บริษัทซีคอนก็ได้จัดหาผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการแก้ไขและสร้างบ้านต่อไปได้ ต่อมาคุณชไมพรเริ่มพบปัญหาการก่อสร้างเกิดขึ้นในหลายๆ จุด ทั้งงานโครงสร้าง งานผนัง งานสี งานไม้ ที่มีรอยแยก รอยแตก รอยปูด รอยบวม เห็นแล้วให้กลุ้มใจ จึงต้องแจ้งให้บริษัททราบและให้ผู้รับเหมาแก้ไข ในขณะที่ผู้รับเหมาทำบ้านไปซ่อมไปนั้น บริษัทฯ ก็ร้องขอให้คุณแม่ของคุณชไมพรชำระค่างวดตามสัญญาเรื่อยมาจนถึงงวดที่ 6 งวดสุดท้าย คุณแม่ของคุณชไมพรก็เห็นใจผู้รับเหมาที่ต้องได้เงินไปจ่ายลูกน้อง จึงชำระเงินงวดที่ 6 แล้วเซ็นชื่อรับงานให้ไป โดยยังมีเงินค่างวดค้างอยู่อีก 26,900 บาท กะว่าจะจ่ายเมื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่แจ้งไปก่อนหน้านั้นให้เรียบร้อย ซึ่งต่อมาได้มีหนังสือมาจากบริษัทฯ แจ้งว่าแม้พ้นระยะเวลาการมอบบ้านไปแล้ว บริษัทฯ ยังยินดีที่จะแก้ไขงานให้เป็นกรณีพิเศษ แต่ปรากฏว่าแทนที่จะมีการแก้ไขงานให้เรียบร้อยกลับถูกบริษัทฯ ยื่นจดหมายทวงเงินที่ค้าง หากไม่จ่ายจะส่งเรื่องให้กฎหมายดำเนินการต่อไปพอคุณชไมพรได้รับจดหมายดังกล่าวก็ตกใจ รีบเดินทางมาปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันที แนวทางแก้ไขปัญหาการว่าจ้างก่อสร้างบ้าน มักจะทำสัญญาแบ่งจ่ายเงินกันเป็นงวดๆ โดยใช้ความคืบหน้าของงานเป็นตัววัดผลว่าจะต้องจ่ายงวดต่อไปหรือไม่ ดังนั้นผู้ว่าจ้างจึงต้องติดตามความคืบหน้าของงานตามงวดสัญญาอย่างละเอียด หากพบว่างานส่วนไหนไม่เรียบร้อยจะต้องแจ้งรายละเอียดของปัญหาให้ผู้รับเหมาทราบและแก้ไขทันที โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น เอกสารนี้จะใช้เป็นหลักฐานคุ้มครองผู้ว่าจ้างในกรณีที่ไม่ชำระเงินค่างวด และทำให้ผู้รับเหมาต้องดำเนินการก่อสร้างให้เรียบร้อยตามสัญญาเพื่อจะได้รับเงินค่างวดตามสัญญาต่อไปแม้คุณแม่คุณชไมพรจะเซ็นรับงานและชำระเงินงวดสุดท้ายไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่เมื่องานยังไม่เรียบร้อยและยังมีหนังสือจากบริษัทฯ รับรองว่าจะแก้ไขงานให้เป็นกรณีพิเศษ เราจึงแนะนำให้คุณชไมพรทำหนังสือทักท้วงแจ้งไปที่บริษัทฯ เพื่อขอให้มาแก้ไขงานให้เรียบร้อยก่อนที่จะชำระเงินที่เหลือกันหลังได้รับคำแนะนำคุณชไมพรจึงได้ทำหนังสือทักท้วงทวงถามงานแก้ไขส่งไปที่บริษัทฯ ทันที ไม่นานเราก็ได้รับข่าวดีแจ้งจากคุณชไมพรว่า “วันนี้ผู้คุมงานมาพร้อมช่างเพื่อเก็บงานต่อค่ะ และบอกว่าจะมาอีกในวันอังคารหน้า คำแนะนำและร่างจดหมายฉบับนี้และฉบับก่อนหน้า ช่วยปกป้องสิทธิผู้บริโภคได้มากเลยค่ะ ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ”ถามว่า ถ้าไม่มีการส่งจดหมายทักท้วงเอาแต่โวยวายกันทางโทรศัพท์ ใส่ด้วยอารมณ์ล้วนๆ ก็จะเข้าทางผู้รับเหมาทันทีว่า บ้านนั้นสร้างเสร็จเรียบร้อยได้มาตรฐานดีแล้วเพราะคุณชไมพรและคุณแม่ไม่ได้เขียนตอบจดหมายทักท้วงกลับมา กลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ อย่างนี้บ้านก็ไม่ได้ซ่อม ตัวเองก็ถูกฟ้อง และเงินก็ต้องจ่ายเต็มๆในท้ายที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 กู้แบงค์ผ่าน แต่คุณภาพบ้านไม่ผ่าน อยากบอกเลิกสัญญาขอเงินค

  เป็นปัญหาเรื่องบ้านๆ ที่ฉีกไปอีกมุม แต่น่าสนใจไม่แพ้ในหลายเรื่องที่เคยนำเสนอไปคุณสุปราณี ส่งแฟกซ์ขอคำปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมาเธอเล่าว่า เมื่อประมาณวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 ได้เข้าไปดูตัวอย่างบ้านที่โครงการโฮมการ์เด้นวิลล์-บายพาส ของบริษัท อิมเมจ พร็อพเพอร์ตี้ ทู จำกัด ซึ่งตั้งสำนักงานขายอยู่ที่ถนนรัตนพิธาน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาดูแบบบ้านตัวอย่าง เห็นรายการของแถมต่างๆ พิจารณาราคาบ้านและที่ดินตก 1.6 ล้าน แถมโครงการยังมีสัญญาที่มีเงื่อนไขว่า หากกู้ธนาคารไม่ผ่าน 90% ของราคาบ้านและที่ดิน โครงการยินดีคืนเงินจองเงินทำสัญญาให้ลูกค้าทันทีคุณสุปราณีเธอปิ๊งทันทีครับ เห็นสัญญาและเงื่อนไขแบบนี้ จึงตกลงวางเงินจองเงินทำสัญญารวม 40,000 บาทในวันนั้นทันทีคุณสุปราณี คงเป็นคนที่มีเครดิตดีมากในสายตาของธนาคาร เพราะผลการอนุมัติเงินกู้จากธนาคารผ่านเกิน 90% ของราคาบ้านและที่ดิน จึงโทรไปแจ้งโครงการเพื่อนัดโอนบ้านในช่วงบ่ายของวันที่ 27 มกราคม 2554 และไม่ลืมแจ้งกับโครงการว่าจะขอเข้าตรวจเช็คสภาพความเรียบร้อยของบ้านก่อนในช่วงเช้าของวันที่นัดหมายโอนบ้านการขอดูความเรียบร้อยของบ้านก่อนโอนถือเป็นความรอบคอบที่คุ้มค่ามาก ในวันที่ 25 มกราคมก่อนถึงวันโอนบ้าน 2 วัน คุณสุปราณีไปเซ็นสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพื่อเตรียมจ่ายเช็คให้กับโครงการตามวันที่นัดไว้ แต่พอได้ไปดูสภาพบ้านในช่วงเช้าของวันโอน ก็ต้องร้องโอย...เพราะสภาพบ้านยังไม่เรียบร้อย ช่างไม่มีการเก็บงานและยังไม่ติดตั้งของแถมให้ตามเงื่อนไข ตัดสินใจเซย์โนไม่โอนบ้านทันที วันรุ่งขึ้นโทรศัพท์ไปแจ้งเซลล์ว่าขอยกเลิกไม่โอนบ้าน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เดินทางเข้าไปเซ็นเอกสารขอเงินค่าทำสัญญาคืน แต่พอถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เซลล์โทรมาแจ้งว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว และไม่คืนเงินทั้งหมดให้คุณสุปราณีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเสียความรู้สึกไปตั้งแต่ทีแรกแล้วกับการดำเนินการของโครงการ แนวทางแก้ไขปัญหาการที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อยได้ในระยะเวลาที่กำหนดกันไว้ตามสัญญา แม้จะหลุดไปเพียงแค่วันหรือสองวัน ผู้บริโภคมีสิทธิใน 2 ทางเลือก คือ จะรับโอนบ้านหรือยืนยันบอกเลิกสัญญาขอเงินจองเงินทำสัญญาคืนก็ได้เข้าใจว่า คุณสุปราณี เธอคงไม่แน่ใจในคุณภาพบ้านว่าจะเรียบร้อยจริงหรือเปล่าตามที่เซลล์บอกมา และไม่อยากเสียเวลากับโครงการ จึงยืนยันเจตนาที่จะขอบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่าทำสัญญาคืน เราจึงแนะนำให้ทำจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืนแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการฝั่งผู้ประกอบธุรกิจไปให้ชัดแจ้ง พร้อมเขียนท้ายจดหมายว่าสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยไม่ต้องไปส่งด้วยตัวเอง แต่ให้ใช้วิธีส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปไม่นาน...คุณสุปราณีก็ได้รับเงินคืนตามข้อเรียกร้องเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับฝั่งผู้ประกอบธุรกิจว่า “สัญญาต้องเป็นสัญญา” ถ้าไม่รักษาสัญญากับผู้บริโภคที่มีความฉลาดขึ้น รับประกันว่าขายสินค้าไม่ได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 โนเกียราคาเป็นหมื่น ซื้อใช้แค่ 11 วัน เจ๊ง!

คุณบุญเลิศ ฉลองปีใหม่ให้กับตัวเองด้วย โนเกีย C7-00 มือถือหน้าจอสัมผัส ซื้อด้วยเงินสดในราคา 13,950 บาทวันที่ไปซื้อนั้นเป็นวันที่ 2 มกราคม 2554 หลังวันขึ้นปีใหม่หนึ่งวัน โดยไปซื้อจากร้านจำหน่ายมือถือของบริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด ซึ่งมีสาขาอยู่บนชั้น 3 ของห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า แต่คุณบุญเลิศมีโอกาสใช้งานมือถือเครื่องนี้ได้เพียงแค่ 11 วันเท่านั้น เพราะในวันที่ 13 มกราคม ปรากฏว่าเครื่องเปิดใช้งานไม่ได้ จอภาพดับสนิทคุณบุญเลิศ จึงเดินทางออกจากบ้านพักที่คลองหลวง ปทุมธานี มาที่ร้านที่ซื้อมือถือมาซึ่งอยู่ที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า“เอ่อ...เครื่องมันจอดับเลยครับ ขอเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้มั้ยครับ” คุณบุญเลิศถามด้วยน้ำเสียงเกรงใจเหมือนกับว่าไปยืมมือถือเขามาใช้“เอ่อ ไม่ได้หรอกค่ะ เพราะพี่ซื้อไปใช้เกิน 7 วันแล้ว เกินระยะเวลาที่เรารับประกันการเปลี่ยนคืนสินค้านะคะ” พนักงานขายยิ้มละไม ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำหลังจากนับนิ้วดูจำนวนวันแล้ว“แล้วอย่างนี้ จะทำอะไรได้บ้างครับ มือถือราคาเหยียบหมื่นสี่ แต่ใช้งานได้แค่ 10 วันเอง”“ก้อส่งซ่อมสิคะ พี่ติดต่อที่ศูนย์โนเกียได้เลย” พนักงานขายตอบ ก่อนหันไปคุยกับลูกค้าคนใหม่ ปล่อยคุณบุญเลิศที่ยืนกำมือถือจอดับให้ตัดสินใจว่าจะพาชีวิตไปทางไหนต่อไปเอาเองคุณบุญเลิศนั้นเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของเมืองไทย คือ “ว่านอนสอนง่าย” มาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว หลังบรรลุว่าถูกร้านขายมือถือปัดความรับผิดชอบแน่นอน ก็ไม่ได้โวยวายตีโพยตีพายอะไร ยอมทำตามคำแนะนำที่ไร้เยื่อขาดใย พามือถือไปส่งซ่อมที่ศูนย์บริการของโนเกียที่ห้างฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต ในทันที พนักงานที่ศูนย์บริการโนเกียได้ตรวจสอบแก้ไขเครื่องในวันนั้น ไม่นานก็บอกว่าใช้ได้แล้ว คุณบุญเลิศถามด้วยความสงสัยว่าเครื่องเสียเพราะเหตุอะไร ช่างซ่อมบอกด้วยความมั่นใจสมเป็นช่างผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์มือถือที่ได้มาตรฐานว่า “ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันครับ”คุณบุญเลิศรับมือถือกลับมาใช้งานด้วยอาการงงๆ แต่ก็ดีใจว่ามือถือไม่เป็นอะไรมากคิดในใจว่า “ช่างนี่เก่งจริงๆ ซ่อมมือถือได้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้สาเหตุ”จะเป็นเพราะความไม่รู้สาเหตุที่เครื่องเสียหรือเปล่าไม่ทราบแน่ เพราะต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ มือถือเกิดอาการจอดับ หลับสนิท ขึ้นมาอีก คุณบุญเลิศต้องพาเครื่องมือถือไปที่ศูนย์โนเกียอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการซ่อมที่ยาวนานเหมือนจะนานนิรันดร์สำหรับคุณบุญเลิศ เพราะนับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์เรื่อยมา เรื่องราวข่าวคราวการซ่อมมือถือโนเกียราคาเกือบหมื่นสี่ไม่มีความคืบหน้าเลยเป็นเวลาเกือบสองอาทิตย์จึงต้องนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่สินค้าที่ซื้อมานั้นเกิดความชำรุดบกพร่อง ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยที่มิใช่ความผิดของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าไปใช้งาน ไม่ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นผู้ขายสินค้าจะรู้มาก่อนหรือไม่ก็ตาม ผู้ขายสินค้าต้องรับผิดชอบในสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้น จะซ่อม จะเปลี่ยนคืน หรือคืนเงินให้กับลูกค้าก็ว่ากันไปแต่หากผู้ขายสินค้าไม่สนใจใยดี ห้ามผู้บริโภคปล่อยเรื่องนิ่งเฉยยาวนานเกินหนึ่งปี เพราะจะไม่สามารถฟ้องคดีบังคับให้ผู้ขายสินค้ารับผิดชอบได้ ตรงนี้เป็นข้อกฎหมายสำคัญที่ควรทราบกันดังนั้นแม้ผู้ขายสินค้าจะอ้างว่า ได้แปะป้ายแจ้งให้กับลูกค้าทราบอย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋แล้วว่าจะรับผิดชอบเปลี่ยนคืนสินค้าให้แค่ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ซื้อสินค้าไป แต่เมื่อพบว่าสินค้าที่ซื้อมานั้น เสียใช้งานไม่ได้ ซ่อมแล้ว แล้วก็ต้องซ่อมอีก เป็นอย่างนี้ ผู้บริโภคยังมีสิทธิที่จะขอเปลี่ยนสินค้าได้แม้จะเกิน 7 วันไปแล้วก็ตามเราได้แนะนำให้คุณบุญเลิศมีจดหมายไปถึงบริษัทโนเกียสำนักงานใหญ่ เพื่อเสนอทางเลือก 3 ทางคือ ให้รับผิดชอบซ่อมแก้ไขสินค้าโดยเร็ว หากซ่อมไม่ได้ให้เปลี่ยนสินค้าใหม่ หรือหากเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ไม่ได้ให้คืนเงินค่ามือถือโดยทันที มิเช่นนั้นผู้บริโภคอาจฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ ซึ่งสามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งราคาค่าสินค้า และค่าขาดโอกาสในการใช้มือถือดังกล่าวไม่นานหลังจากที่ได้ทำหนังสือตามคำแนะนำไป เราได้รับแจ้งจากคุณบุญเลิศว่า โนเกียได้ซ่อมสินค้าจนสามารถใช้งานได้เป็นปกติแล้ว โดยการเปลี่ยนชุดเมนบอร์ดของเครื่องใหม่ให้“ขอขอบพระคุณมูลนิธิฯ ที่ได้ให้คำแนะนำและติดตามเรื่องอย่างต่อเนื่อง ขอโทษที่ไม่ได้โทรมาแจ้งตอนนี้ มือถือใช้งานได้เป็นปกติมากว่า 2 เดือนแล้วครับ” คุณบุญเลิศกล่าวด้วยความสบายใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เพื่อชีวิต

จั่วหัวอย่างนี้ท่านผู้อ่านคงไม่คิดว่าผู้เขียนจะเขียนถึงบรรดาเพลงเพื่อชีวิตใช่มั้ย....เพราะเราจะเขียนเรื่องเพื่อชีวิตจริงๆ ที่เกิดขึ้น ณ ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าจังหวัดสมุทรสงครามพอดีวันนั้นผู้เขียนมีเหตุอันต้องพาผู้บาดเจ็บไปทำแผลที่นั่นพอดี  ส่งคนเจ็บเข้าห้องฉุกเฉินไปแล้ว ก็นั่งอ่านหนังสือรอเพื่อพาคนเจ็บกลับบ้าน นั่งได้สักพักก็ได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วยด้วยๆ ดังแว่วมาพร้อมกับเสียงบีบแตรรถดังตามมา เสียงนั้นดังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว  และสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นในโรงพยาบาลก็เกิดขึ้น  เมื่อมีรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างขับบุกขึ้นมาบนโรงพยาบาล(ขึ้นมาตามทางลาดสำหรับคนพิการ)บนรถมีผู้หญิงอุ้มเด็กพาดบ่าซ้อนท้ายมาด้วย  ปากก็ตะโกนร้องช่วยด้วยๆ และตื่นซิลูกๆ ตลอดเส้นทางมอเตอร์ไซด์ปรี่มายังห้องฉุกเฉิน  โดยไม่มีรปภ.และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคนใดมาขัดขวาง เรียกได้ว่าเข้ามาแบบโล่งๆ กันเลย   และพอถึงหน้าห้องฉุกเฉินก็มีภาพที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากคือพยาบาลในห้องฉุกเฉินเปิดประตูให้รถคันนั้นเข้าไปส่งเด็กที่ป่วยถึงในห้องฉุกเฉิน  ผู้เขียนนั่งตะลึง รู้สึกขณะนั้นว่า เฮ้ย..มันเกิดอะไรขึ้นเนี่ย...     ณ นาทีนั้นเห็นได้ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนออกมาบอกว่าเข้าไม่ได้ผิดระเบียบโรงพยาบาล แม้แต่ห้องฉุกเฉินก็ไม่กลัวเชื้อโรคที่ติดมากับรถแต่อย่างใดผู้เขียนเห็นสีหน้าแววตาของคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เขามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยชีวิตเด็กคนนั้นจริงๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงแต่ค่าโดยสาร เพราะเขาส่งเด็กแล้วเขาไม่ได้เรียกเงินค่าจ้าง ซ้ำยังยืนรอว่าเด็กที่เขาพามาจะรอดหรือไม่   ทุกฝ่ายมุ่งเพื่อชีวิตจริงๆ ทุกฝ่ายต่างมุ่งที่การช่วยชีวิตของเด็กคนนั้นเป็นสำคัญโดยไม่ยอมให้กฎระเบียบใดๆ มาขัดขวางการช่วยเหลือ  สรุปเด็กคนนั้นปลอดภัยผู้เขียนก็โล่งอกไปด้วย  ใครจะว่าเจ้าหน้าที่ละเลยปล่อยให้มอเตอร์ไซด์เข้าไปในห้องฉุกเฉินได้อย่างไรก็ตาม แต่ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งกับภาพที่เห็นอย่างบอกไม่ถูก  และพูดได้เลยว่านี่แหละสังคมไทยที่แท้จริง  คือเราต้องเอื้ออาทรกับความทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์ มากกว่าจะเอากฎระเบียบมาเป็นอุปสรรค    เห็นอย่างนี้แล้วไม่อยากเก็บไว้คนเดียวจึงเขียนมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นกำลังใจให้กันว่าสังคมไทยของเรายังอบอุ่นและยังมีความเอื้ออาทรต่อกัน   แม้สังคมไทยจะสับสนวุ่นวายแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างไร แต่คนไทยก็ยังเป็นคนไทยอยู่วันยังค่ำ เราไปเป็นคนอื่นไม่ได้วิถีเราเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นอย่างที่คนบางกลุ่มอยากให้เป็น ประเทศไทยเรายังมีเรื่องน่ารักๆอย่างนี้อีกมากมาย เรายังมีความหวังขอให้กำลังใจต่อคนทำดีและขอคารวะด้วยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 สินค้าใช้แล้วไม่ได้ผล ยูนิซิตี้ ยอมคืนเงินให้ลูกค้า

 เป็นเรื่องราวของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่เราให้ชื่อสมมติว่า “คุณนันทา” เราเคยลงรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 110 สำหรับเล่มนี้ขอนำเสนอความคืบหน้าที่ผู้บริโภคของเราได้แฮปปี้มีความสุขจากความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจ ความเดิมมีอยู่ว่า “คุณนันทา” ไปหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “เอนจูวิเนทพลัส” ของบริษัท ยูนิซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง(ไทยแลนด์) จำกัด จากตัวแทนขายตรงที่โฆษณาสรรพคุณว่า กินผลิตภัณฑ์นี้แล้วจะช่วยให้ลดริ้วรอยตีนกาบนใบหน้าได้ หากไม่ได้ผลยินดีคืนเงิน แต่พอใช้ไปกลับเกิดอาการแพ้และริ้วรอยตีนกาก็ไม่ได้ลบหายไปเลย คุณนันทาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ช่วยเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจำนวน 4,950 บาทคืนให้ด้วย ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่คิด แนวทางการแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังบริษัท ยูนิซิตี้ฯ เพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายตามจำนวนเงินที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนมา ซึ่งบริษัท ยูนิซิตี้ฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายมีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ มีใจความโดยสรุปว่า ผลิตภัณฑ์เอนจูวิเนทพลัสเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือของยูนิซิตี้จริง จำหน่ายในหลายประเทศ ยกเว้นประเทศไทยที่ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ไม่ได้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ตัวนี้แต่อย่างใด ยูนิซิตี้ยอมรับว่า สมาชิกขายตรงที่จำหน่ายสินค้าให้กับคุณนันทาเป็นสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้จริง  แต่การไปขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากยูนิซิตี้โดยใช้ชื่อของยูนิซิตี้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณการขายตรงอย่างร้ายแรง ทำให้ทั้งลูกค้าและบริษัทฯได้รับความเสียหาย ซึ่งบริษัทฯได้พิจารณามาตรการลงโทษสมาชิกขายตรงรายนี้ โดยอาจมีการให้พ้นจากสมาชิกภาพและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามสัญญาสมัครสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้และตามธรรมเนียมทางการค้าทั่วไปในการขายตรง ถือว่าสมาชิกขายตรงไม่ได้มีฐานะเป็นลูกจ้างของยูนิซิตี้ และบริษัทไม่มีความรับผิดร่วมกับสมาชิกขายตรงรายนี้ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ยังอ้างข้อกฎหมายเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทไม่ต้องมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้จัดจำหน่ายโดยบริษัท อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์จะเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับบริษัทยูนิซิตี้ในต่างประเทศซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการคืนเงินให้กับคุณนันทาต่อไป อีกทั้งยินดีให้ความร่วมมือในการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกขายตรงที่ก่อความเสียหายให้กับคุณนันทา  รวมถึงยินดีไปให้ปากคำเป็นพยานหากมีการดำเนินคดีต่อสมาชิกตรงรายนี้ด้วยเช่นกัน ในเวลาต่อมาเราได้รับแจ้งจากคุณนันทาว่า บริษัทยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ได้โอนเงินจำนวน 4,950 บาทที่เป็นราคาสินค้าที่จ่ายไปให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนความเสียหายอื่นๆนั้นคุณนันทาไม่ติดใจเอาความ พร้อมทั้งขอสมัครเป็นสมาชิกฉลาดซื้อ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและครอบครัวอีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ไอโฟนรุ่นพิเศษ ผ่อนไปซ่อมไป

คุณกีรติ ใช้บัตรอิออนไปเช่าซื้อไอโฟน 3G เครื่องมือสอง ราคา 18,900 บาท ที่ร้านเจมาร์ทสาขาบิ๊กซี พัทยาเหนือ ใช้งานได้เพียง 6 วันโทรศัพท์ก็เสีย คุณกีรติจึงนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้าน “ผมแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการคืนสินค้า เพราะยังอยู่ในระยะเวลาเปลี่ยนหรือคืนสินค้าใน 7 วัน แต่ทางร้านไม่รับคืนและไม่เปลี่ยนเครื่องให้ บอกว่าถ้าจะให้ซื้อคืนจะรับซื้อในราคา 9,000 บาทเท่านั้น และไม่มีเครื่องเปลี่ยนให้ ผมเลยต้องยอมให้ทางร้านนำเครื่องไปซ่อมจนกว่าจะใช้ได้” ผ่านไปเดือนกว่าโทรศัพท์ก็ยังซ่อมไม่เสร็จเสียที ขณะที่ใบแจ้งหนี้จากอิออนก็มีมาเรียกเก็บแล้ว โดยคุณกีรติจะต้องผ่อนทั้งหมด 12 งวดๆละ 1,841 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 22,000 กว่าบาท ในขณะที่ใช้โทรศัพท์ได้เพียงแค่ 6 วันเท่านั้น “ผมแจ้งให้อิออนทราบ อิออนแจ้งว่าจะช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า ซ้ำยังมีบิลเรียกเก็บเงินค่างวดที่ 2 พร้อมกับค่าติดตามอีก โทรไปที่คอลเซนเตอร์ของอิออน ก็บอกให้ผมไปตกลงกับทางร้านเอง” “ผมน่ะไปตกลงกับทางร้านหลายครั้งแล้วว่าต้องการคืนสินค้า เพราะสินค้าไม่มีคุณภาพแต่ทางร้านเจมาร์ทก็ไม่ยอมและไม่ทำเรื่องยกเลิกสัญญาซื้อขายให้ เดี๋ยวก็คงจะมีค่างวด 3 งวด 4 ตามมาอีก ผมไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับความเป็นธรรมครับ” คุณกีรติร้องถามอย่างน่าเห็นใจ แนวทางแก้ไขปัญหา ใครที่ใช้บัตรเครดิตไปทำสัญญาเช่าซื้อผ่อนสินค้า ขอให้รู้ว่า สัญญาของบัตรเครดิตนั้นเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งให้ความคุ้มครองกับผู้ใช้บัตรเครดิตในกรณีที่ใช้บัตรเครดิตไปซื้อหรือผ่อนสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่เวลาที่กำหนด หรือได้รับสินค้าแต่สินค้านั้นเสียหรือไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ประสงค์ ผู้ใช้บัตรมีสิทธิบอกเลิกสัญญาการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้านั้นได้ทันทีและมิต้องชำระเงินให้กับบัตรเครดิตแต่อย่างใด แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ในข้อสัญญาเหล่านี้เพราะทางบัตรเครดิตถ้าลูกค้าไม่ถามก็มักจะไม่แจ้งให้ลูกค้าของตนทราบ เพราะอยากได้เงินจากลูกค้ากันทั้งนั้น วิธีแก้นั้นง่ายมากครับ ขั้นที่หนึ่ง คือ ให้ผู้บริโภคทำจดหมายส่งถึงร้านค้าที่ขายสินค้าแจ้งถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าและขอคืนสินค้า พร้อมทั้งส่งสินค้าคืนให้กับทางร้านค้าไปพร้อมกับจดหมายฉบับดังกล่าว ขั้นที่สองให้มีจดหมายอีกฉบับแจ้งไปที่บริษัทบัตรเครดิต เรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องใช้งานไม่ได้ ไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินใดๆ ทำจดหมายเสร็จแล้วให้ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับ แล้วเก็บใบตอบรับพร้อมสำเนาจดหมายไว้เป็นหลักฐาน เท่านี้ก็จะทำให้บริษัทบัตรเครดิตไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อีกต่อไป หากบริษัทบัตรเครดิตได้ชำระเงินให้กับร้านค้าไปแล้ว ก็ถือเป็นหน้าที่ของบริษัทบัตรเครดิตที่จะไปทวงถามตามเอาเงินของตนที่จ่ายไปคืนเอง สำหรับปัญหาของคุณกีรตินั้น เมื่อได้ทำจดหมายส่งไปถึงร้านเจมาร์ทและบริษัทบัตรเครดิต ไม่นานร้านเจมาร์ทต้องแจ้นส่งเครื่องใหม่เอี่ยมเปลี่ยนมาให้คุณกีรติใช้งานทันทีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องคืนเงินค่าโทรศัพท์ให้กับอิออนนั่นเองคุณกีรติแอบยิ้มให้กับตัวเอง “ไหนว่าไม่มีเครื่องเปลี่ยนไงฟะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 คอนโดโครงการไม่ขึ้น ยังต้องผ่อนต่อหรือไม่

คุณอรรถวิทย์ ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ทำสัญญาจองห้องชุดกับโครงการบางกอกคานส์ คอนโดมิเนียม ของบริษัท คอนคอร์ด พร็อพเพอร์ตีส์ กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด ห้องชุดที่จะซื้อจากโครงการนี้ ราคาตกที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท ผู้ที่จะเข้าจองต้องชำระเงินจองในวันทำสัญญา 5,000 บาท คุณอรรถวิทย์เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่ต้องการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 พร้อมชำระเงินก้อนแรก 7 หมื่นบาทเศษ และต้องผ่อนเงินดาวน์ไปอีก 30 งวดๆละ 7,600 บาท คุณอรรถวิทย์ผ่อนไปได้ 15 งวด ก็ไม่เห็นว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกันสักที เห็นท่าไม่ดีคุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือแจ้งระงับการผ่อนชำระงวดที่ 16 ในเดือนพฤษภาคม 2552 หลังจากนั้นก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าบริษัทจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ คุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือยืนยันปฏิเสธการชำระค่างวดเงินดาวน์ที่เหลือทั้งหมดในเดือนกันยายน 2552 จนถึงปลายปี 2553 โครงการก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยเหลือติดตามเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดแนวทางแก้ไขปัญหา เราได้ติดต่อสอบถามไปที่พนักงานขายของโครงการบางกอกคานส์ ทราบความว่า การที่โครงการไม่สามารถก่อสร้างเพิ่มเติมได้ เนื่องจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินมีปัญหา และการขอก่อสร้างยังไม่ได้รับอนุญาต โครงการฯ จึงติดขัดไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และการคืนเงินให้กับผู้บริโภคนั้น บริษัทฯ กำลังดำเนินการอยู่ แต่อยู่ระหว่างการขออนุมัติเงินจากสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง กรณีที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดหรือบ้านจัดสรรไปแล้วและต้องรับภาระจ่ายค่างวดเงินดาวน์ หากผู้บริโภคพบวี่แววว่าการจ่ายค่างวดต่อไปในขณะที่โครงการฯ ไม่มีวี่แววว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิบอกกล่าวระงับการจ่ายเงินค่างวดได้ทันที โดยให้ทำเป็นจดหมายบอกกล่าวเหมือนอย่างที่คุณอรรถวิทย์ได้แจ้งให้กับบริษัทโครงการคอนโดรับทราบ ไม่ใช่ไปหยุดจ่ายค่างวดเอาเฉยๆ อย่างนั้นจะกลายเป็นผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกฟ้องได้ เมื่อทำจดหมายระงับการจ่ายค่างวดไปแล้ว และยังพบต่อมาว่าโครงการไม่เดินหน้าต่อไปได้อีก การเรียกจะเงินที่ได้จ่ายไปคืนนั้น ก็ให้ทำจดหมายขึ้นอีกหนึ่งฉบับ คราวนี้เป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืน ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทโดยตรง เท่านี้ฝั่งผู้บริโภคก็จะมีหลักฐานปกป้องตัวเองได้อย่างครบถ้วน การทำจดหมายที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้คุณอรรถวิทย์ได้รับเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดจากบริษัทฯ ในเวลาต่อมาโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความฟ้องเป็นคดี ใครที่เจอกปัญหาลักษณะเดียววันนี้ นำวิธีนี้ไปใช้โดยด่วน หากปล่อยไว้จะกลายเป็นว่าเราเป็นฝ่ายยอมให้เขาก่อสร้างล่าช้าเสียเอง จะทำให้เสียสิทธิในการเรียกค่าเสียหายเอาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 รถมือสองถูกปรับแก้ไมล์หลอกขายผู้บริโภค

คุณณัฐสุดา ได้ติดต่อซื้อรถยนต์มือสองยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นปี 2006 ผ่านทางเว็บไซต์ตลาดรถดอทคอม ผู้ประกาศขายรถคือนายณรงค์ศักดิ์ ลงโฆษณาว่าเป็นรถบ้านเจ้าของขายเอง และแจ้งว่ารถใช้งานวิ่งได้ระยะทางเพียงแค่ 75,000 กิโลเมตร “เมื่อดิฉันได้ไปดูสภาพรถ ปรากฏเลขไมล์ที่ระยะทางประมาณ 76,000 กิโลเมตร ก็ได้ต่อรองราคาจากราคาโฆษณา 820,000 บาท เหลือราคา 815,000 บาท” หลังจากนั้นคุณณัฐสุดาได้ติดต่อขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง จนสามารถทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม 2553 และมีการรับมอบโอนกันเรียบร้อยที่ขนส่งทางบก กรุงเทพฯ คุณณัฐสุดาจึงนำรถกลับบ้าน ต่อมาในเดือนมกราคม 2554 รถมีปัญหาเร่งไม่ขึ้นและสัญญาณเตือนถอยหลังไม่ทำงาน คุณณัฐสุดาจึงนำรถไปเข้าศูนย์โตโยต้าที่จังหวัดปทุมธานี ช่างได้ทำการตรวจเช็คและมาแจ้งคุณณัฐสุดาว่า รถถูกปรับแก้ไมล์จากระยะทางจริงคือ 240,000 กิโลเมตร/ไมล์ และรถต้องทำการเปลี่ยนซ่อมหลายอย่าง ความลับของรถยนต์ที่ถูกเปิดเผยทำให้คุณณัฐสุดา ต้องจ่ายค่าซ่อมไปร่วม 2 หมื่นกว่าบาท คุณณัฐสุดาได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่นายณรงค์ศักดิ์ผู้ขายรถ แต่นายณรงค์ศักดิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ คุณณัฐสุดาจึงต้องร้องเรียนมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มีหลักฐานค่าหนังคาเขา ว่ารถถูกปรับแก้ไมล์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ให้คำแนะนำแก่คุณณัฐสุดาว่า สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้ คุณณัฐสุดาบอกว่าจะลองให้โอกาสแก่ผู้ขายอีกสักครั้งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบ หากไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จะใช้สิทธิฟ้องร้องอย่างแน่นอน พอคุณณัฐสุดาบอกว่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคและฟ้องเป็นคดีอาญาด้วยที่หลอกขายสินค้าแน่ๆ หากไม่รับผิดชอบ ทางผู้ขายจึงเสนอที่จะชดใช้เงินให้จำนวน 1 แสนบาท คุณณัฐสุดาจึงตกลงและได้รับเงินชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

อ่านเพิ่มเติม >