ฉบับที่ 117 สื่อลามกกับ 3G เอาไงกันดี

ขณะที่ผู้เขียนนั่งเขียนบทความนี้ เรื่องที่ศาลมีคำสั่งว่า กทช. ไม่มีอำนาจจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G  อันเป็นเหตุให้การประมูล 3G เป็นอันชะงักไป  และทำให้แฟนคลับที่รอคอย ฝันค้างไปตามๆ กัน  เพราะหลายคนคิดว่าประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาการสื่อสารให้เท่าเทียมนานาอารยะประเทศไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย  แต่...มีวันหนึ่งผู้เขียนนำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์รถบริษัทหนึ่ง และมีโอกาสหยิบหนังสือดารา(ไม่เคยอ่านหนังสืออย่างนี้)ที่ชื่อทีวีพูลมาอ่าน  อ่านไปๆ ก็ไม่มีอะไรมีแต่เรื่องราวของดาราก็อ่านไปเพลินๆ จนถึงท้ายเล่ม  เห็นแล้วรู้สึกตกใจมาก  เฮ้ย...นี่มันอะไรกัน เพราะหลายแผ่นด้านหลังซึ่งเป็นภาพสี่สีสวยงาม มีแต่การโฆษณาเชิญชวนให้โหลดคลิปโป๊ มีทั้งภาพพร้อมคำบรรยาย เร่าร้อนประกอบ ทั้งคลิปร่วมเพศ ชายรักชาย หญิงกับหญิง ชาย-หญิง ภาพโป๊เปลือยมากมาย ทั้งภาพจริงภาพการ์ตูน เห็นแล้วตกใจมากนี่เขาเล่นกันอย่างนี้เลยหรืออดไม่ไหวเลยไปหยิบอีกหลายเล่มมาดู ทั้งหนังสือกอสซิป ดาราภาพยนตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับดารามากมาย ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่ คู่สร้าง- คู่สม  และการ์ตูนขายหัวเราะเชื่อว่าการ์ตูนอื่นๆ ก็น่าจะมี(ขออภัยหนังสือที่เอ่ยชื่อไปคือที่เห็น ณ วันนั้น)   นี่มันอะไรกัน...หนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่ตลาดของหนังสือเหล่านี้อยู่ที่กลุ่มเยาวชนทั้งนั้น หนังสือเหล่านี้เขาต้องการสื่อสารอะไรกับเยาวชนเนี้ย...ตอนที่เห็นครั้งแรกบอกตรงๆ ว่ารู้สึกโกรธหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้มาก...  โดยเฉพาะเจ้าของหนังสือที่เราขอประณามว่า “ขาดจิตสำนึกของคำว่าสื่ออย่างสิ้นเชิง”   เพราะการลงโฆษณาเยี่ยงนี้ ไม่เกิดผลดีกับฝ่ายใดเลย  มีแต่ส่งผลร้ายต่อเยาวชนและสังคม  จึงกลับมาคิดว่าการประมูล 3G ยังไม่เกิดก็ดีเหมือนกัน  เพราะประเทศไทย ไม่เคยเตรียมความพร้อมในเรื่องการป้องกันใดๆ เลยมีแต่จะตะลุยไปข้างหน้า ตามข้ออ้างต้องให้ทันประเทศเพื่อนบ้าน  แต่การออกมาตรการมาป้องกัน  “ไม่มี” เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศถูกทำร้ายถูกมอมเมาด้วยเรื่องเหล่านี้อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่เรามีหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องมากมาย     หลายคนบอกว่าตนเองเป็นเครือข่ายพ่อ-แม่  เป็นเครือข่ายพัฒนาการศึกษา เครือข่ายเฝ้าระวังสื่อ  สมาคมสื่อ  แต่กลับละเลยปล่อยให้มีการโฆษณาสิ่งเหล่านี้เกลื่อนตลาดหาซื้อได้ง่ายกว่าลูกอมเสียอีก  กระทรวงวัฒนธรรมก็เที่ยวได้ทำอะไรไม่รู้ ดีแต่ลุกขึ้นมาพูดเรื่องการใช้ภาษาของเยาวชนกลัวจะใช้ไม่ถูกต้อง หรือตามแบนละครหนังก็ว่าไปตามเรื่อง   แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาเว็บโป๊เว็บลามกอนาจารบนหน้าผาก(ปลายจมูกมันน้อยไป) จนเกิดคดีทางเพศในกลุ่มเยาวชนมากมาย  แต่ถ้าให้ยุติธรรมจริงจะโทษหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเดียวก็ไม่ได้ ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ควรมีส่วนช่วยแจ้งเบาะแส ไม่ใช่เห็นแล้วเฉยๆ กันอย่างนี้   เขียนเรื่องนี้แล้วทั้งเหนื่อยและสะท้อนใจจริงๆ ฉันจะฝากใครดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 ที่นี่ประเทศไทย(หรือเปล่า)?

ฉบับนี้มีสองเรื่องที่จะคุยกัน เรื่องที่ 1. เหตุเกิดที่สนามบิน พอดีคนเล็กๆ อย่างผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางโดยเครื่องบินกับเขาด้วย(หลายครั้ง) และก็มีหลายครั้งที่ต้องเดินทางอย่างเร่งรีบ  กินข้าวกินปลาไม่ทันก็ไปโหยหิวอยู่แถวสนามบิน  และอาหารยามยากที่หากินง่ายที่สุดก็หนีไม่พ้นบะหมี่สำเร็จรูป ถึงแม้ต้องกล้ำกลืนฝืนกินอย่างไร ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ท้องร้องจ๊อกๆ ล่ะน่ามีวันหนึ่งด้วยความหิวไปถึงสุวรรณภูมิก็สั่งให้ใส่น้ำร้อนเลย  พอเขาคิดสตางค์เล่นเอากินไม่ลง บะหมี่สำเร็จรูปธรรมดาที่ทั่วไปขายถ้วยละ 13 บาท แต่ที่นี่ขาย 60 บาท อุแม่เจ้า.... ตอนนี้ไปสนามบินไหนถามราคาบะหมี่ตลอดเลย  สนามบินเชียงใหม่ สงขลา ขาย 50 บาท   ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนที่เดินทางโดยเครื่องบินเคยเจอปัญหานี้กันบ้างใช่ไหม  แต่ใครจะเฉยอย่างไรเราไม่รู้แต่เราอยากตั้งคำถามว่า สนามบินในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยหรือเปล่า ถ้าใช่  ทำไมสามารถขายสินค้าเกินราคาควบคุมได้  พาณิชย์ การค้าภายใน ไปไหนหมด  ปล่อยปละละเลยให้มีสถานที่ ที่ใช้อภิสิทธิอยู่เหนือกฎหมายได้อย่างไร(อย่างนี้จะเรียกเลือกปฏิบัติ  หรือเป็นเจ้าหน้าที่ ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่  หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบดีล่ะ) จะเลือกเองหรือให้ผู้บริโภคเลือกให้ก็ว่ามา เรื่องที่ 2  เหตุเกิดที่รัฐสภา (ฮ่าๆๆ หนีไม่พ้นเรื่องกินอีกนั่นล่ะ) คราวนี้เรื่องของไข่  เราท่านคงเคยได้ยินข่าวเรื่องไข่แพง(ไข่อภิสิทธิ์...แพงมาก...) เพราะเรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่โตจน ฯพณฯ ท่านนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งไม่ติด  ต้องเข้ามาวางนโยบายเพื่อให้ราคาไข่เข้าสู่สภาวะปกติ อย่างรวดเร็ว จากฟองละ 5-6 บาท ก็เหลือแค่ 4 บาทต้นๆ แต่เมื่อต้นเดือนกันยายน ผู้เขียนได้รับเชิญไปที่นั่น  เลิกประชุมตอนเที่ยงเลยและไปกินข้าวในสโมสรรัฐสภา  ไปถึงก็เดินดูอาหารไม่มีอะไรน่ากิน ก็เลยสั่งข้าวเปล่ากับไข่ต้มหนึ่งลูก(เรามันเป็นพวกกินอยู่รู้ประหยัด) แม่ค้าก็ตักข้าวพร้อมไข่ต้มผ่าซีกหนึ่งลูกมาให้ แล้วบอกว่า 20 บาท เราก็จ่ายเงินไปไม่ได้คิดอะไร  พอกลับมานั่งที่โต๊ะมองข้าวในจานแล้วนึกเอะใจ ก็มันมีแค่ข้าวกับไข่ 2 อย่าง เขาคิดเงินเราผิดหรือเปล่านี่  เลยเดินกลับไปถามคนขาย ก็ได้คำตอบว่าไม่ผิดหรอกเขาคิดข้าว 10 บาท ไข่ต้ม 10 บาท  โอ้โห..ได้คำตอบเลยที่มีคนเคยถามว่าไข่ที่ไหนแพงที่สุด  ตอบได้เลยไข่รัฐสภาไง.. ท่าน สส. สว. และ ฯพณฯ ท่านนายก ที่รักทุกท่านนี่เขาเรียกขายสินค้าเกินราคาเหยียบจมูกกันเลยนะ เอาไงดี กันล่ะที่นี้  ช่วยจัดการหน่อยนะ.. หลายคนคงคิดว่าโธ่..เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้    แต่ถ้าเรื่องเล็กน้อยยังจัดการไม่ได้ แล้วจะแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ๆ ได้หรือจ๊ะท่านทั้งหลาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 “สปาเซ็นเตอร์” คนมีบัตรเครดิต ตั้งสติให้ดี ก่อนคิดใช้บริการ

 “สปาเซ็นเตอร์” ประกาศตัวเองว่าเป็นสถาบันลดน้ำหนักและกระชับสัดส่วน เปิดสาขาให้บริการตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ ใช้พนักงานสาวหน้าตาดีออกมายืนเชิญชวนคนที่มีบัตรเครดิตให้สมัครเข้าไปใช้บริการปรากฏว่าขณะนี้ได้มีผู้บริโภคทยอยเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า หลงเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกใช้บริการเพราะทนคำรบเร้าของสาวพนักงานไม่ได้  แต่เมื่อเข้าไปใช้บริการแล้วพบว่าการบริการไม่เป็นไปตามที่สาวนักขายโฆษณาไว้ อยากจะบอกเลิกสัญญาขอเงินที่จ่ายผ่านทางบัตรเครดิตคืน ก็ขอคืนไม่ได้เพราะสัญญาที่ไปเซ็นไว้มีข้อผูกมัดที่จะไม่คืนเงินให้กับผู้บริโภคในทุกๆ กรณี“ดิฉันซื้อคอร์สมา 30,000 บาทเมื่อ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา” ผู้บริโภครายหนึ่งได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประสบมา“ตอนนั้นจำได้ว่ารีบมากจะต้องไปธุระต่อ แต่พนักงานขายคะยั้นคะยอบวกกับความเกรงใจและหวังว่าจะเห็นผลเพราะราคาไม่ใช่ถูกๆ คอร์สจริงเซลอ้างว่า 70,000 บาท แต่ลดลงมาเหลือ 45,000 บาท แต่ดิฉันจ่ายไม่ไหวเซลเลยลดให้เหลือ 30,000 บาท”“กลับมาบ้านสมองก็ตึงๆ ไปเหมือนกัน เพราะราคาสูงมาก ไม่รู้ตกลงไปได้ยังไงดิฉันชำระผ่านบัตรเครดิตค่ะ 3000x10 เดือน ตอนนั้นยังไม่เอะใจกับคำว่า "ไม่คืนเงินทุกกรณี" ถ้าสติดีกว่านี้ ตอนนั้นคงยกเลิกไปทันทีที่พนักงานให้เซ็นเอกสาร”เมื่อผู้บริโภครายนี้เข้าไปใช้บริการก็พบว่ามีการให้บริการที่ผิดไปจากเงื่อนไขที่พนักงานเสนอขาย“จากการที่ไปใช้บริการ 1 ครั้ง การบริการไม่เหมือนคอร์ส 30,000 บาทเลยค่ะ ผิดหวังกับการบริการมาก แถมตอนขายคอร์สบอกจำนวนที่ใช้บริการประมาณ 15 ครั้งแต่สอบถามเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ตกใจมากที่หดเหลือ 10 ครั้ง แถมอีก 1” ผู้บริโภคอีกรายร้องเรียนมาว่า สปาฯ ไม่มีบริการพอกตัวมีแต่นวดตัว และไม่มีอ่างน้ำวนบริการ ทั้งๆ ที่ตอนที่พนักงานสาวเสนอขายบอกว่ามีบริการทั้งหมด แต่พอถึงเวลาไปใช้บอกว่ากำลังติดตั้งอ่างน้ำยังไม่เสร็จปัญหาส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามาก็คือ ใช้บริการไปได้เพียงแค่ครั้ง 2 ครั้งแต่เมื่อเห็นว่าบริการไม่คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปจึงอยากจะเลิกบริการขอเงินคืน แต่บริษัทไม่ยอมให้คืน โดยอ้างข้อความในสัญญาที่ระบุว่าจะไม่มีการคืนเงินให้ในทุกกรณีแนวทางแก้ไขปัญหาลักษณะสัญญาของสปา มีข้อผูกมัดคล้ายๆ กับข้อสัญญาของฟิตเนสชื่อดังหลายแห่ง เช่น ต้องอยู่เป็นสมาชิกอย่างน้อย 12 เดือน ห้ามบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด เน้นวิธีการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ดังนั้น คนที่มีบัตรเครดิตโดยเฉพาะคุณผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อของสัญญาลักษณะนี้กันเป็นจำนวนมากคำถามสำคัญของคุณผู้หญิงที่หลงเข้าไปสมัครใช้บริการกับสถานบริการเหล่านี้คือ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้หากผู้บริโภคพบว่าทางผู้ประกอบการไม่จัดให้มีบริการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นข้อสำคัญในสัญญาหรือโฆษณาก็ให้ใช้เป็นเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาได้เลยครับ เช่น เป็นสปาแต่ไม่มีอ่างน้ำวน หรือบอกว่าเป็นนวดน้ำมันแต่พอไปใช้จริงเหมือนโดนลูบตัวหรือถูขี้ไคลเสียมากกว่า ไม่ได้ใช้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีใบอนุญาตมาให้บริการ อย่าไปใช้เหตุผลว่าไม่มีเวลา ไม่อยากไปเล่น ไม่สะดวกอย่างนั้นอย่างนี้ ขืนพาซื่อไปใช้เหตุผลแบบนี้ รับรองโดนตามทวงหนี้หัวหงอกแน่ เพราะฝ่ายผิดสัญญาจะเป็นผู้บริโภคนั่นแหละที่ไม่รู้จักประเมินตัวเอง เห็นว่าเงินหาง่าย แล้วไปเที่ยวเซ็นสัญญาทิ้งๆ ขว้างๆวิธีบอกเลิกสัญญาเคยเขียนไว้ในเล่มก่อนๆ แต่เพื่อไม่ต้องไปค้นย้อนหลังเลยขอย้ำอีกครั้งว่า การแจ้งเลิกสัญญาและขอเงินคืนนั้น อย่าไปใช้วิธีโทรศัพท์หรือเดินไปบอกด้วยตัวเองอย่างเดียวครับ ต้องทำเป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาส่งไปที่กรรมการผู้จัดการบริษัท และให้สำเนาจดหมายนี้ส่งไปที่บริษัทบัตรเครดิตที่จ่ายเงินแทนด้วย เพื่อให้ระงับการเรียกเก็บเงินจดหมายที่ส่งไปทั้งสองที่ให้ส่งเป็นจดหมายแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น จะได้มีหลักฐานไว้ยันกันในภายหลัง หากต้องเป็นคดีความกันวิธีการแก้ไขปัญหาสัญญาจำพวกผูกมัดไม่ให้เลิกใช้บริการแบบนี้ใช้ได้กับบริการพวกฟิตเนสหรือ บริการที่มีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตได้เช่นกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 สิทธิของคนชอบบิน

ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายการบินภายในประเทศหลายราย ถูกสายการบินแจ้งเลื่อนเที่ยวบินโดยไม่มีคำชี้แจงใดๆ บางรายเจอปัญหาโดนเลื่อนเที่ยวบินบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในเชิงทางการท่องเที่ยวและทางธุรกิจที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ดังนั้น ฉบับนี้จึงขอนำประกาศของกระทรวงคมนาคม “สิทธิของผู้โดยสารซึ่งใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ” ที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้โดยสารและสายการบินของไทยที่จะได้รับความคุ้มครองเป็นขั้นพื้นฐานใน 3 กรณียอดฮิตที่ผู้โดยสารสายการบินในประเทศมักถูกเอาเปรียบ มานำเสนอ เผื่อเอาไว้ให้คุณผู้อ่านและเพื่อนพ้องได้ใช้เรียกร้องสิทธิกับสายการบินภายในประเทศกันครับ ซึ่งหากสายการบินใดได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารของตนในกรณีต่างๆ ไว้ในระดับที่ดีกว่าและไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรการขั้นพื้นฐานนี้ ให้สายการบินนั้นใช้มาตรการของตัวเองเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารได้3 ปัญหายอดฮิตที่ผู้โดยสารสายการบินในประเทศต้องได้รับการปกป้องสิทธิ1. ถูกสายการบินปฏิเสธการขนส่ง(Denied Boarding) คือ การที่สายการบินปฏิเสธที่จะรับผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปกับเที่ยวบินที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร แม้ว่าผู้โดยสารจะได้มาแสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่อง(Check in) ภายในระยะเวลาที่สายการบินระบุไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งการแจ้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ เช่น เว็บไซต์ หรือ เอสเอ็มเอส(SMS) ฯลฯ หรือถ้ายสายการบินไม่ได้ระบุเวลาไว้ ให้ถือเวลาไม่น้อยกว่า 45 นาทีก่อนเวลาที่ระบุไว้ในตารางการบินที่ประกาศ2. ถูกยกเลิกเที่ยวบิน (Fight Cancellation)  คือ การที่สายการบินยกเลิกการบินเที่ยวบินใดๆ ตามตารางการบินที่ประกาศไว้ ซึ่งรวมถึงการยกเลิกเที่ยวบินพิเศษ(Extra Flight)3. เที่ยวบินล่าช้า (Filght Delay)  คือ กรณีทำการบินเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดในตารางการบินที่ประกาศไว้เกินควร   กรณีที่ได้รับความคุ้มครองหรือยกเว้น มาตรการคุ้มครองสิทธิและข้อยกเว้น ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน สิทธิได้รับเงินชดเชย จำนวน 1,200 บาท ให้สายการบินจ่ายเป็นเงินสด หรือโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือเช็คธนาคาร แต่หากจ่ายเป็น Travel vouchers และ/หรือบริการอื่นๆแทน จะต้องให้ผู้โดยสารลงนามตกลงยินยอมด้วย(ถ้าไม่เอาอย่าเผลอเซ็นชื่อเด็ดขาด) ถูกยกเลิกเที่ยวบิน ข้อยกเว้นที่จะไม่ได้รับเงินชดเชย   (ก)     สายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกการเดินทางต่างๆ (ข)     สายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่ถึง 3 วัน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินใหม่ให้ ซึ่งจะถึงจุดหมายปลายทางที่ระบุในบัตรโดยสารเร็วหรือช้ากว่ากำหนดวันเวลาเดิมไม่เกิน 3 ชั่วโมง (ค)     สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดจากเหตุสุดวิสัย คือ สถานการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย เหตุการณ์ใดๆที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการทำการบินของอากาศยานและผู้โดยสาร การนัดหยุดงานหรือการกระทำใดๆ ของพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของสายการบิน ซึ่งมีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบินของสายการบิน และเหตุสุดวิสัยอื่นใดที่สายการบินสามารถพิสูจน์ได้ว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน หมายเหตุ : ภาระการพิสูจน์ว่าสายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินหรือไม่ และได้แจ้งข่าวเมื่อใด เป็นภาระของสายการบินผู้ให้บริการ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมง สิทธิทางเลือกในการรับคืนค่าโดยสาร, เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน  หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น (เลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง)   ทางเลือกที่ 1 การรับคืนค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ถูกเรียกเก็บเต็มจำนวนที่จ่ายไปสำหรับการเดินทาง หรือส่วนของการเดินทางที่ยังไม่ได้ใช้เดินทาง รวมถึงการเดินทางหรือส่วนของการเดินทางที่ได้เดินทางไปแล้วแต่ไม่สมประโยชน์ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งการเดินทางในเที่ยวบินกลับไปยังจุดเริ่มต้นการเดินทางของผู้โดยสารนั้นเองโดยเร็วที่สุด   ทางเลือกที่ 2 เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินภายในวันเดียวกัน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารโดยเร็วที่สุด   ทางลือกที่ 3 เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารในวันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร   ทางเลือกที่ 4 เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมาย ปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดใกล้เคียงแล้วแต่ความเหมาะสม   หมายเหตุ : การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสารและที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจะจัดให้ได้ หากค่าโดยสารในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นสูงกว่าค่าโดยสารที่ได้ชำระแล้ว สายการบินจะไม่เรียกเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการเพิ่มอีก และหากค่าโดยสารในการเปลี่ยนเที่ยวบินนั้นต่ำกว่าค่าโดยสารที่จ่ายไปแล้ว สายการบินจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารภายใน 7 วัน และในกรณีที่สายการบินเสนอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไปยังสนามบินอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิม สายการบินจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยังสนามบินที่เป็นจุดหมายปลายทางเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย   กรณีการเปลี่ยนแปลงการเดินทางโดยการขนส่งทางอื่น หากค่าเดินทางสูงหรือต่ำกว่าค่าโดยสารที่ได้ชำระไปแล้วก็ให้ใช้วิธีชดเชยลักษณะเดียวกัน ถูกปฏิเสธการขนส่ง   สิทธิที่จะได้รับการดูแล 1.ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับการดูแลจากสายการบิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในเรื่องต่อไปนี้ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป (ก)     อาหารและเครื่องดื่ม ตามความเหมาะสมกับระยะเวลารอขึ้นเครื่อง ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 1 วัน (ข)     ที่พักแรม สำหรับการพำนักตั้งแต่หนึ่งคืนขึ้นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม(กรณีการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีกำหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่าหนึ่งวัน) ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 1 วัน (ค)     การขนส่งระหว่างสนามบินและที่พักแรม (กรณีการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีกำหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่าหนึ่งวัน) ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป 2.ผู้โดยสารมีสิทธิโทรศัพท์ หรือโทรสาร หรือส่งอีเมล์ที่สายการบินจัดให้ ตามความจำเป็นและเหมาะสมไม่เกิน 2 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าไม่ว่าเป็นเวลามากน้อยเพียงใด   3.สายการบินจะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษแก่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่เดินทางโดยลำพัง และคนพิการ การรักษาสิทธิ : กรณีที่สายการบินไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิทธิฯขั้นพื้นฐานนี้ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนได้ที่ กรมการบินพลเรือน (กรมการขนส่งทางอากาศเดิม)เลขที่ 71 ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 โทรศัพท์: 02-287-0320-9 โทรสาร: 02-286-3373   หากมีความเสียหายมากกว่าที่ได้รับจากมาตรการคุ้มครองสิทธิฯขั้นพื้นฐานนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องสายการบินเป็นคดีผู้บริโภคได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 634 “ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายอันเกิดแก่ตัวเขา หรือในความเสื่อมเสียอย่างใดๆอันเป็นผลโดยตรง แต่การที่ต้องชักช้าในการขนส่ง เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของคนโดยสารนั้นเอง”      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 คนใช้โทร WE PCT เจ็บ โดน“ทรู”หักดิบ เลิกโปรโมชั่นโทรฟรี 1 ตุลาคม 53

สัญญาให้ซื้อเครื่องไม่คิดค่าโทร 1 ปี พอซื้อมาใช้ไม่ถึงเดือนกลับถูกเลิกสัญญาโทรฟรีทรูอ้างสัญญาเขียนไว้ชัดสามารถเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่นได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เชื่อมีลูกค้าทรูหลังหักต้องถูกเก็บค่าโทรหลายรายแน่หากปล่อยให้ทรูเปลี่ยนโปรโมชั่นได้โดยไม่มีเงื่อนไขในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้มีโปรโมชั่นของทรูชื่อเก๋ “WE PCT พวกเราแน่นปึ๊ก” ออกมาเชิญชวนลูกค้าที่ชอบโทรราคาถูกด้วยการขายมือถือ PCT แถมโปรโมชั่นให้โทรฟรีทุกเครือข่ายนาน 1 ปี ตัวที่หนึ่งชื่อ Plus Phone ราคา 3,990 บาท ตัวที่สองชื่อ We Phone 2,990 บาท ถ้าคิดแปรเป็นค่าโทร PCT ตัวแรกตกเดือนละ 332.50 บาท ตัวที่สองเท่ากับเดือนละ 249.16 บาท เห็นโปรอย่างนี้ผู้บริโภคที่ชอบของถูกก็น้ำลายไหลล่ะครับ ค่าโทรต่อเดือนแค่ 200-300 บาทแถมยังได้ PCT มาใช้สบายๆ อย่างนี้ ก็พากันไปซื้อล่ะครับ แต่ได้ใช้กันยังไม่ทันพ้นปี กรกฎาคมที่ผ่านมาทรูกลับแจ้งยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีหน้าตาเฉย บอกไม่เอาแล้ว ขีดเส้นตายวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีทั้งหมด และให้ลูกค้าเลือกโปรโมชั่นใหม่ 2 ทางเลือก ตัวที่หนึ่ง ให้โทรฟรีได้เฉพาะเครือข่ายของทรูตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เครือข่ายอื่นคิดนาทีละ 50 สตางค์ ตัวที่สอง Sim ถูก มูลค่า 49 บาท ค่าโทรทุกเครือข่ายนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 50 สตางค์ โทรครบ 5 บาทโทรครั้งต่อไปนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 25 สตางค์“ดู ดู๊ ดู ดู ทรูทำ ทำไม ทรู ทำกับฉันได้...” ถูกบอกเลิกสัญญากันอย่างหักดิบแบบนี้ ผู้บริโภคที่หลงไปซื้อมือถือ PCT ของ ทรู ก็ต้องร้องเพลงนี้กันล่ะครับ ผู้บริโภครายหนึ่งบอกว่า ผมเพิ่งซื้อเครื่องพีซีทีมาเมื่อ 30 มิ.ย. 53 ไม่กี่วันก็โดนประกาศยกเลิกโปรโทรฟรี 12 เดือน เอาเฉยเลย เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคชัดๆ หลายคนอยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยเหลือในการฟ้องร้องเป็นคดีตัวอย่างให้หน่อย เพราะไม่มีปัญญาไปจ้างทนายความมาสู้คดีกับบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่อย่างทรูได้แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เชิญผู้ร้องเรียนในปัญหาเดียวกันนี้พร้อมตัวแทนของบริษัท เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นจำกัด บริษัทเครือข่ายของทรูในฐานะผู้ให้บริการและออกโปรโมชั่น ซึ่งตัวแทนบริษัทฯ ได้เสนอการเยียวยาให้กับผู้บริโภคเพื่อการขอเปลี่ยนสัญญาใหม่ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าโทรกับเครือข่ายอื่น ด้วยการให้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของทรูในอัตรา 640.93 บาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นระยะเวลา 12 เดือน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7,691.16 บาท ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ปี แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปฏิเสธ พร้อมยืนยันเสนอให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามสัญญาของโปรโมชั่นเดิมที่ทำไว้กับผู้บริโภคจนกว่าจะถึงกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของโปรโมชั่น หรือจนกว่าผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกเปลี่ยนโปรโมชั่นเอง ตัวแทนบริษัทฯ รับที่จะส่งเรื่องนี้ให้ผู้บริหารได้พิจารณาทบทวนกันอีกครั้งเรื่องนี้ต้องตามติดๆ ครับ ถ้าหากบริษัทฯยังยืนยันที่จะบังคับเปลี่ยนโปรโมชั่นในวันที่  1 ตุลาคม 2553  ที่จะถึงนี้ สงสัย “WE PCT พวกเราแน่นปึ๊ก” มีเรื่องขึ้นศาลเป็นคดีผู้บริโภคบานตะไทแน่ เพราะงานนี้ผู้บริโภคสุดทนจริงๆ“สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป”ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 8

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ประเทศไทย สองมาตรฐานจริงๆ

กว่าหนังสือเล่มนี้จะออกคงล่วงเลยเวลาที่มีบุคลากรทางการแพทย์แต่งชุดดำมาคัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เราคงไม่บอกว่าการคัดค้านการสนับสนุนพรบ.ฉบับนี้ใครถูกใครผิด แต่มีประเด็นที่น่าคิดมากกว่านั้นคือ ประเด็นการคัดค้านของคุณหมอต่างๆ ที่ออกมาให้ข้อมูลกับสังคมว่า วันนี้ผู้ป่วยมากขึ้น หมอมีน้อย งานหนัก วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน เตียงรองรับคนไข้ไม่เพียงพอ มาตรฐานการให้บริการยังต้องพัฒนากันอีกมาก งบบริการจัดการองค์กรเป็นไปด้วยความยากลำบากเราเข้าใจและเห็นใจเป็นอย่างยิ่งเพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ และยอมรับว่าด้วยงานที่หนักมากทำให้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่มาขอรับเงินชดเชย ตามมาตรา 41 แห่ง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2552 (ผู้ไม่รู้สิทธิยังมีอีกมาก)จำนวน 810 ราย ผ่านเกณฑ์ช่วยเหลือ 660 รายไม่ผ่าน 150 ราย(เป็นไปตามอาการของโรค)เสียชีวิต 340 ราย พิการ 97 ราย เจ็บป่วยต่อเนื่อง 219 ราย สปสช.จ่ายเงินชดเชยไปทั้งสิ้น 73 ล้านบาท(ยังไม่รวมประกันสังคมและราชการ)   นี่คือตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีคนตายมากกว่าประเทศที่ทำสงครามอีก(อนิจจาระบบสาธารณสุขที่รักษาคนไทย)แต่อีกมุมหนึ่งในประเทศเดียวกัน เราก็เจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ โชว์สรรพคุณ คุณภาพมาตรฐานการบริสาธารณสุขที่โดดเด่นเป็นสากลไม่น้อยหน้าประเทศใดๆ ภายใต้ชื่อเมดดิคอลฮับ(ศูนย์กลางทางการแพทย์สากล) เกิดธุรกิจการแพทย์ ที่มีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจากต่างประเทศ คุณภาพมาตรฐานการรักษาระดับ 5 ดาว ที่เจริญเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด มีการนำโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อปั่นมูลค่ากันมากมาย ถึงขนาดบางมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรการแพทย์นานาชาติ เพื่อรองรับธุรกิจดังกล่าว จนเกิดเสียงเพรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์มารักษาคนไทยให้เพียงพอก่อน แล้วค่อยคิดถึงคนต่างชาติ แต่หานำพาไม่จนมีคำถามที่ถามทีเล่นทีจริงว่าหากมีคนไทย(คนจน) กับคนต่างประเทศที่เจ็บเจียนตายเหมือนกัน โรงพยาบาลเอกชนจะเลือกรักษาใคร ? เออ..เนาะใครรู้ช่วยตอบหน่อยซิ กี่รัฐบาลมาแล้วที่ปล่อยปละละเลย..เรื่องนี้ แล้วสังคมไทยจะโทษหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้เพราะคุณหมอก็ต้องทำงานบนข้อจำกัดมากมายเราอยากบอกคุณหมอดังๆ ว่าเราอยู่ข้างคุณหมอนะ เราเข้าใจความรู้สึกของคุณหมอ และเราก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เสียหายเช่นกัน ก็ไม่รู้ว่าจะฝากเรื่องนี้ไว้ที่ใครดี คงต้องฝากคณะทำงานที่มีหน้าที่ปฏิรูปชุดต่างๆ ช่วยปฏิรูปเรื่องนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจต้องเขียนป้ายใหญ่ๆ ปิดไว้หน้าโรงพยาบาลว่า “การเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนี้มีความเสี่ยงโปรดใช้วิจารณญาณในการเข้ารับการรักษา” ดีมั้ยท่านนา....ยกกกกก....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ก๊าซเอ็นจีวี พลังงานสะอาด ปลอดภัยจริงหรือ

ยวดยานนับหลายล้านคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน มีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงอยู่เกือบ 2 แสนคัน คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเอ็นจีวีเป็นพลังงานสะอาดและปลอดภัย แต่ความเชื่อนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสียแล้วในวันนี้เราทราบถึงคำถามเรื่องนี้จากการจัดเวทีเสวนาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน เวทีนี้จัดไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาจุดเริ่มเรื่องมาจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือร้องเรียน มาถึงคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยแจ้งว่า เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวง พลังงาน ได้ออกประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ พ.ศ.2552สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ ต้องการให้เอ็นจีวีที่ใช้กับรถยนต์ซึ่งถูกผลิตมาจากแหล่งผลิตต่างๆ เช่น จากฝั่งอ่าวไทย จากฝั่งอันดามัน จากแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร หรือจากแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติได้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ให้อยู่ระหว่าง 37-42 เมกกะจูล/ลูกบาก์เมตร(MJ/m3) และให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกินร้อยละ 18 ของปริมาตรอ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้บริโภคอาจคิดว่าก็ดีแล้วนี่ ที่มีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี แล้วจะมาร้องเรียนกันทำไม สิ่งที่ผู้บริโภคต้องตั้งคำถามสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้ว่า ผลของประกาศฉบับนี้ ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ใช้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องมีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดค่าดัชนีวอบบี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ซึ่งจะต้องมีการปิดปั๊มก๊าซเอ็นจีวีหลายแห่งในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายน 2553 เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า “ปรับปรุง” คุณภาพก๊าซเอ็นจีวีที่จะจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถยนต์กว่า 2 แสนคันและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อนที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดน่ะ ดันต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลของก๊าซธรรมชาติที่หลายๆ ประเทศมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ถูกกำหนดไว้ที่ 46-52.9 MJ/m3 และต่ำกว่าค่าดัชนีวอบบี้ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะจากแหล่งอ่าวไทยซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ที่นำมาผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีค่าดัชนีวอบบี้อยู่ที่ 41.9-44.0 MJ/m3ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค คือ การไปกำหนดค่าดัชนีวอบบี้ที่ต่ำว่ามาตรฐานสากลและต่ำกว่าคุณสมบัติที่เป็นจริงของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ของประเทศเช่นนี้ ทำให้ ปตท. ใช้โอกาสนี้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในในเอ็นจีวีเพื่อให้ได้มาตรฐานต่ำๆ ตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด และยังปล่อยให้เติมได้ถึง 18% ของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีทั้งหมด ในขณะที่มาตรฐานสากลยอมให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 3% หรือในบางมาตรฐานที่บางประเทศใช้กันเขาไม่ยอมให้มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกนั่นเองและสิ่งที่สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ กังวลมากที่สุด คือ หากปล่อยให้มีอัตราส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงมากภายในถังเก็บก๊าซเอ็นจีวีที่ติดตั้งกับรถยนต์ประเภทต่างๆ ทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ส่วนบุคคลเมื่อใด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำปฏิกิริยากับน้ำหรือความชื้นที่อยู่ในถังซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย จะทำให้เกิดเป็น Feco3 หรือเหล็กคาร์บอเนต ซึ่งจะทำให้ถังเอ็นจีวีมีโอกาสกัดกร่อนได้เร็วขึ้น เปรียบเสมือนว่า ถังก๊าซเอ็นจีวี(ที่ติดตั้งในรถยนต์กว่า 2 แสนคัน)มีโอกาสระเบิดได้ทุกเมื่อ เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีเป็นก๊าซคุณสมบัติเบากว่าอากาศมากจึงต้องใช้แรงดันอัดมหาศาลและต้องอยู่ในถังที่มีสภาพความทนทานมากๆ เท่านั้น ใช้ถังเหล็กธรรมดาอย่างก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีไม่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ จึงขอตั้งเป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้บริโภคทุกคนว่า เงินที่เราจ่ายซื้อเอ็นจีวีเติมลงไปในถังนั้นคุ้มค่าจริงหรือไม่ เพราะแทนที่เงิน 100 บาทที่จ่ายไปจะได้เอ็นจีวีที่มีคุณภาพช่วยรถวิ่งปรื๋อเต็มๆ 100 บาท กลับกลายเป็นเงินซื้อขยะอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึง 18 บาททั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นกับรถยนต์ของเราเลยสักนิด และท้ายสุดก็ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เป็นแรงหนุนทำให้โลกร้อนขึ้นร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เบนซิล หรือดีเซลดังนั้น อ่านเรื่องนี้กันแล้วในฐานะคนอ่านฉลาดซื้อต้องช่วยกันตะโกนถามคำถามนี้กันดังๆ ครับ หวังว่าเมื่อกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ยินคำถามของผู้บริโภคแล้ว จะได้กลับไปใช้สมองคิดทบทวนการกำหนดคุณภาพมาตรฐานก๊าซเอ็นจีวีเสียใหม่โดยเร็ว อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคต้องถูกเอารัดเอาเปรียบและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแบบนี้เลยขอรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ถูกบังคับให้ทำ เอทีเอ็ม?

เวลาไปเปิดบัญชีธนาคาร เคยรู้สึกกันบ้างไหมว่า พนักงานธนาคารจะพยายามชักชวนให้เราทำโน่นทำนี่อยู่เรื่อย เอทีเอ็มบ้างล่ะ เดบิตบ้างล่ะ ล่าสุดก็ให้ซื้อประกันชีวิตอีก จนผู้บริโภครู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ใช้บริการ ไม่ทำตามแล้วดูเหมือนจะมีความผิดและเป็นลูกค้าที่ไม่สมประกอบ ธนาคารมีสิทธิที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกแบบนี้หรือไม่ ประสบการณ์จากคุณวัชระน่าจะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้คุณวัชระร้องเรียนเข้ามาว่า วันหนึ่งได้พาพ่อตาไปเปิดบัญชีที่ธนาคารทหารไทย สาขาอุดรธานี แล้วรู้สึกเหมือนว่า ถูกพนักงานธนาคารบังคับให้ทำบัตรเอทีเอ็ม พ่อตาของคุณวัชระบอกว่ายังไม่สะดวกที่จะทำ เลยขอร้องพนักงานธนาคารไปว่า ไม่ทำได้มั้ยวันนี้จะขอทำในภายหลัง แต่กลับถูกพนักงานของธนาคารปฏิเสธ อ้างว่าเป็นนโยบายของธนาคาร“ผมเองได้ยินอย่างนั้นแล้วก็ไม่สบายใจ จึงได้โทรไปที่ 1558 (คอลเซนเตอร์ของธนาคารมหารไทย) สอบถามความจริงได้คำตอบว่า ลูกค้าจะไม่ทำเอทีเอ็มก็ได้ ผมเลยให้พนักงานคนนั้นรับสายคุยกับ 1558 จากนั้น ก็มีทีท่าว่าไม่ยอมอ้างว่ายังไงก็ต้องทำเอทีเอ็ม และต้องเปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท เพื่อจะได้ร่วมลุ้นบอลโลก “ “ผมคิดในใจ (นี่บ้าหรือเปล่า) สุดท้ายก็ต้องยอมทำตาม(ความต้องการ)ของพนักงานธนาคาร เพราะอยากไปทำธุระอย่างอื่น”คุณวัชระจึงฝากคำถามนี้มายังเราเพื่อให้สอบถามไปที่ผู้บริหารของธนาคารธนาคารทหารไทยว่ามีนโยบายเช่นนี้จริงหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้ทำหนังสือสอบถามไปที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทย ต่อมาธนาคารทหารไทยได้มีหนังสือตอบจากเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารคุณภาพบริการสาขา แจ้งว่า คุณวัชระและพ่อตามาเปิดบัญชีกับธนาคาร และพนักงานธนาคารได้แนะนำผลิตภัณฑ์และอธิบายสิทธิประโยชน์รวมทั้งความสะดวกของบัตรเอทีเอ็ม โนลิมิต ให้ลูกค้าทราบ ซึ่งเป็นนโยบายที่เจ้าหน้าที่จะต้องหใบริการแนะนำบริการและผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้า แต่ธนาคารไม่มีนโยบายให้ลูกค้าที่เปิดบัญชีต้องทำบัตรเอทีเอ็มด้วย“อย่างไรก็ตามธนาคารได้ขออภัยลูกค้าที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารอาจจะสื่อสารให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งธนาคารได้แจ้งพนักงานแล้วให้ระมัดระวังการสื่อสารไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก”ชัดเจนกันแล้วนะครับว่า ธนาคารจะขายอะไรก็ขายไป แต่ผู้บริโภคนั้นมีสิทธิเต็มร้อย ที่จะเลือกซื้อหรือจะปฏิเสธสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ไม่ต้องการได้ตลอดเวลา สิทธิที่จะซื้อหรือไม่ซื้อนั้นเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ใครจะมาล่วงละเมิด หรือบีบบังคับให้เราต้องสละสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 แสตมป์แลกเก้าอี้เซเว่น รอครึ่งปียังไม่ได้

“คนดีอย่างเธอที่เป็น เซเว่นไม่มีให้ซื้อ.....” เพลงลูกทุ่งยอดฮิตของน้องจั๊กจั่น วันวิสา คงเป็นเพลงคาใจของคุณยายเฉลียวไปอีกนาน หลังจากที่ได้มีประสบการณ์กับการรอโปรโมชั่นแสตมป์แลกสินค้าของเซเว่นอีเลฟเว่นนานถึงครึ่งปีคุณยายเฉลียวโทรศัพท์มาหาเราในบ่ายวันหนึ่งของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาบอกว่า บ้านของคุณยายอยู่แถวซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 ซึ่งก็เป็นปกติของทุกปากซอยที่มีผู้คนหนาแน่นคับคั่งว่าจะต้องมีร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นตั้งอยู่หนึ่งร้านเป็นอย่างน้อยคุณยายเฉลียวถึงจะมีอายุปาเข้าไป 70 กว่าปีแล้วแต่ก็ยังแฟนพันธุ์แท้ของร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ทุกๆ วันคุณยายจะต้องมีเหตุให้ไปซื้อสินค้าจาก 7-11 ที่ตั้งอยู่หน้าปากซอยใกล้บ้านไม่เคยขาดช่วงปี 2552 คงจำกันได้ร้าน 7-11ได้กระตุ้นการซื้อสินค้าของผู้บริโภคด้วยโปรโมชั่น ซื้อสินค้าครบ 40 บาท ใบเสร็จใช้แลกแสตมป์สะสมได้ 1 ดวง เมื่อลูกค้าสะสมแสตมป์ได้ครบตามจำนวนที่ร้านระบุไว้ สามารถใช้แลกสิ่งของกระจุ๊กกระจิ๊กที่ 7-11 กำหนดไว้ได้ อาทิ แก้วน้ำ น้ำอัดลมกระป๋อง รวมถึงเก้าอี้สนาม เป็นต้น คุณยายเฉลียวเป็นคนขยันซื้อเอามากๆ ในเวลาไม่นานคุณยายสะสมแสตมป์ได้ถึง 330 ดวง จึงนำมาขอแลกเก้าอี้สนามที่ร้านเซเว่นหน้าปากซอย ได้ไป 1 ตัว ต่อมาในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2552 คุณยายเฉลียวยังมุ่งมั่นซื้อสินค้ากับ 7-11สาขาหน้าปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 อย่างไม่รู้เบื่อ ไม่นานก็สามารถสะสมได้อีก 330 ดวง จึงนำมาขอแลกเก้าอี้สนามอีกตัวตั้งใจว่าจะเอาไว้นั่งคุยเล่นกับเพื่อนบ้าน แต่คราวนี้ต้องผิดหวังเพราะร้านบอกว่าของหมดให้รออีกหนึ่งเดือน คุณยายก็ทนรออีกหนึ่งเดือนพอถึงกำหนดระยะเวลาที่ 7-11สัญญา คุณยายเฉลียวจึงได้มาทวงเก้าอี้สนาม แต่มากี่ครั้งๆ ก็ได้แต่คำตอบว่าของหมดยังไม่มา ทวงเป็นสิบๆ เที่ยวจนคนแก่หมดกำลังใจ จึงจับโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหานับเป็นความสามารถพิเศษของคุณยายโดยแท้และเป็นหนึ่งในคุณภาพของผู้บริโภคที่ 7-11 จะต้องรักษาไว้ เพราะแสตมป์รวมกว่า 660 ดวงที่คุณยายเฉลียวสะสมได้นั้นต้องใช้เงินซื้อสินค้ากับ 7-11 มากถึง 26,400 บาท เพื่อขอแลกเก้าอี้สนามราคาไม่กี่ร้อยบาทจำนวน 2 ตัวเราทำหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดูแลร้านค้า 7-11 ทั่วประเทศให้ดูแลรับผิดชอบผู้บริโภคชั้นดีอย่างคุณยายเฉลียวด้วย ไม่นาน บริษัท ซีพี ออลล์จึงได้ติดต่อกับคุณยายโดยตรงเพื่อชี้แจงถึงปัญหาขาดแคลนเก้าอี้พร้อมทั้งจัดส่งเก้าอี้สนามที่คุณยายรอคอยมานานกว่าครึ่งปีให้เป็นที่เรียบร้อย โดยที่คุณยายไม่ติดใจเอาความใดๆ กับ 7-11 อีก“ต่อไปนี้คงจะเข้าร้านเซเว่นน้อยลง เพราะไม่ประทับใจการให้บริการของร้านแล้ว และขอบคุณมูลนิธิฯที่ดำเนินการติดตามเรื่องให้ ไม่ผิดหวังที่ได้รู้จักและโทรเข้ามาร้องเรียน ขอให้กำลังใจมูลนิธิฯในการดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป” คุณยายเฉลียวให้พรทิ้งท้ายก่อนวางหูโทรศัพท์ไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สงสัยครีมหมอจุฬา ใช้แล้วเสี่ยง

เรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใน net ลงข้อความครีมหมอจุฬาในกระปุกใสของจริงจะไม่มีสติ๊กเกอร์ติดด้านบน จะมีเพียงด้านข้างซึ่งรูปดอกไม้จะมีสีอ่อนกว่า และตัวหนังสือความเข้มก็จะอ่อนกว่าค่ะ ช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะว่าแบบไหนจริงแบบไหนปลอม หรือว่าปลอมทั้งคู่ และช่วยตรวจสอบเกี่ยวกับครีมหมอจุฬาว่าของแท้เป็นยังไง สรรพคุณดีจริงอย่างที่โฆษณาไหม ใช้แล้วมีผลข้างเคียงยังไง มีแหล่งผลิตที่แน่ชัดไหม ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.หรือเปล่าคะ แล้วถ้ามีครีมของหมอจุฬาที่เป็นของจริง สามารถติดต่อหรือสั่งซื้อได้ยังไงถึงจะไม่โดนหลอกและได้ของจริงผู้บริโภคจากชลบุรีท่านหนึ่ง ได้เขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์หน้าขาว ครีมสมุนไพรตราหมอจุฬา จากร้านขายเครื่องสำอางแถวบ้าน ซึ่งเป็นครีมข้นสีครีม ไม่มีกลิ่น มีฉลากแสดงประเภทสินค้า วิธีใช้ และสรรพคุณสินค้า แต่ไม่ได้ระบุเลขทะเบียนอาหารและยา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เลยมีความสงสัยว่า ครีมที่ซื้อมาจากร้านขายเครื่องสำอางกับครีมที่โฆษณาทางอินเตอร์เน็ตนั้น ตัวไหนคือของจริง ตัวไหนคือของปลอม หรือว่าปลอมกันทั้งคู่ แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ได้รับคำตอบกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว จึงขอกระจายข่าวให้กับผู้ที่จะซื้อหรือกำลังใช้ครีมเครื่องสำอางยี่ห้อหมอจุฬาได้รับทราบโดยทั่วกันอย. ชี้แจงถึงเครื่องสำอางที่เราได้รับจากผู้ร้องเรียนและส่งไปให้ อย. ตรวจสอบนี้ พบว่าการแสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่มีชื่อเครื่องสำอาง ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต ครั้งที่ผลิต ที่ตั้งของผู้ผลิต และเนื้อครีม(ที่ผู้ร้องส่งมาให้ตรวจสอบนั้น)ที่อยู่ในตลับมีปริมาณน้อยมาก จึงไม่สามารถส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือทดสอบโดยชุดทดสอบเบื้องต้นได้อย่างไรก็ดี อย. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครื่องสำอางดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับเครื่องสำอางที่ อย. เคยประกาศผลการตรวจวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบแล้ว คือ ครีมรักษาสิว-ฝ้าหน้าขาวสมุนไพรเกรด A 100% ระบุผลิตโดย ศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ปรอทแอมโมเนีย และครีมหน้าขาว(สูตรเข้มข้น) ระบุผลิตโดยศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ ปรอทแอมโมเนีย ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ คือ อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ“ผลิตภัณฑ์นี้จึงจัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขาย ให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”ท้ายสุด อย. ให้ข้อแนะนำว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวัง จากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน ฉลากภาษาไทยมีข้อความบังคับครบถ้วน คือ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ ส่วนร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อมาจำหน่าย จะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจนดังนั้น เครื่องสำอางไหนๆ หากขาดรายละเอียดที่ อย.ว่ามา ก็ไม่ต้องถามหรอกครับว่า ของไหนปลอม ของไหนจริง เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องสำอางเสี่ยงภัยทั้งนั้น “หยุดซื้อ หยุดใช้” เป็นดีที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >