ฉบับที่ 262 โดยสารด่วนที่ยังด่วนไม่ได้ของ รถไฟฟ้า BTS

        ในเวลาเร่งด่วน  เชื่อว่าหลายๆ คนก็มักจะเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะที่รวดเร็ว ทันใจ รถออกตามเวลาที่กำหนดเพราะคาดหวังว่าจะช่วยให้สามารถเดินทางไปถึงที่หมายได้ตามเวลาที่ตั้งใจ แต่เรื่องของคุณนิคสะท้อนว่า แม้ผู้บริโภคจะจ่ายค่าโดยสารในราคาเร่งด่วน แต่ก็ยังไม่ได้รับบริการที่สามารถเดินทางไปได้ด่วนอยู่ดี         เรื่องมีอยู่ว่า  คุณนิค ก็เหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่ต้องจำเป็นต้องใช้ รถไฟฟ้า BTS ในเวลาเร่งด่วนคือช่วงเวลา 17.00- 17.30 น. ในเวลาดังกล่าวคุณนิคสังเกตว่าผู้โดยสารจำนวนมากต่อแถวรอซื้อบัตรจนเป็นแถวยาว คุณนิคจึงพยายามหลีกเลี่ยง และเพื่อความรวดเร็วจึงซื้อบัตรจากตู้ระบบอัตโนมัติ ด้วยการสแกน QR CODE ไม่ต้องแลกเหรียญ ไม่ใช้เงินสด แต่ครั้งนี้ คุณนิคกลับพบว่า ระบบตู้อัตโนมัติทำงานได้ล่าช้าอย่างมาก หลังจากที่ได้สแกนจ่ายแล้ว  คุณนิครอรับบัตรโดยสารเป็นเวลากว่า 10 นาที เพราะเกรงใจคนที่ยืนต่อแถวข้างหลัง และด้วยความรีบที่จะไปทำธุระต่อ คุณนิคจึงตัดใจเดินออกมาและก็พบว่า ทั้งช่องซื้อบัตรโดยสารกับพนักงาน  ช่องแลกเหรียญแถวยาวมาก จึงหาจังหวะกลับไปซื้อบัตรโดยสารจากระบบตู้อัตโนมัติอีกครั้งในตู้ใหม่ที่อยู่ถัดออกมา การซื้อครั้งที่ 2 คุณนิคยังใช้เวลารอนานกว่า 5 นาทีกว่าบัตรโดยสารจะจ่ายออกมา เมื่อได้รับบัตรแล้ว  คุณนิคจึงรีบวิ่งขึ้นบันไดเลื่อนเมื่อมองลงมายังพบว่า ตู้ระบบอัตโนมัติที่คุณนิคได้สแกน QR CODE ในครั้งแรกหน้าจอยังคงหมุนค้าง  ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีผู้โดยสารมาต่อแถว และไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการอะไรแต่อย่างใด         คุณนิคติดใจการทำงานของตู้ระบบอัตโนมัติอย่างมาก เพราะระบบได้ตัดเงินจากแอปธนาคารของเธอไปแล้ว แต่กลับไม่ได้รับบัตรโดยสาร ที่สำคัญ BTS สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นการโดยสารด่วน ทันสมัยแต่ในครั้งนี้ คุณนิคกลับใช้เวลาซื้อบัตรโดยสารทั้ง 2 ครั้ง เกือบครึ่งชั่วโมง !!           ปัญหาตู้ระบบอัตโนมัติยังมีต่อมาในครั้งที่ 2  คุณนิคเป็นผู้โดยสารที่ต่อแถวรอซื้อบัตรโดยสาร ด้วยการสแกน QR CODE อีกครั้ง  ครั้งนี้ คนข้างหน้าเจอปัญหาเหมือนที่คุณนิคเคยเจอมาทุกอย่าง คุณนิคเห็นเธอสแกนเงินแล้ว และได้แต่รอบัตรโดยสาร คุณนิครู้ว่าหากยืนรอก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าระบบจะทำงานได้ตามปกติได้เมื่อไหร่ คุณนิคจึงตัดใจเดินไปต่อแถวซื้อบัตรโดยสารจากพนักงานเพราะขณะนั้นมีคนจำนวนไม่มากนักและคงจะเร็วกว่าได้แต่รอตู้อัตโนมัติที่ยังมีปัญหาอยู่แน่นอน  คุณนิคได้บัตรโดยสารแล้วและยังเห็นคนข้างหน้าเธอยังคงยืนรอบัตรโดยสารออกมาจากตู้!         ครั้งที่ 3 ที่ทำให้คุณนิคสุดทนจนมาเล่ากับฉลาดซื้อครั้งนี้ คือเธอซื้อบัตรโดยสารด้วยการ สแกน QR CODE และเจอกับเหตุการณ์ที่เหมือนกับครั้งแรกทุกอย่างคือ ระบบได้ตัดเงินจากแอปธนาคารของเธอไปแล้วแต่บัตรโดยสารไม่ออกมา คุณนิคโมโหมาก เพราะรับปากว่าจะไปทำธุระสำคัญให้ทันเวลา ซึ่งหากครั้งนี้ไปสแกนซื้อบัตรครั้งใหม่ เท่ากับว่าเธอจะเสียเงินฟรีให้ระบบซื้อตั๋วเป็นครั้งที่ 2 เธอจึงเดินไปบอกเจ้าหน้าที่ว่าตู้ไม่ยอมจ่ายบัตรจะต้องทำอย่างไร ปรากฏว่า พนักงาน BTS แจ้งให้คุณนิคไปต่อแถวผู้โดยสารที่กำลังรอซื้อบัตรโดยสารกับพนักงานเพื่อแสดงหลักฐานการจ่ายเงินแลกกับบัตรโดยสารได้ต่อไป    คุณนิคมองไปเห็นแต่แถวยาว จึงโมโหมากและบอกกับพนักงานไปว่า “กว่าจะได้สแกน ฉันก็ต่อแถวนานแล้ว พอสแกนแล้วระบบก็ไม่จ่ายบัตร  คุณก็ให้ไปต่อแถวใหม่ที่ยาวมาก ระบบมันมีปัญหาไม่ใช่ความผิดของฉันเลย ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วจะโดยสารด่วนได้ยังไง ถ้าต่อแถวใหม่กว่าจะถึงฉัน ฉันใช้เวลาซื้อบัตรเกือบ 40 นาทีนะ” แล้วคุณนิคก็จำต้องเดินไปต่อแถวที่ยาวมากดังกล่าว  จึงมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนิคและทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ข้อสรุปตรงกันว่า ควรจะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ BTS ดังต่อไปนี้เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในช่วงเวลาเร่งด่วนได้จริง คือ   1. BTS ควรหมั่นตรวจสอบระบบตู้ซื้อบัตรอัตโนมัติทั้งแบบ สแกน QR CODE และหยอดเหรียญ ว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีผู้ซื้อบัตรจำนวนมากยังสามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่  หากตู้มีปัญหาควรติดประกาศว่า ‘หยุดให้บริการชั่วคราว’เพราะหากเกิดปัญหา ล่าช้า ตู้ไม่สามารถจ่ายบัตรได้ ผู้โดยสารจะเสียเวลาซื้อบัตรนานมากกระทบต่อการใช้ชีวิต การเดินทาง เสียเงินโดยที่ไม่ได้รับบริการอีกด้วยBTS ควรจัดให้มีพนักงานและช่องบริการรับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นได้ในทุกสถานีขึ้นมาโดยเฉพาะ การที่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจากระบบของ BTS เองและให้ผู้โดยสารต่อแถวร่วมกับช่องขายบัตรเพื่อรอรับการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การให้บริการที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วขึ้นได้แต่อย่างใด อีกทั้งการเสนอช่องทางให้ร้องเรียนการให้บริการใน 3 ช่องทางผ่านทาง Message  Line และ Call ย่อมจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงหน้าให้แก่ผู้โดยสารได้แต่อย่างใด ช่องทางดังกล่าวจึงไม่พอเพียง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 นั่ง BOLT ไปตั้งนานเพิ่งรู้ว่า คนขับไม่ตรงปก

        ปัจจุบันเชื่อหลายคนจะมีแอปพลิเคชันเรียกรถติดมือถือไว้แอปใดแอปหนึ่งหรืออาจจะหลายแอป เพราะบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นอย่างมาก แต่นอกจากความสะดวกแล้วจากเรื่องราวของคุณหญิง อาจจะยิ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพความปลอดภัยเพิ่มด้วย           เรื่องมีอยู่ว่าไม่นานมานี้ คุณหญิงได้ไปกินสุกี้ จิ้มจุ่มกับเพื่อนรอบดึก แต่เมื่อจะกลับที่พักซึ่งเป็นเวลาตี 3 แล้วนั้น มือถือของคุณหญิงแบตหมดและเธอไม่กล้านั่งแท็กซี่กลับห้องพักเพราะเคยมีประสบการณ์ไม่สู้ดี จึงใช้มือถือของเพื่อนเรียกบริการรถผ่านแอปพลิเคชัน Bolt         หลังจากเรียกรถ  ราว 6 นาที รถก็มาถึง คุณหญิงแยกย้ายกับเพื่อนนั่งมากับคนขับที่ตลอดทางจะขับกระชากไปมา  ทั้งยังมีท่าทางหลุกหลิก เธอนึกเอะใจว่าคนขับไม่ค่อยปกติหรือเปล่า แต่ก็พยายามคิดข่มความกลัวในใจว่าเดี๋ยวแป๊บเดียวก็ถึงที่พักแล้ว แต่แล้วก็สะดุ้งตื่นจากห้วงความคิด เมื่อรถเริ่มกระตุกซ้ำๆ และคนขับบอกเธอว่า “พี่ครับๆ รถผมน้ำมันใกล้จะหมดแล้วครับ” คุณหญิง “หมายถึงจะขับได้อีกนานแค่ไหนนะคะ” คนขับตอนว่า “จะหมดเดี๋ยวนี้เลยครับ” ยังไม่ทันสิ้นเสียงคนขับ รถมอเตอร์ไซค์ก็เริ่มชะลอตัว คนขับอาศัยขณะยังบังคับรถได้เบี่ยงรถเข้าข้างทาง และรถก็จอดนิ่งสนิทพอดี         คุณหญิงมองไปรอบๆ ตัว ณ ที่ที่คนขับพามาถึงจุดที่ใกล้ที่พักของเธอมากแล้ว คนขับถามเธอว่า “เหมือนใกล้ถึงแล้วนะ พี่รู้ไหมว่า แถวนี้มีปั๊มน้ำมันตรงไหนไหม”  คุณหญิงไม่รู้เพราะเธอไม่เคยขับรถใดๆ และบอกให้คนขับใช้ google map ค้นหาปั๊มน้ำมันที่ใกล้ที่สุด  แต่จังหวะที่คนขับรถกำลังขยายแผนที่ในจอโทรศัพท์  แบตโทรศัพท์มือถือของเขาก็ดับวูบไปทันที  จังหวะนั้นเอง วัยรุ่น ชาย 1 หญิง 2 ที่นั่งคุยกันอยู่ริมถนนก็เข้ามาทักว่า เกิดอะไรขึ้น มีอะไรให้ช่วยไหม เธอเลยบอกว่า รถน้ำมันหมด น้องวัยรุ่นผู้ชายจึงอาสาช่วยให้คนขับเกี่ยวรถของเขาไปหาปั๊มน้ำมัน          คุณหญิงมองไรเดอร์ที่เกี่ยวรถไปหาปั๊มน้ำมันแล้วก็หนักใจเพราะทั้งเธอและคนขับรถต่างแบตโทรศัพท์หมดแล้วจะติดต่อกันได้อย่างไร และจะมีปั๊มน้ำมันในระยะใกล้ๆ นี้หรือไม่ แล้วที่สำคัญเขาจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่เมื่อเห็นวัยรุ่นผู้หญิง 2 คน ที่นั่งรอด้วยอยู่ห่างๆ จึงพออุ่นใจขึ้นมาบ้าง         ผ่านไปราว 15 นาที คุณหญิงจึงตัดใจว่า จะโบกแท็กซี่ไปที่พักดีกว่าและจะติดต่อกับคนขับในวันรุ่งขึ้นเพื่อคืนหมวกกันน็อคให้เขาต่อไป ขณะที่ยืนเรียกแท็กซี่ น้องวัยรุ่นผู้ชายก็ขับรถกลับมา คุณหญิงดีใจคิดว่าคงได้เติมน้ำมันแล้ว แต่น้องวัยรุ่นผู้ชายกลับบอกว่า “รถผมมันใหญ่พี่ ตอนเกี่ยวมันลากไปเงอะงะๆ เขาเลยขอเข็นรถไปเอง หรือจะไปขอเกี่ยวรถคนอื่นไปต่อหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้ แต่ผมมารับเพื่อน แล้วจะไปกันแล้วนะพี่” แล้ววัยรุ่นทั้ง 3 คนก็ขับรถออกไป (อ้าวทิ้งกันเสียแล้ว) คุณหญิงยิ่งหนักใจ และยืนโบกแท็กซี่ต่อไป แท็กซี่ผ่านเธอไป 2 – 3 คัน ไม่มีคันไหนรับ อาจเพราะคนขับแท็กซี่ก็คงจะต้องกลัวผู้โดยสารที่มายืนโบกรถตอนเกือบจะตี 4 ด้วยเหมือนกัน จึงไม่มีคันไหนรับเลยสักคัน  ผ่านไปราว 40 นาที คนขับรถยังไม่กลับมา ไม่แน่ว่าถ้าเจอปั๊มน้ำมันแล้ว เขาอาจจะขอชาร์ทแบตโทรศัพท์ต่อก็ได้ นั่นแปลว่าเขาก็จะใช้เวลาต่อไป แต่...แล้วในที่สุดเขาก็ขับรถกลับมาพร้อมกับขอโทษขอโพยมากมายที่ปล่อยให้ต้องรอ         คุณหญิงทั้งกลัวที่ต้องยืนอยู่คนเดียวและโกรธคนขับที่ไม่เตรียมความพร้อมขณะทำงาน ทำให้ทั้งน้ำมันและแบตโทรศัพท์หมดและมีปัญหาแบบนี้   วันต่อมาเธอจึงขอเพื่อนดูประวัติคนขับ ตอนนี้โป๊ะแตก เธอพบว่า คนที่ขับไปส่งเธอเป็นคนละคนกับที่มีข้อมูลในบัญชีผู้ขับ  เพื่อนสาวของเธอยังบอกว่า “ถ้าไประยะไกล  เราไม่ชอบใช้แอปนี้นะ เพราะยังไม่ตรวจประวัติคนขับ” คุณหญิงคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากเพราะเท่ากับเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า คนขับรถที่ให้บริการอยู่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร จะเชื่อมั่นและปลอดภัยได้แค่ไหน แต่คุณหนิงยังไม่เชื่อเพื่อนเสียทีเดียว หลังจากนั้นเมื่อได้ใช้บริการ bolt อีก จึงถามขับเสมอๆ ประมาณเลียบเคียงหาข้อมูลว่า ถ้าตนเองอยากสมัครขับรถบ้าง ยากไหม คำตอบคือ “ไม่ยากเลยครับ ตอนนี้เขายังไม่ตรวจประวัติด้วย พี่รีบสมัครเลยครับ”           เธอหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า Bolt เปิดให้บริการขนส่งในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการสร้างภาพจำว่า ยกเว้นการเก็บค่าคอมมิชชันจากคนขับ ทำให้ค่าโดยสารถูกกว่าแอปอื่นๆ ถึง 20% โดยก่อนหน้านี้ ได้ให้บริการในโซนยุโรปและแอฟริกามาแล้ว   เธอไม่อยากเชื่อเลยว่าบริษัทที่ให้บริการระดับนานาชาติแบบนี้จะขาดการตรวจสอบคุณภาพของคนขับแบบร้ายแรงแบบนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องเล่านี้คุณหญิงได้สอบถามมายัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมข้อเสนอที่ฝากให้มูลนิธิช่วยดำเนินการต่อ คือ Bolt  ควรพัฒนาระบบสมัครคนขับ ให้สามารถคัดกรองคนขับที่มีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงเพิ่มเติมความปลอดภัยในเรื่องอื่นๆ เช่น มีข้อกำหนดให้คนขับ ต้องมีหมวกกันน็อคให้ผู้โดยสารสวมใส่ ทุกครั้งที่ให้บริการ  ข้อห้ามไม่ให้คนขับพาลูกหรือหลานไปด้วย  เนื่องจากรถจักรยานยนต์เป็นรถขนาดเล็ก ไม่เหมาะสมที่จะโดยสาร 3 คน และที่สำคัญเพื่อสิทธิความปลอดภัยของตัวเด็กเอง  เหล่านี้คือปัญหาที่คุณหญิงได้สังเกตและยังพบเจอได้เสมอ Bolt จึงควรเร่งพัฒนาปรับปรุงระบบ เพราะเมื่อเข้าไปกรอกสมัครเป็นผู้ขับตอนนี้จะพบว่ายังไม่มีข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยสักเรื่องเลย          เรื่องนี้ทาง มพบ.จะแจ้งต่อยังผู้ให้บริการและส่งเรื่องถึง กรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ปัจจุบัน (ธันวาคม 2565) กรมการขนส่งฯ ได้รับรองแอปบริการรถยนต์รับจ้างแล้วถึง 6 แอปอย่างถูกกฎหมาย ได้แก่ โรบินฮู้ด Robinhood , แกร็บ Grab , ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส Hello Phuket Service , เอเชีย แค็บ Asia Cab , บอนกุ Bonku และแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอป Airasia Super App   ถ้าผู้โดยสารพบความผิดปกติของคนขับทั้งพฤติกรรม ท่าทาง หรือการโกงใด ๆ สามารถงดจ่ายค่าโดยสารตามที่แอปพลิเคชันกำหนดได้ทันที พร้อมแจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กรมการขนส่งทางบก โทร.1584 ได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 โดนเก็บเงินค่ามอเตอร์ไซต์เกินราคา

การใช้บริการรถรับจ้างไม่ว่าจะรถมอเตอร์ไซต์ รถแท็กซี่ ฯลฯ นอกจากจะต้องระวังเรื่องความปลอดภัยแล้ว ก็คงไม่พ้นที่จะต้องระวังเรื่องการฉวยโอกาสคิดเงินเกินราคาของคนขับที่มีข่าวให้เห็นกันบ่อยๆ  ไม่ว่าจะชอบคิดเหมาๆ ไม่ยอมคืนเงินทอน หรือไม่กดมิเตอร์ เหมือนกับที่คุณน้ำตาล ซึ่งชอบนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆ เรื่องราวมีอยู่ว่าโดยปกตินั้นเธอมักจะนั่งรถมอเตอร์ไซต์ช่วงเย็นตอนกลับบ้านเนื่องจากมันสะดวกและเร็วดี วันเกิดเหตุเธอต้องแวะไปซื้อของที่ห้างใกล้บ้าน เธอจึงเลือกนั่งรถไฟฟ้าโดยให้เลยไปอีกหนึ่งสถานีซึ่งติดกันกับห้างสรรพสินค้า         เมื่อจัดการธุระซื้อข้าวของที่ห้างฯ อย่างสบายใจ ตอนกลับเธอก็เลือกกลับด้วยมอเตอร์ไซต์เพราะไม่อยากหิ้วของขึ้นรถไฟฟ้าย้อนกลับ จึงลงไปเข้าแถวเพื่อต่อรถวินเตอร์ไซต์กลับบ้าน พอถึงคิวก็บอกพี่วินว่าไป อพาร์ทเม้นท์.....ค่ะ  ครั้นพอมาถึงที่หมายปลายทางก็จ่ายพี่วินไป 30 บาท (เธอนั่งประจำ) แต่พี่วินบอก 35 บาทครับ ก็จ่ายไปโดยไม่คิดอะไร (ปกติ 30 บาท) เพราะตอนนั้นนึกว่าอาจจะขึ้นราคาแล้วก็ได้ก็น้ำมันมันแพง แต่...           “คือก็คิดว่าเรื่องราวจะจบลงไปแค่วันนั้นใช่ไหมคะ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นพออีกไม่กี่วันก็ไปขึ้นวินที่เดิมอีกแต่คราวนี้ยื่นแบงค์ 50 ไปพี่วินทอนมา 20 บาท”  อ้าว! ก็ 30 บาท เลยถามพี่คนขับ (คนละคนกับวันก่อน) ว่าวินขึ้นราคาแล้วไม่ใช่เหรอคะ พี่เขาก็ตอบว่าครับขึ้นราคาแล้วครับแล้วพี่วินก็ขี่รถไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เก็บเงินเธอเพิ่ม แม้จะงงๆ อยู่ แต่คุณน้ำตาลเชื่อว่า วันก่อนหน้านี้น่าจะคิดเกินราคาจริงแน่ๆ เพราะไม่ใช่ว่าเธอไม่เคยโดน สมัยตอนเป็นนักศึกษาเธอเคยโดนวินคิดเงินเกินราคาอยู่ แต่ที่ตอนแรกเธอไม่ได้เอะใจเพราะเธอไม่ได้นั่งนานแล้วจึงคิดอาจขึ้นราคาจริงๆ แต่พอมาเจออีกคันคิดแค่ 30 บาท จึงคิดขึ้นได้ว่าคงโดนซะแล้วววว  แถมตอนนี้จะให้ไปร้องเรียนกับใครก็คงไม่ได้เพราะเธอก็จำวินคันนั้นไม่ได้แล้ว จึงได้แต่มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้ระมัดระวังกันด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา                                   จริงๆ คุณน้ำตาลมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้บริโภคที่เจอประสบการณ์ดังกล่าวนั้น ได้ทราบถึงวิธีการร้องเรียนและแก้ไขปัญหาเพราะไม่อยากให้ปล่อยไปเหมือนคุณน้ำตาล เนื่องจากหากไม่ร้องเรียนวินมอเตอร์ไซต์บางที่ก็จะเอาเปรียบเราไปเรื่อยๆ ดังนั้นควรที่จะร้องเรียนเพื่อสิทธิของตนเอง วิธีการร้องเรียน มีดังนี้        1. จำเบอร์วินมอเตอร์ไซต์คันนั้นไว้ให้แม่น หรือ ชื่อ-นามสกุล        2.บันทึกทะเบียนไว้ หรืออาจจะถ่ายเก็บไว้ยิ่งดี        3.ควรจำเหตุการณ์ว่าเป็นวันไหน เวลาอะไร สถานที่เกิดเหตุที่ไหน        4. โทรไปร้องเรียนกับเบอร์ 1584 (กรมขนส่งทางบก) 24 ชั่วโมง และยังมีช่องทางอื่นๆ ได้แก่                4.1 Line ID “@1584dlt”                  4.2 เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/                4.3 E-Mail : dlt_1584complain@hotmail.com และ                4.4 เฟซบุ๊ก “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ”                      อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้บริการลองสอบถามราคาก่อนหรืออ่านป้ายแสดงราคา เพื่อไม่ให้พลาดพลั้งค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 พบเศษเชือกฟางในเมนู “ตำลึงผัดฉ่า”

        เจอกันบ่อยๆ อาหารที่สั่งจากดิลิเวอรี่มีของไม่พึงประสงค์มาอีกแล้วคุณน้ำตาลเข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เธอได้สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันสีชมพูเจ้าหนึ่งจากร้านย่านสุขุมวิท 34 โดยสั่งเมนู “ตำลึงผัดฉ่า” ซึ่งเป็นเมนูประจำที่เคยสั่งกับทางร้านและในอาหารก็มักจะเจอก้านตำลึงยาวๆ อยู่เป็นประจำซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ครั้งนี้ดันไม่ปกติ         ตอนที่เธอรับประทานเข้าไปแล้วสัมผัสในปากพบกับอะไรแปลกๆ ที่คิดว่าไม่น่าจะใช่ก้านตำลึงแน่ๆ คือมันเคี้ยวไม่แหลกเสียที จึงคายออกจากปากก็พบกับสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะคล้ายเชือกฟางเส้นบางๆ สีเขียว (เสียด้วย) ขนาดยาวเกือบครึ่งไม้บรรทัด หลังเจอเหตุการณ์ดังกล่าวเธอรีบติดต่อกับทางร้านเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบค่าเสียหายและการชดเชยเยียวยาทันที เพราะรู้สึกว่าถ้า ณ ตอนนั้นไม่เอะใจคายสิ่งแปลกปลอมออกมาแต่กลืนเข้าไปด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นก้านตำลึง อาจจะเกิดอันตรายต่อร่างกายหรือติดคอก็เป็นได้            ต่อมาเมื่อได้ติดต่อกับทางร้านอาหารเพื่อขอให้แสดงความรับผิดชอบ ผู้จัดการร้านอาหารดังกล่าวได้ยืนยันที่จะทำเพียงการคืนค่าอาหารและแจก Gift Voucher จำนวน 500 บาทให้เท่านั้น โดยพร้อมสาธยายถึงมาตรฐานวิธีการเด็ดผักของทางร้านให้ผู้ร้องฟังอยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้ร้องพยายามชี้แจงถึงความอันตรายของเส้นเชือกว่าหากรับประทานเข้าไปจะเกิดอันตรายอะไรได้บ้าง ทางร้านก็ได้บอกกลับผู้ร้องว่า “คงไม่ถึงขนาดนั้นหรอกมั้งครับ และนี่ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย”         น้ำตาลจึงคิดว่าการที่ร้านค้าประกอบอาหารให้ผู้บริโภครับประทานแต่เจอสิ่งแปลกปลอมที่อันตรายต่อผู้บริโภคแบบนี้ โดยที่ร้านอาหารดังกล่าวสามารถป้องกันได้แต่กลับประมาท ผู้ร้องจึงขอยื่นเรื่องให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือโดยต้องการเรียกร้องค่าเยียวยาการรับผิดชอบนี้เป็นจำนวนเงินที่ผู้ร้องเห็นว่าเหมาะสม แนวทางการแก้ไขปัญหา         เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อไปยังผู้ร้องเพื่อขอให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้กับทางสถานีตำรวจ เพื่อนำไปดำเนินการติดต่อการทางร้านอาหารและนัดไกล่เกลี่ย ต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปทางร้านอาหารดังกล่าวว่าได้ส่งหนังสือที่ขอเชิญเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย ทางร้านอาหารจะเข้าร่วมไหม? ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาว่า ไม่ขอเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย เพราะมั่นใจคุณภาพของร้านตนเองและผู้ร้องก็ไม่ได้รับประทานเข้าไปด้วย หากไม่พอใจในอาหารของร้านก็ยินดีคืนเงินให้กับผู้บริโภคตามที่บอกผู้ร้องไปตั้งแต่แรก        เมื่อนำคำตอบของร้านอาหารแจ้งกับผู้ร้อง และสอบถามว่ายังต้องการให้มีการเจรจาอีกหรือไม่ ผู้ร้องเองได้แจ้งว่าตนเองไม่สะดวกที่จะมาแล้ว อีกอย่างตอนนี้ตนเองก็ใจเย็นลงมาก เพราะในขณะเกิดเหตุการณ์นั้นค่อนข้างตกใจและไม่พอใจกับคำตอบของทางร้านอาหารเท่าไร ผู้ร้องจึงขอยุติเรื่องดังกล่าวไม่ขอดำเนินการต่อ พร้อมขอบคุณทางมูลนิธิฯ ที่ช่วยประสานงานให้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 หากลูกหนี้โดนข่มขู่ทวงหนี้ แจ้งความได้

        คุณชัดเจนเป็นลูกหนี้ที่ดีมาตลอด ถือคติ “ติดหนี้ ต้องจ่าย” แต่บังเอิญเกิดเหตุสภาพคล่องทางการเงินสะดุดอย่างสุดวิสัย จนชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนด ต่อมาเขาโดนโทรศัพท์ตามขมขู่ทวงหนี้แบบหยาบคายมากๆ เขาจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         เรื่องของเรื่องคือ คุณชัดเจนเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อบิ๊กไบท์มาในราคาประมาณ 300,000 บาท จากบริษัทลิซซิ่งแห่งหนึ่งต้องส่งค่างวดทั้งหมด 60 งวด งวดละ 5000 กว่าบาท ซึ่งเขาก็ส่งตรงกำหนดตลอด จนกระทั่งเขามีปัญหาทางการเงินอย่างกะทันหัน หมุนเงินไม่ทัน เขาจึงผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อมา 2 งวด หลังจากนั้นพนักงานของบริษัทรับจ้างทวงหนี้ สมมติชื่อบริษัท เอ็ม ก็โทรศัพท์ติดต่อมาทวงค่างวดรถที่เขายังค้างส่งอยู่ พนักงานคนนี้พูดจาหยาบคาย ข่มขู่ให้เขาเร่งจ่ายหนี้แบบไม่ไว้หน้ากันเลย แม้เขาจะเตือนอีกฝ่ายว่าการพูดทวงหนี้แบบนี้ผิดกฎหมายนะ แต่พนักงานก็ยังคงท้าทายและด่าเขาไม่หยุด เขาจึงอยากรู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพวกที่ทวงหนี้ผิดกฎหมายแบบนี้ได้บ้างแนวทางการแก้ไขปัญหา         ตาม “กฎหมายทวงหนี้” ที่ออกมาคุ้มครองลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ระบุไว้ ห้ามดุด่า พูดจาหยาบคาย หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3 ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดตามกฎหมายอาญา ถือเป็นการประจานหรือหมิ่นประมาท มีโทษขั้นต่ำจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        ในกรณีนี้ ได้แนะนำให้คุณชัดเจนไปแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ เพราะการกระทำของพนักงานจากบริษัททวงหนี้คนนี้เข้าข่ายการทวงหนี้ผิดกฎหมาย โดยให้อัดเสียงสนทนาในโทรศัพท์ที่พนักงานพูดจาข่มขู่ทวงหนี้หยาบคายเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน แล้วในวันที่ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อย่าเพิ่งบอกว่าตัวเองเป็นหนี้ เพราะตำรวจจะไม่รับเรื่อง แต่ให้บอกว่ามาแจ้งความในเรื่องทวงหนี้ผิดกฎหมาย         หากคุณชัดเจนไม่สะดวกจะไปแจ้งความ ก็ยังสามารถร้องเรียนไปได้ที่คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ ที่มีทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ เพื่อแจ้งการกระทำความผิดได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ไม่ให้สัญญากู้ยืมเงินแก่ผู้กู้ได้หรือไม่

        ปัจจุบันอัตราภาวะเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่ายภายในครอบครัว เงินสดทันใจก็เป็นที่พึ่งของใครหลายคนผู้ให้กู้ก็มีหลายเจ้า เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่...         ภูผามีค่าใช้จ่ายเพิ่มพูนขึ้นจำนวนมากเดือดร้อนหนักชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องการหาเงินมาหมุนเพื่อครอบครัวของเขาสามารถไปต่อได้ เขาเห็นโฆษณาของบริษัทสินเชื่อสีฟ้าแถวบ้าน ซึ่งมีสาขามากมายทั่วประเทศ ให้กู้ง่าย สะดวก รวดเร็ว แค่มีโฉนดที่ดินก็กู้ได้ ไม่ต้องจำนองด้วย เขาจึงลองเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทสินเชื่อสาขาใกล้บ้านเจ้านั้น เมื่อดูท่าทีว่ามีความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่และบริษัทสินเชื่อที่มีโฆษณาทางทีวี เขาจึงนำโฉนดที่ดินที่เป็นที่สวนของตัวเองเข้าไปกู้ยืมเงินกับบริษัทสินเชื่อ โดยเขากู้เงิน 150,000 บาท เซ็นชื่อในเอกสารของบริษัทเรียบร้อย มีการหักค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการอะไรต่างๆ ของบริษัทประมาณ 3,000 บาท เจ้าหน้าที่ของบริษัทก็ให้บัตรมาใบหนึ่งมีรายละเอียดว่าให้ชำระหนี้ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน หลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารเรียบร้อยสักประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากเขาจากบริษัท         หลังจากกู้เงินมาได้ 1 สัปดาห์ เขาก็เล่าให้ลูกชายว่าไปกู้เงินกับบริษัทสีฟ้ามา ลูกชายก็บ่นๆ เขา ว่าทำไมพ่อไม่บอก ไม่น่าไปกู้เงินมาเลย ลูกชายเขาจะได้หาทางช่วย ลูกชายขอพ่อดูสัญญากู้ เขาบอกว่าบริษัทให้บัตรรายละเอียดที่ต้องชำระเงินมา ไม่รู้ว่าบัตรนี้เรียกสัญญาไหม เมื่อเขาคุยกับลูกชายไปมาก็ถึงบางอ้อว่า เอกสารที่บอกว่ากู้เงินกี่บาท ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ต้องชำระยังไง เขาเรียกว่าสัญญา ก็คือเอกสารที่เขาได้เซ็นไปนั่นแหละ สรุปว่าภูผาไม่ได้สัญญากลับมา         พอเห็นว่าพ่อไม่ได้สัญญามาไว้กับตัว ลูกชายจึงให้เขาไปขอสัญญาเงินกู้กับบริษัทสินเชื่อ เมื่อภูผาไปขอสัญญาจากบริษัทฯ พนักงานบริษัทฯ ก็บอกว่าเดี๋ยวให้ๆ วันนี้กลับไปก่อนนะครับ จนเวลาได้ล่วงเลยมา 2 เดือนหลังจากกู้ยืมเงิน ลูกชายเขาเข้าใจว่าบริษัทในฐานะผู้ให้กู้ต้องให้สัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่วันที่ให้พ่อของเขากู้ไม่ใช่หรอ นี่ไปของสัญญากู้ตั้งนานแล้วทำไมยังไม่ได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ลูกชายของผู้ร้องเข้าใจถูกแล้วว่าเมื่อกู้ยืมเงินกันสัญญากู้ต้องทำเป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งผู้ให้กู้เก็บไว้ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ผู้กู้เก็บไว้ หรือทำสัญญาฉบับเดียวแล้วถ่ายสำเนาสัญญากู้ให้อีกพร้อมหนึ่งเก็บไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๔ ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดอย่างชัดเจนไว้ว่า “ผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญาเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินให้แก่ผู้บริโภคไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับทันทีที่ผู้บริโภคลงนามในสัญญา” ดังนั้นบริษัทสีฟ้าต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้ร้องทันทีเมื่อได้เซ็นสัญญากัน หากไม่ทำตามมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         ทั้งนี้ผู้ร้องสามารถดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงและให้บริษัทสินเชื่อส่งสัญญาให้ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 พบปีเตอร์ในอาหารเบรคโรงแรมเกือบสี่ดาว

        การพบแมลง อย่างแมลงวัน แมลงสาบในอาหารที่ผู้ให้บริการด้านอาหารเสิร์ฟมาให้เรารับประทานนั้น ไม่ว่าจะเป็นในร้านอาหารหรือโรงแรม นอกจากจะสร้างความรู้สึกไม่ดี ผะอืดผะอมแล้ว ยังพลอยทำให้หวั่นใจไปอีกว่า แล้วมาตรฐานด้านอื่นๆ ของผู้ให้บริการจะยังมีปัญหาตามมาด้วยหรือไม่ เรามาลองอ่านเรื่องของผู้บริโภครายนี้กัน         คุณแก้วตา มีภาระหน้าที่ซึ่งต้องจัดหาสถานที่เช่น โรงแรมหรือรีสอร์ตเพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าในการจัดเสวนา ประชุม อบรมต่างๆ เธอทำหน้าที่นี้มาหลายปีแล้ว พบเจอเหตุการณ์ทั้งดีและไม่ดีมาก็หลายแบบ อย่างเช่น การพบแมลงสาบในอาหารของโรงแรมที่เธอใช้จัดงานประชุมเมื่อสองสามปีก่อน ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่สร้างความไม่อภิรมย์ใจนัก เคยแก้ปัญหาด้วยการทำข้อตกลงกับทางโรงแรมดังกล่าวให้ออกหนังสือขอโทษพร้อมทำแนวทางการปรับปรุงบริการ แต่ก็ยังไม่วางใจจึงเลิกใช้บริการไปพักหนึ่ง         อย่างไรก็ตามด้วยความสัมพันธ์อันดีกับเซลล์ของโรงแรมดังกล่าว ประกอบกับสถานที่ของโรงแรมนี้ซึ่งมีจุดเด่นที่ผู้เข้าอบรมหลายท่านประทับใจ เธอจึงกลับมาใช้บริการอีกครั้ง คราวนี้วางแผนใช้งานไปถึงปี 2566 กันเลยทีเดียว ทว่ากลับมาใช้บริการครั้งแรก (หลังจากหยุดใช้ไป) ก็เจอปีเตอร์ ซึ่งเรามักใช้แทนการเรียก “แมลงสาบ” ในอาหาร กับขนมเบรคของงานวันแรก “อยากจะร้องให้เลยค่ะ ไม่คิดว่าโรงแรมที่กำลังจะเข้าขอรับเป็นโรงแรมระดับสี่ดาว จะบกพร่องร้ายแรงแบบนี้” คุณแก้วตายังเล่าให้ฟังอีกว่า ยังมีหลายเรื่องที่พบว่าบริการของโรงแรมบกพร่อง เช่น การทำความสะอาดห้องพัก ก็พบว่าอุปกรณ์หลายอย่างไม่สะอาด เช่น ผ้าเช็ดตัว ไม้เช็ดหู ฯลฯ “อันนี้ผู้เข้าอบรมได้เล่าให้ฟัง” คุณแก้วตาเองก็กำลังพิจารณาว่า คงจะยกเลิกการจองโรงแรมนี้สำหรับงานอบรมปีหน้าแล้ว แม้ว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะชอบบรรยากาศของโรงแรมมากแค่ไหนก็ตาม          “แต่ก็ไม่อยากปล่อยไปแบบนี้นะคะ เหมือนว่าข้อตกลงที่เคยทำกันไว้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ดิฉันสามารถทำอะไรได้บ้างค่ะ กรณีแบบนี้” คุณแก้วตาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ความสะอาดในอาหารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคำนึงมากที่สุดเมื่อต้องการรับประทานอาหารนอกบ้าน ทั้งในร้านอาหาร หรือโรงแรมที่มีบริการด้านอาหาร กรณีของคุณแก้วตา หากต้องการให้ผู้บริการชดเชยเยียวยาสามารถทำได้ทันที โดยการประสานกับทางผู้ให้บริการในระดับหัวหน้าหรือผู้รับผิดชอบที่ดูแลด้านลูกค้าสัมพันธ์ โดยการเก็บหลักฐานเช่น ภาพถ่าย ชิ้นอาหารที่พบการปนเปื้อน ฯลฯ ที่แสดงได้ว่าผู้บริโภคไม่ได้มีเจตนาใส่ร้าย และรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ให้บริการ เช่น การชดเชยด้วยการไม่คิดค่าบริการ หรือทำอาหารให้ใหม่ หรืออื่นใด ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบ ในกรณีที่รับประทานไปแล้ว อาจต้องรวมถึงการเข้ารับการตรวจสุขภาพเพราะอาจเกิดปัญหาอาหารเป็นพิษตามมา ทางผู้ให้บริการต้องแสดงเจตนาว่ารับผิดชอบในส่วนค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในการรักษาพยาบาล         อย่างไรก็ตามในกรณีของคุณแก้วตา มิได้ต้องการเรื่องการชดเชยเยียวยา และยังไม่ได้รับประทานอาหารที่พบว่ามีแมลงสาบปนอยู่ด้วย แต่ต้องการให้ทางโรงแรมได้มีการรับผิดชอบด้วยการแสดงออกว่าจะมีการปรับปรุงระบบบริการ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานดูแลความสะอาดในส่วนของอาหาร จึงแนะนำว่า ให้คุณแก้วตาร้องเรียนไว้กับทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และให้มีการเจรจากันระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคนกลาง หรืออาจร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะความสะอาดของอาหารและอื่นๆ ในโรงแรมก็ถือเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ผู้บริโภคต้องได้รับจากงานบริการด้านนี้         อันที่จริงคุณแก้วตาจะแบนโรงแรมนี้ไปตลอดเลยก็ย่อมทำได้ แต่เพราะการร้องทุกข์มิใช่เพียงแค่ต้องการการชดเชยเยียวยา แต่เป็นการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดแก่ผู้บริโภคคนอื่นๆ การร้องทุกข์ลักษณะนี้จึงมิควรปล่อยไปเพียงเพราะเห็นว่า จบที่เราก็พอแล้วหรือการว่ากล่าวในสังคมโซเชียลมีเดียด้วยอารมณ์ ซึ่งอาจนำมาถึงการฟ้องร้องเป็นคดีความกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 พบพลาสติกในถุงบ๊วยสามรส

        อาหาร ขนม หรือผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพต่างๆ ที่มีขายในร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าทั่วไป คนส่วนมากจะมั่นใจว่าขั้นตอนในการผลิตนั้นจะต้องปลอดภัยแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่ามีมาตรฐานการผลิตหรือ อย. รับรองอยู่ แต่บางครั้งก็อาจจะมีผิดพลาดกันได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร มาดูกัน         คุณน้ำตาลได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์สินค้า “บ๊วยสามรส” ชื่อให้อารมณ์ประมาณกินแล้วตื่นแน่นอน โดยเรื่องมีอยู่ว่า วันนั้นเธอไปซื้อบ๊วยยี่ห้อโปรดที่เธอกินเป็นประจำจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อได้บ๊วยของโปรดมาก็นำกลับบ้าน ตอนที่เธอแกะบ๊วยและส่งเข้าปาก ในขณะที่กำลังเคี้ยวๆ บ๊วยสุดโปรดนั้น ก็พบว่า ทำไมมีสัมผัสแปลกๆ แข็งๆ อยู่ในปาก ตอนนั้น “ตกใจมาก”         เมื่อคายสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมาดูก็ต้องเจอกับพลาสติกขนาด 1 เซนติเมตร (ซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากห่อบ๊วย) คุณน้ำตาลคิดในใจ “ดีนะ ที่ไม่กลืนไปเสียก่อน” เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบคุณน้ำตาลจึงได้โทรศัพท์ไปร้องเรียนกับทางผู้ผลิตสินค้า เพื่อตามหาความรับผิดชอบ        ทางบริษัทไม่ได้ปฏิเสธแต่แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้ว่า บริษัทฯ จะติดต่อกลับพร้อมมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษให้คุณน้ำตาลเพื่อเป็นการเยียวยา ซึ่งคุณน้ำตาลคิดว่าน่าจะไม่ใช่แบบนี้ แค่นี้ก็พอหรือ คุณน้ำตาลต้องการให้ทางบริษัทแสดงความรับผิดชอบโดยจ่ายเป็นเงินเยียวยาพร้อมทั้งคำขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรของบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อคุณน้ำตาลเจรจากับทางบริษัทก็ยังหาขอสรุปไม่ได้สักที เนื่องจากทางบริษัทยืนยันที่จะชดเชยโดยการมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษเพียงเท่านั้น จึงได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา                ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ติดต่อไปทางบริษัทเพื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้ตอบกลับมาว่า ได้มีผู้คนมาร้องเรียนกรณีดังกล่าวและได้เรียกเงินชดเชย 5,000 บาทจริง อย่างไรก็ตามทางบริษัทมองว่ามากเกินไป ยืนยันจะให้กระเช้าพร้อมกับคำขอโทษเหมือนเดิมหรือถ้าหากไม่เอากระเช้าก็จะขอชดเชยเยียวยาเงินคืนให้เท่ากับราคาสินค้ามากกว่าเดิมประมาณ 5 เท่า ถุงละ 120x5 = 600 บาท         เมื่อทางมูลนิธิฯ ได้รับข้อมูลดังนั้น จึงโทรไปสอบถามทางผู้ร้องอีกรอบ ซึ่งผู้ร้องก็ยังคงยืนยันที่ต้องการให้บริษัทชดเชยเงินเยียวยาจำนวน 2,000 - 5,000 บาท พร้อมทำหนังสือขอโทษส่งมาทางอีเมลหรือเฟซบุ๊ก หลังจากแจ้งเจตนาของผู้ร้องและประสานงานเพื่อไกล่เกลี่ยกันแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตยอมรับข้อเสนอโดยตกลงว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ทางผู้เสียเป็นเงิน 2,000 บาท พร้อมทั้งผู้ผลิตฝากขอโทษไปถึงผู้ร้องอีกรอบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อันเป็นว่าจบไปได้โดยดี         อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวถึงขั้นได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เมื่อต้องเข้ารับการรักษาควรที่จะต้องขอใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและเก็บไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ ถ้าผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวก็ควรที่จะเรียกร้องสิทธิและค่าชดเชยเยียวยา เพราะหากผู้ผลิตรับทราบก็จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 โฆษณาลวงจนเข้าใจผิด หลงเชื่อซื้อบัตรเข้าชมละครเวที

        การโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง ย่อมทำให้เกิดเรื่องร้องเรียนมากมายตามมาเมื่อผู้บริโภคไม่ยินยอมที่จะโดนหลอกลวง  เหตุล่าสุดที่ร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคือ  การโฆษณาขายบัตรเข้าชมการแสดงอัน“เกินจริง” จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและตัดสินใจซื้อบัตรเข้าชมการแสดงดังกล่าว          คุณณัฐ ได้เข้ามาร้องเรียนและขอให้มูลนิธิช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจากับบริษัทผู้จัดการแสดง เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่มีนาคม ปี 2565 (บริษัทเริ่มขายบัตรในเดือนมีนาคม) จนกระทั่งจัดการแสดงขึ้นในวันที่ 3-19  มิถุนายน ทั้งสิ้นกว่า 46 รอบ         เหตุของความเข้าใจผิดจากการโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่บริษัทดังกล่าวได้อ้างอิงผลงานของอีกบริษัทหนึ่งที่เคยจัดการแสดงอันเป็นที่น่าจดจำ ประทับใจจนมีผู้รอชมการแสดงอยู่เป็นจำนวนมาก โดยบริษัทผู้จัดอ้างว่า เป็น 1ในผู้ก่อตั้งบริษัทที่เคยจัดการแสดงอันเลื่องชื่อดังกล่าว แต่ได้แยกออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่สำคัญบริษัทผู้จัดยังสามารถใช้พื้นที่ facebook ของอีกบริษัทในการประชาสัมพันธ์ได้  ประการต่อมา การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อขายบัตรเข้าชมผู้ซื้อบัตรยังรู้สึกว่า เข้าข่ายเป็นการโฆษณาเกินจริง   เพราะใช้คำบรรยายที่สร้างความคาดหวังสูง เช่น ‘จัดโดยทีมงานชั้นนำของประเทศ’  พรรณาเทคนิคการแสดงที่ดีเลิศ เช่น ‘เทคนิค Immersive Musical Theater + Deep Experience & Learning  + Spatial Entertainment Design สุดพิเศษที่แรกของโลก’ ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อเข้าชมการแสดงแล้วไม่ได้เห็นการแสดงเป็นไปตามคำที่โฆษณา และต่างจากตัวอย่าง Treasure  3D ที่โฆษณาในเฟซบุ๊ก         คุณณัฐจึงชักชวนและรวมกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด เข้าข่ายหลอกลวง ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 และขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยเป็นผู้ร่วมเจรจา ซึ่งจนถึงวันที่เข้ามาไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิมีรายชื่อผู้เสียหายมีมากกว่า 41 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 แสนบาท          นอกจากคุณภาพการแสดงจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจนรู้สึกว่าถูกหลอกลวงแล้ว มีรายละเอียดอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอีกหลายอย่าง เช่น ความหละหลวมในการตรวจ ATK ระหว่างจัดการแสดงทั้งที่ประกาศไว้ว่าจะดำเนินการ  รวมถึงการที่ทางทีมผู้จัดการแสดงไม่สื่อสารและหลีกเลี่ยงที่จะตอบข้อสงสัย คำถามต่างๆ ที่ผู้ซื้อบัตรได้ถามเข้ามา ปล่อยปละล่วงเลยจนถึงวันจัดการแสดง และเมื่อมีการรวมตัวของผู้ไม่พอใจจำนวนมากก็ยังไม่สื่อสารโดยตรง แต่ได้แต่งตั้งผู้แทนมารับฟังและเปลี่ยนตัวแทนหลายครั้งจนเรื่องราวไม่คืบ นำสู่การไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิฯ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ก่อนการเจรจามูลนิธิฯ แนะนำให้กลุ่มผู้เสียหาย รวมรวมข้อเสนอที่ต้องการให้บริษัทผู้จัดการแสดงดำเนินการให้ชัดเจน ซึ่งหลังจากวันที่ได้ไกล่เกลี่ยกัน คุณณัฐและกลุ่มผู้เสียหายได้ส่งหนังสือเรียกร้องและรวบรวมข้อเสนอออกมาได้อย่างชัดเจนหลายประการ มูลนิธิจึงได้ทำหนังสือถึงบริษัทผู้จัดการแสดง ขอให้แก้ไขปัญหาแก่กลุ่มผู้เสียหาย 3 ข้อ ดังนี้           1. ให้บริษัททำหนังสือขอโทษและชี้แจงข้อคำถามของกลุ่มผู้เสียหาย          2. ให้คืนเงินค่าบัตรชมการแสดงคืนแก่ผู้ร้องที่มีหลักฐานยืนยันเต็มจำนวน         3. ให้ชดใช้ค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกิดจากการชมการแสดง เช่น ค่าเดินทาง เป็นต้น           โดยระบุให้บริษัทแจ้งผลการดำเนินการให้มูลนิธิได้รับรู้ภายใน 15 วันหลังจากที่ได้รับหนังสือ หากบริษัทไม่อาจชี้แจง หลีกเลี่ยงหรือไม่ดำเนินการใดๆ กลุ่มผู้เสียหายก็จะยกระดับการดำเนินการในขั้นต่อไป           กรณีนี้ มูลนิธิเห็นว่า กลุ่มผู้เสียหายได้รวบรวมข้อเท็จจริง หลักฐานต่างๆ ไว้ได้อย่างละเอียด ทำให้คำว่า ‘ไม่พอใจคุณภาพของการแสดง’ ที่เป็นนามธรรม ออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ในส่วนของบริษัทผู้จัด ขอฝากไว้ว่าเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ความตั้งใจที่จะสื่อสาร อธิบายข้อเท็จจริงกับผู้เสียหายย่อมช่วยลดปัญหาไม่ให้บานปลายได้แน่นอน  จึงนำมาเล่าต่อกันเพราะการร้องเรียนกรณีการจัดแสดงทางศิลปะเกิดขึ้นไม่บ่อยและเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้บริโภคย่อมสามารถใช้สิทธิเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของตนเองได้เช่นกัน   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ดื่มน้ำวิตามินวอเตอร์ยี่ห้อดังแล้วท้องเสีย อาเจียน

        แม้ในน้ำดื่มบรรจุขวดปิดสนิทก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนได้ ผู้บริโภคควรสังเกตลักษณะของสี ตะกอนและกลิ่นของน้ำ ก่อนดื่มทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย         คุณรัชเป็นคนหนึ่งที่เผลอดื่มน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าไป เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เธอดื่มน้ำวิตามินยี่ห้อดัง โดยเปิดขวดใหม่แล้วดื่มทันทีไม่ทันได้สังเกตอะไร แต่พอดื่มแล้วกลับได้กลิ่นน้ำในขวดนั้นเหม็นคล้ายสารเคมีมากๆ เมื่อลองดมน้ำในขวดให้แน่ใจอีกที เธอก็เริ่มปวดศีรษะนิดๆ พอยกขวดขึ้นส่องดู ก็เห็นตะกอนลักษณะเป็นวุ้นลอยอยู่ในขวดชัดเจน จึงหยุดดื่มทันทีแต่หลังจากดื่มน้ำขวดนี้ไปประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง เธอก็ท้องเสียและอาเจียน         โชคดีที่คุณรัชมีการอาการเพียงเล็กน้อย จึงไม่ต้องไปหาหมอ เมื่ออาการดีขึ้นเธอก็โทร.ไปเล่าเรื่องให้บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มวิตามินยี่ห้อดังนี้รับรู้ ซึ่งทางบริษัทฯ ชี้แจงเบื้องต้นว่าตะกอนที่เห็นนั้นเป็นของดอกเก๊กฮวยที่ผสมมากับน้ำ ส่วนเรื่องกลิ่นนั้นยังบอกไม่ได้ว่าคืออะไรกันแน่ ทางบริษัทจึงขอติดต่อเข้ารับตัวอย่างน้ำดื่มขวดที่มีปัญหานั้นไปตรวจสอบให้แน่ชัดอีกที         คุณรัชรู้สึกว่าสิ่งที่เจือปนมากับน้ำอาจไม่ผ่านมาตรฐานแน่และไม่น่าใช่อย่างที่บริษัทฯ ชี้แจง จึงสอบถามเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านช่องทางไลน์ว่าตนเองควรจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร           แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ สอบถามเพิ่มเติมคุณรัชได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่าทางบริษัทฯ มารับตัวอย่างน้ำดื่มกลับไปตรวจสอบแล้ว พร้อมมอบน้ำดื่มเพื่อชดเชยแก่คุณรัชไว้ 3 แพ็ค เป็นการขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน ทางบริษัทฯ ได้ส่งผลตรวจมาให้ พบว่าในน้ำดื่มมีแบคทีเรียที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เจือปนอยู่ด้วยจริง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอท้องเสียและอาเจียนหลังจากดื่มน้ำ         ในเบื้องต้น ทางมูลนิธิฯ จึงแนะนำให้คุณรัชนำหลักฐานทั้งหมดที่มีไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจใกล้บ้านและให้ทำหนังสือถึงบริษัทฯ เพื่อแจ้งว่ามีสิ่งเจือปนในน้ำดื่ม ขอให้ทางบริษัทฯ แจ้งกลับมาว่าสิ่งเจือปนในน้ำดื่มนั้นคืออะไรและเรียกร้องขอค่าชดเชยจากกรณีดังกล่าวตามสมควรได้

อ่านเพิ่มเติม >