ฉบับที่ 106 แก้หนี้นอกระบบ ต้องพบตำรวจดีที่สุด

คุณพรมีอาชีพค้าขาย โดยปกติของคนที่ประกอบอาชีพนี้ซึ่งมีกิจการไม่ใหญ่โตอะไรนักจะไปขอกู้เงินเพื่อลงทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จึงเป็นธรรมดาที่ต้องมีการพึ่งพาเจ้าหนี้นอกระบบบ้าง ทั้งๆ ที่รู้ว่าดอกมันโหดแสนโหด แต่เพื่อความอยู่รอดก็ต้องยอมคุณพรไปทำสัญญาเงินกู้กับคนรู้จักกัน และก็เป็นปกติของพวกปล่อยกู้ที่จะอ้างว่าผู้หนุนหลังเป็นคนมีสีหรือผู้มีอิทธิพลลักษณะใดลักษณะหนึ่ง สำหรับเจ้าหนี้รายนี้อ้างว่ามีสามีเป็นตำรวจทางหลวง คุณพรตกลงทำยอดกู้ 30,000 บาท ถูกหักเป็นค่าดำเนินการ 18,000 บาท ได้รับเงินจริง 12,000 บาท ทางผู้ให้กู้ให้ทำสัญญาเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ผู้กู้ต้องจ่ายเงินคืนรายวันๆ ละ 180 บาท โดยคุณพรได้ชำระมากว่า 7 เดือนแล้ว แต่หลักฐานทั้งหมดอยู่กับเจ้าหนี้ต่อมาคุณพรได้ติดต่อกับเจ้าหนี้บอกว่าจะขอคืนเงินต้น 20,000 บาทได้ไหมแล้วปิดบัญชีกัน แต่ทางเจ้าหนี้ไม่ยอมบอกต้องชำระเต็ม 30,000 บาทตามสัญญา ถ้าหากยังไม่ชำระเงินต้นคืนก็ต้องจ่ายดอกรายวันไปจนกว่าจะมีเงินต้น 3 หมื่นบาทมาคืนให้เจ้าหนี้“เมื่อครู่นี้เองค่ะน้อง พี่ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหนี้รายนี้ เขาบอกว่าจะส่งตำรวจมาเก็บเงินให้เตรียมไว้ ถ้าไม่เคลียร์ต้องมีเรื่องแน่นอน ตอนนี้พี่กับสามีพี่ไม่กล้าอยู่ที่บ้านแต่ห่วงแม่ที่เฝ้าบ้านอยู่ จะทำอย่างไรดีน้อง” คุณพรโทรศัพท์เข้ามาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่คาบเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั้งเรื่องการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายและการข่มขู่ กรรโชก สิ่งที่ควรทำโดยทันทีคือ การไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุครั้งแรกที่คุณพรได้รับคำแนะนำ ก็คิดเหมือนกับลูกหนี้นอกระบบโดยทั่วไปว่าเจ้าหนี้มีคนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้องไปแจ้งความกับตำรวจจะได้เรื่องได้ประโยชน์อะไร แต่ท้ายสุดได้ลองทำตามคำแนะนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท กลับพบสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจร้อยเวรให้บริการด้วยความประทับใจ ทั้งรับแจ้งความและช่วยสืบเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเจ้าหนี้นอกระบบรายนี้ด้วย ซ้ำยังให้นามบัตรและเบอร์มือถือส่วนตัวให้อีก พร้อมกับแจ้งกับคุณพรว่า ให้ติดต่อได้ทันทีหากเจ้าหนี้ส่งคนไปคุกคามท้ายที่สุดเจ้าหนี้รายนี้เมื่อรู้ว่าจะต้องเจอตำรวจตัวจริงเข้า ก็ยอมที่ยุติเรื่องตกลงเรียกเก็บหนี้ตามที่ตกลงกันไว้แต่แรกเท่านั้น ไม่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยรายวันอีกต่อไป เพราะรู้ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายและอาจติดคุกได้ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีจริง ๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 ช่วยทำให้คนไม่คิดก่อหนี้ด้วยนะรัฐบาล

คงต้องยอมรับกันว่าปัจจุบันเรื่องหนี้ๆ โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ใช่หนี้ในระบบสถาบันการเงิน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หนี้นอกระบบ” นั้น มีการกระพือโหมข่าวนี้กันมากในสื่อสารมวลชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข่าวทีวีและหนังสือพิมพ์ มีการนำเสนอให้เห็นถึงการคิดดอกเบี้ยกันแบบบ้าระห่ำชนิดว่าบ้านนี้เมืองนี้มันไม่มีขื่อมีแปกันเลยทีเดียว รวมถึงวิธีการทวงหนี้แบบมหาโหด ทั้งชกต่อยเตะตี และสุดท้ายของความรุนแรงคือ ถึงกับฆ่าแกงกัน จนทำให้รัฐบาลก้นร้อนนั่งไม่ติดต้องหาวิธีด้วยการหยิบยกปัญหาหนี้นอกระบบ ขึ้นมาเป็นปัญหาระดับชาติ โดยกระทรวงการคลังแอ่นอกมารับเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาการออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ให้พ้นทุกข์พ้นร้อนจากวังวนดอกเบี้ยมหาโหดนั้นคือ ให้สถาบันการเงินในระบบเข้ามาช่วยเหลือ โดยให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถกู้เงินไปใช้หนี้ได้และมาเป็นหนี้สถาบันการเงินแทนในราคาดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและระยะเวลาการผ่อนชำระก็ยืดเวลาให้ยาวขึ้น เรียกว่ามาตรการครั้งนี้ น่าจะสามารถช่วยให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากขอบเหวแห่งความทุกข์ร้อนของกระบวนการหนี้นอกระบบได้ เรียกง่ายๆ ว่า หลุดพ้นจากขุมนรกกันเลยทีเดียวก็ว่าได้ผู้เขียนเห็นมาตรการนี้แล้วก็รู้สึกโล่งอกโล่งใจและชื่นใจแทนลูกหนี้เหล่านั้น และนึกขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกระดับแบบได้ใจกันไปเต็มๆ กันเลยล่ะ (นี่ชมนะ ชมจริงๆ) แต่มีอยู่วันหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสระผมที่ร้านแห่งหนึ่งแถวสมุทรสงคราม พอดีในร้านนั้นมีคนนั่งพูดคุยกันอยู่เรื่องหนี้นอกระบบและการช่วยเหลือของรัฐ ก็เลยนั่งฟังเขาคุยกันจับใจความได้ว่า ดีจังเลยที่รัฐบาลช่วยเหลือในครั้งนี้ธนาคารออมสินก็ดี๊ดีๆให้เรากู้ง่ายมากแค่เรารวมกลุ่มกันไป 3 คน และค้ำประกันกันเองก็กู้ได้แล้ว งวดแรกเขาให้กู้คนละสองหมื่น หากเรามีประวัติดีเขาจะเพิ่มให้เป็นคนละห้าหมื่น แต่ในกลุ่มเราต้องส่งตรงเวลานะอย่าให้เสียประวัติ ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่เพิ่มวงเงินให้ ตอนนี้เอาไปใช้หนี้นอกระบบได้แล้วโล่งไปเลยดีจัง ผู้เขียนก็เลยถามเขาว่าทำไมถึงต้องกู้นอกระบบล่ะ เขาบอกว่าก็ตอนแรกลงทุนค้าขายมันไม่มีเงินทุนก็เลยต้องกู้เขา ก็คิดว่าจะส่งทันแต่มันขายของไม่ดีการส่งเลยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้เขียนก็พยักหน้าแบบเข้าอกเข้าใจกันแหละ สักพักเขาก็เปลี่ยนเรื่องคุยตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ตั้งใจฟังแต่มาสะดุดตรงที่ เสียงเจ้าของร้านคุยว่า แหม..เมื่อคืนดวงไม่ดีเสียป๊อกเด้งไปสามพัน เดี๋ยวคืนนี้แก้ตัวใหม่ เสียงอีกคน(ที่คุยเรื่องเป็นหนี้นอกระบบ)ก็ตอบมาว่าฉันก็ดวงไม่ดีงวดนี้ตาม 41 ไป 2,000 บาท ไม่กระทบเลย งวดหน้าเอาใหม่ ผู้เขียนฟังแล้วอึ้งทึ่งไปเลย...อะไรเนี่ย เมื่อกี้ยังคุยเรื่องความทุกข์ของการเป็นหนี้อยู่เลย แป๊บเดียวคุยเรื่องการพนันกันและ โอ้ย..ยังงี้เขาจะหลุดพ้นวังวนของการเป็นหนี้ได้อย่างไร หากลูกหนี้เหล่านั้นยังไม่มีวินัยในการใช้จ่ายเงินสุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นการกลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีกจนได้ ดังนั้นหากรัฐบาลจะช่วยเขาคงไม่ใช่แค่หาแหล่งเงินกู้ให้ใหม่เหมือนที่ทำอยู่ แต่คงต้องมีการฝึกอบรมวินัยการบริหารจัดการเงินรวมถึงวิธีคิดให้เขาด้วย ไม่อย่างนั้นการช่วยเหลือของรัฐคงเป็นได้แค่ไฟไหม้ฟาง สุดท้ายเขาเหล่านั้นก็ต้องกลับไปเป็นลูกหนี้นอกระบบอีกเหมือนเดิม หากจะช่วยเขาจริงคงต้องคิดมากกว่านี้นะ รัด-ทะ-บาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ทวงหนี้โหดจาก สนง.กฎหมายของ เอไอเอส

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) เป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคม ที่ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความไว้วางใจในการเลือกใช้บริการ โดยบริการหลายอย่างต้องถือว่ามีคุณภาพมาก แต่ยกเว้นอยู่อย่าง คือมารยาทในการติดตามทวงถามหนี้ของสำนักงานกฎหมายที่ทำงานให้ต้องถือว่าอยู่ในขั้นด้อยพัฒนาเอามากๆคุณธิติวัฒน์ ได้รับหนังสือติดตามทวงถามหนี้ที่เต็มไปด้วยข้อความ ข่มขู่ คุกคาม จากสำนักงานกฎหมายเซนิท ลอว์ จำกัด ซึ่งทำงานทวงหนี้ให้กับเอไอเอสเริ่มจาก การประทับตราแดงด้วยข้อความขนาดใหญ่ “ด่วนที่สุด” และ “เอกสารสำคัญเลขที่......./2552 และขึ้นหัวจดหมาย เรื่อง “ขอให้ชำระหนี้ก่อนบังคับคดี” (ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง)สำหรับเนื้อหาในจดหมายทวงหนี้ก็ด้อยพัฒนาเอามากๆ“ตามที่ท่านได้ค้างชำระค่าบริการโทรศัพท์กับบริษัทฯ ทางสำนักงานฯ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า บัญชีรายชื่อของท่านได้ถูกตรวจสอบและพิจารณาให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”เท่านี้ยังไม่พอ ข้อความข่มขู่กดดัน ยังสำรอกออกมาอีกหลายขยอก“ท่านต้องถูกบังคับคดี โดยทางสำนักงานจะนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปยังบ้านที่ท่านมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อทำการยึดทรัพย์ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นของท่านหรือไม่ก็ตาม...และนำทรัพย์สินที่ยึดได้ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ที่ค้างชำระ”พร้อมกับใส่ข้อความในลงเว็บว่า “(ซึ่งถ้าหากทรัพย์ที่ยึดไม่ใช่ของท่าน เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงจะต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ไปร้องขัดทรัพย์ที่ศาล)” ที่หนักหนาสาหัสคือการกำหนดเวลาชำระหนี้ด้วยข้อความว่า “หากท่านต้องการระงับข้อพิพาท ทางสำนักงานให้โอกาสสุดท้ายกับท่าน(ดูเหมือนใจดีมาก) โดยท่านต้องชำระหนี้ภายใน 24 ชั่วโมง นับจากวันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือฉบับนี้...”หากคุณธิติวัฒน์เป็นหนี้จริง ก็ต้องกัดฟันทนคำข่มขู่ คุกคาม ดังกล่าว แล้วพยายามหาเงินมาใช้หนี้ให้ทันตามเวลาที่ถูกกำหนดมาให้ (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีใครทำได้หรอกครับ) แต่ข้อเท็จจริงคือว่า คุณธิติวัฒน์ ไม่เคยเปิดใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกทวงหนี้มา จึงเป็นเรื่องที่ต้องร้องเรียนมาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยจัดการให้แนวทางแก้ไขปัญหาไม่ว่าผู้บริโภคจะเป็นหนี้ค่าโทรศัพท์จริงหรือไม่ การออกจดหมายทวงหนี้ก็ควรเป็นเพียงการแจ้งยอดหนี้และช่องทางในการชำระหนี้เท่านั้น ไม่ควรจะมีลักษณะเนื้อหาของการข่มขู่กดดันในลักษณะใด ๆ ทั้งสิ้น และเมื่อผู้บริโภคถูกทวงหนี้ค่าโทรศัพท์ที่ตนเองไม่ได้เปิดใช้บริการ หรือเปิดใช้บริการแต่ค่าโทรศัพท์ไม่ถูกต้องตรงตามที่มีการใช้งานจริง ผู้บริโภคไม่ควรใช้วิธีร้องเรียนผ่านทางคอลเซนเตอร์ของบริษัทผู้ให้บริการอย่างเดียวครับ ควรทำเป็นหนังสือทักท้วงการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว หากผู้บริโภคไม่ได้เปิดใช้บริการก็ให้ปฏิเสธโดยทันทีว่าตนมิได้เป็นผู้เปิดใช้บริการ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่าถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าผู้บริโภคเป็นผู้เปิดใช้บริการหรือได้ใช้บริการโทรศัพท์จริงหรือไม่ หากไม่สามารถหาข้อมูลหลักฐานมายืนยันพิสูจน์ได้ก็ไม่สามารถมาเรียกเก็บหนี้กับผู้บริโภคได้หลังจากที่มูลนิธิฯ ได้ช่วยทำจดหมายร้องเรียนไปยังเอไอเอสแล้ว เอไอเอสจึงได้มีหนังสือตอบรับกลับมาโดยทันทีว่ากำลังตรวจสอบข้อมูลหลักฐานอยู่ และหากไม่สามารถหาข้อมูลมายืนยันว่าคุณธิติวัฒน์เป็นผู้เปิดใช้บริการโทรศัพท์รายเดือนหมายเลขนี้จริงภายใน 60 วันนับแต่ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนก็ถือว่าสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บหนี้ส่วนนี้ไปทันที  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ฉันทนาถูกผีสวมสิทธิเบิกเงิน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของลูกจ้างแรงงานโชคร้ายที่ถูกผีสวมสิทธิจนเกือบไม่ได้ใช้สิทธิประกันสังคมคุณกิตติมา สาวใหญ่วัย 48 ปี ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตชุดชั้นในแห่งหนึ่ง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับโรงพยาบาลนวมินทร์ 2 ได้ร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา เห็นทางโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นป้ายว่า บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี ตามโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดทั่วประเทศพอทำเรื่องลางานได้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 จึงเดินทางไปที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ตั้งใจจะไปใช้สิทธิตรวจรักษา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์พบว่า ตนได้ใช้สิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 และวันที่ 18 มีนาคม 2552 ซึ่งข้อมูลนี้ถูกบันทึกโดยโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาฟรีได้สำหรับปี 2552คุณกิตติมา รู้สึกแปลกใจ และไม่ทราบว่า ทางโรงพยาบาลอ้างสิทธิของตนได้อย่างไร เพราะในปี 2552 ตนยังไม่ได้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย แต่ก็พอนึกขึ้นได้ว่า เมื่อปี 2551 โรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงงาน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 ตนและเพื่อนร่วมงานหลายคนได้ใช้บริการ“ตอนนั้นเสียค่าใช้จ่าย 199 บาทด้วยค่ะ” คุณกิตติมาให้ข้อมูล แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดทั่วประเทศนั้น มีที่มาจากการที่ในปัจจุบันโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรบุคคลและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกต้องมีการค้นหา โดยการตรวจหาเซลล์มะเร็งให้พบตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรกและในระยะก่อนเป็นมะเร็งซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในระยะลุกลาม และจากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ได้พบว่าการคัดกรองด้วยการทำ pap smear (ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกวิธีหนึ่ง) ในสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 35,40,45,50,55,60ปี ทำให้ช่วยลดอัตราการเกิดและอัตราการตายจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คือสตรีที่ใช้สิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้กับโรงพยาบาลแทน สำหรับการคัดกรองด้วยวิธี pap smear สปสช.จะทำการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้รายละ 250 บาท นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมโครงการนี้และทำให้แรงงานที่มีประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมอย่างเช่นคุณกิตติมาก็ได้รับสิทธิตรวจรักษาฟรีด้วยแต่เมื่อคุณกิตติมาได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ได้เคยตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงงานกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 และยังเสียค่าใช้จ่าย 199 บาทด้วย ซ้ำเมื่อมาขอตรวจอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2552 กลับมีบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนลว่าคุณกิตติมาได้ใช้บริการไปแล้วเมื่อ 18 มีนาคม 2552 อย่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นว่ามีใครไปแอบใช้สิทธิโดยที่เจ้าตัวไม่รู้หรือไม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการ สปสช. เขตพื้นที่ 13 กรุงเทพมหานครเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาลงโทษหน่วยบริการที่เบิกงบประมาณค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ พร้อมแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคไปเมื่อ 14 กันยายน 2552 และในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 สปสช. เขตพื้นที่ 13 ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า สำนักงานฯ ได้ประสานและทำหนังสือถึงคุณกิตติมาให้ไปรับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 2 ได้ตามสิทธิ โดยให้โรงพยาบาลนวมิทนร์ 2 เบิกชดเชยบริการกับสำนักงานฯ ได้ ส่วนปัญหาสำคัญคือเรื่องข้อเท็จจริงข้อมูลการเบิกจ่ายนั้น ขณะนี้สำนักงานฯ อยู่ในระหว่างการตรวจสอบการบริการอยู่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 รถไฟไหม้หลังเข้าศูนย์ซ่อม

คุณรัชตะ (นามสมมติ)ใช้รถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 มาได้ประมาณ 3 ปี 3 เดือน วิ่งประมาณ 113,XXX กิโลเมตรต่อมาในราว ๆ กลางเดือนกันยายน 2552 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีจดหมายถึงคุณรัชตะรวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 ถึง 2007 ว่าให้นำรถยนต์ฮอนด้ารุ่นดังกล่าวเข้ารับการเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยว เนื่องจากพบว่า ท่อน้ำมันระบบบังคับเลี้ยวเกิดเสื่อมสภาพ หลังจากผ่านการใช้งาน ส่งผลให้ระบบบังคับเลี้ยวทำงานผิดปกติและต้องใช้แรงในการหมุนเพิ่มขึ้นขณะหมุนพวงมาลัย โดยบริษัทฯ จะดำเนินการเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพ(เพิ่มเติม) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ประการใดในวันพุธที่ 23 กันยายน 2552 คุณรัชตะได้นำรถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการฮอนด้าเอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล เพื่อเปลี่ยนชุดลิ้นปีกผีเสื้อและเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยวตามที่บริษัทฮอนด้าแจ้ง และได้ไปรับรถออกมาในวันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2552 คุณรัชตะได้เล่าถึงเหตุการณ์ระทึกขวัญในวันที่ไปรับรถที่เกือบเป็นวันมรณะของตนเองว่าผมรับรถออกมาเมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. และขับขึ้นทางด่วนโยธินพัฒนา วิ่งแค่พักเดียว (ถึงประมาณแถวพระราม 9) ก็เกิดอาการพวงมาลัยหนัก/แข็ง (อาการแบบพวงมาลัยหมุนแทบไม่ไปจากระบบพาวเวอร์ไม่ทำงาน) จึงได้นำรถลงบริเวณคลองตันเพื่อวกขึ้นทางด่วนกลับไปศูนย์ฯ(เอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล) หลังจากผ่านด่านเก็บเงินเพื่อขึ้นกลับไปศูนย์ดังกล่าวซักระยะ การจราจรเริ่มชะลอตัว เริ่มได้กลิ่นเหม็นไหม้ กลิ่นเหมือนการไหม้ของน้ำมันเครื่องโดนความร้อน ซึ่งในกรณีนี้น่าจะเป็นน้ำมันพาวเวอร์ที่รั่วฉีดไปทั่วห้องเครื่อง และเริ่มเห็นควันขาวซึ่งน่าจะเป็นควันจากน้ำมันพาวเวอร์โดนความร้อน ผมจึงได้โทรเข้าศูนย์ เพื่อสอบถามว่าจะทำอย่างไรดีศูนย์แนะนำให้จอดและให้รถลากของทางด่วนลากไปส่ง ผมจึงได้ขับตัดเข้าข้างทาง (บริเวณดังกล่าวเป็นทางบรรจบบนทางด่วน ช่วงพระราม 9) และจอดบริเวณตู้โทรศัพท์ ซึ่งระหว่างนั้นยังไม่ได้ลงจากรถเนื่องจากมีฝนพรำๆ ซึ่งตอนนั้นยังคุยอยู่กับศูนย์ฯ เพื่อขอเบอร์ทางด่วน และได้เบอร์ 1543 ของทางด่วนเพื่อโทรขอความช่วยเหลือระหว่างนั้นกลุ่มควันขาวเริ่มมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้รถจอดนิ่งสนิทแล้ว ไม่มีลมพาควันออกไป และจึงเริ่มสังเกตเห็นเปลวเพลิงลุกขึ้นมาบริเวณระหว่างฝากระโปรงและกระจกบังลมหน้า (บริเวณช่องที่ปัดน้ำฝน) จึงได้ออกจากรถ โดยหลังจากนั้นเพลิงได้โหมไหม้จนไม่สามารถควบคุมได้ (เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางด่วนใช้ถังดับเพลิงมือถือ หมดไป 4 ถัง) ซึ่งต้องรอรถน้ำของหน่วยกู้ภัยเพื่อเข้าระงับเหตุจึงสามารถควบคุมเพลิงได้ หลังเกิดเหตุ ซึ่งรถเสียหายบริเวณห้องเครื่องทั้งหมดและลามบริเวณส่วนหน้าของคนขับจากการถูกเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่การทางได้ให้เข้าลงบันทึกประจำวันที่ สน.ทางด่วน 1 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเสียหายของการทาง ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย เติมสารดับเพลิง 4 ถัง, ค่ารถน้ำ 1 คัน, พื้นทางเสียหาย (เข้าใจว่าประกันเป็นผู้สำรองจ่าย) ภายหลังจากลงบันทึกประจำวันที่ สน. ทางด่วนแล้ว รถถูกลากไปรอที่ศูนย์เอกอินทราเพื่อรอการตรวจพิสูจน์ โดยได้นัดทำการตรวจสอบในวันจันทร์ ที่ 28 กันยายน 2552ทั้งนี้ผมโดยส่วนตัวมั่นใจว่าเป็นความผิดพลาดจากการเปลี่ยนท่อน้ำมันระบบบังคับเลี้ยว (ท่อ Hi Power) โดยเป็นข้อผิดพลาดจากการเปลี่ยน/ประกอบ หรือ ตัวอะไหล่ โดยมีข้อสังเกตจากการที่ศูนย์ขอเลื่อนการรับรถผม 1 วัน โดยแจ้งว่าเปลี่ยนท่อ Hi Power แล้วพวงมาลัยมันหนัก (ผมก็ไม่ได้ถามว่าที่บอกว่าหนักนี่คือหนักขึ้น หรือหนักขนาดไหน) โดยศูนย์แจ้งว่าขอไล่ลมและตรวจสอบทั้งระบบ นอกจากนี้ ก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ อาการก็คือพวงมาลัยหนัก/แข็ง จากระบบพาวเวอร์นี้เองโดยในปัจจุบัน (3 ตุลาคม 2552) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับทราบเรื่องแล้ว รวมทั้งได้ส่งพนักงานเพื่อเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว (ตั้งแต่วันอังคารที่ 29 กันยายน 2552) แต่ไม่พบการสรุปสาเหตุของปัญหา หรือแนวทางการชดเชยค่าเสียหายแต่อย่างใด และมีข้อสังเกตว่า ศูนย์บริการ เอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล จำกัด / บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์เท่าที่ควร และไม่ได้ดำเนินการเพื่อเร่งการสรุปสาเหตุ หรือพิจารณาการชดเชยแต่อย่างใด เนื่องจากตั้งแต่เกิดเรื่อง ผมจะต้องเป็นคนติดตามเกือบทั้งหมด ตั้งแต่นัดประกันเข้าตรวจสอบ, การแจ้งเรื่องให้ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์เข้ามาร่วมตรวจสอบ, การเรียกร้องให้ได้มาซึ่งการชดเชยเบื้องต้น (ได้ขอรถชั่วคราวเพื่อสำรองใช้ 1 คัน) , และจากการติดตามจากเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ซึ่งเป็นผู้ดูแลปัญหานี้ (ติดตามวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2552 และ ศุกร์ 2 กันยายน 2552) ก็ได้ความว่ายังไม่มีความคืบหน้าทั้งที่เป็นกรณีที่มีความรุนแรง รวมทั้งมีผู้ใช้รถรุ่นเดียวกันที่ถูกเรียกให้เข้าไปดำเนินการเปลี่ยนท่อดังกล่าวจำนวนมากสิ่งที่คุณรัชตะต้องการขอความช่วยเหลือคือต้องการให้เร่งการสรุป การชดเชยค่าเสียหาย รวมทั้งเป็นแกนหลักในการแนะนำถึงความสมเหตุสมผลของการชดเชยที่พึงจะได้รับ ทั้งการชดเชยต่อทรัพย์สิน การชดเชยต่อความไม่ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการชดเชยอื่นๆ ที่พึงจะประเมินได้ตามสมควรแนวทางแก้ไขปัญหาคุณรัชตะร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2552 หลังจากที่รถไฟไหม้ได้ 1 อาทิตย์และพยายามตามเรื่องด้วยตนเอง จนในที่สุดได้มีหนังสือแจ้งจากคุณรัชตะว่าศูนย์บริการฮอนด้า (เอกอินทราฮอนด้า) ได้แสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว คือ หนึ่ง ได้มีการจัดหารถยนต์สำรองใช้ระหว่างดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2552 สอง ศูนย์บริการฮอนด้าฯ แห่งนี้ได้ทำการชดเชยค่าเสียหายทั้งในส่วนของทรัพย์สินและค่าเสียหายอื่น ๆ ตามที่คุณรัชตะได้รียกร้อง โดยที่คุณรัชตะพึงพอใจต่อการดำเนินการดังกล่าวของศูนย์ฯ และไม่ติดใจเอาความหรือเรียกร้องอื่น ๆ เพิ่มเติมแต่อย่างใดสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 ถึง 2007 และได้รับแจ้งให้ไปเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยว(เพิ่มเติม) หากสงสัยว่าอาจมีปัญหาเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนอะไหล่ ไม่ควรปล่อยให้ชักช้าเนิ่นนานไป รีบติดต่อศูนย์บริการโดยทันทีเป็นดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ตั้งใจให้มีส่วนร่วมจริงเปล่าคะ…รัฐสภา

ในกระแสการเมืองที่เชี่ยวกราก ประดุจน้ำที่หลั่งไหลจากเขื่อนแตก กระแสหนึ่งที่ถาโถมการเมืองไทยคือประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ(นี่ยังไม่บวกประเด็นป๋า/ประเด็นพี่ไหนๆ นะ) ถึงกับต้องบอกว่า ร้อน......เจงๆ นั่นแน่คิดว่าเราจะเขียนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอีกแล้วละซิ.. ถ้าคิดอย่างนั้นขอบอกว่า คุณ...คิดผิด แฮ่ๆ เพราะเราจะเขียนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนกับระบบนิติบัญญัติของชาติไทยตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 เป็นต้นมากระแสการมีส่วนร่วมของประชาชนก็โดดเด่นขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และกระแสนี้ก็ยังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้มีหน่วยราชการมากมาย วิ่งมาหาแกนนำภาคประชาชน เพราะการมีประชาชนเข้าร่วมเป็นหนึ่งเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จในการทำงาน หน่วยงานไหนที่สามารถนำประชาชนเข้าร่วมได้มากถือว่ามีผลงานมาก ทำให้ทุกหน่วยราชการต่างแย่งชิงกลุ่มองค์กรภาคประชาชน เพื่อให้หน่วยงานของตนผ่านตัวชี้วัด ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลย ว่าทำไมชาวบ้านมี ชุดฟอร์ม ที่แสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของจากหน่วยงานราชการหลายหน่วย(จนชาวบ้านกลายเป็นคนของรัฐไปหมดน่าเหนื่อยใจจริงๆ)และยิ่งไปกว่านั้นกระแสการมีส่วนร่วมได้ลุกลามเข้ามาถึงสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต้องบอกก่อนนะเรื่องที่เขียนอาจมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง แต่มิใช่ประเด็นหลักเป็นเพียงประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นว่าจริงแล้วหน่วยงานเหล่านี้ มีความจริงใจให้ประชาชนเข้าร่วมจริงหรือไม่ พอดีผู้เขียนได้ถูกเชิญเข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการชุดหนึ่งในวุฒิสภา(โอ้ย...หากใครได้รับเชิญเข้าไปอาจคิดว่ามันเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูลไปเลยก็ว่าได้ ว่า...เข้าไปนั่น...) ผู้เขียนถูกเชิญเข้าไปก็รู้แต่ว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ และในชุดนี้ยังมีการเชิญพี่น้องจากต่างจังหวัดเข้าร่วมด้วย ไกลที่สุดก็คือมาจากปัตตานี ทุกคนมากด้วยความเต็มใจและมุ่งมั่น แต่เชื่อไหมว่า การมีส่วนของประชาชนมันเป็นแค่เรื่องที่เขียนไว้เท่ๆ ในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายอื่นๆเท่านั้นเอง.... เพราะกฎระเบียบอื่นๆ ไม่ได้แก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะเกณฑ์การจ่ายค่าเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาเข้าร่วมไม่มี มีแต่ เกณฑ์เก่าสมัยพระเจ้าเหาได้มั้งที่เอามาใช้ และถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยแท้ ในระเบียบของรัฐสภา ผู้ที่ถูกเชิญเข้ามาเป็นอนุกรรมาธิการจะมีเบี้ยเลี้ยงให้ครั้งละ 500 บาทจะมาจากไหนก็ช่างเธอ...ฉันให้เท่านี้ล่ะตามระเบียบ ผู้เขียนไม่เดือดร้อนอะไรเพราะอยู่แค่สมุทรสงคราม ชิลล์ๆ อยู่แล้ว แต่คิดถึงคนที่มาจากปัตตานี คิดไหมว่าเขาจะเดือดร้อน คิดดูชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่มีเงินเดือนไม่มีรายได้มั่นคงจะเข้ามาร่วมได้ไหม บางคณะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง บางคณะประชุมทุกอาทิตย์ชาวบ้านที่ไหนจะมีเงินออกค่าเดินทางเองเข้ามาร่วมได้จริงไหมล่ะท่านถ้าชี้ให้เห็นชัดๆ ก็คือเกณฑ์ของรัฐสภาคือเกณฑ์ที่ผู้เข้าร่วมเป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. หรือสว. อยู่แล้ว หรือราชการระดับหัวๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือกลุ่มทุนที่ไม่เดือนร้อนเรื่องค่าเดินทาง ชี้ให้เห็นว่าคนที่คิดเกณฑ์นี้ไม่ได้คิดเผื่อสำหรับประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่เคยคิดว่าจะมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ซะด้วยซ้ำ และนี่คือเรื่องที่อยากนำเสนอว่าอย่าว่าแต่หน่วยการราชการในพื้นที่ไม่จริงใจกับการมีส่วนร่วมของประชาชน รัด-ฐะ ก็เหมือนกัน มีแต่ปากดีว่าประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ประชาชนต้องมาก่อนอย่างนั้นอย่างนี้...(มาแล้วเดือดร้อน.จะมายังไง...) เอาเข้าจริงก็ไม่เห็นหัวชาวบ้าน แม้แต่จะคิดกฎเกณฑ์ที่อำนวยความสะดวกในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดยังไม่ทำเลย ดีแต่พล่ามกันไปวันๆ น่าเหนื่อยจริงนะประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 “รถเปลี่ยนเป็นเงิน” อันตรายติดเสาไฟฟ้า

“หนูจ๋า ช่วยป้าด้วยจ้ะ...!”“มีอะไรหรือคะป้า” เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถาม“คืออย่างนี้...”ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้รับฟังความทุกข์จากป้าอารีย์ที่หลั่งไหลออกมาอย่างไม่ขาดสาย“สามีป้ามีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ป้าต้องทำงานหาเงินคนเดียว ทำทุกอย่างทั้งเย็บมุ้งขาย ทั้งทำสวนอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่พอนะหนู แม่สามีของป้าแกก็มาป่วยเข้าอีกคน ป้าแทบหมดหนทางไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว”ที่เล่ามาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ปัญหาจริง ๆ ของป้าอารีย์เกิดขึ้นเมื่อ...“ป้าต้องใช้เงินมากไม่รู้จะไปกู้ที่ไหน เห็นเบอร์ตามเสาไฟฟ้าที่บอกว่า ให้นำรถไปเปลี่ยนเป็นเงินได้ พอดีสามีป้ามีรถกระบะอยู่คันหนึ่ง ก็ตัดสินใจวินาทีนั้นล่ะ กะจะเอารถไปจำนำเปลี่ยนเป็นเงินมาใช้กันก่อน มีเงินเมื่อไหร่ค่อยไปไถ่ถอนคืนทีหลัง”ป้าอารีย์จึงโทรไปขอความช่วยเหลือตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในป้ายข้างเสาไฟฟ้าทันที“ตอนนั้นประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2548 เขาบอกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ใช้สมุดรถยนต์ค้ำประกัน ก็นัดหมายทำสัญญากันเลย” “ไปทำสัญญากันที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวถนนเพชรเกษม ช่วงบางแค วันนั้นเห็นมีพนักงานแค่ 2 คน ก็เอารถเราไปให้เขาดูด้วย เขาตีราคาบอกว่าได้แค่ 70,000 บาท และให้วางสมุดทะเบียนรถไว้กับเขาแต่รถเอาไปใช้ได้ป้าก็ลังเลอยู่แต่สามีป้า ซึ่งเป็นเจ้าของรถตกลงเซ็นสัญญาทันที ก็ไม่ได้อ่านเอกสารหรอกเพราะตัวเล็กมาก แล้วพนักงานก็ให้ป้าเซ็นกำกับในสัญญานี้ด้วย โดยบอกว่าป้าเป็นเจ้าบ้านต้องเซ็นอนุญาตให้รถที่จำนำทะเบียนนั้นจอดได้ ป้าก็งง ๆ อยู่แต่ก็เซ็นไป”“เมื่อทำสัญญาเสร็จป้ากับสามีได้รับเงินแค่ 64,000 บาท เพราะพนักงานแจ้งว่ามีค่าใช้จ่าย 6,000 บาท หลังจากนั้นเขาก็ให้ป้ากับสามีเดินทางไปโอนทะเบียนรถให้เขา โดยให้พนักงานอีกคนขับรถของสามีป้าตามไปที่ขนส่งเขาเอารถไปทำเรื่องอยู่นานมาก แล้วเมื่อทำเรื่องโอนรถเสร็จป้ายังต้องเสียค่าโอนอีก 1,050 บาท”สรุปว่าวันนั้น ป้าอารีย์กับสามีได้รับเงินเพียงแค่ 62,950 บาท เท่านั้น จากการจำนำรถ 70,000 บาทและไม่ได้รับเอกสารใดๆ กลับบ้านเลยหลังจากนั้นไม่นานป้าอารีย์ได้รับเอกสารสัญญาส่งมาทางไปรษณีย์ เมื่อแกะเปิดดูแบบเต็มๆ ถึงได้รู้ว่าสัญญาที่ได้ทำไปนั้นแทนที่จะเป็นสัญญาจำนำรถกลับเป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของตัวเอง โดยมีหนี้เช่าซื้อรถจำนวน 137,700 บาท ผ่อนงวดละ 3,825 บาท ระยะเวลาผ่อน 36 งวด ได้รับเอกสารสัญญาแล้วป้าอารีย์ก็น้ำตาตกใน แต่ไม่ได้ทักท้วงอะไรตั้งหน้าตั้งตาผ่อนรถของตัวเองไปโดยไม่ปริปาก มีบางงวดที่ขาดส่งหรือล่าช้าไปบ้างจึงถูกเรียกเบี้ยปรับและค่าติดตามทวงถามเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็กัดฟันสู้ จนเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2551 คราวนี้ป้าอารีย์และสามีไม่มีเงินกันจริงๆ จึงไม่ได้ชำระเงินค่างวดอีก“พอถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 มีคนของไฟแนนซ์มาทวงหนี้ถึงที่บ้านแจ้งว่าให้ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อทั้งหมด 50,000 กว่าบาทไม่เช่นนั้นจะยึดรถทันที แต่อีกไม่กี่วันป้าได้โทรไปถามยอดหนี้ให้แน่ใจอีกครั้งกลับได้รับแจ้งว่ามีหนี้เช่าซื้อถึง 70,000 กว่าบาทและถ้าจ่ายไม่ได้จะถูกยึดรถ”“ป้ากับสามีไม่รู้จะทำอย่างไรจากที่ไปขอกู้เงินเขาแค่ 70,000 บาท จ่ายคืนหนี้มาตั้ง 2-3 ปีก็ยังไม่หมด ตอนนี้เอารถยนต์ไปหลบที่ต่างจังหวัดอยู่ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือป้าด้วย”แนวทางแก้ไขปัญหาน่าเห็นใจครับกับปัญหาเศรษฐกิจระดับครัวเรือนที่ไม่มีทางออก เมื่อไม่มีแหล่งเงินกู้ในที่สว่างก็ต้องไปหาเก็บเอาตามเสาไฟฟ้ากันอย่างนี้ล่ะครับชีวิตคนไทยเมื่อเสียรู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถของตัวเองไปแล้วก็คงต้องเดินหน้าต่อไปล่ะครับ เมื่อดูใบเสร็จรับเงินที่ป้าอารีย์จ่ายค่างวดไปแล้วพบว่าค้างเหลืออยู่อีกแค่ 7 งวด เป็นเงิน 26,775 บาท เพื่อไม่ให้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อจึงแนะนำให้ป้าอารีย์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ให้ครบ โดยใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีไฟแนนซ์ไป ไม่ต้องสนใจว่าใบเสร็จที่ได้รับจะถูกหักเป็นเบี้ยปรับล่าช้าหรือไม่ เพราะธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถือเป็นธุรกิจที่ถูกคณะกรรมกาคุ้มครองผู้บริโภคเขาควบคุมสัญญาไว้ แม้จะให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิคิดเบี้ยปรับ เบี้ยล่าช้า ได้แต่สัญญาควบคุมก็ห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลูกค้าชั้นดีรายย่อยของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) บวกสิบ(MRR. + 10) อย่างที่หลาย ๆ ไฟแนนซ์ชอบเขียนกันไว้ในสัญญา หรือค่าทวงถามก็ให้คิดได้แต่ต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสมสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตามนั้นจริง ที่สำคัญสัญญาควบคุมเขาถือว่าเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่างวดและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ปรากฏในสัญญาและไม่ขัดต่อสัญญาควบคุมของ สคบ.แล้วถือว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นตกเป็นของผู้เช่าซื้อโดยทันที และผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องดำเนินการโอนทะเบียนรถให้ผู้เช่าซื้อโดยทันทีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับการโอนทะเบียนจากผู้เช่าซื้อครบถ้วนดังนั้นเมื่อป้าอารีย์ได้ชำระค่างวดรถไปครบถ้วนหลังจากนั้นมูลนิธิฯ จึงได้ช่วยทำหนังสือแจ้งไฟแนนซ์ให้ทำการโอนเปลี่ยนชื่อในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ตอนแรกไฟแนนซ์ก็ทำทีอิดเอื้อนจะขอเรียกเก็บเบี้ยปรับอยู่แต่ด้วยไม่มีข้อต่อสู้ทางกฎหมายเนื่องจากสัญญาที่ทำขึ้นได้กำหนดค่าเบี้ยปรับที่ขัดต่อสัญญาควบคุมท้ายที่สุดจึงต้องทำการโอนเปลี่ยนชื่อรถโดยไม่มีเงื่อนไขครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ติดหนี้เพราะเสาไฟฟ้า

เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เสาไฟฟ้าเป็นเหตุหนึ่งของการเกิดหนี้ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องไปเสาะหาเหตุผลให้ปวดขมองครับ เพราะผู้ร้องรายนี้ดันขับรถไปชนเสาไฟฟ้าของกรมทางหลวงเข้าเลยต้องถูกเรียกค่าเสียหายไปตามระเบียบ แต่ที่หนักหนาสาหัสคือยอดหนี้เป็นแสนนี่สิจะรับผิดชอบอย่างไรดีเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 ที่คุณพิรมไปพลาดพลั้งขับรถไปชนเสาไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแขวงการทางระยอง กรมทางหลวง ซึ่งได้ประเมินเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 123,579 บาท แขวงการทางระยองทำหนังสือแจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายมา 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 เรื่อยมาจนถึงปี 2552 เห็นหนังสือทวงหนี้ เห็นค่าเสียหายแต่ละครั้งหัวใจแทบหล่น แต่ก็จนปัญญาอยากเป็นพลเมืองดีก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาชดใช้ได้ นอกจากประกันภัยชั้นหนึ่งที่ได้ทำให้กับรถไว้แต่บริษัทประกันก็ไม่ยอมจ่ายสักทีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาคุณพิรมจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมทางหลวง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 437 ถึงแม้ว่าคดีจะขาดอายุความภายใน 1 ปีตามมาตรา 448 แต่หากยังไม่มีการทำเรื่องจากแขวงการทางระยองเสนอขออนุมัติฟ้องไปยังอธิบดีกรมทางหลวงก็ถือว่ากรมทางหลวงในฐานะผู้เสียหายโดยตรงยังไม่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดก็เป็นได้ จึงไม่ควรประมาทในจุดนี้ แต่เมื่อรถของคุณพิรมทำประกันภัยประเภท 1 ไว้กับบริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด ซึ่งสัญญาตามหน้ากรมธรรม์ที่จะรับผิดชอบในความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกจำนวน 2.5 ล้านบาทต่อครั้ง ดังนั้นคุณพิรม จึงควรส่งสำเนาจดหมายของแขวงการทางระยองที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนแสนกว่าบาทนี้ให้ประกันภัยจ่ายค่าสินไหมแทนตามสัญญาประกันภัย หากมีการประวิงเวลา ไม่จ่ายค่าสินไหมคุณพิรมสามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทรสายด่วน 1186หากคุณพิรมถูกกรมทางหลวงฟ้องร้องในชั้นศาล ให้เรียกบริษัทประกันภัยเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีทันทีเพื่อให้ไปจ่ายค่าเสียหายแทนในชั้นศาลต่อไปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และในมาตรา 437 บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแก่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ปั๊มแก๊สไม่ยอมทอนเศษสตางค์

ดิฉันมีข้อสงสัยที่จะหารือดังนี้ค่ะ คุณนลินศิริเริ่มเรื่องดิฉันเพิ่งซื้อรถที่ใช้เชื้อเพลิง NGV มาใช้ค่ะที่สงสัยคือเวลาไปเติมแก๊ส NGV แต่ละปั๊ม เวลามีเศษสตางค์ไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไหร่ จะถูกปั๊มปัดเศษเป็นจำนวนเต็ม 1 บาทเพิ่มทุกปั๊ม อย่างเติมเป็นเงิน 87.40 บาทหรือ 87.90 บาทก็จะถูกคิดเป็น 88.00 บาทคุณนลินศิริให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีครั้งหนึ่งเคยไปเติมแก๊สและต้องจ่าย 87.40 บาท คุณนลินศิริพอดีมีเศษสตางค์ก็เลยให้เด็กปั๊มไป 87.50 บาท“เขามองหน้า แล้วบอกเอาคืนไปเหอะ ดิฉันก็รับเงินเศษ 50 สตางค์คืน”อย่างนี้ก็ถือว่าโชคดีเพราะปั๊มรังเกียจเศษสตางค์“แต่บางครั้งเราก็คิดว่าเศษน้อยคือแค่ 9-10 สตางค์เขาน่าจะปัดทิ้ง เขาก็ไม่เคยปัดทิ้งมีแต่จะปัดขึ้นแล้วไม่ใช่ปัดเป็นสลึงหรือห้าสิบสตางค์ ส่วนใหญ่จะปรับขึ้นเป็นหนึ่งบาทเลย” “ดิฉันสงสัยว่า เราดูถูกค่าเงิน 25 สตางค์กันแล้วหรือถ้าเด็กปั๊มจะบอกว่า ผมไม่สะดวกทอนเงินดิฉันก็คงยินดีที่จะให้มากกว่ามาบังคับกัน เคยได้ยินข่าวพักหนึ่งเรื่องเดียวกันกับปั๊มแก๊ส LPG แล้วเงียบหายไป ก็เลยสงสัยว่าเรื่องนี้(ปัดเศษสตางค์ขึ้นเป็นหนึ่งบาท) เป็นเรื่องปกติหรือเปล่าจะได้ทำใจค่ะแนวทางแก้ไขปัญหาปัจจุบันประเทศไทยมีเหรียญที่มีค่าเงินที่น้อยที่สุดที่สามารถนำมาชำระหนี้กันได้คือที่ 25 สตางค์ หากเราซื้อสินค้าแล้วมีเศษสตางค์ที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ 25 สตางค์คือ 12.50 สตางค์ ในทางปฏิบัติก็ควรจะปัดเป็น 0 สตางค์ เพราะไม่สามารถหาเหรียญหรือธนบัตรมาชำระหนี้กันได้ แต่หากมูลหนี้นั้นมีค่าตั้งแต่ 12.50 สตางค์ขึ้นไป ก็ให้ชำระหนี้หรือทอนเงินด้วยเหรียญ 25 สตางค์ แต่การที่สินค้ามีมูลค่าตกเศษสตางค์แล้วผู้ประกอบธุรกิจปรับเป็นมูลค่า 1 บาท ต้องไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ เนื่องจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้ประกาศให้ก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวีและก๊าซแอลพีจีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่งในสินค้าหลายร้อยชนิดที่จะต้องแสดงราคาจำหน่ายขายปลีกให้ผู้บริโภคทราบ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่แสดงราคาขายปลีกให้ผู้บริโภคทราบจะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือหากมีการจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงเกินกว่าราคาที่แสดง จะถือว่ามีความผิดในลักษณะเดียวกันคือไม่ได้แสดงราคาป้าย มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทเช่นกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสามารถกล่าวโทษร้องทุกข์ได้กับกรมการค้าภายใน หรือสำนักงานการค้าภายในจังหวัด โทรสายด่วน 1569 หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ครับเพราะถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ขอแก้ด้วยคน

และแล้ว เหตุการณ์น่าระทึกใจจากการชุมนุมประท้วงต่างๆ ทั้งเรื่องสีเสื้อ เรื่องทวงคืนเขาพระวิหาร ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ตามมาด้วยเสียงถอนหายใจดังๆ ที่แสดงถึงความโล่งอกโล่งใจ ของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ก็หายใจได้ชื่นปอดมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลยังน่าจะยืนระยะต่อไปได้อีกพักหนึ่งแน่ๆทันทีที่สิ้นเสียงปี่กลองของการชุมนุม พลันก็มีเสียงโหยหวนจากเหล่านักการเมือง เรื่องการขอแก้รัฐธรรมนูญดันแทรกขึ้นมาทันทีทันใด โดยการขอแก้ครั้งนี้มีนัยยะสำคัญว่า คราวนี้ต้องแก้ให้ได้ ใครเอาช้างมาฉุดก็น่าจะยาก หากมีการแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จก็หมายความว่า ปี่กลองการเลือกตั้งต้องดังขึ้นมาอีกครั้งอย่างแน่นอน ดังนั้นหากจะพูดว่าการแก้รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งเกือบๆ จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ไม่ผิดเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งสำหรับผู้เขียนนั่นหมายถึงการไม่มีทางเลือก เพราะคำว่าเลือกตั้งควรจะหมายถึงสิทธิที่เราจะเลือกใครก็ได้ที่เราชอบ แต่ความจริงคือเราเลือกคนที่เราชอบไม่ได้(ไม่มีคนชอบให้เราเลือก) เราต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองจัดมาให้(ผู้ผลิตสินค้า) ถ้าเปรียบนักการเมืองเป็นสินค้าก็เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกไม่ได้ เหมือนถูกบังคับให้ต้องซื้อสินค้าที่คุณภาพต่ำ และไร้มาตรฐานแบบไม่มีทางเลือก และเมื่อเลือกไปแล้วรู้ว่าสินค้าไม่ดี การขอคืนสินค้าขั้นตอนการคืนก็ยุ่งยาก สรุปคือมันคืนไม่ได้ (จริงอยากใช้พรบ.ขายตรงที่บอกว่าสินค้าซื้อแล้วไม่พอใจสามารถคืนเงินได้ใน 7 วัน แฮ่ๆ แต่มันก็ใช้ไม่ได้ง่ะ..)ครั้นเราจะไม่ไปเลือกก็อาจถูกประณามว่านอนหลับทับสิทธิ ไม่ใช่นักประชาธิปไตยอีก(อึดอัดว่ะ) การตัดสินใจเลือกของเราที่มุ่งหวังจะเลือกคนที่เราชอบจึงเป็นไปไม่ได้ จากที่ต้องการเลือกคนที่ดีที่สุด กลายมาเป็นว่าเราต้องเลือกคนที่คิดว่าพอมีความดีหลงเหลือหน่อย(เลวน้อยที่สุด) บางคนใช้วิธีอารยะขัดขืน โดยการฉีกบัตรเลือกเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่เขาส่งมา หรือไม่ออกไปใช้สิทธิมันซะเลย ให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราวกันไป หรือทางออกสุดท้ายของการใช้สิทธิคือการกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใด (โนโหวต) และตรงนี้เองคือปัญหา เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้สิทธิตรงนี้ไว้ แต่จริงๆ คือไม่มีสิทธิ เพราะผลที่เกิดขึ้นคือ การกาช่องไม่ใช้สิทธิ มีผลเท่าบัตรเสียเท่านั้น คือไม่มีผลใดๆ ต่อการนับคะแนนเลือกตั้งเลย ไม่รู้ว่าให้สิทธิตรงนี้ไว้ทำไม ? ดังนั้นหากต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ก็อยากจะเสนอให้ มีการแก้เรื่องผลการโนโหวต ให้มีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ากับการกาช่องลงคะแนน เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งก็อึดอัดกับการที่ต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมา และต้องกล้ำกลืนฝืนทนเลือกทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ และเมื่อหากจะแก้รัฐธรรมนูญกันทั้งที ก็เลยอยากขอแก้ด้วยคนโดยขอเสนอแก้ไขให้ผลการโนโหวต จำนวนกี่ % ก็ว่ากันไป ให้มีผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นอันโมฆะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่พรรคการเมืองส่งมาให้เลือก โดยให้พรรคการเมือง ส่งคน มาให้เราเลือกใหม่อีกครั้ง...หากอยากจะแก้กันจริงๆ กล้าแก้ตามที่เราเสนอมั้ยล่ะ..ท่านนักการเมือง .......................

อ่านเพิ่มเติม >