ฉบับที่ 103 จองรถไม่ได้รถ ต้องได้เงินจองคืน

เรียน ผู้จัดการ บริษัท พระนครออโต้เซลล์เรื่อง ขอเงินค่าจองรถป้ายแดงคืนจากที่ได้ตกลงกันกับทางบริษัทไปแล้วนั้นว่าดิฉันจะรับเงื่อนไขจากบริษัท คือรับเงินคืนจำนวน 3,000 บาท จากที่ได้จองทั้งสิ้นเป็นเงิน 5,000 บาท โดยในการรับเงื่อนไขระบุในเอกสารการจองว่า ให้โอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 688-000000-0 อีก 2,000 บาททางบริษัทยืนยันว่าจะจ่ายเป็นเช็คและแฟกซ์หน้าเช็คที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีภายในวันที่ตกลงกัน แต่หลังจากนั้นดิฉันได้รอแฟกซ์แต่ก็ไม่มีแฟกซ์หน้าเช็คกลับมาดิฉันจึงอยากเรียนมา จริง ๆ แล้ว ดิฉันเช็คดูแล้วว่าทางบริษัท ผิดนัด ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับตั้งแต่วันจองจนหาบริษัทไฟแนนซ์ให้ไม่ได้ และพยายามทำให้เรื่องยืดเยื้อและล่าช้า การกระทำดังกล่าวทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ทางบริษัทจะริบเงินจองทั้งหมดจริง...นี่เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่คุณกฤชญากรส่งถึงบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งเพื่อทวงถามเงินจองที่ได้จ่ายไปจำนวน 5,000 บาท แต่บริษัทรถอ้างว่าคุณกฤชญากรติดเครดิตบูโร ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อให้สักราย และได้เสนอเปลี่ยนรถที่จะขายให้เป็นคันใหม่ คุณกฤชญากรเห็นว่าไม่ได้รถตามที่ต้องการไว้แต่แรก จึงบอกเลิกสัญญาการจองและขอเงินค่าจองรถคืน แต่เกือบร้อยทั้งร้อยล่ะครับที่จะเจอการโยกโย้ โยกเย้ ประวิงเวลา เตะถ่วงไปเรื่อย ๆ ไม่คลายเงินจองออกมาง่าย ๆ จนผู้จองรถโดยส่วนใหญ่จำต้องทิ้งเงินจองไป ที่ผ่านมา ธุรกิจกินเงินจองรถนี่บรรดาเต้นท์รถเบิกบานมาก เพียงแค่ลงทุนค่าโฆษณาผ่านหนังสือขายฝากรถยนต์ แจ้งโฆษณาว่ามีรถทุกรุ่น ทุกเฉดสี ไม่ว่าใหม่หรือเก่า ก็สามารถหาให้ได้ แถมราคาย่อมเยากว่าศูนย์ตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตเป็นหมื่น แค่นี้ก็มีลูกค้ามาถวายเงินจองให้ตรึม พอลูกค้ามาติดต่อก็บอกว่าหารถให้ได้แน่ ไฟแนนซ์ก็ผ่านแน่ ๆ ขอแค่วางเงินจองไว้ 5,000 บาท พอถึงจังหวะที่จะกินเงินจองกับลูกค้าก็จะมีสูตรตายตัวในทำนองว่า ลูกค้าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตบูโร เลยไม่สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ได้ เมื่อลูกค้าเป็นคนผิดสัญญาการจองเอง ดังนั้นจึงต้องถูกยึดเงินจอง ลูกค้ากลับไปดูสัญญาก็เห็นเป็นจริงเช่นนั้นเสียด้วยแต่เขียนซะตัวเล็กกระจ้อยร่อย ท้ายสุดต้องยอมเสียเงินไป เรื่องทำนองนี้เคยนำลงในฉลาดซื้อมาครั้งสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีข้อกฎหมายเด็ดสะระตี่ไว้ให้ผู้บริโภคใช้เรียกเงินจองคืนได้แบบสมบูรณ์แบบครับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยท่วงทำนองการประกอบธุรกิจที่ทุจริตของบรรดาเต้นท์รถทั้งหลายทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนิ่งเฉยไม่ได้ ในที่สุดจึงได้ใช้แผนเผด็จศึกที่ได้ผลมาแล้วกับหลายๆ ธุรกิจ คือการประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หลายคนยังไม่รู้จักเพราะประกาศฉบับนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 นี่เอง ถือเป็นประกาศควบคุมสัญญาล่าสุดที่ สคบ. มีออกมาประกาศฉบับนี้ใช้ควบคุมการประกอบกิจการขายรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเอารถยนต์ออกขายโดยให้ผู้บริโภคทำการจองซื้อ และผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินหรือรับสิ่งใดไว้เป็นมัดจำ และให้คำมั่นว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคตามเวลาที่กำหนดในสัญญาทีนี้ในเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ที่มีการจอง ประกาศฉบับนี้ได้เขียนข้อสัญญาที่ควบคุมไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไปปรับเปลี่ยนราคารถยนต์ที่จองไว้สูงขึ้น หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา หรือ ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญานอกจากนี้ยังมีการควบคุมสัญญาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญากันได้ผลของการบอกเลิกสัญญากันตามเงื่อนไขที่ได้ว่ามา คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน 15 วันแม้ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะหัวหมออ้างว่า สัญญาที่ทำกับผู้บริโภคไม่มีข้อสัญญาเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจะใช้ยกเป็นเหตุในการไม่ยอมคืนเงินจองเงินมัดจำให้กับผู้บริโภคได้ครับ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายควบคุมสัญญาของ สคบ. นั้นมีหลักการสำคัญคือ หากสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นไม่มีข้อสัญญาตามที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายจะถือว่าสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อสัญญาที่ สคบ. กำหนดไว้อยู่ด้วยแล้ว และหากสัญญาข้อใดของผู้ประกอบธุรกิจที่เขียนแล้วไปฝ่า ไปฝืนข้อสัญญาที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายควบคุมสัญญาจะถือว่าไม่มีข้อสัญญานั้นปรากฏอยู่ในข้อสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ ข้อสัญญาใดที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคจะเอามาบังคับใช้กันไม่ได้หลักการนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 แม็กซ์เนต ของทีทีแอนด์ทีจ่ายเต็มเดือนแต่ใช้ได้แค่ครึ่งเดือน

สวัสดีค่ะ ดิฉันเปิดใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ Maxnet หมายเลข 038-727-000 แต่ในทุกๆ เดือนจะเกิดปัญหาค่ะ“ทุกๆ เดือนจะเกิดปัญหาคืออินเทอร์เน็ตจะใช้ไม่ได้ประมาณ 2 อาทิตย์ จนมาถึงเดือนนี้(กรกฎาคม 2552) ทุกวัน ดิฉันโทรแจ้งทางศูนย์ เขาบอกดิฉันเดี๋ยวทางเราจะแจ้งช่างให้ไปดูแล แต่จนป่านนี้ยังไม่มีใครมาสนใจ แล้วทุกเดือนดิฉันเขียนเรื่องขอลดยอด แต่ใบแจ้งค่าใช้บริการยังคงเรียกเก็บในราคาเต็มคือ 1,166.30 บาท/เดือน การที่อินเทอร์เน็ตใช้ได้ 2 อาทิตย์แล้วปัญหาเกิด 2 อาทิตย์ ดิฉันไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ทำไมเขายังกล้าเก็บเงินกับลูกค้าอยู่อีก...”เป็นเนื้อหาจากจดหมายที่คุณอุไรส่งมาบอกเล่าเรื่องร้องเรียนในปัญหาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ให้บริการโดยบริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด(มหาชน) เราได้รับจดหมายฉบับนี้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยความอยากรู้ว่าบริการอินเทอร์เน็ตของแม็กซ์เนตเป็นอย่างไร จึงได้ท่องเข้าไป www.maxnet.co.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้านี้ พบข้อความโฆษณาที่เกี่ยวกับคุณภาพของอินเตอร์เน็ตที่จัดให้บริการกับลูกค้าหลายจุด ตัวอย่าง“ทีทีแอนด์ทีรุกตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เปิดตัวแคมเปญใหม่ "ติด Maxnet ติดสปีดให้ชีวิต" หวังเจาะ 3 กลุ่มเป้าหมายหลักทั้งนักเรียน คนวัยทำงาน และธุรกิจขนาดเล็ก หวังขยายฐานลูกค้าทั่วประเทศ ตั้งเป้าผู้ใช้บริการสิ้นปี 2549 ที่ 300,000 ราย และจะขยายเป็น 500,000 รายภายในปี 2550นายประจวบ ตันตินนท์ กรรมการ บริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทในเครือ บมจ. ทีทีแอนด์ทีกล่าวว่า "แนวคิดของการออกแคมเปญใหม่ "ติด Maxnet ติดสปีดให้ชีวิต" คือการทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าแม็กซ์เน็ตจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้อย่างลงตัว โดยเราได้นำเสนอผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด Run ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าแม็กซ์เน็ตช่วยขจัดความล่าช้าและข้อจำกัดต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างราบรื่น"ที่มา :ข่าวเด่น TT&T “TT&Tรุกเน็ตไฮสปีด ส่ง Maxnet เจาะกลุ่มผู้ใช้ทั่วประเทศ” วันที่ 10/11/2549แต่ไม่ว่าจะโฆษณาอย่างไร ไฮสปีดยี่ห้อนี้ก็ยังมีเงื่อนไขในการให้บริการไม่ต่างจากไฮสปีดยี่ห้ออื่น1. บริการ Hi Speed Internet เป็นบริการแบบแชร์สปีด ความเร็วที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้บริการในขณะนั้น (Non Guarantee Speed)2. ความเร็วในการเชื่อมต่อ คือ ความเร็วของคอมพิวเตอร์กับโครงข่ายของ ทีทีแอนด์ที ไม่ใช่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูล ความเร็วในการดาว์นโหลดที่แท้จริงอาจต่ำกว่าความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อที่ผู้ใช้บริการเลือกไว้ โดยเฉพาะเว็บไซด์ที่อยู่ต่างประเทศ อาจมีผลมาจากหลายปัจจัย เช่น สภาพของคอมพิวเตอร์ สภาพและระยะทางของสายโทรศัพท์คู่สายภายในของผู้เช่า และการติดขัดของข้อมูลอินเทอร์เน็ต รวมถึงอุปกรณ์ Server และ Router ของเว็บไซด์ที่เข้าชม และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ ที่มา : ข้อควรรู้ http://www.maxnet.co.th/knowledge.phpคำถามคือว่าจะนำข้ออ้างดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดชอบกับลูกค้าได้หรือไม่คำตอบคือ ไม่ได้ครับ เพราะว่าประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคม พ.ศ.2544 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ให้บริการ(โทรคมนาคมทั้งหมด เช่น โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออินเทอร์เน็ต) มีหน้าที่ต้องให้บริการโทรคมนาคมตามมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการตามที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ โดยมาตรฐานและคุณภาพ การให้บริการดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ประกาศกำหนด ดังนั้นเกณฑ์คุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมจึงมิใช่เกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะมานึกเอาตามใจชอบได้ส่วนกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องขึ้นกับการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการจนทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ กฎหมายฉบับเดียวกันกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถกลับมาใช้บริการได้โดยเร็ว และผู้ให้บริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการในช่วงเวลาที่เกิดเหตุขัดข้องดังกล่าวได้ เว้นแต่ผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าเหตุขัดข้องนั้นเกิดจากผู้ใช้บริการหากผู้ให้บริการยังคงเรียกเก็บค่าบริการอยู่ผู้ใช้บริการสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่เกิดขึ้นได้กับผู้ให้บริการหรือผ่านทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โทร.สายด่วน 1200 หรือจะให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยด้วยก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 เจ้าหนี้อายัดเงินเดือน ทำไมไม่มีบอกกล่าว

 คุณธิดา ลูกหนี้นามสมมติ ได้ร้องทุกข์ออนไลน์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าขอร้องเรียนเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือนของธนาคารฮ่องกงแบงค์ โดยคุณธิดาได้ให้รายละเอียดว่าเนื่องจากได้เป็นหนี้กับธนาคารแห่งนี้และถูกฟ้องและไปขึ้นศาลเรียบร้อยแล้ว โดยมีการทำยอมที่ศาลโดยกำหนดชำระคืน 30 งวดๆ ละ 3,400 บาท คุณธิดาแจ้งว่าได้ชำระตามสัญญาประนีประนอมไปประมาณ 7 งวดแล้ว โดยงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ชำระเงินตรงตามที่ทำยอมไว้ แต่ในงวดที่ 5-7 ชำระไม่ตรงตามจำนวน โดยชำระได้แค่งวดละ 2 พันกว่าบาทเท่านั้น เนื่องจากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ พอไม่ชำระตรงตามจำนวนในงวดที่ 5 มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแจ้งให้ชำระให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอม แต่ในงวดที่ 6 และ 7 พอจ่ายไปงวดละ 2 พันกว่าบาท ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาอีก ก็คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่อีกไม่กี่วันต่อมาได้มีหมายอายัดเงินเดือนมาที่บริษัทที่ทำงานอยู่คุณธิดาได้พยายามติดต่อเจรจากับสำนักงานกฎหมายที่ดำเนินการอายัดเงินเดือน โดยสัญญาว่าจะเคลียร์ยอดที่ค้างจ่ายให้ครบและขอจ่ายในงวดต่อไปตามปกติที่ 3,400 บาท แต่สำนักงานกฎหมายปฏิเสธแจ้งว่าคุณธิดาได้ทำผิดสัญญาประนอมยอมความแล้ว ต้องบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือนเพื่อนำมาชำระหนี้ก่อนทำสัญญาประนีประนอมคุณธิดาจึงถามมาว่า ทำไมการอายัดเงินเดือนถึงไม่มีเรียกไกล่เกลี่ยก่อน   แนวทางแก้ไขปัญหาการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องมั่นใจว่าตนจะสามารถชำระหนี้ได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วทางเจ้าหนี้มักจะขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมโดยมีเงื่อนไขว่าหากลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมที่ได้ทำกันขึ้นให้เจ้าหนี้สามารถบังคับคดีให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามจำนวนที่ได้ฟ้องแต่แรกได้ มิใช่หนี้ที่เหลือจากการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมกันดังนั้นเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไม่ชำระหนี้เต็มตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ในแต่ละงวด หรือชำระหนี้คลาดเคลื่อนไปจากกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้อาจถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญาได้ทันทีและสามารถนำสัญญาไปขอบังคับคดีได้โดยไม่ต้องฟ้องศาลอีกหรือต้องมีการบอกกล่าวหรือต้องมานั่งไกล่เกลี่ยกันอีก เพราะถือว่าลูกหนี้ทราบเป็นอย่างดีแล้วจากการทำสัญญาและยังกระทำผิดสัญญาอีกแต่ลูกหนี้อย่าเพิ่งวิตกเกินการณ์ เพราะการอายัดเงินเดือนจากลูกหนี้นั้นกฎหมายอนุญาตให้อายัดได้เพียงร้อยละ 30 จากยอดเงินเดือนเต็มก่อนหักภาษีหรือประกันสังคม หากใครมีเงินเดือนเกินหมื่นนิด ๆ กฎหมายยังช่วยลูกหนี้อีกเล็กน้อยด้วยการกำหนดว่า การอายัดเงินเดือนจะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ไว้อย่างน้อย 10,000 บาทเพื่อการดำรงชีพ จึงหมายความว่าลูกหนี้รายใดที่มีเงินเดือนต่ำกว่าหมื่นบาทจึงไม่มีสิทธิถูกอายัดเงินเดือนได้ และหากลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย ก็ไม่สามารถถูกอายัดเงินเดือนในคราวเดียวกันได้หากเจ้าหนี้รายแรกได้อายัดเต็มตามวงเงินที่กฎหมายอนุญาตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถได้เวลาแก้ใหม่แล้ว

ช่วงนี้หากใครได้ดูข่าวทีวีนอกจากข่าวเรื่องการเมือง เรื่องสนุกสนานของรัฐบาล และเครือข่ายของอดีตนายกทักษินที่ต่อสู้กันด้วยการสาดน้ำลายใส่กันบนหน้าจอทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงการใช้ระบบเทคโนโลยีถล่มกันอย่างเมามันแล้ว ก็ยังมีข่าว(ที่ต้องพยายามดู) ของเครือข่ายผู้บริโภค ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาจากการใช้ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ เพราะ พรบ.ฉบับนี้เป็น พรบ.ที่บังคับทุกคนที่มีรถต้อง ทำพรบ.ทุกคนทุกคัน การบังคับดังกล่าวเป็นการบังคับให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทประกันภัยเอกชน ที่เวลารับเงินเราแสนจะอำนวยความสะดวกทุกอย่าง มีตัวแทนไว้คอยรับทำประกันทุกที่ ทุกตรอกซอกซอยมีหมด แต่เวลาจะจ่ายสินไหมคืนเราเมื่อเราประสบอุบัติเหตุ กลับเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีเทคนิคมากมายที่จะประวิงเวลาและทำทุกวิถีทาง ที่จะจ่ายเงินให้น้อยที่สุดหรือไม่ต้องจ่ายเลยก็ยิ่งดี (ว่าไปนั่น)ผู้บริโภคเลยสุดทนกับกฎหมายที่แสนจะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน แต่ชาวบ้านอย่างเราๆแสนจะเสียเปรียบ เสียเปรียบอย่างไรนะหรือ หากพูดไปเรื่อยๆ อาจจะเห็นภาพได้ยาก จึงขอยกตัวอย่างหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 มีโทรศัพท์มาร้องทุกข์กับผู้เขียน กรณีคนถูกรถชนตาย 3 ศพ โดย พ่อ-แม่ ตายหมดเหลือลูกสาวคนเดียวน่าสงสารมาก ผู้เขียนได้ขับรถไปฟังเรื่องราว จึงทราบว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2552 ผู้เสียชีวิตคือนายสำเริง จันทร์รอด(ผู้ขับขี่) โดยมีนายสมโภช ณ บางช้าง และนาง ยุวดี ณ บางช้าง ซ้อนท้ายกลับจากตลาดแม่กลอง มาบนถนนวงแหวนรอบนอก ดอนหอยหลอดจังหวัดสมุทรสงคราม(ที่มีรถไม่หนาแน่น) โดยขับมาปกติ แต่จู่ๆ ก็มีรถฟอร์จูนเนอร์(โตโยต้า) ขับสวนมาด้วยความเร็วสูงและแหกโค้งมาชน ทำให้ทั้ง 3 คนตายคาที่ และรถคันดังกล่าวขับหนีไป แต่ถูกตำรวจสกัดจับไว้ได้ในสภาพมึนเมาเต็มที่รถมอเตอร์ไซด์คันที่ถูกชนได้ทำพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถไว้กับบริษัทนำสินประกันภัย แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าเมื่อประสบเหตุอย่างนี้ เขาต้องทำอะไรบ้าง เมื่อผู้เขียนถามว่าตำรวจไม่แนะนำอะไรบ้างหรือ ก็ได้คำตอบว่าไม่มี ไม่เห็นตำรวจบอกอะไรเลย ผู้เขียนถามต่อว่ารู้ไหมว่าพรบ.รถที่เราทำนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วเราจะได้อะไรบ้าง คำตอบคือ ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องทำพรบ.ไม่อย่างนั้นจะถูกตำรวจจับ ผู้เขียนฟังแล้วสะท้อนใจจริงๆ นี่ล่ะชาวบ้านตัวจริง คือไม่รู้อะไรเลยทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของตัวเอง กลายเป็นว่าที่ทำประกันเพราะกลัวตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็เพิกเฉย ไม่สนใจทุกข์ร้อนของชาวบ้านเลย ตามพรบ.แล้วผู้ซ้อนซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ต้องได้ค่าปลงศพ ศพละ 100,000 บาท ผู้ขับขี่ต้องได้รับค่าปลงศพเบื้องต้น 35,000 บาทภายใน 7 วัน(ที่เหลือรอพิสูจน์ถูกผิด) แต่นี่ดูรึคนตาย 3 คน 7 วัน แล้วการช่วยเหลือเบื้องต้นจาก พรบ.ยังไม่มีเลยสักบาท (ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงครามได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้แล้ว) เป็นไงล่ะเรื่องที่เล่ามาพอจะเห็นปัญหากันบ้างหรือยัง อาจจะมีบางคนบอกว่าช่วยไม่ได้อยากโง่เอง ก็ให้ลองคิดดูว่าเด็กผู้หญิงที่อายุแค่ 15 ปี ที่เสียทั้งพ่อและแม่ไปในเวลาเดียวกัน เขาจะเอาสมองที่ไหนมาคิด และนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกหรือทบทวน พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ โดยให้มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านอย่างเราๆ บ้าง เพราะปัจจุบัน องค์กรกำกับดูแลการประกันภัย เช่น คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในพรบ.ฉบับนี้จะรอรัฐบาลก็ไม่ได้ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องลุกขึ้นมาร่วมกันเขียนกฎหมายในชื่อใหม่คือ “กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ” โดยโอนค่ารักษาพยาบาลไปใช้ตามสิทธิของแต่ละคน โดยพรบ.นี้จะจ่ายเพียงค่าสินไหม กรณีบาดเจ็บต่อเนื่อง ทุพลภาพ เสียชีวิต เท่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างล่ารายชื่อนะ ใครเห็นด้วยเร่งมาลงชื่อโดยไว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ตุ๋นออนไลน์

“ผมชื่อ พรชัย เตชะไพบูลย์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยครับ”คุณธัญชนก รู้สึกปลื้มสุดๆ ที่การเข้าเอ็มเอสเอ็นในวันนั้นทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับนักการเมืองชื่อดังของพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ และให้รู้สึกสงสารมากๆ ที่ทราบว่าเขาเป็นหนึ่งในนักการเมือง 111 รายที่ถูกห้ามเล่นการเมืองปกติแล้วคุณธัญชนกจะใช้บริการโปรแกรมรับ-ส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตหรือเอ็มเอสเอ็นโดยผ่านการเป็นสมาชิกกับเว็บไซต์ www.sanook.com ทำให้มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ถือว่าพิเศษสุดเพราะผู้ที่อ้างว่าเป็นนายพรชัย เตชะไพบูลย์ ได้บอกว่าในวงคุยเอ็มเอสเอ็นขณะนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ก็กำลังร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย“เราคุยกันเรื่องการเมือง เรื่องหุ้น เขาบอกว่านอกจากจะเป็นนักการเมืองแล้ว ยังทำธุรกิจหลายประเภท เช่น ขายเสื้อผ้าส่งออก ทำธุรกิจรังนก และทำรีสอร์ทที่จังหวัดระยอง แต่ที่ทำให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำมาจากการเล่นหุ้น ปตท.เขาแนะนำให้เราซื้อหุ้น ปตท.กับเขา เขายกตัวอย่างว่าหากหุ้นราคา 1 บาทถ้าซื้อเราจะได้ค่าตอบแทนถึง 500 บาท และอ้างว่าคุณสุดารัตน์(เกยุราพันธุ์) ก็กำลังเล่นเอ็มเอสเอ็นกับเราด้วย ระหว่างนั้นก็พูดคุยกันเรื่องการเมืองกับเรื่องหุ้น ทำให้เราหลงเชื่อ”“เขาบอกห้ามเราบอกใคร เขาบอกว่าหุ้นนี้เป็นหุ้นนักการเมืองรู้กันเฉพาะวงในเท่านั้นถ้าบอกเขาต้องเดือดร้อนแน่” แค่ระยะเวลาการติดต่อเพียงแค่สองวันแต่ด้วยผลประโยชน์บังตาและคำพูดสำทับที่น่าเชื่อถือเหมือนได้คุยกับนักการเมืองจริงๆ ทำให้เหยื่ออย่างคุณธัญชนกเชื่ออย่างไม่สนิทใจและตกลงขอซื้อหุ้นจากนักการเมืองกำมะลอรายนี้ไป 100,000 หุ้นในราคา 750,000 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีให้กับนักต้มตุ๋นรายนี้ในเวลาต่อมา “รอบแรกก็หลงเชื่อโอนไปให้ 50,000 บาท เขาบอกว่าเราต้องลงพอร์ต 3 ครั้ง เขาพูดจาน่าเชื่อถือมากๆ เราก็เชื่ออีก ต่อมาก็โอนเงินให้เขาเรื่อยเป็นครั้งๆ สองแสนห้า สองแสน ห้าหมื่น สองหมื่น เรื่อยมาทั้งหมดก็เจ็ดแสนกว่าได้ ระยะเวลาเพียงแค่สองอาทิตย์เท่านั้นแล้วก็เป็นเงินที่กู้เขาทั้งหมด เขาบอกว่าจะโอนเงินจากการขายได้ให้ในวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2551 สุดท้ายก็เงียบไป”เมื่อสงสัยว่าจะถูกหลอก คุณธัญชนกจึงได้ค้นข้อมูลหาชื่อ “นายพรชัย เตชะไพบูลย์” ในโปรแกรม Google ทำให้พบชื่อนายพรชัย หรือคิม เจริญวัฒนาไพบูลย์ อายุ 40 ปี ซึ่งเคยถูกตำรวจจับกุมในข้อหาแอบอ้างชื่อคนดังฉ้อโกงประชาชนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว เมื่อเทียบเคียงรูปการณ์ที่ตนเองประสบ...จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในทันทีผลการดำเนินการ บ่วงกรรมตามทันครับเพราะเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำการจับกุมตัวนายพรชัย หรือคิม เจริญวัฒนาไพบูลย์ ได้พร้อมสมุดเงินฝากธนาคารต่างๆ ซึ่งมียอดเคลื่อนไหวในบัญชี มูลค่านับล้านบาท โดยสามารถจับกุมตัวได้ที่ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซนจูรี่พลาซ่า ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจากการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า นายพรชัยผู้ต้องหารายนี้จบการศึกษาแค่ระดับ ม.6 แต่ที่บ้านค่อนข้างมีฐานะเพราะเปิดกิจการขายผลไม้ และเสื้อผ้าย่านโบ๊เบ๊ จึงสามารถซื้อมือถือรุ่นแพง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาทำการหลอกลวงผู้เสียหายได้ โดยบางครั้งก็จะอาศัยเช่าชั่วโมงตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ลงมือก่อเหตุ ก่อนรายของคุณธัญชนกนั้น นายพรชัยเคยหลอกลวงผู้หญิงรายหนึ่งให้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อจ่ายค่าหุ้นมาแล้วกว่า 300,000 บาท แต่เมื่อผู้เสียหายจะเอาเรื่อง นายพรชัยจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากบิดา ให้พาทนายความนำเงินไปเคลียร์หนี้ให้จนผู้เสียหายยอมความแต่ครั้งนี้ หลังไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุณธัญชนกก็ได้มาร้องขอความช่วยเหลือด้านคดีความกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย และมูลนิธิฯ ได้จัดทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคให้ความช่วยเหลือในทางคดี จนทำให้ผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีกับอัยการได้ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ศาลจังหวัดพระโขนงได้ตัดสินให้นายพรชัย เจริญวัฒนาไพบูลย์ มีความผิดฐานฉ้อโกงลงโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน แต่นายพรชัยให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 3 ปี 9 เดือน และให้จำเลยคืนเงิน 750,000 บาทแก่คุณธัญชนกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 แม่บ้านดวงอับ ถูกแบงค์ฟ้องหนี้บัตรเครดิต

แทบเป็นลมล้มทั้งยืนเมื่อเห็นหมายศาลส่งมาถึงบ้านแจ้งให้ไปศาลในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และให้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้กับธนาคารกรุงเทพ เป็นเงินสามหมื่นกว่าบาท“ได้รับเงินแค่เดือนละ 4-5 พันบาท จะเอาปัญญาที่ไหนไปใช้เงินเขา ที่สำคัญยังไม่รู้เลยว่าเคยไปทำบัตรเครดิตใบนี้ไว้ตอนไหน”คุณชิดชนก แม่บ้านทำความสะอาดอยู่ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) โอดครวญ“ก็เคยได้รับจดหมายทวงหนี้จากธนาคารมาก่อนเหมือนกัน เขาบอกว่าเราได้รับอนุมัติให้ใช้บัตรเครดิตของธนาคาร และก็มียอดหนี้แจ้งมาในจดหมาย เรากับสามีก็งงๆ เพราะบัตรเครดิตสักใบก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยใช้แล้วจะมีหนี้ได้อย่างไร ไม่มีความรู้ทางข้อกฎหมายด้วยว่าจะต้องทำยังไงต่อไป คิดในแง่ดีไปว่าเขาอาจจะส่งผิดก็ไม่ได้สนใจอะไร”เมื่อไม่มีการทักท้วงใดๆ ออกไป ในที่สุดหมายฟ้องคดีจึงมาเกาะที่หน้าประตูบ้านทันที คราวนี้ทั้งบ้านเหมือนร้อนเป็นไฟอยู่เฉยกันไม่ได้ ต้องมานั่งตรวจเอกสารต่างๆ ที่แนบมากับหมายฟ้อง ก็มาสะดุดกับลายเซ็นชื่อของตัวเองในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิต“ไม่ใช่ลายเซ็นของเราแน่นอน” คุณชิดชนกยืนยัน”“คนอื่นอาจจะดูเหมือนมาก แต่เราเห็นแล้วบอกเลยว่าไม่ใช่ ส่วนรายละเอียดอย่างอื่น เช่น ยอมรับว่าชื่อ-นามสกุลเป็นของเรา เลขบัตรประชาชนก็เป็นของเรา แต่ที่อยู่บ้าน เบอร์โทรศัพท์ ไม่ใช่ เป็นบ้านใครเบอร์โทรศัพท์ใครก็ไม่รู้ มาดูชื่อสถานที่ทำงานก็ไม่ใช่บริษัทที่เราทำงานให้อยู่ แถมแจ้งรายได้ถึง 3 แสนบาทต่อปีอีก มันไม่ใช่ตัวเราเลยน่ะ เงินเดือนเราแค่ 4-5 พันเท่านั้น” หลังจากนั้นคุณชิดชนกจึงหอบหลักฐานประจำตัว หลักฐานตามสำนวนฟ้องคดีที่ได้รับมาโดยไม่ต้องการวิ่งไปหาธนาคารกรุงเทพ เพื่อปฏิเสธภาระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 แต่ด้วยความร้อนใจที่วันนัดของศาลใกล้เข้ามาเรื่อยๆ คุณชิดชนกจึงดิ้นรนไปร้องทุกข์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้รับเรื่องในเวลาต่อมาแนวทางแก้ไขปัญหา สำหรับผู้บริโภคที่โดนแจ็คพอตมีหนี้บัตรเครดิตทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของบัตรหรือใช้บัตร ให้ใช้หลักทักท้วงและปฏิเสธโดยทันที ดังนี้ครับ1.เมื่อผู้บริโภคตรวจสอบพบว่าตนไม่ได้เป็นผู้เข้าทำสัญญาขอใช้บัตรเครดิตกับธนาคาร หรือไม่ได้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือบริการตามที่มีใบแจ้งหนี้มา ให้ทำหนังสือปฏิเสธสัญญาหรือรายการใช้จ่ายดังกล่าวโดยทันทีและส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับถึงธนาคารโดยทันที(การโทรไปที่ศูนย์บริการของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อดีคือสะดวก ง่าย แต่ผู้บริโภคจะไม่มีหลักฐานไว้ยืนยันในภายหลัง)2.ถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือธนาคารที่จะเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการทำสัญญาว่ามีผู้ปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารมาทำสัญญาหรือไม่3. หนี้ที่เกิดขึ้นถือเป็นหนี้เสียของธนาคารที่ธนาคารจะต้องติดตามดำเนินคดีเองกับผู้กระทำผิด มิใช่ผู้บริโภคในส่วนผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคุณชิดชนกได้รับการชี้แจงจากธนาคารกรุงเทพว่าหลังคุณชิดชนกมาแจ้งเรื่อง ธนาคารจึงได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการขอทำบัตรเครดิตและยอมรับว่าเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณชิดชนกแต่ที่ช้าไปบ้างก็เพราะธนาคารต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แน่ใจโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ท้ายที่สุดธนาคารยินยอมที่จะถอนฟ้องคุณชิดชนกในวันที่ศาลนัดโดยทันที แต่เพื่อความปลอดภัย... มูลนิธิฯ จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทนายไปเป็นพี่เลี้ยงในวันขึ้นศาลด้วย หากธนาคารเกิดเปลี่ยนใจคุณชิดชนกจะสามารถต่อสู้คดีได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ห้างใหญ่หนีอาญาขายของหมดอายุยอมชดใช้ผู้บริโภค

 “ฮัลโหล...มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใช่ไหมคะ”“ค่ะ ใช่ค่ะ ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรจะร้องเรียนคะ”“ชื่อสุนีย์นะคะ คืออย่างงี้ค่ะ ตอนนี้กำลังยืนเรียกค่าเสียหายจากทางห้างอยู่ เพราะเขาเอาของหมดอายุมาขายให้เรา เราจะเรียกค่าเสียหายกับเขาได้ไหมคะ”พอได้ยินคำถาม เจ้าหน้าที่รับเรื่องของเราถึงกับตื่นเต้น ก็ไม่ให้ตื่นเต้นได้ไงเจอผู้บริโภคที่รักษาสิทธิของตัวเองเต็มที่อย่างนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ และเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ จึงค่อยๆ ปล่อยคำถามหารายละเอียดออกไป “ไหนช่วยเล่ารายละเอียดหน่อยนะคะว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงต้องคิดเรียกค่าเสียหายกับเขา” แล้วคุณสุนีย์ก็เล่าเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง เธอบอกว่าตอนนี้กำลังอยู่ที่ห้างตราดอกบัว สาขาแจ้งวัฒนะ เพื่อมาเรียกร้องค่าเสียหายกับทางห้าง เป็นค่ารถ ค่าเสียเวลา รวมเป็นเงิน 500 บาท ซึ่งก่อนหน้าที่จะมายืนเรียกค่าเสียหายนั้น ประมาณสัก 4-5 วันที่ผ่านมาคือวันที่ 6 มิถุนายน 2552คุณสุนีย์ได้มาซื้อสินค้าประเภทอาหารที่ห้างแห่งนี้แล้วนำกลับไปรับประทานที่บ้าน แต่เมื่อมาตรวจดูสินค้าพบว่าสินค้าหมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 คุณสุนีย์เห็นว่าไม่เป็นธรรมจึงขับรถกลับมาร้องเรียนเรียกค่าเสียหาย “ตอนนี้กำลังรอทางห้างเขาตัดสินใจอยู่ว่าจะเอาไง” แนวทางแก้ไขปัญหา ตามกฎหมายอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นผู้ดูแลอยู่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ อาจถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และหากพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับถึง 3 หมื่นบาท ผู้บริโภคที่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุ หากต้องการให้มีการดำเนินคดี ให้แจ้งไปที่สายด่วน อย.โทร.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดแต่สำหรับคุณสุนีย์ต้องการเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 500 บาทเพื่อเป็นค่ารถค่าเสียเวลาที่มาซื้อของหมดอายุ ท้ายสุดห้างซูเปอร์สโตร์แห่งนี้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500 บาทตามที่ผู้บริโภคเรียกร้อง นับเป็นการใช้สิทธิและบทลงโทษกับผู้ประกอบการด้วยฝีมือผู้บริโภคชั้นเยี่ยม ขอปรบมือให้ 40 แปะ!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ไม่ให้ไม่ว่า…ขอแค่อย่าทำร้าย

เป็นที่รับรู้กันว่า ประชาธิปไตยบ้านเรา เป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็สนุกดีแบบไทยๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นไทยก็ยังเป็นไทยอยู่วันยังค่ำ(จริงไหม?)เสร็จจากการประท้วง สุดฤทธิ์สุดเดช กันไปตามอัธยาศัยแล้ว ถึงการเมืองบ้านเราจะยังมีกรุ่นๆ กันอยู่บ้างแต่ก็ทำให้เราๆ ท่านๆ หายใจได้ทั่วปอดขึ้นใช่ไหมล่ะ เมื่อการเมืองเบาบางลง ก็ตามมาด้วยเสียงเพรียกร้องหาความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ที่ดังขึ้นมาแทรกแทนเสียงโหยหวน.. ของเหล่านักการเมือง ทั้งกลุ่มหนี้สินชาวนา กลุ่มหนี้สินอื่นๆ และเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ต้องเรียกร้องกันทุกปี เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองพรรคไหนขึ้นมาบริหารประเทศ ก็ไม่มีการวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตรแบบระยะยาวเลยสักพรรคเดียว มีเพียงการแก้ไข แบบขอไปที น้อง-พี่-ลุง-ป้า จึงต้องออกมาร้องขอความช่วยเหลือกันทุกปีจะว่า น้อง-พี่-ลุง-ป้า เหล่านี้คือเหยื่ออันโอชะของนักการเมืองก็ไม่น่าจะผิด เพราะการแก้ไขแต่ละครั้ง ใช้งบมหาศาลและก็รั่วไหลทุกครั้งที่มีโครงการช่วยเหลือ(ก็อดคิดเสียไม่ได้ว่าเพราะเรื่องนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้เหล่านักการเมืองจึงไม่คิดแก้ไขแบบจริงๆ จังๆ กันเสียที) แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาส่งเสียงมาสู่รัฐ เขาเหล่านั้นไม่เคยร้องขอให้รัฐไปช่วยเหลืออะไร ขอเพียงขอให้เขาได้อยู่กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ที่เขาคุ้นชินเท่านั้น เขาเหล่านั้นคือกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และโรงงานขนาดใหญ่ ที่พวกเขากลัวว่าการก่อสร้างเหล่านั้นจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของพวกเขา แก่นแท้ของการร้องขอนั้น เขาไม่เคยขอให้รัฐช่วยอะไร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรืออื่นๆ เขาขอเพียงรัฐยอมปล่อยให้เขาได้อยู่ในสิ่งที่เขาเคยอยู่เท่านั้นจนได้อ่านข่าวที่ กกต. ชี้ออกมาว่า ท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติ หลายท่านน่าจะพ้นสภาพการเป็น สส.เพราะตนเองหรือภรรยาเข้าไปถือหุ้น ในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ ทั้งหุ้น ปตท. หุ้นไฟฟ้า และหุ้นอื่นๆ อ้อ..เพราะอย่างนี้นี่เองนักการเมืองทั้งหลายถึงไม่ใยดีและเพิกเฉยต่อคำเรียกร้อง ของกลุ่มผู้คัดค้านเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็ท่านทั้งหลายที่กล่าวถึงมามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่มากมายนี่เอง อ่านข่าวแล้วรู้สึกสะใจจริงๆ เพราะไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหน ที่สามารถล้างบางนัก การเมืองขี้ฉ้อได้เท่ารัฐธรรมนูญปี 50 นี้เลย(สะใจเจงๆๆ) เพราะการเขียนไว้ว่าห้ามนักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นถูกต้องแล้ว เพราะนักการเมืองเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจในการบริหารจัดการในทุกด้าน และนักการเมืองก็เป็นมนุษย์มันก็หนีไม่พ้นที่จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ความเป็นธรรมจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงได้ถ้าไม่สามารถกำจัดผลประโยชน์ทับซ้อนออกไปได้(ถึงแม้ออกไม่หมดแต่ก็ดีกว่าไม่ออกเลย) เอาเป็นว่าผู้เขียนชูจั๊ก-กะ-แร้ เชียร์เพื่อนพ้องน้องพี่ พลังบริสุทธิ์ที่ก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไว้ให้เป็นของขวัญสำหรับลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป และช่วยยืนยันสโลแกนที่ว่า “ไม่ให้ไม่ว่าขอแค่อย่าทำร้าย” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนและขอให้ไอ้พวกขี้ฉ้อสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปสักที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 แบงค์จ่ายเงินให้เช็คปลอม ขอรับผิดครึ่งเดียว

อ่านเรื่องนี้แล้วคุณคงนึกถึงนิทานเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” คุณโส่ยเป็นผู้มีอันจะกิน ได้รับเลี้ยงเด็กชายคนหนึ่งไว้เป็นลูกบุญธรรมเลี้ยงจนโตเป็นหนุ่ม เฝ้าฟูมฟักรักถนอมและให้ความไว้วางใจเหมือนลูกในไส้ แต่บุญคุณที่ให้ไปกับลูกบุญธรรมดูเหมือนน้ำที่เติมลงในถังที่มีรูรั่วเต็มไปหมด เติมเท่าไหร่ไม่เคยพอ จนสร้างความทุกข์ใจให้คุณโส่ยและครอบครัวตลอดมา ท้ายสุดของจุดแตกหักที่คุณโส่ยไม่อาจให้อภัยได้ เมื่อรู้ว่าลูกบุญธรรมแอบย่องเบาเข้าไปในห้องนอนและไปเปิดลิ้นชักลักขโมยเช็คเปล่าของคุณโส่ยออกไปทีละฉบับๆ หายไปถึง 31 ฉบับ ช่างมีความอุตสาหะกระทำการย่องเบาขยันลักเช็คทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงที่ไม่มีคนอยู่เมื่อคุณโส่ยไปตรวจสอบเงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรสาคร พบว่ามีเงินหายไปจำนวนมาก หลายกรรม หลายวาระ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2551ส่วนใหญ่จะหายไปครั้งละ 20,000-30,000 บาท ทุกครั้งล้วนเป็นฝีมือของเจ้าลูกเนรคุณทั้งสิ้น โดยเป็นผู้สวมลายมือปลอมลายเซ็นของคุณโส่ยสั่งจ่ายเงินตามตัวเลขที่กรอกเอาตามอำเภอใจแล้วนำไปขึ้นเงินกับพนักงานของธนาคารเมื่อคุณโส่ยเห็นลายเซ็นไม่ได้มีความเหมือนกับลายเซ็นของตัวเอง ก็เฝ้าถามธนาคารว่าปล่อยเงินออกไปได้อย่างไรถึง 20 ฉบับเป็นเงินกว่า 710,000 บาท นี่หากรู้ความจริงช้ากว่านี้คุณโส่ยอาจต้องสูญเงินเพิ่มอีกหลายแสนแน่เพราะยังมีเช็คที่ถูกลักไปเหลืออยู่ในมือลูกเนรคุณอีก 11 ฉบับคุณโส่ยทั้งช้ำทั้งแค้นเมื่อรู้ความจริง จึงไล่ลูกเนรคุณออกจากบ้านและแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ตำรวจได้ออกหมายจับและสามารถติดตามจับกุมนำตัวลูกบุญธรรมคนนี้มาขึ้นศาลได้ และศาลได้พิพากษาให้ต้องรับโทษจำคุกถึง 22 ปีฐานความผิดปลอมเอกสาร ความผิดใช้เอกสารปลอมและความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี และให้ชดใช้ราคาเช็ค 20 ใบเป็นเงิน 300 บาทแก่ผู้เสียหาย ถือเป็นคดีลักทรัพย์เล็ก ๆ แต่โทษสูงมากทีเดียวครับแต่เรื่องนี้ยังไม่จบครับเพราะเงินในบัญชีกว่า 7 แสนบาทที่หายไปจะทำอย่างไร ใครควรรับผิดชอบ ตัวคุณโส่ยหรือธนาคารแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครับซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาออกมาเป็นแนวไว้ตามฎีกาที่ 6280/2538 ว่า จำเลยประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฎิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆ ไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลย จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ตามแนวฎีกานี้มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายเรียกร้องต่อธนาคารเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดีที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคก่อนเป็นเบื้องต้น หากมามุขปฏิเสธหรือประวิงเวลาผู้บริโภครายนี้สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายต่อไปได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 อพาร์ตเม้นท์อมเงินประกัน

คุณเจนรวี เป็นนักศึกษาของสถาบันราชภัฏจันทรเกษม ปีสุดท้าย เข้าทำสัญญาขอเช่าห้องพักกับเอกอาทิตย์อพาร์ตเม้นท์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 1 มีนาคม 2552ก็เหมือนกับนักศึกษาที่กำลังเดินหาหอพักทั่วไปล่ะครับไม่ค่อยได้อ่านสัญญากันหรอก เห็นมีห้องว่างให้เช่า ราคาห้องไม่แพงพอสู้ไหว ทิศทางลม ทำเล ความสะดวกปลอดภัยเหมาะสม มีเงินค่าเช่าห้องล่วงหน้าพร้อมเงินประกันก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรตกลงเซ็นสัญญาไป มันก็แค่เรื่องเช่าห้องพัก ...“ก็เห็นว่าเป็นสัญญาเช่าแค่ปีเดียวค่ะ กะว่าจะเช่าแค่นั้น พอครบปีเราเรียนจบรับปริญญาพอดี พอถึงตอนนั้นก็ไปขอคืนห้อง เอาเงินประกันคืนคงไม่มีอะไรวุ่นวาย วางเงินประกันไว้ 5,000 บาทค่ะ” คุณเจนรวีให้ข้อมูล ล่วงมาถึงเดือนกันยายน 2551 อพาร์ตเม้นท์แห่งนี้ได้ติดตั้งเคเบิลทีวีบริการให้กับผู้เช่าพักอาศัย โดยจะคิดค่าบริการเพิ่มจากค่าห้องอีกเดือนละ 200 บาท และได้จัดโปรโมชั่นให้ชมฟรี 4 เดือนแรกก่อนคิดค่าบริการจริง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป แต่หากผู้เช่าห้องรายใดมาทำการต่อสัญญาใหม่เพื่อยืนยันการเช่าพักอาศัยต่อ ทางอาร์ตเม้นท์จะยกเว้นค่าบริการเคเบิ้ลให้ตลอดอายุสัญญาฉบับใหม่รวมระยะเวลา 1 ปีคุณเจนระวีเล่าว่าตอนที่ผู้ดูแลอพาร์ตเม้นท์มาแจ้งรายละเอียดของโปรโมชั่นนี้ ตอนนั้นกำลังวุ่นอยู่กับการขยำขยี้เสื้อผ้าอยู่หลังห้องพอดี“เขาบอกว่าให้เอาสัญญาเช่าห้องมาให้เขา แล้วจะได้ส่วนลดค่าเคเบิ้ลทีวีเดือนละ 200 บาท เราอยากได้ก็เลยส่งสัญญาให้เขาไป หายไปสักอาทิตย์หนึ่งเขาก็เอาสัญญามาคืนให้ตอนนั้นจำไม่ได้ค่ะว่าเราได้เซ็นลายมือชื่ออะไรเพิ่มเติมไปหรือเปล่า และไม่ได้เอะใจหรอกค่ะว่ามีการแก้ไขวันเริ่มสัญญาเช่าห้องกันใหม่ ตอนที่รับสัญญาคืนเขาก็มาตอนที่เรากำลังซักผ้าอยู่พอดี” พอถึงเดือนกุมภาพันธ์จึงได้ไปติดต่อขอคืนห้องล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาและขอคืนเงินประกันจำนวน 5,000 บาท แต่ทางอพาร์ตเม้นท์แจ้งว่าจะไม่คืนเงินประกันให้เนื่องจากคุณเจนรวีแจ้งการย้ายออกผิดเงื่อนไขเนื่องจากพักอาศัยยังไม่ครบ 12 เดือน“เราก็เถียงเขาใหญ่เลยค่ะว่าเราอยู่มาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว จะออกในเดือนมีนาคมปีนี้ทำไมถึงไม่ครบ 12 เดือน แต่พอเขาให้เราเอาสัญญาขึ้นมาดูก็ตกใจค่ะ เพราะสัญญาที่เราถือไว้มันถูกแก้ไขวันเริ่มสัญญาใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม 2552 ซึ่งก็มีลายเซ็นของเราลงไว้เรียบร้อยเลย ตอนที่เราอยากได้เคเบิ้ลฟรี”คุณเจนรวีพยายามเจรจาต่อรองต่างๆ นานาแต่ท้ายที่สุดทางอพาร์ทเมนท์ยืนกระต่ายขาเดียว ให้คุณเจนรวีจ่ายค่าห้องและค่าใช้จ่ายที่ค้างอยู่ ส่วนเงินประกันขอยึด เมื่อไม่มีทางออกสุดท้ายจึงต้องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาสาระสำคัญของสัญญาที่อพาร์ทเม้นท์ทำกับคุณเจนรวีและใช้เป็นเหตุในการริบเงินมัดจำได้กำหนดไว้ว่า ระยะเวลาการเช่าต้องไม่น้อยกว่า 12 เดือน ถ้าผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้ให้เช่าสามารถริบเงินที่ชำระไว้ทั้งหมด โดยผู้เช่าไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือเรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น ในส่วนของเงินค่าประกันห้องนั้นได้กำหนดว่า เงินค่าประกันห้องที่เหลือจากการหักค่าทำความเสียหายแล้ว จะคืนให้หลังจากที่ผู้เช่าได้ย้ายออกจากหอพักเป็นเวลา 30 วัน ....ซึ่งสัญญาลักษณะนี้หอพัก หรืออพาร์ทเม้นท์หลายแห่งได้ถ่ายแบบใช้เป็นเงื่อนไขเพื่องับเงินมัดจำค่าห้องของเด็กนักศึกษาจำนวนมากแต่เรื่องนี้มีทางออกครับ เนื่องจากคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550ดังนั้นสัญญาที่คุณเจนรวีทำใหม่กับอพาร์ตเม้นท์เมื่อ 1 มกราคม 2552 จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของประกาศฉบับนี้ด้วย โดยในส่วนของเงินประกันตามประกาศฉบับนี้ สัญญาการเช่าที่พักอาศัยทุกฉบับจะต้องมีข้อความว่า ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัยหรือเมื่อสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่ามิได้ทำความเสียหาย ให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันนั้น ตามที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบ ดังนั้นจึงถือว่าสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบผู้เช่าของอพาร์ตเม้นท์ในกรณีนี้จึงขัดต่อประกาศดังกล่าวและถือว่าไม่มีข้อความส่วนนี้ในสัญญา ดังนั้นผู้ให้เช่าห้องพักต้องคืนเงินค่ามัดจำให้กับผู้บริโภคโดยไม่มีเงื่อนไขครับ  

อ่านเพิ่มเติม >