ฉบับที่ 260 คำหลอกลวงของพ่อค้า...มีอะไรในหมอนข้าง

        ในสังคมออนไลน์มีเรื่องที่ผู้บริโภคโพสต์เล่าประสบการณ์การซื้อสินค้าหรือบริการจำนวนมาก บางครั้งก็เป็นสิ่งน่ารัก และบางครั้งก็น่า...ตกใจ มาลองอ่านประสบการณ์นี้กัน         คุณสุดรักเป็นแฟนนิตยสารฉลาดซื้อได้ทักมาสอบถามในกล่องข้อความของเพจนิตยสารฉลาดซื้อว่า เห็นข่าวสาวคนหนึ่งไปเดินงานสหพัฒน์แฟร์กับแฟน และไปซื้อหมอนข้างราคาใบละ 100 บาท พ่อค้าก็บอกว่าเป็นหมอนข้างเกรดพรีเมี่ยมใช้ในโรงแรม แต่นำมาขายราคาถูกเพียง 100 บาท เธอก็หลงเชื่อคำโฆษณาของพ่อค้าเลยซื้อมาเพราะหมอนข้างสภาพดี ปลอกหมอนขาวสะอาด แต่หลังจากหมอนข้างใบนั้นมาอยู่บนที่นอน เธอถูกมดกัดบนที่นอนบ่อยมาก เก็บกวาดห้องก็แล้ว ซักผ้าปูที่นอนก็แล้ว มดยังราวีเธอไม่เลิกรา เลยเริ่มหาสาเหตุอย่างจริงจัง สุดท้ายพบว่า มดมาจากหมอนข้างที่เธอซื้อมานั่นเอง         คุณสุดรักจึงแกะรื้อหมอนข้างดูด้านใน ก็พบว่าไส้หรือวัสดุด้านในเป็นฟองน้ำและมีเศษอะไรก็ไม่รู้ที่ทำให้หมอนข้างนิ่มๆ พร้อมกับกองทัพมดที่ยั้วเยี้ยผุดโผล่ออกมาจากฟองน้ำ คุณสุดรักสอบถามมาว่าเหตุการณ์แบบมีกฎหมายเอาผิดกับผู้ขายบ้างไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อแอดมินเพจนำข้อสอบถามมาสอบถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้คำตอบมว่ากรณีนี้อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หรือเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์นำหลักฐานการซื้อขายเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ/หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย ไม่ให้พ่อค้าแม่หลอกลวงผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 จ่ายเบี้ยประกันครบ แต่พอเคลมไป 3 ครั้ง บริษัทกลับเท

        “เวลาที่ไม่มีการเคลมประกัน บริษัทก็จะได้เงินค่าเบี้ยประกันไป แต่พอมีการเคลมประกัน ทางบริษัทประกันก็มีหนังสือยกเลิกประกันมา...”         คุณชัยโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาเรื่องนี้กับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาเล่าว่าตอนนี้เกษียณอายุงานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ได้ทำประกันไว้กับบริษัทข้ามชาติชื่อดังแห่งหนึ่ง เป็นประกันอุบัติเหตุ ประเภทสะสมทรัพย์ (ได้คืนตอนอายุ 80 ปี) มีการชดเชยรายได้และมีเงินปันผล โดยส่งค่าเบี้ยประกันแบบเพิ่มตามอายุ ปีละประมาณแสนกว่าบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เขายินดีจ่าย เพื่อวางแผนไว้หากบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจะได้มีค่ารักษาพยาบาล และตอนที่ตัวแทนมาเสนอขายได้แจ้งว่า ถึงมีการเคลมก็จะไม่มีการยกเลิก ซึ่งเขาจำได้แม่นเพราะนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจทำประกันนี้จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วเขาได้เข้าไปเคลมประกันจำนวน 3 ครั้ง ต่อมาทางบริษัทประกันได้มีหนังสือขอยกเลิกกรมธรรม์ เขางงมาก จึงไปร้องเรียนกับทาง คปภ. และได้รับคำตอบว่า การกระทำของบริษัทประกันที่บอกยกเลิกกรมธรรม์ครั้งนี้เป็นการชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในกรมธรรม์มีระบุให้บริษัทประกันสามารถยกเลิกได้ แต่คุณชัยก็ยังไม่สิ้นสงสัย         คุณชัยได้ลองไปค้นข้อมูลเพิ่มและพบว่าในกฎหมายต่างประเทศนั้นห้ามไม่ให้มีการยกเลิก ซึ่งเขาเห็นว่าการกระทำของบริษัทประกันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงต้องการฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างต่อไปแนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้แนะนำให้คุณชัยทำหนังสือถึงบริษัทประกัน ชี้แจงในเรื่องของการยกเลิกกรมธรรม์ก่อน โดยส่งไปแบบไปรษณีย์ตอบรับเพื่อให้ทางบริษัทประกันตอบมาถึงเหตุแห่งการยกเลิกกรมธรรม์เพื่อจะได้ใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการต่อไปหากต้องการดำเนินคดีผู้บริโภค         ต่อมาทางบริษัทประกันทำหนังสือแจ้งคุณชัยกลับมาว่า ได้รับจดหมายแล้วและขอนัดชี้แจง อย่างไรก็ตามมีเหตุให้ต้องเลื่อนนัดการชี้แจงโดยบริษัทอ้างว่า กำลังนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการผู้บริหาร ซึ่งจะชี้แจงให้ทราบอีกครั้งภายหลังจากได้ข้อสรุปแล้ว (นัดไว้ 31 สิงหาคม 2565 ตรวจสอบเมื่อ 5 ก.ย. ยังไม่มีอัปเดตเพิ่ม)  ในเรื่องการฟ้องคดีของผู้บริโภค        1.กรณีผู้บริโภคเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ผู้ร้องหรือผู้บริโภคจะฟ้องศาลจังหวัด ณ จังหวัดที่เกิดความเสียหาย หรือตามภูมิลำเนาของจำเลย ก็ได้         2. ผู้บริโภคสามารถไปฟ้องคดีได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลหรือค่าขึ้นศาลแต่อย่างใด จะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ซึ่งศาลจะจัดให้พนักงานคดีคอยช่วยเหลือทำการบันทึกรายละเอียดที่ผู้ร้องเล่ามาทั้งหมด และให้ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ เนื่องจากคำฟ้องต้องมีข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นผู้ร้องจะต้องจดจำ วันเวลา สถานที่ ปัญหา ข้อขัดข้องเสียหาย ตลอดจนคำขอที่ต้องการให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้ผู้ประกอบการรับผิดชดใช้ รวมทั้งต้องนำพยานและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปให้เจ้าพนักงานคดีดูด้วย เพื่อให้เจ้าพนักงานคดีทำคำฟ้องได้ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ปัญหาเมื่อมอเตอร์ไซค์ถูกชน

        หลายคนน่าจะใช้รถมอเตอร์ไซค์ในชีวิตประจำวัน บางครั้งอาจเกิดอุบัติเหตุและไม่รู้ว่าจะสามารถเรียกค่าชดเชยหรือค่าเสียหายอะไรจากอุบัติเหตุได้บ้าง มาดูสิว่า หากเกิดอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ถูกชน ขึ้นแล้ว เราเจ้าของรถจะสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง         ช่วงเปิดเทอมคุณนิดหน่อย มีภารกิจหลักคือรับหน้าที่รับส่งลูกชายไป-กลับจากโรงเรียน เช้าวันจันทร์คุณนิดหน่อยขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งลูกชายที่โรงเรียนซึ่งเหตุการณ์เรียบร้อยดี แต่ทว่าขากลับจากโรงเรียนเธอผ่านร้านขนมริมทางที่ลูกชายชอบกินจึงแวะซื้อขนม เพื่อไว้ให้ลูกชายรับประทานในช่วงกลับจากโรงเรียน  คุณนิดหน่อยจอดรถมอเตอร์ไซค์ไว้ข้างทางบริเวณหน้าร้านขนม ขณะที่นั่งรอขนมบนรถมอเตอร์ไซค์นั้นเองมีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งพุ่งมาชนเธอจนหล่นจากมอเตอร์ไซค์ เธอได้รับบาดเจ็บ หัวโนและมีแผลถลอกตามตัว งงๆ อยู่สักพักจากนั้นก็มีทีมกู้ภัยนำเธอส่งโรงพยาบาลเมื่อถึงโรงพยาบาลคุณหมอให้การรักษาเบื้องต้น หลังจากเห็นว่าไม่มีอาการร้ายแรงมาก ได้ให้เธอกลับบ้านก่อน  บอกว่าให้คอยสังเกตอาการว่า มีอาการอาเจียนหรือแน่นหน้าอกหรือไม่ ถ้ามีให้รีบกลับมาโรงพยาบาล คุณนิดหน่อยไม่มีอาการแบบหมอบอก แต่เมื่อถึงบ้านแล้วเธอมีอาการตามซ้ายบวมจนตาปิดจึงกลับไปโรงพยาบาลอีกครั้ง พอถึงตรงนี้คุณนิดหน่อยจึงเริ่มคิดได้ว่า เธอสามารถเรียกร้องอะไรจากคู่กรณีได้บ้างนะ จึงปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีรถมอเตอร์ไซค์ชนกัน รถมอเตอร์ไซค์จะมีประกันภาคบังคับอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ โดยจะชดเชยค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน สามารถเบิกจ่ายได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด ครอบคลุมทั้งคนขับและคนซ้อน โดยจ่ายตามค่าใช้จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน แต่ถ้าพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก จะชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามค่าใช้จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 80,000 บาท         นอกจากนี้ผู้ร้องยังสามารถเรียกค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ ค่าทรัพย์สินที่เสียหายจากการเกิดเหตุรถชน เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือโน้ตบุ๊ค ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ กรณีที่รถที่ถูกชนไม่สามารถที่จะใช้งานได้เนื่องจากเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ ผู้ร้องสามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ต่อการใช้รถหรือค่าขาดประโยชน์จากการซ่อมได้ เช่น ต้องนั่งรถแท๊กซี่ไปทำงานแทนการใช้รถคันที่ถูกชนหรือ ค่าขาดประโยชน์ในการหารายได้ เช่น ทำงานได้วันละ 300 บาท สามารถเรียกได้ 300 บาทตามจริ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 สั่งซื้อน้ำผึ้งขวดออนไลน์ได้ไม่ครบจำนวน

        ซื้อของออนไลน์ได้ของไม่ครบจำนวนใครไม่เคยเจอต้องบอกว่า โชคดีมาก เผอิญว่าคุณปุณไม่โชคดีตลอดไป คราวนี้พลาดท่าให้กับการสั่งซื้อน้ำผึ้งจากร้านค้าออนไลน์เข้าเสียแล้วเรื่องราวมีอยู่ว่า คุณปุณสั่งซื้อน้ำผึ้งผ่านทางแอปพลิเคชันสีส้มชื่อดัง โดยก่อนที่จะซื้อเธอเช็กทั้งยอดขายที่มีการรีวิวสินค้าว่าเป็นอย่างไร และคิดว่ายอดขายเยอะน่าจะขายดี เมื่อลองเช็กดู อย.ก็พบว่ามี สินค้าดูน่าเชื่อถือ เมื่อผ่านการตรวจสอบขั้นต้นแล้วเธอจึงสั่งซื้อไป 2 ขวด จ่ายเงินเรียบร้อย ต่อมาได้รับสินค้าตามระยะเวลาที่ทางร้านแจ้ง (แอบดีใจ) แต่เมื่อแกะกล่องออกมาคุณปุณพบว่า มีเพียงแค่น้ำผึ้งเพียงขวดเดียว อ้าว! “ฉันสั่งสองขวดไหม” จึงรีบทักไปแจ้งกับทางร้านค้าผ่านช่องทางอินบ็อกทันที เมื่อร้านค้าทราบก็บอกว่าจะทำการจัดส่งให้อีก 1 ขวดนะคะคุณลูกค้า คุณปุณก็สบายใจคิดว่าคงไม่น่าจะหลอกหรอก ขายในแอปส้มเลยนะแต่เมื่อเวลาผ่านไปเดือนกว่าแล้วยังไม่ได้สินค้าที่ว่าทักไปถามก็บอกว่าส่งแล้ว แต่พอคุณปุณขอเลขพัสดุก็บอกว่าทำหาย เมื่อพูดคุยกันไปมาก็บอกว่าจะทำการส่งให้ใหม่ แต่พอทักไปถามเลขพัสดุอีกครั้งไม่มีการตอบกลับจากเจ้าของร้านค้าน้ำผึ้งในแอปส้มเจ้านั้นอีกเลย จึงได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โทรไปสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่แอปพลิเคชันที่ให้บริการเพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งทางแอปฯ แจ้งรับเรื่องและขอช่องทางติดต่อผู้ร้อง โดยจะส่งอีเมล์ให้ผู้ร้องเพื่อให้ส่งข้อมูล เช่น การแชทที่คุยกับร้านไม่เกิน 48 ชั่วโมง  สินค้าที่ได้รับ หมายเลขคำสั่งซื้อ โดยทางแอปฯ แจ้งจะดำเนินการตรวจสอบและคืนเงินให้ แต่...หลังจากนั้นทางแอปฯ ได้ติดต่อมายังเจ้าหน้าที่ว่าไม่สามารถทำเรื่องขอคืนเงินได้เนื่องจากระยะเวลากำหนดให้ทำได้ภายใน 30 วัน         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงแจ้งทางแอปฯ ขอให้ตรวจสอบร้านค้าเนื่องจากร้านตั้งใจไม่ส่งสินค้าให้ครบตามคำสั่งซื้อเข้าข่ายฉ้อโกง         หลังจากที่ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ประสานไปทางแอปพลิเคชันที่ให้บริการแล้ว ทางแอปฯ แจ้งว่าได้โทรไปหาคุณปุณอีกครั้ง เพื่อเสนอให้โค้ดส่วนลดทดแทนได้ไหม?  เนื่องจากสินค้าที่สั่งซื้อระยะเวลาเกินกำหนด 30 วัน ไม่สามารถคืนเงินได้หากต้องการเงินคืนหรือสินค้าให้ทางลูกค้าต้องติดต่อร้านค้าเอง         คุณปุณคิดว่าไม่ใช่สิ ติดต่อร้านค้าไปแล้วหลายครั้งแต่ร้านค้าไม่ส่งของให้ หลังๆ ก็ไม่ตอบข้อความใดๆ เลย เธอจึงยืนยันกับทางแอปฯ ว่าไม่เอาโค้ดส่วนลดตนจะเอาเป็นสินค้าหรือเป็นเงินคืน และขอให้ทางแอปฯ ช่วยประสานงานกับร้านค้าด้วย ไม่นานทางคุณปุณก็ได้เลขพัสดุการส่งสินค้าของร้านค้านั้น เมื่อเช็กเลขพัสดุก็พบว่า “ร้านค้าเพิ่งจัดส่งของให้คุณปุณ” เมื่อคุณปุณได้รับสินค้าแล้ว จึงอีเมลตอบกลับทางแอปฯเพื่อยืนยันว่าได้สินค้าแล้ว และอยากฝากขอให้ทางแอปฯ ตรวจสอบร้านค้าต่างๆ อีกด้วย เนื่องจากการทำแบบนี้เข้าข่ายฉ้อโกง เป็นเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภค แอปฯ ควรเข้ามามีส่วนในการจัดการปัญหา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 หนี้บัตรเครดิตหลายใบ จัดการอย่างไรดี

        ถ้าเรามีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ หมุนแล้วหมุนอีกจนไม่สามารถหมุนได้อีกแล้ว เราควรจะมีวิธีจัดการหนี้เหล่านี้อย่างไรดี ลองมาดูลูกหนี้รายนี้กันว่าจะมีวิธีจัดการหนี้อย่างไร        คุณภูผา ใช้บัตรเครดิตเพลินไปหน่อยเลยทำให้มีหนี้บัตรเครดิตอยู่ 3 ใบจาก 3 ธนาคาร ใบแรกบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย จำนวน 120,000 บาท ใบที่สองบัตรเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 100,000 บาท และใบที่สามบัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 100,000 บาท เขาชำระหนี้จะไปไม่ไหวแล้ว พยายามหมุนเงินแล้วหมุนเงินอีกก็ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ จนในที่สุดเขาก็หยุดจ่ายหนี้ ตอนนี้เขาหยุดจ่ายมาได้ 1 เดือนแล้ว         เป็นหนี้ต้องชำระภูผาเข้าใจจุดนี้ดี แต่เขามีความคิดว่าจะปิดบัญชีหนี้ด้วยเงินก้อนเดียว โดยจะไปขอหยิบยืมเงินจากเพื่อนเพื่อมาปิดบัญชีเสีย เพราะกลัวว่ายิ่งนานจะยิ่งเสียดอกเบี้ยมาก เขาไม่แน่ใจว่าเขาคิดถูกหรือเปล่า จึงมาปรึกษามูลนิธิฯ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นผู้ร้องควรจัดทำบัญชีหนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมก่อน ว่ามีหนี้อะไรบ้างและจำนวนเท่าใด โดยรวบรวมหนี้ทั้งหมดมาจัดลำดับเป็นหัวข้อเช่น ชื่อเจ้าหนี้ หนี้อะไร จำนวนเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไหร่ และลองเปรียบเทียบดูว่าแต่ละใบต้องจ่ายขั้นต่ำเท่าไร ถ้าต้องการหยุดจ่ายขั้นต่ำของทุกใบเพื่อเก็บเงินก้อนแล้วค่อยๆ ปิดทีละใบโดยต่อรองขอลดยอดหนี้ลงมาก็เป็นวิธีที่สามารถทำได้           ต่อมาถ้าตกลงกันได้แล้วว่าจะปิดที่ตัวเลขเท่าไร ผู้ร้องจะต้องขอใบลดหนี้จากเจ้าหนี้เพื่อยืนยันการลดหนี้ เมื่อได้ใบลดหนี้แล้วผู้ร้องจึงจะไปโอนเงินที่ธนาคาร เมื่อโอนเงินแล้วหนี้ของผู้ร้องจะต้องเป็นศูนย์เพราะฉะนั้นผู้ร้องจึงต้องขอเอกสารใบปิดบัญชีมาอีกครั้งหนึ่งการชำระหนี้จึงจะสมบูรณ์         หรืออีกวิธีหนึ่งหาเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยที่ถูกกว่าดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิต เพื่อนำจ่ายหนี้บัตรทุกหมดทุกใบ ซึ่งผู้ร้องอาจจะยืมเงินเพื่อนตามที่สอบถามมาก็ได้         สิ่งที่ผู้ร้องต้องเจอเมื่อหยุดชำระหนี้หรือค้างชำระหนี้คือ จะถูกโทรศัพท์ทวงถามหนี้บ่อยครั้งจนอาจจะรำคาญได้ แต่ยังมีกฎหมายเรื่องทวงถามหนี้กำกับดูแลอยู่ เช่น ห้ามเจ้าหนี้ข่มขู่จากการทวงหนี้ ห้ามแจ้งการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นทราบ เป็นต้น ถ้ามีการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผู้ร้องสามารถแจ้งความเพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ทวงถามหนี้ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 แจ็กพอตเศษฝอยขัดหม้อในอาหารกล่อง

        ปัจจุบันการใช้บริการแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ในการทำธุระต่างๆ เพื่อความสะดวกสบาย มักเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภคยุคใหม่ เรื่องราวของคุณน้ำตาลในครั้งนี้ ก็เช่นกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารเดลิเวอรี่ ที่เธอได้เข้ามาเล่าให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง เผื่อว่าจะเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคอื่นๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา         เหตุการณ์มีอยู่ว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  คุณน้ำตาลกำลังนั่งประชุมงานอย่างเคร่งเครียดกับเพื่อนร่วมงานทั้งอาวุโสกว่าและคนรุ่นราวคราวเดียวกัน และเมื่อใกล้ถึงเวลาพักเที่ยง ณ ที่ห้องประชุมทุกคนได้เริ่มกดโทรศัพท์เข้าแอปพลิเคชันเพื่อเลือกสั่งอาหารกันทันที        สำหรับคุณน้ำตาลเลือกไปเลือกมาก็ได้อาหารที่ถูกใจนั้นคือ “ข้าวไก่ข้นออนเซ็น” เมื่อคุณน้ำตาลเลือกเสร็จ และทำรายการสั่งอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็อดคิดถึงอาหารเที่ยงที่กำลังจะมาไม่ได้สมาธิประชุมเริ่มลดลงเรื่อยๆ เมื่ออาหารมาถึงทุกคนต่างไม่รีรอจัดการกับอาหารตรงหน้าของตน คุณน้ำตาลก็เช่นกัน แต่คำแรกก็ได้เรื่อง ...ขณะนำเข้าปากเธอสังเกตเห็นเศษอะไรสักอย่างเส้นหยิกๆ ตกใจสิ เศษอะไร! มองไปมองมาดันคล้ายเศษฝอยขัดหม้อ เลยให้เพื่อนร่วมงานที่นั่งอยู่ที่โต๊ะช่วยกันดูทันทีว่ามันคืออะไร สุดท้ายแล้วก็สรุปได้ว่ามันจะเป็นเศษฝอยขัดหม้อที่น่าจะหลุดออกมาตอนล้างกระทะ และมันมีขนาดที่เล็กมาก แม่ครัวอาจจะมองไม่เห็น         อดกิน คุณน้ำตาลหิวข้าวจนต้องฝากให้แม่บ้านช่วยซื้อมาให้ใหม่จากร้านค้าใกล้ที่ทำงานแทน ต่อมาหลังจากนั้น เธอก็เริ่มกระบวนการตามที่เคยได้รับคำแนะนำมา คือ ถ่ายรูปอาหารและสิ่งแปลกปลอมเก็บเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐาน  จากนั้นก็ติดต่อร้องเรียนในศูนย์ช่วยเหลือของทางแอปพลิเคชันที่เปิดไว้ให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุต่างๆ หากได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ ต่อมาทางแอปฯ ได้จัดการชดเชยค่าเสียหายให้กับทางคุณน้ำตาลโดยการคืนเงินให้ และยังให้ voucher แก่คุณน้ำตาลเพื่อใช้ในการลดราคาสินค้าในการสั่งครั้งต่อไป         เมื่อได้รับคำตอบที่พอใจจากทางแอปฯ คุณน้ำตาลก็ลดความโมโหหิวลงไปได้ และรับประทานข้าวกลางวันอย่างมีความสุขขึ้น         ข้อคิดจากเรื่องนี้ หนึ่งความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ การบ่นอาจไม่มีประโยชน์แต่การใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถช่วยคุณได้ และสองอาหารกล่องก่อนที่เราจะรับประทานควรมองหรือสังเกตสักหน่อยก่อนรับประทาน จะช่วยให้ปัญหาไม่บานปลายเป็นผลเสียแก่สุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อะไรลอยอยู่ในขวดน้ำผสมวิตามินซี

        ภูผาได้ซื้อน้ำดื่มวิตามินยี่ห้อดังเจ้าหนึ่งจำนวน 2 แพคมาไว้ที่หอเมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อซื้อมาก็ทยอยดื่มไปเรื่อยๆ วันนี้ก็เช่นกันเขาก็หยิบขวดน้ำจะมาเปิดดื่มตามปกติ ก่อนจะเปิดขวดเขาสังเกตเห็นเหมือนว่า ในขวดน้ำมีเศษผงอยู่ ตอนแรกคิดว่าไม่ใช่เพราะยังไม่ได้เปิดขวดผงไม่น่าจะเข้าไปได้ น่าจะเป็นเศษอะไรมากกว่าเพราะน้ำใสเลยทำให้มองผ่านขวดน้ำไปได้ แต่เมื่อหยิบขวดน้ำมาใกล้ๆ เศษผงก็ยังอยู่ เขาเลยเอามาส่องดูให้แน่ใจอีกที คราวนี้ชัดเจนเลย มีเศษผงลอยอยู่ในขวดน้ำเป็นก้อนขนาดเกือบเท่าหัวแม่มือ เขาก็แปลกใจไม่รู้ว่าจะมีผงก้อนขนาดนั้นอยู่ในขวดได้ยังไง จึงถ่ายวีดีโอขวดน้ำแล้วมาปรึกษามูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ผงหรือเศษฝุ่นที่พบเป็นสิ่งปนเปื้อนในอาหารอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีพบอาหารปนเปื้อนผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ดังต่อไปนี้         1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์และใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้เคียงเพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายน้ำดื่มหรือบริษัทผลิตน้ำดื่มที่ซื้อมาเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ขอให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ สรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงกรรมการผู้มีอำนาจหรือผู้จัดการไปยังบริษัทร้านค้าที่จัดจำหน่ายและบริษัทผู้ผลิตหมายเหตุ : ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 พอโควิดคลี่คลายพี่แท็กซี่ก็ออกลายมาเลย

        สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดกำลังดีขึ้น รัฐบาลคลี่คลายมาตรการต่างๆ ขนส่งมวลชนกลับมาให้บริการตามปกติไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถตู้ รถทัวร์ เรือ สายการบิน รถรับจ้าง การคิดค่าโดยสารก้น่าจะเป็นไม่ตามปกติ แต่กลับไม่เป็นแบบนี้ รถแท็กซี่กลับทำตัวไม่น่ารัก เรามาดูกันว่ารถแท็กซี่ทำตัวไม่น่ารักอย่างไร         คุณเชอรี่ ไปทำงานต่างจังหวัด เมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยก็นั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินดอนเมืองเพื่อเดินทางกลับบ้านแถวเมืองนนทบุรี เมื่อมาถึงสนามบินดอนเมืองประมาณสองทุ่ม เธอไปต่อแถวกดคิวเรียกรถแท็กซี่ในสนามบิน ได้คิวที่ 216 รอคิวประมาณร้อยกว่าคิว         “โอ๊ะ ท่าจะไม่ไหวเมื่อไหร่จะถึงบ้านกัน” คิดอย่างนั้นแล้ว เธอจึงไม่รอและลากกระเป๋าไปเรียกรถแท็กซี่หน้าสนาบินเพื่อกลับบ้านแทนการรอคิวแท็กซี่ในสนามบิน รถแท็กซี่หน้าสนามบินก็ไม่ค่อยมีเหมือนกัน แต่ก็มีคนรอเรียกอยู่หลายคน เธอเห็นว่า คนก่อนหน้าเธอสองสามคนเรียกแท็กซี่ แท็กซี่ก็ไม่ได้รับคนโบกก่อนหน้าเธอขึ้นไปสักราย จนลำดับถัดมาถึงเธอถึงรู้ว่าแท็กซี่ขอคิดราคาแบบเหมาไม่คิดราคาตามมิเตอร์ จากสนามบินดอนเมืองไปบ้านเธอแถวเมืองนนทบุรีคิดราคา 400 บาท         “พี่ก็คิดราคาขูดรีดเกินไป” คุณเชอรี่จึงปฏิเสธไม่ไป เพราะปกติเธอนั่งกลับบ้านประมาณแค่สองร้อยกว่าบาท เต็มที่สุดไม่เกินสามร้อย ไม่เพียงแท็กซี่คันดังกล่าวเธอยังเจอแท็กซี่คิดราคาแบบเหมาอีกสี่คันรวด เธอเรียกรถแท็กซี่ถึงห้าคันจึงเจอรถแท็กซี่ที่คิดราคาตามมิเตอร์ เธอจำได้ว่ารถแท็กซี่ต้องคิดราคาค่าโดยสารตามมิเตอร์ ดังนั้นจึงมาปรึกษามูลนิธิว่าจะทำอย่างไรได้บ้างไหมกับกรณีเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ตามกฎหมายแล้วรถแท็กซี่ต้องเก็บค่าบริการตามอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ไม่สามารถคิดค่าบริการแบบเหมาได้ ถ้าพบรถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการแบบเหมา สามารถร้องเรียนได้ที่กรมการขนส่งทางบก โทรศัพท์ 1584 โดยแจ้งทะเบียนรถและสถานที่ที่เกิดเหตุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 โทรมาชวนให้ทำประกันฟรี แต่เรียกเก็บค่าเบี้ยตอนหลัง

        การทำประกันภัยในรูปแบบต่างๆ ถ้าผู้บริโภคไม่พอใจเงื่อนไขในกรมธรรม์ก็สามารถขอยกเลิกได้ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่เพื่อไม่ให้ต้องเสียเงิน เวลา และสุขภาพจิตโดยใช่เหตุ ผู้บริโภคควรศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดของกรมธรรม์นั้นๆ ให้รอบคอบก่อนตอบตกลง หรือถ้ามีตัวแทนประกันโทรศัพท์มาชักชวนให้ทำประกันอุบัติเหตุโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย อยากให้เอะใจสักนิด จะได้ไม่โดนหลอกเหมือนคุณพร         เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้เอง คุณพรได้รับโทรศัพท์จากคุณอ้อม ที่แนะนำตัวว่าเป็นตัวแทนขายประกันที่มีใบอนุญาตถูกต้อง จากบริษัทตัวแทนซึ่งเป็นนายหน้าของบริษัทประกันภัยชื่อดัง เธอโทร.มาแนะนำกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล แบบพิเศษพลัส โดยแจ้งว่าเป็นโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ที่ใช้บัตรเครดิตของธนาคารที่คุณพรเป็นลูกค้าอยู่ คุณพรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด พร้อมชี้แจงว่าเป็นประกันอุบัติเหตุที่ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล มีค่ารักษาพยาบาลอุบัติเหตุจ่ายตามจริงครั้งละไม่เกิน 40,000 บาท หากเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุจะได้รับเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท พอฟังจบ คุณพรก็ตอบตกลงไป         คุณพรมารู้ตัวว่าโดนหลอกซะแล้ว เมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุฉบับนี้พร้อมกับใบเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันปีละ 9,834 บาท จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า หากตนจะขอยกเลิกกรมธรรม์นี้โดยไม่ให้เสียเปรียบผู้ประกอบการนั้นจะทำอย่างไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณพรต้องทำเรื่องขอยกเลิกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์มา โดยจะต้องทำเป็นหนังสือหรือจดหมายแบบลงทะเบียนตอบรับ พร้อมทั้งแนบสัญญากรมธรรม์นี้ ส่งไปถึงบริษัทประกันภัยที่เป็นคู่กรณี จากนั้นให้ทำสำเนาจดหมายขอยกเลิกสัญญานี้ส่งถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคปภ.ด้วย เมื่อทางบริษัทประกันภัยได้รับหนังสือแล้วจะต้องยกเลิกสัญญากรมธรรม์ให้คุณพรภายใน 30 วัน หากครบกำหนดแล้วบริษัทฯ ยังไม่ยอมยกเลิกสัญญาให้ คุณพรสามารถทำเรื่องร้องเรียนไปยัง คปภ.หรือสายด่วน 1186 ได้ทันที เพื่อให้ทาง คปภ.ดำเนินเรื่องให้ต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ไม่รับรถเพราะลองขับแล้วมีปัญหา แต่ตัวแทนจำหน่ายไม่คืนเงินจองให้เต็มจำนวน

        หากจ่ายเงินจองซื้อรถยนต์ไปแล้ว แต่พอได้ลองขับกลับพบว่ารถมีปัญหา ไม่ว่าใครก็คงต้องการยกเลิกสัญญาจองและขอเงินคืนทั้งนั้น เช่นเดียวกับคุณศรีที่ส่งอีเมลมาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะต้องการให้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์คืนเงินจองให้เธอเต็มจำนวน          คุณศรีเล่าว่าเธอไปจองรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งในงานมอเตอร์โชว์เมื่อปลายปีที่แล้ว และได้ตกลงกับผู้จัดการฝ่ายขายว่าจะขอทดลองขับระยะสั้นๆ ก่อนตัดสินใจออกรถ เพราะเคยขับรถยนต์ยี่ห้อนี้แต่คนละรุ่นแล้วเจอปัญหารถขับลงซ้ายมาปีกว่ายังแก้ไม่หายเลย ต่อมาในวันนัดรับรถ 16 มกราคมปีนี้ คุณศรีได้ลองขับรถยนต์รุ่นที่จองไว้ ที่ความเร็ว 40-60 กม/ชม. แล้วปล่อยมือ ปรากฏว่ารถลงซ้ายมากกว่ารุ่นที่เธอเคยขับมาก่อนอีก เธอจึงปฏิเสธที่จะรับรถไว้ แม้อีก 2 สัปดาห์ถัดมา บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนี้จะคืนเงินดาวน์ 500,000 บาท พร้อมเงินจดทะเบียนให้ แต่ยังไม่ได้คืนเงินจองรถ 10,000 บาทมาให้ด้วย เธอจึงทวงถามกลับไป ต่อมาประมาณเดือนมิถุนายน ทางบริษัทตัวแทนฯ แจ้งว่าจะคืนเงินให้เพียง 5,000 บาท พร้อมแนบสัญญามาให้เซ็นยินยอม แต่คุณศรีอ่านสัญญาแล้วเห็นว่ามีหลายข้อความที่เธอยอมรับไม่ได้ จึงปฏิเสธข้อเสนอนั้น และต้องการเรียกร้องความยุติธรรม โดยยืนยันให้บริษัทตัวแทนฯ คืนเงินจอง 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7% นับจากวันนัดรับรถให้กับเธอด้วย   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ได้โทรศัพท์กลับไปยังคุณศรี แนะนำให้เธอไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก่อน โดยให้แจ้งว่าเรื่องราวตอนที่คุณศรีทดลองขับรถยนต์รุ่นที่จองแล้วพบการชำรุดบกพร่อง จึงปฏิเสธรับรถคันนี้เป็นความจริง จากนั้นให้ทำหนังสือส่งไปยังทางบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์คู่กรณี แจ้งขอค่าจองคืนเต็มจำนวน เนื่องจากรถมีการชำรุดบกพร่อง ภายใน 7-14 วัน หากไม่คืนก็จะดำเนินการต่อไปเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่แจ้งไปแล้ว คู่กรณียังเพิกเฉย คุณศรีสามารถนำหลักฐานการจองรถ หนังสือขอเงินคืน ใบลงบันทึกประจำวัน ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >