ฉบับที่ 255 รู้ว่าทองปลอมแต่ร้านบอกไม่ลอกไม่ดำ ไม่เป็นอย่างโฆษณาขอคืนเงินได้ไหม

        ทองคำแท้นั้นราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายท่านก็มีสะสมไว้แต่ไม่กล้าเอามาใส่จริง หรือบางท่านก็อยากจะมีเครื่องประดับเป็นทองไว้ใส่โชว์บ้างแต่เงินไม่มากพอ ทางออกสมัยนี้ก็คือ การใส่เครื่องประดับทองชุบ หรือ ทองปลอม แต่ว่าเป็นงานดีมากจนใกล้เคียงกับงานทองจริงเป็นทางเลือก ขนาดมีร้านประกาศชัดเจนว่า ขายทองปลอม ไม่ลอก ไม่ดำ แต่จำนำไม่ได้ ที่เป็นข่าวดังในช่วงเดือนที่ผ่านมา หรือการไลฟ์สดขายทองไมครอน ทางเพจที่เรียกตัวเองว่า ร้านทอง ก็มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งเชิญชวนให้ผู้สนใจงานทองแต่เงินไม่หนาได้แย่งกันเอฟอย่างคึกคัก แต่หลายครั้งหลังจากเผลอพลาดสั่งซื้อไปแล้วสินค้าไม่ได้เป็นอย่างโฆษณาจะทำอย่างไรดีนะ         คุณลูกนกติดตามเพจร้านทองแห่งหนึ่ง และได้เข้าไปดูไลฟ์สดบ่อยๆ จนล่าสุดอดใจไม่ไหวทำให้ซื้อทองที่ทางเพจระบุว่า เป็นทองเกรดไมครอน ในราคา 800 บาท ซึ่งทางร้านบอกว่า ไม่ลอก ไม่ดำ แน่นอน “ร้านเขาพูดแบบนี้นะพี่ เขาบอกว่า แหวนทองเพชรจีนวงนี้นะ ราคาเดิมคือ 1,500 บาท แต่ตอนนี้กำลังทำโปรโมชันพิเศษสุด คือขายเพียงแค่ 800 บาทเท่านั้น เป็นงานไมครอนใส่แล้วไม่ลอกไม่ดำ หนูก็สั่งซื้อเลยพี่งานมันดูดีมาก แต่พอได้มาจริงใส่แป๊บเดียวดำปี๊แล้ว” คุณลูกนกบอกข้อมูลเพิ่มว่า ถูกหลอกกันเยอะเลย ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทองเกรดไมครอน หรือ ทองไมครอน คือ ทองที่ข้างในเป็นโลหะแล้วถูกชุบหรือเคลือบผิวด้วยทองคำแท้ กระบวนการชุบเป็นแบบพิเศษ เป็นการชุบด้วยการใช้ไฟฟ้าซึ่งช่วยให้สารละลายทองคำ มีความติดทนนาน และไม่หลุดล่อนออกจากวัสดุที่นำมาชุบอย่างรวดเร็ว เป็นการทำขึ้นมาเพื่อเลียนแบบให้เสมือนทองคำจริงๆ ส่วนใหญ่จะเลียนแบบพวกทองรูปพรรณ พวกสร้อยคอ แหวนสร้อยข้อมือ กำไล ฯลฯ ด้วยขนาดและลวดลายเช่นเดียวกับทองแท้ในร้านค้าทองคำ คำว่า “ไมครอน” คือหน่วยวัดปริมาณความหนาของผิวทองที่เคลือบ ยิ่งปริมาณทองที่เคลือบหนาราคาก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็คงทราบกันดีว่า “ของปลอม” ใส่ได้สักพักผิวที่เคลือบไว้จะหลุดลอกไป ไม่เป็นอย่างคำโฆษณาที่ระบุว่า ไม่ลอก ไม่ดำ (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความหนาที่เคลือบ)         อย่างไรก็ตามในกรณีของคุณลูกนก เธอรับได้ว่าเป็นทองปลอม แต่ติดที่คำโฆษณาว่า ไม่ลอกไม่ดำนี่แหละ ที่ทำให้รู้สึกว่าเสียท่า ทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิจึงได้แนะนำในเบื้องต้นไปว่า ให้เธอไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าทางเพจได้ขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพตามคำโฆษณาและประสงค์ให้ทางร้านคืนเงินให้ เมื่อได้ใบแจ้งความแล้วให้ส่งเข้าทางเพจของร้านและลองยื่นเงื่อนไขขอคืนเงินหรือให้ทางร้านรับซื้อทองนี้คืนในราคาที่ขายออกมา ซึ่งทาง มพบ.จะช่วยดำเนินงานประสานให้อีกทางหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 แก็งเก็บเงินพัสดุปลายทางกำลังระบาด ระวังกันด้วย

        ใครไม่เคยชอปปิ้งออนไลน์นี่ต้องเรียกว่า ใจแข็งมาก เพราะทุกวันนี้การขายสินค้าทางออนไลน์ได้เข้ามาเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของชีวิตไปแล้ว สังเกตได้จากการเติบโตของธุรกิจการรับขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีหลายเจ้ามากที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ ถ้าใครอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้าน ก็คงสังเกตได้ถึงรถมอเตอร์ไซต์ที่วิ่งเข้าออกซอยนั้นซอยนี้ เพื่อส่งสินค้าให้กับผู้บริโภค แน่นอนว่ามันก็เป็นโอกาสด้วยเช่นกันที่มิจฉาชีพจะใช้ช่องทางนี้ทำมาหากินเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งที่กำลังเป็นข่าวคราวอยู่ในเวลานี้คือ การส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง หรือ ที่เรียกว่า COD (Cash on Delivery)         คุณปลาย ซึ่งเป็นข้าราชการเกษียณอายุแต่ยังคงมีบทบาทหน้าที่ในด้านการให้คำปรึกษากับหน่วยงานบางแห่งอยู่ รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เล่าเรื่องที่ตนเองก็พลาดเหมือนกันกับเจ้า COD นี้ ดังนั้นจึงอยากให้ทาง มพบ.นำมาเตือนผู้บริโภค         วันหนึ่งมีพนักงานบริษัทขนส่งแห่งหนึ่งนำพัสดุแบบ COD มาส่ง ซึ่งคุณปลายก็รับไว้เพราะราคาที่แจ้งเก็บเงินนั้นตรงกันพอดีกับสินค้าที่สั่งซื้อไป ยอมรับเลยว่า “ตนเองไม่ได้พิจารณาให้ดีก่อน พอได้สินค้ามาก็สเปรย์แอลกอฮอล์ที่กล่องสินค้าไว้ก่อนวางทิ้งหนึ่งคืน” ต่อเมื่อแกะสินค้าดูจึงพบว่า ไม่ใช่สินค้าที่สั่ง         คุณปลายจึงลองติดต่อกับบริษัทขนส่งเพราะต้องการทราบรายละเอียดว่า ผู้ที่นำสินค้ามาส่งและเก็บเงินตนเองไปนั้นเป็นใคร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ข้อมูลอะไร ทำให้สงสัยว่าทำไม มิจฉาชีพรายนี้จึงมาส่งถูกและเก็บเงินได้ตรงกับสินค้าที่ตนเองสั่งพอดีขนาดนั้น จึงโทรไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเกรงว่า ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรของคุณปลายอาจหลุดไปอยู่ในมือมิจฉาชีพ ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งสินค้าผิดกฎหมายก็เป็นได้ ซึ่งคุณเจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าแค่ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรไม่น่าจะเป็นอะไร และต่อไปหากมีพัสดุน่าสงสัยมาส่ง หรือเกิดกรณีแบบนี้อีกก็ให้โทรแจ้งทาง สน. ซึ่งจะส่งสายตรวจมาช่วยดูแลให้ นี่ก็ขอบใจทั้งบริษัทขนส่งและทาง สน.ไปแล้ว ส่วนเรื่องเงิน ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะราคาไม่สูง แต่ก็อยากฝากเตือนทุกคนไว้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขออนุญาตนำข้อมูลของ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) มาแจ้งเตือนผู้บริโภค ดังนี้        วิธีป้องกันไม่ให้สูญเงินกับพัสดุเก็บเงินปลายทางที่คุณไม่ได้สั่ง         ทำไมมิจฉาชีพ ถึงรู้ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของเรา ในการส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง        1. ทำเว็บไซต์หลอกขึ้น เช่น เปิดรับสมัครงาน รายได้ดี ใครสนใจกรอกข้อมูลตามลิงก์นี้ โดยให้ใส่ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประชาชน,ที่อยู่, อายุ, วันเดือนปีเกิด, เบอร์โทร และเลขที่บัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้จากการให้กรอกเลขที่บัญชีธนาคาร ทั้งที่ยังไม่ได้รับเข้าทำงาน ยังไม่ได้จ่ายเงินเดือน        2. เปิดเฟซบุ๊กโพสต์สินค้าประเภทพรีออเดอร์ ของพรีเมียม สินค้าราคาพิเศษ แล้วให้กรอกชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่ และ เบอร์โทร. เพื่อใช้สิทธิ์จองสินค้า ซึ่งสังเกตได้จากการออกอุบายจ่ายเงินเมื่อของมาถึง ทำให้เราตายใจว่ายังไม่ต้องเสียเงิน แต่เสียข้อมูลส่วนตัวไปให้แล้ว        3. เป็นไปได้ที่ข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ จะรั่วไหลจากบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการค้าขาย หรือบริษัทด้านการขนส่ง ที่อาจจะมีพนักงานของบริษัทเหล่านี้ ลักลอบนำข้อมูลลูกค้าออกไป.วิธีป้องกัน        1. ก่อนจ่ายเงินค่าพัสดุเก็บเงินปลายทาง กรณีรับพัสดุแทน ญาติ เพื่อน หรือ คนรู้จัก ให้โทรสอบถามเจ้าตัวว่า ได้โทรสั่งสินค้าเรียกเก็บเงินปลายทาง จริงหรือไม่ ต้องจ่ายเงินเท่าไร        2. ดูบนกล่องพัสดุ จะมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรผู้ส่ง ให้โทรกลับไปตรวจสอบว่า ส่งอะไรมาให้ มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ส่วนใหญ่เมื่อโทรกลับจะติดต่อไม่ได้ เพราะเป็นเบอร์โทรปลอม.ที่มา : ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร)         บริการเก็บเงินปลายทาง หรือ Cash on Delivery (COD) คือตัวเลือกการชำระเงินรูปแบบหนึ่ง ที่ลูกค้าจะชำระเงินก็ต่อเมื่อพัสดุที่สั่งไปจัดส่งถึงมือลูกค้าแล้วเท่านั้น และพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็จะได้รับเงินค่าสินค้าหลังจากลูกค้าชำระเงินกับบริษัทขนส่งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทขนส่งแต่ละเจ้าจะคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเพิ่มเติม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ถูกแอปฯ เงินกู้หลอก ต้องทำยังไง?

        ในยุคที่ข้าวของแพง ค่าแรงถูก คนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง และยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ หากบังเอิญมีแอปฯ เงินกู้นอกระบบเด้งขึ้นมาบนมือถือของพวกเขา พร้อมเสนอเงื่อนไขที่เชิญชวนให้เชื่อจนยากปฏิเสธ หลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอกให้เป็นหนี้เพิ่มก็สายไปซะแล้ว         เหมือนอย่างที่คุณอรสากำลังกังวลอยู่ตอนนี้ เธอเล่าว่าได้ทำสัญญากู้เงินจากแอปฯ เงินกู้นอกระบบแห่งหนึ่ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งทางแอปฯ หัก​ค่า​บริการไป 1,170 บาท เธอได้​รับ​เงิน​มาจริง 1,830 บาท โดยก่อนหน้าที่จะตัดสินใจกู้นั้น เธอก็พยายาม​จะ​สอบถาม​รายละเอียดในเงื่อนไขนี้กับทางแอปฯ แต่ติดต่อไม่ได้เลย จึงกดตกลงไปก่อน เพราะวันนั้นจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ          วันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือ จากตอนแรกทางแอปฯ แจ้งเงื่อนไขว่าให้ผ่อนใช้ได้ภายใน 91 วัน ซึ่งเธอคิดว่าคงพอมีเวลาที่จะหาเงินมาคืนได้ทัน แต่พอหลังจากทำสัญญากู้เงินแล้ว ทางแอปฯ ดันกลับคำ มาบังคับให้เธอคืนเงินเต็มจำนวนทั้งหมด 3,000 บาท ภายใน 7 วัน           คุณอรสาสงสัยว่าตัวเองจะโดนแอปฯ เงินกู้หลอกเข้าแล้ว จึงเขียนมาขอคำปรึกษาในเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทาง​การ​แก้ไข​ปัญหา        ในกรณีนี้ คุณอรสากู้เงินจากแอปเงินกู้ที่เปิดแบบผิดกฎหมาย แต่ก็ได้เงินมาจริงแม้จะมีเงื่อนไขโหด มพบ. จึงแนะนำให้​เก็บ​หลัก​ฐานต่างๆ และรีบไปแจ้งความกับตำรวจ ทั้งเรื่องที่โดนแอปเงินกู้ลวงให้กู้เงินและ​เรื่องการ​ทวง​หนี้​โดย​ผิด​กฎหมาย​ตาม​ พ​รบ​.​ทวง​หนี้ เมื่อ​แจ้ง​ความ​หรือ​ลงบันทึกประจําวัน​แล้วให้ถ่ายภาพเอกสารส่งกลับไปให้แอปฯ เงินกู้ดู ​อย่างไรก็ตามผู้บริโภคต้องจำไว้ว่า ถึงอย่างไรเราก็ได้เงินกู้มาจำนวนหนึ่ง (1,830 บาท) ขอให้เตรียมเงินไว้เพื่อคืนกับผู้ให้กู้ โดยเรียกหรือนัดหมายมาคืนเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ควรจ่ายคืนไปทันที เพราะจะมีเรื่องผูกพันกันไปอีกมาก (ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม) และทั้งนี้ทราบด้วยเช่นกันว่า ​คุณอรสาได้​ถ่าย​ภาพ​หน้า​/หลัง​บัตร​ประชาชน​ซึ่ง​เป็น​ข้อมูล​สําคัญให้แอปฯ เงินกู้ไปด้วย จึงแนะว่าให้รีบไปทําบัตร​ประชาชน​ใหม่ และให้คลายกังวลได้ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าแก๊งเงินกู้ออนไลน์ทำร้ายผู้กู้ อย่างไรก็ตามหากพบปัญหาต่อเนื่องทาง มพบ.ยินดีให้ความช่วยเหลือต่อไป......         ก่อนตัดสินใจใช้บริการแอปเงินกู้ ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ “แอปเงินกู้” โดยนำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "เช็กแอปเงินกู้" ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ซื้อไข่จากห้างใหญ่มาพบว่า เน่ายกแผง

        “เราจะ​ไม่​ซื้อ​อาหาร​ตาม​ร้าน​ค้า​ทั่วๆ​ ไป​ที่​ไม่ได้มาตรฐาน​ความ​ปลอด​ภัย​ค่ะ และเรา​ก็เชื่อ​มั่น​​เสมอ​ว่าจะ​ได้สินค้า​ที่ดี​จากห้างนี้ค่ะ”         คุณแพรวคิดแบบนี้มาตลอดตั้งแต่ก่อนที่จะมา​เป็นสมาชิก​ของห้างค้าปลีกแห่งนี้ซะอีก จนกระทั่งความไว้เนื้อเชื่อใจนี้เองที่ทำให้เธอต้องซื้อ”ไข่เน่ายกแผง” กลับมาบ้าน         คุณแพรวเล่าให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า  ครอบครัว​เธอ​เป็น​ลูกค้า​ประจําที่ห้างค้าปลีกใหญ่ในกรุงเทพฯ​ นี้ โดยทุกอาทิตย์จะต้องไปจับจ่ายซื้อ​ของ​สดของแห้งเข้า​บ้าน​ วันเกิดเหตุนั้นเธอหยิบไข่ 1 แผง มี 30 ฟอง ใส่รถเข็นรวมไปกับของอื่นๆ โดยไม่ได้พิเคราะห์อะไรมากเพราะ​​เชื่อ​ใจ​ใน​มาตรฐาน​ด้าน​ความ​สด​ ใหม่​ สะ​อาด​ ใน​สินค้า​​ห้างนี้อยู่แล้ว ​ก็เลยไม่ได้ตรวจ​เช็กอะไรมากนัก ​แต่เมื่อกลับถึงบ้านพอเปิดฝาครอบแผงไข่ออกมาก็ได้กลิ่นเหม็นมาก แล้วก็ต้องผงะตกใจกับกองทัพ​หนอน​ไต่​ยั้วเยี้ย​อยู่ในไข่เน่าแผงนั้น เธอจึงรีบนำไปทิ้ง จนลืมดูวันหมดอายุที่ติดอยู่บนฝาครอบนั้นไปด้วย           ถึงจะเสียความมั่นใจไปบ้าง แต่คุณแพรวคิดว่าต้องมีความรับผิดชอบจากผู้ขายนะ เธอจึงรีบโทรศัพท์​ไปตามเบอร์ของ​สาขา​ที่​ให้​ไว้​บน​ใบ​เสร็จทันที แต่...ไม่มีใครรับสาย ก็เลยไปค้นหาเฟซบุ๊ก​ของห้างใหญ่​สาขาที่ประสบปัญหา​นี้​ เจอแล้ว ทักแล้ว แต่...ไม่มี​แอด​มิ​นเพจ​ทํางาน ​ในที่สุดเธอก็ขวนขวายจนหาเบอร์ติด​ต่อเพื่อร้องเรียนได้ที่ 1756 ซึ่งพนักงานคอลเซนเตอร์​ได้รับ​เรื่อง​​ไว้และแจ้งคุณแพรวว่า “จะประสาน​ไป​ที่​สา​ขาให้นะคะ​ คุณลูกค้ารอเลยค่ะจะ​มี​เจ้าหน้าที่​ติดต่อ​กลับ​แน่นอน” ทว่าสิ่งที่ได้ในวันนั้นคือความเงียบจากห้าง เหลือเพียงความเดือดเนื้อร้อนใจของคุณแพรวเท่านั้น​ ​         อย่างไรก็ตามในวันรุ่งขึ้น​ พนักงาน​ประจําสาขาห้างค้าปลีกนี้​ติดต่อ​​มาบอกว่า ไข่แผงนั้นน่า​จะหลุด QC ​ให้เธอนําไข่มา​เปลี่ยน​คืน​หรือ​จะ​รับ​เงิน​คืน​ก็​ได้ แต่คุณแพรว​แจ้ง​​ไป​ว่า​ไม่สะดวก​ เพราะเธอเพิ่งกลับจากขับรถออกไปซื้อไข่จากห้างอื่นมาเอง พนักงาน​เลย​บอก​ว่า​ถ้างั้นวัน​ไหนเธอจะ​เข้า​มา​ให้โทร.​แจ้ง​ก่อน​แล้ว​จะชดเชยให้เธอด้วยไข่แผงใหม่กลับ​ไป​         คุณแพรวจึงเขียนเล่าเรื่องนี้มาในเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้คือสินค้า​ที่​ซื้อ​มาอาจหมด​อายุ​หรือ​มี​สิ่ง​แปลก​ปลอม​ สิ่งแรกที่ต้องทำคือถ่าย​รูปตัวสินค้าและฉลาก​(​เน้นวัน​ผลิต​-วัน​หมด​อายุ)​ ​เก็บ​บรรจุ​ภัณฑ์ของ​สินค้า​และ​ใบ​เสร็จ​จาก​ร้าน​ที่​ซื้อ​ไว้เป็น​หลักฐาน​ (ถ่าย​สําเนา​​เก็บ​ไว้​ด้วย​) จากนั้นติดต่อ​ร้าน​ที่​ซื้อ​มา​และ​แจ้งว่าเราต้องการ​ให้​เขา​ดําเนิน​การ​อย่าง​ไร​ เพื่อ​แก้ไข​ปัญหา​พร้อม​ชด​เชย​ เยียวยาความ​เสีย​หาย​ที่​เกิด​ขึ้น​ เช่น ขอ​เปลี่ยน​สิน​ค้า ขอ​เงิน​คืน ขอให้จ่าย​ค่า​เสีย​เวลา​ ค่า​ขาด​ประ​โยชน์​ และ​ค่า​ใช้จ่าย​ใน​การ​ติดต่อ​กับ​ผู้ประกอบ​การ แนะนำให้​ทําเป็นหนังสือ​ชี้แจง​เหตุ​ของ​สิ่ง​ผิด​ปกติ​และควรขอให้แสดงคำ​ขอโทษ​ต่อผู้​เสีย​หาย​และ​สา​ธารณะ​ เป็น​ต้น แต่หาก​ตกลงกันไม่ได้​ ให้​ทําหนังสือ​ยื่น​กับ​ผู้ประกอบ​การ​ เล่า​สรุป​ปัญหา​ที่​พบ​ พร้อม​ข้อ​เรียก​ร้อง​ โดย​ส่ง​ถึง “​เจ้าของ​ร้าน​ค้า” หรือกรณีนี้คือผู้บริหารห้างค้าปลีกดังกล่าว ซึ่งขณะนี้คุณแพรวกำลังพิจารณาว่าตนเองต้องการให้ทางห้างชดเชยอย่างไรเพื่อส่งเป็นข้อเสนอกลับไป         จากกรณีนี้ขอแนะนำว่า แม้มั่นใจกันมากแค่ไหน แต่ทุกครั้งที่ซื้อสินค้า ผู้บริโภคก็ควรพิจารณาสินค้าให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะสิ่งที่สามารถมองเห็นหรือจับสังเกตได้ง่าย ถ้าพบเจอขณะซื้อสินค้าควรรีบแจ้งให้ทางร้านค้าดำเนินการจัดเก็บออกไปจากชั้นวาง แต่หากเผลอซื้อมาแล้ว ผู้บริโภคต้อง​เก็บ​ใบเสร็จรับ​เงิน​ไว้ เผื่อใช้​เป็น​หลัก​ฐาน​ยืนยัน​การ​ซื้อ​และ​ระบุตัว​ตนได้ว่า​เป็น​ผู้​เสีย​หาย ซึ่งทางร้านค้าก็ยากจะปฏิเสธความรับผิดชอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กู้เงินผ่านแอปฯ เงินกู้ออนไลน์ มีแต่เสียกับเสีย

        ช่วงนี้การกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์เป็นที่นิยม เพราะว่าง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องใช้อะไรมาค้ำประกัน แถมแอปพวกนี้สามารถดาวน์โหลดได้ง่ายผ่าน Play Store (ที่โหลดแอปต่างๆ ในมือถือ) บางคนอาจเคยกู้เงินผ่านแอปมาแล้ว แอปเหล่านี้จริงๆ แล้วต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจกับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย แต่แอปใน Play Store ส่วนใหญ่ไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภค         ภูผา ณ ขณะนี้ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างรุนแรง ชักหน้าไม่ถึงหลัง สินค้าต่างๆ ทยอยขึ้นราคา ทั้งน้ำมัน หมู มาม่า เขาต้องการเงินมาใช้จ่ายเลยไปกู้เงินผ่านแอปเงินกู้ เขากู้เงิน 60,000 บาท แอปแจ้งว่าเขาต้องโอนเงินไปเป็นค่าดำเนินการก่อน 3,000 บาท เมื่อโอนไปแล้วทางแอปบอกว่ายังไม่สามารถถอนเงินได้ต้องโอนไปอีก 6,000 บาท พอโอนไปแล้วเขาบอกว่าบัญชีเงินเต็มแล้ว ต้องโอนเงินไปให้เขาเพิ่มอีก 6,000 บาท พอเป็นแบบนี้เขาก็ไม่มีเงินโอนเพิ่มให้แล้วจึงบอกไปว่าเขาไม่ต้องการกู้เงินแล้ว ขอให้แอปโอนเงินที่เขาโอนไปคืนมา แต่แอปบอกมาว่าถ้าจะยกเลิกต้องโอนเงินค่ายกเลิกมาอีก 8,000 บาท ถึงจะได้เงินที่โอนไปแล้วก่อนหน้านี้ 9,000 บาทคืน แต่เขาไม่มีเงินโอนไปให้แล้ว เขาขอเงินคืนแต่แอปไม่ให้คืน สรุปว่าสุดท้ายแล้วเขาไม่ได้เงินคืนเลย เขาถึงรู้ตัวว่าเขาโดนหลอกแน่ๆ จึงมาขอคำปรึกษามูลนิธิ          แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น ชื่อแอปพลิเคชัน, ข้อความแชทที่คุยกับแอป, หลักฐานการโอนเงิน        2. นำหลักฐานที่เก็บรวบรวมไว้ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับแอป ที่สถานีตำรวจในท้องที่ภายใน 3 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ และขอให้ตำรวจทำเอกสารขออายัดบัญชีที่ได้โอนเงินไป        3. นำเอกสารอายัดบัญชีไปดำเนินเรื่องอายัดบัญชีธนาคารที่ธนาคารสาขาใดก็ได้        4. ร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นไปยังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ธนาคารแห่งประเทศไทย) สายด่วน 1213 หรือศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) โทร 1441

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ไม่ครบตามจำนวน

        หลายๆ บ้าน น่าจะสนิทกับบริษัทขนส่งของ เพราะว่าช่วงนี้คงจะมีของมาส่งที่บ้านอยู่ไม่น้อย เพราะว่าช่วงโควิด 19 หลายบ้านน่าจะสั่งสินค้าออนไลน์กันบ่อยๆ มาดูกันว่าถ้ามีปัญหาจากกันสั่งสินค้าออนไลน์ เราจะสามารถจัดการปัญหาอย่างไรได้บ้าง         ช่วงสถานการณ์โควิดกำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ATK (ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง) เป็นที่ต้องการอย่างมาก คุณบุปผาได้สั่งซื้อ ATK จากเพจเฟสบุ๊กชื่อ แหล่งรวมความถูกที่สุด ชุดละ 37 บาท จำนวน 20 ชุด เป็นเงินจำนวน 790 บาท โดยเขาจ่ายเงินค่าสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง เมื่อสินค้ามาส่งเขาไม่ได้อยู่บ้าน คนที่บ้านรับไว้ให้ และได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้กับบริษัทขนส่งไป แต่เมื่อเขากลับมาเปิดกล่องสินค้าพบว่า มี ATK แค่ 12 ชุด ขาดไป 8 ชุด เขารีบติดต่อไปที่เพจที่สั่งสินค้ามา แต่เพจไม่ยอมตอบกลับเขาและแสดงความรับผิดชอบ แนวทางการแก้ไขปัญหา         การสั่งสินค้าออนไลน์ โดยการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง (COD) เมื่อตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่า สินค้าได้ไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ สามารถแจ้งไปยังบริษัทขนส่งเพื่อให้ระงับเงินโอนไปยังผู้ขายได้ โดยทำผ่านแอปพลิเคชัน หรือโทรศัพท์ หรือสำนักงานสาขาก็ได้ หลังจากนั้นบริษัทจะติดต่อไปยังผู้ขายให้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ซื้อยาทางไลน์กับร้านยาแต่ไม่ได้ของ

        คุณยุเป็นลูกค้าประจำของร้านยาที่จำหน่ายยาในบริเวณตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แน่นอนว่าเป็นร้านยาขนาดใหญ่ขายยาราคาไม่แพงและครอบคลุมหลายชนิด ปกติเธอเดินเข้าออกร้านเพื่อซื้อยาทุกรอบสองสามเดือน ต่อมาช่วงโควิดระบาดหนักเข้า ทางร้านแจ้งทางไลน์กลุ่มว่า สามารถสั่งซื้อยาทางไลน์และรอรับยาที่บ้านได้เลย ทางร้านจะส่งผ่านบริษัทขนส่งไปให้ ไม่ต้องเดินทางมาที่ร้านซึ่งเสี่ยงภัย คุณยุจึงทดลองสั่งยากับทางร้านเป็นจำนวนเงิน ราว 4,000 บาท        รอสินค้าอยู่ประมาณสองอาทิตย์คุณยุก็ยังไม่ได้รับยาตามสั่งซื้อ จึงติดต่อกลับมาทางร้าน ซึ่งเธอบ่นว่า ร้านแทบไม่ยอมรับสายเธอเลย เหมือนปิดการสื่อสารไป จนเธอต้องใช้วิธีใช้เบอร์อื่นโทรเข้าร้านยา ทางร้านจึงยอมรับสาย เมื่อเธอทวงถามสินค้า ทางร้านบอกว่าจัดส่งไปแล้วกับบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการรับประกันว่าหากสินค้าไม่ถึงมือผู้รับจะเงินชดเชยความเสียหายหรือค่าประกันสินค้าให้ แต่คุณยุต้องเอาเลขที่พัสดุไปติดตามเอง โดยทางร้านอ้างว่า บริษัทขนส่งแจ้งมาว่ามีผู้เซ็นชื่อรับสินค้าไปแล้ว           จุดหงุดหงิดอยู่ตรงนี้เอง คุณยุไม่คิดว่าทางร้านยาจะปัดความรับผิดชอบโยนภาระการติดตามสินค้าให้กับผู้บริโภค เธอจ่ายเงินให้ทางร้านยา แต่เมื่อสินค้าไม่ถึงมือเธอกลับต้องเป็นคนไปติดตามเรื่องเอง เรื่องนี้คือสิ่งที่เธอสอบถามมายังมูลนิธิฯ ว่าเรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของร้านหรือเธอ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้คุณยุได้พยายามนำเลขพัสดุไปติดตามกับบริษัทขนส่งเอง ได้รับคำตอบว่า พนักงานที่อ้างว่ามีผู้รับสินค้าไปแล้วนั้น ได้ลาออกไปแล้ว ทางบริษัทขนส่งจะติดตามเรื่องให้และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน หากเกิดจากความผิดพลาดของบริษัท จะมีการชดเชยเงินให้กับทางผู้ร้องตามเงื่อนไข         ส่วนกรณีเรื่องความรับผิดชอบ โดยทั่วไปทางร้านหรือผู้ขายควรเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามสินค้าให้แก่ผู้ซื้อถือเป็นบริการหลังการขาย อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าเมื่อสินค้าถึงส่งเข้าระบบของบริษัทขนส่ง ความรับผิดชอบส่วนนี้จะตกเป็นของบริษัทขนส่งที่ต้องรับผิดชอบชดเชยหากสินค้าไม่ถึงมือผู้รับ         แต่จุดที่น่าสนใจของกรณีการร้องเรียนนี้คือ  ยา จัดเป็นสินค้าพิเศษมีกฎหมายควบคุมเฉพาะ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ร้านยาไม่สามารถขายยาผ่านทางไลน์หรือช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภายในร้านยา(สถานที่ที่ได้รับอนุญาต) ได้ เพราะเจตนาของกฎหมายคือ ต้องการให้ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการส่งมอบยาพร้อมคำแนะนำให้กับผู้บริโภค การขายยาอันตรายโดยรับขายไลน์และส่งทางไปรษณีย์ ถือว่าผิดกฎหมาย  ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะได้นำเรื่องนี้แจ้งต่อทางหน่วยงานกำกับดูแลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ซื้อประกันโควิด-19 ที่ร้านสะดวกซื้อ ต้องเคลมที่ไหน?

        ดราม่ากรณีการขอเคลมประกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ยังมีให้ได้รับรู้อยู่เรื่อยๆ และน่าจะเป็นมหากาพย์ยาวนานเรื่องหนึ่งซึ่งสะท้อนถึงความเดือดร้อนของผู้บริโภคในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดังที่บ่นติดปากกันว่า “ประกันโควิด-19 ซื้อง่าย ขายคล่อง แต่เคลมยากมาก”         ย้อนไปช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเมื่อต้นปี 2563 คุณพลอย เจ้าของร้านทำผมเล็กๆ แห่งหนึ่ง ยอมรับว่าด้วยอาชีพช่างทำผมที่ต้องใกล้ชิดลูกค้า แม้เธอจะให้บริการแบบควบคุมความปลอดภัยตามมาตรการเข้มงวดขนาดไหน เธอก็ยังคงมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้อยู่ดี ต่อมาเมื่อเห็นร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านเปิดขายประกันโควิด-19 ประเภท เจอ จ่าย จบ ของบริษัทแห่งหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจซื้อประกันนี้ให้ตัวเองและครอบครัวรวม 3 คน  จากนั้นเธอและครอบครัวก็ยังคงป้องกันตัวเองเหมือนเดิม ทำให้อยู่รอดปลอดภัยมาทั้งในยุคสายพันธุ์อัลฟาและเดลต้า แต่ในที่สุดคุณพลอยก็ต้องมาพ่ายแพ่ให้กับโอมิครอน เมื่อผลตรวจแบบ RT-PCR ของเธอเป็นบวก         เมื่อคุณพลอยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งจนหายดี และกลับมากักตัวต่อที่บ้านครบตามกำหนดแล้ว เธอจึงติดต่อไปที่คอลเซ็นเตอร์ของร้านสะดวกซื้อที่เธอซื้อประกันโควิด-19 ไว้ เพื่อจะยื่นขอเคลมประกัน โดยเธอได้เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้เรียบร้อย แต่คอลเซ็นเตอร์กลับตอบมาว่า เธอต้องติดต่อกับบริษัทประกันนั้นเอง เธอยืนงงในดงเอกสารและคำตอบที่ไม่คาดคิด ก่อนจะมาร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ เมื่อคุณพลอยติดเชื้อโควิค-19 จะต้องไปดำเนินการยื่นเอกสารและหลักฐานเพื่อเคลมประกันกับบริษัทประกันภัยนั้นๆ เอง เพราะร้านสะดวกซื้อเป็นเพียงช่องทางการขายและซื้อประกันโควิด-10 เท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างจากที่ซื้อกับตัวแทน (บุคคล) ของบริษัทประกันภัยโดยตรง ที่ผู้ซื้อสามารถฝากเอกสารหลักฐานเคลมไปกับตัวแทนได้เลย และขณะนี้คุณพลอยก็อยู่ในขั้นตอนที่ทางบริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าประกันให้เธอตามสิทธิ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 อยากไปเที่ยวด้วยรถเช่าต้องเท่าทันกลโกง

        ช่วงวันหยุดยาวอันแสนคิดถึง คุณชัยพรวางแผนเดินทางกับครอบครัวด้วยรถเช่า เขาเล็งจังหวัดแถบภาคอีสานไว้หลายพื้นที่ ตอนแรกก็คิดว่าอยากจะเช่ารถกับบริษัทใหญ่ที่มีสาขาทั่วไทย แต่ก็คิดว่า ราคาแรงอยู่เพราะมีประกันมีเงื่อนไขมาก ถ้าใช้บริการรถเช่าในพื้นที่น่าจะช่วยประหยัดลงไปได้อีกนิด จึงลองค้นหาจากกูเกิ้ล โดยพิมพ์คำว่า “รถเช่าจังหวัด XXX” ซึ่งมีข้อมูลให้เลือกมากพอสมควร เมื่อลองเปรียบเทียบราคาแล้วพบว่า มีบริษัทหนึ่งดูโอเคมาก รีวิวก็ดี จึงติดต่อไปทางไลน์ไอดี         หลังจากติดต่อและแจ้งว่าต้องการรถอะไร ไปวันไหน สอบถามราคา คุณชัยพร ก็วางเงินมัดจำ เงินประกันไป 5,000 บาท วันที่นัดรถมาส่ง รถก็มาตามที่นัดก็ได้เที่ยวกับครอบครัวสนุกสนาน เมื่อคืนรถแล้ว คุณชัยพรเผอิญเจองานด่วนเข้าพอดี ทำให้ลืมว่ายังไม่ได้รับเงินมัดจำคืน ปล่อยเวลาไปสองสามวัน จนมานึกได้และติดต่อกลับไป คราวนี้ยาว เพราะทางบริษัทฯ อ้างว่า รถมีสภาพเสียหายจากการใช้งานของลูกค้า ต้องยึดเงินมัดจำและเงินประกันไว้ก่อน คุณชัยพรไม่เข้าใจและไม่คิดว่า ตนเองทำอะไรให้รถเสียหายเพราะตอนคืนรถก็มีการถ่ายรูปดูสภาพรถกันแล้ว ซึ่งทางตัวแทนบริษัทฯ ก็ไม่ได้แจ้งอะไร ตนจึงต่อรองและเจรจากับบริษัทฯ ไปอีกหลายครั้ง ซึ่งทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงไม่คืนเงิน “ไม่รู้ว่าทำอะไรได้บ้าง” จึงขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        มูลนิธิฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องเรียนติดตามทวงถามเงินค่ามัดจำคืนด้วยการทำจดหมายทวงถามเป็นลายลักษณ์อักษร  โดยเนื้อความต้องระบุให้ชัดเจนว่า เมื่อตอนบริษัทฯ รับรถคืนนั้นได้มีการตรวจสอบสภาพรถก่อนรับคืนแล้ว    อีกทั้งเมื่อบริษัทรับรถยนต์กลับไปแล้ว ก็ควรจะต้องคืนเงินภายในระยะเวลาตามที่ตกลงกัน (ตามสัญญา)  ดังนั้นหากบริษัทฯ ยังบ่ายเบี่ยงไม่คืนเงินให้ ผู้ร้องสามารถระบุลงไปในจดหมายขอคิดค่าปรับรายวัน  วันละ...........บาท     และหากบริษัทไม่คืนเงินตามจดหมายทวงถามให้ผู้ร้องสามารถร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เพื่อให้เรียกผู้ประกอบการมาคืนเงิน โดยทางมูลนิธฯ จะช่วยติดตามให้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 น้ำส้มกล่องหมดอายุ

        มินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อ ทำให้เราสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เราก็สะดวกด้วย อยากได้อะไรก็สามารถเข้าไปซื้อได้เลย แต่บางทีความสะดวก ง่าย รวดเร็ว อาจไม่ได้หมายถึงว่า เราควรจะวางใจจนไม่รอบคอบ ทั้งในฝ่ายของผู้ประกอบการและผู้ซื้อ เรามาดูกรณีนี้กัน         ภูผา อยากดื่มน้ำส้มหวานๆ เย็นๆ ให้ชื่นใจสำหรับหน้าร้อนอันแสนทรมาน จึงแวะเข้าร้านสะดวกซื้อระหว่างเดินไปทำงาน ด้วยความรีบ (เพราะสายแล้ว) เขาเดินปรี่เข้าไปหยิบน้ำส้มในตู้แช่มา 1 กล่อง แล้วรีบไปจ่ายเงินโดยความรวดเร็ว พอถึงสำนักงานหลังจากสแกนนิ้วเข้าสถานที่ทำงานได้เรียบร้อย ก็เจาะกล่องน้ำส้มดูดอย่างว่องไว แต่แล้วก็ต้องหน้าเบ้เพราะพบว่ารสชาติแปลกๆ เขาจึงหมุนกล่องไปดูวันหมดอายุที่นี้แหละรู้เลยว่าทำไม น้ำส้มถึงรสชาติแปลกๆ นั่นก็เพราะว่า น้ำส้มกล่องนี้หมดอายุไปแล้ว 2 วัน “อ้าว หมดอายุแล้วเอามาวางขายได้ไง”  ภูผาไม่เข้าใจว่าทำไมร้านสะดวกซื้อถึงเอาสินค้าหมดอายุมาขายให้เขา ร้านสะดวกซื้อน่าจะตรวจสอบให้ดีกว่านี้นะ ออกจะเป็นร้านมากสาขาใหญ่เสียขนาดนั้น แม้ราคาน้ำส้มกล่องไม่กี่บาท แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างไหม เพราะว่าไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป จึงมาขอคำปรึกษามูลนิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ดังนี้        1. ถ่ายรูปกล่องน้ำส้ม ถ่ายให้เห็นฉลากสินค้าวันผลิต – วันหมดอายุ ล็อตการผลิต พร้อมเก็บกล่องน้ำส้มและใบเสร็จจากร้านสะดวกซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วยป้องกันใบเสร็จลบเลือน)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่สถานีตำรวจบริเวณใกล้ที่ทำงาน เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อร้านสะดวกซื้อที่ซื้อน้ำส้มมา ขอให้ทางร้านแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยต้องคิดให้ดีว่าจะให้ร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบอย่างไร เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า, ขอเงินคืน, จ่ายค่าเสียเวลา, ค่าขาดประโยชน์, ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ถ้าไม่สามารถตกลงกับร้านสะดวกซื้อสาขาที่เกิดเหตุได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับบริษัท (สำนักงานใหญ่) โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า        กรณีจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >