ฉบับที่ 277 ชีวิตภาคสอง : หากเราได้เจอกันอีกสักครั้ง อยากขอกอดเธอไว้ให้อุ่นเหมือนเก่า

         นักปรัชญากรีกโบราณอย่างเฮราไคลตัสเคยกล่าววาทะที่คลาสสิกบทหนึ่งเอาไว้ว่า “you cannot step into the same river twice” หรือแปลความเป็นภาษาไทยว่า “คุณไม่สามารถจะก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดียวกันได้เป็นครั้งที่สอง”                คำคมของเฮราไคลตัสข้างต้นนี้ อธิบายความโดยนัยได้ว่า เวลาไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ดำเนินอยู่บนกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง แค่เพียงเราก้าวเท้าลงแม่น้ำ สายน้ำก็ไหลไปอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ภายใต้กฎความเปลี่ยนแปลงแห่งเวลาเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ “สายน้ำจะหวนคืนกลับ” หรืออีกนัยหนึ่ง โอกาสของมนุษย์แทบจะไม่มีทางย้อนกลับมาเกิดเป็นครั้งที่สองได้เลย         แต่จะเป็นเช่นไร หากสายน้ำบังเอิญได้หวนกลับ และโอกาสในชีวิตของคนเราได้ย้อนทวนหวนคืนมาอีกเป็นคำรบที่สอง คำตอบข้อนี้เป็นเส้นเรื่องหลักที่ผูกไว้อยู่ในละครโทรทัศน์แนวดรามาเรื่อง “ชีวิตภาคสอง”         ด้วยพล็อตเรื่องที่ประหนึ่งโชคชะตาเล่นตลกกับผู้ชายสองคนจากต่างรุ่นวัยและต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม ละครได้เปิดเรื่องด้วยการแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครแรกคือ “ปรเมศ” พ่อม่ายนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง แต่มีความสัมพันธ์อันไม่ลงรอยกับ “ปิ่น” บุตรสาวเพียงคนเดียวของเขา กับอีกตัวละครหนึ่งคือ “สอง” ชายหนุ่มแสนดี แต่มีฐานะยากจนและมีชีวิตหาเช้ากินค่ำไปในแต่ละวัน         แล้วความขัดแย้งของเรื่องก็ยิ่งปะทุหนักขึ้น เมื่อปรเมศตัดสินใจเข้าสู่ประตูวิวาห์อีกครั้งกับ “รตา” หญิงสาวที่มีอายุรุ่นลูก ซึ่งปิ่นเชื่อว่า รตาต้องการแต่งงานกับบิดาสูงวัยของเธอเพียงเพื่อปอกลอกสมบัติจากปรเมศเท่านั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพ่อลูกจึงเพิ่มดีกรีมากขึ้น จนพ่อกับลูกสาวทะเลาะกัน และทำให้ปรเมศเกิดอาการโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันขึ้นมา         ประจวบเหมาะกับในเวลาเดียวกันนั้น ทางฝั่งของแรงงานรับจ้างรายวันหนุ่มอย่างสอง ก็เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบขึ้นเฉียบพลัน จนเข้าขั้นโคม่า และได้เข้ามานอนบนเตียงโรงพยาบาลแห่งเดียวกับที่ปรเมศถูกแอดมิทอยู่นั่นเอง        บนความบาดหมางไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อกับลูกนี้เอง นำไปสู่การจากไปแบบกะทันหันของปรเมศ โดยที่ทั้งคู่ยังไม่ได้คลี่คลายความขัดแย้งกัน กลายเป็นปมติดค้างในใจที่ทั้งปรเมศและปิ่นต่างก็เหมือนจะมีเสียงร้องก้องอยู่ว่า “ใจฉันยังคิดถึงเหมือนเคย ไม่มีใครแทนที่เธอได้เลย” ในเวลาเดียวกับที่ปิ่นผู้เป็นบุตรสาวเองก็ยังคงมีข้อสงสัยในสาเหตุการตายของบิดา และคิดว่าเป็นฝีมือการวางแผนฆาตกรรมของรตาที่ต้องการฮุบสมบัติทั้งหมดไว้เป็นของตน         แต่ทว่า ภายใต้ปมในใจที่ค้างคาระหว่างพ่อลูก ภายใต้ปมปริศนาการเสียชีวิตของตัวละครที่ยังไม่คลี่คลาย และภายใต้ห้วงนาทีชีวิตที่มีความเป็นกับความตายเป็นเส้นกั้นแบ่งบางๆ อยู่ระหว่างกลางนั้น ความมหัศจรรย์แห่งโชคชะตาก็บังเกิดขึ้นในชีวิตของผู้ชายทั้งสองคน         ในเสี้ยวชีวิตที่วิญญาณของปรเมศหลุดลอยออกจากร่างนั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่สองได้หมดสิ้นลมหายใจลง เพราะฉะนั้นดวงจิตของเขาจึงถูกโชคชะตา “โอนไฟล์” เข้ามาอยู่ในร่างของสองแทน ในขณะที่ร่างจริงของปรเมศก็ได้ถูกรตาเร่งจัดการฌาปนกิจจนเป็นเถ้าสลายหายไป             “ถ้าเราได้เจอกันอีกสักวัน อยากถาม เธอจำฉันได้อยู่หรือเปล่า เธอจะยิ้มให้ฉันหรือเปล่า…” หลังจากที่ปรเมศได้ “โอกาสที่สอง” หรือ “second chance” ในร่างของชายหนุ่มที่ชื่อว่าสองเช่นนี้ เขาจึงต้องการใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อแก้ไขปมขัดแย้งต่างๆ ที่ผูกมัดไว้เมื่อเขายังมีลมหายใจอยู่ในคราแรก         เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า สำหรับกลุ่มทุนที่เป็นชนชั้นนำบนยอดปิรามิดของสังคมไทยนั้น แม้ชีวิตของคนกลุ่มนี้จะประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจการเมืองมาช้านานแล้วก็ตาม แต่ในชีวิตทางสังคมนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลก็คือชนวนเหตุหลักแห่งความขัดแย้งต่างๆ และก็มักลุกลามเข้าไปมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวของคนกลุ่มดังกล่าว         เมื่อชนชั้นนำมีความเปราะบางยิ่งในชีวิตครอบครัว   ดังนั้นการกลับมาสิงสถิตอยู่ในร่างของผู้ชายอีกคน ปรเมศจึงค้นพบข้อเท็จจริงหลายอย่าง ตั้งแต่เงื่อนงำการเสียชีวิตของเขาที่มีรตากับชู้รักอย่าง “จิรัน” สมคบคิดวางแผนฆาตกรรมอยู่เบื้องหลัง และในขณะเดียวกัน รตาเองก็ยังร่วมมือกับทั้ง “อรัญญา” ผู้เป็นมารดา “สิตางค์” ลูกพี่ลูกน้อง และ “เฮียหมง” เจ้าของธุรกิจสีเทา เพียงเพื่อจะยึดครองมรดกทางธุรกิจที่เขาก่อร่างสร้างไว้ให้บุตรสาวมาทั้งชีวิต         ด้วยเส้นเรื่องของการที่มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถได้ในสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “second chance” นี้เอง ก็อาจจะไม่เกินการคาดเดาได้ว่า “โอกาสที่สอง” ของปรเมศ ต้องสัมฤทธิ์ผลในท้ายที่สุดแน่นอน เพียงแต่ละครจะทำให้เราลุ้นกันว่า กว่าจะคลี่คลายปมขัดแย้งทั้งหมดได้นั้น ตัวละครทั้งหลายจะมีเส้นทางฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ กันด้วยวิธีการใด         เพราะฉะนั้น เมื่อมาอยู่ในร่างที่ต่างไปจากเดิม แต่สิงไว้ด้วยจิตสำนึกใหม่ที่ต้องการแก้ไขข้อผิดพลาดในครั้งเก่า ปรเมศในร่างของสองจึงคอยช่วยเหลือปิ่นที่ต้องปะทะประมือกับรตาและสหพรรคพวกเกินกว่าครึ่งเรื่อง จนปิ่นเองก็ยิ่งเกิดความสงสัยในตัวตนที่แท้จริงของสอง เพราะไม่เพียงเขาจะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับปรเมศ หรือมีพฤติกรรมคล้ายกับบิดา แต่สองยังดูคุ้นเคยและปรับตัวเข้ากันได้ดีกับสุนัข “ไฟเตอร์” ที่ปรเมศรักและเลี้ยงดูมาตั้งแต่ครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่         ยิ่งเมื่อความโหดร้ายของรตาเริ่มอัพเลเวลทับทวีขึ้นเรื่อยๆ ปรเมศในร่างของสองก็คอยทุ่มเทปกป้อง เพื่อใช้ “โอกาสที่สอง” ยืนยันกับลูกสาวของตนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีชีวิตอยู่จนถึงวิญญาณหลุดไปอยู่ในร่างชายหนุ่มรุ่นลูก แต่ความรักที่พ่อมีให้กับปิ่นนั้น “ยังคงเหมือนเดิม ไม่เคย…จางหายไป…”         “มีพบก็ต้องมีจาก” เป็นสัจธรรมที่มิอาจปฏิเสธได้ เหมือนกับภาษิตจีนที่กล่าวว่า “การได้พบกันถือเป็นโชคชะตา การจากลาก็เช่นเดียวกัน” ด้วยเหตุนี้ แม้ในตอนท้ายเรื่อง ความบาดหมางระหว่างพ่อลูกจะแก้ไขไปได้แล้วก็ตาม แต่เพราะปรเมศได้ตัดสินใจใช้ “โอกาสที่สอง” เอาชีวิตของตนปกป้องบุตรสาวในห้วงเวลาความเป็นความตาย ทำให้ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกันอีกครั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าคงไม่มี “โอกาสที่สาม…สี่…ห้า…” ให้ได้กลับมาพบลูกสาวของตนครั้งใหม่ก็ตาม         เมื่อฉากละครจบลง และฉากชีวิตของครอบครัวชนชั้นนำของปรเมศและปิ่นได้รับ “โอกาสที่สอง” เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่เข้าใจกันผ่านพื้นที่ของโลกสัญลักษณ์กันผ่านไปแล้ว บางทีก็น่าคิดเหมือนกันว่า แล้วกับมนุษย์ผู้หาเช้ากินค่ำหรือมีสถานะเป็นชนชั้นล่างของสังคมอย่างสองนั้น “โอกาสที่สอง” จะบังเกิดขึ้นในชีวิตของคนกลุ่มนี้เฉกเช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับปรเมศได้บ้างหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 กลเกมรัก : สงสารแต่ลูกปลาบู่…

                “สงสารแต่แม่ปลาบู่ อาศัยอยู่ในฝั่งคงคา นางเอื้อยเป็นลูกกำพร้า ถึงเวลามาร่อนรำ…”         นิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” เล่าถึงชีวิตของ “เอื้อย” เด็กน้อยผู้กำพร้ามารดาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยความรักความผูกพัน แม่ของเด็กหญิงเลยกลับชาติมาเกิดเป็นปลาบู่ทอง แต่ก็มิวายถูก “อ้าย” น้องสาวต่างมารดา ตามราวีจับแม่ปลาบู่ทองมาฆ่ามาแกง กลายเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะชีวิตลำเค็ญที่สืบต่อรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน         แม้ข้อคิดหลักของนิทานเรื่อง “ปลาบู่ทอง” จะยืนยันกับเด็กๆ ว่า ให้รู้จักคิดดีทำดีแล้วจะได้ดี รู้จักให้อภัย ไม่อิจฉาริษยา อดทนยึดมั่นกตัญญูแม้จะถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา หากทว่าสิ่งหนึ่งที่ถูกตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ในเรื่องราวก็คือ ภาพความน่าสงสารของเด็กกำพร้า เพราะขาดซึ่งพ่อหรือแม่ที่เฝ้าคอยปกป้องดูแล         พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดความหมายของ “เด็ก” ว่า เป็นบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และนิยามถึง “เด็กกำพร้า” เอาไว้ว่า เป็นเด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้         แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะนิยามความหมายของ “เด็กกำพร้า” เอาไว้แบบกลางๆ แต่ก็เป็นเรื่องชวนประหลาดใจว่า เมื่อภาพเด็กกำพร้ามาปรากฏอยู่ในจินตกรรมของเรื่องแต่งทั้งหลาย เด็กกำพร้ากลับมักถูกกำหนดคุณค่าให้ดูน่าสงสาร และมีชะตากรรมที่ทุกข์ยากลำเค็ญ ไล่เรียงตั้งแต่นิทานคลาสสิกเรื่อง “ปลาบู่ทอง” ไปจนถึงละครโทรทัศน์แนวรักสี่เส้าเรื่อง “กลเกมรัก”         เริ่มต้นเรื่องขึ้นมาด้วยการฉายให้เห็นภาพของ “อนล” พระเอกหนุ่มลูกชายของ “อาทิตย์” รองประธานบริษัท KTP ของตระกูลกำธรภูวนาถ ที่ต้องการเวนคืนที่ดินจากกลุ่มคนจนในสลัม เพราะคุณอาทิตย์มีปณิธานประจำใจที่คอยสอนบุตรชายอยู่เสมอว่า “คนจนก็ไม่ต่างจากมดปลวก ไร้ค่า ไร้ประโยชน์”         แต่ในเวลาเดียวกัน “ภูมิ” ผู้เป็นน้องชายของอาทิตย์ และรั้งตำแหน่งประธานบริษัท KTP กลับไม่เห็นด้วย ทำให้พี่น้องต้องขัดแย้งกัน ไม่ใช่เพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยังเป็นเพราะผลประโยชน์ที่แบ่งกันไม่ลงตัว จนเป็นศึกสายเลือดภายในตระกูลเดียวกันของกลุ่มทุนรายใหญ่         ภูมิมีบุตรชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอนลชื่อ “ภีม” ซึ่งมองว่า “บ้าน” ไม่ใช่เพียง “สิ่งที่เป็นอาคารสถานที่อยู่อาศัย” หากแต่เป็น “ทุนของความสุข” สำหรับทุกคนโดยไม่แบ่งชนชั้นหรือฐานะทางสังคม ดังนั้น ไม่เพียงแต่รุ่นพ่อที่ขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่รุ่นลูกก็ยังไม่ลงรอยกันด้วยโลกทัศน์ที่หล่อหลอมมาคนละชุด         ตัดภาพจากฉากชีวิตครอบครัวชนชั้นนำ อีกด้านหนึ่งละครก็จำลองภาพรูปแบบความเป็นครอบครัวซึ่งต่างออกไปของคนอีกกลุ่ม ที่ใช้ชีวิตอยู่ในมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านสายชล กับตัวละครนางเอก “อันดา” และเพื่อนรัก “ลลิษา” ที่เติบโตมาด้วยกัน และแม้จะเป็นเพื่อนรักและสนิทกันมาแต่เด็ก และแม้จะถูกเลี้ยงดูมาโดย “หมอเบญ” ผู้เป็นประหนึ่งแม่บุญธรรมในมูลนิธิบ้านสายชล แต่ชะตาชีวิตของทั้งอันดาและลลิษาก็ไม่ต่างจากเอื้อยและอ้ายในตำนานเรื่องเล่า “ปลาบู่ทอง” เอาเสียเลย                 ในขณะที่อันดาเป็นตัวแทนของสาวน้อยสดใสแสนดี และคอยช่วยเหลือเพื่อนรักทุกครั้งที่ทำผิดและหมอเบญคาดโทษเอาไว้ แต่ทว่ากับลลิษาแล้ว ลึกๆ มีแต่ความอิจฉาริษยา เพราะคิดวาหมอเบญและใครต่อใครต่างพากันมอบความรักความเอ็นดูให้แต่กับอันดาเพียงคนเดียว         และแล้วชะตากรรมของตัวละครทั้งสี่ชีวิตก็มีอันต้องโคจรมาพบกัน เมื่อ “รมิตา” ได้ทราบความจริงจาก “ถาวร” บิดาผู้เป็นนายทุนใหญ่เจ้าของธุรกิจตระกูลอัศวชานนท์ว่า ลูกสาวคนเดียวของเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจึงตัดสินใจออกตามหา ประจวบกับภีมที่ได้รับบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุจากคนปองร้าย ได้หนีมาหลบซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ กับมูลนิธิบ้านสายชล ทำให้ตัวละครทั้งหมดได้เข้าไปผูกพันทั้งกับความลับของบุตรสาวที่หายตัวไปของรมิตา และกับความขัดแย้งที่ปะทุอยู่ในตระกูลเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ไปโดยปริยาย         เพราะเสียงก้องในหัวใจของสาวน้อยผู้กำพร้าบุพการีอย่างลลิษาได้แต่ครวญเพลง “ก็อยากเป็นคนที่ถูกรัก” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และเพราะเธอแอบไปรู้ความลับที่หมอเบญปกปิดเอาไว้ว่า อันดาน่าจะเป็นบุตรสาวที่สาบสูญไปของรมิตา ลลิษาจึงสวมวิญญาณ “เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ” และสวมรอยเป็นลูกสาวมหาเศรษฐี เพื่อแย่งชิงทุกอย่างไปจากอันดา ไม่ต่างจากต่อมริษยาของอ้ายที่มีต่อเอื้อยลูกสาวแม่ปลาบู่ทองแต่อย่างใด         เมื่อมี “mission” อันแน่วแน่ที่จะพรากทุกอย่างมาจากเพื่อนรัก ลลิษาจึงลงมือปฏิบัติการ “กลเกม” ต่างๆ ที่จะทำให้เธอหลุดพ้นไปจากบ่วงในใจของเด็กกำพร้าผู้ที่ไม่เคยมีใคร และยังเป็นผู้ที่ไม่เคยมีอะไร เพื่อให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งได้เข้าไปครอบครองคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ใฝ่ฝันมาแต่เด็ก         ไม่ว่าจะเป็นการใช้ล็อคเก็ตของอันดามาสวมอ้างเป็นทายาทเศรษฐีนี ลงทุนกรีดข้อเท้าเพื่อสร้างตำหนิให้เหมือนแผลเป็นของเพื่อนรัก หลอกใช้ “กระทิง” ชายคนรักให้ร่วมมือในปฏิบัติการดังกล่าว ไปจนถึงกำจัดอีกหลายชีวิตที่ล่วงรู้ความลับ รวมถึงฆาตกรรมทั้งหมอเบญผู้อุปการะเลี้ยงดูเธอจนเติบโต และ “ซอนญ่า” ที่แอบเอาดีเอ็นเอของหญิงสาวไปตรวจพิสูจน์ความจริง          ศึกรบที่อันดาต้องเผชิญก็ว่าหนักหน่วงแล้ว ศึกรักที่ต้องประมือกับลลิษาก็ยังหนักหน่วงไม่แพ้กัน เพราะเมื่อลูกพี่ลูกน้องสองคนที่ขัดแย้งกันในกลเกมธุรกิจ มาแอบหลงรักชอบพออันดา ลลิษาที่หวังในตัวของพระเอกหนุ่มจึงเพิ่มดีกรีของเสียงร้องในใจขึ้นไปอีกด้วยว่า “ถ้าเลวแล้วได้ครอบครอง ฉันยอมให้มองว่าร้าย…”         เมื่อกลเกมแห่งธุรกิจมาบรรจบกับกลเกมแห่งความรัก ความขัดแย้งของสองพระเอกหนุ่มลูกพี่ลูกน้องในวงศ์วานเดียวกันที่ฟั่นเกลียวกับความขัดแย้งของหญิงสาวกำพร้าสองคนที่กลายมาเป็น “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” จึงกลายเป็นเส้นเรื่องหลักที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นไปกับบทสรุปว่า ตกลงแล้วข้อขัดแย้งในกลเกมเรื่องรบและเรื่องรักจะคลี่ลายได้อย่างไร และความลับเรื่องปมชาติกำเนิดที่จะทำให้ลูกปลาบู่ทองอย่างอันดากลับคืนสู่อ้อมอกของมารดาจะออกมาในแบบไหน         อนุสนธิจากความลับของอันดาที่มีล็อคเก็ตและตำหนิแผลเป็นช่วยนำพาให้เธอกลับคืนสู่บัลลังก์ครอบครัวอัศวชานนท์ ในขณะเดียวกับที่ลลิษาก็ถูกลงโทษให้ตายตกไปตาม “กลกรรม” ที่ได้กระทำมาตลอดทั้งเรื่อง ก็คงยืนยันอุทาหรณ์เดียวกับนิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” ที่สอนให้เราคิดดีทำดี และเฉพาะเด็กหญิงที่รู้จักมุ่งมั่นทำความดีเท่านั้น จากเด็กน้อยผู้น่าสงสารก็จะกลายเป็น “เจ้าหญิงในนิยาย” ที่กลับคืนสู่อ้อมอกแม่ และได้อยู่ครองคู่กับ “เจ้าชายรูปงาม” ได้ในที่สุด       ดูละคร “กลเกมรัก” จนจบ ได้แต่รำพึงรำพันอนิจจาน่าเวทนาก็แต่ลูกปลาบู่อย่างลลิษา ผู้ที่ทำแม้ในสิ่งที่ผิด เพียงเพื่อเขยิบสถานะจากเด็กผู้ใฝ่ฝัน “อยากเป็นคนที่ถูกรัก” สักครั้งในชีวิต ถึงที่สุดก็ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรและไม่เหลือใครสักคน งานนี้ก็คงได้แต่ครวญเพลงบทใหม่ว่า “สงสารแต่ลูกปลาบู่…” แล้วกระมัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 พรหมลิขิต : ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น

        “พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล พรหมลิขิตดลจิตใจ ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ…”         บทเพลง “พรหมลิขิต” ที่ขับร้องโดยคุณวินัย จุลละบุษปะ แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อราว 7 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ บ่งบอกนัยความเชื่อของสังคมไทยที่รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือเทพตรีมูรติทั้งสามองค์ คือ พระพรหมผู้สร้างและควบคุมทุกอย่างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้น พระวิษณุผู้ปกป้องโลกและควบคุมโชคชะตาของมนุษย์ และพระศิวะผู้ทำลายทุกชีวิตแต่ก็เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ได้เช่นกัน         เฉพาะกับความเชื่อเรื่องพระพรหมในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชะตาชีวิตของบุคคลต่างๆ นับแต่เกิดจนตาย หรือแม้แต่ดลบันดาลให้เกิดความรักระหว่างบุคคลดังเนื้อร้องทำนองเพลงข้างต้นนั้น แม้เมื่อเราแปลคำภาษาอังกฤษ “destiny” ที่มีความหมายถึงอำนาจซ่อนเร้นบางอย่างซึ่งกำหนดอนาคตของปัจเจก คนไทยก็ยังซ่อนซุกร่องรอยไว้ด้วยว่า คงเป็นเพราะพระพรหมท่านที่ได้ขีดเขียนชะตากรรมให้เป็นเช่นนั้นแล         อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวของ “destiny” มาปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์กันบ้าง และตัวละครต่างก็พูดคำว่า “destiny” กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งเรื่อง ก็ชวนให้สงสัยและไขข้อข้องใจว่า มาถึงทุกวันนี้แล้ว “ตกลงยังเป็นพรหมลิขิตอยู่ใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” กันจริงๆ         กับละครโทรทัศน์แนวเดินทางข้ามเวลาภาคต่อ ที่ขานรับกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” ซึ่งฮือฮาเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มาสู่ภาคใหม่ในชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” ก็สื่อนัยความหมายไม่มากก็น้อยถึงอิทธิฤทธิ์ของพระพรหมท่านที่จะลิขิตบันดาลหรือกำหนดชะตาชีวิตของตัวละครให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เรื่องราวของละครโทรทัศน์ภาคต่อเล่าถึงนางเอก “พุดตาน” ณ กาลสมัยปัจจุบัน มีเหตุบังเอิญไปเจอเข้ากับหีบโบราณลึกลับ พลันที่เธอเปิดหีบนั้น ก็ได้พบกับสมุดข่อยโบราณ ซึ่งก็คือ “มนต์กฤษณะกาลี” ที่ถูกฝังดินไว้ และทันทีที่พุดตานได้สัมผัสกับสมุดข่อยศักดิ์สิทธิ์ ร่างของเธอก็ถูกกลืนหายไปจากปัจจุบันขณะ ย้อนกลับไปปรากฏตัวเมื่อกว่า 300 ปีในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นเลย         และแล้วตำนานรักโรแมนติกบทใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อพุดตานได้ลืมตามาพบกับ “หมื่นมหาฤทธิ์” หรือ “พ่อริด” พระเอกหนุ่มบุตรชายฝาแฝดของ “ออกญาวิสูตรสาคร” และ “คุณหญิงการะเกด” หรือก็คือ “เกศสุรางค์” ผู้ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินทางข้ามกาลเวลามา แต่บัดนี้ได้กลายเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาไปเสียแล้ว         ด้วยเป็นภาคต่อของละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นี้เอง คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมของตัวละครทั้งหลายที่ถูกผูกไว้ตั้งแต่ภาคก่อน เส้นเรื่องของ “พรหมลิขิต” จึงยังคงเดินหน้าถ่ายทอดความรักรุ่นลูกระหว่างพ่อริดกับพุดตาน โดยมีการตั้งคำถามหลักว่า เหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่คนสองคนข้ามเวลามารักกันเยี่ยงนี้เป็นเพราะ “destiny” กันจริงหรือไม่         แม้จุดเริ่มเรื่องพุดตานจะพยายามแย่งสมุดข่อยลึกลับคืนจากพ่อริด เพราะคิดว่าเป็นประตูกาลเวลาซึ่งจะนำพาให้เธอกลับสู่สามร้อยกว่าปีที่จากมาได้ แต่ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งคัมภีร์กฤษณะกาลีเคยทำให้คุณหญิงการะเกดเกือบต้องตายจากไปตลอดกาล พ่อริดจึงเอาสมุดข่อยต้นเรื่องไปฝากไว้กับ “หมื่นณรงค์ราชฤทธา” หรือ “พ่อเรือง” แฝดผู้พี่ที่พำนักอยู่เมืองสองแควพิษณุโลก อันเป็นเหตุให้พุดตานต้องใช้ชีวิตติดอยู่ในรัชสมัย “ขุนหลวงท้ายสระ” กับดินแดนที่เธอไม่รู้สึกคุ้นเคยแต่อย่างใด         ด้วยเหตุฉะนี้ ใจความหลักของเรื่องจึงวนเวียนอยู่กับการนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายว่า ตกลงแล้วพุดตานจะกลับคืนสู่ภพชาติปัจจุบันได้หรือไม่ และยืนยันให้คำตอบที่พ่อริดสงสัยอยู่เนืองๆ ต่อ “destiny” ว่า “ออเจ้ามาที่นี่เพราะพรหมลิขิตกระนั้นหรือ”         ที่น่าประหลาดใจยิ่งก็คือ ในขณะที่พุดตานก็อธิบายถึง “destiny” ให้พ่อริดฟังว่า “คนที่เชื่อเรื่องพรหมลิขิต ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรขัดขวางพระพรหมได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรหมลิขิตไว้” หากทว่า เรื่องราวของละครกลับมีพล็อตที่คู่ขนานกันไปด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ตัวละครหลากหลายได้โคจรมาบรรจบพบกันนั้น อีกฟากหนึ่งก็กลับมีกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อนเป็นเงื่อนไขกำหนด         ทั้งนี้ พุดตานผู้เดินทางย้อนเวลาข้ามภพมา จริงๆ ก็คือ “แม่หญิงการะเกด” ที่เพราะทำกรรมไว้แต่ชาติปางบรรพ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็ตั้งแต่ละครภาคก่อน ดังนั้น การที่เธอได้มาพบรักกับพ่อริด พบเจอกับออกญาวิสูตรสาครและเกศสุรางค์ จนถึงกลับมาปะทะคารมกับ “คุณหญิงจำปา” และ “แม่ปริก” หรือมาเจอะเจอกับ “ผิน” และ “แย้ม” บ่าวรับใช้ในอดีต ก็หาใช่เหตุบังเอิญไม่ แต่เป็นเพราะกรรมเก่าที่ยังไม่ได้ชำระปลดเปลื้องไปนั่นเอง         โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละคร “แม่กลิ่น” หลานสาวของ “ยายกุย” ที่เอาแต่ตั้งแง่รังเกียจกลั่นแกล้งพุดตานแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุด้วยแล้ว ละครก็มาเฉลยความในตอนท้ายว่า แม่กลิ่นก็คือ “แดง” เจ้ากรรมนายเวรที่เมื่อชาติก่อนเคยถูกการะเกดทำให้ตกน้ำตาย จนชาตินี้พุดตานต้องกลับมาช่วยชีวิตแม่กลิ่นที่กำลังจมน้ำ เพื่อแก้กรรมและอโหสิกรรมให้หลุดพ้นจากวังวนวัฏฏะที่ทำกันมาตั้งแต่ภพภูมิเก่า         อย่างไรก็ตาม แม้ “destiny” ที่พุดตานกับพ่อริดจะร่วมกันสร้างขึ้นด้วยส่วนผสมระหว่าง “พรหมลิขิต” กับ “กรรมลิขิต” ก็ตาม แต่ทว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง ละครก็ได้นำเสนอเส้นขนานคู่ที่สามที่ตั้งคำถามไปอีกว่า แล้วปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ มีอำนาจที่จะลิขิตชีวิตของตนเองได้ด้วยหรือไม่         ด้วยเหตุนี้ เมื่อมาถึงฉากตอนท้ายที่พุดตานต้องถูกถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาให้กับขุนหลวง นางเอกสาวก็เลือกประกาศเจตนารมณ์ข้อใหม่กับพ่อริดและใครต่อใครว่า “กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงได้” และประวัติศาสตร์ที่จะขีดเขียนใหม่ให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ ก็ไม่ใช่รอคอยให้เป็นไปตามยถากรรม แต่ต้องได้มาด้วยจิตสำนึกและลงมือกระทำการโดยตัวของมนุษย์เองเท่านั้น         ดังนั้น ควบคู่ไปกับการพูดคำศัพท์ร่วมสมัยให้กับผู้คนยุคกรุงศรีฯ การลงมือปรุงสำรับอาหารหลากหลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ยั่วน้ำลายผู้ชม หรือการปฏิเสธค่านิยมคลุมถุงชนและหลายผัวหลายเมียแบบโบราณ เราจึงได้เห็นฉากที่ปัจเจกบุคคลอย่างพุดตานลุกขึ้นมาปฏิเสธการเข้าถวายตัว อันเป็นข้อกำหนดที่เคยเชื่อว่ามิอาจเปลี่ยนแปลงได้ จนนำไปสู่บทสรุปความรักที่สมหวังกับชายหนุ่มที่เธอได้รักและได้เลือกจริงๆ         หากจะย้อนกลับไปสู่คำถามว่า แล้วกับ “destiny” นั้น “ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” บางทีคำตอบจากละครที่มีชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต” ก็น่าจะบอกเราได้ว่า พระพรหมอาจจะลิขิตให้คนสองคนรักกัน และกรรมก็อาจลิขิตชีวิตไปตาม “ชะตา(แห่ง)กรรม” แต่กระนั้น ก็ยังเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถลุกขึ้นมาท้าทาย เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และลิขิตขีดเขียน “destiny” ของตนเอาไว้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 พนมนาคา : เชื่อในสิ่งที่(ไม่ควร)เห็น เห็นในสิ่งที่(ไม่อยาก)เชื่อ

        เมื่อครั้งสังคมบุพกาลนานมา คนไทยได้ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์กับสิ่งของหรือธรรมชาติแวดล้อม ไปจนถึงความสัมพันธ์กับโลกแห่งนามธรรม ที่แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่คนเราก็ยึดโยงตนเองกับสายสัมพันธ์ที่มิอาจเข้าถึงได้ด้วยอายตนสัมผัสทั้งห้าด้าน         ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกนามธรรมที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้นี้ สะท้อนออกมาในลักษณะของความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของภูตผีปีศาจ วิญญาณ การบูชาทวยเทพเทวดา รวมไปถึงการเคารพบูชาพญานาค หรือที่เรียกว่า “นาคาคติ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์อันผูกโยงความสัมพันธ์กับคู่ตรงข้ามที่มีความเป็นอื่น หรือที่คนเราเรียกว่าเป็น “อมนุษย์”         เสฐียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ผู้เอกอุทางด้านวัฒนธรรม เคยอธิบายว่า ผีเป็น “อะไรๆ ที่ลึกลับ ซึ่งเรายังไม่รู้และยังคิดไม่ออก ทั้งโดยปกติก็ไม่เคยเห็นตัว หากว่าเคยเห็นผี ก็ต้องเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วแต่ผู้เห็น เพราะฉะนั้น ผีจึงเป็นพวกไม่ใช่คน เป็นอมนุษย์อยู่เหนือคน แต่ผีก็มีลักษณะลางอย่างคล้ายคน คือ มีทั้งผีชั้นสูงชั้นต่ำ มีทั้งผีดีผีร้าย”         ด้วยคำอธิบายของปัญญาชนแห่งสยามประเทศในอดีตเช่นนี้ บรรดาอมนุษย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผีหรือพญานาค จึงไม่เพียงแต่มีความเป็นอื่น หากทว่าคือความเป็นอื่นที่มนุษย์เองก็เชื่อโดยมิพักต้องสงสัยหรือสืบถาม แม้ว่าเราจะเคยเห็น หรือไม่เคยเห็น หรือไม่ควรเห็นในสิ่งเหนือธรรมชาติลี้ลับดังกล่าวนั้นก็ตาม         ความเชื่อในความเป็นอื่นที่ไม่ควรเห็น หรือการเห็นในสิ่งเราเองก็มองไม่เห็นหรือไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูจะเป็นความคิดหลักที่กลายเป็นแก่นเรื่องซึ่งเล่าผ่านละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีดรามาอย่าง “พนมนาคา” อันมีเนื้อหาว่าด้วยตำนานพญานาคผู้รอคอยหญิงคนรักแบบข้ามภพข้ามชาติมานับเป็นพันๆ ปี         เรื่องราวของละคร “พนมนาคา” นำเสนอภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “เอเชีย” นางเอกสาวผู้เป็นกุมารแพทย์สมัยใหม่ และเบื้องลึกปฏิเสธที่จะเชื่อในเรื่องเร้นลับซึ่งวิทยาศาสตร์มิอาจพิสูจน์ให้ประจักษ์เห็นได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องนั้น ความเชื่อมั่นในศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ของหมอเอเชียก็ถูกท้าทาย เมื่อคุณหมอสาวที่กำลังรักษาคนไข้อยู่ถูกญาติของคนไข้เอาน้ำมนต์สาดหน้า เพราะเธอไม่เชื่อว่าผู้ป่วยถูกสิ่งเหนือธรรมชาติเล่นงาน และยังไปปรามาสว่าสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาช่างดูไร้สาระงมงาย         ต่อมาละครก็ค่อยๆ เพิ่มบททดสอบอีกหลายระลอกเพื่อสั่นคลอนความยึดมั่นถือมั่นในองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในห้วงสำนึกของหมอเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หญิงสาวพลัดตกจากดาดฟ้าของโรงพยาบาล แล้วทุกอย่างก็หยุดนิ่ง พร้อมกับมีกายทิพย์ของชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งลอยตัวมาโอบรับตระกองเธอลงมาสู่พื้นดิน หรือการที่นางเอกสาวเริ่มรู้สึกลึกๆ ว่า ชายหนุ่มลึกลับคนเดียวกันนี้ เฝ้าติดตาม “ส่อง” ดูชีวิตเธออยู่ในโลกนิมิตหรือโลกคู่ขนานที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของเธอจะสัมผัสได้         การปะทะกันระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นนี้ ต่อมาได้กลายเป็นเหตุปัจจัยนำพาให้หมอเอเชียเดินทางสู่หมู่บ้านไกลโพ้นริมตะเข็บชายแดนไทย-เขมรที่ชื่อ “พนมนาคา” และ ณ หมู่บ้านอีสานโบราณแห่งนี้เอง ที่เด็กจำนวนมาก รวมทั้งเด็กชาย “วันเนตร” ป่วยเป็นโรคประหลาดคล้ายกับมีเกล็ดงูขึ้นตามตัว ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะคำสาปของพญานาค ในขณะที่คุณหมอกุมารเวชกลับยืนกรานว่านี่คืออาการของโรคที่ชื่อฟังดูแปลกหูว่า “อิชไธโอซิส”         ในขณะที่กำลังสืบหาสาเหตุต่ออาการป่วยแปลกประหลาดของเด็กๆ ในหมู่บ้านอยู่นั้น ยิ่งค้นหาคำตอบ ก็ยิ่งพบกับเรื่องเร้นลับปาฏิหาริย์ชวนสนเท่ห์ใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหมอเอเชียก็ได้พบกับ “อนันตชัย” ชายหนุ่มลึกลับในภาพนิมิตของเธออีกครั้ง และบังเกิดความรู้สึกว่า เธอกับเขาผูกพันกันมานานแสนนาน         จากนั้นความจริงของเรื่องก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมาว่า พระเอกหนุ่มอนันตชัยก็คือ “พ่อปู่” หรือพญานาคผู้คุ้มครองหมู่บ้านพนมนาคา และในอดีตชาตินับพันปีก่อน เอเชียก็คือ “อนัญชลี” หญิงคนรักของเขา แต่เพราะ “อเนกชาติ” พญานาคผู้น้องมีความอิจฉาพี่ชาย และหวังจะครอบครองอนัญชลีเพื่อขึ้นเป็น “นาคาธิบดี” หรือเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาคทั้งปวง จึงวางแผนให้อนัญชลีเข้าใจเขาผิดจนฆ่าตัวตายและกล่าวสัจวาจาสาปแช่งให้ตนรังเกียจอนันตชัยในทุกภพทุกชาติไป         เพราะอนันตชัยเองก็ตระหนักว่า “วันวานมันคืนย้อนมาไม่ได้ และวันพรุ่งนี้ยังไม่รู้ ฉันพร้อมจะอยู่ ฉันพร้อมจะตายเพื่อรักคำเดียว…” เขาจึงติดตามและปกป้องเธอจากอเนกชาติมาแบบข้ามภพชาติ โดยมุ่งหมายจะรื้อถอนไฟล์ความทรงจำที่ผิดพลาด และทำพิธีกรรมถอนคำสาปให้หญิงคนรักได้กลับมาครองคู่กับเขาอีกครั้งในชาติปัจจุบัน         “ไม่ว่าเธอจะเคยเป็นใคร จะผ่านอะไรมาขอจงอย่าเป็นกังวล นี่คือคนของเธอ” อนันตชัยจึงต้องฝ่าฟันกับคำสาปในอดีตที่อนัญชลีได้ปฏิญาณว่า “ไม่ว่าชาติไหนก็จะไม่ขอรักชายคนนี้อีก” และยังต้องฝ่าด่านความรู้สมัยใหม่ เพื่อยืนยันกับเอเชียว่า “ในโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่วิทยาศาสตร์ของคุณพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าจะไม่มี” และทำให้เธอเชื่อการมีอยู่ของพญานาคด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อเพียงเพราะคนอื่นบอกว่ามีจริง         โดยโครงเรื่องที่พระเอกหนุ่มจากต่างภพภูมิเฝ้ารอคอยการกลับมาครองคู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ เราก็พอจะคาดเดาฉากอวสานได้ไม่ยากว่า หลังจากผ่านอุปสรรคนานัปการ อนันตชัยก็สามารถกอบกู้และดีลีทไฟล์ความทรงจำอันผิดพลาดคลาดเคลื่อน และลงเอยความรักกับหมอเอเชียได้ในที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับอเนกชาติที่ก็ต้องถูกเมืองบาดาลลงโทษไปตามกฎแห่งกรรม         ในด้านหนึ่ง การวางพล็อตเรื่องแบบรักอมตะระหว่างพญานาคากับมนุษย์ปุถุชนก็ไม่ต่างจากการสืบทอดคติความเชื่อลึกๆ ของคนไทย ที่ยอมรับการดำรงอยู่ของสายสัมพันธ์ข้ามเผ่าพันธุ์หรือข้ามวัฒนธรรม         แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อหมอเอเชียกับผองมิตรที่ทำกรรมร่วมกันในปางก่อนอย่าง “พุ่มข้าวบิณฑ์” และ “สิทธา” ได้สัมผัสเรื่องเหลือเชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า และประจักษ์แก่สายตาว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่นาคราชผสานกับการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนใหม่ช่วยเยียวยาให้เด็กๆ พนมนาคาหายขาดจากอาการโรคเกล็ดงูได้ จากที่เคย “ไม่เชื่อแต่ไม่กล้าลบหลู่” ก็กลายเป็น “เชื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม” แต่อย่างใด        กับโลกที่เรามองเห็นและสัมผัสด้วยอายตนะทั้งห้านั้น เรื่องบางเรื่องเราอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องชาติภพ บุญกรรม การกลับชาติมาเกิด หรือคติความเชื่อในพญานาค แต่ความรักข้ามภพของอนันตชัยกับอนัญชลีกับความศรัทธาต่อพ่อปู่ที่ชาวบ้านพนมนาคาต่างเคารพ คงให้ข้อสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น แต่ขอเพียงเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม เราก็สัมผัสถึงได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 เกมรักทรยศ : คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด

        ภายใต้ระบอบสังคมแบบปิตาธิปไตยหรือสังคมแบบชายเป็นใหญ่นั้น บุรุษเพศมักมีอหังการว่า ตนมีอำนาจกำหนดชะตากรรมของผู้หญิง และในระบอบสังคมดังกล่าวนี้ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส จนอาจจะนำไปสู่บทสรุปให้กับผู้หญิงว่า “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” ก็เป็นได้         แบบเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “เจนพิชชา” หรือ “หมอเจน” จิตแพทย์สาวชื่อดังในจังหวัดภูเก็ต กับสามีที่อยู่กินกันมานานอย่าง “อธิน” จนมีโซ่ทองคล้องใจสองคนคือ “พัชร์” กับ “พลอย” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เกมรักทรยศ” ที่ฉายภาพชีวิตคู่ซึ่งต้องภินท์พังลงเพราะความลุแก่อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ และด้วยการออกแบบพล็อตเรื่องของละคร ก็อาจทำให้บรรดาสามีทั้งหลายต้องผาดตาสัมผัสผู้หญิงที่นอนร่วมเตียงเคียงหมอนกันด้วยมุมมองแบบใหม่         เปิดฉากละครมาด้วยภาพชีวิตครอบครัวพ่อแม่ลูกที่แสนจะอุดมคติ อบอุ่นลงตัว ควบคู่ไปกับอีกด้านที่อาชีพการงานของหมอเจนก็ดูจะเจริญก้าวหน้าในฐานะแพทย์สาวด้านจิตเวชมือต้นๆ ของโรงพยาบาล จนกระทั่งจุดหักเหของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อหมอเจนไปพบเส้นผมของผู้หญิงติดอยู่บนผ้าพันคอของอธิน เพราะไฟไหม้อย่างไรก็ต้องมีควัน และเพราะหมอเจนมีคติประจำใจว่า “ความโง่ที่สุดของผู้หญิงคือการคิดว่าตนเองฉลาดกว่าคนอื่น” ดังนั้นเธอจึงเริ่มตั้งสมุฏฐานที่ว่า สามีที่เธอไว้ใจน่าจะกำลังนอกใจเธออยู่หรือไม่         ยิ่งสงสัยก็ยิ่งสืบค้น ยิ่งขุดค้นก็ยิ่งทยอยเจอหลักฐาน จากเส้นผมปริศนา มาเจอช่องลับในรถยนต์ เจอรูปลับในโทรศัพท์ เจอพฤติกรรมแปลกๆ ของสามีและคนรอบข้างเธอ เรื่อยไปถึงข้ออ้างที่อธินมักไปเยี่ยมแม่ที่สถานพักฟื้นคนชรา จนกลับบ้านค่ำมืดดึกดื่น         หลังจากปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ของเรื่องราว หมอเจนก็บรรลุคำเฉลยว่า เรื่องที่เธอกำลังระแวงว่า สามีแอบไปมี “โลกสองใบ” นั้นมีมูลความจริงอยู่ และก็ค่อยๆ ค้นพบต่อไปด้วยว่า ผู้หญิงที่สวมบทบาทเป็นภรรยาเก็บลับๆ ของอธินก็คือ “เคท” นักศึกษาไฮโซสาวสวยใสซื่อ ลูกผู้มีอิทธิพลด้านธุรกิจของจังหวัด         และที่สำคัญ สมการของเรื่องก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่อหมอเจนยิ่งสืบค้น เธอก็ยิ่งได้คำตอบที่ซุกซ่อนซ้อนทับลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า ไม่ใช่เพียงสามีเท่านั้นที่ปิดบังเรื่องการนอกใจ หากแต่บุคคลรอบตัวของเธอและอธินเอง ต่างก็รู้เห็นเป็นใจ และก็ช่วยกันปกปิดความจริงจนทำให้เธอดูราวกับเป็น “ผู้หญิงโง่ๆ” คนหนึ่ง         ไม่ว่าจะเป็น “ชัช” และ “อันนา” สองสามีภรรยาเพื่อนบ้านที่หมอเจนคิดเสมอว่าเป็นเสมือนญาติพี่น้องที่สนิทที่สุด “โรส” หมออายุรเวทเพื่อนสนิทของอธินและก็เป็นเพื่อนที่หมอเจนมอบความไว้ใจมานาน “จูน” เลขานุการของอธินที่มักมาปรับทุกข์เรื่องชีวิตครอบครัวกับหมอเจน รวมไปถึง “สร้อยสน” มารดาของอธินที่เอาแต่ปกป้องลูกชายโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของลูกสะใภ้แต่อย่างใด         เพราะ “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” และยิ่งเป็น “ทุกๆ คนที่ไว้ใจ” ซึ่งอยู่ใกล้ชิดรอบตัวที่ใช้ทฤษฎีสมคบคิดทำร้ายจิตใจของเธอด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป แบบที่หมอเจนพูดกับโรสว่า “มันไม่ใช่เส้นผมเส้นเดียวน่ะสิ แต่มันเป็นเส้นผมที่บังตาฉันมาตลอด” ด้วยเหตุนี้ หมอเจนที่ “ตาสว่าง” จึงตัดสินใจแน่วแน่วว่า คงต้องเป็นเธอเองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์ในการรับรู้และจัดการกับสามีที่มีบ้านหลังที่สอง         แม้หมอเจนจะเคยกล่าวกับโรสว่า “ความเชื่อใจเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์อันมั่นคง” แต่เมื่อหมดซึ่ง “ความเชื่อใจ” ที่มีต่อสามีและผู้คนรอบข้างไปเสียแล้ว หมอเจนจึงเลือกเดินเกมรุกเพื่อต่อสู้ในสมรภูมิแห่ง “เกมรักทรยศ” ในครั้งนี้                 ในขณะที่หน้าฉากของครอบครัวคือสถาบันที่สมาชิกในบ้านต้องปั้นภาพลักษณ์ให้คนอื่นๆ เห็นเพียงด้านความสุขสมานฉันท์กลมเกลียว ดังสำนวนที่ว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” แต่เอาจริงๆ แล้ว หลังฉากของสถาบันครอบครัว บ่อยครั้งก็ไม่ต่างจากสนามรบที่มีการเมืองระหว่างเพศปะทุคุกรุ่นเป็นระยะๆ         ดังนั้น เมื่อฉากหลังเป็นยุทธสงครามจาก “เกมรัก” ที่พรางตาเธอด้วยความ “ทรยศ” หมอเจนจึงมุ่งหมายว่า เธอต้องเอาคืนทุกอย่างทั้งหมดที่เป็นของตนมาเสียจากอธิน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ทรัพย์สมบัติ และลูกทั้งสองคน จะมียกเว้นก็แต่สามีเท่านั้นที่เธอต้องการฟ้องหย่า และไม่คิดที่จะถือครองกรรมสิทธิ์อีกต่อไป         เริ่มต้นจากที่หมอเจนส่ง “เตย” อดีตคนไข้ที่เธอวางใจให้ไปเช่าห้องพักอยู่ข้างห้องของเคท และทำทีตีสนิทเพื่อสืบสาวเรื่องราวความลับหรือแม้แต่ปั่นหัวศัตรูอยู่ตลอดเวลา จากนั้นเธอก็ยอมหลับนอนกับชัช เพราะไม่เพียงต้องการสั่งสอนอันนาให้เข้าใจความเจ็บปวดจากการถูกทรยศโดยคนใกล้ตัวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการคุมเกมการใช้ “เพศสัมพันธ์” แบบ one-night stand เป็นเครื่องมือทางอำนาจเพื่อแบล็คเมล์ให้ชัชเอาเอกสารบัญชีการเงินที่ติดลบของสามีมาใช้ต่อรองตอนฟ้องคดีหย่าร้างกัน         จนนำไปสู่ฉากที่หมอเจนเปิดโปงวีรกรรมของเคทกลางโต๊ะกินข้าวต่อหน้า “ท่านบุญณ์ญาณ์” และ “คุณหญิงมินตรา” เพื่อกระชากหน้ากาก “ลูกสาวที่แสนดี” ของทั้งคู่ว่า กำลังคบชู้กับอธินจนตั้งท้อง รวมถึงตอกหน้าเคทด้วยวลีเด็ดแห่งยุคว่า “จะตบหน้าฉันอีกเหรอ ตบมาตบกลับนะครั้งนี้ ไม่โกง”         หลังจากที่จัดฉากต่างๆ จนเขี่ยสามีให้ระเห็จออกไปจากชีวิตได้ หมอเจนก็กลับพบว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” ยิ่งมีจิตสำนึกแบบผู้ชายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเป็นเดิมพัน แบบที่อธินก็กล่าวกับตนเองว่า “บางทีผู้ชายก็รับไม่ได้ที่เห็นว่าเมียตัวเองเก่งกว่า ดีกว่า” เพราะฉะนั้นความพ่ายแพ้ในเกมยกแรกจึงทำให้หลายปีที่ผ่านไปเขาก็ยังเลือกจะกลับมาเพื่อทวงคืนแก้แค้นกับภรรยาอีกครั้ง         และเพราะนักจิตวิทยาอย่างหมอเจนก็รู้ถึงสัจธรรมที่ว่า สิ่งที่ผู้ชายทั้งหลายกลัวก็คือ สายตาของคนอื่นที่มองว่าเขาเป็นคนขี้แพ้หรือเป็นคนที่น่าสมเพชเวทนา ดังนั้น ในยกหลังของเกม หมอเจนจึงจัดการวางกลอุบายที่จะสั่งสอนให้อธินในครั้งนี้ไม่เหลือสิ่งใด แม้แต่ครอบครัวใหม่กับเคทและอนาคตของเขา         หากในการเมืองเรื่องอำนาจระหว่างเพศจะทำให้หมอเจนต้องเรียนรู้ความสูญเสีย โดยเฉพาะกับพัชร์บุตรชายที่เลือกจะหนีออกไปจากเกมขัดแย้งของพ่อและแม่ แต่เธอก็ได้คำตอบว่า ระหว่างการรักษาความสัมพันธ์กับสามีที่เป็นเพียง “ผู้ชายห่วยๆ” คนหนึ่ง กับเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะหลุดพ้นจากสายโซ่ที่ร้อยรัดไว้ด้วยบรรทัดฐานของภรรยาที่ดีที่ต้อง “แสร้งโง่” ตลอดเวลา เธอควรจะอยู่กับตัวเลือกข้อใด         คำตอบคงไม่ต่างจากฉากที่หมอเจนเอาเครื่องพ่นไฟมาลนหลอมแหวนแต่งงานจนไม่เหลือซากความทรงจำอัน “ลวงตา” ของอดีต คู่ขนานไปกับประโยคในท้ายเรื่องที่เธอกล่าวกับอันนา และกระแทกมาในใจของผู้ชมได้อย่างน่าขบคิดยิ่งว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากผู้ชายห่วยๆ คนหนึ่ง แต่ทำไมคนที่ต้องลุกขึ้นมาทำสงครามฟาดฟันกันไม่จบไม่สิ้นต้องเป็นพวกผู้หญิงด้วย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ดวงใจจอมกระบี่ : แล้วเราก็พบรักกันในเมตาเวิร์ส

                นับแต่เบิกอรุณรุ่งแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา สังคมไทยและสังคมโลกค่อยๆ ก้าวเข้าสู่สังคมแห่งโลกเสมือนจริง ยิ่งในช่วงสักราว 2-3 ปีให้หลังมานี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO ใหญ่ของเฟซบุ๊ก ได้ประกาศเจตนารมณ์ทักทายชาวโลกด้วยวลีว่า “Hello, Meta” ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า อารยธรรมของมวลมนุษยชาติกำลังเดินทางเข้าสู่โลกแห่ง “เมตาเวิร์ส” กันอย่างแท้จริง         โดยรากศัพท์ “เมตา” หมายถึง “เหนือกว่า” ส่วน “(ยูนิ)เวิร์ส” ก็แปลว่า “จักรวาล” เมื่อรวมกันเข้าก็หมายความได้ว่า เป็นจักรวาลอันเหนือกว่า หรือที่บัญญัติศัพท์คำไทยไว้อย่างเท่ระเบิดว่า “จักรวาลนฤมิต” ซึ่งเป็นประหนึ่งโลกอันแปลกใหม่ ที่เพียงแค่มีเทคโนโลยีสร้างโลกเสมือนจริง มนุษย์เราก็เข้าไปสู่มิติพิศวงหรือทำลายกำแพงการเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง         ปรากฏการณ์ที่เทคโนโลยีเป็นจุดเชื่อมร้อยความจริงเข้าสู่โลกเสมือนแห่งจักรวาลนฤมิตดังกล่าว จะว่าไปแล้วก็คือ วิถีการมองโลกในแบบที่เชื่อว่า ทุกวันนี้เส้นกั้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องลวงนับวันจะพร่าเลือนลง จนในที่สุดพื้นที่แห่งโลกเสมือนจริงก็มีพลังหลอกล่อยั่วยวนให้มนุษย์เราตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวาลเสมือนที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่นั่นเอง         ในขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศการก้าวเข้าสู่เมตาเวิร์สอย่างเต็มตัวในโลกตะวันตก ละครโทรทัศน์ของไทยก็ขานรับกับการสร้างให้ตัวละครมากหน้าหลายตาได้เดินทางข้ามภพไปมาระหว่างจักรวาลเหนือจริงกับโลกแห่งมนุษย์ ณ กาลปัจจุบัน แบบที่รับชมกันผ่านละครแนวแฟนตาซีเรื่อง “ดวงใจจอมกระบี่”         และเพื่อให้สอดรับกับความพิศวงงงงวยที่จะปรากฏสู่สายตาผู้ชม ละคร “ดวงใจจอมกระบี่” ก็เลยผูกเนื้อหาเรื่องราวให้ตัวละครอย่าง “หวังอี้เทียน” ที่เคยมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในนวนิยายออนไลน์แนวกำลังภายใน ได้เดินทางพลัดหลุดมาอยู่ในโลกมนุษย์ที่เราๆ เวียนว่ายใช้ชีวิตกันอยู่         จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นด้วยการเปิดตัวนางเอกสาว “นลิน” ผู้หญิงที่ดูจะเพียบพร้อมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและชื่อเสียงหน้าตาทางสังคม แต่ลึกๆ แล้ว เธอกลับมีชีวิตที่โดดเดี่ยว เพราะพ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก และยังต้องอยู่ด้วยความระแวงระวังภัยจาก “อติรุจ” และ “อิงอร” อาแท้ๆ กับอาสะใภ้ที่จ้องจะทำทุกอย่างเพื่อฮุบมรดกและหุ้นเกินกว่าครึ่งของธุรกิจตระกูลที่นางเอกเราถือครองอยู่         เพื่อจะหาจังหวะชีวิตที่หลบหนีจากสภาวะแปลกแยกไร้ซึ่งสายสัมพันธ์ดังกล่าว นลินจึงชอบอ่านวรรณกรรมจีนออนไลน์ จนมักฝันเฟื่องอยากไปพบรักกับพระเอกจอมยุทธ์ และหลุดไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกแฟนตาซีแบบบู๊ลิ้มที่ชวนตื่นตาตื่นใจ         และแล้ววันหนึ่งโชคชะตาก็ชักนำ เมื่อนลินที่อยู่ในสภาวะเหมือนจะสูญสิ้นซึ่งแรงเกาะเกี่ยวในใจ ก็ได้มาเจอกับตัวละครหวังอี้เทียนที่พลัดตกจากผาชิงดาวในอาณาจักรยุทธภพของนวนิยาย “ตำนานกระบี่เย้ยฟ้า” ที่นลินชื่นชอบและกำลังติดตามอ่านเรื่องราวเป็นตอนๆ จากโลกอินเทอร์เน็ต และนั่นก็เป็นปฐมบทที่ตัวละครในจินตนาการมาปรากฏอยู่แบบตัวเป็นๆ ตรงต่อหน้าของนางเอกสาว         ในขณะเดียวกัน นลินก็มีเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวคือ “เรน” และแม้ด้วยวิชาชีพของเรนจะเป็นแพทย์ผู้เติบโตมากับองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์จับต้องไม่ได้ หากว่าหมอเรนก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่คลั่งไคล้นิยายเรื่องตำนานกระบี่เย้ยฟ้า ไม่ต่างจากเพื่อนรักของเธอ         แม้จะยึดมั่นในหลักวิทยาศาสตร์ แต่หมอเรนก็รู้วิธีถอดจิตไปสู่โลกเสมือน และทำให้เธอได้ไปพบเจอกับ “ฉีเซิน” สหายร่วมสาบานของหวังอี้เทียน ที่ออกตามหาเพื่อนรักผู้หายตัวไปจากยุทธภพ ทำให้ทั้งหมอเรนและฉีเซินต้องเดินทางสลับไปมาระหว่างโลกแฟนตาซีกับโลกปัจจุบันขณะ จนว้าวุ่นกันไปถ้วนหน้า         ด้วยเหตุที่ทั้งโลกความจริงและโลกจินตนาการต่างก็มีชีวิตของผู้คนที่โลดแล่น และต่างก็มีปัญหาของตัวละครซึ่งดำเนินอยู่ในโลกคู่ขนานทางใครทางมัน โดยทางด้านของหญิงสาวอย่างนลินก็ต้องเผชิญหน้ากับคนร้ายที่หมายปองชีวิตเธอในฐานะผู้ถือครองหุ้นกว่า 50% ของตระกูลดาราลัยกรุ๊ป ในขณะที่หวังอี้เทียนก็ต้องต่อสู้กับ “จอมโจรพรรคดอกไม้แดง” เพื่อรักษาความสงบสุขของยุทธภพ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นประมุขสูงสุดแห่ง “สำนักคุ้มภัยพยัคฆ์เมฆา”         แต่ทว่า โลกที่ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกันแบบนี้ ก็สามารถจะไขว้พันกันจนลางเลือนเส้นกั้นแบ่งแห่งความจริงความลวงจนเจือจางหายไป คล้ายๆ กับประโยคที่หวังอี้เทียนได้พูดกับนลินในคราหนึ่งว่า “ทุกเรื่องราวในโลก ครึ่งหนึ่งอยู่ที่ฟ้า อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่คน”         เพราะฉะนั้น อาจจะด้วยฟ้าลิขิตมาส่วนหนึ่งก็จริง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นน้ำมือมนุษย์เรานั่นเองที่เป็นผู้สร้างโลกเสมือนในจินตนาการขึ้นมา และโลกเสมือนที่มนุษย์เราสร้างไว้นี่เองก็ทำให้ตัวละครในโลกจริงและโลกไซเบอร์เวิร์ลด์ได้เดินทางข้ามไขว้ไปมาหากันได้ เป็นประหนึ่งประดิษฐกรรมของเมตาเวิร์สภายใต้กลิ่นอายแห่งยุทธจักรบู๊ลิ้ม         จากนั้น เมื่อเส้นทางของนวนิยายกำลังภายในได้มาบรรจบกับชีวิตจริงของมนุษย์เรา ก็ไม่แปลกที่ละครได้หวนคืนไปหยิบยกเรื่องราวและการกระทำของตัวละครแห่งอาณาจักรยุทธภพให้มาปรากฏอยู่ตรงหน้าต่อสายตาของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นเพลงกระบี่ของจอมยุทธ์ การใช้พัดด้ามติ้วเป็นศาสตราวุธ การเดินพลังลมปราณ การจี้จุดสกัดการเคลื่อนไหวของร่างกาย การลอบวางยาพิษ การประลองยุทธ์เพื่อชำระหนี้แค้น และอื่นๆ อีกหลากหลายที่บรรดาคอหนังจีนกำลังภายในน่าจะรู้สึกคุ้นชินกันเป็นเรื่องปกติ         ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้การกระทำอันคุ้นชินของตัวละครจากโลกยุทธภพดังกล่าว ละครยังได้ย้อนคืนคุณค่าหลักหลายอย่างที่มักปรากฏผ่านละครจีนแนวบู๊ลิ้ม ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมน้ำมิตร เป็นศิษย์ต้องเคารพครู ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูต่อพ่อแม่และบรรพชน รวมไปถึงการได้ยินวลีวาจาและคำพูดที่คมคายจากปากของตัวละคร เริ่มตั้งแต่ “ฟ้าไม่แล้งน้ำใจคนพยายาม” “นั่งไม่เปลี่ยนชื่อ ยืนไม่เปลี่ยนแซ่” “เป็นดั่งขุนเขาแมกไม้ อยู่เพื่อให้ มิใช่เพื่อรับ” “ไม่มีพรสวรรค์ หากตั้งใจฝึกฝนก็สำเร็จวิชาได้” และอื่นๆ อีกมากมาย        จนมาถึงฉากจบเรื่อง ไหนๆ ภาพจำลองของละครได้นำพาโลกบู๊ลิ้มมาบรรจบกับโลกจริงแล้ว ก็คงไม่น่าประหลาดใจนักที่เราจะเห็นคำตอบของเรื่องในแบบที่นลินได้ตัดสินใจไปใช้ชีวิตครองคู่อยู่ในโลกแฟนตาซีกับหวังอี้เทียน สลับกับฉีเซินที่เลือกออกจากโลกนิยายออนไลน์มาสานต่อความรักกับหมอเรนกันในโลกจริง         ถึงที่สุดแล้ว หากความรักไม่ต่างจากตัวแทนแห่งการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันแล้วไซร้ ปรากฏการณ์อย่างเมตาเวิร์สที่ราวกับจะแร้นแค้นความรู้สึกผูกพันของมนุษย์จริงๆ ก็อาจให้คำตอบแก่ผู้คนที่สายสัมพันธ์โดดเดี่ยวเปราะบางได้ว่า บางทีคนเราก็อาจพบรักกันได้แม้แต่ในโลกเสมือนของเมตาเวิร์สนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 มาตาลดา : วอท อะ วันเดอร์ฟูล เวิร์ลด์

        สิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นฉาก พล็อตเรื่อง หรือแม้แต่ตัวละครต่างๆ ไม่เคยโผล่ขึ้นมาจากสุญญากาศแบบไร้ที่เป็นมาเป็นไป หากแต่มีเงื่อนไขและที่มาที่ไปซึ่งยึดโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงรอบตัวเราเสมอ และที่สำคัญ ภาพที่เห็นผ่านละครและตัวละครอันหลากหลายที่เราสัมผัสอยู่นั้น ล้วนเป็นจินตนาการซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนย้อนให้เราคิดถึงความเป็นจริงในชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่        กับคำอธิบายชุดนี้ ดูจะเข้ากันได้ดีกับชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “มาตาลดา” ที่ได้รับการเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นตัวละครที่ทำหน้าที่ “ฮีลหัวใจ” ให้กับผู้ชมผ่านโลกของละครโทรทัศน์แนวรักโรแมนติก        มาตาลดาถูกสรรค์สร้างให้เป็นนางเอกผู้มี “พลังแห่งความใจดี” เป็นผู้หญิงที่ประหนึ่งขี่ม้าหลุดออกมาจากท้องทุ่งลาเวนเดอร์ คอยให้ความหวัง ให้พลังใจกับคนรอบข้าง มองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ อาจเป็นเพราะว่า “เกริกพล” พ่อของเธอเป็นกะเทยนางโชว์เจ้าของสมญานามว่า “เกรซ” ถูก “เปา” ผู้เป็นอากงไล่ออกจากบ้าน ด้วยเหตุผลเพราะ “เกิดมาเป็นคนผิดเพศ” พ่อเกรซจึงตั้งมั่นและสัญญากับตนเองว่า จะเลี้ยงมาตาลดาให้ “กลายเป็นคนที่ใจดีที่สุดในโลก” ให้จงได้        กับการเปิดตัวในฉากแรกๆ ของมาตาลดา เราก็จะเห็นพลังของความใจดีที่แผ่ซ่านไปทั่ว นับตั้งแต่เปิดฉากที่พ่อเกรซเล่านิทานให้เธอฟัง เพื่อให้เด็กน้อยเติบโตมาเป็นประหนึ่งเจ้าหญิงผมทองผู้มีจิตใจเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน ไปจนถึงฉากที่มาตาลดาให้ความเอ็นดูและรับเลี้ยงบรรดาสุนัขจรจัดแทบจะทุกตัวที่พลัดหลงผ่านเข้ามาในชีวิตของเธอ        ในขณะที่มาตาลดาเป็นตัวละครที่ใจดีชนิดที่หาได้ยากยิ่งในกาลสมัยปัจจุบัน ผู้คนที่อยู่รายล้อมรอบชีวิตเธอกลับถูกออกแบบให้ดูมีความผิดปกติหรือมีปมบาดแผลในจิตใจกันถ้วนหน้า        เริ่มจากนางโชว์ “ตัวตึง” อย่างพ่อเกรซเอง ที่เลือกเพศวิถีอันต่างออกไปจากความคาดหวังของสังคม จนถูกทุบตีอัปเปหิออกจากบ้าน และไปๆ มาๆ ก็กลับกลายเป็นบาดแผลที่ทั้งพ่อเกรซ อากง และอาม่า “เฟิน” ต่างก็บาดเจ็บจากทิฐิที่อากงสาดใส่เพศสภาพ LGBTQ+ ของบุตรชายไม่แตกต่างกันเลย        ตามมาด้วยพระเอกหนุ่ม “ปุริม” หรือที่ “บุญฤทธิ์” ผู้เป็นพ่อ ตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า “เป็นหนึ่ง” ก็คืออีกหนึ่งตัวละครซึ่งต้องทนทุกข์ยากจากการแบกภาระและความคาดหวังที่บิดาอยากให้เขาเป็นที่หนึ่งเหนือทุกๆ คน และแม้เขาจะเรียนเก่งเรียนดีจนได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจอันดับต้นๆ ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็กลายสภาพเป็น “หมอหัวใจที่ไม่มีหัวใจและไร้ความรู้สึก”        ฉากต้นเรื่องที่เป็นหนึ่งใส่แว่นตาของนักประดาน้ำนั่งอยู่เดียวดายในห้องนอน ก็ไม่ต่างจากการบ่งบอกนัยว่า ชีวิตของเขาถูกบิดากำหนดและกดทับไว้ให้จมอยู่ใต้ห้วงมหาสมุทรแห่งความคาดหวังของครอบครัวที่หนักอึ้งอยู่บนสองบ่า        ในเวลาเดียวกัน สำหรับบุญฤทธิ์ที่หน้าฉากสังคมประสบความสำเร็จทั้งชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน หากแต่ความรู้สึกผิดจากอดีตที่ตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้เขาถ่ายโอนความเจ็บปวดมาที่การเรียกร้องความเป็นเลิศจากบุตรชาย และสร้างความรู้สึกทุกข์ใจให้กับ “ชนิดา” ผู้เป็นภรรยาไปด้วยเช่นกัน        เพื่อผลักดันให้บุตรชายได้ขึ้นเป็นที่หนึ่งดังใจปรารถนา บุญฤทธิ์เจ้าของงานเขียนหนังสือเรื่อง “ชีวิตไม่ติดกรอบ” กลับเลือกสร้างกรอบจับคู่เป็นหนึ่งกับหญิงสาวในวงสังคมอย่าง “อรุณรัศมี” ที่สวยหรูดูแพง เพียบพร้อมทั้งความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจสังคม และยิ่งเมื่อภายหลังเป็นหนึ่งมาติดพันหลงรักมาตาลดา บุตรสาวของกะเทยนางโชว์ บุญฤทธิ์ก็ยิ่งออกฤทธิ์กีดกันความรักของทั้งคู่ในทุกทาง        แต่ในทางกลับกัน หลังฉากชีวิตของอรุณรัศมี ลูกสาวท่านรัฐมนตรีที่ดูเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ ลึกๆ กลับเป็นผู้หญิงที่แล้งน้ำใจ ทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะทุกคนที่เหนือกว่าตน โดยเฉพาะกับมาตาลดาที่แสนจะธรรมดาแต่กลับปาดหน้าเค้กพิชิตหัวใจเป็นหนึ่งไปได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากมารดาของอรุณรัศมีเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยลุกขึ้นมาสู้ แต่ยอมศิโรราบต่อการถูกกระทำทารุณทั้งกายวาจาใจอยู่ตลอดจากชายผู้เป็นสามี        ส่วนทางฝั่งของชนิดามารดาของเป็นหนึ่ง ก็มีน้องสาวคือ “ชุลีพร” ที่จิตใจห้วงลึกตั้งแง่อิจฉาริษยาความสำเร็จของพี่สาว และเอาแต่เสี้ยมสอน “ไตรฉัตร” บุตรชายให้เอาชนะเป็นหนึ่ง ด้วยการแย่งชิงอรุณรัศมีมาเป็นคนรักของตนให้ได้ และยิ่งเมื่อภายหลังไตรฉัตรรู้ว่าผู้หญิงที่เป็นหนึ่งรักอยู่ก็คือมาตาลดา เขาก็เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นนางเอกผู้แสนใจดีแทน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพียงเพราะต้องการปกปิดความรู้สึกเจ็บปวดที่ชุลีพรมักเปรียบเทียบว่าตนเป็นรองต่อเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา        ท่ามกลางผู้คนรายรอบที่ชีวิตช่างดูกะปลกกะเปลี้ยพิการทางใจนั้น ตัวละครมาตาลดาได้เล่นบทบาทที่แตกต่าง ไม่เพียงทำหน้าที่สร้างกำลังใจให้กับสรรพชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในท้องเรื่อง หากแต่ผลานิสงส์แห่งความใจดีและมองโลกสวย ยังช่วยคลี่คลายเปลาะปมให้ตัวละครผ่านพ้นความเจ็บปวดและเยียวยารอยร้าวต่างๆ ระหว่างพ่อแม่กับลูก ปู่กับหลาน พี่กับน้อง สามีกับภรรยา หรือผู้คนต่างรุ่นต่างวัย ควบคู่ไปกับคำพูดและวลีเด็ดๆ ที่พร่ำสอนคุณธรรมให้ตัวละครและผู้ชมได้ร่วมกันขบคิดเพื่อให้เข้าใจชีวิตไปพร้อมๆ กัน        ในโลกที่จิตใจของมนุษย์ช่างเปราะบางอยู่นั้น ประโยคที่มาตาลดาพูดกับเป็นหนึ่งผู้เป็นคุณหมอโรคหัวใจที่ไร้หัวใจว่า “คนไข้ไม่จำเป็นต้องอยากได้หมอที่เก่งที่สุด แต่เป็นหมอที่เข้าใจหัวใจเค้าดีที่สุด เค้าอาจกำลังมองหาหมอที่ใจ และมองเห็นเค้าเป็นคนก็เป็นได้” ก็สะท้อนให้เห็นว่า ก้นบึ้งของปัญหาที่ปัจเจกบุคคลยุคนี้เผชิญอยู่ ที่สุดแล้วก็คงมาจากการมองข้ามความเข้าอกเข้าใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจริงๆ        เมื่อผู้เขียนดูละครเรื่องนี้จบ เกิดคำถามข้อแรกขึ้นมาว่า ระหว่างมาตาลดากับตัวละครที่ป่วยทางจิตใจกันถ้วนหน้าอยู่นั้น ใครคือมนุษย์จริงๆ ในโลกมากกว่ากัน คำตอบที่เราน่าจะเห็นพ้องก็คือ ตัวละครอื่นๆ ต่างดูเป็นผู้คนที่พบได้ในโลกใบนี้ หาใช่มาตาลดานางเอกผู้แสนดีที่ดูช่างเซอร์เรียลิสต์เหนือจริงเสียนี่กระไร        และหากจะถามต่อไปว่า แล้วในขณะที่ละครสะท้อนความเป็นจริงในชีวิตผ่านตัวละครอื่นๆ อยู่นั้น ตัวละครอุดมคติประหนึ่งยูโธเปียอย่างมาตาลดาปรากฏตนขึ้นมาได้อย่างไร กับคำถามข้อนี้เชื่อกันว่า หากในโลกความจริงมนุษย์กำลังเผชิญกับปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ที่จัดการไม่ได้ โลกสัญลักษณ์ที่สมมติตัวละครแนวอุดมคตินี่เอง จะช่วยบำบัดความขัดแย้งอย่างน้อยก็ในจินตนาการให้บรรเทาเบาบางลงไป        เมื่อมาถึงฉากจบของเรื่อง ที่ตัวละครซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งในสงครามความรักและครอบครัว ต่างให้อภัยและลุกขึ้นมาเต้นรำกันอย่างสนุกสนานราวกับไม่เคยมีปัญหาใดๆ กันมาเลยในชีวิต ไม่เพียงแต่เป็นการ “ฮีลหัวใจ” ของผู้ชมเท่านั้น หากแต่ยังชวนขบคิดไปด้วยว่า กับความขัดแย้งที่เห็นกันอยู่ในโลกความจริง ถ้าเราเคยเยียวยามาได้แล้วในอุดมคติแห่งโลกของละคร เราจะทำให้การคลี่คลายปัญหาเช่นนี้บังเกิดขึ้นในโลกความจริงได้หรือไม่ และอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 แค้น : เจ็บนี้จำไปจนตาย เจ็บนี้ไม่มีวันลืม

        “ความแค้น” คืออะไร? พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า “แค้น” คือ อาการโกรธเจ็บใจอยู่ไม่หาย และหากเป็น “คนเจ้าคิดเจ้าแค้น” แล้ว จะหมายถึง คนที่มักผูกอาฆาตพยาบาท ผูกใจเจ็บกับคนที่ทำร้ายหรือทำให้ตนได้รับความลำบากอย่างไม่รู้จักลดละ ไม่รู้จักให้อภัย         ในทางพุทธศาสนา ที่ยึดหลักแห่งความเมตตาการุณย์เป็นที่ตั้งนั้น อธิบายว่า ความแค้นเป็นคู่ปรับตรงกันข้ามกับความเมตตา เป็นเสมือนไฟแผดเผาใจให้มอดไหม้ มักนำไปสู่การกระทำที่รุนแรงเสียหาย และนำสู่ความหงุดหงิดงุ่นง่านทรมานใจตนเอง ดังนั้น ศาสนาจึงสอนให้ปุถุชนพยายาม “ดับความแค้น” ในใจ เมื่อมีคนใดมาทำให้โกรธแค้น ก็พึงแผ่เมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตทั้งปวง         แม้ว่าความแค้นจะเป็นคู่ตรงข้ามกับการให้อภัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความแค้นเป็นสิ่งที่เกิดเนื่องมาแต่ “ความต้องการอำนาจ” ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของการ “เอาคืน” จากความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคม ดุจดังความแค้นฝังแน่นชนิด “ตายไม่เผาผี” กันไปข้างหนึ่งระหว่าง “เหมือนแพร” กับ “ปรางทอง” ในละครโทรทัศน์ที่ชื่อเรื่องสั้นๆ ตรงเป้าตรงประเด็นว่า “แค้น”         แล้วทำไมผู้หญิงสองคนต่างจึงโกรธแค้นกันชนิด “เจ็บนี้จำไปจนตาย เจ็บนี้ไม่มีวันลืม” และ “ตายกันแบบไม่เผาผี” อีกเลย? ละครได้ย้อนไปหาคำตอบผ่านชีวิตของเหมือนแพร หญิงสาวที่ในชีวิตไม่เคยตระหนักเลยว่า ความรักที่เธอมีให้ผู้ชายคนหนึ่ง และความศรัทธาที่มีต่อผู้หญิงที่เธอเคารพรักเสมือนเป็นญาติคนสนิท จะพลิกผันจาก “ความรัก” เป็น “ความแค้น” ที่ปะทุฝังแน่นอยู่ในอุรา         ถ้าสังคมไทยทุกวันนี้มีความขัดแย้งระหว่างคนต่างเจนเนอเรชันเป็นสมรภูมิที่ปะทุปะทะกันอย่างเข้มข้น ภาพจำลองสนามรบของคนต่างรุ่นวัยแบบนี้ก็ถูกถ่ายทอดให้เห็นผ่านความแค้นที่ระเบิดออกมาเป็น “ศึกสองนางพญา” ระหว่างนางเอกเหมือนแพร กับปรางทิพย์ หรือที่เธอเรียกว่า “น้าปราง”         สงครามความแค้นครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อราวยี่สิบปีก่อน ที่ปรางทองได้เข้ามาในบ้านของเศรษฐีที่ดินตระกูล “พิพัฒน์ผล” แต่เพราะมีสถานะเป็นลูกติดของ “ปรางทิพย์” ผู้เป็นภรรยาน้อย เธอจีงถูก “ปิ่นมณี” บุตรสาวคนเดียวของตระกูลปฏิบัติกับเธอเยี่ยงเด็กรับใช้ในบ้าน หรือทาสในเรือนเบี้ย จนบ่มเพาะเป็นความแค้นที่อยู่ในใจของปรางทองมานับจากนั้น         สองปีถัดมา เมื่อปิ่นมณีได้ให้กำเนิดเหมือนแพร ก็ยิ่งตอกย้ำให้สถานะของปรางทองตกต่ำลงไปอีก แม้เหมือนแพรจะสนิทสนมและนับถือเธอประหนึ่งน้าแท้ๆ แต่ปรางทองก็มีชีวิตไม่ต่างจากสาวใช้ที่ต้องดูแลเด็กน้อย และเป็นรองทุกอย่างให้กับเด็กหญิงที่วันหนึ่งจะโตมาเป็นเจ้าของสมบัติตระกูลพิพัฒน์ผลทั้งหมด         ด้วยความแค้นต่อโชคชะตาที่ปรางทองสั่งสมเอาไว้ เธอจึงมุ่งมั่นตั้งแต่มารดาเสียชีวิตว่า สักวันหนึ่งจะยึดทรัพย์สินทุกอย่างของบ้านพิพัฒน์ผลมาเป็นของตนให้ได้ ดังนั้น เมื่อปรางทองเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอจึงเริ่มแผนการเสนอตัวเข้าไปช่วยงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล และยังชักชวนแฟนหนุ่ม “อรรณพ” ให้มาเป็นผู้ช่วยของ “พัฒนะ” บิดาของเหมือนแพร โดยแนะนำว่าเขาเป็นเพื่อน มิใช่แฟน         และแล้วแผนการของปรางทองก็สัมฤทธิ์ผล หลังจากที่พัฒนะและปิ่นมณีเสียชีวิตลง เธอก็ได้ยุให้เหมือนแพรที่ไร้เดียงสาและอยู่ในวัยแตกเนื้อสาว เซ็นเอกสารยินยอมให้อรรณพเป็นผู้จัดการมรดกและดำเนินการทางธุรกิจแทน ก่อนจะยืมมืออรรณพที่เด็กสาวแอบหลงรักมาฮุบสมบัติของพิพัฒน์ผลจนสำเร็จดังหวัง หลังจากนั้นปรางทองก็เปิดตัว “เก่งกาจ” ลูกชายวัยสองขวบ ความรักความไว้ใจกลายเป็นความเจ็บปวดและสูญเสียทุกอย่าง จนเหมือนแพรเลือกตัดสินใจฆ่าตัวตาย         แม้เหมือนแพรจะรอดจากอัตวินิบาตกรรมครานั้น แต่ด้วยจิตใจที่แตกสลาย เธอได้เลือกบินไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศอยู่สิบกว่าปี กว่าที่จะทำใจกลับมาเยียวยาบาดแผลซึ่งฝังรากอยู่ในห้วงความทรงจำลึกๆ ของเธอ         ในขณะที่หลักศาสนาพร่ำสอนว่า “พึงระงับความแค้นด้วยการให้อภัย” และ “กฎแห่งกรรมเป็นวัฏจักรที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้” แต่สิ่งที่พบเจอมาในชีวิตของเหมือนแพรที่บัดนี้กลายเป็นปัจเจกบุคคลผู้มีวุฒิภาวะมากขึ้น ได้นำไปสู่คำถามใหม่ๆ ที่ว่า “ทำไมคนที่ทำแต่เรื่องชั่วๆ ยังลอยหน้าอยู่ในสังคมได้” และแม้ “พิธาน” พระเอกหนุ่มน้องชายของอรรณพจะเตือนสติให้เธอละเลิกความพยาบาท แต่เหมือนแพรก็เลือกประกาศกับเขาว่า “ถ้ากรรมไม่ทำงาน แพรก็จะลงมือทำเอง”         อย่างไรก็ดี ในสมรภูมิครั้งใหม่นี้ ปรางทองกลับเป็นผู้ที่ถือไพ่เหนือกว่า เพราะเธอได้รวบปัจจัยการผลิตทั้งหมดมาจากชีวิตเหมือนแพร และแปลงทรัพยากรเม็ดเงินและธุรกิจในมือเป็นอำนาจในการจัดการกับอดีตหลานสาว จนถึงกับประกาศศึกว่า “มันได้กินยาตายรอบสองแน่ แล้วครั้งนี้มันจะได้ตายสมใจ” รวมทั้งใช้แม้แต่กำลังความรุนแรงแบบไร้มนุษยธรรมเพื่อเผด็จศึกชนิดที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อน          ทว่า สิ่งที่ปรางทองมองข้ามไปก็คือ ในศึกแค้นคำรบใหม่นี้เช่นกัน คู่ชกที่เธอปรามาสว่าอ่อนหัดกลับมีเจตนารมณ์แน่แน่วที่จะแปลงเพลิงแค้นให้เป็นพลังต่อสู้ แม้ว่าในยกแรกๆ เหมือนแพรจะเพลี่ยงพล้ำขนาดที่ถูกลากมาตบมาซ้อมในที่สาธารณะท่ามกลางสายตาผู้คนนับร้อยในงานกาล่าของชาวไฮโซ แต่ประสบการณ์แต่ละครั้งก็บ่มเพาะให้เหมือนแพรสุขุมคัมภีรภาพ และรู้จักเป็นผู้เดินเกมบนกระดานได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น         ในขณะที่คนรุ่นก่อนแบบปรางทองเลือกวิธีต่อสู้ในเกมแบบการเล่น “หมากรุก” ที่ทำทุกอย่างโดยมุ่งเป้าพิชิตตัวขุนผู้เป็นตัวนำเพื่อชนะศึกในกระดาน แต่ทว่าคนรุ่นใหม่แบบเหมือนแพรกลับชำนิชำนาญการเล่นเกมแบบ “หมากล้อม” ช่วงชิงเก็บแต้มเล็กแต้มน้อย จนในท้ายที่สุดก็จะยึดพื้นที่หมากโกะได้หมดทั้งกระดาน         เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นภาพเหมือนแพรที่ค่อยๆ วางแผนซื้อหุ้นของธุรกิจพิพัฒน์ผลกลับมาทีละเล็กละน้อย และช่วงชิงแนวร่วมพันธมิตรของปรางทองทีละคนสองคน ไล่ตั้งแต่บรรดาผู้ถือหุ้นรายย่อยแต่ละคน “โภไคย” และ “ดาหวัน” ผู้ร่วมทำธุรกิจกับปรางทอง พิธานพระเอกหนุ่มที่แอบรักเธออยู่ หรือแม้แต่วางแผนหลอกใช้และปั่นหัวเก่งกาจลูกชายของปรางทอง ให้เขากบฏแข็งข้อต่อผู้เป็นแม่แบบไม่เคยเป็นมาก่อน         แต่ทว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ละครก็ได้ตั้งคำถามว่า หากจะแปลงความแค้นเป็นสงครามปั่นประสาทแบบ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” เยี่ยงนี้ “ความเลว” ก็ไม่อาจล้มล้างได้ด้วยการปะทะกันทางอารมณ์แต่อย่างใด หากแต่ต้องใช้ “ความจริง” เท่านั้นที่จะทำให้ปัจเจกบรรลุชัยชนะ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเหมือนแพรก็เคยถูกใช้ความรักความหวังดีมาสร้างเป็นจิตสำนึกปลอมๆ จนมองข้าม “ความจริง” อันเป็นธาตุแท้ของศัตรู         ในสังคมที่ความยุติธรรมออกอาการบิดเบี้ยว และโอกาสในชีวิตที่ถูกพรากไปโดยไร้กฎกติกา ชะตากรรมของตัวละครก็อาจบอกเราได้ว่า ถ้าจะให้ความยุติธรรมบังเกิดขึ้นจริง บางทีเราต้องหัดแปลงแรง “แค้น” ให้เป็นสติในการเห็นถึง “ความจริง” ที่จะปลดปล่อยจิตสำนึกจอมปลอมที่แอบล่อหลอกลวงตาเอาไว้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 หมอหลวง : กว่าจะเป็นนักรบเสื้อกาวน์

        วิชาแพทยศาสตร์ของไทย แต่เดิมพัฒนาองค์ความรู้มาจากการใช้ยาสมุนไพรและตำรับยาตำราหลวง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “แพทย์แผนไทย” จนเมื่อราวร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่ระบบสาธารณสุขและความรู้แพทย์แผนใหม่ได้ลงรากปักฐานในสยามประเทศ และกลายมาเป็นชุดวิทยาการการแพทย์แผนหลักจวบจนปัจจุบัน         ที่สำคัญ ทุกวันนี้ไม่เพียงบุคลากรทางการแพทย์แผนใหม่จะมีบทบาทดูแลรักษาสุขภาพคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทเป็นชนชั้นนำหรือ “คีย์แมน” ที่แทรกซึมเข้าไปในอีกหลากหลายแวดวงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นแวดวงการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และอีกมากมาย         เพราะแพทย์แผนใหม่ได้สถาปนาอำนาจและบทบาทนำในสังคมไทยมาเกินกว่าศตวรรษเช่นนี้เอง จึงไม่แปลกที่ละครโทรทัศน์จะหยิบเรื่องราวมาผูกเป็นเรื่องเล่าในความบันเทิงแบบมวลชน และล่าสุดก็ผูกโยงเป็นละครแนวพีเรียดที่ย้อนยุคไปในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคณะมิชชันนารีได้เข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาและวิทยาการการแพทย์แบบตะวันตก พร้อมๆ กับการริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนไทย เป็นฉากหลังของเรื่องราว ดังที่เราได้มองผ่านละครเรื่อง “หมอหลวง”         ละครกึ่งดรามากึ่งคอมเมดี้เรื่อง “หมอหลวง” เริ่มต้นด้วยภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “อัคริมา” หรือ “บัว” นางเอกสาวนักศึกษาแพทย์ ที่เหมือนจะไร้ญาติขาดพี่น้อง และแม้มุ่งมั่นว่าสักวันหนึ่งจะได้สวมเสื้อกาวน์เป็นหมอที่ดีในอนาคต แต่ในชั้นเรียนเธอกลับถูกตีตราจากอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นว่า เป็นนักศึกษาแพทย์ที่เรียนรั้งท้าย ไม่มีสติ ไม่มีวิจารณญาณที่จะเป็นหมอรักษาโรคได้ดี         กับชีวิตที่ดูแปลกแยกและไร้แรงเกาะเกี่ยวเช่นนี้ ปาฏิหาริย์ก็บังเกิดขึ้นเมื่อเกิดลมพายุใหญ่พัดหอบบัวออกจากห้องพักอันคับแคบ ทะลุมิติข้ามภพข้ามกาลเวลาประหนึ่งเมตาเวิร์ส มาโผล่ในจุลศักราช 1202 สมัยรัชกาลที่ 3 กันโน่นเลย         ปกติแล้วในความเป็นเรื่องละครแนวเดินทางข้ามเวลา หรือที่รู้จักกันว่า “time travel stories” นั้น ในฟากหนึ่งก็สะท้อนความรู้สึกโหยหาอดีตที่แสนหวานแต่ห่างหายไปแล้วจากสำนึกคนรุ่นปัจจุบัน แต่ในอีกฟากหนึ่ง ก็เป็นช่วงจังหวะที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลร่วมสมัยได้ทบทวนหวนคิดถึงตนเองในทุกวันนี้ โดยใช้ฉากทัศน์ของกาลอดีตมาเป็นภาพที่วางเปรียบเทียบเคียง         ด้วยเหตุดังนั้น หลังจากที่บัวได้หลุดมิติมาสู่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นางเอกสาวนักศึกษาแพทย์ก็ได้พบกับ “ทองอ้น” พระเอกหนุ่ม ลูกชายผู้ไม่เอาถ่านของตระกูลหมอหลวงสาย “หลวงชำนาญเวช” หรือที่ผู้คนเรียกขานว่า “หมอทองคำ” ผู้สืบทอดความรู้แพทย์แผนโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงเก่า         แม้ทองอ้นจะเป็นคนเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบดี แต่ด้วยเหตุผลที่เขาไม่ต้องการเด่นเกิน “ทองแท้” พี่ชายต่างมารดา จึงแกล้งทำตัวไม่เป็นโล้เป็นพาย เพื่อปิดบังความรู้ความสามารถที่แท้จริงของตน         แต่แล้วชีวิตทองอ้นก็ต้องมีอันพลิกผัน เมื่อมีพระราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหมอหลวงขึ้นมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดรับสมัครนักเรียนหมอหลวงในกรุงสยาม และเปิดโอกาสให้ลูกหลานชาวบ้านทั่วไปได้เข้ามาร่ำเรียนเพื่อเป็นหมอ ซึ่งอดีตเคยเป็นวิชาความรู้ที่ผูกขาดอยู่เฉพาะในสายตระกูลหมอหลวง และก็แน่นอนที่พระเอกหนุ่มทองอ้นก็คือหนึ่งในผู้สมัครเป็นนักเรียนหมอหลวงรุ่นแรกนั้นด้วย         จากนั้น ผู้ชมก็ได้เห็นภาพกระบวนการกลายมาเป็นหมอหลวงในยุคเก่าก่อน ผ่านสายตาและการรับรู้ของบัวหญิงสาวผู้ข้ามภพกาลเวลามาจากปัจจุบัน โดยผูกเล่าผ่านโครงเรื่องความขัดแย้งย่อยๆ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของหมอทองคำ ความวุ่นวายของชีวิตนักเรียนในโรงเรียนหมอหลวง ชีวิตหมอหลวงที่ต้องผูกพันกับทั้งราชสำนักและผู้ไข้ที่ขัดสน หรือแม้แต่เกี่ยวพันเข้าไปในสงครามสู้รบจริงๆ จากกลุ่มจีนอั้งยี่ และสงครามโรคภัยจากการระบาดของไข้ทรพิษ         และเพื่อให้ดูสมจริงในสายตาของผู้ชม ละครจึงตัดภาพสลับไปมา โดยให้ผู้หญิงร่วมสมัยอย่างบัวได้เรียนรู้วิทยาการสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณ ไปจนถึงได้เห็นฉากการผ่าตัดครั้งแรกในสยามประเทศเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ตัวละครในอดีตอย่างทองอ้นและสหายได้ใช้จินตนาการหลุดมาสัมผัสเหตุการณ์จริงของระบบการจัดการสุขภาพผู้คนในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ให้พวกเขาได้เข้าไปเยี่ยมเยือนในห้องยิมออกกำลังกาย ไปจนถึงห้องผ่าตัดของศัลยแพทย์ในโรงพยาบาล         การสลับเรื่องราวไปมาของตัวละครสองห้วงเวลาที่หลุดเข้าสู่โลกเสมือนแบบนี้ ด้านหนึ่งก็เชิญชวนให้ผู้ชมได้ลุ้นกับฉากสรุปตอนท้ายว่า บัวจะตัดสินใจเลือกครองคู่อยู่กับทองอ้นในกาลอดีต หรือจะเลือกกลับมาใช้ชีวิตที่เหลือแบบแปลกแยกโดดเดี่ยวกันอีกครั้ง หากแต่พร้อมๆ กันนั้น ละครข้ามเวลาเรื่องนี้ก็ชี้ชวนให้เราทบทวนถึงคุณค่าของวิชาชีพแพทย์ ผู้มีบทบาทในการกำหนดความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์ปัจจุบัน         แม้หมอเองก็คือปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง แบบที่นักเรียนหมอหลวงก็มีการแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง มีความอิจฉาริษยา มีเรื่องพรรคพวกเส้นสาย หรือแม้แต่ออกอาการงกวิชาความรู้ แต่ในขณะเดียวกัน ภายใต้ความเป็นปุถุชนที่มีกิเลสรักโลภโกรธหลงนี้ แวดวงวิชาชีพหมอในอดีตก็มีการติดตั้งรหัสจริยธรรมที่กำกับควบคุมด้านมืดทั้งหลายมิให้ครอบงำกัดกร่อนจิตใจของบรรดาหมอหลวงเหล่านั้นไปได้โดยง่าย         คุณค่าหลักของหมอในอุดมคติที่ปรากฏในละคร มีตั้งแต่การต้องเคารพครู ช่างสังเกต ตั้งข้อสงสัย ไม่ย่อท้อที่จะค้นหาวิธีรักษาโรคให้เจอ รู้จักขวนขวายความรู้จากทั้งตำราดั้งเดิมและความรู้ใหม่ๆ ที่เก็บเกี่ยวได้รอบตัว ตลอดจนคุณธรรมอีกหลากหลายที่คนเป็นหมอพึงมี         แต่ที่ละครดูจะตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ก็คือ หมอที่ดีพึงยึดเอาประโยชน์ของ “ผู้ไข้” เป็นหลัก แบบที่ครูหมอรุ่นก่อนได้สอนอนุชนนักเรียนหมอหลวงว่า “จรรยาข้อแรกของหมอคือ ต้องมีเมตตาต่อผู้ไข้ไม่แยกชนชั้นวรรณะ” หรือ “ความรู้ด้านการแพทย์ไม่ได้มีไว้แข่งขันเพื่อเอาชนะกัน” หรือแม้แต่วิธีคิดต่อยาสมุนไพรหายากในโรงหมอหลวงที่ว่า “ยาหาใหม่ได้ แต่ชีวิตคนหาใหม่ไม่ได้”         เพราะฉะนั้น ฉากที่หมอทองคำลดตนก้มกราบคารวะ “หมอทัด” คู่ปรับในวิชาชีพแพทย์ที่ใช้ความรู้ช่วยเหลือผู้ไข้ให้ผ่านพ้นการระบาดของโรคฝีดาษได้ ก็อรรถาธิบายอยู่ในตัวว่า หากหมอหัดลดหรือวางอัตตาและทิฐิลงเสียบ้าง และพร้อมจะยอมรับความรู้ความสามารถคนอื่นเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ไข้ ก็เป็นรหัสจรรยาบรรณที่คนโบราณวางไว้ให้กับบรรดาหมอหลวงได้ยึดถือปฏิบัติ         กว่าศตวรรษได้ผ่านพ้นไป กับสังคมไทยที่มีแพทย์ชนชั้นนำเป็นกลจักรขับเคลื่อนอยู่นี้นั้น สถาบันการแพทย์ที่มีบทบาทและตัวตนอยู่ในสปอตไลต์ก็คงหนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามไปถึงจรรยาบรรณใต้เสื้อกาวน์อยู่เป็นเนืองๆ หากเราลองผาดตาเล็งเห็นคุณค่าที่ทองอ้นกับการก่อตัวของสถาบันหมอหลวงมาแต่อดีต ก็อาจจะเห็นหลักจริยธรรมที่นำมาตอบโจทย์ของแพทย์ที่มีต่อผู้ไข้และสังคมไทยอยู่ในนั้นได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 เลือดเจ้าพระยา : แค่อยากเห็นสายน้ำในครั้งก่อน ที่ฉันได้เคยว่ายเวียน

        สังคมไทยโดยเฉพาะดินแดนพื้นที่ลุ่มภาคกลาง หยั่งรากมาจาก “วัฒนธรรมแห่งสายน้ำ” นับแต่อดีตกาล วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับแม่น้ำลำคลองอย่างแนบแน่น อาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูกที่ต้องอิงอยู่กับวงจรของน้ำในแต่ละฤดูกาล การเดินทางของผู้คนที่ใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการสัญจร หรือกิจกรรมราษฎรบันเทิงอย่างเพลงเรือหรือดอกสร้อยสักวาก็เกิดขึ้นโดยมีสายน้ำเป็นศูนย์กลางของประเพณีท้องถิ่นดังกล่าว         หรือแม้แต่สำนวนภาษิตมากมายก็ตกผลึกมาจากวัฒนธรรมแห่งสายน้ำที่ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปมาอุปไมยการรู้จักจับจังหวะและโอกาสไม่ให้ผ่านพ้นไปแบบ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” หรือการเตือนใจว่าอย่ากระทำการอันใดให้ลำบากเกินไปดุจการ “พายเรือทวนน้ำ” หรืออย่าไปทำอะไรไม่คุ้มค่าการลงทุนดั่งการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” หรืออย่าไปกีดขวางเกะกะเป็นภาระผู้อื่นเหมือน “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” ไปจนถึงการที่สรรพชีวิตต่างล้วนพึ่งพาอาศัยกันไม่ต่างจาก “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”         แต่ทว่า เมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจก้าวหน้าขึ้น และเมื่อมีการตัดถนนหนทางมาแทนการสัญจรทางน้ำดังเดิม วิถีการพัฒนาที่เชื่อว่า “น้ำไหลไฟสว่างทางดีมีงานทำ” ได้ซัดกระหน่ำและพลิกโฉมอารยธรรมใหม่ให้กับดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางมานับเป็นหลายทศวรรษ และแม้ว่าการพึ่งพาแม่น้ำลำคลองจะมิได้สูญสลายหายไป แต่วัฒนธรรมแห่งสายน้ำก็เริ่มลดคุณค่าและห่างไกลไปจากชีวิตคนรุ่นใหม่ขึ้นทุกวัน         กับอารมณ์ความรู้สึกที่เส้นกราฟการพัฒนาสังคมไทยต้องมุ่งไปข้างหน้า และหลีกหนีจากสภาวะ “ถอยหลังเข้าคลอง” เช่นนี้ “ราคาที่ต้องจ่ายแบบแพงแสนแพง” ก็ทำให้ผู้คนเริ่มเกิดอาการถวิลหาอดีต หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “nostalgia” ที่หวนหาวัฒนธรรมสายน้ำซึ่งห่างหายกันอีกครั้งครา ไม่ต่างจากภาพชีวิตของบรรดาตัวละครทั้งหลายในละครโทรทัศน์แนวบู๊ผสมรักโรแมนติกเรื่อง “เลือดเจ้าพระยา”         ละครจำลองภาพชีวิตของคนสองรุ่นโดยใช้ฉากหลังของทุ่งลานเท อันเป็นพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกัน เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน และเปิดฉากด้วยตัวละคร “สมิง” พระเอกหนุ่มหล่อกล้ามใหญ่ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกเจ้าพระยา” ตัวจริง กับภาพที่เขาดำน้ำแหวกว่ายอยู่ข้างเรือโยงอันเป็นที่ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพ่อและแม่         แม้จะเป็นอ้ายหนุ่มเรือโยงผู้มีฐานะยากจนขัดสน สมิงก็แอบมีใจรักให้กับแม่เพลงลำตัดชื่อดังแห่งทุ่งลานเทนามว่า “ศรีนวล” บุตรสาวคนเดียวของ “กำนันธง” ความงามของศรีนวลเป็นที่ระบิลระบือไปทั่วทุกคุ้งน้ำย่านกรุงเก่า ไม่แพ้อุปนิสัยแก่นแก้ว และฝีมือแม่นปืนตัวฉกาจ         จนกระทั่งวันครบรอบวันเกิดของศรีนวล และกำนันธงได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับบุตรชายของ “ท่านผู้ว่าฯ ทรงพล” ศรีนวลได้พบกับ “เลอสรร” นักเรียนนายร้อยตำรวจหนุ่มรูปหล่อพ่อรวย แม้ว่าในใจลึกๆ ศรีนวลจะมีคำถามว่า “สาวๆ ในจังหวัดนี้ซื่อๆ ตามไม่ทันพี่หรอกหนา ไม่ใช่มาเพื่อลวงใครใช่ไหม” แต่ด้วยจิตปฏิพัทธ์ เธอก็ลักลอบแอบมีความสัมพันธ์กับเขา ในขณะที่สมิงก็ได้แต่แอบเฝ้ามองดูอยู่ด้วยความรู้สึกเจ็บปวด         แม้เลอสรรจะให้คำมั่นสัญญาว่า เมื่อเรียนจบจะรีบให้พ่อแม่มาสู่ขอศรีนวล แต่เพราะชีวิตมนุษย์ไม่ต่างจากสายน้ำ ที่ไม่ได้ไหลราบเรียบเป็นเส้นตรงเสมอไป หากทว่าบางจังหวะก็คดเคี้ยวเลี้ยวลด หรือแม้แต่ปะทะกับแก่งหินเกาะกลางลำน้ำอยู่ตลอดเวลา         ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อเลอสรรเดินทางกลับเมืองกรุง เรือเกิดอุบัติเหตุจนเขาพลัดตกแม่น้ำและสูญเสียความทรงจำบางส่วน โดยเฉพาะเมโมรีไฟล์เรื่องความรักระหว่างเขากับศรีนวล “คุณนายสอางค์” ผู้เป็นมารดาจึงถือโอกาสจับลูกชายคลุมถุงชนแต่งงานกับ “สร้อยเพชร” ลูกสาวผู้ดีมีตระกูลคู่หมั้นคู่หมายตั้งแต่เด็ก และกีดกันบุตรชายไม่ให้เกี่ยวโยงหรือได้ฟื้นฟูความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตที่ทุ่งลานเทอีกเลย         สองทศวรรษผ่านไป พร้อมๆ กับความเจริญและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายตัวเข้ามาสู่ดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลาง “สอยดาว” ลูกของศรีนวลได้เติบโตขึ้นมาเป็นสาวแก่นเซี้ยวเฟี้ยวซ่าไม่ต่างจากผู้เป็นแม่ในอดีต โดยมีสมิงที่ยังแอบไปมาหาสู่กับศรีนวล และรับเลี้ยงสอยดาวกับ “บุญเหลือ” เด็กหนุ่มกำพร้าอีกคน จนทั้งคู่ผูกพันและนับถือสมิงเหมือนพ่อ และเรียกสมิงว่า “พ่อใหญ่” ตามที่ศรีนวลสั่งลูกทั้งสองคนเอาไว้         ในอีกฟากฝั่งหนึ่ง ภาพได้ตัดมาที่เลอสรรเองก็มีลูกสองคนคือ “สาวเดือน” กับ “เกียรติกล้า” ในขณะที่หน้าที่การงานของเลอสรรกำลังก้าวหน้า ได้เลื่อนยศเป็นพันตำรวจเอกผู้มีหน้าที่ปราบปรามโจรในภาคกลาง เคียงคู่กับนายร้อยตำรวจหนุ่มรุ่นน้องไฟแรงอย่าง “ระพี” แต่ทว่าความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเขาเคยมีความรักความผูกพันและมีหน้าประวัติศาสตร์บางเสี้ยวส่วน ณ ท้องทุ่งลานเท กลับคอยสะกิดห้วงคำนึงที่ต้องการหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นที่นั่น และเขาเกี่ยวข้องอันใดกับผู้หญิงที่ชื่อว่าศรีนวล         หากจะเทียบความรู้สึกในห้วงจิตใจของผู้พันเลอสรรกับอารมณ์ความรู้สึกของคนชั้นกลางไทยในกระแสธารแห่งการพัฒนาประเทศช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยนัยนี้จะพบว่า เพียงแค่ไม่กี่สิบปีที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตไปมาก แต่ผู้คนกลับรู้สึกว่า ตนมี “ราคาที่ต้องจ่ายแบบแพงระยับ” ให้กับชีวิตอุดมคติในอดีต ไปจนถึงการค่อยๆ ห่างหายไปจากวัฒนธรรมแห่งสายน้ำที่เคยหล่อเลี้ยงสังคมไทยมานานแสนนาน         เพราะฉะนั้น ภายใต้การรอคอยที่จะกู้ไฟล์ความจริงในท้ายเรื่องว่า เกิดอะไรขึ้นที่ทุ่งลานเท และสอยดาวกับสาวเดือนแท้จริงเป็นพี่น้องต่างมารดากัน กอปรกับเส้นเรื่องหลักของละครที่เหมือนจะชวนให้ขบคิดว่า “ทุกชีวิตก็เหมือนสายน้ำที่ต้องดำเนินไป สุขบ้างทุกข์บ้าง สูญเสียบ้าง แต่ก็ต้องดำเนินไปเหมือนเลือดเจ้าพระยา” แต่ในอีกด้านหนึ่ง “ชีวิตเหมือนสายน้ำที่ต้องดำเนินไป” ของตัวละคร กลับมีอดีตที่หลอกหลอนให้ต้องถวิลหาความสวยงามของวัฒนธรรมแม่น้ำลำคลองอยู่ตลอดเวลา         และไหนๆ ตัวละครก็เกิดอาการโหยหาอดีตกันแล้ว ผลานิสงส์ยังแผ่ขยายมาสู่ภาวะ “nostalgia” ที่ผูกโยงอยู่ในเรื่องเล่าสไตล์บู๊แบบประเพณีนิยมที่อาจจะเคยคุ้นตา แต่กลับไม่ได้เห็นกันมานานนับทศวรรษ         ไม่ว่าจะเป็นการหวนคืนภาพฉากบู๊แอ๊กชันสุดมันส์ยิ่งกว่าหนังกังฟูโบราณ ภาพจอมโจรคุณธรรมผู้ปล้นคนเลวมาอภิบาลคนดี ภาพการต่อสู้ด้วยคาถาอาคมของบรรดาจอมขมังเวทย์ ภาพคำสัญญาสาบานกันหน้าศาลเจ้าแม่ท้องถิ่น ภาพคนรุ่นใหม่ร้องเพลงพื้นบ้านลำตัดกันอย่างสนุกสนาน ไปจนถึงภาพที่เธอและเขาวิ่งไล่จับกบกันกลางทุ่งนาจนเปื้อนเปรอะเลอะกลิ่นโคลนสาปควาย ล้วนแล้วแต่แสดงถึงอาการถวิลหาความงดงามแห่งอดีต สวรรค์บ้านนา และสองฝั่งสายน้ำที่เจือจางลางเลือนกันไปนานแสนนาน         และเมื่อมาถึงฉากจบของเรื่อง แม้ชีวิตผู้คนและสังคมจะเหมือนกับสายน้ำที่ไหลไปและยากจะหวนกลับคืน แต่อย่างน้อยคำมั่นสัญญาที่ตัวละครรุ่นใหม่ต่างยืนยันว่า “กระแสน้ำเชี่ยว ถ้าคนเราไม่ช่วยกันพาย เราก็จะไม่รอด” ก็คงเป็นประหนึ่งสักขีพยานต่อลำน้ำเจ้าพระยา และตั้งคำถามไปพร้อมกันว่า คนกลุ่มนี้จะพายเรือทวนกระแสน้ำเชี่ยวกรากไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมของไทยในอนาคตกันอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >