ฉบับที่ 186 ทะเลไฟ : เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น

    นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ เรอเน่ เดการ์ตส์ เคยประกาศคำขวัญคำคมเอาไว้ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 อันเป็นการวางศิลาฤกษ์ให้กับห้วงสมัยแห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ว่า “I think, therefore I am” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงเป็น”     สังคมตะวันตกที่ก่อรูปก่อร่างมากับกรอบวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เชื่อในหลักการที่ว่า การเข้าถึง “ความจริง” ในชีวิตของมนุษย์ จะเกิดจากการนั่ง “มโน” หรือดำริคิดเอาเองไม่ได้ หากแต่ต้องคิดอย่างแยบคายและมีเหตุผลบนหลักฐานที่จับต้องรองรับได้แบบเป็นรูปธรรมเท่านั้น    ดังนั้น ข้อสรุปของเดการ์ตส์จึงถูกต้องที่ว่า “เพราะฉันคิด” แบบมีหลักการเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และมีหลักฐานอ้างอิงพิสูจน์ได้ “ฉันจึงเป็น” หรือกลายมาเป็น “มนุษย์” ที่มีตัวตนอยู่ตราบถึงทุกวันนี้    แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้นั่งชมละครโทรทัศน์เรื่อง “ทะเลไฟ” อยู่นั้น คำถามแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวสมองก็คือ ตรรกะหรือคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะใช้ได้หรือไม่กับสังคมไทยที่ไม่ได้ผ่านการปฏิวัติวิทยาศาสตร์มาอย่างเข้มข้นแบบเดียวกับโลกตะวันตก    หาก “ทะเลไฟ” คือภาพวาดที่สะท้อนมาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว ดูเหมือนว่า ความคิดเชื่อมโยงแบบมีเหตุมีผล และความคิดที่ใช้ตรรกะจากประจักษ์พยานหลักฐานมาพิสูจน์ อาจไม่ใช่สิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบคิดของตัวละครหลักที่ชื่อ “พศิกา” และ “เตชิน” เท่าใดนัก    ด้วยเพราะผิดหวังในความรักเป็นจุดเริ่มเรื่อง บุตรสาวของปลัดกระทรวงใหญ่อย่างพศิกาจึงตัดสินใจหนีไปทำงานเป็นเลขานุการที่รีสอร์ตบนเกาะไข่มุกของ “อนุพงศ์” ผู้เป็นบิดาของพระเอกเตชิน ก่อนที่อนุพงศ์จะส่งเธอไปเรียนต่อยังต่างประเทศ     อันที่จริงแล้ว เมื่อเริ่มต้นเรื่อง พศิกากับเตชินได้เคยพบเจอกันมาก่อนในต่างแดน และต่างก็แอบชอบพอกัน เพราะประทับใจในตัวตนจริงๆ ที่ได้รู้จักกันในครั้งนั้น แต่ทว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อทั้งคู่มีเหตุให้ต้องกลับมาเมืองไทยโดยไม่ได้ร่ำลา และได้โคจรมาพบกันอีกที่เกาะไข่มุก    กับการพบกันใหม่อีกครั้ง เตชินเกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้หญิงที่เขาแอบรักอย่างพศิกามีสถานะเป็นภรรยาน้อยของบิดาตนเอง กอปรกับการถูกเป่าหูโดยคุณแม่แห่งปีอย่าง “นลินี” ที่หวาดระแวงตลอดเวลาว่า สามีของเธอจะแอบซุกกิ๊กนอกใจเป็นหญิงสาวรุ่นลูกอย่างพศิกา    เพราะหูสองข้างที่ต้อง “หมุนวนไปตามลมปาก” ของมารดา ทำให้เตชินโกรธเคืองพศิกาโดยไม่ต้องสืบสาวหรือค้นหาเหตุผลความเป็นจริงใดๆ มาอธิบาย และกลายเป็นชนวนแห่งความชิงชังในแบบละครแนว “ตบๆ จูบๆ” ที่พระเอกต้องทารุณกรรมนางเอก (แม้จะหลงรักหล่อนอยู่ในห้วงลึก) ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม จนสาแก่ใจ    ในขณะเดียวกัน “อันอารมณ์หากเหนือเหตุผล ความแค้นก็แน่นกมล กลายเป็นคนคิดสั้นไปได้” นลินีจึงยังคงติดตามราวี และจ้างวานบุคคลรอบข้างหรือใครต่อใครให้ระราน และลงมือทำทุกอย่างเพื่อเขี่ยพศิกาออกไปจากเกาะไข่มุก และออกไปจากชีวิตของเตชิน ที่ต่อมาภายหลังก็เริ่มมีสติที่จะเรียนรู้ว่า พศิกาอาจไม่ใช่ผู้หญิงร้ายกาจแบบที่มารดาคอยเสี้ยมหูยุแยงเขาอยู่ตลอด    และที่สำคัญ เมื่ออคติเข้ามาบดบังนัยน์ตา คุณแม่ดีเด่นอย่างนลินีจึงมองข้ามข้อเท็จไปว่า บรรดาตัวละคร “บ่างช่างยุ” ที่อยู่รายรอบชีวิตของเธอ ไม่ว่าจะเป็นคนสนิทที่เป็นผู้จัดการแผนกต้อนรับอย่าง “สุดารัตน์” หรือเครือญาติที่สุดารัตน์เอามาช่วยงานอย่าง “สง่า” รวมไปถึงพนักงานในรีสอร์ตคนอื่นๆ อย่าง “ทรงศักดิ์” “นวลพรรณ” “เอกรัตน์” และอีกหลายคน แท้จริงแล้วคนเหล่านี้ต่างหากที่ไม่เคยหวังดี และเบื้องหลังก็แอบคอร์รัปชั่น พร้อมกับทำลายกิจการเกาะไข่มุก เพราะเคียดแค้นอนุพงศ์มาตั้งแต่ครั้งอดีต    ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและฝังลึกอยู่ในโครงสร้างใหญ่ของสังคม ดูจะไม่ใช่ปัญหาที่เคยเข้ามาอยู่ในสายตาหรือห้วงสำนึกของตัวละครคนชั้นกลางกลุ่มนี้เสียเลย ตรงกันข้าม ปัญหาจุกจิกแบบเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือชิงรักหักสวาทต่างหาก ที่คนเหล่านี้สนใจและมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งในชีวิตเสียนี่กระไร    กว่าที่เตชินและนลินีจะค่อยๆ หวนกลับมาเจริญสติ และคิดใคร่ครวญด้วยปัญญา เหตุผล และการใช้หลักฐานต่างๆ พิสูจน์สัจจะความจริง และกว่าที่ทั้งคู่จะพบกับคำตอบจริงๆ ว่า เรื่องราวของพศิกากับอนุพงศ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการ “มโน” และ “ฟังความไม่ได้ศัพท์ แต่ดันจับไปกระเดียด” ขึ้นเท่านั้น เกาะไข่มุกที่อยู่กลางสมุทรก็แทบจะลุกฮือกลายเป็น “ทะเลไฟ” ไปจนเกือบจะจบเรื่อง    หากภาพในละครจำลองมาจากภาพใหญ่ที่ฉายมาจากฉากสังคมจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องเหล่านี้ ก็เผยให้เห็นว่า สำหรับสังคมไทยที่ “เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น” นั้น “เหตุและผล” ไม่ได้เป็นระบบคิดที่หยั่งลึกในสำนึกของคนไทย เพราะวิธีการได้มาซึ่งความรู้หรือความจริงของสังคมเรานั้น มักจะเป็นแบบ “คิดไปเอง” “เชื่อไปเอง” “มโนไปเอง” หรือแม้แต่ “ฟังเขาเล่าว่าต่อๆ กันมา”     และผลสืบเนื่อง “เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น” เช่นนี้เอง การแก้ไขปัญหาในสังคมไทยจึงมักเป็นการสาละวนอยู่กับปัญหาแบบปลอมๆ ปัญหากระจุกกระจิก และไม่ใช่แก่นสาระหลักในชีวิตแต่อย่างใด     ในทางตรงกันข้าม การตั้งคำถามเชิงพินิจพิเคราะห์ไปที่ปัญหาแท้จริง ซึ่งฝังรากลึกๆ อยู่ในโครงสร้างของสังคมอย่างปัญหาคอร์รัปชั่น หรือปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ เหล่านี้มักกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม และทิ้งให้ปัญหานั้นยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังสืบต่อมา    ก็อย่างที่บทเพลงเพื่อชีวิตเขาเคยกล่าววิจารณ์สังคมไทยในท่ามกลางความสับสนว่า “คืนนั้นคืนไหนใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ ท่ามกลางแสงสีศิวิไลซ์ อาจหลงทางไปไม่ยากเย็น...”    ตราบเท่าที่ตัวละครอย่างเตชินและนลินียังคง “แพ้ตัวและแพ้ใจ” หรือ “ฝันไกลไปลิบโลก” และตราบเท่าที่สังคมไทยไม่ลองหันมาขบคิดถึง “ความจริง” รอบตัวกันด้วย “เหตุและผล” และเบิ่งตาดู “ความเป็นจริงที่แท้จริง” แล้ว สังคมเราก็คงต้องว่ายเวียน “อับโชค” และตกลงกลาง “ทะเลไฟ” อยู่นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 184 เจ้าบ้านเจ้าเรือน : เมื่อหนุ่มรูปหล่อกลายมาเป็น “โสนน้อยเรือนงาม”

สังคมไทยเรามีระบบคิดเรื่อง การเคารพนับถือผู้อาวุโสและบรรพบุรุษในสายเครือญาติ ระบบคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่ฝังรากอยู่ลึก หากแต่ยังแปรรูปแปลงร่างกลายมาเป็นความเชื่อในชีวิตประจำวันเรื่องการเคารพบูชาผีบรรพบุรุษ โดยผีที่ดำรงอยู่ในสถาบันครัวเรือนและมีบทบาทใกล้ชิดกับเรามากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “เจ้าบ้านเจ้าเรือน”     “เจ้าบ้านเจ้าเรือน” หรือเราอาจเรียกต่างกันไปว่า “ผีเหย้าผีเรือน” หรือ “ผีพ่อเฒ่าเจ้าเรือน” นั้น เป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบซึ่งกันและกัน ที่ด้านหนึ่งสมาชิกสังคมรุ่นหลังต้องแสดงกตเวทิตาต่อบรรพชนของตนเอง โดยมีวัตรปฏิบัติที่ลูกหลานต้องกระทำกันสืบเนื่องอย่างการเซ่นไหว้และบวงสรวงเคารพบูชา เพื่อที่อีกด้านหนึ่งผีบ้านผีเรือนท่านก็จะได้คุ้มครองและนำพาความสุขความเจริญมาให้กับสมาชิกครัวเรือนนั้นๆ    อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ว่าผีบ้านผีเรือนจะเป็นความเชื่อที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยจวบจนปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าการรับรู้ความเชื่อดังกล่าวจะสถิตเสถียรโดยไร้ซึ่งความเปลี่ยนแปลง และหากเราอยากรู้ว่าผีบ้านผีเรือนยุคใหม่ได้ปรับเปลี่ยนลุคโฉมโนมพรรณกันไปอย่างไร ก็คงต้องสัมผัสผ่านภาพตัวละคร “ไรวินท์” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เจ้าบ้านเจ้าเรือน”    จับความตามท้องเรื่องของละคร เริ่มต้นจากนางเอก “แพรขาว” ที่สามี “พัสกร” ไปคว้าผู้หญิงอื่นมาเป็นอนุภรรยา เธอจึงตัดสินใจหอบ “ชมพู” ผู้เป็นลูกสาวมาเช่าบ้านริมน้ำเพื่ออยู่กันเพียงลำพังสองแม่ลูก และเป็นที่บ้านริมน้ำแห่งนี้เองที่วิญญาณเจ้าบ้านเจ้าเรือนของไรวินท์ ได้ออกมาปกป้องแพรขาวทั้งจากสามีและภยันตรายต่างๆ และก็เป็นที่นี่อีกเช่นกัน ที่แพรขาวได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตชาติว่า ทำไมไรวินท์จึงกลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนติดอยู่ในเรือนริมน้ำหลังนั้น    ในอดีต ไรวินท์เป็นชายหนุ่มรูปงาม แต่มีบิดาที่เจ้าชู้และทิ้งมารดาของเขาไปอยู่กินกับภรรยาใหม่ แม้จะมีบทเรียนจากชีวิตคู่ของบิดามารดามาก่อน แต่ก็เข้าตำราที่ว่า “เกลียดสิ่งใดก็กลับเลือกเป็นสิ่งนั้น” เมื่อไรวินท์ตกลงตามใจมารดาโดยยอมแต่งงานกับ “สีนวล” เขากลับเลือกเจริญรอยตามประวัติศาสตร์ความผิดพลาดของบิดา อันเป็นปมปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลัง    เพราะถูกจับคลุมถุงชน กับเพราะผู้หญิงอย่างสีนวลก็ไม่ใช่คนที่เขารัก ดังนั้นภายหลังแต่งงานกัน ไรวินท์จึงยังคงเลือกคบและมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอีกมากหน้าหลายตา ตั้งแต่สาวน้อยแรกรุ่นอย่าง “บัวน้อย” น้องสาวของเพื่อนรักอย่าง “รำไพ” หญิงสาวมีหน้ามีตาทางสังคมอย่าง “สุดสวาท” และผู้หญิงที่เขาหลงใหลหัวปักหัวปำยิ่งอย่าง “มาลาตี”     ชะตากรรมของสีนวลที่แม้จะเป็นเมียแต่งอยู่ในเรือนหลังงาม จึงไม่ต่างจากการตกอยู่ในบ่วงพันธนาการที่มีเสียงเพลง “จำเลยรัก” ก้องอยู่ในห้วงจิตใจตลอดเวลาว่า “เจ็บแค้นเคืองโกรธโทษฉันไย ฉันทำอะไรให้เธอเคืองขุ่น กักขังฉันเป็นจำเลยของคุณ นี่หรือพ่อนักบุญ แท้จริงคุณคือคนบาป...”     จนเมื่อลูกสาวของทั้งคู่จมน้ำเสียชีวิต ไรวินท์จึงสบโอกาสขอแยกทางกับสีนวล โดยยกเรือนหลังใหญ่และสมบัติทั้งหมดให้เธอครอบครอง จวบจนวาระสุดท้ายของสีนวลผู้ที่ภักดีแต่มีจิตใจแหลกสลาย เธอก็ได้แต่เอามีดกรีดข้างเสาเรือนเพื่อรอคอยเขาแบบนับวันนับคืน จนตรอมใจตายในที่สุด    ดังนั้น เมื่อไรวินท์ที่ชีวิตบั้นปลายถูกผู้หญิงที่เขาหลงใหลอย่างมาลาตีหลอกลวงจนสิ้นเนื้อประดาตัว ได้กลับมาที่เรือนงามหลังใหญ่อีกครั้ง เขาจึงเสียชีวิตลงโดยถูกพันธนาการไว้ด้วยแรงแค้นของวิญญาณสีนวล และกลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่แพรขาวมาพำนักอาศัยอยู่นั่นเอง    ด้วยโครงเรื่องที่ดูซับซ้อนซ่อนปม แต่อีกด้านหนึ่ง ละครก็ได้ผูกเรื่องให้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในระบบความเชื่อเรื่องผีของคนไทยไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งนี้ ตามจินตกรรมของคนไทย ผีบรรพบุรุษมักถูกรับรู้ว่ามีรูปลักษณ์เป็นชายแก่สูงวัย ปรากฏตัวในชุดไทยโบราณ นุ่งโจงกระเบนบ้างหรือก็อาจเป็นผ้าม่วง และสถิตอยู่ในศาลพระภูมิที่ผ่านกาลเวลายาวนานของบ้านแต่ละหลัง    แต่เพราะไรวินท์เป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่สืบต่อมาถึงยุคปี 2016 เยี่ยงนี้ เขาจึงเป็นผีเจ้าเรือนที่มีภาพลักษณ์เป็นชายหนุ่มรูปงาม ปรากฏร่างในชุดสูทสีขาวตลอดเวลา สถิตพำนักในศาลพระภูมิที่ดูโอ่อ่าหรูหรา ไปจนถึงมีกิจกรรมยามว่างที่คอยเล่นเปียโนขับกล่อมแพรขาวและคนในบ้านให้รู้สึกรื่นรมย์    แม้จะมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้นเช่นนี้ แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ละครได้ทดลองสลับบทบาทและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชายให้กับตัวละครหลักของเรื่องไปด้วยในเวลาเดียวกัน    หากย้อนกลับไปดูเรื่องเล่าในนิทานพื้นบ้านอย่าง “โสนน้อยเรือนงาม” ที่ถูกนางกุลากักขังให้เป็นข้าทาสทอผ้าย้อมผ้าอยู่ในเรือนหลังงาม จนมาถึงนางเอก “โสรยา” ในละคร “จำเลยรัก” หรือ “ภัทรลดา” ในละคร “ทางผ่านกามเทพ” นั้น ตัวละครผู้หญิงมักถูกนำเสนอให้กลายเป็นผู้ถูกขูดรีดและถูกกระทำทั้งกายวาจาใจ และคอย “เชิญคุณ(ผู้ชาย)ลงทัณฑ์บัญชา จนสมอุราจนสาแก่ใจ...”    แต่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไรวินท์กับสีนวลแล้ว เมื่อทั้งคู่ได้สิ้นใจวายปราณลง อำนาจที่ผกผันทำให้ผีสีนวลได้พันธนาการวิญญาณของไรวินท์หนุ่มรูปงามได้กลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน และทำให้เขาซาบซึ้งความรู้สึกของการถูกกักขังในเรือนริมน้ำ แบบที่ครั้งหนึ่งสีนวลเคยสัมผัสมาแล้วเมื่อยังมีชีวิตอยู่    ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่ละครมอบหมายบทบาทให้แพรขาวต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือเป็นผู้หารายได้ต่างๆ เข้ามาในครัวเรือน ผีเจ้าเรือนอย่างไรวินท์ก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่เลี้ยงเด็กและเป็นเพื่อนเล่นของลูกสาวแพรขาว อันเป็นพันธกิจที่เขาไม่เคยทำมาก่อน โดยมีวิญญาณของสีนวลคอยใช้อำนาจจับตามองและประเมินผลดูว่า พฤตินิสัยและการปฏิบัติตัวของอดีตสามีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร    จนเมื่อผู้ชายอย่างไรวินท์เริ่มเข้าอกเข้าใจและค่อยๆ เปลี่ยนทัศนะจาก “คนบาป” มาเป็น “พ่อนักบุญ” แบบที่เขาได้กล่าวกับแพรขาวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ยอมสละตนอย่างถึงที่สุดเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน” เมื่อนั้นวิญญาณของไรวินท์ก็ได้หลุดพ้นบ่วงกรรมและการถูกกักกันเอาไว้ในเรือนงาม    บนความสัมพันธ์ของหญิงชายในชีวิตจริงนั้น คงไม่ต้องรอกักขังบุรุษเพศให้เป็นผีเจ้าบ้านเจ้าเรือนแต่อย่างใด หากเพียงผู้ชายได้ตระหนักว่าผู้หญิงไม่ใช่ “โสนน้อยเรือนงาม” หรือ “จำเลยรัก” ที่อยู่ใต้อาณัติบงการแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ที่เคียงคู่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ก็จะเกิดขึ้นได้ในเรือนหลังงามเช่นเดียวกัน                                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ : สามีดีๆ ไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง

ในระบอบทุนนิยมนั้น วัตถุที่เรียกว่า “เงิน” เป็นสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาให้กลายเป็นข้อตกลงร่วมกันในการแลกเปลี่ยนมูลค่าของสิ่งของต่างๆ     ประโยคในบทเพลงที่บอกว่า “มีเงินเดินซื้อสินค้าได้...” หรือ “คนเราเคารพคบกันที่เงิน...” เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า แม้มนุษย์จะสร้างเงินขึ้นมา แต่ท้ายที่สุด มนุษย์เราก็กลับก้มหัวยอมสยบให้กับอำนาจของ “พระเจ้าเงินตรา” ได้ด้วยเช่นกัน    ไม่เพียงแต่เงินจะใช้เพื่อจับจ่ายซื้อวัตถุหรือสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้เท่านั้น ทุกวันนี้เงินยังมีอำนาจซื้อได้แม้แต่กับจิตใจ จิตวิญญาณ ไปจนกระทั่งชีวิตของมนุษย์ด้วยกัน ดุจเดียวกับที่ “อนุศนิยา” ลูกสาวทายาทมหาเศรษฐีรายใหญ่ ได้ใช้เงิน 60 ล้านบาทซื้อ “คุณหมอศตวรรษ” มาเป็น “สามีเงินผ่อน” ครอบครองเป็นคู่ชีวิตของเธอ    เพราะเกิดมาบนกองเงินกองทอง หรือถือกำเนิดในครอบครัวของมหาเศรษฐีรายใหญ่ อนุศนิยาจึงเป็นผู้หญิงที่เหมือนจะเลิศเลอเพอร์เฟ็คในทุกทาง รูปสวย รวยทรัพย์ การศึกษาดี ฐานะทางสังคมไม่ด้อยกว่าใคร แต่ทว่าลึกๆ แล้ว แม้ว่าฉากหน้าจะมีความสุขจากการเสพวัตถุต่างๆ แต่ฉากหลังของอนุศนิยากลับถูกทดสอบด้วยคำถามว่า วัตถุและเงินทองเป็นเพียง “ของมายา” หรือเป็นความสุขที่แท้จริงในชีวิตของเธอกันแน่?    กับบททดสอบแรก อนุศนิยาต้องเรียนรู้ว่า แม้จะ “คาบช้อนเงินช้อนทอง” ติดตัวมาเกิดเป็นทายาทมหาเศรษฐี แต่เรื่องบางเรื่องก็ไม่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงินทอง เหมือนกับที่ “นันทพล” บิดาของเธอซึ่งป่วยเป็นโรคไต ก็เป็นโรคสมัยใหม่ที่มักจะเกิดในบรรดาหมู่ผู้มีอันจะกินทั้งหลาย และก็มักต้องมีรายจ่ายให้กับค่าซ่อมบำรุงร่างกายแบบแพงแสนแพงเช่นกัน     แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใด เพราะเงินทองไม่เข้าใครออกใคร อนุศนิยาจึงยังต้องวุ่นวายกับปัญหาการช่วงชิงทรัพย์สินในกองมรดกจากบรรดาคุณอาผู้หญิงทั้งสี่ ที่ทุกคนต่างคอยตอดเงินกงสีของตระกูลอยู่เป็นประจำ จนไปถึงปัญหาระหว่างเธอกับอาแท้ๆ อย่าง “ชยากร” ที่คิดกับเธอมากไปกว่าความสัมพันธ์แบบอากับหลาน    ส่วนบททดสอบที่สองนั้นก็คือ “โสมมิกา” คาสโนวี่สาวประจำแวดวงไฮโซ ที่แม้ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอนุศนิยามาตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่เพราะทั้งคู่ต่างก็มั่งคั่งร่ำรวยและโดดเด่นในวงสังคมไม่แพ้กัน ต่างคนจึงหมั่นไส้และอิจฉาตาร้อนจนไม่เคยมีมิตรภาพที่แท้จริงให้แก่กันแต่อย่างใด     แต่ทว่า บททดสอบเรื่องสายสัมพันธ์ที่เปราะบางในครอบครัว หรือความขัดแย้งแบบ “เพื่อนที่ไม่รัก แถมหักเหลี่ยมโหด” ก็ยังไม่เทียบเคียงกับบททดสอบสุดท้าย ที่ไม่เพียงสำคัญยิ่ง แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนหลักในชีวิตของอนุศนิยา    บทเรียนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ “เสาวรส” มารดาของหมอศตวรรษ ได้เล่นการพนันเกินตัว จนติดหนี้ครอบครัวของอนุศนิยาถึง 60 ล้านบาท และได้ยื่นข้อเสนอให้บุตรชายของเธอมาแต่งงานเป็นสามีในนามกับอนุศนิยา เพียงเพื่อขัดดอกผ่อนชำระหนี้ก้อนโตดังกล่าว    ในแง่หนึ่งหมอศตวรรษเองก็อาจ “ไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะเสกปราสาทงามให้เธอ” และ “ไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ร่ำรวยจ่ายเงินเร็วร้อนแรง” เพราะเขาก็เป็น “เพียงผู้ชายคนนี้ที่มีใจมั่นรักเธอ” ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นที่อนุศนิยาเห็นว่าหนี้สิน 60 ล้านบาทเป็นตัวกั้นกลางความสัมพันธ์แบบสามีภรรยา เธอจึงตั้งแง่ดูถูกและรังเกียจเขาที่ยินยอมเสียศักดิ์ศรีมาแต่งงานเป็นสามีขัดดอกแลกเปลี่ยนกับหนี้ที่มารดาของเขาได้ก่อเอาไว้    จนเมื่อภายหลัง เพราะคุณงามความดีของหมอศตวรรษ ผู้เป็นลูกที่ดีของมารดา เป็นชายหนุ่มที่รักษาสัญญาและมุ่งมั่นทำงานเพื่อปลดหนี้ให้แม่ เป็น “สามีแห่งชาติ” ในสายตาของผู้หญิงทั้งหลายทั้งในจอและนอกจอ และอาจเป็นชายที่ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” แต่ความดีที่เขาแสดงให้ประจักษ์จริง ก็สามารถพิชิตหัวใจของอนุศนิยาได้ในที่สุด    แต่แน่นอน บททดสอบเรื่องอำนาจของเงินกับคุณงามความดีของมนุษย์ย่อมต้องมีคลื่นมากระทบแบบระลอกแล้วระลอกเล่า เมื่อในอีกฟากความคิดของอนุศนิยาก็ยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า “แข็งดังเหล็กเงินก็มักจะง้างได้เสมอ” เธอจึงถูกทั้งชยากรและโสมมิการ่วมกันวางแผนปั่นหัวทำลายความรักและสร้างความร้าวฉาน จนทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เสมือนแก้วอันเปราะบางอยู่แล้วนั้น แทบจะล่มสลายภินท์พังลงไป    มีคำอธิบายที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า ในอดีตนั้น มนุษย์เราสร้างวัตถุสิ่งของขึ้นมา และมักใช้วัตถุนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนให้พันผูกกันในทางความรู้สึก เช่น เวลาผู้ใหญ่ให้วัตถุสิ่งของแก่เด็กหรือลูกหลาน หรือเวลาคนเราให้ของขวัญที่ระลึกแก่กันและกัน เป้าหมายของการใช้วัตถุสิ่งของแบบนี้ก็เพื่อผูกสัมพันธ์ให้ผู้คนได้รู้สึกใกล้ชิดแนบแน่นเข้าไว้ด้วยกัน    แต่ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ทุกวันนี้ระบอบทุนนิยมได้ทำให้วัตถุไม่ได้ทำหน้าที่ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นคนเราที่ทำหน้าที่เป็นเพียงทางผ่านให้วัตถุชนิดหนึ่ง (หรือเงิน) เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับวัตถุชนิดอื่นเป็นการทดแทน แบบที่ทั้งอนุศนิยาและโสมมิกาต่างก็คิดว่า การมีเงินในมือเป็นสิบๆ ล้านนั้น สามารถใช้ซื้อวัตถุหรือแม้แต่คนมาครอบครองได้นั่นเอง    บนสายสัมพันธ์ที่คนไม่ได้เชื่อมโยงคนผ่านวัตถุสิ่งของ แต่กลับเป็นสิ่งของที่ใช้คนเป็นทางผ่านเชื่อมโยงไปสู่วัตถุหรือเป้าหมายใดๆ เช่นนี้ ความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างมนุษย์จึงเกิดขึ้นได้ยาก หรือแม้จะมีอยู่บ้าง ก็พร้อมจะล่มสลายไปได้ไม่ยากนัก เพียงเพราะเงินได้กลายเป็นวัตถุที่มีอำนาจเข้ามาครอบงำความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เรา    ต้องผ่านบททดสอบหลายข้อกว่าถึงฉากจบที่อนุศนิยาจะเข้าใจว่า เฉพาะคนที่เชื่อมั่นว่า “เงินคือพระเจ้า” เท่านั้นจึงยอมก้มหัวสยบให้กับอำนาจของพระเจ้าเงินตรา     จนเมื่ออนุศนิยาตระหนักได้ว่า “ผู้ชายดีๆ เขาไม่ได้มีไว้ขาย อยากได้เธอต้องสร้างเอง” หรือเริ่มเรียนรู้ว่า เงิน 60 ล้านก็เป็นเพียงวัตถุที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนให้กับคนเรา ความรักของเธอที่มีต่อผู้ชายธรรมดาและ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” อย่างหมอศตวรรษ ก็สามารถทำให้เธอใช้ชีวิตอยู่ใน “ปราสาทงามเลิศเลอ” ได้ไม่แพ้กัน                                    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 183 กำไลมาศ : ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม

    เมื่อราวช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ในภาพยนตร์เลื่องชื่ออย่าง “เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์” ฮอลลีวูดเคยสร้างตัวละคร “สมีโกล” ที่ลุ่มหลงอำนาจของแหวน และพยายามจะตามหาเพื่อเป็นเจ้าของแหวนแห่งอำนาจ จนกระทั่งเกิดวลีอมตะที่สมีโกลมักพูดเสมอว่า “แหวนของข้า!!!”     สิบกว่าปีให้หลัง ในละครโทรทัศน์เรื่อง “กำไลมาศ” เราก็ได้เห็นภาพจำลองการทวงสิทธิและอำนาจคำรบใหม่ แต่ในครั้งนี้เป็นตัวละครผีนางรำอย่าง “ริ้วทอง” ที่รอคอยชายคนรัก และตามหากำไลทอง จนเป็นจุดเริ่มต้นของประโยคที่ผีตนนี้กล่าวว่า “กูขอสาบาน...ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ภพกี่ชาติ กูจะกลับมาเอากำไลและชีวิตของกูคืนจากมึง...”    การแย่งสิทธิและอำนาจเหนือกำไลครั้งนี้ ถูกเล่าผ่านเรื่องราวข้ามภพชาติที่ตัวละครซึ่งต่างมี “บ่วงกรรม” ร่วมกันจากชาติก่อน ต้องโคจรมาพบกันอีกครั้งในชาติภูมิปัจจุบัน    ในชาติก่อนนั้น ริ้วทองซึ่งเป็นนางรำลูกเจ้าของคณะหุ่นกระบอก เคยได้รับความช่วยเหลือจาก “ท่านชายดิเรก” เมื่อครั้งที่เธอถูกคนร้ายฉุดตัวไป และกลายเป็นจิตปฏิพัทธ์กันจนท่านชายได้ทำ “กำไลมาศ” มอบให้ริ้วทองเป็นตัวแทนความรักความผูกพันระหว่างคนทั้งสอง ด้วยคำกลอนที่ท่านชายเอ่ยให้ริ้วทองฟังว่า “กำไลมาศวงนี้พี่ให้น้อง แทนบ่วงคล้องใจรักสมัครหมาย...”    แต่เพราะครอบครัวของริ้วทองมีฐานะยากจน เธอและพ่อแม่จึงมีเหตุให้ต้องลี้ภัยโจรมาขอพึ่งใบบุญของ “เสด็จในกรมฯ” เจ้าของวังติณชาติ และยังเป็นบิดาของ “ท่านหญิงรัมภา” ซึ่งก็เป็นคู่หมั้นหมายกับท่านชายดิเรกนั่นเอง    และเมื่อทรัพยากรมีน้อย แต่ความปรารถนามีเกินกว่าปริมาณทรัพยากรนั้น หรือพูดในภาษานักเศรษฐศาสตร์ว่า เพราะอุปทานหรือซัพพลายมีผู้ชายเพียงคนเดียว แต่อุปสงค์หรือดีมานด์กลับมาจากความต้องการของทั้งริ้วทองและท่านหญิงรัมภา สงครามต่อสู้เพื่อช่วงชิงทรัพยากรบุรุษเพศคนเดียวกันจึงเกิดขึ้นกับสตรีทั้งสองคน    ในยกแรกนั้น เพราะริ้วทองต้องมาพึ่งชายคาอาศัยวังของท่านหญิงรัมภาอยู่ แม้จะถูกทารุณกรรมทั้งกาย วาจา และจิตใจ ริ้วทองจึงทนอยู่กับสภาวะจำยอมที่ทั้งถูกถากถาง เฆี่ยนตี และลงทัณฑ์ เพียงเพราะอำนาจที่เธอมีน้อยกว่าท่านหญิงผู้เป็นเจ้าของวังและมีศักดิ์ชั้นที่สูงกว่าในทุกๆ ทาง     แต่เพราะริ้วทองคือหญิงคนแรกที่พานพบสบรักกับท่านชายดิเรกมาก่อนท่านหญิงรัมภา ดังนั้น ลึกๆ แล้ว ริ้วทองจึงเชื่อว่า “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม ฉันมีสิทธิ์จะรักไม่ผิดใช่ไหม” ในขณะเดียวกับที่กลุ่มชนชั้นนำอย่างท่านหญิงรัมภาและคนรอบข้างอย่าง “ท่านหญิงภรณี” “ท่านชายอรรถรัตน์” และสาวใช้อย่าง “เจิม” ยังพยายามวางแผน “มาทำลายความรักเรา” จนเป็นเหตุให้พ่อแม่ของริ้วทองต้องถึงแก่ความตาย ริ้วทองจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เธอต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมจากตระกูลติณชาติให้ได้    ด้วยเหตุนี้ ภายหลังเมื่อท่านหญิงรัมภาได้ปรามาสริ้วทองว่า “เจ้าพี่ไม่ได้รักเธอ เขาก็แค่ลุ่มหลงที่เปลือกภายนอกของเธอเท่านั้น” ริ้วทองจึงไม่คำนึงถึงอำนาจศักดิ์ชั้นที่แตกต่างกันอีกต่อไป แล้วกล่าวโต้ตอบท่านหญิงสูงศักดิ์กลับไปว่า “แต่ถ้าเลือกได้ ท่านหญิงก็อยากจะให้ท่านชายลุ่มหลงที่เปลือกบ้าง ใช่หรือไม่ล่ะเพคะ”     การตอบโต้เพื่อทวงสิทธิพึงมีพึงได้ในครั้งนี้ ยังรวมไปถึงฉากที่ริ้วทองได้ตบหน้าเจิมซึ่งร่วมกับท่านหญิงรัมภากดขี่จิตใจผู้หญิงต่ำศักดิ์ชั้นอย่างเธอ และบอกกับสาวใช้ของท่านหญิงว่า “จำไว้...ถึงกูจะจน แต่กูก็เป็นคนเหมือนกัน” อันเป็นการสื่อความว่า มนุษย์ควรกระทำกับคนอื่นในฐานะของมนุษย์ไม่แตกต่างกัน    แม้จิตสำนึกที่เปลี่ยนไป จะทำให้ริ้วทองลุกขึ้นมาปฏิวัติตอบโต้ต่อกรเพื่อทวงสิทธิ์อันชอบธรรมในการครอบครองท่านชายดิเรก แต่ถึงที่สุดแล้ว ด้วยอำนาจที่น้อยกว่าท่านหญิง พร้อมๆ กับที่ผู้ชายคนเดียวกันนี้ก็ยังมีอุปสงค์จากตัวแทนของกลุ่มทุนใหม่อย่าง “ล้อมเพชร” เข้ามาร่วมแย่งชิงทรัพยากรครั้งนี้ด้วย ริ้วทองผู้ที่ไม่มีทุนใดๆ ติดตัวมาแต่กำเนิด จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำจากตัวละครอื่นๆ ที่มีฐานานุภาพสูงกว่าเธอทั้งสิ้น     ภาพฉากเปิดเรื่องที่ริ้วทองถูกท่านหญิงรัมภาทำร้ายฟันแขนจนขาด และถูกฆ่าตายกลายเป็นผีนางรำที่โดนกักขังไว้ในบึงบัวของวังติณชาติ จึงเป็นภาพที่ให้คำอธิบายและความชอบธรรมว่า ทำไมผีนางรำตนนี้จึงเต็มไปด้วยความเคียดแค้น และรอวันเพื่อกลับมาทวงความยุติธรรมและสิทธิเหนือ “กำไลมาศ” อีกครั้งหนึ่ง     เมื่อมาถึงชาติภพใหม่ ด้วยเหตุปัจจัยของ “บ่วงกรรม” ที่พันธนาการให้ตัวละครทั้งหมดในเรื่องได้กลับมาพบกันใหม่อีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ “อินทวงศ์” ได้ถูกลบเลือนไฟล์ความทรงจำที่เขาเป็นท่านชายดิเรกในชาติปางก่อน แถมยังกลับมาตกหลุมรักท่านหญิงรัมภาที่กลับมาเกิดใหม่เป็น “เกล้ามาศ” ในปัจจุบัน ริ้วทองที่ถูกขังไว้พร้อมกับความ “รักจนจะเป็นจนจะตาย” จึงรู้สึก “เหมือนโดนกรีดหัวใจเพราะเธอแย่งไปครอง” ความแค้นหรือความขัดแย้งที่ทับทวีในการช่วงชิงทรัพยากรแบบข้ามภพข้ามชาติจึงกลับมาปะทุอีกคำรบหนึ่ง    ทว่า โดยหลักของละครโทรทัศน์แล้ว แม้ช่วงต้นจะต้องเปิดฉากให้เห็นความขัดแย้งระหว่างตัวละครไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุด ละครก็ต้องหาทางคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าวนั้นลงไป    ด้วยเหตุฉะนี้ ละครจึงเลือกใช้วิธีรอมชอมด้วยการจัดสรรทรัพยากรกันเสียใหม่ให้ลงตัว โดยให้ริ้วทองยอมเชื่อในคำเทศนาของ “พระปราบ” และยอมรับการอโหสิกรรมที่เกล้ามาศและตัวละครต่างๆ มีให้แก่วิญญาณที่เคยถูกกักขังไว้อย่างเธอ     ภาพการอโหสิกรรมที่ตัวละครต่างมีให้กันและกันในฉากจบนั้น ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยกับคนดูว่า แม้ความขัดแย้งเรื่องการช่วงชิงทรัพยากรจะเกิดขึ้นมาได้ในสังคม แต่ความขัดแย้งนั้นก็คลี่คลายได้ในโลกจินตนาการ    แต่อย่างไรก็ดี ถ้าอโหสิกรรมเป็นคำตอบแบบที่ริ้วทองยอมลดละเลิกความแค้นที่สลักฝังอยู่ในวง “กำไลมาศ” ได้จริงๆ ในโลกของละครแล้ว คำถามที่ชวนให้น่าคิดต่อมาก็คือ ทำไมเราจึงยังคงเห็นภาพการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิและความยุติธรรมของบรรดาคนที่มีอำนาจน้อยอยู่อย่างต่อเนื่องในโลกความจริง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 182 ปดิวรัดา : ความหมายของภรรยาก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ

มนุษย์ไม่เคยกำหนดความหมายของสิ่งใดๆ ไว้เพียงชุดเดียว แต่เรามักให้นิยามความหมายของสิ่งต่างๆ ไว้มากมายกว่าหนึ่งชุดนิยามเสมอ เพียงแต่ว่าเรามักจะมีข้อตกลงร่วมกันว่า ความหมายชุดใดจะกลายเป็นนิยามหลักที่คนทั่วไปในสังคมยอมรับ และข้อตกลงของนิยามดังกล่าว ก็จะมีผลมากำหนดความคิดและการกระทำของคนในสังคมนั้นในที่สุด เช่นเดียวกับนิยามของคำว่า “ภรรยา” หรือ “ความเป็นเมีย” นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้กำหนด และกำหนดความหมายของคำนี้ว่าอย่างไร ในท่ามกลางความเป็นจริงของภรรยาที่มากมายหลายประเภทนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพเมีย(หลวง)อย่าง “นพนภา” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ที่ทั้งขี้หึงและระรานผู้หญิงคนอื่นของสามี จนถึงภาพของผู้หญิงขี้เมาอย่าง “ลำยอง” เมียที่ทอดทิ้งทั้งสามีและไม่สนใจดูแลลูกๆ เลย ในละครเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” แต่ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ เราก็ยังได้เห็นภาพที่ผิดแผกแตกต่าง แต่ถือเป็นอุดมคติของหญิงสาวแบบ “ริน ระพี” ภรรยาที่ดีแสนดีของ “ปลัดศรัณย์” แห่งละครเรื่อง “ปดิวรัดา” ละครเรื่องนี้เริ่มต้นจากเสียงพูดของนางเอกริน ระพี ที่ให้นิยามว่า “ปดิวรัดา หมายถึงภรรยาผู้ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี” โดยเปิดฉากย้อนยุคพีเรียดไปเมื่อปี พ.ศ. 2502 หรือสองปีก่อนที่สังคมไทยจะรู้จักกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2504 ที่ผู้ใหญ่ลีได้ตีกลองประชุมจนลือลั่น ในห้วงก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯนั้น ริน ระพี ซึ่งมีฐานะเป็นลูกเลี้ยงของ “ท่านเจ้าคุณบำรุงประชากิจ” และ “เพ็ญแข” ตัดสินใจทดแทนบุญคุณของพ่อแม่บุญธรรม ด้วยการแต่งงานกับศรัณย์ชายหนุ่มที่เธอไม่เคยพบหน้าค่าตามาก่อน แถมเขายังเคยบอบช้ำกับความรักครั้งเก่ากับ “ดวงสวาท” ผู้หญิงที่ปฏิเสธเขา เพื่อไปแต่งงานกับ “คุณชายนริศ” เพียงเพราะชื่อเสียงเกียรติยศและความมุ่งหวังในทรัพย์สินเงินทองมากกว่า   แม้ลึกๆ รินจะหวั่นใจกับสภาพที่ต้องแต่งงานคลุมถุงชนกับศรัณย์ แต่เธอก็กล่าวกับบิดามารดาบุญธรรมว่า “ชีวิตที่นำด้วยอารมณ์ อารมณ์จะพาไปขึ้นสวรรค์ พาไปลงนรก เป็นได้ทั้งสองทาง แต่ชีวิตที่นำด้วยหน้าที่ หน้าที่ความรับผิดชอบจะพาไปทิศทางเดียว คือพาไปสู่สิ่งที่ดีงาม...หน้าที่ของเด็กที่แม่เอามาทิ้งอย่างรินมีเพียงอย่างเดียวคือ ตอบแทนพระคุณท่านทั้งสอง” ด้วยยึดมั่นที่จะทำ “หน้าที่” และมี “ความรับผิดชอบ” ในฐานะภรรยาที่ดี รินจึงเก็บกระเป๋าไปเป็นคุณนายปลัดในจังหวัดทางภาคใต้ และยอมที่จะเผชิญบททดสอบมากมายที่เธอไม่เคยพานพบมาก่อนในชีวิต สำหรับบททดสอบแรกสุดนั้น ก็คือสามีอย่างศรัณย์ที่คอยกลั่นแกล้งริน เพราะรู้ความจริงว่าเธอแอบสวมรอยมาเป็นบุตรีแท้ๆ ของท่านเจ้าคุณบำรุงประชากิจ เพื่อคลุมถุงชนแต่งงานกับเขา ศรัณย์จึงหมางเมิน และกระทำต่อเธอประหนึ่งเป็นอากาศธาตุที่ไม่มีตัวตนอยู่ในบ้านแต่อย่างใด แต่เพราะยึดหลักที่ว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” ประหนึ่งนางสีดาที่เดินลุยไฟพิสูจน์คุณงามความดีของตน รินจึงยืนหยัดที่จะลุยไฟพิสูจน์คุณงามความดีแห่งความเป็นศรีภรรยาไม่แตกต่างกัน เพราะ “หน้าที่” เป็นหัวใจหลักของความเป็นภรรยา รินจึงทำหน้าที่ดูแลบ้านเรือนให้เรียบร้อยไร้ที่ติ สำรับอาหารคาวหวานและฝีมือทำน้ำพริกลงเรือก็ปรุงได้รสเลิศถูกปาก และเสื้อผ้าของสามีก็ถูกซักรีดอบร่ำน้ำปรุงจนหอมกรุ่นชื่นใจ ความเป็นเบญจกัลยาณีและเสน่ห์ปลายจวักของเธอค่อยๆ มัดใจศรัณย์จนเริ่มคลายความเย็นชา กลับกลายมาเป็นความรู้สึกพึงใจกับผู้หญิงที่เขาเคยตั้งแง่เอาไว้ตั้งแต่แรก นอกจากบททดสอบจากปลัดหนุ่มผู้เป็นสามีแล้ว รินยังต้องปรับตัวให้เข้ากับดินแดนชนบท ที่ในยุคก่อนแผนพัฒนาฯนั้นช่างเต็มไปด้วยภยันตราย เพราะมีกลุ่มโจร “เสือขาว” ออกอาละวาดปล้นสะดมทรัพย์สินชาวบ้าน แต่ที่เหนือไปกว่ากลุ่มโจรนั้น รินก็ยังต้องถูกทดสอบความอดทนจากดวงสวาท หญิงคนรักเก่าที่ย้อนกลับมาขอคืนดีกับปลัดศรัณย์อีกครั้งหนึ่งด้วย แต่กระนั้น ด้วยธีมหลักของละครที่ยืนยันอยู่ตลอดว่า “ภรรยาที่ดีย่อมตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” การทำหน้าที่เป็น “ภรรยาที่ซื่อสัตย์และภักดี” และยืนเคียงข้างสามีอย่างไม่กลัวอันตรายใดๆ ก็ได้รับการพิสูจน์และกลายเป็น “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ที่เป็นสุขของรินในตอนจบเรื่อง และในขณะเดียวกัน เป็นเพราะนิยามของ “ภรรยา” อาจไม่ได้มีแค่คำนิยามว่าเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามีเท่านั้น ละครจึงได้สร้างภาพภรรยาในแบบอื่นๆ อีกสามคนขึ้นมาเทียบเคียงกับตัวละครอย่างริน ดวงสวาทเป็นภาพเมียแบบแรก ที่แม้จะแต่งงานออกเรือนไปกับคุณชายนริศ แต่เพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี บทลงโทษของเธอก็คือชีวิตที่ตกต่ำลง และการตัดสินใจฆ่าตัวตายของสามีที่ยอมรับสภาพความล้มเหลวในชีวิตคู่ของเขาไม่ได้ ส่วนภรรยาแบบที่สองก็คือ “บราลี” ที่ไม่ใช่ความภักดี แต่เป็นความลุ่มหลงสามีอย่าง “พณิช” ที่แม้จะคอร์รัปชั่นโกงกิน เธอเองกลับมิได้ห้ามปรามขัดขวางเขา จนถูกสามีทอดทิ้งไปในตอนท้ายที่สุดของเรื่อง หรือภรรยาแบบที่สามก็คือ “นิ่ม” ที่เลือกเป็นเมียโจรอย่าง “เสือบาง” ก็ภักดีต่อผัวจนยอมทรยศพ่อแม่และทุกๆ คน และท้ายสุดก็ต้องตายตกไปตามกันกับผัวโจรของตน บทลงโทษเชิงสัญลักษณ์ที่มีต่อดวงสวาท บราลี และนิ่ม ก็ไม่ต่างจากการขับเน้นให้เห็นว่า ในท่ามกลางภาพของเมียหลายๆ แบบในสังคมไทยยุคก่อนก้าวสู่ความทันสมัย แต่ความหมายของเมียที่เปรียบเป็น “เพชรงามน้ำหนึ่ง” ซึ่งสังคมยอมรับ ก็ยังต้องเป็นเฉพาะภรรยาที่ซื่อสัตย์ ภักดี และส่งเสริมให้ชีวิตสามีดำเนินไปในทางที่ดีงามเท่านั้น จากโลกสัญลักษณ์ของละคร เมื่อย้อนกลับมามองดูรอบตัวในปัจจุบัน ภายใต้กระแสที่ผู้หญิงไทยจำนวนมากได้ออกไปก้าวหน้าโลดแล่นในโลกกว้างเกินกว่าแค่ในปริมณฑลของบ้านและชีวิตครอบครัว แต่ความหมายของ “ปดิวรัดา” แบบริน ระพี ก็ยังถูกผูกเอาไว้กับ “หน้าที่” ของอิตถีเพศที่ต้อง “ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี” ซึ่งเผลอๆ อาจจะไม่ใช่นิยามชุดแรกๆ ที่ภรรยายุคนี้จะบอกกับตนเองเท่าใดนัก คำถามที่น่าสงสัยยิ่งก็คือ แล้วเหตุไฉนโลกสัญลักษณ์จึงยังเลือกเก็บภาพอุดมคติของภรรยาก่อนแผนฯ มาเป็นกระจกสะท้อนให้ผู้หญิงหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯได้เสพและชื่นชมกันเยี่ยงนี้หนอ?

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 อตีตา : ประวัติศาสตร์ชาตินิยมในประชาคมอาเซียน

“ประวัติศาสตร์” คืออะไร สำคัญอย่างไร และทำไมตั้งแต่เรายังเด็ก จึงถูกโรงเรียนบังคับให้ศึกษาเล่าเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันด้วย     นิยามของประวัติศาสตร์นั้น ดูจะตั้งอยู่บนทางสองแพร่งของความหมาย โดยในทางแพร่งแรกได้แก่นิยามของกลุ่มนักคิดที่เชื่อว่า ประวัติศาสตร์คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอดีต และเพราะอดีตนั้นมีอยู่จริงๆ หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์จึงเป็นการขุดค้นให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงและการใช้ชีวิตของผู้คนในอดีตเป็นเยี่ยงไร     ส่วนในทางอีกแพร่งหนึ่งนั้น กลับอธิบายว่า ประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาระหว่าง “คนในปัจจุบัน” กับ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต” หรือกล่าวแบบชิคๆ กิ๊บเก๋ว่า ประวัติศาสตร์มีสถานะเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ “based on a true story” เท่านั้น     และเพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าที่มีเค้าจากเรื่องจริง ข้อเท็จจริงจากอดีตจึงอาจจะมีอยู่บ้างในระดับหนึ่ง (หรือในบางครั้งก็อาจไม่มีข้อเท็จจริงบ้างเลยด้วยซ้ำ!!!) และนักประวัติศาสตร์ก็คือผู้ที่สร้างเรื่องเล่าที่คนปัจจุบันกำลังสนทนา รับรู้ และตีความเพื่อบอกเล่าเก้าสิบถึงเหตุการณ์ในอดีตสู่บุคคลอื่น     ทัศนะต่อประวัติศาสตร์แบบทางแพร่งที่สองนี้เอง ที่ดูจะเหมาะกับการทำความเข้าใจบรรดาเรื่องแต่งที่ “based on a true story” อย่างละครพีเรียดและละครแนวอิงประวัติศาสตร์ อันหมายรวมถึงละครโทรทัศน์เรื่อง “อตีตา” ที่ฝ่ากระแสประชาคมอาเซียนด้วยการย้อนภาพสงครามไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงศึกคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง     ภายใต้นิยามที่ว่า ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาที่คนปัจจุบันมีต่ออดีตของตนเอง ละคร “อตีตา” จึงวางพล็อตเรื่องให้เกิดการซ้อนทับในมิติของเวลาระหว่างอดีตกาลกับปัจจุบันกาล โดยให้ตัวละครในอดีตได้มาสัมผัสชีวิตที่ผันเปลี่ยนไปของผู้คนในปัจจุบัน และให้ตัวละครอนุชนยุคปัจจุบันได้ย้อนกลับไปสัมผัสบทเรียนชีวิตของบรรพชนรุ่นก่อน     หากลึกๆ แล้วมนุษย์เชื่อว่า จังหวะเวลาของอดีตกับปัจจุบันจะมีวงโคจรมาบรรจบกันได้ “เมืองใจ” หนึ่งในวีรชนบ้านบางระจันในยุคกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ก้าวผ่านมิติของเวลา 200 กว่าปีมาสู่ห้วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และเพราะมีมิสชั่น (ที่ดูจะอิมพอสสิเบิ้ล) ในการตามหาปืนใหญ่เพื่อไปใช้รบกับ “ข้าศึก” ทำให้เมืองใจมีเหตุบังเอิญทะลุมิติเวลา จนมาพบกับ “ศิโรตม์” หนุ่มหัวสมัยใหม่ทายาทเจ้าของบริษัทออร์แกไนเซอร์ใหญ่ของเมืองไทย     แม้จะก้าวข้ามเวลามาสู่ยุคกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับเมืองใจแล้ว ความทันสมัยสะดวกสบายนั้นไม่อาจยั่วยวนล่อใจให้เขาดื่มด่ำหลงใหลไปได้ เหมือนกับที่เมืองใจเคยกล่าวว่า “เมืองสวรรค์ อะไรก็ดี อยู่สบาย จะกินก็ไม่ต้องออกไปหว่านไถเอง เสกมาได้ทั้งนั้น ผู้คนก็หามีใครเป็นศัตรูกันไม่ หากใจข้า กลับหาความสุขมิได้เลย...”     เพราะความสะดวกสบายทันสมัยไม่อาจแทนที่จิตสำนึกรักชาติยิ่งชีพของชาวบ้านบางระจันได้เลย เมืองใจจึงยังคงเพียรปฏิบัติการตามล่าหาปืนใหญ่ เพื่อเอาไปกอบกู้บ้านเมืองและรบทานข้าศึกศัตรู     และเพราะประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาระหว่างกันของอดีตกับปัจจุบัน เมื่อเมืองใจก้าวข้ามประตูกาลเวลามาด้วยสำนึกรักชาติยิ่งชีพ อีกด้านหนึ่งละครก็ผูกเรื่องให้ศิโรตม์ต้องมีอันหลุดทะลุมิติเวลา กลับไปสู่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยายุคสมัยเดียวกับที่เมืองใจและวีรชนบ้านบางระจันกรำศึกสงครามอยู่     อาจด้วยเพราะต้องการโหนกระแสที่รัฐร่วมสมัยชวนคนไทยร้องเพลงว่า “บ้านเมืองจะเดินต่อไป จะมีหวังได้เพราะสามัคคี” สายตาที่ศิโรตม์สัมผัสภาพวีรกรรมของตัวละครต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเมืองใจ หรือขุนพลผู้นำศึกบ้านบางระจันทั้งหลาย ไปจนถึง “จันกะพ้อ” และ “กาหลง” สองสาวพี่น้อง ที่ทุกคนต่างฮึกเหิมด้วยความรักชาติ ทำให้คนยุคปัจจุบันอย่างศิโรตม์สามารถหลอมหล่อสำนึกความรักชาติของตนเข้ากับวีรชนบ้านบางระจันได้ในที่สุด     แม้ว่าศิโรตม์ (รวมทั้งคนปัจจุบันทั่วไปที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยากันมาตั้งแต่เด็ก) จะรับรู้บทสรุปสุดท้ายของศึกบางระจันว่า จบลงด้วยโศกนาฏกรรมและการเสียสละชีวิตเพื่อรักษาอธิปไตยแห่งสยามประเทศ แต่ฉากจบแบบนี้ก็คือ การขีดเส้นใต้ย้ำเตือนให้คนยุคนี้ตระหนักในสำนึกชาตินิยมที่ละครนำเสนอสืบเนื่องให้เห็นตั้งแต่ยุคบรรพชน     แต่ที่น่าสนเท่ห์ใจยิ่งเห็นจะเป็นว่า เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ “based on a true story” ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คำถามก็คือ “a true story” ที่ประวัติศาสตร์แบบ “อตีตา” เขียนขึ้นมาหรือ “based on” นั้น เป็นมุมมองจากสายตาแบบใด     ในกรณีนี้ หากเป็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านสายตาแบบ “ชาตินิยม” ที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครเมืองใจ มาสู่คนร่วมสมัยแบบศิโรตม์ คำว่า “ชาติ” หรือ “ความรักชาติ” เยี่ยงนี้ จึงเป็นรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้สร้างประวัติศาสตร์ชาตินิยมก็น่าจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองบางอย่างกำหนดอยู่เบื้องหลัง     และที่แน่ๆ การสร้างชาติหรือเขียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบที่สังคมไทยทำกันอยู่เนืองๆ ก็มักจะใช้การแบ่ง “เรา” และ “เขา” ออกจากกัน ไปจนถึงการสร้าง “เขา” ให้เป็นตัวละครศัตรูร่วมของ “เรา” ขึ้นมา เพื่อให้สำนึกของ “เรา” มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงหนึ่งเดียวไปโดยปริยาย     ภายใต้ประวัติศาสตร์ชาตินิยมเช่นนี้ บทสนทนากับอดีตของศิโรตม์กับคนทั่วไป จึงเลือกย้อนกลับไปยังช่วงสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีตะเข็บชายแดนติดกับเมืองไทย และกลายเป็นเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้แต่กับยุคกระแสอาเซียนภิวัตน์ ที่ไปที่ไหนหรือทำอะไร ใครๆ ก็ต้องกล่าวขานกันถึงแต่การรวมตัวของชาติต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ทว่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบ “อตีตา” และตัวละครเมืองใจกับศิโรตม์ก็มิได้เลือนหายไปเลย     หลังศึกบางระจันจบลงด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของหลากหลายตัวละคร คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ แล้ววิสัยทัศน์อาเซียนแบบ “One Vision, One Identity, One Community” กับสำนึกลึกๆ ที่ยังคงแบ่ง “เรา” และ “เขา” ในประวัติศาสตร์ชาตินิยม จะหาจุดลงตัวมาบรรจบลงได้ ณ ตำแหน่งแห่งที่แบบใดกันหนอ         

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 ตามรักคืนใจ : ใต้ต้นไม้ที่ไม่มีร่มเงา กิ่งก้านมันไม่ได้สูงสักเท่าไร

ว่ากันว่า หากคนกลุ่มใดขึ้นมามีอำนาจเป็นชนชั้นนำ และมีพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสังคมแห่งยุคสมัยด้วยแล้ว พื้นที่ของละครโทรทัศน์จะกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ทบทวนความเป็นอยู่และความเป็นไปของคนกลุ่มนี้ ก่อนที่จะฉายเป็นภาพผ่านหน้าจอทีวีช่วงไพรม์ไทม์     ด้วยคำอธิบายข้างต้นนี้ ก็ไม่ต่างจากภาพที่ส่องให้เราได้สำรวจตรวจสอบความเป็นจริงในชีวิตของกลุ่มทุนที่เป็นคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งผ่านละครโทรทัศน์เรื่อง “ตามรักคืนใจ” นั่นเอง     โดยโครงของเรื่องละคร ได้ฉายภาพชีวิตของ “นายวรรณ วรรณพาณิชย์” ประธานธนาคารอันดับต้นๆ ของประเทศ แม้นายวรรณจะประสบความสำเร็จในการสั่งสมทุนเศรษฐกิจจนมีฐานะมั่งคั่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป แต่กับชีวิตครอบครัวแล้ว นายวรรณ (หรืออาจจะอนุมานได้ถึงคนชั้นนำทางเศรษฐกิจคนอื่นๆ ในโลกจริง) กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง     นอกจากนายวรรณแล้ว ละครยังได้จำลองภาพตัวละครอีกสองเจนเนอเรชั่นถัดมาคือ รุ่นลูกและรุ่นหลานของท่านประธานธนาคารใหญ่ด้วยเช่นกัน     ในขณะที่นายวรรณมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นสร้างสมทุนเศรษฐกิจ เพราะคิดว่าความมั่นคงทางการเงินและธุรกิจเท่านั้นคือคำตอบของชีวิต แต่ทว่า ผลิตผลของความมุ่งมั่นดังกล่าวกลับกลายเป็นบุตรสาวอย่าง “รัศมี” ที่ไม่เพียงถูกเลี้ยงมาอยู่ในกรอบ แต่กลับเติบโตขึ้นด้วยจิตใจที่แห้งแล้งต่อคนรอบข้างและโลกรอบตัว     เมื่อยังสาว รัศมีได้พบรักกับ “ราม” และความรักของทั้งคู่ก็สุกงอมอย่างรวดเร็วท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของคนในตระกูลวรรณพาณิชย์ เพราะด้านหนึ่งนายวรรณก็เดียดฉันท์รามที่เป็นแค่หนุ่มชาวสวนธรรมดา ซึ่งฐานะไม่อาจเทียบเคียงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับลูกสาวของนายธนาคารใหญ่อย่างเขาได้เลย     แม้ในช่วงแรกที่รัศมีตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปอยู่กับราม เธอจะมีความสุขกับชีวิตคู่ และมีลูกสาวด้วยกันคือ “นารา” หรือ “หนูนา” แต่เพราะจริงๆ แล้ว เธอก็ไม่คุ้นเคยกับชีวิตลำบากแบบชาวสวน รัศมีจึงทิ้งรามและบ้านสวน โดยพรากหนูนาไปจากราม และบอกกับลูกสาวว่าบิดาของเธอได้ตายจากไปแล้ว     ภาพที่ถูกฉายออกมาในตอนต้นเรื่องดังกล่าว ก็คือการบอกผู้ชมเป็นนัยๆ ว่า เมื่อกลุ่มทุนเรืองอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมา คนกลุ่มนี้ได้ละเลยและถีบตัวเองออกจากสถาบันที่เคยเป็นแรงเกาะเกี่ยวบางอย่างในชีวิตเอาไว้ด้วยเช่นกัน     หากสถาบันครอบครัวคือหน่วยเล็กที่สุด แต่มีความสำคัญที่สุดในสังคม คนกลุ่มดังกล่าวก็ได้ผลักให้สถาบันครอบครัวเปราะบางและอ่อนแอลง จนเข้าอยู่ในสภาวะความเสี่ยง เหมือนกับที่นายวรรณเองก็ได้สารภาพกับรัศมีในตอนท้ายเรื่องว่า “พ่อผิดเองที่เคยเห็นว่าการหาเงินทองมาให้ มันสำคัญกว่าการให้ความรักความเอาใจใส่ แล้วพอแกผิดพลาดไป พ่อก็ทำร้ายแก เพราะไม่อยากจะเห็นแกทำผิดพลาด แล้วต้องตกนรกทั้งเป็นอีก...”     เช่นเดียวกัน หากชุมชนชนบทคือรากที่ยึดเหนี่ยวสังคมไทยโดยรวมเอาไว้ วิถีชีวิตที่เติบโตมาในเมืองใหญ่ และยึดการสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสรณะ คนกลุ่มเดียวกันนี้ก็ได้ทอดทิ้งชนบทและชุมชนหมู่บ้าน ไม่ต่างจากอารมณ์ความรู้สึกที่นายวรรณตั้งแง่กับลูกเขยชาวสวนอย่างราม หรือรัศมีที่ลึกๆ ก็รังเกียจสถานะความเป็นภรรยาชาวไร่ชาวสวนที่จารึกอยู่ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ชีวิตของเธอ     ดังนั้น เมื่อมาถึงรุ่นของหลานสาวนายวรรณ หนูนาผู้ที่เติบโตมาโดยไร้รากยึดเกี่ยว จึงมีสภาพไม่ต่างจากชีวิตที่อยู่ “ใต้ต้นไม้ที่ไม่มีร่มเงา กิ่งก้านมันไม่ได้สูงสักเท่าไร” หนูนาจึงเกิดความโหยหาและปรารถนาที่จะ “ตามรักคืนใจ” และตามรากที่หายไปให้กลับคืนสู่ชีวิตที่แห้งแล้งของเธอ     หลังจากที่หนูนารู้ความจริงว่าบิดายังไม่ตาย เธอก็ต้องการทราบเหตุผลว่าทำไมพ่อจึงทอดทิ้งตนและแม่ไป หนูนาจึงเดินทางมาที่ไร่บัวขาวของ “สีหนาท” หรือ “นายสิงห์” พระเอกของเรื่อง และสมัครเป็นคนงานของเขา เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดกับรามซึ่งทำงานอยู่ในไร่เดียวกัน     แต่ทว่า เมื่อเติบโตมาในสังคมไร้รากหรือเป็น “ใต้ร่มไม้ที่ไร้ร่มเงา” หนูนาจึงเผชิญบททดสอบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการต้องพยายามปรับตัวเข้ากับบรรยากาศวิถีการผลิตแบบเกษตรซึ่งไม่คุ้นเคยมาก่อน การได้เรียนรู้ชีวิตของบรรดาคนงานและความขัดแย้งอันต่างไปในสังคมชนบทที่เธอไม่เคยพบมาในสังคมเมืองใหญ่ ตลอดจนการพยายามประสานรอยร้าวในครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ และคุณตา     แก้วที่มีรอยร้าว หรือสังคมที่เคยไร้ร่มเงา ใช่ว่าจะเยียวยาไม่ได้ เมื่อผ่านบททดสอบมากมาย คนชั้นกลางอย่างหนูนาที่เติบโตมาในบรรยากาศการมุ่งมั่นสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายชีวิต ก็สามารถ “ตามรักคืนใจ” และกอบกู้สายสัมพันธ์ที่เคยเปราะบางและขาดสะบั้นไปแล้วจากชีวิตและจิตใจของตัวละครต่างๆ ในท้องเรื่องได้เกือบทั้งหมด     ในขณะที่หนูนาได้ตกหลุมรักกับนายสิงห์ ได้บิดาที่พลัดพรากจากกันกลับคืนมา และได้รักษาบาดแผลความไม่เข้าใจระหว่างแม่กับคุณตา รัศมีเองก็ได้เรียนรู้ที่เห็นคุณค่าของครอบครัว และรู้จักที่จะไปคิดและยืนอยู่ในที่ที่คนอื่นเขาคิดและยืนอยู่กัน     และแม้แต่ตัวละครอย่างนายวรรณ ก็ได้ทบทวนบทเรียนความผิดพลาด และได้คำตอบในมุมมองใหม่ของชีวิตว่า “ความมั่นคงภายนอก” อย่างทรัพย์สินศฤงคารมากมาย อาจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต เมื่อเทียบกับ “ความมั่นคงทางใจ” ซึ่งหมายถึงความรักและความเอาใจใส่ระหว่างกันและกันของคนในครอบครัวหรือของเพื่อนมนุษย์มากกว่า     ภายใต้สังคมที่กำลังไร้รากไร้กิ่งไร้ก้านและไร้ร่มเงาแบบนี้ ถ้าเรายังพอเหลือตัวเลือกอยู่บ้างระหว่าง “ความมั่นคงภายนอก” กับ “ความมั่นคงทางใจ” ภาพที่ละครฉายให้เราเห็นผ่านคนสามเจนเนอเรชั่นของตระกูลวรรณพาณิชย์ก็คงถามพวกเราเช่นกันว่า วันนี้เราจะเลือกสร้างความมั่นคงแบบใด เพื่อที่อนุชนรุ่นหลังๆ จะได้ไม่ต้องคอยวิ่ง “ตามรัก” กลับมา “คืนใจ” ในวันหน้ากันอีก                            

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 สะใภ้จ้าว : ผู้หญิงอ่านหนังสือ เพื่อรื้อสร้างประวัติศาสตร์ของตน

มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของตนได้หรือไม่?     นักคิดหลายคนที่เชื่อในพลังสองมือมนุษย์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นเป็นไปได้ แต่มิใช่เป็นไปตามยถากรรม หากแต่ต้องมี “ตัวกลาง” หรือปัจจัยบางอย่างที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นมา     และหากมนุษย์ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเอง เกิดเป็น “มนุษย์ผู้หญิง” ด้วยแล้ว แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ผู้หญิงก็สามารถขีดแต่งแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของตนเองได้ แต่ก็ต้องมี “ตัวกลาง” ที่เป็นตัวแปรเอื้ออำนวยด้วยเช่นกัน     ประจักษ์พยานต่อข้อคำถามนี้ เห็นได้จากปมเรื่องหลักที่สองสาวพี่น้องตระกูลบ้านราชดำริอย่าง “ศรีจิตรา” กับ “สาลิน” ได้ถูกผูกโยงให้ต้องคลุมถุงชนเพื่อเป็น “สะใภ้จ้าว” ของ “คุณชายรอง” หรือ “ม.ร.ว.กิติราชนรินทร์” และ “คุณชายเล็ก” หรือ “ม.ร.ว.บดินทราชทรงพล” ตามลำดับ     เรื่องราวของละครเริ่มต้นจาก “สอางค์” และ “สร้อย” ผู้มีศักดิ์เป็นป้าของสองสาว พยายามผลักดันให้ศรีจิตราถูกคลุมถุงชนร่วมหอลงโรงกับ “คุณชายโต” หรือ “ม.ร.ว.ดิเรกราชวิทย์” แต่ทว่าคุณชายโตกลับรักใคร่ชอบพอและตกแต่งมีลูกกับ “จรวย” เมียบ่าวในวังวุฒิเวสน์แทน     เมื่อเป็นหม้ายขันหมากพลาดหวังจากคุณชายโต ศรีจิตราก็ถูกจับคู่ครั้งใหม่ให้กับคุณชายรอง ผู้ที่อีกด้านหนึ่งก็เพิ่งจะผิดหวังความรักจาก “หญิงก้อย ม.ร.ว.เทพีเพ็ญแสง” ซึ่งเลือกหนีแต่งงานไปอยู่ต่างประเทศกับ “อัศนีย์” มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งและร่ำรวยกว่า     แม้ในยุคหนึ่งนั้น การคลุมถุงชนจะถูกใช้อธิบายถึงการประสานประโยชน์และความเหมาะสมลงตัวในความสัมพันธ์ของบ่าวสาว แต่นั่นกลับไม่ใช่ชุดคำอธิบายเดียวกับที่สาลินนิยามเอาไว้ เพราะสาลินเห็นว่าการที่พี่สาวถูกโยนกลิ้งไปมาเป็นลูกบอลเพื่อจับคู่กับคนโน้นทีคนนี้ที ก็คือการที่สังคมพยายามเข้าไปกำหนดชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง โดยที่ผู้หญิงคนนั้นไม่อาจมีปากเสียงหรือต่อสู้ได้แต่อย่างใด     เพราะสาลินเกิดในครอบครัวบ้านสวนที่บ่มเพาะให้เธอรักการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก และโตขึ้นเธอก็ได้มาทำงานเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดประชาชนอีก สาลินจึงเรียนรู้ว่า นางเอกในนวนิยายก็ไม่จำเป็นต้องลงเอยกับคู่หมายที่สังคมกำหนดหรือเชื่อว่าเหมาะสมเสมอไป นางเอกก็มีสิทธิและอำนาจที่จะเป็นผู้ “เลือก” หรือ “มีโอกาสเลือก” ในชีวิตได้เช่นกัน     ดังนั้น เมื่อพี่สาวต้องถูกบังคับให้แต่งงานครั้งแล้วครั้งเล่ากับผู้ชายที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน (แม้จะเป็นคุณชายก็เถิด) จนมาถึงคู่หมายคนล่าสุดที่เป็นคุณชายรอง (หรือที่เธอเรียกเขาแบบกระแนะกระแหนว่า “คุณชายชื่อยาว”) การคลุมถุงชนที่มีอีกด้านของเหรียญเป็นเสมือนการบังคับขืนใจผู้หญิงอย่างศรีจิตราให้จำยอม จึงเป็นสิ่งที่สาลินมิอาจรับได้เลย     ด้วยเหตุนี้ สาลินจึงขัดขวางการแต่งงานนี้ในทุกๆ ทาง และพยายามที่จะส่งเสริมให้คุณชายรองกลับไปคืนดีกับหญิงก้อย ด้วยหวังจะให้พี่สาวหลุดพ้นจากพันธการแห่งการคลุมถุงชนโดยไม่ยินยอม     แต่ก็เหมือนกับที่คำโบราณกล่าวไว้ว่า “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้” ถ้าสาลินถูกฟ้ากำหนดมาแล้วให้ต้องลงเอยกับคุณชายรอง จากที่เคยคิดว่าเขาเป็นพวกเจ้าชู้ไก่แจ้ หรือจากที่เคยเป็นพ่อแง่แม่งอนในยกแรกๆ ของความสัมพันธ์ สาลินก็เริ่มเรียนรู้และเข้าใจคำพูดของ “เสด็จพระองค์หญิง” ว่า “เวลาอ่านหนังสือ อย่าดูแต่เพียงหน้าปก” เพราะเนื้อในของคนก็เหมือนกับหนังสือที่ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ทีละหน้าตั้งแต่ต้นจนกว่าจะอ่านจบเล่ม     ส่วนกรณีของศรีจิตรานั้น แม้เธอจะเป็นผู้หญิงเงียบๆ ที่ดูแล้วเหมือนจะไม่มีปากเสียงและยอมจำนนอยู่ใต้อาณัติความเป็นไปของสังคม แต่แท้จริงแล้ว ศรีจิตราก็ใช่ว่าจะไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวกับการคลุมถุงชนแต่ละครั้งในชีวิตของเธอ     ดังนั้น เมื่อศรีจิตราค้นพบหัวใจของตัวเองแล้วว่า ถึงแม้จะถูกปฏิเสธและตกเป็นหม้ายขันหมากมาแล้วถึงสองครา เธอก็ไม่ได้เศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด เพราะลึกๆ แล้ว เธอเองก็หลงรักคุณชายเล็กคนสุดท้องของวังวุฒิเวสน์ หาใช่คุณชายโตหรือคุณชายรองไม่     ประโยคที่ศรีจิตราพูดกับ “อุ่นเรือน” ผู้เป็นมารดาว่า “จะผิดไหมถ้าหนูจะต่อสู้เพื่อหัวใจของหนูเอง” จึงเป็นวลีที่บอกเป็นนัยกับผู้ชมว่า ภายใต้อำนาจกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เข้ามาขีดวงชีวิตของตัวละครหญิงผู้นี้ ศรีจิตราก็พร้อมจะลุกขึ้นมารื้อถอนและรื้อสร้างเพื่อขีดเขียนหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของเธอเองบ้างแล้ว     และเพราะอ่านหนังสืออยู่เป็นอาจิณ ศรีจิตราจึงลงมือทำตัวเป็นนางเซฮาราซาดผู้เล่านิทานอยู่ถึงพันหนึ่งราตรี ก็เพียงเพื่อพิชิตใจของคุณชายเล็ก ไล่เรียงตั้งแต่ตำนานของนางมัทนาผู้เจ็บช้ำจากความรักจนถูกสาปเป็นดอกกุหลาบในเรื่องมัทนะพาธา นางเงือกน้อยแอเรียลผู้พบจุดจบจากความรักในเรื่องลิตเติ้ลเมอร์เมด จนมาถึงการเผด็จศึกคุณชายเล็กด้วยฉากคาบดอกบัวจากวรรณกรรมนิทานเวตาล     บทบาทของการอ่านหนังสือ ที่แม้จะเป็นเพียงกระดาษเล่มเล็กๆ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวของโลกเอาไว้ แต่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยขยายประสบการณ์และอำนาจของผู้หญิงอย่างศรีจิตราและสาลิน ให้รู้ทันโลกและเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น ไม่ต่างไปจากตัวละครผู้หญิงอีกหลายๆ คนในท้องเรื่องอย่างเสด็จพระองค์หญิง อุ่นเรือน คุณยาย จนถึงคุณแม่นม ที่ต่างก็มีโลกทัศน์กว้างไกลออกไปเพราะการอ่านหนังสือนั่นเอง     แม้การจะได้เป็น “สะใภ้จ้าว” ในชีวิตจริง อาจเป็นเพียงโอกาสของผู้หญิงไม่กี่คนที่จะสมหวังได้เหมือนกับศรีจิตราและสาลิน แต่ทว่า โอกาสแห่งผู้หญิงที่จะลุกขึ้นมาขีดเขียนเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเองนั้น สามารถบังเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าผู้หญิงเหล่านั้นจะอ่านหนังสือหรือเปิดหน้าต่างประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านโลกสัญลักษณ์และตัวอักษรที่บรรจงเขียนไว้ในทุกเส้นบรรทัด          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 ห้องหุ่น : การบริหารจัดการองค์กรในแบบผีๆ

คนเราโดยทั่วไปมักเชื่อว่า “ความเป็นจริง” ต้องเป็นสิ่งที่เราเห็น หรือจับต้องได้ด้วยสัมผัสของเราโดยตรง แต่ทว่า ยังมีวิธีอธิบายอีกแบบหนึ่งที่ว่า “ความเป็นจริง” ของมนุษย์ อาจมีบางอย่างมากไปกว่าแค่ที่เราสัมผัสจับต้องโดยตรงเท่านั้น ตามคำอธิบายข้อหลัง ความเป็นจริงอาจแบ่งได้เป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ “ความเป็นจริงเชิงวัตถุ” ที่เรารับรู้และจับต้องได้แบบเป็นรูปธรรม เช่น รู้เห็นได้ด้วยรูปรสกลิ่นเสียงและกายสัมผัส กับอีกประเภทหนึ่งคือ “ความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณ” หรือความเป็นจริงที่อยู่นอกเหนือสัมผัสทั้งห้า และเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เหนือธรรมชาติซึ่งมนุษย์เราจะหยั่งรู้ได้ ทั้งความเป็นจริงเชิงวัตถุและความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณนี้ ต่างก็ดำเนินไปแบบคู่ขนานกันบ้าง หรือคู่ไขว้สลับซ้อนทับกันไปมาบ้าง เหมือนกับที่ตัวละครทั้งคนและผีที่หลากหลายได้มามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในพื้นที่ของ “ห้องหุ่น” ในทางหนึ่ง ในโลกของมนุษย์ ตัวละครอย่าง “สันติ” “อัมรา” “พรรณราย” “เดช” “อารีย์” และอีกหลายคน อาจจะมีชีวิตและวิถีปฏิบัติที่ขับเคลื่อนไปในความเป็นจริงเชิงวัตถุของเขาและเธอ แต่ในห้องหุ่นอันเป็นโลกที่เหนือกว่าสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ หุ่นที่มีดวงวิญญาณสถิตอยู่แต่ละตน ตั้งแต่หุ่นท่านเจ้าคุณ หุ่นชาวนา หุ่นนางรำ หุ่นนักดาบ หุ่นนักยิงธนู หุ่นนางพยาบาล และหุ่นเด็ก ต่างก็อาจมีแบบแผนการดำเนินชีวิตในความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณของตนไปอีกทางเช่นกัน   อย่างไรก็ดี จะมีบางเงื่อนไขหรือบางจังหวะเหมือนกัน ที่คนกับหุ่น (หรือกล่าวให้ชัดๆ ก็คือ ระหว่างมนุษย์กับผี) จะได้โคจรมาเจอกัน แบบเดียวกับที่ธีมของละคร “ห้องหุ่น” พยายามบอกคนดูว่า “คนดีผีย่อมคุ้ม” โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษหรือผีประจำตระกูลที่จะคอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานที่มุ่งมั่นทำกรรมดี และเพราะความสัมพันธ์ของหุ่นแต่ละตนดำรงอยู่ในอีกโลกของจิตวิญญาณ เพื่อให้ความสัมพันธ์นั้นดำเนินไปโดยเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สมาชิกหุ่นที่อยู่ในห้องหุ่นของคฤหาสน์ตระกูล “สัตยาภา” จึงต้องพัฒนาองค์ความรู้และใช้เทคนิคการออกแบบและบริหารจัดการองค์กรแบบหุ่นๆ ขึ้นมา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ดูไม่แตกต่างจากเทคนิคการบริหารองค์การสมัยใหม่ในโลกของมนุษย์เท่าใดนัก เริ่มตั้งแต่องค์กรของหุ่นต้องเคลื่อนไปโดยมี “พันธกิจ” หรือ “mission” เป็นตัวกำหนดไว้อย่างชัดเจนแน่นอน เพราะฉะนั้น หากเป้าหมายของสมาชิกหุ่นต้องทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวสัตยาภาให้แคล้วคลาดปลอดภัย หุ่นทั้งหลายก็ต้องอุทิศตนและทำทุกอย่างเพื่อขจัดตัวละครร้ายๆ อย่าง “พิไล” “เทิด” “ผอบ” “พงษ์” และ “หมอผีเวทย์” ให้หลุดออกไปจากวงจรชีวิตของบุตรหลานในครัวเรือน ภายใต้หลักการบริหารห้องหุ่นให้เกิดประสิทธิภาพ สมาชิกหุ่นได้ออกแบบองค์กรที่ต้องมีนโยบายการวางแผนอัตรากำลังคน การจัดวางลำดับชั้น และการสั่งการตามสายงานบังคับบัญชาที่ชัดเจน ในแง่นี้ เพื่อให้บรรลุพันธกิจในแต่ละวาระ “หุ่นท่านเจ้าคุณนรบดินทร์” ในฐานะประธานของโครงสร้างองค์กรหุ่น ได้เรียนรู้และเลือกใช้การวิเคราะห์สถานการณ์ของคู่ต่อสู้ ก่อนที่จะบัญชาการรบโดยเลือกวิธี “put the right หุ่น on the right job” และออกคำสั่งไล่เรียงตามสายงานบังคับบัญชาลดหลั่นกันลงไป หุ่นเด็กอาจถูกส่งออกไปสู้รบปรบมือในลำดับแรกก่อน แต่เมื่อภารกิจเริ่มซับซ้อนและยากลำบากขึ้น หุ่นผู้ใหญ่ตนอื่นๆ ก็อาจจะได้รับมอบหมายให้ไปจัดการปัญหาต่างๆ แทน และเมื่อถึงภารกิจที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญการขั้นสูง ก็จะถึงลำดับของหุ่นท่านเจ้าคุณกับไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ของท่านที่จะไปจัดการให้กิจดังกล่าวบรรลุเป้าหมายในที่สุด ขณะเดียวกัน เมื่อมีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจนเช่นนี้ ห้องหุ่นจึงต้องมีระบบการคัดเลือกสมาชิกใหม่ โดยเกณฑ์ในการพิจารณาเปิดรับสมัครสมาชิก จะตัดสินใจจากคุณธรรมความดี และดวงวิญญาณที่จะมาสถิตอยู่ในหุ่นประจำคฤหาสน์ได้ ต้องมีความมุ่งหมายร่วมในพันธกิจที่จะดูแลคุ้มครองบุตรหลานในตระกูลสัตยาภา เมื่อดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตใหม่ได้เข้ามาเยือนห้องหุ่น และผ่านการตรวจสอบ profiles และผ่านการสอบสัมภาษณ์โดยหุ่นท่านเจ้าคุณแล้ว ท่านเจ้าคุณก็จะประกาศว่า “ขอต้อนรับเข้าสู่ห้องหุ่น” เป็นการเชิญให้ดวงวิญญาณนั้นๆ เข้ามาสถิตในหุ่นปั้นที่อยู่ ณ ห้องหุ่นได้ และร่วมภารกิจขับเคลื่อนองค์กรของห้องหุ่นให้ดำเนินต่อไป เหมือนกับวิญญาณอารีย์และเดชที่เมื่อเสียชีวิต ก็ได้เข้ามาร่วมภารกิจดูแลลูกหลานในบ้านนั่นเอง แต่หากระบบองค์กรตรวจสอบดวงวิญญาณใหม่และพบว่า คุณธรรมความดีไม่ผ่านตามเกณฑ์ พันธกิจไม่ได้ยึดถือร่วมกัน แถมดวงวิญญาณนั้นก็มีความอาฆาตมาดร้ายต่อสมาชิกครอบครัวสัตยาภาด้วยแล้ว องค์กรห้องหุ่นก็จะขับไล่ดวงวิญญาณนั้นออกจากบ้านไป เหมือนกับกรณีของวิญญาณผีดาวโป๊อย่าง “เพทาย” ที่ไม่ผ่านระบบ QC และถูกอัปเปหิออกไปเป็นสัมภเวสีอยู่นอกเรือน และที่สำคัญ เมื่อโลกความจริงของมนุษย์ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสารสนเทศ ที่ข้อมูลข่าวสารมีผลต่อการตัดสินใจและการกระทำใดๆ ของผู้คน โลกเหนือธรรมชาติอย่างห้องหุ่นก็ผันตัวเข้าสู่สังคมสารสนเทศไม่ต่างกัน สมาชิกต่างๆ ในห้องหุ่น จะมีระบบการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารกันอย่างเข้มข้น เพราะฉะนั้น หากตัวละครผู้ร้ายเริ่มวางแผนจะเข้ามาทำร้ายลูกหลานในบ้านแล้ว หุ่นทั้งหลายก็จะใช้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมาออกแบบกลยุทธ์เพื่อจัดการกับภยันตรายเหล่านั้น เมื่อย้อนกลับไปสู่ทัศนะที่ว่า ความเป็นจริงรอบตัวเรามีสองโลกที่ดำเนินควบคู่กันไปแล้ว คำถามที่สำคัญก็คือ ตกลงแล้วการบริหารองค์กรในแบบผีกับแบบคนที่แทบจะดูไม่ต่างกันเลยเช่นนี้ เป็นคนที่เลียนแบบผี หรือเป็นผีที่เลียนแบบคนกันแน่ และในเวลาเดียวกัน แม้เมื่อตอนจบ เราจะเห็นภาพหลวงตามาสวดปลดปล่อยวิญญาณของผีหุ่นในห้องไปสู่สุคติโดยถ้วนหน้า แต่พลันที่ประตูของห้องหุ่นปิดลงอีกครั้ง ความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณให้ห้องหุ่นก็ดำเนินไปอีกคำรบหนึ่ง ซึ่งบอกเป็นนัยๆ กับเราว่า ระหว่างสองโลกแห่งความเป็นจริงทางกายภาพและความเป็นจริงทางจิตวิญญาณต่างไม่เคยแยกขาด หากแต่ดำรงอยู่คู่กันเช่นนี้เรื่อยมาและตลอดไป :) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point