ฉบับที่ 175 ผู้กองยอดรัก : ไม่มีเส้นแบ่งและศักดิ์ชั้นในความบันเทิงสนุกสนาน

นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่ชื่อ วิลเลียม เคลาสเนอร์ ได้เคยเข้ามาศึกษาสังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ 1950 และได้ค้นพบข้อสรุปที่เขาเองก็สนเท่ห์ใจว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่รักความบันเทิงสนุกสนาน จนกลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่ยากจะหาสังคมอื่นมาเทียบเคียงได้    และหากความบันเทิงเป็นเบื้องลึกเบื้องหลังที่วัฒนธรรมไทยก่อร่างขึ้นมา ความบันเทิงก็คงทำหน้าที่สนองต่อความต้องการหลายๆ ด้านให้กับคนไทยด้วยเช่นกัน     บทบาทหน้าที่ของความบันเทิงต่อมนุษย์เราอาจมีได้หลายประการ ตั้งแต่การช่วยให้เราได้หย่อนใจคลายเครียด ช่วยปลดปล่อยมนุษย์จากความทุกข์ ช่วยให้ปัจเจกบุคคลมีพลังในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่สำคัญ ความบันเทิงสนุกสนานยังช่วยลดทอนความขัดแย้งตึงเครียดที่เกิดขึ้นและธำรงอยู่ในระหว่างกลุ่มสังคม    เชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่ในพื้นที่ที่มีการใช้อำนาจเข้มข้นที่สุดในสังคม แต่ทว่า ความบันเทิงสนุกสนานก็สามารถชำแรกแทรกเข้าไปในห้วงอณูแห่งอำนาจได้เช่นกัน และนี่ก็คือภาพที่ฉายให้เราเห็นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆ ในเรื่อง “ผู้กองยอดรัก” นั่นเอง     จะว่าไปแล้ว ด้านหนึ่งละครเรื่อง “ผู้กองยอดรัก” ก็คือโลกแฟนตาซีที่มาเติมเต็มความฝันของกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยอย่างบรรดาทหารเกณฑ์ ที่ริอยากจะสอยดอกฟ้าหรือผู้กองหญิง ที่ไม่เพียงแต่สูงฐานะศักดิ์ชั้นกว่าเท่านั้น หากแต่ยังเป็นผู้หญิงที่มีสถานภาพทางอำนาจ ยศ และตำแหน่งที่เหนือกว่าพวกเขาในทุกๆ ทาง     ด้วยพล็อตเรื่องที่เปิดฉากให้ “พัน น้ำสุพรรณ” หนุ่มบ้านนอก (แต่มีดีกรีการศึกษาจบปริญญาโทด้านกฎหมายจากอังกฤษ) มาตกหลุมรักแบบ “love at first sight” กับ “ผู้กองฉวีผ่อง” ร้อยเอกแพทย์หญิงผู้เป็นลูกสาวของ “ผู้พันผวน” กับ “คุณนายไฉววงศ์” พันจึงเลือกสมัครเป็นทหารเกณฑ์มากกว่าต้องรอจับใบดำใบแดง เพื่อจะได้รับใช้ชาติและใกล้ชิดกับผู้กองฉวีผ่องไปในเวลาเดียวกัน    แน่นอน เมื่อทหารเกณฑ์หนุ่มคิดหวังจะเด็ดดอกฟ้า จึงสร้างความไม่พอใจให้กับว่าที่พ่อตาอย่างผู้พันผวน รวมทั้ง “พันตรีสุทธิสาร” ทหารหนุ่มอีกคนที่มาแอบติดพันผู้กองฉวีผ่องอยู่ ผู้พันทั้งสองคนต่างดูถูกว่าพันเป็นแค่ทหารเกณฑ์ เพราะฉะนั้น เมื่อพันต้องเข้ามาเป็นทหารรับใช้อยู่ในบ้านของผู้พันผวน คุณผู้พันทั้งสองจึงต้อง “จัดเต็ม” เพื่อสั่งสอนและกีดกัน “สุนัข” ที่ไม่บังควรแหงนมอง “เครื่องบิน” ที่ลอยอยู่บนฟ้าเอาเสียเลย    จากโครงเรื่องที่กล่าวมานี้ ละครได้เผยให้เห็นว่า วิธีคิดของสังคมไทยยังมีระบบการแบ่งแยกและจัดลำดับชั้นขึ้นระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ระหว่างคนที่ต่างวุฒิการศึกษา ไปจนถึงระหว่างความเป็นเมือง (ที่พูดวาจาชัดถ้อยชัดคำ) กับชนบท (ที่สะท้อนผ่านสำเนียงเหน่อสุพรรณของตัวละครเอก)    และที่สำคัญ เส้นกั้นกับความแตกต่างระหว่างศักดิ์ชั้นเหล่านี้ ก็ยังคงสืบต่อและดำรงอยู่แม้แต่ในโลกสัญลักษณ์ของสถาบันใหญ่ๆ ในสังคมอย่างกองทัพด้วยเช่นกัน    ในแง่หนึ่ง สถาบันทหารอาจถูกมองได้ว่าเป็นสถาบันรูปธรรมที่สุดของการบริหาร “อำนาจ” เพื่อควบคุมชีวิตและร่างกายของมนุษย์อย่างเข้มข้น เพราะตั้งแต่ฉากแรกที่พันและผองเพื่อนอย่าง “อ่ำ” “นุ้ย” “บุญส่ง” และ “พรหมมา” ได้เข้ามาใช้ชีวิตในกองทหาร พวกเขาก็ถูก “หมู่ทอง” จัดวินัยในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่จับทหารใหม่ตัดผมเสีย จับร่างกายของพวกเขามาอยู่ในชุดยูนิฟอร์มเหมือนกัน จนถึงเปลี่ยนแปลงวัตรปฏิบัติต่างๆ ให้ต่างไปจากที่เคยใช้ชีวิตมาก่อนหน้านั้น (แม้ตัวละครจะยังคงพูดสำเนียงท้องถิ่นอยู่เหมือนเดิมก็ตาม)    แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากเราเชื่อว่าความบันเทิงสนุกสนานช่วยลดทอนเส้นแบ่งระหว่างความแตกต่างทางสังคม และหากเรื่องของอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ละครก็เลือกใช้อารมณ์บันเทิงขบขันมาผูกเล่าเรื่องของทหารเกณฑ์กลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเสียดสีท้าทายอำนาจของระบบศักดิ์ชั้นได้อย่างแยบยล    ภาพลักษณะนี้เห็นได้ทั้งจากการที่พันและสหพรรคพวกคอยเล่น “ลิงหลอกเจ้า” ล่อเอาเถิดกับครูฝึกอย่างหมู่ทอง หรือการจับเอาทั้งผู้พันผวนกับผู้พันสุทธิสารมาล้อเลียนล้อเล่นเพื่อเรียกเสียงฮา ไปจนถึงการเสียดสีไปถึงหลังบ้านของผู้พันผวนที่มีศรีภรรยาอย่างคุณนายไฉววงศ์ ผู้แสนจะเค็มแสนเค็มและงกเงินจน “ทะเลเรียกพี่” ได้เลย    การใช้ความขบขันที่เอื้อให้ทหารเกณฑ์ได้ล้อเล่นเสียดสีตั้งแต่กับเจ้านาย นับตั้งแต่คุณหมู่คุณจ่า ผู้กอง ผู้พัน ไปจนถึงคุณนายหลังบ้านผู้พัน (แต่ไม่ยักกะมีท่านนายพล???) คงย้อนกลับไปสะท้อนให้เราเห็นว่า ความบันเทิงสนุกสนานนี่เองที่เป็นพื้นที่ให้โครงสร้างอำนาจต่างๆ ของสังคมได้รับการตรวจสอบและตั้งคำถามอยู่ในเวลาเดียวกัน    ตามหลักทฤษฎีแล้วเชื่อว่า เฉพาะในพื้นที่ของความบันเทิงเริงรมย์เท่านั้น ที่เส้นกั้นระหว่างเจ้านาย-ลูกน้อง ผู้ใหญ่-ผู้น้อย และผู้มีอำนาจ-ผู้ด้อยอำนาจ จะได้มาพบปะแลกเปลี่ยนปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน    เพราะฉะนั้น ในท้ายที่สุด ถึงแม้จะเป็น “เจ้าที่ถูกลิงหลอก” มาแทบตลอดทั้งเรื่อง แต่บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายก็เรียนรู้ที่จะมองเห็นอีกด้านหนึ่งของกลุ่มคนที่ถูกมองว่าด้อยอำนาจวาสนากว่าตน    หมู่ทองเองก็เรียนรู้ที่จะรักใคร่พันและผองเพื่อน หรือแม้แต่จะยอมรับอ่ำให้มาเป็นลูกเขยของตนเอง ผู้พันสุทธิสารก็เข้าใจว่าคุณค่าของคนไม่ได้พิสูจน์กันด้วยยศถาบรรดาศักดิ์แต่อย่างใด เฉกเช่นเดียวกับผู้พันผวนที่ได้ทบทวนตัวเองว่า ลำดับชั้นและการตัดสินคนที่อำนาจนั้น ก็อาจเป็นเพียงเปลือกนอก มากกว่าการมองเข้าไปเห็นตัวจริงและแก่นแท้ที่เป็น “เนื้อทองผ่องอำไพ” ซึ่งอยู่ในจิตใจของผู้ใต้อำนาจการบังคับบัญชา    เมื่อโลกแห่งความบันเทิงสนุกสนานได้กรุยทางการตั้งคำถามเรื่องเส้นกั้นกับศักดิ์ชั้นระหว่างทหารเกณฑ์กับผู้กองสาวที่อาจลางเลือนลงไปได้ในละครเช่นนี้แล้ว คำถามก็คือ แล้วเส้นกั้นแบ่งที่อยู่ในโลกจริงจะมีโอกาสสลายลงไปได้บ้างหรือไม่? เป็นผู้กองยอดรักแบบร้อยเอกแพทย์หญิงฉวีผ่อง กับเป็นทหารเกณฑ์แบบพัน น้ำสุพรรณ น่าจะได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดเยี่ยงนี้แล!!!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 เลือดมังกร เสือ สิงห์ กระทิง แรด หงส์ : “Looking East” ไปสู่จีนาภิวัตน์

กว่าครึ่งศตวรรษผ่านไป นับแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 (ปีเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีเคยตีกลองประชุม) สังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากที่เคย “looking west” หรือปลาบปลื้มกับอารยธรรมความทันสมัยตามรีตตามรอยชาติตะวันตก หันมา “looking east” หรือมองอะไรใกล้ๆ ภายใต้ยุคสมัยที่ความเป็นตะวันตกถูกมองว่า อาจเป็นแค่ “ทันสมัย” แต่ “ไม่พัฒนา” จริงๆ     และคำตอบในการ “looking east” ของคนไทย ก็คือ การเปลี่ยนจากการชื่นชมลัทธิตลาดเสรีและจักรวรรดินิยมแบบตะวันตก มาสู่การเติบโตของทุนไทยที่หันไปจูบปากประสานมือกับทุนจีนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในยุคนี้ หรือที่บางคนอาจเรียกว่าเป็นการก่อร่างของกระแส “จีนาภิวัตน์” กันอย่างเข้มข้น    ความปรองดองกับกระแสจีนาภิวัตน์ เห็นได้จากประจักษ์พยานที่ทุนจีนขยายตัวเข้ามาในแทบจะทุกอณูของสังคมไทย ตั้งแต่กิจกรรมเศรษฐกิจการเมืองที่ไทยต้องอิงไปกับการขยับตัวของทุนจีน ภาคธุรกิจใหญ่น้อยที่มีทุนจีนสนับสนุนอยู่ด้านหลัง ประเพณีพิธีกรรมแบบจีนที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตผู้คน หรือแม้แต่รายการสอนภาษาทางโทรทัศน์ ที่สอนแค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ต้องฝึกพูดและ “ดูปาก” การออกสำเนียงภาษาจีนของน้องพรีเซ็นเตอร์ไปด้วย    ริ้วรอยการเติบโตของกระแสจีนาภิวัตน์แบบนี้ ก็ได้รับการขานรับเข้าสู่โลกของละครโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน และอาจถือเป็นครั้งแรกที่หน้าประวัติศาสตร์ละครไทย มีการผลิตซีรีส์เนื้อหาของกลุ่มทุนจีนเป็นตัวละครเอกแบบยาว 5 เรื่อง 5 รส กันเลยทีเดียว    ซีรีส์ละครชุด “เลือดมังกร” 5 ตอน คือ เสือ สิงห์ กระทิง แรด และหงส์ นั้น ผูกโครงเรื่องขึ้นจากชีวิตของเพื่อนรัก 5 คน ที่มีเชื้อสายจีนหรือเติบโตมาในขนบประเพณีแบบจีนในช่วงยุคปี 2500 หรือช่วงของการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรกนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ตัวละครหลักทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็น “ภรพ” จากแก๊งเสือ “ทรงกลด” แห่งแก๊งเขี้ยวสิงห์ “ธาม” จากแก๊งกระทิง “คณิน” จากแก๊งเหยี่ยวแดง และ “หงส์” จากแก๊งหงส์ดำ ก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ ที่เติบโตและมีบทบาททางเศรษฐกิจของไทยมาจนถึงปัจจุบัน    เมื่อเทียบกับการเข้ามาของกลุ่มชาวจีนรุ่นแรกหรือจีนโพ้นทะเล ที่เริ่มต้นด้วยทุนติดตัวอันน้อยนิดเพียงแค่ “เสื่อผืนหมอนใบ” พอสังคมไทยเข้าสู่ยุคการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย คนจีนในเจนเนอเรชั่นถัดๆ มา ได้มีการสั่งสมทุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นผ่านกิจการและธุรกิจภาคต่างๆ     ในแง่นี้ ละครก็ได้ชี้ให้เห็นว่า รากฐานหลักที่เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของชาว “เลือดมังกร” กลุ่มนี้ ก็อยู่ที่การเข้าไปจับจองธุรกิจใหญ่หลายประเภทในระบบเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่การถือครองสัมปทานธุรกิจรังนก การเป็นเจ้าของธุรกิจเซียงกงหรืออุตสาหกรรมยานยนต์ การยึดครองธุรกิจการค้าขายทองคำแท่ง การผูกขาดธุรกิจค้าข้าวและโรงสีข้าว และการเป็นเจ้าของกิจการโรงงิ้วและศาลเจ้าที่เยาวราช    ภายใต้การถือครองทุนและตัวอย่างกิจการใหญ่ๆ ในมือของกลุ่มชาวจีนเช่นนี้ ละครได้เซาะให้เห็นเบื้องหลังว่า อำนาจของกลุ่มทุนจีนอาจไม่ได้ดำเนินไปตามสัมมาอาชีวะเสมอไป เพราะบ่อยครั้งอำนาจดังกล่าวก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมิจฉาทิฐิ เช่น การใช้ความรุนแรง การขูดรีดเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์บนความขัดแย้งระหว่างกัน     จากคนรุ่นบุพการีของตัวละครทั้ง 5 ที่มารวมตัวกันเป็น “สมาคมเลือดมังกร” ด้านหนึ่งก็คือการผนวกผสานทุนและผลประโยชน์เอาไว้ในมือของกลุ่มตน แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนการได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่มีการใช้อาวุธและความรุนแรงประหัตประหารไม่ต่างจากมาเฟียหรืออั้งยี่แต่อย่างใด    แต่เมื่อมาถึงคนรุ่นลูก ละครเองก็กำลังบอกเราว่า ลึกๆ แล้วคนรุ่นหลังก็ไม่ได้เห็นพ้องกับการสั่งสมทุนที่เกิดจากวิถีการขูดรีดบนกองเลือดเท่าใดนัก ตัวละครอย่างภรพ ทรงกลด หรือคณิน ที่ขัดแย้งกับบิดาเพราะไม่อยากสืบต่อธุรกิจของสายตระกูล หรือตัวละครอย่างธามและหงส์ที่มีบาดแผลอันเนื่องมาแต่สถาบันครอบครัว สะท้อนให้เห็นแรงบีบคั้นของกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ว่า เป็นภาวะจำยอมเข้าสู่อำนาจ มากกว่าจะมาจากความปรารถนาจริงๆ ของปัจเจกบุคคลเหล่านั้น    ในฟากหนึ่ง ละครก็มีมุมเล็กๆ เรื่องปมความรักของตัวละครอย่างภรพกับ “วันวิสา” ทรงกลดกับ “อาจู” ธามกับ “ย่าหยา” คณินกับ “แพน” และหงส์กับ “อาหลง” ซึ่งนั่นก็เป็น “จุดขาย” ของละครที่ต้องใช้โรมานซ์เป็นกลไกของการดำเนินเรื่องให้มีปมขัดแย้งและดึงดูดความสนใจของผู้ชม    แต่ในอีกฟากหนึ่ง การที่ตัวละครต้องเข้าไปอยู่ในสนามการแข่งขันเพื่อสร้างความจำเริญเติบโตของทุนจีนรุ่นใหม่ ก็ยังมีด้านที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธประหัตประหารไม่ต่างจากหัวหน้าแก๊งในรุ่นพ่อ แต่ทว่า “เลือดมังกร” รุ่นหลังก็พยายามสร้างความชอบธรรมขึ้นมาใหม่ว่า ไม่เพียงแต่พวกเขาและเธอจะไม่มีทางเลือกอื่นที่จะหลุดพ้นไปจากอำนาจ แต่การขึ้นสู่อำนาจของคนกลุ่มนี้ก็พยายามสถาปนาโฉมหน้าใหม่จากระบอบทุนนิยมเดิมไปสู่ระบอบทุนนิยมแบบ CSR    ถึงแม้จะก่อรูปอำนาจของทุนขึ้นมาจากการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง หรือใช้การขูดรีดอันเป็นพื้นฐานของระบอบทุนไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม แต่กลุ่มสหายทั้ง 5 คนกลุ่มนี้ก็คือ ทุน “เลือดมังกร” ที่ใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อผดุงคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีพื้นฐานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินที่ให้ข้าวให้น้ำกับบรรพชนของคนเหล่านี้ตั้งแต่ยุค “เสื่อผืนหมอนใบ”    ขณะเดียวกัน การตัดสินใจขึ้นสู่อำนาจของพวกเขาก็ถูกประเมินว่า น่าจะดีเสียกว่าที่จะปล่อยให้มาเฟียในกลุ่มก๊วนและแก๊งอื่นๆ ขึ้นมามีอำนาจแทน เพราะไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง “เถ้าแก่เฮ้ง” “เสี่ยเคี้ยง” “เสี่ยเล้ง” “เสี่ยบุ๊ง” และสหพรรคพวกลิ่วล้อและตัวร้ายอีกมากมาย ก็คือตัวแทนอีกปีกหนึ่งของทุนจีนที่ขาดซึ่งคุณธรรมใดๆ     ภายใต้วิถีการเติบโตของทุนจีนในกระแสจีนาภิวัตน์เยี่ยงนี้ ละคร “เลือดมังกร” ก็คือภาพสัญลักษณ์ที่ไม่เพียงฉายให้เราเห็นการสั่งสมอำนาจของคนกลุ่มนี้ แต่ละครก็ยังมีนัยอีกด้านหนึ่งว่า ถึงแม้กลุ่มทุน “เลือดมังกร” รุ่นใหม่จะดำเนินชีวิตไปด้วยอำนาจเศรษฐกิจที่สั่งสมอยู่ในมือ แต่นั่นก็เป็นอำนาจที่ “ฟอกขาว” ไว้ด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบและคุณธรรมแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระบอบเศรษฐกิจยุคใดสมัยใด                                 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 สุดแค้นแสนรัก : มนุษย์เราล้วนมีบาดแผลด้วยกันทุกคน

“ความรัก” กับ “ความแค้น” อาจไม่ใช่สองเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกันเสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นประดุจเหรียญหนึ่งเหรียญที่มีทั้งสองด้านพันผูกเอาไว้ด้วยกันมากกว่า    ปรมาจารย์ต้นตำรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ผู้เลื่องชื่ออย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราต่างก็มีปมแบบ “love-and-hate complex” หรือปมในจิตใจแบบที่ความรักกับความแค้นมักเกิดควบคู่กัน คล้ายๆ กับที่คนไทยมีความเปรียบเปรยว่า “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” หรือ “รักมากก็แค้นมาก” ซึ่งสะท้อนปมคู่ที่ไขว้กันของรักและแค้นนั่นเอง    ทัศนะเรื่องปมเหรียญสองด้านของความรักกับความแค้นแบบนี้ ก็คือภาพจำลองที่ฉายออกมาผ่านตัวละครมากมายในหมู่บ้าน “หนองนมวัว” ซึ่งเธอและเขาต่างก็มีมุมสองด้าน ที่เป็นมุม “สุดแค้น” ในเวลาหนึ่ง แต่ก็มีมุมแบบ “แสนรัก” ในเวลาเดียวกัน    หากขยายความตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ในช่วงพัฒนาการบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคลในสังคมทุกวันนี้นั้น มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนแต่ถูกสังคมมอบ “บาดแผล” บางอย่างขึ้นมาเป็นปมภายในจิตใจของตนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง “แย้ม” ที่เปิดฉากมากับความโกรธเกลียดและแค้นครอบครัวของ “อัมพร” ผู้เป็นลูกสะใภ้ ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นบุตรสาวของ “ขัน” ผู้ที่พลั้งมือฆ่า “เทือง” สามีของแย้มจนเสียชีวิต    ความแค้นที่อยู่ในใจของแย้ม ชนิดเผาพริกเผาเกลือสาปส่งกันระหว่างสองตระกูล ได้กลายมาเป็น “บาดแผล” ที่มิอาจใช้ยาทิงเจอร์ไอโอดีนเยียวยาได้ ซ้ำยังกลับปะทุเป็นเชื้อฟืนเผาไหม้ไปสู่ตัวละครอื่นๆ ในท้องเรื่องเสียอีก     เริ่มจากตัวละครในครอบครัวของแย้มเอง ลูกชายคนโตอย่าง “ประยงค์” ก็ถูกโทสะจริตของมารดาผลักให้เขาต้องยืนอยู่บนทางสองแพร่งแบบ “ทางหนึ่งก็แม่ ทางหนึ่งก็เมีย” หรือลูกชายคนรองอย่าง “ประยูร” ที่แม้จะรู้สึกผิด แต่ก็ต้องเลือกเข้าข้างมารดา และยอมแต่งงานกับ “สุดา” ซึ่งลึกๆ ก็หวังฮุบสมบัติของแย้มเอาไว้เป็นของตน ในขณะที่ลูกสาวคนเล็กอย่าง “พะยอม” ก็ต้อง “ยอมฉันยอมเจ็บปวด” ด้วยการแต่งงานโดยปราศจากความรักกับ “ลือพงษ์” เพียงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนการแก้แค้นกับครอบครัวของศัตรู    ทางฝ่ายตัวละครในอีกครอบครัวหนึ่งนั้น ก็ถูกผูกโยงเข้าสู่วัฏจักรแห่งบาดแผล อันเกิดมาแต่ความแค้นของแย้มไม่แตกต่างกัน นับตั้งแต่กรณีของอัมพรที่แย้มกลั่นแกล้งพรากเอา “ยงยุทธ” ลูกชายคนโตมาจากอ้อมอก จนเธอต้องจำใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับ “อ่ำ” ผู้เป็นมารดา ในขณะที่น้องสาวของอัมพรหรือ “อุไร” ซึ่งเป็นคนรักของลือพงษ์ นอกจากจะไม่อาจสมหวังในรักแล้ว เธอยังต้องแบกหน้าอุ้มท้องเลี้ยงดูลูกในครรภ์แต่เพียงลำพัง    สิ่งที่เรียกว่า “ความแค้นของคนรุ่นหนึ่ง” ดูเหมือนจะไม่ได้จบลงแค่ในคนรุ่นนั้น หากแต่บาดแผลมีการสืบทอดเป็นวังวนผ่านคนแต่ละรุ่น และมนุษย์ที่อยู่ในวังวนดังกล่าวก็มีสถานะเป็นเพียงแค่ “ร่างทรง” ที่สืบต่อและรองรับปมบาดแผลต่างๆ ของคนรุ่นก่อนเอาไว้เท่านั้น เหมือนกันกับความเจ็บปวดจากคนรุ่นแย้มและอ่ำที่ได้สืบทอดมาสู่รุ่นลูก และมีแนวโน้มจะส่งต่ออีกคำรบหนึ่งมายังรุ่นหลานๆ ในเจนเนอเรชั่นถัดมา    และภายใต้บาดแผลความเจ็บปวดในจิตใจของเรา ฟรอยด์เองก็ได้กล่าวว่า เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดและดำรงตัวตนต่อไปได้นั้น จิตของเราจะสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาเพื่อเยียวยาบาดแผลให้บรรเทาทุเลาลง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “กลการป้องกันตนเองทางจิต” หรือ “defensive mechanism” ที่คนแต่ละคนจะเลือกใช้วิถีการรักษาบาดแผลของตนแตกต่างกันไป    ในขณะที่แย้มเลือกใช้วิธีการ “ไขว่คว้า” ความสุขของหลานชายมาเป็นเครื่องมือการแก้แค้นของตน และ “ถ่ายโอน” ความเจ็บปวดของตนไปยังตัวละครอื่นๆ สำหรับตัวละครอย่างอ่ำกลับเลือกใช้กลยุทธ์การ “ข่มใจ” หรือปิดกั้นบาดแผลเอาไว้ด้วยธรรมะและพระศาสนา     ส่วนในรุ่นลูกๆ ของแย้มและอ่ำนั้น ในขณะที่ทั้งประยูรและพะยอมเลือกใช้กลไก “สองจิตสองใจ” ไม่ทำเพื่อแม่ก็ไม่ได้ แต่ถึงทำก็รู้สึกผิดอยู่ลึกๆ แต่ประยงค์พี่ชายคนโตกลับใช้วิธี “ถอนตัว” จากความเจ็บปวดและตรอมใจตายตั้งแต่ต้นเรื่องไปเสียเลย     ทางฝ่ายของอัมพรที่ถูกพรากลูกชายไปตั้งแต่ยังเล็ก ก็เลือกใช้กลไกการ “ถอยหลัง” กลับไปหาความปลอดภัยจากมารดา และเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งใหม่กับ “ทวี” นายตำรวจแสนดีมีคุณธรรม ส่วนอุไรผู้เป็นน้องสาวก็ใช้กลยุทธ์ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” กับครอบครัวของแย้ม เพียงเพื่อปิดกั้นปกป้องตนเองจากความเจ็บปวดทางใจ ซึ่งตรงข้ามกับลือพงษ์ ที่ใช้วิธีเลือก “ปลีกตัว” ออกไปจากสนามรบความรักความแค้นของทั้งสองตระกูล แต่ก็ไม่อาจสลัดหลุดจากความรู้สึกเจ็บปวดนั้นได้จริง    ไม่ว่าตัวละครต่างๆ จะเลือกหยิบกลไกป้องกันตนเองแบบใดมาบำบัดเยียวยาบาดแผลในจิตใจ แต่คำตอบที่แน่ๆ ก็คือ กลไกมากมายหลายชนิดดังกล่าวก็มิอาจสลายความเจ็บปวดให้มลายหายไปจนหมด หากแต่ทำได้เพียงบรรเทาโลภะโทสะโมหะของมนุษย์ให้ลดลงได้บ้างชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น     ครั้นมาถึงรุ่นของหลานๆ บุญคุณความแค้นที่ตอกย้ำสืบทอดมาจากบรรพชน ก็เริ่มเห็นริ้วรอยความขัดแย้งที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อพี่น้องอย่างยงยุทธและ “ธนา” ต้องเข้ามาสู่เกมแย่งชิงพิชิตหัวใจของผู้หญิงคนเดียวกันอย่าง “คุณหมอหทัยรัตน์” หรือในกรณีของความรักระหว่าง “ระพีพรรณ” กับ “ปวริศ” ก็ต้องเจ็บปวดและมิอาจสมหวังได้ เนื่องมาจากทิฐิความแค้นของบุพการีเพียงอย่างเดียว    ในท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อตัวละครทั้งหลายเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าใจความจริงของชีวิต และรู้จักที่จะอโหสิกรรมให้อภัยกันและกัน ละคร “สุดแค้นแสนรัก” เองก็ได้ให้คำตอบกับเราไปพร้อมๆ กันว่า ถ้า “ความรัก” กับ “ความแค้น” เป็นสองคำที่อยู่บนเหรียญสองด้านในจิตใจแล้ว หากมนุษย์เราไม่หัดรู้จักตัดวงจรของความโกรธที่ “สุดแค้น” ลงให้ได้ บาดแผลในจิตใจของเราก็มิอาจสูญสลายหายไป และอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่เรียกว่า “แสนรัก” ก็คงมิอาจเกิดขึ้นได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 นางชฎา : จาก “ผีนางนาก” สู่ “ผีนางรำ”

ในบรรดาผีที่ออกอาละวาดผ่านโลกของสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ชมละครโทรทัศน์ชาวไทย ชื่อแรกคงหนีไม่พ้น “ผีนางนาก” หรือบ้างก็เรียกว่า “แม่นาคพระโขนง” นั่นเอง    จับความตามท้องเรื่องของนางนากนั้น เป็นเรื่องเล่าตำนานกล่าวขานมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในสยามประเทศยังล้าหลังอยู่ เมื่อ “อ้ายมาก” ต้องถูกเกณฑ์ทหารไปร่วมสงคราม “นางนาก” ที่คลอดลูกตามวิถีแบบโบราณ ก็เกิดเสียชีวิตตายทั้งกลม    ด้วยความรักและผูกพันกับสามีนั้น นางนากจึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด และกลายเป็นผีอุ้มลูกในตำนาน ที่คอยปรนนิบัติพัดวีตำน้ำพริกดูแลอ้ายมากอยู่หลายเพลา กว่าที่เธอจะถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์มาปลดปล่อยวิญญาณ และเรื่องจบลงในท้ายที่สุด    นับกว่าศตวรรษผ่านไป เมื่อระบบสาธารณสุขไทยก้าวหน้าขึ้น และสูตินารีเวชศาสตร์กลายเป็นองค์ความรู้ที่เข้ามาจัดการดูแลความปลอดภัยให้กับสตรีมีครรภ์ หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า แล้วตำนานความเชื่อแนวผีสาวเฝ้ารอความรักแบบนางนากนั้น จะสูญหายกลายกลืนไปกับกระแสธารแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ด้วยหรือไม่?    คำตอบก็คือ ผีนางนากอุ้มลูกที่อยู่ท่าน้ำริมคลองอาจจะไม่ได้หายไปหรอก หากทว่าเปลี่ยนรูปจำแลงร่างให้ดูเป็นผีสาวที่เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ต่างจากตัวละครผีนางรำสวมชฎาอย่าง “ริลณี” ที่รอคอยการกลับมาของหนุ่มหล่อคนรักในวัยเรียนอย่าง “เตชิน”         ถ้าหากผีนางนากต้องพลัดพรากจากสามีเพราะระบบการจัดการสุขภาพที่ล้าหลังและไม่ปลอดภัย แล้วเหตุอันใดที่ทำให้ผีริลณีจึงมีอันต้องพลัดพรากจากเตชินชายคนรักของเธอ?     ในสังคมสมัยใหม่นั้น แม้วิถีการผลิตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพลเมืองจะก้าวหน้าไปเพียงไร แต่อีกด้านที่ล้าหลังของสังคมดังกล่าวก็คือ การธำรงอยู่ของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่ยังคงคุกรุ่นและทับทวีความรุนแรงให้เห็นเข้มข้นยิ่งขึ้น     นี่เองที่เป็นเหตุผลหลักที่รักระหว่างริลณีกับเตชินมิอาจลงเอยแฮปปี้เอนดิ้งไปได้ เพราะเธอเป็นเด็กสาวที่เติบโตมาในสถานกำพร้า และต้องรับจ้างเป็นนางรำ “เต้นกินรำกิน” เพื่อเลี้ยงชีพ และเพราะเขาคือนักศึกษารุ่นพี่ที่เติบโตมาในครอบครัวผู้มีอันจะกิน และมีอนาคตอาชีพการงานที่ก้าวไกล ความสมหวังในความรักของทั้งคู่จึงเป็นไปไม่ได้เลย     แบบที่ “จิตรา” ผู้เป็นมารดาของเตชิน เคยกล่าวปรามาสถากถางริลณีที่กำลังคบหาดูใจกับบุตรชายว่า “ฉันจะไม่ยอมให้ผู้หญิงชั้นต่ำไม่มีหัวนอนปลายเท้าอย่างเธอเข้ามาเกี่ยวดองกับคนในตระกูลอย่างแน่นอน”     และบทเรียนที่จิตราสั่งสอนให้กับริลณีในระลอกแรกก็คือ ทั้งการข่มขู่คุกคาม การพยายามใช้เงินซื้อ การส่งคนไปเพื่อหวังจะทำร้าย ไปจนถึงการว่าจ้างคนร้ายให้ไปเผาสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ริลณีกับเพื่อนๆ เติบโตมา     ส่วนในระลอกถัดมา ริลณีก็ถูกทดสอบบทเรียนจากบรรดาเพื่อนๆ ในสถาบันการศึกษา ซึ่งในขณะที่เธอเป็นกำพร้าและไม่มีทุนอันใดติดตัวมาแต่กำเนิดเลย แต่เพื่อนรอบข้างกลับเป็นผู้ที่ทั้งมีและเพียบพร้อมไปในทุกด้าน     ไม่ว่าจะเป็น “ปริมลดา” ที่รูปร่างหน้าตาสวยกว่า “เอกราช” ที่มีฐานะมั่งคั่ง “ตุลเทพ” ที่มีความสามารถและชื่อเสียง “ประวิทย์” ที่เรียนหนังสือเก่ง “เชิงชาย” ที่เป็นคนเจ้าเสน่ห์ “หงส์หยก” ที่เป็นลูกสาวพ่อค้าผู้มั่งมี และรวมไปถึงเพื่อนรักที่เป็นนางรำคู่ของริลณีอย่าง “ชมพู” ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานานุรูป จึงถูกญาติผู้ใหญ่จับให้เป็นคู่หมั้นหมายกับเตชิน    เพราะปมขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่หยั่งรากลึกเกินกว่าความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพใดๆ ริลณีจึงถูกเลือกปฏิบัติจากบรรดาเพื่อนๆ ที่หล่อสวยรวยทรัพย์กว่าเหล่านี้ ตั้งแต่ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม การใส่ร้ายป้ายสี การกระทำทารุณทางกายและใจ การถูกคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการที่ผองเพื่อนร่วมสมคบกันวางแผนที่จะข่มขืนเธอ จนนำมาซึ่งความตายและการพลัดพรากจากชายคนรัก    และเพราะ “อำนาจ” ในสมรภูมิขัดแย้งระหว่างชนชั้นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ริลณีจึงเรียนรู้ว่าถ้าเธอไม่รู้จักที่จะใช้อำนาจ ในที่สุดเธอก็จะถูกใช้อำนาจจากคนที่สูงสถานะกว่า    ดังนั้น แม้เมื่อตอนมีชีวิต ริลณีจะถูกกระทำโดยที่เธอเองไม่มีทางต่อกร แต่หลังจากสิ้นสังขารกลายเป็นผีไปแล้ว ริลณีก็ใช้อำนาจเหนือธรรมชาติมาล้างแค้นและจัดการกับผองเพื่อนไปทีละราย เพื่อให้ตัวละครเหล่านั้นได้เรียนรู้ว่า หากต้องมาตกอยู่ในสถานะที่ถูกกระทำอย่างเธอบ้างแล้ว เขาและเธอจะมีความรู้สึกเช่นไร ไม่เว้นแม้แต่จิตราผู้เป็นมารดาของเตชิน ริลณีก็ใช้อำนาจของผีหลอกจนจิตราหวาดกลัวแทบไม่เป็นผู้เป็นคน    เมื่อเทียบกับผีนางนากที่แก้แค้นกับทุกคนที่เข้ามาขัดขวางเป็นอุปสรรคความรักของอ้ายมากกับเธอ ผีสาวริลณีก็ใช้วิธีจัดการกับตัวละครทุกคนที่ไม่เพียงขัดขวางความรักเท่านั้น แต่ยังล้างแค้นกลุ่มคนที่มีสถานะทางชนชั้นเหนือกว่า แต่กลับพรากเอาชีวิตของเธอไปอย่างไม่ยุติธรรม     ในทางหนึ่ง ละครเรื่อง “นางชฎา” ได้มอบอุทาหรณ์ว่า ใครทำกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับผลกรรมนั้นตอบแทน หรือการอโหสิกรรมและการไม่ยึดติดต่อกรรมใดๆ จะช่วยปลดปล่อยให้เราหลุดพ้นและเป็นสุขในสัมปรายภพ     แต่ในอีกทางหนึ่ง ตราบใดที่ความขัดแย้งทางชนชั้นยังคงดำรงอยู่ ข้อคิดที่พระอาจารย์คงได้เทศน์สอนใจตัวละครทั้งหลาย ก็ยังคงถูกต้องเสมอว่า “ถึงเราจะคิดว่าผีร้าย แต่ก็อาจไม่ร้ายเท่ากับคน” ตราบเท่าที่คนเหล่านั้นยังมีรักโลภโกรธหลงและเดียดฉันท์กันข้ามชั้นชนระหว่างคนด้วยกันเอง                                 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 แก้วตาหวานใจ : อุดมคติกับความเป็นจริงของครอบครัว

ในบรรดาเรื่องราวและเรื่องเล่าที่อยู่ในละครโทรทัศน์นั้น ดูเหมือนว่า เรื่องราวเกี่ยวกับ “สถาบันครอบครัว” เป็นเนื้อหาที่ละครมักจะหยิบยกมากล่าวถึงเป็นอันดับแรกๆ อาจเนื่องด้วยว่าครอบครัวเป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับชีวิตของคนเรามากที่สุด จนช่วงเวลาไพรม์ไทม์มิอาจมองข้ามเรื่องราวดังกล่าวไปได้เลย             แต่คำถามก็คือ ถ้าภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวจักต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก และสมาชิกครอบครัวที่รักผูกพันกันแน่นแฟ้น อุดมคติแบบนี้กับความเป็นจริงที่เราเห็นในละครจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเดียวกันมากน้อยเพียงไร?             คำตอบต่อข้อคำถามนี้ก็คือ “อุดมคติ” เป็นภาพที่สังคมคาดฝันว่าอยากไปให้ถึง หรืออาจเป็นจินตกรรมความฝันในความคิดของใครหลายๆ คน แต่ภาพฝันของครอบครัวที่อบอุ่นครบครันพ่อแม่ลูกและหมู่มวลสมาชิกในบ้านนั้น ช่างเป็นภาพที่พบเห็นได้ยากหรือพบได้น้อยมากในละครโทรทัศน์ เหมือนกับภาพชีวิตครอบครัวของ “มดตะนอย” เด็กสาวตัวน้อยที่เติบโตมาโดยที่ไม่เคยได้พานพบหน้าบิดามารดาของตนเองเลย             เพราะคุณแม่วัยใสอย่าง “แม่กวาง” ผู้เป็นมารดา รู้สึกผิดที่ตั้งครรภ์ลูกน้อยตั้งแต่วัยเรียน ดังนั้นหลังจากที่ให้กำเนิดมดตะนอยมาแล้ว เธอจึงหลบลี้หนีหน้าไปอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่ “พ่อหมึก” ผู้เป็นบิดาเอง ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ตนมีลูกสาวกับเขาหนึ่งคน แม่กับพ่อจึงไม่เคยได้เลี้ยงหรือใกล้ชิดกับมดตะนอย และปล่อยให้เด็กสาวตัวน้อยเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของ “ลุงช้าง” พระเอกของเรื่อง             จนกระทั่งหลายปีผ่านไป พ่อหมึกได้ทราบข่าวจากเพื่อนว่า ตนเคยมีบุตรสาวหนึ่งคนตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนมหาวิทยาลัย เขาเองก็ต้องการตามหาลูก จึงไหว้วานให้ “ไข่หวาน” ผู้เป็นน้องสาว เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อสืบค้นหาที่อยู่ของมดตะนอย             จะว่าเป็นพรหมลิขิต หรือการผูกเรื่องของนักเขียนบทให้เกิดเงื่อนปมขัดแย้งอย่างไรมิอาจทราบได้ แต่ในที่สุด สาวห้าวผู้รักรถยนต์เป็นชีวิตจิตใจอย่างไข่หวาน ก็มีอันได้มาพำนักพักอยู่ในบ้านของลุงช้างหนุ่มหวานขี้งอนและรักการทำครัวเป็นพ่อบ้านพ่อเรือน โดยมีมดตะนอยกลายเป็นกามเทพสื่อรักตัวน้อยระหว่างลุงช้างกับอาไข่หวานแบบไม่รู้ตัว             ภายใต้โครงเรื่องแบบที่กล่าวมานี้ ละครได้ผูกโยงฉายให้เห็นภาพของสถาบันครอบครัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ทั้ง “สะท้อน” ภาพความจริงเอาไว้ด้านหนึ่ง ทั้ง “ตอกย้ำบรรทัดฐาน” เอาไว้อีกด้านหนึ่ง ในขณะเดียวกับที่ “ชี้นำ” หรือ “ตั้งคำถามใหม่ๆ” ให้ผู้ชมได้ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับครอบครัวเอาไว้เช่นกัน             ในลำดับแรกที่ละคร “สะท้อน” ภาพความจริงของครอบครัวเอาไว้นั้น ถ้าเราคิดถึงภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวที่ต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกที่รักใคร่อบอุ่นผูกพัน เพราะลูกมักถูกตีความว่าเป็น “แก้วตา” ในขณะที่คู่ชีวิตก็มีสถานะเป็น “หวานใจ” แต่ทว่า ภาพของละครกลับสะท้อนฉายไปที่ความเป็นจริงของสังคมในอีกทางหนึ่งว่า ชีวิตครอบครัวแท้จริงนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จเหมือนกับภาพอุดมคติดังกล่าวเพียงด้านเดียว ภาพที่พ่อไปทางและแม่ไปทาง อาจเป็นชีวิตที่จริงแท้ยิ่งกว่าของครอบครัวได้เช่นกัน             แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า เด็กที่เกิดมาภายใต้บรรยากาศครอบครัวแตกแยกจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาเสมอไป ตราบเท่าที่ยังมีฟันเฟือนตัวอื่นที่หมุนให้สถาบันครอบครัวขับเคลื่อนต่อไปได้ ครอบครัวก็ยังคงดำเนินไปและผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ที่น่ารักและเป็นเด็กดีแบบมดตะนอยได้ไม่ต่างกัน             ในแง่นี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ครอบครัวที่เป็นไปตามขนบจารีตไม่อาจตอบโจทย์ของคนยุคนี้ได้อย่างสมบูรณ์อีกต่อไปแล้ว แต่ครอบครัวจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับว่า คนแต่ละกลุ่มหรือใครแต่ละคนจะเป็นผู้คิดค้นนิยามและตีความความหมายให้กับครอบครัวของเขาแบบแตกต่างกันไป             ฉะนั้น เมื่อขาดซึ่งพ่อกับแม่ มดตะนอยก็ยังมีลุงช้างที่ทำหน้าที่แทนทั้งเป็นพ่อและแม่ที่เลี้ยงเด็กน้อยให้เติบโตมาเป็นคนดี หรือแม้แต่ช่วงที่มีไข่หวานมาพำนักอาศัยใต้ชายคาเดียวกัน ไข่หวานก็ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ “อาไข่หวาน” หากแต่ยังเล่นบทบาทเป็น “แม่ในจินตนาการ” ของมดตะนอยไปในเวลาเดียวกัน             ในขณะที่ด้านหนึ่งละครก็ “สะท้อน” สิ่งที่ “กำลังเป็นอยู่” ว่า ชีวิตจริงของครอบครัวร่วมสมัยไม่ได้อบอุ่นหรือเป็นไปตามอุดมคติ แต่ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกครอบครัวจะตีความและรังสรรค์สายสัมพันธ์ระหว่างกันของตนเองจริงๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ในมุมฉากจบของละคร ก็เลือกที่จะรอมชอมด้วยการตอกย้ำกลับไปที่ภาพบรรทัดฐานที่ “ควรจะเป็น” ของครอบครัวว่า พ่อแม่ลูกที่อยู่พร้อมหน้าค่าตากัน ก็ยังเป็นอุดมคติที่ทุกๆ ครัวเรือนยังวาดฝันเอาไว้             เพราะฉะนั้น แม้จะพลัดพรากจากแม่กวางและพ่อหมึกไปตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อถักทอสายสัมพันธ์ของครอบครัวให้กลับคืนมา ในฉากจบของเรื่อง ละครก็ได้ยึดโยงให้มดตะนอยได้พบพ่อกับแม่ และหวนกลับมาร่วมสร้างครอบครัวที่เชื่อว่า “สมบูรณ์” กันอีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ลุงช้างและอาไข่หวานก็ได้ลงเอยกับความรัก และเริ่มที่ก่อรูปก่อร่างสร้างครอบครัวในอุดมคติกันไปอีกทางหนึ่ง             แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ไม่เพียงแต่สะท้อนหรือตอกย้ำเท่านั้น ละครอย่าง “แก้วตาหวานใจ” ยังได้เลือกใช้เส้นทางการ “ชี้นำ” หรือ “เสนอทางเลือกใหม่ๆ” ให้เราได้เห็นด้วยว่า แล้วภาพความจริงที่เราเคยยึดเคยเชื่อกับความสัมพันธ์ที่เวียนวนอยู่ในครอบครัวนั้น จำเป็นต้องเป็นเฉกเช่นนั้นอยู่ทุกครั้งจริงหรือไม่             ภาพตัวละครอย่างลุงช้างที่ชอบทำครัว เลี้ยงเด็ก หรืองุนงงสับสนทุกครั้งที่เกิดรถเสีย กับภาพที่ตัดสลับมาที่อาไข่หวาน ที่เป็นหญิงห้าว สนใจกับงานช่างงานซ่อมรถยนต์ ล้างจานแตกเสมอๆ ก็เป็นตัวอย่างของภาพที่ตั้งคำถามใหม่ๆ กับคนดูว่า ผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องชอบเรื่องที่ใช้กำลังร่างกายและผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องรักสวยรักงามรักเรื่องที่ละเอียดอ่อนเสมอไป บทบาททางเพศของหญิงชายในสถาบันครอบครัวพร้อมที่จะสลับไปมาระหว่างกันได้ตลอดเวลา             ภายใต้การเล่นบทบาทของละครแบบ “เหรียญสามด้าน” ที่ทั้งฉายภาพสะท้อนสิ่งที่ “กำลังเป็น” ตอกย้ำภาพที่ “ควรจะเป็น” และตั้งคำถามใหม่ๆ กับภาพที่ “อาจจะเป็น” เช่นนี้ ในท้ายที่สุด เมื่อละครจบลง ก็คงทำให้เราได้ฉุกคิดว่า ในอุดมคติของความเป็นครอบครัวนั้น มดตะนอย ลุงช้าง อาไข่หวาน ตัวละครต่างๆ รวมถึงตัวเราเอง จะขับเคลื่อนนำพานาวาชีวิตครอบครัวของแต่ละคนกันไปเช่นไร                                                                                                

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 บ้านศิลาแดง : การกลับมาแก้แค้นอีกครั้งของ “แรงเงา”

เมื่อราวสองปีก่อน สังคมไทยได้เกิดปรากฏการณ์ “วันแรงเงาแห่งชาติ” ที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ได้ออกอากาศ และกระชากเรตติ้งจนทำให้สรรพชีวิตหยุดการเคลื่อนไหวชั่วคราว เพียงเพื่อรอรับชมละครเรื่องดังกล่าวที่หน้าจอโทรทัศน์ ในครั้งนั้น เรื่องราวได้ผูกให้ “มุตตา” หญิงสาวโลกสวยแต่ถูกผู้ชายอย่าง “ผอ.เจนภพ” หลอกให้รักและหลง จนในที่สุดเธอก็ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม เพราะไม่อาจทนอยู่ในสภาพภรรยาน้อยที่ถูกคุกคามจากภรรยาหลวงอย่าง “นพนภา” ได้อีกต่อไป และนั่นก็เป็นที่มาของการแก้แค้นของ “มุนินทร์” พี่สาวฝาแฝดที่ปลอมตัวมาเป็นน้องสาวเพื่อทำลายครอบครัวของ ผอ.เจนภพ และนพนภาเป็นการเอาคืน และเป็นจุดกำเนิดของตำนานฉาก “ตบน้อยหน้ากระทรวง ตบหลวงหน้ากอง” อันเลื่องชื่อ สองไปผ่านไป (ไวเหมือนโกหกจริงๆ) ปรากฏการณ์แบบแฝดพี่แฝดน้องสลับตัวเพื่อแก้แค้นในลักษณาการเช่นนี้ ก็ได้หวนวนกลับมาซ้ำรอยอีกคำรบหนึ่งในละครเรื่อง “บ้านศิลาแดง” เรื่องราวเปิดฉากขึ้นมาที่คฤหาสน์บ้านศิลาแดง เมื่อ “พรเพ็ญ” ลูกสาวของ “เอกรินทร์” ซึ่งนอนป่วยเป็นอัมพาตอยู่บนเตียง ได้ถูกกลั่นแกล้งจากแม่เลี้ยงใจร้ายอย่าง “สโรชา” ร่วมกับ “ณัฐพงศ์” และ “อาภาพร” พี่น้องลูกติดและเป็น “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ของสโรชานั่นเอง แม้จะมีศักดิ์เป็นลูกสาวเจ้าของบ้านศิลาแดงก็ตาม แต่พรเพ็ญก็ถูกเลี้ยงดูมาประหนึ่งคนรับใช้ และเรียนจบแค่ชั้น ม.3 เพราะสโรชาไม่ต้องการให้เธอฉลาดและเผยอทัดเทียมลูกทั้งสองคนของเธอ จึงกดขี่พรเพ็ญไว้เยี่ยงทาส กับอีกด้านหนึ่งก็เพื่อจะหาทางครอบครองเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกับฮุบสมบัติของเอกรินทร์เอาไว้ทั้งหมด   ในขณะเดียวกัน “เพ็ญพร” หญิงสาวปราดเปรียวทายาทเจ้าของบริษัทสวนเสาวรส ได้เรียนจบวิชาบริหารจากต่างประเทศกลับมา เพ็ญพรไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตนเองมีพี่สาวฝาแฝดอยู่อีกคน แต่กระนั้น ลึกๆ ในจิตใจเธอก็รู้สึกได้ถึงความผูกพันกับพี่สาวที่ไม่เคยเจอหน้าค่าตากันมาก่อน และทุกครั้งที่พี่สาวถูกแม่เลี้ยงข่มเหงทำร้าย เพ็ญพรก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกทุกข์ทรมานไม่ต่างกัน ด้วยเหตุดังกล่าว เพ็ญพรจึงเริ่มสืบสาวราวเรื่องเหตุการณ์และเหตุปัจจัยที่เธอมีความรู้สึกผูกพันกับชะตากรรมของใครบางคนอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด เมื่อสองพี่น้องได้โคจรมาพบกัน ปฏิบัติการสลับร่างสวมรอยของฝาแฝดทั้งสองคนจึงเริ่มต้นขึ้น พี่สาวที่หัวอ่อนยอมคนก็ได้มีโอกาสเข้ามาใกล้ชิดกับ “เดือนฉาย” มารดาที่พลัดพรากจากกันไปนาน ในขณะที่น้องสาวผู้แข็งแกร่งกว่า ก็ได้เข้าไปดูแลบิดาที่ป่วย และกลั่นแกล้งแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้าย เพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกลับคืน พร้อมๆ กับการสลับตัวไปมาจนสร้างความสับสนให้กับนายตำรวจอย่าง “ตรัย” และนักธุรกิจหนุ่มอย่าง “วิทวัส” ชายหนุ่มสองคนผู้เป็นพระเอกของเรื่องไปในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ย้อนกลับไปในละครเรื่อง “แรงเงา” นั้น ตัวละครอย่างมุตตาผู้เป็นน้องสาวฝาแฝดต้องเสียชีวิตก่อน “แรง” แห่ง “เงา” ของมุนินทร์ผู้พี่สาวจึงค่อยสวมรอยกลับมาทวงหนี้แค้นคืน ทว่า ในเรื่อง “บ้านศิลาแดง” วิธีการผูกเรื่องกลับต่างออกไป เพราะน้องสาวอย่างเพ็ญพรไม่ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมกับชีวิตพี่สาวพรเพ็ญเสียก่อน แต่เธอกลับเลือกเข้ามาสวมบทบาทสลับร่างแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้ายไปตั้งแต่ต้นเรื่องเลย แล้วเหตุอันใดเล่าที่ทำให้ตัวแสดงอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญ จึงเลือกกระทำการแตกต่างไปจากฝาแฝดมุตตากับมุนินทร์? คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ปมหลักของความขัดแย้งที่ต่างกันไปในชีวิตของคู่แฝดทั้งสองคู่ ในขณะที่ปมปัญหาหลักของมุตตาหญิงสาวอ่อนโลกมาจากเหตุปัจจัยเรื่อง “รักๆ ใคร่ๆ” ซึ่งในทัศนะของคนชั้นกลางทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและของใครของมันที่จะต้องจัดการกันเอาเอง แต่กับกรณีของเพ็ญพรและพรเพ็ญนั้น ปมความขัดแย้งใหญ่ของเรื่องกลับอยู่ที่ “บ้านศิลาแดง” อันเป็นมรดกที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นของบรรพชนมาจนถึงเอกรินทร์ผู้เป็นบิดา และมีแนวโน้มว่ามรดกทั้งบ้าน ที่ดิน และศฤงคารทรัพย์เหล่านี้ ก็น่าจะสืบต่อมาอยู่ในมือของคู่แฝดอย่างพวกเธอ หากมองผาดดูแบบผิวเผิน มรดกก็คือสินทรัพย์ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสืบทอดและมอบต่อให้กับลูกหลานที่อยู่ในสายตระกูลของตน แต่อันที่จริงแล้ว อีกด้านหนึ่งของมรดก ก็มีสถานะเป็น “ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของคนชั้นกลางในยุคปัจจุบัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ต่างถือเป็น “ทรัพย์สิน” ที่คนชั้นกลางมีศักยภาพที่จะแปลงให้มันกลายเป็น “ทุน” เพื่อจะได้ใช้ต่อยอดผลิดอกออกผลต่อไปได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น มรดกโภคทรัพย์ดังกล่าวจึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่คนชั้นกลางเริ่มรู้สึกหวั่นไหวว่า มรดกบ้านและที่ดินทั้งหลายของตนมีแนวโน้มจะถูกครอบครองหรือพรากส่วนแบ่งไปด้วยอำนาจของผู้อื่น คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มเข้ามาต่อสู้ต่อกรกับอำนาจดังกล่าวนั้น (ซึ่งก็คงคล้ายๆ กับภาพความขัดแย้งจริงๆ ที่กำลังปะทุอยู่ในเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือแม้แต่เหตุการณ์ทางสังคมที่พี่น้องเข่นฆ่ากันได้เพียงเพื่อแย่งสมบัติประจำตระกูล) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ หน้าตา บารมี และทุนทรัพย์แบบนามธรรมอื่นๆ ที่ถือเป็นปัจจัยการผลิตอันพ่วงแนบมากับมรดกคฤหาสน์และที่ดินของบ้านศิลาแดงอีก ที่ฝาแฝดพี่น้องทั้งสองต้องพิทักษ์สิทธิ์และผลประโยชน์เอาไว้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุปัจจัยจากความขัดแย้งในมรดกนี่เอง ตัวละครอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญจึงยอมไม่ได้ หากแม่เลี้ยงสโรชาและบรรดาสหพรรคพวกของเธอจะมาผลาญพร่า “ชุบมือเปิบ” ไปแต่โดยง่าย เหมือนกับประโยคที่เพ็ญพรมักจะพูดกับสโรชาและลูกของเธออยู่เป็นประจำว่า “จะผลาญสมบัติพ่อของฉันกันอีกแล้วเหรอ...” ครั้งหนึ่งคนชั้นกลางไทยอาจจะมีความคิดว่า “มีทองเท่าหนวดกุ้ง ยังนอนสะดุ้งจนเรือนไหว” แต่มาถึงยุคนี้ หากจะต้องเสียทั้งทองและทรัพย์สมบัติมรดกที่สั่งสมผ่านสายตระกูลกันมา คงจะเป็นเงื่อนไขที่คนกลุ่มนี้ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน ก็เหมือนกับชีวิตตัวละครพี่น้องเพ็ญพรและพรเพ็ญนั่นแหละ ที่ต้องจัดการปัญหาเรื่องมรดกอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของตนให้ได้เสียก่อน ส่วนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กับพระเอกหนุ่มของเรื่อง ค่อยมาแฮปปี้เอนดิ้งในภายหลัง หรือเรียกง่ายๆว่า ให้ “lucky in game” ก่อน แล้วเรื่อง “lucky in love” ค่อยมาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 แอบรักออนไลน์ : ลองหัดเงยหน้าในสังคมก้มหน้า

นักวิชาการชาวแคนาดาท่านหนึ่งที่ชื่อ มาร์แชล แมคลูฮัน เคยกล่าววลีคลาสสิกเอาไว้ว่า “สื่อคือสาร” อันหมายความว่า ถ้าปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ เติบโตมากับวิถีการสื่อสารเช่นไร บุคลิกภาพของเขาหรือเธอก็จะมีแนวโน้มถูกกำหนดให้เป็นไปคล้ายคลึงกับเบ้าหลอมรูปแบบการสื่อสารเช่นนั้น ถ้าเราเติบโตมาในบรรยากาศที่วิถีการสื่อสารเป็นการพูดคุยแบบเห็นหน้าค่าตากัน เราก็จะมีทักษะการอ่านคนเป็น และเชื่อว่าความไว้วางใจจะมีได้ก็ต้อง “รู้จักหัวนอนปลายเท้า” เท่านั้น แต่คำถามก็คือ หากทุกวันนี้ มวลมนุษย์เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิถีการสื่อสารแห่งโลกเสมือน พูดคุยสื่อสารได้แม้แต่กับคนไกลที่ไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อน คำถามก็คือ บุคลิกภาพของเราที่อยู่ในชุมชนเสมือนจะถูกหลอมหล่อกันออกมาเยี่ยงไร คำตอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว สามารถส่องดูได้จากความสัมพันธ์ของสามตัวละครหลัก อันได้แก่ สาวออฟฟิศรุ่นใหญ่รุ่นเล็กอย่าง “อวัศยา” และ “พริบพราว” ที่เล่นบทบาท “แอบรักออนไลน์” เพื่อพิชิตหัวใจของหนุ่มหล่อแสนดีวัยเบญจเพสอย่าง “ปราณนต์” สำหรับตัวละครหลักคนแรกคืออวัศยา หญิงวัยสามสิบต้นๆ กับบุคลิกเคร่งขรึมคร่ำครึในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทหลักทรัพย์นาราภัทร แม้ด้านหนึ่งเธอจะถูกตั้งฉายาจากเพื่อนร่วมงานว่าเป็น “อสรพิษสี่ตา” แต่ในอีกด้านหนึ่ง อวัศยาก็มีความทรงจำติดตรึงอยู่กับภาพของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เคยช่วยชีวิตเธอเอาไว้จากการถูกรถชนเมื่อหลายปีก่อน ส่วนปราณนต์ก็คือ “ผู้ชายในฝัน” คนดังกล่าว ที่หลายปีให้หลังได้ย้อนกลับมาสมัครงานในแผนกเดียวกับที่อวัศยาดูแลอยู่ โดยที่คู่แข่งในหน้าที่การงานของเขาก็คือพริบพราว สาวนักเรียนนอกจากบอสตันที่ได้มาทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการคนใหม่ของ “ลิปดา” บอสใหญ่เจ้าของบริษัทนาราภัทรนั่นเอง ตัวละครสามคนไม่เพียงถูกเชื่อมโยงกันด้วยหน้าที่การงานในบริษัทเท่านั้น หากแต่การมีอีกส่วนหนึ่งของชีวิตในโลกเสมือน “ออนไลน์” ก็ได้ผูกร้อยเชื่อมรัดคนสามคนให้ก้าวเดินเข้าสู่ปริมณฑลแห่งโลกใหม่ที่เป็น “สังคมก้มหน้า” ที่มนุษย์ติดอยู่กับโลกเสมือนโดยไม่เคยเงยมองความจริงที่อยู่ตรงหน้าแต่อย่างใด   มูลเหตุของเรื่องเริ่มต้นจากที่อวัศยาได้พบกับปราณนต์ในวันที่เขามาสัมภาษณ์งานกับเธอ ความทรงจำในช่วงวัยสาวแรกรุ่นถึง “ชายในฝัน” ผู้นี้ก็ได้ย้อนเวลากลับมา อวัศยาจึงเพียรหาทางที่จะได้พูดคุยกับปราณนต์ผ่านโปรแกรมแชตออนไลน์ โดยสมมติชื่อนามแฝงเป็น “คุณแอบรัก” เมื่ออวัศยาพบว่าปราณนต์เพิ่งอกหักจากแฟนสาวมา เธอก็ใช้คุณแอบรักคอยปลอบประโลมจิตใจและกลายเป็นที่ปรึกษาปัญหาต่างๆ ให้กับชายหนุ่มผ่านสื่อออนไลน์ โดยที่เขาเองก็ไม่ทราบเลยว่า คุณแอบรักก็เป็นคนเดียวกับเจ้านายสาว “อสรพิษสี่ตา” ซึ่งเห็นหน้าค่าตาที่ออฟฟิศอยู่ทุกวัน ภายใต้ความสัมพันธ์ในโลกเสมือนแบบนี้ ละครได้สะท้อนให้เราเห็นความคาดหวังที่แตกต่างกันของผู้ชายและผู้หญิงต่อความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน เพราะในขณะที่บุรุษเพศอย่างปราณนต์เข้าสู่โลกออนไลน์โดยคาดหวังจะมีผู้หญิงสักคนที่เป็น “คู่คิด” คอยให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ในชีวิต แต่ผู้หญิงอย่างอวัศยากลับค้นหาผู้ชายหนึ่งคนเพียงเพราะต้องการให้เขามาเป็น “คู่เสน่หา” แม้ว่าจะอยู่ในโลกเสมือนก็ตาม และหากวลีที่ว่า “สื่อคือสาร” เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องด้วยแล้ว ไม่ว่าผู้ชายจะคาดหวัง “คู่คิด” หรือผู้หญิงจะคาดหวัง “คู่เสน่หา” แต่ในความผูกพันที่เกิดขึ้นผ่านสื่อเสมือนออนไลน์ ก็ได้เข้ามากำหนดชีวิตของตัวละคร ให้ค่อยๆ ถอยห่างจาก “ความจริงแท้จริง” มาสู่ “ความจริงแบบเสมือน” มากขึ้น เพราะฉะนั้น ภายใต้อำนาจของโลกเสมือน ตัวละครที่ผูกร้อยกันอยู่ในพื้นที่ออนไลน์จึงปรับบุคลิกภาพของตนไปตามโลกใหม่ที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ และกลายเป็นบุคลิกของคนที่ “ช่างมโน” โดยไม่ยืนอยู่กับความจริงแท้จริงใดๆ อวัศยาได้เริ่มต้น “มโน” จินตนาการความสัมพันธ์แบบรักต่างวัยระหว่างเธอกับพนักงานหนุ่มรุ่นน้อง และสร้างตำนานความรักผ่านดอกไม้ที่ชื่อกิ๊บเก๋ว่า “love in the mist” หรือ “รักในสายหมอก” โดยที่อีกทางหนึ่งก็กังวลว่าปราณนต์และคนรอบข้างจะรู้ความลับว่าเธอกำลังสวมบทบาทเป็นคุณแอบรักในโลกเสมือน ส่วนพริบพราวเอง ที่พบว่าผู้ชายดีๆ ในยุคไฮสปีด ช่างเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดยิ่งนัก เธอจึงเลือกโดดมาเล่นเกมในสังคมออนไลน์ ปลอมตัวเป็นคุณแอบรักแบบเสมือนๆ ซ้อนทับไปอีกชั้นหนึ่ง และยังวางหมากวางกลเพื่อแย่งหัวใจของปราณนต์มาจากอวัศยาให้จงได้ ในขณะเดียวกัน ปราณนต์ซึ่งกำลังติดกับดักของสังคมออนไลน์อยู่เช่นกัน เขาก็แอบหลงรักผู้หญิงเสมือนอย่างคุณแอบรัก แม้จะไม่รู้ว่าตัวจริงเธอคือใคร เพราะฉะนั้นเขาจึงเที่ยวถามผู้หญิงแต่ละคนที่วนเข้ามาในชีวิตอยู่เสมอว่า “คุณใช่แอบรักหรือเปล่า” ภายหลังจากที่ตัวละครทั้งหมดถูกยึดโยงเข้าสู่พื้นที่สังคมเสมือนเดียวกัน สังคมเสมือนดังกล่าวนั้นก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้น และพัฒนาไปถึงจุดสุดขั้นของตัวมัน เมื่อตัวละครที่ก้มหน้าอยู่ในโลกออนไลน์ ได้จำลองโลกเสมือนให้กลายเป็นโลกจริงขึ้นมาในที่สุด เหมือนกับพริบพราวซึ่งต้องการเอาชนะอวัศยา จนถึงกับสร้างฉากเสแสร้งจมน้ำทะเลเพื่อให้ปราณนต์ว่ายน้ำมาช่วย โดยที่ตัวละครทุกคนก็เริ่มแยกไม่ออกแล้วว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องล้อเล่นกันแน่ สังคมเสมือนอาจช่วยให้ผู้คนที่อยู่ไกลกันได้ผูกโยงมาพานพบและ “แอบรักออนไลน์” ได้ก็จริง แต่ถ้าชุมชนเสมือนที่คนเราใช้ชีวิตอยู่นั้น ค่อยๆ สถาปนาตัวมันขึ้นมาเป็นโลกความจริงเสียเองแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องลวงเยี่ยงนี้ ก็ดูเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกไม่น้อย ก็คงเหมือนกับคำพูดของบอสลิปดาที่เตือนสติอวัศยาซึ่งเริ่มแยกไม่ออกระหว่างตัวเธอกับคุณแอบรักว่า “ก็เพราะคุณมัวแต่ก้มหน้าส่งข้อความไปหาเพื่อนที่ไกล...ไกล๊...ไกล... แต่ผมซึ่งนั่งอยู่ตรงหน้านั้น คุณกลับไม่เคยเงยหน้ามาสนใจเสียเลย” สำหรับชีวิตที่ดำเนินไปในโลกเสมือนที่ดูจะเสมือนแม้แต่ในเรื่องความรักและความสัมพันธ์ หากเรารู้จักหัดเงยหน้าขึ้นมาจากสังคมที่ผู้คนเอาแต่ก้มหน้าอยู่ตลอดเวลา ความรักความผูกพันจริงๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องติดกับดักอยู่ในเรื่องเสมือนแบบลวงๆ อีกต่อไป  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 168 ทางเดินแห่งรัก : เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เส้นทางชีวิตของคนเรา มักถูกตั้งคำถามเสมอว่า เป็นเส้นทางที่เราสามารถเลือกเดินได้เอง หรือเป็นวิถีที่สังคมได้เข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ให้เราดำเนินไปในเส้นทางนั้น ยิ่งหากเป็น “ทางเดินแห่งรัก” ของบรรดาสตรีเพศทั้งหลายด้วยแล้ว เส้นทางที่ผู้หญิงเลือกเดิน มักมีอันต้องต่อรองอย่างยิ่งยวดกับข้อเรียกร้องและความเป็นจริงที่สังคมเข้ามาขีดกำหนดโชคชะตาชีวิตของพวกเธอ คงเหมือนกับตัวละครผู้หญิง 4 คน ผู้เป็นตัวแทนของผู้หญิง 4 เจนเนอเรชั่น อย่าง “ศศิ” “อ้อม” “ซัน” และ “เจน” ที่ด้านหนึ่งก็สานมิตรภาพระหว่างกันอย่างแนบแน่น กับอีกด้านหนึ่ง ตัวละครเหล่านี้ก็กำลังว่ายวนอยู่ใน “ทางเดินแห่งรัก” แตกต่างวิถีกันไป เริ่มจากศศิผู้เป็นพี่ใหญ่ หลังจากแต่งงานกับ “โจ” เธอก็ลาออกจากงานที่กำลังก้าวหน้าเพื่อมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกๆ แบบเต็มตัว จาก “ดาบที่เคยไกว” คงเหลือแต่ “เปลที่ต้องแกว่ง” ประกอบกับชะตากรรมที่สามีเจ้าชู้มีกิ๊กกระจายหว่านไปทั่วเต็มบ้านเต็มเมือง ชีวิตวันๆ ของศศิจึงต้องผันแปรมายุ่งอยู่แต่กับเรื่อง “เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้กับใคร” ในกรณีของนักเขียนอิสระอย่างอ้อม ภายหลังจากแต่งงานกับ “หมอวิน” ไปตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่เพราะหมอวินเป็นหนุ่มไทยเชื้อสายจีน ทางครอบครัวของหมอจึงกดดันอ้อมทุกวิถีทางที่จะให้เธอมีหลานชายไว้สืบต่อวงศ์ตระกูล อ้อมจึงวุ่นวายอยู่แต่กับเรื่องการอยากตั้งครรภ์ การนับวันไข่ตก การเล่นโยคะและบริหารร่างกาย การกินวิตามินเสริมสารพัด เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือการตั้งท้องให้จงได้ ส่วนกรณีของซัน ผู้ได้รับฉายาจากผองเพื่อนว่าเป็นดอกไม้เหล็กแห่งวงการโฆษณา ที่ทั้งสวย ดุ แรง มุ่งมั่นทำงาน โดยไม่สนใจหมายตาบุรุษเพศ เนื่องจากปมในใจที่ครั้งหนึ่งเธอเคยทั้ง “หักอก” และ “อกหัก” จาก “วุธ” ชายคนรักในวัยเรียน จนไม่กล้าจะบอกรักเขา ไม่คิดจะมีรักใหม่ และไม่อาจจะลืมเลือนความรักเมื่อครั้งอดีตได้   และสุดท้ายคือเจน สาวน้อยพีอาร์เครื่องสำอางแบรนด์ดัง ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักการตลาดมือเยี่ยมในอนาคต แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็มีเหตุต้องมาสะดุดรักเป็นพ่อแง่แม่งอนกับเพื่อนร่วมงานอย่าง “อาร์ต” แถมยังต้องวุ่นๆ กับตัวละครอีกมากมายในชีวิตทำงานเข้าให้อีก หากนำภาพของตัวละครทั้ง 4 คนนี้มาต่อจิ๊กซอว์ย้อนกลับหลัง จะพบว่า ชีวิตของตัวละครเหล่านี้ได้ร้อยเรียงให้เห็นเป็น “หลักกิโล” ที่แทบไม่จะต่างไปจาก “สูตรสำเร็จ” ในการเดินทางของผู้หญิงจำนวนมาก ตั้งแต่เริ่มชีวิตรักกุ๊กกิ๊ก มาถึงช่วงตัดสินใจจะลงเอยกับชีวิตคู่ เข้าสู่ช่วงความพยายามมีลูกหลังชีวิตสมรส และปิดท้ายด้วยการเป็นแม่และเมียที่ดีที่จะสืบทอดสถาบันครอบครัวไปสู่อนาคต แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงหลักกิโลใดในทางเดินแห่งรักนั้น เส้นทางชีวิตของผู้หญิงดูเหมือนจะไม่ได้โรยเอาไว้ด้วยกลีบกุหลาบเสียเลย ตั้งแต่ช่วงเริ่มชีวิตรักแบบ “puppy love” ด้วยหน้าที่การงานที่ยังไม่เสถียร ควบรวมกับความฝันแบบซินเดอเรลล่าที่รอให้มีเจ้าชายมาจุมพิตในฉากจบนั้น ก็เป็นบททดสอบแรกว่า เจนจะเดินฝ่าข้ามด่านดังกล่าวไปได้หรือไม่ อย่างไร เมื่อเดินทางมาสู่ช่วงตัดสินใจจะมีชีวิตคู่ การเลือกระหว่างความก้าวหน้าในอาชีพการงาน กับประเด็นรักใหม่ รักเก่า และมิตรภาพตั้งแต่วัยเยาว์ ก็ได้กลายมาเป็นปมปัญหาที่ซันต้องเรียนรู้ และหาบทสรุปที่จะก้าวเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อทางที่จะเดินไปสู่ความรักนั้นมีแนวโน้มจะไม่สมหวังและไม่ลงตัว ครั้นเมื่อชีวิตคู่และการครองเรือนได้เริ่มต้นขึ้น ผู้หญิงก็ต้องเผชิญปัญหาแบบแปลกๆ ใหม่ๆ จากคนรอบข้าง เหมือนกับที่อ้อมไม่เพียงต้องปรับตัวให้เข้ากับชายคนรักที่บัดนี้ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นสามีที่ร่วมเรียงเคียงหมอนร่วมหอลงโรง แต่ยังต้องปรับตนไปตามข้อเรียกร้องของครอบครัวและเครือญาติที่ตามมาใหม่อีกมากมาย และบททดสอบสุดท้ายที่ยืนยันว่า ทางเดินความรักของผู้หญิงไม่ได้มีกลีบกุหลาบมาโรยเอาไว้อยู่รายทางเลยก็คือ แม้เมื่อได้ลงเอยแต่งงานมีลูกเป็นเรือพ่วงและโซ่ทองคล้องใจแล้ว ศศิที่ได้ลาออกจากชีวิตการงาน ก็ต้องมาวุ่นวายอยู่กับปัญหาสารพันที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตหลังแต่งงาน โดยละทิ้งความฝันซึ่งครั้งหนึ่งเธออยากจะมีความก้าวหน้าในโลกภายนอกพื้นที่ปริมณฑลของครอบครัวและบ้านเท่านั้น ด่านหินๆ ยิ่งกว่าเกม “โหดมันฮา” เช่นนี้ ได้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งว่า ปัญหาของผู้หญิงมีเหตุที่เกิดมาจากหลากหลายแหล่งที่มา นับตั้งแต่เป็นปัญหาที่มาจากตัวของเธอเอง เป็นปัญหาที่มาจากผู้ชายแต่ละคนที่เข้ามาเป็นเงื่อนไขในชีวิตของพวกเธอ เป็นปัญหาที่มาจากสังคมรอบข้างรอบตัว และที่สำคัญ ปัญหาจำนวนมากของผู้หญิงก็อาจเนื่องมาแต่ผู้หญิงด้วยกันนั่นเอง ไม่ต่างไปจากตัวละครผู้หญิงอย่าง “แพท” คู่แข่งชิงดีชิงเด่นตั้งแต่สมัยเรียนของซัน ที่ได้ก้าวเข้ามายุ่งวุ่นวายเป็นคู่แข่งในอาชีพการงาน ผู้หญิงอย่างแพทพยายามจะเอาชนะผู้หญิงด้วยกันในทุกๆ ทาง ไม่ว่าจะเข้าแทรกแซงครอบครัวของศศิจนเกือบจะหย่าร้างกับสามี และกลั่นแกล้งเพื่อเอาชนะซันในทุกวิถีทาง ทางเดินในชีวิตของผู้หญิงจึงมีอีกด้านที่ปัญหาเกิดมาแต่ผู้หญิงที่เป็นเพศและมีโครโมโซมเดียวกัน แต่ถึงกระนั้น แม้ “ทางเดินแห่งรัก” ของผู้หญิงจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามในทุกช่วงทุกจังหวะของชีวิต หรืออาจจะเป็นปัญหาจากผู้หญิงด้วยกันก็ตาม แต่ในมุมเล็กๆ ที่ละครได้วาดไว้อย่างน่าสนใจก็คือ ปัญหาของผู้หญิงจะซัดกระหน่ำมาด้วยเหตุผลกลใด ซินเดอเรลล่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ หรือการแต่งงานจะมีบทสรุปแฮปปี้เอนดิ้งแบบในนิยายเยี่ยงไร ก็อาจจะไม่สำคัญ แต่ด้วยมิตรภาพของตัวละครผู้หญิงทั้ง 4 คน ก็น่าจะเป็นคำตอบต่อปัญหาของผู้หญิงยุคนี้ได้ว่า ถ้าผู้หญิงต่างคนต่างปัญหาและต่างเจนเนอเรชั่น ได้มีโอกาสมาถักทอความเป็นเพื่อนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาเหล่านั้นร่วมกัน ปัญหาดังกล่าวก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาของผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมที่ผองเพื่อนผู้หญิงอาจช่วยแสวงหาทางออกได้พร้อมๆ กันไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 167 ภพรัก : วิญญาณเร่ร่อนในสังคมที่แปลกแยก

ในสมัยเมื่อนักปรัชญาสังคมชาวเยอรมันที่ชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ ยังมีชีวิตอยู่นั้น เขาเคยอธิบายไว้ว่า เมื่อระบบทุนนิยมได้พัฒนาไปจนถึงขีดสุดแล้ว สังคมของมนุษย์เราก็จะก้าวเข้าสู่สภาวะที่มนุษย์ต้องอยู่กับ “ความแปลกแยก” ทั้งแปลกแยกกับโลกรอบตัว แปลกแยกกับคนอื่น และแปลกแยกกับตนเอง “ความแปลกแยก” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “alienation” นั้น มาจากรากศัพท์คำว่า “a-” ที่แปลว่า “ไม่มี” กับ “-lien” ที่หมายถึงความสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็หมายถึง สภาวะที่มนุษย์ถูกตัดขาดสายสัมพันธ์หรือแรงเกาะเกี่ยวระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ออกไป และในท้ายที่สุด มนุษย์เราก็จะตัดขาดได้แม้กระทั่งกับตัวตนของตัวเอง สภาพการณ์ดังกล่าวก็คงไม่ต่างไปจากตัวละครวิญญาณเร่ร่อนกลับคืนร่างไม่ได้ของ “น้ำริน” ที่เมื่อยังมีสติสมบูรณ์อยู่นั้น เธอได้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่แปลกแยกและสายสัมพันธ์รอบด้านได้ถูกลิดรอนออกไป ตั้งแต่ฉากแรกในการเปิดตัวของน้ำรินนั้น เธอกำลังเลือกชุดแต่งงานอยู่ โดยมี “ธารา” ผู้เป็นมารดา ให้คำปรึกษาผ่านทางวิดีโอลิงค์ ก่อนที่มารดา  จะต้องรีบขอตัวไปเข้าประชุมงานด่วน ดังนั้น แม้จะอยู่ในช่วงเวลาพิเศษของชีวิตบุตรสาว แต่ดูเหมือนภาพของน้ำรินก็สะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ที่ห่างเหินและแปลกแยกแม้กับหน่วยเล็กที่สุดของชีวิตอย่างสถาบันครอบครัว และกับคู่หมั้นหมายอย่าง “ภพธร” หรือกับเพื่อนรักอย่าง “นับดาว” เบื้องหลังของคนทั้งสองที่แอบคบหากันและทรยศหักหลังน้ำริน ก็ไม่ต่างจากการชี้ให้เห็นว่า แม้แต่กับคนใกล้ชิดหรือไว้ใจที่สุดในทุกวันนี้ ความรักและมิตรภาพก็อาจจะถูกสะบั้นออกไปได้ภายใต้สังคมที่กำลังแปลกแยกระหว่างกัน ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้โดยชื่อตัวละครทั้งหลาย จะบ่งนัยถึงความสัมพันธ์ที่น่าจะพันผูกกันไว้อย่างแนบแน่น ระหว่างผืนน้ำ (อย่างชื่อของน้ำรินและธารา) ผืนดิน (แบบชื่อของภพธร) และผืนฟ้า (เหมือนกับชื่อของนับดาว) แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว นั่นก็คงเป็นเพียงแค่ “ชื่อ” ที่หาได้ผูกพันหรือมีความสำคัญทางใจเช่นไรไม่   เพราะฉะนั้น เมื่อความไว้ใจ มิตรภาพ และความรัก เริ่มเป็นสิ่งที่แร้นแค้นและถูกลิดกิ่งลิดใบออกไปจากจิตใจของคน น้ำรินจึงไม่ต่างจากตัวละครที่กำลังเวียนว่ายอยู่ในภาวะแปลกแยกและไร้ซึ่งสายสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัว ภาพที่ฉายความแปลกแยกให้เห็นชัดเจนที่สุด ก็คือฉากที่น้ำรินขับรถสปอร์ตซิ่งบนท้องถนนแข่งกับ “ชลชาติ” เพียงเพราะเธอหมั่นไส้ว่า เขาเป็นใครก็ไม่รู้จัก แต่กล้ามาท้าทายเธอที่กำลังขับรถคันงามอยู่ และเพราะถนนก็สถานที่ที่มนุษย์มักแปลกแยกกับเพื่อนร่วมโลกที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน สภาวะดังกล่าวเช่นนี้ก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุ อันเป็นจุดเริ่มต้นของปมขัดแย้งต่างๆ ที่อยู่ในท้องเรื่องนั่นเอง จากอุบัติเหตุในครั้งนั้น ทำให้วิญญาณของน้ำรินต้องหลุดออกจากร่าง กลายเป็นดวงวิญญาณเร่ร่อนที่ไม่เพียงแต่แปลกแยกกับโลกรอบตัว แต่ยังเป็นวิญญาณที่เกิดอาการ “ความจำเสื่อม” แปลกแยกกับร่างกายของตนเองไปเสียอีก ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า ความจำเสื่อมเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อคนๆ นั้นเผชิญหน้ากับสภาวะทางจิตแบบสุดขีด เช่น กลัวสุดขีด ตกใจสุดขีด หรือเสียใจสุดขีด จิตก็จะทำการปกป้องตนเองให้ delete ไฟล์ความทรงจำดังกล่าวออกไปจากสาระบบ แต่ในทางสังคมศาสตร์แล้ว เราอาจพิจารณาอาการความจำเสื่อมได้ว่า เป็นสภาพที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของสังคม แต่เราเองไม่อาจปรับตัวยอมรับกับความผันแปรดังกล่าวได้ จนนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมที่ไม่อาจทนยอมอยู่ในสภาพเยี่ยงนั้นต่อไป หลังจากที่น้ำรินกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนและความจำเสื่อม เพราะไม่อาจปรับตัวเข้ากับภาวะแปลกแยกกับสังคมรอบตัวได้เช่นนี้ เธอก็ได้รับความช่วยเหลือจาก “หมวดเหยี่ยว” พระเอกหนุ่มของเรื่อง และอีกด้านก็เป็นตัวละครที่กลับมีความทรงจำฝังแน่นอยู่กับความเจ็บปวดในอดีตที่เคยเห็นบิดามารดาประสบอุบัติเหตุต่อหน้า เมื่อวิญญาณที่ความทรงจำสูญหายไปกับมนุษย์ที่ความทรงจำฝังตรึงแน่นได้ข้ามภพมาพบพานกัน แม้จะดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็คงเป็นเช่นที่หมวดเหยี่ยวได้กล่าวกับน้ำรินขณะที่โดยสารรถไฟไปด้วยกันว่า “คุณดูนะ รางรถไฟเป็นเส้นขนานไปเรื่อยๆ แต่มันมีจุดที่รางรถไฟมาบรรจบกัน...มันก็เลยมีรางสองคู่มาตัดกันเหมือนทางแยกของถนนไง ชีวิตคนสองคนก็เป็นเส้นขนานเหมือนรางรถไฟ มันไม่มีโอกาสเจอกันจนกว่าจะถึงจุดที่เรียกว่าพรหมลิขิต...” ด้วยพรหมลิขิตที่ทำให้น้ำรินได้มาพานพบกับหมวดเหยี่ยว และด้วยความช่วยเหลือจาก “ปริก” วิญญาณผีเร่ร่อนอีกตน ซึ่งในอดีตชาติคือสาวใช้ผู้ภักดีและเคยสาบานว่าจะดูแลน้ำรินตลอดไป สายสัมพันธ์หลายๆ เส้นที่ขาดหายไปจากชีวิตของน้ำริน ก็ค่อยๆ ได้รับการซ่อมแซมกอบกู้กลับคืนมา เริ่มจากวิญญาณของน้ำรินที่ได้เรียนรู้ถึงความผูกพันระหว่างเธอกับธาราผู้เป็นมารดาที่ไม่เคยเลือนหายไปจริงๆ ได้ค้นพบมิตรภาพเส้นใหม่ที่ผูกโยงเธอไว้กับผียายปริกตั้งแต่ชาติปางก่อน หรือแม้แต่ได้เข้าใจในกรรมและภพชาติที่ร้อยรัดเป็นพรหมลิขิตกับคู่แท้อย่างหมวดเหยี่ยว รวมไปถึงการย้อนกลับไปเริ่มต้นเรียนรู้และทบทวนให้เข้าใจตนเองเสียใหม่ คล้ายๆ กับฉากที่วิญญาณน้ำรินค่อยๆ เพียรพยายามฝึกจับตุ๊กตาหมีสีฟ้าที่หมวดเหยี่ยวซื้อมาฝาก และเรียนรู้ที่จะเข้าใจประโยคที่ปริกพูดอยู่เป็นเนืองๆ ว่า “ในชีวิตของเรา ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลของตัวเองทั้งสิ้น” การย้อนกลับไปเข้าใจตนเองและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตที่อยู่แวดล้อมรอบตนเองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ปลดปล่อยให้น้ำรินและตัวละครรายรอบได้เข้าใจชีวิตภายใต้สภาวะแปลกแยกเท่านั้น ผลานิสงส์ยังเอื้อให้ดวงวิญญาณของเธอกลับคืนสู่ร่างได้ในท้ายที่สุด ปัญหาของชีวิตมนุษย์ที่ต้องกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนอยู่ในวังวนแห่งความแปลกแยกนั้น แท้จริงอาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัวเท่านั้น แต่ยังอาจเนื่องมาแต่การที่เรา “มองไม่เห็น” คุณค่าของสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันต่างหาก หาก “นวล” หญิงชราตาบอดผู้เป็นยายของหมวดเหยี่ยว สามารถสัมผัสรับรู้และ “มองเห็น” ได้ถึงวิญญาณของน้ำรินที่กำลังเร่ร่อนไปมา ความหวังและคำถามของผู้คนในสังคมแห่งความแปลกแยกก็คือ แล้วตัวละครอย่างน้ำรินที่ตาไม่ได้บอดเลยนั้น เธอก็น่าจะ “มองเห็น” คุณค่าของตนเองและเพื่อนมนุษย์รอบตัวได้ไม่แตกต่างกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 166 เงา : เมื่อมัจจุราชสวมบทบาทเป็นนักวิจัย

“มนุษย์เราต่างก็มีกรรมเป็นประดุจเงาตามตัว” สัจธรรมความจริงข้อนี้ ดูจะเป็นแก่นแกนหลักที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “เงา” ตั้งใจผูกเรื่องเอาไว้ให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้ชม ตามแก่นของเรื่องราวข้างต้น ตัวละครทั้งหมดที่เวียนว่ายเกิดแก่เจ็บตายและเกิดใหม่ในอีกชาติภพ ต่างก็สร้างผลกรรมดีชั่วแตกต่างกันไป และเมื่อสังขารแตกดับไปแล้ว กำเกวียนและกงเกวียนนั่นเองที่จะหมุนเป็น “เงาตามตัว” เพื่อพิพากษาว่าใครจะได้รับผลอย่างไรในสัมปรายภพ กับการพิสูจน์ความจริงข้อนี้ ละครโทรทัศน์เรื่อง “เงา” ก็ได้เลือกมองผ่านตัวละคร “วสวัตดีมาร” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มัจจุราชผู้พิพากษาดวงวิญญาณต่างๆ ที่แตกดับไปตามอายุขัยของตน หากมนุษย์คนใดทำคุณงามความดีเอาไว้ พญามัจจุราชก็จะมายืนอยู่ปลายเท้าเพื่อรับส่งดวงวิญญาณนั้นไปสู่สุคติ แต่หากบุคคลใดทำแต่ผลกรรมความเลวไว้ พญามารก็จะยืนเป็น “เงา” เหนือหัว และพิพากษาลงทัณฑ์ดวงวิญญาณนั้นในนรกภูมิ แต่ดูเหมือนว่า สถิติที่พญามัจจุราชท่านได้สำรวจไว้ก็พบว่า สัดส่วนของวิญญาณที่มีกรรมชั่วติดเป็นเงาตามตัว นับวันจะดูมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุให้พญามารถึงกับเกิดความสงสัย และเริ่มสิ้นหวังกับการสั่งสมผลกรรมความดีของปุถุชน ท่านจึงเริ่มจะแสวงหาคำตอบเพื่อจะดูว่า ตนยังพอจะมีความหวังให้กับมนุษย์กับการทำความดีอีกต่อไปหรือไม่ และแม้วสวัตดีมารจะครองตนอยู่ในอีกภพภูมิที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของมนุษย์จะสัมผัสจับต้องหรือชั่งตวงวัดได้ แต่ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งก็คือ วิธีการค้นหามาซึ่งคำตอบต่อข้อสงสัยของพญามาร กลับเลือกใช้กระบวนการทำวิจัยในแบบนักวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการพิสูจน์ให้เห็นความเป็นจริงรอบตัวด้วยวิธีการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์   ด้วยเหตุดังกล่าว ภายใต้ “โจทย์ของการวิจัย” ที่ว่า “เพราะเหตุใดมนุษย์ทุกวันนี้จึงทำความดีน้อยลง” วสวัตดีมารจึงลงมือทำงานวิจัยสนาม (หรือที่ภาษาเก๋ๆ จะเรียกว่า “field study”) ด้วยการแปลงตัวมาใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนทั่วไปในชื่อ “ท่านชายวสวัต” และเข้าร่วมสังเกตการณ์และสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนแล้วคนเล่า เพื่อตอบข้อสงสัยตามโจทย์ที่กล่าวมานั้น ประกอบกับอีกด้านหนึ่ง ละครก็ตั้งคำถามที่น่าสนใจพ่วงเข้าไปอีกด้วยว่า แม้จะเป็นมัจจุราชพญามาร แต่นั่นก็ใช่ว่า ท่านชายวสวัตจะหลุดพ้นไปจากกงล้อแห่งกรรมไม่ เพราะอดีตชาติของพญามารเองก็เคยทำกรรมเลวบางประการเอาไว้ ดังนั้นท่านชายก็เลยต้องดื่มน้ำจากกระทะทองแดงทุกๆ ชั่วยาม เพื่อเป็นการลงโทษตามกรรมของตนเองไปด้วย จวบจนกว่าจะหลุดพ้นการทำหน้าที่พญามัจจุราช เมื่อสามารถหาคนที่มีปริมาตรกรรมดีและกรรมชั่วเท่าๆ กัน มารับหน้าที่ดังกล่าวสืบแทน ในฐานะของนักวิจัยเชิงประจักษ์ที่เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างปุถุชนทั้งหลายนั้น ท่านชายวสวัตได้เข้าไปผูกสัมพันธ์กับกลุ่มตัวอย่างที่น่าจะให้ข้อมูลสำคัญหลักๆ (หรือที่ภาษานักวิจัยเรียกว่า “แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ”) อย่าง “อิศรา” ตัวละครซึ่งไม่เพียงแต่ท่านชายจะหมายตาไว้ให้มาสืบต่อตำแหน่งพญามัจจุราชในลำดับถัดไป แต่เขายังเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ท่านชายเฝ้าติดตามสังเกตและสัมภาษณ์เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างเข้มข้น และเพื่อให้ข้อมูลมีความรอบด้านและน่าเชื่อถือ ท่านชายวสวัตก็ได้ใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลประกอบจากกลุ่มตัวอย่างคนอื่นๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงสามคนที่อยู่รอบตัวอิศรา เริ่มตั้งแต่ผู้หญิงคนแรก “คุณย่าอุ่น” ผู้ที่เลี้ยงดูอิศรามาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะชีวิตเวียนวนอยู่ในโลภะโทสะโมหะและประกอบแต่กรรมชั่วในชาติภพปัจจุบัน คุณย่าอุ่นจึงไม่เพียงแต่เลี้ยงดูอิศรามาอย่างผิดๆ แต่เธอยังมีดวงวิญญาณเจ้ากรรมนายเวรตามคอยรังควานหลอกหลอนจนถึงวันสิ้นลม ส่วนผู้หญิงคนที่สองก็คือ “ชาลินี” ญาติลูกพี่ลูกน้องของอิศรา ชาลินีคือตัวแทนของคนที่มีบาปกรรมติดตัวมาตั้งแต่ชาติปางก่อน และแม้จะมาเกิดในภพปัจจุบัน เธอก็ยังเลือกเป็น “ผู้หญิงหลายบาป” ทั้งฆ่าคน ฆ่าลูกของตน และทำบาปกรรมต่างๆ อย่างมากมหันต์ และเพราะบาปกรรมที่ได้ก่อเอาไว้ คุณย่าอุ่นและชาลินีที่อาจจะมีความสุขให้ได้เสพในกาลปัจจุบัน จึงไม่อาจสัมผัสถึงตัวตนที่แท้จริงของท่านชายวสวัต จนเมื่อถึงวันที่ร่างสังขารของพวกเธอแตกดับไปนั่นแหละ ที่ทั้งสองคนจึงพบว่ากรรมคือ “เงา” ที่ตามมาพิพากษาลงทัณฑ์ และเบื้องหลังธาตุแท้ของท่านชายวสวัตรูปงาม ก็คือพญามัจจุราชที่คอยทำวิจัยสำรวจบาปกรรมต่างๆ ที่พวกเธอสั่งสมเอาไว้ จนมาถึงผู้หญิงคนที่สามและเป็นหญิงคนรักของอิศราอย่าง “เจริญขวัญ” ผู้ที่คิดดีทำดี กลับฉายภาพที่แตกต่างออกไปในฐานะตัวแทนของคนที่สั่งสมแต่กุศลกรรมความดี และเสียสละเพื่อมนุษย์คนอื่นที่อยู่รอบตัว การได้มาเผชิญหน้ากับกลุ่มตัวอย่างแบบเจริญขวัญนั้น ทำให้ท่านชายวสวัตได้ข้อสรุปต่อโจทย์วิจัยที่ท่านสงสัยอยู่ว่า ด้านหนึ่งในท่ามกลางมนุษย์ปุถุชนที่เอาแต่ทำบาปทำกรรมอย่างมิอาจกลับตัว แต่ก็ยังมีมนุษย์บางคนที่พอจะเป็นความหวังและให้ความเชื่อมั่นได้ว่า คนที่ยังศรัทธาในคุณธรรมความดีจริงๆ ก็ไม่เคยหายไปจากโลกเล็กๆ ใบนี้เลย อย่างไรก็ดี แม้โดยหลักการแล้ว นักวิจัยมักถูกเรียกร้องให้วางตนเป็นกลางโดยไม่แทรกแซงความเป็นไปของกลุ่มตัวอย่าง เฉกเช่นวสวัตดีมารที่ต้องพิพากษาบาปบุญของมวลมนุษย์ไปตามข้อเท็จจริงแบบไร้อคติเจือปน แต่จริงๆ แล้ว แม้แต่มัจจุราชเองกลับพบว่า อคติและความผูกพันนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะความผูกพันกับคุณธรรมความดีของเจริญขวัญ การเดินทางมารับวิญญาณของเธอไปสู่สุคติในตอนท้ายเรื่อง ก็ยังอดทำให้พญามัจจุราชต้องรู้สึกหวั่นไหว จนไม่คิดอยากจะทำภาระหน้าที่ดังกล่าวนั้นเลย คนไทยมักจะพูดกันอยู่เสมอว่า แม้บาปกรรมอาจไม่ได้ส่งผลให้เห็นทันตาในชาตินี้ก็จริง แต่เวรกรรมก็เป็น “เงา” ที่ตามตัวไปหลังความตายอย่างแน่นอน ก็คงไม่ต่างจากรูปธรรมของภาพที่เราได้เห็นท่านชายวสวัตตามมาเป็น “เงา” เพื่อทำวิจัยสนามเก็บข้อมูล ก่อนจะสะท้อนและพิพากษาผลกรรมความดีความชั่วของสรรพชีวิตในอีกภพภูมินั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point