ฉบับที่ 157 ในสวนขวัญ : ครอบครัวของเรา ก็ต้องเป็นเราที่ดูแล

ในสังคมของมนุษย์เรามีลักษณะของครอบครัวอยู่สองประเภท คือ ครอบครัวแบบที่เราไม่ได้เลือก กับครอบครัวที่เราเลือกได้เอง ในกรณีของครอบครัวที่เราไม่ได้เลือกหรือไม่มีสิทธิ์เลือกนั้น เนื่องจากมนุษย์เราเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะตกฟากมาถือกำเนิดในครอบครัวใด เพราะฉะนั้น บรรดาพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายที่อยู่ในวงศ์วานเครือญาติและครอบครัวเดียวกับเรา ก็คือคนที่เราเลือกไม่ได้ว่าจะเกิดมาเป็นลูกเป็นหลานของใครคนใด ส่วนกรณีของครอบครัวที่เราเลือกได้นั้น ก็คือรูปแบบของครอบครัวที่มนุษย์แต่ละผู้แต่ละนามมีสิทธิที่จะสร้างขึ้นเอง โดยเลือกชายหรือหญิงที่ตนพึงใจมาเป็นสามีหรือภรรยาคู่ครองของตน แต่ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบใดก็ตาม เนื่องเพราะครอบครัวเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่ก็ใกล้ชิดกับทุกชีวิตในสังคมมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้น ครอบครัวของใคร คนๆ นั้นก็ต้องดูแลรักษาและออกแบบครอบครัวของเขาหรือเธอกันเอง และเพราะครอบครัวต้อง “ออกแบบ” หรือ “by design” แบบของใครของมัน ตัวละครอย่าง “ไม้” และ “เป็ดปุ๊ก” ในละคร “ในสวนขวัญ” จึงต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจสัจธรรมความเป็นจริงข้างต้นด้วยเช่นกัน หาก “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน” ฉันใด ปัญหาของครอบครัวใครก็เกิดแต่ภายในของครอบครัวตนฉันนั้น เฉกเช่นเดียวกับไม้ที่ความเข้าใจผิดว่า “คุณหทัย” ผู้เป็นมารดาทอดทิ้งเขาและไปแต่งงานมีครอบครัวใหม่ ก็เป็นปมในใจที่ค้างคามานับแต่วัยเด็กของไม้   ในทางเดียวกัน สำหรับครอบครัวของเป็ดปุ๊กเอง ความขัดแย้งระหว่างบิดาหรือ “คุณเชียร” กับลูกชายและลูกสะใภ้อย่าง “ไก่กุ๊ก” และ “เก็จเกยูร” ก็ทำให้ทั้งคุณเชียรและเป็ดปุ๊กต้องระเห็จออกจากบ้านมาหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งก็คือหมู่บ้านที่คุณหทัยมารดาของไม้เป็นเจ้าของนั่นเอง เมื่อเป็ดปุ๊กย้ายรกรากมาซื้อบ้านใหม่ติดอยู่กับเรือนของไม้ ด้านหนึ่งทั้งคู่อาจจะเริ่มต้นจากความผิดใจระหองระแหง เป็นพ่อแง่แม่งอนที่ไม่เข้าใจกัน แต่เพราะกลายเป็นคนบ้านใกล้ชิดรั้วติดกัน ประกอบกับไม้ที่มีอีกอาชีพหนึ่งเป็นคนจัดสวนได้เข้ามาตกแต่งสวนในบ้านให้ลุงเชียรและเป็ดปุ๊กอยู่เป็นประจำ ความใกล้ชิดก็ค่อยๆ เกิดกลายเป็นความรักในที่สุด ไม่เพียงแต่ไม้จะได้เข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหาให้กับครอบครัวของเป็ดปุ๊กในหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างได้มองเห็นปัญหาของอีกครอบครัวหนึ่ง แบบที่ตัวละครพระเอกแอบมองนางเอกจากบ้านที่ปลูกอยู่บนต้นไม้อยู่ทุกวัน ต่างฝ่ายต่างก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมที่ว่า คงไม่มีครอบครัวของใครหรอกที่จะไร้ซึ่งปัญหาใดๆ เลย เพราะฉะนั้น เมื่อพระเอกอย่างไม้ได้เข้ามาตกแต่งสวนในบ้านของเป็ดปุ๊ก รวมไปถึงร่วมมือกับวัยรุ่นในหมู่บ้าน ทำกิจกรรมแปลงเขตกองขยะให้เป็นสวนหย่อมอันร่มรื่น ก็เท่ากับการทิ้งคำถามให้กับตัวละครและผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า ถ้าเราเห็นครอบครัวและบริเวณรอบๆ เป็นแค่ “กองขยะ” มันก็จะเป็น “กองขยะ” อยู่เยี่ยงนั้น แต่หากครอบครัวเป็นอะไรบางอย่างในชีวิตที่มีคุณค่ายิ่งไปกว่านั้น ก็คงต้องเป็นเราที่พร้อมจะเก็บกวาด และแปลงครอบครัวให้เป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อชีวิตเราจริงๆ นั่นเอง แบบเดียวกับที่เป็ดปุ๊กได้ตั้งคำถามกับไม้ว่า “แล้วสวนหย่อมที่สร้างขึ้นในหมู่บ้านนี้จะมีใครมาดูแลหรือ” ซึ่งไม้ก็ตอบเธอไปว่า “ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครมาดูแล ผมก็จะมารดน้ำพรวนดินที่นี่อยู่เป็นประจำ” นั่นก็เท่ากับว่า กับครอบครัวของเรา หากเราไม่หมั่นใส่ปุ๋ยพรวนดินเอง ก็คงไม่มีใครอื่นจะมาดูแลได้ดีไปกว่าเราหรอก ในขณะเดียวกัน ตัวละครอย่างไม้และเป็ดปุ๊กก็ได้สาธิตให้เราเห็นอีกด้วยว่า วิธีการดูแลคุณค่าของครอบครัวที่ดีที่สุด ก็คือการย้อนกลับไปสื่อสารความเอื้ออาทรและ “หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ” ของคนในครอบครัวอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็เหมือนกับบรรดาเมนูอาหารไทยๆ นานาชนิด ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนเชื่อมร้อยสายใยระหว่างสมาชิกของครอบครัวดังกล่าว ในท่ามกลางสายสัมพันธ์อันเปราะบางของคนในครอบครัวยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวหมูปิ้งที่ไม้ซื้อมาฝาก “คุณย่าขวัญ” เอย น้ำพริกปลาร้าที่เป็ดปุ๊กซื้อมาฝากคุณเชียรเอย หมูมะนาวที่ไม้ใช้เป็นสื่อสมานรอยร้าวกับคุณหทัยผู้เป็นมารดาเอย ไปจนถึงสำรับอาหารอย่างปลาทูต้มเค็มที่ใช้เชื่อมสัมพันธ์ข้ามรั้วบ้านของไม้และเป็ดปุ๊ก สำรับเมนูเหล่านี้ก็คือการที่ตัวละครพยายามต่อสายใยบางเส้นให้กับสายสัมพันธ์ที่แห้งแล้งยิ่งนักในสถาบันครอบครัวยุคนี้ ในขณะเดียวกัน ในอีกหลืบมุมหนึ่งของตัวละคร เราก็จะได้เห็นบทบาทสำคัญของบรรดาผู้อาวุโสอย่างคุณย่าขวัญ ผู้ผ่านโลกผ่านร้อนผ่านหนาวเข้าใจชีวิตมาก่อนคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณย่าขวัญปรารถนาจะให้หลานชายได้ลงเอยเป็นฝั่งเป็นฝากับเป็ดปุ๊ก คุณย่าจึงลงมือจัดการตั้งแต่ส่งสำรับปลาทูต้มเค็มเป็นสื่อสัมพันธ์กับครอบครัวของเป็ดปุ๊ก จัดงานเลี้ยงวันเกิดของตนเพื่อให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสใกล้ชิดกัน จัดทริปท่องเที่ยวเพื่อเอื้อให้บรรยากาศเป็นใจ ไปจนถึงกลยุทธ์การสมคบคิดกับคุณเชียร เพื่อวางแผนให้ลูกหลานของตนได้เข้าใจและบอกรักกันในที่สุด บทบาทของผู้อาวุโสดังกล่าว คงบอกเป็นนัยแก่เราได้ว่า ปัญหาครอบครัวหรือปัญหาการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงแบบทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่อย่างไม้และเป็ดปุ๊กคงไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปจัดการแก้ไขได้ด้วยตนเอง หากแต่ยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ที่เคย “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ที่จะช่วยขับให้นาวาชีวิตของคนกลุ่มนี้ดำเนินต่อไปได้ และเพราะครอบครัวของเรา ก็ต้องเป็นเราที่ดูแลแบบนี้เอง หากเราจะใช้ชีวิตอยู่ “ในสวนขวัญ” ก็คงไม่ต่างจากไม้ เป็ดปุ๊ก และตัวละครต่างๆ ที่ต้องหมั่นรดน้ำพรวนดินดูแลครอบครัวของเราให้เป็น “สวนขวัญ” ที่ร่มรื่นและมีคุณค่าต่อชีวิตจริงๆ //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 156 คือหัตถาครองพิภพ : คือการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ

โดยสามัญสำนึกของคนทั่วไปนั้น ละครก็คือละคร ชีวิตจริงก็คือชีวิตจริง โลกความเป็นละครกับโลกความเป็นจริง เป็นสองโลกที่แบ่งแยกหลุดขาดออกจากกัน เพราะละครเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้น จึงมีสถานะเป็นเพียงจินตนาการที่มนุษย์เราวาดไว้เท่านั้น แต่ทว่า ยังมีอีกคำอธิบายหนึ่งที่แย้งว่า ไม่เคยมีหรอกที่ความเป็นละครกับความเป็นจริงจะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ทั้งละครและของจริงต่างก็มีจังหวะจะโคนที่โยกย้ายถ่ายโอนไปมา เป็นสองโลกที่สานไขว้กันไว้ได้อย่างแนบแน่นเลยทีเดียว ตามคำอธิบายแบบหลังนี้เอง หากเราจะทำความเข้าใจความเป็นจริงทางเศรษฐกิจการเมืองในแต่ละยุคสมัยให้ถ่องแท้ได้แล้ว ก็อาจพิจารณาผ่านภาพที่ฉายอยู่ในจอละครโทรทัศน์ได้เช่นกัน ทั้งนี้     ภายใต้กระแสการเมืองเข้มข้นที่เข้าไปล่วงลึกอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยในห้วงนี้ โลกแห่งละครก็ขานรับกับโครงสร้างแห่งความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวของมวลชนได้เป็นอย่างดี หาก "การเมือง" ในชีวิตจริงถูกนิยามว่าเป็น "เวทีของการต่อรองช่วงชิงอำนาจ" ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างกันแล้วไซร้ ภาพวิธีคิดแบบนี้ก็คงไม่ต่างไปจาก "การเมือง" ของตัวละครต่างๆ ที่วนว่ายอยู่ในละครเรื่อง "คือหัตถาครองพิภพ" เท่าใดนัก   แม้ว่า ณ ขณะที่ผู้เขียนกำลังปิดต้นฉบับบทวิจารณ์ละคร "คือหัตถาครองพิภพ" อยู่นั้น ละครได้ดำเนินมาเพียงราวครึ่งเรื่อง แต่ด้วยโครงเรื่องที่น่าสนใจและสอดรับกับสถานการณ์ความเป็นไปในสังคมการเมืองร่วมยุค ผมจึงขออนุญาตคุณผู้อ่านหยิบเรื่องราวของละครมาตั้งข้อสังเกตให้ร่วมถกเถียงพินิจพิเคราะห์กัน ประเด็นเชิง "การเมือง" ในละคร "คือหัตถาครองพิภพ" เริ่มต้นขึ้นเมื่อ "ศรี" ถูกจับคลุมถุงชนให้ต้องแต่งงานกับชายที่เธอไม่ได้รักครั้งแล้วครั้งเล่า อันเนื่องมาจากครอบครัวของศรีต้องการดองเธอเพื่อประสานผลประโยชน์กับกลุ่มคนในแวดวงที่เท่าเทียมหรือสูงศักดิ์ชั้นกว่า แต่เพราะเหตุที่ศรีเองก็มิได้มีจิตปฏิพัทธ์ที่จะร่วมเรียงเคียงหัวใจกับชายใด (หรือในบางหลืบมุมของละครก็ซ่อนสื่อความนัยว่า เธอเองก็อาจมีรสนิยมแบบหญิงรักหญิงก็เป็นได้) ในท้ายที่สุด เมื่อมิอาจขัดใจบิดามารดา ศรีจึงตัดสินใจเลือกแต่งงานกับชายสักคนหนึ่งอย่าง "พระยาสมิติภูมิ" ขุนนางไทยแต่เป็นชาวต่างชาติ ด้วยเหตุผลเดียวเพียงเพราะว่า "เขาน่าจะเป็นคนดี" และให้เธอมีอำนาจสูงสุดในเรือนหลังใหญ่ แล้วปมมูลเหตุสำคัญก็เกิดขึ้นตามมาอีก เมื่อศรี (ซึ่งตอนนี้ก็คือ "คุณหญิงศรี" ตามศักดิ์ขุนนางของสามี) ได้แต่งงานไป แต่มิอาจร่วมหลับนอนมีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา และเธอเองก็ไม่ได้ปรารถนาจะให้กำเนิดลูกได้ตามความคาดหวังของท่านเจ้าคุณผู้สามีอีก ภายใต้เรือนหลังใหญ่ของท่านเจ้าคุณพระยาสมิติภูมิ ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของสังคมการเมืองแบบบุรุษเพศเป็นใหญ่ ละครก็ได้แสดงให้เราเห็นว่า หากผู้หญิงคนหนึ่งไม่ต้องการจะร่วมเรียงเคียงข้างหมอนของสามี เธอจะต้องใช้กลยุทธ์วางเหลี่ยมเดินแต้มในเกมแต่ละยกอย่างไร เริ่มต้นก็จากการแสร้งทำป่วยด้วยการร้องเสียงดังโหยหวนทุกครั้งที่ท่านเจ้าคุณมาถูกเนื้อต้องตัว จนท่านเจ้าคุณตกใจ ซึ่งก็บอกเป็นนัยอีกด้านหนึ่งด้วยว่า อาการ "ความเจ็บไข้ได้ป่วย" ก็สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเล่น "การเมือง" ได้เช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ "การป่วยการเมือง" นั้น ทำได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว คุณหญิงศรีจึงต้องเดินเกมถัดมา ด้วยการจัดส่งสาวใช้ในบ้านขึ้นไปร่วมหอลงโรงกับท่านเจ้าคุณแทน ไม่ว่าจะเป็นสองพี่น้อง "สังวร" กับ "สังเวียน" หรือแม้แต่บ่าวที่คิดคดหักหลังตลอดเวลาอย่าง "น้อย" และเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งได้โอกาสเขยิบสถานะจาก "บ่าว" ขึ้นมาเป็น "เมียบ่าว" นั่นก็หมายความว่า อำนาจของผู้หญิงที่มี "ทุนสัญลักษณ์" แบบใหม่กลุ่มนี้ ก็มีอันต้องเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้น คุณหญิงศรีจึงมิเพียงแค่ต้องต่อรองอำนาจกับท่านเจ้าคุณเท่านั้น เธอยังต้องเดินเกมช่วงชิงผลประโยชน์กับบรรดาเมียบ่าวมือใหม่ไปด้วยเช่นกัน สำหรับคุณหญิงศรีแล้ว "คืออำนาจ" ใน "หัตถา" เท่านั้น จึงจะ "ครองพิภพ" บนเกมการเมืองในเรือนของท่านเจ้าคุณได้ ดังนั้น หลังจากที่คุณหญิงศรีผลักดันให้บ่าวขึ้นมาเป็นเมียบ่าว เธอก็ต้องลงมือจัดการลิดปีกลิดหางของบรรดาอนุภรรยาเหล่านั้นลงไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยหลักแห่ง "อำนาจ" ที่ต้อง "สำแดงให้เห็น" แต่ "จับมือใครดมพิสูจน์ต้นตอไม่ได้" คุณหญิงศรีจึงเลือกใช้มือของ "เมี้ยน" บ่าวผู้ภักดีต่อนาย ไปจัดการใส่ไคล้จนท่านเจ้าคุณอัปเปหิสังวรออกไปจากเรือน และเมี้ยนเองก็ยืมมือของ "นายยอด" บ่าวอีกคน ไปจัดการจัดเก็บสังเวียนจนออกไปจากวังวนแห่งอำนาจเสียอีกคน ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็ได้สร้างตัวละครหญิงอีกคนหนึ่งอย่าง "สะบันงา" ขึ้นมา เป็นตัวละครที่คุณหญิงศรีรักปานแก้วตาดวงใจ แต่กลับเป็นที่หมายปองเลี้ยงต้อยของท่านเจ้าคุณมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หากอำนาจเป็นสิ่งที่สิงสู่ไม่เข้าใครออกใคร และขึ้นอยู่กับจังหวะการเดินหมากแต่ละตัวของแต่ละฝ่ายผลประโยชน์ ในท้ายที่สุด ภายใต้ร่มการเมืองเรื่องเพศแบบนี้ คุณหญิงศรีก็ต้องยอมเอาตัวเข้าแลกเพื่อปกป้องสะบันงาเอาไว้ แม้ในภายหลังจากนั้น สะบันงาก็ได้ตกมาเป็นภรรยาผู้ไม่จำยอมของท่านเจ้าคุณด้วยเช่นกัน ในท่ามกลางการเมืองทั้งในและนอกสภา ที่ช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์เป็นสงครามคุกรุ่นอยู่ ณ ขณะนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกที่โลกแห่งละครจะสอดประสานขานรับอารมณ์ความรู้สึกดังที่ได้กล่าวมา ดังนั้น สำหรับตัวคุณหญิงศรีแล้ว "คือหัตถา" เท่านั้น ที่จะ "ครองพิภพ" ได้ ก็คงคล้ายๆ กับโลกความเป็นจริงที่ว่า "คือการเมืองก็เป็นเรื่องของอำนาจ" ไม่แตกต่างกัน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 155 ทองเนื้อเก้า : “แม่” ในหลายหลากมุมนิยาม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดนิยามความหมายของคำว่า “แม่” เอาไว้ว่า หมายถึง “หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก” ภายใต้นิยามแบบนี้ บ่งบอกนัยกับเราหลายอย่าง ตั้งแต่การบ่งชี้ว่า บุคคลที่เป็น “แม่” ต้องเป็นเพศหญิงเท่านั้น และผู้หญิงที่เป็น “แม่” ก็มีบทบาทแรกในฐานะของ “ผู้ให้กำเนิด” แต่บทบาทที่เหนือยิ่งสิ่งใดของ “แม่” ที่ตามมานั้น ก็ต้อง “เลี้ยงดูลูก” อันถือเป็นหน้าที่ที่สังคมมอบหมายภาระให้กับเธอ อย่างไรก็ดี นิยามความหมายของแม่ตามพจนานุกรมอาจจะเป็นเรื่องหนึ่งก็จริง แต่ทว่า ในโลกความเป็นจริงของความเป็นแม่แล้ว ก็อาจมีความหลายหลากและมากไปกว่านิยามที่บัญญัติเอาไว้แค่ในเล่มพจนานุกรม และความหลากหลายในนิยามของแม่นี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านละครโทรทัศน์ที่ถูกกล่าวขานถึงอย่างมากเมื่อช่วงราวหนึ่งหรือสองเดือนที่ผ่านมาอย่างเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” เรื่องราวชีวิตของตัวละครสามคนที่ผูกโยงให้ต้องมาร่วมในชะตากรรมเดียวกันอย่าง “ลำยอง” หญิงสาวสวยขี้เมาที่ขาดซึ่งอุดมคติของความเป็นแม่และเมียที่ดีที่จารึกอยู่ในพจนานุกรม “สันต์” นายทหารเรือหนุ่มที่ชีวิตพลิกผันเมื่อเลือกลำยองมาเป็นภรรยาคนแรกของเขา และ “วันเฉลิม” อภิชาตบุตรผู้ที่ไม่ว่าแม่จะขี้เหล้าหรือร้ายกาจเพียงไร แต่เด็กน้อยวันเฉลิมก็ยังคงเป็น “ทองเนื้อเก้า” ที่เปล่งปลั่งความกตัญญูต่อมารดาไม่เสื่อมคลาย   แม้โดยโครงเรื่องของ “ทองเนื้อเก้า” จะเล่าถึงชีวิตของสาวขี้เมากับความล่มสลายครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิตครอบครัวของเธอ (ซึ่งคงไม่แตกต่างจากเนื้อเพลงนำของละครที่ร้องว่า “จุดจบเธอคงจะไปไม่สวย ถ้าหากเธอยังทำตัวเสียเสีย...”) แต่อีกด้านหนึ่ง ฉากหลังของละครก็ได้ฉายให้เราเห็นภาพของ “แม่” ที่หลายหลากแตกต่างกันไปอย่างน้อยสามคน เริ่มต้นจากตัวละครอย่าง “ปั้น” แม่ของสันต์ ซึ่งถูกสร้างให้เป็นแม่ตามแบบฉบับที่สังคมไทยปรารถนา เป็นแม่ที่ขยันทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบ และอบรมสั่งสอนลูกชายจนได้ดี จะว่าไปแล้ว แม่ในแบบยายปั้นนี้ก็น่าจะสอดรับตามความหมายที่พจนานุกรมบัญญัติไว้มากที่สุด ส่วนคนที่สองก็คือ “แล” แม่ที่ทะเยอทะยานอยากให้ลูกสาวอย่างลำยองได้สามีที่ร่ำรวย และด้วยเหตุที่ยายแลทั้งขี้ขโมย ติดการพนัน แทงหวย ติดเหล้า จนเรียกได้ว่ารวมดาวแห่งความทะยานอยากเอาไว้ “แม่ปูที่เดินเบี้ยวๆ” แบบยายแล จึงเป็นต้นแบบให้ลำยองกลายเป็น “ลูกปูที่เดินเบี้ยวไปมา” ตามๆ กัน แน่นอนว่า บทบาทของแม่แบบยายปั้นกับยายแลที่แตกต่างกันนี้ ก็คงเป็นความจงใจของละครที่ต้องการสื่อความเปรียบเทียบให้ผู้ชมเห็นว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” หรือเผลอๆ “ลูกไม้ก็จะอาจจะหล่นอยู่ใต้ต้น” เลยนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ก็คงไม่ต่างจากคำโบราณที่ว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” ลูกที่จะเติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่งอกงามได้ ก็ต้องมาจากการเลี้ยงดูบ่มเพาะจากพ่อแม่อย่างตาสินและยายปั้น แต่หากเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน” แบบตาปอและยายแลแล้วไซร้ โศกนาฏกรรมชีวิตของลูกก็คงไม่แตกต่างไปจากตัวละครอย่างลำยองเท่าใดนัก จากแม่สองแบบแรก ก็มาสู่แบบในแบบที่สามที่สวิงกันมาสุดขั้วสุดโต่งไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็คือ แม่ในเจเนอเรชั่นถัดมาอย่างลำยองนั่นเอง ในขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯระบุว่า แม่หมายถึง “หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก” แต่สำหรับลำยองแล้ว นิยามความเป็นแม่กลับมาเพียงครึ่งแรกครึ่งเดียวคือ “หญิงผู้ให้กำเนิด” แต่ทว่าครึ่งหลังในฐานะ “ผู้เลี้ยงดูลูก” นั้น กลับไม่เคยปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับของลำยองเอาเสียเลย ในแง่ของ “ผู้ให้กำเนิด” นั้น ละครได้วาดภาพให้ลำยองถือกำเนิดลูกแบบชนิดคนแล้วคนเล่า หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ นับแต่เลิกรากับสันต์ ลำยองก็มาคบกับเจ้าของโรงงานอย่าง “เฮียกวง” นักพนันในบ่อนอย่าง “เมืองเทพ” ไปจนถึงมีสัมพันธ์กับชายมากหน้าหลายตาไม่เว้นแม้แต่คนขับรถรับจ้าง และลำยองก็ให้กำเนิดลูกกับผู้ชายเหล่านั้นคนแล้วคนเล่าชนิดยายแลผู้เป็นมารดาเองถึงกับงุนงง แต่ในแง่ของ “ผู้เลี้ยงดูลูก” นั้น ลำยองกลับไม่เคยใยดีกับการเลี้ยงดูลูกคนใดของเธอเองเลย ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า ลำยองได้ปฏิเสธทัศนะที่ว่า ลูกจะดีหรือไม่ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านการอบรมเลี้ยงดูจากมารดาผู้ให้กำเนิด และที่น่าสนใจยิ่งก็คือ แม้ว่าภาพของลำยองจะไม่เป็นไปตามความเป็นแม่ในอุดมคติก็ตาม แต่ทว่าชะตาชีวิตของวันเฉลิมผู้เป็นลูกของลำยองนั้นกลับแตกต่างกันไปอีกทางหนึ่ง ถึงแม้ลำยองจะไม่ได้ “เลี้ยงดู” หรือแม้แต่ใส่ใจกับวันเฉลิมและลูกๆ คนใดของเธอเลยก็ตาม แต่วันเฉลิมก็กลับเป็นเด็กที่ดีแสนดี เป็นยอดยิ่งของความกตัญญู ไม่เพียงแต่ดูแลมารดาที่ขี้เมาหรือเจ็บป่วยจนถึงช่วงสุดท้ายของลำยองจะสิ้นลมหายใจเท่านั้น เขายังดูแลน้องๆ และอบรมสั่งสอนจนน้องๆ เหล่านั้นสามารถเป็นคนดีได้ในที่สุด ในมุมนี้ก็เหมือนกับละคร “ทองเนื้อเก้า” จะบอกเราๆ ว่า แม้สังคมไทยจะยึดถือค่านิยมที่เชื่อว่าลูกที่ดีก็ต้องมาจากแบบพิมพ์ที่ดีของพ่อแม่เท่านั้น แต่ก็อาจมีข้อยกเว้นบางเงื่อนไขเหมือนกันที่เด็กคนหนึ่งอาจจะเป็นคนดีได้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมสรรพก็ตาม แต่ถึงกระนั้น จุดยืนของละครก็ไม่ได้เชื่อในทัศนะที่ว่า เด็กจะดีหรือเป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้ ก็ด้วย “ทองเนื้อแท้” ที่ติดตัวเองมาเสียทีเดียว ตรงกันข้าม ละครก็ยังยืนยันว่า ผ้าจะเป็นสีขาวบริสุทธิ์ได้ก็ต้องมาจากการขัดกับการเกลาจากสังคมเท่านั้น เพราะฉะนั้น หากสถาบันครอบครัวหรือแม่อย่างลำยองทำหน้าที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานที่เขียนไว้ในพจนานุกรม แต่สังคมยังมีสถาบันอื่น ๆ เช่นสถาบันวัดและศาสนา ที่ทำหน้าที่กล่อมเกลาเยาวชนเป็นการทดแทนได้แล้ว เด็กๆ ก็สามารถเปล่งประกายเป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้เช่นกัน เหมือนกับที่วันเฉลิมได้รับการอบรมขัดเกลาจาก “หลวงตาปิ่น” มาตลอดทั้งเรื่องของละคร บทสรุปของ “ทองเนื้อเก้า” นอกจากจะทำให้เราเห็นความจริงในชีวิตว่า ความเป็นแม่ไม่ได้มีอยู่แบบเดียวเหมือนกับที่เรารับรู้กันโดยทั่วไป แต่ในเวลาเดียวกัน ถึงจะมีแม่ที่มีวัตรปฏิบัติที่เบนเบี่ยงไปจากค่านิยมที่ผู้คนยึดถือกันอยู่บ้าง สังคมเราก็มิได้สิ้นหวังเสียทีเดียว เผลอๆ คำตอบสุดท้ายที่จะมาช่วยจรรโลงเกื้อกูลสถาบันครอบครัวทุกวันนี้ ก็อาจต้องย้อนกลับไปพึ่งพิงคุณงามความดีของสถาบันศาสนาที่สร้าง “ทองบริสุทธิ์” ให้เป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้เฉกเช่นเดียวกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 154 อันโกะ กลรักสตรอว์เบอร์รี่ : คำตอบจากนอกหมู่บ้าน

เมื่อช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความพยายามอย่างมากที่จะทบทวนชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมกันขนานใหญ่ โดยเฉพาะการที่ประเทศได้เผชิญกับความล้มเหลวหลายอย่าง อันเนื่องมาแต่การเจริญรอยตามเส้นทางการพัฒนาที่ยึดเอาชาติตะวันตกเป็นแม่แบบ แต่กลับไม่ตอบโจทย์ของสังคมไทยได้เหมาะสม หนึ่งในความพยายามตั้งโจทย์ใหม่ให้กับกระบวนทัศน์การพัฒนาสังคมไทยก็คือ การค้นหาว่า “คำตอบ” ของสังคมเราควรมาจากไหนกันแน่ ??? คุณหมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นผู้หนึ่งที่ได้เคยสรุปบทเรียนต่อโจทย์ดังกล่าวเอาไว้ว่า ที่ผ่านมา ความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศมักเกิดจากการที่คนไทยเลือกที่จะรับความรู้จากภายนอกมากกว่าเชื่อมั่นความรู้จากภายในของสังคมเอง จนถึงกับที่คุณหมอประเวศได้เคยเสนอคำขวัญให้กับสังคมไทยไว้ว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” หรือเป็นคำตอบที่ต้องมาจากรากของชุมชนท้องถิ่นอันมีฐานจากสังคมเกษตรกรรมเท่านั้น ทั้งนี้ เหตุผลที่ “คำตอบ” พึง “อยู่ที่หมู่บ้าน” ก็คงเป็นเพราะว่า คำตอบที่เรารับมาจากนอกหมู่บ้าน หรือกล่าวจำเพาะว่าเป็นคำตอบที่เรารับมาจากชาติตะวันตกนั้น บ่อยครั้งจะมีเงื่อนไขในการใช้ที่ไม่สอดรับกับฐานวิธีคิดของคนไทยเอาเสียเลย   ตัวอย่างของปัญหาอันเนื่องมาจากการรับคำตอบจากภายนอกแบบนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นได้จากละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้อย่าง “อันโกะ กลรักสตรอว์เบอร์รี่” เรื่องราวชีวิตของ “อันยา” หรือเจ้าแม่นัมเบอร์วันแห่งวงการเฮดฮันเตอร์เจ้าของสมญาว่า “อันโกะ” เริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอต้องเข้าไปรับจ็อบไล่ล่าทำลายชื่อเสียงของ “ดร.แสน” วิศวกรหนุ่มด้านการตัดต่อพันธุกรรมพืช ซึ่งล่าสุดได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวขึ้นมาใหม่ ที่ช่วยให้ชาวนารอดพ้นวิกฤติผลผลิตตกต่ำได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ปมสาเหตุของการไล่ล่าหัวเฮดฮันเตอร์แบบนี้ ก็เนื่องมาจากการที่บริษัทธุรกิจเกษตรข้ามชาติอย่าง “วิชั่นออฟฟิวเจอร์” ไม่พอใจ ดร.แสน ที่ปฏิเสธเงินล้าน ซึ่งบริษัททุ่มทุนซื้อตัวให้มาทำงานด้วย แถมเขายังเลือกตั้งป้อมเป็นศัตรูกับบรรษัทข้ามชาติด้วยการเปิดบริษัทช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในชื่อว่า บริษัท “เพียงพอดี” ขึ้นมาเป็นคู่แข่งอีกด้วย แม้ในด้านหนึ่ง ละครจะได้สร้างสีสันให้ผู้ชมได้สนุกสนานและประหลาดใจกับชุดแฟชั่นของอันโกะ ที่โยกจากแคทวอล์กมาเดิน “ตกคันนาตาลอย” อยู่ในท้องนา แต่อีกด้านหนึ่ง ด้วยเนื้อหาเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์เยี่ยงนี้ ละครก็ได้เปิดโปงให้เห็นกลยุทธ์อันน่ากลัวหลายอย่างที่ธุรกิจเกษตรข้ามชาติใช้เพื่อไล่ล่าคู่อริที่ขัดขวางผลกำไรจากการลงทุนของพวกเขา นับตั้งแต่ธุรกิจข้ามชาติได้ว่าจ้างอันโกะและทีมงานเข้าไปเป็นสปายสายลับในบริษัทเพียงพอดี และใส่ร้ายป้ายสีทำลายชื่อเสียง ดร.แสน ในทุกวิถีทาง การเข้าไปปลุกระดมชาวบ้านให้ปฏิเสธการทำเกษตรอินทรีย์ การเข้าไปร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ “กำนัลโกมล” ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ไปจนถึงการวางโครงข่ายอำนาจและเครือข่ายการขายสินค้าไว้กับตัวแทนจำหน่ายในหมู่บ้านนั้นไว้เอง แต่ทว่า ในความเพลิดเพลินกับชุดเสื้อผ้าที่หวือหวาของนางเอกอันโกะ กับกลยุทธ์ “ไม่เอาด้วยเล่ห์ก็ต้องได้ด้วยกล” ที่จะทำลาย ดร.แสน และบริษัทเพียงพอดีนั้น ก็บ่งบอกนัยด้วยว่า ทุกวันนี้การพัฒนาวิถีการเกษตรในบ้านเรามีแนวโน้มจะเป็นการพัฒนาแบบที่ต้องพึ่งพิง “ชุดความรู้” จาก “ภายนอก” ชุมชนท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น และที่สำคัญ ความรู้จากภายนอกที่เกษตรกรต้องพึ่งพิงนั้น ก็แบ่งได้เป็นอย่างน้อยสองฝักสองฝ่าย หนึ่งก็คือความรู้แบบที่จะช่วย “ปลดปล่อย” คุณภาพชีวิตชาวนา เช่นภาพของ ดร.แสน ที่ใช้องค์ความรู้วิศวพันธุกรรมศาสตร์มาเกื้อกูลวิถีทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน กับอีกหนึ่งชุดความรู้ที่เป็นของภาคธุรกิจ ซึ่งเน้น “การครอบงำ” เพื่อให้ชาวนาถูกผูกพันธนาการอยู่กับต้นทุนกำไรที่บริษัทเกษตรข้ามชาติจะได้รับ ในด้านหนึ่ง ความรู้แบบแรกอาจจะดูเรียบง่ายใสซื่อ ไม่ทันเพทุบายของบรรษัทข้ามชาติก็จริง แต่ก็เป็นความรู้ที่เกิดจากความจริงใจ เหมือนกับวิถีชีวิตของ ดร.แสน ที่ติดดินเรียบง่ายปั่นจักรยานไปทำงานแทนการขับรถทุกวัน ตรงกันข้ามกับองค์ความรู้ของธุรกิจข้ามชาติ ที่เป้าหมายเพื่อการครอบงำนั้น ก็อาจจะมีลักษณะหวือหวาตื่นตาเหมือนกับชุดเสื้อผ้าหลุดโลกของอันโกะ แต่เบื้องลึกเบื้องหลังนั้น ช่างฉาบเคลือบไว้ด้วยมิจฉาทิฐิ และความพยายามเข้าไปครอบงำไล่ล่าชุดความรู้แบบอื่นที่ไม่เอื้อต่อประโยชน์กำไรของนายทุนต่างชาติเอาเสียเลย อย่างไรก็ดี ด้วยจุดยืนแบบละครโรแมนติกคอมเมดี้นั้น ผู้ชมเองก็คงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ฉากจบของละครก็ต้องเน้นให้เกิดภาพของการประสานปรองดองกันของตัวละครที่อยู่กันคนละฝักฝ่ายอย่างแน่นอน แบบเดียวกับที่อันยาหรืออันโกะก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ในท้ายที่สุดว่า ระหว่างความรู้ของ ดร.แสน ผู้สุดแสนซื่อและจริงใจ กับความรู้อันมาจากการครอบงำของทุนข้ามชาตินั้น องค์ความรู้แบบแรกเท่านั้นที่น่าจะเป็น “คำตอบ” ที่ถูกต้องที่สุดสำหรับ “หมู่บ้าน” และการพัฒนาสังคมไทย แม้ในพื้นที่จินตนาการ เราอาจจะเห็นการเลือกข้างความรู้แบบเกษตรทางเลือกให้เป็นคำตอบของชุมชนเกษตรกรรมที่อยู่ในโลกของละคร แต่ในโลกความจริงนั้น ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ชีวิตชาวนาหรือเกษตรกรของไทยจะหลีกพ้นลัทธิการพึ่งพิงความรู้เกษตรแบบครอบงำไปได้เสียทีเดียว แต่กระนั้น สิ่งหนึ่งที่เรื่องราวชีวิตของอันโกะและ ดร.แสน ชวนให้ขบคิดต่อไปก็คือ หากทุกวันนี้ “คำตอบจากหมู่บ้าน” เริ่มลางเลือน หรืออาจมิใช่ “คำตอบเพียงหนึ่งเดียว” ในการพัฒนาสังคมหมู่บ้านอีกต่อไปแล้ว ท่าทีของสังคมไทยต่อ “คำตอบจากนอกหมู่บ้าน” นั้น ควรเป็นเส้นทางการเลือกรับองค์ความรู้แบบใดกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 153 ต้นรักริมรั้ว : บ้านเรือนเคียงกันแอบดูทุกวันมองเมียง

เมื่อกล่าวถึงสรรพชีวิตต่างๆ ที่มักเวียนว่ายอาศัยอยู่ในแอ่งน้ำหรือบึงใหญ่ สิ่งมีชีวิตชนิดแรกๆ ที่เรามักจะนึกถึงกันก็คือกบกับบัว ซึ่งเป็นสองชีวิตที่อยู่คู่กันในแอ่งน้ำ และพึ่งพาอาศัยกันและกันในระบบนิเวศดังกล่าว แต่คำถามก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นหากกบหรือบัวเริ่มห่างเหินกัน และปันใจใฝ่หาในสายสัมพันธ์เส้นที่ห่างไกลออกไปจากบึงใหญ่นั้น พล็อตคำถามแบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นการมองความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป ที่ไม่ใช่แค่ในระบบนิเวศธรรมชาติ แต่ปรากฏอยู่ในระบบนิเวศทางสังคมของมนุษย์ เรื่องราวดังกล่าวเป็นส่วนผสมของเนื้อเรื่องหลักในละครแนวโรแมนติกคอมเมดี้อย่าง “ต้นรักริมรั้ว” โดยโครงของละครเรื่องนี้ ปูพื้นจากความสัมพันธ์แบบ “บ้านใกล้เรือนเคียง” ของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ที่เป็นเพื่อนเล่นและเติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก นั่นก็คือ “กษิดิฐ” หรือ “กบ” สถาปนิกหนุ่มหล่อขี้เล่นแต่พูดจาเหมือนขวานผ่าซาก กับ “นลิน” หรือ “บัว” สาวครีเอทีฟโฆษณาผู้ที่บ้างานจนไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของตนเองเสียเลย ครั้งหนึ่งกบกับบัวเคยแต่งงานกันมาก่อนตามคำสั่งเสียของ “คุณย่ายอแสง” ที่ขอร้องเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่การแต่งงานกันในนาม เพราะทั้งคู่ก็หย่าขาดจากกันหลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์   ภายหลังจากการหย่า บัวก็ “ปฏิบัติการตามล่าฝัน” ของเธอ มาทำงานในบริษัทโฆษณาภัทรแอดเวอร์ไทซิ่ง ในขณะที่กบก็แยกย้ายไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อจะกลับมาทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทของครอบครัว และเมื่อมาทำงานในบริษัทโฆษณา บัวก็ต้องเผชิญกับปัญหาสารพัน ตั้งแต่ปัญหาจากเจ้านายอย่าง “อณุกา” ที่ขูดรีดผลประโยชน์ทุกอย่างจากลูกน้อง ปัญหาจาก “ปราณ” สามีเจ้าชู้ของอณุกาที่หวังจะล่วงเกินตัวเธอ ปัญหาจาก “แตงกวา” คู่แข่งทั้งการงานและคู่ปรับศัตรูหัวใจของเธอ ไปจนถึงปัญหาความรักกับหนุ่มหล่อในอุดมคติอย่าง “ติณณ์” ซึ่งบัวเองก็ไม่แน่ใจว่ารักเขาจริงหรือไม่ ในขณะเดียวกัน เมื่อกบเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ สายสัมพันธ์บางอย่างในอดีตก็กลายเป็นเงาที่มาตามหลอกหลอนชีวิตของบัวอีกคำรบหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่การที่บัวนอนหลับและฝันถึงคุณย่ายอแสง หลังจากที่ไม่เคยฝันถึงท่านมานานมากแล้ว ไปจนถึงการที่ปัญหาในที่ทำงานของบัว ทำให้เธอกับกบต้องจับพลัดจับผลูมาแต่งงานกันในนามอีกครั้ง จนภายหลังกลายเป็นชนวนปัญหาใหม่ให้บัวค่อยๆ เข้าใจว่า ความผูกพันระหว่างเพื่อนบ้านใกล้เคียงเรือนกันอย่างเธอกับกบนั้น เป็นความรักที่เธอเองรอคอยมานานแล้วจริงๆ ด้วยโครงเรื่องที่ผูกปมความรักจากครั้งอดีต และก็มาพลัดพรากกัน ก่อนจะกลับมาลงเอยเป็นความรักกันใหม่แบบนี้ ด้านหนึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องรักๆ โรแมนติกของหนุ่มสาวโดยทั่วไป แต่อีกด้านหนึ่ง เรื่องรักกุ๊กๆ กิ๊กๆ เช่นนี้แหละ ที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี มุมมองที่สะท้อนมาจากความรักและผูกพันระหว่างตัวละครกบกับบัวนั้น จริงๆ ก็คือภาพสะท้อนวิถีความสัมพันธ์แบบดั้งเดิม เป็นสายสัมพันธ์แบบ “เพื่อนบ้าน” หรือที่ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า “neighbourhood” อันเป็นรากความสัมพันธ์อันมีมาแต่ชุมชนในอดีต แน่นอนว่า ในสายสัมพันธ์แบบ “บ้านใกล้เรือนเคียง” เยี่ยงนี้ จะมีด้านที่ทั้งรักกันหวานชื่นบ้าง แบบเดียวกับคุณแม่ทั้งสองของกบกับบัวที่รักใคร่ปรองดองกันอย่างแนบแน่น กับด้านที่กระทบกระทั่งกันบ้าง อย่างในกรณีของคุณพ่อของทั้งสองคน แต่นั่นก็เป็นเพราะว่า “บ้านเรือนเคียงกัน” อยู่ในละแวกเดียวกัน ก็ย่อมต้องมีสายสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและซ้อนทับกันอยู่หลายเส้นนั่นเอง และที่สำคัญ บนความสัมพันธ์แบบเพื่อนบ้านใกล้ชิดเช่นนี้ ผู้คนก็มักจะมีการใช้ระบบอาวุโสเป็นกลไกคอยประสานในทุกครั้งที่คนบ้านใกล้เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ระบบความคิดเรื่องอาวุโสหรือผู้ใหญ่-ผู้น้อยนี้ สะท้อนอยู่ในตัวละครคุณย่ายอแสง ที่ไม่ได้มีบทบาทแค่ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แม้แต่เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ท่านก็ยังเป็นเสมือนวิญญาณบรรพชนที่มาเข้าฝันคอยเป็นห่วงเป็นใยลูกหลาน และปรับเปลี่ยนความระหองระแหงให้กลายเป็นความเข้าใจกันของตัวละครไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อทั้งกบและบัวต้องผันมามีชีวิตในสังคมของเอเยนซี่โฆษณา สายสัมพันธ์แบบ “เพื่อนบ้าน” ที่เคยมี ก็เปลี่ยนมาเป็น “เพื่อนร่วมงาน” และก่อรูปเป็นชุมชนแบบที่ทำงานที่ช่างแตกต่างไปจากชุมชนเพื่อนบ้านใกล้เคียงไปโดยสิ้นเชิง ที่แน่ๆ ละครได้สร้างภาพของบริษัทโฆษณาให้เป็นตัวแทนของระบอบทุนนิยม ที่ผู้คนมีแต่ห้ำหั่นกันอย่างไม่ปรานีใคร และตัวละครอย่างบัวที่มาทำงานในระบบเช่นนี้ ก็ต้องประสบกับสภาวะแปลกแยกต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพความแปลกแยกกับงานที่ตัวเองทำ แปลกแยกกับเพื่อนร่วมงานอย่างแตงกวาที่คอยแย่งชิงผลงานกัน แปลกแยกกับนายจ้างที่คอยจ้วงแทงข้างหลังอยู่ตลอดเวลา ไปจนถึงแปลกแยกกับหัวใจของตนเอง จนไม่รู้ว่าผู้ชายอย่างกบหรือติณณ์กันแน่ ที่เป็นคำตอบในหัวใจของเธอ และในท้ายที่สุด หลังจากที่ทนวนว่าย “ใกล้เกลือ” แต่กลับไป “กินด่าง” หรือใช้ชีวิตอยู่กับสังคมที่เต็มไปด้วยความแปลกแยกอย่างบริษัทโฆษณามาเสียนาน แม้บัวอาจจะประสบความสำเร็จในการเป็นครีเอทีฟมือหนึ่งของบริษัทก็ตาม แต่เธอกลับพบว่า “ต้นรักริมรั้ว” แบบกบต่างหาก ที่เป็นคำตอบซึ่ง “อยู่ตรงนี้ไม่ใกล้ไม่ไกลจากใจเธอ...” จริง ๆ เมื่อมองย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์ของกบกับบัวแบบนี้แล้ว บางทีความสัมพันธ์ของคนที่ใกล้แต่มักถูกมองข้าม ก็อาจจะเป็นคำตอบของจริงสำหรับผู้คนยุคนี้ ดีกว่าจะไปเสาะหาความสัมพันธ์จากแดนไกล ซึ่งเผลอๆ จะแปลกแยกและไม่คุ้นชิน เพราะความไกลโพ้นที่มากเกินไปจากรั้วบ้านของเรา งานนี้คงไม่ต้องรอให้คุณย่ายอแสงมาเข้าฝันกบกับบัวกันอีกสักรอบนะครับ เพราะสายสัมพันธ์แบบใกล้ๆ ก็คงไม่เกินเอื้อมมือของเขาและเธอทั้งสอง หรืออยู่ใกล้ๆ แม้แต่แค่ชายรั้วบ้านของเราด้วยเช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 152 นางร้ายสายลับ : มนุษย์เรามี “หน้าฉาก” กับ “หลังฉาก”

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อนักแสดงหญิงที่เล่นบทบาทนางร้ายจอมกรี๊ดในหน้าจอโทรทัศน์ ต้องจับพลัดจับผลูมาสวมบทบาทเป็นสายลับให้กับตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติด? เรื่องราวที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้เช่นนี้ กลับเป็นไปแล้วสำหรับนางร้ายอย่าง “โซ่” หรือ “สุรีกานต์” ที่หน้าจออาจจะร้ายอาละวาดจนผู้คนเกลียดกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่เนื้อแท้แล้ว เธอมีนิสัยเมตตาอารีและชอบช่วยเหลือสังคมอยู่สม่ำเสมอ เพราะความเป็นคนดีและรักเพื่อนร่วมอาชีพอย่าง “พลอยนิล” ทำให้สุรีกานต์รับปากไปขโมยภาพลับเฉพาะในบ้านของ “อุษณะ” ดาราพระเอกหนุ่มชื่อดัง จนไปพบกับ “สารวัตรนฤเบศ” ที่กำลังปฏิบัติภารกิจติดตามผู้ร้าย และสารวัตรก็เข้าใจผิดว่าสุรีกานต์มียาเสพติดเอาไว้ในครอบครอง เธอจึงต้องจำยอมตกปากรับคำมาทำงานเป็นสายลับให้กับกรมตำรวจ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ไม่ต้องถูกจับเข้าคุก และด้วยโครงเรื่องที่ผูกไว้เช่นนี้ หลังจากนั้นผู้ชมก็ได้เห็นภาพชวนหัวกับการปลอมตัวในรูปแบบต่างๆ ของนางร้ายสาว ที่จะเข้าไปสืบราชการลับกับแก๊งก์ค้ายาเสพติดของ “ริชาร์ด” ไม่ว่าจะแปลงโฉมเป็นทอมบอย เป็นผู้ชาย เป็นสาวเสิร์ฟ เป็นคนญี่ปุ่น และเป็นอีกสารพัดการปลอมตัว พ่อแง่แม่งอนกับสารวัตรหนุ่มไปจนแฮปปี้เอนดิ้งในตอนจบเรื่อง จะว่าไปแล้ว โครงเรื่องแบบการปลอมตัวเข้าไปสืบสวนเรื่องราว และให้มีการพลิกผันเหลี่ยมมุมระหว่างตำรวจกับผู้ร้ายนั้น ก็อาจไม่ใช่พล็อตเรื่องที่แปลกใหม่แต่อย่างใด หากแต่แก็กหรือมุขตลกที่ละครวาดภาพให้ดารานางร้ายหน้าจอมารับจ็อบพิเศษปลอมตัวเป็นสายลับนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจและชวนขบคิดยิ่งนัก   เริ่มต้นตั้งแต่ข้อชวนสงสัยที่ว่า ทำไมละครจึงสร้างให้กลุ่มคนในสามแวดวงได้โคจรมาพบกัน ระหว่างแวดวงดารานักแสดง แวดวงตำรวจ และแวดวงขบวนการค้ายาเสพติด กรณีของตำรวจกับผู้ร้ายที่มาเจอกันอาจจะไม่แปลก แต่เหตุใดละครต้องสร้างเรื่องราวให้ดารามาร่วมอยู่ในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย อันที่จริงนั้น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ผู้ร้าย หรือดารานักแสดง ต่างก็ล้วนมีจุดร่วมกันที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ ต่างเป็นวิชาชีพและมิจฉาชีพที่ล้วนแล้วแต่มีโลกที่เป็น “หน้าฉาก” กับ “หลังฉาก” ด้วยกันทั้งสิ้น คล้ายๆ กับที่นักสังคมวิทยาเชื้อสายแคนาดาที่ชื่อ เออร์วิ่ง กอฟฟ์แมน เคยอธิบายไว้ว่า สังคมของมนุษย์เป็นอะไรบางอย่างที่ไม่แตกต่างไปจากโรงละครโรงใหญ่ และตัวตนของมนุษย์แต่ละผู้แต่ละนามที่โลดแล่นและปฏิสัมพันธ์กันอยู่ในโรงละครนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีด้านที่ปรากฏให้เห็นเป็น “หน้าฉาก” กับส่วนที่เราซ่อนๆ ปิดๆ เป็น “หลังฉาก” ของม่านที่กั้นอยู่บนเวทีเสมอ ก็ไม่แตกต่างไปจากคนในวงการนักแสดงอย่างสุรีกานต์ ที่หากเห็นเพียงหน้าฉาก หลายคนก็อาจจะรับไม่ได้กับความร้ายกาจของเธอ จนต้องรอเอาหนามทุเรียนไปไล่ตบด้วยความหมั่นไส้ และพาลคิดไปว่าตัวจริงของเธอก็คงไม่ต่างไปจากหน้าจอ แต่แท้จริงแล้ว เบื้องหลังเธอกลับใช้ความสามารถทางการแสดงมาช่วยเหลือสังคมด้วยการปลอมตัวเป็นสายลับ จนสามารถทะลายแก๊งค์ค้ายาเสพติดได้สำเร็จ และในทางกลับกัน เราก็จะเห็นภาพของเพื่อนในวงการนักแสดงคนอื่น ที่หน้าฉากอาจจะดูดี เป็นพระเอกหนุ่มรูปหล่ออย่าง “เนธาน” เป็นนางเอกสาวเจ้าบทบาทอย่าง “พลอยนิล” หรือเป็นนางเอกดาวรุ่งหน้าหวานอย่าง “แก้วดารา” แต่หลังฉากนั้น กลับเป็นเพลย์บอยเสือผู้หญิงบ้าง เป็นนักแสดงจอมเหวี่ยงวีนบ้าง หรือเป็นสาวน้อยหน้าซื่อแต่เจ้าเล่ห์กลิ้งกลอกก็มี สำหรับคนในวงการตำรวจ ก็เป็นอาชีพที่อยู่กับการปลอมตัวแบบมีหน้าฉากกับหลังฉากเช่นเดียวกัน อย่างหลังฉากของสารวัตรนฤเบศที่เป็นหัวหน้าตำรวจหน่วยพิเศษนอกเครื่องแบบ แต่หน้าฉากก็ต้องปลอมตัวแทรกซึมเข้าไปสืบความลับของกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด สลับกับการปลอมตัวไปเป็น “พี่เบตตี้” ผู้จัดการดาราเพศที่สามประจำตัวของนางร้ายสุรีกานต์ และเมื่อมีตำรวจที่ดี ก็ต้องมีการสร้างตัวละครแบบ “สารวัตรมังกร” และบรรดาลูกน้อง ให้มีหน้าฉากอาจจะดูเป็นนายตำรวจเอางานเอาการ แต่หลังฉากก็เป็นโจรในเครื่องแบบที่ทำงานรับจ็อบให้กับแก๊งค์อาชญากรรมค้ายาเสพติดด้วย สุดท้าย ในกรณีของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่นำโดยริชาร์ดและสมัครพรรคพวกนั้น ละครก็ได้สร้างภาพให้หน้าม่านของริชาร์ดเป็นเศรษฐีใจบุญสุนทาน และชอบช่วยเหลืองานสาธารณกุศลอยู่เป็นประจำ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เบื้องหลังกลับอำมหิตและเป็นเจ้าพ่อมาเฟียผู้ค้ายาเสพติดข้ามชาติรายใหญ่ การโคจรมาพบกันของคนสามกลุ่มจากต่างที่มา จึงไม่ต่างไปจากการบอกเป็นนัยว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันของมนุษย์ทุกวันนี้นั้น ล้วนแล้วแต่มีการสื่อสาร “หน้าฉาก” กับ “หลังฉาก” ให้แก่กันและกันอยู่เสมอ และเพราะ “หลังฉาก” คืออาณาบริเวณที่ตัวตนจริงๆ ของมนุษย์เราถูกปิดบังอำพรางและฉาบเคลือบไว้ด้วยความเป็น “หน้าฉาก” ที่ประดิษฐ์ขึ้นมา ดังนั้น ปมปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อสุรีกานต์ต้องเข้าไปพัวพันกับการค้นพบ “หลังฉาก” ของตัวละครทั้งหลาย เริ่มจากการได้ไปเห็นภาพหลุดคลิปหลุดของเพื่อนร่วมวงการบันเทิง ได้ไปเห็นเบื้องหลังปฏิบัติการของแวดวงสีกากี ไปจนถึงการพยายามเปิดโปงฉากหลังของหัวหน้าเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ จะว่าไปแล้ว หากเราจะลองย้อนอดีตกลับไป วิธีคิดที่ว่ามนุษย์เราล้วนมี “หน้าฉาก” และ “หลังฉาก” ระหว่างกัน ก็ดูจะเป็นสิ่งที่คนโบร่ำโบราณได้เคยให้อุทาหรณ์สอนใจมาตั้งแต่ปางบรรพ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าแบบนางแก้วหน้าม้าเอย หรือนิทานพื้นบ้านแบบเจ้าเงาะเอย ภายนอกของคนอาจจะรูปชั่วตัวดำอัปลักษณ์ก็จริง หากแต่เนื้อแท้ของแก้วมณีและพระสังข์กลับผุดผ่องเป็นทองอยู่เนื้อใน ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่อาจจะมองเห็นภายนอกของสุรีกานต์เป็นนางร้ายเจ้าบทบาท แต่ทว่าเนื้อทองภายในกลับเป็นอะไรที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง หากตัวตนของมนุษย์มักมีหลายโฉมหน้าด้วยแล้ว คำถามข้อแรกของ “นางร้ายสายลับ” ก็คือ เราควรจะเชื่อและหลงอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก หรือจะเชื่อในแก่นแท้ที่ซ่อนซุกอยู่เนื้อในมากกว่า เพราะแม้แต่ “นางร้าย” ที่คุณเห็นๆ ก็อาจจะมีเนื้อแท้เป็น “สายลับ” ที่ซุกซ่อนอยู่หลังฉากได้เช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 151 สามทหารเสือสาว: ถึงคราวนักวารสารศาสตร์สาวต้องทบทวนตนเอง

ในยุคที่สังคมเชื่อมั่นและต้องการ “ข่าวสาร” เพื่อประกอบการตัดสินใจในการคิดหรือกระทำการอันใด วงวิชาชีพแบบหนึ่งที่ได้ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ผลิตข่าวสารป้อนให้กับสาธารณชนก็คือ แวดวงของ “นักวารสารศาสตร์” ผู้โลดแล่นอยู่ในโลกของสื่อสารมวลชนต่าง ๆ นักวารสารศาสตร์ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “journalist” นั้น อธิบายง่าย ๆ ก็คือ บรรดานักวิชาชีพผู้ค้นหามาซึ่ง “สัจจะ” หรือ “ความจริง” และผลิตหรือเผยแพร่สัจจะความจริงดังกล่าวให้มวลชนได้รับรู้ เพื่อที่มวลชนจะได้ใช้ข้อมูลข่าวสารความจริงเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตต่อไป ภายใต้วิถีแห่งความเป็นนักวิชาชีพเยี่ยงนี้เอง นักวารสารศาสตร์ได้สร้างข้อตกลงหรือรหัสจริยธรรมร่วมกันว่า เพื่อประโยชน์สูงสุดแห่งสาธารณะ ไม่เพียงแต่นักวารสารศาสตร์ต้องซื่อสัตย์และรายงานแต่สัจจะความจริง (มิใช่อิงนิยายที่นั่งเทียนเขียนขึ้นมา) เท่านั้น หากแต่พวกเขาจักต้อง “วางตนเป็นกลาง” ไม่เข้าข้างหรือใช้อคติใด ๆ เข้าไปแปดเปื้อนการผลิต “สัจจะ” ในโลกวิชาชีพเลย และเมื่อนักวารสารศาสตร์เป็นสาขาอาชีพที่มีบทบาทยิ่งในสังคมข่าวสาร ก็คงไม่น่าแปลกแต่อย่างใดหากละครโทรทัศน์ซีรีย์ไตรภาคอย่าง “สามทหารเสือสาว” จะจำลองฉายภาพของตัวละครในวงวิชาชีพดังกล่าวขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นภาพของ “มัทนา” ในซีรีย์ “มายาตวัน” อันเป็นตอนแรก หรือตัวละคร “สาระวารี” แห่งซีรีย์ตอนสองเรื่อง “มนต์จันทรา” จนถึงปิดท้ายกับ “มีคณา” ในซีรีย์ตอนสามเรื่อง “ฟ้ากระจ่างดาว” ภาพของตัวละครหญิงทั้งสามคนข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ของงานข่าวในสื่อมวลชนทุกวันนี้ คงไม่ได้ปิดกั้นการเข้ามาของสตรีเพศอีกต่อไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม บนเส้นทางการค้นหาสัจจะความจริงนั้น ข้อเท็จจริงที่ตัวละครได้เผยให้เห็นก็คือ ความจริงที่เที่ยงแท้และความเป็นกลางแบบที่วิชาชีพวารสารศาสตร์เรียกร้องนั้น ในทางปฏิบัติช่างเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในวงการงานข่าว เริ่มต้นจากมัทนาน้องเล็กที่สุดแห่งสามทหารเสือสาว ก่อนที่เธอจะก้าวมาเป็นนักข่าวบันเทิงของหนังสือพิมพ์สยามสาร เธอเคยเป็นแฟนคลับที่ติดตามและคลั่งไคล้ดาราหนุ่มอย่าง “เขตต์ตวัน” ตั้งแต่เมื่อเธอยังเป็นนักศึกษาของคณะนิเทศศาสตร์อยู่ ครั้นพอมัทนาได้มาเป็นนักข่าวและได้รับมอบหมายให้ไปสืบค้น “ความจริง” เกี่ยวกับเขตต์ตวันที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับคดีฆาตกรรม เสียงเพลงธีมของละครที่ร้องว่า “ได้ยินบ้างไหมได้ยินหรือเปล่าหนึ่งคำที่มันล้นใจ ใกล้กันแค่นี้ได้ยินบ้างไหมคือเสียงหัวใจของฉันเอง...” ก็คอยหลอกหลอนเป็นความลำเอียงที่เกิดขึ้นในการทำงานข่าวของแฟนคลับผู้หลงใหลคลั่งไคล้ดาราหนุ่มมาตั้งแต่อดีต ด้วยเหตุฉะนี้ นักข่าวสาวอย่างมัทนาจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงอคติที่จะเข้าไปผูกพัน จนช่วยเหลือแหล่งข่าวอย่างเขตต์ตวันพ้นให้ข้อกล่าวหาได้ ก่อนที่ในท้ายสุดก็กลายเป็นความรักที่เกิดขึ้นระหว่างนักข่าวสาวสายบันเทิงกับดาราหนุ่มไปโดยปริยาย ส่วนชะตากรรมของสาระวารี ทหารเสือสาวคนที่สองของสยามสารนั้น ด้วยประสบการณ์ภูมิหลังที่ชีวิตวัยเด็กมีพ่อที่ติดการพนันอย่างหนัก จนกลายเป็นบาดแผลให้เธอเกลียดการพนันเข้ากระดูกดำ แต่กลับต้องจับพลัดจับผลูถูก บก. สยามสาร มอบหมายให้เข้าไปทำข่าวของ “ษมา” เจ้าของธุรกิจหนุ่มใหญ่แห่งเกาะยานก ผู้ได้รับสัมปทานเปิดกาสิโนบนเกาะกลางทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน และเพราะเกลียดการพนันเข้าไส้ สาระวารีจึงมีอคติต่อแหล่งข่าวอย่างษมาทุกครั้งที่ต้องพูดคุยสัมภาษณ์หรือเขียนข่าวเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเขา ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนกลายมาเป็นความรักระหว่างนักข่าวสาวกับเจ้าพอแห่งเกาะยานกไปในตอนจบ สำหรับทหารเสือสาวคนสุดท้ายอย่างมีคณานั้น เธอเป็นนักข่าวสายอาชญากรรม และมีปมที่ชีวิตวัยเด็กเผชิญแต่กับผู้ชายที่เลวร้าย ตั้งแต่พ่อแท้ๆ พ่อเลี้ยง หรือน้องชาย รวมถึงเกือบถูกพ่อเลี้ยงส่งตัวไปขายบริการทางเพศเหมือนกับน้องสาวสองคนและเด็กสาวอีกหลายๆ คนในหมู่บ้านของเธอ เพราะฉะนั้น ด้วยประสบการณ์ชีวิตอันเลวร้ายเช่นนี้ มีคณาจึงเลือกมาทำงานข่าว และคอยติดตาม “สารวัตรหิรัณย์” เข้าไปสืบสวนคดีตีแผ่ขบวนการค้ามนุษย์ ก่อนที่เธอจะช่วยเขาปิดคดีและเปิดหน้าประวัติศาสตร์ความรักกับสารวัตรหนุ่มในตอนท้ายเรื่อง ชะตาชีวิตของตัวละครผู้หญิงทั้งสามคน เผยให้เห็นว่า ในขณะที่ด้านหนึ่งนักวารสารศาสตร์คือผู้แสวงหาและตีแผ่ซึ่ง “สัจจะ” สู่มวลชน แต่ทว่า “สัจจะ” ในวงการข่าวนั้นก็ไม่เคยบริสุทธิ์หรือเป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นต์เลย หากแต่มักแปดเปื้อนเจือไว้ด้วยอคติบางอย่างในโลกทัศน์ของคนทำงานข่าวไม่มากก็น้อย นั่นหมายความว่า แม้ด้านหนึ่ง สามทหารเสือนักข่าวสาวจะพยายามรักษาการได้มาซึ่งสัจจะความจริง แต่ด้วยภูมิหลังชีวิตซึ่งแตกต่างกันของคนทำงานข่าวนั่นเอง ที่ทำให้ความจริงนั้นๆ ไม่ใช่ “ความจริงที่เป็นกลาง” หากแต่เป็น “ความจริง” ที่มาจากจุดยืนหรือการรับรู้ของนักข่าวสาวมากกว่า ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากนักข่าวสายบันเทิงอย่างมัทนาจะตัดสินคุณค่าของเขตต์ตวันไปล่วงหน้าตามสายตาของแฟนคลับอย่างเธอ หรือนักข่าวสังคมอย่างสาระวารีจะมีอคติต่อการเปิดบ่อนกาสิโนหรือแม้แต่ตัวของเจ้าพ่อษมาแห่งเกาะยานก หรือนักข่าวอาชญากรรมอย่างมีคณาที่ทำข่าวการค้ามนุษย์ด้วยความรู้สึกโกรธแค้นและกดดันอันเนื่องมาแต่ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนักข่าวหญิงทั้งสามได้เข้ามาสู่วังวนความใกล้ชิดกับแหล่งข่าวมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้านหนึ่ง การรับรู้ความเป็นจริงและมุมมองที่มีต่อแหล่งข่าวก็จะเริ่มเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ตรงที่พวกเธอมีต่อพระเอกหนุ่มทั้งสามคน และมีผลต่อการรายงานสัจจะความจริงในเนื้อหาข่าวไปด้วยเช่นกัน ในท้ายที่สุด เมื่อมาถึงบทสรุปชีวิตของสามทหารเสือสาวที่ต่อสู้เพื่อค้นหาสัจจะความจริงกันมานาน มัทนาก็เลือกจะละทิ้งความฝันไปสร้างครอบครัวเล็กๆ กับเขตต์ตะวัน สาระวารีก็เลือกไปเป็นภรรยาช่วยดูแลกิจการกาสิโนให้กับษมา ในขณะที่มีคณาก็แยกย้ายแต่งงานไปกับสารวัตรหิรัณย์และเลิกลงสนามทำงานเสี่ยงๆ แบบนักข่าวสายอาชญากรรม และนี่ก็คงเป็นชะตากรรมที่ไม่ต่างไปจากบรรดานักข่าวผู้หญิงในชีวิตจริงที่ต้องตอบคำถามด้วยว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว ระหว่างทางเลือกที่จะโลดแล่นไปในวงวิชาชีพวารสารศาสตร์ กับเรื่องของชีวิตรักและครอบครัว คำตอบสุดท้ายของทหารเสือสาวในแวดวงนักข่าวทั้งหลายจะเป็นตัวเลือกข้อใด

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 150 สุภาพบุรุษจุฑาเทพ: ความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปบนยอดปิรามิด

ภายใต้ระบบคิดของสังคมไทยที่แบ่งซอยผู้คนออกเป็นกลุ่มๆ หรือเป็นชนชั้นที่หลากหลายนั้น มักมีความเชื่อกันว่า โครงสร้างของสังคมชนชั้นจะวางอยู่บนลักษณะโครงสร้างแบบปิรามิด กล่าวคือ คนชั้นล่างที่เป็นกลุ่มคนจำนวนมาก มักจะอยู่ตำแหน่งฐานล่าง ในขณะที่บนยอดปิรามิดที่เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย ก็คือบรรดากลุ่ม “ชนชั้นนำ” หรือเป็นพวก “elite” ของสังคม แต่อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นกลุ่มคนที่มีไม่มากนักในเชิงปริมาณ(เมื่อเทียบกับกลุ่มคนชั้นกลางและคนชั้นล่าง) แต่ด้วยความที่เป็น “ชนชั้นนำ” ของระบบ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็มักจะส่งผลกระทบถึงคนที่อยู่ในระดับกลางและระดับฐานล่างของปิรามิดเสมอ ด้วยเหตุฉะนี้ ละครโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยของบ้านเรา จึงมีแนวโน้มจะคอยเฝ้าสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชนชั้นนำอยู่เป็นเนืองๆ เพื่ออย่างน้อยก็ทำให้เราได้ทราบว่า ในแต่ละยุคสมัยนั้น โครงสร้างความสัมพันธ์แบบรูปทรงปิรามิดยังคงดำรงอยู่เหมือนเดิมหรือผันแปรกันไปเยี่ยงไรบ้าง และหนึ่งในละครที่จับยามสามตาเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำแบบนี้ก็คือ ซีรียส์มหากาพย์ 5 เรื่อง 5 รส อย่าง “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ที่ฉายภาพชีวิตของกลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทย ผ่านชะตาชีวิตรักของคุณชายทั้งห้า ไล่เรียงจากพี่ชายใหญ่ “ธราธร” “ปวรรุจ” “พุฒิภัทร” “รัชชานนท์” จนถึงน้องชายคนเล็กอย่าง “รณพีร์” ปมชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของบรรดาคุณชายเหล่านี้ ที่รู้จักกันในนาม “ห้าสิงห์แห่งวังจุฑาเทพ” นั้น ก็เริ่มตั้งแต่ “หม่อมเจ้าวิชชากร” บิดาของคุณชายทั้งห้า ได้ผูกพันทำสัญญากับ “หม่อมราชวงศ์เทวพันธ์” แห่งตระกูลเทวพรหมว่า ลูกชายหนึ่งคนของตระกูลจุฑาเทพต้องได้เข้าพิธี่วิวาห์กับลูกสาวคนใดคนหนึ่งของวังเทวพรหม เมื่อท่านชายวิชชากรสิ้นชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุ “คุณย่าเอียด” และ “คุณย่าอ่อน” ก็เป็นผู้ที่สืบทอดรักษาสัจวาจาที่จุฑาเทพได้ให้ไว้ ด้วยการพยายามผลักดันหลานชายแต่ละคนให้ได้สมรสกับธิดาแห่งตระกูลเทวพรหม ที่ด้านหนึ่งบิดาของพวกเธอก็กำลังอยู่ภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว และความน่าติดตามของซีรียส์ทั้งห้าตอนก็เกิดขึ้น เมื่อสิงห์หนุ่มจุฑาเทพแต่ละคนก็พยายามหาทางเลี่ยงหลบจากการถูกจับคลุมถุงชน จน “สัญญา” ของจุฑาเทพก็ “ไม่เป็นสัญญา” แบบที่บิดาได้เคยทำไว้ และในท้ายที่สุด คุณชายทั้งห้าก็สามารถลงเอยครองคู่กับผู้หญิงที่ตนได้เลือกไว้แทน ด้วยพล็อตของเรื่องที่กล่าวมานี้ ด้านหนึ่งผู้ชมก็อาจจะสนุกสนานกับกลเม็ดเด็ดพรายของบรรดาคุณชายทั้งห้าที่จะต่อรองและหลบหนีไปจากพันธะสัญญาที่บรรพชนได้ผูกไว้ แต่อีกด้านหนึ่ง ละครก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของกลุ่มชนชั้นนำที่อยู่บนยอดปิรามิดของสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ แน่นอนว่า ละครเองก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า ในกลุ่มชนชั้นนำนั้น ยังมีประเพณีปฏิบัติและระบบสัญลักษณ์บางอย่างที่จะสื่อสารกับคนกลุ่มอื่นๆ ว่า ชนชั้นนำเหล่านั้นมีความแตกต่างและความโดดเด่นเสียยิ่งกว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของชนชั้นอื่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในวังอันโอ่อ่า วิถีการกินอยู่และอาหารชาววังนานาชนิดที่คุณย่าเอียดและย่าอ่อนบรรจงประดิษฐ์ขึ้นมา ไปจนถึงอาชีพการงานที่บรรดาคุณชายทั้งหลายได้เลือกเป็นสัมมาอาชีวะ ที่ประหนึ่งจะบอกกับใครต่อใครว่า ถ้าศักดิ์ชั้นเป็นคุณชายแล้ว ตัวเลือกของอาชีพที่พึงทำก็ต้องอยู่ระหว่างอาจารย์โบราณคดี นักการทูต หมอ วิศวกร หรือทหารอากาศ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ในอีกทางหนึ่ง ละครก็ได้บอกกับคนดูด้วยว่า ในท่ามกลางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอยู่อย่างต่อเนื่องนั้น แม้แต่ในกลุ่มของชนชั้นนำ ก็หนีสัจธรรมที่ว่านี้ไม่พ้น และมีอันต้องลื่นไหลและปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย ตัวอย่างรูปธรรมที่ห้าสิงห์จุฑาเทพสะท้อนออกมาก็คือ เรื่องของการแต่งงานหรือครองคู่ ซึ่งโดยหลักการแล้ว เป็นช่องทางของการประสานผลประโยชน์ในกลุ่มชนชั้นนำเอาไว้ด้วยกัน แต่ก็ดูเหมือนว่า คุณชายทั้งหลายกลับมองว่า ทุกวันนี้การประสานผลประโยชน์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มชั้นเดียวกัน หากแต่สามารถจะเกิดขึ้นแบบข้ามชั้นชนที่หลากหลายได้ ไม่ว่าจะเป็นการครองคู่ในศักดิ์ชั้นที่ควรคู่กันอย่างธราธรกับ “หม่อมหลวงระวีรำไพ” หรือความรักกับหญิงที่สูงศักดิ์กว่าของปวรรุจกับ “หม่อมเจ้าหญิงวรรณรสา” หรือความรักที่ลงเอยกันระหว่างชนชั้นนำกับผู้หญิงที่มาจากฐานล่างของปิรามิดอย่างพุฒิภัทรกับ “กรองแก้ว” หรือรักแบบประสานชนชั้นกับชาติพันธุ์ของรัชชานนท์กับ “สร้อยฟ้า” ไปจนถึงความรักที่ข้ามศักดิ์ชั้นมาครองคู่กับชนชั้นกลางแบบรณพีร์และ “เพียงขวัญ” ด้วยโครงเรื่องที่ผูกขึ้นและตั้งคำถามกับวังวนของศักดิ์ชั้นกับความรักที่ปัจเจกบุคคลมีอำนาจตัดสินใจเลือกเองเช่นนี้ ก็ทำให้เราได้เห็นภาพว่า แม้แต่กับวิถีชีวิตของกลุ่มคนซึ่งอยู่บนยอดปิรามิด ก็ใช่ว่าพวกเขาจะประสานประโยชน์เฉพาะในกลุ่มอย่างเดียว หากแต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยปกติแล้ว “คำมั่นสัญญา” จัดได้ว่าเป็นคุณค่าหลักในวิถีคิดของชนชั้นนำไทย แต่ในกรณีของห้าสิงห์สุภาพบุรุษจุฑาเทพนั้น แม้แต่กับคุณค่าที่เป็นปราการด่านสำคัญด่านสุดท้ายของชนชั้นนำดังกล่าวนี้ ก็ยังถูกตั้งคำถามเอาไว้ด้วยว่า พวกเขาจะรักษาสัจจะสัญญาแบบนี้ไปได้ถึงระดับใด ด้านหนึ่ง ละครเองก็ได้ให้คำตอบว่า “คำมั่นสัญญา” อาจจะมีได้ก็จริง แต่นั่นก็แปลว่า คู่สัญญาที่เสมอกันด้วยศักดิ์ชั้น ก็ต้องผูกพันธะสัญญาที่เสมอภาคกันเท่านั้น เพราะหากลูกสาวของคุณชายเทวพันธ์อย่าง “มารตี” และ “วิไลรัมภา” กลายเป็นสินค้าที่มีตำหนิจากวังเทวพรหมด้วยแล้ว สัญญาก็สามารถถูกฉีกออกและยกเลิกไปได้ในที่สุด ในทางกลับกัน หากค่านิยมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเรื่องความรัก ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ หรือศักดิ์ศรีลูกผู้หญิงแบบที่หญิงคนรักของคุณชายทั้งห้ายึดมั่นเอาไว้ กลายเป็นคุณค่าที่ทดแทนคำมั่นสัญญาได้ด้วยแล้ว ความชอบธรรมที่ “สัญญาไม่จำเป็นต้องเป็นสัญญา” ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในแวดวงของชนชั้นนำ “เวลาที่ล่วงเลยนั้นทำให้คนเปลี่ยนไป...” ได้ก็จริง ซึ่งก็คงไม่แตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มคนบนยอดปิรามิด ที่ก็ต้องปรับตัวและเปลี่ยนไปในกระแสของเวลาที่เลยล่วงไปเช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 149 เรือนเสน่หา : มนุษย์ในวังวนแห่งอำนาจ

เคยมีคำอธิบายของนักคิดแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ผู้ล่วงลับไปแล้วที่ชื่อ มิเชล ฟูโกต์ ที่กล่าวว่า มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนแล้วแต่ต้องเวียนว่ายอยู่ในวังวนแห่งอำนาจ เพราะไม่เพียงแต่อำนาจจะมีด้านที่รวมศูนย์เท่านั้น หากแต่อำนาจยังกระจายตัวไปถ้วนทั่วทุกหัวระแหง ความจริงข้างต้นก็ดูไม่แตกต่างไปจากภาพที่ปรากฏอยู่ในเรือนของ “คุณหลวงธำรงค์นครา” กับการสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของบรรดาเมียใหญ่เมียน้อยและข้าทาสบริวารอันหลากหลาย ที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในเรือนหลังนั้น ปมปัญหาของ “เรือนเสน่หา” หลังนี้ ดูผิวเผินก็คงมาจากการที่บรรดาบุรุษเพศผู้สูงศักดิ์ชั้นในยุคมูลนาย ท่านมักจะนิยมการมีภรรยาที่มากไปกว่าหนึ่งคนไว้ประดับยศถาบารมี เช่นเดียวกับกรณีของคุณหลวงธำรงค์นคราเหมือนกัน ที่ไม่เพียงแค่มีภรรยาเอกคือ “ชมนาด” หญิงสาวจากตระกูลสูงศักดิ์เท่านั้น หากแต่ยังมีภรรยารองเป็น “เอื้องคำ” บุตรสาวของพ่อค้าวานิชทางภาคเหนือ   ด้วยเหตุที่ชมนาดมีฐานันดรเป็นบุญบารมีติดตัวมาแต่กำเนิด ในขณะที่เอื้องคำก็มีฐานานุภาพทางการเงินเป็นทุนที่หล่อเลี้ยงอยู่ และยิ่งต่อมา เมื่อคุณหลวงเกิดได้ “มะลิ” บ่าวผู้ซื่อสัตย์มาเป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง ความสัมพันธ์ของตัวละครคุณหลวงกับภรรยาที่ต่างที่มาและต่างชั้นศักดิ์เหล่านี้ จึงถูกพันผูกโยงใยเข้ามาสู่วังวนแห่งอำนาจในที่สุด โดยหลักแห่ง “อำนาจ” นั้น ผู้ที่ตกอยู่ในวังวนดังกล่าวยากที่จะรู้ได้ว่า ใครเป็นเจ้าของอำนาจ หรือใครเป็นผู้ที่กำลังใช้อำนาจอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น แม้ในเบื้องต้น เราอาจจะเห็นว่า ในเรือนเสน่หาหลังนี้ อำนาจน่าจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือของคุณหลวง เพราะท่านสามารถใช้อำนาจชี้เป็นชี้ตายหรือกำหนดความอยู่รอดของใครต่อใครที่อยู่ในเรือนได้ โดยเฉพาะอำนาจในการกำหนดโจทย์ให้กับบรรดาเมียๆ ของท่านว่า หากใครสามารถมีลูกชายคนแรกได้ เมียคนนั้นก็จะได้ขึ้นมามีศักดิ์และสิทธิ์แห่งความเป็นเมียที่เหนือกว่าเมียคนอื่นๆ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ในวังวนดังกล่าว คุณหลวงก็หาได้มีอำนาจที่สมบูรณ์ในตัวเองไม่ เพราะภายในเรือนเสน่หาหลังนั้น อำนาจกลับมีลักษณะกระจัดกระจายและไหลเวียนวนไปมาในทุกทิศทุกทาง แม้แต่ในเบื้องหลังการห้ำหั่นระหว่างชมนาดกับเอื้องคำนั้น คุณหลวงก็มีบางจังหวะที่ถูกจับวางไว้เป็นเพียง “หมาก” ตัวหนึ่งบนกระดานให้ภรรยาทั้งสองที่ใช้เดินเกมเข้าหากัน การต้องมนต์เสน่ห์ของแก่นรัญจวนที่เอื้องคำใช้กับคุณหลวง หรือการที่ชมนาดหลอกลวงคุณหลวงด้วยการเปลี่ยนตัวเอา “สุข” ลูกชายของมะลิมาเป็นลูกชายหัวปีของเธอ หรือแม้แต่การที่ชมนาดลงมือวางแผนฆ่า “สร้อย” ผู้เป็นเมียบ่าวคนก่อนของคุณหลวงอย่างเหี้ยมเกรียม เหล่านี้ต่างเป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่า อำนาจไม่เคยหยุดนิ่งอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง ด้วยเหตุเดียวกันนี้เอง แม้แต่กรณีของมะลิ ที่เป็นเมียบ่าวผู้ซื่อสัตย์และเหมือนจะไม่มีเครื่องมือทางอำนาจใดๆ ติดตัวเลย แต่เมื่อชมนาดคิดจะฆ่า “เมือง” ผู้เป็นลูกชายของเธอ มะลิที่หลังพิงฝาก็เลือกที่จะใช้ตัวบึ้งชะงักย้อนศรกลับมาทำร้ายชมนาดได้ในภาวะจวนตัว เพราะฉะนั้น เมื่ออำนาจเป็นสิ่งที่พิสูจน์จับต้องได้ยาก แถมยังโยกย้ายถ่ายโอนไหลเวียนไปมาแบบไม่มีที่สิ้นสุดได้ด้วยแล้ว กลเกมของอำนาจที่เห็นในเรือนเสน่หาจึงพลิกกลับไปกลับมา บวกด้วยการผนวกรวมเอาคนที่แม้จะอยู่นอกวงแห่งอำนาจ ให้เข้ามาเวียนว่ายในวังวนของมันด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งแต่บรรดาบ่าวไพร่อย่าง “อี่” กับ “มุ่ย” ที่แม้ภายหลังจะกลับตัวกลับใจและพยายามจะหลุดไปจากวงโคจรของอำนาจ หรือบริวารผู้ภักดีต่อคุณหลวงอย่าง “มิ่ง” หรือ “เถ้าแก่ซ้ง” แห่งตรอกเต๊าผู้ที่มิได้รู้อิโหน่อิเหน่อันใด หรือตัวละครในรุ่นลูกหลานทุกคนซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือแก้แค้นของชมนาดและเอื้องคำ ไปจนถึงแม้แต่ “หลวงตาน้อย” พระสงฆ์ผู้อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ทุกคนทั้งหมดล้วนแล้วแต่ถูกซัดพาเข้ามาสู่ปริมณฑลแห่งอำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อมีการปะทะต่อรองอำนาจระหว่างกัน นอกจากตัวละครรอบข้างทุกคนจะถูกโยงใยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสงครามดังกล่าวแล้ว อีกด้านหนึ่ง อำนาจก็ต้องมีกลไกบางอย่างที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสำแดงพลังด้วย และกลไกทางอำนาจที่ชมนาดและเอื้องคำใช้ก็คือ “ความรู้” ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากการใช้ตัวบึ้งชะงักทำร้ายผู้คน หรือความรู้เรื่องเปลือกไม้แก่นรัญจวนที่ใช้ปลุกกำหนัดของบุรุษเพศ กลไกความรู้เหล่านี้ก็คือสิ่งที่ชมนาดและเอื้องคำใช้บริหารอำนาจและรักษาสถานะของพวกเธอเอาไว้ ในห้วงวังวนแห่งอำนาจเยี่ยงนี้ เหนือยิ่งสิ่งใดที่ละครกำลังบอกเราเอาไว้ด้วยก็คือ เมื่ออำนาจนั้นกำลังดำเนินเดินไป กระบวนการรักษาความเสถียรของอำนาจและการสืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น ได้กลายมาเป็นความจำเป็นส่วนหนึ่งของระบบไปด้วย ดังนั้น เมื่อวังวนของอำนาจไหลเวียนมาสู่รุ่นลูก และหลังจากที่เอื้องคำได้สอนให้ “ชวนชม” ผู้เป็นลูกสาวแท้ๆ ของชมนาด เข้ามาอยู่ในสงครามตัวแทนแก้แค้นตัวชมนาดเสียเอง ชวนชมก็ได้กลายสภาพเป็นผู้สืบสานอำนาจ แบบเดียวกับประโยคคำพูดของเธอที่กล่าวว่า “ชีวิตชวนชมอยู่ได้เพราะความแค้น ถ้าจะให้ชวนชมละความแค้น ก็เหมือนละทิ้งตัวเอง...” ฉากภายนอกในตัวเรือนของคุณหลวงธำรงค์นครานั้น อาจดูเป็นเรือนแห่งเสน่หาก็จริง แต่ในที่สุด เมื่อกลไกอำนาจต่างๆ เริ่มเดินเครื่องทำงานแล้ว วังวนแห่งอำนาจก็จะชักพาให้ทุกคนไม่ว่าใครก็ใครต้องมาเป็นส่วนหนึ่งในนั้น จนในที่สุด เรือนเสน่หาหลังนี้ก็จะกลายเป็นเวทีสืบสานวัฏจักรของอำนาจอย่างต่อเนื่องและตลอดไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 148 อาญารัก : เหตุแห่งรักที่ต้องโบยด้วยหวาย

นักสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์บางคน เคยอธิบายไว้ว่า ในสังคมอุตสาหกรรมหรือในระบบทุนนิยมนั้น ถือเป็นสังคมที่ผู้หญิงได้ถูกกดขี่ขูดรีดเอาไว้อย่างมากที่สุด ไม่ว่าจะด้วยภาระงานในบ้าน นอกบ้าน ค่าจ้างแรงงานที่ไม่เสมอภาค ไปจนถึงชีวิตที่ขาดการดูแลคุณภาพในฐานะอีกหนึ่งชีวิต แต่กระนั้นก็ดี ในกลุ่มของนักสตรีนิยมด้วยกันเอง ก็มีบางเสียงที่เห็นแย้งไปว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะในสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมเท่านั้นหรอก ที่ผู้หญิงจะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างเข้มข้น แต่ในทุก ๆ สังคมที่ยังคงถือเอาค่านิยมที่ผู้ชายมีอำนาจและเป็นใหญ่อยู่ต่างหาก ที่ผู้หญิงทั้งหลายจะถูกขูดรีดเอาเปรียบในทุกวิถีทาง และหากคำโต้แย้งข้อหลังเป็นจริง ก็คงจะเห็นได้จากชีวิตของผู้หญิงอย่าง “เนียน” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “อาญารัก” ที่เข้าขั้นรันทดลำเค็ญ จนถึงระดับที่เธออาจต้องร้องบอกคนดูได้เลยว่า “โหดกว่านี้ยังมีอีกไหมพี่???” เรื่องราวของเนียนย้อนไปในยุคหลังเลิกทาส อันเป็นช่วงสมัยก่อนสังคมอุตสาหกรรมจะก่อตัวขึ้นในสยามประเทศ เนียนซึ่งเป็นหญิงที่อาภัพ ความรู้ก็น้อย สามีก็มาเสียชีวิตลง แถมจับพลัดจับผลูต้องเป็นหนี้เป็นสินอย่างล้นพ้น เธอจึงจำต้องมาทำงานเป็นบ่าวขัดดอกอยู่ในเรือนของ “ขุนภักดีบริบาล” และตกเป็นภรรยาของท่านขุนภักดีในที่สุด   และเพราะเรือนของขุนภักดีบริบาลไม่แตกต่างจากภาพจำลองขนาดย่อม ๆ ของสังคมไทยที่ยึดถือค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่อยู่เป็นฉากหลัง ชะตาชีวิตของเนียนจึงมีอันต้องผันไปตามความรักความปรารถนาของขุนภักดีอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เมื่อขุนภักดีเข้าใจผิดคิดว่าเนียนคบชู้ จากความรักความหลงแบบโมหจริตก็ได้เปลี่ยนเป็นโทสจริตเพียงชั่วยาม ขุนภักดีจึงลง “อาญาแห่งรัก” โบยหลังเนียนด้วยแส้ม้า และขับไล่ไปขี้ข้าเลี้ยงหมูอยู่สุดปลายสายตาของเขตเรือน คำพิพากษาของท่านขุนภักดีไม่ใช่มาจากเหตุอื่นใด นอกจากเพื่อบอกทั้งเนียนและทุกคนที่อยู่ใต้อาณัติแห่งตนว่า “เหตุผลใด ๆ” ในสากลพิภพก็ไม่มีความสำคัญเท่ากับ “เหตุผล” หรืออำนาจของขุนภักดีบริบาลผู้เป็นใหญ่ในเรือนหลังดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว เพราะฉะนั้น แม้ในความจริงแล้ว เนียนจะมิได้ประพฤติผิด “อาญา” ตามที่ขุนภักดีกล่าวอ้างแต่ประการใด แต่ทว่าประวัติศาสตร์ชีวิตของเนียนก็ไม่ได้ถูกเขียนหรือกำหนดได้ด้วยตัวของเธอเอง หากแต่ต้องเป็นไปตาม “เหตุผล” ที่ขุนภักดีขีดขึ้นไว้ให้เท่านั้น และกับตัวละครหญิงคนอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้ดูรันทดอาภัพเท่ากับเนียน แต่ก็มีสถานะในบ้านไม่ได้แตกต่างกัน เริ่มจากภรรยาหลวงอย่าง “เรียม” ที่แม้จะไม่เห็นด้วยกับ “เหตุผล” แบบขุนภักดี ก็ได้แต่ทำตัวแบบน้ำท่วมปาก หรือแม้แต่อ้างความกตัญญูที่จะพรากลูกแฝดของเนียนมาเป็นลูกของตน เพียงเพื่อรักษาสถานภาพภรรยาเอกของขุนภักดีเอาไว้ ในสังคมที่บุรุษอย่างขุนภักดีบริบาลมีอำนาจอยู่ ผู้หญิงอย่างเนียนจึงมิได้แค่ม้วยด้วยมือของผู้ชายเท่านั้น หากแต่ยังต้องมาม้วยด้วยมือของผู้หญิงด้วยกันเองอย่างคุณเรียมผู้มีพระคุณของเธอด้วย ส่วน “สน” ผู้เป็นภรรยารองและสีสันของเรื่องนั้น เพื่อธำรงสถานะของตนเองไว้ ก็ต้องพยายามทุกวิถีทางเช่นกัน แม้แต่จะใช้เล่ห์กลโกงหรือมิจฉาทิฐิเข้ามาจัดการกับเนียนและทุกคนในบ้านที่จะเข้ามาเป็นปรปักษ์ในชีวิตของเธอ แต่ในแง่นี้ ละครก็ได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า “อำนาจ” ของเพศชายที่เป็นใหญ่ดังกล่าว อาจไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่ในพื้นที่ของบ้านหรือสถาบันครอบครัวเท่านั้น แต่แผ่ซ่านเข้าไปควบคุมผู้หญิงในพื้นที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อสนวางแผนจ้างให้ “เสือหนัก” ข่มขืนเนียน โดยที่ไม่รู้เลยว่าเสือหนักนั้นเป็นพี่ชายแท้ๆ ของเนียน ละครก็ได้ลงโทษทั้งสนและบ่าวพลอยพยักอย่าง “ช้อย” ให้ถูกเสือหนักและพรรคพวกย้อนรอยมารุมข่มขืนถึง 7 วัน 7 คืน การข่มขืนและลงอาญาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นนี้ จึงเป็นอีกด้านที่ฉายให้เห็นอำนาจของบุรุษเพศ ที่จะเข้ามาให้คุณให้โทษกับตัวละครหญิงคนใดก็ได้ ในบ้านหรือนอกพื้นที่ของครัวเรือนก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าชายผู้นั้นจะเป็นขุนภักดีบริบาลผู้เป็นข้าหลวงใหญ่ในหัวเมือง หรือจะเป็นขุนโจรชื่อก้องอย่างเสือหนักก็ตาม ผู้หญิงจะดีจะเลวหรือจะเป็นคนแบบไหนจึงไม่สำคัญ ตราบใดที่พวกเธอยังต้องอยู่ในวังวนของอำนาจที่กำกับโดยบุรุษเพศด้วยแล้ว ชีวิตของเธอก็มีแนวโน้มจะสุขหรือทุกข์แบบผันไปตามความปรารถนาของเพศชายเท่านั้น ทางออกที่ละครมอบให้กับเนียนนั้น จึงหนีไม่พ้นการให้เธอวางอุเบกขาและยอมรับชะตากรรมต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้โดยผู้อื่น ไม่แตกต่างไปจากนางสีดาผู้ต้องลุยไฟกว่าจะพิสูจน์คุณความดีที่แท้จริงได้ในตอนจบ “อาญารัก” อาจเป็นตัวอย่างการลงโทษโดยใช้ความรุนแรงต่างๆ ทั้งทางกาย วาจา และใจ ที่มีต่อสตรีเพศ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สังคมอุตสาหกรรม แต่กระนั้น ความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งในบ้านและนอกบ้านแบบนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะสูญสลายหายไปแล้วในปัจจุบัน แบบที่เราๆ เองก็อาจได้พบได้เห็นกันอยู่เป็นเนืองๆ หากเป็นดั่งนี้แล้ว การชูป้ายของนักสตรีนิยมที่จะให้ “stop violence against women” ก็น่าจะคงอยู่ ตราบเท่าที่หวายและแส้ม้าไม่ได้ถูกเก็บออกไปจริงๆ จากจิตสำนึกของสังคมไทย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point