ฉบับที่ 137 หนุ่มบ้านไร่กับหวานใจไฮโซ : เมื่อความไม่เข้ากัน โคจรมาพบกัน

แค่เห็นชื่อเรื่องละครครั้งแรกว่า “หนุ่มบ้านไร่กับหวานใจไฮโซ” ผมก็เกิดความสนใจใคร่รู้ว่า ชีวิตของหนุ่มบ้านไร่กับชีวิตของสาวไฮโซ ที่เหมือนจะอยู่กันคนละมุมโลก แต่เหตุไฉนละครจึงเลือกจับเอาสองชีวิตที่อยู่กันคนละฟากฟ้า ให้วนโคจรมาบรรจบกัน หากคิดตอบโดยใช้สามัญสำนึกทั่วไป หนุ่มบ้านไร่จะเวียนวนมาตกหลุมรักกับสาวไฮโซได้นั้น ก็ต้องด้วยบุพเพสันนิวาส หรือเป็นเหตุเนื่องแต่ “พรหมลิขิตบันดาลชักพา” แต่เพียงสถานเดียว แต่หากพินิจพิจารณาดูจากชีวิตของหนุ่มบ้านไร่อย่างนายปราบกับสาวไฮโซอย่างนับดาวแล้วล่ะก็ บุพเพสันนิวาสก็อาจเป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง แต่ก็อาจมีตัวแปรเรื่องช่องว่างระหว่าง “ความเป็นชนบท” กับ “ความเป็นเมือง” ที่กลายมาเป็นอีกเหตุปัจจัยสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน   โดยปกติแล้ว เป็นที่รับรู้กันว่า นับเป็นเวลาหลายทศวรรษภายหลังจากที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติถูกนำมาใช้ และกลายเป็นกรอบวิธีคิดหลักที่สังคมไทยยอมรับกันทั่วทุกหัวระแหง ช่องว่างระหว่างชนบทกับเมืองก็นับวันจะยิ่งถูกถ่างออกจากกันไปเรื่อยๆ โดยมีความเปลี่ยนแปลงที่ชนบทจะค่อยๆ ถูกกลืนกลายให้เปลี่ยนสถานะเป็นชายขอบของความเป็นเมืองแบบไม่มีที่สิ้นสุด นับดาว เธอผู้เป็นไฮโซสาวเจ้าของฉายา “นับดาวว้าวแซ่บ” ก็คือตัวแทนของภาพชีวิตความเป็นเมือง ที่แม้เบื้องหน้าของคนกลุ่มนี้อาจจะดูทันสมัย ดูสวย ดูหรู มีสไตล์ หรือ “ว้าวแซ่บ” สมกับฉายาที่เธอได้รับ หากแต่เบื้องหลังของนับดาว กลับเป็นไฮโซถังแตก ที่ต้องเอามรดกของปู่ย่าตายายมาออกขายเพื่อเลี้ยงชีวิตไปวันๆ ด้วยเหตุผลที่ “จมไม่ลง” และต้องกอดเกียรติยศที่ค้ำคอเชิดๆ เอาไว้ ไฮโซสาวว้าวแซ่บจึงต้องไปตระเวนออกงานสังคมมากมาย สลับกับฉากที่เธอและคุณน้าอะซ่า (หรือชื่อจริงว่า อลิสา) ก็ต้องแอบหาเงินไปไถ่เครื่องเพชร เครื่องประดับ หรือกระเป๋าแบรนด์เนมจากโรงรับจำนำ มาแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อเฉิดฉายในงานสังคมเหล่านั้น และความหวังเดียวของนับดาว ก็มีเพียงการจ้องจะแต่งงานกับไฮโซแฟนหนุ่มอย่างชัยชนะ เพื่อกอบกู้ฐานะทางเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมา โดยที่เธอเองก็หารู้ไม่ว่า แฟน ดร.ไฮโซหนุ่มของเธอเองนั้นก็ถังแตกไม่แพ้กัน และก็ถูกมารดาอย่างคุณชัชฎาชักใยให้เขาพยายามจับคู่แต่งงานกับนับดาวให้ได้ เพื่อปลดหนี้สินที่ล้นพ้นอยู่ด้วยเช่นกัน ภาพของตัวละครไฮโซอย่างนับดาว ชัยชนะ และคุณชัชฎานี้เอง ก็ไม่แตกต่างไปจากโลกแห่งสังคมเมือง ที่แม้หน้าฉากจะดูทันสมัย สวยงาม หรือมีมิตรจิตมิตรใจระหว่างกัน แต่หลังฉากนั้น กลับเปี่ยมไปด้วยความหลอกลวง ไม่วางใจกันและกัน และที่สำคัญ เบื้องลึกเบื้องหลังกลับไม่มีทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตอันใด ที่จะทำให้สังคมแบบนี้ยืนหยัดขับเคลื่อนต่อไปได้จริงๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ในโลกที่เจริญก้าวหน้าหรือทันสมัยแบบนี้นั้น จะมีก็แต่ “ภาพลักษณ์” ที่ผู้คนปั้นขึ้นมาไว้ขายให้กันและกันดูเท่านั้น แต่ “ภาพลักษณ์” ดังกล่าวก็เป็นแค่ “มายา” ทว่า “ปากท้องข้าวปลา” ที่เป็น “ของจริง” กลับหายากแร้นแค้นยิ่งนักในสังคมแบบนี้ ตรงข้ามกับภาพของปราบ หนุ่มบ้านไร่ที่ใช้ชีวิตอยู่กับ “ของจริง” ไม่ว่าจะเป็นของจริงที่เป็นปัจจัยการผลิตต่างๆ ทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ที่ดินทำกินในไร่ แรงงานเกษตรกรซึ่งเป็นกำลังหลักในการผลิต รวมถึงวัตถุดิบการผลิต ที่สามารถแปรรูปมาเป็นอาหารป้อนให้มนุษย์ได้มีอยู่มีกินมีอิ่มท้อง เพราะฉะนั้น เมื่อฝ่ายหนึ่งมีแต่ “ภาพลักษณ์” ที่กินไม่ได้ แต่ปั้นหน้าลวงหลอกผู้อื่นไปวันๆ กับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมี “ของจริง” ที่กินได้ แต่เป็นเพียงชนบทที่ถูกผลักออกไปไว้ยังชายขอบของสังคม คนสองกลุ่มที่มาจากพื้นเพสังคมต่างกันหรือเหมือนจะเคยยืนอยู่กันคนละฟากฟ้า ก็มีเหตุอันให้ต้องมาบรรจบพบเจอกันในที่สุด เพียงเหตุปัจจัยเดียวที่ต้องการรักษาหน้าตาและอำนาจทางเศรษฐกิจสังคมเอาไว้ ไฮโซสาวชาวเมืองอย่างนับดาวกับคุณน้าอะซ่าจอมวางแผน ก็เลยต้องสวมวิญญาณแบบเจ้าจักรวรรดิที่เริ่มออกล่าอาณานิคม เพื่อขูดรีดและกอบโกยเอาทรัพยากรในชนบทชายขอบ มาหล่อเลี้ยง “ภาพลักษณ์” หรือหน้าตาของคนในศูนย์กลางสังคมทันสมัย แล้วละครก็เริ่มสาธิตให้เห็นขบวนการมากมายในการขูดรีดชนบท ตั้งแต่การกุข่าวปั้นเรื่อง การโกหกหลอกลวง การสร้างสถานการณ์ การเสแสร้งเป็นพวกความจำเสื่อม และอีกร้อยเล่ห์มารยาที่ถูกเสกสรรขึ้นมาลวงล่อปราบกับชาวบ้านไร่คนอื่นๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ในระบบจักรวรรดินิยมเยี่ยงนี้ สาวไฮโซตัวแทนแห่งสังคมเมือง จะทำทุกวิถีทางที่จะให้หนุ่มหน้ามนคนชนบทอย่างปราบยอมขายที่ดิน อันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของสังคมเกษตร เพียงเพื่อแปรเปลี่ยนที่ดินทำกินของบ้านไร่ให้กลายเป็นรีสอร์ตอันโอ่อ่าเอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น และก็ต้องรอให้คุณงามความดีของพ่อหนุ่มบ้านไร่ได้พิสูจน์ตัวระลอกแล้วระลอกเล่านั่นแหละ นับดาวจึงเริ่มตกหลุมรักเขา และเข้าใจสัจธรรมที่ว่า ชีวิตที่มีแต่ “ภาพลักษณ์” นั้นช่างไม่จีรังยั่งยืนเอาเสียเลย เมื่อเทียบกับชีวิตของชาวบ้านไร่บ้านนา ที่แม้จะดูเชยล้าสมัย แต่ก็เป็นโครงกระดูกสันหลังจริงของสังคมไทย แบบเดียวกับที่นับดาวได้พูดสรุปถึงโลกอันจอมปลอมเธอกับปราบว่า “นี่แหละชีวิตของนับดาวว้าวแซ่บ...ฉันรู้ว่าคุณรักฉัน แล้วฉันก็รักคุณ แต่ในโลกของฉัน ความรักมันไม่ได้มีความหมายอะไรมากมายนักหรอก ในโลกของฉัน เราแต่งงานกับคนที่เหมาะสมกับเราเท่านั้น...” ในตอนจบของละครนั้น ความรักความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างชนบทกับเมืองอาจจะคลี่คลายไปแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ในโลกจริง “ภาพลักษณ์” ยังเป็นหน้าตาและอำนาจที่สาวไฮโซแห่งเมืองทันสมัยยังพยายามรักษาอยู่ ก็ไม่รู้ว่าบทสรุปลงเอยที่สองฝ่ายโคจรมาเจอกันจริง ๆ จะเป็นประหนึ่งในละครกันไหม???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 136 บ่วง : แนวรบแห่งชนชั้น เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

มีคำถามข้อหนึ่งที่ชวนสงสัยว่า ในสังคมแบบที่ผู้ชายมีอำนาจกำหนดนั้น อะไรที่เป็นเสมือนพันธนาการที่ร้อยรัดผู้หญิงเอาไว้อย่างแน่นหนาที่สุด? ถ้าจะหาคำตอบข้อนี้จากละครโทรทัศน์เรื่อง “บ่วง” แล้ว เราก็จะได้คำตอบว่า พันธนาการที่เป็นบ่วงรัดผู้หญิงในสังคมไทยเอาไว้อย่างแนบแน่น ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ความรัก” และ “ความเป็นแม่” นั่นเอง ดูจากตัวละครหญิงสองคนอย่างแพงและคุณหญิงอบเชยก็ได้ ที่ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่ หรือตายกลายเป็นผีผู้หลุดไปยังสัมปรายภพแล้วก็ตาม แต่ทว่า “ความรัก” ที่แพงมีให้กับหลวงภักดีบทมาลย์ และ “ความเป็นแม่” ที่คุณหญิงอบเชยมีให้กับคุณชื่นกลิ่นนั้น ก็ยังเป็นลิ่มที่สลักฝังตัวละครทั้งสองเอาไว้ไม่ให้ไปผุดไปเกิด   แต่หากจะตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วอะไรกันเล่าที่เป็นบ่วงมัดให้ผู้หญิงทั้งสองคนหรือตัวละครอย่างแพงกับคุณหญิงอบเชย ต้องหันมาเผชิญหน้ากันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน หรือเผาพริกเผาเกลือไล่บี้กันไปในทุกภพชาติ? คำตอบที่เหนือยิ่งไปกว่า “ความรัก” ที่มีต่อบุรุษเพศ และ “ความเป็นแม่” ที่ห่วงใยลูกหลานนั้น ก็คงจะหนีไม่พ้นปัจจัยตัวแปรเรื่องสถานะทาง “ชนชั้น” ที่ทำให้แพงและคุณหญิงอบเชยต้องมาเข่นเขี้ยวกัน แม้วิญญาณของผู้หญิงทั้งสองคนจะหลุดออกไปจากร่างแล้วก็ตาม ในท่ามกลางสถานะแห่งชั้นชนที่แตกต่าง ด้านหนึ่งเราก็เลยได้เห็นภาพตัวละครอย่างคุณหญิงอบเชยและคุณชื่นกลิ่นบุตรสาว ผู้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนซึ่งมีทุนต่างๆ ติดตัวมาแต่กำเนิดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งร่ำรวย หรือสถานภาพทางสังคมที่เป็นที่ยอมรับนับถือ เพราะฉะนั้น เมื่อมีทั้งทุนเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนวาสนาบารมีที่ล้นเหลือเช่นนั้น คุณหญิงอบเชยและคุณชื่นกลิ่นจึงมี “อำนาจ” ทางสังคมที่เหนือกว่าแพงในทุกๆ ด้าน แม้เมื่อจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก คุณชื่นกลิ่นก็แทบจะไม่ต้องลงหน้าตักอันใดมากมายนัก เธอก็สามารถพิชิตหัวใจชายหนุ่มอย่างหลวงภักดีบทมาลย์เอาไว้ได้ตั้งแต่วูบแรกที่ทั้งคู่ได้พบเจอกัน ก็เหมือนกับคำที่ใครต่อใครเขาพูดกันว่า ทั้งสองเป็นเนื้อคู่กันมาแต่ชาติปางก่อน จนแม้จะกลับมาเกิดในชาติปัจจุบันเป็นคุณรัมภา เธอก็ยังได้ลงเอยเคียงคู่อยู่กับคุณศามนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ตรงกันข้ามกับแพง ผู้ที่ไม่มีทุนอันใดติดตัวมาแต่กำเนิดเลย ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางเศรษฐกิจหรือสถานภาพเชิงสังคม เพราะฉะนั้น เธอจึงถูกผู้คนหยามหมิ่นอยู่ตลอดว่าเป็น “คนชั้นต่ำ” ตั้งแต่เด็ก หรือโตขึ้นมาก็เป็นเพียง “nobody” ในสายตาของทุกๆ คน ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อแพงรู้สึกมีจิตปฏิพัทธ์ และอยากจะเป็นเจ้าของหัวใจของหลวงภักดีบทมาลย์ เธอจึงต้องพยายามแปลงทุกอย่างเท่าที่ “คนชั้นต่ำ” อย่างเธอจะมี ให้กลายเป็นทุนเพื่อเอาชนะมัดใจคุณหลวงให้ได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ในขณะที่คุณชื่นกลิ่นแทบจะไม่ต้องลงทุนลงแรงอันใดเพื่อครองคู่กับคุณหลวง แต่แพงนั้นต้องอาศัย “ความวิริยะบากบั่น” ซึ่งเป็นต้นทุนเดิมอย่างเดียวที่เธอมีให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ตั้งแต่เฝ้าเพียรไปดักรอเพื่อพบหน้าและกราบขอบคุณคุณหลวงที่เคยช่วยชีวิตเธอไว้จากการจมน้ำ หรือใช้ความพยายามร่ำเรียนวิชาประจำตัวผู้หญิงจากนายแม่ในซ่องโสเภณี รวมไปถึงแอบลักลอบเรียนคาถาอวิชชาอาคมจากอาจารย์ชู ความเพียรพยายามที่จะเอาชนะคุณชื่นกลิ่น ทำให้แพงต้องท่องบอกตัวเองตลอดว่า ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกลหรือมนตราอาคมทุกอย่าง ก็คงด้วยเหตุผลที่แพงพูดกับคุณชื่นกลิ่นว่า เธอเจอคุณหลวงมาก่อนด้วยซ้ำ และคุณหลวงก็ยังเป็นผู้มีพระคุณที่ช่วยชีวิตและเห็นคุณค่าในชีวิตคนชั้นต่ำอย่างเธอ จะผิดด้วยหรือที่เธอเลือกทำทุกอย่างเพื่อแย่งชิงคุณหลวงมาเป็นคู่ชีวิต โดยที่เธอต้องลงหน้าตักและใช้ความบากบั่นพากเพียรมากมาย ในขณะที่คุณชื่นกลิ่นกลับแทบไม่ต้องทำการอันใด เพียงแค่ตรอมตรมนอนร้องไห้ไปวันๆ และเมื่ออุปทานหรือทรัพยากรอย่างคุณหลวงมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ทว่า อุปสงค์หรือความต้องการกลับมีมากกว่าหนึ่ง ผนวกรวมกับเป็นอุปสงค์ความต้องการที่มาจากผู้หญิงสองคนจากต่างชั้นชนกัน ดังนั้น ความขัดแย้งจึงปะทุขึ้นระหว่างแพงกับคุณชื่นกลิ่น โดยที่คนหลังก็มีแบ็คอัพจากมารดาอย่างคุณหญิงอบเชยที่เปี่ยมล้นอำนาจเงินทองและบารมี แนวรบระหว่างชนชั้นที่แตกต่างกันนี้ กินความมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทั้งแพงและคุณหญิงอบเชยยังมีชีวิตอยู่ จนถึงตายจากกันไปแต่กลับไม่หลุดพ้นบ่วงกรรม แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แพงจะถูกคุณหญิงอบเชยทรมานทั้งกายและใจ และกักขังเธอไว้แบบตายทั้งเป็น แต่เมื่อตายกลายเป็นผีไปแล้วนั้น ทั้งบ่วงแค้นและบ่วงรักกลับทำให้อำนาจของแพงและคุณหญิงอบเชยเริ่มเกิดสมดุลมากขึ้น วิญญาณคุณหญิงอบเชยผู้มี “บ่วงรัก” อาจมีอำนาจที่จะปกป้องลูกหลานในปริมณฑลของเรือนหลังใหญ่ แต่ผีนางแพงผู้ถูกผูกไว้ด้วย “บ่วงแค้น” ก็กำหนดอาณาบริเวณของเรือนหลังเล็กให้กลายเป็นพื้นที่ทางอำนาจของเธอ โดยที่เธอก็จะสิงสู่หรือจัดการใครต่อใครที่ย่างกรายเข้ามาในอาณาเขตนั้น เมื่อบ่วงรักกับบ่วงแค้นขัดแย้งจนถึงขีดสุด ละครโทรทัศน์ก็ให้ทางออกด้วยการใช้ศาสนาและอโหสิกรรมมาปลดปล่อยวิญญาณของผู้หญิงทั้งสองคน รวมทั้งเป็นคำตอบให้กับการครองชีวิตคู่ของรัมภาและศามนในภพชาติปัจจุบัน แม้ว่าอโหสิกรรมจะช่วยยุติความขัดแย้งระหว่างแพงกับคุณหญิงอบเชยได้ในละคร แต่หากอำนาจและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมยังคงดำเนินอยู่ต่อไปเยี่ยงนี้ คำถามก็คือ บ่วงรักบ่วงแค้นก็อาจจะเป็นแนวรบที่รอวันปะทุอย่างไม่สิ้นไม่สุดกันหรือไม่???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 135 รักออกอากาศ : เรื่องจริงที่ผ่านจอ

มีคำถามข้อหนึ่งว่า สิ่งที่โทรทัศน์กำลังทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นการสะท้อนความเป็นจริงในสังคม หรือโทรทัศน์กำลังทำหน้าที่ชี้นำทิศทางความเป็นจริงบางอย่างผ่านทางหน้าจอ??? สำหรับผมแล้วนั้น คำตอบคงไม่ใช่แบบ (ก) หรือ (ข) อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โทรทัศน์คงกำลังทำทั้งสะท้อนและตั้งคำถามกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม หรือโทรทัศน์คงเป็นได้ทั้ง “กระจก” และ “ตะเกียง” แบบที่นักวิชาการสายสื่อมวลชนหลายคนได้เคยตอบคำถามเอาไว้ ถ้าอยากรู้ว่าโทรทัศน์ทำหน้าที่ทั้งแบบ “กระจก” และ “ตะเกียง” ได้อย่างไร ก็คงต้องหวนกลับมาดูละครแล้วค่อยๆ ย้อนดูความเป็นจริงต่างๆ ในสังคมกันอีกสักครั้ง ท่ามกลางกระแสของรายการเรียลลิตี้โชว์ที่เบ่งบานอยู่ในเมืองไทยเรา ณ ขณะนี้ ละครโทรทัศน์เรื่อง “รักออกอากาศ” ก็โหนกระแส “สะท้อน” ภาพความเบ่งบานของอุตสาหกรรมเรียลลิตึ้โชว์เอาไว้ ด้วยการสร้างภาพของไฮโซหนุ่มอย่าง “เจ้าคุณ” ที่ปลอมตัวไปเป็น “เจ้าขุนทอง” และไปใช้ชีวิตในชนบทของชุมชน “ม่วนแต๊” โดยมีกล้องโทรทัศน์จับตามองความเป็นไปของเขาอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง   ในโลกความจริงนั้น เราเคยมีรายการเรียลลิตี้โชว์ทำนองนี้อย่าง “ไฮโซบ้านนอก” ได้ฉันใด ในละครโทรทัศน์ก็ได้เป็นประหนึ่งกระจกสะท้อนหรือจำลองภาพรายการทีวี “ไฮโซบ้านเฮา” ขึ้นมาท่ามกลางขุนเขาและไร่ชาของชุมชนม่วนแต๊ พร้อมทั้งมีบรรยากาศของผู้ชมที่คอยชูป้ายยกไฟเชียร์ความรักของเจ้าขุนทองกับน้องนางบ้านไร่อย่างน้องใจ๋กันสุดชีวิต และที่สำคัญ ละครไม่ได้เพียงแค่จำลองภาพขึ้นมาเปล่า ๆ หากแต่ยังหยิบยกเสี้ยวโน้นเสี้ยวนี้ของฉากชีวิตลูกหลานไฮโซมาผสมปน ๆ อยู่ในโครงเรื่องของละครอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหยิบภาพชีวิตของบรรดาไฮโซที่มักทำตัวแบบ “คนรวยเจ้าสำราญ” ขึ้นมาตั้งแต่เปิดเรื่อง หรือการนำเสนอภาพบรรดาลูกหลานไฮโซที่มักถูกพ่อแม่จับคู่คลุมถุงชนให้แต่งงานกันในหมู่แวดวงชนชั้นสูงด้วยกันเอง หรือแม้แต่ภาพของไฮโซเจ้าคุณที่ขับรถซิ่งตามท้องถนน ก็ดูไปคล้าย ๆ กับภาพข่าวหลาย ๆ ครั้งที่เราเคยได้เห็นทางหน้าหนังสือพิมพ์ แม้จะเป็นเรื่องราวที่ดูคุ้นและดูใกล้เคียงกับที่เราๆ เคยรับรู้จากข่าวหนังสือพิมพ์ แต่จุดต่างของภาพที่สะท้อนชีวิตไฮโซในละครโทรทัศน์กับของจริงก็คือ ในขณะที่ไฮโซจริงเขาซิ่งรถคว่ำกันระเนระนาดเป็นโศกนาฏกรรม แต่ไฮโซเจ้าขุนทองนั้น กลับขับรถสปอร์ตพุ่งชนเข้ากับแผงร้านหมูกระทะที่มีน้องใจ๋นางเอกของเรื่องกำลังนั่งโซ้ยอาหารมื้อค่ำกันอยู่ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปมพ่อแง่แม่งอนต่างๆ ที่อยู่ในท้องเรื่อง เพราะฉะนั้น ภาพที่ละครโทรทัศน์ฉายออกมาให้เห็นเหล่านี้ ก็คงจะเป็นเสมือนกับ “กระจก” ที่กำลัง “สะท้อน” โลกแห่งความเป็นจริงนอกจอมาให้เราได้รับชมไม่มากก็น้อย ส่วนในมุมของ “ตะเกียง” หรือการที่ละครโทรทัศน์ทำหน้าที่ชี้นำทิศทางความเป็นจริงให้กับผู้ชมนั้น ก็ปรากฏให้เห็นผ่านบรรดาเนื้อหาหรือเรื่องราวต่างๆ ที่ผูกแต่งโยงกันเข้ามาเป็นโครงหลักๆ ของเรื่อง เริ่มตั้งแต่การที่ละครได้ทดลองสร้างตัวละครให้สมมติฉากแบบที่ไฮโซพลัดถิ่นอย่างเจ้าคุณต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน ภาพอากัปกิริยาเปิ่น ๆ ของตัวละครเมื่อต้องข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมแบบเมืองไปใช้ชีวิตในชนบทบ้านม่วนแต๊ จะนุ่งผ้าขาวม้าอาบน้ำ จะกินอาหารพื้นบ้านพื้นเมือง จะกางมุ้งเข้านอน รวมไปถึงการเข้าส้วมเพื่อขับถ่าย ทุกอย่างก็ดูเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ผิดฝาผิดตัวแทบทั้งสิ้น ภาพแบบเคอะๆ เขินๆ หรือภาพของความไม่ลงรอยกันระหว่างสองโลกที่แตกต่างของเมืองกับชนบท หรือระหว่างไฮโซเจ้าคุณกับชาวชุมชนม่วนแต๊แบบนี้ คงไม่ใช่เหตุวิสัยที่เกิดกันเป็นปกติเท่าใดนัก หากแต่น่าจะเป็นภาพที่ละครได้เสกสรรปั้นแต่งความบันเทิงขึ้นมาให้เราได้ดู แต่คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วทำไมความบันเทิงจึงต้องสอดแทรกมุขตลกที่ให้เมืองกับชนบทได้มาพานมาพบมาเข้าอกเข้าใจกันแบบอิหลักอิเหลื่อเช่นนี้??? ผมคิดว่าคงเป็นความตั้งใจของผู้เขียนบทและผู้สร้างละครด้วยนั่นแหละ ที่อยากจะใช้ละครเป็นพื้นที่กอบกู้ศักดิ์ศรีของคนชนบท และใช้ความบันเทิงของละครเชื่อมประสานรอยแยกระหว่างสองขั้ววัฒนธรรมที่แตกต่างให้ได้มาปรองดองกัน คล้าย ๆ กับภาพที่น้องใจ๋นางเอกของเรื่องที่เดินเข้าไปตบหน้าไฮโซหนุ่มเจ้าคุณในงานแต่งงานของเขากับไฮโซสาวเอมี่ ก็ชี้ให้เห็นเป็นนัยๆ ว่า ทุกวันนี้คนเมืองกรุงของเราอาจจะกำลังหลอกลวงให้หลงรักหรือหยามศักดิ์ศรีคนชนบทแบบชาวบ้านม่วนแต๊ที่อยู่ในละครกันมากน้อยเพียงไร แต่หลังจากที่คุณพระเอกไฮโซของเราได้ “พาหญิงงามกลับไปหยามน้ำใจ” ของสาวใจ๋แห่งบ้านม่วนแต๊แล้ว ละครก็เริ่มพลิกกลับมาอีกด้านของความปรองดองเข้าใจกัน โดยให้ภาพของทั้งเจ้าคุณและคุณหญิงรจนาวรรณผู้เป็นมารดา ที่ได้เรียนรู้สัจธรรมชีวิตว่า ทั้งเมืองและชนบทอาจไม่ใช่ความแตกต่างที่ต้องแตกแยกกันเสมอไป จนนำไปสู่ฉากจบของเรื่องที่ทั้งเจ้าคุณและใจ๋ก็ได้ลงเอยความรักท่ามกลางบรรยากาศของไร่ชาและอารมณ์ม่วนชื่นของชาวม่วนแต๊ เพราะฉะนั้น ข้อสรุปของ “รัก” ที่เกิดจากการ “ออกอากาศ” ก็คงเป็นไปในทำนองว่า ทั้งไฮโซเมืองกรุงและน้องนางบ้านไร่จึงต่างอยู่โดยขาดความเข้าใจและเกื้อกูลระหว่างกันและกันไปไม่ได้ ในโลกความเป็นจริง ฐานการผลิตของชนบทจะขาดการสนับสนุนจากคนในสังคมเมืองไม่ได้ฉันใด ละครก็ชี้นำให้เราเห็นในอีกทางด้วยว่า คนเมืองอย่างไฮโซเจ้าคุณเองจะเข้าใจตัวคุณเองได้ ก็ต้องเริ่มจากการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นอย่างความเข้าใจและเคารพในศักดิ์ศรีของคนชนบทแบบชาวม่วนแต๊กันเสียก่อน หากละครได้เป็นทั้ง “กระจก” และ “ตะเกียง” ที่นำร่องความคิดเรื่องคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนที่แตกต่างกันในทางวัฒนธรรมมาแบบนี้แล้ว คำถามที่ทิ้งท้ายไว้ก็คือ แล้วจากโลกของละครที่จำลองภาพเอาไว้เช่นนั้น จะกลายมาเป็น “เรื่องจริง” ที่อยู่นอกจอได้บ้างหรือไม่...

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 134 ปางเสน่หา : ผีกับคนบนความเกื้อกูล

“ผีก็อยู่ส่วนผี คนก็อยู่ส่วนคน” ประโยคบอกกล่าวข้างต้นนี้ เป็นวิธีคิดที่หลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะแม้แต่ในตำนานของแม่นาคพระโขนงที่ถูกนำมาทำเป็นหนังเป็นละครโทรทัศน์อยู่หลายครั้ง ต่างก็ตอกย้ำให้เห็นเอาไว้อย่างชัดเจนในฉากจบของเรื่อง วิธีคิดเรื่องการแยกส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง “ผี” กับ “คน” แบบนี้ น่าจะเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติอย่างผีนั้นต่างคนต่างอยู่กันคนละภพชาติ และไม่เข้ามาข้องแวะสัมพันธ์กันแต่อย่างใด แต่อันที่จริงแล้ว ผมเองก็ชักไม่แน่ใจว่า ความคิดเรื่อง “ชั่วช่างผี ดีช่างคน” ดังกล่าว จะเป็นคุณค่าที่หยั่งรากฝังลึกมาในสังคมไทยอย่างยาวนานจริงแน่แท้แล้วหรือ? แล้วทำไมเวลาที่เราดูละครโทรทัศน์อีกหลาย ๆ เรื่อง เรากลับจะมักเห็นภาพของตัวละครผีที่เข้ามายุ่งก้าวก่ายในชีวิตของมนุษย์โลกกันอยู่เป็นเนืองๆ แบบเดียวกับละครเรื่อง “ปางเสน่หา” ที่แม้วิญญาณเร่ร่อนของตัวละครอย่างปรายดาวเธอจะหลุดไปยังต่างภพต่างปางแล้วก็ตาม แต่ด้วยสิเน่หาหรือความผูกพันบางอย่าง ทำให้ “ผีมิอาจอยู่ส่วนผี” แต่กลับต้องเข้ามุ่งเกี่ยวกับมนุษย์ในทางโลกียวิสัย   ละครเรื่องนี้เปิดฉากมาด้วยภาพของคุณพระเอกอย่างผู้กองเตชิต นายตำรวจผู้มุ่งมั่นจับตัวการใหญ่ของผู้ค้ายาเสพติดให้ได้ แต่กลับต้องไป “เจอตอ” จนถูกสั่งให้พักราชการ เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปหลบปัญหาอยู่ที่บ้านไร่สุขศรีตรัง และด้วย “พรหมลิขิตบันดาลชักพา” เขาก็ได้ไปพบกับวิญญาณของปรายดาว และตกหลุมรักเธอที่บ้านไร่ชายทุ่งแห่งนั้น และที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่มนุษย์อย่างผู้กองเตชิตมีปัญหาชีวิตถาโถมเข้ามามากมาย แต่ก็มิได้หมายความว่า วิญญาณผีที่หลุดไปยังสัมปรายภพแล้ว จะปราศจากซึ่งปัญหาชีวิตแต่อย่างใด เพราะวิญญาณของตัวละครปรายดาวก็ต้องพบเผชิญกับอุปสรรคปัญหาในชีวิตอย่างมากมายไม่แพ้กัน สำหรับผู้กองเตชิตนั้น ปมปัญหาชีวิตของเขามาจากการที่ภรรยาถูกผู้ร้ายติดยาบ้าฆ่าตายพร้อมกับลูกในท้อง และกลายมาเป็นบาดแผลที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของเขามานานนับปี แม้เขาจะมุมานะทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพื่อให้ลืมความเจ็บปวดดังกล่าว แต่ทุกครั้งที่ข่มตานอน ก็จะเห็นภาพของเมียและลูกปรากฏอยู่ในความฝันนั้นเสมอ ส่วนนางเอกปรายดาวนั้น ต้องกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนหลังจากประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ จนทำให้เธอกลายเป็นผีอัลไซเมอร์ที่หลงลืมความทรงจำในอดีต เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นวิญญาณล่องลอยไปแล้ว แต่อาการความจำเสื่อมไม่รู้ว่าใครฆ่าเธอ หรือไม่รู้ว่าเธอเป็นวิญญาณมาสิงสถิตอยู่ที่บ้านไร่ได้อย่างไร ก็กลายเป็นพันธนาการที่วิญญาณผีสาวแสนสวยอย่างปรายดาวไม่อาจหลุดพ้นไปไหนได้ เพราะฉะนั้น เมื่อคนก็มีปัญหาและผีก็มีปัญหา จึงไม่แปลกที่เราได้สัมผัสประสบการณ์การเกื้อกูลกันระหว่างคนกับผีและผีกับคนมาปรากฏอยู่ที่หน้าจอโทรทัศน์ เริ่มต้นกันตั้งแต่ที่ปรายดาว(หรือที่ผู้กองเตชิตเรียกเธอว่า “น้องเสียงหวาน”) ได้ช่วยเหลือให้ผู้กองเตชิตได้พบกับวิญญาณของภรรยาและลูกอีกครั้ง ก่อนที่จะล่ำลาจากกัน เป็นการสลัดทิ้งซึ่งความอาวรณ์ที่ฝังอยู่ในจิตใจของเขามานานนับเป็นแรมปี ในทางกลับกัน ผู้กองเตชิตก็ได้ช่วยไขปมปริศนาอุบัติเหตุทางรถยนต์ของปรายดาว แถมยังชวนบรรดาผองเพื่อนที่เป็นมนุษย์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้านไร่อย่างศรีตรังหรือนายตำรวจลับอย่างพอล มาลงแขกช่วยเหลือจนวิญญาณของเสียงหวานได้กลับคืนสู่ร่างเจ้าหญิงนิทราของปรายดาว และยังช่วยฟื้นความทรงจำของผีให้กลับคืนมาแบบที่ไม่ต้องพึ่งอาศัยใบแปะก๊วยแต่อย่างใด บนความเกื้อกูลและเอื้ออาทรกันและกันระหว่างผีกับคนเช่นนี้ ทั้งผีและคนจึง “win-win” และต่างก็คลี่คลายปมปัญหาที่ผูกเธอและเขาเอาไว้ แม้จะอยู่กันคนละภพคนละปางก็ตาม อันที่จริงแล้ว วิธีคิดเรื่องความผูกพันระหว่างผีกับคน หรือระหว่างมนุษย์กับพลังอำนาจเหนือธรรมชาตินั้น ไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่ในสังคมไทยแต่อย่างใด หากย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งสังคมไทยยังเป็นชุมชนบุพกาลดั้งเดิม คติความเชื่อที่บรรพชนของเราเคยยึดถือเอาไว้ก็คือ หลักความสัมพันธ์แบบสามเส้าระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งอย่างหลังก็คือความผูกพันระหว่างมนุษย์กับผีนั่นเอง จนกระทั่งพุทธศาสนาได้ถูกอิมพอร์ตเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การแยกเส้นแบ่งระหว่างพุทธกับผีก็เริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น และยิ่งเมื่อชาติตะวันตกได้แผ่ขยายองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เข้ามายังดินแดนแถบนี้ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น ความเชื่อเรื่องผีก็ยิ่งถูกผลักให้เป็นความงมงายและพิสูจน์ไม่ได้ เมื่อเทียบกับวิทยาศาสตร์ที่เป็นหลักการและเหตุผลเชิงรูปธรรมมากกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว ตั้งแต่ยุคของผีแม่นาคที่อุบัติขึ้นมาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เราก็จะเริ่มรับรู้ถึงระยะที่ห่างออกจากกันระหว่างมนุษย์กับผี ซึ่งกลายเป็นความจริงชุดใหม่ที่คนไทยยอมรับนับถือนับจากนั้นเป็นต้นมาว่า “ผีก็อยู่ส่วนผี” เฉกเช่นเดียวกับที่ “คนก็อยู่ส่วนคน” การแยกความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับผีออกไปเช่นนี้ ทำให้คนและผีต่างก็ต้องเผชิญหน้าปัญหาของตนแบบตัวใครตัวมัน และกลายเป็นปมปัญหาที่ผู้กองเตชิตและน้องเสียงหวานไม่อาจแก้ไขกันได้เลย คนสมัยก่อนเขาไม่ต้องมาพิสูจน์หรอกครับว่า ผีมีจริงหรือไม่ เพราะเขาเชื่อกันเต็มเปี่ยมว่าการดำรงอยู่ของผีต้องเป็นไปอย่างสัมพันธ์เกื้อกูลกับมนุษย์อย่างเราๆ แล้วคนรุ่นปัจจุบันอย่างพวกเราล่ะครับ เห็นด้วยหรือไม่ว่า ปัญหาของคนอย่างผู้กองเตชิตและปัญหาของผีอย่างปรายดาว จะไม่อาจแก้ไขให้ลุล่วงไปได้เลยถ้าคนกับผีต่างสร้างดาวอยู่กันคนละดวง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 133 อสูรน้อยในตะเกียงแก้ว : ความรู้กับอำนาจ (แบบผู้หญิงๆ)

  คุณยายทาฮิร่ามาอีกแล้วจ้า... มาแต่ละครั้งคุณยายก็มักจะนำพาทั้งความสนุกสนาน เวทมนตร์วิเศษ และเจ้าแมวชิกเก้นสมุนคู่ใจแนบพกติดตัวมาด้วยเสมอ จาก “สาวน้อยในตะเกียงแก้ว” มาจนถึงเวอร์ชั่นล่าสุด “อสูรน้อยในตะเกียงแก้ว” คุณยายทาฮิร่าก็ยังสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์กันอย่างสนุกสนานเช่นเคย คุณผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า แล้วทำไม “แม่มด” อย่างคุณยายทาฮิร่าจึงถูกสร้างให้เป็นภาพของผู้หญิงที่มีมนต์วิเศษและมีอำนาจที่จะเสกโน่นเสกนี่ได้มากมายมหาศาลเช่นนั้น คำตอบแบบนี้คงต้องย้อนกลับไปในโลกอารยธรรมตะวันตกเมื่อหลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงราวศตวรรษที่ 14-15 ในยุโรป ที่นักประวัติศาสตร์หลายๆ คนจะเรียกขานยุคสมัยดังกล่าวว่าเป็นยุคมืดหรือยุค “Dark Age” ที่เรียกกันว่า “ยุคมืด” เช่นนี้นั้น ก็เป็นเพราะว่าช่วงเวลาดังกล่าว คริสตจักรกำลังเรืองอำนาจในยุโรป เพราะฉะนั้น สัจจะและความรู้ใด ๆ ก็ตามที่เวียนว่ายอยู่ในสังคมตะวันตก จึงเป็นความรู้ที่ผลิตผ่านแหล่งอำนาจของศาสนจักรเพียงสถานเดียว ในขณะเดียวกัน หากผู้ใดก็ตามที่ริหาญกล้าจะต่อกรหรือตั้งคำถามกับสัจจะและความรู้ในพระคัมภีร์แล้วล่ะก็ ผู้นั้นก็จะถูกนิยามว่าเป็นพวกนอกรีตที่ต้องขจัดออกไป  และในท่ามกลางกลุ่มนอกรีตดังกล่าว ก็มีการรวมตัวกันของบรรดาผู้หญิงจำนวนมาก ที่ตั้งลัทธิต่อต้านคริสตจักรและผลิตความรู้ที่แหกกฎออกไปจากสัจจะดั้งเดิม ผู้หญิงกลุ่มนี้เองที่ถูกตีความว่าเป็นพวกแม่มด อันเป็นบ่อเกิดของขบวนการ “witch hunt” หรือขบวนการล่าแม่มด ที่จะตามล่าพวกเธอมาลงโทษและเผาไฟให้ตายไปทั้งเป็น ความรู้ของขบวนการแม่มดแบบนี้ ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์และต้องรื้อถอนเสียให้สิ้นซากไปจากโลกตะวันตกในยุคอดีตกาล อย่างไรก็ดี แม้บรรดาแม่มดจะได้ถูกกวาดล้างกันขนานใหญ่ไปแล้วตั้งแต่ยุคมืด แต่ก็มิได้แปลว่า ในปัจจุบัน อำนาจและอิทธิฤทธิ์ของคุณๆ แม่มดเหล่านี้จะได้สูญสลายหายไปหมด เพราะอย่างน้อย การกลับมาอาละวาดเป็นครั้งเป็นคราวของคุณยายทาฮิร่าและแม่มดร่วมก๊วน ก็บอกผู้ชมเป็นนัยๆ ว่า ความรู้และอำนาจของแม่มดนั้น ยังมีให้เห็นอยู่ เพียงแต่หลบเร้นและรอคอยจังหวะจะสำแดงพลังอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมากับเวอร์ชั่นของ “อสูรน้อยในตะเกียงแก้ว” ด้วยแล้ว คุณยายทาฮิร่าไม่ได้โผล่มาคนเดียว เธอได้พกพาเอาคุณยายแม่มดบาบาร่า (คู่ปรับเก่า) กับบรรดาคุณหลานๆ ในเจนเนอเรชั่นรุ่นหลังอย่างแนนนี่และดารกามาร่วมวงไพบูลย์เสวนาประชาคม สลับกับโยกย้ายส่ายสะโพกร่ายมนตราคาถากันไป เมื่อคุณยายเธอส่งคุณหลานๆ มาใช้ชีวิตยังโลกมนุษย์ เพราะด้วยเหตุผลที่ว่า แนนนี่หรือดารกา ใครคนใดคนหนึ่งอาจจะเป็นอสูรร้ายที่เกิดมาเพื่อกวาดล้างทำลายดินแดนแม่มด คุณหลานทั้งสองคนนั้นก็ต้องเริ่มเข้ารีตเรียนรู้วิถีชีวิตแบบที่มนุษย์ทั่วๆ ไปเขาทำกัน และที่ขาดเสียมิได้ก็คือ เนื่องจากความรู้และอำนาจแบบแม่มดได้ถูกตีตราไว้ตั้งแต่หลายศตวรรษก่อนว่า เป็นอำนาจด้านมืดที่ไม่ชอบธรรม ดังนั้น ทั้งแนนนี่และดารกาจึงต้องมีภารกิจแบบตื่นเช้าล้างหน้าแปรงฟันและออกจากบ้านไปมหาวิทยาลัย เพื่อซึมซับเอาความรู้ตามตำราทางโลกแบบที่มนุษย์คนอื่นๆ เขาเรียนกัน รวมทั้งแนนนี่เองก็ต้องทำพันธะสัญญากับคุณหมอภวัตพระเอกหนุ่มว่า เธอจะต้องไม่ไปเที่ยวใช้ความรู้และอำนาจแบบแม่มดไปทำร้ายใครต่อใคร หรือแม้แต่ใช้อำนาจดังกล่าวแบบไม่มีที่มาที่ไปโดยไม่จำเป็น แล้วทำไมคุณหมอภวัตจึงต้องจับน้องแนนนี่มาทำพันธะสัญญากันเช่นนี้ด้วย??? คำตอบที่ละครให้ไว้ก็คือ เพราะความรู้แบบแม่มด ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือความรู้แบบผู้หญิงๆ นั้นมีความพิเศษหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นความรู้ที่ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของสังคมโลก เริ่มตั้งแต่แม่มดผู้หญิงเหล่านี้สามารถหายตัว ปรากฏตัว ขี่ไม้กวาดเหาะเหินเดินอากาศได้ เสกให้บรรดาน้องแมวน้องเสือพูดภาษามนุษย์อย่างเราๆ ได้ หรือเสกสิ่งของต่างๆ ให้เป็นโน่นเป็นนี่ได้หมด อิทธิฤทธิ์และความรู้ของแม่มดแบบนี้เอง ที่ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้มีอำนาจที่ไม่แตกต่างไปจากอำนาจของพระเจ้าที่เป็นผู้สร้างโลกและมวลสรรพชีวิต และเมื่อมีอำนาจที่ท้าทายความเชื่อสูงสุดอย่างพระเจ้าได้เช่นนั้น ความรู้ของแม่มดจึงต้องถูกจัดวินัย หรือแม้แต่กักขังไว้ใน “ตะเกียงแก้ว” เพราะเป็นความรู้ “ด้านมืด” ที่ยากแก่การควบคุมเป็นอย่างยิ่ง ผิดกับความรู้แบบคุณหมอภวัตที่เป็นองค์ความรู้ “ด้านสว่าง” ที่มีเหตุผลและจริยธรรมทางวิชาชีพ รวมทั้งมีเป้าหมายในการใช้บำบัดรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ กระนั้นก็ตาม แม้อำนาจแบบแม่มดจะถูกตีตราไว้ว่าเป็นความรู้ด้านมืด แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ปัญหาของความรู้นั้นๆ จะเป็นแบบ “มืด” หรือ “สว่าง” อย่างใด กลับไม่ได้ผิดหรือถูกที่ตัวขององค์ความรู้นั้นเองหรอก ตรงกันข้ามอำนาจของความรู้จะ “มืด” หรือ “สว่าง” ได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ใช้ และใช้ความรู้นั้นด้วยวิธีการใดมากกว่า แน่นอนว่า ด้านหนึ่งเราก็ได้เห็นการสาธิตพลังอำนาจแห่งอวิชชาที่เหนือการควบคุม แบบเดียวกับที่ดารกาได้สำแดงฤทธิ์เดชของอสูรสาวเที่ยวไล่เข่นฆ่าใครต่อใครในท้องเรื่อง แต่กระนั้น ในอีกด้านหนึ่ง ทั้งคุณยายทาฮิร่าและหลานแนนนี่กลับพิสูจน์ให้เห็นว่า ความรู้ด้าน “มืด” ของแม่มดที่หากมีคุณธรรมพ่วงเข้ามา ก็สามารถกลายเป็นความรู้ที่สร้างสรรค์และกอบกู้โลกมนุษย์จากอสูรร้ายได้เช่นกัน จะเป็นความรู้ในระบบหรือนอกระบบ หรือจะเป็นความรู้แบบศาสนาดั้งเดิม แบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ หรือแบบคุณยายแม่มดทาฮิร่า ความรู้เหล่านี้จะเปล่งรัศมีได้ก็ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของผู้ใช้มากกว่า หากเป็นพวกอวิชชามหานิยมแล้วล่ะก็ จับใส่ “ตะเกียงแก้ว” ขังไว้ ก็น่าจะดีกว่าปล่อยให้ออกมาเพ่นพ่านจนปั่นป่วนทั้งบ้านทั้งเมืองนั่นแล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 สามหนุ่มเนื้อทอง : บนกึ่งกลางระหว่าง “ทองแท้” กับ “ทองเทียม”

  นิทานพื้นบ้านที่ทุกคนคงรู้จักดีเรื่อง “สังข์ทอง” เคยเล่าเรื่องเอาไว้ว่า เบื้องลึกเบื้องหลังของร่างเจ้าเงาะที่รูปดำอัปลักษณ์ ข้างในนั้นคือ “เนื้อทอง” ผ่องพรรณ และจะมีก็แต่นางรจนาเท่านั้นที่มองเห็นทะลุทะลวงเข้าไปภายใน “เนื้อทอง” ที่ซ่อนรูปอยู่ จนต้องเสี่ยงพวงมาลัยไปเป็นเนื้อคู่ตุนาหงันกัน นิทานอย่างเรื่อง “สังข์ทอง” นั้น อันที่จริงก็คือ กุศโลบายของคนโบราณที่สอนว่า เวลาเราจะตัดสินใครคนใดนั้น จะดูแค่รูปลักษณ์ภายนอกอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องมองเข้าไปให้เห็นคุณค่าภายในว่าเป็น “เนื้อทองแบบแท้ ๆ” หรือเป็นแค่ “เนื้อทองชุบทองเทียม” กันแน่ เพราะฉะนั้น แม้แต่จะเป็นเรื่องของการเลือกคนรักหรือคู่ครอง บรรพสตรีทั้งหลายก็ควรที่จะเลือกคุณค่าที่อยู่ข้างใน มากกว่าจะสนใจดูแต่เพียงรูปกายภายนอกเท่านั้น ผิวเปลือกนอกกายคงจะไม่สำคัญเท่ากับแก่นแท้ ๆ ที่อยู่ภายในนักหรอก แต่ดูเหมือนว่า พอมาถึงยุคนี้สมัยนี้ พระสังข์ที่ถอดรูป “ดำแต่นอกในแผ้วผ่องเนื้อนพคุณ” นั้น ท่าทางจะหาได้แสนลำบากยากเย็นเสียแล้วล่ะ คงจะมีเหลือก็แต่บรรดาเนื้อทองนพคุณที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบเต็มร้อยเท่าใดนัก ก็เหมือนกับบรรดาตัวละคร “สามหนุ่ม” ที่ถูกออกตัวไว้ตั้งแต่แรกว่าเป็นพวก “เนื้อทอง” ไม่ว่าจะเป็นคุณกริชชัย ผู้กองวัชระ หรือนายธีธัชนั้น ผู้ชมละครเรื่องนี้ก็คงสงสัยเหมือนกับผมว่า มีใครกันบ้างหนอที่จะเป็น “เนื้อทองแท้จริง ๆ” ให้นางรจนาได้เลือกเอาไว้เป็นคู่ครอง ??? เริ่มต้นก็จาก “เนื้อทองหมายเลขหนึ่ง” หรือคุณกริชชัย CEO หนุ่ม ผู้ที่แม้จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในฐานะนักธุรกิจผู้บริหาร แต่ทว่า ในเรื่องความรักที่เขามีต่ออรุณศรีเลขานุการสาวนั้น เขากลับเป็นคนที่อินโนเซ้นต์และมึนๆ บื้อๆ ไร้เดียงสาในเรื่องของความรักเสียเหลือเกิน จนถึงขนาดที่ครั้งหนึ่งคุณโอบบุญพี่ชายของแอ๊วถึงกับพูดเหน็บแนมความสัมพันธ์ระหว่างน้องสาวของตนกับคุณกริชชัยว่า “เราน่ะ...หัดเป็นผู้หญิงฉลาดกับเค้าบ้างนะ มีผู้ชายหน้าตามึนๆ พูดจาตรงๆ มาให้เลือกถึงบ้านแบบนี้ ถ้ายังไงก็ลองให้โอกาสเขาบ้างให้โอกาสตัวเองบ้าง...” ส่วน “เนื้อทองหมายเลขสอง” หรือผู้กองวัชระ ที่แม้จะเป็นนายตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งเก่งกล้าสามารถในการปราบปรามผู้ร้าย แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ช่างขลาดเขลาและ “ถนัดแต่จะหนี” ในการจัดการปัญหาส่วนตัว ชนิดที่ว่าต้องวิ่งหนีแบบหัวซุกหัวซุนไม่กล้าเผชิญหน้ากับคุณแหนมคู่หมั้นที่ตนบอกเลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้กองวัชระได้พบรักใหม่กับเจ้าของผับสาวอย่างคุณฝ้ายด้วยแล้ว คุณผู้กองหนุ่มก็ยิ่งแสดงความขี้ขลาดวิ่งหนีหลบหน้าคุณแหนม จนปัญหาต่างๆ ขวั้นเกลียวมาขนาดที่คุณฝ้ายต้องเอ่ยกับแฟนหนุ่มของเธอว่า “ผู้หญิงอย่างฉันไม่ต้องการความเห็นใจ แต่ต้องการความมั่นใจ...ที่ผ่านมาคุณวิ่งหนีจนปัญหาทับถมมากเกินกว่าจะแก้ไขด้วยการบอกเลิกเพียงคำเดียว...” และก็มาถึง “เนื้อทองคนสุดท้าย” อย่างนายธีธัช หนุ่มเจ้าชู้หาตัวจับยาก ที่วันๆ ไม่ได้ทำงานทำการอันใด เพราะมีมรดกเก่าเอาไว้ใช้อย่างล้นเหลือ เพราะฉะนั้น ด้วยรูปที่หล่อพ่อที่รวยและมรดกที่ล้นฟ้าเช่นนี้ ธีธัชจึงไม่ใช่คนที่จะแคร์ความรู้สึกของผู้หญิงคนใด รวมถึงคุณกรผู้หญิงที่แม้จะดีแสนดีและเข้าใจชีวิตแบบไม่ได้ยากเย็นนัก ก็ยังไม่สามารถจะรั้งชายเจ้าชู้อย่างธีธัชได้ จนกระทั่งเสือต้องมาสิ้นลาย เมื่อเจอกับสัตวแพทย์สาวอย่างลำเภา ที่ผิดแผกแตกต่างจากคนอื่นๆ และมองผู้ชายกะล่อนเจ้าชู้แบบธีธัชไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงที่เธอรักษาโรคนั่นแหละ ก็เลยทำให้ “นายหมาใหญ่” อย่างธีธัชถูกปราบเสียจนสิ้นฤทธิ์ เพราะฉะนั้น ถึงจะเป็น “สามหนุ่มเนื้อทอง” แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ทุกวันนี้ผู้ชายที่เป็น “เนื้อทองแท้” แบบไร้ซึ่งการปนเปื้อนจะมีอยู่จริงหรือ ??? เพราะถึงจะ “เนื้อทอง” แต่ก็ปนเปื้อนความมึนๆ เซ่อๆ ไร้เดียงสา ความขลาดเขลาถนัดแต่หนีปัญหา หรือความกะล่อนแบบเจ้าชู้ไปวันๆ ผู้ชายแบบทองแท้ปราศจากตำหนิจึงอาจเป็นเพียงภาพที่ดำรงอยู่ในอุดมคติเท่านั้น ในด้านหนึ่ง ละครก็ได้ชี้ให้เห็นว่า สังคมมนุษย์เรานั้นมีตัวเลือกผู้ชายตั้งแต่เลวได้สุดขั้วแบบปรานต์ ที่แม้จะหล่อขั้นเทพแต่ข้างในก็เป็นซาตานผู้ไม่เคยให้ความรักกับผู้หญิงคนใดอย่างจริงจัง และหวังปอกลอกผู้หญิงทุกคนที่เข้ามาในชีวิตของเขา “หนุ่มเนื้อทองชุบ” แบบนี้อาจมีหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป แต่อีกด้านหนึ่ง สำหรับผู้ชายดีๆ นั้น ละครกลับบอกเราว่าที่ดีแบบเลอเลิศจริงๆ คงไม่มีอีกแล้วในยุคนี้ หากจะมีหลงเหลืออยู่ ก็เป็นผู้ชายดีๆ แบบมีตำหนิอยู่บ้าง หรือไม่ได้เลิศเลอเพอร์เฟ็คเป็น ideal type ตัวละครกลมๆ แบบที่มีดีบ้างปนเปื้อนมุมที่แย่ๆ อยู่บ้างเช่นนี้ อาจเป็นตัวเลือกที่ถูกต้องมากกว่าจะวิ่งไปหาแต่บรรดา “เทพบุตรเนื้อทองแท้ ๆ” ที่ไม่เคยมีอยู่จริง “แม้แผ่นดินสิ้นชายที่หมายเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า” อาจจะเป็นวลีที่ใช้ได้กับผู้หญิงในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่พอมาถึงยุคนี้สมัยนี้ ผู้หญิงที่จะตามหา “หนุ่มเนื้อทอง” คงต้องยึดสโลแกนที่ว่า “nobody’s perfect” หรือไม่มีใครในสากลพิภพหรอกที่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ หากคุณผู้หญิงจะรอให้เจอเจ้าเงาะถอดรูปแล้วข้างในเป็นเนื้อทองผุดผ่องอำพัน ก็คงจะหาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ผู้ชายดีๆ แต่โง่ๆ เซ่อๆ หรืออาจจะขี้ขลาดและเจ้าชู้ไปบ้าง ก็คงเป็นออพชั่นที่พอเหมาะพอเจาะกับสังคมในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็คงจะเป็นแบบที่เสียงก้องในใจของน้องลำเภาที่เธอให้คำตอบกับตัวเองเอาไว้ว่า “ผู้ชายที่ดีในโลกนี้มีอยู่สองแบบ คนแรกนั้นยังไม่เกิด ส่วนอีกคนหนึ่งได้ตายไปแล้ว…” คำตอบในใจของลำเภา ก็คงจะเป็นคำตอบเดียวกับที่อยู่ในใจทั้งคุณแอ๊ว คุณฝ้าย และคุณผู้หญิงยุคนี้อีกหลายๆ คนว่า ถ้าคิดจะเลือกครองคู่กับชายสักคน คงต้องบอกกับตัวเองว่า “I love you just the way you are” เท่านั้นแหละ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 เกมร้ายเกมรัก : บางสิ่งที่อยากจำเรากลับลืม บางสิ่งที่อยากลืมเรากลับจำ

  จริงหรือไม่ที่เขาว่ากันว่า “บางสิ่งที่อยากจำเรากลับลืม บางสิ่งที่อยากลืมเรากลับจำ”??? สำหรับผมแล้วนั้นเห็นว่าน่าจะจริงแท้ทีเดียว ก็คงเหมือนกับชะตากรรมของตัวละครแบบ “สายชล” และ “นางฟ้า” ที่ฮือฮากันมากในช่วงปลายพุทธศักราช 2554 เพราะปัญหาของเขาและเธอทั้งสองที่ทำให้เกิด “เกมร้าย” แกล้มกับ “เกมรัก” นั้น ก็เป็นเรื่องราวที่เวียนวนอยู่แต่กับเรื่อง “การจดจำ” และ “การหลงลืม” แบบนี้เองแหละ เริ่มต้นเปิดฉาก ละครก็พาเราไปพบชะตากรรมของลูกสาวเศรษฐีอย่างฟ้าลดา ซึ่งถูกคลื่นสึนามิซัดพามาสลบติดเกาะกลางทะเลที่ผู้คนแถบนั้นเรียกเกาะแห่งนี้ว่า “เกาะมิน” ที่ผมเองก็ยอมรับเลยว่าไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพิกัดของเกาะตั้งอยู่ที่เส้นรุ้งเส้นแวงใดในแผนที่ฉบับ Atlas   ด้วยความช่วยเหลือของคุณพระเอกสายชลและชาวบ้านบนเกาะมิน ฟ้าลดาก็ฟื้นคืนสติขึ้นมา แต่ก็จำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่ชื่อเสียงเรียงนามของตนเอง อันนับเป็นจุดเริ่มต้นของปมปัญหา “การหลงลืม” ของเธอ แม้ว่าเครื่องจะติดไวรัสจนหลงลืมความทรงจำหมดสิ้น ทว่า ในท่ามกลางบรรยากาศแบบหาดทรายสายลมและอวลอบไปด้วยความรักที่สายชลมอบให้จนหมดใจ ฟ้าลดาก็แปรสภาพเป็นสาวชาวเกาะคนใหม่ที่ชื่อแซ่ก็เปลี่ยนไปเป็นชื่อ “นางฟ้า” และกลายเป็นภรรยาสุดที่รักของสายชลชายหนุ่มแห่งเกาะมิน แล้วผู้ชมก็ได้ทำตัวเป็นประหนึ่งนักมานุษยวิทยา ที่เข้าไปสังเกตการณ์ “พิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านชีวิต” ในแบบชนเผ่า ซึ่งนั่นหมายความว่า ละครได้นำพาเราไปสัมผัส ประเพณีประดิษฐ์ ทั้งแบบเก่าและใหม่มากมาย ตั้งแต่การสร้างตัวละครแบบปีร์กะมาเป็นแม่หมอผู้มีมนต์หยั่งรู้ชะตาชีวิต การประดิษฐ์พิธีกรรมลอยประทีปตามน้ำ การสร้างท่าเต้นโยกย้ายส่ายเอวแบบระบำฮาวาย การดีดเล่นเครื่องสายอูคูเลเล่กลางทะเล ไปจนถึงการสร้างฉากพิธีแต่งงานให้ชายหญิงเอาจมูกชนกันแบบชนเผ่าเมารีแห่งนิวซีแลนด์ ด้วยประเพณีพิธีกรรมที่ประดิษฐ์กันจนหวือหวาแปลกตาเยี่ยงนี้ ก่อนหน้านั้นเธอจะเป็นฟ้าลดาหรือเป็นใครไม่สำคัญ ในที่สุดฟ้าลดาก็เปลี่ยนผ่านกลายสภาวะเป็นสาวชาวเกาะมินได้โดยสมบูรณ์แบบ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ครึ่งแรกของเรื่องราวที่เริ่มต้นด้วยความสุข ก่อนที่ชมพูแพรผู้เป็นพี่สาวของฟ้าลดา จะมาพรากเอานางฟ้าไปจากสายชลคนรักและบรรดาผู้คนบนเกาะมิน ก่อนหน้าที่อยู่บนเกาะเธออาจจะชื่อ “นางฟ้า” แต่เมื่อมาเจอการช็อตไฟฟ้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่เท่านั้นแหละ ความทรงจำของนางฟ้าก็ถูก delete โปรแกรมออกไปจนหมด และติดตั้งซอฟต์แวร์ความเป็น “ฟ้าลดา” กลับมาใหม่อีกครั้ง กลายเป็น “ความหลงลืม” ในระลอกที่สองในชีวิตของเธอ ครั้นเมื่อต้องกลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมเมืองหลวงอีกรอบหนึ่ง นางเอกของเราก็ต้องเจอกับปมปัญหาใหม่ ๆ เข้ามาอีกมากมาย โดยเฉพาะจากคุณพี่ชมพูแพรที่ลึก ๆ ไม่เคยรักและหวังดีกับน้องสาวเลย ส่วนคุณพระเอกสายชลนั้น ภายหลังก็ไปชุบตัวเรียนเมืองนอกก่อนจะกลับมาเป็นนักธุรกิจหนุ่มผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่ชื่อ “ชาร์ล” และด้วย “ความทรงจำ” ที่มีต่อภรรยาสุดที่รัก ประกอบกับจิตสำนึกท้องถิ่นของชายชาวเกาะมิน(ที่ไม่เคยถูก delete ซอฟต์แวร์ออกไป) สายชลจึงเชื่อมั่นในเรื่องรักเดียวใจเดียวและการมีเมียเดียวไปจนวันตาย และ “เกมร้าย” มากมายจึงเกิดขึ้น ก่อนที่จะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งด้วย “เกมรัก” ไปในที่สุด คุณป้าข้างบ้านของผมเคยตั้งข้อสังเกตที่น่าฟังประการหนึ่งว่า “การหลงลืม” เป็นภาวะปกติวิสัยที่ต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์เราทุกคน ทั้งนี้เนื่องมาจากว่า ในวันหนึ่ง ๆ มนุษย์เราแต่ละคนจะมีประสบการณ์ต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตมากมาย หากมนุษย์เราไม่ลบไฟล์เหล่านั้นออกไปเสียบ้าง ก็อาจจะทำให้ data ล้นเกินกว่าที่เราจะรองรับได้ ด้วยเหตุดังกล่าว อาการหลงลืมของฟ้าลดาจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะถ้าเธอจะมาติดเกาะหรือจะมาเติมความทรงจำใหม่ ๆ ให้กับชีวิต เธอก็จำเป็นต้องลบไฟล์ในฐานข้อมูลเดิมออกไปเสียบ้าง เพื่อจะได้ install ประสบการณ์ความทรงจำที่มีต่อผู้คนในโลกแปลกใหม่อย่างสายชล แม่หมอปีร์กะ มามิ แตลอย และใครต่อใครบนเกาะมินเข้าไปแทน และที่สำคัญ สภาวะ “หลงลืม” หรือการถูกลบเมโมรี่ออกไปนั้น แท้จริงก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาสลักสำคัญแต่อย่างใด ทุกวันนี้วิทยาการสมัยใหม่แค่ช็อตไฟฟ้าไปไม่กี่โวลต์ ก็สามารถจะกู้เอาไฟล์เก่า ๆ กลับคืนมาได้ แถมยังจัดการกับไวรัสที่บรรดาชาวเกาะมินฝากฝังออกไปได้แบบถอนรากถอนโคน ดังนั้น หากการหลงลืมไม่ใช่ปัญหาที่น่าเป็นทุกข์ร้อน แล้วอันใดกันเล่าที่น่าจะเป็นตัวปัญหาในชีวิตของคนเราจริง ๆ ??? คุณป้าข้างบ้านคนเดียวกันได้บอกกับผมว่า ปัญหาเรื่อง “การจดจำ” ต่างหากที่ทำให้มนุษย์เราทุกวันนี้ต้องมาเผชิญหน้ากันจนสับสนวุ่นวาย หากไม่นับการเลือกจดจำเรื่องดี ๆ แบบที่สายชลจดจำนางฟ้าสุดที่รักของเขาอย่างไม่ลืมเลือน เราก็จะได้เห็นตัวละครแบบชมพูแพรที่แสดงให้เห็นว่า “การจดจำ” เรื่องราวในอดีตที่มีแต่ความเกลียดชังในตัวฟ้าลดานั่นเอง ที่เป็นเหตุแห่งปมปัญหาทั้งหมดทั้งมวล เพียงเพราะไวรัสที่ชื่อมิจฉาทิฐิเข้ามาบดบังตา และเห็นน้องสาวดีกว่าเธอในทุก ๆ ทาง เธอก็สามารถทำร้ายน้องสาวได้ทุกวิถีทางเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น แม้ในตอนจบ ฟ้าลดาจะไม่สามารถกู้ไฟล์ให้จดจำชีวิตแบบ “นางฟ้า” รวมไปถึงบรรยากาศการเต้นระบำฮาวายส่ายเอวเคล้าเสียงอูคูเลเล่กลางเกาะมินได้ แต่คุณค่าก็น่าจะอยู่ที่คำตอบซึ่งสายชลกล่าวกับเธอว่า “สายชลไม่สนใจว่านางฟ้าจะจำได้หรือไม่ได้ ความทรงจำสามารถสร้างด้วยกันใหม่ได้เสมอ…” ดูละครจบแล้ว “บางสิ่งที่อยากจำ” ลืม ๆ ไปเสียบ้างก็ดี เฉกเช่นเดียวกับ “บางสิ่งที่น่าลืม” ก็คงไม่ต้องหันกลับไปจดจำ บางทีชีวิตที่ข้องแวะแต่ “เกมร้าย” ก็อาจจะเหลือแต่ “เกมรัก” เอาไว้ให้ชื่นชมแทน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 รอยมาร : เพราะมารมี บารมีจึงเกิด

  นั่งปั่นต้นฉบับฉลาดซื้อเล่มนี้ด้วยใจระทึกยิ่ง เพราะ “มวลน้ำมหาศาล” กำลังรุกคืบคลานเข้ามาสู่ชั้นในของพระนครหลวง มวลน้ำที่ท่วมบ่าเข้ามามากมายทุกทิศทุกทางเช่นนี้ ไม่เพียงแต่นำพาความเสียหายมาสู่บ้านเรือนเรือกสวนไร่นาเป็นวงกว้างใหญ่เท่านั้น แต่ยังซัดพาเอาความฝันและความมั่นใจของคนในสยามประเทศให้ดิ่งลงด้วยในเวลาเดียวกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง แม้มวลน้ำจะเป็นวิกฤติใหญ่ที่คนไทยทั้งประเทศต้องฝ่าไปด้วยกัน แต่ว่ากันว่าทุกครั้งที่ “มาร” มี “บารมี” หรือความเข้าใจสัจธรรมแห่งชีวิตก็จะอุบัติขึ้นตาม เฉกเช่นเดียวกับน้องบู้บี้ หรือคุณหนูบี สไบนาง แห่งละครเรื่อง “รอยมาร” ที่เพิ่งจะเข้าใจสัจธรรมชีวิตของเธอได้ ก็ต้องภายหลังจากที่ “มวลน้ำ” แห่งปัญหาได้กลายเป็น “มาร” เข้ามาถาโถมชีวิตและดับความฝันในเพียงแค่ชั่วข้ามคืนเดียว ไม่มีตัวละครคนไหนใน “รอยมาร” ที่ไม่ได้เผชิญหน้ากับปัญหาแต่อย่างใด เริ่มต้นจากนายมาร์คหน้าหนวดหรืออุปมา หนุ่มลูกครึ่งไทย-อาหรับที่เพราะความผิดหวังในรักครั้งแรกกับวิมาดา ทำให้เขาฝังจมอยู่กับอดีต และบอกกับตัวเองตลอดมาว่า ในชีวิตนี้คงจะไม่สามารถมีรักครั้งใหม่ได้อีกแล้ว หรือเมธาวี พี่สาวของสไบนาง ที่ด้านหนึ่งก็เป็นคนทะเยอทะยานต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิต แต่เพราะเธอถูกชันษาลักพาตัวไปในคืนก่อนเข้าพิธีวิวาห์ ความหวังและความดิ้นรนทะยานอยากของเธอก็เป็นอันต้องดับล่มสลายไป แต่ที่ดูจะบอบช้ำระกำใจมากที่สุดยิ่งกว่าน้ำหลากเข้าถาโถม ก็เห็นจะเป็นน้องบู้บี้นางเอกของเรื่อง ที่เพราะพี่สาวหายตัวไปก่อนวันแต่งงาน เธอจึงถูกจับมัดมือชกเข้าพิธีกับนายมาร์คแทน ทั้งๆ ที่เธอกับเขาก็พ่อแง่แม่งอน เป็นขมิ้นที่เจอกับปูนกันตั้งแต่วินาทีแรกที่พบกัน ด้วยเหตุอันเกิดมาแต่เพียงปัญหาของคนรุ่นก่อน ไล่ตั้งแต่ความเจ้าคิดเจ้าแค้นของคุณลุงบารมี ความละโมบโลภมากและเล่นพนันจนหมดเนื้อหมดตัวของคุณลุงประมุข รวมไปถึงความต้องการรักษาชื่อเสียงเกียรติยศแห่งวงศ์ตระกูลของคุณหญิงย่ารุจา สถานการณ์ในชีวิตของน้องบู้บี้จึงต้องผกผันหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เธอวาดฝันอยากเรียนต่อต่างประเทศและกลับมาทำงานที่ใจรัก ก็ต้องมาแบกรับปัญหาที่ผู้หลักผู้ใหญ่ผูกบ่วงพันธนาการให้เธอต้องมาเข้าพิธีสมรสกับคนที่เธอไม่ชอบขี้หน้าเขาเอาเสียเลย ก็เหมือนกับประโยคที่น้องบู้บี้ได้พูดตัดพ้ออย่างแสบสันต์กับคุณหญิงรุจาผู้เป็นย่าว่า “…ก็เพราะสังคมของเรามีชื่อเสียงเกียรติยศที่ต้องรักษา แล้วอนาคตของบีล่ะ ใครเคยเห็นบ้าง เคยห่วงบีบ้าง ทุกคนคิดเอาแต่ได้ ค่าอนาคตค่าความฝันของบี ใครหน้าไหนจะมาชดใช้ให้บีคะ...ความหวังความฝันของบี บีสร้างมาเองคนเดียว แต่วันนี้หลายคนช่วยกันทำลายมันจนหมดสิ้น...” ด้วยเหตุฉะนี้ ไม่ว่าจะด้วยความโกรธแค้น ความโลภ หรือชื่อเสียงเกียรติยศของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่รอบตัว จึงไม่ต่างไปจากการผันมวลน้ำแห่งปัญหาให้ออกจากหน้าบ้านของตนเอง และโถมใส่ชีวิตคนที่มีอำนาจน้อยอย่างน้องบู้บี้ และดับสลายความฝันของเธอให้จมอยู่นอกคันกั้นน้ำนั่นเอง แต่ที่น่าแปลกก็คือ ยิ่งบรรดาผู้ใหญ่เพียรสร้าง “รอยมาร” ให้กับชีวิตของน้องบู้บี้มากเท่าไร ก็ไม่ได้ช่วยแก้คลายปมปัญหาที่ค้างคาใจของพวกเขาเหล่านั้นได้เลย เริ่มตั้งแต่ลุงบารมีที่เต็มไปด้วยความแค้น แต่หลังจากดับฝันหลานสาวไปแล้ว เขาก็ไม่ได้ลดบรรเทาความแค้นลงแต่อย่างใด และก็ยังจงใจวางแผนกลั่นแกล้งประมุขจนสิ้นเนื้อประดาตัว และตรอมใจตายในที่สุด เช่นเดียวกับลุงประมุขเอง ก็ไม่ได้ยุติความโลภของตน และยังพยายามใช้ปมประเด็นเรื่องชาติกำเนิดของน้องบู้บี้มาเป็นแต้มต่อรองผลประโยชน์ของตนอยู่ตลอดเวลา อาจจะมีก็แต่คุณหญิงรุจา ที่มโนธรรมบางส่วนของเธอ ทำให้สำเหนียกขึ้นได้ว่า เรื่องชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูลกับความสุขและความฝันของหลานสาวนั้น เอามาวัดเทียบค่ากันแทบไม่ได้เลย แม้ว่านั่นจะเป็นเรื่องที่สายเกินไปแล้วก็ตาม และสำหรับน้องบู้บี้แล้ว แม้ชีวิตและความฝันของเธอจะถูกสลักตรึงด้วยรอยแห่งมาร แต่ก็อย่างที่คำพระท่านว่าเอาไว้ “ถ้ามารไม่มี บารมีก็ย่อมไม่บังเกิด” เพราะฉะนั้น หลังจากสวมวิญญาณแบบปางผจญมารที่มาจากรอบทิศ บวกกับมารผจญจากพี่สาวต่างมารดาอย่างเมธาวี และวิมาดาอดีตคนรักเก่าของมาร์ค น้องบู้บี้ก็เริ่มจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้ว่า ความฝันอาจไม่ได้สวยงามหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แม้เธออาจจะไม่ได้ไปเรียนต่อจนจบการศึกษาแบบที่วาดฝันไว้ แต่น้องบู้บี้ก็พบว่า ถ้าเธอรักใครสักคนอย่างนายมาร์คหน้าหนวด ก็จงเลือกใช้ชีวิตคู่ร่วมกับเขาไปเถิด ทั้งนี้เพราะตัวเลือกในชีวิตของคนที่มี “อำนาจน้อย” แถมยังต้องอยู่ท่ามกลางความแก่งแย่งชิงชังหรือสนใจแต่เกียรติยศที่ค้ำคออยู่นั้น เป็นตัวเลือกที่มีอยู่ไม่มากเท่าใดนัก ดูละครเรื่อง “รอยมาร” จบลง เราก็คงเห็นสัจธรรมแบบน้องบู้บี้ขึ้นมาเหมือนกันว่า วิกฤติมวลน้ำหรือปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมมากมายในสังคมไทยแบบระลอกแล้วระลอกเล่านั้น คงไม่ใช่มวลปัญหาที่เกิดมาแต่คนแบบน้องบู้บี้ที่มี “อำนาจน้อย” แต่อย่างใด แต่วิกฤติปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดมาจากคนไม่กี่คนที่เป็นบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่แบบคุณลุงบารมีหรือคุณลุงประมุข ที่มักคิดคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตนเองก่อน โดย “ไม่สนใจค่าอนาคตหรือค่าความฝันของคนอื่น” แต่ทว่าเคราะห์กรรมที่สืบเนื่องมาจากลุงๆ ป้าๆ เหล่านี้ ก็มักจะส่งผลต่อคนจำนวนมากที่น้ำไม่เพียงท่วมบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาเท่านั้น หากแต่น้ำยังท่วมปากพวกเขาอีก ผมเริ่มจะสงสัยเหมือนกันว่า หลังจากน้ำลดแล้วตอต่างๆ เริ่มผุดออกมาให้เห็น คนไทยจะสนใจกลับไปสาวหาสาเหตุแห่งปัญหาเพื่อหาทางป้องกัน หรือเราจะยอมปล่อยให้ปัญหาค้างคากันอยู่ต่อไป ถ้าเป็นแบบหลังนี้ สงสัยว่าเราจะต้องเตรียมถุงบิ๊กแบ๊ก ถุงยังชีพ หรือปั้นอีเอ็มบอลอีกจำนวนมหาศาล เพื่อเตรียมฝ่าวิกฤติครั้งหน้าไปด้วยกันอีก มวลน้ำคงมีวันผ่านพ้นไปแน่ แต่บารมีจะเกิดในใจคนไทยแบบน้องบู้บี้กันบ้างมั้ยหนอ???

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 รอยไหม : ทั้งรักทั้งแค้นแน่นผืนผ้า

  เมื่อหลายปีก่อน ฮอลลีวู้ดเคยสร้างภาพยนตร์เล็ก ๆ เรื่องหนึ่ง แต่เนื้อหาดูน่าสนใจมากทีเดียว ในชื่อเรื่อง “How to Make an American Quilt” เหตุผลที่ผมว่าเนื้อหาของหนังเรื่องนี้น่าสนใจ ก็เป็นเพราะว่าหนังพูดถึงชีวิตของผู้หญิงหกคนที่มาร่วมกันถักทอและตัดเย็บลวดลายต่างๆ ลงบนผืนผ้านวมหรือที่เรียกว่า “quilt” ในภาษาอังกฤษ แต่ที่สำคัญ เธอเหล่านั้นไม่ใช่ทอแค่ผืนผ้าที่มาใช้ห่มร่างกาย หากแต่ยังใช้ลวดลายบนผืนผ้าเป็นสัญลักษณ์สะท้อนชีวิตและความทรงจำต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตของตนลงไปด้วย เมื่อเราย้อนกลับมาดูในจอโทรทัศน์ของไทยกันบ้าง ผ้านวมที่ใช้กันในสังคมเมืองหนาวนั้นอาจจะดูไม่ใช่วัฒนธรรมการตัดเย็บแบบไทยๆ หรือไม่เหมาะจะเป็นสัญลักษณ์สะท้อนชีวิตผู้หญิงไทยเท่าใดนัก บ้านเราเป็นเมืองร้อน ดังนั้น หากผู้หญิงสักคนจะเลือกสัญลักษณ์มาถักทอชีวิตและความทรงจำของตนเองแล้ว ก็คงต้องทำผ่านลวดลายที่อยู่บนผืนผ้าไหมที่ทอผ่านกี่และฟืมพื้นบ้านกันแทน แบบเดียวกับที่เราได้เห็นได้สัมผัสผ่านละครโทรทัศน์เรื่อง “รอยไหม” นั่นเอง เพื่อนของผมหลายคนมาคุยให้ฟังว่า ถ้าพูดถึงละครเรื่อง “รอยไหม” แล้ว สิ่งแรกๆ ที่จะนึกถึงกันก่อนเลย ก็เห็นจะเป็นตัวละครอย่างผีนังเม้ย ที่ดูน่าเกลียด น่ากลัว และชวนขนหัวลุกทุกครั้งที่เธอขยับกายมาปรากฏตัวที่หน้าจอ ผู้ชมหลายคนดูจะลุ้นระทึกทุกครั้งที่ผีนังเม้ยออกมาอาละวาด จนถึงขนาดมีผู้ชมหลายคนมารวมตัวกับบนสื่อออนไลน์ร่วมสมัครเป็นแฟนคลับผีนังเม้ยกันเป็นวงกว้าง แต่ทว่า นอกจากผีนังเม้ยที่เป็นจุดขายของละครแล้ว การสร้างตัวละครทุกตัวที่อู้คำเมืองกันชนิดไม่เกรงใจหูคนดูที่อยู่ในภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคเหนือ กับการสร้างให้ตัวละครหลักสองคนในเรื่องถักทอชีวิตและความทรงจำของตนลงบนผืนผ้าไหม(แบบเดียวกับที่ผู้หญิงอเมริกันทอผืนผ้านวมห่มกาย) นั้น ก็เป็นเสน่ห์และความโดดเด่นของละคร “รอยไหม” ด้วยเช่นกัน เริ่มต้นจากผู้หญิงอย่างเรริน อาจารย์สาขาผ้าทอในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ในอดีตชาติของเธอคือเจ้านางมณีรินผู้มีความสามารถด้านการทอผ้า และกลับมาเกิดในปางภพปัจจุบันเป็นผู้ที่รักในงานศิลป์ภูษาผ้าทอเป็นชีวิตจิตใจ กับผู้หญิงอีกนางหนึ่งคือนางร้ายอย่างหม่อมบัวเงิน ที่แม้จะมีความสามารถด้านการทอผ้าไม่ยิ่งหย่อนพ่ายแพ้มณีริน แต่ด้วยพิษรักแรงหึงและความอิจฉาริษยา เธอก็เลยสั่งสมความแค้นมายังเรรินที่กลับมาเกิดในชาติภพปัจจุบัน ชีวิตของผู้หญิงสองคนที่ควั่นเกลียวเข้ามาเกี่ยวสัมพันธ์บนกี่ทอผ้าและลายเส้นบนรอยผืนไหม แถมยังสะท้อนลวดลายความขัดแย้งในชีวิตของเธอทั้งสองคนนั้น ดูจะมาจากเงื่อนเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันสองด้าน แต่ทว่า เหตุปัจจัยดังกล่าวนั้นก็เป็นพันธนาการที่ร้อยรัดผืนผ้าชีวิตของผู้หญิงทั้งสอง หรือแม้แต่กักขังผู้หญิงอีกหลายๆ คนในชีวิตจริงเอาไว้ไม่แพ้กัน แล้วเหตุปัจจัยอันใดเล่าที่รัดร้อยผู้หญิงเอาไว้บนเส้นรอยไหม? นักจิตวิเคราะห์ชื่อก้องโลกอย่างคุณปู่ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวเอาไว้ว่า ปมปัญหาที่ผูกมัดอารมณ์ความรู้สึกและจิตใจของมนุษย์เราเอาไว้ ก็คือสองด้านของสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” กับ “ความแค้น” หรือแบบที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า ปมแบบทั้ง “รัก” ทั้ง “แค้น” แน่นอุรา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นกรงขังชะตากรรมชีวิตของผู้หญิงจำนวนมากเอาไว้ด้วยเช่นกัน เรริน หรือที่ชาติก่อนก็คือเจ้านางมณีริน เธอก็คือตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกฝังตรึงไว้ด้วย “ความรัก” ที่ข้ามภพข้ามชาติมากับเจ้าศิริวงศ์ชายคนรัก แม้ความตายจะพลัดพรากทั้งคู่จากกันในอดีตปางบรรพ์ แต่เพราะจิตปฏิพัทธ์รักผูกพัน เธอจึงเกิดมาพบกับเขาในภพชาติใหม่ เพื่อสานต่อทอผืนผ้าไหมที่ชาติก่อนเคยทอค้างไว้จนขาดใจตายคากี่ทอผ้า เพราะฉะนั้น ในขณะที่ความรักอาจมีด้านที่สวยสดงดงาม แบบที่ศิริวงศ์และมณีรินเคยดีดครวญพิณเปี๊ยะร่วมกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความรักก็เป็นประหนึ่งกรงขังที่ผู้หญิงอย่างเรรินถูกตรึงเอาไว้เบื้องหลังรอยไหมที่ซ่อนซุกอยู่ในผืนผ้าแห่งชีวิต และหากใครก็ตามที่ไม่เห็นคุณค่าในความรักของเธอ เรรินก็พร้อมจะตัดสะบั้นความสัมพันธ์กับเขา แบบที่เธอเองก็ได้ตัดเยื่อใยกับธนินทร์ คู่หมั้นหนุ่มนักโฆษณาที่เห็นคุณค่าของผ้าทอเป็นเพียงสินค้าทางการตลาดที่ผลิตขึ้นมาก็ต้องขายทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมออกไป ในทางกลับกัน สำหรับผู้หญิงอย่างบัวเงินอดีตหม่อมของเจ้าศิริวัฒนา เธอก็คือตัวละครสัญลักษณ์แทนผู้หญิงที่ถูกขังไว้ด้วย “ความแค้น” ที่ตรึงแน่นอยู่ในอก ยิ่งเมื่อเธอได้รู้ว่ามณีรินถูกหมั้นหมายให้มาเป็นชายาของเจ้าศิริวัฒนาชายคนรักด้วยแล้ว บัวเงินก็ยิ่งบ่มเพาะความเคียดแค้น ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ดำคาถาใดๆ เธอก็ใช้วิธีการเลี้ยงผีของนังเม้ยสาวใช้มาหลอกหลอนเจ้านางมณีรินศัตรูหัวใจในทุกๆ ชาติภพ และยิ่งเมื่อมิจฉาทิฐิเข้าบดบังตา บัวเงินก็ทำได้ถึงขนาดวางยาพิษเจ้าหลวง หรือประหัตประหารทุกคนที่ขวางทางเป็นอุปสรรคความรักของเธอ ดังนั้น แม้แต่ผืนผ้าไหมที่ใช้ห่มพระธาตุเพื่อบูชาพระศาสนา บัวเงินจึงมิได้ทอขึ้นมาเพื่อเป้าหมายแห่งพุทธบูชา หากแต่ทำเพื่อเอาชนะเจ้านางมณีรินในทุกวิถีทาง ทั้ง “ความรัก” และ “ความแค้น” จึงมิใช่อื่นใด หรือไม่ต่างอันใดจากสองสิ่งที่สลักขังฝังตรึงชีวิตของผู้หญิงเอาไว้บนริ้วรอยผืนผ้าไหม ขึ้นอยู่กับว่าสตรีแต่นางเหล่านั้นจะเลือกเอา “รัก” หรือ “แค้น” มาถักทอเป็นชีวิตของพวกเธอทั้งในชาติภพอดีตและในชาติปางปัจจุบัน ก็เหมือนกับฉากเปิดเรื่องละคร “รอยไหม” นั่นเอง ที่ฉายภาพมือของผู้หญิงที่สอดกระสวยใส่เส้นไหมเพื่อทอออกมาเป็นผืนผ้าอันงดงาม แต่จะมีใครบ้างหรือไม่ที่จะตั้งคำถามว่า บนผ้าไหมลายวิจิตรจากกี่ทอ จะมีรอย “ความรัก” หรือ “ความชัง” ที่หลบหลืบอยู่เป็นฉากหลังเส้นใยชีวิตของผู้หญิงแต่ละคน

อ่านเพิ่มเติม >