ฉบับที่ 267 มณีพยาบาท : ให้เลวกว่านี้ฉันก็ยังยินดีจะทำทุกอย่าง

        ตามความคิดความเชื่อแบบไทยๆ เมื่อผู้ใดเสียชีวิตลง ก็ควรหลุดพ้นบ่วงกรรมและเดินทางไปสู่สัมปรายภพ แต่เคยสังเกตหรือไม่ว่า ในโลกแห่งละครโทรทัศน์ กลับมีตัวละครผู้หญิงบางคนที่แม้จะสิ้นชีพวายปราณไปแล้ว ทว่าพวกเธอก็ยังเป็นผีหรืออมนุษย์ที่ไม่ยอมไปผุดไปเกิดกันสักที        ในบรรดาเงื่อนไขที่เป็นเสมือนลิ่มตอกสลักไม่ให้ผีผู้หญิงหลุดพ้นไปสู่ปรโลกได้นั้น ความรัก (ที่พ่วงมากับความแค้น) ดูจะเป็นตัวแปรลำดับต้นๆ ซึ่งทำให้อมนุษย์เพศหญิงยังผูกติดอยู่ในวัฏสงสารแห่งกาลปัจจุบัน         ปมในใจแบบ “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” ที่ฝังอยู่ในอกของผีผู้หญิงผู้ไม่ยอมสุดสิ้นกลิ่นเสน่หาเช่นนี้ กลายเป็นพล็อตเรื่องที่คลาสสิกมาตั้งแต่ยุคละครโทรทัศน์เรื่อง “แม่นาคพระโขนง” จวบจนล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ก็ยังตอกย้ำซ้ำทวนอีกครั้งในละครแนวผีโรแมนติกดรามาเรื่อง “มณีพยาบาท”         โดยโครงเรื่องที่กำหนดขึ้นมา ก็ดูจะเข้ากับสูตรสำเร็จของการสร้างตัวละครแนว “ผีผู้หญิงรอคอยความรัก” แบบข้ามภพข้ามชาติ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ “มุกดา” หลุดพ้นจากพันธนาการที่กักขังวิญญาณของเธอไว้ใน “แหวนแก้วมุกดา” ด้วยเพราะมิจฉาชีพกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปในเหมืองร้างของตระกูล “ธรรมโภคา” เพื่อขุดหาสมบัติ จนทำให้มนต์สะกดวิญญาณเสื่อมคลาย ปลดปล่อยผีมุกดาออกมาเป็นอิสระ         และด้วยความเป็นสูตรสำเร็จอีกเช่นกัน ตัวละครทั้งหลายที่เคยสร้างกรรมร่วมกันไว้ในชาติก่อนกับผีมุกดา ก็ต้องมีอันวนเวียนกลับมาเกิดใหม่กันถ้วนหน้า เพื่อคลี่คลายและชดใช้เวรกรรมในภพชาติปัจจุบัน         เริ่มต้นจากนางเอก “ไพลิน” น้องสาวของมุกดาในชาติปางก่อน ที่กลับมาเกิดเป็นตัวละคร “พลอยรุ้ง” หลานสาวของ “รัตนา” ทายาทผู้สืบทอดเป็นเจ้าของเหมืองร้างมรดกของตระกูลธรรมโภคา และที่สำคัญ ในอดีตไพลินเป็นหญิงคนรักของพระเอก “ภูมินทร์” นายตำรวจหนุ่มที่ชาติก่อนคือ “พฤกษ์” ชายผู้เพียบพร้อมในทุกทาง ซึ่งมุกดาเองก็แอบหลงรักเขาอยู่         การตัดภาพไปที่อดีตชาติของตัวละครได้เผยให้เห็นว่า ในท่ามกลางสนามรบเพื่อช่วงชิงหัวใจชายหนุ่ม เมื่อหญิงสาวคนหนึ่งกลายเป็นผู้ที่ถูกเลือก ในขณะที่หญิงสาวอีกนางหนึ่งกลับเป็นผู้ที่ถูกลืม ได้ก่อตัวกลายเป็นปมอาฆาตพยาบาทที่มุกดามิอาจยอมได้ หากบุรุษที่เธอหมายปองต้องไปลงเอยแต่งงานสมหวังกับไพลินน้องสาวต่างมารดา         เมื่อสวมบทบาทผู้หญิงแสนดีแล้วอยู่นอกสายตาของพระเอกหนุ่ม มุกดาจึงเลือกบอกตนเองเสียใหม่ว่า “ให้เลวกว่านี้ฉันก็ยังยินดีจะทำทุกอย่าง ชีวิตขอเลือกเส้นทางเส้นเดียวที่นำไปสู่จุดหมาย…” จะด้วยเล่ห์ด้วยกลหรือด้วยมนต์คาถา มุกดาก็พร้อมสมาทานตนเข้าสู่ด้านมืดเพื่อพิชิตหัวใจของพฤกษ์มาเป็นของเธอให้ได้         ด้วยเหตุนี้ อวิชชาจึงกลายมาเป็นคำตอบของมุกดา และเธอก็ตัดสินใจเข้าหา “หมอชีพ” เพื่อให้หมอผีผู้ละโมบทำคุณไสยใส่พฤกษ์ จนชายหนุ่มที่ต้องมนต์เสน่ห์เลือกปฏิเสธไพลิน แล้วหันมาแต่งงานกับมุกดาแทน         แล้วก็เป็นไปตามสูตรของละครอีกเช่นกัน ในที่สุดอวิชชาและมิจฉาทิฐิก็ต้องพ่ายให้กับคุณธรรมความดี เมื่อ “ชื่น” แม่ของไพลินได้เชิญ “สุก” มาถอนเสน่ห์ยาแฝด จนคุณไสยได้ย้อนกลับใส่ตัวและครอบงำจิตใจของมุกดาให้กลายเป็นปีศาจร้าย เธอจึงถูกพฤกษ์ใช้กริชแทงทะลุหัวใจ ก่อนที่สุกจะใช้อาคมกักขังวิญญาณที่คั่งแค้นเอาไว้ในแหวนมุกดา และฝังธำมรงค์วงนั้นอยู่ในเหมืองร้างมานานนับเป็นศตวรรษ         กำเกวียนกงเกวียนมักเวียนหมุนมาบรรจบกันเสมอ จึงไม่แปลกที่ตัวละครผู้เคยทำกรรมร่วมกันในอดีตชาติได้ย้อนกลับมาเผชิญหน้ากันอีกครั้งในภพชาติปัจจุบัน และด้วยเหตุที่ความพยาบาทมิเคยจางหายไป กอปรกับ “mission” ที่ผีมุกดายังไม่บรรลุเจตจำนงในชาติปางก่อน เมื่อเธอหลุดพ้นจากการจองจำ เธอจึงเริ่มออกอาละวาดไล่ล่าทุกๆ ชีวิตที่เคยก่อกรรมร่วมกันมา         และแม้เราจะเดาได้ไม่ยากว่า ถึงผีจะมีอำนาจมากเพียงไร และถึงแม้ในฉากจบผีก็ต้องพ่ายต่อพุทธคุณอยู่วันยังค่ำ หากทว่ากว่าที่เธอจะยอมสยบต่อคุณธรรมความดีจนตัดสินใจไปผุดไปเกิด เราเองก็ได้เห็นเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของผีผู้หญิงผู้ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจแห่งพุทธธรรมกันอย่างง่ายๆ         ไม่เพียงแต่ผีมุกดาจะไล่ล่าฆ่ามนุษย์เป็นว่าเล่น เพราะคนเหล่านั้นก้าวล่วงเข้ามากล้ำกรายเหมืองร้างอันเป็นปริมณฑลทางอำนาจของเธอเท่านั้น แม้แต่เมื่อตัวละครที่เวียนว่ายในวัฏฏะแห่งกรรมพร้อมใจกันสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลไปให้ แต่ผีมุกดาก็พูดขึ้นอย่างเคียดแค้นว่า “ฉันไม่รับผลบุญของพวกแก ฉันไม่ต้องการ” และ “ฉันจะมีความสุขถ้าเห็นคุณพฤกษ์และอีไพลินตายตกไปตามกัน”         ในยุคนี้ที่สังคมไทยตั้งคำถามท้าทายต่อสถาบันศาสนากันอย่างเข้มข้น ผีมุกดาก็ยังขานรับกับความอ่อนแอของสถาบันดังกล่าว ด้วยการประกาศกร้าวต่อ “พระอาจารย์บุญ” หรือหมอสุกผู้ใช้อาคมกักขังเธอในชาติที่แล้ว และตามมาขัดขวางการแก้แค้นของเธอในชาตินี้อีกว่า “ถ้าแกยังไม่เลิกยุ่งแบบนี้ พระก็พระเถิด”         จากนั้น เราจึงได้เห็นสมรภูมิต่อสู้กันอย่างเข้มข้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างผีมุกดาผู้เปี่ยมด้วยความอาฆาตแค้น กับพระอาจารย์บุญผู้ที่เพียรเทศนาสั่งสอนให้ผีมุกดาละเลิกซึ่งความพยาบาทนั้นเสีย         และแม้ “ผีนังอาด” ผู้เป็นหญิงรับใช้จะเตือนสตินายหญิงว่า การปาณาติบาตพระภิกษุเป็นบาปอันมหันต์ แต่ผีมุกดาที่บัดนี้ไม่สนไม่แคร์ กลับใช้อำนาจทำร้ายกายหยาบของหลวงพ่อเพื่อสะสางความแค้นที่คั่งค้างมาแต่ครั้งอดีต หรือแม้แต่มุ่งมั่นจะสังหาร “แม่ชีกรแก้ว” และกล่าวประกาศก้องกับแม่ชีผู้ทรงศีลว่า “อยู่ทางธรรมดีๆ ไม่ชอบ ชอบแส่ทางโลกใช่ไหม งั้นก็จงตายเสีย”         ยิ่งไปกว่านั้น เพราะเจตนารมณ์มีแรงพยาบาทเป็นท่อน้ำเลี้ยง หากในภพชาติก่อนมุกดาทำได้เพียงแค่ยืมมือหมอผีมาปลุกเสกคุณไสยประหนึ่ง “สงครามตัวแทน” แต่ในภพชาติใหม่ที่วิญญาณได้หลุดพ้นจากการกักขังออกมา ผีมุกดาได้ถอดบทเรียนความผิดพลาด และเลือกใช้การฝึกวิทยายุทธจากตำรา “สุดยอดคาถาไสยดำ” เสียเอง ด้วยหวังว่านี่จะเป็นหนทางที่อมนุษย์อย่างเธอจะเอาชนะพุทธคุณให้จงได้         เมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่องราว หลังจากที่หลายชีวิตต้องล้มตายเป็นผักปลา อภัยทานเท่านั้นที่น่าจะยุติความพยาบาททั้งมวลลงได้ เพราะฉะนั้น หลังจากที่ความจริงเฉลยออกมาว่า เป็นความเข้าใจผิดของผีมุกดาเองที่เชื่อว่าพฤกษ์ตั้งใจฆ่าเธอ และการตระหนักถึงการให้อภัยต่อผู้อื่นโดยไม่มีข้อแม้และด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ของพลอยรุ้งผู้เป็นน้องสาว ก็ทำให้ผีมุกดาหลุดพ้นจากไสยดำ และเดินทางไปสู่ภพภูมิที่ควรจะเป็น         แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าจะเป็นไปตามสูตรของละครที่ความดีย่อมเอาชนะความชั่ว อโหสิกรรมย่อมเอาชนะความอาฆาตพยาบาทลงได้ก็ตาม แต่ครั้งหนึ่งผีมุกดาและผู้ชมทั้งหลายต่างก็ได้ลิ้มรสข้อเท็จจริงที่ว่า เจตนารมณ์ก็เป็นคำที่บัญญัติและสะกดอยู่ได้ในพจนานุกรมของผู้หญิงที่แม้จะสิ้นลมหายใจไปแล้วเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ที่สุดของหัวใจ : จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง

         “บาดแผล” หมายถึงอะไร หากเป็นบาดแผลทางกายแล้ว ในทางการแพทย์มักหมายถึงการบาดเจ็บทุกชนิดที่ส่งผลต่อการแตกสลายของผิวหนังหรือเยื่อบุร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เลือดออก และนำไปสู่การติดเชื้อได้ แต่หากเป็นบาดแผลทางใจนั้นเล่า จักหมายความว่าอะไร?         ในทางจิตวิทยา บาดแผลทางใจถูกตีความว่าเป็นโรคทางจิตเวช อันเกิดขึ้นภายหลังจากได้รับความบอบช้ำทางจิตใจ อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็กหรือบางห้วงแห่งชีวิต แต่ทว่ากลับสลักแน่นและฝังรากลึกอยู่ในความทรงจำของคนเรา จนนำไปสู่อาการที่แม้ไม่อยากจะจดจำ แต่ก็ยากจะสลัดทิ้งไปจากห้วงคำนึง         อาการอิหลักอิเหลื่อของบาดแผลทางใจที่เรียกกันว่า “จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง” เฉกเช่นนี้ ก็คงพ้องกับอาการที่เกิดขึ้นกับ “เกื้อคุณ” และ “อัญมณี” ที่กว่าจะลงเอยกับความรัก ก็ต้องผ่านบททดสอบการเยียวยาบาดแผลแห่งจิตใจกันอย่างสะบักสะบอม ในละครโทรทัศน์แนวดรามาเข้มข้นอย่าง “ที่สุดของหัวใจ”         จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นเมื่ออัญมณีผู้เป็นหลานสาวคนเดียวของตระกูล “จางวางประวาส” ตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะต้องการเอาชนะ “คุณประวิทย์” ผู้เป็นปู่ ซึ่งมีอุปนิสัยชอบเอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล และเชื่ออยู่เสมอว่า ผู้หญิงไม่มีทางที่จะก้าวหน้าทัดเทียมบุรุษเพศได้         หลังจากทะเลาะกันจนบ้านแทบแตก เพราะปู่เห็นคุณค่าแต่กับ “ชนุตม์” หลานชายผู้เป็นพี่น้องต่างมารดากับเธอ อัญมณีก็เลือก “เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า” ไปเสี่ยงชีวิตตายเอาดาบหน้าที่ต่างแดน เพื่อหลีกหนีจากสภาพชีวิตที่แม้จะเป็นหลานแท้ๆ แต่ก็ถูกเลือกปฏิบัติประหนึ่งคนใช้ในบ้านเท่านั้น         ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ภาพก็ตัดสลับมาที่พระเอกหนุ่มเกื้อคุณ หลานชายของ “กมลาสน์” เจ้าของอาณาจักรธุรกิจ “ซีอิสรา” แม้ชีวิตที่ลงตัวของเขาดูจะรุ่งโรจน์ก้าวหน้าทางหน้าที่การงานก็ตาม แต่ในวันที่เกื้อคุณวางแผนจะขอ “พิมรตา” หญิงสาวคนรักแต่งงาน เขากลับถูกสะบั้นรักทิ้งอย่างไร้เยื่อใย         เมื่ออดีตแฟนสาวหันไปเข้าสู่ประตูวิวาห์กับชนุตม์หลานชายเจ้าสัวแห่งตระกูลจางวางประวาส และในวันที่เกื้อคุณผิดหวังกับความรักจนนอนเมามายอยู่ข้างกองขยะท่ามกลางฝนตกพรำๆ เขาก็ได้เจอกับอัญมณีที่เดินมาหยิบยื่นกางร่มให้ พร้อมกับเขียนข้อความเป็นกำลังใจใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ ว่า “อย่ารักใครจนลืมว่าตัวเองมีค่าแค่ไหน…ขอให้คุณมีชีวิตใหม่ที่ดีนะคะ”         แม้ร่มคันนั้นกับข้อความในกระดาษแผ่นเล็กๆ จะช่วยให้เกื้อคุณผ่านพ้นวันที่ทุกข์สาหัสถาโถมเข้ามาในชีวิต แต่กระนั้น เขาก็ยังเลือกที่จะไม่เปิดใจให้กับผู้หญิงคนไหนอีกเลย จะมีก็เพียงความทรงจำที่ลางเลือนถึงใบหน้าหญิงสาวผู้เป็นกำลังใจเล็กๆ ในวันที่พิมรตาฝากบาดแผลอันเจ็บปวดไว้ในหัวใจของเขาเท่านั้น         เจ็ดปีที่ผ่านไปในห้วงชีวิตของตัวละครเอก ช่างเหมือนกับเนื้อเพลงที่ว่า “กี่คำถามที่มันยังคาในใจ เธอรู้ไหมมันทรมานแค่ไหน” ซึ่งกลายเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่คุกรุ่นอยู่ในซอกหลืบแห่งจิตใจของทั้งอัญมณีและเกื้อคุณ         หลังจากไปชุบตัวเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ อัญมณีก็กลับมาปรากฏตัวเป็นคนใหม่ในชื่อของ “ดร.แอน จาง” และเข้าทำงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทซีอิสราของคุณกมลาสน์ การโคจรมาพบกันอีกครากับ ดร.แอน ทำให้เกื้อคุณเกิดอาการหัวใจเต้นแรงขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังไม่สามารถเยียวยาบาดแผลที่พิมรตาฝังฝากลงไปในจิตใจได้ทั้งหมด         แต่ทว่า ในวันที่ความสัมพันธ์กับรักครั้งใหม่ของเกื้อคุณกำลังผลิบานอยู่นั้น พิมรตากลับปรากฏตัวมา และได้สะกิดบาดแผลที่เริ่มจะตกสะเก็ดจนก่อกลายเป็นบาดแผลใหม่ขึ้นอีกครั้ง         หลังจากที่เลิกรากับเกื้อคุณไป พิมรตาก็ค้นพบว่า ตนเองนั้น “เลือกผิด” แม้ฉากหน้าอันหวานชื่นของพิมรตากับชนุตม์ผู้เป็นสามีดูจะเป็นที่น่าอิจฉาของแวดวงสังคม แต่หลังฉากนั้น ความรักที่เธอมีให้กับเขาก็ไม่มากพอ ส่วนชนุตม์เองก็แอบไปมีเล็กมีน้อย เพื่อเติมเต็มความสุขทางเพศรสที่ห่างหายไปจากคนทั้งสองมานานแล้ว จนชีวิตสมรสของทั้งคู่เป็นประหนึ่งนาวากลางสมุทรที่ใกล้อัปปางกลางคลื่นลมระลอกแล้วระลอกเล่า         คนรักเก่าที่รีเทิร์นกลับมา คนรักใหม่ที่สานต่อความสัมพันธ์ซึ่งกำลังไปได้ดี ชีวิตบนทางสองแพร่งที่ดูย้อนแย้งทำให้เกื้อคุณอยู่ในวงจรที่ “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไม่รู้จะถึงที่หมายกันได้หรือไม่” ส่งผลให้พระเอกหนุ่มต้องตั้งคำถามอยู่เป็นระยะๆ ว่า ชีวิตของตนที่เหลือนับจากนี้จะเดินต่อไปข้างหน้ากันเยี่ยงไร         ไม่ต่างจากนางเอกอัญมณี ที่สู้อุตส่าห์ปรับลุคเปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่เป็น ดร.แอน ผู้ที่กำลังมีชีวิตรักที่ลงตัวและชีวิตการงานที่ก้าวหน้า หากทว่าความเจ็บปวดที่ฝังใจว่าอยากจะเอาชนะคุณประวิทย์ผู้ไม่เคยให้ค่าความสามารถในตัวหลานสาว ก็เหมือนชนักปักกลางความรู้สึก และทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับเกื้อคุณเกิดปัญหา เมื่อฝ่ายชายแอบคิดไปว่า อัญมณีเพียงจะใช้ตนเป็นเพียง “หมากตัวหนึ่ง” เพื่อทวงคืนกับคุณปู่เท่านั้น         บนเส้นทางที่อัญมณีต้องการเลือกเดินไปข้างหน้า แต่บาดแผลที่มิอาจสลัดทิ้งได้ ก็ทำให้เธอต้องเปิดแนวรบหลายด้าน ทั้งการต่อสู้กับธรรมเนียมปฏิบัติที่นายทุนใหญ่อย่างคุณประวิทย์ไม่สนใจลงทุนกับลูกหลานในฝ่ายหญิง และกับอดีตแฟนสาวที่กลับมาหลอกหลอนเกื้อคุณชายผู้เป็นที่รักของเธอในปัจจุบัน        ฉากการเผชิญหน้าระหว่างอัญมณีที่ประกาศกับพิมรตาว่า “แฟนเก่าควรอยู่ในที่ของแฟนเก่า อย่างน้อยก็ควรสะกดคำว่าอดีตให้เป็น” แม้ด้านหนึ่งจะตอกหน้าคู่ปรับว่าหมดสิทธิ์เป็นเจ้าของหัวใจของพระเอกหนุ่มไปนานแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือการบอกตัวเธอเองด้วยว่า ถ้าชีวิตรักของเธอกับเกื้อคุณจะมูฟออนไปข้างหน้าได้ ก็ควรต้องเลือกลบลืมอดีตบางอย่างที่สร้างความเจ็บปวดไปเสียบ้างนั่นเอง         และนอกจากเกื้อคุณกับอัญมณีแล้ว ตัวละครที่เหลือในเรื่องก็มีความทรงจำบาดแผลที่เป็นเงาหลอกหลอนไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณประวิทย์ผู้มิอาจลดทิฐิจากประเพณีนิยมในการกดทับผู้หญิงผ่านสถาบันครอบครัว หรือพิมรตาที่ในส่วนลึกก็อยากจะเริ่มต้นใหม่กับสามีอีกครั้งแต่ก็ไม่อาจลืมรักครั้งเก่าได้ลง หรือชนุตม์ที่ฝังใจแล้วไปว่าภรรยาไม่เคยรักเขาจริง จนออกไปหาเศษหาเลยกับผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า         จนถึงบทสรุปของเรื่อง ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของชนุตม์และพิมรตา หรือการแทบจะล่มสลายของครอบครัวจางวางประวาส หรือความรักอันบอบช้ำครั้งแล้วครั้งเล่าของเกื้อคุณและอัญมณี ก็ทำให้ตัวละครทั้งหลายได้เวลาต้องย้อนหันมาทบทวนบาดแผลและความทรงจำกันจริงจังในฉากจบของเรื่อง         ถ้าดูละครแล้วทำให้เราย้อนเห็นสังคมโดยภาพรวมได้แล้ว กับความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่ฉายเป็นภาพใหญ่ให้ได้สัมผัสอยู่ในทุกวันนี้ บางทีหากเราลองเปิดใจหันกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดเพื่อหาทางออกกันดูบ้าง เราก็อาจจะพบเส้นทางหลุดพ้นไปจากภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากับบาดแผลซึ่ง “จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง” ในเส้นทางอันวิวัฒน์ไปของสังคมไทยได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 มัดหัวใจยัยซุปตาร์ : รู้ไหมใครโสด มีเจ้าของ และไม่มองหญิง

        ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของคนเรานั้น เผลอๆ ก็อาจไม่ใช่ตัวเราที่มีอำนาจเข้าไปกำหนด และในขณะเดียวกัน หากเราไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีอำนาจกำหนด ตัวตนของเราก็มักมีบางส่วนที่สังคมเข้าไปควบคุมหรือกำกับการรับรู้ให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เพื่อสาธิตให้เห็นว่า ตัวตนของคนเราจริงๆ จักเป็นเช่นไร หรือถูกสายตาของสังคมรับรู้และตีความความเข้าใจให้กับผู้คนทั้งหลายได้อย่างไรนั้น อาจดูตัวอย่างได้จากตัวละครนางเอก “วาสิตา” หรือที่คนใกล้ชิดมักเรียกเธอว่า “คุณวา” กับบรรดาหนุ่มๆ หลายคนที่แวดล้อมชีวิตของซุปตาร์สาวนางนี้ ในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้เจือดรามาอย่าง “มัดหัวใจยัยซุปตาร์”         เพราะเป็นนักแสดงและนางแบบตัวแม่ของวงการบันเทิง ดังนั้น ไม่ว่าจะขยับร่างไปทางไหน สายตาของปาปารัซซีและสาธารณชนก็มักจับจ้องมองอยู่มิได้ห่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชีวิตรักซึ่งเป็น “ส่วนตัว” ที่สุดในความเป็นบุคคล “สาธารณะ” ที่คุณวาก็ต้องยอมแลกให้สปอตไลต์มาฉายส่องอยู่ตลอดเวลา         ด้วยเหตุฉะนี้ ฉากเปิดเรื่องจึงฉายภาพคุณวาผู้ถูกจับตาเรื่องความรักกับ “รชานนท์” หนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเศรษฐีนีนักธุรกิจอย่าง “นันทพร” โดยที่ทั้งคู่วางแผนจะเข้าสู่ประตูวิวาห์สร้างอนาคตในเร็ววัน แต่ทว่า จุดพลิกผันก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “ปรายฟ้า” นางแบบสาวรุ่นน้องมากล่าวอ้างกับคุณวาว่า เธอเป็นภรรยาลับๆ ของรชานนท์ และกำลังตั้งครรภ์ลูกในท้องของเขาอยู่          แม้ชีวิตสาธารณะจะดูก้าวหน้า แต่ชีวิตรักส่วนตัวกลับไม่เป็นไปดังหวัง คุณวาจึงตัดสินใจยกเลิกงานแต่งงานกับรชานนท์ และในความผิดหวังนั้นเอง คุณวาก็ดื่มเหล้าจนเมาขาดสติ และพลั้งเผลอไปมีความสัมพันธ์แบบ one-night stand กับ “รัฐกร” หรือ “กั๊ต” เมคอัพอาร์ติสต์หนุ่มประจำตัวของคุณวา         ด้วยพล็อตเรื่องที่ผูกปมเอาไว้เช่นนี้ จะว่าไปแล้วก็น่าจะจบลงแบบสุขสมหวังแฮปปี้เอนดิ้งได้นับแต่ตอนต้นเรื่อง หากเพียงคุณวากับกั๊ตจะเลือกลงเอยครองคู่กันไปตามครรลองคลองธรรม แต่ทว่า สำหรับคุณวาแล้ว กั๊ตคือชายหนุ่มที่โตมาในฐานะ “เด็กในบ้าน” หลานของ “ป้ารัณ” ที่เลี้ยงดูคุณวามาตั้งแต่ยังเด็กหลังจากที่มารดาของเธอเสียชีวิตลง และที่สำคัญ คุณวาเองก็รักเอ็นดูกั๊ตเหมือนกับน้องชาย หรือเผลอๆ ก็อาจจะมองชายหนุ่มเป็นเพียง “เพื่อนสาว” ตามภาพเหมารวมแบบฉบับของอาชีพช่างแต่งหน้าของศิลปินดารานั่นเอง         เมื่อเป็นดังนี้ เส้นเรื่องของละครจึงผูกโยงให้กั๊ตต้องพิสูจน์ตนเองให้คุณวาประจักษ์แจ้งแก่หัวใจได้ว่า เขามีสถานะเป็น “ผู้ชายแท้” และทั้งรักทั้งหวังดีกับคุณวาเรื่อยมา โดยมีสถานการณ์ต่างๆ มากมายที่จะทำให้นางเอกซุปตาร์เข้าใจผิดในตัวตนของเขาอยู่เป็นระยะๆ         เพราะตัวตนหรืออัตลักษณ์เป็นโฉมหน้าที่มนุษย์เราสามารถเลือกพลิกด้านใดออกมาสื่อสารกับผู้คนรอบตัว และสังคมเองก็มีภาพจำหรือกำหนดการรับรู้อัตลักษณ์ตัวตนของปัจเจกบุคคลแตกต่างกันไป ฉะนั้น เรื่องของตัวตนทางเพศสภาพและเพศวิถีของมนุษย์เองก็ดำรงอยู่ภายใต้ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน         และเพราะทุกวันนี้อัตลักษณ์ทางเพศสภาพก็มีความลื่นไหลและซับซ้อนกว่าที่เราเคยรับรู้กันมา ดังนั้น บนความสัมพันธ์ระหว่างคุณวากับบุรุษเพศผู้รายล้อมรอบชีวิตของเธอ คุณวาจึงต้องเรียนรู้ด้วยว่า ตัวตนตามภาพจำกับตัวตนที่ปัจเจกบุคคลเป็นอยู่จริงนั้น ก็ไม่ต่างจากที่พิธีกรรายการเกมโชว์มักจะถามผู้หญิงซึ่งอยู่ในสนามแข่งขันเลือกคู่ว่า กับผู้ชายที่คุณเห็นอยู่ตรงหน้า “รู้ไหมใครโสด มีเจ้าของ และไม่มองหญิง”         สำหรับผู้ชายคนแรกอย่างกั๊ต ผู้เลือกเพศวิถีแบบ “รักต่างเพศ” และแท้จริงยังเป็น “โสด” แต่เนื่องจากวิชาชีพที่เขาเป็นเมคอัพสไตลิสต์ และยังเป็นช่างแต่งหน้าคู่ใจของคุณวา เธอจึงไม่วางใจในอัตลักษณ์ทางเพศของเขา ถึงแม้ว่าพระเอกหนุ่มจะพูดยืนยันกับซุปตาร์สาวอยู่เนืองๆ ว่า “กั๊ตเป็นผู้ชายนะครับ”         หรือแม้แต่ในวันที่คุณวาเมาเหล้าเผลอพลั้งไปฟีเจอริงเลยเถิดกับกั๊ต แต่ทว่าลึกๆ แล้ว เหตุผลที่ทำให้คุณวารู้สึกผิดและขาดความเชื่อมั่น ไม่ใช่เพราะถลำลึกไปมีอะไรกับ “เด็กในบ้าน” ที่เธอรักเหมือนน้อง หากแต่เพราะเธอคิดว่าตนพลาดไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเกย์หนุ่มช่างแต่งหน้ามากกว่า         ส่วนผู้ชายคนถัดมาก็คือรชานนท์ แม้หน้าฉากชายหนุ่มจะแสดงออกทางเพศวิถีแบบชาย “รักต่างเพศ” ก็ตาม ทว่าหลังฉากของเขาหาใช่จะเป็นชาย “โสด” แต่ตรงกันข้าม เขากลับเจ้าชู้ มีผู้หญิงมากหน้าหลายตา จนแม้แต่คุณนันทพรผู้เป็นแม่ถึงกับนิยามลูกชายคนนี้ว่า “บ้าเซ็กส์” จนไม่ยอมทำงานทำการแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะคบหาออกหน้าว่าเป็นชายคนรักของซุปตาร์สาว แต่ก็ยากจะดูออกว่ารชานนท์ยัง “โสด” หรือเป็นชายที่ “มีเจ้าของ” กันแน่         ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุณวาสลัดรักจากรชานนท์ และหันมาแต่งงานกับกั๊ต จากเทพบุตรก็กลายร่างเป็นซาตานตามรังควานคุณวากับกั๊ต จนเป็นเหตุให้ “ทัด” พ่อขอกั๊ตเสียชีวิต รวมทั้งยังลงมือกระทำทารุณกรรมทางร่างกายกับปรายฟ้า ในขณะที่เธออุ้มท้องลูกของเขาอยู่ ภาพของตัวละครชายแบบนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ในหน้าฉากของความเป็นสุภาพบุรุษ ตัวตนที่แท้จริงของคนเราสามารถเหี้ยมเกรียมกันได้เพียงใด         และสำหรับผู้ชายคนสุดท้ายก็คือ “หมอเจ” ญาติผู้พี่ของคุณวา ที่ด้วยสถานภาพทางอาชีพเป็นสูตินารีแพทย์ การปรากฏตัวของเขาต่อหน้าสาธารณชนจึงต้องเลือกแสดงออกทางเพศสภาพแบบ “ผู้ชายแท้” แม้ว่าจริงๆ แล้ว หมอเจก็คือ “เจ้” ของคุณวา และเลือกมีตัวตนเพศวิถี “ไม่มองหญิง” แบบที่เฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะตระหนักรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว         ด้วยอัตลักษณ์แห่งเพศสภาพที่ซับซ้อนและลื่นไหลโดยสัมพัทธ์กับข้อกำหนดของแต่ละสังคม จึงไม่น่าแปลกที่เราได้เห็นช่างแต่งหน้าผู้มักมีภาพจำทางสังคมว่าเป็นพวก “ไม่มองหญิง” แต่จริงๆ แล้วกลับเป็น “ชายโสด” ในขณะเดียวกับที่ “ชายโสด” ลูกมหาเศรษฐี กลับมีด้านที่ซุกซ่อนความ “มีเจ้าของ” และเห็นผู้หญิงเป็นเพียงของเล่นในชีวิต และพร้อมๆ กับที่หมอหนุ่มฐานานุรูปดีจนน่าจะดูเป็น “ชายโสด” ในฝันของผู้หญิงทั้งหลาย กลับมีรสนิยมทางเพศเป็น “เก้งกวาง” แอบ “ไม่มองหญิง” แบบหักปากกาเซียน            สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง กูรูที่ช่ำชองก็อาจจะอ่านอัตลักษณ์ทางเพศที่ผันแปรได้ไม่เฉียบขาด ดังนั้นแม้ตัวคุณวาเองจะเป็นซุปตาร์นักแสดง อันเป็นบทบาทอาชีพที่ต้องอยู่กับการมีหน้าฉากหลังฉาก และสวมบทบาทที่แปรเปลี่ยนลื่นไหลไปตามสคริปต์ที่ถูกกำหนดให้เล่น แต่ในเกมที่ต้องอ่านตัวตนทางเพศของชายที่ต้องมาครองคู่ด้วย คุณวาก็ทั้งพลาดทั้งพลั้งจนเกือบจะพ่ายแพ้ในสนามนี้มาแล้ว         จนถึงบทสรุปหลังจากที่คุณวากับกั๊ตได้ลงเอยกันตามสูตรสำเร็จของละครแนวโรมานซ์ เขาและเธอทั้งคู่ก็ได้เรียนรู้ว่า การทายถูกทายผิดในเกมอาจถือเป็นเรื่องปกติเพราะนั่นคือเกม หากทว่าในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น การตัดสินเพศสภาพด้วยภาพจำแบบเหมารวมก็อาจบดบังตัวตนจริงๆ ของคนเราได้ ด้วยเพราะอัตลักษณ์แห่งปัจเจกบุคคลนั้นมีทั้งลื่นไหล ย้อนแย้ง และผันแปรอยู่อย่างไม่สิ้นไม่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ลายกินรี : อคติทางเพศกับนิติวิทยาศาสตร์แบบสตรี

          ละครโทรทัศน์แนวสืบสวนสอบสวนของต่างประเทศ มักยืนอยู่บนความคิดที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่การเข้าถึงความจริงในคดีความฆาตกรรมต่างๆ นั้น ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยมาเป็นคำตอบ แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อละครแนวพีเรียดอย่าง “ลายกินรี” หันมาผูกเรื่องราวการ “สืบจากศพ” ชนิดย้อนไปในยุคประวัติศาสตร์ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะมาเป็นคำตอบกันโน่นเลยทีเดียว         เปิดเรื่องละครย้อนไปในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อผัวเมียคู่หนึ่งกำลังตกปลาไปขาย แต่กลับพบศพชายต่างชาติคนหนึ่ง ที่ท่อนบนแต่งกายคล้ายสตรีและมีผ้านุ่งลายกินรีพันติดอยู่กับร่างกาย ส่วนท่อนล่างนั้นเปลือยเปล่า ซึ่งต่อมาละครก็เฉลยว่าเป็นศพของ “กปิตันฌอง” ชาวฝรั่งเศสที่ผูกพันกับราชสำนักยุคนั้น จุดเริ่มเรื่องแบบนี้ดูผิวเผินก็ไม่ต่างจากการวางพล็อตของซีรีส์สืบสวนสอบสวนที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไป         แม้จะมีเส้นเรื่อง “สืบจากศพ” เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงว่า ใครกันแน่ที่เป็นฆาตกรฆ่ากปิตันฌอง แต่ในเวลาเดียวกัน เพราะเหตุการณ์ย้อนกลับไปราวสามร้อยกว่าปีก่อน ละครจึงเป็นประหนึ่ง “ห้องทดลอง” ให้ผู้ชมในกาลปัจจุบัน ได้หันมาทบทวนหวนคิดถึงคุณค่าบางอย่างที่ยึดถือกันแนบแน่นในสังคมทุกวันนี้         และค่านิยมหนึ่งที่คดีฆ่ากปิตันฌองได้ตีแผ่ให้เห็นก็คือ การตั้งคำถามต่อตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของผู้หญิง เมื่อต้องดำรงตนอยู่ในวิถีแห่งชายเป็นใหญ่ที่มายาคติหลักของสังคมโอบอุ้มเอาไว้ โดยสะท้อนผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครหญิงที่ถูกผูกโยงเข้ากับการเปิดโปงปมที่มาและที่ไปแห่งการฆาตกรรม         ตัวละครผู้หญิงคนแรกที่เกี่ยวพันกับกรณีนี้ก็คือ นางเอก “พุดซ้อน” หญิงสาวที่สืบทอดวิชาชีพหมอรักษาคนไข้จาก “หมอโหมด” ผู้เป็นบิดา แต่เพราะคนในสมัยก่อนโน้นไม่เชื่อมั่นในหมอผู้หญิง พุดซ้อนจึงบังหน้าโดยใช้ชื่อ “หมอมี” ผู้เป็นพี่ชายที่ไม่เอาถ่าน มาเป็นหมอรักษาผู้ไข้แทน         เมื่อชะตาชีวิตของพุดซ้อนถูกลากโยงให้ได้มาตรวจศพของกปิตันฌอง และเธอลงความเห็นว่า ชายชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตก่อนที่จะถูกลากศพมาทิ้งอำพรางในแม่น้ำ พุดซ้อนก็ถูกดูแคลนจาก “หลวงอินทร์” หรือ “ออกญาอินทราชภักดี” เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา พระเอกหนุ่มผู้ไม่เพียงตั้งแง่กับหมอพุดซ้อน แต่ยังใช้ข้ออ้างเรื่องความเห็นของหญิงสาวจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับสยามประเทศ อันจะนำไปสู่ภัยสงครามในยุคที่จักรวรรดิยุโรปเรืองอำนาจอยู่         อย่างไรก็ดี หน้าฉากของวาจาดูถูกเหน็บแนม และข้ออ้างเรื่องความขัดแย้งกับชาติมหาอำนาจ แท้จริงแล้วยังมีเบื้องลึกอีกด้านที่สังคมพยายามกีดกันผู้หญิงออกไปจากการเข้าถึงสรรพวิชาความรู้ของพวกเธอ         ทั้งนี้ หากความรู้แพทยศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ถูกขีดขอบขัณฑ์ให้อยู่ใต้อำนาจบัญชาแห่งบุรุษเพศ สังคมก็จะมีความพยายามปิดกั้นศักยภาพของสตรีที่ก้าวล่วงมาใช้อำนาจแห่งความรู้เพื่อสืบสวนคดีความฆาตกรรม ไม่ต่างจากที่พุดซ้อนได้เคยพูดตอกหน้าหลวงอินทร์ว่า “ท่านตั้งป้อมใส่ข้า เพียงเพราะว่าหมอหญิงถูกมองเป็นเพียงหมอตำแยเท่านั้น”         แม้จะถูกด้อยค่าความรู้ที่มี แต่เพราะวิถีแห่งผู้หญิงมีลักษณะแบบ “กัดไม่ปล่อย” เหมือนที่พุดซ้อนกล่าวว่า “พ่อข้าสอนไว้เสมอว่า หากตั้งใจทำสิ่งใด จงมุ่งหน้าทำให้สำเร็จ ยิ่งเกิดเป็นแม่หญิง ยิ่งต้องพิสูจน์ให้คนที่ปรามาสมองให้เห็นจงได้” ดังนั้น เราจึงเห็นภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าของหมอพุดซ้อนที่พากเพียรใช้องค์ความรู้ต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาจากบิดา เพื่อเผยให้ฆาตกรที่ซ่อนตัวอยู่ในเงามืดของเหตุฆาตกรรม         เริ่มต้นตั้งแต่การใช้ความรู้ด้านเภสัชและเคมีโบราณมาทดสอบสารพิษของ “เห็ดอีลวง” ที่คนร้ายใช้วางยาฆ่ากปิตันฌอง การประยุกต์ทฤษฎีด้านนิติวิทยาศาสตร์มาวินิจฉัยรอยมีดที่อยู่บนร่างของศพ ไปจนถึงการใช้ชุดความรู้การผ่าศพที่ทั้งผิดธรรมเนียมจารีตของชาวสยาม และไม่ใช่วิถีปฏิบัติที่ผู้หญิงพึงจักกระทำ         และที่สำคัญ ดังที่คนโบราณมักกล่าวว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่สำหรับพุดซ้อนแล้ว แม้นางเอกของเราก็เรียนรู้อยู่แก่ใจว่า “ความจริง” เองก็อาจนำหายนภัยมาให้เกือบปางตาย แต่เจตจำนงแน่วแน่ของเธอก็ยังคงยืนหยัดใช้ความรู้เพื่อพิสูจน์ “ความจริง” ที่ผู้หญิงก็เข้าถึงได้เช่นกัน         สำหรับตัวละครผู้หญิงคนที่สองก็คือ “มาดามคลารา” ภรรยาของกปิตันฌอง แม้มาดามจะพูดให้การกับหลวงอินทร์ว่า “สามีข้าเป็นคนดี เป็นลมหายใจ เป็นที่รักของข้า” แต่เบื้องหลังคราบน้ำตาที่คลาราแสดงออกให้กับสามีที่เสียชีวิต กลับซุกซ่อนภาพความรุนแรงทางสังคมที่กระทำต่อกายวาจาใจของสตรี ซึ่งแท้จริงแล้วก็หาใช่สิ่งห่างไกลไปจากตัวของผู้หญิงไม่ เพราะความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นได้แม้ในครอบครัว อันเป็นสถาบันหน่วยย่อยที่ใกล้ชิดกับชีวิตของมนุษย์มากที่สุด         ไม่เพียงแต่คลาราจะถูกบิดาจับคลุมถุงชนกับกปิตันฌองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ภายหลังแต่งงานเธอก็ต้องขมขื่นกับสามีฝรั่งที่มองว่า “เมียเป็นเพียงสัตวเลี้ยงตัวหนึ่งเท่านั้น” ดังนั้น ทุกครั้งที่น้ำจัณฑ์เข้าปาก และด้วยลุแห่งอำนาจชายเป็นใหญ่ กปิตันฌองก็จะวิปลาสเสียสติลงมือทำทารุณกรรมภรรยา ไปจนถึงทำร้าย “เอี้ยง” สาวใช้จนขาพิการ และยังก่อเหตุข่มขืนแล้วฆ่า “อุ่น” เมียของ “จั่น” ผู้เป็นบ่าวในเรือน         เพราะความอดทนของผู้หญิงมีขีดจำกัด แม้สังคมจะบอกหญิงผู้เป็นภรรยาทั้งหลายว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” แต่ความรุนแรงในครอบครัวที่เหตุปัจจัยมาจากความอยุติธรรมทางเพศ มีผลไม่มากก็น้อยที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของคดีความฆาตกรรมดังกล่าว ดังที่คลาราเองก็พูดเพราะเข้าใจผิดเรื่องตนเป็นคนฆ่าสามีว่า “ข้าไม่เคยเสียใจสักนิดที่ฆ่ากปิตันด้วยมือของข้าเอง”         และสำหรับตัวละครผู้หญิงคนสุดท้ายก็คือ “เจ้าจอมกินรี” เจ้าจอมคนโปรดในรัชสมัยนั้น และเป็นเจ้าของผ้านุ่งลายกินรีที่พบบนศพกปิตันฌอง ซึ่งในตอนจบเรื่องละครก็ได้เฉลยว่า เจ้าจอมกินรีเป็นผู้ชักใยข้างหลังความตายของกปิตันและอีกหลายชีวิตในท้องเรื่อง         แม้ละครอาจตีความว่า การกระทำของเจ้าจอมกินรีเป็นตัวอย่างของคนทรยศต่อชาติบ้านเมือง แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวละครนี้ก็แสดงนัยว่า ในขณะที่ใครต่อใครเชื่อว่า การเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองเป็นคุณค่าที่มีเฉพาะในเพศบุรุษ เจ้าจอมกินรีก็คือผู้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถทำเพื่อชาติได้ แม้ว่าบางครั้งก็ต้องยอมแลกมากับความสูญเสียและถูกตราหน้าจากประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะหรือบุรุษเพศก็ตาม         แม้ “ลายกินรี” จะมีจุดร่วมไม่ต่างจากละครแนวสืบสวนสอบสวนเรื่องอื่นที่ต้องเผย “ความจริง” เรื่องตัวฆาตกรผู้ฆ่าก็ตาม แต่จากคำพูดของ “คุณหญิงแสร์” ซึ่งกล่าวกับหลวงอินทร์บุตรชายที่ว่า “อคติในหัวใจทำลายแง่งามในชีวิตเสมอ” บางทีคำพูดนี้ก็เป็นบทสรุปดีๆ ที่บอกกับเราด้วยว่า การลดอคติทางเพศลงเสียบ้าง จะทำให้เรามองเห็นตัวตนและเจตจำนงของสตรีที่มุ่งมั่นทำเพื่อวิชาความรู้ ครอบครัว และชาติบ้านเมืองได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 คุณชาย : ไม่ต้องมาก ไม่ต้องน้อย แค่เท่าเทียมกับที่ “คน” ควรจะได้รับ

           นักคิดในกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิแห่งสตรี หรือที่รู้จักกันในชื่อของนักทฤษฎีเฟมินิสต์บางคน เคยแสดงทัศนะไว้ว่า ระบอบ “ปิตาธิปไตย” หรือการกำหนดคุณค่าให้กับ “ชายเป็นใหญ่” ได้แผ่ซ่านอยู่ในถ้วนทุกอณูของสังคม และภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่นี้เอง ผู้หญิงกลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่ถูกกดขี่ ลิดรอน จำกัดสิทธิและโอกาส หรืออีกนัยหนึ่ง สตรีก็คือเพศสภาพที่ต้องรองรับทุกขเวทนามากที่สุดในระบบการให้คุณค่าดังกล่าว         แต่ในเวลาเดียวกัน นักทฤษฎีที่ศึกษาสิทธิทางเพศรุ่นหลัง ก็ได้โต้แย้งและขยับขยายมุมมองออกไปด้วยว่า ระบอบปิตาธิปไตยไม่เพียงจะสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้หญิงเท่านั้น แม้แต่กับกลุ่มเพศทางเลือกหรือ “LGBTQ+” ก็ต้องเซ๋นสังเวยและทนทุกข์ทรมานจากระบอบคิดที่ว่านี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย         เพื่อฉายภาพวิบากกรรมที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งต้องเผชิญเพียงเพราะเลือกเพศสภาพต่างไปจากสังคมกระแสหลักเช่นนี้ เราก็อาจพินิจพิจารณาได้จากตัวอย่างชีวิตของ “เทียน” พระเอกหนุ่มคุณชายใหญ่แห่งกลุ่มทุนจีนธุรกิจ “ตระกูลซ่ง” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณชาย”         เปิดเรื่องมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับตระกูลซ่ง ซึ่งเป็นตระกูลคนจีนที่มีอิทธิพลในสยามประเทศช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยความที่เป็นผู้นำตระกูลใหญ่ “เจ้าสัวซ่ง” จึงถูกวางตัวให้เป็นประมุขของ “สมาคมห้ามังกร” และตำแหน่งนี้ก็จะผ่องถ่ายมาที่เทียนบุตรชายคนโตของเจ้าสัวซ่งในเวลาต่อมา         แต่ทว่า ปมสำคัญที่ถูกผูกไว้เป็นคุณค่าหลักที่ตัวละครต่างยึดมั่นก็คือ อคติที่มีต่อ “ต้วนซิ่ว” หรือความรังเกียจต่อกลุ่มชายรักชาย ซึ่งแสดงให้เห็นตั้งแต่ฉากเริ่มต้นเรื่อง เมื่อ “เจ้าสัวจาง” หนึ่งในผู้นำตระกูลซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมห้ามังกร ได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเองเพราะถูกจับได้ว่าเป็นต้วนซิ่ว เจ้าสัวซ่งและพี่น้องคนอื่นจึงพากันกีดกันเขาจากความเป็นสมาชิกสมาคม แต่ก่อนที่จะตายนั้น เขาได้กล่าวกับเจ้าสัวซ่งว่า “ถึงแม้อั๊วจะเป็นต้วนซิ่ว อั๊วก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรี…สักวันอั๊วขอให้พี่ใหญ่รับรู้ความเจ็บปวดที่อั๊วมี”         ฉากการฆ่าตัวตายของเจ้าสัวจาง เป็นรอยประทับที่สร้างบาดแผลให้กับสมาชิกตระกูลซ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียนมีทีท่าจะเป็นต้วนซิ่วเช่นกัน ทำให้ “อาลี่” หรือที่ทุกคนเรียกว่า “นายแม่” มารดาของเทียน และ “อาเจีย” สาวใช้คนสนิทของนายแม่ที่รู้ความลับนี้ ต้องคอยปกปิดมิให้ใครล่วงรู้ ตั้งแต่ที่เทียนยังเด็กจนเขาโตพอจะรับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมห้ามังกรสืบต่อจากเจ้าสัวซ่ง         เรื่องราวหลังจากนั้นไม่นานนัก เทียนก็ได้ตกหลุมรัก “จิว” ผู้ชายธรรมดาที่ขายน้ำตาลปั้นยังชีพเลี้ยงน้องๆ สองคน แต่อีกด้านหนึ่ง จิวก็คือนักฆ่าฟรีแลนซ์รับจ้างให้กับ “เจ้าสัวหม่า” อีกหนึ่งในสมาชิกสมาคมห้ามังกรผู้หวังขึ้นมาช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าสมาคมไปจากคนในตระกูลซ่ง         เมื่อมีอำนาจและผลประโยชน์ของตระกูลซ่งเป็นเดิมพัน อีกทั้งเมื่อมีความลับเรื่องต้วนซิ่วที่อาจทำให้สถานะนำของเทียนสั่นคลอน นายแม่จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อมิให้อนาคตของประมุขสมาคมหลุดไปอยู่ในมือของ “หยาง” ผู้เป็นลูกชายของ “จันทร์” เมียรอง และเป็นน้องชายต่างมารดาของเทียน พร้อมๆ กับที่เราได้เห็นภาพสมรภูมิแห่งบ้านตระกูลซ่งที่ลุกเป็นไฟ เพียงเพื่อรักษาความลับในเพศวิถีของเทียน         แต่เพราะสรรพกำลังใดๆ ก็ไม่มีอยู่ในมือ หนทางเดียวที่นายแม่จะปกป้องความลับของบุตรชายได้ก็คือ การใช้ “ความรู้” เป็นอำนาจ ดังนั้น “เห็ดดูดเลือด” อันเป็นวิชาลับของการเพาะเห็ดพิษที่เติบโตบนตัวแมลงทับ ก่อนจะสกัดมาเป็นผง “ว่านแมลงทับ” จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ปลิดชีวิตทุกคนที่ก้าวล่วงมารับรู้ความลับของคุณชายเทียน         แม้จะตระหนักว่า “ความลับไม่เคยมีในโลก” แต่เมื่อนายแม่ได้เริ่มต้นใช้ว่านแมลงทับฆ่าเหยื่อรายแรกอย่าง “ตง” คนงานที่บังเอิญมารู้ความลับเรื่องต้วนซิ่วของเทียน การปกปิดและรักษาความลับก็ได้นำไปสู่เหยื่อฆาตกรรมรายที่สอง…สาม…สี่…ตามมา         อย่างไรก็ดี แม้ในทางกฎหมาย ความผิดฐานฆ่าคนตายอาจมีนายแม่และอาเจียเป็นผู้ต้องหาในคดีความอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ทว่าเบื้องลึกยิ่งไปกว่านั้น เหตุปัจจัยที่ทำให้หลายชีวิตต้องสูญเสียไปเพื่อซ่อนงำความลับเรื่องต้วนซิ่วของคุณชายใหญ่ตระกูลซ่ง ก็มีจำเลยหลักที่มาจากการกำหนดคุณค่าความเป็นมนุษย์ภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยอย่างมิอาจเลี่ยงได้ด้วยเช่นกัน         แน่นอนว่า ในทางหนึ่งระบอบชายเป็นใหญ่ได้กดขี่สร้างความเจ็บปวดให้กับตัวละครผู้หญิงทั้งหลาย ตั้งแต่นายแม่และจันทร์ที่ต้องลุกขึ้นมาต่อกรห้ำหั่นกันเพียงเพื่อหาหลักประกันอันมั่นคงให้กับสถานะในบ้านของพวกเธอเอง หรือเมียบ่าวอย่าง “บัว” ที่เพราะเป็นหมัน จึงถูกกดทับคุณค่าจนต้องระเห็จมาอยู่เรือนหลังเล็กของบ้าน หรือ “ไช่เสี่ยวถง” หญิงม่ายที่ต้องดูแลโรงน้ำชาต่อจากสามี ก็ต้องดิ้นรนให้กิจการของเธอดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางเสียงดูหมิ่นดูแคลนจากบรรดาเฮียๆ สมาชิกโดยตรงของสมาคมห้ามังกร         แต่เพราะระบอบปิตาธิปไตยไม่เพียงกดกั้นศักยภาพของสตรีเพศเท่านั้น หากยังสร้างบาดแผลและความทุกข์ระทมให้กับชายรักชายที่อยู่ใต้ร่มระบอบดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่ต่างจากภาพวัยเด็กของเทียนที่ถูกนายแม่เฆี่ยนตีเพียงเพราะเขาแต่งตัวเลียนแบบนางเอกงิ้วที่ชื่นชอบ หรือภาพของเขาในวัยหนุ่มที่นายแม่พยายามจับคลุมถุงชนด้วยหวังจะให้แปรเปลี่ยนรสนิยมทางเพศ ไปจนถึงภาพความรักอันเจ็บปวดและต้องซ่อนเร้นของเขากับจิวที่ทุกคนพากันกีดขวางและประทับตราว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ         จากอัตวินิบาตกรรมของเจ้าสัวจาง จนถึงเรื่องราวรักต้องห้ามของเทียนกับจิว ทั้งหมดล้วนตั้งอยู่บนจารีตประเพณีที่ว่า เฉพาะเพศวิถีแห่งรักต่างเพศเท่านั้นที่จะสืบต่อระบอบปิตาธิปไตยให้จีรังยั่งยืน ดังนั้นมูลเหตุที่เจ้าสัวซ่งกังวลต่อคำครหาที่ว่าเลี้ยงลูกชายอย่างไรให้เป็นต้วนซิ่ว และไม่เหมาะสมที่จะขึ้นครองบัลลังก์สมาคมห้ามังกรได้ แท้จริงก็เป็นแค่การกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ว่า ชายรักชายแบบต้วนซิ่วไม่อาจผลิตทายาทรุ่นถัดไปที่จะเป็นหลักประกันการสืบต่อระบบคุณค่าแบบชายเป็นใหญ่ได้ในอนาคต         ทุกๆ ระบบคุณค่าของสังคม จุดเริ่มต้นก็ล้วนมาจากข้อตกลงที่ผู้คนในยุคหนึ่งสม้ยหนึ่งได้อุปโลกน์ขึ้นเพื่อตอบรับความเป็นไปแห่งยุคสมัยนั้น แต่หากข้อตกลงดังกล่าวไม่สอดรับกับยุคสมัยที่ต่างไป หรือแม้แต่สร้างความบอบช้ำบาดหมางระหว่างมนุษย์ สมาชิกในสังคมก็น่าจะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงนั้นๆ ได้เช่นกัน        หากหลายชีวิตต้องสูญเสียไปเพื่อรักษาความลับเรื่องเพศสภาพของเทียน และหากความลับเรื่องต้วนซิ่วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความดีเลวของมนุษย์แต่อย่างใด บางทีคำสารภาพของพระเอกหนุ่มในฉากขึ้นรับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมห้ามังกร จึงเป็นประหนึ่งเสียงจากกลุ่มเพศทางเลือกในสังคมปิตาธิปไตยที่ว่า “ผมไม่เคยต้องการความเห็นใจ หรือต้องการความเข้าใจจากทุกคนเลย ผมแค่อยากเป็นตัวของตัวเอง ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ผมเลือก โดยที่ทุกคนให้เกียรติผม ไม่ต้องมาก ไม่ต้องน้อย แค่เท่าเทียมกับที่คนควรจะได้รับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 สาปซ่อนรัก : คงจะเป็นเหมือนโดนคำสาปที่สั่งให้ยังรักโลภโกรธหลง…จนตาย

            กล่าวกันว่า ผู้หญิงเป็นประหนึ่ง “เหรียญที่มีสองด้าน” ที่ไม่เพียง “การสร้างสรรค์” โลกด้วยความรัก แต่ยังมีพลังแห่ง “การทำลายล้าง” ให้ทุกสิ่งอย่างราพณาสูรได้         ตามตำนานความเชื่อของฮินดูนั้น พระอุมาเทวีชายาแห่งพระศิวะคือตัวแทนของเทพสตรีผู้ปกปักรักษา เป็นมหาเทวีแห่งความรักและคุณธรรมความดีงาม แต่ในอีกปางหนึ่งของพระอุมาเทวีก็คือ พระแม่กาลี ผู้มีพลังทำลายล้างความชั่วร้ายทั้งมวล ดังภาพเคารพที่เรามักเห็นพระแม่กาลีมีร่างอันดูดุดันน่าเกลียดน่ากลัว ถืออาวุธตัดศีรษะประหัตประหารอสูรร้าย เพื่อปกป้องทวยเทพและสามโลกให้รอดพ้นพิบัติภัย         เพื่อขานรับกับวิธีคิดว่าด้วย “เหรียญสองด้าน” ของอิสตรีดังกล่าว ละครโทรทัศน์แนวดรามาที่ผูกปมฆาตกรรมความตายอย่าง “สาปซ่อนรัก” ก็ดูจะเป็นตัวอย่างของการฉายภาพพลังสองด้านของผู้หญิง ภายใต้สายสัมพันธ์ของความเป็นแม่         ละครจำลองภาพของตระกูล “ยินดีพงษ์ปรีชา” กลุ่มนายทุนไทยเชื้อสายจีน เจ้าของธุรกิจ “ตลาดยินดี” ที่มั่งคั่งร่ำรวย และแม้จะเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ แต่คำสาปซึ่งสลักฝังเอาไว้ตั้งแต่ต้นตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาที่เล่าขานต่อกันมาแบบไม่รู้ที่มาที่ไปก็คือ คำสาปแช่งให้ตระกูลใหญ่นี้จะเหลือไว้เพียงผู้หญิงและแม่ม่าย ซึ่งจะขึ้นครองอำนาจและขัดแย้งช่วงชิงผลประโยชน์ที่สั่งสมสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น        ด้วยเหตุนี้ ฉากเปิดเรื่องของละครจึงสำทับคำสาปแช่งดังกล่าว เมื่อ “เจ้าสัวพธู” บุตรชายคนสุดท้ายของตระกูลได้ตกตึกลงมาเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาเหลือเพียงลูกสะใภ้และบรรดาลูกสาว อันนำไปสู่ศึกสงครามของเหล่าสตรีผู้ห้ำหั่นแย่งชิงสมบัติอันมหาศาลกันชนิดไม่มีใครยอมใคร         ในสมรภูมิดังกล่าว ตัวละครหญิงที่เป็นคู่ชกแบบซูเปอร์เฮฟวีเวทสองฝั่งก็คือ “หงษ์” สะใภ้ผู้เป็นภรรยาของเจ้าสัวพธูที่ปรารถนาจะอยู่ “เหนือมังกร” และหวังรวบอำนาจของตระกูลมาอยู่ใต้อุ้งหัตถ์ของเธอ กับ “ภัทรา” บุตรีคนโตที่ไม่เพียงจะลงเล่นสนามการเมืองใหญ่ระดับประเทศ แต่ยังเข้ามาช่วงชิงอำนาจในระบบกงสีของตลาดยินดีที่ตระกูลของเธอบุกเบิกมาตั้งแต่แรกเริ่ม         ในฝั่งของหงษ์นั้น ไม่เพียงแต่เธอจะอ้างสิทธิ์ที่สถาปนาตนขึ้นเป็นประมุขของบ้าน ในฐานะสะใภ้ผู้ก่อร่างสร้างอาณาจักรตลาดยินดีมาจนเติบใหญ่รุ่งเรืองเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง แรงผลักที่ทำให้หงษ์ต้องลงมาเล่นเกมช่วงชิงอำนาจก็คือ “หนูหนิง” ลูกสาวบุญธรรมของเจ้าสัวพธูกับหงษ์ซึ่งเธอรักเยี่ยงลูก ที่ภายหลังละครเองก็เฉลยว่าหนูหนิงเป็นหลานแท้ๆ ที่หงษ์วางแผน “ย้อมแมว” มาเป็นหมากตัวหนึ่งในเกมนี้         ส่วนในฟากของภัทรา ผู้ที่สร้างบารมีจากการเล่นการเมืองท้องถิ่น นอกจากจะถือคติว่าสมบัติของตระกูลต้องเป็นของคนในสายเลือดเดียวกันเท่านั้น ภัทรายังมีดีลสำคัญก็คือ บุตรชายเพลย์บอยเซียนพนันอย่าง “เทียน” ที่เธอคาดหวังจะผลักดันให้เข้ามาท้าประลองช่วงชิงมรดกตระกูลจากหงษ์กับหนูหนิง        นอกจากคู่ชกหลักอย่างหงษ์กับภัทราแล้ว สมรภูมิของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาก็ยังมีแนวรบย่อยๆ ของเหล่าตัวละครหญิงอีกหลายนาง ตั้งแต่ “เจิน” ซ้อใหญ่ที่เอาแต่สปอยล์ตามใจ “พริ้ง” บุตรสาวหนึ่งเดียวของเธอ ตามด้วย “พิศ” บุตรีคนรองจากภัทราที่แก้เคล็ดคำสาปตระกูลด้วยการเปลี่ยนเพศสภาพของบุตรชาย “แคท” ให้มีจิตใจเป็นหญิง ไล่เรียงไปจนถึง “ภา” กับ “เพลิน” บุตรสาวสุดท้องสองนางที่วันๆ ไม่ทำอะไรเป็นโล้เป็นพาย แต่ก็ขันอาสามาช่วงชิงความเป็นใหญ่ในตระกูล         และแล้วจุดปะทุแห่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ก็เริ่มต้นขึ้นในวันเปิดพินัยกรรม เพราะเจ้าสัวพธูได้เขียนพินัยกรรมไว้สองฉบับ โดยฉบับใหม่ได้เผยความจริงว่า “ซัน” นักกฎหมายพระเอกหนุ่มที่ทุกคนต่างคิดว่าเป็นเพียงเด็กในบ้านลูกชายของ “ศักดิ์” คนขับรถ แต่แท้จริงกลับเป็นบุตรชายที่เกิดกับภรรยาอีกคนของเจ้าสัวพธู และมีสิทธิ์ในกองมรดกของตระกูลด้วยเช่นกัน         เมื่อตัวหารเพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งในกองมรดกก็ลดน้อยลง แต่เพราะอำนาจไม่เคยเข้าใครออกใคร และสิงสู่ให้ทุกคนเขาไปในวังวนของผลประโยชน์ดังกล่าว ดังนั้น ฆาตกรรมและความตายของตัวละครคนแล้วคนเล่าที่โรยร่วงเป็นใบไม้ปลิดปลิว ก็คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นตลอดเวลาว่า “ใครกันจะเป็นรายต่อไป”         ตามเส้นเรื่องหลักของละครเหมือนจะชวนตั้งคำถามว่า ระหว่าง “คำสาป” กับ “กิเลสแห่งรักโลภโกรธหลง” อันใดกันแน่ที่ทำให้สมาชิกของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาเข่นฆ่ากันตายเป็นใบไม้ร่วงเช่นนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชนชั้นนำของตระกูล เราก็ยังได้เห็นตัวละครเล็กๆ อย่างบรรดาพ่อค้าแม่ขายในตลาดยินดี ที่เลือกสมาทานเป็นลิ่วล้อลูกไล่รับใช้กลุ่มก๊วนย่อยๆ ของชนชั้นนำกันอย่างออกหน้าออกตา         ภาพของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องมีสังกัดไม่ต่างจาก “กบเลือกนาย” เหมือนจะสะท้อนข้อเท็จจริงว่า เพราะสงครามของชนชั้นนำมีผลกระทบต่อชนชั้นที่อยู่ฐานรากเสมอ ดังนั้น การเข้าสวามิภักดิ์ต่ออำนาจของใครสักคนในระดับบน ก็น่าจะเป็นหลักประกันความอยู่รอดให้กับคนกลุ่มนี้         ไขว้ขนานไปกับสงครามห้ำหั่นที่มีมรดกมหาศาลเป็นหมุดหมายนั้น ละครได้ย้อนกลับไปสาธิตให้เห็น “เหรียญสองด้าน” ของอิสตรี ทั้งนี้ เหตุผลของหงษ์ที่แม้จะเป็นสะใภ้แต่งเข้าบ้าน แต่ก็พร้อมจะ “ระเบิดพลีชีพ” สู้ตายในศึกครั้งนี้ ก็เพราะเธอผูกใจเจ็บด้วยคิดว่าภัทราคือคนที่ฆ่าลูกชายเธอให้จมน้ำตาย เธอจึงมอบความรักและสร้างหนูหนิงขึ้นมาเป็น “สงครามตัวแทน” ให้กับบุตรชายที่เสียชีวิตไป         และเพราะความเป็นแม่มีทั้งด้าน “สร้างสรรค์” และ “ทำลายล้าง” นี่เอง ฉากที่หงษ์ดูแลห่วงใยหนูหนิงก็สะท้อนพลังความรักของแม่ที่จะมอบให้ลูกจนหมดหัวใจ และในทางกลับกัน ก็พร้อมจะล้างบางทุกคนที่ขัดขวางความสุขและการขึ้นเป็นประมุขของบ้านที่หนูหนิงพึงได้รับ แม้ว่าจะต้องสูญเสียกี่ชีวิตต่อชีวิตก็ตาม         ไม่ต่างจากภัทราเองที่เมื่อต้องสูญเสียเทียนผู้เป็นบุตรชาย เพราะเล่ห์ลวงของหงษ์ที่ตอกย้ำคำสาปดั้งเดิมของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชา ภัทราจึงเปิดศึก “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” กับหงษ์และหนูหนิง โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดีแต่อย่างใด ก่อนที่ฉากจบจะมีสมาชิกตระกูลเหลือรอดจากสงครามผลประโยชน์เพียงไม่กี่คน         ใน “เหรียญสองด้าน” ของความเป็นสตรีเพศนั้น ถ้าเราจะย้อนมองกลับไปสู่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องพระอุมาเทวีที่มีสองด้านของการสร้างสรรค์และทำลายล้างแล้ว เหตุปัจจัยที่พระนางเป็นเยี่ยงนั้นก็เพื่อปกป้องทวยเทพและสรรพชีวิตให้พ้นพิบัติภัย แต่มาในโลกของศึกสายเลือดที่มีเดิมพันเป็นมรดกอันมหาศาลของตลาดยินดีด้วยแล้ว ความรักความแค้นและการเข่นฆ่าตามคำสาปของตระกูลดูจะสืบเนื่องมาแต่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มก้อนมากกว่ากระมัง         ตราบใดที่ผลประโยชน์ยังบดบังตาอยู่เช่นนี้ ทั้งหงษ์ ภัทรา และตัวละครหญิงในอาณาจักรยินดีพงษ์ปรีชา ก็คงต้องครวญเพลงกันต่อไปว่า “คงจะเป็นเหมือนโดนคำสาปที่สั่งให้ยังรักโลภโกรธหลง…จนตาย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ภูตแม่น้ำโขง : สิ่งที่มองไม่เห็น ใช่ว่าจะไม่มี

        เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสลงสนามเก็บข้อมูลพื้นที่วิจัยแถบภาคอีสาน และได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์บรรยากาศการประกอบพิธีกรรมเข้าทรงหมอผีพื้นบ้าน ในฐานะภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน แม้วิถีชุมชนจะดูแปลกตาสำหรับนักวิจัยที่มาจากสังคมเมืองหลวง แต่หลายๆ ภาพที่เห็นตรงหน้าก็ชวนให้รู้สึกได้ว่า “ไม่เชื่อแต่ก็ไม่กล้าจะลบหลู่”         ในครั้งนั้น ชุมชนหมู่บ้านที่เป็นสนามวิจัยก็ไม่ได้ปฏิเสธองค์ความรู้แพทย์แผนใหม่ เพราะชาวบ้านก็ยังคงไปรักษาหาหมอที่โรงพยาบาลกันเป็นเรื่องปกติ แต่คู่ขนานกันไป ชาวบ้านเองก็สำเหนียกว่า ความเชื่อผีดั้งเดิมเป็นอีกหนึ่งวิถีทางที่ผู้คนท้องถิ่นศรัทธา ในฐานะกลไกจัดการโรคภัยและสุขภาวะชุมชนด้วยเช่นกัน         จนกระทั่งได้มาเปิดดูละครโทรทัศน์เรื่อง “ภูตแม่น้ำโขง” ความทรงจำของการทำงาน ณ สนามวิจัยในท้องถิ่นอีสานเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ก็หวนกลับมาชวนให้ตั้งคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติดั้งเดิมกับชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กันอีกครั้ง         ละครได้ย้อนยุคไปเมื่อปีพุทธศักราช 2514 “อัคนี” แพทย์หนุ่มพระเอกของเรื่อง ได้เดินทางจากเมืองหลวงมาที่หมู่บ้านนางคอย ริมแม่น้ำโขง เพื่อมาสานต่องานวิจัยของ “หมอประเวศ” ผู้เป็นบิดา ที่ศึกษาค้นคว้าด้าน “จิตเวชศาสตร์วัฒนธรรม” หรือโรคทางจิตที่เกิดจากความเชื่อและสิ่งลี้ลับในท้องถิ่นชนบท และมาเป็นหมอคนใหม่ประจำสุขศาลาของหมู่บ้าน        การมาถึงหมู่บ้านอัน “ไกลปืนเที่ยง” ของหมออัคนี ทำให้เขาได้พบกับ “บัวผัน” สาวชาวบ้านซื่อใสจิตใจดี แต่มีหนี้กรรมที่พันผูกกันมาตั้งแต่ชาติภพก่อน โดยที่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีวิญญาณของ “เจ้าแม่ทอหูก” จุดเริ่มต้นของตำนานความเชื่อเรื่อง “ภูตแม่น้ำโขง” เป็นสตรีอีกหนึ่งนางที่ผูกตรึงตัวเองไว้ในสามเส้าแห่งบ่วงรักบ่วงกรรมดังกล่าวด้วย         ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องละคร บัวผันได้ถูกมนต์สะกดของเจ้าแม่ทอหูกล่อลวงให้ไปลิ้มรสไข่พญานาค เธอจึงตกอยู่ใต้อาณัติบัญชาของภูตแม่น้ำโขงมานับจากนั้น ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายของเจ้าแม่ทอหูกเอง เพื่อธำรงอำนาจและความเป็นอมตะ นางจึงต้องดื่มโลหิตของมนุษย์ จนทำให้มีหลากหลายชีวิตที่ถูกพรากมาเซ่นสังเวยยังใต้วังบาดาล         จะว่าไปแล้ว โดยแก่นของละครคือการให้คำอธิบายว่า กรรมมิใช่เพียงการกระทำที่เกิดขึ้นในชาตินี้เท่านั้น หากแต่เป็นผลของการกระทำตั้งแต่อดีตชาติ และวนเวียนเป็นวัฏฏะมาจนถึงปัจจุบันกาลด้วยเช่นกัน         การที่หมออัคนีได้มาพานพบกับทั้งบัวผันและวิญญาณเจ้าแม่ทอหูก ก็เป็นเพราะทั้งสามคนยังเวียนว่ายในสังสารวัฏของรักสามเส้าที่ผูกพันกันมาแต่ครั้งปางบรรพ์ หรือการที่ทั้งบัวผันและ “บุญเรือน” ผู้เป็นมารดาต้องมาเผชิญทุกข์กรรมมากมาย ก็มาจากกรรมเก่าที่สร้างไว้ในชาติอดีตนับเป็นพันปี รวมไปถึงการที่ชาวบ้านหลายชีวิตในหมู่บ้านนางคอยต้องประสบพบเจอกับเรื่องลึกลับมากมาย บ้างถูกผีสิง บ้างต้องตายลง ก็ล้วนมาแต่วิบากกรรมที่พวกเขาก่อและตกทอดมาจากชาติปางก่อน         แต่ทว่า ภายใต้แก่นเรื่องละครที่อธิบายถึงวัฏจักรแห่งกรรมเช่นนี้ ผู้ชมเองก็ได้เห็นการปะทะประสานกันระหว่างโลกทัศน์สองชุด ที่วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นคุณค่าวิทยาการแห่งสังคมโลกสมัยใหม่ มาต่อสู้ต่อกรกับความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติเร้นลับอันเป็นองค์ความรู้ตามวิถีชาวบ้านในสังคมดั้งเดิม         ด้วยเหตุนี้ นับแต่ก้าวแรกที่หมออัคนีได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านนางคอย หมอผู้ยึดมั่นในชุดความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์แผนใหม่จึงได้สัมผัสเหตุการณ์อันแปลกประหลาด ซึ่งผิดแผกไปจากที่เขาคุ้นชินเมื่อครั้งอยู่ในเมืองกรุง แม้ชาวบ้านต่างก็คอยเตือนสติเขาอยู่เนืองๆ ว่า “ถ้าหมอมาอยู่ที่นี่ ในที่สุดหมอจะได้เห็นในสิ่งที่หมอไม่คิดว่าจะได้เห็น”         ดังนั้น ควบคู่ไปกับเรื่องราวความรักความแค้นที่วิญญาณอสูรใต้ลำน้ำโขงรอคอยที่จะได้ครองคู่กับชายคนรักมายาวนานนับพันปี เราจึงเห็นภาพของการแบทเทิลช่วงชิงชัยระหว่างความเชื่อท้องถิ่นตามวิถีชาวบ้านกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งซัดสาดเข้ามาจากโลกภายนอก         ฉากที่ชาวบ้านเกิดอาการผีเข้าจนสติไม่สมประดี ก็ถูกพระเอกหนุ่มตีความว่าเป็นอาการของโรคลมชักและการเกิดอุปาทานหมู่ หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าอาการของโรคฮีสเตอเรีย หรือฉากที่ “ญาแม่คำแพง” หญิงสูงวัยผู้เป็นร่างทรงของ “เจ้านางแก้วพิมพา” ทำพิธีเสี่ยงทายรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน ด้วยการตั้งไข่ไก่บนดาบ หมออัคนีก็รำพึงแกมปรามาสว่าเป็นเพียง “มายากล” ที่เชื่อถือไม่ได้เลย         หรือกับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่บัวผันและแม่เผชิญอยู่ทั้งเรื่อง ถึงขนาดที่นางบุญเรือนผู้มีอาการป่วยเรื้อรังมานานก็ยืนยันว่า เป็น “โรคเวรโรคกรรม” ที่เจ้ากรรมนายเวรจากชาติที่แล้วกลับมาทวงคืนหนี้กรรมเก่า แต่หมอหนุ่มอัคนีก็ตัดสินไปแล้วว่า นั่นเป็นความงมงาย เพราะเขาไม่เชื่อว่าผีมีอยู่จริง         สำหรับสังคมไทย วิทยาศาสตร์เป็นชุดความรู้ใหม่ที่ชนชั้นนำสยามรับเข้ามาเมื่อราวร้อยกว่าปีนี่เอง แต่ก่อนหน้านั้น ระบบความรู้ของไทยหยั่งรากมาจากไสยศาสตร์กับพุทธศาสนากันเป็นเวลาช้านาน หรืออีกนัยหนึ่ง ก่อนที่หมอวิทยาศาสตร์จะสถาปนาอำนาจขึ้นมาแบบที่เราเห็นๆ กันในปัจจุบัน ชาวบ้านในยุคดั้งเดิมต่างก็เคย “ฝากผีฝากไข้” ไว้กับองค์ความรู้สุขภาพพื้นบ้านและการทรงเจ้าเข้าผีกันจนเป็นวิถีปกติ         ดังนั้นแล้ว แม้จะมี “เหตุผลของวิทยาศาสตร์” แบบที่หมออัคนีใช้หักล้างผลักไสให้เรื่องวิญญาณภูตแม่น้ำโขงกลายเป็นเรื่องงมงายไร้สาระเพราะพิสูจน์จับต้องไม่ได้ แต่ทว่า “เหตุผลของชาวบ้าน” ก็ได้เข้ามาปะทะคัดง้างกับอหังการความรู้ที่พระเอกหนุ่มยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา         แบบเดียวกับที่ “พ่อเฒ่าเชียงหล้า” แห่งหมู่บ้านนางคอย ก็เคยตั้งคำถามกับหมออัคนีว่า “ตั้งแต่หมอมาอยู่ที่นี่ มีอะไรที่วิทยาศาสตร์ให้คำตอบกับหมอได้บ้าง” และ “ในโลกนี้มีเรื่องราวหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์หาคำตอบไม่ได้ บางเรื่องก็ละเอียดเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ”         จนท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อเจ้าแม่ทอหูกพยายามใช้มนต์สะกดพาหมออัคนีมาทำพิธีมฤตสัญชีวนี เพื่อให้เขากลายเป็นภูตผีครองคู่กับนางตลอดกาล หมอหนุ่มจึงเกิดตระหนักรู้ว่า แม้ความจริงทางวิทยาศาสตร์อาจรับรู้ผ่านอายตนะทางรูปรสกลิ่นเสียงและกายสัมผัสได้ก็ตาม แต่สิ่งเหนือธรรมชาติที่ชาวบ้านยึดถืออยู่ในสัมผัสที่หก ก็เป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่ดำรงคุณค่าเกินกว่าที่วิทยาศาสตร์จะหยั่งถึงได้จริงๆ         จากฉากเนื้อเรื่องละครที่ย้อนยุคไปเมื่อราวห้าสิบปีก่อน กับการนั่งดูละคร “ภูตแม่น้ำโขง” ในห้วงเวลาห้าทศวรรษให้หลัง แม้สังคมทุกวันนี้จะเจริญก้าวหน้าทันสมัยไปมากเพียงไร ละครก็ยังกระตุกต่อมความคิดให้เราระลึกได้ว่า ในขณะที่เรายอมรับวิทยาศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต แต่ตำนานความเชื่อเจ้าแม่ทอหูกที่ทอผ้าบรรเลงเพลงอยู่ใต้ลำน้ำโขง ก็มิอาจเจือจางลางเลือนไปเสียจากวิถีแห่งโลกสมัยใหม่ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 คือเธอ : เพราะผู้ชายดีๆ นั้นมีแค่ในนิยาย

            คุณผู้อ่านหลายคนน่าจะเคยได้ยินบทเพลงฮิตติดปากผลงานของศิลปิน โจอี้บอย ที่เนื้อเพลงขึ้นต้นด้วยประโยคเชิงตัดพ้อว่า “ทุกๆ ครั้งที่เปิดดูละคร มีบางตอนที่ฉันเองไม่อาจมี ในละครมีผู้ชายดี๊ดี คงเป็นใครคนที่เธอนั้นใฝ่ฝัน…เพราะผู้ชายดีๆ นั้นมีแค่ในนิยาย…”         และยิ่งหากเป็นละครโทรทัศน์แนวรักโรแมนติกด้วยแล้ว “ผู้ชายดี๊ดี” ที่เป็นภาพแบบ “ผู้ชายในฝัน” หรือ “ผู้ชายในอุดมคติ” ก็มักจะถูกผูกสร้างเอาไว้ในสถานะเป็น “พระเอก” ตามขนบแห่งจินตนิยายหน้าจอโทรทัศน์กันเลยทีเดียว         แต่จะเป็นอย่างไรถ้า “ผู้ชายดี๊ดี” เกิดกลายสภาพเป็น “ผู้ชายร้ายกาจ” ที่ไม่ใช่พ่อโรมิโอผู้อบอุ่นแสนดีของแม่นางจูเลียตในจินตคดีแนวโรมานซ์ และที่สำคัญ การทลายขนบของ “พระเอกในฝัน” แบบนี้ จะเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยเหตุปัจจัยอันใด เพื่อให้ได้คำตอบต่อความข้อนี้ เราคงต้องมาเพ่งพินิจค้นหากันจากละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกดรามาเรื่อง “คือเธอ”         ละครเล่าเรื่องราวชีวิตของ “สายขิม” ลูกสาวคนเดียวของ “ทรงศีล” มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการโรงแรมใหญ่ และยังรั้งตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะมีบิดาเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจการเมืองเช่นนี้ ทำให้สายขิมถูกเลี้ยงดูมาไม่ต่างไปจาก “นกน้อยในกรงทอง” และแบกความรักความคาดหวังจากทรงศีลเอาไว้หนักอึ้งเต็มสองบ่าของผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอ         เปิดเรื่องขึ้นมาด้วยเสียงห้วงคำนึงของตัวละครเอกในเรื่องที่พูดบรรยายว่า “มีคนบอกว่า สักวันหนึ่งเราจะเจอคนที่ใช่ในวันที่ใช่…ที่สำคัญ เราไม่รู้หรอกว่า เขาจะคือคนที่ใช่ตลอดไปหรือไม่” เสียงก้องในห้วงความคิดเยี่ยงนี้ก็เหมือนกับประโยคที่ฝรั่งตั้งคำถามอยู่เสมอๆ ว่า “Do you believe in destiny?” หรือ “คุณเชื่อในชะตาฟ้ากำหนดหรือไม่” และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำพาผู้ชมเดินเข้าสู่บรรยากาศรักโรมานซ์ของตัวละครในตอนถัดมา        จากนั้น ปมของเรื่องละครก็เปิดฉากขึ้นด้วยภาพของสายขิมที่แอบบินกลับจากอังกฤษโดยไม่บอกทรงศีลผู้เป็นบิดา เพราะเธออยากลองแลกเปลี่ยนการใช้ชีวิตกับ “ลิตา” เพื่อนสาวคนสนิทที่บินไปใช้ชีวิตที่คอนโดสุดหรูกลางมหานครลอนดอน แทนที่นางเอกคุณหนูไฮโซที่จะสลับมาใช้ช่วงเวลาสั้นๆ พำนักอาศัยในห้องพักเล็กๆ แบบที่เธอไม่เคยอยู่มาก่อน         เมื่อได้สลับมาใช้ชีวิตที่สถานะทางเศรษฐกิจสังคมต่างไปจากเดิม เส้นขอบฟ้าในชีวิตของสายขิมได้ขยายกว้างไปกว่าคฤหาสน์หลังใหญ่ และที่สำคัญ การมีโอกาสไปสัมผัสโลกกว้างครั้งนี้ทำให้เธอได้รู้จักกับ “ก้าวกล้า” เจ้าของอู่รถฐานะยากจน จนทั้งคู่เมาสุราและพลั้งเผลอมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง อันเป็นจุดเริ่มต้นให้ชีวิตของนางเอกสาวเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง         และเมื่อความทราบถึงทรงศีลผู้เป็นบิดา เขาก็เป็นเดือดเป็นแค้นก้าวกล้าที่ “จนแล้วไม่เจียม” จึงออกอุบายให้ “สรรเสริญ” ที่ปรึกษาคนสนิทไปแจ้งความตำรวจจับก้าวกล้าในข้อหาเรียกค่าไถ่ พร้อมๆ กับจัดการให้สายขิมแยกห่างจากก้าวกล้าไปอยู่บ้านพักที่ภูเก็ต โดยมี “แทนไท” ชายหนุ่มคู่หมั้นหมายตามไปดูแลเธอ         เพราะบิดาเข้ามาขัดขวางความสัมพันธ์ที่กำลังก่อตัวกับสายขิมเช่นนี้ การเผชิญหน้าระหว่างก้าวกล้ากับทรงศีลก็ทวีความเข้มข้นขึ้น คำถามที่พระเอกหนุ่มกล่าวต่อมหาเศรษฐีผู้เป็นพ่อของหญิงคนรักว่า “ระหว่างกรงทองกับขอบฟ้า คิดว่าลูกสาวของท่านจะเลือกอะไร” จึงไม่ต่างจากการประกาศสงครามกันระหว่างผู้ชายสองคน โดยมี “นกน้อย” อย่างสายขิมต้องมายืนอยู่ตรงกลางสมรภูมิดังกล่าว         แต่เพราะ “นกน้อย” เองได้เคยลิ้มรสอิสรภาพ “ติดปีก” โบยบินไปยัง “ขอบฟ้า” มาแล้วหนึ่งครา จึงไม่น่าแปลกที่ชีวิตผู้หญิงในวังวนแห่งอำนาจซึ่งมีเสียงเพลงก้องในใจว่า “คนอย่างฉันถูกโยนทิ้งขว้าง…” เลือกตัดสินใจหนีตามก้าวกล้าไปใช้ชีวิตใหม่อยู่ในบ้านไร่ เพราะพบว่า “…กลับมีเธอรับเข้ามาใส่ใจดูแล”         และการมาใช้ชีวิตอยู่นอกอาณัติแห่งอำนาจของบิดาครั้งนี้ ไม่เพียงจะทำให้ความสัมพันธ์ของสายขิมกับก้าวกล้าพัฒนาขึ้นเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมา ทั้งคู่ก็ตัดสินใจผูกข้อมือแต่งงาน โดยที่ก้าวกล้าได้สัญญากับเธอว่า จะเป็นทั้งสามีและพ่อที่ดีของลูกที่กำลังจะเกิดมา และต่างวาดฝันที่จะสร้างครอบครัวร่วมกัน ดังภาพสะท้อนของฉากที่ทั้งสองคนได้ช่วยกันย่ำดินอย่างยิ้มแย้มมีความสุข เพื่อก่อรูปก่อร่างปั้นดินเหนียวขึ้นมาเป็นบ้านหลังเล็กๆ        แต่เพราะอำนาจเป็นระบอบซึ่งกระจายตัวถ้วนทั่วทุกหัวระแหง ยิ่งเราพยายามสลัดตัวเองให้หลุดพ้นจากวงจรแห่งอำนาจมากเท่าไร อำนาจก็จะยิ่งหน่วงรั้งปัจเจกบุคคลให้กลับคืนสู่วังวนดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา เฉกเช่นที่ทรงศีลยังคงใช้อำนาจพรากความรักของบุตรสาว โดยวางแผนใส่ความก้าวกล้าจนติดคุก สร้างเรื่องราวโกหกจนเขาตรอมใจหวังฆ่าตัวตาย และทำให้เขาเข้าใจผิดว่าสายขิมสะบั้นรักทิ้งอย่างไม่เหลือเยื่อใย         เจ็ดปีผ่านไปก้าวกล้าได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในชื่อของ “คาร์ล รามาน” ทายาทผู้สืบทอดธุรกิจของเศรษฐีนีใหญ่อย่าง “เอเชีย รามาน” ผู้ที่ช่วยให้เขาเป็นอิสระจากคุก แลกกับการที่เขาต้องสูญเสียไตข้างหนึ่งให้กับลูกชายของเอเชียที่กำลังนอนป่วยหนักอยู่บนเตียงเพราะการกลับมาครั้งนี้เกิดจากความเข้าใจผิดต่อตัวสายขิม ก้าวกล้าผู้ที่เคยอบอุ่นตามแบบฉบับ “เจ้าชายในฝัน” ที่พบในนิยายโรมานซ์ทั่วไป จึงได้กลายร่างเป็น “เจ้าชายอสูร” ที่เจ้าคิดเจ้าแค้น ใช้อำนาจเงินของเขาทำลายธุรกิจโรงแรมของทรงศีลในทุกทาง และทำร้ายสายขิมต่อทั้งกาย วาจา และจิตใจของเธอ         แม้ครั้งหนึ่งชายหนุ่มจะเคยเชื่อมั่นในพลังแห่งปัจเจกที่จะ “โบยบิน” ไปสู่เสรีภาพ แต่เมื่อเขาต้องมาอยู่ใน “ร่างทรง” ของอำนาจเองแล้ว ถึงจะเคยเกลียดปีศาจมาก่อน แต่ก้าวกล้าคนเดิมก็พร้อมจะสมาทานตนต่อความเป็นปีศาจเสียเอง         ภายใต้ระบอบอำนาจแบบพ่อเป็นใหญ่นี่เอง ตัวละครจึงดำรงอยู่บนความเจ็บปวดกันอย่างถ้วนหน้า ไม่เพียงแต่เสรีภาพของสายขิมที่มีอยู่น้อยนิดใน “กรงทอง” หรือก้าวกล้าที่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจจนกลายเป็น “เจ้าชายอสูร” ไปแล้ว แม้แต่ตัวของทรงศีลที่ระบอบอำนาจนิยมก็ได้บังตาจนมองไม่เห็นว่า เขาเองก็ถูกน้องสะใภ้หลอกล่อปั่นหัวให้เกลียดอดีตภรรยา และลามมาถึงกักขังบุตรสาวที่รักเอาไว้ใน “กรงทอง”        แม้มาถึงฉากจบตามขนบของละครโรมานซ์ ผู้ชมเองก็อาจจะเดาได้ไม่ยากว่า การปลดปล่อยตัวละครจากอำนาจจะช่วยสลายความขัดแย้งทั้งหลายไปได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือ คำถามที่เคยมีต่อตัว “นกน้อย” ในขอบขัณฑ์ของอำนาจว่า “ระหว่างกรงทองกับขอบฟ้า เราจะเลือกอะไร” เผลอๆ ก็อาจจะเป็นคำถามเดียวกันกับที่ “เจ้าชายอสูร” ตัวแทนร่างทรงใหม่ของอำนาจ ต้องไขข้อข้องใจนี้ให้กับตนเองด้วยว่าเขาจะเลือกคำตอบข้อใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ใต้หล้า : กว่าฝนจะตกทั่วฟ้า

        สังคมไทยมีรากเหง้าที่ผูกพันกับธรรมชาติและวิถีเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน โดยริ้วรอยที่เห็นในความเปรียบสำนวนและพังเพยต่างๆ บ่งบอกความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน         และในขณะที่ผู้เขียนยกร่างต้นฉบับบทวิจารณ์ละครอยู่ ณ ขณะนี้ ก็เป็นช่วงจังหวะที่ฟ้ากำลังฉ่ำฝน เพราะเมืองไทยก้าวย่างเข้าสู่วสันตฤดูกันอีกคราหนึ่ง เลยทำให้ขบคิดตระหนักได้ว่า คำพังเพยของไทยที่อุปมาอุปไมยด้วยเรื่องราวของฟ้าฝนที่ชุ่มฉ่ำชุ่มชื้นแบบนี้ ก็ดูจะมีอยู่ไม่น้อย         ความเปรียบว่า “ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง” ที่หมายถึงการกระทำอันใดเพื่อฝากฝังไว้ก่อนลาจากไป หรือพังเพยที่ว่า “ฝนตกอย่าเชื่อดาว” อันกล่าวเตือนสติว่าไม่ควรวางใจใครจนมากเกินไป หรือแม้แต่สำนวนเชิงประชดประชันอย่าง “ฝนตกขี้หมูไหล” ซึ่งหมายถึงคนที่พลอยทำตัวเหลวไหลไม่ดีไปด้วยกัน ต่างก็สะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่คนไทยผูกพันวิถีชีวิตในช่วงหน้าฝน จนกลายมาเป็นระบบภาษาสำนวนอยู่ในชีวิตประจำวัน         เมื่อผู้เขียนนั่งดูละครโทรทัศน์แนวดราม่าเข้มข้นเรื่อง “ใต้หล้า” อยู่นั้น สำนวนเปรียบเปรยว่า “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ก็ผุดขึ้นมาอยู่ในห้วงความคิด ความหมายจริงๆ ของสำนวนนี้แสดงนัยถึงการให้หรือจ่ายแจกสิ่งใดๆ โดยไม่ทั่วถึง หรือจะว่าไปแล้ว ก็เป็นการที่คนโบราณตั้งคำถามว่า การกระจายอำนาจ ทรัพยากร และผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่อง “ความยุติธรรม” กันบ้างไหม         หากคำถามเรื่องความยุติธรรมเป็นประหนึ่งการตั้งโจทย์ว่า ตกลงแล้วฝนตกลงมาถ้วนทั่วท้องฟ้าจริงๆ หรือ ชีวิตของตัวละครที่พื้นเพเป็นคนชั้นกลางทั่วไปแต่ฐานะขัดสนอย่าง “ใต้หล้า” ผู้ต้องเผชิญมรสุมแห่งความอยุติธรรมมากมาย ก็คือการพิสูจน์คำตอบว่า ถึงที่สุดแล้ว สองมือแห่งปัจเจกบุคคลจะสามารถทำให้ฝนจากฟ้าหล่นลงมาทั่วถ้วนผืนแผ่นหล้าได้หรือไม่         ชีวิตที่ดำเนินไปของตัวละครใต้หล้าดูจะไม่มีปัญหาใดๆ จนกระทั่งเขาได้โคจรมาเจอกับ “หิรัญ” ลูกชายของ “เปี่ยมยศ” นักธุรกิจรายใหญ่แห่งตระกูล “เถากุหลาบ” และอาจจะด้วยเป็นลูกมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ แต่ขาดความรักจากบิดา และถูกเลี้ยงตามใจให้เสียคนจาก “อุษา” ผู้เป็นมารดา หิรัญผู้เกิดมาบนกองเงินกองทองจึงเชื่อว่า “เงินเนรมิตความสุขทุกอย่างในชีวิตได้”         จนกระทั่งวันหนึ่ง หิรัญเมาสุราและได้ขับรถสปอร์ตคันงามซิ่งออกไปชนกับรถยนต์ที่พ่อแม่ของใต้หล้าขับมา ทำให้ทั้งคู่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และเพราะ “คนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด” แม้จะ “เมาแล้วขับ” จนมีคนตาย และใต้หล้าเองก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อทวงความถูกต้องยุติธรรมให้กับบุพการี แต่กระนั้น กฎหมายก็ไม่อาจทำอะไรกับทายาทมหาเศรษฐ๊ ผู้ที่ประกาศเสียงก้องอยู่ในสองโสตสัมผัสของพระเอกหนุ่มว่า “มึงทำอะไรกูไม่ได้ เพราะอะไร…เพราะกูคือเถากุหลาบ”         เมื่อสายธารชีวิตของชายหนุ่มสองคนได้ไหลมาบรรจบพบกัน โดยมีความยุติธรรมเป็นแกนกลางของเส้นเรื่อง สงครามความขัดแย้งระหว่างชนชั้นจึงระเบิดขึ้นอย่างมิอาจเลี่ยงได้ ทั้งนี้ สำหรับชนชั้นรากหญ้าที่สังคมมักรับรู้กันว่า “คนจนแค่หายใจก็ผิดแล้ว” นั้น ในสงครามยกแรก ฐานานุภาพทางการเงินของเถากุหลาบก็ทำให้เปี่ยมยศมั่นใจที่จะพูดกับหิรัญว่า “ไอ้เด็กนั่นมันไม่มีอะไรเลย เราไม่ได้เกิดมาเพื่อแพ้”         ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ละครได้ฉายภาพจำลองวิถีปฏิบัติของคนรวยที่ใช้เงินซื้อตัว “สันติ” ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ “ไม่มีอะไรเลยนอกจากหนี้ติดตัว” ให้มาสมอ้างเป็น “แพะรับบาป” ติดคุกแทนหิรัญ ตามด้วยการป้องปรามและเอาคืนใต้หล้าโดยตัดอนาคตของ “ฟ้ารุ่ง” พี่สาวของเขา ทั้งล่อลวงทางเพศและกระทำกับเธอประหนึ่งวัตถุสิ่งของด้วยการติดป้ายประจานกลางหลังว่า “ขายถูก” โพสต์เป็นคลิปลงในสื่อโซเชียล         ฉากจบในสงครามยกแรกจึงลงเอยที่ใต้หล้าได้ลุแก่โทสะท้าดวลและพลั้งไปตัดนิ้วมือข้างขวาของหิรัญขาด จนทำให้พระเอกหนุ่มติดคุกเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” เซ่นสังเวยให้กับความยุติธรรมที่เขาต้องการทวงถาม         เพราะ “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” สองปีผ่านไป ผู้ต้องขังชั้นดีอย่างใต้หล้าก็พ้นโทษ และพร้อมจะกลับมาทวงคืนความยุติธรรมกันอีกคำรบหนึ่ง แม้ใครต่อใครรวมทั้ง “อาม่า” จะพยายามเตือนสติเขาว่า “คิดเสียว่าเป็นเวรเป็นกรรม มันเกิดไปแล้ว ให้เราพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า” แต่นั่นก็มิอาจหน่วงรั้งจิตสำนึกพระเอกหนุ่มผู้ต้องการต่อสู้เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนแปลงระบบอันไร้ซึ่งความยุติธรรมไปได้เลย         เมื่อสงครามยกใหม่ระหว่างตัวละครได้เริ่มขึ้น ใต้หล้าผู้ที่บัดนี้มีอิสรภาพและปรารถนาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้น ด้วยความช่วยเหลือของ “หยาง” นายทุนจีนรายใหญ่ผู้รักในคุณธรรมความดี ไม่นานนักเขาก็ค่อยๆ มีเงินทุนและมีฐานะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พร้อมบ่งชี้ข้อพิสูจน์กับใต้หล้าว่า สำหรับคนที่เคยติดคุก หากมีคุณธรรมและความพากเพียร ก็สามารถลุกขึ้นใหม่ได้ทุกคน         แต่เพราะสมรภูมิความขัดแย้งของชนชั้นเองก็มิเคยเจือจางลางเลือนหายไป เมื่อเถากุหลาบเล็งเห็นว่า ธุรกิจของใต้หล้าที่เติบโตและมีกลุ่มทุนจีนหนุนหลัง เริ่มเขยิบมา “เหยียบปลายจมูก” กันแล้ว ภาพของกลุ่มทุนรายใหญ่ที่จับจ้องเอาเปรียบกลุ่มคนอื่นๆ เฉกเช่นใต้หล้า จึงวนเวียนกลับมาให้เห็นกันอีกครั้งหนึ่ง         ไม่ว่าจะเป็นความพยายามซื้อตัวฟ้ารุ่งมาเป็นพวก การลอบวางเพลิงเผาโกดังสินค้าของพระเอกหนุ่ม การที่หิรัญส่งนิ้วมือที่ถูกตัดของเขาไปข่มขู่คุกคามอาม่าผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ รวมไปถึงการที่เปี่ยมยศใช้เงินเพื่อร้อย “อากาศ” ผู้หญิงคนรักของใต้หล้าเอาไว้หลอกใช้งาน ด้วยเหตุผลที่ลูกสาวนอกสมรสคนนี้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อรักษามารดาที่ลมหายใจรวยรินอยู่ในห้องไอซียูของโรงพยาบาลเถากุหลาบนั่นเอง         จากนั้น สงครามแห่งชนชั้นก็ได้ดำเนินมาใกล้ฉากจบ พร้อมๆ กับใต้หล้าและฟ้ารุ่งที่บอกกันและกันว่า นี่ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่พี่น้องสองคนจะ “set zero” เริ่มต้นใหม่ เพื่อทำให้เถากุหลาบรู้ซึ้งว่า “ความยุติธรรมมีอยู่จริง” ไม่ต่างจากหยาดฝนที่ปัจเจกบุคคลต้องลงมือทำให้ตกมาจากฟากฟ้าด้วยตนเอง         จนในท้ายที่สุดของเรื่อง เราจึงได้เห็นบทสรุปที่เป็นภาพของคนผิดอย่างหิรัญถอดนิ้วปลอมออกจากมือขวา และเดินเข้าคุกเพื่อชดใช้กรรม รวมไปถึงฉากที่ “แพะ” อย่างสันติตัดสินใจขับรถพุ่งชนเปี่ยมยศจนเขาพิการตลอดชีวิต แม้ภาพจะดูรุนแรง แต่ก็บอกเป็นนัยได้ว่า ถ้าความยุติธรรมในระบบกฎหมายใช้การไม่ได้กับคนบางคน หรือถ้าหาก “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนรวย” แต่เตียงโรงพยาบาลก็อาจจะเป็นคุกที่ใช้ขังคนกลุ่มนี้ได้แทน         จากคำถามที่ว่า ฝนจะตกทั่วฟ้า หรือความยุติธรรมมีจริงได้บ้างไหม คำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่การรอคอยให้เม็ดฝนนั้นตกมาเอง แต่อยู่ที่ปัจเจกบุคคลมากกว่าว่า จะลงมือสร้างความยุติธรรมให้ปรากฏเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เฉกเช่นที่ใต้หล้าได้ชี้ไปที่ภูเขาลูกไกลโพ้น และกล่าวกับอากาศผู้เป็นหญิงคนรักว่า “แม้ความยุติธรรมจะใหญ่เหมือนภูเขาลูกโน้น แต่หล้าก็อยากจะลองขยับดู”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 มามี้ที่รัก : หลบหน่อย…แม่(ผู้มีฝัน)จะเดิน

                มนุษย์ทุกคนมี “ความฝัน” เพราะความฝันทำให้ชีวิตของคนเรามีคุณค่าและความหมาย และที่สำคัญ ความฝันถือเป็นเอกสิทธิ์โดยชอบธรรมที่ปัจเจกบุคคลพึงมี พึงเลือก และพึงรักษาไว้ เพื่อให้คุณค่ากับความหมายแห่งชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้นั่นเอง         ถ้าหากความฝันมีความสำคัญเฉกเช่นนี้ สำหรับผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าเป็น “แม่” แล้ว พวกเธอจะวางตำแหน่งแห่งที่ของความฝันในชีวิตกันอย่างไร         “มามี้ที่รัก” ละครโทรทัศน์แนวคอมเมดี้เจือดรามา เป็นเรื่องเล่าที่ไม่เพียงผูกโยงเรื่องราวของบรรดาคุณแม่ๆ ที่มารวมตัวเป็นแก๊งก๊วนดูแลคุณลูกๆ วัยอนุบาลกันเท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาสารที่ตั้งคำถามต่อโลกแห่งความฝันของผู้หญิง พลันเมื่อพวกเธอต้องเข้ามาสวมบทบาทของความเป็นแม่ควบคู่กันไป         เมื่อก้าวลงสู่สนามของความเป็นแม่นั้น บทบาทแรกที่สังคมมอบหมายให้กับผู้หญิงก็คือ ต้องยึดลูกเป็นสรณะ ทั้งนี้ นอกจากให้กำเนิดแล้ว พวกเธอยังต้องรับภาระหน้าที่เลี้ยงดูลูก และพึงต้องเสียสละเพื่อลูกก่อนที่จะนึกถึงความสุขของตนเอง ด้วยเหตุฉะนี้ ภายใต้ข้อกำกับของสังคมดังกล่าว จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของตัวละครผู้หญิงสามคนคือ “พริมา” “สรินตา” และ “กันนรี” ว่า ความฝันที่พวกเธอปรารถนาจะมี จักต้องปะทะต่อรองกับบทบัญญัติที่สังคมกำหนดให้กับแม่ๆ มามี้กันเช่นไร         ฉากเริ่มต้นของละครอาจดูไม่แตกต่างจากภาพที่เราคุ้นๆ กันว่า บรรดาคุณแม่ก็มักแข่งขันกันเพื่อให้ลูกของเธอ “เจ๋งที่สุด” หรือโดดเด่นเหนือลูกของคนอื่น เพราะฉะนั้น เมื่อลูกๆ ของคุณแม่ทั้งสามได้มาเรียนใน “โรงเรียนอนุบาลดีเลิศ” ห้อง 3/1 เหมือนกัน การช่วงชิงให้ลูกของตนได้รับบทเด่นเป็น “หนูน้อยหมวกแดง” ในละครเวทีปิดภาคเรียน จึงเป็นประหนึ่งสมรภูมิย่อยๆ ที่ปะทุขึ้นเป็นปกติในชีวิตของผู้หญิงสามคนนี้         มูลเหตุพลิกผันที่ทำให้คุณสามมามี้ต้องแท็กทีมจับมือกัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อโรงเรียนอนุบาลได้จัดกิจกรรมแรลลี่ “ปลูกรัก” เพื่อ “คืนความสุข” สมัครสมานสามัคคีในหมู่ผู้ปกครอง แต่ให้บังเอิญว่า คุณแม่ทั้งสามกลับต้องไปเป็นพยานในเหตุการณ์ฆาตกรรมหญิงสาวคนหนึ่งโดยไม่รู้ตัว จนถูกฆาตกรลึกลับคุกคามเอาชีวิต         ชะตาชีวิตที่ต้องเผชิญกับฆาตกรที่ตามไล่ล่า ได้นำไปสู่ชะตากรรมร่วมที่ผู้หญิงสามคนได้เรียนรู้เหตุและผลในการละทิ้งความฝันของผู้หญิงที่ต้องมาสวมบทบาทของแม่ผู้ที่ “เปลก็ต้องไกว ดาบก็ต้องแกว่ง”        สำหรับมามี้คนแรกคือพริมา หรือ “พริม” นั้น เธอเป็นเน็ตไอดอลสาวสวยและยูทูเบอร์เจ้าของรายการ “Healthy Kids” หากมองย้อนกลับไปในอดีต พริมเคยเป็นพริตตี้ที่มีชื่อเสียงอยู่บ้าง จนกระทั่งเธอตั้งท้องกับ “ภาณุ” ชายหนุ่มผู้รักการขี่รถบิ๊กไบค์ท่องเที่ยว และยังไม่พร้อมจะสร้างครอบครัวกับใคร เส้นทางชีวิตของพริมก็เลยต้องแปรเปลี่ยนไปจากเดิม         ดังนั้น เพื่อให้แฟนหนุ่มได้ทำตามความฝันเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ยากไร้ทั่วโลก พริมจึงตัดสินใจผันตัวมาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวให้กับ “เอวา” ลูกสาววัยห้าขวบแต่เพียงลำพัง แม้ลึกๆ แล้ว พริมผู้ “ยากไร้ความฝัน” จะบอกกับตัวเองว่า “ฉันต้องการมากกว่านั้น ฉันต้องการให้คุณอยู่ด้วย”         ส่วนมามี้คนถัดมาคือสรินตา หรือ “หลิน” แม่บ้านปากร้ายใจดี ประธานชมรมผู้ปกครองของโรงเรียน ในอดีตหลินมาจากครอบครัวฐานะยากจน และเคยเป็นนักร้องกลางคืนมาก่อน จนเมื่อมี “จีโน่” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน หลินก็ละทิ้งทุกอย่าง รวมทั้งอาชีพนักร้องที่เธอรัก เพียงเพื่อมาเป็น “ช้างเท้าหลัง” สนับสนุนหน้าที่การงานของสามี “ปรเมศวร์” ผู้เป็นนักการเมืองอนาคตไกล         แต่ทว่าสิ่งที่หลินต้องอดทนอดกลั้นมาตลอดนั้น ไม่เพียงเธอต้องอยู่ในโอวาทของสามีเจ้าระเบียบ หรือถูกตั้งแง่รังเกียจกำพืดความจนจาก “คุณหญิงปรางทิพย์” แม่สามีที่เจ้ายศเจ้าอย่างแล้ว ยังรวมถึงการที่ครอบครัวของเขาก็ไม่เคยให้เกียรติ และไม่เคยนับว่าเธอเป็น “คนในครอบครัว” เลย         และสำหรับมามี้คนสุดท้ายก็คือกันนรี หรือ “กัน” คุณแม่สาวใหญ่เวิร์คกิ้งวูแมนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ลึกลงไปในใจแล้ว เธอก็ปรารถนาจะมีครอบครัวที่ “สมบูรณ์” แบบพ่อแม่ลูกตามความคาดหวังของสังคม กันจึงตกลงใจผสมเทียมเด็กหลอดแก้วกับ “ชนะชล” ชายหนุ่มเรือนร่างซิกซ์แพ็ก เจ้าของธุรกิจขนย้ายบ้านและออฟฟิศ “เลิฟลี่โฮม”         แต่หลังจากมีลูกสาวแสนน่ารักอย่าง “ข้าวหอม” ชีวิตครอบครัวของกันที่น่าจะ “สมบูรณ์” ตามแบบอุดมคติทางสังคมกลับถึงคราวล่มสลาย เพราะเธอจับได้ว่า สามีแฟมิลี่แมนเป็นเกย์ และมีชายหนุ่มคนรักอย่าง “วิชญ์” ที่ข้าวหอมเองก็เรียกเขาว่า “คุณแด๊ด” จนเธอต้องการขอหย่าและแยกทางกับสามี         กับผู้หญิงสามคนที่ต่างละทิ้งและต่อรองความฝันกับเหตุผลอันหลากหลายของสังคม เมื่อได้มาร่วมชะตากรรมเดียวกัน โดยมีศพและการฆาตกรรมเป็นศูนย์กลางของเรื่อง มิตรภาพแห่ง “เพื่อนหญิงพลังหญิง” จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยต่อลมหายใจในการมีชีวิตอยู่ของพวกเธอ เฉกเช่นที่หลินได้ปรารภกับเพื่อนคุณแม่ด้วยกันว่า “ชีวิตครอบครัวของเรามันห่วยแตก แม่ๆ อย่างเราเลยต้องมาปรับทุกข์กันเอง”         เพราะแม่ย่อมเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่ด้วยกัน แม้ไม่อาจทำตามความฝันของตนไปได้ แต่บรรดาแม่ๆ ก็แอบ “ฉกฉวยจังหวะ” เพื่อจะสร้างบางพื้นที่บางเวลาซึ่งปลอดจากภาระแห่งลูก สามี และครอบครัว ฉากที่พวกเธอแอบจัดปาร์ตี้ชนิดเมากันเละที่บ้านของหลิน พร้อมประสานเสียงออกมาว่า “ใครบอกว่าแต่งงานแล้วชีวิตจะสมบูรณ์…ไม่จริง!!!” ก็ชวนตั้งคำถามอยู่ในทีว่า ลูกและสามีเป็นความสุขสุดท้ายของมามี้กลุ่มนี้จริงๆ ล่ะหรือ?         แต่ที่น่าสนใจก็คือ แม้ชีวิตครอบครัวอาจไม่ใช่คำตอบเพียงหนึ่งเดียวของบรรดาแม่ๆ แต่พลันที่เธอได้เลือกเป็นแม่ของลูกแล้ว ปณิธานร่วมของตัวละครหญิงสามคนก็ยังคงยืนยันว่า “คนเป็นแม่อย่างเราจะมีอะไรสำคัญไปกว่าลูกล่ะ” และ “เรื่องลูกต้องมาก่อนความฝันของเราเอง”         เมื่อมาถึงช่วงท้ายเรื่องที่เฉลยว่า “เชฟพีระ” ที่ดูเป็นสุภาพบุรุษในฝัน แต่แท้จริงแล้วเป็นฆาตกรที่ตามไล่ล่ามามี้ทั้งสาม และยังจับลูกๆ ของเธอเป็นตัวประกัน เราจึงได้เห็นภาพของ “มามี้ที่รัก” สวมบทบาท “นางฟ้าชาร์ลี” พร้อมอาวุธครบมือไปต่อสู้กับคนร้าย อันสะท้อนนัยพลังของแม่ซึ่งทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิดเสียอีก         จะว่าไปแล้ว แม้จุดเริ่มต้นของละครอาจมาจากการฆาตกรรมที่สะท้อนความรุนแรงเชิงกายภาพซึ่งสังคมกระทำต่อร่างกายของเหยื่อผู้หญิงก็ตาม แต่เหนือไปกว่านั้น การที่สังคมได้พรากความฝันไปจากแก๊งมามี้ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงเชิงโครงสร้างต่อผู้หญิงที่ให้กำเนิดสรรพชีวิตมนุษย์ด้วยเช่นกัน         ภาพฉากจบที่ลูกและสามีมาเชียร์คุณแม่เข้าประกวดร้องเพลงและตะโกนว่า “คุณแม่…สู้!!!” ไปจนถึงภาพของบรรดาลูกๆ ที่พากันเปล่งเสียงให้กับทั้งสามมามี้ว่า “พวกเรารักมามี้นะคะ/นะครับ” ก็น่าจะทำให้เราย้อนคิดได้ว่า ความฝันไม่ใช่แค่เรื่องของลูกๆ และสามีเท่านั้น หากแต่มามี้เองก็มีความฝันได้ไม่ต่างจากพวกเรา

อ่านเพิ่มเติม >