ฉบับที่ 247 แค้นรักสลับชะตา : คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต

          เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ “วิทยาศาสตร์” ได้สถาปนาขึ้นมาเป็นระบบคิดหลักของสังคมมนุษย์ วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานคิดที่เชื่อในเรื่องเหตุผล การพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ และความก้าวหน้าของการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเอื้อให้มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งปวง         ในโลกตะวันตก “ยุคมืด” แห่งการผูกขาดความรู้โดยคริสตจักรและความเชื่อเหนือธรรมชาติตามลัทธิเทวนิยมได้ถือครองโลกตะวันตกมานับหลายร้อยปี แต่ภายหลังที่เกิดการปฏิวัติทางความรู้ วิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้ออ้างว่า เหตุผลและความจริงเชิงประจักษ์เท่านั้นที่จะเป็นคำตอบไปสู่ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติในกาลสมัยใหม่ได้ ในขณะที่ศาสนาและความเชื่อพระเจ้าแบบดั้งเดิมได้ถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องล้าหลังงมงาย พิสูจน์จับต้องไม่ได้ และค่อยๆ ถูกลดทอนอำนาจในการอธิบายโลกแห่งความรู้ของมนุษย์ลงไป        ทว่า คำอธิบายข้างต้นนั้นดูจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนักสำหรับปรากฏการณ์ของการสลับร่างระหว่างตัวละคร “เตช” กับ “ภศวรรษ” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “แค้นรักสลับชะตา”         เปิดฉากของเรื่องขึ้นมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับเตช ตัวละครหนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้หัวแหวนของ “ธนภพ” และ “ฐิติยา” เจ้าของธุรกิจโลจิสติกส์ที่ร่ำรวย หลังจากเรียนจบวิศวกรรมการบินจากต่างประเทศ เตชก็มุ่งมั่นที่จะเป็นกัปตันเครื่องบิน และคาดหวังจะลงเอยใช้ชีวิตคู่กับ “กุลนิษฐ์” คุณหมอนิติเวชสาว         ตัดสลับกับภาพของภศวรรษ ดาราชายหนุ่มหล่อ ผู้ที่ทั้งเจ้าชู้ กะล่อน เห็นแก่ตัว และรักใครไม่เป็น เพราะตั้งแต่เด็กนั้น เขาได้รับแต่ “พลังด้านลบ” จากการตั้งแง่รังเกียจของ “สุนัย” ผู้เป็นบิดา โดยที่ตนเองก็ไม่ทราบสาเหตุ จนเลือกชีวิตอีกด้านเป็นคนรับเดินยาเสพติดให้กับแก๊งมาเฟีย และแม้เขาจะคบหาอยู่กับแฟนนางแบบสาวอย่าง “จินนี่” แต่ลึกๆ ภศวรรษก็ไม่เคยเชื่อว่า โลกนี้จะมีใครที่จริงใจและรักเขาจริงๆ         กับชายหนุ่มสองคนที่อยู่กันคนละโลกและคนละเงื่อนไขชีวิต แต่ก็เหมือนถูกสวรรค์เบื้องบนลิขิตให้ต้องโคจรมาพบกัน เพราะในคืนหนึ่งซึ่งเป็นวันพระจันทร์กลายเป็นสีแดง ทั้งคู่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์ชนกัน ทำให้เตชกับภศวรรษเกิดการสลับร่าง โดยที่วิญญาณของพระเอกหนุ่มทั้งคู่ได้สลับไฟล์ไปอยู่ในร่างของอีกคนหนึ่ง         จากนั้น ปมขัดแย้งของเรื่องก็ผูกขมึงเกลียวยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ “ร่าง” จะต้องสลับกัน แต่ “ชะตาชีวิต” ของทั้งคู่ก็ต้องสลับปรับเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น เตชผู้ที่ถูกพรากไฟล์ชีวิตไปทั้งหมด จึงพยายามหาทางกลับคืนร่างของเขา ในขณะที่ภศวรรษผู้ซึ่งได้ลิ้มรสชีวิตใหม่เป็นลูกเศรษฐีไฮโซ แถมมีคนรักเป็นหมอสาวแสนสวย ก็ไม่อยากจะย้อนกลับไปเดินทางบนชะตาชีวิตเส้นเดิม         แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งของเส้นเรื่องที่ดำเนินไปนี้ ละครก็ค่อยๆ เฉลยให้เห็นว่า แท้จริงแล้วทั้งเตชและภศวรรษเป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน โดยมีจุดเริ่มต้นของความสับสนในชะตาชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปรพลิกผันมาจากความรักความแค้นที่สืบเนื่องมาตั้งแต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขาเอง         จุดชนวนเริ่มต้นมาจากความรักที่มีรอยแค้นสลักฝังอยู่ เพราะครั้งหนึ่งสุนัยกับฐิติยาเคยเป็นคนรักเก่ากันมา แต่ด้วยสถานะที่ยากจนกว่า ธนภพจึงใช้อำนาจเงินพรากฐิติยาไป จากความรักจึงเปลี่ยนเป็นความแค้น สุนัยก็ได้แต่รอวันที่จะกลับมาทำให้ธนภพต้องเจ็บปวดแบบที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกอีกฝ่ายกระทำมา         หลังเรียนจบและได้มาเป็นหมอทำกิฟต์ชื่อดัง ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ผนวกกับแรงรักแรงแค้นที่ฝังแน่นเอาไว้ ทำให้หมอสุนัยผู้มีอหังการว่า ตนสามารถเป็นประหนึ่ง “พระเจ้า” ผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตได้ รอคอยวันที่จะใช้ความรู้ของเขาล้างแค้นธนภพกับอดีตหญิงคนรักของตน         ดังนั้น เมื่อธนภพกับฐิติยามาขอคำปรึกษาเรื่องที่ทั้งคู่มีบุตรยาก สุนัยจึงตัดสินใจแก้แค้นด้วยการแอบทำกิฟต์เด็กทารกชายขึ้นมาสองคนพี่น้อง ซึ่งก็คือเตชกับภศวรรษ ที่คนแรกเป็นลูกชายของเขา กับอีกคนที่เป็นบุตรของธนภพ จากนั้นจึงสลับชาติกำเนิดของเด็กทั้งสองให้ไปอยู่ในครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ลูกของตนได้ไปใช้ชีวิตในครอบครัวเศรษฐีผู้มั่งคั่ง และตนก็เลี้ยงลูกชายของศัตรูหัวใจให้เผชิญอยู่แต่กับทุกขเวทนา         ในทางหนึ่ง เส้นเรื่องหลักของละครจะเน้นให้ผู้ชมได้ลุ้นและตื้นเต้นไปกับชะตาชีวิตที่พลิกผัน เพราะเตชก็ต้องมาเผชิญกับด้านมืดในชีวิตที่ภศวรรษก่อไว้ ในขณะที่ภศวรรษก็ได้เปลี่ยนสถานะสลับมาใช้ชีวิตอันอู้ฟู่หรูหรา จนไม่อยากจะสลับคืนกลับไปอยู่ในร่างเดิม ซึ่งนั่นก็คือการให้คำตอบแบบที่ตัวละครต่างก็มักจะพูดอยู่เสมอว่า “ชีวิตเราจะดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราจะอยู่ในร่างของใคร”         แต่ในอีกทางหนึ่ง ละครเองก็ได้ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามไปด้วยว่า ปรากฏการณ์แบบคืนวันพระจันทร์แดงที่ดูเหนือจริง และทำให้ชายหนุ่มสองคนสลับชะตาชีวิตกันได้เยี่ยงนี้ ก็ช่างท้าทายคำอธิบายของวิทยาศาสตร์ที่ธำรงพลานุภาพในโลกแห่งความรู้ของสังคมสมัยใหม่         ในขณะที่เตชผู้เติบโตมากับโลกความจริงและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เพราะเขาเป็นทั้งวิศวกรการบินและมีหมอนิติเวชสาวเป็นแฟน ส่วนภศวรรษก็มีชีวิตอยู่กับโลกสมมติและอารมณ์ความรู้สึก ที่เขาเป็นดารานักแสดง แถมมีแฟนสาวเป็นนางแบบที่มีชื่อเสียง เมื่อได้สลับร่างกัน ทั้งคู่ก็พบว่า ความจริงและเหตุผลหาใช่จะอยู่เหนือกว่าสิ่งสมมติและอารมณ์ แต่ทว่าพรมแดนของทั้งสองโลกนี้อาจมีเพียงเส้นกั้นบางๆ ที่พร้อมจะผนวกข้ามไขว้ไปมาได้เช่นกัน         และพร้อมๆ กันนี้ ในขณะที่ละครได้เผยในท้ายเรื่องว่า เศรษฐีผู้มั่งคั่งอย่างธนภพก็มีเบื้องหลังเป็นผู้บงการใหญ่ของธุรกิจค้ายาเสพติด ตัวของหมอสุนัยเองที่เชื่อมั่นในความรู้แบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ชะตาชีวิตของคนเราไม่อาจกำกับให้อยู่ใต้อาณัติของมนุษย์ไปได้เลย เพราะแม้วิทยาการการแพทย์จะให้ปฏิสนธิตัวอ่อนชีวิตของมนุษย์ขึ้นมาได้ก็ตาม แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งคืนวันพระจันทร์แดงก็พร้อมที่จะทำให้ชะตาชีวิตของคนเราผันไปตามที่เบื้องบนกำหนดเอาไว้แล้ว         ภาษิตจีนโบราณเคยกล่าวเอาไวว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” คำกล่าวนี้ก็อาจใช้เตือนผู้คนในโลกสมัยใหม่ได้ว่า แม้วิทยาการความรู้จะทำให้มนุษย์คิดคำนวณและมีอหังการอยู่เหนือธรรมชาติขึ้นได้ก็จริง แต่ลิขิตแห่งสรวงสวรรค์ก็ยังคงมีอำนาจเหนือเงื้อมมือเล็กๆ ของคนเราอยู่วันยังค่ำ         และในฉากจบของเรื่อง ชายหนุ่มสองคนได้ตัดสินใจไม่สลับร่างกลับคืน ก็เพราะ “ทุกอย่างมันถูกที่ถูกทางของมันไปแล้ว” แต่ที่สำคัญ คำกล่าวของ “ลุงชาติ” บ่าวรับใช้ของหมอสุนัยที่ผ่านชีวิตมานานช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “ทุกอย่างได้ถูกกำหนดมาแล้ว ไม่มีใครฝืนโชคชะตาได้…คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นจริง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 มนต์รักหนองผักกะแยง : ดีใจจังใครต่อใครก็เป็นลาว

        วรรณกรรมท้ายรถแท็กซี่ เคยปรากฏข้อความสติ๊กเกอร์เขียนว่า “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” วลีแบบนี้สะท้อนจิตสำนึกของคนอีสานผู้พลัดถิ่นมาใช้ชีวิตในเมืองหลวง ที่พยายามยึดโยงและภูมิใจในตัวตนของความเป็น “อีสานบ้านเฮา” แม้จะพลัดพรากมาพำนักในพื้นถิ่นดินแดนอื่นก็ตาม         แต่ดูเหมือนว่า ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์คนอีสานพลัดถิ่นเช่นนี้ ไม่น่าจะใช่คำอธิบายที่ถูกต้องนักสำหรับพระเอกหนุ่มอย่าง “บักเขียว” ที่ “ละทิ้งแผ่นดินถิ่นอีสาน จากมิตรวงศ์วานบ้านป่า” เพื่อก้าวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์กลางแห่งเมืองหลวงอันทันสมัย         ในละครโทรทัศน์เรื่อง “มนต์รักหนองผักกะแยง” นั้น ได้ย้อนภาพกลับไปสัมผัสชีวิตของบักเขียวตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กน้อยแห่งชุมชน “บ้านหนองผักกะแยง” โดยมีเด็กหญิงคู่หูคู่ปรับข้างบ้านชื่อ “ชมพู่” เป็นเพื่อนไม้เบื่อไม้เมากันมา ครั้นพอโตขึ้น บักเขียวได้ย้ายไปเรียนที่กรุงเทพ ทำให้เด็กน้อยสองคนต้องแยกจากกันไป         เมื่อมาอยู่มหานครอันศิวิไลซ์ จากนักเรียนดีเด่นของแดนดินถิ่นอีสานที่เว้าลาวพูดไทยไม่ชัด และกินปลาร้าปลาแดกเป็นนิจสิน บักเขียวได้ถูกเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้งบูลลี่กับวัตรปฏิบัติที่ต่างไปจากพวกเขาเหล่านั้น แถมยังล้อเลียนบักเขียวว่า เป็น “เด็กบ้านนอก” บ้าง หรือเป็น “เด็กลาวเด็กอีสาน” บ้าง ไปจนถึงทำให้เด็กชายพลัดถิ่นกลายเป็น “ตัวตลก” ในหมู่ผองเพื่อนชาวกรุงไป         ในห้วงจิตใจลึกๆ บักเขียวโทษความผิดว่า เป็นเพราะ “ยายเพียร” ที่เลี้ยงดูเขามาให้เป็น “คนอีสาน” เขาจึงบอกตัวเองว่า จักต้องลบประวัติศาสตร์หน้านี้ออกไปจากชีวิต และจะไม่กลับไปเหยียบบ้านหนองผักกะแยงอีกเลย         เพราะศักดิ์ศรีแห่งคนอีสาน ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการที่ต้องให้คนกรุงเทพหรือ “คนอื่น” มาเชิดชูยอมรับ แต่ต้องมาจากจิตสำนึกของ “คนใน” เองที่ต้องมั่นอกมั่นใจในตัวตนความเป็นอีสานนั้นเสียก่อน ดังนั้น บักเขียวจึงเลือกจะรื้อถอนชื่อแซ่อัตลักษณ์ท้องถิ่นให้สลายหายไปในทุกวิถีทาง ถึงขนาดที่ว่า ก่อนอยู่บ้านนาเขาเรียกกันว่า “บักเขียว” มาอยู่กรุงเทพ เพียงประเดี๋ยวเดียว เปลี่ยนจากบักเขียวเป็น “ธรากร” กันเลย         บักเขียวในคราบไคลใหม่ เริ่มฝึกพูดภาษาไทยไม่ให้เหลือสำเนียงอีสานแต่อย่างใด เลิกกินและแสดงอาการรังเกียจปลาร้าปลาแดกอย่างออกหน้า เปลี่ยนลุคปรับวิธีเดินเหินและการแต่งตัวเสียใหม่ ไปจนถึงเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่จะไม่ต้องเฉียดกรายกลับสู่วิถีเกษตรอันเป็นรากเหง้าที่ถีบตัวเองออกมา         กล่าวกันว่า พื้นที่ความเป็นเมืองเป็นดินแดนที่ปราศจากซึ่งความรัก แม้จะปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองเพียงใด เมื่อบักเขียวเรียนจบ ได้กลายมาเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์และคบหากับ “อลิซ” แฟนสาว รวมทั้งทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อผ่อนคอนโดเรือนหอหลักล้าน แต่แล้ว ภายใต้ความฝันที่จะก่อร่างสร้างชีวิตในเมืองมั่งคั่ง อลิซก็สะบั้นรักหักอกเขา แถมยังใช้เล่ห์กลโกงโฉนดสัญญาคอนโดไปเป็นของเธออีก         “เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย พี่สูดดมเข้าไปร่างกายก็เป็นภูมิแพ้ ผู้หญิงที่กรุงเทพก็อันตราย เพราะพวกเธอหลายใจหัวใจพี่เองก็แพ้…” บักเขียวผู้ครวญเพลง “ภูมิแพ้กรุงเทพ” จึงได้แต่พกพาจิตใจอันบอบช้ำกลับไปเยียวยาบาดแผลยังบ้านหนองผักกะแยง ภูมิลำเนาบ้านเกิดที่ตนจากมากว่ายี่สิบปี         แม้ละครจะผูกปมให้เห็นว่า เขี้ยวเล็บที่บักเขียวลับคมมาจากเมืองกรุง ทำให้จิตสำนึกของเขาได้แต่มองที่ดินของยายเพียรเป็นเพียงสินทรัพย์ที่จะขายไปเพื่อต่อทุน และกลับไปตั้งหลักใช้ชีวิตในเมืองหลวงอีกคำรบหนึ่ง แต่ความรักและสายสัมพันธ์อันเป็นแรงเกาะเกี่ยวยึดโยงไว้ตั้งแต่ครั้งอดีต ก็ทำให้สายตาของบักเขียวค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชนบทอีสานบ้านเกิดที่ต่างออกไป         ในห้วงหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา วิถีการพัฒนาแบบทันสมัยพยายามสร้าง “ภาพจำ” เพื่อเหมารวมอีสานให้กลายเป็นพื้นที่ที่ล้าหลัง แร้นแค้น เป็นดินแดนแห่งความยากจน ความทรงจำวูบแรกที่ผู้คนนึกถึงวิถีอีสานมักเกิดขึ้นบนผืนดินแตกระแหง และเป็นชีวิตที่ไม่สอดรับกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจใดๆ ภาพจำแบบนี้จึงเป็นแรงผลักให้เกิดแรงงานอีสานพลัดถิ่นที่ซัดเซพเนจรมาเสี่ยงโชคชะตาในมหานครเมืองกรุง         ดังนั้น เมื่อต้องพลัดถิ่นไปนาน และติดบ่วงอยู่ในภาพจำแบบเดิมเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่อาการบักเขียวผู้กลับมาหนองผักกะแยงช่วงแรกๆ จึงกอปรขึ้นจากความรังเกียจรังงอน สีหน้าขยะแขยงอาหารที่ปรุงรสด้วยปลาร้า ไปจนถึงอากัปกิริยาเหม็นขี้วัวที่ต้องโกยมาทำปุ๋ยคอก ดูจะสะท้อนภาพดังกล่าวได้เป็นอย่างดี         เพราะอีสานเป็นเบ้าหลอมที่บักเขียวใช้ชีวิตเติบโตมา และก็เหมือนกับความเชื่อมั่นที่ยายเพียรกล่าวถึงหลานชายว่า “คนเรามันเปลี่ยนกันได้ เบิ่งไป” เราจึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ในท้ายสุดบักเขียวก็ต้องล้มเลิกความคิดที่จะขายที่ดินของบรรพชนเพื่อแลกกับเม็ดเงินหลายสิบล้าน และเลือกจะใช้ชีวิตครองคู่กับชมพู่น้องนางบ้านนามากกว่าผู้หญิงกรุงเทพที่หักอกเขาแบบไม่ไยดี         แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในยุคปัจจุบันที่คนอีสานในโลกความเป็นจริงมีความมั่นคงแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น ภาพจำในแบบเดิมๆ จึงถูกบักเขียวรับรู้และตีความอีกครั้งให้กลายเป็น “อีสานใหม่” ผ่านโลกสัญลักษณ์แห่งละครโทรทัศน์ไปเสียเลย         จากผืนดินที่แตกระแหงก็กลายเป็นผืนนาอันเขียวขจี จากภาพอีสานที่ยากจนแร้นแค้นกลายเป็นชีวิตผู้คนที่หาอยู่หากินและร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน จากภูมิภาคที่ล้าหลังดิบเถื่อนกลายเป็นแอ่งอารยธรรมที่โอบอุ้มประเพณีพิธีกรรมอันน่าถวิลหา จากความแห้งแล้งและคราบน้ำตากลายเป็นดินแดนแห่งรักโรมานซ์ที่แม้แต่ฝรั่งต่างชาติยังชื่นชมและอยากใช้ชีวิตอยู่ และที่สำคัญ จากภาพคนอีสานตัวดำในห้วงคำนึงกลายเป็นพระเอกหนุ่มที่สวมบทบาทโดยคุณพี่ณเดชน์สามีแห่งชาติของสาวๆ รุ่นใหม่หลายคน         เพราะจิตสำนึกของคนเราเปลี่ยนได้แบบที่ยายเพียรมั่นใจในหลานชายของตน จากคนที่พลัดถิ่นไปอยู่ในวิถีบริโภคล้วนๆ เป็นหนุ่มเมืองหลวง เมื่อได้ย้อนกลับคืนบ้านเกิด บักเขียวได้ลงมือปลูกแตงกวาและเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยตนเองเป็นครั้งแรก เขาก็ค่อยๆ สำเหนียกเห็นคุณค่าของวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม จนพูดกับตนเองว่า “คิดถึงแปลงแตงกวา ไม่เคยคิดถึงแตงกวามากขนาดนี้มาก่อนเลย”         หลังผ่านการรื้อถอนปอกเปลือกคราบไคลที่ห่อหุ้มตัวตนจริงๆ ออกไป ในท้ายที่สุด “จริต” ของบักเขียวที่เคย “ดัด” ให้ต้องพูดภาษาไทยชัดเจนด้วยสำเนียงแบบคนกรุงเทพ ก็กลับกลายมาเป็นคนอีสานบ้านเฮาที่เว้าภาษาบ้านเกิดเป็นไฟแลบโดยไม่รู้ตัว         หากในเมืองหลวงถิ่นอื่น คนอีสานมีแต่ต้องชะเง้อหาแนวร่วมที่จะตะโกนร้อง “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แต่ทว่าในถิ่นฐานภูมิลำเนาที่ตนภูมิใจในอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเท่านั้น บักเขียวก็พร้อมจะบอกทั้งตนเองและคนอื่นๆ ว่า ณ บ้านหนองผักกะแยงแห่งนี้ “ดีใจจังใครต่อใครก็เป็นลาว”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 บาปอยุติธรรม : ความ(อ)ยุติธรรมได้ทำงานของมัน

        ในรอบไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง “ความยุติธรรม” แห่งสังคม กลายเป็นหัวข้อที่ผู้คนสนใจและให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจไม่ใช่แค่การพยายามค้นหานิยามว่า อะไรคือความยุติธรรม แต่อีกด้านหนึ่ง อาจเกิดมาจากการตั้งคำถามว่า สังคมทุกวันนี้ยังจะมีความยุติธรรมด้านต่างๆ ได้จริงหรือ         โดยทั่วไปแล้ว ความยุติธรรมจะมีความหมายในสองลักษณะ โดยในนิยามแรก ความยุติธรรมคือ “ความเท่าเทียม” หรือการที่ทุกคนต้องได้ต้องมีอย่างเท่ากัน กับอีกนิยามนั้น ความยุติธรรมหมายถึง “ความคู่ควร” เช่น คนที่ทำงานหนักหรือดีกว่า ก็พึงต้องได้ประโยชน์มากกว่าบุคคลอื่นๆ ด้วย         กระนั้นก็ดี ปัญหาเรื่องความยุติธรรมหาใช่จะเป็นเพียง “ผล” ที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมหรือคู่ควรแค่นั้นไม่ หากอยู่ที่ “การเข้าถึง” ซึ่งจะนำไปสู่ความยุติธรรมด้วยเช่นกัน เพราะหากกระบวนการจัดการหรือแบ่งสรรผลประโยชน์ยังถูกกำกับไว้ภายใต้โครงสร้างอำนาจบางอย่าง ความยุติธรรมก็ยากที่จะบังเกิดขึ้นได้จริง         หากความยุติธรรมสัมพันธ์กับโอกาสแห่งการเข้าถึงที่จะนำมาซึ่งความเท่าเทียมและความคู่ควรดั่งนี้แล้ว ชะตากรรมชีวิตของตัวละครพระเอกหนุ่มอย่าง “ชิดตะวัน” ผู้ถูกตัดสินให้ติดคุกกว่า 11 ปีด้วยคดีที่เขาไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด ก็คงเป็นภาพฉายให้เห็นลักษณาการอันผิดเพี้ยนของสถาบันหรือกลไกที่ทำหน้าที่สถิตไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม         ต้นเรื่องของละครเปิดฉากขึ้นด้วยภาพที่ดูสดใสอบอุ่นของตัวละครชิดตะวันนักศึกษาแพทย์อนาคตไกล ทั้งนี้ ว่าที่หมอหนุ่มไม่เพียงแต่มุ่งมั่นฝึกฝนเพื่อจะเป็น “นักรบเสื้อกาวน์” ของคนไข้ทั้งหลาย หากแต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็มีความฝันที่จะได้ลงเอยใช้ชีวิตคู่กับ “น้ำทิพย์” แฟนสาวที่คบหากันมายาวนาน         แต่แล้วจุดพลิกผันของกราฟชีวิตก็อุบัติขึ้น เมื่อ “ชลธี” บิดาของน้ำทิพย์ถูกยิงเสียชีวิต และหลักฐานทั้งมวลได้ชี้มาที่ตัวของชิดตะวันว่า เขาคือผู้ต้องสงสัยเพียงคนเดียว โดยมี “บัวบูชา” เด็กหญิงวัยสิบสามปี ที่ถูก “บริบูรณ์” ผู้เป็นพี่ชาย วางแผนให้เป็นพยานชี้ตัวชิดตะวันในครั้งนั้น ทั้งที่ลึกๆ แล้ว เด็กน้อยเองก็ไม่รู้ประสีประสากับแผนการครั้งนี้         จากผู้ต้องสงสัยกลายเป็นผู้ต้องขัง จากชายผู้มีอนาคตอันสวยงามสู่ชายผู้สิ้นหวังและถูกคนรักสะบั้นความสัมพันธ์ที่คบหามา และจากโทนอารมณ์ของละครซึ่งดูสดใสในตอนต้นเรื่อง ฉับพลันกลายเป็นโทนอารมณ์ดาร์กๆ มืดมนลง ชีวิตที่ภินท์พังลงด้วยความอยุติธรรมทำให้ชิดตะวันต้องกลายเป็นนักโทษคดีฆ่าคนตาย และสูญเสียโอกาสในชีวิตไปตลอดกาล         11 ปีผ่านไป หรืออีกนัยหนึ่งคือ 11 ปีที่เวลาแห่งชีวิตต้องหายไป ทนายสาว “ปลายฝน” นางเอกของเรื่อง ก็ได้ปรากฏตัวขึ้น พร้อมกับยื่นข้อเสนอที่จะรื้อฟื้นคดีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชิดตะวัน และด้วยหลักฐานใหม่ที่ปลายฝนนำมาอ้างอิงเพื่อต่อสู้คดีนี้เอง ในที่สุดชิดตะวันก็ได้ออกจากเรือนจำ และได้สูดลมหายใจแห่งเสรีภาพนอกกรงขังเป็นครั้งแรก         และพลันที่ได้ก้าวย่างออกจากเรือนจำ ชิดตะวันกลับพบว่า ความผิดเพี้ยนของระบบยุติธรรมไม่ได้แค่ทำให้เขาต้องถูกพรากอิสรภาพมานานกว่าทศวรรษเท่านั้น แม้แต่กับชีวิตนอกคุกของคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของเขา ก็ยังกลายเป็นเหยื่อเซ่นสรวงต่อความอยุติธรรมไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         เริ่มตั้งแต่ “อนุพงษ์” ผู้เป็นบิดา ก็ต้องตกงานเพราะตราประทับของสังคมที่ตีค่าให้เขากลายเป็นพ่อของนักโทษฆ่าคนตาย “มาลินี” ผู้เป็นมารดา ก็ไม่หลงเหลือรอยยิ้มเพราะชีวิตถูกผลักให้อยู่ในสภาวะระทมทุกข์อย่างเลี่ยงไม่ได้ และ “ศศิ” น้องสาวคนเดียวก็ต้องระเห็จลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากฐานะที่อัตคัดลงของครอบครัวจึงไม่อาจส่งเสียให้เธอศึกษาเล่าเรียนต่อไปได้        ไม่ว่าความยุติธรรมจะหมายถึงความเท่าเทียมหรือคู่ควรที่มนุษย์พึงได้นั้น ชิดตะวันก็ตระหนักว่า ที่แน่ๆ ความยุติธรรมหาใช่จะ “ตกมาจากฟากฟ้า” หรือถูกจัดสรรให้มีอยู่แล้วสำหรับทุกคนในสังคม การได้มาซึ่งความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลต้องต่อสู้ช่วงชิง “โอกาสแห่งการเข้าถึง” เพื่อให้ได้มาเท่านั้น         เมื่อสวรรค์ไม่ได้บันดาลความยุติธรรมมาให้ ชิดตะวันผู้ได้ลิ้มรสอิสรภาพเข้าไปจึงสมาทานตนที่จะสร้างโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมดังกล่าวเอง เพราะแม้จะออกจากคุกมาแล้ว แต่เขาก็บอกตนเองและใครต่อใครว่า กับชีวิตคนที่เคยถูกตีตรา “บาปแห่งความอยุติธรรม” นั้น “อดีตหนีไปไม่พ้น มันตามไปทุกที่”         เพราะตัดสินใจกลับสู่สมรภูมิช่วงชิงความยุติธรรมคืนอีกครั้ง ข้อเท็จจริงบางอย่างก็ค่อยๆ เผยตัวออกมา ในขณะที่ “คทาเพชร” เพื่อนวัยเด็กของน้ำทิพย์ ก็คือตัวการวางแผนใส่ความพระเอกหนุ่มเพื่อพรากหญิงคนรักมาจากเขา แต่ทว่า ยิ่งเมื่อความลับนี้ถูกสาวไส้ออกมามากเท่าไร ชิดตะวันกลับยิ่งพบว่า ความอยุติธรรมมีความซับซ้อน และเกาะเกี่ยวเป็นโครงข่ายที่กัดกร่อนรากแก้วของสังคมไว้อย่างน่าสะพรึงกลัว         แม้ด้านหน้าฉาก คทาเพชรจะเป็นอดีตศัตรูหัวใจที่ชิดตะวันต้องสัประยุทธ์ต่อกรด้วย แต่ฉากหลังอันดำมืดของคทาเพชร ก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนผู้วางโครงข่ายแห่งการเอารัดเอาเปรียบที่ผนวกผสานเข้ากับกลไกแห่งอำนาจรัฐเอาไว้ โดยมี “สารวัตรนิติ” นายตำรวจกังฉิน กับ “เตชินท์” ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจมืด เป็นฟันเฟืองหลักที่ทำให้วงจรแห่งความยุติธรรมออกอาการบิดเบี้ยวไป         และแม้แต่ปลายฝนเอง ก็มีความลับด้านหลังที่เธอคือเด็กหญิงบัวบูชา ผู้ชี้ตัวชิดตะวันจนเขาต้องโทษในคุกกว่าสิบปี แม้ปลายฝนจะเลือกใช้อาชีพทนายเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้พระเอกหนุ่ม เหมือนที่เธอกล่าวว่า “ความยุติธรรมมันพิกลพิการ เลยขับเคลื่อนไปช้าๆ แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว มันก็จะไปสู่จุดหมาย” แต่จริงๆ แล้ว จุดหมายปลายฝันที่ขับเคลื่อนไป ก็ช่างเชื่องช้าริบหรี่จนไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เอาเลย         หลังจากที่พระเอกหนุ่มต้องสูญเสียบิดาเพื่อเซ่นสังเวยแก่ความอยุติธรรม เพราะไปรับรู้เบื้องหลังโครงข่ายอำนาจที่กลุ่มทุนประสานประโยชน์เพื่อขูดรีดโอกาสจากผู้เสียเปรียบ ดังนั้น “หลังที่ต้องพิงฝา” หรือ “สุนัขที่ถูกบีบให้ต้องจนตรอก” เมื่อความอยุติธรรมได้แทรกซึมอยู่ในทุกองคาพยพแห่งสังคม คงมีเพียงจิตสำนึกกับสองมือของปัจเจกบุคคลเท่านั้นที่จะรื้อถอนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ “พิกลพิการ” นั้นได้         ตามสูตรเรื่องราวละครแนวดรามา ที่หลังจากตัวละครเอกต้องสูญเสียระลอกแล้วระลอกเล่า ในฉากท้ายเรื่องก็ถึงคราวที่ตัวร้ายจะต้องพบจุดจบ ไม่ตายก็ต้องติดคุกหรือถูกลงทัณฑ์ แบบเดียวกับที่ชิดตะวันได้พูดขมวดทิ้งท้ายไว้ว่า “ความยุติธรรมได้ทำงานของมัน” ภายหลังสถานการณ์ร้ายๆ คลี่คลายไปแล้ว         อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ และโอกาสที่ถูกขูดรีดเอาเปรียบ ยังคุกรุ่นเป็นภูเขาไฟรอวันปะทุอยู่ในสังคม ละครอาจบอกนัยที่คู่ขนานไปอีกทางด้วยว่า เผลอๆ อาจไม่ใช่ “ความยุติธรรม” แต่เป็น “ความอยุติธรรม” ต่างหากกระมังที่เป็น “บาป” ซึ่งรอวัน “ทำงานของมัน” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 วันทอง : (ไม่)อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน

                คุณผู้อ่านเคยเป็นหรือไม่ เมื่อเราหยิบงานวรรณกรรมที่เคยอ่านเอามา “อ่านใหม่” อีกครั้ง การตีความและทำความเข้าใจเนื้อหาสารเหล่านั้น บ่อยครั้งก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม         ทุกครั้งที่เราอ่านเนื้อหาสารใดอีกคราหนึ่ง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “re-reading” การรับรู้ความหมายมักจะไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่เพราะประสบการณ์ชีวิตของผู้อ่านที่เติบโตขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะจิตสำนึกของคนเราที่แปรเปลี่ยนไป จึงทำให้การมองโลกและรับรู้เรื่องเดิมผิดแผกแตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน         หนึ่งในตัวอย่างของ “เรื่องเก่าที่เอามาอ่านตีความใหม่” เช่นนี้ ก็คือการปรับแปลงนิทานพื้นบ้านอย่าง “ขุนช้างขุนแผน” มาเป็นละครโทรทัศน์เรื่อง “วันทอง” ที่แค่ชื่อเรื่องก็บอกเป็นนัยๆ ว่า ตัวเอกอย่าง “ขุนช้าง” หรือ “ขุนแผน” ได้เวลาถอยไป เพราะถึงคราวตัวแม่อย่าง “วันทอง” จะ “องค์ลง” มาขอสิทธิ์เสียงเป็นตัวละครเดินเรื่องหลักกันบ้างแล้ว         สมัยเด็กๆ จำได้ว่า ตอนเรียนหนังสือ เคยต้องท่องจำบท “เสภาขุนช้างขุนแผน” ฉากเปิดตัว “พลายแก้ว” หรือต่อมาก็คือขุนแผนแสนสะท้านพระเอกของเรื่อง บทอาขยานท่อนนั้นท่องว่า “จะกล่าวถึงพลายแก้วแววไว เมื่อบิดาบรรลัยแม่พาหนี ไปอาศัยอยู่ในกาญจน์บุรี กับนางทองประศรีผู้มารดา…” อันเป็นจุดเริ่มต้นของอภิตำนานชีวิตพระเอกหนุ่มเนื้อหอม รูปงาม มีความรู้ความสามารถและสรรพคาถาวิชา         ครั้นพอดัดแปลงตีความใหม่เป็นละครโทรทัศน์ออกมานั้น ไหนๆ ผู้ผลิตก็ผูกเล่ามหากาพย์ชีวิตของนางวันทองให้เป็นตัวเอกของเรื่องราวขึ้นมาบ้าง ละครก็ได้ให้น้ำหนักกับการปูที่มาที่ไปของนาง “พิมพิลาไลย” ผู้เป็นต้นธารแห่งมายาภาพ “นางวันทองหญิงสองใจ” โดยมิพักต้องเล่าสาธยายรายละเอียดภูมิหลังชีวิตของพลายแก้วแววไวแบบที่เราคุ้นเคยกันมาอีกเลย         หากดำเนินความตามท้องเรื่องแบบ “ขุนช้างขุนแผน” ฉบับเดิม เส้นเรื่องหลักจะเดินไปตามพัฒนาการชีวิตของขุนแผนจากวัยเยาว์ ไปจนท้ายเรื่องที่ “สมเด็จพระพันวษา” ได้ปูนบำเหน็จเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี โดยมีเสี้ยวหนึ่งในชีวิตที่คู่ขนานไปกับ “ศึกรบ” ก็คือ “ศึกรัก” ระหว่างขุนแผนชายหนุ่มรูปงาม กับขุนช้างชายรูปชั่วหัวล้าน จนเกิดเป็นตำนาน “วันทองหญิงสองใจ”         แต่ในละครโทรทัศน์นั้น ผู้ผลิตได้ปรับโฟกัสการรับรู้จากทัศนะคนทั่วไปที่มักตีตราวันทองว่า เป็น “หญิงสองใจ” จนนำไปสู่คำพิพากษาของสมเด็จพระพันวษาให้ประหารชีวิต เพียงเพราะนางไม่สามารถ “เลือก” ชายคนใดได้ระหว่างขุนแผนหรือขุนช้าง มาสู่มุมมองใหม่จากความในใจและสายตาของตัวนางวันทองเอง         และเพื่อรื้อถอนภาพจำแห่งเรื่องราว “ขุนช้างขุนแผน” ที่มีมาก่อน ละครจึงเลือกตัดภาพมาขึ้นต้นด้วยฉากชะตากรรมท้ายเรื่องที่วันทองกำลังจะขึ้นศาลฟังการไต่สวนพิพากษา         ฉากเปิดเรื่องที่ฉายภาพบรรดาตัวละครแม่ค้าประชาชีมารุมด่าประณามสาปแช่งด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า “อีหญิงสองใจ” บ้าง “อีตัวต้นเหตุ” บ้าง หรือแม้แต่ “อีหญิงสองผัวชั่วชาติ เป็นเสนียดแก่แผ่นดิน” โดยที่วันทองก็ได้แค่กล่าวโต้กลับแต่เพียงว่า “เอ็งยังไม่รู้จักข้า แล้วเอ็งมาด่าข้าได้ยังไง” ช่างเป็นประโยคที่เสียดแทงอยู่ในทีว่า มติสาธารณะที่ทั้งแม่ค้ารวมถึงคนดูแบบเราๆ เคยรับรู้และตัดสินคนอื่นด้วยบรรทัดฐานบางชุดเยี่ยงนี้ เป็นความถูกต้องชอบธรรมแท้จริงหรือไม่         จากนั้น คู่ขนานไปกับการไต่สวนความนางเอกของเรื่องนี้ ละครก็ค่อยๆ แฟลชแบ็คภาพกลับไปให้เราได้เห็นชะตากรรมที่วันทองต้องเผชิญมาตลอดชีวิต ตั้งแต่ที่เธอเลือกแต่งงานอยู่กินกับขุนแผน ฮันนีมูนพีเรียดอันแสนสั้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พลันที่ขุนแผนชนะศึกที่เชียงทองและพานาง “ลาวทอง” เข้ามาร่วมหอในชายคาเดียวกัน         ในขณะที่เจตนารมณ์ของบุรุษเพศทั่วไปนั้น “ผู้ชายที่ไม่เจ้าชู้ ก็เปรียบเสมือนกับงูที่ไม่มีพิษ” แต่สำหรับผู้หญิงอย่างวันทองแล้ว “เสียทองเท่าหัว ก็ไม่ปรารถนาจะเสียผัวให้แก่ใคร” เมื่อชายคนรักเลือกที่จะมีเมียมากกว่าหนึ่ง วันทองถึงกับประชดประชันขุนแผนว่า “ข้าไม่อยากเป็นเมียเอก แต่ข้าอยากเป็นเมียเดียวของพี่”         และในอีกทางหนึ่ง วันทองเองก็ยังถูกลากเข้าสู่ใจกลางสมรภูมิหัวใจระหว่างตัวละครชายสองคน เมื่อขุนแผนต้องไปออกศึกรับใช้บ้านเมือง ขุนช้างก็ใช้เล่ห์เพทุบายช่วงชิงตัวนางมาเป็นเมีย โดยสร้างเฟคนิวส์ว่าขุนแผนได้เสียชีวิตแล้วในสงคราม ทำให้ต่อมาในภายหลังนางเองก็ถูกขุนแผนชายคนรักปรามาสดูถูกว่า “ตำแยที่ว่าคัน ก็ยังไม่เท่าเจ้าเลย”         ทั้งถูกประณามหยามหมิ่น และถูกชักเย่อไปมาระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง ชายหนึ่งคือ “คนที่นางรัก” กับอีกชายหนึ่งคือ “คนที่รักและดีกับนาง” ในที่สุดเรื่องก็เดินไปถึงจุดสุดขั้นเมื่อวันทองถูกนำตัวเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษา เพื่อยุติปัญหารักสามเส้าแบบ “หนึ่งหญิงสองชาย” เหมือนกับที่เราเคยได้อ่านมาในวรรณกรรม         แบบที่ผู้ชมก็ทราบกันดีว่า หากวันทองตัดสินใจ “เลือก” ลงเอยกับชายคนใดสักคน นางก็จะรอดจากการถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เมื่อนางได้ใคร่ครวญแล้วว่า “ขาดเธอก็คงไม่เหงา ขาดเขาก็คงไม่เสียใจ” การตัดสินใจต้อง “เลือก” ใครสักคนก็ยังคงสืบต่อคำถามแบบที่นางได้ทูลสมเด็จพระพันวษาว่า “แล้วเราจะไม่ต้องเจ็บเพราะผู้ชายอีกต่อไปใช่ไหมเพคะ”         ดังนั้น พอถูกตีความว่าโลเลตัดสินใจไม่ได้ วันทองก็ถูกตีตราลงโทษว่าเป็น “หญิงสองใจ” ที่ “ไม่สามารถเลือก” ชายใดได้สักคน จนนำไปสู่คำพิพากษาประหารชีวิตพร้อมกับตราประทับดังกล่าวของสังคม         อย่างไรก็ตาม หากพินิจพิจารณากันดีๆ แล้ว ขณะที่สังคมกำหนดให้ “เลือก” ระหว่างชายสองคน แต่วันทองเองก็ได้ “เลือก” เหมือนกัน เพียงแต่บนคำตอบที่เธอขอ “เลือก” กำหนดเองว่า จะไม่ขอกากบาทตัวเลือกข้อใดที่สังคมหยิบยื่นให้มา เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะยุติปัญหาทั้งปวงได้ แบบที่นางได้กล่าวก่อนถูกประหารว่า “ข้ายืนยันในสิ่งที่ตัวเองเลือก ไม่ใช่ให้ใครมาเลือกให้เรา”         และเพราะไหนๆ ละครโทรทัศน์ก็เป็นการอ่านใหม่ในเรื่องเล่าที่มีมาแต่เดิม ผู้ผลิตจึงดัดแปลงฉากจบให้วันทองยังคงมีลมหายใจต่อไป ก็คงเพื่อยืนยันว่า ชีวิตของหญิงที่ขอ “เลือก” ในสิ่งที่ตนปรารถนา และ “ไม่อยากจะเก็บเธอไว้ทั้งสองคน” ก็ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความตายที่สังคมกระทำต่อเธอแบบอยุติธรรม         บทสรุปของการอ่านเพื่อตีความใหม่เฉกเช่นนี้ ก็คงต้องการสนับสนุนคำพูดของวันทองที่กล่าวในท้ายเรื่องว่า “สิ่งที่อยากให้ผู้คนจดจำก็คือ วันทองไม่ใช่หญิงสองใจ” และที่สำคัญ “ศักดิ์ศรีไม่ใช่ให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือชาย แต่ข้าแค่ต้องการให้คนเห็นคุณค่าของผู้หญิงบ้าง…”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ดวงใจในมนตรา : ฆ่าฉัน ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า...

                ย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ ผู้เขียนเคยได้ยินเนื้อเพลงที่ขับร้องโดยคุณสวลี ผกาพันธุ์ ที่ขึ้นต้นว่า “ฆ่าฉัน ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า ไยถึงไม่เข่นฆ่าเมื่อไม่ไยดี...” ตอนได้ยินได้ฟังครั้งแรกนั้น ก็รู้สึกสนเท่ห์ใจอยู่ในทีว่า เพราะเหตุใดกันหรือที่ทำให้ผู้หญิงต้องมาร้องครวญรำพันให้ชายที่เธอหลงรัก “ฆ่าให้ตายดีกว่า”         หากในอดีตอิสตรีเป็นผู้ครวญเพลงเรียกร้องให้บุรุษเพศฆ่าเธอให้ตายเช่นนี้แล้ว เหตุไฉนในละครโทรทัศน์เรื่อง “ดวงใจในมนตรา” จึงถึงคราวที่ตัวละครอย่าง “พชร” ชายผู้ถูกสาปให้ไม่มีหัวใจและไม่มีวันตาย ได้ออกมาเรียกร้องให้หญิงคนรักอย่าง “มทิรา” ถอนซึ่งมนตราคำสาป และฆ่าเขาให้ตายดีกว่า         ในทุกวันนี้ที่มนุษยชาติต่างเกลียดและกลัว “ความตาย” แต่ทำไมชายหนุ่มพชรจึงนิยามความหมายใหม่ให้ “ความตาย” กลายเป็น “สิ่งล้ำค่า” ที่ปรารถนาสูงสุดในชีวิตอมตะของเขา?         จำเริญความตามท้องเรื่องของละคร โดยย้อนกลับไปในปางบรรพ์ พชรเป็นอดีตนักรบแม่ทัพเอกแห่งนครตารวะปุรัมเมื่อกว่าสองพันปีก่อน ในครั้งนั้นพชรได้ตกหลุมรักกับมทิรา เทวทาสีผู้ถือครองพรหมจรรย์เพื่อบูชาองค์เทพ แต่เพราะความรักที่มีให้กับเขา เธอยอมสละทุกอย่างแม้แต่ร่างพรหมจรรย์เพื่อให้ได้อยู่ครองคู่กับพระเอกหนุ่ม         แต่ทว่า ด้วยภาพฉากหลังของเรื่องที่ดำเนินไปบนความขัดแย้งและการช่วงชิงบัลลังก์แห่งกษัตริย์ผู้ปกครองนครโบราณตารวะปุรัม ทั้งพชรและมทิราจึงถูกสถานการณ์บีบให้เข้าสู่วังวนแห่งการเมืองอันเนื่องมาแต่ผลประโยชน์และอำนาจดังกล่าว         และเพราะมทิรายึดถือ “ความรัก” แบบชายหญิง ดังที่เธอก็เลือกสละเพศพรหมจรรย์เพื่อมอบดวงใจรักให้กับพระเอกหนุ่ม แต่กับพชรนั้น เขากลับเลือกยึดมั่นใน “หน้าที่” และบ้านเมืองเป็นสรณะ โดยมิอาจทรยศได้แต่อย่างใด สนามรบทางการเมืองของนครในตำนานจึงก่อกลายเป็นสนามรบทางเพศระหว่างชายหญิง หรือระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก” ไปโดยปริยาย         ดังนั้น เมื่อ “หน้าที่” ของพชรบีบบังคับให้เขาต้องประหารชีวิตผู้ต้องหากบฏ อันรวมถึง “เสนาบดีสุรายา” ผู้เป็นบิดาของมทิรา ส่งผลให้หัวใจของหญิงที่เต็มไปด้วย “ความรัก” อย่างมทิราต้องสิ้นสลายกลายเป็นความโกรธแค้นที่ฝังแน่นอุรา         “เจ็บใจนักเพราะรักมากไป ไม่เตรียมใจซะบ้าง ไม่ระวังก็เพราะมัวแต่ไว้ใจ…” ในที่สุดมทิราก็ตัดสินใจสมาทานตนเข้าสู่ด้านมืด และถูกมนต์ดำแห่งอัคคีเทวาเข้าแทรกในจิตใจ เธอจึงใช้ “มนตรา” และกริชที่ชายคนรักมอบให้แทงเข้าที่อกและควัก “ดวงใจ” ของเขาออกมา ก่อนจะสาปให้ “ดวงใจในมนตรา” ของพระเอกหนุ่มกลายเป็น “เพชรดวงใจนักรบ” โดยที่พชรก็เหลือเพียงแต่ร่างที่เป็นอมตะไม่มีวันตาย ส่วนเธอก็จะจองเวรเขาทุกชาติไป และนับจากวันนั้นนครตารวะปุรัมก็ล่มสลายไปตลอดกาล         เวลาผ่านไประลอกแล้วระลอกเล่า พชรที่ถูกเวทมนตร์ซึ่งสาปไว้โดยหญิงคนรักให้เขาเป็นผู้ไม่มีวันตาย กลับต้องมาเห็นชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดและเกิดใหม่หลายภพชาติของตัวละครอื่นๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น “สินธุ” อดีตทหารคนสนิทของพชร หรือน้องสาวบุญธรรมอย่าง “ลดา” ผู้กลับมาเกิดเป็น “พราวพลอย” หญิงสาวผู้มีใบหน้าเหมือนมทิราในภพชาติล่าสุด ไปจนถึงมทิราเองที่เวียนว่ายมาเกิดใหม่เป็น “วิภู” ชายหนุ่มเจ้าของรีสอร์ตหรูที่วางแผนทุกทางเพื่อกลับมาแก้แค้นพชรในชาติปัจจุบัน         ในขณะที่คนรอบข้างต่างเป็นมนุษย์ผู้เวียนวนในสังสารวัฏ แต่ร่างอมตะของพชรก็ยังคงเฝ้าวนเวียนตามหาเพชรดวงใจนักรบ หรือหัวใจของเขาที่ต้องคำสาป พระเอกหนุ่มจึงต้องดำรงอยู่กับความรู้สึกเดียวดาย และต้องกลายเป็นร่างไร้ชีวิตซึ่งรอคอยการให้อภัยจากมทิราที่จะปลดปล่อยเขาจากอาถรรพเวทแต่ปางก่อน        ตามความเชื่อของคนไทย มนุษย์และสรรพชีวิตทั้งมวลล้วนตกอยู่ภายใต้วัฏสงสารเป็นตัวกำหนด หรืออีกนัยหนึ่ง ตราบใดที่เรายังดำรงอยู่ในวัฏฏะแห่งการ “เกิดแก่เจ็บตาย” (รวมถึงการเกิดใหม่) ตราบนั้นเราก็ยังคงสภาวะความเป็นมนุษย์อยู่อย่างแท้จริง ความตายตามคติความเชื่อนี้จึงหาใช่จะเป็นเรื่องไม่น่าอภิรมย์ หากแต่มรณานุสติหรือสติที่จะเข้าใจความตาย ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในความเข้าใจชีวิตของมนุษย์เรา         แต่เพราะพชรถูกคำสาปให้มีเพียง “เกิด” ขึ้นมา หากทว่าไม่รู้จัก “แก่” เนื่องจากสังขารยังคงสภาพเยี่ยงเดิมมานับศตวรรษ ไม่รู้จัก “เจ็บ” เพราะแม้จะถูกลอบยิงลอบทำร้ายหรือมีบาดแผล ก็ฟื้นคืนร่างกายได้โดยเร็ว และเป็นอมตะไม่รู้จัก “ตาย” หรือ “เกิดใหม่” ดังนั้นพระเอกหนุ่มจึงกลายเป็นผู้สูญสิ้นซึ่งความเป็นมนุษย์ไป         และในเวลาเดียวกัน เพราะเป็นชีวิตที่มีเพียงการ “เวียนว่าย” แต่ไร้ซึ่ง “ตายเกิด” พชรจึงอยู่ในสภาวะประหนึ่งอมนุษย์ ไม่ต่างจากผีดิบหรือแวมไพร์ และยิ่งต้องรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นที่ได้เห็นคนรอบข้างมีเกิดมีดับมีเกิดใหม่ในต่างภาพชาติ ร่างของพระเอกหนุ่มที่ดำรงอยู่โดยไม่วายปราณ จึงเป็นเพียงแค่ซากอันไร้ชีวิตนั่นเอง         โดยนัยนี้ ในสนามรบระหว่างหญิงชายที่ข้ามมาหลายภพหลายชาตินั้น แม้พชรจะเคยยืนยันว่า “ภาระหน้าที่” คือคำตอบข้อสุดท้ายในชีวิตแม่ทัพเอกแห่งนครตารวะปุรัม แต่หลังจากที่ต้องคำสาปให้ตามหาเพชรดวงใจนักรบ และถูกกลเกมพยาบาทของมทิราที่คอยหลอกล่อเขาไปทุกชาติภพ นักรบหนุ่มก็เข้าใจสัจธรรมในการดำรงอยู่ซึ่งความเป็นมนุษย์ในท้ายที่สุด         ประโยคที่พชรได้พูดกับพราวพลอยว่า “แม้ผมจะไม่มีหัวใจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผมไม่มีความรู้สึกใดๆ” ก็คือการบอกเป็นนัยว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เพศหญิงและเพศชายนั้น เหตุผลเรื่องภาระหน้าที่โดยไม่มีซึ่งอารมณ์ความรู้สึกเอื้ออาทรแต่อย่างใด คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเท่าไรนัก แบบเดียวกับที่เขาเองก็ต้องตามหาหัวใจที่ต้องคำสาปมาทั้งชีวิต         นับแต่ฉากต้นเรื่องของละคร “ดวงใจในมนตรา” ที่พระเอกหนุ่มพชรได้กล่าวว่า “มีหลายเรื่องบนโลกใบนี้ ถ้าคุณใช้สติคิดดู คุณก็จะพบว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่คุณแทบจะไม่เชื่อว่ามันมีอยู่จริง” คำพูดนี้คงไม่ใช่จะแค่สื่อความถึงผู้ฟังอย่างพราวพลอย แต่ยังรวมถึงเราๆ ที่เป็นผู้เฝ้าชมชะตากรรมชีวิตไม่มีวันตายของเขาอยู่         ดังนั้น หากที่ผ่านมามนุษย์ในยุคเราๆ จะรู้สึกเกลียดและกลัวความตาย หรือมนุษย์เพศชายจะเอาแต่ยึดมั่นอยู่ในเหตุผลและภาระหน้าที่โดยไม่พลิกผัน แต่หากเราลองใช้สติไตร่ตรองดูดีๆ เราก็อาจจะพบเช่นกันว่า ในบางครั้งมนุษย์ก็อาจต้องเริ่มเรียนรู้เข้าใจและปรารถนาให้ความตายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา และมนุษย์เพศชายเองก็อาจต้องหันกลับทบทวนหวนคิดถึงการดำรงอยู่แห่งอารมณ์ความรักและความรู้สึก ควบคู่ไปกับการยึดมั่นเพียงเหตุผลและภาระหน้าที่เพียงอย่างเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เมียจำเป็น : โลกนี้นี่ดูยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร

                ตามสามัญสำนึกของคนทั่วไป โลกแห่งความจริงกับโลกของละครเป็นสองโลกที่มีเส้นกั้นแบ่งแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน โลกแห่งความจริงเป็นโลกทางกายภาพที่มนุษย์เราสัมผัส จับต้อง และใช้ชีวิตอยู่อาศัยจริงๆ ในขณะที่โลกของละครเป็นจินตนาการที่ถูกสมมติขึ้นด้วยภาษาสัญลักษณ์         อย่างไรก็ดี นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์นามอุโฆษอย่างคุณปู่ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้เคยโต้แย้งว่า จริงๆ แล้ว โลกแห่งความจริงกับโลกของละครไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง แต่กลับไขว้ฟั่นพันผูกกันอย่างแนบแน่น จนแม้ในบางครั้ง เรื่องจริงกับเรื่องจินตนาการก็แยกแยะออกจากกันไม่ได้เลยทีเดียว         กับละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกดรามาเรื่อง “เมียจำเป็น” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า โลกแห่งละครที่มนุษย์เราดื่มด่ำประหนึ่ง “มหากาพย์แห่งความรื่นรมย์” อยู่นั้น หาใช่เพียงแค่เรื่องประโลมโลกย์ไร้สาระแต่อย่างใดไม่ หากแต่ทุกวันนี้โลกทัศน์ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้อรรถรสแห่งละคร ได้ก่อกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโลกจริงๆ ในชีวิตประจำวันของคนเราไปเสียแล้ว         ด้วยโครงเรื่องคลาสสิก (กึ่งๆ จะเหลือเชื่อแต่ก็เป็นจริงได้) ที่สาวใช้สู้ชีวิตอย่าง “ตะวัน” ได้ประสบพบรักและลงเอยแต่งงานกับ “โตมร” พระเอกหนุ่มลูกชายเศรษฐีเจ้าของสวนยางที่ภูเก็ต แม้จะดูเป็นพล็อตที่มีให้เห็นทั่วไปในละครหลังข่าว แต่ลีลาอารมณ์ของเรื่องที่ผูกให้มีลักษณะเสียดสีล้อเลียน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นแนว “parody” นั้น ก็ชวนให้เราพร้อมจะ “ขบ” คิด ก่อนที่จะแอบขำ “ขัน” อยู่ในที         เริ่มต้นเปิดฉากละครด้วยภาพของตะวัน หญิงสาวผู้ต่อสู้ชีวิตด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน กอปรกับ “เดือน” ผู้เป็นแม่ก็ป่วยกระเสาะกระแสะอีก ตะวันจึงรับจ้างทำงานเป็นแม่บ้านพาร์ตไทม์ จนเป็นที่ไวรัลกันปากต่อปากว่า เธอเป็นแม่บ้านรับจ้างมือหนึ่ง ที่ดูแลทำความสะอาดบ้านได้อย่างเกินล้น ล้างจานได้สะอาดหมดจด รวมไปถึงมีกรรไกรตัดเล็บติดตัว พร้อมปฏิบัติภารกิจผู้พิทักษ์สุขอนามัยอย่างเต็มที่         ตัดสลับภาพมาที่โตมร หนุ่มนักเรียนนอกเนื้อหอม แม้ด้านหนึ่งเขาจะชอบวางมาดไม่ต่างจากพระเอกละครโทรทัศน์ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นลูกเศรษฐีผู้มีน้ำใจกับคนรอบข้าง และก็เป็นไปตามสูตรของละครแนวพระเอกผู้ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด” โตมรก็ถูกพ่อแม่จับคลุมถุงชนให้หมั้นหมายเพื่อแต่งงานกับ “หยาดฟ้า” ผู้ที่ไม่เคยเจอหน้าเจอตากันมาก่อน         เพราะโตมรต้องการปฏิเสธสภาวะคลุมถุงชนครั้งนี้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อดูตัวว่าที่เจ้าสาว โดยหวังว่าจะได้จัดการถอนหมั้นเธอให้จบไป นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่พระเอกหนุ่มกับนางเอกแม่บ้านพาร์ตไทม์ได้มาพบเจอกัน โดยมีเหตุให้โตมรเข้าใจผิดว่า แม่บ้านออนไลน์อย่างตะวันก็คือหญิงสาวที่เป็นคู่หมั้นหมายของเขาจริงๆ         จากนั้น เมื่อในทางหนึ่งหยาดฟ้าที่คบหาอยู่กับชายหนุ่มเจ้าชู้ไก่แจ้อย่าง “บรรเลง” ก็ไม่อยากแต่งงานกับชายหนุ่มบ้านนอกที่เธอไม่รู้จักมักจี่มาก่อน กับอีกทางหนึ่ง ตะวันก็ต้องการเงินมารักษาแม่ที่ป่วยออดๆ แอดๆ กลเกมสลับตัวของผู้หญิงสองคนจึงเกิดขึ้น ตะวันในนามของหยาดฟ้าเลยตกลงปลงใจมายอมรับสภาพเป็น “เมียจำเป็น” ณ นิวาสถานของพระเอกหนุ่มโตมรในที่สุด         เมื่อต้องกลายมาเป็น “เมียจำเป็น” ตะวันก็ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งขันที่หมายมาดจะเข้ามาช่วงชิงบทบาทความเป็น “เมีย” ของนายหัวโตมร ไม่ว่าจะเป็น “โสภิต” เลขาคู่ใจ แต่คิดกับพระเอกหนุ่มเกินคำว่าเพื่อน หรือ “กิ่งแก้ว” พยาบาลของ “คุณน้อย” น้องสาวพิการของโตมร ที่อยากเลื่อนขึ้นมาเป็นพี่สะใภ้มากกว่า รวมไปถึงหยาดฟ้าตัวจริงเอง ที่ภายหลังก็คิดจะเลิกร้างกับบรรเลง เพื่อมาเป็นภรรยาเจ้าของสวนยาง        จากความขัดแย้งของเรื่องที่นางเอกยากจนต้องมาต่อสู้กับบรรดานางร้ายผู้มีหมุดหมายเป็นพระเอกหนุ่มคนเดียวกันเช่นนี้ ละครก็เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า สำหรับคนชั้นล่างแล้ว “ความจำเป็น” ทางเศรษฐกิจสังคมก็คือ ตัวแปรต้นที่ทำให้ตะวันจำยอมตัดสินใจมารับบทบาทความเป็น “เมียแบบจำเป็น”         ตรงกันข้ามกับบรรดาคนชั้นนำที่มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ใน “ความไม่จำเป็น” แต่อย่างใด ทว่าคนกลุ่มนี้กลับใช้อำนาจและพยายามทุกวิถีทางที่จะครอบครองสถานะความเป็น “เมีย” เพียงเพื่อสนอง “ความปรารถนา” มากกว่า “ความจำเป็น” ของตนเท่านั้น         คู่ขนานไปกับการนำเสนอความขัดแย้งระหว่าง “ความจำเป็น” กับ “ความปรารถนา” นั้น ด้วยวิธีเล่าเรื่องแนวเสียดสีชวนขัน ในเวลาเดียวกัน เราจึงได้เห็นอีกมุมหนึ่งของการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ตัวละครเอกที่ผิดแผกไปจากการรับรู้แบบเดิมๆ ของผู้ชม         แม้พระเอกนางเอกจะต่างกันด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคม แต่ทั้งคู่ก็ถูกออกแบบให้กลายเป็นคนที่ชอบดูละครโทรทัศน์เป็นชีวิตจิตใจ แม้พระเอกหนุ่มจะเป็นเจ้าของสวนยางที่มั่งคั่ง แต่เขาก็ติดละครหลังข่าวแบบงอมแงม เช่นเดียวกับตะวันที่เมื่อทำงานเสร็จ ก็ต้องรีบกลับบ้านมาดูละครภาคค่ำทุกๆ คืน         การโคจรมาเจอกันของแฟนคลับละครจอแก้ว ไม่เพียงจะทำให้คนสองคนได้ปรับจูนรสนิยมในการคบหากันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว พร้อมๆ กันนั้น ความคิด การกระทำ และประสบการณ์ชีวิตของพระเอกนางเอกก็ได้ก่อรูปก่อร่างขึ้นมาจากละครโทรทัศน์หลากหลายเรื่องที่ทั้งคู่รับชมมาตั้งแต่เด็กๆ        ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกที่หลายฉากหลายสถานการณ์ที่ปรากฏในละคร “เมียจำเป็น” จึงช่างดูคุ้นตาแฟนานุแฟนของละครภาคค่ำยิ่งนัก         ตั้งแต่ฉากที่ตะวันผูกผมเปียถือกระเป๋าเดินเข้าบ้านหลังใหญ่ของคุณโตมร ที่ยั่วล้อฉากคลาสสิกของ “บ้านทรายทอง” ฉากน้องสาวพิการที่หวงพี่ชายจนเกลียดนางเอกแสนดีเหมือนพล็อตในละคร “รักประกาศิต” เนื้อเรื่องที่เล่นสลับตัวนางเอกมาแต่งงานหลอกๆ คล้ายกับเรื่องราวในละครทีวีหลายๆ เรื่อง ไปจนถึงฉากที่นางเอกถูกกักขังทรมานในบ้านร้างที่ก็อปปี้ตัดแปะมาจากละครเรื่อง “จำเลยรัก”        ด้วยเส้นเรื่องที่ “ยำใหญ่” ละครเรื่องโน้นเรื่องนี้อีกหลายเรื่องและเอามาล้อเล่นเสียดสีแบบนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เรา “ขบขัน” กับความซ้ำซากจนกลายเป็นความคุ้นชินในชีวิตผู้ชมเท่านั้น หากแต่อีกด้านหนึ่ง ก็ชวนหัวชวนคิดไปด้วยว่า ตกลงแล้วระหว่างละครกับชีวิตจริง อะไรที่กำหนดอะไรกันแน่        ในขณะที่ชีวิตจริงของคนเราก็ถูกสะท้อนเป็นภาพอยู่ในโลกแห่งละคร แต่ในเวลาเดียวกัน ละครที่เราสัมผัสอยู่ทุกวันก็ได้ย้อนยอกจนกลายมาเป็นชีวิตจริงของคนหลายๆ คน เพราะฉะนั้น ประโยคที่โตมรหันมามองกล้องและพูดด้วยเสียงก้องตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “ผู้หญิงดีๆ ที่ไหนจะยอมมาเป็นเมียจำเป็น” ก็อาจจะมีสักวันหนึ่ง ที่ “ความจำเป็น” จะทำให้ผู้หญิงดีๆ บางคนต้องลุกขึ้นมายินยอมสวมบทเป็น “เมียจำเป็น” ได้เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ตราบฟ้ามีตะวัน : ใครๆ ก็ไม่รักหนู ขนาดพัดลมยังส่ายหน้าเลย

                ในขณะที่บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายเคยผ่านช่วงชีวิตแบบวัยรุ่นกันมาแล้วทุกคน แต่ก็น่าแปลกใจว่า พอพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้ว เราก็มักจะพากันหลงลืมความทรงจำเมื่อครั้งที่เป็นวัยรุ่นแทบจะทั้งสิ้น         วัยรุ่นมักถูกมองว่า เป็นวัยแห่งความคึกคะนอง ชอบทำอะไรที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย เป็นช่วงอายุบนความคลุมเครือ จะเด็กก็ไม่ใช่ จะโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง มีวิถีปฏิบัติบางอย่างที่พร้อมจะ “ขบถ” และลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจที่กฎกติกาแห่งสังคมพยายามจะจัดระเบียบวินัยให้กับพวกเขาเหล่านี้         และด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ใหญ่ๆ หลายคนจึงมักมองวัยรุ่นด้วยสายตาแปลกๆ และเลือกที่จะหลงลืมความทรงจำแห่งสำนึกขบถต่อต้าน หรือแม้แต่ออกอาการรังเกียจต่อวัยรุ่น ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งพวกตนก็เคย “เป็นอยู่คือ” มาก่อน เพียงเพื่อจะบอกคนอื่นได้ว่า ตนได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่เป็นคนดีของระบบไปแล้ว         อาการเกลียดกลัววัยรุ่นแบบนี้ กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักของละครโทรทัศน์เรื่อง “ตราบฟ้ามีตะวัน” ที่ผูกโยงชีวิตของนางเอก “วันฟ้าใหม่” หรือ “แป้ง” ผู้เจอมรสุมหนักหน่วงในช่วงวัยรุ่น จนกลายเป็นเด็กมีปัญหา ก้าวร้าว เอาแต่ใจตนเอง แต่ทว่าลึกๆ ลงไปนั้น แป้งกลับเป็นเด็กที่ขาดความรักและรู้สึกเคว้งคว้างโดดเดี่ยว         ละครเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปในอดีต แป้งเป็นบุตรสาวของครอบครัวเศรษฐีผู้มีอันจะกินอย่าง “ธราเทพ” และ “พิมนภา” แม้ว่าฉากหน้าพ่อและแม่ของแป้งจะเป็นคู่รักที่ใครๆ อิจฉา เพราะเพียบพร้อมทั้งฐานะเศรษฐกิจและสังคม แต่เบื้องลึกแล้ว ครอบครัวนี้กลับไม่ได้สมบูรณ์แบบดั่งฉากหน้าที่ฉาบเคลือบไว้         ธราเทพผู้เป็นบิดาที่วันๆ เอาแต่ทำงานกับงาน กับพิมนภามารดาผู้เป็นสาวสังคมที่โลดแล่น แต่ทั้งคู่ก็ละเลยต่อลูกสาวคนเดียว แป้งที่เติบโตมากับ “อึ่ง” ซึ่งเป็นพี่เลี้ยง จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นเด็กมีปัญหา และทำตัวขบถเรียกร้องเพื่อชดเชยความรักที่ขาดหายไปในชีวิตเธอ         จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อธราเทพและพิมนภาถูกฆาตกรรมเสียชีวิตลงกะทันหัน และแป้งได้เห็นภาพติดตาของร่างซึ่งไร้วิญญาณของพ่อแม่ที่จากเธอไป จากเด็กที่ยังเคยมีความน่ารักอยู่บ้าง ก็ยิ่งกลายเป็นเด็กที่เคยตัวและเอาแต่ใจตนเองอย่างสุดโต่ง         สถานการณ์ที่แป้งต้องเผชิญตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยแบบนี้ เหมือนจะบ่งบอกเป็นนัยว่า เผลอๆ แล้ว ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเยาวชน ก็อาจไม่ได้ฝังรากเนื้อแท้มาจากภายในจิตใจของเด็กเองหรอก ทว่าจุดเริ่มต้นของปัญหากลับมาจากสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้ก่อขึ้น จนสั่งสมเป็นปมปัญหาที่พรากความฝันและจิตวิญญาณของเด็กรุ่นใหม่ให้สลายหายไป         และภายหลังจากบุพการีเสียชีวิตลง แป้งผู้ขบถก้าวร้าวก็ได้มาอยู่ภายใต้การดูแลของ “ครองประทีป” เจ้าของไร่แสงตะวันผู้เป็นเพื่อนรักของธราเทพ ครองประทีปพาแป้งมาอยู่ที่ไร่ และให้ “อาทิตย์” บุตรชายคอยเฝ้าดูแลเด็กหญิง แป้งจึงเริ่มรู้สึกผูกพันยึดติดกับพี่อาทิตย์อย่างมาก จนเข้าใจว่า สิ่งที่พระเอกหนุ่มทำให้คือความรักที่เขามีต่อเธอ และเธอก็โหยหาความรักดังกล่าวนั้นอยู่         แม้ช่วงแรกพระเอกหนุ่มจะรู้สึกเอ็นดูและสงสารเด็กหญิง แต่เมื่ออาทิตย์ได้ทราบความจริงว่า บิดาได้แอบหมั้นหมายให้เขาแต่งงานกับแป้งตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับธราเทพก่อนตาย อาทิตย์ก็ตั้งแง่รังเกียจเด็กสาว ในทางตรงกันข้ามกับแป้งที่ยังคงยึดเหนี่ยวกับคำมั่นสัญญาของบิดา จนเลือกที่จะอาละวาดทุกคนในไร่ที่พยายามขัดขวางไม่ให้เธอได้แต่งงานกับพระเอกหนุ่ม         ในฉากที่เด็กนักเรียนมัธยมอย่างแป้งแสดงกิริยาดื้อดึง และออกปากว่าตนจะต้องแต่งงานกับอาทิตย์จงให้ได้ รวมไปถึงสร้างเรื่องราวว่าอาทิตย์จะใช้กำลังปลุกปล้ำกระทำชำเราเธอ ด้านหนึ่งก็อาจทำให้เราเข้าอกเข้าใจชีวิตเด็กวัยรุ่นที่ออกมาเรียกร้อง เพราะขาดความรักความไยดีจากคนรอบข้าง แบบที่แป้งกล่าวว่า “แป้งไม่มีอะไรจะเสีย พ่อก็ตาย แม่ก็ตาย แป้งไม่ต้องการอะไรอีกแล้วนอกจากพี่อาทิตย์”         แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ภาพเดียวกันนี้ก็อาจทำให้สายตาของผู้คนในสังคมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจกับอากัปกิริยาที่เด็กหญิงคนหนึ่งได้ต่อต้านท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติว่าด้วยการแสดงความปรารถนาดิบลึกเชิงชู้สาวในที่สาธารณะเยี่ยงนี้ เฉกเช่นประโยคที่อาทิตย์ได้พูดกับแป้งแบบไม่เหลือเยื่อใยว่า “ต่อให้เหลือผู้หญิงคนเดียวในโลก ฉันก็ไม่เอาเธอมาทำเมีย”         เพราะเหตุผลของวัยรุ่นไม่ได้มีอำนาจและความชอบธรรมเท่ากับเหตุผลของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ดังนั้นด้วยนิสัยที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานเช่นนี้ ในที่สุดครองประทีปก็ตัดสินใจส่งแป้งไปศึกษาร่ำเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ห่างไกลจากอาทิตย์และไร่แสงตะวัน         และก็อย่างที่ทุกคนก็ตระหนักกันดี สถาบันการศึกษาหาใช่เพียงแหล่งผลิตและถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกที่ใช้เวลาเป็นปีๆ ในการขัดเกลาและจัดวินัยวัยรุ่นผู้มักมีจิตสำนึกขบถ ให้เข้ารีตเข้ารอย จนพร้อมจะกลายเป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี” ที่อยู่ใต้อาณัติของกฎกติกาแห่งสังคม         ดังนั้น 6 ปีที่เธอจากไป หญิงสาวก็ได้หวนกลับมายังไร่แสงตะวันพร้อมกับความรู้สึก “สำนึกบาป” เป็นแป้งคนใหม่ ผู้ซึ่งผ่านการขัดและเกลาวินัยแห่งร่างกายและจิตใจมาแล้ว แต่เพราะใครต่อใครในไร่แสงตะวันก็ยังคงรำลึกและรังเกียจภาพวีรกรรมที่เธอเคยทำเอาไว้เมื่อครั้งอดีต เธอจึงต้องเผชิญกับบททดสอบจากประชาคมผู้คนในไร่ เพื่อจะยืนยันมั่นใจให้ได้ว่า แป้งได้กลับตัวกลับใจแบบ 360 องศาแล้วจริงๆ         ไม่ว่าจะเป็นบทลงโทษจากพี่อาทิตย์ที่ให้แป้งล้างคอกวัว ล้างจานชามของคนงานในไร่ทุกคน ขุดดินดายหญ้า ไม่ให้กินข้าวกินปลา ไม่ให้อาบน้ำอาบท่า ไม่ให้มีไฟฟ้าใช้ในบ้านพัก ไปจนถึงการลงทัณฑ์ให้เธอต้องกินข้าวในถาดของสุนัข         แม้จะมีบททดสอบที่สาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่าสถานกักกันนักโทษ แต่เพราะวัยรุ่นเป็น “ข้อต่อข้อสุดท้าย” ก่อนที่จะก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ บทลงทัณฑ์เหล่านี้จึงสรรค์สร้างขึ้นบนความชอบธรรมแห่งการจัดวินัยเพื่อดัดพฤตินิสัยว่า แป้งจักได้กลายเป็นคนดีหรือเป็น “คนที่เชื่องๆ” ไร้ซึ่งจิตสำนึกขบถนั่นเอง เหมือนที่แป้งก็มักจะพูดกับตนเองเป็นระยะๆ ว่า “เราต้องทนให้ได้ เรากำลังใช้กรรมอยู่”         ครั้นพอถึงในฉากจบ แน่นอนว่า หลังจาก “ชดใช้กรรม” เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองได้ปลอดคราบไคลจิตสำนึกขบถจากบรรทัดฐานแห่งสังคมไปแล้ว แป้งก็ได้รับการต้อนรับขับสู้จากประชาคมไร่แสงตะวัน และลงเอยครองคู่กับพี่อาทิตย์ตามสูตรของละครแนวโรแมนติกดรามาไปในที่สุด          ทุกวันนี้ แม้ผู้ใหญ่ทั้งหลายจะยืนหยัดเชื่อมั่นในเหตุผลและกฎกติกาที่ตนได้ขีดเขียนเอาไว้ แต่ในอีกมุมหนึ่งแล้ว ตัวละครแบบแป้งผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีสำนึกขบถต่อต้านกฎเกณฑ์ดังกล่าว ก็หาได้จางหายไปจากโลกแห่งความจริงไม่ ความเกลียดกลัววัยรุ่นก็ยังคงดำรงอยู่ และจะดำเนินต่อไป “ตราบฟ้ามีตะวัน” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ร้อยเล่ห์มารยา : ทุกชีวิตดิ้นรนค้นหาแต่จุดหมาย ใจในร่างกายกลับไม่เจอ

                ย้อนกลับไปเกือบสามทศวรรษก่อน หลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ปี พ.ศ. 2535 คุณแอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ได้นิพนธ์บทเพลง “ทะเลใจ” อันมีเนื้อหาลุ่มลึกเชิงปรัชญา โดยเฉพาะความท่อนหนึ่งของเพลงที่กล่าวว่า “คืนนั้นคืนไหนใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ...” ซึ่งชวนให้สะท้อนย้อนคิดว่า ในช่วงวิกฤติแห่งชีวิตและสังคม การยั้งคิดมีสติไตร่ตรองเพื่อประสานกายและใจให้สมดุลเท่านั้น จะเป็นคำตอบที่เราได้ “เรียนรู้เพื่ออยู่เพียงตัวและจิตใจ เป็นมิตรแท้ที่ดีตลอดกาล”         ตามหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น คำว่า “สติ” ก็น่าจะหมายถึง การเตือนให้ปุถุชนทั้งหลายพึงกระทำ พูด คิด หรือระลึกได้โดยไม่ประมาท อันเป็นพื้นฐานให้เราได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบและสุขุมคัมภีรภาพ เพื่อให้ได้ผลที่ดีตามมาต่อทั้งตนเองและผู้อื่น          30 ปีให้หลัง กับวิกฤติความชอบธรรมทางการเมืองร่วมสมัย วิถีเศรษฐกิจที่ผันผวนไม่แน่นอน สภาวะความเสี่ยงจากโรคระบาดที่ไม่มีที่มาที่ไป ดูเหมือนว่า คำถามเรื่อง “สติ” แห่งการระลึกได้ถึงกายและใจแห่งปัจเจกชน ได้ย้อนกลับมาท้าทายและทดสอบผู้คนทุกวันนี้ให้ต้องทบทวนตัวเรากันอีกคราหนึ่ง        จากภาพสังคมระดับใหญ่ ตัดเข้ามาแม้แต่ในสถาบันครอบครัวที่ใกล้ชิดกับเรา ก็ดูจะเป็นสถาบันแรกที่ถูกเขย่าให้สั่นคลอนไปถึงก้นบึ้งในการดำรง “สติ” แห่งปัจเจกบุคคล ดังเช่นบททดสอบที่เกิดขึ้นกับ “พิชชา” หรือ “เอม” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ร้อยเล่ห์มารยา”         เปิดเรื่องละครกับฉากแรกที่เป็นภาพการเตรียมจัดงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 5 ปีงานแต่งงานของเอม เธอปรากฏตัวในชุดสีแดงสด ซึ่งดูผิดแผกไปจากภาพลักษณ์ของนางเอกละครโทรทัศน์ทั่วไป ที่ไม่จำเป็นต้องอ่อนหวาน เรียบร้อย หรือจิบดื่มน้ำส้มน้ำผลไม้อยู่เป็นนิจสิน         จากนั้น เมื่อเธอรับโทรศัพท์จาก “ปานแก้ว” และรู้ว่า นางแบบสาวทะเยอทะยานผู้นี้ได้เล่นสงครามประสาทฉลองดินเนอร์อยู่กับ “ภมร” สามีของเอม เพียงแค่นั้นอาการ “ไร้ซึ่งสติ” และขาดการยั้งคิดของนางเอกในชุดสีแดงสดอย่างเอมก็บังเกิดขึ้นทันใด         เพราะเป็นนางเอกสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่ยอมคน ฉากเริ่มเรื่องของละครจึงเปิดด้วยภาพของเอมที่ไล่ตบตีคุกคามภรรยาน้อย เพราะ “เสียทองเท่าหัว ก็ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” และในขณะเดียวกัน ละครก็คงจะบอกเป็นนัยด้วยว่า หลังจากนี้ผู้ชมก็จะได้เห็นภาพอาการ “สติแตกสุดขั้วโลก” ของนางเอกปรากฏออกมาอีกเป็นระยะๆ         ในขณะที่ศัตรูหัวใจอย่างปานแก้วเป็นเพียงข้อสอบชุดแรกของเอม แต่กับบททดสอบถัดมาจาก “คุณรัญญา” แม่สามีของเอมก็ยังกระหน่ำซ้ำมาไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะคุณรัญญาเองก็มักจะพร่ำสอนบุตรชายอยู่เสมอว่า “เมียไม่สำคัญ แต่เงินกับอำนาจสำคัญกว่า” เธอจึงไม่ยอมอ่อนข้อและคุกคามลูกสะใภ้ผู้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจวงศ์ตระกูลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย         ความไม่ลงรอยกันอันคลาสสิกที่ปะทุปะทะทั้งคารมและการกระทำระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ จึงเป็นอีกระลอกของความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในสถาบันครอบครัว เพราะแม่ผัวอย่างคุณรัญญาก็ยืนยันกับลูกสะใภ้อย่างชัดเจนว่า “ผลประโยชน์ไม่มีคำว่ายืดหยุ่น แม้แต่กับคนในครอบครัว”         แต่ทว่าบททดสอบอันท้าทายที่สุดในชีวิตของเอม กลับมาจาก “ตติยา” หรือ “นิ่ม” ผู้มีสถานะเป็นน้องสาวบุญธรรม แต่ในห้วงลึกแล้ว แอบเกลียดพี่สาวคนนี้อย่างเข้ากระดูกดำ เพราะนิ่มเคืองแค้นที่ชีวิตของเธอเป็นเพียงเด็กบ้านแตก ขาดความอบอุ่นมาตั้งแต่เกิด ซึ่งตรงข้ามกับเอมที่ทั้งมีและได้ทุกสิ่งแทบจะสิ้นเชิง         ด้วยเหตุนี้ ภายใต้ใบหน้าและกิริยาที่อ่อนหวาน แต่ปมแค้นที่ปรารถนาให้เอมต้องเจ็บปวดแบบเดียวกับที่เธอสั่งสมความรู้สึกนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์ นิ่มจึงวางแผนสร้างปัญหาต่างๆ ตั้งแต่แอบก่อปัญหาเรื่องงานในบริษัทของเอม ไปจนถึงจัดฉากอาศัยความเจ้าชู้ของภมรเป็นทุนเดิม เพื่อให้เผลอไผลไปมีความสัมพันธ์จนเธอท้อง อันนำไปสู่การหย่าร้างระหว่างเอมกับสามีในที่สุด         เฉกเช่นเดียวกับชื่อเรื่องของละคร “ร้อยเล่ห์มารยา” เอมต้องเผชิญกับ “มารยาหลายร้อยเล่มเกวียน” ของผู้คนรอบข้าง ทั้งจากอนุภรรยาของสามีที่ตามราวีไม่สิ้นสุด จากแม่ผัวที่ไม่ยอมเลิกรา และจากน้องบุญธรรมที่คอยเจ้าคิดเจ้าแค้น ท้ายที่สุดแล้วก็นำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่า ภายใต้สภาวะวิกฤติที่ห้อมล้อมรุมเร้าแบบนี้ นางเอกของเราจะยังคง “สติ” ที่จะยืนหยัด “มีชีวิตเพื่อสู้คืนวันอันโหดร้าย” กันต่อไปได้ถึงระดับใด         แต่เพราะ “มารมีบารมีจึงบังเกิด” ในขณะที่ “มารมี” มาให้ผจญอยู่หลายระลอก เอมก็ยังมีบุคคลแวดล้อมเป็นเพื่อนร่วมสุขทุกข์ ไม่ว่าจะเป็น “ชัยยศ” และ “พรพรรณ” บิดามารดาผู้เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตโหดร้ายมาก่อน รวมไปถึงกลุ่มเพื่อนผู้หญิงหลายรุ่นวัย ทั้ง “พี่สุนีย์” “นิภา” “เบล” และแม้แต่ “มินตรา” น้องสาวของภมร ที่ทุกคนล้วนรักและหวังดีกับเอมมาตลอด          และนอกจากครอบครัวและผองเพื่อนที่เคียงข้างแล้ว แน่นอนว่า ยังต้องมีพระเอกหนุ่มอย่าง “รามิล” ที่เป็นคนรักเก่า และคอยเหนี่ยวรั้ง “สติ” ของเอม ทุกครั้งที่เธอเผชิญกับมรสุมวิกฤติที่ซ้ำกระหน่ำเข้ามา         ด้วยบทบาทอาชีพทนายความ รามิลจึงเป็นสัญลักษณ์แทนสติและการใคร่ครวญด้วยเหตุผล และเมื่อต้องมาปะทะกับตัวแทนแห่งอารมณ์อย่างเอม รามิลจึงเป็นอีกขั้วตรงข้ามที่กระตุกให้เอมรู้จักใช้สติระลึกและยั้งคิดเท่าทัน “เล่ห์มารยาหลากร้อยเล่มเกวียน” ที่เข้ามากระแทกอารมณ์ความรู้สึกของเธอ         แต่ที่ดูจะเป็นนัยเสียดสีอยู่ในทีก็คือ แม้แต่กับตัวละครที่มีสติที่สุดอย่างทนายหนุ่มรามิล ทุกครั้งที่เขาต้องเผชิญหน้ากับ “ปฐวี” ผู้เป็นบิดา ซึ่งรามิลเชื่อว่า พ่อมีส่วนทำให้มารดาเสียชีวิต รามิลเองก็ถูกเขย่าให้อยู่ในอาการขาดสะบั้นซึ่งสติไปได้เช่นกัน         การไร้ซึ่งสติที่ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อ่อนไหวทางอารมณ์อย่างเอม ไปจนถึงตัวละครที่แม้จะมีเหตุผลและสัมมาสติอย่างรามิล ก็คงไม่ผิดนักที่เราจะได้ข้อสรุปว่า ใน “ท่ามกลางแสงสีศิวิไลซ์” นั้น ปุถุชนทุกคนย่อม “หลงทางไปไม่ยากเย็น” และ “อับโชคตกลงกลางทะเลใจ” ได้จริง          จนเมื่อมาถึงตอนท้ายของเรื่องที่เอมประสบอุบัติเหตุจากแผนการของนิ่ม เอมก็ค่อยๆ เรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง “ตาบอดทางกาย” ที่มองไม่เห็นกับ “ตาบอดทางใจ” ที่ฉาบเคลือบไว้ด้วยมิจฉาสติ         เพราะตราบใดที่ “ร้อยเล่ห์มารยา” ยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวเรา รอบชีวิตครอบครัวเรา รายรอบไปถึงวิกฤติทางเศรษฐกิจการเมืองของสังคมเรา การดำรงอยู่แห่งสติเท่านั้นที่จะปลดปล่อยให้ปัจเจกบุคคลได้เข้าใจว่า “ทุกข์ที่เกิดซ้ำ เพราะใจนำพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 สัญญารัก สัญญาณลวง : แชร์ผิด...ชีวิตเปลี่ยน

            นับแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ประเด็นเรื่องข่าวลวง หรือบ้างก็เรียกว่าข่าวปลอม หรือไม่ก็เรียกว่าเฟคนิวส์ ได้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงใหญ่ที่ผู้คนทุกวันนี้สนเท่ห์และสนใจอยู่อย่างต่อเนื่อง         ข่าวลวงหรือข่าวปลอมก็คือ ข่าวที่ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริง ถูกกุขึ้นอย่างมีอคติ ขาดความเป็นกลาง อาจเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือแม้แต่ตีความและใช้ข้อมูลลอยๆ เพื่อให้ผู้เสพข่าวเข้าใจคลาดเคลื่อน อันเป็นไปเพื่อธำรงรักษาอำนาจและผลประโยชน์บางชุดของคนปล่อยข่าวลวง โดยหวังให้คนอื่นมาติดกับดัก         แม้เรื่องข่าวลวงจะเป็นประเด็นที่ผู้คนยุคนี้มักขาดซึ่งอำนาจแยกแยะกันว่า ข่าวสารอันใดจริงอันใดปลอม แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ข่าวลวงก็หาใช่จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ทว่าการปลอมแปลงข่าวกลับเป็นสิ่งที่มีต่อเนื่องมานมนานกาเลแล้ว ไม่ต่างจากข้อถกเถียงเรื่องข่าวลวงๆ ที่ซ่อนซุกอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “สัญญารัก สัญญาณลวง” ที่ผูกเรื่องเล่าแฟนตาซีข้ามภพชาติกันไปเป็นพันปีโน่นเลย         เรื่องราวของละครเริ่มขึ้น ณ กาลปัจจุบัน เมื่อ “อณิกษ์” ร้อยตำรวจเอกฝีมือดีแห่งกรมสอบสวนพิเศษ มักมีความฝันแปลกๆ มาตั้งแต่เด็กว่า ตนได้สวมชุดโบราณ และถูกกริชแทงที่หน้าอก โดยไม่เคยเห็นใบหน้าของคนแทง         จนมาวันหนึ่ง “อนุช” น้องสาวของเขา ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ได้ชวนอณิกษ์ให้ร่วมเดินทางไปชมดาวหางคริสเตียนเซ่นโอวัน ที่กว่าพันปีจะโคจรเข้ามาใกล้โลกมนุษย์มากที่สุด และระหว่างทางที่จะไปดูดาวหางนั้น อณิกษ์ได้แวะสักการะพระธาตุนาดูน อันเป็นที่ที่ทำให้เขาได้มาเจอกับ “วิวรรณ” หญิงสาวนางหนึ่งผู้ที่เสมือนรอคอยชายหนุ่มมานานแสนนาน แม้ว่าลึกๆ อณิกษ์จะรู้สึกผูกพันกับวิวรรณ แต่เขาก็เกลียดชังหญิงสาวผู้นี้โดยไม่ทราบสาเหตุ         เหตุการณ์ดาวหางที่อุบัติขึ้นนั้น ได้นำมาซึ่งการปรากฏตนครั้งแรกของสตรีอีกนางหนึ่งคือ โสดาญา ผู้หญิงลึกลับในชุดราตรีสีดำที่เดินเยื้องย่างอย่างงามสง่าเข้ามาในงานประมูลเพชรเทียร์ร่า ซึ่งทั้งอณิกษ์และวิวรรณก็ได้เข้ามาร่วมงานประมูลเพชรเม็ดงามนั้นด้วย         พ่วงมากับการปรากฏตัวอย่างลึกลับของโสดาญา ก็เกิดคดีฆาตกรรมประหลาดขึ้นมากมาย ที่ศพผู้ตายส่วนใหญ่จะมีเลือดและอวัยวะภายในหายไป รวมถึงกรณีของ “กรรชิต” และ “ธาดา” พ่อค้าเพชรอีกสองคนที่ถูกฆ่าตายและชิงเพชรมาร์คีส์หายไป         คู่ขนานไปกับการสืบสวนคดีความอันแปลกประหลาดนั้น อณิกษ์ก็เริ่มสนิทสนมกับโสดาญามากขึ้น ก่อนที่จะได้มาพบกับ “สินจันทร์” มารดาของโสดาญา ผู้มีมนตราสร้างมายาลวงให้อณิกษ์เห็นภาพในอดีตชาติว่า ตนกับโสดาญาเคยมี “สัญญารัก” กันมาก่อน โดยมีวิวรรณเป็นศัตรูหัวใจที่มาพรากความรักของทั้งคู่ไป และในมายาภาพนั้น ก็เป็นวิวรรณอีกเช่นกันที่เอากริชแทงพระเอกหนุ่มตายมาตั้งแต่ชาติปางก่อน         ด้วย “สัญญาณลวง” จากภาพอดีตชาติ แม้อณิกษ์จะมีจิตผูกปฏิพัทธ์กับโสดาญา และเกลียดวิวรรณตามเรื่องเล่าที่สินจันทร์ปั้นแต่งไว้ในความคิดคำนึงของเขาก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้ชายหนุ่มอดฉงนสนเท่ห์ไม่ได้ก็คือ ไม่ว่าเขาจะรังเกียจวิวรรณเพียงใด แต่ลึกๆ ก็อดรู้สึกห่วงหาอาวรณ์หญิงสาวไปไม่ได้ และในทางกลับกัน แม้จะรู้สึกลุ่มหลงในตัวโสดาญาเพียงใด แต่เขาก็มิอาจให้สัญญาว่าจะรักเธอคนเดียวไปได้เช่นกัน         จนกระทั่งวันหนึ่งที่อณิกษ์ได้มาพบกับ “หลวงพ่อเทียน” ที่สอนให้เขาฝึกกำหนดจิต อณิกษ์ก็ได้ล่วงรู้อดีตชาติว่า ตนคือ “พระเจ้ายศราช” แห่งนครจำปาศรีที่ยิ่งใหญ่ ยศราชพบรักกับ “แพงทอง” เจ้าหญิงแห่งเวียงสรภู ซึ่งปัจจุบันกาลคือวิวรรณผู้สมาทานตนเป็นโอปปาติกะเพื่อรอคอย “สัญญารัก” ของยศราชในทุกภพชาติ         และข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ โสดาญาในอดีตเป็นเจ้าหญิงแห่งเวียงศิลาที่แอบหลงรักยศราช จึงไหว้วานให้สินจันทร์ผู้มารดาทำพิธีนิลกาลาคีรี เพื่อให้เธอกลายเป็นอมตะและมีอำนาจเหนือสรรพชีวิตทั้งมวล กับทั้งยังทำเล่ห์เสน่หาให้ยศราชลุ่มหลง และสร้าง “สัญญาณลวง” ให้เขาเกลียดชังแพงทองไปในเวลาเดียวกัน         จนภายหลัง “วินธัยปุโรหิต” ได้เข้ามาช่วยแก้มนต์เสน่ห์ และกักขังโสดาญากับสินจันทร์ไว้จนกว่าดาวหางจะโคจรมาบรรจบโลกอีกครั้ง ทั้งคู่จึงจะเป็นอิสระ และก่อนที่ร่างของโสดาญาจะถูกจองจำ วินธัยก็ได้ตัดนิ้วทั้งห้าของนาง และนิ้วเหล่านั้นก็ได้กลายเป็นเพชรมาร์คีส์ที่หายสาบสูญไปในอากาศธาตุ         เมื่อความทรงจำอันประหนึ่งกฤษดาภินิหารเหนือจริงได้ฟื้นคืนอีกครั้ง อณิกษ์จึงได้รู้ความจริงด้วยว่า โสดาญาหาใช่มนุษย์จริงๆ ไม่ และ “ผีอู่แก้ว” ปีศาจแมงมุมทาสรับใช้ของนางแต่ปางภพก่อน ก็คือฆาตกรที่ฆ่าผู้คนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้โสดาญาสามารถรวบรวมอำนาจแห่งเพชรมาร์คีส์ทั้งห้าเม็ดกลับคืนมา         แม้เราผู้ชมจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า ถึงที่สุดแล้วอณิกษ์ก็สามารถทำลายมนต์ดำอวิชชาและกำจัดโสดาญาไปได้ พร้อมๆ กับได้ลงเอยครองคู่กับวิวรรณที่สละซึ่งสภาวะแห่งโอปปาติกะ เพื่อกลับมาเป็นมนุษย์อีกครา แต่อีกด้านหนึ่ง พล็อตเรื่องอันอัศจรรย์กับช่างซับซ้อนด้วยรักแค้นและความลุ่มหลงแบบนี้ ก็เผยให้เห็นความหมายและอานุภาพแห่งข่าวลวงข่าวปลอมไปด้วยในเวลาเดียวกัน         แม้จะย้อนกลับไปเป็นสหัสวรรษ แต่ทว่าข่าวลวงก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่คนมีอำนาจใช้ครอบครองจิตใจของผู้คน เฉกเช่นเดียวกับมนต์ลวงไสยดำที่โสดาญาพยายามฝังใส่เข้าไปในห้วงความคิดของยศราช         และที่สำคัญ เมื่อข่าวลวงนั้นผ่านการตอกย้ำสำทับกันข้ามชาติข้ามกาลเวลา ในที่สุดข่าวลวงๆ ก็จะหยั่งรากแก้วฝังลึกจนกลายเป็น “จิตสำนึกจอมปลอม” ที่ผู้มีอำนาจจะใช้เชิดชักให้เราเชื่อและยอมรับ แบบที่อณิกษ์เองก็ถูกติดตั้งโปรแกรมให้เกลียดชังนางเอกทุกภพทุกชาตินั่นเอง         จนกว่าจะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือข้อเท็จจริงใหม่มาหักล้างสามัญสำนึกปลอมๆ เหมือนที่อณิกษ์ได้ฝึกกำหนดจิตจนสัมผัสถึงความจริงที่ต่างออกไปเมื่อพันปีก่อนเท่านั้น “สัญญาณลวง” อันหล่อเลี้ยงจิตสำนึกจอมปลอม ก็จะค่อยๆ ถูกคัดง้างและลดทอนพลานุภาพของมันลงไป         โดยนัยหนึ่ง ละคร “สัญญารัก สัญญาณลวง” น่าจะยืนยันให้เห็นแก่นหลักของเรื่องที่ว่า ชะตาชีวิตของมนุษย์เราเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ดังเช่นที่วินธัยได้กล่าวกับอณิกษ์ว่า “เรื่องบางเรื่องเราไม่อาจฝืนชะตาลิขิตได้ และเรื่องบางเรื่องเราก็ต้องรอให้ถึงเวลาด้วยความอดทน และไม่อาจฝืนได้”         แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากชะตาชีวิตที่ถูกลิขิตเอาไว้นั้น เป็นเรื่องเล่าข่าวลวงที่ถูกสร้างจนเป็นสามัญสำนึกปลอมๆ แถมเป็นเรื่องลวงเรื่องปลอมที่เซาะกร่อนซึ่ง “สัญญารัก” ของเรา ก็คงถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นหันมาตอบโต้ท้าทาย “สัญญาณลวง” กันบ้าง หาไม่เช่นนั้นแล้ว แค่ถูกแชร์ข่าวผิดๆ ชีวิตก็จะเปลี่ยนจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ : แม้แต่เทวดาก็ทำผิดพลาดอยู่บ่อยไป

        ตามคติความเชื่อของคนไทยนั้น “เทวดา” ก็คือ ชาวสวรรค์ ซึ่งมีทิพยสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นกายทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ หรือลิ้มรสอาหารทิพย์ และเสวยสุขดำรงตนอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ         กระนั้นก็ดี ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดานั้น หาใช่จะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงไม่ แม้คนไทยจะมีวิธีคิดที่จำแนกความสัมพันธ์สามส่วนระหว่างสวรรค์ (ที่อยู่ของเทวดา) โลก (ที่อยู่ของมนุษย์) และนรก (ที่อยู่ของผีชั้นต่ำ) อันเป็นภพภูมิที่แบ่งพื้นที่ตามลำดับชั้นก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่สามภูมิภพนี้ก็ไม่ได้ตัดขาดจากกันแบบ “ทางใครทางมัน” เสียทีเดียว         ในนิทานพื้นบ้านสมัยก่อน ชะตากรรมของตัวละครมักถูกแทรกแซงด้วยอำนาจของเทวดาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชีวิตคู่ที่ลงเอยมักจะมีทวยเทพคอยอุ้มสมให้สมรักสมรสกันได้ ชีวิตคู่ที่ต้องพลัดพรากบางครั้งก็มักมาจากการที่เทพยดาบันดาลลมหอบให้จรจากกัน หรือแม้แต่บางทีก็แสร้งแปลงร่างปลอมตัวมายั่วล้อเล่นกับปุถุชนวิถี เฉกเช่นการเล่นตีคลีเพื่อทดสอบคุณธรรมความดีของพระสังข์ ก็เคยกระทำมาแล้วเช่นกัน         การที่ผู้คนในอดีตยอมรับและอยู่ใต้อาณัติที่จะให้ทวยเทพเทวดามากำกับการกระทำใดๆ แห่งตนแบบนี้ ด้านหนึ่งก็ด้วยมนุษย์เชื่อว่า “สวรรค์มีตา” และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนต่างกอปรขึ้นด้วยความเป็นกลาง และเป็นเทพผู้สถิตไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้จะเข้ามาแทรกแซงปริมณฑลชีวิตทางโลกของตนก็ตาม         ครั้นพอมาถึงกาลปัจจุบัน ที่เหตุผลถูกกำหนดให้อยู่เหนือความงมงาย และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กลายเป็นตรรกะสำคัญกว่าองค์ความรู้เหนือธรรมชาติแบบดั้งเดิม แต่ก็ใช่ว่าคติความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาฟ้าดินจะหายไปไม่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาเบื้องบนได้ถูกท้าทายด้วยคำถามที่ว่า จะยังคงดำรงอยู่หรือปรับแต่งแปลงโฉมหน้ากันไปอย่างไร         ละครโทรทัศน์เรื่อง “ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” ผูกเรื่องอยู่บนพื้นฐานปาฏิหาริย์แห่งความรักของนางเอก “อรรพี” ที่ต้องสูญเสีย “ภาคย์” ผู้เป็นสามี จากเหตุการณ์อุบัติเหตุเครื่องบินตก ในขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์ แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น การตายของภาคย์กลับเกิดจากความผิดพลาดจากการทำงานของสรวงสวรรค์         ในขณะที่มนุษย์โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง “บิ๊กดาต้า” หรือปริมาณข้อมูลอันมหาศาล ที่ท่วมบ่าและซัดกระหน่ำเข้ามา จนบางครั้งก็ยากเกินกว่าที่ชีวิตประจำวันของคนเราจะปรับตัวตามทัน สภาพการณ์ดังกล่าวก็เลยล่วงเข้าไปสู่สรวงสวรรค์ทั้งเจ็ดชั้นโดยด้วยเช่นกัน                  เมื่อต้องเผชิญหน้ากับบิ๊กดาต้าที่ถาโถมท่วมท้น ภาระงานอันล้นมือและการประมวลผลข้อมูลที่ผิดพลาดของ “เทวา” เทวดาอินเทิร์นผู้สถิตอยู่บนสวรรค์ จึงเกิดสภาวะ “เออเร่อร์” และส่งผลให้ภาคย์ต้องเสียชีวิตก่อนอายุขัย ดังนั้น “หน่วยเหนือ” ผู้เป็นต้นสังกัด จึงบัญชาให้เทวาส่งภาคย์กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง         ด้วยเหตุดังนี้ ภาคย์ก็ได้กลับมาเกิดในร่างใหม่ของ “ทิชงค์” บุตรชายของ “ชนา” ผู้ชอบทำบุญเข้าวัดเป็นประจำ โดยเงื่อนไขที่เทวากำหนดไว้ให้กับภาคย์ก็คือ เขาจะมีเวลาบนโลกมนุษย์ได้เพียง 24 ปีเท่านั้น และหากวันใดที่ภาคย์ไม่ตระหนักถึงการกระทำความดี เขาก็จะพลัดพรากจากอรรพีไปตลอดกาล         จากนั้น 23 ปีผ่านไปไวยิ่งกว่าโกหก อรรพีได้เข้ามาดูแลบริษัท “ลมติดปีก” ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่าเครื่องบินเล็กแบบไม่หวังผลกำไร และเป็นจิตอาสาที่คอยบินไปรับอวัยวะจากผู้บริจาค เพื่อไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย โดยมี “อิสร์” เพื่อนรักของภาคย์คอยดูแลให้กำลังใจอรรพีอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ในตอนท้ายเรื่อง ละครจะเฉลยว่า อิสร์เองกลับเป็นคนร้ายและเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคย์เสียชีวิตเช่นกัน         และเพราะผูกพันกันมาแต่ปางก่อน ในภพใหม่นี้ ทิชงค์ที่เป็นเพื่อนรักกับ “ภาม” บุตรชายของอรรพีและภาคย์ จึงได้หวนกลับมา “เกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” อีกคำรบหนึ่ง โดยมีเทวาที่ถูกลงโทษให้กลายมาเป็นบัดดี้เทวดาประจำตัว และคอยสนับสนุนให้เขาทำความดี เพื่อแลกกับความทรงจำในชาติภพก่อนให้กลับคืนมา         จากโครงเรื่องที่ผูกเปลาะปมเอาไว้เช่นนี้ ในด้านหนึ่งเราก็ยังได้เห็นอำนาจของเทวดาที่สามารถแทรกแซงความรักและการพลัดพรากของปัจเจกบุคคลให้อยู่ใต้อาณัติได้ ไม่แตกต่างจากคติความเชื่อที่คนไทยสมัยก่อนเคยยึดถือเป็นเรื่องเล่ากันมา         แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลาเปลี่ยนไป และโลกทัศน์ของผู้คนก้าวหน้าขึ้น ละครโทรทัศน์ก็ได้ฉายภาพความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ที่นางเอกอรรพีสามารถสวมบทบาทเป็นนักบินหญิงได้เฉกเช่นบุรุษเพศ หรือได้เห็นความรักข้ามรุ่นของอรรพีกับพระเอกหนุ่มรุ่นลูก ที่กลายเป็นเรื่องยอมรับกันได้แล้วในสังคมปัจจุบัน         และภายใต้บริบทแห่งโลกทัศน์ที่ก้าวหน้าเปลี่ยนไปอีกเช่นกัน ภาพของเทวดาและอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนก็มีอันต้องผันตัวตามไปด้วย เริ่มตั้งแต่ฉากของสรวงสวรรค์ซึ่งถูกรังสรรค์ไว้จนกลายเป็นยูโทเปียอันทันสมัย ที่มีทั้งน้ำพุกลางลานและลิฟต์กลขับเคลื่อน เทวดาต่างปรากฏตนแบบหล่อเท่ในชุดสูทสีขาว แถมยังสวมบทบาทเป็นมัคคุเทศก์หนุ่มพาวิญญาณพระเอกเดินทัวร์วิมานสวรรค์ตั้งแต่ฉากต้นๆ ของเรื่อง         ที่ชวนขบขันยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แม้จะกลายสภาพเป็นแดนสวรรค์อันทันสมัย แต่ใจกลางหลักแห่งปัญหาทั้งหมดของเรื่อง ก็ล้วนมาจากโปรแกรมการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลที่ผิดพลาดเออเร่อร์ของเทวดา ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลางที่สุดในการพิพากษากำหนดความเป็นไปของทุกชีวิตบนโลกมนุษย์นั่นเอง         พร้อมๆ กันนั้น ในขณะที่ความศักดิ์สิทธิ์ในยุคเก่าก่อนธำรงอำนาจได้ก็ด้วยความยุติธรรมไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่พอทุกวันนี้ที่ปุถุชนเริ่มตั้งคำถามต่อความเป็นกลางว่า ยังเป็นจริงอยู่ได้ถึงระดับใด ปฏิบัติการของเทวดาจึงไม่ต้องหมกเม็ดอำพรางความเป็นอัตวิสัยส่วนตนกันอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับที่เทวาเองก็เลือกเข้าข้าง แสดงออกทั้งดีใจ เสียใจ และร่วมลุ้นภารกิจความรักของพระเอกนางเอกกันอย่างออกหน้าออกตา         จะว่าไปแล้ว โดยแกนหลักของเรื่องที่พระเอกกลับมาเกิดในร่างชายหนุ่มในภพชาติใหม่ ก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์กับผู้ชมว่า ชีวิตคนเราล้วนสั้นนักและไม่แน่นอน อันเป็นนัยตอกย้ำให้เราตระหนักถึงการมุ่งมั่นทำความดี เช่นเดียวกับทิชงค์ที่ได้พูดกับอรรพีในฉากใกล้หมดเวลาของเขาในตอนท้ายเรื่องว่า “เรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นเรื่องจริง ขอเพียงศรัทธาในความดีก็พอ”         แต่ก็อีกเช่นกัน หากการทำคุณงามความดีตามคติความเชื่อของคนไทย จะมีเทวดาอารักษ์คอยบริบาลคุ้มครอง หรือแม้แต่แทรกแซงชะตาชีวิตโดยที่มนุษย์มิอาจสำเหนียกได้ แต่สำหรับในยุคที่ความเป็นกลางเริ่มถูกตั้งคำถาม และความยุติธรรมมีแนวโน้มจะถูกท้าทาย อำนาจของทวยเทพเทวดาก็อาจไม่ได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์อีกต่อไป เพราะในทุกวันนี้ แม้แต่เทวดาก็เออเร่อร์และตัดสินผิดพลาดได้บ่อยไป

อ่านเพิ่มเติม >