ฉบับที่ 235 พยากรณ์ซ่อนรัก : มีความลับที่อยู่ในใจ เป็นความลับที่อยู่ข้างใน...

        “ความลับ” ก็คือ เรื่องบางเรื่องที่ไม่เล่าไม่บอกออกไปสู่สาธารณะ หรือเป็นความจริงที่มิอาจเปิดเผยได้ แต่จริงๆ แล้ว บ่อยครั้งที่ความลับเองมักพ่วงพามาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ของบุคคลผู้เป็นเจ้าของแห่งความลับนั้นๆ ด้วยเหตุฉะนี้ หากใครก็ตามสามารถเข้าไปสัมผัสล่วงรู้ความลับของบุคคลอื่น ก็อาจหมายถึงการเข้าไปละเมิดล่วงยังพรมแดนแห่งอำนาจหรือผลประโยชน์ของบุคคลนั้นเช่นกัน         ละครโทรทัศน์เรื่อง “พยากรณ์ซ่อนรัก” เป็นตัวอย่างรูปธรรมของการตั้งข้อถกเถียงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความลับ อำนาจ และผลประโยชน์แห่งปัจเจกบุคคล         โครงเรื่องหลักของละครดำเนินไปบนตรรกะพื้นฐานที่ว่า “มนุษย์ทุกคนต่างก็มีความลับ” อันสะท้อนนัยทางสังคมว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างคนเรานั้น มีลักษณะเหมือนเป็น “เหรียญสองด้าน” ที่พลิกไปมาระหว่างด้านแห่งความเป็น “หน้าฉาก” กับอีกด้านที่เป็น “หลังฉาก”          ในขณะที่ “หน้าฉาก” หรือเสี้ยวส่วนที่คนเรายินยอมเผยให้คนอื่นสัมผัสได้ เพราะเราเองก็มีอำนาจกำหนดเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ “หลังฉาก” ก็คือ ส่วนเสี้ยวที่ความลับถูกซุกซ่อนเก็บไว้ โดยที่เรามิปรารถนาจะให้ใครอื่นมากล้ำกรายสัมผัสถึง         และเพราะความลับเป็นสิ่งที่ปกปิดอำพรางไว้หลังฉากของชีวิตสามัญชนคนทั่วไป เมื่อ “โรสิตา” หรือ “โรส” นางเอกสาวผู้สืบทอดศาสตร์แห่งการพยากรณ์ มีความสามารถเข้าไปล่วงรู้ความลับของบุคคลที่สามอื่นๆ ทำให้เธอต้องเผชิญกับด้านมืดแห่งการเก็บงำความลับที่ใครต่อใครพากันซ่อนเร้นเอาไว้         เนื่องจากศาสตร์แห่งการพยากรณ์ถือเป็นองค์ความรู้ที่ให้คำตอบในสิ่งที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไม่อาจพิสูจน์ได้ และยังเป็นศาสตร์ที่แตกสายพันธุ์ออกไปได้มากมายหลายประเภท ละครก็เลยเลือกสร้างให้โรสเป็นเทพธิดาพยากรณ์แห่ง “กุพชกศาสตร์” หรือผู้มีความสามารถสื่อสารกับดอกกุหลาบ และใช้ดอกกุหลาบทำนายความลับแห่งโชคชะตาของมนุษย์ได้ ด้วยตรรกะที่โรสได้กล่าวเอาไว้ว่า “ไม่มีอะไรในโลกที่กุหลาบไม่รู้ อยู่ที่ว่ากุหลาบจะบอกเราหรือเปล่า”         ละครเริ่มต้นเรื่องด้วยฉากงานวันเปิดตัวคอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ของ “พัสสิตา” ที่เชิญโรสให้มาร่วมทำนายดวงชะตาให้กับผู้มีเกียรติในแวดวงชนชั้นนำหลายคนที่ร่วมอยู่ในงาน         ในขณะที่ปุถุชนคนทั่วไปต่างก็มี “ความลับที่ฉันซ่อนไว้ ไม่เคยบอกใคร จนอดใจไม่ไหว” อยู่นั้น ยิ่งหากเป็นกลุ่มคนชั้นนำของสังคมด้วยแล้ว คนกลุ่มนี้ยิ่งจะ “มีความลับที่อยู่ในใจ เป็นความลับที่อยู่ข้างใน” และ “เป็นความลับที่เปิดเผยไม่ได้” ทับทวีคูณขึ้นไปอีก         ดังนั้น หลังจากที่โรสเข้าไปพยากรณ์การเลือกดอกกุหลาบ และเข้าไปล่วงรู้บางส่วนแห่งโชคชะตาทั้งในอดีตและในอนาคตของบรรดาเซเลบริตี้หลายคน ชีวิตของโรสก็เลยตกอยู่ในอันตราย เพราะความลับในชะตากรรมของคนชั้นนำเหล่านี้ต่างสัมพันธ์กับผลประโยชน์อันมากมายมหาศาลของพวกเธอและเขา         เริ่มต้นจาก “ไลลา” สาวนักเรียนนอกผู้กลายมาเป็นดีไซเนอร์ระดับโลก ที่ต้องปกปิดความลับแห่งตัวตนและอัตลักษณ์ว่า อดีตของเธอก็คือ “อีกลอย” สาวอีสานบ้านนอกที่เคยมีสามีเป็นชาวต่างชาติ และชุบตัวเองได้ดิบได้ดีจนมาเป็นเจ้าของห้องเสื้อแบรนด์ดัง         คนที่สองคือ “นันทวดี” ภรรยาของ “นายพลวัฒนา” ที่อดีตเคยผลักพี่สาวตกน้ำจนเสียชีวิต เพื่อจะได้ครอบครองหัวใจของท่านนายพลไว้เพียงผู้เดียว ความลับที่อาจถูกเผยออกมาของเธอจึงเกี่ยวพันกับสถานะครอบครัวและชีวิตคู่ที่ช่างไม่มั่นคงแต่อย่างใด         คนถัดมาคือ “รินรดี” ดาราสาวที่หน้าฉากสวมบทบาทเป็นนางเอกที่แสนดี เก่งกล้า มีความสามารถรอบตัว แต่อีกฝั่งฟากหนึ่ง เธอก็มีหลังฉากเป็นอนุภรรยาเก็บของ “ธนพล” สามีนักธุรกิจของพัสสิตาซึ่งเป็นผู้จัดงานเปิดโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ครั้งนี้ หน้าฉากและหลังฉากที่เสมือน “คนละโลก” ดังกล่าว แน่นอนย่อมมีผลต่อชื่อเสียงและความมั่นคงทางอาชีพในแวดวงบันเทิงของเธอ         อีกคนหนึ่งก็คือ “วุฒิกร” นักการเมืองระดับรัฐมนตรี ที่แม้ฉากหน้าจะดูเป็นคนที่ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน แต่เบื้องหลังกลับกลายเป็นชายโฉดที่ใช้มูลนิธิบ้านสงเคราะห์เยาวชนเป็นแหล่งหาเด็กผู้หญิงมาปรนเปรอทางเพศ ความลับเรื่องการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กหญิงที่อาจถูกเผยออกมา ก็ย่อมทำให้อำนาจและตำแหน่งทางการเมืองของเขาสั่นคลอนได้         และคนสุดท้ายก็คือธนพล นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เพื่อผลประโยชน์แล้ว เขาสามารถทำทุกอย่างได้ ตั้งแต่หลอกลวงภรรยา ไปจนถึงลอบฆ่า “ครูสมปอง” ผู้ที่ล่วงรู้ความลับว่า นายทุนใหญ่รายนี้คอยเป็นนายหน้าจัดส่งเด็กผู้หญิงป้อนบำเรอกามารมณ์ของรัฐมนตรีวุฒิกร เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนทางธุรกิจของตน         ตัวละครในกลุ่มคนชั้นนำมากมาย ต่างก็มีความลับที่สัมพันธ์กับอำนาจและผลประโยชน์ เพราะกว่าที่พวกเธอและเขาจะขึ้นมามีฐานะทางเศรษฐกิจและทุนสัญลักษณ์ชื่อเสียงหน้าตา หน้าตักของคนกลุ่มนี้ก็สูงยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น เมื่อโรสมีนิมิตหยั่งรู้ความลับที่ปกปิดไว้ ก็เท่ากับไปสร้างแรงกระเทือนต่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้ที่วางแผนไล่ล่าเพื่อปิดปากนางเอกของเราในทุกวิถีทาง        และที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่โรสเข้าไปสัมผัสรู้ชะตาชีวิตของผู้อื่น แต่อีกด้านหนึ่ง แม้แต่ตัวเธอเองก็มีความลับบางอย่างที่ซ่อนเร้นเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อ “ธีรุตม์” พระเอกของเรื่องเลือกหยิบดอกกุหลาบมาให้โรสเสี่ยงทาย โรสก็ไม่เพียงแต่ได้เห็นชะตาชีวิตของเขา หากยังสัมผัสถึงความลับแห่งอนาคตที่ชายหนุ่มผู้นี้ได้ถูกลิขิตให้กลายมาเป็นคู่ชีวิตของเธอในฉากจบ         ในขณะที่แก่นแกนของละคร “พยากรณ์ซ่อนรัก” ดูจะยืนยันในประโยคที่ตัวละครทั้งหลายต่างพูดย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า “ไม่มีใครหนีโชคชะตาพ้น แม้แต่กับคนทำนายโชคชะตา” และบทบาทของผู้พยากรณ์ดวงชะตาก็ต้องยืนอยู่บนหลักการที่ว่า “คนเราเปลี่ยนแปลงโชคชะตาไม่ได้ แต่ผ่อนหนักเป็นเบาได้” แต่คู่ขนานกันไปกับความคิดดังกล่าว ละครก็ทำให้เราเรียนรู้ว่า ความลับที่ไม่ลับช่างมีความหมายบางอย่างแฝงฝังอยู่มากมาย         อันที่จริง คนไทยสมัยก่อนเคยให้คำตอบเรื่องความลับเอาไว้ว่า “ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด” หรือ “หากน้ำลดเดี๋ยวตอก็จะผุดขึ้นมาเอง” เพราะ “ความลับย่อมไม่มีในโลก” แต่ถึงที่สุดแล้ว ตราบใดที่ความลับของบุคคลมีผลประโยชน์กำกับเอาไว้เป็นเบื้องหลัง ตราบนั้นเจ้าของความลับที่ยิ่งเป็นคนชั้นนำที่อยู่ “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาความลับ อำนาจ และผลประโยชน์แห่งตนเอาไว้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 อุ้มรักเกมลวง : มดลูกในความคาดหวังของสังคม

        ตามความเข้าใจของคนเรา มดลูกก็คืออวัยวะสืบพันธุ์ของสตรี และเป็นปัจจัยการผลิตที่ก่อกำเนิดทรัพยากรมนุษย์รุ่นใหม่ๆ มาทำหน้าที่สืบต่อระบบสังคมออกไป แต่แม้มดลูกจะเป็นอวัยวะที่ดูหลบเร้นในหลืบลึกของร่างกายผู้หญิง ก็ใช่ว่าพื้นที่อันลึกลับในร่างกายนี้ จะปลอดซึ่งอำนาจและความคาดหวังของสังคม        พลันที่มนุษย์เราถือกำเนิดชีวิตขึ้นมาบนโลกใบนี้ สังคมก็เริ่มต้นกำหนดความคาดหวังเอาไว้เหนือปัจเจกบุคคลโดยทันที โดยเข้าไปกำกับไว้ซึ่งความคิด พฤติกรรม การกระทำ จนถึงจิตใจและองคาพยพทุกส่วนในร่างกายของคนเรา         ไม่ต่างจากการผูกปมความสัมพันธ์ของมนุษย์ในละครโทรทัศน์เรื่อง “อุ้มรักเกมลวง” ที่พันผูกให้ชีวิตตัวละครได้เรียนรู้ถึงอิทธิพลแห่งความคาดหวังของสังคมที่มีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตของปัจเจกบุคคล โดยพล็อตเรื่องราวย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่นของนางเอกสาว “กชมน” หรือ “เกี้ยว” ผู้กำกับละครเวทีนักศึกษา ซึ่งเริ่มต้นเรื่องได้บอกเลิก “สิบทิศ” แฟนหนุ่มที่คบหากันอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และทั้งคู่ก็ห่างหายร้างราจากกันไป         จากนั้นสิบห้าปีให้หลัง กชมนได้กลายมาเป็นผู้กำกับหนังโฆษณาและละครซีรีส์ และเป็นเจ้าของสมญา “ป้ามั่น” แม้เธอจะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในอาชีพการงาน แต่ฝันร้ายของการบอกเลิกรากับสิบทิศก็ยังคอยตามหลอกหลอนกชมนอยู่ตลอดเวลา         ในขณะที่สิบทิศได้แต่งงานกับ “ปิ่นปัก” ผู้หญิงทำงานที่ตั้งใจลาออกจากงานเพื่อมาทำหน้าที่ภรรยาอย่างเต็มตัว กชมนกลับยังครองตัวเป็นโสดในวัยที่ตัวเลขอายุเริ่มมากขึ้น โดยมีก็แต่ “เพียงพันแสง” เพื่อนเกย์หนุ่มคนสนิทที่คอยปรับทุกข์ระหว่างกัน ไม่ต่างจากเพื่อนสาวคนหนึ่งที่ยืนอยู่เคียงข้างเธอ         บนเส้นทางที่เดินหน้าโลดแล่นไปของชีวิตตัวละครนั้น ละครก็ได้วางพล็อตให้บุคคลทั้งสี่คนมีเหตุให้ต้องโคจรมาร่วมชะตากรรมหลักเดียวกันของเรื่อง ที่ตัวละครต้องดำรงตนอยู่ภายใต้ข้อเรียกร้องบางอย่างของสังคม โดยเริ่มต้นจากสิบทิศและปิ่นปักที่แม้จะแต่งงานสร้างครอบครัวไปแล้ว แต่สังคมก็ยังคงกำกับความคาดหวังต่อไปอีกว่า ชีวิตครอบครัวที่จะสมบูรณ์ได้ต้องกอปรด้วยความสัมพันธ์ที่ครบแบบ “พ่อแม่ลูก” เท่านั้น         ส่วนเกย์หนุ่มอย่างเพียงพันแสงก็เช่นกัน เขามีชีวิตอยู่บนความคาดหวังของบิดาว่า การเป็นบุตรชายคนเดียวนั้น มีภาระหน้าที่ต้องแต่งงานกับผู้หญิงสักคนเพื่อมีทายาทไว้สืบสกุล ดังนั้น ไม่เพียงแต่เขาจะต้องปกปิดความลับเรื่องเพศวิถีต่อบุพการีแล้ว อีกด้านหนึ่ง เขาก็ได้วางแผนยื่นข้อเสนอต่อกชมนให้รับเป็น “แม่อุ้มบุญ” และเป็นภรรยากำมะลอ เพื่อสนองความคาดหวังที่มาจากคนรอบข้าง        และแน่นอน สำหรับกชมนที่ตัวเลขอายุเฉียดใกล้เลขสี่เข้าไปนั้น การตัดสินใจรับข้อเสนอเป็นแม่อุ้มบุญให้เพื่อนเกย์ ก็เพียงเพื่อตอบโจทย์ของสังคมที่ว่า ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานแล้ว ก็ควรจะมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ มิเช่นนั้นก็ต้องก้าวเท้าเข้าไปใช้ชีวิตใน “คานทองนิเวศน์” อยู่อย่างเดียวดาย         แม้ในบทบาทของผู้กำกับละครหญิง กชมนอาจมีอำนาจเขียนบทและกำกับโชคชะตาของตัวละครที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาได้ แต่กับชีวิตจริงนั้น ความรักและชีวิตคู่หาใช่สิ่งที่มนุษย์เราจะมีอำนาจจับมาออกแบบวางเรียงได้แบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์         จากความคาดหวังของสังคมที่เข้ามากำกับอยู่นั้น ตัวละครทั้งหมดได้ใช้การทำกิฟต์เป็นคำตอบ และด้วยการตัดสินใจใช้วิธีปฏิสนธิเทียมเช่นนี้เอง ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวละครทั้งสี่ได้ช่วยสืบต่อลมหายใจให้สังคมดำรงและดำเนินต่อไปได้เท่านั้น หากแต่ยังทำให้ตัวแทนของสถาบันสังคมอย่างการแพทย์สมัยใหม่ ได้เข้ามามีอำนาจกำกับควบคุมความคิด การกระทำ ไปจนถึงแม้แต่อวัยวะที่เรียกว่ามดลูกของผู้หญิง         หลังจากที่ตัวละครเลือกยินยอมให้อำนาจและความคาดหวังของสังคมเข้ามากำกับชีวิตของปัจเจก บททดสอบใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นโดย “เอมิกา” ซึ่งแค้นใจที่กชมนวางแผนล่มงานวิวาห์ของเธอกับ “ฌาน” จนพังไม่เป็นท่า จึงได้วางแผนสลับตัวอ่อนผสมเทียมกันในครรภ์ของกชมนกับปิ่นปัก         บททดสอบใหม่ดังกล่าวก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ทั้งตัวอ่อน การตั้งครรภ์ และปฏิบัติการทั้งหลายของการปฏิสนธิในมดลูกของผู้หญิง ไม่เคยที่จะปลอดซึ่งอำนาจที่สังคมจะเข้าไปกำกับบงการได้เลย         จะด้วยเหตุผลที่ต้องการแกล้งคนรักเก่าอย่างสิบทิศ หรือหมั่นไส้ปิ่นปักที่ร่ำร้องให้เธอช่วยดูแลตัวอ่อนของลูกที่สลับอยู่ในครรภ์เป็นอย่างดี แต่ที่แน่ๆ ในจิตใจลึกๆ แล้ว เพราะกชมนเองก็เชื่อว่า สิทธิในร่างกายและมดลูกของเธอ เธอเองก็น่าที่จะมีอำนาจเข้าไปกำหนด เราจึงเห็นภาพปฏิบัติการแห่ง “อนารยะขัดขืน” ที่กชมนลุกขึ้นมาท้าทายบรรทัดฐานของสังคมที่มีต่อร่างกายของผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์         ไม่ว่าจะเป็นการสนุกสนานเฮฮากับการร้องเต้นในวงคาราโอเกะ สวมรองเท้าส้นสูงเดินไปมา ดื่มกาแฟถ้วยแล้วถ้วยเล่า ไปจนถึงกินปูดองและอาหารเสาะท้อง ที่ด้านหนึ่งก็ดูขบขัน แต่อีกด้านก็เพื่อจะยืนยันสิทธิเหนือร่างกายภายใต้ความคาดหวังที่สังคมถาโถมให้ผู้หญิงพึงต้องปฏิบัติตาม โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความคาดหวังนั้นขีดขึ้นเมื่อไร และเขียนขึ้นโดยใคร        ในขณะที่ทุกคนได้รางวัลจากการสมาทานตนต่อความคาดหวังของสังคม เหมือนที่สิบทิศและปิ่นปักก็ได้ทารกแสนน่ารักมาเป็น “โซ่ทองคล้องใจ” หรือเพียงพันแสงที่ได้ลูกชายไว้สืบสายสกุลให้กับบิดา จะมีก็แต่กชมนที่กลับพบว่า การเลือกขัดขืนต่อกฎเกณฑ์ของสังคม ทำให้เธอเองกลายเป็น “คนที่ไม่มีใครเลย” เหมือนกับที่กชมนได้เคยตัดพ้อว่า “ทุกคนมารุมวุ่นวายกับฉัน แล้วก็ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการไป ฉันไม่ได้อะไรเลยนะ…”         ตามบทสรุปของละครนั้น คำตอบของปัจเจกบุคคลอาจไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการสมยอมหรือปฏิเสธต่อความคาดหวังของสังคม หากแต่อยู่ที่ว่า ภายใต้อำนาจของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มา “รุมวุ่นวาย” เหนือร่างกายและจิตใจของเรานั้น เราจะรอมชอมหรือต่อรองกับความคาดหวังดังกล่าวได้อย่างไร         ดังนั้น พลันที่หมอหนุ่มรูปหล่ออย่าง “เจษ” ปรากฏตัวขึ้น พร้อมกับสอนให้กชมนเริ่มรู้สึก “รักตัวเอง” และบอกกับเธอว่า “ขออยู่กินกาแฟด้วยทุกเช้านะ” ในความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้ กชมนก็ค้นพบว่า หากความคาดหวังแห่งสังคมเข้ามาล่วงลึกได้ถึงมดลูกในฐานะปัจจัยแห่งการผลิตของสตรี การลงเอยกับสูตินารีแพทย์หนุ่มก็น่าจะย้อนศรให้เธอได้เข้าไปต่อรองกับชายผู้มีความรู้เหนืออวัยวะที่ลึกลับที่สุดในความเป็นเพศหญิง        ประหนึ่งเดียวกับเสียงก้องในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งกชมนพูดขึ้นหลังจากเข้าใจที่จะต่อรองกับพลังแห่งความคาดหวังของสังคมว่า “ก่อนที่ฉันจะเริ่มใหม่ ฉันก็ต้องเชื่อใจในความรักเสียก่อน ฉันต้องวางเรื่องเก่าๆ เอาไว้ ก่อนที่จะวางใจไปกับใครสักคน และฉันก็เพิ่งรู้ว่า เมื่อเราพร้อม เราถึงจะเจอคนที่ใช่...”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 อกเกือบหักแอบรักคุณสามี : เพราะผู้หญิง...แซ่บจริงไม่มโน

        ว่ากันว่า เบื้องหลังความสำเร็จของบุรุษเพศมักมีเงาของผู้หญิงคอยผลักดันและต่อสู้อยู่ข้างหลังเสมอ และด้วยตรรกะดังกล่าวนี้ ละครโทรทัศน์อย่าง “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี” ที่ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นเรื่องเล่ากุ๊กกิ๊กโรแมนติกหวานแหวว แต่ลึกลงไปกว่านั้น ละครได้ให้คำตอบที่น่าขบคิดว่า ผู้หญิงผู้ชายได้จัดวางความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างกันและกันไว้เช่นไร         โครงเรื่องของละครเริ่มต้นด้วยเสียงก้องในห้วงความคิดของ “เมย” หรือ “นทีริน” นางเอกของเรื่อง ที่สะท้อนทัศนะอันลุ่มลึกแห่งปรัชญาเหตุผลนิยมที่ก่อตัวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ว่า “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหตุผลของมันเสมอ”          เพราะฉะนั้น การที่เมยได้มาประสบพบเจอกับพระเอกหนุ่ม “เธียร” หรือ “เธียรวัฒน์” เธอได้ตกหลุมรักเขาตั้งแต่เป็นน้องรหัสสมัยเรียนมัธยม ได้เข้ามาอาศัยอยู่เป็น “น้องสาวนอกไส้” ในบ้านของพี่เธียร จนถึงมีความจำเป็นที่ทั้งคู่ต้องลงเอยได้แต่งงานกันกันนั้น ก็หาใช่ด้วย “เหตุบังเอิญ” ในชีวิตไม่ แต่เป็นเพราะด้วย “เหตุผล” บางอย่างที่เข้ามากำหนดความเป็นไปในชีวิตของชายหนุ่มหญิงสาวต่างหาก         หากคิดตามหลักพุทธศาสนา เหตุผลที่คนสองคนได้มาพบกันและตกลงแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน ก็มักมาจากเงื่อนไขเรื่องกรรมที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อน แต่ทว่าละครหาได้ยืนยันในเหตุแห่งกรรมไม่ หากแต่ใช้คำอธิบายเหตุผลจากการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศมาเป็นแกนหลักมากกว่า         ในสนามรบระหว่างเพศหญิงชายนั้น โดยปกติแล้ว ตัวละครหนุ่มหล่อเลือกได้ มีการศึกษาดี ฐานะร่ำรวย และเลิศเลอเพอร์เฟ็คแบบเธียรวัฒน์ ที่คอยถอดเสื้อโชว์ซิกซ์แพ็คเพื่อ “คืนกำไร” ให้แก่ผู้ชมอยู่เนืองๆ นั้น มักถูกวาดให้เป็นตัวแทนของ “ชายในฝัน” ที่สตรีทั้งหลายมุ่งมาดหมายตาให้มาเป็น “สามีในจินตนาการ”        และเพราะเป็น “สามีในฝัน” เยี่ยงนี้เอง บุรุษเพศที่สมบูรณ์แบบก็มักจะมีอหังการบางอย่างซึ่งเชื่อว่า ตนคือผู้มีอำนาจคุมเกมความสัมพันธ์กับผู้หญิงทั้งมวลให้ “อกเกือบหักที่มาแอบรักเขา” ได้ ยิ่งเมื่อเธียรวัฒน์ดำเนินอาชีพเป็นสถาปนิกด้วยแล้ว เขาจึงเชื่อมั่นว่า นทีรินก็คงไม่ต่างจากผู้หญิงคนหนึ่งที่สามารถกำกับควบคุมชะตาชีวิตได้ เฉกเช่นการจับวางสรรพสิ่งที่อยู่ในงานสถาปนิกออกแบบของเขานั่นเอง         กระนั้นก็ดี ท่ามกลางม่านควันแห่งอคติที่บังตาบุรุษเพศอย่างเธียรวัฒน์อยู่นั้น ละครกลับเผยให้เห็นว่า อีกด้านหนึ่งในเกมแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ผู้หญิงเองก็หาใช่จะจำนนสมยอมเสมอไป หากแต่มีสถานะเป็นผู้เดินเกมได้ ทั้งๆ ที่เล่นอยู่บนหมากกระดานเดียวกัน        สำหรับพระเอกหนุ่มแล้ว อย่างน้อยก็มีผู้หญิงสามคนที่เข้ามาร่วมเดินหมากบนกระดาน แถมเป็นกระดานเกมที่เธอๆ เหล่านี้ให้บทเรียนกับเธียรวัฒน์ได้อย่าง “ดุเด็ดเผ็ดแซ่บจริงไม่มโน” กันเลยทีเดียว         “ศจี” มารดาของเธียรวัฒน์ ก็คือ ผู้หญิงคนแรกที่สาธิตให้เห็นการวางกลเกมในการจัดการบุตรชายให้อยู่หมัด เมื่อเธียรวัฒน์พลั้งเผลอไปมีสัมพันธ์ลับๆ กับ “ญาดา” ภรรยาของ “พลเดช” นักการเมืองผู้มีอิทธิพล จนเขาถูกขู่อาฆาตจะฆ่าให้ตาย คุณศจีจึงเลือกใช้อำนาจบังคับให้บุตรชายของตนแต่งงานเสียกับเมย         ด้วยสถานะของสตรีผู้ให้กำเนิด อำนาจของคุณศจีสามารถบังคับให้เธียรวัฒน์จดทะเบียนสมรสกับเมย ผู้หญิงที่เขาไม่เคยคิดจะผาดตามองในฐานะคนรักมาก่อน แม้พระเอกหนุ่มแอบซ้อนกลวางแผนที่จะหย่าขาดกับเมยในภายหลัง แต่ความชาญฉลาดเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของบุตรชาย คุณศจีก็จัดการกับเขาได้ทุกครั้ง         ผู้หญิงคนถัดมาก็คือ ญาดา ผู้ที่เธียรวัฒน์แอบไปมีความสัมพันธ์ด้วย ที่ผ่านมาญาดาเองก็ถูกสามีอย่างพลเดชมองว่า เธอเป็นประหนึ่ง “วัตถุสิ่งของ” มากกว่าจะเป็น “มนุษย์” เพศหญิงที่มีชีวิตเลือดเนื้อ ฉากที่พลเดชกระทำทารุณเหนือทั้งร่างกายและจิตใจของญาดา ก็ส่อให้เห็นทัศนะของผู้ชายบางคนที่เชื่อว่า หลังวันแต่งงาน ผู้หญิงก็มีสถานะเป็นเพียงทรัพย์สินภายใต้ปกครองของเขาเท่านั้น         ด้วยเหตุฉะนี้ การที่ญาดาพยายามเอาชนะเกมพิชิตหัวใจของเธียรวัฒน์ ก็มีนัยแห่ง “สงครามตัวแทน” ที่ผู้หญิงอยากจะกำชัยเหนือบุรุษเพศ แบบเดียวกับที่เธอรำพึงกับตนเองเมื่อเข้าสู่สนามประลองระหว่างเพศว่า “พี่เลือกเล่นเกมนี้แล้ว ยังไงพี่ก็ต้องชนะ และพนันได้เลยว่า ยังไงเธียรก็ต้องแพ้พี่...”        และที่น่าสนใจ เมื่อถึงฉากท้ายของเรื่องที่พลเดชถูก “ปริวัตถ์” พี่ชายของเธียรวัฒน์ ซ้อนแผนตัดปีกตัดหางและสั่งสอนจนปางตาย ญาดาก็เลือกจะใช้สูตร “how to ทิ้ง” เขาไปแบบไร้เยื่อใยไมตรี พร้อมกับเสียงประกาศอิสรภาพของสตรีปรากฏในห้วงคำนึงที่ก้องขึ้นมาว่า “ในวันที่ฉันไม่เหลือใคร คนที่คอยกอดปลอบฉันก็คือตัวฉันเอง ตอนนี้สิ่งที่ฉันทำได้เพียงอย่างเดียวก็คือ กลับมารักตัวเองอีกครั้ง...”         ส่วนผู้หญิงคนสุดท้ายที่มาร่วมปะทะต่อกรอำนาจกับเธียรวัฒน์ก็คือ นางเอกอย่างเมย แม้เธียรวัฒน์จะรู้จักเมยมานับสิบปี และเชื่อมั่นตลอดว่า เขาสามารถกำกับชีวิตเมยไว้ได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ แบบเดียวกับที่เขาชอบสั่งให้เมยทำนั่นทำนี่ แต่ทว่า อีกด้านของความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกนางเอก เรากลับเห็นถึงกลยุทธ์ทางอำนาจของเมยที่จะพิชิตหัวใจชายหนุ่มที่เธอหลงรักตั้งแต่แรกเจอ          ในฉากแรกๆ เมยอาจจะดูเป็นเพียงผู้หญิงเปิ่นๆ ที่ไม่เข้าตากรรมการ แต่พลันที่เธอสวมบทบาทเป็นแฮคเกอร์เล่นล่อเอาเถิดหลอกเธียรวัฒน์จนเสียศูนย์บนโลกไซเบอร์สเปซ สถาปนิกหนุ่มที่เคยมองว่า ตนควบคุมบงการหญิงสาวได้ ก็ถึงกับเปรยขึ้นมาว่า “คนที่เราคิดว่ารู้จักมาทั้งชีวิต อาจจะเป็นคนที่เราไม่รู้จักเค้าเลย...”         ยิ่งเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไป และทั้งคู่ได้โคจรมาเจอกันที่ไซต์งานเมืองทวาย เมยก็ถือโอกาส “ประกาศเจตนารมณ์จีบพี่เธียร” ในทุกวิถีทาง ตั้งแต่จำลองฉากโรแมนติกท่องเที่ยวทัวร์รอบพม่า แต่งกลอนเกี้ยวพาชมโฉมสามีหนุ่ม ไปจนถึงใช้สายตาลวนลามให้ชายหนุ่มได้กลายเป็น “วัตถุทางเพศแห่งการจ้องมอง”         ที่สำคัญ การเฉลยความจริงท้ายเรื่องว่า หากนิยายโรมานซ์ทั่วไป ต้องเป็นพระเอกที่ปกป้องชีวิตนางเอกผู้อ่อนแอ แต่ในชีวิตคู่ของเมย กลับเป็นนางเอกต่างหากที่ลุกขึ้นมาเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องพระเอกหนุ่มครั้งแล้วครั้งเล่าได้ไม่แตกต่างกันเลย         อย่างไรก็ดี แม้เรื่องเล่าแบบโรมานซ์มักจะลงเอยฉากจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งกันถ้วนหน้า แต่กว่าที่เรื่องเล่าจะดำเนินมาถึงบทสรุปอันสุขสมอารมณ์หมายเช่นนี้ ยุทธการจัดการกับ “สามีในฝัน” อย่างเธียรวัฒน์ คงไม่ใช่เกิดขึ้นบน “เหตุบังเอิญ” แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจาก “เหตุผล” ที่ผู้หญิงขอมีส่วนร่วมจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ซึ่งหาใช่การอ้างสิทธิ์ว่าเป็นอำนาจของผู้ชายแต่เพียงเพศเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 เล่ห์บรรพกาล : ความลับแห่งเวลาที่มนุษย์มิควรจะหยั่งรู้

        นักคิดบางคนเคยกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า “เวลา” เป็นประหนึ่ง “แอ่ง” หรือ “ภาชนะ” ที่บรรจุไว้ซึ่งการกระทำใดๆ ของมนุษย์ นั่นแปลว่า ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา ต้องมีเงื่อนไขของเวลาเป็น “ภาชนะ” รองรับกำหนดไว้เสมอ         หากคนไทยมีคำพูดเตือนใจว่า จะทำการอันใดก็ต้องรู้จัก “กาลเทศะ” แล้ว นอกเหนือจากบริบทของ “เทศะ” หรือพื้นที่ เราเองก็ต้องพึงสำเหนียกว่า เรื่องของ “กาละ” หรือเวลา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามากำกับความคิดและพฤติกรรมของคนเราด้วยเช่นกัน          ด้วยเหตุที่การกระทำของมนุษย์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของเวลาเช่นนี้ จึงมีความพยายามของคนบางคนที่ต้องการมีอำนาจจะเอาชนะเวลา และความปรารถนาที่จะกำชัยเหนือกาลเวลาดังกล่าวนี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักในละครแนวดรามาสืบสวนสอบสวนแบบข้ามภพข้ามชาติเรื่อง “เล่ห์บรรพกาล”         ละครเปิดฉากปูเรื่องจากภาพยุคสมัยปัจจุบัน ที่ได้เกิดเหตุการณ์ตึกถล่มกลางกรุง และปรากฏอักขระลึกลับโบราณอยู่ในสถานที่เกิดเหตุดังกล่าว เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสนเท่ห์ใจให้กับพระเอกหนุ่ม “เพลิงฟ้า” นักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 6 และยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้มารู้จักพบเจอกับนางเอก “สิตางศุ์” หรือชื่อเล่นก็คือ “ตัวไหน” อาจารย์สาวนักประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง         หลังจากครั้งนั้น ก็เริ่มมีเหตุการณ์ที่ตัวละครใกล้ชิดรอบข้างพระเอกของเราถูกฆ่าตายไปทีละคน และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมนั้น ยิ่งเพลิงฟ้าสืบสาวคดีไปมากเท่าไร เขาก็ยิ่งพบว่า เรื่องราวจะต้องเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับ “อดุล” ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์ และ “ปักบุญ” ภรรยาสาวลึกลับที่มีสัมผัสพิเศษกับอดีต         เมื่อตัวละครทั้งสี่คนได้เวียนวนมาบรรจบพบเจอกัน นอกจากละครจะยืนยันให้เห็นวัฏสงสารแห่งกรรมที่ทุกคนเคยร่วมทำกันมาในแต่ละชาติภพ แต่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้วัฏจักรแห่งกรรมที่ร้อยรัดกันไว้นี้เอง เพลิงฟ้าและปักบุญจึงเป็นสองตัวละครที่สามารถหยั่งรู้มีพลังที่มองเห็นอดีตชาติของตนได้         ความผูกพันของตัวละครสี่คนพันผูกโยงไปราวๆ พันปีก่อน เมื่อเพลิงฟ้าที่ปางก่อนคือ “ท้าวราวิ” แห่งเมืองไวสาลี นักเวทย์หนุ่มผู้มีอาคมแก่กล้าได้มาพบรัก และเลือกเข้าพิธีเสกสมรสกับ “นางพญาศศิณา” แห่งเมืองอรุณา ซึ่งชาติปัจจุบันก็กลับมาเกิดเป็นสิตางศุ์         ความรักของราวิและศศิณาได้ก่อตัวเป็นความแค้นในหัวใจของสตรีอีกนางอย่าง “ทิณสรี” หรือปักบุญในชาติภพปัจจุบัน มิใช่เพราะเธอแอบรักราวิด้วยคิดว่าตนเป็นเนื้อคู่กันมาแต่ชาติก่อนเท่านั้น แต่เพราะเธอถูกเล่ห์กลลวงของ “ท้าววาร” ที่วางแผนให้ “ความรักอันบังตา” กลายมาเป็นความแค้นชนิดที่ “จะเจ็บจำไปถึงปรโลก” กันเลยทีเดียว        เบื้องหลังของท้าววาร หรือศาสตราจารย์อดุลในปัจจุบันนั้น เป็นผู้ที่มักใหญ่ใฝ่สูง และเพราะด้วยเป็นผู้ชำนาญในอาถรรพเวท ท้าววารจึงปรารถนาจะสร้างและปลุกเสกเทวรูป “กาลเทพ” ที่ใครก็ตามหากได้ครอบครอง คนผู้นั้นก็จะมีอำนาจรับรู้ทุกห้วงกาลเวลา ที่มิใช่แค่เห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หากยังควบคุมกาลเวลาของมนุษยชาติได้          เมื่อท้าววารเป็นจุดเริ่มต้นของปมชั่วร้ายแห่ง “เล่ห์บรรพกาล” และราวิเองก็ตระหนักว่า ความลับแห่งเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์มิอาจรู้ หรือมิบังควรที่จะล่วงรู้แต่อย่างใด เขาจึงวางแผนขัดขวางพิธีกรรมปลุกเสกองค์กาลเทพ จนสามารถสังหารท้าววาร พร้อมๆ กับสละชีพของตนให้ถูกเพลิงไหม้พร้อมไปกับการฝังความลับของเทวรูปเอาไว้นับเป็นพันปี         แต่เพราะโลภะโทสะโมหะเองก็สามารถข้ามผ่านกาลเวลาได้ เมื่อก้าวเข้าสู่ภพชาติใหม่ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ราวิและศศิณาจึงได้กลับมาเกิดเป็น “ขุนอุทัยโยธิน” และ “แม่หญิงดวงแข” ผู้ที่ยังคงสืบต่อภารกิจหน้าที่ในการปกป้องเทวรูปกาลเทพจาก “หมอผีบุญ” และ “บุญเหลือ” ซึ่งก็คือท้าววารและทิณสรี ผู้พกพาความอาฆาตแค้นและปรารถนาอำนาจเหนือกาลเวลา จนได้รีเทิร์นกลับมาพบกันในอีกคำรบหนึ่ง          ดังนั้น เมื่อมาถึงกาลสมัยปัจจุบัน ตัวละครได้กลับมาสะสางปมปัญหาและผลประโยชน์ซึ่งขัดแย้งกัน โดยที่ฝั่งหนึ่งก็ต้องการพิทักษ์ความลับแห่งเวลา ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มุ่งมาดจะช่วงชิงการถือครองอำนาจแห่งเวลามาเป็นของตน เรื่องราวก็ค่อยๆ เฉลยออกมาว่า ตัวละครหลากหลายชีวิตที่เข่นฆ่าประหัตประหารกันนั้น ก็สืบเหตุเนื่องมาแต่กิเลสของท้าววารที่ฝักใฝ่ในอำนาจแต่ครั้งบุรพกาลเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม หากเราพินิจพิจารณากันดีๆ ชื่อขององค์เทวรูป “กาลเทพ” อันหมายถึงองค์เทพผู้คุ้มครองดูแลกาลเวลานั้น ก็ดูจะพ้องเสียงกับคำว่า “กาฬเทพ” อันอนุมานได้ถึงพระกาฬหรือพญายม เทพเจ้าแห่งความตาย ดังนั้น วิถีแห่งกาลเวลาจึงเป็นประหนึ่งเหรียญสองด้าน ที่แม้จะสร้างสรรค์ แต่ก็พร้อมจะเป็นเพลิงเผาผลาญทำลายล้างจนนำมาซึ่งความตายได้เช่นกัน         และถึงแม้เวลาจะสามารถทำลายล้าง ดุจเดียวกับที่ตัวละครหลายชีวิตต้องพบจุดจบเพื่อเซ่นสังเวยการปลุกเสกพลังขององค์กาลเทพ แต่อีกด้านหนึ่ง แม้จะตระหนักรู้ความน่ากลัวของเวลา แต่กิเลสที่ล้นเกินในอำนาจ ก็ทำให้มนุษย์บางคนยอมสมาทานตนเองเข้าสู่ “ด้านมืด” เพื่อถือครองเอาชนะเวลาให้จงได้         เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งปักบุญผู้อยู่ในสภาพ “เวลาไม่ช่วยอะไรหากใจมันยังฝังจำ” เคยกล่าวถึงการช่วงชิงองค์เทวรูปกาลเทพว่า “ต่อให้เอาสมบัติทั้งโลกมากองรวมกัน มันก็ไม่มีค่าเท่ากับการควบคุมเวลาได้หรอก…”         จนเมื่อเรื่องราวของละครงวดเคี่ยวเข้ามาเรื่อยๆ ความจริงแห่ง “เล่ห์บรรพกาล” ก็ได้ถูกเผยออกมาว่า อดุลก็คือตัวการหลักของเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ในเรื่อง เพราะนอกจากเขาจะเชื่อว่า “คนเราเมื่อลุ่มหลงในอำนาจ ความรักอะไรก็ไม่มีความหมายทั้งสิ้น” แล้ว ด้วยเหตุผลเรื่องอำนาจอีกเช่นกัน ที่ทำให้เขากล้าจะละเมิดความลับแห่งเวลาที่มนุษย์เราไม่ควรจะล่วงรู้ได้         กับฉากท้ายเรื่องที่ร่างของอดุลถูกปักบุญฉุดลากไปทำลายจนมอดไหม้ด้วยฤทธานุภาพขององค์กาลเทพ ก่อนที่เขาจะย้อนเวียนกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งครา ก็คงบอกเป็นนัยๆ ได้ว่า อำนาจที่มนุษย์ฝักใฝ่ลุ่มหลงนั้น ช่างเวียนวนเป็นวัฏฏะที่หาใช่จะสิ้นสุดได้โดยง่าย         และที่สำคัญ เมื่อใดที่ความปรารถนาในอำนาจได้เริ่มต้นขึ้นคำรบใหม่ เมื่อนั้นสงครามช่วงชิงเพื่อครอบครองความลับแห่งเวลาที่มนุษย์มิควรรู้ ก็จะปะทุเชื้อไฟขึ้นมาครั้งใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทุ่งเสน่หา : ฤๅจะสิ้นสุดยุคชนบทโรมานซ์กันแล้ว?

        ด้วยชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ว่า “ทุ่งเสน่หา” ก็ชวนให้ผู้เขียนเข้าใจไปได้ว่า เนื้อหาของละครน่าจะผูกโยงเรื่องราวดื่มด่ำรักโรแมนติกของพระเอกนางเอก โดยมีฉากหลังเป็นท้องทุ่งบ้านนา         ไม่ต่างไปจากภาพที่เราเคยคุ้นชินกับตัวละคร “พี่คล้าว” และ “น้องทองกวาว” ที่วิ่งพลอดรักครวญเพลงกลางท้องนาว่า “…โอ้เจ้าช่อนกยูง แว่วเสียงเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ซ้ำหอมน้ำปรุงที่แก้มนงคราญ” ซึ่งปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่สร้างใหม่กันมาแล้วหลายครั้งครา         แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพินิจพิเคราะห์ลงไปในเรื่องราวของ “ทุ่งเสน่หา” แล้ว ชื่อเรื่องอาจจะฟังดูเป็นอุดมคติแบบรักโรมานซ์ของชนบทในอดีต ทว่าอันที่จริงนั้น แม้จะมีกลิ่นอายของรักโรแมนติกอยู่บ้าง แต่ลึกลงไปกว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ละครกลับซุกซ่อนความเป็นจริงบางอย่างที่ดำรงอยู่ในชุมชนชนบทไทยไว้อย่างน่าสนใจ         ย้อนกลับไปราวกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แม้ด้านหนึ่งเส้นกราฟทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีแนวโน้มจำเริญเติบโตขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจที่ทันสมัยก็ต้องแลกมาด้วยการล่มสลายของท้องถิ่นชนบทไทยภายในไม่กี่ทศวรรษถัดมา ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงเกิดอาการโหยหา “สวรรค์ที่ห่างหาย” ให้หวนกลับคืนมาสู่สำนึกการรับรู้ของตน แบบที่เห็นๆ กันในละครโทรทัศน์ชนบทโรแมนติกแนว “มนต์รักลูกทุ่ง” นั่นเอง         ก็คงไม่ต่างจากภาพบางส่วนของชุมชนบ้านทุ่งอย่าง “หนองน้ำผึ้ง” ที่เราสัมผัสเห็นจากการช่วงชิงความรักและพิชิตหัวใจหญิงงามของหมู่บ้านอย่าง “ยุพิณ” ระหว่างชายหนุ่มสองคนคือ “ไพฑูรย์” หนุ่มที่เป็นรักแรกปั๊ปปี้เลิฟกับฉากที่เขาว่ายน้ำในบึงกอบัวเพื่อมาพลอดรักกับนางเอกสาว และ “มิ่งขวัญ” อ้ายหนุ่มคนยากไร้ที่ใช้เสียงเพลงลูกทุ่งครวญบอกความในใจให้กับเธอคนเดียวที่เขาแอบรักมาทั้งชีวิต         แต่กระนั้น ภาพรักโรแมนติกที่เราสัมผัสอยู่หน้าจอ ก็ดูจะเป็นเพียง “หน้าฉาก” หวานชื่น ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องราวให้เห็นเป็นระยะๆ แบบเดียวกับชื่อละคร “ทุ่งเสน่หา” ทว่า กับโครงเรื่องหลักจริงๆ ของละครกลับหาใช่จะเป็นเล่าเรื่องราวความรักโรมานซ์ของคนชนบทอย่างเดียวไม่         พลันที่ตัวละคร “สำเภา” ปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะหญิงวัยกลางคนที่เป็นนายทุนท้องถิ่นรายใหม่ของหมู่บ้านหนองน้ำผึ้ง ละครก็ได้เผยให้เห็นอีกโฉมหน้าหนึ่ง ซึ่งเป็น “หลังฉาก” ของท้องทุ่งชนบทที่มิได้มีแต่เรื่องราวเสน่หาผูกพันรักใคร่แต่เพียงด้านเดียว        ปมปัญหาใหญ่ของเรื่องน่าจะเริ่มขึ้นเมื่อผีพนันอย่าง “บุญยืน” พ่อของยุพิณ ได้ลอบไปขโมยควายจากบ้านของสำเภาในกลางดึกคืนหนึ่ง และเพราะควายมีสถานะเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจของเกษตรกรชนบท การขโมยควายจึงไม่ต่างจากการตัดเส้นเลือดใหญ่ในการดำรงชีวิตของชาวนากันเลยทีเดียว ในแง่นี้ บุญยืนจึงมีฐานะไม่ต่างจากคนที่แม้จะ “รู้จักรักใคร่” แต่หาใช่จะ “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ไปพร้อมๆ กัน         แม้ในทางหนึ่ง “คนบ้านเดียวกันแค่มองตากันก็เข้าใจอยู่” ก็ตาม แต่สำหรับสำเภาแล้ว ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของชีวิตคน “บ้านใกล้เรือนเคียง” แบบบุญยืน กลับทำให้ตัวละครหญิงกลางคนคนนี้เริ่มระแวงสายสัมพันธ์กับคนคุ้นเคย จนถึงกับพูดเปรยด้วยความคับแค้นใจว่า “คนบ้านเดียวกันไม่น่าจะทำกันแบบนี้”         จากนั้นปฏิบัติการแก้เผ็ดแก้แค้นก็เริ่มต้นขึ้น พร้อมๆ กับการเผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า แม้แต่ในแดนดินถิ่นรักโรแมนติกของชนบทนั้น ก็คลุกเคล้าไว้ด้วย “ความขัดแย้ง” ไม่ต่างจากสังคมถิ่นอื่นทั่วไปนักหรอก         ท่ามกลาง “สวรรค์บ้านทุ่ง” อันดูสวยงามนั้น ปลาตัวใหญ่ก็ยังคอยเลาะเล็มเลือกกินเหยื่อตัวเล็กกว่าเป็นมังสาหารอยู่เป็นอาจิณ เฉกเช่นสำเภาในฐานะปลาใหญ่ก็อาศัยอำนาจบารมีและความมั่งคั่งทางฐานะเศรษฐกิจขูดรีดเอาเปรียบลูกบ้านที่อยู่ในขอบขัณฑ์ของหนองน้ำผึ้งได้ไม่ต่างกัน         เริ่มตั้งแต่การวางแผนเข้ามาจัดการชีวิตลูกชายสองคน โดยพรากยุพิณไปจากลูกชายคนรองเพื่อให้แต่งงานกับ “ไพรวัลย์” บุตรชายคนโตที่ขาพิการเป็นโปลิโอแทน นัยหนึ่งก็เพื่อแก้แค้นบุญยืนที่กล้าหยามศักดิ์ศรีคนบ้านเดียวกัน กับอีกนัยหนึ่งก็หวังจะให้ไพฑูรย์ได้ไปแต่งงานกับ “จันทร” ลูกสาวของ “จำเรียง” เจ้าของโรงสีข้าวที่มีฐานะทางการเงินทัดเทียมกับครอบครัวของสำเภามากกว่า         ในแง่นี้ สถานะทางเศรษฐกิจจึงกลายมาเป็นตัวแปรที่ใช้จำแนกชนชั้นของคนชนบทออกจากกัน และยังเป็นปัจจัยนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทับทวีคูณระหว่างตัวละครแห่งบ้านทุ่งบ้านนาอันแสนเปี่ยมสุข เหมือนกับฉากที่ยุพิณปะทะคารมกับเพื่อนที่กลายมาเป็นศัตรูหัวใจอย่างจันทร ซึ่งลึกๆ แล้วก็คาดหวังจะครอบครองฉกชิงไพฑูรย์ไปจากเธอ         “เจ็บตัวมันยังน้อยกว่าเจ็บใจ ความเจ็บใจที่มีเพื่อนรักทรยศคอยแทงข้างหลง มันคือที่สุดของความเจ็บใจ” และ “คนอย่างมึงไม่มีปัญญาหาผัว ต้องให้แม่เอาเงินมาซื้อ” ก็เป็นคำพูดของยุพิณที่บอกนัยได้ชัดเจนว่า มิตรภาพในหมู่คนชนบทเอง ในบางครั้งก็เป็นเพียงสายสัมพันธ์ที่วางอยู่บนบางเงื่อนไขเช่นกัน         ยิ่งไปกว่านั้น หากพี่คล้าวและน้องทองกวาวเคยใช้ “สวรรค์บ้านทุ่ง” เป็นตัวจักรยึดโยงสำนึกรักบ้านเกิดเอาไว้ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่ในฉากชนบทของบ้านหนองน้ำผึ้งนั้น แรงเกาะเกี่ยวดังกล่าวกำลังถูกท้าทายจากแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ เพราะตัวละครที่หลากหลายในเรื่องต่างก็มีแนวโน้มจะพร้อมใจละทิ้งท้องทุ่งรวงทอง เพื่อไปแสวงหาชีวิตในสังคมเมืองที่ดูจะมั่งคั่งมั่นคงกว่า         ไม่ว่าจะเป็นไพฑูรย์ที่ภายหลังจันทรเสียชีวิตลง ก็เลือกจะมาแต่งงานออกเรือนกับ “จันทร” อดีตน้องสะใภ้ เพื่อดูแลกิจการโรงสีข้าวที่ตัวเมืองปากน้ำโพ หรือมิ่งขวัญที่ภายหลังออกจากเกณฑ์ทหารแล้ว ก็เลือกจะลงหลักปักฐานเซ้งตึกเพื่อเปิดร้านข้าวมันไก่สูตรเด็ด ก่อนจะได้มาลงเอยครองรักกับยุพิณ ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นเจ้าของบิวตี้ซาลอนชื่อดังของจังหวัดนครสวรรค์         และที่น่าสนใจก็คือตัวละคร “แก้วใจ” เด็กสาวกะโปโลแห่งท้องทุ่งบ้านนา ที่สำเภาเองก็รักเหมือนลูกเหมือนหลาน แต่เธอก็พร้อมที่จะ “ไปเป็นนักร้องให้เขาล้วงมันเจ็บในทรวงไม่หาย” หรือแม้แต่เลือกไปแสวงโชคแต่งงานอยู่กินกับสามีฝรั่งยังเมืองนอกเมืองนา         ในทางหนึ่งนั้น ละครเองก็พยายามจะยืนยันความเชื่อที่ว่า “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้” เหมือนกับเพลงลูกทุ่งที่มิ่งขวัญร้องเกี้ยวยุพิณตลอดทั้งเรื่อง หรือแม้แต่จะสร้างภาพว่า อ้ายหนุ่มบ้านนาต่างมีรักแท้ที่แสนมั่นคง เหมือนกับที่มิ่งขวัญเองก็พูดว่า “ต่อให้การรักเอ็งมันต้องเสียใจไปทุกวัน ข้าก็จะรักเอ็ง”          แต่ในท้ายที่สุดแล้ว กลิ่นอายความรักของชนบทที่คละเคล้าไว้ด้วยความขัดแย้งที่ซับซ้อน การขูดรีดผลประโยชน์ การวางแผนหลอกลวง ไปจนถึงการล่มสลายแห่งการละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ก็อาจจะตั้งคำถามกับเราๆ ได้ว่า หรือนี่อาจจะเป็นภาพแบบใหม่ของชุมชนชนบทที่หาใช่รักโรแมนติกแบบที่เราเคยรับรู้กันมา?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ผมอาถรรพ์ : ผม...ใครคิดว่าไม่สำคัญ

        ผม” มีสถานะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของร่างกายมนุษย์ แม้ว่าตามนิยามในพจนานุกรมจะมองว่า เส้นผมเป็นเพียงแค่ “ขนที่ขึ้นอยู่บนศีรษะ” หากทว่าผมก็อาจมีความสำคัญเกินกว่าที่เราจะตระหนักรู้ได้ โดยเฉพาะกับบรรดาคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย         ในละครโทรทัศน์แนวภูตผีเรื่อง “ผมอาถรรพ์” ก็ดูเหมือนจะออกแบบเนื้อหาให้เวียนวนอยู่กับความสำคัญของเส้นผมที่ขึ้นอยู่บนหนังศีรษะของผู้หญิงและคนเรา แบบเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง         เรื่องของเส้นผมที่ “ใครๆ อาจคิดว่าไม่สำคัญ” เริ่มขึ้นเมื่อเกิดเหตุ “เกศินี” นางแบบสาวสวยที่กำลังโด่งดังเปรี้ยงปร้าง ได้ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงมาจากคอนโดหรูของเธอ แม้หลักฐานของตำรวจจะยืนยันว่า เกศินีฆ่าตัวตายเอง แต่เพื่อนสนิทของเธอที่ชื่อ “มินตรา” กลับไม่ยอมรับ และเห็นว่า นั่นน่าจะเป็นฆาตกรรมอำพรางมากกว่า โดยมีพระเอกหนุ่มไฮโซอย่าง “กวิน” เป็นผู้ต้องสงสัยนับจากฉากเปิดเรื่อง         ด้วยเลือกจะฝืนอำนาจแห่งยมทูตไม่ให้นำพาดวงวิญญาณของเธอไปยังปรภพ เกศินีจึงกลายสภาพเป็นวิญญาณผีเร่ร่อนและโดดเดี่ยว เมื่ออีกด้านหนึ่งเธอเองก็ไม่หลงเหลือไฟล์ความทรงจำว่า เกิดอะไรขึ้นในวันที่เธอร่วงหล่นมาจากตึกจนเสียชีวิต         คู่ขนานไปกับการดำรงอยู่เป็นวิญญาณเร่ร่อนเดียวดายนั้น อีกเงื่อนปมหนึ่งซึ่งละครได้ผูกเกลียวไว้ ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “เจน” แฟนคลับโรคจิตที่เคยมีเรื่องโกรธแค้นเกศินีตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ลอบมาเปิดโลงศพ และตัดผมอันยาวสลวยที่เกศินีทั้งรักทั้งหวงไปจากศพของเธอ เพื่อจะนำไปทำวิกผม         แต่เพราะเส้นผมเป็นสิ่งที่เกศินีรักยิ่งชีวิต วิญญาณของเธอจึงได้เข้ามาสิงสถิตอยู่ในวิกผม และเปล่งอำนาจคืนชีพขึ้นมา เพื่อสืบค้นความจริงเรื่องการฆาตกรรม และแก้แค้นตัวละครทั้งหลายที่เคยทำร้ายจนเป็นต้นเหตุให้วิญญาณเธอถูกพรากออกไปจากร่างก่อนวัยอันควร         ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เกศินีถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในวังวนของการถูกกระทำทั้งกาย วาจา และจิตใจ เพราะเมื่อเธอต้องเล่นบทบาททางอาชีพเป็นดารานางแบบชื่อดัง ทั้งความงาม เรือนร่าง และเส้นผมสีดำสลวยของเธอ ก็ไม่ต่างจาก “ปัจจัยการผลิต” อันนำมาซึ่งรายได้และชื่อเสียง แต่ในเวลาเดียวกัน ความงามและเส้นผมก็กลายเป็นภัยคุกคามที่รายล้อมอยู่รอบตัวเธอตลอดเวลา         ตั้งแต่การต้องกลายเป็นศัตรูกับคนในแวดวงนางแบบอย่าง “เจ๊จิ๋ว” และ “แพรทอง” ผู้ทำให้เกศินีเรียนรู้ว่า ในสังคมเยี่ยงนี้ มนุษย์อาจไม่มีมิตรแท้ หากแต่เป็นศัตรูที่มาแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างกัน หรือการที่เกศินีถูกหักหลังจาก “หยก” พี่เลี้ยงนางแบบที่เธอไว้ใจ แต่อีกด้านก็เป็นประหนึ่ง “แม่เล้าไฮโซ” ที่คอยจัดหานางแบบสาวๆ มาป้อนบำเรอแก่ “เสี่ยมงคล”         และยิ่งไปกว่านั้น การที่เธอแอบคบหากับ “ปกรณ์” ช่างภาพหนุ่ม ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็ให้บทเรียนแก่เกศินีว่า “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” เพราะเขาเองไม่เพียงแต่อยู่เบื้องหลังเป็นฆาตกรที่ผลักเธอตกตึกจนถึงแก่ชีวิต หากทว่ายังหลอกใช้เธอ ไม่ว่าจะตอนยังมีลมหายใจ หรือแม้จะตายกลายเป็นวิญญาณผีร้าย ก็ยังถูกชายคนรักหลอกเลี้ยงไว้เป็นเครื่องมือก้าวขึ้นสู่อำนาจและความมั่งคั่งร่ำรวย        เพราะที่ผ่านมา ชีวิตของเกศินีแทบจะหาคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจจริงๆ ได้เลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตายลง เธอก็ยังถูกพรากเส้นผมอันเป็นของรักของหวงออกไปจากเรือนร่างที่ไร้ชีวิตอีก จึงไม่แปลกที่ความแค้นอันสั่งสมเหล่านี้ ทำให้จิตสำนึกที่ฝังลึกในใจของเธอค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป         หากเราย้อนกลับไปดูวิธีคิดของสังคมยุคก่อน เส้นผมกับผู้หญิงถือเป็นตัวแปรที่ต่างกำหนดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน บทชมโฉมนางในวรรณคดีก็ไม่พ้นต้องมีการชื่นชมเส้นเกศเกศาของอิสตรี หรือเครื่องประดับของทั้งชนชั้นสูงและชาวบ้านก็ต้องมีส่วนที่เกี่ยวพันกับเส้นผมของผู้หญิงอยู่เสมอ         ด้วยเหตุนี้ เส้นผมจึงเป็นเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์ตัวตนของสตรีเพศ ขณะเดียวกับที่ผู้หญิงก็ดูจะมีความรื่นรมย์ในการบำรุงรักษาเส้นผมของเธอมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ และที่สำคัญ ทุกครั้งที่สังคมจะมีการลงทัณฑ์ต่อสตรีผู้มีวิถีปฏิบัติเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐาน การกล้อนผมเพื่อประจานต่อสาธารณะ ก็เป็นหนึ่งในกุศโลบายแห่งการใช้อำนาจที่สังคมกระทำต่อร่างกายและจิตใจของผู้หญิง        เนื่องจากเส้นผมกลายเป็น “ปัจจัยการผลิต” ของผู้หญิง ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สังคมยุคอดีต ดังนั้น การพรากเอาเส้นผมที่เกศินีรักยิ่งไปจากร่างที่ไร้ชีวิตของเธอ จึงไม่ต่างไปจากการลงโทษลงทัณฑ์ที่สังคมกระหน่ำทำร้ายตัวละครที่เป็นวิญญาณผีเร่ร่อนอยู่นั่นเอง        เหตุแห่งปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นที่มาที่วิญญาณของเกศินีต้องออกอาละวาดเข่นฆ่าทุกตัวละคร ซึ่งต่างเป็นต้นเหตุแห่งความอาฆาตแค้น ด้วยวิธีบีบบังคับให้ใครต่อใครสวมวิกผมอาถรรพ์ เพื่อกำกับควบคุมร่างกายและจิตวิญญาณของจำเลยเหล่านั้น พร้อมกับประโยคที่เธอกำกับสั่งการว่า “สวมวิกเดี๋ยวนี้...!!!”         ภายใต้อำนาจอาถรรพ์แห่งวิกผมที่ตอบโต้ต่อกรกับอำนาจของสังคมที่กระทำต่อวิญญาณเกศินี เธอเองก็ได้คำตอบเมื่อเริ่มลิ้มรสของการเข่นฆ่าครั้งนี้ว่า “มันอาจจะยากตอนแรก แต่ตอนหลังมันก็เริ่มง่าย และมันทำให้ฉันมีความสุขมาก...ฉันจะส่งคนเลวๆ ที่รังแกฉันให้ตายไปลงนรกทุกคน”        การออกไล่ล่าและเข่นฆ่าตัวละครที่ตกเป็นจำเลยของเกศินีคนแล้วคนเล่า อาจสื่อความเป็นนัยได้ว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือหมดสิ้นลมปราณไป พวกเธอก็ยากจะหลุดพ้นจากบ่วงของกติกาอำนาจบางอย่างที่สังคมเข้ามากำกับเอาไว้ แต่เมื่อเธอได้ลิ้มรสชาติความรู้สึกแห่งการลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจนั้น แม้อาจจะยากในช่วงแรก แต่ก็ไม่ยากเกินไปนักที่ผู้หญิงจะเริ่มต้นและเรียนรู้แต่อย่างใด         มาถึงฉากจบของเรื่อง ในด้านหนึ่งละครก็ยังเลือกใช้สูตรสำเร็จแบบเดิมๆ ที่พระเอกหนุ่มกวินกับนางเอกสาวมินตราได้ลงเอยครองคู่กันอย่างมีความสุข หรือฉายภาพไฟแค้นที่มอดไหม้ลงของเกศินี หลังจากที่เธอได้ฆ่าปกรณ์คนรักหนุ่มให้ตายตกไปตามกัน พร้อมๆ กับเสียงอโหสิกรรมที่เกศินีกล่าวโทษตนเองว่า เธอเป็นคนผิดตั้งแต่เริ่มต้นไปรักเขา จนเป็นเหตุให้ “เพราะรักจึงยอมไว้ใจ” และ “เพราะรักจึงยอมทุกอย่าง”         แต่ถึงกระนั้น อย่างน้อยละครก็เปิดมุมเล็กๆ ให้เกศินีได้ไตร่ตรองและทดลองเรียนรู้ว่า หาก “ชีวิตที่เป็นของผู้หญิง” “จิตวิญญาณที่เป็นของผู้หญิง” หรือ “เส้นผมที่เป็นของผู้หญิง” ถ้าผู้หญิงไม่ลุกขึ้นมาพิทักษ์ปกป้องสิทธิบนร่างกายและจิตวิญญาณของเธอเองแล้ว กลไกอำนาจบางอย่างก็พร้อมจะพรากสิทธิอันชอบธรรมเหล่านั้นไปจากร่างและวิญญาณของพวกเธอเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ซ่อนเงารัก : และแล้วการเมืองก็เป็นเรื่องของคนต่างวัย

                ไม่มีพื้นที่ใดในอาณาบริเวณทางสังคมที่จะปราศจาก “การเมือง” หรอก เพราะแม้แต่ในพื้นที่ที่ดู “ปลอดการเมือง” ที่สุดอย่างโลกบันเทิงคดีเฉกเช่นละครโทรทัศน์ ก็ยังเป็นสนามที่คลุกเคล้าไว้ด้วยภาพ “การต่อสู้ทางการเมือง” อย่างเข้มข้นทีเดียว        แม้ในทางรัฐศาสตร์มักจะเชื่อกันว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการและจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ดำรงอยู่ในปริมณฑลกว้างๆ เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตัวแสดงหลักคือภาครัฐและนักการเมืองทั้งหลาย แต่ทว่าในบางครั้งเอง การเมืองก็ปรากฏอยู่ได้แม้แต่กับเรื่องเล็กๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา         และรูปธรรมหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองในสนามเล็กๆ ก็ฉายออกมาผ่านสมรภูมิความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนต่างรุ่น ต่างวัย หรือต่างเจนเนอเรชัน แบบที่เราได้รับชมผ่านความบันเทิงของละครโทรทัศน์เรื่อง “ซ่อนเงารัก” นี่เอง        โดยโครงของละครแนวโรแมนติกดราม่าเรื่องนี้ ผูกเรื่องราวของ “เพียงขวัญ” หญิงสาวผู้มีอดีตอันเลวร้ายที่ถูกกระทำจาก “แทนไท” ที่ขืนใจจนเธอตั้งท้องโดยไม่เต็มใจ และ “เจ้าสัวธำรง” พ่อของแทนไทเอง ก็ยังเป็นตัวแปรหลักที่สั่งฆ่ามารดาของเพียงขวัญ เธอจึงหลบหนีจากคฤหาสน์ของเจ้าสัวธำรง และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่เป็น “นลิน” เพื่อลบความทรงจำในอดีตทิ้งไปจนหมดสิ้น        แต่ปมของเรื่องได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อนลินคลอดลูกฝาแฝดชายหญิงออกมา และยิ่งเมื่อเธอตระหนักว่า เจ้าสัวธำรงกดดันให้แทนไทมีทายาทชายไว้สืบตระกูลและสืบต่อธุรกิจกลุ่มทุนจีน นลินจึงต้องการแก้แค้นโดยปกปิดความจริงเรื่องลูกชาย และจงใจเลี้ยงลูกทั้งสองให้เป็นฝาแฝดหญิงทั้งคู่ โดยตั้งชื่อลูกว่า “ขวัญเอย” กับ “ขวัญมา” พร้อมอำพรางไม่ให้ใครรู้ว่าขวัญเอยมีโครโมโซมแบบ XY         เพียงเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์และความปรารถนาในอำนาจของกลุ่มคนรุ่นก่อน ได้ก่อกลายเป็นชนวนที่ขยายไปสู่ “การเมือง” ชนิดใหม่ อันเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายกับตัวละครรุ่นลูกหลานอย่างขวัญเอย ขวัญมา รวมไปถึง “ดุจดาว” น้องสาวต่างมารดาของฝาแฝดชายหญิง        เพราะความต้องการเอาชนะบิดาของลูกฝาแฝดกลายเป็นทิฐิที่แบกเอาไว้อยู่บนบ่า ภายหลังจากให้กำเนิดหนึ่งในบุตรแฝดเป็นเพศชาย นลินก็เลือกที่จะไม่เลี้ยงลูกในสิ่งที่ลูกเป็น เธอเข้ามาเข้มงวดกับชีวิตขวัญเอย ไม่ให้เขาได้เข้าโรงเรียนหรือไปพบปะกับโลกภายนอก ล่วงจนถึงบังคับให้ขวัญเอยกินยาคุม เพื่อเปลี่ยนให้ร่างของลูกชายกลายสภาพเป็นผู้หญิง         ในแง่ดังกล่าวนี้ ยาคุมที่บังคับให้ขวัญเอยกิน จึงไม่เพียงถูกใช้เป็นกุศโลบายที่จะเอาชนะแทนไทและเจ้าสัวธำรงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกควบคุมเพศสรีระ เพื่อที่แม่จะได้มีอำนาจปกครองร่างกายและจิตใจของลูกชายให้อยู่ใต้อาณัติบงการนั่นเอง         แต่เพราะปัจเจกบุคคลไม่ได้มีด้านที่ยอมจำนนแก่อำนาจเสมอไป ดังนั้น แม้จะถูกมารดากำหนดบงการร่างกาย แต่จิตวิญญาณอันเสรีก็ทำให้ขวัญเอยดิ้นรนต่อสู้กับสภาวะดังกล่าวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแอบเอายาคุมไปทิ้ง การแอบไปเล่นเตะฟุตบอลแบบเด็กผู้ชายกับ “อนุชิต” คุณลุงข้างบ้าน รวมไปถึงการสืบค้นจนพบเจอกับแทนไทบิดาผู้ให้กำเนิดของตน         ภายหลังเมื่อได้ย้ายมาอยู่กับบิดาและเจ้าสัวธำรงผู้เป็นอากง ทั้งขวัญเอยและขวัญมาก็ยิ่งตกไปอยู่ท่ามกลางการสัประยุทธ์กันของบุพการีและญาติผู้ใหญ่ โดยมี “เหนือเมฆ” พระเอกหนุ่มของเรื่องถูกลากโยงเข้ามาเป็นหมากอีกตัวหนึ่งบนกระดานการเมืองของคนรุ่นก่อน         และเพราะคนรุ่นก่อนสนุกสนานกับการขับเคี่ยวช่วงชิงชัยชนะระหว่างกัน โดยไม่สนใจเลยว่า การต่อสู้ห้ำหั่นกันดังกล่าวจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงชะตากรรมหรืออนาคตของลูกหลานแต่อย่างใด ถึงที่สุดแล้ว ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่คนรุ่นก่อนต้องหันมาเผชิญหน้ากับคนรุ่นใหม่ที่ต่างวัยไปโดยปริยาย         เหมือนกับที่ขวัญมามิอาจรับได้ที่นลินพยายามพรากชายคนรักอย่างเหนือเมฆให้ไปคบหากับขวัญเอย โดยปิดบังความลับเรื่องเพศกำเนิดไม่ให้พระเอกหนุ่มรับรู้ ดังฉากที่เธอระเบิดอารมณ์ใส่มารดาว่า “แม่ตั้งใจจะแก้แค้นป๊า ตั้งใจจะให้ป๊าเจ็บ...แม่ไม่เคยห่วงความรู้สึกของเอยเลย ปากแม่ก็บอกว่ารักเราสองคน แต่ดูสิ่งที่แม่ทำสิ แม่ทำลายชีวิตของเราสองคน...แม่ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น...”         เฉกเช่นเดียวกับที่เจ้าสัวธำรงบริภาษต่อว่าขวัญเอยที่ “ลดศักดิ์ศรี” ของบุรุษเพศไปแต่งตัวเป็นหญิง จนดุจดาวน้องสาวต่างมารดาปะทุอารมณ์ใส่คุณปู่เจ้าสัวว่า “สมัยนี้นะคะอากง ผู้ชายจะแต่งตัวเป็นผู้หญิงก็ได้ ผู้หญิงจะแต่งตัวเป็นผู้ชายก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องลดศักดิ์ศรีหรืออะไรเลย แล้วอากงรู้หรือยังว่า ผู้หญิงกับผู้ชายมีค่าความเป็นคนเท่ากัน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร แต่ดาวว่าอากงไม่รู้หรอกค่ะ เพราะว่าอากงโลกแคบใจแคบ...”         และแม้ในภายหลัง ขวัญเอยจะเลือกหนีจากเกมการเมืองของคนรุ่นก่อน โดยไปแต่งงานอยู่กินกับ “ริต้า” สาวน้อยรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจอดีตหรือเพศวิถีของสามี เพียงเพราะ “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม” แต่นลินก็ยังเดินเกมกีดกันความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง และขัดขวางไม่ให้ริต้ามีหลานไว้สืบสกุล จนมุมมองของผู้ชมหลายคนอาจจะต้องเลือกติดแฮชแท็ก “#saveริต้า” กันเลยทีเดียว        ภาพของการเมืองระหว่างเจนเนอเรชันที่ละครได้ฉายให้เห็นอยู่เป็นระลอกแล้วระลอกเล่าเยี่ยงนี้ แท้จริงแล้วก็สะท้อนความขัดแย้งของกลุ่มคนสองฝักฝ่าย ที่ฝั่งหนึ่งคือคนรุ่นก่อนอย่างนลินผู้อ้างความชอบธรรมว่า “ฉันอุ้มท้องให้แกเกิดมา...” หรือ “แม่เลี้ยงของแม่มา...” และคุณปู่เจ้าสัวผู้สำทับวิธีมองโลกแบบที่ว่า “คนในตระกูลชั้น ชั้นจะทำอะไรก็ได้...” กับอีกฝั่งหนึ่งของคนต่างรุ่นที่พยายามจะสื่อความว่า ชะตาชีวิตของตนหรือคนรุ่นใหม่ ก็น่าจะเป็นพวกเธอและเขาที่มีสิทธิ์และอำนาจจะกำหนดเดินได้เอง         ความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างถือตรรกะอันแตกต่างกันคนละขั้วเช่นนี้ ในที่สุดแล้ว ละครก็เลือกเสนอทางออกของปัญหาด้วยโศกนาฏกรรมการจบชีวิตลงของขวัญเอยในตอนท้ายเรื่อง กว่าที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะได้ย้อนหวนกลับมาคิดทบทวนตนเอง         หากละครโทรทัศน์เป็นแอ่งรองรับประสบการณ์ร่วมกันแห่งยุคสมัยของผู้คนที่ชัดเจนที่สุดแล้ว การเมืองระหว่างคนต่างรุ่นต่างวัยที่มีตัวแสดงเป็นฝาแฝดพี่น้อง ก็อาจเป็นบทเรียนให้เราลองหันมาสะท้อนย้อนคิดถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัว ไปจนถึงภาพที่กว้างขึ้นของสังคมไทยโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เรือนไหมมัจจุราช : เสียงเล็กๆ ของคนไร้สิทธิ์เสียง

                สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นสังคมที่กอปรขึ้นด้วยความหลากหลายของกลุ่มวัฒนธรรม และบนความหลากหลายนี้เอง จึงเกิดเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร        แน่นอนว่า เมื่อความแตกต่างโคจรมาบรรจบพบกัน ความสัมพันธ์จึงออกมาได้แบบ “ทั้งรักและทั้งเกลียด” ที่บางช่วงก็ปรองดองหวานชื่น ในขณะที่บางจังหวะก็อาจจะขัดแย้งกันเข้มข้น ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มสังคมที่แตกต่างหาใช่จะมีสถานะเชิงอำนาจที่เสมอภาคทัดเทียมกันไม่        รูปธรรมที่ดูจะชัดเจนที่สุดในการสะท้อนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมนี้ ก็น่าจะเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นนำที่มีอำนาจกำกับความเป็นไปในสังคม กับบรรดาคนชายขอบที่ถูกมองว่ามีอำนาจน้อย จนบางครั้งดูประหนึ่งจะไร้สิทธิ์เสียงที่เปล่งออกมาแต่อย่างใด         แต่ที่สำคัญ แม้ว่าในสังคมพหุวัฒนธรรมจะมีการผลักพาให้คนบางกลุ่มกลายเป็นคนนอกผู้ไร้สิทธิ์เสียง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลุ่มคนชายขอบที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจ ก็สามารถต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะสื่อสารเป็นนัยว่า เสียงเล็กๆ ที่ปลาสนาการจากอำนาจ ก็สามารถเปล่งเสียงตัวตนอัตลักษณ์ของพวกเขาออกมาได้เช่นกัน         ภาพการปะทะต่อสู้เพื่อเปล่งเสียงเล็กๆ เยี่ยงนี้ ได้รับการจำลองเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีแบบจีนล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่ใช่ แบบไทยล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่เชิง กับชื่อเรื่องที่ดูย้อนแย้งว่า “เรือนไหมมัจจุราช” ที่ดูจะมีทั้งด้านความงามของเส้นไหม กับด้านน่าสะพรึงกลัวของมัจจุราชหรือเจ้าแห่งความตาย         เปิดฉากย้อนอดีตร้อยกว่าปีมาที่คฤหาสน์เรือนใหญ่ของเจ้าของกิจการทอเส้นไหม ที่รู้จักกันในชื่อว่า “โรงทอตระกูลหย่ง” แม้จะถูกนำเสนอให้ดูเป็นสไตล์แบบจีน แต่โรงทอแห่งนี้ก็ฉายภาพของสังคมในยุคมูลนายและไพร่เอาไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยที่มี “หย่งเหม่ยซือ” เล่นบทบาทเป็น “นายแม่” ผู้ปกครองใหญ่ ซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือชีวิตบริวารทั้งมวลที่อยู่ในระบอบอุปถัมภ์ของโรงทอ         นอกจากนายแม่เหม่ยซือแล้ว อาณาจักรโรงทอยังมี “หย่งเจี้ยน” บุตรชายแท้ๆ ผู้ครองอำนาจรองจากนายแม่ และ “สไบ” กับ “พิกุล” เมียเอกเมียรองของหย่งเจี้ยน ที่เบื้องหลังก็พยายามแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจขึ้นเป็นใหญ่เหนืออีกฝ่ายหนึ่ง         และภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ที่ออกแบบไว้ประหนึ่งมูลนายกับไพร่เช่นนี้ เมื่อมีความขัดแย้งหรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนชั้นนำของโรงทอตระกูลหย่ง ก็จะบังเกิดผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปสู่แทบจะถ้วนทั่วทุกคนในปริมณฑลของโรงทอผ้าไหมไปด้วยเช่นกัน         เพื่อให้ระบอบใหญ่ดำเนินต่อไป โรงทอตระกูลหย่งยังได้ผูกโยงความสัมพันธ์กับกลุ่มสังคมภายนอกทั้งที่มีอำนาจเหนือกว่าและด้อยกว่า โดยในด้านแรก นายแม่เหม่ยซือก็เลือกจะยึดโยงความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับ “พระอากรภักดี” ตัวแทนส่วนกลางที่เอื้อต่อการทำธุรกิจซื้อขายผ้าไหมจากโรงทอ         และในเวลาเดียวกัน เมื่อโรงทอผ้าไหมเกิดวิกฤติขาดซึ่งปัจจัยการผลิตหรือเส้นไหมที่มีคุณภาพมาป้อนโรงทอ นายแม่เหม่ยซือจึงจัดแจงส่ง “หย่งชาง” คุณชายคนรองของเรือนไปติดต่อผูกสัมพันธ์กับชุมชนชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่ชำนาญด้านการเลี้ยงหนอนไหมชั้นเลิศ โดยหวังว่าชาวเมี่ยนจะยินยอมจิ้มก้องส่งหนอนไหมมาเป็นวัตถุดิบการผลิตเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของโรงทอตระกูลหย่ง         แม้โรงทอตระกูลหย่งจะเข้าไปผูกวางความสัมพันธ์กับกลุ่มวัฒนธรรมชาวเมี่ยน แต่ถึงที่สุดแล้ว สายสัมพันธ์ดังกล่าวก็ถักทอหล่อหลอมอยู่บนโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมอีกเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อ “อาซา” และ “อาเซี้ยะ” สองสาวพี่น้องชาวเผ่าเมี่ยนมีเหตุให้ต้องเดินทางมาอาศัยชายคาคฤหาสน์ตระกูลหย่ง เพราะอาเซี้ยะได้แต่งงานเป็นภรรยาของหย่งชาง แต่ด้วยอำนาจที่กดทับขีดวงตัวตนคนนอกที่เข้ามาเยือนโรงทอผ้า ความรู้สึกของตัวละครพี่น้องชนเผ่าจึงมีเสียงก้องในใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เดินเข้าสู่ประตูโรงทอว่า “นี่คือสถานแห่งบ้านตระกูลหย่งที่ฉันปองมาสู่ ฉันยังไม่รู้เขาจะต้อนรับขับสู้เพียงไหน...!!!”         และแม้พี่น้องทั้งสองคนจะพยายามบอกใครต่อใครว่า “โปรดอย่าอิจฉาสมาชิกใหม่ของบ้านตระกูลหย่ง” ก็ตาม แต่เพราะพวกเธอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบที่อยู่รอบนอกแห่งอำนาจ สองพี่น้องจึงถูกกลั่นแกล้งจากนายแม่เหม่ยซือและตัวละครเกือบแทบจะถ้วนหน้า ที่ขยันสรรหาสรรพวิธีมากลั่นแกล้งใส่ความเพื่อจะอัปเปหิพวกเธอให้กระเด็นออกไปนอกเรือนชาน         ทว่า ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามไปก็คือ แม้แต่กับกลุ่มคนชายขอบของอำนาจ ก็ใช่ว่าจะขาดซึ่งศักยภาพในการต่อสู้แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อชำนัญการในเรื่องการเลี้ยงไหม พี่น้องชาวเมี่ยนก็จึงมีอาวุธเป็นองค์ความรู้ในการสร้างและควบคุมหนอนไหมที่เรียกว่า “จิ้นฉาน” ให้กลายเป็นพิษสงที่จะตอบโต้ต่อกรกับบรรดาตัวละครในใต้อาณัติของนายแม่เหม่ยซือ         แต่ก็นั่นอีกเช่นกัน เมื่อนายแม่เริ่มเรียนรู้ว่า คนชายขอบก็มีองค์ความรู้บางชุดที่จะเอื้อต่อการรักษาสถานะนำของตน นายแม่และเครือข่ายของเธอจึงพยายามพรากเอาตำรับความรู้โบราณของชาวเมี่ยนมาเป็นของตน โดยเฉพาะการสร้างสัตว์พิษที่เป็นยิ่งกว่าสุดยอดแห่งสัตว์พิษทั้งปวง ที่เรียกว่า “เว่ยต้ากู่” หรือ “มารเบญจพิษ” ซึ่งทั้งร้ายและ “out of control”         และเมื่อไม่มีคุณธรรมที่กำกับการใช้ความรู้และเว่ยต้ากู่ เราจึงเห็นภาพโรงทอตระกูลหย่งลุกเป็นไฟกลายเป็น “เรือนไหมมัจจุราช” ที่นายแม่เหม่ยซือและสไบผู้เป็นลูกสะใภ้เข่นฆ่าผู้คนจนนับศพไม่ถ้วนทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบรรดาชีวิตคนงานโรงทอที่ล้มตายเป็นผักปลา ชีวิตตัวละครชาวเมี่ยนอย่างอาซาและ “หมอเลี่ยว” ผู้ที่แม้จะเคยช่วยชีวิตนายแม่และพรรคพวกมาก่อน ชีวิตตัวละครรุ่นลูกหลานของตระกูลหย่ง หรือแม้แต่เข่นฆ่ากันเองจนตอนจบ จนแทบจะไม่เหลือตัวละครหลักมาให้เดินเรื่องต่อไป!!!         แต่ที่น่าชวนหัวยิ่งก็คือ หากในฉากจบของเรื่อง จะมีเฉพาะก็แต่ตัวละครที่ถูกทำให้ “เสียสติ” อย่างพิกุล หรือ “ความทรงจำเสื่อม” อย่างหย่งเจี้ยน ที่คิดกลับตัวกลับใจหันมามองความเป็นอื่นด้วยความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน ละครก็อาจบอกเป็นนัยๆ กระมังว่า คงต้องทำให้คนมีอำนาจนั้น “เสียสติ” หรือ “ความจำเสื่อม” กันเสียบ้าง พวกเขาก็จะได้เล็งเห็นสิทธิและเสียงเล็กๆ ของคนงานในโรงทอหรือกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่หาใช่จะเป็นคนที่ไร้สิทธิ์เสียงหรือถูกขูดรีดกดทับอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเอาไว้แต่เพียงด้านเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 เขาวานให้หนูเป็นสายลับ : อย่าเห็นหนูเป็นสนามอารมณ์

              คำภาษิตโบราณกล่าวกันว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” จริงๆ แล้ว ปมปัญหาในความเปรียบนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวของ “ลูกสาว” ของบ้าน หรืออยู่ที่ “ส้วม” อันเป็นสถานที่ที่เราใช้ขับถ่ายของเสียแต่อย่างใด แต่ปัญหาลึกๆ น่าจะมาจากทัศนะที่สังคมให้คุณค่ากับ “ลูกสาว” และ “ส้วม” ไปในทิศทางลบกันมากกว่า        นั่นหมายความว่า หากสังคมเห็นว่า ผู้หญิงก็เป็นหนึ่งชีวิตที่มีคุณค่าไม่ต่างจากบุรุษเพศ เราก็จะผาดตามามอง “ลูกสาว” กันเสียใหม่ว่า เธอก็ไม่ได้แตกต่างจาก “ลูกชาย” แต่อย่างใดเลย และก็เช่นเดียวกัน หากเราเลือกเปลี่ยนระบบคิดต่อ “ส้วม” เสียใหม่ว่า แม้จะเป็นสถานที่ที่มนุษย์ปลดปล่อยปฏิกูลของร่างกาย แต่ถ้าเราขาดซึ่งห้องน้ำที่เราเรียกกันว่า “ส้วม” เสียแล้ว ชีวิตของคนเราก็น่าจะบังเกิดความทุกข์ระทมกันเพียงใด         ทั้ง “ลูกสาว” และทั้ง “ส้วม” ต่างจึงมีคุณค่าในตัวมันเอง และมิอาจมองข้ามการดำรงอยู่ของทั้งสองสิ่งนี้ไปได้เลย ปัญหาจึงเป็นดังที่ได้กล่าวไว้ก็คือ น่าจะเป็นเพราะโลกทัศน์ที่มนุษย์เรากดทับคุณค่าของ “ส้วม” ให้ไร้ซึ่งความสำคัญ และผลักไสให้ “ลูกสาว” มีสถานะไม่ต่างจาก “ส้วม” ที่เราต่างนิยามเอาไว้ด้วยความรังเกียจรังงอนนั่นเอง         และจะเกิดอะไรขึ้นหากวันดีคืนดี นางเอกละครโทรทัศน์กลับถูกสร้างให้มีชื่อที่เรียกว่า “ส้วม” แถมยังเป็น “ส้วม” ที่ “เขาๆ” ผู้ชายทั้งหลายต้อง “วานให้เธอกลายมาเป็นสายลับ” กันอีก...???         ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ” เริ่มต้นเปิดเรื่องแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครนางเอก ที่แม้จะมีชื่อจริงตั้งว่า “ฐานะมาศ” แต่ชื่อเล่นของเธอก็คือ “ส้วม” ผู้มีนิสัยประจำตัวอันประหลาด เพราะไม่เพียงจะชอบเข้าห้องน้ำนานๆ แต่ในยามค่ำคืนที่นอนไม่หลับ เธอก็ยังชอบลุกขึ้นมาขัดส้วมเป็นประจำ         ด้วยความที่ส้วมเติบโตมาในสลัม และสลัมเองก็มีภาพลักษณ์ว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและมั่วสุมไปด้วยด้านมืดของสังคมไทย ผู้หญิงอย่างส้วมที่เติบโตมาบนกองขยะและสิ่งเน่าเหม็นของสลัม ก็เลยถูกประทับตราว่า เป็นผู้หญิงที่ไม่ได้มีคุณค่าในสายตาหรือการรับรู้ของนานาอารยชนไปโดยปริยาย        แม้จะเป็นน้องนางกลางสลัมแลนด์ แต่ส้วมก็ไม่เคยยอมแพ้แก่โชคชะตา เปิดฉากมาเราจึงเห็นส้วมขะมักเขม้นนั่งท่องตำราเรียนวิชากฎหมายอย่างตั้งใจ สลับกับภาพการทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าบ่อนให้กับ “บุญยืน” ผู้เป็นมารดา พร้อมๆ กับคอยวิ่งหนีตำรวจกันเป็นที่ขำขันหรรษากันตั้งแต่ฉากแรกๆ ของเรื่อง         แต่อย่างไรก็ดี ภายใต้เนื้อเรื่องที่ดู “เบาสมอง” แบบโรแมนติกคอมเมดี้เช่นนี้ ละครกลับเผยให้เห็นว่า ปัญหาของสลัมไม่ใช่จะเป็นเพราะทำเลที่ตั้งอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม หรือเพราะสลัมเป็นย่านที่อยู่ของผู้ยากไร้ไม่มีอันจะกิน แต่เป็นเพราะการที่คนอื่นๆ รอบนอกสลัมต่างหากที่คอยจ้องเอารัดเอาเปรียบสรรพชีวิต โดยเฉพาะกับมนุษย์เพศหญิงที่พำนักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดแห่งนี้         การขูดรีดเอาเปรียบต่อชีวิตผู้หญิงถูกสะท้อนให้เห็นชัดเจนผ่านการกระทำรุนแรง ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัวจนถึงสังคมใหญ่แบบภาพรวม แบบเดียวกับที่ “สิงห์” จอมโจรที่สวมรอยเป็นพ่อเลี้ยงของส้วมมักกระทำรุนแรงทางกายอยู่เสมอๆ ทั้งต่อเธอ ต่อมารดา และต่อ “อ้อย” ผู้เป็นพี่สาวของส้วม ไปจนถึงการนำเสนอตัวละคร “เสี่ยฮะ” เจ้าของผับในคราบนักบุญ ที่เบื้องหลังก็ใช้สลัมเป็นแหล่งค้ายาเสพติดและค้ากาม โดยไม่เคยเห็นว่า ผู้หญิงที่ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์เยี่ยงนี้เป็นมนุษย์ผู้มีเลือดเนื้อแต่อย่างใด         เพราะสัมผัสถึงการเอารัดเอาเปรียบมนุษย์เพศหญิงอยู่ทุกวี่วัน ในขณะเดียวกัน เพราะส้วมเองก็มีสัมผัสพิเศษที่สามารถเห็นวิญญาณคนตาย และเธอเองก็ถูกร้องขอความช่วยเหลือจากวิญญาณของ “แป๋ว” หญิงสาวที่ถูกฆาตกรรมเนื่องจากเข้ามาในวังวนของการค้าประเวณี ส้วมจึงได้ข้อสรุปว่า ตราบใดที่ผู้หญิงยังถูกมองเป็นเพียงวัตถุที่รองรับความรุนแรงต่างๆ ตราบนั้นผู้หญิงก็ยังไม่อาจหลุดพ้นการเป็น “สนามอารมณ์” ที่สังคมจะขูดรีดเอาเปรียบได้ไม่สิ้นไม่สุด         ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “ทวนเทพ” หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับเรื่องคดีเสี่ยฮะ และปลอมตัวมาเป็นคนเก็บของเก่าในสลัม ได้ขอความช่วยเหลือส้วมให้มาร่วมกับหน่วยงานลับที่ชื่อ “สโนว์ไวท์” ส้วมจึงตอบตกลง และเริ่มต้นภารกิจ “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ” ในครั้งนี้ที่ตั้งชื่ออย่างน่าเอ็นดูว่า “ล่าแม่เลี้ยงใจร้าย”          หลังจากก้าวมาเป็นสายลับอันเป็นเงื่อนปมที่ละครได้ผูกโยงเอาไว้ ส้วมก็ได้มาประสบพบรักกับพระเอก “ดนุรุจ” นายตำรวจหนุ่มอีกคนที่ตามสืบคดีเสี่ยฮะ และแม้เขากับเธอจะไม่ลงรอยกินเส้นกันในช่วงแรกๆ แต่ภายหลังเมื่อดนุรุจกับส้วมต้องจัดพลัดจับผลูมาสวมรอยแต่งงานกันเพียงในนาม เขาก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ผู้หญิงอย่างส้วมเท่านั้นที่จะทำให้ “บ้านกลายเป็นบ้าน” และเติมเต็มชีวิตที่ต้องปกปิดปมเจ็บปวดที่กำพร้าบุพการีมาตั้งแต่เด็ก          ในอีกด้านหนึ่ง ยิ่งสืบคดีของเสี่ยฮะไปมากเท่าไร สายลับส้วมสาวก็ยิ่งค้นพบว่า ระบอบแห่งการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบสตรีเพศนั้น ไม่เพียงแต่ซับซ้อน หากยังฝังลึกเข้าไปในหลืบเร้นแห่งสำนึกและความคิดของผู้คนในสังคม เพราะแม้แต่กับผู้หญิงก็สามารถกระทำต่อเพื่อนผู้หญิงด้วยกันได้ทั้งกายวาจาและจิตใจ         ไม่ว่าจะเป็น “ดาวิกา” ที่มองส้วมเป็นศัตรูหัวใจและกดข่มผู้หญิงด้วยทัศนะที่ว่า ขนาดชื่อของนางเอกส้วมยังฟังดูสกปรกเลย หรือ “สุชาวดี” ลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นของเสี่ยฮะ ที่เบื้องหลังก็อยู่ร่วมกับบิดาในขบวนการค้าประเวณี จนส้วมเคยเอ่ยปากถึงเธอว่า “น่ากลัวเสียยิ่งกว่าผี” หรือแม้แต่กับติ่งเกาหลี “หนึ่งธิดา” ที่ครั้งหนึ่งก็ถูกเป่าหูให้รังเกียจส้วม โดยเกือบลืมไปว่าทั้งคู่เคยเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่วัยเด็ก        ผู้คนรอบข้างที่ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายซึ่งต่างกดทับศักดิ์ศรีแห่งสตรีเพศเช่นนี้เอง ทำให้ครั้งหนึ่งส้วมได้เปรยกับดนุรุจถึงชะตากรรมของผู้หญิงสลัมอย่างเธอว่า “ฉันต้องตัดสินตัวเองตลอด เพราะทุกครั้งที่ฉันลืมตัว ก็จะมีคนอย่างพวกคุณคอยตัดสินตัวฉัน และเหยียบย่ำฉันอยู่ตลอดเวลา...”        ด้วยพล็อตเรื่องแนวโรแมนติกคอมเมดี้เช่นนี้ เราอาจจะเดาได้ไม่ยากว่า ภายหลังภารกิจ “ล่าแม่เลี้ยงใจร้าย” สิ้นสุดลงได้ เพราะความช่วยเหลือจากสายลับเช่นส้วม เสี่ยฮะแอนด์เดอะแก๊งก็ต้องถูก “ลงโทษเชิงสัญลักษณ์” ให้ตายหรือติดคุกกันไป ในขณะที่ตัวละครฝั่งคุณธรรมก็จะได้ “รางวัลตอบแทนความดี” แบบที่หนึ่งธิดาได้เข้าพิธีวิวาห์กับ “สารวัตรเผด็จ” และส้วมกับดนุรุจก็ปรับความเข้าใจจนแฮปปี้เอนดิ้งกันไปในที่สุด        แต่อีกด้านหนึ่ง ละครที่ดู “เบาสมอง” ก็ชวนให้เรา “หนักสมอง” ขบคิดและเปิดมุมมองใหม่ๆ ด้วยว่า “สองมือที่ทำให้โลกหมุนไป” ของผู้หญิงนั้น ถือเป็นศักยภาพด้านที่สร้างสรรค์ของสังคม หาใช่จะเป็นแหล่งระบายสิ่งปฏิกูล หรือใครจะอ้างสิทธิ์ผลักไสกระทำรุนแรงต่อทั้งร่างกายและจิตใจได้ เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งส้วมเคยระเบิดเสียงแห่งสตรีเพศออกมาว่า “ใช่...กูชื่อส้วม แต่ไม่ใช่ว่ากูจะเป็นส้วมให้ใครขับถ่ายใส่อยู่ทุกวี่วัน…”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ฤกษ์สังหาร : ความรู้ ความเป็นกลาง และการขับเคลื่อนดวงเมือง

        ย้อนกลับไปในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นและชวนสะเทือนขวัญ จนนำมาซึ่งบาดแผลอันยากเกินเยียวยามาจวบถึงทุกวันนี้ คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนับล้านๆ ชีวิต โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีและพรรคนาซีที่เรืองอำนาจอยู่ในขณะนั้น         เงื่อนไขหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้อิทธิพลของนาซีและฮิตเลอร์แผ่ไพศาลจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมดังกล่าว ก็คือ การเล่นบทบาทอันผิดเพี้ยนของนักวิชาการที่ก้มยอมสวามิภักดิ์หรือขายจิตวิญญาณความรู้ให้กับผู้นำนาซี จนมองข้ามแม้แต่ชีวิตและเลือดเนื้อในความเป็นมนุษย์ของชาวยิวผู้ต่างชาติพันธุ์         ด้วยบาดแผลที่สลักลึกไว้ตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นักคิดทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่มีพื้นเพเป็นคนยิว ซึ่งรู้จักกันในชื่อของนักทฤษฎีแห่งสำนักแฟรงค์เฟิร์ต จึงเป็นหัวหอกที่ผลักดันและทบทวนบทบาท “ความเป็นกลาง” ของนักวิชาการ หรือบรรดากุนซือผู้ทำหน้าที่ผลิตความรู้แห่งศาสตร์ต่างๆ ในสังคม         ภายหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง นักคิดกลุ่มนี้ที่หนีรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่างก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า หากความรู้คืออำนาจ นักวิชาการคือผู้ที่ผลิตความรู้นั้น และนักวิชาการขาดซึ่ง “ความเป็นกลาง” แต่ทว่าแปดเปื้อนไปด้วยอคติและผลประโยชน์เสียแล้ว อำนาจแห่งความรู้ก็จะกลายมาเป็น “มนต์ดำ” ที่ประหัตประหารมนุษยชาติด้วยกันในที่สุด         เกินกว่ากึ่งศตวรรษผ่านไป คำถามต่อจุดยืนความเป็นกลางของนักวิชาการก็ได้ถูกหยิบยกมาทบทวนหวนคิดกันอีกครั้งหนึ่ง โดยผ่านเรื่องราวและเรื่องเล่าที่อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ฤกษ์สังหาร” ซึ่งถูกวางเส้นเรื่องให้เป็นแนวละครสืบสวนสอบสวน ที่เปิดฉากขึ้นด้วยภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมหญิงสาวคนหนึ่ง โดยศพของเธอเสมือนหนึ่งถูกทำพิธีกรรมบางอย่าง และฝังเอาไว้อยู่ในดิน         ด้วยภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมอันดูแปลกประหลาด ได้ดึงดูดความสนใจของพระเอกหนุ่มอย่าง “มหากะทิง” หมอดูชื่อดังผู้มีความรู้โหราศาสตร์ และต้องการใช้องค์ความรู้ของเขาเพื่อเข้าร่วมสืบหาและคลี่คลายปมคดีการสังหารเหยื่อสาวเคราะห์ร้ายดังกล่าว         จากนั้น ความจริงก็ค่อยๆ เผยออกมาว่า การฆาตกรรมหญิงสาวเป็นจุดเริ่มต้นของพิธีกรรมฤกษ์สังหารตามตำราแก้เคล็ดดวงเมือง ด้วยเพราะมีใครบางคนต้องการจะเปลี่ยนแปลงดวงเมือง และใช้พิธีกรรมนี้ในการเปลี่ยนวงโคจรของดวงดาวให้มาเสริมบารมีของเขา เพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจและความยิ่งใหญ่         ตามตำราดังกล่าวเชื่อว่า ในปีใดที่มีอาเพศใหญ่เกิดขึ้น 4 ครั้งในบ้านเมือง และในแต่ละครั้งของอาเพศ หากมีการใช้ชีวิตของหญิงสาวตามฤกษ์มาสังเวยทำบัดพลีบูชาธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ให้สัมฤทธิ์ได้แล้ว ผู้ประกอบพิธีกรรมแก้เคล็ดดวงเมืองก็จะก้าวขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินด้วยมิจฉาวิชชาที่ว่านี้         เมื่อโจทย์ของมหากะทิงคือการคลี่คลายปมว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังฆาตกรรมตามฤกษ์สังหาร และการขัดขวางพิธีกรรมแก้เคล็ดดวงเมือง เราจึงได้เห็นภาพการเดินจับมือฟั่นเกลียวกันไประหว่างการใช้องค์ความรู้แบบโหราศาสตร์และการคำนวณฤกษ์ดวงดาวแบบดั้งเดิม กับองค์ความรู้นิติวิทยาศาสตร์และอาชญวิทยาสมัยใหม่ ที่จะว่าไปแล้ว ทั้งศาสตร์ความรู้เก่าและใหม่ที่ไขว้ประสานกันเยี่ยงนี้ ก็ถือเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้อยู่แล้วในสังคมไทย         แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเริ่มเห็นบทบาทของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “นักวิชาการ” หรือปัญญาชน ผู้เป็นประหนึ่ง “think tank” หรือ “คลังสมอง” ซึ่งใช้ศาสตร์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนทิศทางความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศ         หากมหากะทิงและมิตรสหายของเขาอีกหลายคน รวมทั้ง “ศรีล” สารวัตรตำรวจมือสะอาด กับ “ชิงดวง” คุณหมอนักนิติวิทยาศาสตร์สาว เป็นตัวละครที่เลือกยืนอยู่ฝั่งคุณธรรมความดี ละครก็ได้สร้างให้เห็นขั้วความแตกต่างอีกฝั่งของ “อุทธิ” หมอดูโหราจารย์ที่เลือกใช้ความรู้ด้านมืดเสริมดวงของฝ่ายอธรรม         เนื่องจากโหราศาสตร์เป็นศาสตร์ความรู้ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ยอมรับไม่ต่างจากแขนงความรู้ของศาสตร์อื่นๆ แล้ว ทั้งมหากะทิงและอุทธิก็คือปัญญานักวิชาการผู้เป็น “คลังสมอง” ของศาสตร์วิชาดังกล่าว ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้องค์ความรู้เพื่อไปขับเคลื่อนดวงเมืองและความเป็นไปในเศรษฐกิจสังคมไทย         แต่เพราะจิตใจของอุทธิอาบเจือปนเปื้อนไปด้วยอคติและผลประโยชน์ส่วนตนที่ต้องการเอาชนะมหากะทิง แบบที่อุทธิเคยกล่าวว่า “กูต้องชนะ กูทำมาขนาดนี้แล้ว ยังไงกูก็ต้องชนะ กูใช้เวลาทั้งชีวิต ยอมไม่มีเพื่อน ยอมเรียนดูดวง ยอมไปดูดวงคนเป็นพันๆ หมื่นๆ ที่อยากเจอหมอดูที่เก่ง กูทำพิธีนี้เพราะต้องการชนะมึง กูต้องเป็นอันดับหนึ่ง กูต้องอยู่เหนือมึง...” ดังนั้นอุทธิจึงเป็นนักวิชาการที่สละจุดยืนอัน “เป็นกลาง” แต่เลือกสมาทานความรู้โหราศาสตร์ของเขาเข้าสู่ด้านมืดแห่งอวิชชา         ด้วยกิเลสที่ต้องการเอาชนะคุกรุ่นอยู่ในใจ อุทธิจึงใช้ความรู้แบบ “มนต์ดำ” เพื่อประกอบพิธีฤกษ์สังหารแก้เคล็ดดวงเมือง ที่จะเสริมส่งให้นักการเมืองใจซื่อมือคดอย่าง “รวี” ก้าวขึ้นสู่ผู้นำประเทศ พร้อมๆ กับบรรดาโครงข่ายอำนาจของท่านรวี ที่มีตั้งแต่คนในเครื่องแบบแต่เล่นบทบาทเป็นตำรวจกังฉินอย่าง “ผู้การดำริห์” ไปจนถึงนายทุนใหญ่ที่จิตใจเต็มไปด้วยโลภจริตอย่าง “เจ้าสัวพิพัฒน์”         และที่สำคัญ เพื่อก้าวขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจเช่นนี้ อุทธิและพรรคพวกจึงมีความพยายามเปลี่ยนแปลงดวงเมืองให้ได้ โดยที่ไม่ตระหนักเห็นถึงคุณค่าในชีวิตมนุษย์อย่างบรรดาผู้หญิงที่ถูกคัดเลือกมาทำบัดพลีเซ่นสังเวยฤกษ์สังหาร ซึ่งไม่ต่างอันใดกับที่ครั้งหนึ่งฮิตเลอร์ก็สามารถขึ้นสู่อำนาจโดยสังหารชาวยิวนับล้านๆ คน          ด้วยพล็อตของละครแนวสืบสวนสอบสวนแบบนี้ ผู้ชมก็อาจจะเดาได้ไม่ยากว่า เราจะได้เห็นภาพการสัประยุทธ์แก้กลเกมระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม โดยที่ต่างฝ่ายต่างใช้วิชาความรู้มาปะทะต่อกรกันและกัน และในท้ายที่สุด ความรู้แบบอวิชชาก็ต้องปราชัย และฝ่ายมหากะทิงก็สามารถยุติการแก้เคล็ดดวงเมือง โดยช่วยเหลือนางเอก “รันหณ์” ให้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อคนสุดท้ายของพิธีฤกษ์สังหารเอาไว้ได้         และในเวลาเดียวกัน เพราะความรู้เองก็มีกฎในการใช้งาน เมื่อพิธีฤกษ์สังหารไม่อาจทำจนสัมฤทธิ์ได้ คนเล่นของก็เลยต้องถูกคุณไสยย้อนมาเล่นใส่เสียเอง ภาพของอุทธิและพรรคพวกของท่านรวีที่ถูกลงโทษเซ่นสรวงสังเวยในฉากจบ จึงชวนดูสยดสยองไม่ต่างจากภาพหญิงสาวที่ถูกทำบัดพลีบูชาธาตุทั้ง 4 เท่าใดนัก         จากบทเรียนจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และจากพิธีกรรมฤกษ์สังหารแก้เคล็ดดวงเมืองในละครโทรทัศน์เช่นนี้ คงถึงเวลาอีกครั้งแล้วที่เราน่าจะต้องหันกลับมาทบทวนเรียกร้อง “ความเป็นกลาง” ในหมู่ปัญญาชนนักวิชาการ เพราะคลังสมองของชาติเหล่านี้ก็คือผู้มีบทบาทสำคัญที่จะขับเคลื่อนชะตากรรมสังคม หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงวงโคจรของดวงเมือง จนอาจนำสู่โศกนาฏกรรมได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >