ฉบับที่ 225 ด้ายแดง : เพราะเหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ

                ธรรมชาติของเหรียญก็ต้องมีสองด้านเสมอ แต่ปัญหาก็คือ ถ้ามีเหรียญหนึ่งอันวางอยู่ คนเราก็มักจะมองเห็นเพียงด้านหนึ่งของ “หัว” หรือ “ก้อย” ที่หงายขึ้น โดยอาจจะหลงลืมไปว่า ยังมีอีกด้านของเหรียญที่คว่ำไว้โดยที่เรามองไม่เห็น เฉกเช่นเดียวกับโลกทัศน์หรือวิธีคิดของคนเราที่มีต่อโลก ก็เป็นประดุจดังเหรียญสองด้าน ซึ่งหากเราเลือกพลิกด้านหนึ่งของเหรียญหรือโลกทัศน์บางอย่างมามองดูโลกรอบตัวแล้ว เราก็มักไม่สำเหนียกว่า ยังมีเหรียญอีกด้านที่มองต่างมุมกันออกไป         ละครโทรทัศน์เรื่อง “ด้ายแดง” ก็คือ บทพิสูจน์การมีอยู่ของเหรียญที่มีสองด้านในความคิดของสังคมเช่นกัน โดยเริ่มต้นเปิดฉากขึ้นที่คฤหาสน์จีนหลังใหญ่ของตระกูลมหามงคล กับภาพของตัวละคร “เหม่ยอิง” คุณนายใหญ่ของบ้านที่นั่งถักทอ “ด้ายแดง” เพื่อเอาไว้มอบให้เป็นสิริมงคลแก่ “หลงเว่ย” ผู้เป็นบุตรชาย         เสียงก้องในห้วงคำนึงของเหม่ยอิงที่มีสีหน้าอิ่มเอิบ ในขณะที่ผูกสานเส้นด้ายสีแดงไว้ให้ลูกชาย เป็นคำพูดที่กล่าวขึ้นว่า “คนจีนเรามีคำพูดว่า ด้ายในมือแม่ไม่มีวันหมด เพราะคนเป็นแม่ต้องปะชุนเสื้อผ้าให้ลูกไปจนวันตาย แต่จริงๆ แล้ว ความหมายของคำๆ นี้มันลึกซึ้งกว่านั้น ในเมื่อเกิดมาเป็นแม่ลูกกันแล้ว แม่ก็ต้องปกป้องดูแลลูก ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ความรักของแม่ก็เหมือนเส้นด้ายที่ยืดยาวไม่มีวันหมดสิ้น...ตลอดกาล...”         การเปิดฉากด้วยภาพเช่นนี้อาจตีความเป็นความหมายสองนัย โดยนัยหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า เส้นเรื่องหลักของละครได้ผูกรัดให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่มารดาจะถักร้อยให้กับบุตรชายด้วยความรักแบบไม่มีวันสิ้นสุด        แต่โดยอีกนัยหนึ่งนั้น เบื้องหลังของคฤหาสน์จีนหลังใหญ่ซึ่งมีม่านประเพณีปฏิบัติกันมาช้านาน ก็บ่งบอกด้วยว่า ขณะที่แม่ผูกทอความสัมพันธ์มายังลูกชายนั้น ระบบค่านิยมที่สลักฝังอยู่ในพรมแดนของบ้าน ก็คืออีกตัวแปรหนึ่งที่เข้ามากำกับชีวิตของหลงเว่ยภายใต้เส้นด้ายสีแดงที่ร้อยรัดข้อมือของเขาไว้ด้วยเช่นกัน         ตามท้องเรื่องเดิมนั้น ตระกูลมหามงคลมี “เจ้าสัวหม่า” เป็นประมุขใหญ่ของบ้าน โดยมีภรรยาสองคนคือ “เลี่ยงจิน” ภรรยาหลวงหรือเป็นคุณนายใหญ่ที่คนในครอบครัวจีนรับรู้โดยทั่วไป กับตัวของเหม่ยอิงที่มีสถานภาพเป็นคุณนายรอง         ด้วยความเชื่อตามจารีตเดิมของครอบครัวจีนขนาดใหญ่นั้น มักยึดมั่นยึดติดกับเรื่องดวงชะตาที่กำหนดชีวิตของปัจเจกบุคคล ฉะนั้น เมื่อซินแส “สินอู่” ได้ทำนายดวงชะตาของหลงเว่ยว่าจะชงกับพี่ชายต่างมารดา และคำทำนายนั้นก็เกิดเป็นจริงขึ้นมา เพราะ “เทียนอี้” ลูกชายคนโตเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของหลงเว่ย เจ้าสัวหม่าจึงส่งหลงเว่ยไปเรียนที่ฮ่องกงเพื่อให้ห่างไกลบ้านมหามงคล         ต่อมา เมื่อเจ้าสัวหม่าและคุณนายใหญ่เลี่ยงจินได้ถึงแก่กรรมลง เหม่ยอิงจึงได้ขึ้นครองเป็นคุณนายใหญ่แห่งบ้านมหามงคลแทน แต่เพราะผู้หญิงที่ไม่เคยถือครองอำนาจมาก่อน ต้องก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในฐานะผู้นำของบ้าน คุณนายใหญ่คนใหม่ก็ต้องพบว่า ขนบธรรมเนียมที่ตระกูลมหามงคลและแม้แต่ตัวเธอเองยึดมั่นอยู่นั้น ต้องฝ่าแรงคลื่นพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาปะทะถาโถมระลอกแล้วระลอกเล่าเพียงใด             โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลงเว่ยถูกเรียกตัวกลับมาเพื่อให้สืบทอดกิจการของตระกูล พลันที่เขาและ “ซูซี่” ภรรยาชาวฮ่องกงที่กำลังตั้งท้องอยู่ ได้ย่างเหยียบเข้ามาในคฤหาสน์หลังใหญ่ สงครามระหว่างตัวแทนแห่งม่านประเพณีอย่างเหม่ยอิง กับโลกทัศน์แบบเสรีนิยมหัวก้าวหน้าของซูซี่ ก็ได้เริ่มต้นฉากสัประยุทธ์ขึ้นทันที         แม้ว่าจริงๆ แล้ว บ้านมหามงคลจะปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระลอกๆ ตั้งแต่ตัวเรือนของบ้านที่ออกแบบให้ผสมผสานสไตล์ตะวันตก ตัวละครชายที่เลือกสวมเครื่องแต่งกายในชุดสากล หรือการพูดภาษาไทยโดยไม่ติดสำเนียงจีนแบบดั้งเดิม เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ความเป็นจีนเองก็มีมุมที่ปรับปรนปรับเปลี่ยนตลอดเวลาอยู่แล้ว         แต่เมื่อต้องมาเผชิญคลื่นลมระลอกใหม่ๆ อย่างตัวละครซูซี่ผู้ “ไม่แคร์เวิร์ลด์” หรือมิได้ใส่ใจกับประเพณีปฏิบัติโบร่ำโบราณเท่าใดนัก ตั้งแต่การเมินเฉยต่อธรรมเนียมกินข้าวร่วมโต๊ะ การแต่งตัวที่ไม่ยึดติดขนบจารีตเดิม อากัปกิริยาสมัยใหม่ที่แสดงออกได้แม้แต่ในที่สาธารณะ ไปจนถึงการแต่งงานอยู่กินกันก่อนจะเข้าพิธียกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ แบบแผนปฏิบัติที่ขัดกับศีลาจารวัตรเดิมๆ ย่อมเป็นสิ่งที่เหม่ยอิงมิอาจยอมรับได้          และแน่นอน บททดสอบความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมจีนที่สายอนุรักษนิยมสุดขั้วยึดมั่นมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นแรงปะทะที่มีต่อความเชื่อในโชคชะตา ที่ฝังรากเอาไว้ในธรรมเนียมนิยมหลักของครอบครัวจีน ดังคำที่เหม่ยอิงพูดอยู่เสมอว่า “คนคำนวณ ไม่สู้ฟ้าลิขิต”         ดังนั้น อีกครั้งเมื่อซินแสสินอู่ได้ทำนายว่า ลูกในท้องของซูซี่จะเป็นกาลกิณีต่อหลงเว่ยผู้เป็นพ่อ เหม่ยอิงจึงทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดลูกของซูซี่ และนำหลานในไส้ไปทิ้งศาลเจ้าให้ไกลจากบ้านมหามงคล เหมือนกับที่เธอพูดกับ “อาจู” สาวใช้คนสนิทว่า “ถ้าคนหนึ่งจะมา แล้วอีกคนจะไป คนที่จะไปต้องไม่ใช่ลูกฉัน”         จากนั้น ปฏิบัติการผลักไสให้ซูซี่ทิ้งหลงเว่ยกลับฮ่องกง และยัดเยียดให้ “เพ่ยเพ่ย” หญิงสาวอีกคนมาเป็นภรรยาของหลงเว่ยจึงอุบัติขึ้น โดยที่ทั้งหลงเว่ยและเพ่ยเพ่ยหาได้ยินยอมพร้อมใจแต่อย่างใดไม่        ระบบคิดแบบอนุรักษนิยมที่คอยจะจับวางใครต่อใครให้มาเป็นหมากเบี้ยบนกระดาน จึงไม่ต่างจากภาพที่คุณนายเหม่ยอิงหยิบเอาเส้นด้ายสีแดงมาถักทอร้อยรัดข้อมือบุตรชายเอาไว้ด้วยความรัก แต่ในท้ายที่สุด กลับนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เพ่ยเพ่ยเองได้กระทำอัตวินาตกรรม และหลงเว่ยก็รู้ความจริงว่า มารดาของตนอยู่เบื้องหลังการจับชีวิตเขาร้อยไว้ด้วยกฎเกณฑ์ทางประเพณีแบบไม่ให้ดิ้นหลุดได้เลย         ฉากที่หลงเว่ยกระชากด้ายแดงจนขาด เพื่อสลัดตนออกจากความขัดแย้งสองแพร่งของอุดมคติแบบอนุรักษนิยมและอุดมการณ์แบบเสรีนิยม จึงไม่ต่างจากประโยคที่เขากล่าวกับมารดาว่า “เลิกทำเพื่อผมเสียที ผมไม่ต้องการให้แม่มาดูแลปกป้องผมอีกแล้ว ความรักความห่วงใยของแม่มันรัดคอจนผมหายใจไม่ออกแล้ว สักวันผมคงจะต้องตายด้วยความหวังดีของแม่...”         จนมาถึงในเจนเนอเรชั่นรุ่นถัดมา ชะตากรรมของ “หลิงหลิง” หลานสาวในไส้ที่ถูกทิ้งไว้ที่ศาลเจ้าตั้งแต่แรกคลอด กับ “ป่อป้อ” ลูกติดท้องของเพ่ยเพ่ยก่อนแต่งงานมาเป็นสะใภ้เหม่ยอิง ก็ยิ่งสำทับภาพปัจเจกบุคคลที่ต้องมาอยู่กลางสนามรบของโลกทัศน์ความคิดที่สุดขั้ว ไม่ต่างจากที่รุ่นพ่อและแม่เคยเผชิญมาอีกเช่นกัน        จากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่เช่นนี้ ตราบใดที่ “เหรียญสองด้าน” ของขั้วความคิดที่แตกต่าง ไม่ยอมลดทอนมิจฉาทิฐิลงเสียบ้าง ยังเป็นอนุรักษนิยมที่เพิกเฉยต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง หรือเป็นเสรีนิยมที่ไม่ไยดีต่อธรรมเนียมปฏิบัติเดิมกันเลย บทสรุปของด้ายแดงที่ถูกสะบั้นขาดออกไปด้วยมือของหลงเว่ย ก็คงคุ้นๆ คล้ายๆ กับภาพสังคมการเมืองแบบที่เราก็เห็นอยู่ตรงหน้าทุกวัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ใบไม้ที่ปลิดปลิว : จากความแตกต่าง...ก่อร่างเป็นความเกลียดชัง

                มนุษย์เราแต่ละคนต่างถือกำเนิดมาและมี “ความแตกต่าง” ระหว่างกันเป็นเรื่องปกติ คนเรามีความแตกต่างกันตั้งแต่รูปร่าง นิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิด ไปจนถึงไลฟ์สไตล์และวิถีปฏิบัติทางสังคมที่ผิดแผกกันไป         อันที่จริงแล้ว ความผิดแผกแตกต่างกันแบบนี้หาใช่จะเป็นปัญหาใดๆ ไม่ จนกว่าความแตกต่างดังกล่าวจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายว่า วิถีปฏิบัติของใครอยู่สูงกว่าใคร อะไรเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับชอบธรรม และอะไรคือความเบี่ยงเบนหรือถูกตีตราว่านอกรีตนอกขนบของสังคม การจำแนกขั้วความแตกต่างซึ่งกลายเป็นข้ออ้างแห่งการเลือกปฏิบัติเยี่ยงนี้ต่างหาก ที่จะนำไปสู่ความเกลียดชังระหว่างมนุษย์ด้วยกัน         ไม่ต่างไปจากชีวิตของ “ชนันธวัช” ที่เป็นประหนึ่งใบไม้ที่แตกยอดอ่อนมาบนความเกลียดชังของผู้เป็นบิดาอย่าง “ชมธวัช” เพียงเพราะเขาเลือกจะมีเพศวิถีที่แตกต่างไปจากที่พ่อคาดหวังจะให้เป็น ชีวิตของชนันธวัชจึงล่องลอยเฉกเช่น “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” ห่างไกลไปจากต้นไม้ที่ให้กำเนิดเขาเอง         โครงเรื่องของละคร “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” นั้น เริ่มเปิดฉากให้เราได้เห็นภาพของชนันธวัชที่ทบทวนหวนคิดไปถึงความเจ็บปวดที่ฝังตรึงเป็นปมในใจตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะแม้เพศธรรมชาติจะเป็นชายโดยกำเนิด แต่หัวใจอันเป็นหญิงที่หลบเร้นอยู่ก็ทำให้เขาปฏิเสธเพศทางกายภาพที่ฟ้าลิขิตเป็นโครโมโซมมาให้กับตน         ยิ่งเมื่อภาพในอดีตฉายให้เห็นตัวละครชนันธวัช ซึ่งเติบโตมาในบรรยากาศที่คนใกล้ชิดในครอบครัวมีท่าทีรังเกียจต่อเพศสภาพที่เขาเลือกจะเป็น เช่นที่ “รังรอง” ผู้เป็นอาสาวแท้ๆ ได้กล่าวว่า “อะไรก็ได้ ขออย่าให้เป็นกะเทยก็พอ” หรือแม้กระทั่งชมธวัชผู้เป็นพ่อก็มักพูดจาดูถูกลูกชายของตนด้วยวลีสั้นๆ ว่า “อีกะเทย” การถูกกระทำทั้งกายวาจาและใจเยี่ยงนี้เองได้สั่งสมเป็นบาดแผลในจิตใจของชนันธวัชมาตั้งแต่วัยเยาว์        แม้ชมธวัชจะได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงและฐานะมั่งคั่งด้วยสินทรัพย์นับพันๆ ล้าน แต่ความสำเร็จในกิจการค้าขายบ้านในฝันให้กับคนอื่นๆ ก็ย้อนมาเสียดสีตัวเขาเองว่า สำหรับสถาบันบ้านที่เขาเป็นผู้ถือครองในฐานะหัวหน้าครอบครัวจริงๆ นั้น ความเกลียดชังต่อเพศสภาพของบุตรชายก็ทำให้เขาล้มเหลวในชีวิตครอบครัวโดยสิ้นเชิง         ดังนั้น เพื่อหลบหนีไปจากสภาพแวดล้อมแห่งการเลือกปฏิบัติที่พ่อมีต่อตน ชนันธวัชจึงตัดสินใจ “ปลิดปลิว” โบยบินจากบ้านไปใช้ชีวิตยังต่างแดนตั้งแต่เด็ก พร้อมกับ “นิรมล” อดีตนางแบบผู้เป็นมารดา ซึ่งเข้าใจและยอมรับเพศสภาพที่ลูกชายเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง         และเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากมารดา ในเวลาต่อมาชนันธวัชก็ตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศที่ต่างประเทศ เพื่อรื้อสร้างรูปลักษณ์ทางกายภาพให้กลายเป็นสาวสวยในชีวิตเพศสภาพที่เลือกเอง รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่ว่า “นิรา คงสวัสดิ์” เพื่อปกปิดและลบเลือนปมบาดแผลจากอดีตที่มีอยู่เดิม         แต่อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะได้เริ่มต้นชีวิตและอัตลักษณ์ทางเพศแบบใหม่ นิราก็ต้องสูญเสียมารดาในอุบัติเหตุรถคว่ำ โดยที่ส่วนหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิตก็มาจากชมธวัชที่ยังตามคุกคามเธอกับแม่อีกเช่นกัน         ภายใต้แรงขับที่มาจากการบีบคั้นของบิดาและการสูญเสียมารดาที่คอยยืนเคียงข้างนิรามาตลอด ละครได้ให้คำอธิบายว่า เฉพาะร่างทางกายภาพของคนเราเท่านั้นที่อาจจะ “รื้อถอน” และ “สร้างใหม่” ให้ต่างไปจากเพศโดยกำเนิดได้ แต่ทว่า กับบาดแผลความเกลียดชังที่ฝังลึกอยู่ในห้วงจิตไร้สำนึกของมนุษย์อย่างนิรานั้น หาใช่จะเป็นไฟล์ที่ถูกลบทิ้งไปจากโปรแกรมความทรงจำได้โดยง่าย         ด้วยเหตุดังกล่าว นิราจึงตัดสินใจกลับมาเมืองไทย มาแก้แค้นบิดาและอาผู้หญิงเพื่อชดเชยความเจ็บปวดและความสูญเสียต่างๆ ที่เธอได้รับมาในชีวิต พร้อมกับเสียงก้องที่อยู่ในห้วงคำนึงและหยาดน้ำตาของตัวละครว่า “ทุกคนจะต้องได้รู้ว่าความเจ็บปวดมันเป็นเช่นไร...ทุกคนต้องได้รู้ว่าเราเจ็บปวดแค่ไหน...”         พลันที่กลับมาถึงเมืองไทย นิราก็มาเริ่มต้นอาชีพเป็นช่างแต่งหน้าหญิง ก่อนที่ภายหลังเธอจะหันเหมาเป็นดารานางแบบที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง แต่ไม่ว่าจะเป็นช่างแต่งหน้าหรือนางแบบ ก็มีนัยสะท้อนตัวตนของหญิงข้ามเพศแบบนิราซึ่งมีสองด้านในความเป็นมนุษย์ ที่มีทั้งหน้าฉากและหลังฉาก มีด้านที่เปิดเผยและปกปิด และมีด้านที่เจ็บปวดภายใต้ใบหน้าที่ถูกตกแต่งหรือท่วงท่าเดินเหินอยู่บนเวทีแคทวอล์กนั้น         และที่สำคัญ การได้กลับมาพบกับ “ชัชวีร์” อาเขยที่เป็นรักแรกในวัยเด็กของชนันธวัช และค่อยๆ ก่อกลายมาเป็นรักครั้งใหม่ของนิรา ซึ่งต้องคอยปิดบังอำพรางเพศทางกายภาพอันแท้จริงของตน ก็คือความขัดแย้งระหว่างเหรียญสองด้านที่มีทั้งต้องปกปิดแต่ก็รอคอยวันเปิดเผยความลับของตัวละครนั่นเอง         ในเวลาเดียวกัน เพราะ “ความแตกต่าง” เคยถูกใช้เป็นกลไกและอำนาจความชอบธรรมที่ใช้เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีเพศวิถีเบี่ยงเบนไปจากขนบจารีตที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ ดังนั้น คู่ขนานไปกับการปลูกต้นรักครั้งใหม่ของนิรากับชัชวีร์ อีกด้านหนึ่งเธอก็เดินเกมให้ท่ายั่วยวนชมธวัช โดยที่เขาก็ไม่รู้ระแคะระคายเลยว่านิราตัวจริงก็คือบุตรชายแท้ๆ ที่ผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว          กระทั่งมาถึงจุดพลิกผันสุดขั้นของเรื่อง เมื่อนิราจัดฉากให้ชมธวัชถูกมอมยาและเข้าใจผิดว่าเขาได้มีความสัมพันธ์เกินเลยกับกะเทย ผู้ชมก็ได้เห็นภาพการกรีดร้องอย่างคับแค้นของผู้ชายคนหนึ่งอย่างชมธวัชซึ่งถูกเหยียบย่ำความเป็นบุรุษเพศ โดยผู้ชายอีกคนที่มีเพศสภาพเป็นกะเทยซึ่งเขาทั้งแสนจะเกลียดและกลัว         แต่ในทางกลับกัน ฉากการกรีดร้องข้างต้นก็สะท้อนให้เห็นด้วยว่า ในขณะที่ชมธวัชเคยใช้ความเกลียดชังเป็นอำนาจกดทับบุตรชายที่มีความแตกต่างทางเพศวิถีมาก่อน แต่เพราะอำนาจไม่เป็นปฏิบัติการที่ “ไม่เข้าใครออกใคร” นิราจึงได้แปลงความเกลียดชังดังกล่าวมาย้อนเป็นอำนาจที่จะให้บทเรียนว่า ความเกลียดกลัวในจิตใจนั้นไม่เคยให้คุณกับผู้ใดได้จริงๆ                  จนมาถึงฉากโศกนาฏกรรมที่นิรากระทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อความลับเรื่องเพศสภาพถูกเปิดเผยมาในตอนจบ โดยมีตัวละครรอบข้างถูกดึงมารับรู้สถานการณ์ดังกล่าว ละครโทรทัศน์ก็ได้สรุปเป็นนัยๆ ว่า ความเกลียดชังเพียงเพราะวิถีปฏิบัติที่แตกต่างกันของคนเรา ไม่เพียงแต่จะสร้างบาดแผลให้กับผู้ที่ถูกเกลียดกลัวเท่านั้น หากแต่ยังมาซึ่งความเจ็บปวดในใจของผู้ที่เลือกปฏิบัติความเกลียดชังต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน                  และแม้ภายหลังนิราจะรอดพ้นจากความตาย พร้อมกับมีเสียงก้องความในใจที่กล่าวว่า “…ก่อนที่คนเราจะตาย เราจะรู้สึกว่าชีวิตมีค่ามาก ในนาทีที่ทุกอย่างกำลังจะดับลง เราจะอยากกลับไปทำทุกอย่างให้ดีที่สุด อยากกลับไปยกโทษให้คนที่เราเคยโกรธเคยเกลียด...” แต่นั่นก็เป็นเสียงก้องเพื่อสะท้อนย้อนคิดไปด้วยว่า หากมนุษย์จะลดละเลิกความเกลียดชังต่อเพศวิถีหรือวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เราก็คงไม่ต้องรอให้ตัวละครมายกโทษให้อภัยกันและกันในฉากจบเช่นนี้หรอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ลับลวงใจ : อยู่ตรงกลางใจ...อยู่ที่ใจกลางความเจ็บปวดรวดร้าวที่มี

        “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” เป็นความเปรียบท่อนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในครรโลงแห่ง “โคลงโลกนิติ” ที่อธิบายได้อย่างแยบคายว่า แม้มหาสมุทรจะหยั่งลึกเพียงใด หรือแม้ภูเขาจะสูงเสียดฟ้าเพียงใด แต่ก็มิอาจเทียบได้กับการหยั่งรู้จิตใจของมนุษย์จริงๆ         แต่ยิ่งหากเป็นจิตใจของบุรุษเพศด้วยแล้ว การจะหยั่งรู้ความลับและก้นบึ้งแห่งจิตใจของเขาได้นั้น ดูเหมือนจะยากยิ่งขึ้นไปอีก...เหมือนกับเบื้องลึกเบื้องลับในจิตใจของตัวละครชายหนุ่มอย่าง “โจ้” ผู้มีทั้ง “ความลับ” และ “ความลวง” หลบเร้นอยู่ในซอกหลืบของจิตใจแบบยากเกินหยั่ง และกลายเป็นเงื่อนไขหลักของปมปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ลับลวงใจ”         จะว่าไปแล้ว “ลับลวงใจ” เดินอยู่บนแก่นเรื่องหลักที่ต้องการจะเผยให้เห็นว่า มนุษย์ปุถุชนไม่ว่าจะใครก็ตาม ต่างก็มี “ความลับความลวง” อยู่ในใจด้วยกันทั้งสิ้น โดยละครผูกโยงความสัมพันธ์ให้โจ้ได้เข้ามาข้องเกี่ยวกับตัวละครทั้งหลายในตระกูลนักธุรกิจผู้มั่งคั่งอย่าง “วงศ์ว่านเครือ”         เปิดฉากมานั้น ละครฉายภาพของตระกูลวงศ์ว่านเครือที่มั่งคั่ง ซึ่งมี “ต่อ” ซีอีโอหนุ่มพี่ชายคนโตของบ้านเป็นประธานกรรมการบริหารใหญ่ของธุรกิจต่างๆ ในเครือ และแม้ว่าต่อจะประสบความสำเร็จในการบริหารกิจการครอบครัวจนมีชื่อเสียงร่ำรวย แต่ลึกๆ ความลับในใจของเขาก็คือ หัวใจที่บาดเจ็บอย่างหนักจาก “วี” หญิงผู้เป็น “รักแรก” จนเขาเลือกจะปิดตายต่อชีวิตคู่กับผู้หญิงทุกๆ คนขณะเดียวกัน แม้จะหลีกหนีไม่พ้นข้อเท็จจริงที่ว่า ธุรกิจสายตระกูลขนาดใหญ่มักมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ภายในครอบครัวนั่นเอง แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้หญิงสามคนที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของต่อ ซึ่งก็คือ “กิ๊ฟ” “ตุ้ม” และ “นิ้ง” ต่างก็ดูรักใคร่กลมเกลียว แถมยังเป็นหญิงสาวผู้เป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ ทั้งประเทศ รวมทั้งโจ้ซึ่งภายหลังได้เข้ามาเป็นตัวการและตัวแปรอันนำไปสู่ความไม่ลงรอยกันของผู้หญิงทั้งสาม             ในเวลาเดียวกัน เมื่อตัดสลับมาที่ภาพครอบครัวของโจ้ หนุ่มหล่อโปรไฟล์ดีและมีเสน่ห์ทางเพศ จนกลายเป็น “รักแรก” ของผู้หญิงมากหน้าหลายตา แต่ด้วยความลับที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นการต้องรองรับนิสัยฟุ้งเฟ้อและจมไม่ลงของ “อนงค์นาถ” ผู้เป็นมารดา จนต้องขายสมบัติพัสถานชิ้นแล้วชิ้นเล่า เพื่อรักษาหน้าตาชื่อเสียงวงศ์ตระกูล หรือการต้องกำความลับของ “นายพลจริณ” ผู้เป็นบิดา ที่ปิดบังใครต่อใครเรื่องการมีบ้านเล็กและอนุภรรยาเป็นตัวเป็นตน         แต่ทว่าท่ามกลางความลับมากมายดังกล่าว สิ่งที่เป็นห้วงลึกห้วงเร้นจริงๆ ในจิตใจของชายหนุ่มอย่างโจ้ ก็คือ นิสัยที่ถูกหล่อหลอมจากพ่อแม่ว่า เขาจะต้องยืนเป็น “ที่หนึ่ง” เหนือคนอื่นๆ ในสังคม เหมือนกับที่โจ้เคยพูดกับมารดาว่า “ผมต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้นให้กับตนเอง”         เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่เขาเที่ยวไปบริหารเสน่ห์ต่อผู้หญิงแบบไม่ซ้ำหน้า หรือเปลี่ยนคู่ควงเป็นว่าเล่น โดยที่ไม่ได้รู้สึกผูกพันกับหญิงสาวคนใดเป็นพิเศษ ก็เป็นไปเพื่อเยียวยาความรู้สึกที่ว่าตนต้องเป็น “ที่หนึ่ง” ก็เท่านั้น แบบที่เขาเองกล่าวอุปมาอุปไมยถึงผู้หญิงมากหน้าที่ผ่านเข้ามาในชีวิตว่า “มันก็เหมือนมีเพชรกับโคตรเพชร เราก็ต้องเลือกโคตรเพชรมากกว่าอยู่แล้ว”         เพื่อบำบัดความปรารถนาลึกๆ ที่อยากจะเป็น “ที่หนึ่ง” นั้น ในบรรดาผู้หญิงที่ต้องโคจรเข้ามาเป็นเหยื่อของโจ้ ก็เริ่มต้นจากวีอดีตคนรักของต่อ ตามติดมาด้วยผู้หญิงคนถัดมาก็คือ นางเอกแสนสวยอย่าง “หมอดี” อายุรแพทย์ที่เรียบร้อย จิตใจดีงาม แต่ก็เข้ามาติดกับดักเสน่หาของโจ้อีกคน แม้ว่าตลอดเวลาต่อจะคอยเตือนหมอดีให้ระวังบทเรียนประวัติศาสตร์แห่งความลับลวงใจที่อาจจะกลับมาซ้ำรอยกับเธอก็ตาม         และที่ดูเหมือนจะเป็นการเสียดสีอยู่ในทีก็คือ ในวิชาชีพความเป็นแพทย์นั้น หมอดีอาจจะมีความรู้และเชี่ยวชาญที่จะจำแนกสมุฏฐานโรคและอาการเจ็บป่วยของคนไข้ได้ก็จริง แต่ในความสัมพันธ์กับมนุษย์ที่จะแยกแยะผู้ชายว่าใครคนไหนจริงใจกับตนเองบ้าง หมอดีกลับไร้เดียงสาและหามีความชำนัญไม่ จนกระทั่งในที่สุดเธอก็เป็นผู้หญิงอีกคนที่โจ้บอกเลิก เพื่อหันไปเลือกกิ๊ฟจากตระกูลวงศ์ว่านเครือที่มั่งคั่งร่ำรวยกว่า         แต่เพราะ “จิตผู้ชายนี้ไซร้” ช่าง “ยากแท้หยั่งถึง” คล้ายดังคำโคลงโลกนิติข้างต้น ดังนั้น ลึกๆ แล้วการหันไปคบหากิ๊ฟหาได้มาจากความรักของโจ้แต่อย่างใด หากเป็นเพียงความมุ่งหมายของชายหนุ่มที่จะตอบโจทย์ความเป็น “ที่หนึ่ง” เนื่องจากทุนทรัพย์ของวงศ์ว่านเครือเท่านั้นที่สามารถพลิกให้เขากลายเป็นเศรษฐี และกอบกู้สถานะทางการเงินของครอบครัวที่กำลังตกต่ำลง        ในเวลาเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง โจ้เองก็ยังดำเนินเกมหว่านเสน่ห์ให้กับตุ้มและนิ้งทายาทที่เหลือของตระกูลวงศ์ว่านเครือ โดยหวังจะให้เธอเหล่านั้นมาเป็นตัวสำรอง หากเขาพลาดที่จะได้ลงเอยกับกิ๊ฟ ตัวละครผู้หญิงมากมายเหล่านี้จึงเป็นประหนึ่งไพ่หลายใบในมือของชายหนุ่ม ที่จะทำให้เขามีอำนาจที่จะยึดกุมและเลือกได้ว่าจะทิ้งไพ่ใบใดในสำรับเพื่อบรรลุฝั่งฝันในความเป็น “ที่หนึ่ง” นั่นเอง         และก็แน่นอน เมื่ออยู่ในเกมเสน่หาที่จะขึ้นสู่ความเป็น “ที่หนึ่ง” เช่นนี้ ผู้ชายอย่างโจ้ก็ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหมอดีซึ่งทำใจกับรักแรกที่ผิดหวังได้แล้ว เธอก็หันไปคบหากับต่ออย่างเปิดเผย จนในที่สุดก็ลงเอยเข้าสู่ประตูวิวาห์กัน นั่นเองที่ทำให้โจ้รู้สึกถึงคำว่า “เสียเชิงชาย” และสะกิดบาดแผลในจิตใจที่เขารู้สึกว่าตำแหน่ง “ที่หนึ่ง” ได้หลุดลอยออกไปจากมือของตน         จากนั้นเมื่อบาดแผลจากการเป็น “ที่หนึ่ง” ของผู้ชายดำเนินมาถึงจุดสุดขั้นของเรื่อง ฉากจบก็คือโศกนาฏกรรมของเหยื่อผู้หญิงทั้งหลาย ไม่เพียงแต่กิ๊ฟที่ต้องเจ็บปวดที่เรียนรู้ว่าสามีอย่างโจ้ไม่เคยมีหัวใจรักให้กับเธอเลย ขณะเดียวกับตุ้มที่ลักลอบเป็นภรรยาลับคนหนึ่งของโจ้ก็ต้องเจ็บปวดเมื่อเขาปฏิเสธเธออย่างไร้เยื่อใย จนตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรมในฉากจบ         ภายใต้บทสรุปที่มีทั้งการสูญเสียและให้อภัยกันในตอนท้าย ละคร “ลับลวงใจ” ได้ยืนยันเส้นเรื่องหลักที่ว่า ห้วงสมุทรอันล้ำลึกในจิตใจของมนุษย์นี้ไซร้ยากแท้หยั่งถึงจริงๆ ไม่ต่างจากตัวละครทั้งหลายที่ต่างแอบมี “ความลับ” และ “ความลวง” หลบเร้นอำพรางอยู่ระหว่างกัน         แต่ที่คู่ขนานไปกับเส้นเรื่องหลักดังกล่าวนั้น ละครก็ยังให้ข้อสรุปที่น่าขบคิดด้วยว่า ยิ่งหากเป็นห้วงลึกที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจของบุรุษเพศด้วยแล้ว บางทีการที่ผู้ชายอย่างโจ้เลือกปฏิบัติรุนแรงต่อทั้งกาย วาจา และจิตวิญญาณของผู้หญิง อาจมิใช่ด้วยต้องการมีอำนาจที่จะครอบงำเหนือเธอเท่านั้น หากแต่ต้องการปกปิด “ใจกลางแห่งความเจ็บปวด” ที่เขาปรารถนาจะยืนหยัดเพื่อเป็น “ที่หนึ่ง” ให้ได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 กลิ่นกาสะลอง : กลิ่นหอมแห่งอดีตที่ตามหลอกหลอน

        เส้นทางการพัฒนาประเทศที่ครอบงำสังคมไทยมาเกินกว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น เรามีแนวโน้มจะเชื่อและใฝ่ฝันถึงวิถีการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบพุ่งทะยานเป็นเส้นตรง จากสังคมที่ไร้ระเบียบค่อยๆ “กำลังพัฒนา” ไปสู่สังคมที่เป็นระบบระเบียบและเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ        บนเส้นกราฟการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยเยี่ยงนี้ ผู้คนจำนวนมากมักยอมรับกันว่า “เมื่อวานอาจจะดูสวยดี แต่วันนี้จักต้องสวยกว่าเมื่อวาน” และ “วันพรุ่งนี้ก็จะต้องสวยและดียิ่งๆ ขึ้นไปกว่าวันนี้และวันวาน”        และหากการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยสัมพันธ์กับเส้นทางเดินไปสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าวันนี้และวันวานด้วยแล้ว ระบบคิดเรื่องความทันสมัยก็น่าจะก่อร่างมาจากสำนึกของผู้คนที่เชื่อว่า เวลาในชีวิตของคนเรามักจะดำเนินไปแบบเป็นเส้นตรง จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน และจากปัจจุบันก็เคลื่อนไปสู่อนาคตอย่างไม่อาจผันแปรไปจากนี้ได้        ก็เหมือนกับตัวละครอย่าง “พิมพ์พิศา” ในเรื่อง “กลิ่นกาสะลอง” ที่ชีวิตดูจะดำเนินไปตามโลกทัศน์ของเวลาที่เดินทางเป็นเส้นตรงมาตั้งแต่เกิด พิมพ์พิศาหรือชื่อเล่นที่ถูกครอบครัวตั้งเอาไว้อย่างเก๋ไก๋ว่า “พริมพี่” เป็นคุณหมอสาวแสนสวยที่พบรักกับพระเอกหนุ่ม “ทินกฤต” ตั้งแต่ทั้งคู่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ จนกระทั่งเรียนจบมาเป็นหมอประจำโรงพยาบาลที่บิดาของนายแพทย์หนุ่มเป็นเจ้าของอยู่         เส้นทางชีวิตที่เป็นเส้นตรงและกำลังก้าวหน้าทั้งในเรื่องการงาน ความรัก และความมั่นคงทางเศรษฐกิจแบบนี้ ในตอนต้นก็ดูจะเป็นบทพิสูจน์ว่า สำนึกแห่งเวลาของปัจเจกบุคคลที่จะต้องดำเนินและเติบโตจากอดีตและปัจจุบันไปสู่อนาคตเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแล้วในความคิดของตัวละครคนรุ่นใหม่อย่างพริมพี่และทินกฤต         จนกระทั่งวันหนึ่งที่ทั้งพริมพี่และทินกฤตได้เดินทางไปดูที่ดินที่เชียงใหม่ ทินกฤตได้บังเกิดความรู้สึกคุ้นชินกับเรือนไม้โบราณในที่ดินผืนนั้น ไม่เพียงแต่จะเก็บเอามาฝันถึงบ่อยครั้ง แต่ในความฝันนั้น เขาก็มักจะได้กลิ่นดอกปีบหรือที่ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ดอกกาสะลอง ซึ่งหอมรวยรินและอวลอบอยู่ในห้วงสุบินดังกล่าว        ไม่เพียงแต่ชายหนุ่มที่ผูกพันอยู่กับกลิ่นดอกกาสะลองที่คลุ้งเคล้าอยู่ในฝันเท่านั้น ในส่วนของพริมพี่เอง การที่เธอได้กลับไปยังเรือนไม้หลังนั้น เธอก็ได้รับปิ่นเงินจากชายลึกลับคนหนึ่ง และการครอบครองปิ่นเงินดังกล่าวก็รบกวนจิตใจให้เธอหลับฝันประหลาดอยู่เนืองๆ ไม่แตกต่างจากทินกฤตหนุ่มคนรักเสียเลย         ปิ่นเงินกับกลิ่นดอกกาสะลอง อาจทำให้ตัวละครในเรื่องผูกโยงเข้าสู่โลกแห่งความฝันร่วมกัน แต่ในเวลาเดียวกันนั้น โลกของความฝันก็ค่อยๆ ฉายภาพเรื่องราวในชาติภพก่อน ที่เผยให้เห็นว่า ปัจจุบันขณะที่ทั้งทินกฤตและพริมพี่ดำเนินชีวิตอยู่นั้น ยังมี “เงาทะมึน” แห่งอดีตคอยหลอกหลอนอยู่เป็นเบื้องหลังตลอดเวลา        หากพุทธศาสนายืนยันในข้อเท็จจริงที่ว่า “มนุษย์เรามีกรรมเป็นเงาตามตัว” ดังนี้แล้ว แม้จะมาถือกำเนิดใหม่ในชาติภพร่วมสมัย แต่วัฏฏะแห่งกรรมในชาติปางก่อนก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ปัจจุบันมิอาจหลีกเลี่ยงไปได้เลย         ในอดีตชาตินั้น ทินกฤตก็คือ “ทรัพย์” หมอหนุ่มเชื้อสายจีนรูปงาม ที่ผูกพันรักใคร่อยู่กับ “กาสะลอง” หญิงสาวที่เคยช่วยชีวิตเขาไว้จากการพลัดจมน้ำ และที่สำคัญ กาสะลองก็คือพี่สาวฝาแฝดของ “ซ้องปีบ” ที่ในภพภูมิปัจจุบันกลับมาเกิดเป็นคุณหมอพริมพี่นั่นเอง         ซ้องปีบในชาติปางก่อนเป็นหญิงสาวที่เอาแต่ใจตัวเองอย่างร้ายกาจ และลึกๆ แล้วก็ยังอิจฉาริษยาแฝดผู้พี่อย่างกาสะลองสุดขั้วหัวใจ ยิ่งเมื่อเธอเองก็แอบหลงรักอ้ายทรัพย์อยู่ แต่หมอหนุ่มไม่ได้มีใจให้แต่อย่างใด ซ้องปีบจึงคิดแค้นและวางแผนจะทำลายความรักระหว่างหมอทรัพย์กับกาสะลองในทุกวิถีทาง         ไม่ว่าจะเป็นการอาละวาดอย่างคุ้มคลั่ง การสร้างเรื่องลวงโดยมี “นายมั่น” บิดาคอยให้ท้าย การใช้เสน่ห์ยาแฝด การวางแผนสลับตัวกับพี่สาว การทำร้ายทั้งกายและใจกับแฝดผู้พี่ ไปจนถึงการใช้เล่ห์กลกักขังกาสะลองไว้ในยุ้งข้าวให้ต้องเผชิญกับผู้ชายที่หมายข่มขืนหญิงสาว และต้องทุกข์ทรมานอยู่ในยุ้งข้าวที่กักขังนั้นจนหมดลมหายใจไปในที่สุด         แม้ตอนเป็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่ กาสะลองจะเลือกถือคติประจำใจว่า “ได้แต่ยินยอมรับความเจ็บปวด” ไม่ว่าจะจากน้องสาว จากบิดาที่ลำเอียง หรือจากทุกคนที่คุกคามทำร้ายร่างกายและจิตใจของเธอ แต่ทว่า เมื่อตายไปแล้ว ความเจ็บปวดเมื่อครั้งเป็นคน ก็ได้กลายเป็น “แรงขับ” ให้วิญญาณกาสะลองเลือกลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์และความยุติธรรมที่เธอไม่เคยได้รับมาเลยตลอดชีวิต แบบที่ผีกาสะลองเคยกล่าวว่า “ถ้ามีใครเลือกชีวิตตนเองได้ ก็ไม่ต้องทนทรมานแบบนี้”         ด้วยเหตุดังกล่าว ความทรงจำในอดีตที่ถูกหลงลืมไปของทั้งทินกฤตและพริมพี่ จึงถูกกาสะลองใช้กลิ่นดอกปีบเป็นสื่อที่ค่อยๆ กอบกู้สะกิดไฟล์ความทรงจำนั้นกลับคืนมา รวมไปถึงการใช้อำนาจในสร้าง “โลกเสมือน” ที่จับทินกฤตมากักกันไว้ในเรือนไม้โบราณ และจับพริมพี่มากักขังไว้ในรถยนต์ที่พลิกคว่ำจากอุบัติเหตุ        นัยหนึ่งก็ไม่ต่างจากการให้บทเรียนว่า ถ้าตัวละครทั้งสองกำลังมีความสุขสำราญกับเส้นกราฟที่พุ่งทะยานไปข้างหน้า พวกเขาและเธอก็ต้องไม่หลงลืมความจริงที่ว่า กำเกวียนกงเกวียนซึ่งเวียนหมุนมาจากอดีตชาติ ก็คือกรรมที่ต้องมีวันวนรอบมากำหนดความเป็นไปในชีวิตของผู้คนปัจจุบันด้วยเช่นกัน         และที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ตัวละครเอกอย่างทินกฤตกับพริมพี่เท่านั้นที่จะมีกลิ่นหอมแห่งอดีตตามมาหลอกหลอนชีวิตในปัจจุบัน ตัวละครอื่นๆ รายรอบก็ถูกวาดวางให้มี “เงาทะมึน” แห่งอดีต ทำให้ต้องหมุนวนมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกคำรบหนึ่ง ทั้ง “หมอภาคภูมิ” และ “วิจิตรา” เพื่อนรักของทินกฤตและพริมพี่ “ราเมศ” นายตำรวจที่มาสืบคดีรถคว่ำของพริมพี่ “นายแพทย์สุนทร” และ “พุดแก้ว” พ่อแม่ของพริมพี่ ตัวละครต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่มี “เงาแห่งกรรม” ที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าให้ได้เวียนกลับมาพบกันอีก ณ กาลปัจจุบัน         จนเมื่อตัวละครทั้งหลายเริ่มเข้าใจได้ว่า สิ่ง “ที่เป็นอยู่” ต่างมี “ที่เป็นมา” และ “ที่เป็นไป” ร้อยรัดไว้เป็นความสัมพันธ์ของอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต วิญญาณของกาสะลองจึงเลือกที่จะหลุดพ้นไปจากปัจจุบัน เพื่อไปรอคอยที่จะพบกับหมอทรัพย์หรือทินกฤตที่จะกลับมาเกิดอีกครั้งในภพชาติถัดไป        กลิ่นดอกกาสะลองที่หอมข้ามภพข้ามชาติเฉกเช่นนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากสำนึกความคิดแบบไทยๆ ที่ลึกๆ แล้วก็เชื่อว่า อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ไม่เคยมีเส้นแบ่งที่แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง เหมือนกับที่ทินกฤตหรือหมอทรัพย์ได้พูดกับกาสะลองว่า “ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน ผมก็คิดถึงที่นี่เสมอ...”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 แก้วขนเหล็ก : รักและทุนที่ไม่มีวันตาย

               วาทกรรมที่ว่า “ความรักย่อมไม่มีวันตาย” “เราจะรักกันชั่วนิจนิรันดร” หรือ “ไม่มีวันที่ใครจะพรากความรักไปจากกัน” จะถูกต้องเป็นจริงหรือไม่ ก็คงจะมีเพียงบุคคลที่สิ้นลมหายใจและดำรงชีวิตอยู่ได้หลังความตายแล้วเท่านั้น ที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างประจักษ์จริง         กับการพิสูจน์ความรักแท้ดังกล่าวนี้เอง ได้กลายเป็นโครงหลักของละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีอย่าง “แก้วขนเหล็ก” ที่ผูกเรื่องให้ตัวละคร “เมฆินทร์” ประมุขแห่งผีแวมไพร์ เฝ้ารอคอยความรักข้ามภพชาติก่อนที่จะได้พานพบกับ “บุญปลื้ม” หญิงคนรักที่กลับมาเกิดอีกครั้ง เพื่อยืนยันให้เห็นว่า “รักแท้ย่อมไม่มีวันตาย” จริงๆ         เรื่องราวความรักอมตะข้ามเวลาถูกโยงไปตั้งแต่อดีต เมื่อครั้งเมฆินทร์เป็นตำรวจมือปราบผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมความสามารถ เขามีความรู้ด้านไสยเวทและคาถาอาคมซึ่งใช้ปราบปรามได้ทั้งเหล่าคนร้ายและบรรดาวิญญาณร้ายต่างๆ จนได้สมญานามว่าเป็นมือปราบผู้แข็งกร้าวและไม่เคยยอมใคร         ในอีกด้านหนึ่ง เมฆินทร์เองก็คือบุตรชายของ “เจ้าคุณเทวรักษ์” คหบดีเจ้าของปราสาทพยับเมฆ และเนื่องด้วยเจ้าคุณต้องการเลือกคู่ครองที่คู่ควรให้กับเมฆินทร์ ท่านจึงหมั้นหมายบุตรชายเพื่อให้แต่งงานกับสตรีที่สมฐานะศักดิ์ชั้นอย่าง “รำพึง” แม้ว่านั่นจะเป็นการคลุมถุงชนที่เมฆินทร์เองก็ไม่ได้สมยอมแต่อย่างใด         จนกระทั่งเมฆินทร์ได้มาพบและเกิดผูกจิตปฏิพัทธ์กับบุญปลื้ม แม้ความรักที่มีหญิงสาวชาวบ้านจะทำให้เมฆินทร์เปลี่ยนจากบุรุษผู้หยาบกระด้างกลายเป็นผู้ชายที่อ่อนโยน แต่ทว่าความรักที่ต่างชั้นชนเช่นนี้ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าคุณเทวรักษ์ ซึ่งต่อมาได้วางแผนให้ชายหนุ่มอย่าง “เที่ยง” ซึ่งแอบรักบุญปลื้มอยู่ลึกๆ พาหล่อนหลบหนีไปจากปราสาทพยับเมฆ และสาบสูญไปจากชีวิตของเมฆินทร์         เมื่อต้องถูกบิดาพรากนางอันเป็นที่รักไปจากชีวิตของเขา ทั้งความรักและความแค้นที่รุมเร้ารอบด้านเยี่ยงนี้ ทำให้มือปราบอย่างเมฆินทร์เลิกยึดมั่นในคุณธรรมความดี และหันมาปวารณาตัวเข้ากับด้านมืดที่ซ่อนเร้นอยู่ จนกลายเป็นปีศาจแวมไพร์ผู้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการดื่มเลือดของมนุษย์ด้วยกัน และถูกเจ้าคุณเทวรักษ์จองจำไว้ในปราสาทพยับเมฆที่ปิดตาย วิญญาณของเมฆินทร์จึงเฝ้าแต่รอคอยวันกลับมาแก้แค้นและทวงคืนคนรักข้ามภพชาติ         ด้วยพล็อตแฟนตาซีเหนือจริงที่ผูกเรื่องราวให้มนุษย์คนหนึ่งได้กลายเป็นผีดิบแวมไพร์ และรอคอยวันฟื้นคืนชีพเพื่อกลับมาครองคู่อยู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ ด้านหนึ่งผู้สร้างก็น่าจะได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมตะวันตกฉบับคลาสสิกอย่าง Bram Stoker’s Dracula อะไรทำนองนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน ละครแฟนตาซีแนวนี้ ก็เป็นประหนึ่งจินตกรรมที่ลึกๆ แล้วฉายภาพด้วยว่า ผู้คนในโลกความจริงกำลังสะท้อนย้อนคิดถึงชีวิตตนเองและสังคมรอบตัวกันอย่างไร         เพราะเมฆินทร์เป็นตัวละครที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่สังคมยุคจารีตดั้งเดิม โดยในยุคศักดินานั้น ผู้คนต่างผูกพันกันภายใต้ระบบอุปถัมภ์ เฉกเช่นที่เจ้าคุณเทวรักษ์ก็คือตัวแทนของระบบมูลนายและไพร่ ซึ่งมีอำนาจกำหนดความเป็นความตายของทุกชีวิตในปราสาทพยับเมฆ รวมไปถึงการกำกับแม้แต่ชะตากรรมการครองคู่ของบุตรชายกับหญิงคนรักด้วยเช่นกัน         แต่เมื่อระบอบจารีตเดิมได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วิถีการผลิตแบบทุนนิยมใหม่ ในระบอบแห่งทุนซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่บนฐานคิดแบบปัจเจกชนนิยมนั้น มนุษย์ต่างล้วนถูกตัดสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยยึดเหนี่ยวผู้คนเอาไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน         จากผู้คนที่เคยถูกยึดโยงเข้าไว้ในสังกัดหรือในกลุ่มมูลนายเดียวกัน ก็เริ่มถูกริดสายสัมพันธ์และตกอยู่ในสภาวะที่แปลกแยกต่างคนต่างอยู่ แบบเดียวกับที่เมฆินทร์พยายามสลัดตัวให้หลุดออกจากกรงขังของบิดา สถาบันครอบครัว และระบบจารีตที่ดำรงอยู่มาแต่เดิม ซึ่งผลที่ตามมาก็ทำให้เขากลายเป็นปีศาจที่ถูกจองจำเอาไว้อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง และความรักที่ถูกพรากไปก็คือสิ่งที่เขาเฝ้าตามหากันแบบข้ามภาพข้ามชาติ         จนเมื่อระบอบทุนเติบโตมาถึงยุคปัจจุบัน ตัวละครเมื่อครั้งอดีตอย่างบุญปลื้มก็ได้กลับมาเกิดใหม่เป็น “รมณีย์” ในขณะที่เที่ยงเองก็กลับมาเกิดเป็น “วิทวัส” ชายหนุ่มคู่ปรับที่พยายามใช้คุณธรรมความดีกำจัดปีศาจเมฆินทร์ และยังกลายมาเป็นศัตรูหัวใจของเขาอีกครั้งในชาตินี้         ขณะเดียวกัน เมื่อถูกปลุกวิญญาณให้คืนชีพขึ้นมาอีกครา เมฆินทร์ในโฉมใหม่หาได้เพียงแต่แปลกแยกและโหยหาหญิงคนรักที่พลัดพรากกันมาแต่อดีตเท่านั้น หากแต่เขายังเริ่มออกอาละวาดสูบเลือดมนุษย์เพื่อต่อชีวิตอันเป็นอมตะของตน ไม่แตกต่างจากบรรดานายทุนที่เฝ้าสูบเลือดขูดรีดเพื่อพรากปัจจัยการผลิตของแรงงานมาต่อลมหายใจแห่งระบอบทุนนิยมออกไป         ภาพฉากที่เมฆินทร์ออกล่าสูบเลือดของโสเภณีและตัวละครหลายคนตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็คงไม่ต่างจากคำยืนยันว่า ในวิถีการผลิตแบบนี้ นายทุนเองก็อาจไม่เคยเห็นโสเภณีหรือมนุษย์เป็นมนุษย์แบบเดียวกับตน หากแต่เป็นเพียงแรงงานในระบบที่สามารถขูดรีดเลือดเนื้อได้อย่างชอบธรรมและไม่ต้องรู้สึกผูกพันแต่อย่างใด         และเพื่อสืบทอดให้ระบอบทุนดำเนินต่อไปได้เช่นนี้ เมฆินทร์ก็ได้สร้างสมาชิกใหม่ขึ้นมาช่วยค้ำจุนรักษาระบบในฐานะบริวารของเขา ไม่ว่าจะเป็น “นฤดม” ทายาทผู้สืบมรดกปราสาทพยับเมฆ รวมไปถึงผีดิบหญิงสาวอีกสามคนคือ “โชติรส” “ลำเจียก” และ “ผู้หมวดตอง” ที่หลังจากได้ลิ้มรสดื่มเลือดมนุษย์คนอื่นแล้ว ก็รู้สึกอิ่มเอมจนสมยอมขายวิญญาณของตนเป็นอมนุษย์เช่นเดียวกับปีศาจเมฆินทร์ไปในที่สุด         เพราะฉะนั้น ในโลกแฟนตาซีเหนือจริงเช่นนี้ ไม่เพียงแต่สภาวะแปลกแยกที่ทำให้ผู้คนยึดมั่นความรักเป็นสรณะ และโหยหา “ความรักที่ไม่วันตาย” เท่านั้น หากแต่วิถีแห่งระบอบทุนเองก็ดูเหมือนจะดำเนินไปแบบ “ไม่มีวันตาย” ดุจเดียวกับความรักที่เป็นอมตะด้วยเช่นกันเมื่อ “รักและทุนที่ไม่มีวันตาย” ต้องแลกมาด้วยเลือดและวิญญาณของมนุษย์ผู้อื่น คงไม่แปลกที่ตลอดทั้งเรื่องละคร เราจะได้เห็นภาพมนุษย์บางคนอย่างวิทวัสและผองเพื่อนที่ยังไม่สมาทานให้กับระบอบแห่งทุน ต่างร่วมมือกันเสาะแสวงหา “แก้วขนเหล็ก” หินศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังแห่งคุณธรรมซึ่งใช้ปราบปีศาจเมฆินทร์ได้        ด้วยความมุ่งมั่นแห่งตัวละครที่จะกำจัดจอมปีศาจ และด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งสัญลักษณ์ของ “แก้วขนเหล็ก” เช่นนี้ คงบอกกับเราผู้ใช้ชีวิตแหวกว่ายในระบอบแห่งทุนได้ว่า ถึงเวลาแล้วกระมังที่ความศักดิ์สิทธิ์และคุณธรรมความดีจะกลายเป็นความหวังเล็กๆ ที่ช่วยมนุษย์ให้สลัดหลุดออกจากชีวิตที่แปลกแยกและการขูดรีดยังคงดำรงอยู่แบบ “ไม่มีวันตาย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 กรงกรรม : บางทีคนเราก็ต้องการแค่โอกาส

               ผลพวงที่สำคัญประการหนึ่งหลังจากการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ได้แก่ การเติบโตอย่างเป็นล่ำเป็นสันของบรรดากลุ่มทุน หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจเข้าไปยึดเกาะกุมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจของสังคมไทย และผ่านมาถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลาที่กลุ่มทุนเหล่านี้จะทบทวนหวนคิดไปถึงเส้นทางที่พวกเขาเติบใหญ่ขึ้น ดุจเดียวกับชีวิตของตัวละครอย่าง “ย้อย” ในเรื่อง “กรงกรรม”        ว่ากันตามที่จริงแล้ว แก่นของละครโทรทัศน์ “กรงกรรม” ก็คือ การพยายามยืนยันว่า มนุษย์เราล้วนมี “กรงแห่งกรรม” สลักฝังติดตนเอาไว้ทุกคน ใครที่เคยหรือได้กระทำกรรมอันใดไว้ กรรมก็จะเป็นกรงอันย้อนกลับมากักขังมนุษย์ผู้นั้นไว้เป็นวัฏจักร        หาก “กรรม” คือการกระทำของคนเราแล้ว ไขว้ขนานไปกับแก่นของเรื่อง “กรรม” ดังกล่าว ละครก็ได้สะท้อนไปที่ภาพการกระทำและดำเนินชีวิตของกลุ่มทุนหน้าใหม่ในช่วงกึ่งศตวรรษก่อนอย่างย้อย ซึ่งแต่งงานใช้ชีวิตอยู่กินกับ “หลักเช้ง” และร่วมกันสร้าง “บ้านแบ้” หรือธุรกิจกงสีของตระกูล “อัศวรุ่งเรืองกิจ” อันเป็นรูปธรรมของกลุ่มทุนแบบไทย-จีน ที่ก่อตัวขึ้นในหัวเมืองท้องถิ่นอย่างอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์        กลุ่มทุนไทย-จีนในหัวเมืองใหญ่แบบนี้ ได้เข้าไปถือครองอำนาจในธุรกิจหลายๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงสีข้าว กิจการห้องแถว ธุรกิจ SME อย่างร้านชำ และอีกมากมาย และที่สำคัญ ตัวแทนกลุ่มทุนแบบย้อยยังจำลองให้เห็นความพยายามสืบต่ออำนาจทางเศรษฐกิจไปยังลูกชายทั้งสี่คนในเจเนอเรชั่นถัดไป อันได้แก่ “อาใช้” “อาตง” “อาซา” และ “อาสี่” ตามลำดับ        และเพราะกฎกติกาของทุนต้องไม่ใช่แค่การต้องสืบทอดเพื่อยืนยันการดำรงอยู่ของระบอบทุนไปสู่คนรุ่นใหม่เท่านั้น หากแต่เพราะ “ทุนต้องมีการต่อทุน” ดังนั้น การที่ย้อยเจ้ากี้เจ้าการพยายามจับบุตรชายคลุมถุงชนกับ “พิไล” หรือ “เพียงเพ็ญ” ลูกสาวของกลุ่มทุนในเขตอำเภออื่น ก็เป็นประหนึ่งการพยายามควบรวมและประสานทุนกันเป็นโครงข่าย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในวงจรการเติบโตของบรรดากลุ่มทุนนั่นเอง        จนกระทั่งการปรากฏตัวขึ้นของ “เรณู” ในฐานะสะใภ้ใหญ่ของบ้านแบ้ ทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ ถาโถมเข้าสู่วงจรการสั่งสมความมั่งคั่งในโครงข่ายทุนเศรษฐกิจของย้อย        ในอดีตเรณูเคยยากจน ไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก จึงตัดสินใจทำอาชีพเป็นโสเภณีอยู่ที่ตาคลีมาก่อน จนเมื่อมาพบและตกหลุมรักกับอาใช้ เรณูก็อยากจะเลือกเดินชีวิตใหม่ และอยู่กินเป็นภรรยาของอาใช้ โดยมีความฝันอยากจะเป็นเจ้าของร้านขายขนมเล็กๆ แห่งหนึ่ง        แต่เมื่อทั้งเรณูและอาใช้เดินทางจากตาคลีกลับมาถึงชุมแสง ความขัดแย้งระหว่างเรณูกับย้อยก็อุบัติขึ้นนับแต่ก้าวแรกที่เหยียบบ้านแบ้ ไม่เพียงเพราะความหวังที่ย้อยจะจับบุตรชายแต่งงานร่วมหอลงโรงกับพิไลต้องพังทลายลงเท่านั้น แต่ด้วยภูมิหลังอาชีพดั้งเดิมของเรณูก็ส่งผลให้ย้อยตั้งกำแพงรังเกียจว่าที่สะใภ้ใหญ่ของตนเอาไว้ชนิด “ตายไม่เผาผี” กันเลย        แม้หลักเช้งจะเคยเตือนสติย้อยว่า คนเราลบอดีตไม่ได้ แต่ให้เลือกวัดคุณค่าของคนที่อยู่ในปัจจุบันแทน แต่ทว่าย้อยก็หาลดความจงเกลียดเรณูไม่ และยังเปิดฉากทำสงครามสัประยุทธ์กับเรณูอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลที่ทั้งเธอและ “แย้ม” ผู้เป็นน้องสาวต่างติฉินนินทาสะใภ้ผู้นี้ว่า “ดูหน้าตาก็บอกยี่ห้อเลยว่ามาจากตรงไหนของตาคลี” หรือแม้แต่กล่าวผรุสวาทว่า “กะหรี่มันจะไปรักใครจริง รักบ้ารักบอสิ...”        แต่อย่างไรก็ดี บนความขัดแย้งระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้นี้เอง ความจริงทางสังคมบางอย่างก็ค่อยๆ เผยตัวออกมาให้เห็นในละครด้วยเช่นกัน การที่เรณูเลือกมาใช้ชีวิตอยู่กินกับอาใช้นั้น ก็มีเหตุผลเหมือนที่เธอเคยพูดว่า “ใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งนั้น” และ “บางทีคนเราก็ต้องการแค่โอกาสจะทำอะไรสักอย่าง”        แต่คำถามก็คือ สิ่งที่เรณูเรียกว่าเป็น “โอกาส” ในชีวิตนั้น หาใช่เป็น “ทรัพยากร” ที่จัดสรรไว้ให้สำหรับทุกคนในสังคมโดยเท่าเทียมกัน เพราะอันที่จริงแล้ว “โอกาส” ของคนชั้นล่างอย่างเรณู รวมทั้ง “ติ๋ม” โสเภณีรุ่นพี่ของเธอ ก็คือสิ่งที่ถูกพรากไปจากชีวิตของพวกเธอโดยใครบางคนที่มีอำนาจมากกว่าอย่างย้อยนั่นเอง        จากภาพที่ละครย้อนรอยชีวิตของย้อยก่อนจะเข้ามาเป็นสะใภ้บ้านแบ้ จนกลายมาเป็นกลุ่มทุนหน้าใหม่ที่มีความมั่งคั่ง การสั่งสมทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้ก็ได้อาศัยการเอารัดเอาเปรียบขูดรีดทรัพยากรและปัจจัยการผลิตจากคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีอำนาจน้อยกว่าตนมาก่อน เหมือนกับที่ครอบครัวของติ๋มก็เป็นตัวอย่างของคนที่ถูกย้อยใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงทำสัญญากู้หนี้จนสิ้นเนื้อประดาตัว และผลักไสให้ติ๋มต้องมายึดอาชีพโสเภณีก่อนที่จะมาพบเจอกับเรณู        และเมื่อ “โอกาส” ถูกพรากไปจากชีวิต เรณูที่ไม่มีทั้งความรู้ ทุนทรัพย์ หรือสถานภาพใดๆ ทางสังคม ก็ต้องหันมาฉกฉวยสร้าง “โอกาส” ให้กับตนเอง เหมือนกับที่เรณูก็ยอมรับกับ “วรรณา” น้องสาวของเธอว่า “ชีวิตกูไม่เคยมี ไม่เคยได้อะไรง่ายๆ เหมือนคนอื่น ถ้ากูอายคน กลัวคน ไม่สู้คน กูไม่ทันเล่ห์คน กูตายไปนานแล้ว...”        เพราะไม่มีซึ่งทุนใดๆ ติ๋มจึงสนับสนุนให้เรณูหันไปใช้ “อวิชชา” มาเป็นเครื่องมือ ความรู้แบบคุณไสยและยาเสน่ห์ที่เรณูทำใส่อาใช้ และต่อมาก็ใช้กับย้อยนั้น ก็คือการบอกเป็นนัยว่า คนที่ไร้ซึ่ง “โอกาส” ก็ย่อมต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด แม้ว่าลึกๆ จะรู้สึกผิดที่ต้องอาศัยด้านมืดของอวิชชาเพื่อให้ได้มาซึ่ง “โอกาส” ก็ตาม        แม้การทำยาเสน่ห์จะถูกมองว่าผิด เหมือนกับที่ชาวชุมแสงทั้งอำเภอพากันขับไล่ไสส่งให้เรณูออกไปจากชุมชนเมื่อความจริงถูกเปิดเผย แต่เล่ห์กลที่ย้อยเองใช้เพื่อพรากปัจจัยการผลิตและ “โอกาส” ในชีวิตของคนอื่นมาขยายทุนของตน ก็หาใช่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมแต่อย่างใดไม่        ยาสั่งที่เรณูและติ๋มทำใส่ย้อย จึงไม่เพียงแต่ทำให้ย้อยยอมรับการเข้ามาเป็นสะใภ้ใหญ่ของบ้านแบ้ได้เท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ย้อยเล็งเห็นว่า คนชั้นล่างอย่างเรณูหรือติ๋มก็มีสถานภาพ “เป็นคน” ด้วยเช่นกัน        จะด้วยฤทธิ์ของยาเสน่ห์หรือไม่มิอาจทราบได้ แต่ในท้ายที่สุด ย้อยก็ได้ทบทวนความคิดขึ้นใหม่ว่า ระหว่างเรณูที่ต้องการแค่ “โอกาส” และใช้ “โอกาส” เพื่อสร้างฝันเล็กๆ ของการเปิดร้านขนมโดยไม่ย่อท้อ กับพิไลสะใภ้ที่เธอเลือกมาเอง แต่วันๆ มุ่งแต่จะเฝ้าเก๊ะเพื่อยักยอกเงินกับพิทักษ์หีบสมบัติไม่ให้ตกเป็นของคนอื่น ตัวเลือกใดกันแน่ที่เหมาะจะเป็นสะใภ้ใหญ่ของบ้านแบ้จริงๆ        หาก “กรรม” เป็นการกระทำที่ย้อนกลับมาเป็น “กรง” ขังเราเอาไว้ ก็คงถึงเวลาแล้วเช่นกัน ที่บรรดากลุ่มทุนซึ่งเติบโตมาเกินกว่ากึ่งศตวรรษจะเริ่มย้อนกลับไปถามตนเองแบบเดียวกับย้อยว่า การหลุดพ้นจาก “กรงกรรม” ที่กักขังพวกเขาไว้นั้น ก็อาจหมายถึงการเคารพศักดิ์ศรีและ “โอกาส” ของคนอื่นๆ ในสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง : มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี

        ปกติแล้ว ละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้จะถูกมองว่า เป็นละครแนวที่ผู้ชมจะบันเทิงเริงรมย์เบาสมอง เสียจนบางคนเชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรสลักสำคัญอยู่ในนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวแบบบางเบาสมองเช่นนี้ก็อาจจะไม่ได้ “ไร้สาระ” หากแต่ตั้งคำถามต่อความเป็นจริงและความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในสังคมไว้อย่างเข้มข้น แถมยังแยบยลยิ่งนัก        “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ก็เป็นหนึ่งในละครโรแมนติกคอมเมดี้แบบย้อนยุค ที่ลึกๆ ลงไปในเนื้อหาแล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละคร “ทองเอก” กับ “ชบา” ซึ่งกว่าความรักที่แตกต่างกันทั้งในแง่ศักดิ์ชั้นและบุคลิกนิสัยจะลงเอยกันได้ในตอนจบ แก่นความคิดของเรื่องกลับดูร่วมสมัยที่แทบจะไม่ได้ย้อนยุคแต่อย่างใด        โดยเส้นเรื่องหลักอาศัยพล็อตที่ผูกย้อนไปเมื่อครั้งสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ช่วงเวลานั้นทองเอกได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของหมอยาที่สืบทอดองค์ความรู้วิชาแพทย์แผนโบราณ และเมื่อยังเป็นเด็ก “พ่อหมอทองอิน” ปู่แท้ๆ ของเขา ก็เคยต้องรู้สึกเสียใจอย่างใหญ่หลวง เมื่อครั้งหนึ่งไม่สามารถยื้อชีวิตของเด็กน้อยคนหนึ่งที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และตายอยู่ในอ้อมแขนของตน ปู่ทองอินจึงหนีบาดแผลในอดีต และพาทองเอกที่เป็นกำพร้าพ่อแม่อพยพมาใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมชนบ้านท่าโฉลง โดยไม่คิดรักษาโรคให้กับใครอีกเลย        ความเจ็บปวดและเสียใจกับอดีตดังกล่าว ส่งผลให้หมอทองอินสั่งห้ามทองเอกผู้เป็นหลานชายและเพื่อนๆ อย่าง “เปียก” และ “ตุ่น” ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับตำรับยารักษาโรคโดยเด็ดขาด เพราะลึกๆ แล้ว ปู่ก็กลัวว่าทองเอกจะต้องชะตากรรมเดียวกับที่ตนเคยเผชิญมา        แต่เพราะพระเอกหนุ่มมีความมุ่งมั่นว่า ความรู้เรื่องหมอยาเป็นคุณค่าที่สั่งสมมาในสายตระกูล และเป็นความหวังสำหรับบรรดา “ผู้ไข้” ทั้งหลายที่อยากจะหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ทองเอกจึงแอบร่ำเรียนวิชา และใช้ความรู้หมอยารักษาคนไข้ โดยไม่เลือกปฏิบัติว่า “ผู้ไข้” เหล่านั้นจะมาจากศักดิ์ชั้นสังกัดใดในสังคม        ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร “ผ่อง” สาวชาวบ้านที่เคยโฉมงาม แต่เพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราดจนมีสภาพไม่ต่างจากผีปอบ และถูก “แม่หมอผีมั่น” ผู้เป็นมารดาอัปเปหิไปอยู่กระท่อมกลางป่า หรือตัวละคร “คุณนายสายหยุด” แม่ของชบา และเป็นภรรยาของ “ท่านขุนกสิกรรมบำรุง” ที่ตัวคุณนายเองได้ป่วยเป็นโรคลมในท้องรักษาไม่หาย ไปจนกระทั่งตัวละคร “เสด็จพระองค์หญิง” ซึ่งป่วยเรื้อรังจนสุดความสามารถของหมอหลวงในวังที่จะรักษาให้หายขาด ทุกคนก็ล้วนกลายเป็น “ผู้ไข้” ที่ทองเอกรักษาให้โดยมิได้ตั้งแง่แต่อย่างใด        ด้วยเหตุที่ละครผูกเรื่องไว้เป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ อีกด้านหนึ่งของชีวิตการเป็นหมอยานั้น กว่าที่ทองเอกกับชบาจะลงเอยแฮปปี้เอนดิ้ง ทั้งคู่ก็ต้องฝ่าบททดสอบต่างๆ มากมาย ทั้งจาก “กล้า” ตัวละครหนุ่มหล่อและรวยที่เป็นคู่แข่งหัวใจของทองเอก ผ่องผู้เป็นคนรักเก่าของเขา และความขัดแย้งระหว่างทองเอกกับขุนกสิกรรมบำรุงผู้เป็นว่าที่พ่อตา ซึ่งกีดกันพระเอกนางเอกด้วยฐานานุรูปที่แตกต่างกัน        และดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เบื้องลึกระหว่างบรรทัดของละครแนวกุ๊กกิ๊กคอมเมดี้ หาใช่เป็นอันใดที่ “ไร้สาระ” ไม่ หากแต่คลุกเคล้าไว้ด้วยการตั้งคำถามต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้อย่างแยบยล ด้วยเหตุฉะนี้ คู่ขนานไปกับบทพิสูจน์ความรักและความมุ่งมั่นของ “นายทองเอก” ที่จะเป็น “หมอทองเอก” ก็คือการเผยให้เห็นโลกทัศน์ที่เรามีต่อสิ่งที่เรียกว่า การสั่งสมและใช้ “ความรู้” ของคนในสังคม        เพื่อให้สอดรับกับสังคมที่ก้าวเข้าสู่ความเป็น “สังคมแห่งความรู้” หรือ “knowledge-based society” ในปัจจุบัน ในขณะที่ละครได้อาศัยการสร้างฉากและองค์ประกอบศิลป์ให้ดูเป็นแบบพีเรียดย้อนยุค แต่อากัปกิริยา คำพูดศัพท์แสง และบทสนทนาของตัวละคร กลับล้วนแล้วแต่เป็นแบบที่ผู้คนในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ต่างพูดๆ กันอยู่ในชีวิตประจำวัน        ด้วยภาพที่ดูร่วมสมัยแต่ย้อนแย้งอยู่ในความเป็นอดีตนี้เอง ละครได้ตั้งคำถามกับคนในสังคมว่า เมื่อหมอยาคือบุคคลที่สังคมยอมรับในแง่ของการเป็นผู้ถือครองวิชาความรู้ที่สั่งสมสืบทอดกันมา ดังนั้น ผู้รู้ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้มีความรู้ก็อาจจะ “รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว” แต่ที่สำคัญต้องเป็นผู้ “เชี่ยวชาญ” ในเรื่องจริงๆ จึงจะ “บังเกิดเป็นมรรคผล”        ฉากที่เพื่อนๆ ทดสอบทองเอกด้วยการปิดตาและให้ดมกลิ่นหรือลิ้มรสสมุนไพรแต่ละชนิด พร้อมระบุสรรพคุณของตัวยาเหล่านั้น ย่อมบอกได้ชัดเจนว่า ถ้าจะเอาดีด้านหมอยา ความรู้เรื่องสมุนไพรและธาตุยาที่ถือครองไว้ก็ต้องผนวกผสานเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและจิตใจของผู้รู้คนนั้นๆ        ในขณะเดียวกัน เพราะ “ความรู้เป็นอำนาจ” และ “อำนาจเป็นเหรียญสองด้าน” ที่มีทั้งด้านให้คุณและให้โทษ ดังนั้น ในขณะที่แม่หมอผีมั่นเลือกใช้ความรู้หมอยาเพื่อครอบงำและเป็นมิจฉาทิฐิทำลายผู้อื่น แต่ทองเอกกลับยืนยันว่า ความรู้ต้องใช้เพื่อปลดปล่อยและเป็นสัมมาทิฐิเพื่อจรรโลงสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู แบบที่เขาได้ใช้ความรู้หมอยารักษาแม่หมอผีมั่นจากโรคในตอนท้ายเรื่องนั่นเอง         นอกจากนี้ อีกบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ของหมอทองเอกในฐานะผู้ถือครองความรู้ก็คือ ความรู้หนึ่งๆ ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะรักษาได้สำเร็จเสมอไป เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว “หมอไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะรักษาใครให้หายได้ทุกคน” เหมือนกับที่ตัวละครหลวงพ่อได้พูดให้เราสำเหนียกว่า “ไม่มีหมอคนไหนอยากให้ผู้ไข้ตายหรอก...คนจะตายมันก็ตายอยู่ดี”         เพราะฉะนั้น แม้ความรู้จะทำให้ผู้รู้นั้นดูองอาจหรือมีอำนาจ แต่ผู้รู้ก็ต้องถ่อมตนและยอมรับว่า ความรู้ทุกชนิดมีข้อจำกัดและมีขอบเขตในการนำไปใช้เสมอ แบบที่ “หนึ่งสมองกับสองมือ” ของหมอทองเอกก็ไม่สามารถรักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคระบาดในท่าโฉลงได้ครบทุกคน หรือแม้แต่ไม่อาจเหนี่ยวรั้งชีวิตของปู่ทองอินซึ่งถูกยาสั่งของแม่หมอผีมั่นเอาไว้ได้ในตอนกลางเรื่อง         คำโบราณกล่าวไว้ถูกต้องว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา” และ “มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร” แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่ความรู้ได้กลายเป็นทุนและแหล่งที่มาของอำนาจในสังคมทุกวันนี้แล้ว บางทีเสียงหัวเราะขำๆ และความรู้สึกกุ๊กกิ๊กที่เรามีให้กับหมอทองเอกและตัวละครต่างๆ รอบตัว คงบอกเป็นนัยได้ว่า มีความรู้อย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องเข้าใจและปฏิบัติต่อความรู้อย่างสร้างสรรค์จริงๆก่อนจะเสียชีวิตลง ประโยคที่ปู่ทองอินพูดกับทองเอกที่จะเป็นทายาทสืบต่อในฐานะผู้รู้หมอยาของท่าโฉลง จึงแยบคายเป็นอย่างยิ่งว่า “ข้าไม่กลัวความตาย ตลอดชีวิตของข้า ข้าทำความดีอย่างสุดความสามารถแล้ว ถึงข้าตาย ข้าก็สบายใจ”                                                                             

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ตุ๊กตาผี : เด็กดีผีคุ้ม

                ความเชื่อเรื่อง “ผี” ไม่เคยห่างเหินและสูญหายไปจากระบบคิดของสังคมไทย        เหตุผลที่ผียังคงสถิตอยู่เป็นความเชื่อของคนไทยก็น่าจะเป็นเพราะว่า ผีมีบทบาทหน้าที่กำกับควบคุมความเป็นไปในสังคม สำนวนที่ว่า “คนดีผีคุ้ม” นั้น ย่อมบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า หากใครมีความประพฤติปฏิบัติที่ดี และเป็นไปตามข้อตกลงร่วมในสังคมไทย ภูตผีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมจะอภิบาลคุ้มครอง ไม่เว้นแม้แต่ “เด็กดี” ที่ “ผีย่อมต้องคุ้ม” ด้วยเช่นกัน        โดยปกติแล้ว สถาบันแรกสุดที่ถูกสังคมมอบหมายบทบาทและความชอบธรรมให้คุ้มครองชีวิตและความเป็นไปของเด็กๆ ก็คือ สถาบันครอบครัว แต่ทว่า ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ตุ๊กตาผี” นั้น ตัวละครเด็กอย่าง “แป้งร่ำ” ต้องมีเหตุให้ครอบครัวมิอาจดูแลคุ้มครองชีวิตของหนูน้อยจากภยันตรายรอบตัวได้เต็มที่นัก        เปิดฉากมาของเรื่องละคร เด็กหญิงแป้งร่ำได้เห็น “ธาดา” เจ้าของบริษัททิพย์พิมานผู้เป็นบิดาของเธอ ถูก “พิชิต” ทนายประจำบริษัทยิงตายต่อหน้าต่อตา แม้เด็กหญิงจะจำได้ว่ามือปืนก็คือพิชิต แต่หลังจากเห็นบิดาถูกฆาตกรรม เธอก็ไม่ยอมพูดจากับใครอื่นนอกจาก “ตุ๊กตาวาวา” ตุ๊กตาที่พ่อซื้อให้ก่อนจะเสียชีวิต        และในเวลาต่อมา “นวลทิพย์” มารดาของแป้งร่ำตกลงแต่งงานกับพิชิต โดยหารู้ไม่ว่าเขาคือฆาตกรฆ่าสามี แต่กลับเชื่อว่า เขาจะช่วยดูแลบริหารงานของบริษัทและดูแลแป้งร่ำไปด้วยในเวลาเดียวกัน หากแต่ว่าพิชิตกลับหวังที่จะปอกลอก และพยายามวางแผนเพื่อถือครองมรดกของนวลทิพย์และธาดามาเป็นของเขาแทน        จนเมื่อความโลภดำเนินไปถึงขีดสุด พิชิตก็หันไปร่วมมือกับ “เริงวุฒิ” เจ้าของกิจการคู่แข่ง ที่หวังจะกำชัยทางธุรกิจเหนือบริษัททิพย์พิมาน รวมทั้งต้องการครอบครอง “ตุ๊กตาหยก” ของศักดิ์สิทธิ์มีค่าประจำตระกูลของนวลทิพย์ ซึ่งเธอแอบซ่อนตุ๊กตาหยกนี้ไว้ในตัวตุ๊กตาวาวาของแป้งร่ำ และนั่นก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เด็กน้อยแป้งร่ำได้เห็นมารดาถูกฆาตกรรมต่อหน้า เนื่องเพราะความโลภของบรรดาผู้ใหญ่รอบตัวนั่นเอง        เมื่อขาดซึ่งพ่อแม่บุพการีที่จะคอยเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรดูแลคุ้มครองลูก เด็กน้อยอย่างแป้งร่ำจึงมีสถานะไม่ต่างจาก “เหยื่อ” ที่ตัวละครผู้ใหญ่ตัวโตทั้งหลายพยายามเข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์จากเด็กที่ตัวเล็กกว่า        เริ่มตั้งแต่พิชิตที่มุ่งหมายจะครอบครองสิทธิ์ในมรดกทั้งหมดของแป้งร่ำ หรือ “ม่านฟ้า” ภรรยาใหม่ของพิชิตที่อีกด้านหนึ่งก็คือเมียลับๆ ของเริงวุฒิที่ต่างร่วมมือกันวางแผนชิงตุ๊กตาหยกมาเป็นของตน ไปจนถึงบรรดาเครือญาติอีกมากมายของพิชิตที่แห่กันเข้ามาอาศัยร่วมชายคาเดียวกันในบ้านหลังใหญ่ของแป้งร่ำ        ไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง “พุด” พ่อที่ติดการพนันงอมแงมจนหมดตัว “จัน” แม่ที่ติดหรูแบบจมไม่ลง “พิชัย” น้องชายที่หลักลอยไม่ทำงานการใดๆ “ละม่อม” สาวใช้ตัวร้ายของพุดและจัน รวมถึง “อาจารย์สมิง” หมอผีชื่อดังที่ใช้อาคมสะกดวิญญาณของธาดาเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง        เพราะเด็กมักถูกรับรู้ว่าเป็นมนุษย์ตัวเล็กที่ “มีอำนาจน้อย” หรือ “ไร้ซึ่งอำนาจ” จะต่อรอง ดังนั้น บรรดาตัวละครผู้ใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยความโลภและมิจฉาทิฐิดังกล่าว ก็คอยตั้งท่าจะเอารัดเอาเปรียบและขูดรีดเพื่อพรากเอาทรัพย์สินผลประโยชน์ของแป้งร่ำให้กลายมาเป็นผลประโยชน์เฉพาะส่วนตน        อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแป้งร่ำเป็น “เด็กดี” และไม่เคยทำร้ายใครก่อน ด้านหนึ่งเด็กหญิงก็เลยมีผู้ใหญ่ที่ดีกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เป็นระยะๆ ซึ่งในท้องเรื่องก็คือ “ธนิดา” หลานสาวของธาดา กับ “อติรุจ” แฟนหนุ่มของเธอ รวมไปถึง “ป้าสาย” และ “ปลา” ญาติสนิทของนวลทิพย์ ที่คอยดูแลเด็กหญิงหลังจากสูญเสียพ่อแม่ไป        แม้ความเป็นจริงที่ว่า เด็กคือกลุ่มคนตัวเล็กที่ “มีอำนาจน้อย” อาจจะถูกต้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เด็กตัวเล็กๆ จะกลายเป็นปัจเจกบุคคลหรือมนุษย์ที่ “ไร้ซึ่งอำนาจ” โดยสิ้นเชิง เพราะในขณะที่เด็กหญิงแป้งร่ำถูกกระทำทารุณต่อทั้งกายวาจาและจิตใจอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่กลไกทางสังคมบางอย่างก็คอยเสริมให้หนูน้อยมีศักยภาพหรือ “มีอำนาจ” ที่จะต่อกรกับผู้ใหญ่เหล่านั้นเอาไว้ได้เช่นกัน        หากดูผิวเผินแล้วเด็กก็อาจจะไม่มีอำนาจปะทะต่อสู้กับผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่าได้ แต่ถ้าเด็กคนหนึ่งยึดมั่นในความดี ข้อเท็จจริงที่ว่า “เด็กดีแล้วผีจะคุ้ม” ก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นจากกรณีของเด็กหญิงแป้งร่ำที่มีผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องเธอจากผู้ใหญ่ตัวร้ายที่ยกขบวนกันมาแย่งชิงผลประโยชน์จากเธอ        ด้วยเหตุดังกล่าว “เด็กดีๆ” แบบแป้งร่ำจึงได้รับการดูแลจาก “ผีคุ้ม” ซึ่งก็คือเหล่าตุ๊กตาของหนูน้อยเอง ที่ภายหลังมีวิญญาณอันเป็นกัลยาณมิตรมาสิงสู่อยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาผีเจ้าสาว ตุ๊กตาผีกุ๊กผู้หญิง ตุ๊กตาผีตัวตลก ตุ๊กตาผีตำรวจ ตุ๊กตาผีช่างฟิตหนุ่ม ตุ๊กตาผีคู่กุมารหญิงและชาย และรวมไปถึงวิญญาณผีนวลทิพย์ที่ภายหลังก็มาร่วมสมาคมกับตุ๊กตาผีกลุ่มนี้ เพื่อคอยคุ้มครองป้องภัยให้กับบุตรสาวของเธอ        จากเด็กตัวเล็กอย่างแป้งร่ำที่เคย “ไร้ซึ่งอำนาจ” ก่อกลายมาเป็นเด็กที่ “มีอำนาจ” มาต่อสู้กับผู้ใหญ่ได้ ก็เมื่อหนูน้อยมีพันธมิตรที่เป็นบรรดาตุ๊กตาผีหลายตนมาคอยให้การปกป้องคุ้มครอง        จะว่าไปแล้ว ความคิดเรื่องตุ๊กตาที่มีผีมาสิงสถิตและคอยช่วยเหลือเด็กๆ ก็หาใช่เรื่องที่แปลกใหม่ในโลกทัศน์ของคนไทย เด็กไทยสมัยก่อนเคยมีความเชื่อเรื่องการเลี้ยงตุ๊กตารักยมให้เป็นทั้งพี่และเพื่อนในจินตนาการต่อสิ่งเหนือธรรมชาติของเด็ก และที่สำคัญ ในจินตนาการเรื่องเล่าของตุ๊กตาผีแบบนี้เองที่ “อำนาจ” จะถูกผกผันกลับหัวกลับหางให้เด็กมีพลังที่จะต่อสู้ต่อกรกับผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่าได้        ดังนั้น ฉากที่พันธมิตรตุ๊กตาผีของเด็กหญิงแป้งร่ำได้ใช้ความน่ากลัวของ “ความฝัน” สร้างจินตนาการเพื่อลงโทษกักขังทารุณกรรมพิชิตและวงศาคณาญาติของเขาเป็นการสั่งสอน โดยที่พิชิตและม่านฟ้าถูกจับขังและเผาไว้ในโลงศพ ขณะเดียวกับที่คนอื่นก็ถูกหลอกหลอนจนแทบไม่เป็นผู้เป็นคน ก็ทำให้เราเห็นว่า อำนาจนั้นไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่มาอยู่ได้ในมือของเด็กตัวเล็กๆ เช่นกัน        หากความเชื่อเรื่องผีคือกลไกที่สังคมใช้ควบคุมคนดี และหาก “เด็กดีผีย่อมคุ้ม” ด้วยแล้ว กับบรรดาผู้ใหญ่ที่เลือกทำตนไม่ดีนั้น ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คงไม่เลือกอภิบาลปกป้องคนไม่ดีดังกล่าว เหมือนกับที่ธนิดาเคยพูดกระทบกระเทียบกับพิชิตว่า “ถ้าคนไม่ได้คิดร้ายกับผี ก็ไม่ต้องกลัวผีมาหลอกหรอก”        เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ต่อให้หนูน้อยแป้งร่ำไม่ได้เลือกจะทำร้ายผู้ใหญ่ที่มุ่งร้ายต่อเธอก็จริง แต่ก็เป็นบรรดาตุ๊กตาผีกัลยาณมิตรที่จะทำหน้าที่รักษากฎกติกาทางสังคม และลงโทษทัณฑ์คนร้ายและคนโลภเหล่านั้นทั้งในจินตนาการเหนือธรรมชาติและที่สัมผัสได้ในโลกความจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 นางสาวไม่จำกัดนามสกุล : ตัวตนที่ย้อนแย้งและยังสร้างไม่เสร็จ

                ทุกวันนี้ คนชั้นกลางคือกลุ่มคนที่เล่นบทบาทสำคัญในการกุมบังเหียนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทย แต่หากจะถามว่า แล้วคนชั้นกลางเป็นใครกัน หรือตัวตนหน้าตาแบบใดที่จัดว่าเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง         เมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นที่ดำรงอยู่มานานแล้วในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนชั้นสูง หรือกลุ่มชนชั้นชาวไร่ชาวนา คนชั้นกลางเป็นกลุ่มสังคมที่ถือกำเนิดขึ้นในภายหลัง แม้ว่าพวกเขาจะมีศักยภาพสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจอย่างมั่งคั่ง แต่ดูเหมือนว่าอัตลักษณ์ตัวตนของคนกลุ่มนี้ช่างคลุมเครือและย้อนแย้งยิ่งนัก ไม่ต่างไปจากชีวิตของตัวละครอย่าง “เรียม” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของ “นางสาวที่ไม่จำกัดนามสกุล”        เรียมเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ชีวิตของเธอเป็นเหมือนในเนื้อเพลงว่า “ตื่นขึ้นมาทุกวันฉันยังเหมือนเดิมเริ่มชีวิตด้วยแสงสว่าง” และด้วยชีวิตที่ซ้ำซากเหมือนเดิมๆ แบบนี้ อีกด้านหนึ่งของเรียม เธอจึงบอกตนเองว่า “แต่พอมองเข้าไปที่ใจฉันเอง กลับได้พบแค่ความเดียวดาย เก็บความเงียบเหงาไว้ในใจมานาน...”        พื้นเพภูมิหลังของเรียมก็คือ ผู้หญิงที่พลัดถิ่นฐานภูมิลำเนามาจากต่างจังหวัด แม้ที่บ้านของเธอจะเปิดร้านขายหมูยอจนมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดภาคอีสาน แต่เรียมก็ตระหนักว่า นั่นหาใช่ “คำตอบสุดท้าย” ในชีวิตของเธอไม่ เรียมจึงเลือกเข้ามาเสาะแสวงหาโชคและทำงานเป็นเซลส์ขายอาหารสุนัขในเมืองหลวง ดุจเดียวกับกลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยอีกหลายๆ คน ที่ก็มีพื้นฐานเป็นคนพลัดถิ่นเฉกเช่นนี้        และในสังคมเมืองใหญ่ที่แตกต่างไปจากพื้นถิ่นพื้นฐานบ้านเกิดนี่เอง ตัวตนของเรียมก็ดำเนินไปท่ามกลางสภาวะที่แปลกแยกกับโลกภายนอก คอนโดที่เธอพักอาศัยก็ไม่เพียงจะจับผู้คนมาแยกอยู่ในกล่องหรือห้องใครห้องมัน ความเปลี่ยวเหงาในสังคมเมืองกรุงก็ทำให้ชีวิตมนุษย์เวียนวนจนเป็นสายพาน และขาดสายสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบข้างรอบตัว        จากอาการแปลกแยกกับสายสัมพันธ์ทางสังคม ในที่สุดก็ก่อกลายมาเป็นสภาวะที่ปัจเจกบุคคลอย่างเรียมก็เริ่มแปลกแยกกับตัวของเธอเอง เมื่อหมอตรวจพบว่าเรียมมี “ช็อกโกแลตซีสต์ในมดลูก” แม้ว่าซีสต์จะเป็นภาวะทางร่างกายที่ท็อปฮิตกันในหมู่คนยุคใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ก้อนซีสต์ก็บ่งนัยว่า มนุษย์เรานับวันจะแปลกแยกกับตนเองมากขึ้น จนสามารถสร้างก้อนเนื้อใดๆ ขึ้นมาเป็นซีสต์ให้คับข้องใจกันได้ตลอดเวลา        เพื่อจัดการกับสภาวะแปลกแยกดังกล่าว หมอจึงแนะนำว่า ทางเดียวเท่านั้นที่จะหายขาดก็คือ ต้องหาผู้ชายสักคนมาแต่งงานและมีลูก ซีสต์หรือความแปลกแยกต่อร่างกายของเรียมก็จะค่อยๆ มลายหายไป ด้วยเหตุฉะนี้ ปฏิบัติการสลายชอกโกแล็ตซีสต์และปฏิบัติการค้นหาตัวตนของผู้หญิงคนชั้นกลางอย่างนางสาวเรียมจึงเริ่มต้นขึ้น เฉกเดียวกับท่วงทำนองที่ว่า “อยากมีใครสักคนที่เดินเข้ามาให้ความรักและความอบอุ่น...”        ชายหนุ่มคนแรกที่เข้ามาในปฏิบัติการสลายซีสต์ก็คือ “ปกรณ์” CEO หนุ่มรูปหล่อทายาทเจ้าของธุรกิจนับพันล้าน ในการคบหากับปกรณ์นั้น เรียมก็ต้องตัดแต่งตัวตนของเธอให้กลายเป็นสาวสังคมชั้นสูง ไปรับประทานดินเนอร์สุดหรู เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับชีวิตมหาเศรษฐี แม้ในความเป็นแล้ว เธอเองก็ยังคงเป็นแค่ลูกสาวเจ้าของร้านขายหมูยอ ฐานะอันแตกต่างกันนี้เองจึงเป็นชนวนเหตุให้รักของทั้งคู่ต้องสิ้นสุดลง        เมื่อเลิกราไปจากปกรณ์ เรียมก็มาคบหาดูใจกับศิลปินนักร้องหนุ่มสไตล์โอปป้าแสนอบอุ่นอย่าง “พีท” ชีวิตรักที่ได้ผูกพันกับเซเลบริตี้ขวัญใจแฟนคลับมากมาย ทำให้ตัวตนของเรียมแปลกแตกต่างและตื่นเต้นกระชุ่มกระชวยมากขึ้น แม้ในภายหลัง เธอเองก็พบว่า ความรักกับบุคคลสาธารณะแบบนี้หาใช่คำตอบเสมอไปสำหรับเรียมผู้ที่อีกด้านก็รักชีวิตสันโดษแบบเราสอง        จากศิลปินนักร้องชื่อดัง ผู้ชายคนถัดมาที่เรียมเลือกไว้ก็คือ หนุ่มโสดหล่อล่ำกล้ามโตอย่าง “อาร์ม” ที่ด้านหนึ่งก็เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นอดีตเพื่อนเที่ยวของผู้หญิงมากหน้าหลายตา แม้การคบหากับอาร์มจะทำให้เรียมได้ย้อนกลับมาใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกาย รวมถึงพร้อมจะอยู่กับปัจจุบันโดยไม่สนใจความทรงจำจากอดีต แต่ในที่สุด ไลฟ์สไตล์แบบใหม่นี้ก็เป็นโจทย์ที่ความรักของทั้งคู่ไม่อาจดำเนินต่อไปได้        ถัดจากเทรนเนอร์ฟิตเนส เรียมก็เริ่มผูกจิตปฏิพัทธ์กับ “ทวีป” สัตวแพทย์หนุ่มนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ทวีปทำให้เรียมเข้าใจชีวิตว่า ตัวตนของคนชั้นกลางก็น่าจะทำประโยชน์หรือขับเคลื่อนสังคมไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น แต่นั่นก็เป็นอีกครั้งที่เธอพบว่า ทางสองแพร่งที่อยู่ระหว่างจิตสาธารณะและความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนรัก ก็ดูจะยากยิ่งที่ไหลมาบรรจบกันได้        กับ “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” อย่างเรียมที่ประกอบร่างสร้างตัวตนแบบนี้ สะท้อนนัยให้เห็นว่า อัตลักษณ์คนชั้นกลางไทยไม่เพียงแต่ “ยังสร้างไม่เสร็จ” และ “รื้อสร้างใหม่ไปได้เรื่อยๆ” หากแต่ยังมี “ความย้อนแย้ง” แทรกซึมอยู่ในตัวตนคนชั้นกลางยิ่งนัก        แม้การสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญแห่งคนชั้นกลาง แต่ภูมิหลังการเป็นลูกแม่ค้าหมูยอก็ทำให้ฝันไม่อาจบรรลุถึงฝั่งได้ หรือแม้ต้องการจะใช้ชีวิตสาธารณะโลดแล่นมีชื่อเสียง แต่หากชีวิตสาธารณะเข้ามาคุกคามชีวิตส่วนตัวเกินไป คนชั้นกลางก็พร้อมจะสละความปรารถนาดังกล่าวไปได้        หรือแม้คนชั้นกลางเลือกพร้อมที่จะลบลืมอดีตของปัจเจกและมองทุกอย่างไปที่อนาคต แต่พวกเขาก็ยังไม่พร้อมจะให้อดีตมาคอยหลอกหลอนชีวิตปัจจุบันอยู่เช่นกัน และท้ายสุด แม้คนกลุ่มนี้จะพยายามก่อรูปจิตสำนึกสาธารณะ แต่พวกเขาก็ไม่อาจยอมรับได้ถ้าประโยชน์สาธารณะจะบั่นทอนประโยชน์สุขส่วนบุคคล        เมื่อตัวตนคนชั้นกลางช่างย้อนแย้งเป็นทางสองแพร่งที่ไม่อาจลงรอยกันได้เยี่ยงนี้ เรียมก็ค่อยๆ ย้อนคิดตริตรองใหม่จนได้คำตอบว่า การวิ่งตามหาใครสักคนมาอยู่ข้างๆ หรือผูกติดตัวตนของเรากับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ มันก็อาจไม่ใช่อัตลักษณ์หรือเป็นความใฝ่ฝันของคนชั้นกลางได้เลย        เพราะฉะนั้น ในตอนท้ายของเรื่อง หลังจากผ่านตัวเลือกชายหนุ่มมากมายในชีวิต เรียมก็ตระหนักว่า ความสุขไม่ได้อยู่ไกลแต่อย่างใด เพราะเป็นพระเอกหนุ่มอย่าง “องศา” ที่อยู่ข้างห้องนี่เอง ที่เป็นสายสัมพันธ์ซึ่งยึดโยงรู้จักกันมาตั้งแต่วัยเรียน เป็นคนที่อยู่เคียงข้างในทุกปัญหาที่เธอเผชิญ และเป็นผู้ชายที่พูดกับเรียมด้วยประโยคว่า “ฉันชอบตัวเองเวลาอยู่กับแก”        ไม่ว่า “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” อย่างเรียม หรือจะเป็นคนชั้นกลางอย่างเราๆ ที่ดำรงอยู่ท่ามกลาง “ซีสต์แห่งความแปลกแยก” หรือ “ตัวตนที่ย้อนแย้งและยังสร้างไม่เสร็จ” แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประโยคที่เรียมพูดกับองศาในฉากจบก็ช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “แค่คนที่พอดี มันก็ดีพอแล้ว...บางทีคนที่ใช่มันก็อยู่ใกล้แค่นี้เอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 สงครามนักปั้น : เมื่อภาพลักษณ์สำคัญกว่าของจริง

        การรับรู้ความเป็นจริงของมนุษย์เรามีอยู่ด้วยกันสองด้านคือ ความจริงที่เป็น “แก่นแท้” หรือเป็นของจริงที่แท้จริง กับความเป็นจริงที่ไม่สำคัญว่า “ของจริง” จะเป็นเช่นไร แต่ทว่ามนุษย์เราสามารถเสกสรรปั้นแต่งจนกลายเป็น “ภาพลักษณ์” ที่เผลอๆ แล้วดูดีและโดดเด่นยิ่งกว่า “แก่นแท้” หรือ “ของจริง” เสียอีก        ในยุคที่ชีวิตผู้คนกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมแห่งภาพลักษณ์” ที่ “แก่นแท้” เริ่มหมดคุณค่าลงดังกล่าว หากใครก็ตามที่มีศักยภาพในการ “ปั้นความเป็นจริง” ให้กับโลกรอบตัวได้ คนๆ นั้นก็จะกลายเป็นผู้มีอำนาจในสังคมอันอุดมภาพลักษณ์ที่ถูกเนรมิตขึ้นมาได้เช่นกัน        ก็เฉกเช่นชื่อละครโทรทัศน์ที่ว่า “สงครามนักปั้น” ซึ่งขานรับกับกระแสสังคมที่มนุษย์ให้คุณค่ากับ “ภาพลักษณ์” มากกว่า “แก่นแท้” กระแสสังคมแบบนี้เองส่งผลให้เกิดแวดวงวิชาชีพ “นักปั้นภาพลักษณ์” อันเป็นพื้นที่ซึ่งสรรพชีวิตต้องลงสนามแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจและกำชัยชนะเหนือคู่แข่งในสมรภูมิดังกล่าว        ละคร “สงครามนักปั้น” เลือกผูกเรื่องราวเบื้องหลังของวงการธุรกิจโมเดลลิ่ง ที่เป็นประหนึ่งโรงงานผลิตนักร้องนักแสดงเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ และที่แน่ๆ ธุรกิจโมเดลลิ่งเป็นกรณีรูปธรรมของแวดวงแห่งการปั้นภาพลักษณ์ เพราะศิลปินดาราก็คือบุคคลสาธารณะที่อาศัยภาพลักษณ์เป็นวัตถุดิบเพื่อขายพ่วงมากับศักยภาพการแสดงของตน        ด้วยความเข้าใจตรรกะของการปั้นฝันหรือสรรค์สร้างความเป็นจริงให้กับบุคคลสาธารณะเฉกเช่นนี้ สาวใหญ่อย่าง “แอล” เจ้าของกิจการ “แอลโมเดลลิ่ง” จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนเจ๊ดันที่จัดการปรุงแต่งภาพลักษณ์ให้บรรดาดาราในสังกัดของเธอโดดเด่นสุกสกาวที่จะก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง        ธุรกิจโมเดลลิ่งของแอลดูแลศิลปินดาราในสังกัดหลายคน โดยเฉพาะ “แทนคุณ” พระเอกหนุ่มคู่ขวัญกับ “มุก” นางเอกสาว ที่เบื้องหลังนั้นทั้งคู่ต่างก็คบหาเป็นคนรักกันจริงๆ แต่ทว่า ด้วยอุตสาหกรรมดารามีข้อบังคับที่ว่า ผู้ที่จะดำรงอยู่ในแวดวงนี้ได้อย่างยั่งยืนต้องให้ค่ากับความเป็น “คู่จิ้น” มิใช่จะกลายเป็น “คู่จริง” ซึ่งจะมีผลต่อคะแนนนิยมจากเหล่าแฟนคลับ ดังนั้น ภารกิจของแอลจึงต้องคอยช่วยปกปิดและบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวของแทนคุณและมุก อันเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษาภาพลักษณ์ศิลปินชั้นต้นในสังกัด        ในเวลาเดียวกัน นอกจากยุคสังคมแห่งภาพลักษณ์จะให้คุณค่ากับการเสกสรรปั้นแต่งความเป็นจริงมากกว่าการค้นหาความจริงที่แท้จริงแล้ว ในยุคนี้อีกเช่นกันที่ศิลปินดาราไม่ใช่แค่ดวงดาวโคจรลอยล่องอยู่ในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่เหล่าดาราทั้งหลายก็ยังมีสถานะเป็นสินค้า แถมยังเป็นสินค้าที่มีปริมาณเกร่อล้นตลาดอีกต่างหาก        เพราะฉะนั้น เมื่อสินค้าดารามีอยู่ท่วมท้นตลาดธุรกิจบันเทิง ภาพลักษณ์ที่แอลบรรจงปั้นให้ศิลปินในสังกัด ก็คือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขายบุคลากรนักแสดงที่เป็นสินค้าในตลาดให้กับบรรดาเอเยนซี่ เจ้าของสินค้า และสาธารณชนผู้มีกำลังซื้อหรือเสพดารานั่นเอง        แต่ขณะเดียวกัน เพราะตลาดธุรกิจบันเทิงมีสินค้าดาราที่ล้นเกินอุปสงค์ของผู้ซื้อ แอลจึงมิอาจผูกขาดให้เธอเป็นเจ้าของธุรกิจโมเดลลิ่งได้เพียงเจ้าเดียว และคู่แข่งคนสำคัญของเธอก็คือ “เพียว” เจ้าของกิจการ “พีแอดวานซ์โมเดลลิ่ง” ที่พยายามเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในโลกธุรกิจการขายภาพลักษณ์ศิลปินในทุกวิถีทาง        ภูมิหลังของเพียวนั้นเคยเป็นอดีตลูกน้องในสังกัดแอลโมเดลลิ่งมาก่อน แต่สัจธรรมของโลกธุรกิจก็มักจะอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า “เมื่อดังแล้วก็ต้องแยกวง” แถมยังเป็นการ “แยกวง” ที่มีความขัดแย้งและทิฐิแต่ครั้งปางหลังที่เพียวคับแค้นใจจนอยากจะเอาชนะและโค่นล้มแอลให้หลุดกระเด็นไปจากวงการโมเดลลิ่งให้จงได้        ด้วยเหตุนี้ ในหลายๆ ฉากของละคร เราจึงเห็นภาพการปะทะคารมหรือการวางหมากวางเกมที่จะประหัตประหารคู่แข่งของโมเดลลิ่งฝ่ายตรงข้าม โดยบ่อยครั้งตัวละครก็ไม่ได้คำนึงว่า การสัประยุทธ์กันเพื่อครองความเป็นเจ้าในแวดวงการปั้นภาพลักษณ์ดังกล่าว จะยืนอยู่บนหลักจารีตธรรมภิบาลใดๆ ไม่        แม้ละครจะให้คำอธิบายด้วยว่า เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างแอลกับเพียวมาจากปมปัญหาเข้าใจผิดบางอย่าง แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า สงครามระหว่างนักปั้นภาพลักษณ์สองคนก็มีเบื้องลึกอันเนื่องมาแต่ความพยายามที่ “ฉันนั้นต้องการมีเสี้ยวนาทีที่ยิ่งใหญ่” ในวงการโมเดลลิ่งนั่นเอง        ยิ่งเมื่อสงครามขัดแย้งปะทุถึงขั้น “ตายไม่เผาผี” ด้วยแล้ว เพียวได้พยายามช่วงชิง “เรน” ดาราในสังกัดของแอลให้ฉีกสัญญา และมาเข้าสังกัดโมเดลลิ่งของเธอ พร้อมๆ กับที่ผลักดัน “ปีย์แสง” ลูกชายของแอล ให้ขึ้นเป็นพระเอกเบอร์หนึ่งแทนแทนคุณที่กราฟชีวิตอยู่ในช่วงขาลง สนามรบแห่งนี้จึงเป็นภาพสะท้อนว่า การแข่งขันฟาดฟันกันในธุรกิจปั้นภาพลักษณ์ช่างดุเด็ดเผ็ดมันไม่ยิ่งหย่อนการต่อสู้ของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมอื่นๆ เลย        นอกจากนี้ ละครก็ยังชวนให้เราขบคิดตลอดเรื่องอีกด้วยว่า เมื่อแวดวงโมเดลลิ่งจะบูชาภาพลักษณ์ยิ่งกว่าของจริงนี่เอง เบื้องหลังของตัวละครศิลปินดาราทั้งหลายก็อาจมีความจริงที่ต่างออกไปจากภาพที่เสกสรรปั้นแต่งหน้าฉากขึ้นมาราวฟ้ากับหุบเหว        แทนคุณพระเอกยอดนิยมมีอีกด้านที่ติดสุราเรื้อรังจนเป็นโรคแอลกอฮอลิซึม นางเอกสาวอย่างมุกก็มีสถานะเป็นตุ๊กตาหน้ารถของหนุ่มไฮโซอย่าง “ทรงโปรด” ซึ่งควงเธอเพียงเพื่อจะเอาชนะคู่หมั้นของเขาเท่านั้น นางเอกปั้นอย่างเรนก็บ้าหนุ่มๆ และ “คันหูไม่รู้เป็นอะไร” อยู่ตลอดเวลา ยังไม่นับรวมตัวละครอื่นๆ อีกมากมายในท้องเรื่องที่หน้าม่านกับหลังม่านการแสดงผิดแผกแตกต่างกันคนละขั้วโลก        และที่สำคัญ แม้แต่กับสองสาวนักปั้นภาพลักษณ์นั้น พวกเธอเองก็มีหลังฉากที่ต้องหลบเร้นไม่ต่างจากศิลปินดาราในสังกัดเองเลย นักปั้นมือใหม่อย่างเพียวก็ช่างเป็นผู้หญิงที่เจ้าคิดเจ้าแค้นจนปล่อยให้อคติทำลายฝีมือในงานอาชีพของเธอ หรือนักปั้นรุ่นเก๋าอย่างแอลก็ต้องปกปิดและไม่กล้ายอมรับความจริงว่าเธอเป็นมารดาแท้ๆ ของปีย์แสง จนแม่ลูกต้องมายืนอยู่ในสงครามนักปั้นคนละฝั่งฟากกัน        บนโลกที่ “คนเราเคารพคบกันที่ภาพลักษณ์” ซึ่งพ่วงมามาด้วยชื่อเสียงและเงินทอง บางครั้งหากเราได้ลองมานั่งพินิจพิศดูสงครามของตัวละครในโรงงานปั้นฝันกันดีๆ เราก็อาจจะได้คำตอบเหมือนกันว่า ระหว่างภาพมายาที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นมากับแก่นแท้ที่คนเรายุคนี้มักมองข้าม ตัวเลือกข้อใดที่จะเป็นของจริงกว่ากัน

อ่านเพิ่มเติม >