ฉบับที่ 197 เมียหลวง : สามีก็เป็นปัจจัยการผลิต

และแล้วมหากาพย์การต่อสู้เหนือใบทะเบียนสมรสกันระหว่างตัวละครอย่าง “ดร.วิกันดา” และ “อรอินทร์” ที่จะช่วงชิงความเป็นเจ้าของ “ดร.อนิรุทธิ์” มาเป็นสามีตามกฎหมาย ก็หวนกลับมาอีกครั้ง เป็นคำรบที่เท่าไรก็มิอาจทราบได้ แต่เหตุใดปมปัญหาชีวิตเรื่อง “เมียหลวง” “เมียน้อย” และ “เมียที่น้อยๆ ลงไปอีกมากมาย” แบบนี้ จึงได้ย้อนกลับมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และภาพความขัดแย้งระหว่างบรรดาเมียๆ ใหญ่น้อยบ่งบอกให้เราเห็นความเป็นจริงอันใดในสังคมกันแน่ โครงเรื่องหลักของละคร “เมียหลวง” เปิดฉากแรกมาให้เห็นภาพวันวิวาห์หวานชื่นของอนิรุทธิ์และวิกันดา โดยมีสักขีพยานมากมายมาร่วมงานมงคลสมรสของทั้งคู่ ซึ่งหากดูผิวเผินนั้น ภาพแบบนี้น่าจะบ่งบอกเป็นนัยว่า ชีวิตคู่และชีวิตครอบครัวในอุดมคติได้เริ่มต้นเปิดม่านออกสู่สาธารณชนแล้ว แต่เพราะนั่นเป็นเพียงฉากเริ่มต้นเรื่องของละครที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งตามมา ฉากถัดๆ ไปของท้องเรื่องจึงค่อยๆ เผยให้เห็นภาพบางอย่างที่แตกต่างไปจากอุดมคติที่สังคมรับรู้ เมื่อพระเอกหนุ่มที่ดูจะมี look เป็น “สามีแห่งชาติ” อย่าง ดร.อนิรุทธิ์ ได้มีผู้หญิงมากหน้าหลายตามาติดพัน และเขาเองก็ไปพัวพันกับผู้หญิงอีกมากหน้าหลายตาเช่นเดียวกัน  ถ้ามองจากจุดยืนของบรรทัดฐานศีลธรรมทางศาสนาแล้ว ปัญหาเรื่องเมียน้อยถือเป็นเรื่องผิดศีลกาเมข้อสาม และเป็นการละเมิดจารีตการครองเรือนของพุทธศาสนิกชนที่ดี ในขณะที่หากเรามองด้วยหลักนิติศาสตร์แล้ว เมียน้อยยังถือเป็นภรรยาที่ไม่ผ่านการจดทะเบียนสมรส จึงไม่อาจมีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมาย เมื่อเทียบกับภรรยาหลวงซึ่งรัฐและสถาบันกฎหมายรับรองเอาไว้ (แบบความหมายตรงตัวว่า “หลวง” หรือราชการได้มอบหมายความชอบธรรมสูงสุดให้กับหญิงผู้เป็นเมียหลวงนางนี้)  ถ้ามีทั้งจารีตศีลธรรมและระเบียบกฎหมายประทับตราอำนาจกับความชอบธรรมของเมียหลวงเอาไว้ดั่งนี้แล้ว คำถามที่น่าสงสัยก็คือ แล้ววัฒนธรรมความเป็นเมียน้อยเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?  กล่าวกันว่า ในสังคมที่บุรุษเพศถือครองอำนาจนำอยู่นั้น การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมเมียน้อยเป็นหนึ่งในสิ่งบ่งชี้สำคัญถึงการครองอำนาจของผู้ชายในสถาบันครอบครัว หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ชายบางคนเชื่อว่า การมีภรรยาที่มากกว่าหนึ่งขึ้นไปหาใช่เรื่องต้องห้าม หากแต่เป็นเครื่องพิสูจน์ศักดานุภาพที่เขามีอำนาจปกครองสตรีเพศทั้งหลายให้อยู่ใต้อาณัติบัญชาของตนได้ เฉกเช่นอนิรุทธิ์ที่ชีวิตหลังแต่งงานมีลูกและมีครอบครัวแล้ว แต่ก็ยัง “ไล่ล่า” ผู้หญิงมากหน้าหลายตามาเป็นอนุภรรยากันอย่างไม่สิ้นไม่สุด ไม่ว่าจะเป็นอรอินทร์ผู้พยายามเป็น “มือที่สาม” เพื่อปั่นป่วนความสัมพันธ์ระหว่างเขากับวิกันดา หรือ “นวล” สาวใช้ในบ้านของอนิรุทธิ์ หรือ “นุดี” เด็กสาวใสซื่อผู้อยู่ในความดูแลของวิกันดา ไปจนถึง “เมเปิ้ล” สาวนักธุรกิจรูปสวยที่ “ไก่เห็นตีนงูงูเห็นนมไก่” และเท่าทันความเจ้าชู้ของอนิรุทธิ์แบบช็อตต่อช็อต แต่เพราะ “อำนาจไม่เคยเข้าใครออกใคร” ดังนั้น แม้อนิรุทธิ์อาจจะเชื่อมั่นว่า ชีวิตที่รายล้อมไปด้วยภรรยาน้อยใหญ่ก็เป็นการสำแดงอำนาจของผู้ชายที่ควบคุมบงการร่างกายและจิตใจอิสตรีเอาไว้ได้ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ใช่ว่าบรรดาอนุภรรยาทั้งหลายจะสมยอมสยบต่ออำนาจนั้นโดยเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ดูผิวเผินแล้ว เหตุผลร่วมกันของบรรดาเมียน้อยที่เข้ามาแก่งแย่งช่วงชิงเป็นเจ้าของหัวใจอนิรุทธิ์จากภรรยาหลวง ก็อาจมาจากตัวแปรเรื่อง “ความรัก” ซึ่งเป็นข้ออ้างแรกๆ ของพวกเธอ แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็ดูเหมือนพวกเธอเองก็พยายามใช้อำนาจเพื่อย้อนศรมากำกับบงการชีวิตของอนิรุทธิ์ด้วยผลประโยชน์ที่ต่างกันไป สำหรับเมียน้อยกลุ่มนี้ อนิรุทธิ์เป็นผู้ชายที่ “ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน” ทั้งรูปร่างหน้าตา การศึกษา และฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งร่ำรวย เขาจึงมีสถานะไม่ต่างจาก “ปัจจัยการผลิต” ที่จะทำให้พวกเธอใช้เป็นทุนเพื่อต่อยอดหรือดำรงอำนาจของตนขึ้นไปได้ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม แม้นปากจะพร่ำบอกว่าตนรักอนิรุทธิ์มากมายเพียงใด แต่อรอินทร์ก็เห็นว่า การมีเขาเท่านั้นที่จะทำให้เธอมีสถานะสังคมและครอบครัวสมบูรณ์ทัดเทียมกับชีวิตครอบครัวพ่อแม่ลูกของคู่แข่งอย่างวิกันดา หรือนวลที่ยอมเป็นเมียเก็บก็ด้วยเหตุผลหนึ่งที่จะใช้อนิรุทธิ์เพื่อเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจของตนขึ้นไปเท่านั้น ในขณะที่นุดีที่มาดหมายจะยอมเป็นเมียอีกคนของอนิรุทธิ์ก็เพียงเพื่อหลีกหนีไปจากลุงที่มุ่งหวังจะคุกคามทางเพศเธอ รวมไปถึงเมเปิ้ลที่วางแผนใช้ความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเพื่อแบล็คเมล์อนิรุทธิ์ได้อย่างแสบสันต์ในท้ายเรื่อง เพราะฉะนั้น แม้อนิรุทธิ์จะคิดว่า “ผู้หญิงของเขา” ต่างก็เป็นตัวหมากที่สมยอมอำนาจให้เขาหยิบวางลงบนตำแหน่งแห่งใดบนกระดานก็ได้ แต่ทว่า เขาเองก็ดูจะไม่ต่างจากตัวเบี้ยบนกระดานของพวกเธอ เพราะบรรดาอนุภรรยาเหล่านั้นก็จับเขามาวางเดินเกมเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ของตนด้วยในทางกลับกัน และที่สำคัญ ตราบใดที่บรรดาเมียๆ ยังเห็นว่า อนิรุทธิ์เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มี “มูลค่าทางการผลิต” ตราบนั้นพวกเธอก็ยังพุ่งเป้ามาแก่งแย่งช่วงชิงเขามาเป็น “สามี” หนึ่งเดียวคนนี้ แต่ทางตรงข้าม มันก็คงไม่ต่างจากฉากจบของละคร หากพวกเมียๆ ได้ตระหนักแล้วว่า เขามิอาจเป็น “ปัจจัยการผลิต” ได้อีกต่อไป พวกเธอก็พร้อมจะ “เท” เขาทิ้งอย่างไร้เยื่อใยได้เช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นเมียเก็บอย่างนวลที่พูดกับตนเองในตอนจบเรื่องว่า “ชีวิตก็ต้องสู้ต่อไป โดนเท อย่าได้แคร์ สู้ๆ คราวนี้นังนวลจะหาผัวดีๆ มาเย้ยด้วย คอยดูแล้วกัน” หรือเมเปิ้ลที่แบล็คเมล์และพูดเชือดเฉือนแทงใจดำของอนิรุทธิ์ว่า “ผู้หญิงไม่ได้โง่หลงใหลคุณทุกคน ให้เสียตัวฟรีๆ สมัยนี้ไม่มีแล้ว สมัยนี้ทุกอย่างแลกได้ด้วยเงิน”  ไปจนถึงเมียหลวงเสียงจริงตัวจริงอย่างวิกันดาที่พูดกับคู่ท้าชิงตัวแม่อย่างอรอินทร์บนเข้าใจ “ธาตุแท้” ของสามีว่า “ไม่เลย เธอไม่รู้เลย จำคำของฉันไว้นะ คุณรุทธิ์ไม่เคยเห็นใครสำคัญเท่ากับตัวเอง...”  ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่ออนิรุทธิ์ไม่เหลือคุณค่าใดๆ อรอินทร์ก็พร้อมจะผละเขาไปเริ่มต้นชีวิตคู่กับชายคนใหม่อย่าง “วาทิน” ในขณะที่วิกันดาภรรยาหลวงก็เลือกจะจดทะเบียนหย่า เพื่อปลดเงื่อนพันธนาการจากอำนาจและความเจ้าชู้ของเขาไปในที่สุด  ท่ามกลางความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาและการมีภรรยาลำดับรองๆ ลงไปมากมายนั้น บางครั้งอหังการและอำนาจที่บุรุษเพศตระหนักว่าตนถือครองอยู่นั้น ก็ยังมีอีกด้านที่ฝ่ายหญิงหรือเมียหลวงเมียน้อยต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สามีก็เป็นเพียงแค่ “ปัจจัยการผลิต” ที่อาจมีหรือไม่มี “มูลค่า” ใดๆ ได้ด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ : เมื่อหมาป่าอยากโบกบินสู่เสรีภาพ

โดยทั่วไปแล้ว ละครโทรทัศน์ที่เราได้รับชมผ่านทางหน้าจอนั้น มักจะสร้างให้ตัวละครพระเอกเป็นภาพของผู้ชายในอุดมคติ เป็นสุภาพบุรุษจิตใจงาม และเป็นผู้ประกอบสัมมาอาชีวะเป็นอาจิณ เพื่อที่จะให้ภาพของพระเอกดังกล่าวยืนยันในตัวแบบบรรทัดฐานของผู้ชายที่สังคมคาดหวังจะให้เป็น แต่หากละครโทรทัศน์เรื่องใดเปลี่ยนมานำเสนอภาพของพระเอกให้กลายเป็นบุรุษหนุ่มที่อาศัยในมุมมืดของสังคม เป็นมิจฉาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ และไม่ใช่ตัวแบบแห่งความคาดหวังที่สังคมเลือกให้ผู้คนเจริญรอยตามแล้ว วิธีการสร้างตัวละครเยี่ยงนี้น่าจะชวนให้เราสงสัยว่า ผู้ผลิตคงต้องการแฝงความนัยบางอย่างที่ซ่อนเร้นเอาไว้แน่นอน เฉกเช่นละครโทรทัศน์เรื่อง “ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ” ที่ผู้สร้างเลือกจะผูกเรื่องราวชีวิตของพระเอกหนุ่ม “วายุ” ให้เป็นมือปืนรับจ้างอันดับต้นๆ ของวงการนักฆ่าผู้ชอบเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร วายุทำงานอยู่ในซุ้มมือปืนที่มี “สุรสีห์” เป็นหัวหน้า โดยสุรสีห์เปิดผับเป็นฉากอาชีพสุจริตที่บังหน้า และมีวายุทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์อยู่ในผับแห่งนั้น  ในโลกทัศน์ของคนทั่วไป ภาพลักษณ์แบบพระเอกนักฆ่าของวายุนั้น ก็คือตัวแบบของมิจฉาชีพผู้เป็นอาชญากรรม ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ไม่ว่าจะพินิจพิจารณาจากมุมมองแบบใดก็ตาม หากใช้มุมมองเชิงนิติศาสตร์หรือมุมมองเชิงศีลธรรมแล้ว ความเป็นอาชญากรก็คือบุคคลที่ละเมิดรีตรอยของกฎหมายและผิดศีลปาณาติบาตอันเป็นศีลข้อแรกของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น เมื่อวายุทำตนอยู่นอกกฎหมาย เขาจึงถูกนายตำรวจหนุ่มผู้เป็นศัตรูหัวใจอย่าง “ศรุต” ติดตามไล่ล่า เพื่อขจัดเขาออกไปจากระบบสังคม และคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมและจารีตศีลธรรมของสังคม แต่หากเราลองขยับมาอธิบายด้วยมุมมองแบบจิตวิทยาแล้ว อาชญากรอย่างวายุก็คือคนที่ถูกตีความว่ามีปัญหาทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเนื่องมาจากปมชีวิตที่ติดตัวมาแต่กำเนิด จนทำให้คนๆ นั้นไม่อาจควบคุมคุณธรรมความดีในจิตใจ และกลายเป็นบุคคลที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมในที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม การที่บุคคลหนึ่ง “กลายมาเป็น” คนเลวของระบบ จึงเป็นเพราะความคิดที่ไม่เคารพกฎหมาย ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่เชื่อในเรื่องวัฏฏะแห่งกรรม ไปจนถึงการมีปมปัญหาทางจิตที่ซ่อนซุกเร้นลึกอยู่ในตัวของอาชญากรคนนั้น  แต่อย่างไรก็ดี เพราะเนื่องจากในท้องเรื่องของละครนั้น ปัจเจกบุคคลที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของระบบสังคมกลับกลายเป็นวายุหนุ่มหล่อพระเอกของเรื่องนี่เอง ดูเหมือนว่า เหตุปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดแทบจะไม่ใช่ตัวแปรหลักของการ “กลายมาเป็น” นักฆ่าดังกล่าวเลย  ละครได้วางโครงเค้าให้เราค่อยๆ ย้อนกลับไปเข้าใจสาเหตุที่พระเอกวายุจำยอมและจำต้องเดินทางเข้าสู่โลกมืดของอาชญากร ทั้งๆ ที่หิริโอตตัปปะและความรับผิดชอบชั่วดียังคอยกำกับหน่วงรั้งไว้ทุกครั้งที่เขาต้องเหนี่ยวไกปืนเพื่อสังหารชีวิตคน เริ่มต้นจากการที่บุพการีถูกฆ่ายกครัวตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก ทำให้วายุกลายเป็นมนุษย์ที่ไร้สายสัมพันธ์กับสถาบันที่เป็นหน่วยเล็กที่สุดแต่ก็สำคัญที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว หรือการที่เขาจำต้องทดแทนบุญคุณของหัวหน้าซุ้มมือปืนอย่างสุรสีห์ที่ดูแลเขาแทนพ่อแม่นับตั้งแต่นั้น ไปจนถึงการให้เหตุผลความชอบธรรมว่า คนที่เขาได้รับใบสั่งฆ่าทุกคนนั้น ต่างก็เป็นคนเลวหรือมิจฉาชีพทั้งสิ้น เหตุผลที่ถูกอ้างอิงเอาไว้หลายข้อดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอีกด้านหนึ่งว่า เมื่อปัจเจกบุคคลถูกสะบั้นสายสัมพันธ์ออกจากสถาบันต่างๆ ประกอบกับถูกแรงบีบคั้นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เขาก็จะ “กลายมาเป็น” บุคคลที่ไม่อาจปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบได้ ทุกครั้งวายุใช้ปืนปลิดชีวิตคนอื่นจึงเป็นผลพวงจากความแปลกแยกที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และแปลกแยกจากศีลธรรมและกฎของสังคมที่ครอบงำเอาไว้นั่นเอง ความรู้สึกแบบที่ฝรั่งเรียกว่า “ไม่ belonging to” เฉกเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากประโยคที่สุรสีห์พร่ำสอนกรอกหูวายุอยู่ตลอดว่า ชีวิตของนักฆ่าก็ไม่ต่างจาก “หมาป่า” ในสังคมที่คนโดยรอบต่างก็ล้วนเป็น “หมาป่า” ทั้งสิ้น เพราะ “หมาป่า” ยังไงก็ต้องเป็นและไม่อาจหลุดพ้นไปจากวงโคจรชีวิตของ “หมาป่า” ได้โดยง่าย ดังนั้น พระเอกวายุจึงเหมือนถูกผลักให้ยอมรับกฎของสังคมที่ว่า ในสังคมที่ไร้แรงยึดเหนี่ยวเกาะเกี่ยวปัจเจกบุคคลเอาไว้ “ถ้าไม่เป็นผู้ล่า เราก็จะกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง”  แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ แม้ตัวละครจะถูกระบบกล่อมเกลาให้เชื่อว่า “มนุษย์เราต่างเป็นหมาป่าของกันและกัน” แบบนี้ แต่มือปืนผู้นี้กลับเป็นผู้ที่หลงรักในนกพิราบสีขาว ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง วายุจะชอบไปนั่งมองนกพิราบในสวนสาธารณะ และเป็นที่นี่เองที่วายุได้พบกับนางเอก “ภาวรินทร์” ประติมากรสาวผู้เป็นบุตรีของ “ธนทัต” ซึ่งฉากหน้าเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ แต่หลังฉากกลับเป็นพ่อค้ายาเสพติดผู้โหดเหี้ยม การพบกันระหว่างตัวละครนักฆ่าหนุ่มที่จิตใจเหือดแห้งไร้สายใยกับสังคมรอบข้างกับศิลปินสาวที่เชื่อมั่นในพลังความงดงามในจิตใจของมนุษย์ จึงก่อเกิดเป็นความรักและสายสัมพันธ์เส้นใหม่ ที่ทำให้ “หมาป่า” อย่างวายุอยากจะโบยบินไปสู่อิสรภาพแบบ “นกพิราบสีขาว” ไม่ว่าความสัมพันธ์เส้นใหม่นี้จะสมหวังหรือผิดหวังในฉากจบของเรื่องก็ตาม แต่แน่นอนเพราะ “ขึ้นขี่หลังเสือแล้ว ก็ลงจากหลังเสือได้ยากยิ่ง” แม้จะสำเหนียกว่าชีวิตของตนว่ายวนบนสายพานของแรงกดดันและกฎเกณฑ์มากมายของสังคม แต่วายุก็มิอาจบินหนีไปสู่เสรีภาพได้โดยง่าย ในสภาวะที่ความแปลกแยกได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ และข้อเท็จจริงที่ว่า “สัตว์โลกที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด” ได้ถูกทำให้เป็นเพียงกฎข้อเดียวของสังคม แต่ทว่า ชะตากรรมของวายุที่ติดกับอยู่ในเงามืดของสังคม ก็สะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่า แม้แต่ “หมาป่า” ก็ยังมี “ความหวัง” ที่จะบินออกไปจากกรงที่ขังเขาไว้ด้วยกฎเกณฑ์ดังกล่าว ชีวิตในมุมมืดของตัวละครอยากจะโบยบินสู่เสรีภาพจากกฎต่างๆ ของสังคม แล้วกับชีวิตเราๆ ที่มีเสรีภาพอยู่แล้ว เคยสำเหนียกหรือไม่ว่า รอบตัวของเสรีชนถูกพันธนาการด้วยกฎเกณฑ์แบบใดกันบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 แต่ปางก่อน : มองย้อนการเปลี่ยนผ่านอำนาจนำในสังคมไทย

ในขณะที่เส้นกราฟของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย กำลังก้าวขึ้นเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า เราจะเห็นได้ว่า เส้นกราฟของละครโทรทัศน์บ้านเรา จะมีอีกมุมหนึ่งที่ผู้คนหวนกลับไป “ถวิลหาอดีต” หรือมองย้อนกลับไปหา “วันวานที่เคยหวานอยู่”  เฉกเช่นเดียวกับภาพที่เราเห็นผ่านละครตระกูลพีเรียดทั้งหลาย ซึ่งไม่เพียงแต่นำเสนอชีวิตตัวละครที่แต่งตัวย้อนยุคสวยๆ งามๆ หรืออยู่ในวังและคฤหาสน์หรูเลิศอลังการงานสร้างเท่านั้น หากทว่า ละครย้อนยุคเหล่านี้ยังสื่อความนัยไว้ด้วยว่า แม้กาลเวลาจะผันผ่านหรือสังคมก้าวหน้าทันสมัยไปมากเท่าไร ภาพจำลองความสุขความทุกข์ที่คนไทยในอดีตเคยดื่มด่ำใช้ชีวิตกันมา ก็ไม่เคยเลือนรางจางเจือหายไปได้เลย  ละครโทรทัศน์เรื่อง “แต่ปางก่อน” ก็เป็นอีกหนึ่งในละครแนวพีเรียด ที่หยิบอารมณ์รักโรแมนติกข้ามภพชาติมาเล่าเรื่องความผูกพันของตัวละครในอดีต ให้กับผู้ชมในยุคสมัยปัจจุบันที่ความรักและความผูกพันในชีวิตจริงของคนเราช่างดูเปราะบางยิ่งนัก ความรักผูกพันข้ามห้วงเวลาถูกสร้างผ่านตัวละครที่ใช้ชีวิตในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 อย่าง “หม่อมเจ้ารังสิธร” หรือ “ท่านชายใหญ่” บุตรชายคนเดียวของ “เสด็จในกรมฯ” และ “หม่อมพเยีย” ที่ได้มาประสบพบรักกับ “ม่านแก้ว” เจ้านางจากฝั่งประเทศลาว ที่มาศึกษาเล่าเรียนในสยามประเทศ และมาพำนักอาศัยอยู่ในเรือนของเสด็จในกรมฯ  เนื่องจากเจ้านางม่านแก้วเป็นสตรีพลัดถิ่นฐานจากต่างบ้านต่างเมืองมา กอปรกับท่านชายใหญ่เองก็ถูกจับเป็นคู่หมั้นหมายไว้กับ “หม่อมเจ้าหญิงวิไลเลขา” ผู้มีศักดิ์เป็นญาติผู้น้อง ทำให้หม่อมพเยียกับท่านหญิงวิไลเลขาร่วมกันกีดกันความรักของทั้งคู่ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ม่านแก้วถูกวางยาพิษและเสียชีวิตคาห้องหอในคืนส่งตัวแต่งงาน แต่ด้วยความรักความผูกของทั้งคู่ ทำให้ “แม้มีอุปสรรคขวากหนาม” ท่านชายใหญ่และเจ้านางม่านแก้วต่างจึงเลือก “ขอตามมิยอมพลัดพรากจากกัน” เพราะฉะนั้น ในขณะที่วิญญาณของท่านชายใหญ่ “รอคอยเธอนานแสนนาน” และ “ทรมานวิญญาณหนักหนา” อยู่ในเรือนหอรอร้างแห่งนั้น ม่านแก้วก็ได้กลับมาเกิดในชาติใหม่เป็น “ราชาวดี” คุณครูประจำโรงเรียนสตรีกุลนารีวิทยา ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตและวนเวียนกลับมาถือกำเนิดอีกคำรบหนึ่ง เป็น “อันตรา” และครองคู่ในตอนท้ายกับ “หม่อมหลวงจิราคม” ซึ่งก็คือท่านชายใหญ่ผู้กลับมาเกิดใหม่เพื่อพบกับหญิงคนรักในชาติเดียวกัน บนโครงเรื่องแบบรักข้ามภพชาติ ประกอบกับการขานขับทำนองเพลงลาวม่านแก้วที่ท่านชายใหญ่บรรจงบรรเลงให้หญิงคนรักได้สดับตรับฟัง ละครก็คงต้องการนำเสนอให้เห็นว่า ความรักโรแมนติกข้ามกาลเวลาดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง แม้จะอยู่ใน “อุปสรรคขวากหนาม” ที่ขวางกั้นมากมาย แต่ที่คู่ขนานน่าสนใจไปกับการผูกเรื่องราวรักโรแมนติกย้อนยุคเยี่ยงนี้ ก็คือการให้ผู้คนในปัจจุบันได้หวนกลับไปทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นอดีต โดยเฉพาะการฉายภาพชะตากรรมของตัวละครที่กลับมาเกิดใหม่ชาติแล้วชาติเล่า ที่ฉากหลังเป็นการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอำนาจนำทางสังคมในแต่ละช่วงสมัยด้วยเช่นกัน โดยเมื่อย้อนกลับไปในยุคศักดินานั้น แน่นอนว่า อำนาจนำในสังคมไทยจะถูกรวมศูนย์อยู่ในขอบขัณฑ์ของราชสำนัก เพราะชนชั้นสูงในยุคดังกล่าวถือเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่ครอบครองปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์และบารมี และเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ยึดครองการผลิตและใช้ความรู้ต่างๆ ของสังคม ดังนั้น เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงและขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นนำเหล่านี้ ความขัดแย้งนั้นก็จะส่งผลกระทบถึงคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยโดยภาพรวม และที่สำคัญ เมื่อคนกลุ่มนี้เป็นขุมพลังที่ผลิตความรู้แห่งยุคสมัย แบบเดียวกับที่ตระกูลของท่านหญิงวิไลเลขาได้สั่งสมทุนความรู้พร้อมศาสตร์และศิลป์แห่งการปรุงยาแผนโบราณมาอย่างยาวนาน เธอก็สามารถบริหารอำนาจความรู้เพื่อสั่งเป็นสั่งตายวางยาพิษให้กับเจ้านางม่านแก้วสิ้นชีวิตในคืนส่งตัวเข้าหอได้นั่นเอง  แต่เมื่อเข้าสู่ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อมายังสงครามโลกครั้งที่สอง อำนาจของชนชั้นนำกลุ่มเดิมเริ่มถดถอยลง พร้อมๆ กับที่กลุ่มคนชั้นกลางเริ่มก่อรูปก่อร่างสถาปนาตัวตนทางสังคมขึ้นมา ความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ช่วงชิงอำนาจนำเช่นนี้ ก็ปรากฏออกมาเป็นภาพที่ราชาวดีกับท่านหญิงวิไลเลขาได้ปะทะต่อสู้อำนาจระหว่างกันเป็นระลอกๆ  ท่านหญิงวิไลเลขาอาจมีทุนความรู้ดั้งเดิมที่สั่งสมผ่านสายตระกูล และมีอำนาจบารมีเป็นทุนสัญลักษณ์ที่สืบต่อกันมาแต่เก่าก่อน แต่ทว่า คุณครูอย่างราชาวดีเองก็มีทุนความรู้สมัยใหม่ ที่ค่อยๆ สั่งสมเพื่อเข้าสู่การเป็นกลุ่มชนชั้นนำใหม่อีกกลุ่มในสังคมไทย ดังนั้น ราชาวดีจึงไม่ใช่คนพลัดถิ่นที่อำนาจน้อยแบบม่านแก้ว และก็ไม่ใช่คนที่จะยินยอมต่ออำนาจครอบงำที่มีมาแต่เดิมอีกต่อไป แม้ว่าในบทสุดท้ายของภพชาตินี้ เธอเองก็ยังถูกความรู้ของท่านหญิงวิไลเลขาวางยาจนเสียชีวิตไปในที่สุด และเมื่อเข้าสู่ชาติสมัยในปัจจุบัน อันตราผู้เป็นทายาทเจ้าของกิจการโรงแรมหรูหราในเมืองหลวง ก็คือตัวแทนของชนชั้นนำกลุ่มใหม่ ในช่วงยุคที่อำนาจทางสังคมของชนชั้นศักดินาเดิมเริ่มเจือจางบางเบาลง เหมือนกับตัวละคร “หม่อมราชวงศ์จิรายุส” และ “หม่อมหลวงสวรรยา” บิดามารดาของจิราคมที่ความมั่งคั่งในอดีตดูจะร่อยหรอลงไปในพัฒนาการชีวิตตัวละครในช่วงท้ายเรื่อง กลุ่มชนชั้นนำที่สถาปนาอำนาจขึ้นใหม่ในปัจจุบันนี้ แท้จริงก็ได้แก่บรรดาคนชั้นกลางที่ไม่เพียงจะมีทั้งทุนความรู้และฐานะเศรษฐกิจที่มากมายและมั่งมีเท่านั้น แต่พวกเขาและเธอก็ยังเป็นกลุ่มอำนาจนำที่สั่งสมสถานะทางสังคมและเกียรติยศศักดิ์ศรีไว้อย่างสูงส่ง โดยเจริญรอยตามเส้นทางที่ชนชั้นศักดินาในอดีตเคยกรุยทางเอาไว้นั่นเอง พัฒนาการความผูกพันของตัวละครที่เดินทางข้ามห้วงเวลา จึงมิใช่แค่บทสะท้อนให้ผู้ชมตราตรึงกับความรักโรแมนติกของท้องเรื่องเท่านั้น หากแต่ยังสื่อสารให้เห็นการผันผ่านโครงสร้างอำนาจที่ปะทะประสานกันในมือของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงราวศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะ “เป็นรอยบุญมาหนุนนำ” หรือจะเป็น “รอยกรรมรอยเกวียนที่หมุนเปลี่ยนเสมอ” แต่ที่แน่ๆ ภาพการวิวัฒน์ไปของชีวิตตัวละครจาก “แต่ปางก่อน” ถึง “ยุคปัจจุบัน” ก็เป็นดั่งภาพการสะท้อนย้อนคิดให้เราเห็นอำนาจและบทบาทของชนชั้นนำที่เปลี่ยนผ่านและถ่ายมือกันไปมาจากรุ่นสู่รุ่นฉะนี้เอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 บัลลังก์ดอกไม้ : ในวัตถุมีมนุษย์และความสัมพันธ์

ในสังคมดั้งเดิมนั้น มนุษย์ในอดีตรับรู้กันว่า “วัตถุ” มิใช่แค่เพียง “วัตถุ” แต่มนุษย์เราสร้างสรรค์วัตถุต่างๆ ขึ้นมา ก็เพื่อให้วัตถุนั้นถูกใช้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน เช่น เวลาที่คนๆ หนึ่งมอบของขวัญ ดอกไม้ หรือวัตถุใดๆ ให้กับคนอีกคนหนึ่ง คนสองคนนั้นก็กำลังใช้วัตถุมาผูกโยงใยสายสัมพันธ์ระหว่างกันเอาไว้ และที่สำคัญ วัตถุที่เราบริโภคก็ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะโผล่ขึ้นมาจากสุญญากาศ หากทว่า กว่าที่วัตถุชิ้นหนึ่งจะถูกผลิตออกมาได้นั้น เบื้องหลังการถ่ายทำจะมีชีวิตของมนุษย์ที่ออกแรงกายแรงใจใส่คุณค่าและความหมายมากมายลงไปในวัตถุดังกล่าว ด้วยเหตุฉะนี้ ปุถุชนในยุคก่อนจึงยอมรับกันว่า ในวัตถุนั้นมีมนุษย์และความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้น เมื่อคนเราเสพวัตถุใดๆ เราจึงควรมองเห็นคุณค่าที่แนบอยู่ในวัตถุนั้นเป็นพื้นฐานเสมอ แต่มาในปัจจุบัน เมื่อมนุษย์เราสร้างวัตถุอย่าง “เงิน” ขึ้นมาเป็นตัวแทนของการซื้อขายเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุอื่น การบริโภควัตถุของคนเราก็เริ่มลดทอนมูลค่าเชิงสัญลักษณ์หรือความหมายแบบดั้งเดิมลงไป แต่ได้แทนที่ชีวิตมนุษย์และความสัมพันธ์เอาไว้ด้วยมูลค่าแลกเปลี่ยนของเม็ดเงินที่อยู่ในกระเป๋ามากกว่า การเปลี่ยนผ่านมาตัดสินคุณค่าของวัตถุด้วยมูลค่าแลกเปลี่ยนแบบนี้ สะท้อนให้เห็นผ่าน “การเดินทางของฉันและเธอคือการเรียนรู้” ของชีวิตตัวละครอย่าง “อนาวินทร์” และ “พุดชมพู” พระเอกนางเอกในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้เรื่อง “บัลลังก์ดอกไม้” พล็อตละครเปิดฉากเมื่ออนาวินทร์ชายหนุ่มนักเรียนนอกทายาทคนเดียวของ “ปู่เล็ก” มหาเศรษฐีประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เดินทางกลับมาเมืองไทย และเพื่อช่วยเหลือคุณปู่ที่กำลังป่วยดูแลบริหารธุรกิจของตระกูลสัตยารักษ์ แต่เพราะความเย่อหยิ่งของพระเอกหนุ่ม ประกอบกับการมีสถานะเป็นผู้รับมรดกโดยที่มิได้ร่วมลงทุนลงแรงสร้างบริษัทเคียงข้างกับปู่มาตั้งแต่ต้น อนาวินทร์จึงไม่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ใดๆ และใช้อำนาจของรองประธานบริษัทขับไล่คนเก่าคนแก่ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับปู่เล็กมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งกิจการที่เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะไม่เห็นคุณค่าในคนและสายสัมพันธ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม ปู่เล็กจึงจัดการไล่อนาวินทร์ออกจากบริษัทแทน และในขณะเดียวกัน เพื่อดัดนิสัยเย่อหยิ่งจองหองของเขา ปู่เล็กจึงได้เขียนพินัยกรรมขึ้นมาใหม่ ให้อนาวินทร์ไปทำงานปลูกดอกไม้ในไร่อุ่นรักของพุดชมพูเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะมีสิทธิ์ได้รับมรดกและสืบทอดตำแหน่งประธานบริษัทของตระกูล ดังนั้น เมื่อปู่เล็กเสียชีวิตลง อนาวินทร์จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องเดินทางมาที่ไร่อุ่นรักของพุดชมพู เพื่อเรียนรู้ถึงเบื้องหลังการปลูกดอกไม้ ที่ลึกๆ แล้วเขาเองก็ดูถูกว่า ดอกไม้ก็เป็นเพียงแค่ดอกไม้ หรือเป็นเพียงวัตถุอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีคุณค่าสารัตถะสำคัญแต่อย่างใด และเพราะ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาแต่กำเนิด” อนาวินทร์ผู้รู้จักแต่การใช้เงินซื้อวัตถุ...วัตถุ...และวัตถุ ก็เอาแต่คิดว่าปู่เล็กไม่รักตน เขาจึงดั้นด้นเดินทางไปหาพุดชมพู เพื่อเสนอเงินก้อนโตให้เธอยินยอมล้มเลิกเงื่อนไขที่ปู่เล็กเขียนไว้ในพินัยกรรมเสียเอง แต่ด้วยความรู้สึกหมั่นไส้อนาวินทร์ที่หยิ่งยโสและเชื่อมั่นในอำนาจเงินประหนึ่งพระเจ้าที่เสกสรรทุกอย่างได้ พุดชมพูผู้เข้าใจใน “mission” ของปู่เล็กซึ่งต้องทำให้ “possible” ให้จงได้ จึงเลือกลงมือดัดพฤตินิสัยของชายหนุ่มและให้เขาต้องมาเรียนรู้ว่า ชีวิตบ้านสวนและการปลูกดอกไม้ในไร่อุ่นรักนั้นเป็นเยี่ยงไร เพราะเห็นว่าอนาวินทร์ยังเป็น “ไม้อ่อนซึ่งยังดัดได้ไม่ยากนัก” พุดชมพูจึงเลือกใช้ทั้ง “ไม้แข็ง” และ “ไม้นวม” มาจัดการ โดยเริ่มต้นจาก “ไม้แข็ง” ด้วยการจับอนาวินทร์มัดไว้กับเสาเรือนเพาะชำแล้วเอาน้ำฉีดจนเปียกมะล่อกมะแล่ก ไปจนถึงการเข้าไปบัญชาการรบเป็นประมุขชั่วคราวของตระกูลสัตยารักษ์ และบริหารจัดการการไหลเวียนของเงินในธุรกิจตระกูลแทนเขา จาก “ไม้แข็ง” ก็มาสู่ “ไม้นวม” พุดชมพูก็จับตัวละครพระเอกทายาทมหาเศรษฐีหมื่นล้านมาแปลงโฉมเป็นหนุ่มบ้านไร่ เพื่อให้เรียนรู้ที่จะปลูกดอกไม้ เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบคนงานในไร่ และเรียนรู้ที่จะผูกสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีฐานะทุนทางเศรษฐกิจทัดเทียมกับตน ในขณะที่ฉากแรกๆ ของการเป็นคุณหนูบ้านไร่นั้น อนาวินทร์ผู้ยังดื้อแพ่งจะเลือกเอาชนะพุดชมพูด้วยการหว่านเงินในกระเป๋าของเขากว้านซื้อดอกเบญจมาศจากไร่อื่นมาปลูกในแปลงดอกไม้ของตน เพื่อจะพิสูจน์ให้พุดชมพูเห็นถึงพลังศักดานุภาพของเทพเจ้าเงินตราที่สามารถเนรมิตวัตถุอย่างดอกไม้ในแปลงปลูกได้  แต่เพราะศิลปะแห่งการปลูกดอกไม้นั้น ไม่ใช่จะอาศัย “กลศาสตร์” ที่จะโยกวัตถุหรือดอกไม้จากแปลงหนึ่งมาเพาะปลูกในอีกแปลงหนึ่งได้โดยง่าย เนื่องจากดิน น้ำ ศัตรูพืช และเงื่อนไขของการเติบโตในแต่ละบริบทพื้นที่ก็อาจไม่เหมือนกัน อหังการของอนาวินทร์ที่มีต่อเม็ดเงินในกระเป๋าจึงได้ผลลัพธ์ที่กลายเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ในด้านหนึ่ง เรื่องราวของ “บัลลังก์ดอกไม้” ก็อาจดำเนินไปบนสูตรสำเร็จของเรื่องเล่า ที่ต้องมีตัวละครคนใกล้ชิดพระเอกหนุ่มอย่าง “การันต์” หรือ “ชวกร” ที่ถูกเปิดโปงว่าเป็นตัวร้ายแบบไม่เปิดเผยตนจนกว่าจบเรื่อง หรือสูตรสำเร็จที่ว่า ชะตากรรมของตัวละครพระนางต้องมีผู้ช่วยเคียงข้างอย่าง “ทรงรบ” และ “ช่อม่วง” คอยผลักดันให้ภารกิจต่างๆ ลุล่วงได้ในที่สุด แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อมาถึงฉากจบที่ตัวละครได้เปิดใจกันจนกลายเป็นความรักท่ามกลางทุ่งดอกไม้ พระเอกหนุ่มก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า เราอาจจะใช้เงินซื้อดอกไม้มาครอบครองได้ก็จริง แต่กว่าที่ดอกไม้ดอกหนึ่งจะเติบโตและผลิบานออกมาได้นั้น เบื้องหลังต้องผ่านมนุษย์หลายชีวิตที่ใส่แรงกายแรงใจประคบประหงมดูแล แบบที่อนาวินทร์ได้เข้าใจและสารภาพกับพุดชมพูว่า มรดกที่มีค่าที่สุดที่ปู่เล็กทิ้งไว้ให้ ไม่ใช่บริษัทหรือเงินทองแต่อย่างใด หากแต่ความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่การได้เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างคนเรากับคนอื่นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 เพชรกลางไฟ : ศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การกระทำ...ไม่ใช่สายเลือด

อันว่าละครโทรทัศน์แนวพีเรียดหรือแนวย้อนยุคนั้น ถือเป็นเนื้อหาละครที่จำลองภาพชีวิตของตัวละครที่เวียนว่ายอยู่ในอดีต หรือช่วงพีเรียดหนึ่งๆ ที่บรรพชนของเราเคยดำเนินชีวิตมาก่อน การจำลองภาพอดีตฉายผ่านละครแนวนี้ ด้านหนึ่งก็คือการย้อนกลับไปดูภาพฝันวันวานที่คนในทุกวันนี้ได้ผ่านพ้นและอาจลืมเลือนไปเสียแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ละครย้อนยุคก็เป็นประหนึ่งบทเรียนให้คนยุคปัจจุบันได้ทบทวนตนเอง โดยมองผ่านกระจกภาพชีวิตของตัวละครที่ถูกวาดขึ้นในยุคสมัยก่อนที่ผู้ชมจะถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีก ในท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่ผู้คนมีแนวโน้มจะสนใจสิ่งที่เรียกว่า “เปลือก” มากกว่า “แก่น” หรือชื่นชมกับ “ความผิวเผิน” มากกว่า “ความลุ่มลึก” ละครพีเรียดอย่าง “เพชรกลางไฟ” ก็คืออีกหนึ่งภาพที่ฉายออกมา เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ชมได้ทบทวนความเป็นจริงแห่งยุคสมัยดังกล่าว ละครได้ย้อนยุคกลับไปในราวสมัยรัชกาลที่ 6 ที่แม้ว่าฉากหลังของละครจะเป็นเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยสมัยนั้น แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เบื้องลึกเบื้องหลังกว่านั้นก็คือฉากความขัดแย้งทางการเมืองที่อยู่ในครอบครัวของชนชั้นนำในยุคดังกล่าว โดยละครได้เลือกนำเสนอภาพผ่านชีวิตตัวละครหลักอย่าง “หม่อมเจ้าหญิงอุรวศี” หรือ “หญิงหลง” ผู้เป็นบุตรีลำดับสุดท้ายของ “เสด็จในกรมฯ” เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ อุรวศีก็ถูก “หม่อมต่วน” ผู้เป็นหม่อมใหญ่กีดกันไม่ให้เธอเข้าไปยุ่งเกี่ยวที่ตำหนักใหญ่ เพราะหม่อมต่วนเกลียดชัง “หม่อมสลวย” มารดาเลือดสามัญชนของอุรวศี ที่มาพรากความรักของเสด็จในกรมฯไปจากเธอ ไม่เพียงเท่านั้น เพราะหม่อมสลวยได้ล่วงรู้ความลับของหม่อมต่วนที่เคยวางแผนฆ่า “หม่อมพิณ” หญิงที่เป็นคนรักอีกคนของเสด็จในกรมฯ จนตายอย่างเหี้ยมโหดทารุณ เธอจึงหาทางฝากฝังอุรวศีไว้กับ “เสด็จพระองค์หญิง” ผู้เป็นเสด็จป้า ในขณะที่หม่อมสลวยเองก็ผูกข้อมือเป็นภรรยาของ “บุญทัน” ไปอยู่ที่ปากน้ำโพ เพื่อหลีกหนีไปจากวังวนอำนาจของหม่อมต่วนเสีย ชะตาชีวิตของอุรวศีที่ขาดซึ่งบิดาและมารดาในเวลาไล่เลี่ยกัน เธอจึงต้องโดดเดี่ยวยืนหยัดต่อสู้กับคลื่นลมและพายุฝนที่ซัดพาเข้ามาหาแบบระลอกแล้วระลอกเล่า เพื่อจะพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะอยู่ท่ามกลางความโหดร้ายของโลกรอบตัว แต่ทว่า “เพชรแท้” อย่างอุรวศี ก็ยังคงเป็น “เพชรกลางไฟ” อยู่วันยังค่ำ คลื่นลมระลอกแรกก็คงหนีไม่พ้นมหันตภัยจากตัวหม่อมต่วน ที่แม้จะมั่งคั่งในทรัพย์ศฤงคาร และเติบโตมาในศักดิ์ชั้นที่สูงกว่าหม่อมใดๆ ของเสด็จในกรมฯ แต่เพราะโลภจริตและโมหจริตช่างไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้นหม่อมต่วนจึงคอยจองล้างจองผลาญกลั่นแกล้งอุรวศีในทุกทาง แผนการของหม่อมต่วนเริ่มตั้งแต่กีดกันอุรวศีออกจากกองมรดกของเสด็จในกรมฯ และอัปเปหิเธอไปอยู่ที่เรือนปั้นหยาหลังเล็กนอกเขตขัณฑ์ของวังใหญ่ จากนั้นก็ช่วงชิง “หม่อมเจ้าสุรคม” ที่กำลังจะหมั้นกับอุรวศีให้มาเสกสมรสกับ “หม่อมเจ้าหญิงอรุณวาสี” บุตรีคนเล็กของเธอแทน ไปจนถึงการวางแผนให้บ่าวเผาเรือนปั้นหยาจนวอด เพื่อหวังคลอกอุรวศีให้สิ้นชีวิตอยู่ในกองเพลิงนั้น ส่วนคลื่นลมระลอกถัดมาก็คือบรรดาพี่สาวต่างมารดาอย่าง “หม่อมเจ้าหญิงติโลตตมา” หรือ “หญิงกลาง” และ “หม่อมเจ้าหญิงอทริกา” หรือ “หญิงนิด” ที่ “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ของหม่อมต่วน และเฝ้าคอยใส่ความกลั่นแกล้งหาเรื่องอุรวศี เพื่อให้เธอไม่อาจทนอยู่ในวังของเสด็จพระองค์หญิงต่อไปได้ และคลื่นลมระลอกสุดท้าย ก็สืบเนื่องมาแต่ความรักและจิตปฏิพัทธ์ที่อุรวศีมีให้กับ “อนล” พระเอกหนุ่มแสนดีแต่ชาติกำเนิดอยู่ต่างศักดิ์ชั้น และมีผู้หญิงอีกคนอย่าง “ดวงแข” ที่หมายปองครองคู่เขาอยู่ อุรวศีจึงต้องเลือกสงวนท่าทีและเก็บงำความในใจ เพียงเพราะฐานันดรศักดิ์ที่ค้ำคอและเป็นกำแพงขวางกั้นรักของเธอและเขาเอาไว้ แม้จะมีคลื่นลมกระหน่ำซ้ำเข้ามาเพียงใด และแม้อุรวศีจะไม่ได้มีอำนาจหรือทุนทรัพย์โภคทรัพย์มากมายที่จะไปต่อกรกับพลพรรคของหม่อมต่วน หญิงกลาง หญิงนิด หรือแม้กับดวงแข แต่ด้วยที่เธอมีปัญญา มีคารม และมีการกระทำที่ยึดหลักคุณธรรมความดี ก็เป็นประหนึ่งอาวุธให้อุรวศีได้ใช้ต่อสู้เพื่อยืนหยัดอยู่ท่ามกลางพายุวิกฤติที่ถาโถมเข้ามา เพราะพระบิดาปลูกฝังให้รักการอ่านหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์ อุรวศีจึงมีปัญญาที่เฉียบคมและวาจาที่เฉียบแหลม จนสามารถเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาได้ทุกครั้งครา และเพราะการกระทำที่ตั้งมั่นในความดี อุรวศีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คุณค่าแท้ๆ ของ “เพชร” ที่จะเจิดจรัสอยู่ “กลางไฟ” ได้นั้น พึงเป็นเช่นไร เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งอุรวศีได้ใช้คารมย้อนยอกและเชือดเฉือนหม่อมต่วนกับลูกๆ ว่า “ศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การกระทำ...ไม่ใช่อยู่ที่สายเลือดแต่อย่างใด” เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีศักดิ์ชั้นแบบใด มนุษย์เราก็มีทั้งดีและเลวปะปนกันไป ในหมู่บ่าวไพร่ที่มีศักดิ์ชั้นต้อยต่ำ ก็จะมีตัวละครตั้งแต่ “สร้อย” และ “ผิน” ที่ยึดถือคุณธรรมความดีของอุรวศีจนตัวตาย ไปจนถึงตัวละครอีกฝั่งฟากอย่าง “แปลก” ที่จงรักภักดีอยู่ในมิจฉาทิฐิของหม่อมต่วนแบบไม่ลืมหูลืมตา เฉกเช่นเดียวกับในกลุ่มของสตรีที่สูงซึ่งศักดิ์ชั้นอย่างธิดาของเสด็จในกรมฯ ก็มีตั้งแต่ภาพของอุรวศีที่ฉากจบได้เลือกจะมีความสุขในมุมเล็กๆ กับอนล แบบไม่ต้องยึดติดกับลาภยศเงินทองแต่อย่างใด กับภาพที่ตรงข้ามกันของหญิงกลางและหญิงนิดที่เมื่อสิ้นหม่อมต่วน พี่น้องก็ห้ำหั่นกันจนตกอยู่ในวังวนของการแก่งแย่งทรัพย์สมบัติที่บุพการีได้สั่งสมกันมา หากละครย้อนยุคเป็นดั่งกระจกที่ย้อนฉายให้คนปัจจุบันได้ทบทวนอุทาหรณ์จากชีวิตตัวละครในอดีตแล้วนั้น อย่างน้อยเราคงเข้าใจได้ไม่ยากว่า การที่คนยุคนี้จะนับถือกันเพียงเพราะ “เปลือกอันผิวเผิน” อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับ “แก่นอันลุ่มลึก” ที่แฝงฝังอยู่เนื้อในคนแต่ละคนมากกว่า  เพราะบทเรียนของผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างอุรวศีได้ให้ข้อเตือนใจว่า การกระทำของคนต่างหากที่จะบ่งบอกว่า “เพชรกลางไฟ” เยี่ยงไรก็ยังสามารถฉายแสงได้ไม่เสื่อมคลาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 คนละขอบฟ้า : การข่มขืนไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเพศวิถี

สังคมของเราได้อุปโลกน์มาช้านานให้ “การข่มขืน” มีความหมายว่า เป็นเรื่องของเพศวิถี หรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการล่วงละเมิดทางเพศของมนุษย์และที่สำคัญ ในแง่ของเพศวิถีแบบนี้ การข่มขืนก็มักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ชายใช้ “อำนาจ” ที่เหนือกว่าคุกคามทางเพศเพื่อขืนใจผู้หญิง จนสยบยอมทั้งกาย วาจา ใจ และนั่นก็จะกลายเป็น “บาดแผล” ในจิตใจของผู้หญิงที่เกินกว่าจะเยียวยาได้ทั้งนี้ วิธีคิดต่อการข่มขืนดังกล่าวได้ถูกขานรับโดยสถาบันใหญ่น้อยมากมายในสังคม สถาบันกฎหมายและนิติศาสตร์ก็อธิบายความผิดของการข่มขืนว่า ต้องเกิดเนื่องแต่การกระทำทางเพศที่ชายขืนกายและใจของอิสตรีเป็นพื้นฐาน หรือสถาบันครอบครัวก็ใช้เรื่องการข่มขืนเพื่อพร่ำสอนลูกสาวให้เป็นกุลสตรีที่ต้องรักนวลสงวนตัว อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และยึดถือพรหมจารีย์เป็นสรณะเมื่อกาลเวลาผันผ่าน สังคมเราก็เริ่มตั้งคำถามขึ้นมาใหม่ว่า จริงแล้วหรือที่การข่มขืนเป็นเพียงเรื่องของเพศวิถี หรือการที่บุรุษคุกคามทางเพศเพื่อขืนใจผู้หญิงเท่านั้น?ละครโทรทัศน์เรื่อง “คนละขอบฟ้า” เป็นหนึ่งในเรื่องเล่ายุคนี้ ที่พยายามทบทวนนิยามความหมายของการข่มขืน โดยผูกปมปัญหาที่ทั้งผู้ชมและตัวละครทั้งหลายได้ย้อนกลับไปทบทวนทำความเข้าใจเรื่องการข่มขืนกันอีกครั้งเนื้อเรื่องเริ่มต้นจากนางเอก “ชนิกา” ผู้เป็นสาวสังคมนักเรียนนอก ที่บิดาต้องมีเหตุล้มป่วยลงเพราะกิจการล้มละลาย ทำให้เธอต้องบินกลับจากอเมริกามาโดยด่วน และได้เผชิญกับกราฟชีวิตที่พลิกผันจากสูงสุดลงต่ำกลับคืนสู่สามัญแบบแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวกันเลยทีเดียวเพื่อจะหาเงินก้อนใหญ่มารักษาบิดา ชนิกาจึงตัดสินใจยอมรับมาทำงานกับ “ชินภัทร” พระเอกหนุ่มเจ้าของสวนยางรายใหญ่ในสุราษฎร์ธานี จากสองชีวิตที่ต่างเคยอยู่กัน “คนละขอบฟ้า” ก็มีเหตุให้ได้โคจรมาพบเจอรู้จักกัน เผชิญหน้ากับบททดสอบมากมาย และในท้ายที่สุดก็ตกหลุมรักกันในฉากจบของเรื่องคู่ขนานไปกับโครงเรื่องที่หนุ่มสาวจาก “คนละขอบฟ้า” ได้เวียนวนมาลงเอยในความรักระหว่างกันนี้ ก็คือการที่ชนิกาค่อยๆ ได้พาผู้ชมย้อนกลับไปเรียนรู้ปมชีวิตของชินภัทรผู้เป็นพระเอกของเรื่องในฉากเริ่มต้นที่ชนิกาเดินทางลงใต้เพื่อมาทำงานในสวนยาง เธอก็ได้เรียนรู้ตั้งแต่วินาทีแรกว่า ชินภัทรเป็นมนุษย์ที่ชาวบ้านร้านตลาดต่างพากันรังเกียจไปทั่วจังหวัด และเธอก็ยังได้ยินเรื่องเล่าอีกด้วยว่า ชินภัทรเป็นผู้ชายอันตรายที่เคยข่มขืน “ศิริกัญญา” หญิงคนรักของ “ปานธง” จนตั้งท้อง และทำให้ศิริกัญญาตัดสินใจหนีปัญหาด้วยการยิงตัวตาม พร้อมเขียนจดหมายเปิดโปงความเลวร้ายน่ากลัวของพระเอกเราเอาไว้และนับจากการกระทำอัตวินิบาตกรรมของศิริกัญญา ชินภัทรก็มีสถานะไม่ต่างจาก “ตัวสกั๊งก์” ที่ใครต่อใครก็ทั้งเกลียดและกลัว จนไม่อยากร่วมสังเสวนาคบค้าสมาคมกันทั่วบ้านทั่วเมืองเลยแต่เหตุเพราะว่าชนิกานั้นไม่ใช่ผู้หญิงที่เชื่อง่ายเพียงแค่ “หมุนวนไปตามลมปากของมนุษย์” เธอจึงเลือกลงมือเก็บหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ว่า ตกลงแล้วชินภัทรเป็นผู้ร้ายข่มขืนตามที่คนทั้งจังหวัดกล่าวอ้างไว้เช่นนั้นหรือไม่ด้านหนึ่ง ชนิกาก็เก็บหลักฐานบนความสัมพันธ์และความใกล้ชิดกับชินภัทร ที่เธอพบว่าเขาเองก็ไม่ได้มีบุคลิกนิสัยแบบที่ใครๆ กล่าวร้ายแต่อย่างใด ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เธอก็เก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคคลรอบตัวศิริกัญญา ไม่ว่าจะเป็นปานธงคนรักเก่า หรือ “ศรีจันทร์” มารดาของศิริกัญญาที่จิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความแค้นต่อตัวชินภัทรจนเมื่อได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลอย่างลุ่มลึกรอบด้านแล้ว ชนิกาก็เริ่มต่อจิ๊กซอว์ปะติดปะต่อเรื่องราว จนพบว่าแท้จริงแล้ว เป็นศิริกัญญาต่างหากที่เคียดแค้นเพราะชินภัทรไม่รับรักเธอ เธอจึงวางพล็อตวางแผนให้ทุกสายตาเชื่อว่าตนถูกข่มขืนจนยิงตัวตายในชุดเจ้าสาว และทำให้ชินภัทรตกเป็นจำเลยในการฆ่าตัวตายนั้นอาจเพราะพล็อตเรื่องที่ศิริกัญญาเล่าไว้ในจดหมายลาตายช่างดูไม่ต่างจากนิยามของสังคมทั่วไปที่อุปโลกน์กันว่า การข่มขืนเป็นการล่วงละเมิดทางเพศที่บุรุษเพศกระทำต่ออิสตรี ประจวบกับชินภัทรเองก็เป็นผู้ชายที่เจ้าอารมณ์ ไร้เหตุผล และมักคิดอะไรที่ต่างจากคนอื่นทั่วไป ทุกคนจึงพากันพร้อมปักใจเชื่อไปตามพล็อตดังกล่าวที่ศิริกัญญาออกแบบเอาไว้โดยดุษณีแต่ในทางกลับกัน เพราะชนิกาเลือกใช้ชุดนิยามที่แตกต่างจากการอุปโลกน์ของสังคมทั่วไปว่า การข่มขืนอาจไม่ใช่แค่เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงทุกๆ การกระทำเชิงอำนาจที่ใครก็ได้ จะชายหรือหญิงก็ได้ ได้กระทำการคุกคามเหนือร่างกายและจิตวิญญาณต่อใครคนอื่น ดังนั้น คำตอบของชนิกาจึงไม่เหมือนกับคนทั่วไปที่เชื่อว่าการข่มขืนเป็นการคุกคามทางเพศเพียงอย่างเดียวในแง่นี้เอง แม้จะไม่ได้มีการกระทำทางเพศใดๆ เกิดขึ้น แต่ก็เป็นชินภัทรต่างหากที่ถูกศิริกัญญาสร้างเรื่องเพื่อข่มขืนบงการเขาทั้งในเชิงจิตใจและความรู้สึก และยังมีสายตาของคนรอบด้านที่ร่วมกันตัดสินว่าเขาผิด จนชีวิตของชินภัทรไม่ต่างจากการตกนรกทั้งเป็นมายาวนานนับปีอำนาจที่ผ่านทั้งเรื่องเล่าในจดหมาย ผ่านสายตาของสาธารณชน ผ่านการประณามกล่าวโทษ หรือผ่านการบีบให้มนุษย์ต้องเก็บกดความรู้สึกที่ตนเองไม่ได้กระทำผิดใดๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศในเชิงกฎหมายเลย จึงไม่ต่างจากอีกรูปธรรมหนึ่งของการข่มขืนที่บุคคลหนึ่งได้คุกคามและปกครองจิตวิญญาณของบุคคลอื่นเอาไว้เลยแม้เราจะรู้ว่าในฉากจบนั้น ปมปัญหาและความจริงต่างๆ ของเรื่องจะถูกเปิดเผยออกมา แต่บทเรียนชีวิตของคนสองคนที่มาจาก “คนละขอบฟ้า” ก็ยังทำให้เราเข้าใจด้วยว่า การที่ใครคนหนึ่งใช้อำนาจเพื่อกำกับควบคุมร่างกายและจิตใจคนอื่นให้อยู่ใต้อาณัติไว้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องเพศวิถีหรือเหตุผลอื่นใด แท้จริงแล้วมันก็ไม่ต่างจากวิถีแห่งการข่มขืนที่มนุษย์เรากระทำต่อมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 นางอาย : โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน

ในวัยเด็ก ไม่ใครก็ใครหลายคนคงจะเคยได้ยินหรือร้องเพลงประสานเสียงในโรงเรียนของตนว่า “โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็กๆ ก็ไม่ซุกซน พวกเราทุกคนชอบไปโรงเรียน (ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน” หากพินิจพิจารณาเนื้อเพลงประสานข้างต้นจริงๆ แล้ว แม้แต่เด็กๆ ที่ไร้เดียงสาเอง ก็คงตระหนักกันโดยไม่ยากว่า เป็นเพลงที่เขียนขึ้นจากจุดยืนของ “คุณครูใจดีทุกคน” มากกว่าจะเป็นมุมมองจาก “เด็กๆ ที่แสนซุกซน” ที่ไม่รู้ว่าลึกๆ แล้ว “ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน” กันจริงหรือไม่ แล้วเหตุใดโรงเรียนจึงกลายเป็นสถาบันที่ต้องจับเอา “เด็กๆ ที่แสนซุกซน” มาใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ใน “โรงเรียนของเราน่าอยู่” แถมยังติดตั้งโลกทัศน์ให้ด้วยว่า “คุณครูก็ใจดีทุกคน” คำตอบต่อข้อคำถามนี้อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “นางอาย” โครงเรื่องเริ่มต้นเมื่อ “อภิรดี” หรือ “นาง” เด็กสาวแสนสวยแสนซนผู้เป็นบุตรีคนเดียวของรัฐมนตรี “เด่นชาติ” มีเหตุให้บังเอิญไปร่วมงานปาร์ตี้บ้านเพื่อนที่กำลังมั่วสุมเสพยาอยู่ จนเธอถูกตำรวจจับโดนหางเลขไปด้วย และกลายเป็นข่าวดังพาดหัวใหญ่ลงหน้าหนังสือพิมพ์ นี่จึงเป็นสาเหตุให้นางถูกบิดาส่งตัวไปเรียนต่อที่โรงเรียนคอนแวนต์หญิงล้วนที่ปีนัง ซึ่งไม่เพียงจะทำให้นางได้มารู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ อย่าง “สินีนาฏ” “สายสุดา” “มีนา” “จอยคำ” และอีกหลายๆ คนเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่ง นางก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ร่วมกับคนอื่น และการประพฤติตนให้อยู่ในกฎเกณฑ์ข้อบังคับของโรงเรียนอีกด้วย  ภาพของโรงเรียนคอนแวนต์แห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยเด็กนักเรียนและคุณครูซิสเตอร์(ใจดี!!!)มากหน้าหลายตา ได้สะท้อนให้เราเห็นบทบาทหลายด้านของโรงเรียน ในฐานะสถาบันสำคัญที่เด็กและเยาวชนต้องมาใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลานานหลายปี โดยในลำดับแรกนั้น สถาบันโรงเรียนมีสถานะไม่ต่างจาก “ตะแกรง” ที่ใช้ร่อนชนชั้นทางสังคม นั่นหมายความว่า หากใครสักคนจะมีสิทธิ์เข้าไปร่ำเรียนศึกษาถึงปีนังได้แล้ว ก็ต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูงในระดับหนึ่ง เหมือนกับจอยคามที่พยายามปกปิดฐานะจริงๆ ของทางบ้าน เพราะกลัวเพื่อนในกลุ่มสังคมจะรับไม่ได้ หรือสินีนาฏที่เมื่อมารดาถูกศาลฟ้องล้มละลาย เธอก็แทบจะถูกปิดกั้นโอกาสที่จะเรียนต่อไปได้เลย และแม้ต่อมาในภายหลัง ละครจะได้ให้ข้อสรุปเป็นคำอธิบายว่า มิตรภาพของเด็กๆ ที่มีให้แก่กันนั้น สำคัญเสียยิ่งกว่าการตัดสินคุณค่าจากสถานภาพทางชนชั้นของปัจเจกบุคคล แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า โรงเรียนเป็นสถาบันที่คอยคัดกรองเด็กจากชนชั้นที่ต่างกัน ก็มิอาจปฏิเสธไปได้โดยง่ายนัก นอกจากบทบาทของโรงเรียนที่ทำหน้าที่ร่อนกรองสถานะชนชั้นทางสังคมแล้ว หากสังคมหนึ่งๆ มี “ความต้องการ” บางชุดที่อยากให้ “เด็กในวันนี้” เป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี” และเชื่อฟังในกฎกติกามารยาทของระบบ “ในวันหน้า” ก็เป็นโรงเรียนอีกนั่นแหละที่ถูกมอบหมายบทบาทหน้าที่ของการ “ขัดเกลา” และเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดให้เด็กๆ ยอมรับว่า โรงเรียนที่มีกฎเกณฑ์ร้อยแปดช่างเป็น “โรงเรียนของเราน่าอยู่” เสียนี่กระไร เฉกเช่นที่นางเองก็ถูกบททดสอบของการขัดเกลาตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเท้าเข้ามาในขอบขัณฑสีมาของโรงเรียนคอนแวนต์ ตั้งแต่การที่เธอต้องละทิ้งความฝันที่อยากเป็นนักแข่งรถมืออาชีพ ไปจนถึงการที่ชีวิตถูกพรากออกไปจากโลกโซเชียลที่เธอชื่นชมกับการโพสต์ภาพถ่ายอัพสเตตัสอยู่เป็นอาจิณ  จากบททดสอบแรกดังกล่าว นางกับเพื่อนๆ ก็ยังถูกฝึกให้ยอมรับในกฎระเบียบของโรงเรียน และพูดวลีที่ว่า “Yes, Madam” จนติดเป็นพฤตินิสัย เพราะหากไม่ยอมรับในข้อตกลงที่ว่านี้ บทลงโทษหลากหลายก็จะถูกบริหารโดยบรรดา “คุณครูใจดีทุกคน” ตั้งแต่การนั่งสก็อตจัมพ์ ยืนคาบไม้บรรทัด สั่งอดอาหาร ล้างจานในโรงครัว ทำความสะอาดห้อง และอื่นๆ อีกมากมาย ที่แน่ๆ บททดสอบกับบทลงโทษเหล่านี้ ก็มีการสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น และยังถูกอ้างความชอบธรรมว่ามีประสิทธิภาพในการขัดเกลาบุคลิกนิสัยของเด็กผู้หญิง เหมือนกับประโยคที่ “เอมอร” มารดาของนางที่เคยเรียนในคอนแวนต์เดียวกันมาก่อน ได้กล่าวกับลูกสาวในวันมอบตัวเข้าโรงเรียนว่า “แม่เชื่อว่า ถ้าลูกรู้จักตัวลูกอย่างที่แม่รู้จัก ได้เห็นโลกกว้างกว่านี้ ลูกจะเปลี่ยนใจ”  เพราะฉะนั้น จากบุคลิกนิสัยที่เคยกระโดกกระเดก จากเด็กผู้หญิงที่เคยทำตัวขัดขืนอำนาจของผู้ใหญ่ หรือจากนางผู้แก่นแก้วที่เคยทำตัวแตกแถวไปจากระเบียบบรรทัดฐานของสังคม ยี่สิบสี่ชั่วโมงในโรงเรียนที่ดำเนินสืบเนื่องมาวันต่อวันก็ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่เด็กหญิงค่อยๆ ได้รับการ “ขัด” และ “เกลา” จนกลายเป็นปัจเจกบุคคลที่ดำเนินชีวิตไปตาม “ความต้องการ” ของสังคมในที่สุด ด้วยข้อเท็จจริงที่ตัวตนของเด็กนักเรียนค่อยๆ ถูกแยกออกจากความปรารถนาที่มีมาแต่เดิมก่อนจะเข้าสู่สถาบันโรงเรียนเช่นนี้เอง ประโยคที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนหญิงเหล่านี้ผ่านปากตัวละครสายสุดาที่พูดว่า “ไม่มีใครเข้าใจการคิดถึงบ้านได้มากเท่ากับเด็กนักเรียนประจำหรอก” จึงกลายเป็นวาทะที่สะเทือนจิตใจของใครก็ตามที่เข้ามาได้ยินยิ่งนัก เมื่อมาถึงฉากจบ หลังจากที่ตัวละครทั้งหลายผ่านการกล่อมเกลาจนสำเร็จการศึกษาและแยกย้ายกันไปตามครรลองชีวิตของตน ผู้ชมจึงได้เห็นภาพการครองคู่ระหว่างนางกับ “ธนาธิป” ท่านกงสุลพระเอกที่เลี้ยงต้อยนางเอกมาตลอดเรื่อง หรือคู่ของสินีนาฏกับ “ชัยพล” และสายสุดากับ “คัมพล” ที่ฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันมาจนถึงบทสรุปอย่างเป็นสุข และในขณะเดียวกัน ละครก็ยังยืนยันให้เห็นด้วยว่า สถาบันโรงเรียนก็ได้ “ขัดเกลา” ให้เด็กหญิงนางผู้ที่เคยเป็น “นางม้าดีดกะโหลก” ไม่อยู่ในรีตในรอยของสังคม กลับกลายเป็น “นางอาย” ที่รู้จักเขินอายเพราะผ่านการขัดสีฉวีวรรณมาจนเป็นกุลสตรีที่ดีของสังคมไปแล้ว  ดังนั้น จึงยังคงเป็นความจำเป็นและไม่ผิดอันใด ที่เด็กๆ ทั้งหลายต้องสืบทอดร้องเพลงกันต่อไปว่า “โรงเรียนของเราน่าอยู่” ควบคู่ไปกับ “คุณครูที่แสนใจดีทุกคน” และที่สำคัญ เด็กๆ ทุกคนก็ยัง “ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 นาคี : อสรพิษที่ว่าร้าย ก็ไม่น่ากลัวเท่ากับคนหรอก

ในบริบทที่ประชาคมอาเซียนกำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานี้ ภาพของภูมิภาคอุษาคเนย์ดูจะมีลักษณะไม่ต่างจากเหรียญสองด้าน ที่ด้านหนึ่งผู้คนและวัฒนธรรมอาเซียนก็อาจฉายภาพของความแตกต่างและขัดแย้งกันอยู่ในที แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เชื่อกันว่า ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ก็มีวัฒนธรรมและประเพณีความเชื่อที่มีรากร่วมกันบางอย่าง“นาคาคติ” หรือคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพญานาค เป็นอีกกรณีตัวอย่างของวัฒนธรรมร่วมรากที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานในพื้นถิ่นอุษาคเนย์ อันรวมถึงเป็นประเพณีความเชื่อที่อยู่ในดินแดนสยามประเทศของเราด้วยเช่นกันอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์” ว่า สุวรรณภูมิหรืออุษาคเนย์เป็นดินแดนแบบ “เฮ็ดนาเมืองลุ่ม” หรือเป็นชุมชนที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมน้ำหลาก และผู้คนมีวิถีชีวิตทำนาปลูกข้าวกันมายาวนาน เพราะฉะนั้น ผู้คนที่อยู่ในภูมิภาคนี้จึงล้วนเลื่อมใสลัทธิบูชานาคหรือลัทธิบูชางูมาตั้งแต่ก่อนที่ชาวตะวันตกจะขีดเส้นกั้นแบ่งแผนที่ทางภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศเสียอีกรูปธรรมของคติการบูชานาคปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านปรัมปราของกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ของอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นมอญ เขมร ลาว ญวน หรือไทย และแม้แต่เมื่อศาสนาพุทธและพราหมณ์จะเผยแผ่เข้ามาจากอนุทวีปสู่ดินแดนแถบนี้ ลัทธิบูชานาคก็ผสานกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิศาสนาใหม่ด้วยเช่นกันและเมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ใช่ว่าคติความเชื่อเรื่องนาคจะเลือนรางจางหายไปไม่ นาคาคติยังคงได้รับการสืบสานเอาไว้ผ่านช่องทางใหม่ๆ ร่วมสมัยอย่างสื่อบันเทิงต่างๆ รวมไปถึงละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกดราม่าลึกลับอย่างเรื่อง “นาคี” โดยการวางพล็อตเรื่องของ “นาคี” นั้น จับความเรื่องราวของ “คำแก้ว” หญิงสาวบ้านดอนไม้ป่า ผู้มีชาติกำเนิดลึกลับ เนื่องจากเธอเป็นกายหยาบที่ “เจ้าแม่นาคี” ใช้อาศัยสิงสู่อยู่ เพราะถูกคำสาปของ “ท้าวศรีสุทโธนาค” เจ้าปู่ที่ล่วงรู้ว่า เธอหนีขึ้นมาบนโลกและสมสู่อยู่กินกับมนุษย์ที่ชื่อ “ไชยสิงห์” จนมีลูกด้วยกัน แต่ทว่า ด้วยเวรกรรมที่ผูกพันเอาไว้ จึงทำให้คำแก้วหรือเจ้าแม่นาคีรอคอยที่จะพานพบไชยสิงห์ผู้มาเกิดใหม่เป็น “ทศพล” ในชาติปัจจุบันในขณะที่โครงเรื่องถูกวางอยู่บนโรแมนติกดราม่าเยี่ยงนี้ แต่เนื่องจาก “นาคี” เป็นเรื่องเล่าของลัทธิบูชานาคที่เล่าผ่านเรื่องราวของละครโทรทัศน์ ดังนั้น โทรทัศน์เองจึงมีอำนาจที่จะเล่าเรื่องและหยิบมุมมองบางอย่างซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากปรัมปราคติความเชื่อแบบดั้งเดิมในด้านแรก แม้ว่านาคาคติเดิมจะสืบทอดให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของการบูชานาคหรืองูเป็นพื้นฐาน แต่เพราะเรื่องเล่าใหม่เป็นละครโทรทัศน์ วิถีการมองนาคจึงผสมเรื่องราวความรักสมหวังผิดหวัง ประหนึ่งจะบอกเป็นนัยว่า ไม่ว่าจะมนุษย์หรือนาคต่างก็เป็นชีวิตที่เวียนว่ายอยู่ในวังวนรักโลภโกรธหลงไม่แตกต่างกันเลยในอีกด้านหนึ่ง เพราะ “นาคี” เป็นเรื่องเล่าที่ผูกโครงขึ้นมาใหม่ ละครก็ได้เลือกใช้กลวิธีการขยับโฟกัสมุมมองใหม่ให้คนดูเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนาคที่แตกต่างไปจากการรับรู้ในแบบเดิมๆ ของเราแม้ว่างูจะถูกสถาปนาให้กลายเป็น “ความศักดิ์สิทธิ์” ตามลัทธินาคาคติ แต่ในเวลาเดียวกัน สำหรับมนุษย์แล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักจะมองงูมาจากจุดยืนที่ว่า สัตว์โลกชนิดนี้เป็น “อสรพิษ” ที่ดูน่ากลัวและไม่น่าไว้วางใจ ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในสำนวนไทยที่ว่า “ตีงูต้องให้หลังหัก” หรือ “ขว้างงูต้องให้พ้นคอ” ไปจนถึงนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” ที่ต่างยืนยันความเป็นอสรพิษของงูดังที่ได้กล่าวมาแต่ทว่า ละคร “นาคี” กลับไม่ได้เล่าเรื่องงูจากจุดยืนของคนที่เกลียดกลัวอสรพิษ แต่เลือกวิธีที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของงูจากมุมมองของงูหรือนาคเอง หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นการย้ายวิถีการมองให้ผู้ชมได้ลอง “เอาใจงูมาใส่ใจคน” ดูบ้าง ทัศนะแบบนี้จึงทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับงูหรือนาคด้วยภาพที่ผิดแผกแตกต่างจากที่คุ้นๆ กันมา คงเหมือนกับวลีที่ว่า “ในความจริงแล้ว งูไม่เคยทำร้ายคนก่อน มีแต่คนเท่านั้นที่คอยจะทำร้ายงู” ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวละครใดในท้องเรื่อง ต่างก็คอยตั้งการ์ดมุ่งมาดปรารถนาร้ายกับคำแก้วอยู่ตลอด เพียงเพราะเห็นว่าเธอเป็นกายหยาบที่เจ้าแม่นาคีสิงสถิตอยู่เท่านั้น เริ่มจาก “ลำเจียก” และ “พิมพ์พร” ศัตรูหัวใจของคำแก้วที่ขัดแย้งและรังควานเจ้าแม่นาคีกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน “กอ” “บุญส่ง” “หมออ่วม” และ “เมืองอินทร์” ที่ต่างก็คอยใช้เล่ห์กลมนตร์คาถามาจัดการกับคำแก้วในทุกวิธี “เลื่อง” ที่ต้องตาคำแก้วและวางแผนจะปลุกปล้ำขืนใจเธอมาเป็นเมีย และ “กำนันแย้ม” ที่ใช้อำนาจความเป็นผู้นำหมู่บ้านมาลงทัณฑ์เจ้าแม่นาคี โทษฐานที่ฆ่าลูกชายกำนันจนถึงแก่ชีวิตตัวละครเกือบทั้งหมดในเรื่องต่างพ้องเสียงประสานมือที่จะตัดสินความลงโทษคำแก้วและ “คำปอง” ผู้เป็นมารดาอย่างอยุติธรรม ดังประโยคที่คำแก้วได้เคยตัดพ้อกับแม่ว่า “อสรพิษที่ว่าร้าย ก็ไม่น่ากลัวเท่ากับคนหรอก” และแม้แต่กับเรื่องของความรักข้ามเผ่าพันธุ์ที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างคำแก้วได้ยืนหยัดดิ้นรนต่อสู้ให้ได้ครองรักครองคู่อยู่กับทศพลชนิดข้ามภพข้ามชาติกันมานั้น กลุ่มตัวละครที่เป็นมนุษย์ทั้งหลายต่างก็ยังตามไปทำร้ายและพยายามพรากเธอและเขาออกจากกันฉากที่เราเห็นคำแก้วหรือเจ้าแม่นาคีต้องถูกทรมานทั้งด้วยแหวนพิรอดเอย ว่านพญาลิ้นงูเอย ครุฑศิลาเอย พิธีกรรมเครื่องรางของขลังอีกมากมาย จนถึงการเผาคำปองผู้เป็นมารดาของคำแก้วจนตายทั้งเป็น คงไม่ต่างจากพยานหลักฐานที่สะท้อนว่า มนุษย์เราโหดร้ายยิ่งกว่าอสรพิษอย่างงูมากมายหลายเท่านักแม้ในตอนจบ เราก็อาจจะพอเดาทางละครได้ว่า ความรักต่างเผ่าพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับอมนุษย์เยี่ยงอสรพิษนี้ จะไม่อาจลงเอยไปได้แน่นอน แต่อย่างน้อย การได้ย้ายมามองจากจุดยืนสายตาของงูที่ถูกทารุณกรรมทั้งกายวาจาใจมาโดยตลอดนั้น ก็คงทำให้เราได้ยินเสียงเล็กๆ ของเจ้าแม่นาคีก้องอยู่ในโสตประสาทบ้างว่า ระหว่างอสรพิษเยี่ยงงูกับสิ่งมีชีวิตที่ “คอหยักๆ สักแต่เป็นคน” ใครหนอที่น่ากลัวกว่ากัน ???

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ดวงใจพิสุทธิ์ : สิทธิแห่ง “ผ้าขาว” ที่กำลังถูกล่วงละเมิด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามคำว่า “เด็ก” เอาไว้ว่า หมายถึง “คนที่มีอายุยังน้อย” ความหมายตามนิยามดังกล่าวอาจดูเป็นกลางๆ และง่ายต่อความเข้าใจก็จริง แต่ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว การรับรู้ความหมายของ “เด็ก” ในทัศนะของคนทั่วไปก็มีความหลากหลายและซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้นแม้จะเป็น “คนที่มีอายุยังน้อย” แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็อาจให้นิยามของ “เด็ก” แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น “เด็กคือผ้าขาว” หรือ “เด็กคือความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา” หรือ “เด็กคือตัวแทนของธรรมชาติ” หรือ “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า”อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กอาจมีสถานภาพประหนึ่ง “ผ้าขาว” หรือเป็นภาพแห่ง “ความบริสุทธิ์” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว นิยามอีกชุดหนึ่งของเด็กก็คือ กลุ่มคนในสังคมที่ถูกกระทำและล่วงละเมิดสิทธิมากที่สุด และข้อเท็จจริงที่สำคัญอีกเช่นกันก็คือ พื้นที่ที่สิทธิของเด็กถูกคุกคามอย่างเข้มข้นที่สุดก็หนีไม่พ้นพื้นที่ของครอบครัวนั่นเอง“ดวงใจพิสุทธิ์” ดูจะเป็นละครเล็กๆ แต่ร่วมสมัย ที่ฉายภาพความหมายของเด็กในฐานะ “ผ้าขาว” ซึ่งกำลังถูกล่วงละเมิดสิทธิในลักษณะดังกล่าวเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนเนื้อเรื่องของละครอาจจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวละครเด็กผู้ “ไร้เดียงสา” ก็จริง หากแต่โครงที่ผูกเป็นเรื่องราวไว้นั้นกลับดู “เดียงสา” ยิ่งนัก โดยได้นำเสนอภาพชีวิตตัวละครเด็กชายเด็กหญิงคือ “ลูกหมี” และ “ปุ๊คกี้” ที่เรื่องราวช่วงแรกๆ มีการตัดภาพสลับกันไปมา ก่อนที่เด็กน้อยทั้งสองคนจะโคจรมาพบและเป็นเพื่อนที่คอยดูแลกันและกันในช่วงหลังในส่วนของลูกหมีนั้น เนื่องจากพ่อและแม่ของเด็กชายจอมซนมีภารกิจต้องไปรั้งตำแหน่งงานสถานทูตไทยในต่างประเทศ ลูกหมีจึงได้มาอยู่ในความดูแลของ “ชินานาง” และ “ชนนี” ผู้มีศักดิ์เป็นคุณอาและคุณย่า แม้ว่าจะมีแง่งอนงัดข้อกันบ้างระหว่างอากับหลานที่ต้องปรับตัวเข้าหากัน แต่เพราะด้วยความรักความอบอุ่นที่ทั้งคุณอาและคุณย่าต่างมอบให้อย่างเต็มที่ ลูกหมีจึงถูกฉายภาพให้เป็นตัวละครเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่แม้จะไม่ใช่อุดมคติแบบ “พ่อแม่ลูก” แต่ก็สามารถเป็นเด็กที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขตัดสลับกับภาพที่ตรงกันข้ามของปุ๊คกี้ ที่แม้ตอนแรกจะเติบโตมาอย่างมีความสุข เพราะได้รับความรักความดูแลจาก “ภาวนา” ผู้เป็นคุณย่าและเป็นเศรษฐินีประจำจังหวัดสงขลา แต่เพราะ “ชลีกร” ป้าสะใภ้มีความโลภและอิจฉาที่ภาวนาไม่ค่อยแบ่งปันความรักมาให้กับลูกๆ ของเธอบ้าง อคติที่ครอบงำชลีกรทำให้เธอวางแผนให้พ่อแม่ของปุ๊คกี้ประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต และฆาตกรรมคุณย่าภาวนาในเวลาถัดมาเมื่อขาดผู้เลี้ยงดูที่รักและเอาใจใส่ตั้งแต่พ่อแม่จนมาถึงคุณย่า จาก “ผ้าขาว” ที่เคยถูกมองว่าบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ปุ๊คกี้จึงถูกทารุณกรรมจากป้าสะใภ้ทั้งต่อกาย วาจา และจิตใจอย่างต่อเนื่องภาพฉากที่ชลีกรเอาขนมทั้งกล่องยัดใส่ปากเด็กน้อย หรือภาพฉากการข่มขู่และทำร้ายปุ๊คกี้อีกมากมายลับหลัง “สาวิตร” คุณลุงแท้ๆ ของเธอ สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ความรุนแรงเชิงกายภาพและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่มีต่อเด็กๆ ในสังคมไทยนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักเกิดและสืบเนื่องอยู่ในสถาบันครอบครัวที่ใกล้ชิดกับชีวิตของเด็กมากที่สุดนั่นเองความรุนแรงเชิงโครงสร้างดังกล่าวนี้ แม้จะมีป้าสะใภ้อย่างชลีกรเป็นจำเลยหมายเลขหนึ่งของเรื่องราวก็ตาม แต่จริงๆ แล้ว แม้แต่ตัวคุณลุงสาวิตร หรือคุณอาแท้ๆ อย่าง “ลดามณี” เอง ก็ตกเป็นจำเลยผู้กระทำและล่วงละเมิดสิทธิของเด็กไม่แตกต่างกัน ในขณะที่สาวิตรเป็นคนที่เอาแต่บ้างาน จึงเพียงแต่สนใจแค่สอบถามความเป็นอยู่ของปุ๊คกี้จากชลีกรไปวันๆ เพื่อให้ตนเองได้สบายใจและดูดีว่าเป็นคุณลุงแสนดีผู้ปฏิบัติภารกิจดูแลหลานสาวตัวน้อยไปแล้ว ในส่วนของลดามณีเองก็ทำตัวใส่ใจรักใคร่หลานสาว เพียงเพราะต้องการใช้เด็กน้อยเป็นเครื่องมือและเป็นสะพานเชื่อมให้เธอได้ใกล้ชิดกับ “หัฏฐ์” พระเอกของเรื่องเท่านั้น หลังจากบุคลิกภาพของปุ๊คกี้เปลี่ยนแปลงจากเด็กน้อยโลกสวย มาเป็นเด็กที่เก็บกดและหวาดกลัวต่อโลกรอบตัว ชลีกรก็วางแผนหาทางผลักดันให้ปุ๊คกี้ไปอยู่ในความดูแลของหัฏฐ์และ “หทัย” ผู้เป็นน้าแท้ๆ ที่กรุงเทพแทน เพื่อเธอจะได้ยึดครองบ้านและมรดกทั้งหมดของภาวนาได้ในที่สุด เมื่อปุ๊คกี้มาอยู่กับหัฏฐ์ที่รั้วบ้านติดกันกับบ้านลูกหมีและชินานาง ก็เข้าตำราที่ร้องเป็นเพลงว่า “บ้านก็ปลูกติดกัน ปลูกติดกันพอดี เปิดหน้าต่างทุกที ทุกทีหน้าเราก็ชนกัน” เพราะฉะนั้น เด็กน้อยสองคนที่จุดเริ่มต้นให้มีเหตุต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ไม่แตกต่างกัน ก็โคจรมาเจอและสานต่อมิตรภาพระหว่างกัน จนในที่สุดบาดแผลในจิตใจของปุ๊คกี้ก็ค่อยๆ ได้รับการเยียวยาจากคนรอบข้างและเพื่อนในวัยเดียวกันเชื่อกันว่า เด็กๆ เป็นกลุ่มสังคมที่มีวัฒนธรรมและสร้างพื้นที่การสื่อสารบางอย่างในแบบของพวกเขาเองขึ้นมา ดังนั้น เมื่อปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กเกิดเนื่องมาแต่ผู้ใหญ่ในครอบครัวของตน ความลับข้อนี้ของปุ๊คกี้จึงถูกสื่อสารถ่ายทอดมายังลูกหมีในฐานะมิตรสหายที่อยู่ในกลุ่มพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมเดียวกันในฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องที่แม้ปุ๊คกี้จะถูกอำนาจของชลีกรคุกคามจนหวาดกลัวและไม่กล้าเป็นพยานในศาล เพราะรับรู้การฆาตกรรมในครัวเรือนของตน แต่ความลับดังกล่าวก็ถูกเปิดเผยออกมาโดยมิตรแท้ที่เด็กหญิงวางใจที่สุดอย่างลูกหมี จนในที่สุดก็เป็นแรงผลักให้ปุ๊คกี้เกิดความกล้าที่จะพูดความจริงทั้งหมดที่ไม่เคยบอกให้กับบรรดาตัวละครผู้ใหญ่ ซึ่งครั้งหนึ่งเด็กหญิงแทบจะหมดความไว้เนื้อเชื่อใจไปแล้วความเข้าอกเข้าใจที่ลูกหมีกับปุ๊คกี้สานสัมพันธ์กันไว้นี้ ไม่เพียงแต่จะมีผลานิสงส์ให้หัฏฐ์กับชินานางได้มาตกหลุมรักกันจริงตามขนบของท้องเรื่องละครเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นพลังของเด็กที่แม้จะมีอำนาจน้อย แต่ก็พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิแห่งตนซึ่งกำลังถูกละเมิดคุกคามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแม้ว่าเด็กๆ จะถูกนิยามว่า “มีอายุยังน้อย” แต่พวกเขาและเธอก็มีสถานะเป็น “คน” ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ดังนั้น เด็กๆ อย่างลูกหมีและปุ๊คกี้ จึงมี “สิทธิ” และ “ความชอบธรรม” ที่จะเรียกร้องให้ทุกคนเคารพศักดิ์ศรีตัวตน และหมุนฟันเฟืองเล็กๆ เหล่านี้ให้มี “ดวงใจพิสุทธิ์” และเป็นอนาคตของสังคมระดับใหญ่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 พิษสวาท : ระหว่าง “ชาติภพ” กับ “ชาตินิยม” ในสังคม 4.0

“ชาติ” คืออะไร? หากย้อนกลับไปเมื่อก่อนหน้าสองร้อยปีที่ผ่านมานั้น คำว่า “ชาติ” ที่ชาวสยามประเทศรับรู้ในยุคดังกล่าว อาจไม่ใช่ “ชาติ” ในความหมายเดียวกับที่คนไทยในปัจจุบันกำหนดนิยามเอาไว้ในอดีตนั้น คนไทยรับรู้ความหมายของชาติว่า เป็นเรื่องของชาติภพ ซึ่งมีวัฏฏะแห่งกรรมหรือการกระทำเป็นเหตุผลอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น มนุษย์ที่เกิดมาในชาตินี้ ก็เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่สั่งสมไว้ในชาติปางก่อน อันเป็นกฎที่มนุษย์เราจะหลีกเลี่ยงฝ่าฝืนไปไม่ได้เลย เพราะชาติหรือภพชาติเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วก่อนที่คนเราจะถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีกจนกระทั่งในราวเกือบสองร้อยปีได้กระมัง ที่ความหมายของชาติอีกชุดหนึ่งได้ถูกสร้างขึ้นมา ชาติในทัศนะใหม่กลายเป็น “จินตกรรมร่วม” ของคนจำนวนมาก ที่จะบ่งบอกว่าตนสังกัดเป็นส่วนหนึ่งในจินตกรรมความเป็นชาตินั้นๆ เช่น เมื่อชาติต่างๆ ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เราก็จะเห็นจินตกรรมความรักชาติปรากฏออกมาผ่านเสียงเชียร์และกำลังใจมากมายที่มีให้กับตัวแทนทีมชาติของตนด้วยเหตุฉะนี้ ชาติในความหมายดั้งเดิมกับชาติในนิยามที่ร่วมสมัย จึงมีนัยยะที่แตกต่างกัน ระหว่าง “ชาติภพ” แห่งการเวียนว่ายตายเกิด กับจิตสำนึก “ชาตินิยม” ที่คนส่วนใหญ่จินตกรรมเอาไว้ร่วมกันเมื่อก่อนนี้ผู้เขียนเองเคยเชื่อว่า นิยามความหมายของชาติสองชุดนี้ น่าจะแยกขาดกันตามโลกทัศน์ของผู้คนที่มีต่างกันในแต่ละยุคสมัย แต่เมื่อได้นั่งดูละครโทรทัศน์เรื่อง “พิษสวาท” แล้ว กลับพบว่า “ชาติภพ” กับ “ชาตินิยม” อาจจะเป็นสองสิ่งอย่างที่สามารถฟั่นเกลียวไขว้พันกันได้อย่างแนบแน่นละครผูกเรื่องราวของความรักความแค้นแบบข้ามภพชาติของตัวละคร “อุบล” หญิงสาวนางรำหลวงแห่งราชสำนัก ผู้เป็นภรรยาของ “พระอรรคราชบดินทร์” ทหารเอกมากฝีมือแห่งกรุงศรีอยุธยา และเมื่อวาระสุดท้ายของราชธานีสยามยุคนั้นมาถึง พระอรรคจำต้องลงดาบฆ่าและใช้โซ่ตรวนจองจำอุบลเอาไว้ เพื่อมอบหมายภารกิจให้เธอทำหน้าที่เป็น “ผู้เฝ้าทรัพย์แห่งแผ่นดิน” อันเป็นจุดเริ่มต้นของความแค้นที่สะสมอยู่ในดวงวิญญาณที่ของอุบล ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมชายคนที่เธอรักมากที่สุดถึงลงทัณฑ์ทำร้ายเธอได้เยี่ยงนี้ครั้นพอมาถึงสมัยปัจจุบัน พระอรรคผู้กลับชาติมาเกิดใหม่เป็น “อัคนี” นักโบราณคดีหนุ่ม ได้เวียนว่ายมาพบกับหญิงสาวลึกลับลุคกิ้งไฮโซนามว่า “สโรชินี” ที่รู้จักกันผ่านวัตถุโบราณอย่าง “ทับทิมสีเลือด” ซึ่งถูกโจรกรรมมา ความทรงจำในชาติปางบรรพ์จึงเริ่มถูกกู้ไฟล์ขึ้นมา จนภายหลังอัคนีจึงตระหนักได้ว่า สโรชินีก็คือดวงวิญญาณของอุบลซึ่งถูกกักขังไว้ และรอคอยการแก้แค้นเขาเมื่อวัฏฏะแห่งกรรมเวียนมาบรรจบอีกครั้งหากพิจารณาจากชื่อเรื่อง “พิษสวาท” ดูเหมือนว่า ละครเรื่องนี้น่าจะมุ่งเน้นให้เราเห็นบ่วงกรรมที่ตัวละครทำเอาไว้ในชาติภพก่อน แล้วยังคงผูกพันกันเป็น “พิษ” แห่ง “สวาท” ที่ตามติดมาหลอกหลอนจนถึงในภพชาตินี้แต่อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางกระแสที่สำนึกความเป็นชาติของคนไทยอยู่ในสภาวะง่อนแง่น และถูกแรงกระแทกจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกถาโถมเข้ามามากมาย ดังนั้น พิษรักแรงแค้นจึงอาจมิใช่เป้าหมายเดียวที่อุบลใช้อ้างเหตุจำแลงกายมาเป็นสโรชินีในชาติภพปัจจุบัน แต่ mission ของการกอบกู้ความเป็นชาติต่างหากที่เธอทนเฝ้ารอเพื่อกลับมาพบเจอกับตัวละครหลากหลายอีกครั้งในชาตินี้จากชาติภพที่มีมาตั้งแต่ก่อนยุคแอนะล็อก จนมาถึงชาตินิยมสมัยใหม่ในยุคเศรษฐกิจสังคมแบบ 4.0 นี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่ไฟล์ความทรงจำของตัวละครซึ่งข้ามผ่านกาลเวลามาได้ถูกดีลีทไปบ้าง ติดไวรัสไปบ้าง หรือถูกแฮกเกอร์ลบข้อมูลบางอย่างออกไปบ้าง พันธกิจของอุบลจึงเป็นความพยายามกอบกู้ไฟล์ และติดตั้งโปรแกรมสำนึกชาตินิยมเข้าไปในโลกทัศน์ของตัวละครต่างๆ กันอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นไฟล์ของนักการเมืองมือสะอาดอย่าง “อัครา” ที่ฐานข้อมูลเรื่องชาติยังไม่ได้ถูกทำลายไปมากนัก หรือคู่อริทางการเมืองผู้กังฉินอย่าง “ดนัย” ที่โปรแกรมความรักชาติทั้งรวนทั้งแฮงค์มาตั้งแต่ภพชาติก่อนจนถึงภพชาติปัจจุบัน อุบลก็ค่อยๆ ใส่โปรแกรมชาตินิยมเวอร์ชั่นล่าสุด ที่จะช่วยฟื้นฟูความทรงจำของทั้งสองคนให้สำเหนียกถึงความเสียสละตนเพื่อชาติที่กำลังอ่อนแอลงยิ่งกับตัวละครพระเอกอัคนีด้วยแล้ว ข้อมูลความทรงจำทั้งหมดของเขาดูจะถูกลบทิ้งจนกู้กลับคืนได้ลำบากมาก อุบลจึงต้องอาศัยเทคนิควิธีการอันแพรวพราวเพื่อจะดาวน์โหลดบูทเครื่องและติดตั้งโปรแกรมชาตินิยมเข้าไปในฮาร์ดดิสก์ความทรงจำของเขาเสียใหม่เมื่อต้องมาใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล 4.0 เช่นนี้ ในหลายๆ ฉากของท้องเรื่อง เราจึงเห็นอุบลพยายามสรรค์สร้างโลกจำลองเสมือนจริงขึ้นมากระทุ้งความทรงจำของอัคนีอยู่เนืองๆ ตั้งแต่ครีเอทฉากเปิดตัวของเธอในงานอีเวนท์กันชนิดอลังการงานสร้างยิ่งนัก แทรกซึมเรื่องราวในอดีตของเธอและเขาเข้าไปในห้วงความฝันของอัคนี ไปจนถึงจัดฉากแบบ simulation ในงานแสงสีเสียงกรุงเก่า เพื่อจำลองภาพบรรยากาศสงครามช่วงเสียกรุง โดยมีบรรดาวิญญาณบรรพชนเข้าร่วมเป็นนักแสดงในฉากให้ดูสมจริงยิ่งกว่าจริงทีเดียวด้วยเหตุนี้เอง ความเป็นชาติที่เป็นจินตกรรมซึ่งเกิดขึ้นมาไม่เกินกว่าสองร้อยปี จึงถูกร้อยรัดขมึงเกลียวเข้ากับความหมายของชาติภพที่พันผูกกันผ่านบ่วงกรรมของตัวละครเอาไว้อย่างแยบยล เกินกว่าที่วิทยาศาสตร์หรือศาสตร์ใดๆ ในโลกจะหยั่งถึงได้กว่าจะถึงฉากจบที่อุบลได้ตระหนักว่า แม้แต่กับตัวเธอในฐานะเว็บมาสเตอร์ผู้กอบกู้ไฟล์ชาตินิยมอยู่นี้ โปรแกรมรุ่นเก่าของเธอก็มีเหตุให้ต้องติดไวรัสไปด้วยเช่นกัน เพราะเธอเองก็ไม่มีความทรงจำติดตั้งเอาไว้เลยว่า เหตุผลที่พระอรรคจำต้องสังหารชีวิตภรรยาอันเป็นที่รัก ก็เพียงเพื่อปกป้องหล่อนไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของข้าศึก และมอบหมายภารกิจที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นดวงวิญญาณบรรพสตรีที่เฝ้าสมบัติของแผ่นดินเอาไว้นั่นเองและในตอนท้ายของเรื่องอีกเช่นกัน ที่ตัวละครทุกคน รวมทั้งอัคนีและอุบล ก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ปัญหาการถูกจองจำอยู่ใน “พิษสวาท” หรือแรงรักแรงแค้นนั้น ก็เป็นเพียงปัญหากิเลสที่ครอบงำวิญญาณระดับปัจเจกบุคคลข้ามภพชาติเท่านั้น ต่างไปจากเรื่องสำนึกรักและเสียสละเพื่อชาติ ซึ่งเป็นปัญหาระดับส่วนรวมที่บรรพชนติดตั้งเป็นโปรแกรมอนุสสติเตือนใจเราเอาไว้ตั้งแต่ยุคก่อนที่จินตกรรมชาตินิยมจะถูกสร้างขึ้นไว้เสียอีก

อ่านเพิ่มเติม >