ฉบับที่ 146 น้ำแข็งไส

  ไส หมายถึง การผลักไป รุนไป ไสน้ำแข็ง ก็คือการที่นำก้อนน้ำแข็งวางบนเครื่องไส ที่แบบบ้านๆ จะเป็นโต๊ะไม้เล็กๆ ที่มีใบมีดคมๆ หงายอยู่ตรงกลาง แล้วไถก้อนน้ำแข็งไปมาผ่านคมมีดเพื่อให้ได้เกล็ดน้ำแข็งฝอยๆ สำหรับกินกับ แตงไทย  เผือกลอดช่อง วุ้น เฉาก๊วย ขนมเชื่อมต่างๆ  อย่างลูกชิด มันเชื่อม หรืออื่นๆ แล้วราดด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำกลิ่นผลไม้ต่างๆ ขนมแบบนี้แหละที่เราเรียกมันว่า ขนมน้ำแข็งไส ประเทศร้อนๆ อย่างเมืองไทยของเรา คนสมัยก่อนคงนึกไม่ออกว่า น้ำจะเป็นตัว ได้อย่างไร แต่กับคนในบ้านเมืองที่มีอากาศหนาวเย็นติดลบ น้ำแข็งไม่ใช่ของแปลก และการนำน้ำแข็งมาใช้ทั้งกินและถนอมอาหารก็ทำกันมานานเป็นพันปีแล้ว เมื่อการค้าจากชาติที่มีทั้งอากาศหนาวเย็นและวัฒนธรรมการกินน้ำแข็งมาเยือนถึงถิ่นดินแดนเขตร้อน ราวศตวรรษที่ 19 น้ำแข็งจึงจัดเป็นสินค้าสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้นเพราะขนส่งมาไกลข้ามน้ำข้ามทะเลกันมาหลายเดือน คนไทยเราสั่งนำเข้าน้ำแข็งมาครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 จากประเทศสิงคโปร์เพื่อถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ต่อมาจึงกลายเป็นของกินที่ทั้งแปลกและหรูหราในสมัยนั้น น้ำแข็งมากลายเป็นของธรรมดาก็เมื่อมีคนคิดค้นการผลิตน้ำแข็งขึ้นได้(ยุคแรกน้ำแข็งที่ใช้บริโภคเป็นน้ำแข็งที่เกิดตามธรรมชาติ) โรงงานน้ำแข็งแห่งแรกในประเทศไทยเป็นเจ้าเดียวกับคนที่ทำรถเมล์เจ้าแรก คือ นายเลิศ(พระยาภักดีนรเศรษฐ) ชื่อว่า น้ำแข็งสยาม ณ เวลานี้  แม้น้ำแข็งไสแบบเดิมยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ น้ำแข็งไส หรือ น้ำแข็งใส ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยมากขึ้น เกล็ดน้ำแข็งที่ผ่านเครื่องไสแบบสมัยใหม่จะละเอียดจนเรียกว่า ปุยนุ่นหรือเกล็ดหิมะ แบบตักใส่ปากก็ละลายโดยไม่ต้องเคี้ยว และยังมีท้อปปิ้งหน้าตาสวยงามให้เลือกหลากหลาย แน่นอนราคาก็ไม่ธรรมดาตามไปด้วย บางเจ้าราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาทด้วยซ้ำ ว่าแต่...ร้อนๆ แบบนี้ได้น้ำแข็งไสสักถ้วยคงดีไม่น้อยนะ ว่าไหม?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 หาบเร่

  หาบเร่ นับเป็นกิจการค้าปลีกเก่าแก่ที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน เป็นทั้งเสน่ห์และสัญลักษณ์ของความไร้ระเบียบอันเป็นเอกลักษณ์ไทย การเรียกว่า หาบเร่ นั้นเป็นการเรียกจากอุปกรณ์ “หาบ” ที่นิยมกันมาแต่โบราณในการบรรทุกสินค้าไปขายในสถานที่ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าสถานที่นั้นต้องมีคนพลุกพล่านจอแจ หรือในทางตรงข้ามก็คือนำสินค้าไปขายตรงกับลูกค้าที่มีนิวาสสถานห่างไกลจากย่านร้านค้า และไม่สะดวกในการเดินทาง เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถึงแม้หาบจะไม่ได้รับความนิยมแล้ว เราก็ยังเรียกสินค้าที่ไม่ว่าจะบรรทุกด้วยรถปิกอัพหรือรถเข็น ว่า “หาบเร่” อยู่ดี   หาบเร่นั้นมักจะเน้นที่อาหารการกินเป็นหลัก ไม่ว่าจะหาบเร่ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ขนมหรือผลไม้ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ชอบ เพราะรสชาติดีและเข้าถึงง่าย แต่เพราะหาบเร่เป็นกิจการที่ไม่ได้ลงทุนมาก ใครๆ ก็เลยแห่กันมาเป็นแม่ค้า พ่อค้าหาบเร่กันมากขึ้น ปัญหาคือพวกเขามักจะไม่ค่อยเร่ไปไหน ต่างพากันปักหลักเหนียวแน่นตามทางเท้าที่คนสัญจรผ่านไปมา(แผงลอย ก็เรียก) จนกลายเป็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญเบียดเบียนคนเดินถนนทั่วไป ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ยากต่อการจัดการ   แม้อาหารจากหาบเร่จะอร่อย ราคาย่อมเยา แต่เมื่อต้องผจญกับฝุ่นควันริมถนน ผู้คนที่ผ่านไปมาจำนวนมาก บวกกับสภาพอากาศร้อน อาจทำให้อาหารบูดเสียง่ายหรือโอกาสปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียสูงขึ้น การล้างภาชนะ การเก็บวัตถุดิบด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมก็ทำได้ยาก อาหารจากหาบเร่จึงถือเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องรับรู้ว่า กำลังเสี่ยงภัยจากอาหารเป็นพิษด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 ลูกกวาด

ลูกกวาด ลูกกวาด หรือ ลูกอม เป็นขนมหวานที่เกือบ 100 % เป็นน้ำตาล ส่วนที่เหลือคือการปรุงแต่งรส กลิ่น สี เพื่อสร้างความน่าสนใจ ซึ่งสามารถทำได้เป็นร้อยชนิดแล้วแต่คนปรุงจะสร้างสรรค์ ประวัติศาสตร์ของลูกกวาดมีมายาวนาน โดยชาวอียิปต์เป็นชนชาติแรกที่นำผลไม้ ธัญพืช สมุนไพรรสหวานและเครื่องเทศ มาผสมกับน้ำผึ้ง เพื่อรับประทานเป็นของว่าง ซึ่งต่อมาก็นิยมกันแพร่หลายไปสู่กรีกและโรมัน จนเมื่อชาวยุโรปราวศตวรรษที่ 11 เริ่มรู้จักน้ำตาลที่ได้จากการตกผลึกของอ้อย จึงเริ่มมีการนำน้ำตาลมาเคี่ยวจนเหนียวหนับไปจนถึงแข็งกรอบ ลูกกวาดในตอนแรกผลิตนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นยา โดยมีการผสมสมุนไพรต่างๆ ลงไปเพื่อชูรสชาติ(หรือกลบรสขมของสมุนไพร) แน่นอนว่า คนกลุ่มอาชีพแรกๆ ที่นำน้ำตาลมาทำเป็นลูกกวาดจึงได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพปรุงยาทั้งหลาย เพราะคุ้นเคยกับสมุนไพรต่างๆ ดี ปัจจุบันตลาดของลูกกวาด ลูกอม ยังมีมูลค่าทางการตลาดสูงแม้ว่า ส่วนผสมหลักคือ น้ำตาลจะถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำร้ายสุขภาพโดยเฉพาะภาวะฟันผุ เพียงปรับกลยุทธ์การตลาดไปบ้าง แต่เดิมวางไว้ให้เป็นของกินเล่นๆ อมแก้เบื่อ แก้เซ็ง ก็เริ่มกลับไปหาจุดเริ่มต้นอีกครั้ง คือ การอมเพื่อบรรเทาอาการ โดยสูตรที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือสูตรที่เน้นชุ่มคอและให้ความสดชื่น สีสันในลูกกวาดที่แสนจะแสบสันต์ แน่นอนว่าเป็นสีสังเคราะห์ เมื่อรวมกับสารที่ใช้เป็นวัตถุกันเสียในลูกกวาด เคยมีรายงานพบว่า มีความสัมพันธ์กับอาการสมาธิสั้นในเด็ก รวมทั้งน้ำตาลที่ละลายออกมาจากลูกอมแล้วไปเกาะผิวเคลือบฟันคือ ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ฟันผุ คุณพ่อคุณแม่ จึงควรเลือกให้น้องๆ รับประทานแต่น้อยและควรบ้วนปากหรือแปรงฟันหลังอมลูกกวาด ส่วนเด็กเล็กๆ อย่าเพิ่งให้อมจะดีกว่าเพราะเสี่ยงต่อการหลุดเข้าไปอุดหลอดลม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ตะเกียบ

คนไทยนิยมใช้ตะเกียบเหมือนกันแต่กับอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว ปกติจะใช้ช้อนกับส้อมอย่างฝรั่งมากกว่า(แต่ไม่เอามีดมาด้วย) ปัจจุบันคนนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น ตะเกียบถูกพัฒนาให้เป็นตะเกียบแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่ออนามัยอันดี แต่มักมีข่าวว่ามีการใช้สารฟอกขาวเพื่อทำให้ตะเกียบสีขาวสวย ซึ่งเขาว่าควรลวกน้ำร้อนก่อนเพื่อให้ปลอดภัย เฮ้อ...ลำบากจัง   ตะเกียบนั้น คนจีนนิยมให้ด้านบนเป็นเหลี่ยมและปลายมน เพื่อให้กระชับมือและด้านปลายมนเพื่อไม่ให้บาดปาก ในขณะที่ญี่ปุ่น ตะเกียบมีลักษณะกลมมนและเรียวสอบลงจนปลายแหลม เพราะข้าวญี่ปุ่นมีความเหนียวนุ่ม สามารถใช้ตะเกียบคีบข้าวได้ และคนญี่ปุ่นนิยมอาหารสด อย่างปลาดิบ ตะเกียบปลายเรียวแหลมจึงเหมาะกับลักษณะอาหารมากกว่า สิ่งที่นำมาทำตะเกียบส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้อเบาอย่างไม้ไผ่ ส่วนที่ทำจากงาช้าง เงิน เซรามิก อันนี้ก็แล้วแต่ฐานะทางสังคมและการเงินของผู้ใช้ ส่วนที่เกาหลีตะเกียบมักทำจากโลหะและมีลักษณะแบนๆเดิมมนุษย์เราเริ่มต้นด้วยการใช้มือหยิบจับอาหารใส่ปากเหมือนๆ กัน เมื่อเริ่มเป็นชุมชน เป็นชาติ มีวัฒนธรรม มีสำรับข้าวปลาอาหาร ก็พัฒนาเครื่องใช้ในการกินอยู่เพิ่มเติมเพื่อความสะดวกสบาย คนจีนสมัยดั้งเดิมใช้ตะเกียบเพื่อคีบกับข้าวหรืออาหารร้อนใส่ชามตนเองแล้วเปิบมือเหมือนกัน มาใช้ตะเกียบพุ้ยข้าวกันอย่างแพร่หลายหลังยุคราชวงศ์ฮั่น และเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ที่รับวัฒนธรรมจากจีนแผ่นดินใหญ่ไป ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ซึ่งสืบสานธรรมเนียมกันยาวนานจนชาติเหล่านี้ไปพัฒนาดัดแปลงกลายเป็นวัฒนธรรมการกินประจำชาติของตนเอง 1 ใน 3 ของคนในโลกนี้รับประทานอาหารด้วยตะเกียบที่ชนชาติจีนเป็นผู้สร้างมาตั้งแต่ 2,000 กว่าปีก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กล้วยแขก

อาหารว่างที่คงความนิยมมาโดยตลอด กินกันมาตั้งแต่จำความได้พร้อมๆ กับการหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนถุงกล้วยแขก ที่ว่ากันว่าสร้างนักอ่าน นักเขียน นักวิชาการกันมาหลายคน กล้วยแขกหรือกล้วยน้ำว้าชุบแป้งทอดนี้ มีสันนิษฐานถึงที่มากันหลายสำนัก บ้างก็ว่าน่าจะมาพร้อมๆ กับการมาเยือนของคนต่างถิ่นอย่างชาวอินเดีย ที่คนไทยเรียกว่า แขก (แขกหมายถึงผู้มาเยือน สมัยก่อนคนอินเดียมาค้าขายกับคนไทย ก็มีลักษณะมาๆ ไปๆ ไม่ได้อยู่ประจำ) เพราะวิธีการทำอาหารด้วยการทอดแบบน้ำมันท่วมนั้นทางอินเดียเขาทำกันมานานแล้ว แต่บางหลักฐานก็ว่าน่าจะมาจากอาหารว่างของชาวมลายู ที่เรียกว่า Pisang goreng เป็นกล้วยชุบแป้งทอดเหมือนกัน แต่ของเขาไม่ใส่มะพร้าวและงา และทอดทั้งลูกไม่ได้ฝานบางอย่างไทย Pisang goreng ไม่ใช่อาหารพื้นเมืองของชาวมลายูแท้ๆ แต่เป็นชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในดินแดนแถบนี้เห็นว่า กล้วยเป็นพืชพื้นเมืองที่มีอยู่ดาษดื่น จึงนำมาชุบแป้งทอดเป็นอาหารเช้า ในพระราชนิพนธ์ของ รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ ปี พ.ศ. 2433 มีบันทึกไว้ว่า ทรงเที่ยวเล่นไปอย่างชาวบ้าน “ไปซื้อซาเต๊ะกับกล้วยแขกตามที่หน้าตึกริมถนนกิน” ซึ่งถึงกับทรงสรรเสริญว่า "กล้วยแขกของเขาดีกว่าของเราร้อยเท่าพันทวี” (พระราชนิพนธ์เรื่องระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมะลายู รัตนโกสินทรศก 109) จึงเป็นไปได้ว่า กล้วยแขกอย่างไทยเราอาจเป็นการต่อยอดมาจาก “กล้วยแขก  Pisang goreng” ของชาวมลายู กินกล้วยแขกกันมานานจนชิน แต่หลังๆ หลายคนชักขยาดเพราะกล้วยแขกที่ต้องทอดด้วยน้ำมันท่วมๆ นั้น ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำให้อ้วนและน้ำมันที่นำมาทอดซ้ำๆ นั้นเป็นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็ง ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เฉพาะกล้วยแขกเท่านั้น อาหารทอดด้วยน้ำมันท่วมความร้อนสูง ล้วนก่อปัญหาให้สุขภาพได้ทั้งสิ้น ถ้ากินกันแบบจริงๆ จังๆ ทุกมื้อทุกวัน แต่ถ้ากินไม่มาก พอได้รสได้ชาติ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 สาหร่ายแก้ว

หลายคนเรียก เส้นแก้วหรือวุ้นเส้นสาหร่ายแก้วเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงคนที่ห่วงใยเรื่องน้ำหนักตัวเพราะเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับอาหารอื่นหรือ “เส้น” อื่นๆ กินจนอิ่มคาร์โบไฮเดรตก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สาหร่ายแก้ว หน้าตาจะคล้ายวุ้นเส้นแต่อวบล่ำกว่ามากมองเผินๆ นึกว่าเส้นบุก แต่ไม่ใช่ เส้นนี้นิยมกันมากในเกาหลีและจีนก่อนลามมาเมืองไทยถ้าชอบกินสลัดบาร์จะเห็นเส้นแก้วนี้วางอยู่เคียงกับผักสลัดอื่นๆในเกือบทุกห้างที่มีขาย ระยะหลังมีขายเป็นแพ็กแยกต่างหากเป็นล่ำเป็นสัน  เพราะเมืองไทยสามารถผลิตเองได้แล้ว สาหร่ายเส้นแก้วเป็นโซเดียมอัลจิเนต โดยสกัดมาจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลผ่านกระบวนการทำให้เป็นเจลและจากเจลทำให้คงตัวเป็นเส้นคล้ายวุ้นเส้นอย่างที่เราเห็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่เป็นน้ำ ปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานไม่เกิน 20 กิโลแคลอรี มีคาร์โบไฮเดรต 4 กรัม ใยอาหาร 4 กรัม และโซเดียมกับแคลเซียม นิดหน่อยจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักเพราะกินแล้วอิ่มท้องดี ลดความอยากอาหารไปได้ แต่ใยอาหารของเส้นแก้ว เป็นใยอาหารชนิดที่ไม่ได้ช่วยเรื่องการขับถ่ายมากนักดังนั้นหากต้องการให้ขับถ่ายสะดวกควรเลือกกินพวกผัก ผลไม้ ดีกว่า   ตัวสาหร่ายเส้นแก้ว ไม่ได้มีรสชาติอะไรออกจืดๆ ดังนั้นต้องนำไปปรุงไปแต่งให้มีรสชาติมากขึ้น จะยำจะแกงก็ว่าไป รสสัมผัสที่ได้จะกรุบๆ กรอบๆบางคนก็เอามาทำเป็นขนมหวานแบบวุ้นใส่น้ำแข็งใส อร่อยดีเหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 แบะแซ

แบะแซ เป็นชื่อที่ใช้เรียกกันทั่วไปในหมู่คนทำขนมและอาหารอย่าง กระยาสารท ตังเม ทอฟฟี่กะทิแบบไทยๆ  น้ำจิ้มลูกชิ้นหรือแม้แต่เอาไปผสมทำเป็นน้ำผึ้งปลอมมาหลอกขายชาวบ้าน แบะแซ มีชื่อในทางอุตสาหกรรมว่า กลูโคสไซรับ(glucose syrup) เป็นการนำแป้งมาย่อยสลายให้กลายเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง(กลูโคสคือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว) ลักษณะของแบะแซอย่างที่เห็นหรือซื้อขายทั่วไปในตลาดจะมีลักษณะเหนียวๆ ใสๆ เหมือนน้ำเชื่อมบางทีก็เป็นก้อนเหนียวๆ หนืดๆ สีออกน้ำตาลๆ ก็แล้วแต่เกรดหรือเบอร์ของแบะแซ ในทางอุตสาหกรรมแบะแซหรือกลูโคสไซรับ ถูกใช้ในหลายผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อทำให้เนื้อของอาหารมีความหนืด เช่น ในลูกอมหรือซอสปรุงรสต่างๆ กลูโคสไซรับมีแบบชนิดผงด้วย ซึ่งจะนิยมใช้ในอุตสาหกรรมยา หรือประกอบการเคลือบเงาผลิตภัณฑ์ เช่น ขนมเม็ดสีของเด็กๆ ลูกอมต่างๆ   ตัวแบะแซที่นำมาผสมอาหารไม่ได้มีอันตราย แต่อาหารที่ใส่แบะแซถ้าใช้ในสัดส่วนที่มากเกินไปเนื้อของอาหารจะหนืดแข็งจนกินไม่อร่อย อีกอย่างอาหารหนืดๆ หวานๆ กินแล้วติดฟันหนึบหนับดีนัก ดังนั้นเมื่อรับประทานแล้วควรบ้วนปากหรือแปรงฟันเพื่อป้องกันฟันผุจ้ะ แบะแซ เป็นชื่อแบบบ้านๆ ในทางการค้ามีชื่อเรียกหลายอย่างแล้วแต่ว่าทำมาจากอะไร เช่น ถ้าทำจากแป้งข้าวโพดจะเรียกว่า Corn Syrup ทำจากน้ำตาล Malt เรียก Maltose ทำจาก Glucose เรียกว่า Liquid Syrup

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 แซลมอน

ปลาทะเลเนื้อส้มๆ ที่มีคนนิยมรับประทานมาก มากขนาดจะหากินที่เป็นปลาธรรมชาติยากแล้ว ที่กินกันอยู่ทุกวันนี้เป็นปลาแซลมอนเลี้ยงทั้งนั้น ที่สำคัญอเมริกาก็อนุมัติให้ปลาแซลมอนจีเอ็มโอ ชื่อทางการค้าว่า "แอดเวนเทจ แซลมอน" (AquAdvantage salmon) กำลังจะสามารถวางขายได้อย่างเสรี แซลมอนธรรมชาตินั้นหายาก เพราะวิถีชีวิตของพวกมันเป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก ลำบากมาก เมื่อโตเต็มวัยพวกมันอาศัยอยู่ในมหาสมุทร แต่เมื่อจะวางไข่และผสมพันธุ์พวกมันต้องว่ายทวนกระแสน้ำเป็นระยะทางยาวไกลหลายพันไมล์เพื่อเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำที่เป็นน้ำจืด เมื่อลูกปลาแข็งแรงดีแล้วมันจะว่ายตามกระแสน้ำออกสู่ทะเล เติบโต และกลับมายังถิ่นกำเนิดที่แม่น้ำสายเดิมอีกครั้งเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์รุ่นต่อไป แต่เมื่อแซลมอนกลายเป็นอาหารยอดนิยม ด้วยความที่มีเนื้อมาก รสสัมผัสดี ไม่มีกลิ่นคาวและคุณค่าทางอาหารสูง แซลมอนในธรรมชาติจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว แต่มนุษย์ก็หัวใสพอที่จะเพาะเลี้ยงได้ ประเทศผู้นำด้านการเพาะเลี้ยงแซลมอนได้แก่ ชิลีและนอร์เวย์ ที่สามารถส่งออกแซลมอนจำนวนมากไปขายเลี้ยงคนทั่วโลกได้ แซลมอนเลี้ยงนั้นมีปัญหาเช่นเดียวกันกับปลาเลี้ยงทั่วไป คือเป็นโรคง่าย เพราะสภาพที่อยู่ที่จำกัด เวลาเกิดโรคระบาดทีก็เดือดร้อนกันไปทั่ว เช่น คราวระบาดใหญ่ของโรค Salmon anemia (ISA) ในปี 2011 ที่ชิลี ทำเอาปริมาณแซลมอนในตลาดโลกลดลงฮวบฮาบ ในสหรัฐอเมริกาเคยวิจัยพบว่า เนื้อปลาแซลมอนจากฟาร์มเลี้ยงมีสารก่อมะเร็งที่มาจากอาหารปลาในระดับที่สูงกว่าปลาแซลมอนจากธรรมชาติถึง 16 เท่า ไม่นับรวมว่าปลาแซลมอนบางตัวมีพยาธิทะเลอาศัยอยู่ด้วย คนที่ชอบกินซูชิปลาแซลมอนดิบๆ ระวังไว้เถอะ ดังนั้นผู้มีอันจะกินทั้งหลายและช่างเลือกจึงนิยมแซลมอนธรรมชาติที่จับได้จากท้องทะเล ซึ่งถือเป็นปลาที่เกรดแพงกว่าแซลมอนเลี้ยงมาก ถึงขนาดต้องมีสมาพันธ์ออกมารับรองว่า ชิ้นนี้ปลาจากธรรมชาติแท้ๆ นะจ๊ะอันที่จริงปลาแซลมอนก็ไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารสูงมากกว่าปลาทะเลของไทยมากนัก อย่างปลาจะละเม็ด ปลาเก๋าหรือปลาทู ก็คุณค่าอาหารพอฟัดพอเหวี่ยงกัน และถ้าเรากินปลาแซลมอนน้อยลงอีกนิดนึง แซลมอนที่ว่ายเวียนแออัดอยู่ในฟาร์มก็อาจจะถูกทรมาทรกรรมน้อยลงด้วยเช่นกัน      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ผักบุ้งโหรงเหรง

  สำนวน น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง หมายถึง  พูดมากแต่ได้เนื้อความน้อย สำนวนนี้มีมาแต่โบราณ ด้วยเมืองไทยเราในพื้นที่ภาคกลางนั้นเป็นที่ลุ่ม อุดมไปด้วยแม่น้ำลำคลอง ยิ่งในฤดูที่น้ำหลากช่วงปลายฤดูฝนต่อถึงฤดูหนาว จะมีน้ำจากภาคเหนือมาท่วมท้องทุ่งนาเป็นปกติทุกปี น้ำจะท่วมอยู่นาน 3-4 เดือน แล้วค่อยๆ แห้งลงไป   ผักบุ้ง เป็นพืชพันธุ์ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนไทยมานานแต่โบราณกาล นิยมกินกันทั้งผู้ดี ไพร่ สมัยอยุธยาถึงกับเคยมีบันทึกในพงศาวดารกล่าวถึงการเก็บภาษีผักบุ้งไว้ด้วย ผักบุ้งในไทยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ผักบุ้งไทยและผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทย เป็นสายพันธุ์ธรรมชาติที่ขึ้นเองหรือชาวบ้านนำมามัดเป็นแพลอยอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง ลำต้นมีสีเข้ม เขียวอมม่วง ทนทานแข็งแรง แต่ยางมากสักหน่อย   ส่วนผักบุ้งจีนเป็นพันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ นิยมปลูกเป็นการค้า ลำต้นค่อนข้างขาว ใบสีเขียวอ่อน มียางน้อยกว่าผักบุ้งพันธุ์ไทย ผักบุ้งจีนนี้ถ้าโดนความร้อนจะนิ่มและเปื่อยง่าย จึงนิยมใช้ทำอาหารประเภทผัด โดยเฉพาะผัดผักบุ้งไฟแดง ส่วนผักบุ้งไทยจะนิยมกินสดเป็นผักแกล้มหรือใส่ในก๋วยเตี๋ยว ในแกงเทโพ หรือลวกกินกับน้ำพริก เขาว่ากันว่ากินผักบุ้งแล้วตาหวาน ก็ดูจะมีส่วนจริงตรงที่ผักบุ้งทุกพันธุ์มีวิตามินเอสูง ถ้ารับประทานเป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตา ในตำรายาไทย ใช้ต้นต้มกับน้ำตาลรับประทานเป็นยาถอนพิษเบื่อเมาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 อาหารเส้น

ชนชาวโลกนั้นชอบกินเส้น ไม่ว่าจะเส้นก๋วยเตี๋ยว หมี่ซัว พาสต้า ราเม็ง อุด้ง ขนมจีนหรือข้าวซอย ต่างล้วนผลิตจากแป้งที่ทำจากธัญพืชหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละพื้นถิ่น ปัญหาที่ถกเถียงกันมานานคือ ใครเป็นผู้ให้กำเนิดอาหารเส้น ถ้าคิดถึงแหล่งอารยธรรมในอดีต ก็ต้องเป็นชนชาติทางอียิปต์โบราณ โรมัน หรือจีน ในอียิปต์ไม่ปรากฏหลักฐานเรื่อง อาหารเส้นที่นั้นเน้นขนมปัง ส่วนโรมันมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ติดต่อกับราชวงศ์ฮั่น เมื่อ 2,300 ปีก่อนโดยการนำโม่หินมาให้คนจีนรู้จัก และจีนเริ่มใช้โม่บดข้าวสาลีจนเป็นแป้ง   จากนั้นนำแป้งสาลีมาผสมน้ำนวดจนเข้ากันดี แล้วจึงนำไปนึ่งหรือต้มสุกเป็นก๋วยเตี๋ยวแต่มีหลักฐานใหม่สุดพบว่า ไหหินอายุราว 4,000 ปีก่อน ขุดพบที่เมือง Lajia ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน   มีเส้นก๋วยเตี๋ยวติดอยู่ ลักษณะของเส้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง0.3 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร และมีสีเหลือง ทำด้วยข้าวบาร์เลย์ (Hordeum) ข้าวสาลี(Triticum) และข้าวฟ่าง (Panicum) เป็นอันยุติในตอนนี้ว่า จีนนั่นเองคือชาติแรกที่ผลิตอาหารเส้นบ้านเรานิยมกินอาหารเส้นไม่แพ้ชาติอื่น โดยเฉพาะเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเส้นต่างๆ เหล่านี้ ก็เข้าสู่ระบบการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรม ทำให้มีการเติมแต่งสารเคมีมากมาย รวมทั้งสารกันบูดเพื่อให้เก็บรักษาเส้นไว้ได้นานๆดังนั้นบางทีก็เปลี่ยนจากกินเส้นมาเป็นเกาเหลาบ้างก็น่าจะดี

อ่านเพิ่มเติม >