ฉบับที่ 144 บริการเสริมโทรศัพท์มือถือ

หลายคนมักจะโกรธแค้นหรือไม่ค่อยทนกับปัญหาแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร หรือคนขายของขายของแพงช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือแม้แต่ปัญหาการขายกุหลาบราคาแพงในช่วงพิเศษวาเลนไทน์ หรือเป็นเดือดเป็นร้อนกับคนขายกล้วยแขกตามสี่แยก ที่ควรจะต้องจัดการให้เด็ดขาดทั้งคนซื้อและคนขาย หรือหากจะทันสมัยก็ตุ๊กตาเฟอร์บี้ ที่เราถูกหลอกถูกโกงกันทุกวัน   อาจจะเป็นเพราะเรารู้สึกว่าเรามีอำนาจมากกว่าคนเหล่านั้น แต่ทำไมปัญหานี้ยังเกิดขึ้นอยู่ได้ตลอดเวลา และต่อเนื่อง เราอยากช่วยให้จัดการให้ได้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหา พูดแบบนี้เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าเข้าข้างคนฉวยโอกาสขายของแพง หรือแท็กซี่ที่ควรจะมีน้ำใจมากกว่านี้ หรือคนขายของที่ควรอยู่ให้ถูกที่ถูกทาง และรวมถึงปัญหาอันตรายต่อคนขายกล้วยแขกจากรถยนต์   คงไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบนั้น แต่เชื่อว่าเรายังมีปัญหาสำคัญอีกมาก และโดยเฉพาะสิ่งที่ใกล้ตัวที่เอาเปรียบกันเมื่อมองการหลอกในการซื้อขายตุ๊กตาเฟอร์บี้ เปรียบเทียบกับบริการออกกำลังกายของแคลิฟอเนียร์ไม่ว้าว และที่หลอกกันเป็นล่ำเป็นสัน ทุกวี่ทุกวันที่สำคัญคือโทรศัพท์มือถือ ที่มีให้แก้ไม่เว้นแต่ละวัน ยกตัวอย่างปัญหาในอดีตที่คนส่วนใหญ่จะรำคาญที่นั่งประชุมก็จะมีเสียงส่งเอสเอ็มเอส(SMS) มาถึงตลอดเวลา แต่เราก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยลบทิ้งปัญหาเหล่านั้นก็จะหมดไป แต่ปัจจุบันหลายคนที่ไม่ได้สนใจกับค่าใช้จ่ายรายเดือนของโทรศัพท์ หรือเติมเงินเข้าไปในระบบแล้วไมได้ดูก็จะคิดว่าเราใช้โทรศัพท์มากเงินก็เลยหมดเร็ว และคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจริง   บางวันมีเสียงโทรศัพท์สายเรียกเข้า ก็คิดว่าเป็นเพื่อนโทรศัพท์มา แต่เมื่อกดรับโทรศัพท์ ก็ปรากฎว่า เป็นเสียงพูดอัตโนมัติให้เสี่ยงโชค ดูหมอ ดูดวง ทายผลฟุตบอล เล่นเกมส์ คนทั้งหมดเมื่อเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ก็กดโทรศัพท์ทิ้ง จะมีน้อยรายมากที่อดทนฟังจนจบการให้ข้อมูล ใครจะคิดว่าการกดโทรศัพท์ทิ้งจะเป็นการรับสมัครสมาชิกบริการเสริมเหล่านั้น อัตโนมัติ หรือการส่ง SMS มาถึงตัวแจ้งว่าจะได้รับโทรฟรี 50 บาทหากกดโทรศัพท์ไปที่ *... แต่เมื่อกดไปกลายเป็นสมัครสมาชิกทันที หรือการทำการตลาดกันตรงๆ ว่าซิมเหล่านี้ฟรี แต่ยังไม่ทันไร ส่งใบทวงหนี้ไปบ้าน   การทำธุรกิจที่เผื่อผู้บริโภคหน้าบาง หรือครอบครัวที่คิดว่าเป็นหนี้สินกันจริง หรือเผื่อใครจะโลภและหลงเชื่อ หรือกลุ่มที่ไม่เคยตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเงิน หรือคิดว่าเราเป็นคนผิดพลาดเอง อาจจะใช้โทรศัพท์มากไป หรือยุ่งซะจนไม่สามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ ที่แน่ๆ จะกลายเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไปในทันที   นักวิชาการความมั่นคงของอวกาศในกิจการโทรคมนาคม ให้ข้อมูลว่า การส่ง SMS หรือ ส่งข้อความเสียงไปถึงผู้บริโภคนี้แต่ละวันทำกันไม่น้อยกว่า 1 ล้านเลขหมาย แต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายกันคนละ 37 บาท กลายเป็น 37 ล้านบาทต่อวัน หรือเดือนละ 1,110 ล้านบาททันที หรือการเผลอไปโหลดเพลง ภาพ จากทีวีดาวเทียมที่คิดว่าโหลดครั้งเดียวก็จ่ายครั้งเดียว แต่ในทางความเป็นจริงเขาใจดีส่งมาให้ทุกวัน แทนที่จะเสีย 6 บาทต่อเพลงก็กลายเป็นรายจ่ายทุกวันวันละ 6 บาท คนนึง 180 บาท ต่อเดือนและมีคนดูทีวีดาวเทียมอีกจำนวนมากที่กำลังทดลองสิ่งเหล่านี้   นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทำให้ยุ่งยากในการคิดค่าโทรศัพท์เหมาจ่ายรายเดือนที่มักจะคิดรอบบิลที่ไม่ตรงไปตรงมา ใครจะคิดบ้างว่า ใช้เพคเกจ 1800 นาที 30 วัน 149 บาท ใช้โทรศัพท์ไป 780 นาที 5 วัน จะถูกเรียกเก็บเงิน 478 บาทผู้บริโภคส่วนใหญ่บอกตรงกันว่า หากคิด 149 บาทจะไม่ว่าเลย เพราะถือว่าเป็นรอบบิลที่ไม่ตรงกัน แต่คิดมามากถึง 478 บาทแบบนี้ต้องสู้กันซักตั้ง   ที่ยกตัวอย่างหลายเรื่องราวบริการเสริมรูปแบบใหม่ ๆ ของโทรศัพท์มือถือ จะช่วยให้มองเรื่องกุหลาบวาเลนไทน์ คนขับแท็กซี่ คนขายกล้วยแขก เป็นเรื่องน่ารักไปเลย หรือการมีอาชีพดีกว่า ต้องไปวิ่งราวหรือช่วยขนยาบ้า แต่สิ่งเหล่านี้จะลดความรุนแรงหรือดีขึ้นแน่นอนหากเรามีกลไกมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทุน หรือแม้แต่ระบบราชการ ก็ต้องช่วยกันผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในนโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น (Pro consumer policy VS Pro business policy)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เปลี่ยนกรุงเทพ ฯ เพื่อผู้บริโภค

คนรักษ์อนุสาวรีย์ชัย เป็นการรวมตัวกันของบุคคล หน่วยงานที่อยู่อาศัย บุคลากรที่ทำงานบริเวณอนุสาวรีย์ชัย ตั้งแต่โรงพยาบาลราชวิถี โบสถ์บ้านเซเวียร์ สมาคมบำเพ็ญประโยชน์ เดอะเน็ตเวิร์ค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เซ็นจูรี่ คลินิกเพชรา ร้านคอมพิวเตอร์สยาม ก๋วยเตียวเรือพระนคร นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงอีกจำนวนนึง สิ่งที่น่าสนใจของอนุสาวรีย์ชัย คงหนีไม่พ้นความสะดวกสบายที่เราสามารถเดินทางไปที่ไหนก็ได้จากจุดนี้ เดินทางไปจังหวัดใกล้เคียงมีท่ารถตู้ที่สามารถขึ้นได้ทุกมุมอนุสาวรีย์ชัย ปัญหาที่ตามมาเมื่อมีคนเดินทาง ย่อมคู่กับการค้าขาย อยากจะได้อะไร ทั้งของใช้ของกิน ของย่าง ของปิ้ง ผัด ต้ม หรือทอด มีให้เลือกได้หมด จนคนเดินถนนต้องไปเดินเลนที่สอง หรือคนขึ้นรถเมล์ต้องรอรถเมล์บนถนน   ปัญหาสำคัญสี่ห้าอย่างถูกนำมาพูดคุยทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการเกือบ 20 ครั้ง เช่น การปรับปรุงเกาะรอบอนุสาวรีย์ชัย ให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการการใช้งานของอนุสาวรีย์ชัยที่เป็นเมืองเดินทางไม่ใช่ปรับปรุงเพื่อการขายของกินของใช้ถาวร การอยู่ร่วมกันของร้านค้า คนขายของบนทางเท้า คนเดินถนน คนขึ้นรถเมล์ รถตู้ หรือปัญหารถตู้ที่จอดผิดกฎหมายเย้ยบริษัทขนส่งจากทุกเส้นทางของประเทศรอบเกาะอนุสาวรีย์ชัย คนเสียชีวิตจากรถฉุกเฉินไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้จากการจราจรที่ติดขัด รถที่จอดขวางหน้าโรงพยาบาล โบสถ์ หรือรถตู้ปิดถนนแทบทุกซอยในอนุสาวรีย์ชัย ยังไม่นับรวมปัญหาความปลอดภัยและความสะอาด สิ่งที่น่าสนใจของคนรักอนุสาวรีย์ชัย คือไม่รอให้ผู้ว่ากทม. ปลัดกทม. เข้ามาจัดการปัญหาแต่ขอมีส่วนร่วมกับกทม.ในการจัดการอนุสาวรีย์ชัย การนัดพบผู้ว่ากทม. รองผู้ว่ากทม. ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. เขตราชเทวี สำนักจราจรและขนส่ง(สจส.) อธิบดีกรมการขนส่ง ขสมก. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สถานีตำรวจพญาไท ดินแดงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ   การเลือกตั้งมักจะคู่กับการขายฝันของผู้ว่า ไม่ว่าจะอาสามาทำ(รับใช้)อะไรให้กับคนกรุงเทพ ฯ หรือเลือกผมหากต้องการใช้ผม ผมยินดีรับใช้คนกรุงเทพ ฯ เปลี่ยนแปลงกรุงเทพ ฯ ร่วมมือกับรัฐบาลแบบไร้รอยต่อ น่าจะตอกย้ำความเชื่อเดิม ว่า เรารอให้ผู้ว่าจัดการ ปัญหาหลายอย่างจึงเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากขึ้นไปทุกวัน ผู้บริโภคต้องยอมจำนน คนเดินถนนถูกร้านค้าชิงพื้นที่ทางเท้า ปัญหารถตู้ยืน ปัญหารถติดทั่วกรุงเทพมหานคร เพราะเรารอให้มีคนมาแก้ปัญหา กรุงเทพมหานครมี 50 เขต หากทุกเขตรอให้ผู้ว่าจัดการหรือมารับใช้ 4 ปีก็คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และก็น่าเสียดายที่ยังไม่เห็นนโยบายผู้ว่ากทม. ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในแต่ละเขต หรือแม้แต่มีนโยบายใหม่ๆ เช่น ปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานในกรุงเทพมหานคร การจัดการเมืองและงบประมาณแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้คนร่วมตัดสินใจว่าเขาอยากให้ชุมชนหรือเมืองของเขามีหน้าตาอย่างไร ภาพลักษณ์หน้าตาของอนุสาวรีย์ชัย ควรจะเป็นอย่างไร  เป็นหมอชิต 2 สายใต้ 2 เอกมัย 2 หรือเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีก๋วยเตี๋ยวเรือแสนอร่อย สะอาด กินแล้วท้องไม่เสีย แถมใครอยู่ที่ไหนก็มีสิทธิโหวตและรักอนุสาวรีย์ชัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ปีแห่งการใช้สิทธิและการตรวจสอบ

หลายวันก่อนได้รับคำแนะนำจากผู้สื่อข่าวที่ใกล้ชิดว่า ทำอย่างไรให้เรื่องข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA หรือการทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเซีย-เศรษฐกิจ TPP มีข้อมูลผลกระทบเรื่องอื่นเพิ่มเติมและมีคนกลุ่มใหม่ออกมาให้ข้อมูล เพราะปัญหาเรื่องยาที่จะทำให้เราต้องจ่ายเงินเพิ่มปีละ 80,000 ล้านบาทต่อปีดูจะไม่ได้รับความสนใจ ทั้งๆ ที่เป็นเงินที่มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายในการทำระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  หรือปัญหาเรื่องสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ก็ เป็นคนกลุ่มเดิม ขออภัยนะที่ต้องบอกว่าเคยเป็นกลุ่มคนที่คัดค้านคุณทักษิณ แล้วกลุ่มนี้เป็นใคร กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือที่รู้จักกันเอฟทีเอวอทช์ FTA Watch เป็นความร่วมมือในการทำงานของหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ และเครือข่ายต่างๆ และได้ทำการศึกษา ทำงานวิจัยมานาน จนสามารถทำให้เห็นว่า การเจรจาการค้าเสรีมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลายด้าน ไม่ว่าจะต่อการเข้าถึงยา บริการสุขภาพ เกษตรกร การเงินการธนาคาร การลงทุน การเข้าถึงความรู้ การใช้ทรัพยากรหรือกำลังคนของรัฐในการปกป้องทรัพย์สินเอกชน หรือแม้แต่การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ ที่ทำให้ขาดความสมดุลระหว่างเจ้าของสิทธิกับสิทธิของผู้บริโภค หรือสาธารณะ หรือแม้แต่มูลค่าความเสียหายต่องบประมาณที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศ เช่นกรณีของยาจำเป็นหรือข้อที่พึงระวังในการเจรจา   การคิดแบบเหมาโหลสำหรับกลุ่มที่ตรวจสอบการทำงานหรือเห็นต่างจากรัฐบาล และโดยเฉพาะกับทุกประเด็นร้อน กำลังจะเป็นประเด็นอันตรายกับรัฐบาลเอง เหมือนอย่างที่มีผู้สื่อข่าวออกมาเล่นงานกลุ่มติดตาม กสทช. NBTC Watch ว่าผิดพลาด และทำให้เกิดความเสียหาย แต่ขณะที่ไม่สนใจว่า การรับเงินของสื่อส่งผลต่อการตรวจสอบหรือเสนอข่าวในทางบวกหรือลบต่อหน่วยงาน กสทช.อย่างไร และข้อมูลที่กลุ่ม NBTC Watch ใช้ก็เป็นข้อมูลของ กสทช. และไม่ได้ทำข้อมูลขึ้นเอง ถึงแม้รัฐบาลอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่หากสื่อที่สนับสนุนหรือกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาล มองทุกเรื่องที่กลุ่มคนตรวจสอบเป็นพวกตรงกันข้าม เป็นสลิ่ม แทนการมองเนื้อหาสาระ จะยิ่งทำให้ไม่เกิดการแก้ปัญหาหรือถกเถียงหาความจริง แต่กลายเป็นความขัดแย้งกับรัฐบาลแทน เพราะหากมองเรื่องพลังงานเป็นตัวอย่างที่ดี ทุกคนต้องใช้น้ำมัน ใช้ก๊าซ เอ็นจีวีและแอลพีจี ไม่ทางใดทางนึง หากเรามีกิจการพลังงานที่ไม่โปร่งใส หน่วยงานรัฐไม่ทำหน้าที่กำกับดูแล ผูกขาด เอื้อประโยชน์ย่อมไม่เป็นผลดีกับใคร และทำให้ปัญหาแอลพีจีที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นราคา แทนที่จะได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางกลายเป็นเรื่องของคนที่ไม่หวังดีไม่ต้องทำอะไร สุดท้ายขอส่งความสุขปีใหม่มายังสมาชิกและผู้อ่านฉลาดซื้อทุกคน หวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่งดงามและเป็นปีที่มีความหวังกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะเกิดกลไกใหม่ที่เป็นความหวัง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมมาตรา 61 ที่ไม่ใช่ทั้งหน่วยงานรัฐและเอ็นจีโอ สนใจดูว่าต่างอย่างไรได้จาก www.consumerthai.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 ช่วยเราทำงาน ได้บุญ ได้ยกเว้นภาษี

ทุกๆ ปีผู้บริโภคทั้งหลายจำนวนไม่น้อย คิดหาวิธีการเพื่อลดภาษีของตัวเอง และเสาะหาว่า มาตรการยกเว้นภาษี หรือ "เงินลดหย่อน" แบบไหนที่ดีที่สุด ถึงแม้ฉลาดซื้อยังไม่เคยเปรียบเทียบเรื่องนี้ให้กับสมาชิก แต่ปัจจุบันรายการลดหย่อนภาษีมีมากมายไม่น้อยกว่า 17 รายการ รายการชั่วคราวได้แก่ 1) เงินลดหย่อนเพื่อการซ่อมแซมบ้านจากน้ำท่วม 2) เงินลดหย่อนเพี่อการซ่อมแซมรถยนต์จากน้ำท่วม และ 3) เงินลดหย่อนตามสิทธิบ้านหลังแรก ซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 5,000,000 บาท และโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 นี้ ในขณะที่รายการถาวร พอจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ เงินบริจาคกับมูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล จากกระทรวงการคลัง เงินลดหย่อนในส่วนนี้ ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ โดยที่มูลนิธิหรือหน่วยงานเหล่านั้นจะต้องทำงานตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น หากบริจาคให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ลำดับที่ 576  เงินบริจาคจะถูกใช้ในการทำงานอย่างน้อยสามส่วนที่สำคัญ คือ การให้บริการช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค การเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงให้กับผู้บริโภค สนับสนุนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคให้สังคมไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น   ส่วนที่สอง เงินลดหย่อนที่เกี่ยวพันกับค่าใช้จ่ายของผู้ที่อยู่ในอุปการะ ก็ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงดูผู้ที่อยู่ในอุปการะ ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ 30,000 บาท บุตรที่ศึกษาในประเทศคนละ 15,000 บาท บุตรที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศคนละ 17,000 บาท บิดามารดาที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีและไม่มีรายได้คนละ 30,000 บาท ค่าเลี้ยงดูคนพิการคนละ 60,000 บาท รวมไปถึงเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาของผู้มีรายได้และคู่สมรส 15,000 บาท เป็นต้น ส่วนที่สามเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตภายหลังเกษียณอายุการทำงาน ซึ่งรวมถึง เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงินสะสม กบข. เงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม เงินได้ของผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีส่วนเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 190,000 บาท เป็นต้น ส่วนสุดท้าย เงินลดหย่อนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)  เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย เป็นต้น การลดหย่อนภาษี จะต้องมีการดำเนินการก่อนภายในสิ้นปี เพื่อเตรียมเอกสารในการยื่นเสียภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี หากสมาชิกฉลาดซื้อเห็นว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา พึงพอใจกับผลงานและอยากร่วมสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค การปกป้องสิทธิผู้บริโภคในหลายกรณีที่สำคัญ เช่น รณรงค์ให้เกิดกลไกใหม่ที่เป็นอิสระในการคุ้มครองผู้บริโภคมาตรา 61 รณรงค์ให้รถโดยสารสาธารณะปลอดภัย รถตู้ไม่อนุญาตให้ยืน ขับไม่เร็ว มีระบบและมาตรฐานการเยียวยาที่ดีเมื่อรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุ ปัญหาทีวีจอดำจากฟุตบอลยูโร แคลิฟอร์เนียฟิตเนส ว้าว ห้างสรรพสินค้าไม่ขายสินค้าหมดอายุ บัตรเติมเงินโทรศัพท์ที่ต้องไม่หมดอายุ และอีกหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำคัญการบริจาคของท่านจะช่วยพวกเราให้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง ได้บุญ และลดหย่อนภาษีประจำปี สนใจบริจาคหรือทราบรายละเอียดติดตามได้ที่ www.consumerthai.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 ช่วยจับตา...การตัดตอนการคุ้มครองผู้บริโภค

รัฐธรรมนูญปี 40 เปิดโอกาสเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้มากในหลายๆด้าน โดยเฉพาะด้านการคุ้มครองผู้บริโภคถึงกับกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไว้ในมาตรา57 โดยให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะในหลายสิบปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถูกพิสูจน์แล้วว่ารัฐมีข้อจำกัดในการทำงานคุ้มครองฝ่ายเดียว เพราะหากกลไกรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ บังคับใช้กฎหมายได้เป็นอย่างดีกลไกใหม่ๆเหล่านี้ก็ไม่จำเป็น ดังนั้นการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค การรู้เท่าทันความตื่นตัวในการใช้สิทธิ จึงมีความสำคัญในระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในเมืองไทย แต่เกือบสิบปีในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่สามารถทำให้เกิดองค์การอิสระได้ เพราะไม่ยอมรับวิธีการเกิด และถกเถียงกันเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรนี้ จนทำให้เกิดข้อเสนอในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี พ.ศ. 2550 มาตรา 61 ให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าต้องทำให้เกิดภายในหนึ่งปี แต่เราใช้รัฐธรรมนูญมาเกือบ 5 ปีสิ่งนี้ก็ยังไม่เกิด   การไม่เกิดวิเคราะห์ได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเทคนิคเช่น ความต่อเนื่องในการทำกฎหมายเนื่องจากมีการยุบสภา คนส่วนหนึ่งคิดว่าองค์กรนี้เป็นเอ็นจีโอ หรืออ้างเหตุทำงานซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) หรือกลัวเอ็นจีโอว่าจะมีเครื่องไม้เครื่องมือมากขึ้นเสียงจะดังปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้มากขึ้น จนทำให้กระบวนการทำกฎหมายในขั้นตอนกรรมาธิการร่วมของสองสภาดูไม่มีอนาคตเพราะฝ่ายที่ต้องทำจ้องรื้อกฎหมายทั้งฉบับ ใช้เทคนิคยื้อการประชุม ไม่ตัดสินใจ เรียกหาข้อมูลไม่ต่างจากการทำกฎหมายในขั้นตอนของสภาผู้แทนหลังรับหลักการกฎหมาย ต้องการแก้ไขแม้แต่มาตราที่ไม่ได้มีการแก้ไขจากทั้งสองสภา ความพยายามในการลดหรือตัดตอนบทบาทของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ตรวจสอบภาคธุรกิจ ไม่ให้มีอำนาจในการเปิดเผยชื่อสินค้า โดยอาศัยหน่วยงานของรัฐในการให้ความเห็นว่าอำนาจหน้าที่ที่เขียนไว้ในร่างกฎหมายอาจขัดรัฐธรรมนูญ อีกทางหนึ่งในการตัดตอนที่ต้องจับตาไม่กระพริบ อาศัยการปรับแก้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้สมาคมหรือมูลนิธิที่ได้รับอนุญาตจากสคบ.ฟ้องคดีแทนได้ แต่ก่อนฟ้องต้องขออนุญาตและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือจำกัดกรอบว่าให้ฟ้องเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งทำให้โอกาสในการฟ้องคดีแทบจะเกิดขึ้นได้ยาก กฎหมายฉบับหนึ่งหากออกก็คงมีแต่องค์กรแต่ไม่รู้จะทำอะไร อีกฉบับกำลังถูกตัดสมองและหัวใจในการทำงาน ดูแล้วเป็นนโยบายตัดตอนการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนชัดๆ ใครต้องการสนับสนุนการผลักดันการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ เข้ามาร่วมลงชื่อได้ที่ www.consumerthai.org ต้องการไม่น้อยกว่าแสนรายชื่อ ด่วนที่สุดก่อนถูกตัดตอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 สมาชิกตลอดชีพ ถึงเวลาผู้บริโภคเอาคืน

ประมาณสองปีที่แล้วมีสมาชิกฉลาดซื้อที่แสนดีแจ้งความจำนง ว่า อยากสมัครสมาชิกตลอดชีพ เราต่างยินดีกันที่สมาชิกรักเรามากขนาดนั้น แต่ก็ร่วมกันตัดสินใจบอกสมาชิกไปว่า สมัครซัก 5 ปีทดแทนก็แล้วกันเพราะเราเชื่อว่าฉลาดซื้อสามารถมีชีวิตผลิตหนังสือให้ผู้บริโภคอ่านได้มากกว่า 5 ปีแน่นอน แต่หากเราพิจารณาทิศทางของการตลาดบริการในปัจจุบัน ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ถูกการตลาดแนวใหม่ทั้งบังคับและเต็มใจเนื่องจากเห็นว่าคุ้มค่า ราคาถูกในการสมัครสมาชิกประเภทตลอดชีพ นับตั้งแต่การบริการล้างรถยนต์ บริการสถานเสริมความงาม ลดน้ำหนัก นวด หรือที่ฮือฮามากคงหนีไม่พ้นสถานบริการออกกำลังกายพร้อมเทรนเนอร์แคลิฟอเนียร์ฟิตเนสว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีกลยุทธ์มากมายหลายวิธีการในการส่งเสริมการตลาดให้สมัครสมาชิกและโดยเฉพาะสมาชิกประเภทตลอดชีพ   ยังไม่นับรวมปัญหาหลักฐานการขายที่แจ้งผู้บริโภคว่าเป็นการสมัครสมาชิกตลอดชีพ แต่ใบเสร็จที่มีต่างเป็นสมาชิกรายปี ไม่มีการระบุว่าเป็นสมาชิกตลอดชีพแต่ประการใด หรือการขายบริการเทรนเนอร์หนุ่มที่สามารถจูงใจให้สามารถใช้เงินต่ออายุตลอดเวลาหากคำนวณก็คงจะพบว่า ใช้เท่าไหร่ก็ไม่วันหมด ยิ่งใกล้ๆปิดสาขายิ่งขายได้มาก ผ่านข้ออ้าง “ช่วยสมัครเพื่อจ่ายเงินเดือนเทรนเนอร์หนุ่ม” แถมบางคนสมัครตลอดชีพเพียงไม่กี่วันก็ไม่สามารถไปใช้บริการได้แล้วเพราะสถานบริการออกกำลังกายซึ่งมีอยู่หลายสาขาเหลือให้บริการได้เพียงสาขาเดียวในกรุงเทพมหานคร และอีกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ จนนำมาซึ่งผู้เสียหายที่ร้องเรียนกับมูลนิธิ ฯ มากกว่า 500 ราย ความเสียหายสูงสุดที่มาร้องเรียนไม่น้อยกว่า หนึ่งล้านแปดแสนบาท แต่สมาชิกหลายคนแอบกระซิบเสียงดังว่ามีบางคนจ่ายเงินไปมากกว่าสามล้านบาท ถึงแม้เราจะมีกฎหมายป้องกันการล้มบนฟูกของผู้ประกอบธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 44 ในคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งถูกฟ้องเป็นนิติบุคคล หากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า นิติบุคคลดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค หรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคลไปเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และทรัพย์สินไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีอำนาจเรียกหุ้นส่วนผู้ถือหุ้น หรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงาน หรือนิติบุคคลร่วมรับผิดต่อผู้บริโภค แต่กรณีนี้ไม่ได้สวยหรูอย่างที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เพราะบริษัทนี้ถูกฟ้องคดีต่อศาลล้มละลาย จึงทำให้โอกาสของผู้บริโภคในการได้รับเงินคืนเหลือน้อยลงเพราะไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ ความจริงและกุญแจสำคัญของผู้บริโภค คือ ทุกคนถูกหลอกให้ทำสัญญา ใช้เทคนิคต่างๆ นานา และยินยอม เสียทรัพย์ เพราะเกิดจากการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ในการทำสัญญาเข้าใจโดยตลอดว่า เป็นสมาชิกตลอดชีพแต่ มิใช่สัญญาตลอดชีพ ถึงเวลาผู้บริโภคเอาคืนผ่านการฟ้องคดีอาญาฐานฉ้อโกงหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ช่วยฟ้องเอาคืนให้ผู้บริโภคเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับธุรกิจอื่นๆ กรณีนี้ทำให้เกิดข้อเสนอต่อผู้บริโภคหลายประการ เช่น ต้องหยุดสมัครบริการทุกประเภทที่เป็นสมาชิกตลอดชีพ เพราะจริยธรรมของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในประเทศไทยยังไม่สูงพอ โอกาสในการปิดกิจการหลังจากมีกำไรเฉพาะตัวยังมีได้สูง กฎหมายยังมีช่องว่าง สะท้อนความไม่พร้อมของภาคธุรกิจในการให้บริการแบบตลอดชีพแม้แต่ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ใครไม่เป็นผู้บริโภคบ้าง ยกมือขึ้น

“มนุษย์เกิดมาเป็นเสรี แต่ทุกหนทุกแห่งเขากลายเป็นผู้บริโภค” คนเราทุกวันนี้ไม่ว่าชาติ ภาษาใด มักเข้าใจ(ไปเอง)ว่าเรามีเสรีที่จะบริโภคอะไรก็ได้ จะเลือกกินเลือกใช้สินค้าใดก็ได้มีหลายแบบหลายชนิดให้เลือก จะไปไหนก็ไม่ติดขัดเพราะมีทั้งรถและเครื่องบิน เจ็บไข้ได้ป่วยก็มีโรงพยาบาลมีหมอช่วยเยียวยารักษา รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันก็ล้วนผลิตออกมามากมายให้เราได้บริโภคกันทั้งสิ้น แต่ในการเป็น ”ผู้บริโภค” ของเรานั้น เรามีเสรีภาพมากมายอย่างที่เราคิดจริงๆ หรือ ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมเหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า   โฆษณาพูดกรอกหูทุกวัน ว่าเราต้องใช้ก๊าซ ราคาตลาดโลก จนทำให้เราเชื่อ ทั้งที่เราใช้ก๊าซแพงกว่าราคาตลาดโลก ผักขายในห้างหรู สารเคมีอันตรายตกค้างพอๆ กับรถพุ่มพวง นอนดูฟรีทีวีปกติ แต่พอมีฟุตบอลยูโรกลับจอดำ เพราะธุรกิจเขาบอกว่าฟรีทีวีเฉพาะหนวดกุ้ง ก้างปลา ต้องเสียเงิน เสียชีวิต เพราะหลงเชื่อโฆษณาเอนไซม์ในเคเบิ้ลทีวี รถตู้ ที่เขียนไว้ข้างรถ ว่า ๑๕ ที่นั่งเอาเข้าจริง ๑๗ ที่นั่งไม่รวมคนขับ แต่ก็ต้องขึ้นไม่งั้นไม่มีวันได้เดินทางแน่นอน ใช้บัตรเอทีเอ็ม(ATM) ช่วยลดต้นทุนธนาคารแต่กลับต้องเสียค่าธรรมเนียมถอนเงินตัวเอง บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ วันหมดแต่เงินยังไม่หมด กลับถูกตัดการใช้งาน เมื่อต่างประเทศเรียกรถคืน บ้านเรามักอ้างว่าไม่มีรุ่นนั้น หรือใช้รถยนต์ใหม่ยังไม่ทันไร แต่มีปัญหาตลอด บริษัทไม่รับผิดชอบรถของตนเอง ถ้าไม่มีรถไฟตกราง คงไม่รู้ว่า การรถไฟฯ ไม่เคยทำประกันชีวิตให้ผู้โดยสาร ทั้งที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแสนแพง ปัญหาข้างต้นไม่มากก็น้อย ทั้งเฉพาะรายและการป้องกันปัญหา น่าจะคลี่คลายหรือน้อยลง หากเรามีกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีมากกว่าในปัจจุบัน หรือทำให้ผู้บริโภคเท่าทันไม่ถูกต้มจนสุก ประเทศไทยควรมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา ๖๑ ของรัฐธรรมนูญได้แล้ว แต่เป็นเพราะเราหรือผู้บริโภคไม่รู้ว่าหากมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วเกี่ยวข้องอย่างไร อ่านปัญหาข้างต้น เชื่อว่า คงไม่มีใครคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับตนหรือไม่จำเป็นต้องมี เสียงของผู้บริโภค คนเล็กคนน้อยที่ประสบปัญหาซ้ำซาก จะไปถึงรัฐสภา ให้เร่งพิจารณากฎหมายฉบับนี้ได้อย่างไร เพราะเดิมอาจจะมีข้ออ้างว่ารัฐบาลเพิ่งจะทำงาน ทั้งที่รัฐธรรมนูญขอให้มีภายใน ๑ ปี เท่ากับอายุของรัฐบาลพอดี ไม่อย่างนั้นผู้บริโภคคงต้องคิดว่า มีใบสั่งจากธุรกิจที่ขอให้ดองหรือแช่แข็ง กลไกใหม่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคคงเป็นจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 การฟ้องคดีฟุตบอลยูโร 2012 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

  การฟ้องคดีฟุตบอลยูโร 2012 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเสียงเชียร์จากทั่วประเทศ ถึงแม้ผลตอนท้ายของคำสั่งศาลที่ไม่คุ้มครองก่อนมีคำพิพากษาจะทำให้ผู้เชียร์ผิดหวัง และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยกฎหมายลิขสิทธิ์ใหญ่กว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีเสียงบ่นอยู่ไม่น้อยว่า ทำไมเพิ่งจะมาฟ้องหรือเราจะต้องเคารพลิขสิทธิ์ของบริษัท การฟ้องอาจจะล่าช้าเพราะมัวรั้งรอให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ได้ทำหน้าที่ ที่ดูเหมือนจะ แข็งขัน ข่มขู่บริษัทจนทำให้มั่นใจว่าน่าจะแก้ปัญหาจอดำได้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นละครทีวี  คงรับทราบกันเป็นทั่วไปว่า ผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้ฟ้องเพราะอยากดูฟุตบอลหรือไม่เคารพลิขสิทธิ์ แต่ฟ้องในฐานะองค์กรผู้บริโภคที่เห็นว่าปรากฏการณ์จอดำครั้งนี้นับเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผ้บูริโิ ภคมากกว่าครึ่งของประเทศในการดูฟรีทีวี จากข้อมูลพบว่า คนไทยดูฟรีทีวีผ่านระบบดาวเทียมและเคเบิ้ล ทีวี มากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ มีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ ที่ดูผ่านหนวด กุ้ง ก้างปลา ซึง่ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี ทุกช่องต่างรู้ดี และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ในการหาโฆษณา สปอนเซอร์มาอย่างยาวนาน โดยข้อเท็จจริงสถานีโทรทัศน์ควรต้องขอบคุณผู้บริโภคที่ลงทุนซื้อเครื่องมือในการดูฟรีทีวีด้วยตนเอง ไม่รอว่าเมื่อไหร่คลื่นจะไปถึงบ้าน หรือคลื่นที่ถูกตึกสูงบดบังจะมีโอกาสดูได้วันใดวันนึงในอนาคตแต่สถานีโทรทัศน์เหล่านี้กลับร่วมมือกับบริษัทแกรมมี่บล็อกสัญญาณดาวเทียม และตีความแบบเอาเองแบบคับแคบว่า ฟรีทีวี หมายถึง การออกอากาศภาคพื้นดินและสถานีโทรทัศน์ของตนเองให้บริการได้เฉพาะภาคพื้นดินตามสัญญาสัมปทานซึ่งแต่ละช่องอายุสัมปทานระหว่าง 40-60 ปี ทั้งที่สัญญาของยูฟ่าระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ฟรีหมายถึง การรับชมรายการโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิในการติดตั้งและหรือการใช้อุปกรณ์ในการรับโปรแกรมดังกล่าวการฟ้องคดีครั้งนี้อย่างน้อยได้บทเรียนและข้อสรุปหลายประการ เช่น ปัญหาเทคนิคเรื่องสัญญาณล้นออกไป 22 ประเทศสามารถจัดการได้ ไม่มีใครทำตามกฎหมาย หากไม่มีกติกา และอย่าหวังว่าจะเห็นความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน การใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอย่างเต็มรูปแบบการพิจารณาในศาลที่ดูเหมือนดีแต่ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครอง น่าผิดหวังที่สุดก็คงเป็นคำสั่งศาลให้กลับไปดูโดยหนวดกุ้ง อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือยูฟ่าไม่อยู่ในอำนาจศาลไทย หรือความน่าเชื่อถือของประเทศที่มีต่อประชาคมโลกในเรื่องการรับรองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ส่งผลต่อการแข่งขันกีฬาและรายการอื่นๆจุดอ่อนของการฟ้องคดีในครั้งนี้ คงไม่พ้นเรื่องระยะเวลาที่จำกัด การเตรียมการ การให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องเทคนิคการถ่ายทอดล้นออกนอกประเทศมากกว่าปัญหาลิขสิทธิ์ เพราะชัดเจนว่า ระบบลิขสิทธิมีขึ้นเพื่อสร้างสมดลุ ระหว่างการคุ้มครองเจ้าของสิทธิแิละการคุ้มครองผู้บริโิ ภค ตลอดจนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้งของไทยและต่างประเทศในปัจจุบัน ต่างกำหนดข้อยึดหยุ่นเพื่อไม่ให้การคุ้มครองสิทธิมาลุกล้ำสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษาและประโยชน์ของสาธารณะ และล่าสุดกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรปก็ไม่ให้การคุ้มครองความ ตกลงใหม่ ACTA (Anti Counterfeit Trade Agreement) เพราะเห็นว่าความตกลงนี้ละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้ของประชาชนผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การนำพารายการโทรทัศน์ (MustCarry) โดยกสทช.จะสามารถแก้ปัญหาจอดำได้บางส่วนในปัจจุบันถึงแม้ศาลจะไม่มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเพื่อให้ดูฟุตบอลยูโรได้ทันการณ์ แต่เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้วิธีการทำสัญญาในต่างประเทศเพื่อโยชน์ทางธุรกิจของตนเองแต่ละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศอย่างเช่นปัจจุบัน คดีนี้จะเดินหน้าต่อไปเพื่อหวังสร้างบรรทัดฐานเรื่องนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 เงียบซะอย่างใครจะทำอะไรได้

ความพยายามของกลุ่มองค์กรผู้บริโภคในการจัดการทีวีจอดำในการแข่งขันฟุตบอลยูโร ดูจะเป็นเรื่องหนักหนา ทั้งๆ ที่ควรเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค 75 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ น่าจะเกิดขึ้นจากหลายประเด็น เรื่องแรกที่สำคัญและต้องมีการจัดการขั้นเด็ดขาดโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) คือ การเพิกเฉยของช่อง 3, 5, 9 หรือดูจะกำลังใช้วิธีการใช้ความเงียบสยบความเคลื่อนไหวของฟรีทีวีทั้ง 3 ช่อง แถมหากใครติดตามจะมีช่องอื่นๆ รู้เห็นเป็นใจไม่กล้าซักถามผู้บริหารทั้งสามช่องแต่อย่างใด ตอนแรกคิดว่าจะหวังพึ่งสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่จนปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า สมาชิกของตนเองกำลังกระทำละเมิดผู้บริโภคทั่วประเทศ ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ คนไทยดูทีวีจากเสาอากาศน้อยลงเรื่อย ๆ ข้อมูลการดูทีวีของคนไทยในปัจจุบันจาก 20 ล้านครัวเรือน พบว่า เปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ใช้หนวดกุ้งหรือเสาอากาศที่มีให้เห็นตามหลังคาบ้านเหลือเพียง 5 ล้านครัวเรือนหรือร้อยละ 25 เท่านั้น แต่สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาคือการใช้ระบบเคเบิ้ลและดาวเทียมซึ่งหากรวมกันจะสูงถึงร้อยละ 75 และที่สำคัญไม่ว่าเราจะใช้วิธีการไหนในการรับชม เราก็สามารถดูหรือรับการแพร่ภาพและการกระจายเสียงจากฟรีทีวีได้ตามปกติ นับเป็นการช่วยสนับสนุนช่องต่างๆ ไม่ต้องขยายคลื่นรับส่งของสถานีเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ   แต่เมื่อมีฟุตบอลยูโรช่อง 3, 5 และ 9 ในปัจจุบันกลายเป็นการกระจายเสียงสองรูปแบบ โดยมีประเภทเล่นฟุตบอลปกติ และมีภาพขอโทษแต่ไม่มีเสียง ซึ่งคำถามแรกต้องถามว่า ทำได้หรือไม่ที่มีการเลือกปฏิบัติและการกระจายเสียงและแพร่ภาพที่ไม่เหมือนกัน หรือหากจะเรียกว่าช่องทั้งสามนี้ สำหรับคนส่วนใหญ่หยุดให้บริการฟรีทีวีปกติชั่วคราว ฉบับที่แล้วได้ชี้ให้เห็นว่า ทั่วโลกมีการเรียกคืนรถยนต์นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคมเกินสี่ล้านคน แต่บ้านเรายังไม่มีเลยซึ่งไม่น่าจะเพราะเรามีรถที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หรือแม้แต่เพื่อนบ้านเราที่เรามักจะพูดถึงอย่างอิจฉาหรือดูถูกอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนามก็มีเรียกรถยนต์คืนจากตลาด หรือแม้แต่ประเทศอินโดนีเซียก็เรียกคืนสินค้ามากมายในครัวเรือนเช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องปิ้งขนมปัง ไดร์เป่าผม เพียงเพราะไม่มีใบรับประกันและฉลากเป็นภาษาอินโดนีเซีย(ดูรายละเอียดได้จาก www.aseanconsumer.org) การยอมจำนนของผู้บริโภคมีปรากฏการณ์ให้เห็นได้หลายรูปแบบ เช่น เขาได้ลิขสิทธิ์มาก็ต้องเคารพลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ แต่เรากลับไม่พูดถึงว่า ทำไมคนได้ลิขสิทธิ์กลับปิดหูปิดตาว่า เราดูทีวีกันอยู่อย่างไร  อ้างถือลิขสิทธิ์เป็นอาญาศักดิ์สิทธิ์ แต่การคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องไม่เกินเลยผลประโยชน์สาธารณะ ที่สำคัญเหมือนกับเรื่องรถตู้จดทะเบียน หากมีคนนั่งเกิน 15 ที่นั่งจัดการได้เต็มที่ แต่จะมาบอกว่ารถตู้ป้ายดำบรรทุกเกินแต่จัดการไม่ได้เพราะไม่ขออนุญาตไม่ถูกต้องแน่นอน หากต้องการให้จัดการทั้งสองแบบเราต้องช่วยขนส่งตรวจตรารถตู้และเราต้องไม่สมยอมขึ้นรถตู้คนที่ 16 หรือแอบไปซื้อกล่องหรือหนวดกุ้งเพราะต้องการดูฟุตบอล และเรื่องนี้สะท้อนว่า ถึงเวลาต้องผลักดันให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะหากมีอัยการคงส่งฟ้องคดีบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทนผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ สามารถปกป้องผู้บริโภคคนเล็กคนน้อยที่ต้องจ่าย 200 บาทหรือมากถึง 2,000  ล้านบาทโดยไม่มีเหตุผลในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 เรียกคืนรถในเมืองไทยถึงเวลาต้องจัดการ

ยังไม่ถึงห้าเดือนของปีนี้ รถยนต์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ถูกเรียกคืนไม่น้อยกว่า 3,124,000 คัน (สามล้านหนึ่งแสนสองหมื่นสี่พันคัน) ทั่วโลก นับตั้งแต่ วันที่ 17 มกราคม ในตอนต้นปี พบ บีเอ็มดับเบิ้ลยู (BMW) เรียกคืนรถยนต์รุ่น มินิ ทั่วโลกจำนวน 235,000 คัน หลังพบข้อบกพร่องที่เสี่ยงจะเกิดไฟไหม้ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 บริษัทนิสสันเรียกคืนรถยนต์รุ่นมาร์ชจูค อินฟินิตี้เอ็ม ทั่วโลก และรุ่นอื่นๆ ประมาณ 250,000 คันทั่วโลกเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับรางท่อน้ำมันของเครื่องยนต์ระบบไดเรคท์ อินเจคชั่น ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำมันรั่วซึมในกรณีที่รุนแรงได้ 8 มีนาคม 2555 โตโยต้ารุ่นเวนซา ถูกเรียกคืนในสหรัฐฯ และแคนาดา เกือบ 7.3 แสนคัน เพื่อแก้ไขปัญหาถุงลมนิรภัยด้านคนขับ และสวิตช์ที่อาจทำให้รถสตาร์ทไม่ติด  27 มีนาคม 2555  “บีเอ็มดับเบิ้ลยู” เปิดเผย ว่ากำลังดำเนินการเรียกคืนรถยนต์ราว 1.3 ล้านคันทั่วโลก สืบเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรี ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจทำให้เกิดไฟลุกไหม้ได้ 31 มีนาคม 2555 ฮอนด้าจ่อเรียกคืนรถซีอาร์วี-ไพล็อต "ฮอนด้า" เตรียมเรียกคืนรถอเนกประสงค์สองรุ่น กว่า 5 แสนคันในสหรัฐ เหตุไฟหน้าอาจมีปัญหา ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซูซูกิสวิฟท์ โดนเรียกคืนรถกว่า 109,000 คัน เหตุน้ำมันรั่วในรถยนต์ซูซูกิ สวิฟท์ 4 คันในประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดทางบริษัทซูซูกิ มอเตอร์ เตรียมเรียกคืนรถยนต์รุ่นดังกล่าว เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยอีกครั้ง   ทุกครั้งที่มีการเรียกรถยนต์คืนจากประเทศต่างๆ คำตอบที่ได้รับเสมอๆ จากบริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมักจะบอกว่า เมืองไทยไม่ได้ผลิตรุ่นนี้ รุ่นนี้ไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย เชื่อว่า คงไม่ใช่เพราะเรามีรถที่มีคุณภาพ แต่รถที่จำหน่ายอาจจะหาคุณภาพไม่ได้เลย การตอบสนองต่อปัญหาความชำรุดบกพร่องหรือไม่มีมาตรฐานของรถยนต์ในเมืองไทย มักจะได้รับการแก้ไขแบบขอไปที ต้องใช้ความพยายาม ดิ้นรน ร้องขอ กราบวอนแทบทุกหน่วยงาน สื่อมวลชนให้ความสนใจน้อยเพราะโฆษณาชิ้นใหญ่ปลามันทั้งนั้น จึงไม่เคยมีปรากฏเรียกรถยนต์ในรุ่นเดียวกันในท้องตลาดมาตรวจสอบ แถมที่แย่กว่าประเทศอื่นๆ ปัจจุบันเรายังไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยของรถที่ผลิตมีเพียงมาตรฐานชิ้นส่วนรถยนต์เท่านั้น แถมปีนี้หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจะพูดเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าคับปากพูดได้ลำบาก เพราะนโยบายลดภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่ต้องอาศัยบริษัทรถยนต์ผลิตอย่างเต็มที่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจองปีนี้ได้รถปีหน้า ได้เมื่อไหร่ไม่มีใครตอบได้ อำนาจต่อรองที่ติดลบ ทำให้ปัญหาคุณภาพมาตรฐานความบกพร่องในกระบวนการผลิตซึ่งมีได้ตามปกติจะมากขึ้นหรือไม่เพียงใด แต่น่าจะเป็นโอกาสขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะได้ทำเรื่องการเรียกคืนสินค้าจากตลาดแทนหน่วยงานรัฐที่ทำได้ยากเพราะนโยบายรัฐบาล หรืออาจจะเป็นเพราะแบบนี้ ถึงไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซะที เพราะสมประโยชน์ทุกฝ่ายยกเว้นผู้บริโภคอย่างเรา

อ่านเพิ่มเติม >