ฉบับที่ 124 ตัดสินใจกันแล้ว

ฤดูการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ หากให้คะแนนความน่าสนใจของนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ต้องบอกว่า สอบตกกันแทบทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่ทั้งสองพรรค พรรคกลางพรรคเล็กหรือแม้แต่พรรคการเมืองใหม่ โดยเฉพาะนโยบายด้านสังคมที่ถูกให้ความสำคัญน้อยมาก หรือนโยบายที่จะช่วยลดความไม่เป็นธรรมความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ภายใต้บรรยากาศปฏิรูปและปรองดอง นโยบายเป็นส่วน ๆ ตอน ๆ ทั้งที่หากย้อนไปในอดีต การใช้นโยบายในการหาเสียง หรือนโยบายด้านสุขภาพ เป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองชนะการเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ภาพนโยบายเด่นของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในแต่ละด้านไม่ชัดเจน เน้นแข่งกันเรื่องปริมาณ ใครให้เงินค่าแรง เบี้ยผู้สูงอายุ มากกว่ากัน ใครทำรถไฟได้มากสาย ราคาถูกกว่ากัน ไม่มีนโยบายโดนใจ นโยบายที่สร้างหรือปฏิรูปประเทศ แม้แต่การปฏิรูปที่ดินที่ถูกเรียกร้องหลายกลุ่มและรวมถึงจากกลุ่มนปช. รูปธรรมที่เป็นนโยบายมีเพียงบางพรรคเรื่องโฉนดชุมชน หรือหากมองเรื่องสุขภาพที่ฉลาดซื้อเชี่ยวชาญ ก็ไม่มีอะไรที่ก้าวหน้านอกจากทำงานงานเดิมของเดิมให้ดีขึ้น บางพรรคกลับจะย้อนไปใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ไม่เห็นการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ที่ยังเหลื่อมล้ำ ผู้ประกันตนในประกันสังคมไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีกต่อไป ประกาศให้ใช้บัตรประชาชนทุกคนทุกระบบ ทุกคนได้รับการรักษาแบบเดียวกันไม่ว่าจะมีระบบไหนจ่ายเงินให้ในการรับบริการ เรื่องนี้ถูกวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะแต่ละกลุ่มมีแฟนเพลงของตนเองที่คนส่วนใหญ่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใคร ไม่ต้องมีนโยบายหาลูกค้าเพิ่ม พรรคการเมืองคิดไม่ออกว่าจะเสนอนโยบายอะไร หรือประชาชนอย่างเราก็ชอบนโยบายแบบนี้หวือหวา แต่ไม่ได้แก้ปัญหา หรือสะท้อนว่ากระบวนการทำนโยบายของสังคมไทยกำลังตีบตัน ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการทำนโยบายเสนอภาคการเมืองกลายเป็นอดีต ไม่มีใครให้ความสนใจ ทุกคนสุขสบาย มีตำแหน่งมีฐานะ ไม่อยากวุ่นวายที่จะต้องปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลง เพราะจะเจ็บตัว ที่สำคัญมากกว่านั้นคงเป็นความกังวลจากการคาดการณ์ของหลายคนหลายกลุ่มว่า เลือกตั้งไปแล้ว จะสามารถตั้งรัฐบาลได้จริงหรือ จริงไม่จริงคงไม่ทราบเพราะยังมาไม่ถึง แต่ของจริงคือเรามีสิทธิลงคะแนนเลือกนักการเมือง เหมือนซื้อของที่ดีมีคุณภาพ เท่ากับว่าเราลงคะแนนเสียงให้กับแบบแผนการผลิตนักการเมือง เราอยากเห็นการเมืองไทยเป็นแบบไหนใช้สิทธิของเราเต็มที่ทั้ง สส.เขตและบัญชีรายชื่อ เพราะหนึ่งเสียงของเรามีความหมายเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ด้วยมือเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เราจะก่ออิฐ สร้างโรงพยาบาล ต้องเห็นวิสัยทัศน์บริการสุขภาพ

เดือนที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมประชุมสมัชชาผู้บริโภคสากลที่ฮ่องกง  ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ องค์กรผู้บริโภคจากหลายประเทศทั่วโลก แต่ก็จุกเมื่อถูกตั้งคำถามว่า เป็นยังไงประเทศไทยได้ยินข่าวจากประเทศไทยทีไรแปลกๆ ทุกที คนถูกถามก็อึ้งตอบไม่ค่อยจะถูกแต่ก็ต้องอ้อมแอ้มๆ ตอบไป ว่า ประเทศไทยกำลังจะยุบสภา(ตอนนั้นยังไม่ยุบ) กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่เร็วๆ นี้หลายองค์กรได้เตรียมการเสนอนโยบายที่ทำงานมานานให้กับพรรคการเมือง อาจจะมีคนได้อ่านนโยบายของพรรคใหญ่สองพรรคที่แข่งขันกันบ้าง พรรคหนึ่งบอกว่าจะสนับสนุนนโยบายสามสิบบาท ซึ่งเคยเป็นนโยบายของตนเองและให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมให้บริการมากขึ้น หารู้ไม่ว่าขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนก็เข้าร่วมจำนวนไม่น้อย แต่ถ้าวิเคราะห์สาเหตุกันจะๆ ก็จะเห็นว่าที่เขาไม่ร่วมเพราะเขามีทางเลือกเพราะนโยบายของทั้งสองพรรคนั่นแหละที่ไปสนับสนุนให้เขาเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียหรือของโลก หรือเขายังมีระบบประกันสังคมให้เป็นที่ทำมาหากิน อำนาจต่อรองในการให้โรงพยาบาลเข้ามาให้บริการกับคนในระบบหลักประกันจึงเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆส่วนพรรครัฐบาลปัจจุบันก็บอกว่าจะทำให้โรงพยาบาลตำบล(สถานีอนามัย) มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ก็หลับหูหลับตา ไม่ดูว่าที่โรงพยาบาลอ้างขาดทุนไม่ใช่การขาดทุนจากการให้บริการ แต่เป็นเพราะนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจนหมอทะเลาะกันเองเพราะได้แตกต่างกัน หรือการขยายให้แรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในประกันสังคมมากขึ้น เพื่อจะได้มีสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ ก็จะเห็นว่า แรงงานกลุ่มนี้รักษาฟรีกับบัตรทอง(แต่ขณะที่บังคับผู้ประกันตนให้จ่ายเงินเรื่องสุขภาพ)ไม่มีใครเห็นภาพใหญ่ว่าระบบบริการสุขภาพ มีความไม่เป็นธรรม แตกต่างเหลื่อมล้ำกันอยู่ ประกันสังคมเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสตางค์สมทบสุขภาพของตนเอง แต่ยอมให้บ่ายเบี่ยงพูดไปเรื่อยว่า คนเสนอต้องการฮุบเงินของประกันสังคมหรือทำให้คนเป็นขอทาน เราต้องการให้พรรคการเมืองอธิบายมีนโยบายที่สอดคล้องกับปัญหา ระบบบริการ ความทุกข์ยากความไม่เป็นธรรมของคน ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเรื่องสุขภาพทั้งหมดให้ผู้ประกันตนเช่นคนอื่นๆ ส่วนใครจะเป็นผู้บริหารหรือให้บริการก็ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือก มาดูกันว่าจะเป็นสปส. สปสช. อยู่กับใครแล้วประเทศจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน หรือขึ้นอยู่กับว่าใครทำได้ดีกว่าใครนโยบายด้านสุขภาพ ต้องไม่ลืมเรื่องความทุกข์ของผู้ป่วยที่เสียหาย ความทุกข์ของแพทย์ที่ถูกฟ้องร้อง ต้องอธิบายและผลักดันให้เกิด พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ทำให้ผู้ประกันตนได้รับความเป็นธรรมด้านสุขภาพเหมือนกับคนอื่นๆ หรือหากเราจะมีนโยบายเพียงการก่ออิฐ ก็ต้องเห็นว่า หากมีโรงพยาบาลหน้าตาจะเป็นอย่างไร แล้วก็ต้องรู้ว่านโยบายหรือวิสัยทัศน์ด้านสุขภาพควรเป็นอย่างไร ซึ่งจะไม่แตกต่างจากนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะก่ออิฐเทปูน แล้วทิ้งแบบเสาโทลเวย์ หรือจะก่ออิฐแล้วรู้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลที่สวยงาม ให้บริการเป็นเลิศ และมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนได้อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ครอบครัวฉลาดซื้อ ช่วยด้วย

หากใครสังเกตหรือมีโอกาสใช้เส้นทางด่วนจากบางนา-แจ้งวัฒนะ ช่วงบ่อนไก่ถึงถนนเพชรบุรี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาจะเห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่สลับกับป้ายบอกทางสองถึงสามช่วงบนถนนทางด่วน เส้นนี้ นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เพิ่งจะเกิดขึ้นซึ่งหากใช้ทางด่วนเป็นประจำก็จะเห็นว่า ป้ายโฆษณาบนถนนทางด่วนไม่เคยมีปรากฏมาก่อน หรือหากใครเคยเห็นก่อนหน้านี้ หรือมีเพิ่มเติมในทางด่วนเส้นไหนก็รบกวนให้แจ้งมาที่ฉลาดซื้อด้วยป้ายโฆษณาที่พบเห็นทั่วไปซึ่งมีเต็มบ้านเต็มเมือง มักอยู่บริเวณสองข้างทางของทางด่วนเป็นหลัก ทั้งมุมทั้งโค้ง ช่วงรถติด ช่วงจ่ายสตางค์ค่าทางด่วน ข้างอาคาร ตึก หรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่วันดีคืนดียามฝนพายุฟ้าคะนอง ก็อาจโชคดีหล่นมาทับให้เป็นข่าวกันอยู่เนือง ๆ ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบพบป้ายผิดกฎหมาย แบ่งเป็นป้ายโฆษณาที่อยู่อาศัย ร้านค้า อาหาร 456 ป้าย และป้ายการเมือง 26 ป้าย โดยรวมทั้งหมดแล้ว พบป้ายที่ผิดกฎหมายเกือบ 700 ป้าย น่าเสียดายนะน่าจะบอกต่ออีกหน่อยว่า ป้ายโฆษณาที่อยู่อาศัย ร้านค้า ร้านอาหารอะไรบ้างที่มีป้ายผิดกฎหมายมากที่สุด เพราะแค่ป้ายยังรับผิดชอบไม่ได้ ผู้บริโภคเรา ๆ ไม่ควรจะอุดหนุนป้ายนอกจากทำให้เมืองขาดความงาม ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยให้กังวลกันอยู่เป็นประจำ แต่ป้ายบนถนนทางด่วนน่าจะมีความรุนแรงมากกว่า เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน หลายประเทศออกเป็นกฎหมายห้ามมีโฆษณาบนถนน เช่น ฮ่องกง เพราะจะบดบังป้ายบอกเส้นทางและทำให้การมองเห็นป้ายบอกเส้นทางในระยะกระชั้นชิดเกินไป ไม่ทันการณ์ และอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรืออันตรายได้มากกว่ากติกาที่มีในต่างประเทศ เมื่อจะนำมาใช้หรือเป็นแบบอย่างในประเทศ ก็มักจะบอกว่า สังคมไทยไม่เหมือนกับเขา ซึ่งก็จริงเพราะไปมาก็หลายประเทศ ยังไม่เคยเห็นประเทศไหนเขามีป้ายโฆษณาบนถนน ยกเว้นข้างถนนซึ่งพี่ไทยเราก็มีมากมายจนละลานตา และทำให้มึนงงเส้นทาง เช่น ทางไปดอนหอยหลอดของจังหวัดสมุทรสงคราม แทนที่จะได้ดูบ้านเรือน สวนส้มโอ ต้นจาก และธรรมชาติสองฝั่งถนน กับพบมีแต่ป้ายโฆษณาร้านอาหารจนมองอย่างอื่นแทบไม่เห็นที่ต้องนำเรื่องนี้มาเล่าก็ต้องการให้เป็นกรณีตัวอย่างให้สมาชิกครอบครัวฉลาดซื้อ ไม่เครียดและคิดว่าการเป็นสมาชิกครอบครัวฉลาดซื้อไม่ยากส์ ทำได้ง่าย สนุก ทำได้เรื่อย ๆ หลายช่องทาง มีเรื่องแปลก ๆ เล่าให้ฟังกันมันส์ ๆ ได้ทุกวันหากไม่รู้สึกว่ามากไปสมาชิกของครอบครัวฉลาดซื้อ ต้องช่วยกันฝึกการเป็นช่าง(สังเกต) แต่ไม่ใช่ช่างเขาเถอะ และเมื่อเล่าฟังเอามันส์แล้ว ก็หาทางช่วยกันดำเนินการต่อให้ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไข หรือทำให้เพื่อน คนในครอบครัว เท่าทันกับปัญหารูปแบบใหม่ ๆ หวังว่า จะช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์ทั้งดีและร้ายให้เป็นครูกับตนเองและผู้บริโภค เพราะเพียงปัญหาป้ายโฆษณาบนทางด่วนก็คงจะยาก หากไม่มีใครเป็นเจ้าของ(ทุกข์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 3 บาทต่อหัวประชากร

เดือนนี้เป็นทั้งเดือนที่มีความสำคัญและได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ลำบากใจได้ไม่น้อย วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสากล(World Consumers' Rights Day) โดยปีนี้ให้ความสำคัญกับบริการทางการเงินที่จะต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค แต่หากย้อนกลับมายังสถานการณ์ในบ้านเราปีนี้เป็นปีที่กฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินมีความรับผิดที่จำกัด และจะรับประกันการฝากเงินเพียง 1 ล้านบาทเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ถึงแม้อาจจะเห็นว่าเป็นประเด็นของคนชั้นกลาง แต่โครงสร้างระบบการเงิน สถาบันการเงินทั้งธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร เงินกู้ เงินฝาก เงินออม ในปัจจุบันนี่แหละที่ทำให้คนจนต้องเป็นหนี้ซ้ำซาก เป็นหนี้แล้วถูกทวงหนี้ไม่เป็นธรรม เหมือนอย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า คนชั้นกลางไม่สนใจเรื่องการปฏิรูปที่ดินเพราะคิดว่าเป็นเรื่องคนจน แต่หารู้ไม่ว่า คอนโดหรือบ้านรูหนูที่ตัวเองอยู่ ไม่ควรจะแพงมหาโหดหรือไม่ควรจะต้องผ่อนทั้งชีวิตแบบนี้ แต่ที่เป็นแบบนั้นเพราะการถือครองที่ดินที่กระจุกตัว รวมทั้งที่ดินในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคมเกือบเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะรัฐสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 วาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภครอคอยมาไม่น้อยกว่า 14 ปีพบรัฐมนตรีไม่น้อยกว่า 8 คน มีการจัดกิจกรรมทั้งสนับสนุนและคัดค้านนับร้อยครั้งทั่วประเทศ แต่ก็ต้องถอนกฎหมายฉบับนี้ออกไปเนื่องจากวิปรัฐบาลมีความเห็นที่แตกต่างกับกรรมาธิการเสียงข้างมากในการกำหนดงบประมาณให้เป็นอิสระโดยกำหนดไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อหัวประชากร เมื่อพิจารณากฎหมายไปได้ถึงมาตรา 8 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ถอนกฎหมายออกจากการพิจารณาของสภา และให้กรรมาธิการไปพิจารณาอีกรอบ สุดท้ายกรรมาธิการเสียงข้างมากก็สนับสนุนให้กำหนด 3 บาทต่อหัวประชากรเงิน 3 บาทต่อหัวประชากร ถึงแม้จะทำให้ผิดหวังที่เห็นคุณค่าของผู้บริโภคน้อยกว่าค่าขนมเด็ก แต่หากมองในแง่ดี ก็ต้องถือว่า ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน ต่างมีหลักประกันด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะหากองค์กรนี้ทำงานได้ไม่ดีเพราะยังไม่เห็นผลงานก็ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากนัก แต่หากทำงานเข้าตากรรมการและไปขัดแข้งขัดขาใคร ถูกหมั่นไส้เพราะเล่นงานบริษัทพรรคพวกของตนเอง ก็ไม่สามารถตัดงบประมาณให้น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวได้ แต่ 14 ปีที่รอคอยเราทุกคนคงอยากเห็นและฝากความหวังกับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้ ที่จะต้องเข้มแข็งทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ทำงานพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เสนอความเห็นและผลักดันมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างเต็มที่ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐอย่างเข้มข้นผู้บริโภคหลายคนอาจจะคิดไม่ค่อยออก ว่าเราต้องมีส่วนช่วยอย่างไร หากมองแบบพุทธก็ต้องบอกว่าทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่มีแต่ข่าวที่ผู้บริโภคเสียเปรียบและต้องยอมจำนน ดังที่บริษัทแม็คอินทอช (Apple) ได้ผลิตไอแพด (I Pad) 2 แต่คนที่ซื้อ I Pad 1 ก่อนสินค้าตัวนี้ออกสู่ตลาด 14 วันจากบริษัทหรือออนไลน์บริษัทจะคืนเงินให้คนละ 3,000 บาท แต่ Ipod studio เมืองไทยอ้างว่า ตัวเองเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายไม่ใช่บริษัทจัดจำหน่ายไม่สามารถคืนเงินให้ คำโฆษณาของบริษัทต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากApple ไม่ถอนการเป็นตัวแทนจำหน่ายของ  Ipod studio เมืองไทย ก็ต้องมีนโยบายของบริษัทแบบเดียวกันในประเทศไทย เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ ขอยุให้ผู้ที่ซื้อในเมืองไทยทุกคนภายใน 14 วันไปฟ้องศาลคดีผู้บริโภค เรื่องนี้ทำง่าย ๆ ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล แถมขอให้ศาลปรับแบบลงโทษได้ถึงห้าเท่า ที่เอาเปรียบผู้บริโภคและไม่รับผิดชอบผู้บริโภคในเมืองไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 ทำไมเรา(โง่) จ่ายอยู่กลุ่มเดียว

เดือนที่ผ่านมาคงได้รับรู้ปัญหาของระบบประกันสังคมกันอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะผู้ประกันตนถือเป็นกลุ่มเดียว(9.4 ล้านคน) ที่ต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลให้กับตนเอง จ่ายเงินแล้วสิทธิประโยชน์ยังน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ ไม่จะเป็นสวัสดิการข้าราชการ หรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ในกรณีผู้ป่วยเรื้อรัง กว่าจะได้ใช้สิทธิผู้ประกันตน ก็ต้องผ่านการพิสูจน์จากสำนักงานว่า เป็นผู้ประกันตนหรือไม่ ทั้งๆ ที่ บางคนจ่ายเงินมาไม่น้อยกว่า 4 ปี ก่อนเก็บเงินก็ไม่เคยถูกถามว่าเป็นผู้ประกันตนหรือไม่ หรือหากจะคลอดบุตรได้ก็ต้องจ่ายสมทบเงินมาไม่น้อยกว่า 7 เดือน ทำให้ผู้หญิงวัยทำงานจำนวนมากไม่สามารถไปฝากท้องได้เพราะไม่มีเงินจ่ายและไม่สามารถใช้สิทธิใด ๆ ได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนระบบประกันสังคมว่าไม่ได้มองว่าเรื่องสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน แต่เป็นสิ่งที่จะต้องจ่ายก่อนถึงจะได้สิทธินั้น ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานต้องยอมรับว่าเมื่อปี 2533 กฎหมายประกันสังคมก้าวหน้ามากในสังคมไทย แต่หากพิจารณาในปัจจุบันที่เรามีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2545 ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ ทำให้ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เงินประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่จ่ายสมทบทั้งลูกจ้างและนายจ้าง หากนำไปจ่ายเพิ่มสิทธิประโยชน์ชราภาพ หรือเป็นเงินออมของผู้ประกันก็น่าจะทำให้ผู้ประกันตนเมื่อสูงวัยพอจะมีคุณภาพชีวิตได้บ้าง ที่สำคัญทุกคนที่เป็นคนไทยมีความเท่าเทียมในการได้รับสวัสดิการขึ้นพื้นฐานจากประเทศ นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพระบบหลักประกันสุขภาพ (60 ล้านคน) ให้สิทธิประโยชน์ของทุกคนเหมือนกัน และสร้างความเข้มแข็งของระบบประกันสังคมในระยะยาว ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้วยของจริง ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริง ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และร่วมกิจกรรมได้ที่ Facebook ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 มาเป็นครอบครัวพิทักษ์สิทธิกันเถอะ

  สังคมไทยเป็นสังคมจำเลย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเห็นจากหลายกรณีที่เกิดขึ้น ที่เราจะต้องมองหาจำเลยว่าใครจะเป็นคนผิด เพื่อให้รู้สึก สบายใจ ว่าหาคนผิดได้หรือไม่งั้น ก็มีความกลัวว่าเราจะต้องไปเกี่ยวข้องด้วยและร่วมรับผิดชอบ เช่น การนำเสนอข่าวฟิล์มกับแอนนี่ หรือเรื่องรถตู้ชนบนโทลล์เวย์ และทุกๆ ปี เราจะเห็นการเสนอข่าวว่า ปีนี้มีคนกลับบ้านและไปเที่ยวต่างจังหวัดมาก เริ่มตั้งแต่รถติดมากจากกรุงเทพฯ ติดไปจนถึงนครสวรรค์ หรือข่าวว่าบริษัทขนส่งหรือการรถไฟจะเพิ่มเที่ยวให้สามารถกลับบ้านกันได้ทั้งหมด เห็นข่าวประเภทนี้กันมาหลายปี ดูซ้ำไปซ้ำมา หากจะโทษการเสนอข่าวก็ง่ายไป เราก็ต้องมีส่วนร่วมในการทำให้ข่าวที่เราดูกันตลอดเวลานั้น มีความน่าสนใจมากขึ้นด้วย ปีนี้ฉลาดซื้อตั้งใจที่จะชักชวนให้ช่วยกันปฏิบัติการนำเสนอข่าวด้วยตัวเอง ด้วยการเป็นสมาชิกครอบครัวพิทักษ์สิทธิ ซึ่งจะขอชักชวนคนไทยทั้งประเทศเข้าร่วมเป็นครอบครัวนี้ ที่จะเป็นเหมือนชุมชนของผู้บริโภคที่แข็งขัน มีพลังในเรื่องที่จะช่วยกันติดตามข่าวสาร หรือรายงานผลเหตุการณ์การละเมิดสิทธิ ราคาสินค้า หรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านสื่อที่รวดเร็วฉับไวภายในเครือข่าย ถือเป็นปฏิบัติการที่เราสร้างเองได้ และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ปีนี้ฉลาดซื้อและทีม มพบ. พร้อมกับครอบครัวพิทักษ์สิทธิ เราจะมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “สานพลัง เท่าทันโลก บริโภคอย่างสร้างสรรค์” ด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 จินตนาการ

ได้มีโอกาสตั้งสอบถามความเห็นเพื่อนฝูงใน Facebook ว่า ช่วยให้ความเห็นต่อการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคยอดเยี่ยมและยอดแย่ของรัฐบาลนี้มาสัก 3 อย่าง มีคนให้ความเห็นแตกต่างกันสะท้อนมุมมองของแต่ละกลุ่มในสังคมตั้งแต่ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค เช่นข้าวของราคาแพงที่กระทบกับผู้บริโภคไม่ว่าจะเรื่องไข่ น้ำตาล มะพร้าว หรือรวมถึงปัญหาการผูกขาดสินค้า ปัญหาไม่ทำตามคำสัญญา(นโยบายของรัฐบาล)ที่บอกว่า ประชาชนต้องมาก่อน แต่เห็นได้จากหลายเรื่องประชาชนออกวิ่งแล้วแต่รัฐบาลยังไม่กล้าเดินแถมกลัวให้เห็นอีก เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ และที่เห็นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศดูเหมือนจะปล่อยให้มีการโกงกันมากมาย ที่ชมรัฐบาลนี้กันมากเห็นจะได้แก่ การผ่านสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการกฎหมายองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคที่ร้องเพลงรอกันมา 13 ปี การชะลอไม่ขึ้นราคาก๊าซเพราะทราบดีว่า ควรแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น การให้คณะทำงานปฏิรูปชุดต่างๆ ทำงานอย่างอิสระ แต่จะรับไปดำเนินการมากน้อยแค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไปนับเป็นผลงานยอดเยี่ยมและยอดแย่ของรัฐบาลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่หากกลับมามองสถานการณ์รวมของผู้บริโภค ก็จะเห็นได้ว่า การใช้สิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นจากการร้องเรียน มีคนเอาจริงเอาจังที่นำของหมดอายุไปคืนห้างพร้อมขอค่ารถ 500 บาท และบอกว่า “ผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ต้องเอาของหมดอายุมาคืน แต่ห้างมีหน้าที่ทำให้ของที่จำหน่ายไม่มีของหมดอายุ” น่าชื่นชมจริง ๆ เพราะหากเราทำกันทุกคนเมืองไทยไม่น่าจะมีของหมดอายุจำหน่ายให้ปวดหัวกันอย่างทุกวันนี้ปีใหม่นี้ขออำนวยพร ให้สมาชิกฉลาดซื้อและผู้อ่านทุกคน เริ่มต้นชีวิตที่งดงาม มีความรัก ความสุขกับการทำงาน ทำหน้าที่ของตนเองในฐานะผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค ที่สำคัญร่วมกันสร้างจินตนาการ และเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้เท่าทันโลก ไม่ฝากความหวังการทำให้สังคมดีไว้กับใครแต่ต้องทำร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 ขายตรงแบบไทย ๆ กับ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น

กรณี ร้องเรียนที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จากปัญหาการขายตรง ที่สำคัญได้แก่ การขายตรงที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ขายตรงหลายชั้น ซึ่งผิดกฎหมาย นอกนั้นมักจะเป็นปัญหาสินค้าที่ได้รับไม่มีคุณภาพ ไม่เหมือนกับที่โฆษณาในทีวี สินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าราคาแพงมากกว่าท้องตลาดทั้งที่ตอนโฆษณาดูเหมือนราคาถูก มีของแถมมากมาย ผู้ บริโภคเรา ๆ ขาดความรู้ว่ามีสิทธิอะไรบ้างจากธุรกิจขายตรง เช่นไม่พอใจสินค้าสามารถคืนเงินได้ภายใน 7 วัน เพราะยังไม่ถือว่าเป็นการซื้อสินค้า ภาระในการส่งคืนสินค้าเป็นของผู้ขาย สุดท้ายเป็นปัญหาการให้บริการลูกค้าหลังการขายทั้งการคืนของ การคืนเงิน การเยียวยาความเสียหายให้กับลูกค้า เช่น หากสั่งซื้อสินค้ามักจะได้รับของภายใน 3 วัน และจ่ายเงินทันที แต่เมื่อคืนสินค้ามีเงื่อนไขคืนเงินล่าช้ายาวนานถึง 45 วันก็ นับเป็นธุรกิจขายตรงแบบไทย ๆ ที่มีปัญหากันมากในปัจจุบัน นอกเหนือจากประสิทธิภาพหรือคุณภาพของสินค้าเทคโนโลยีใหม่ที่ผู้บริโภครู้ได้ ลำบากว่ามีคุณภาพจริงหรือไม่ สินค้าที่มีเรื่องร้องเรียนมาก  เช่น อุปกรณ์ออกกำลังกาย(ไม่แข็งแรง) เครื่องดักหนู(ประสิทธิภาพ) อุปกรณ์ทำความสะอาด การขายตรงประกันภัยทางโทรศัพท์หลัก สำคัญของธุรกิจขายตรงคือ การลดต้นทุนการจัดจำหน่าย เพราะไม่มีร้านค้า แต่ผู้บริโภคก็ไม่มีโอกาสจับต้องสินค้า และในอนาคตการขายตรงจะถูกพัฒนาควบคู่กับระบบเทคโนโลยีมากขึ้นทั้งผ่านระบบ โทรศัพท์มือถือ ที่จะเห็นทั้งข้อความและรูป เรียกว่าขายตรงถึงตัวกันเลยทีเดียว โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดโทรทัศน์ หรือใบแนะนำสินค้าขายตรงสุด ท้ายขอให้กำลังใจประชาชนที่เดือดร้อนประสบปัญหาน้ำท่วมทุกคน บางคนบอกว่า บ้านหายไปกับสายน้ำ  และไม่ไหลกลับ วัด กุฏิแม่ชีหายไปกับสายน้ำเช่นเดียวกัน หลายคนไม่มีบ้านอยู่ บ้านจมน้ำ เรือกสวนไร่นา เสียหายมากมาย จากเหตุน้ำท่วมในหลายจังหวัดของประเทศไทย  ทั้งภาคอีสานและภาคกลาง และกำลังประสบปัญหาในภาคใต้ แต่ได้เห็นน้ำใจงามมากมายกว่าสายน้ำเข้าช่วยเหลือ ท่ามกลางชีวิตทุกชีวิตที่เหลือต้องดำเนินต่อไปฉลาดซื้อและทีมของมูลนิธิ ฯ ทั้งหมด จะย้ายกลับไปทำงาน ณ อาคารสำนักงานเดิม ซอยวัฒนโยธิน ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 (โปรดฟังอีกครั้ง) กฎหมายช่วยเยียวยา ไม่ได้ช่วยฟ้อง

การสนับสนุนของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่อกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย ได้ทำให้กลุ่มแพทย์ที่คัดค้านโกรธและเลือกใช้วิธีฟาดหัวฟาดหาง เช่น การตั้งคำถามต่อผู้พูดว่า เป็นการออกมาพูดเองของผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือเป็นมติของคณะแพทย์รามาธิบดี การพูดส่อเสียด ศาสตราจารย์นายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ การรุมกินโต๊ะนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน (แต่เผอิญเป็นโต๊ะเหล็กเลยปากหักไปตาม ๆ กัน) การข่มขู่จะถอดถอนแพทย์ที่ออกมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์วิชัย นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ส่วนภาคประชาชนก็ได้รับรางวัลไปตามๆ กัน เช่น เอาเงินภาษีมาให้ผู้ผลักดันกฎหมายไปไปบริหารกองทุน มีผลประโยชน์แอบแฝง หรือแบบไม่ตรงไปตรงมา(ทั้งที่มีภาคประชาชน 3 คนจากจำนวนกรรมการ 17 คน และสำนักงานบริหารอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข) เช่น เขียนด่าในเว็บไซต์ โทรศัพท์มาด่าที่บ้าน ขณะออกรายการโทรทัศน์ สนับสนุนกลุ่มประชาชนให้คัดค้านภาคประชาชนกันเอง เขียนป้ายด่าว่า หลอกผู้ติดเชื้อยังไม่พอจะมาหลอกผู้ป่วยต่อ เป็นต้น เรียกว่า ทำทุกวิถีทางทั้งที่ลับและที่แจ้ง นับไล่เรียงตั้งแต่การล็อบบี้นักการเมือง สื่อมวลชน นอกรอบหรือเป็นทางการ การใช้เครือข่ายทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เครือข่ายผู้ป่วยที่เคยดูแลมีบุญคุณกัน น่าเสียดายที่พลังเหล่านี้ หากนำไปใช้ในทางที่ดีคงได้ประโยชน์มหาศาล แต่หากจะแยกแยะกลุ่มคัดค้านคงพอไล่เรียงได้ประมาณนี้ กลุ่มแรกผิดหวังเรื่องค่าตอบแทนที่กระทรวงสาธารณสุขให้เงินเดือนแพทย์ชนบทใกล้เคียงกับรพ.ศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป(ลึกๆ กลุ่มนี้เห็นด้วยกับกฎหมายเพราะเชื่อว่าช่วยหมอไม่ให้ถูกฟ้องแต่ก็มาอยู่ในกลุ่มวงคัดค้านเลยลำบาก) กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มแค้นฝังหุ่นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ว่าอะไรก็คัดค้านหมดเพราะต้องการล้มระบบหลักประกันแถมไม่ชอบ NGO ทั้งจากเรื่องคอรัปชั่นในกระทรวงสาธารณสุขในอดีต หลักประกันสุขภาพ การหลอกลวงกรณี ยา V1 สำหรับผู้ติดเชื้อ กลุ่มที่สามนับว่าใหญ่และมีอิทธิพลมากคือ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่แอบข้างหลังในช่วงแรก และเปิดเผยตัวว่า  ให้ขยายมาตรา 41 (เพราะรพ.เอกชนจะได้ไม่ต้องจ่ายสมทบ) หรือเครือข่ายแพทย์รพ.รัฐที่ปัจจุบันทำนอกเวลารพ.เอกชน หรือแพทย์ที่มีคลินิกเอกชนของตนเอง ซึ่งกลุ่มนี้ขณะนี้เร่งผลักดันความร่วมมือรัฐและเอกชนในการให้เจ้าหน้าที่รัฐไปทำงานในรพ.เอกชนในเวลาราชการ(คิดได้ไง) ที่สรุปได้อย่างนี้เพราะร่างกฎหมายผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขของทีมนี้ เขียนไว้ไม่รวมสถานพยาบาลเอกชน แถมจริงหรือไม่ที่ผู้นำทีมวอคเอ้าท์ในวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา เป็นกรรมแพทยสมาคมที่เป็นเนื้อเดียวกันกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน  รองผู้อำนวยการรพ.บำรุงราษฎร์ หรือนายกสมาคมไทยคลินิกเอกชน นอกเหนือจากกลุ่มแค้นฝังหุ่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 Easy Pass ผ่านทางอัตโนมัติ

ข้อมูลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระบุว่า ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2553 มีผู้ใช้ทางพิเศษสมัครใช้บัตร Easy Pass หรือระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ แล้วกว่า 110,000 บัตร ยังไม่นับรวมปัจจุบันที่เพิ่งจะเปิดให้บริการจำหน่ายบัตรเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา และให้บริการค่อนข้างเต็มรูปแบบโดยเฉพาะระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีทั้งคนบ่นและร้องเรียนแบบเป็นทางการจำนวนไม่น้อย เรื่อง Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ว่า ทำให้รถติดเนื่องจากระบบ Easy Pass มีบริการไม่เพียงพอและล่าช้า ทำให้รถยนต์ส่วนมากยังต้องใช้ช่องจ่ายเงินสดทำให้เป็นปัญหาการจราจรของด่าน ชำระเงินแทบทุกแห่ง รองลงมาเป็นปัญหาเรื่องการเก็บค่ามัดจำบัตร Easy Pass จำนวน 1,000 บาทที่แพงเกินไปไม่สมเหตุผลต้นทุนของบัตร รวมถึงปัญหาเงินสำรองขั้นต่ำในการใช้บัตร Easy Pass ที่ต้องมีมูลค่าสูงถึง 200 บาท ประการสุดท้ายหลังจากมีระบบนี้ การทางพิเศษ ฯ ได้ยกเลิก ระบบคูปอง 45 บาท และ 55 บาท ซึ่งใช้แทนเงินสด ทำให้ผู้ใช้ทางต้องเตรียมเงินสดให้พอดี หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเสียเวลารอเงินทอน ทำให้ใช้เวลาหรือล่าช้าเพิ่มขึ้น ซึ่งแทนที่จะค่อย ๆ เลิกใช้ระบบคูปองหลังจากที่รถจำนวนมากติดตั้งระบบอัตโนมัติแล้ว หรือสามารถมีอุปกรณ์บริการประชาชนได้อย่างเพียงพอและรวดเร็ว หลายคนเปรียบเทียบบัตร Easy Pass กับบัตรรถโดยสารไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน ว่าน่าจะใช้ระบบแม่เหล็กในการอ่านบัตรแบบเดียวกัน ขณะที่บัตรรถไฟฟ้ามีค่ามัดจำบัตรเพียง 30 บาท แต่ บัตร Easy Pass สำหรับติดหน้ากระจกรถราคา 1,000 บาท และบัตรเติมเงิน (Smart pass) มีราคาขั้นต่ำ 200 บาท ก็นับว่าเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคอยู่ดี ขอ ให้คณะกรรมการและผู้ว่าการทางพิเศษ ฯ ปรับปรุงปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นและโปรดให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นลูกค้าชั้นดีโดยไม่ต้องร้องขอ หรือลุกขึ้นมาฟ้องร้อง หรือเห็นว่าขณะนี้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกเพราะโทลเวย์ก็ราคามหาโหด คนประท้วงไม่ขึ้น จะทำอย่างไรก็ได้ หนีเสือปะจระเข้จริง ๆ ขออนุญาตแนะนำให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รู้จัก พ.ท. ทวีสิน รักกตัญญู ที่เป็นผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งจราจรในฐานะประธานกรรมการการทางพิเศษ ฯ และคณะกรรมการ ทั้งหมด ได้แก่ นายวินัย วิทวัสการเวช, นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์, น.ส. วลัยรัตน์ ศรีอรุณ, นายภูมิใจ อัตตะนันทน์, พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย, นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์, นายอรรถพล ใหญ่สว่าง, นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา, พล.ต.ต จักรทิพย์ ชัยจินดา และพ.ท. ทวีสิน รักกตัญญู ฉลาดซื้อขอร่วมแสดงคดีความยินดีกับผู้ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยใช้พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจำนวน 169 รายในปี รอบ 2 ปี ของการทดสอบการใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองตนเอง และเพื่อให้ผู้ที่กังวลว่ามีการฟ้องร้องแพทย์มาก ก็อยากให้สบายใจ ว่า เฉพาะของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีคดีฟ้องร้องโรงพยาบาลเพียง 6 รายเท่านั้น จาก 169 ราย

อ่านเพิ่มเติม >