ฉบับที่ 165 บทบรรณาธิการ

สปช. เดินหน้าแล้ว...ทวงสิทธิจัดตั้ง กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เราจะเดินให้สุดทางเพื่อเป็นผลงานฝากไว้กับประชาชน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 การพัฒนาที่ต้องทบทวน

ไปประเทศอังกฤษเที่ยวนี้ เช่นเคยไม่พ้นภารกิจประชุมกรรมการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers  International) ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรผู้บริโภค 250 องค์กรใน 115 ประเทศทั่วโลก เป็นการประชุมวางแผนงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์กรอีก 5 ปี ว่าจะมีบทบาทอย่างไรในทศวรรษที่ 21 การประชุมครั้งนี้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า จะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาหลายมาตรฐานของบริษัทข้ามชาติได้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การปฏิบัติของธนาคารที่มีสาขาทั่วโลกแต่คุ้มครองผู้บริโภคแตกต่างกัน หรือบริษัทอาหารไม่ยอมทำฉลากที่เข้าใจง่ายโดยใช้สีสัญญาณไฟจราจรในประเทศเยอรมนี ประเทศไทย และอีกหลายประเทศ แต่ทำเต็มที่ในประเทศอังกฤษ หรือมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ในยุโรปที่เข้มงวดกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ยังผจญกับปัญหาความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ปัญหาชีวิตที่ไม่เท่ากันของผู้บริโภค ท้าทายองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก ว่าจะปรับตัวทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไรให้มีพลัง การประกาศเพียงอย่างเดียวว่า เราจะให้มี One Ban All Ban Policy ในประเทศอาเซียนหรือทั่วโลกไม่มีความหมายหากทำไม่ได้จริง พลังของผู้บริโภคจะช่วยสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร นอกจากเรื่องใหญ่ ยังได้เจอสิ่งเล็กแต่เป็นเรื่องใหญ่ของผู้บริโภคทุกคน เพราะเกี่ยวข้องกับกระเป๋าผู้บริโภค คือปัญหาความไม่เป็นธรรมเรื่องราคาสินค้า เช่น ขนมปังปอนด์ขนาดใหญ่น้ำหนักมากกว่าบ้านเรา 2 ปอนด์ ราคาเพียง 50 บาท กาแฟที่ราคาพอๆ กับบ้านเรา กางเกงชั้นในผ้าฝ้ายอย่างดีที่บ้านเรา ราคาเกือบ 80 บาท  แต่ที่โน่นราคาเพียง 50 บาท ซึ่งสอดคล้องกับการทดสอบขององค์กรผู้บริโภคในเบลเยี่ยมที่พบว่า คนบราซิลต้องซื้อรถที่ผลิตในประเทศราคาแพง และคุณภาพแย่กว่ารถของตนเองที่ขายในยุโรป ทำให้คิดถึงรถญี่ปุ่นทุกยี่ห้อที่เราผลิตในประเทศไทย ว่าทั้งคุณภาพและราคารถเป็นแบบเดียวกันกับบราซิลหรือไม่ หรือที่พูดกันอย่างกว้างขวางและรณรงค์กันมากแต่ยังไม่เปลี่ยนแปลง คือเรื่องราคาน้ำมัน ที่เราใช้น้ำมันราคาสิงคโปร์บวก แต่ส่งออกในราคาสิงคโปร์ลบ  หรือเรามีต้นทุนเทียมอยู่ในราคาน้ำมันและสินค้าจำนวนมากในปัจจุบัน ในเมืองใหญ่ๆ ยังได้เห็นถนนที่มีเพียงสองเล็นเล็กๆ มีรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการตรงเวลา ฟุตบาทกว้างให้เดิน ทางจักรยาน และต้นไม้ เราคงไม่ต้องฝัน ถ้าอยากเห็นในกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ เห็นทีจะต้องช่วยกันคิดและทำร่วมกันทำ ก่อนมีถนนสี่เลนเต็มทั่วประเทศ ข้ามถนนต้องใช้สะพานลอยกันทุกจังหวัด ใกล้ปีใหม่ ฉลาดซื้อก็ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง สมาชิกและคนอ่าน แฟนฉลาดซื้อต้องการให้เราปรับตัวอย่างไร ช่วยกันแจ้งเข้ามา เพราะสังคม ประเทศ โลกเปลี่ยนทุกวัน แต่เราเปลี่ยนไปเพื่ออะไร ช่วยกันหาความหมายและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงิน

องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทำท่าจะเป็นหมันเมื่อเจอกฎเหล็กของคสช. ที่มีต่อสนช. ว่า กฎหมายที่สนช. มีสิทธิในการพิจารณาจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน หากย้อนไปพิจารณากฎหมาย 43 ฉบับที่ค้างท่อรอพิจารณา ซึ่งไม่มีร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผ้บริโภค และทั้ง 43 ฉบับก็เกี่ยวข้องกับการเงินทั้งนั้น แต่สนช. บางคนก็ให้ข้อมูลว่า การเงินที่พูดถึงเป็นการเงินที่กำหนดไว้ในกฎหมายปกติ แต่ไม่ใช่การเงินที่เป็นอิสระ เป็นกองทุน ที่รัฐสภาไม่มีอำนาจในการอนุมัติวงเงิน ต้องจ่ายโดยไม่มีอำนาจใดๆ เป็นอิสระคล้ายๆ กับองค์การอิสระทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือไทยพีบีเอส ฟังดูแล้วเหมือนกับองค์การอิสระจะมีงบประมาณระดับพันล้านหรือหมื่นล้านบาทในการทำงาน แต่การกันเงิน 3 บาทต่อหัวประชากร ที่ถูกกำหนดไว้ในองค์การอิสระ หากคิดเป็นงบประมาณ ประมาณ  190 ล้านบาทต่อปี(บางคนบอกว่าน้อยกว่ามูลค่าห้องน้ำในรัฐสภาแห่งใหม่) การกันเงินเป็นเพียงหลักการเรื่องความอิสระขององค์กรนี้ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค และมีหลักประกันให้กับองค์กรว่า สามารถทำงานได้ไม่ว่ารัฐบาลจะชอบหรือไม่ชอบองค์กรนี้ ใดยต้องให้เงินองค์กรเพื่อผู้บริโภคนี้ขั้นต่ำ 190 ล้านบาทซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเงิน 2.4 แสนล้านที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน หรือหากเทียบกับเม็ดเงินของกสทช. ที่วางแผนแจกกล่องดิจิตอลในตอนแรก 25,000 ล้านบาท   เรื่องการเงินเป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งแต่อุปสรรคที่สำคัญกว่า คงเป็นปัญหาจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่ไม่ยอมเสนอกฎหมายฉบับนี้ แถมให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษว่า กฎหมายฉบับนี้ซ้ำซ้อนกับสคบ. 80% หากเป็นจริงคงไม่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 และ 2550 เพราะองค์การนี้ทำหน้าที่ให้ความเห็นหรือเสนอนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาฟ้องคดี และตรวจสอบการทำงานของสคบ. ว่าสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร หากจะซ้ำซ้อนก็คงมีเพียงการสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้กับผู้บริโภค ซึ่งยิ่งทำกันมากยิ่งเกิดประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภค การปฏิรูปครั้งนี้จะไม่ถึงฝั่ง หากไม่มีการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มเครื่องมือให้กับประชาชน ต้องจัดทำกฎหมายที่ให้อำนาจประชาชน ดำเนินการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่างเฝ้ารอมามากกว่า  16 ปี ประเทศนี้ไม่ได้ขาดแคลนเงิน แต่ขาดคนที่มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการแก้ปัญหาประเทศมากกว่าอำนาจของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ขยายเวลาบริการคลื่น 1800 ผลประโยชน์ตกเอกชน

การต่ออายุมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว กรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ของ บริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (บริษัท ทรู มูฟ จำกัด)และ บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (GSM1800) รอบสองโดยคสช. ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ ขณะที่ผู้บริโภคอาจเจอปัญหาคุณภาพบริการ แถมรัฐต้องควักเนื้อเพิ่มให้แก่ การสื่อสารแห่งประเทศไทย(CAT) ที่ขาดทุน ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้ เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ล่าช้าของกสทช. ทำให้ไม่สามารถประมูลคลื่น 1800 MHz ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด จนต้องออกประกาศขยายเวลาให้บริการ 1 ปี แต่ดูท่าว่าจะไม่แล้วเสร็จอยู่ดี จึงทำให้ไม่สามารถประมูลคลื่นได้ทันอีกคำรบ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 8,600 ล้านบาท(ต่อปี) มาจากรายได้ที่ บริษัททรูฯ เคยจ่ายให้กับ CAT ในปี 2554 โดยบริษัททรูฯ ได้รายงานการเงินของปี 2556 ว่า ขาดทุนและยังไม่มีการจ่ายเงินใด ๆ หลังออกประกาศขยายการให้บริการมาเกือบครบหนึ่งปีในวันที่ 15 กันยายนนี้ และหากคสช. ขยายไปอีก 1 ปีเป็นสองปีโดยไม่แก้ไขประกาศฉบับนี้ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 17,200 ล้านบาท ยังไม่นับว่าหากนำคลื่นนี้ประมูลได้ทันย่อมได้ประโยชน์อีกมาก ลองคิดดู เงินก้อนใหญ่นี้สามารถซื้อรถเมล์แอร์ในกรุงเทพฯ แบบชานต่ำสำหรับทุกคนได้เลย รวมถึงขยายไปซื้อรถเมล์ทั่วประเทศได้มากถึง 3,500 คัน ยังไม่นับรวมความเสียหายที่ไม่อาจนับเป็นมูลค่าได้ คือ ในความคิดของกสทช.บางท่านที่ได้เสนอทางออกปัญหา กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ โดยเขียนว่าประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องค่าตอบแทนของกสทช. รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ว่า มาจากภาษีประชาชน ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นการหักมาจากเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ(ต่างหาก) ทว่าค่าธรรมเนียมย่อมเป็นรายได้ประเภทหนึ่งที่ควรเป็นของรัฐมิใช่หรือ เพียงแต่กฎหมายเขียนให้ กสทช.ได้ใช้เงินก้อนนี้  ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากภาษีประเภทหนึ่ง และแน่นอนย่อมไม่ใช่เงินของผู้ประกอบการหรือผู้ถือหุ้นอย่างแน่นอน หรือหากคิดไปก็เป็นเงินของผู้บริโภคที่หยอดกระปุกจ่ายค่าโทรศัพท์กันนั่นเอง หรือกสทช.บางท่าน ช่วงชิงเสนอแก้ไขกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 เพื่อยกเลิกการประมูลคลื่น ทั้งๆ ที่การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วยการประมูลเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับระดับสากลว่า จะเป็นหลักประกันว่า คลื่นความถี่จะถูกจัดสรรไปอยู่ในมือของผู้ที่มีศักยภาพในการใช้ทรัพยากรของชาติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด ช่วยจำกัดการใช้ดุลพินิจในการจัดสรรคลื่นความถี่ ลดความเสี่ยงของการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง งานนี้ ท่าทางคนเสนอยังฝันร้ายกลัวความผิดที่รอการเช็คบิลจากปปช. ของผู้ออกแบบการประมูล กรณีการประมูลคลื่น 3 G ที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันและเป็นปัญหาการฮั้วประมูลหรือเปล่า??   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 คูปองต้องไม่เกิน 690 บาท

หลายคนเข้าใจผิดว่า องค์กรผู้บริโภคเพี้ยนหรือหรือเปล่า ทำไมต้องค้าน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.). ที่เพิ่มมูลค่าคูปองดิจิตอลจาก 690 บาท  เป็น 1,000 บาท เพราะผู้บริโภคน่าจะเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากมูลค่าคูปองที่เพิ่มขึ้น ต้องบอกว่า นอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ผู้บริโภค ยังเสียประโยชน์ และมีภาระต่อกระเป๋าสตังค์ของตัวเองจากราคากล่องที่ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นในท้องตลาด ข้อเท็จจริงต้นทุนราคากล่องรับสัญญาณไม่ถึง 500 บาท จากข้อมูลล่าสุดของบริษัทอาร์เอส ในการขอรับการเยียวยาจากกสทช.ในกรณีถ่ายทอดฟุตบอลโลก มีต้นทุนเพียง 475 บาทเท่านั้น สอดคล้องกับการศึกษาขององค์กรผู้บริโภคที่พบต้นทุนเพียง 403 บาท ผลต่างที่มากว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้สินค้าในท้องตลาดสูงเกินจริงเป็นภาระแก่ผู้บริโภค และเกิดกำไรจำนวนมหาศาลขึ้น ทำให้ดึงดูดบรรดาพ่อค้าหัวใสทั้งหลายให้เข้ามาแสวงหาประโยชน์ ใช้เทคนิคการขายเพื่อสำรวจความต้องการคูปองล่วงหน้า บางรายแถมเก็บสำเนาบัตรประชาชนผู้บริโภคไปด้วย มีการตั้งบริษัทใหม่ ๆ ขึ้นมาดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกสทช. ที่สำคัญไปมากกว่านั้น การมีมูลค่าคูปอง 1,000 บาท ทำให้ต้องใช้เงินมากถึง 25,000 ล้านบาท ซึ่งกรณีเช่นนี้ ไม่ต่างจากโครงการจำนำข้าว เพราะเมื่อราคาคูปองแพงขึ้น แทนที่ผู้บริโภค จะได้เงินทอน กลับกลายเป็นทำให้ราคากล่องในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้น แถมผู้บริโภคยังต้องรับภาระในการจ่ายเงินเพิ่มเติมการแจกคูปองครั้งนี้ และทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 10,000 ล้านบาท   เงิน 10,000 ล้านบาท สามารถให้นักศึกษากู้ยืมเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 800,000 ราย  หรือทำโครงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้มากกว่า 13 ปีเพราะใช้เงินเพียงปีละ 950 ล้านบาทเท่านั้น สามารถทำกิจกรรมสาธารณะอีกได้มากมาย หรือแม้แต่เป็นกองทุนในการทำทีวีดิจิตอลเพื่อบริการสาธารณะ ได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่สำคัญ สิ่งที่ผู้บริโภคอย่าเงราต้องรู้ คือ ใครที่ดูโทรทัศน์ในปัจจุบันผ่านระบบดาวเทียม ผ่านระบบเคเบิ้ลทีวีที่บอกรับสมาชิก เป็นระบบดิจจิตอลอยู่แล้ว อาจจะต้องดำเนินการเพียง การปรับหรือรีเซ็ตใหม่เท่านั้นเอง มีเพียงู้บริโภคที่รับชมโทรทัศฯ ผ่านระบบเสาอากาศที่จะต้องการกล่องเพื่อแปลงสัญญณจากระบบดิจิตอลไปเป็นระบบอนาล็อก รวมทั้งการทำเรื่องนี้ จะค่อยเปลี่ยนผ่านในระยะเวลา 3-4 ปี และกระจายไปในจังหวัดต่าง ๆ โดยในปัจจุบันมีการออกอากาศเพียงกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา เชียงใหม่ และสงขลาเท่านั้น จังหวัดอื่นๆ ถึงแม้จะมีกล่องก็ไม่สามารถดูได้เพรายังไม่มีโครงข่ายไปทั่วถึง รวมทั้งใครที่ผู้นำชุมชนให้นำสำเนาบัตรไปแลกกล่องจะได้เท่าทัน   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 ปีนัง มาเลเซีย... “เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” กระบอกเสียงของผู้บริโภคคนเล็กคนน้อย

ปี พ.ศ. 2513 เกิดองค์กรผู้บริโภคในเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย คือ Consumer Association of Penang(CAP) โดยยึดหลักการในการให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมของผู้บริโภค(value for people)  มากกว่าทางเลือกของผู้บริโภค และได้ทำหนังสือพิมพ์สำหรับผู้บริโภคถึง 4 ภาษาชื่อว่า Utusan Konsumer มียอดจำหน่ายในอดีตไม่น้อยกว่า 100,000 เล่ม CAP ให้ความสำคัญกับการเป็นกระบอกเสียงของคนเล็กคนน้อย นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าไปแล้ว CAP เป็นภาพฝันของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย เพราะงานสร้างความตื่นตัวผู้บริโภคในโรงเรียนเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งคำถามสำคัญว่า “เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” CAP มีรูปแบบการสาธิตที่น่าสนใจ เข้าใจง่าย บอกชื่อยี่ห้อสินค้าว่ามีปริมาณน้ำตาลเท่าใด ตั้งแต่หนึ่งช้อนชาถึงสิบสี่ช้อนชา   CAP มีภารกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะความสำเร็จในการสร้างความตื่นตัวของชุมชนในการปกป้องสิทธิของตนเอง การต่อสู้เพื่อราคาสินค้าที่ยุติธรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี แต่ภารกิจหลักขององค์กร คือ การดูแลสิทธิของผู้บริโภคในทุกความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพอนามัย บริการขนส่งสาธารณะ การศึกษา และสภาพแวดล้อมที่สะอาด CAP มีกิจกรรมสำคัญหลายประการ อาทิ การทำงานกับสื่อมวลชน งานวิจัยในประเด็นเฉพาะ เช่น สุขภาพและโภชนาการ อาหารและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ยา ความต้องการขั้นพื้นฐาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาจากบริการสุขภาพ สินค้าทั่วไป การเงิน สิทธิ แรงงาน การโฆษณาที่ผิดจรรยาบรรณ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเพศหญิงและยังทำงานร่วมชุมชนในชนบท เช่น กลุ่มแรงงาน ชาวสวน ชาวประมง ชุมชนแออัด เพื่อช่วยให้ชุมชนเข้าใจปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา นอกจากนี้ยังให้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในหลายประเด็น เช่น อาหาร โภชนาการและสุขภาพ โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทั้งกลุ่มนักศึกษา ครู ผู้หญิงและกลุ่มเยาวชน รวมทั้งองค์กรทางศาสนา โดยจัดการสัมมนา อบรม และจัดนิทรรศการ รวมทั้งแข่งขันเล่นละครในเรื่องที่ผู้บริโภคสนใจ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนในโรงเรียนอย่างมาก และยังวางนโยบายในการตั้งชมรมผู้บริโภคในโรงเรียนกว่า 200 แห่ง ทั้งในปีนังและรัฐอื่นๆ ส่วนการรับเรื่องร้องเรียน ก็จัดการกับข้อร้องเรียนจากประชาชนในทุกปัญหา เช่น สินค้าและบริการที่มีคุณภาพไม่ดี สารเคมีเจือปนในอาหาร โดยแต่ละปีมีข้อร้องเรียนประมาณ 3,000-4,000 กรณี ในส่วนกฎหมาย ก็จัดการกรณีที่ประชาชนและชุมชนต้องการความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยทำงาน อย่างใกล้ชิดทั้งการรับเรื่องร้องเรียน และให้คำปรึกษาทางกฎหมายต่อผู้บริโภค และตรวจสอบกฎหมายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค บทเรียนการทำงานขององค์กรผู้บริโภค น่าจะทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของกลุ่มผู้บริโภคในอาเซียนในอนาคต //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 ต้องลงมือทำ ถึงจะปฏิรูปได้จริง

ถึงแม้กสทช. จะแจกคูปองที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 690 บาท เป็น 1,000 บาท เราทุกคนควรจะดีใจ แต่กรณีนี้ต้องบอกว่า ดีใจไม่ได้เพราะนั่นหมายความว่า เราช่วยสนับสนุนให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เพราะคูปองราคาใบละ 1,000 บาท หากแจกให้กับครอบครัวจำนวน 22 ล้านครัวเรือน เราจะใช้งบประมาณสูงถึง 22,000 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนกล่องรับสัญญาณที่มีกำไร มีราคาเพียง 512 ล้านบาท(16 เหรียญสหรัฐ) การต่อรองราคากล่องจากจำนวน 22 ล้านครัวเรือน ย่อมมีอิทธิพลพอที่จะทำให้ราคาลดลงไปได้มากกว่า 500 บาทแน่นอน นั่นหมายความว่าหากคูปอง 1,000 บาทเดินหน้า ประเทศจะสูญเสียเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากข้อมูลการสำรวจราคากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลของนิตยสารฉลาดซื้อ เมื่อ 15 วันที่ผ่านมา พบว่า มีการจำหน่ายกล่องในราคาต่ำสุด 690 บาท แต่ผลการสำรวจครั้งที่สองเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาพบว่า ราคากล่องตั้งต้นที่ 1,290 บาท ไม่มีกล่องราคา690 บาทจำหน่ายในท้องตลาดสะท้อนปัญหาการขึ้นราคาคูปองกลับสร้างภาระให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ต่ำสุดก็พอ ๆ กับค่าแรงขั้นต่ำ   ยังไม่นับรวม การใช้เงินสูงถึง 22,000 ล้านบาท ครั้งนี้ ขัดต่อประกาศของตนเอง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ข้อ 10.2 ที่กำหนดให้กสทช. สามารถใช้เงินจากเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของราคาตั้งต้น จำนวน15,190 ล้านบาท การที่กสท. มีมติให้คูปองสามารถแลกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมได้ด้วย แต่กล่องดาวเทียมสามารถดูทีวีดิจิตอลได้เพียง 36 ช่อง ทั้ง ๆ ที่มีแผนดำเนินการจำนวน 48 ช่อง ซึ่งอาจจะขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ที่สำคัญย่อมสร้างภาระให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพราะหากนำคูปองไปแลกซื้อกล่องดาวเทียม หากต้องการดูทีวีชุมชน ทำให้ต้องซื้อกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดิน ( Set Top Box ) อีกครั้ง หรือซื้อทีวีที่รองรับระบบดิจิตอล จึงเป็นภาระแก่ผู้บริโภคอย่างมาก อีกหนึ่งรูปธรรมความล้มเหลวของการทำงานในสายตาผู้บริโภค คงไม่พ้นขั้นตอนการดำเนินงานที่ผิดพลาด การโหมแรงโฆษณาของทุกสถานีในปัจจุบัน ทำให้เกิดความต้องการของผู้บริโภคในการรับชมทีวีในระบบดิจิตอล ผู้ประกอบการกล่องย่อมมีโอกาสขายกล่องได้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนที่ทุกคนจะได้รับกล่องฟรี การปฏิรูปที่คนจำนวนมากต้องการเห็น หรือแม้แต่ปัญหาคอรัปชั่นที่ทุกส่วนให้ความสำคัญ นำเสนอกันมากมายว่าทำอย่างไรจะจัดการให้หมดไปจากสังคมไทย เป็นเพียง ลมปาก ความฝันของคนบางส่วนเท่านั้นเองหรือ ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ บรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันกลับเป็นโอกาสให้ทำเรื่องเหล่านี้ได้อย่างเงียบกริบ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 องค์กรผู้บริโภคจับมือบริษัททรู ป้องกันปัญหาล้มละลายจากค่าโทรศัพท์

วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” World Consumer Rights Dayโดยปีนี้สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 220 องค์กร ใน 115  ประเทศทั่วโลก โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นสมาชิกประเภทสามัญในประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญการคุ้มครองผู้บริโภคในด้าน  “สิทธิผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” (Consumer Rights In the Digital Age: Fix our Phone Rights ) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัททรู ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ในการป้องกันปัญหาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศ (International Roaming) สาระสำคัญของการลงนาม คือ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด จะกำหนดให้มีวงเงิน(credit limit) เพื่อใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยลูกค้าสามารถร้องขอไปยังผู้ประกอบการเพื่อปรับลด หรือเพิ่มวงเงินได้ โดยหากเป็นการขอปรับเพิ่ม บริษัทฯ สามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทฯ จะมีช่องทางการแจ้งเตือน เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายที่ใกล้ครบวงเงินที่กำหนด มีการระงับบริการทันทีเมื่อบริษัทฯ ทราบว่าผู้บริโภคใช้งานครบวงเงินและ/หรือเกินกำหนดวงเงิน อีกทั้งผู้บริโภคสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์ฟรีติดต่อบริษัทฯ เพื่อแจ้งว่าต้องการใช้บริการต่อหรือไม่ รวมทั้งสามารถเลือกระงับการใช้บริการเสียงและข้อมูล(Voice and Data) พร้อมกัน หรือเลือกระงับเฉพาะบริการข้อมูล(Data) ต่างหากได้ ปัญหาผู้บริโภคที่มีการเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เป็นกรณีเปิดใช้บริการโรมมิ่งในประเทศซาอุดิอาระเบีย 14 วัน ของบริษัทดีแทค มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 1.3  ล้านบาท ทั้งที่มีการกำหนดวงเงินค่าบริการ(credit  limit) จำนวน 7,000 บาท แต่การจำกัดวงเงินดังกล่าวบริษัทเขียนไว้ในใบแจ้งหนี้ ว่าไม่รวมถึงบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยปัญหานี้เบื้องต้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ กสทช. โดยผู้ร้องต้องชำระค่าบริการจำนวน 500,000 บาท ผ่อนจำนวน 125  เดือนๆ ละ  4,000 บาท ผู้ร้องเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องเรียนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึงบริษัทเพื่อขอยกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หลังจากการจัดงานในการทำเอ็มโอยูไปไม่กี่วัน ผู้บริโภครายนี้ก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทให้จ่ายเงินจำนวน 48,000  บาท ถึงแม้อาจจะยังดูเป็นเงินจำนวนมากสำหรับค่าบริการโทรศัพท์ แต่กรณีนี้ผู้บริโภคแจ้งความจำนงขอจ่ายจำนวน 40,000 บาทตั้งแต่เบื้องต้นตอนร้องเรียน หวังว่า ต่อจากนี้ไป คงไม่มีใครต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เกินกว่าที่กำหนดวงเงินไว้ ผู้บริโภคต้องเลือกใช้บริการของบริษัทที่ยอมให้มีการกำหนดวงเงิน ยุติบริการเมื่อครบวงเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ล้มละลายจากค่าบริการโทรศัพท์   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 หรี่เสียงโฆษณา

เริ่มมีคนบ่นให้ได้ยินหนาหูมากขึ้น ว่าทีวีปัจจุบันตอนรายการข่าว หรือแม้แต่ละคร เสียงเบาเหมือนเสียงกระซิบ บางครั้งไม่ได้ยินจนต้องเพิ่มระดับเสียง แต่พอช่วงโฆษณาสินค้าเสียงดังมากจนผิดปกติ เสียงแหลมมากทันทีจนต้องหรี่เสียง คนที่บ่นบางคนก็บอกว่า เอ๊ะหรือเป็นเพราะแก่หูเลยไม่ค่อยดี แต่ถ้าไม่ดีก็ต้องไม่ได้ยินเลย แต่ตอนโฆษณาเสียงแสบแก้วหูมาก ได้เสนอให้คนบ่นร้องเรียนไปยัง กสทช. พยายามคิดถึงกติกาเรื่องนี้ในเมืองไทย ยังนึกไม่ออกว่าเรื่องนี้จะสามารถจัดการหรือแก้ปัญหาด้วยกฎหมายฉบับไหนในปัจจุบัน และกสทช.จะทำอะไรได้บ้าง เมื่อสามปีที่แล้วมีปัญหาแบบเดียวกันนี้ในประเทศฝรั่งเศส และรัฐบาลได้ออกกติกา ให้หน่วยงานสามารถเข้าไปติดตามเรื่องร้องเรียน “ความรู้สึกของผู้บริโภคเกี่ยวกับเสียงดังเกินปกติของโฆษณาในโทรทัศน์” เพราะในทางเทคนิคที่เมืองไทยกำลังจะก้าวเข้าไปสู้ดิจิตอล การบีบอัดเสียง การเพิ่มเสียงทำได้ทุกขั้นตอน ดังนั้นเรื่องที่กำลังบ่นเป็นเรื่องเรื่องจริง ไม่ใช่จินตนาการ และจะมีปัญหาอีกมากกับโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งเรื่องเดียวกันนี้ในประเทศอังกฤษมีกติกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ที่เขียนกำหนดไว้ว่า “เสียงของการโฆษณาจะต้องไม่เสียงดังหรือเสียงแหลม” โดยมีหลักเกณฑ์ว่า “เสียงที่ดังที่สุดของโฆษณาจะต้องอยู่ในระดับเดียวกับรายการและอุปกรณ์ในการดู”   โดยรัฐบาลอังกฤษมีอำนาจลงไปสอบสวนเรื่องร้องเรียน เช่นกรณีล่าสุดเป็นเรื่องร้องเรียนรายการภาพยนต์เชอร์ล็อคโฮล์มของช่อง ITV3 สำนักงานมาตรฐานการโฆษณา Advertisement Standards Authority (ASA)  ได้มีคำวินิจฉัยว่า การโฆษณาจำนวน 8 ชิ้นมีเสียงดังผิดปกติขัดต่อหลักเกณฑ์เรื่องนี้ในรายการภาพยนต์เชอร์ล็อคโฮล์มของช่อง ITV3 โดยที่สถานีโทรทัศน์ ITV3 ได้โต้แย้งว่า หนังเรื่องเชอร์ล็อคโฮล์ม ส่วนใหญ่จะมีฉากที่เสียงเบา เงียบๆ แต่เมื่อมีบทพูดที่ถกเถียง หรือตะโกนของนักแสดง เสียงดังของโฆษณาในรายการ เท่ากับเสียงของภาพยนต์ตอนที่นักแสดงตะโกน แต่สำนักงานฯ ยืนยันว่าเสียงดังที่สุดของโฆษณาในความหมายนี้ “ต้องอยู่ในระดับเดียวกับรายการและอุปกรณ์ในการดู” ไม่รู้ว่าเรื่องร้องเรียนในเมืองไทยจะจบอย่างไร อาจจะต้องใช้วิธีการแบบชมรมหรี่เสียงบนรถไฟฟ้า แต่หากเราเผลอๆ บนรถไฟฟ้าดูจะกลับมาสียงดังอีกรอบ หรือหวังว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่จินตนาการกันไปเองของผู้บริโภค แต่กสทช.ควรจะต้องมีกติกา และมีอำนาจในการติดตามและจัดการเหมือนในประเทศอังกฤษเขาทำกัน พร้อมๆ กับในอนุญาตไม่งั้นจะต้องตามแก้ปัญหากันภายหลังท่าทางน่าจะวุ่นวาย  หรือฉลาดซื้อจะลองอาสาไปทดสอบดูได้ผลอย่างไรจะกลับมาเล่ากันให้ฟัง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ป่วยฉุกเฉิน รักษาได้ทุกโรงพยาบาล ?

ก่อนจะปิดต้นฉบับนี้ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดช่องว่างให้ทุกฝ่ายหายใจ ว่า สามารถเลื่อนเลือกตั้งได้ ถึงแม้เราจะมีความเห็นที่แตกต่างในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฝ่ายหนึ่งยืนยันจะเดินหน้าเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายก็ต้องการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ฉลาดซื้อในฐานะเป็นเครื่องมือของสังคมในการคุ้มครองผู้บริโภค ใคร่ขอให้ยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากที่เราไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลแพ่งกรณีจอดำของฟุตบอลยูโร แต่เราก็ต้องยอมรับคำพิพากษา เราขอให้ทุกฝ่ายเจรจา เพื่อหาทางออก และขอให้รัฐบาลคุยกับประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเลื่อนการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง เพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการปะทะของทั้งสองฝ่าย เรามีสิทธิเรียกร้องรัฐบาลถึงแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ และเชื่อว่าคนที่ต้องการแบบนี้ไม่ใช่ไม่รักประชาธิปไตยหรือไม่ต้องการการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง และภาวนาอย่าให้มีการประทะกันของประชาชนผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่าย อย่าให้การเลือกตั้งในประเทศเต็มไปด้วยเลือดของคนไทย ส่วนการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำที่สำคัญด้านสุขภาพคือการทำให้ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพ และให้มีสุขภาพมาตรฐานเดียวในการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนเส้นทางยังอีกยาวไกล...   แต่ผลพวงของการยกเลิกข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยสิทธิการเข้ารับบริการจากสถานบริการอื่นกรณีที่มีเหตุสมควร อุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของผู้ป่วยบัตรทอง และหันมาใช้ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิขอรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ.2555 ของประชาชนทุกสิทธิ ภายใต้นโยบายป่วยฉุกเฉินไปที่ไหนก็ได้ที่ต้องการให้ใช้บริการฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ผู้บริโภคได้ถูกโรงพยาบาลเอกชนล้วงกระเป๋าไปจากกรณีฉุกเฉินจำนวนไม่น้อย หลายคนใช้บริการฉุกเฉินแล้วผูกพันค่ารักษานับล้านบาท ได้ทำให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยจากทุกระบบ โดยเฉพาะผู้ประกันตนซึ่งโดยปกติแล้วสามารถรักษากรณีฉุกเฉินในทุกโรงพยาบาล(อยู่แล้ว)ได้นานถึง72 ชั่วโมง และต้องแจ้งโรงพยาบาลคู่สัญญาให้ทราบว่าจะจัดการรักษาพยาบาลต่ออย่างไรกลายเป็นสิทธินี้หายไปเพราะฉุกเฉินถูกตีความโดยโรงพยาบาลทั้งที่ก่อนหน้าที่เป็นสิทธิของผู้ประกันตน และก็เช่นเดียวกันกับบัตรทอง ที่ถูกยกเลิกกรณีเหตุอันควร และการตีความฉุกเฉินที่คำนึงถึงการรับรู้ของผู้ป่วยที่มีต่ออาการป่วยด้วย หรือข้าราชการที่รักษาที่ไหนก็ได้ในโรงพยาบาลรัฐกลายเป็นว่าต้องเสียเงินหากไปโรงพยาบาลเอกชนเพราะไม่เข้าข่ายฉุกเฉิน ภาพปัญหาข้อเท็จจริงที่สะท้อน การถูกเรียกเก็บตังค์จากระบบฉุกเฉินคงต้องถึงเวลาทบทวน เพราะไม่งั้นอย่างไรเห็นทีจะเจอปัญหาหมดเนื้อหมดตัวเหมือนในอดีตที่เราไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ   //

อ่านเพิ่มเติม >