“การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ”

ผลสำรวจตัวอย่างเนื้อหมู-ไก่ ชนิดพรีเมียม และปกติ พบบางรายการปกปิดข้อมูลด้านความไม่ปลอดภัยจากสารอันตราย ไม่ยอมแจ้งบนฉลาก         วันนี้ ( 13 มีนาคม 2567 ) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้จัดแถลงผลการศึกษาเรื่อง “การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)         การสำรวจฉลาก นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงวิธีการเก็บตัวอย่างว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการอ้างถึงขั้นตอนเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษและปลอดภัยจากสารต่างๆ ทำให้ราคาขายแพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติ โดยเก็บเนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนัง จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน (เดือนกันยายน 2566) รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง จากการเปรียบเทียบราคาพบว่า ราคาแพงกว่าราคาปกติประมาณสองเท่า         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จำหน่ายภายในห้างฯ ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา จำหน่ายภายในห้างฯ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม         ผลวิเคราะห์การสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด อ.ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ได้นำข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ฉลากเนื้อหมูสด-ไก่สด ชนิดพรีเมียม และชนิดธรรมดา ช่วงเดือนกันยายน 2566 ทำการวเคราะห์ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ ปรากฏว่า รูปแบบฉลากที่สำรวจชนิดพรีเมียม มีทั้งแจ้ง และ ไม่แจ้ง บนฉลาก ส่วนชนิดธรรมดา ไม่มีการแจ้งใดๆ         การวิเคราะห์ฉลาก ยังมีข้อสังเกต ดังนี้         มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก         การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ ...พบว่าเนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง และ 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’ ในขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่แบบธรรม 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.3) ไม่ได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ         บางยี่ห้อเน้นที่รางวัลที่ได้รับ ทำให้ผู้บริโภคสนใจคำว่าชนะรางวัล มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ         ข้อความคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ อ่านยาก ควรเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ         ข้อสังเกตสำคัญ ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์ดังกล่าว         ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานข้อสังเกตจากฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป การโฆษณา ณ สถานที่ขายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า “ประเทศไทยมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง และผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตทำนองเดียวกันนี้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2544 เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และมีการกำหนดฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แต่ประกาศนี้ก็ไม่ใช้กับอาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสด ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปขาดการควบคุม จึงส่งผลให้ผลการสำรวจฉลากพบการแสดงฉลากที่หลากหลาย ขาดความชัดเจน ทั้งขนาดตัวอักษร รูปแบบการแสดงข้อความ ตลอดจนความชัดเจนของการสื่อความหมายของข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรการด้านฉลากดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานอื่น”         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนประเด็นด้านโฆษณาอาหารนั้น ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้การแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา ซึ่งหากพิจารณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 การใช้คำว่า “สด” “ธรรมชาติ” “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” “ออร์แกนิก” “อนามัย” “ถูกสุขอนามัย” “สะอาด” “คุณภาพ” เข้าข่ายบัญชีหมายเลข 3 ของประกาศนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการโฆษณาที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่ต้องยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร หากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบโฆษณาทั้งเรื่องการขออนุญาต หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทในการตรวจสอบสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่         รายละเอียดด้านการลงพื้นที่เก็บภาพการโฆษณา ณ แหล่งขาย นางสาวทัศนีย์กล่าวว่า ไปสำรวจโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมูและเนื้อไก่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 44 ร้าน 29 พื้นที่ สำรวจทั้งในซูเปอร์มาเก็ต ร้านตั้งเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ และแผงในตลาดสด ...เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยเทียบกับหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พบว่าการโฆษณาที่เข้าข่ายการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยมีการแจ้งคุณภาพของสินค้า พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) โดยรูปแบบการแจ้งคุณภาพอาจจะกล่าวเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็น ดังนี้ ร้านขายได้กล่าวถึงความสะอาด 8 ร้าน, สด 6 ร้าน, คุณภาพ 4 ร้าน, อนามัย 2 ร้าน, ชุ่มฉ่ำ 2 ร้าน คำว่าพรีเมี่ยม 1 ร้าน และเลี้ยงด้วยโปรไบโอติกส์อย่างละ 1 ร้าน ข้อสังเกตในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีการอนุญาตให้สินค้าแต่ละชื่อการค้าโฆษณาตัวเอง พบ 8 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 18.18) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาว่าปลอดภัย 6 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 13.63) การโฆษณาว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดง พบ 4 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 9.09) การโฆษณาว่าไม่ใช้ฮอร์โมน พบ 2 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 4.55) การโฆษณาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) แต่ร้านที่มีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK มีแจ้งคุณภาพของสินค้าเพียง 8 ร้านเท่านั้น การแจ้งคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์ที่ขาย พบเพียง 1 ร้าน และการกล่าวอ้างอื่น เช่น การกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ พบคำว่า “100% organic” การรับรองตนเอง พบคำรับรองประกันคุณภาพในบริษัท “มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ” “วงจรคุณภาพและความสดของแผนกเนื้อสัตว์”         นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ มองว่า “หากมองในมุมกฎหมายการโฆษณาลักษณะนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นปัญหาด้านกฎหมายได้ หากมองในมุมของผู้บริโภคก็ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่ หากไม่ทราบข้อมูลจากผู้ขายเลยก็อาจขาดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ หากผู้ขายให้ข้อมูลมา แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จผู้บริโภคก็ถูกเอาเปรียบได้เช่นกัน”         ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สรุปผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตว่าฉลากมีความหลากหลายของการนำเสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คำว่า’ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง’ ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า’ปลอดจากยาปฏิชีวนะ’ นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการใช้คำต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ มีขนาดเล็กมาก รวมถึงการระบุสรรพคุณของเนื้อสัตว์ จากการวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ กติกา อาจมีช่องว่างของการควบคุมฉลากเนื้อสัตว์ดิบประเภทหมูและไก่ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แปรรูปแปรรูปหรือไม่ จึงมีช่องว่างของการใช้คำโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เช่นคำว่า ปศุสัตว์ OK หมายถึงอะไรบ้าง การเคลมคุณสมบัติบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือ การแสดง ณ จุดจำหน่ายนี้ มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบบ้าง มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ควบคุม การกำหนดราคาสินค้าพรีเมียม มาตรฐานต่างๆ         ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากเนื้อสัตว์สด และการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ดังนี้         1. ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดลักษณะฉลากเนื้อสัตว์สดและการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค         2.ควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เนื่องจากพบการใช้คำโฆษณานี้มีความหลากหลาย มีทั้งการกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ และการกล่าวอ้างด้านไม่พบสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” อาจสื่อความหมายได้ตั้งแต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู หรือมีระยะหยุดยาก่อนการฆ่า หรือมีการใช้ยาแต่มีเนื้อสัตว์พบยาปฏิชีวนะตกค้างไม่เกินที่กำหนดในกฎหมาย จึงควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เช่น “Raised without antibiotics” (ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะทุกขั้นตอนของการเลี้ยง)         3.ควรมีหน่วยงานที่ติดตามและตรวจสอบการกล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงได้ โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบการโฆษณาดังกล่าว         4.มีระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบฉลากของสินค้า และ 5. การให้ความรู้กับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อสุ่มวิเคราะห์ “หมึกกรอบ”ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล พบกว่าร้อยละ 57 ปนเปื้อนฟอร์มาลิน

        วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2566 ) ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสุ่มตรวจสอบ “หมึกกรอบ”  ปนเปื้อนฟอร์มาลิน เป็นหนึ่งในงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการของ นิตยสารฉลาดซื้อ ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เนื่องจากในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล         จากข้อมูลของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2563  พบว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง โดยพบมากที่สุดใน หมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ หมึกสด  ร้อยละ 2.36  แมงกะพรุน ร้อยละ 1.55 และ กุ้ง ร้อยละ 0.14 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         สรุปผลการทดสอบ “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง สุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่ายสินค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง , ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ,และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งดำเนินการช่วงเดือนเมษายน 2566 พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลิน พบตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์  สูงเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 และ 3  พบจากตลาดสด (  ดูผลทดสอบจากhttps://chaladsue.com/article/4269/ )          ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากถามว่า ฟอร์มาลินมีอันตรายอย่างไรต่อร่างกาย ข้อมูลที่พอเชื่อถือได้จากอินเทอร์เน็ตกล่าวโดยรวมว่า อาการระยะสั้นจากการสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรงจะมีผลต่อระบบผิวหนังหลังสัมผัสคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว         วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลิน สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จากร้านค้าที่ไม่มีการแช่ในตู้เย็น สามารถใช้วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่ (ปัญหามักเกิดกับอาหารทะเลซึ่งเหม็นคาว) ซึ่งมีนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า สามารถกำจัดฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนบนเนื้อได้ด้วยการใช้น้ำด่างทับทิมหรือ potassium permanganate เพื่อเปลี่ยนฟอร์มาลดีไฮด์ในฟอร์มาลินให้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดมดได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่า เนื้อสัตว์ที่ชุบฟอร์มาลินนั้นมักไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีมาก่อน จึงต้องใช้ฟอร์มาลินกลบเกลื่อนความไม่สด ดังนั้นจึงไม่สมควรนำเนื้อดังกล่าวมาบริโภคและไม่ควรโยนให้สัตว์เช่น หมาหรือแมวกิน         อ่านผลทดสอบฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”เพิ่มเติมได้ที่ https://chaladsue.com/article/4269/

อ่านเพิ่มเติม >

เสนอหน่วยงานกำกับติดฉลากปลอดภัย “สปอร์ตบรา” เทียบมาตรฐานสากล เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค หลังฉลาดซื้อสุ่มตรวจพบสารก่อมะเร็งในบางยี่ห้อ

เสนอหน่วยงานกำกับติดฉลากปลอดภัย “สปอร์ตบรา” เทียบมาตรฐานสากล เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค หลังฉลาดซื้อสุ่มตรวจพบสารก่อมะเร็งในบางยี่ห้อ        พบฟอร์แมลดิไฮด์ 1 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง แต่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และตรวจพบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสาร 2 ชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ใน 1 ตัวอย่าง  (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) นักวิชาการชี้ สารก่อมะเร็ง 2 ชนิดที่พบ แม้จะไม่เกินมาตรฐานหรือเกินเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสนอหน่วยงานกำกับดูแลต้องให้ผู้ผลิต ติดฉลากว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือไม่ ยกระดับมาตรฐานเทียบเท่าในยุโรปที่หากพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนจะนำสินค้าออกจากตลาดทันทีวานนี้ 28 เมษายน 2566 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ร่วมกับ  ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สปอร์ตบรา จำนวน 8 ยี่ห้อ ที่สุ่มตัวอย่างจากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไปในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565   ผลการทดสอบตรวจพบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสาร 2 ชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในตัวอย่างยี่ห้อ Wacoal รุ่น Motion Support WR 3448 (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว        นอกจากนี้ยังพบฟอร์แมลดิไฮด์ใน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ GENTLEWOMAN sports club ปริมาณ 26.83 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบฟอร์แมลดิไฮด์ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“สารที่ตรวจพบทั้ง 2 ชนิดเป็นสารที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง อาจส่งผลต่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และอาจทำให้เกิดการเป็นหมัน การตรวจพบสารดังกล่าว แม้จะเป็นไปตามมาตรฐานก็ยังมีโอกาสทำให้เกิดอันตรายได้        “กระบวนการที่เราจะได้รับอันตราย มี 2 กระบวนการ คือหนึ่ง กระบวนการ migration เมื่อสีย้อมผ้าหลุดออกมาสู่สิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงกับเรา และสอง กระบวนการ penetration คือการซึมผ่าน ทั้งสองกระบวนการทำให้สารเคมีซึมผ่านร่างกายเราได้ทั้งนั้น เนื่องจากสารเหล่านี้ไม่ได้ลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป ยังปล่อยออกมาสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ความชื้น หรือระยะเวลาที่เราสัมผัส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่มีสารเคมีเหล่านี้”“เรื่องสารเคมีอันตราย เราไม่มีโอกาสได้เลือก ถ้าไม่มีข้อมูลการทดสอบ สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลสามารถทำได้คือให้ผู้ผลิตติดฉลากว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือไม่ เป็นการประกาศตัวเองของผู้ผลิต ในกรณีของยุโรป มีกติกาว่าหากพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในสินค้า จะต้องนำสินค้านั้นออกจากตลาดทันที บริษัทต่างๆ ก็ปฏิบัติตาม”“ภาครัฐต้องกำกับดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกกฎหมายที่มีความเข้มข้น ทำให้ผู้ผลิตมีความระมัดระวัง และทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ไม่มีสารเคมีเป็นของแถม ผมคิดว่าถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะให้ความสำคัญและปรับลดค่าสารเคมีต่างๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยอาจทบทวน ทุก 5 ปี หรือ 10 ปี ถ้าประเทศเรามีมาตรฐานในประเทศดี สินค้าของเราก็จะได้รับความน่าเชื่อถือไปด้วย ผมจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่ดูแล ออกมาทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอ” คุณทัศนีย์  แน่นอุดร   บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสวมใส่สปอร์ตบราได้รับความนิยมกว้างขวาง ไม่ได้ใส่แค่ตอนออกกำลังกาย แต่เป็นแฟชั่นการแต่งตัวด้วย ซึ่งหากยิ่งใช้ประจำยิ่งต้องพิจารณาถึงคุณภาพ รูปทรง ความทนทานต่างๆ  การทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า สินค้าที่ดีที่สุด ไม่ใช่สินค้าที่ราคาแพงที่สุด ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อจากการศึกษาข้อมูลประกอบอย่างมีเหตุผล         “ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การผลิตเส้นใยจนไปถึงเมื่อทิ้งยังปนเปื้อนไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ เมื่อสินค้าได้ผลิตออกมาแล้ว ยังมีกำลังคนในการเฝ้าระวังน้อย การร่วมกันป้องระวังตั้งแต่ด่านแรก ย่อมดีกว่า”   ติดตามอ่าน “ผลทดสอบสปร์ตบรา” ฉบับเต็มได้ใน https://www.chaladsue.com/article/4212

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ เปิดเผยผลทดสอบอาหารเม็ดแมวโต พร้อมย้ำ! ไฟเบอร์สูงไม่จำเป็นต่อแมว เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อทดสอบคุณค่าทางโภชนาการอาหารแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปี เปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมว 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีน้อยยิ่งดี กลุ่มที่มีมากเกินไปไม่ดี และกลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี ในภาพรวมมีคุณภาพที่ดีขึ้น และการทดสอบครั้งนี้พบ “ไมโคทอกซิน” ในยี่ห้อเดียวและมีปริมาณน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบในปี 2559 พร้อมแนะนำว่า อาหารไฟเบอร์สูงไม่จำเป็นต่อร่างกายของแมวเพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากมีไฟเบอร์มากกว่า 1% หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน                  วันนี้ ( 21 เมษายน 2566 ) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  ภายในการทำงานของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกหนึ่งของครอบครัวกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ครัวเรือนเหล่านี้มีลักษณะการใช้จ่ายคล้ายครัวเรือนที่มีบุตรหลานมีการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีที่สุดให้สัตว์เลี้ยง  ส่งผลให้ตลาดอาหารเพื่อสัตว์เลี้ยงเติบโตและมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Kantar Worldpanel หน่วยงานที่ศึกษาพฤติกรรมการเกี่ยวกับการซื้อสินค้าเพื่ออุปโภค บริโภค ศึกษาข้อมูลในประเทศไทย พบว่าครัวเรือนที่เลี้ยงแมวเติบโตมากกว่าครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัขแต่สัดส่วนที่เลือกใช้อาหารแบบหีบห่อยังน้อยกว่าครึ่งทำให้ยังเป็นโอกาสที่ยังสามารถเติบโตขึ้นได้ของอาหารสำเร็จ บริษัทต่างๆ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแมวหลากหลายสูตรเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาเลือกซื้ออาหารเม็ดมากยิ่งขึ้น        นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก “อาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปีขึ้นไป” จำนวน 12 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม 2566 มาสำรวจฉลาก และส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษที่ไม่ควรมี และสารอาหารต่างๆ ที่ควรมีอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเม็ดให้แมวได้อย่างคุ้มค่า ให้โภชนาการที่ดีต่อแมวได้            นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อกล่าวว่าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเคยทดสอบเปรียบเทียบอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวมาแล้วในฉบับที่ 183 ปี 2559 เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการผลิตอาหารแมวอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงยังได้เติบโตขึ้นมาก มีการโฆษณาคุณสมบัติที่ดีต่อร่างกายหลายรูปแบบ ผู้บริโภคจึงยิ่งควรมีข้อมูล องค์ความรู้โภชนาการที่เหมาะสมกับแมวเพื่อที่สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม คุ้มราคา   การตรวจหาในการเปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมวครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่         1. กลุ่มที่มีน้อยยิ่งดี คือ ไมโคทอกซิน HT-2 และ T-2 สหภาพยุโรปกำหนดให้มีในอาหารแมวได้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมว การทดสอบครั้งนี้ ไม่พบ HT-2 ในทุกตัวอย่าง และพบ T-2 ปริมาณน้อยกว่า 10 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ในยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท          - ไฟเบอร์พบว่าทุกยี่ห้อมีมากกว่า 1% ยี่ห้อมีโอ รสปลาทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 1.99% ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 4.17%  ซึ่งองค์กรทดสอบระหว่างประเทศให้ข้อสังเกตไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 183 ว่าอาหารแมวไม่ต้องมีไฟเบอร์ก็ได้ เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากมีไฟเบอร์มากกว่า 1% หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน          2. กลุ่มที่มีมากเกินไปไม่ดี อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ European Pet Food Industry Federation (FEDIAF 2021) แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีโซเดียม 80 มิลลิกรัม (0.08 กรัม) และแมกนีเซียม 40 มิลลิกรัม (0.04 กรัม) (หากแมวได้รับโซเดียมมากเกินไปจะเสี่ยงเป็นโรคไต และถ้าได้แมกนีเซียมมากเกินไปอาจเป็นนิ่วในไตได้) ผลทดสอบพบว่า         - ทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมมากกว่า 80 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพียวริน่า ฟริสกี้ส์ รสรวมมิตรปลาทะเล มีมากที่สุด คือ 687.36 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 393.58 มิลลิกรัม        - ทุกตัวอย่างมีปริมาณแมกนีเซียมมากกว่า 40 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพ็ทส์ เฟรนด์ รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 164.02 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 75.86 มิลลิกรัม         3. กลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ FEDIAF 2021 แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีทอรีน 100 มิลลิกรัม(0.10 กรัม) ทอรีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายแมวไม่สามารถผลิตเองได้ หากได้รับน้อยเกินไปอาจทำให้แมวตาบอด ขนหรือฟันร่วงก่อนเวลาอันควร รวมถึงมีความปกติของระบบสืบพันธุ์ โปรตีน 25 กรัม ไขมัน 9 กรัม แคลเซียม 400 มิลลิกรัม (0.40 กรัม) และฟอสฟอรัส 260 มิลลิกรัม (0.26 กรัม) สรุปผลทดสอบ         - ทุกตัวอย่างมีทอรีนมากกว่า 100 มิลลิกรัม ยกเว้นยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า มี 93.19 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อที่มีทอรีนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 (197.09 มิลลิกรัม), วิสกัส รสปลาทูน่า (191.17 มิลลิกรัม) และมีโอ รสปลาทูน่า (187.90 มิลลิกรัม)         - ทุกตัวอย่างมีโปรตีนมากกว่า 25 กรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุดคือ 35.44 กรัม ส่วนยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 มีน้อยที่สุด คือ 26.95 กรัม         - ทุกตัวอย่างมีไขมันมากกว่า 9 กรัม ยี่ห้อแม็กซีม่า มีมากที่สุด คือ 22.4 กรัม ส่วนยี่ห้อเพ็ทส์เฟรนด์ รสทูน่า มีน้อยที่สุด คือ 10.1 กรัม         - ทุกตัวอย่างมีแคลเซียมมากกว่า 400 มิลลิกรัม ยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุด คือ 2,035.37 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 813.08 มิลลิกรัม         - ทุกตัวอย่างมีฟอสฟอรัสมากกว่า 260 มิลลิกรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุด คือ 1,382.41 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 695.47 มิลลิกรัม          ด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณอาหารเม็ดแมว 1 กรัม พบว่ายี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท ราคาแพงที่สุด คือ 0.38 บาท ส่วนยี่ห้อโลตัส รสปลาทูน่า ราคาถูกที่สุด คือ 0.08 บาท       ข้อสังเกตจากการทดสอบครั้งนี้พบ ไมโคทอกซิน ในยี่ห้อเดียวและมีปริมาณน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบในปี 2559 ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าผู้ผลิตอาหารแมวใส่ใจคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีไฟเบอร์มากกว่า 1 % ในทุกตัวอย่างเช่นเดียวกับการทดสอบในครั้งที่แล้ว ตัวอย่างส่วนใหญ่มีธัญพืชเป็นส่วนประกอบ ซึ่งแมวจะย่อยยากและอาจเกิดอาการแพ้ได้         - ด้านความชื้นทุกตัวอย่างมีความชื้นไม่มากกว่าร้อยละ 14 ของน้ำหนัก ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้      - ทุกตัวอย่างระบุข้อมูลคุณภาพของอาหารสัตว์ทางเคมี (โปรตีน ไขมัน และกาก) ไว้ตรงกับผลวิเคราะห์ที่ได้จากห้องปฏิบัติการ มีเพียงยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า ที่ฉลากระบุว่ามีโปรตีนไม่น้อยกว่า 30% แต่ผลวิเคราะห์ออกมาได้ 29.83% (ซึ่งน่าจะพออนุโลมกันได้)         นางสาวทัศนีย์ ยังกล่าวต่ออีกว่า นอกจากเลือกอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนเหมาะสมกับร่างกายและช่วงอายุของแมว ยังสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่แมวได้ด้วยการสร้างนิสัยการกินอาหารที่ถูกต้อง แมวบางตัวมีนิสัยกินจุ กินยากหรือกินอาหารบ่อยครั้ง ซึ่งแก้ไขหรือปรับพฤติกรรมการกินของแมวได้ด้วยการให้อาหารเป็นเวลาแน่นอน และจำกัดปริมาณให้เหมาะสม แมวโตกินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในแมวเด็ก 3 ครั้ง เพราะการทดสอบยังพบ โซเดียมและแมกนีเซียมในปริมาณสูงเกินระดับมาตรฐานในทุกตัวอย่าง การให้อาหารเม็ดจึงยิ่งควรระมัดระวัง จำกัดปริมาณเพราะสารทั้งสองทำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไต และนิ่วในไตได้ ซึ่งการดูแลเรื่องอาหารจะนำไปสู่การลดโรคได้ ตรงนี้อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลในอนาคตได้ติดตามอ่าน“ผลทดสอบคุณค่าทางโภชนาการในอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปีขึ้นไป” ฉบับเต็มได้ใน https://www.chaladsue.com/article/4234 และโหลดไฟล์กราฟฟิกผลทดสอบได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1CZtJSsLJdxBFRmgeuP5nSl1uBQx9Of3U/view?usp=share_linkข้อมูลประกอบข่าวฉลาดซื้อแนะ        - ก่อนซื้อทุกครั้งตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนอาหารสัตว์ 10 หลักเพื่อแสดงว่าอาหารผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้ว ดูส่วนผสมและสารอาหาร สารปรุงแต่งที่ต้องระวังไหม แสดงปริมาณอาหารที่แนะนำต่อวันหากมีมาตรฐานรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือจะยิ่งดี ที่สำคัญคือต้องระบุวันหมดอายุไว้ชัดเจน         - อาหารเม็ดแมวมี 2 ประเภทหลัก ๆ คือสูตรโภชนาการครบถ้วนสำหรับแมวที่สุขภาพดี หาซื้อได้ทั่วไป และสูตรป้องกันโรคที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเฉพาะจุดสำหรับแมวป่วย ควรซื้อจากโรงพยาบาลสัตว์ และได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ก่อน         - แม้ซื้ออาหารเม็ดแมวถุงใหญ่จะคุ้มกว่าถุงเล็ก แต่หากเก็บไว้นานเกินไปจนทำให้กลิ่น รสชาติและสัมผัสของอาหารเม็ดเปลี่ยนไป แมวอาจไม่ยอมกิน ก็น่าเสียดาย จึงควรเลือกซื้ออาหารเม็ดแมวในปริมาณที่แมวสามารถกินหมดได้ภายใน 1 เดือนเพื่อรักษาความสดใหม่ไว้         - แมวแต่ละตัวมีโอกาสแพ้สารแตกต่างกัน เช่นอาจแพ้ธัญพืช โปรตีนจากสัตว์ สารกันบูดและสารกันความชื้นต่าง ๆ หากสังเกตว่าแมวกินอาหารแล้วมีอาการผิดปกติ เช่นผื่นขึ้น ตุ่มขึ้น ตาบวม น้ำมูกน้ำตาไหล ให้เปลี่ยนอาหาร ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปรักษาและนำอาหารนั้นไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย         - ไม่ควรซื้ออาหารแมวที่มีสีสันฉูดฉาดเกินไป เพราะอาจมีส่วนผสมที่ทำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไตได้        - ไม่ควรเทอาหารแมวค้างคืนหรือเททิ้งไว้นานจนเกินไป เพราะอาหารจะเสื่อมสภาพและเป็นแหล่งของเชื้อโรคแทนได้        - แม้แมวเป็นสัตว์กินเนื้อที่ไม่จำเป็นต้องได้รับไฟเบอร์สูงมากเท่าสัตว์กินพืช แต่ไฟเบอร์ก็มีประโยชน์สำหรับแมวที่มีปัญหาท้องผูก และแมวอ้วนลงพุงที่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทดสอบสารเคมีก่อมะเร็งกางเกงชั้นในชาย (สีดำ

        ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในหลายผลิตภัณฑ์รอบตัวเรา ภัยเงียบใกล้ตัวที่สุดที่มักประมาทคือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ทุกวัน และยิ่งอ่อนไหวขึ้นไปอีกเมื่อเป็นชุดชั้นใน          นิตยสารฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง, ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และค่าความเป็นกรด-ด่างไปแล้วในฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ปี 2556  พบสารฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารเคมีก่อมะเร็งในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน  2 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่เก็บตรวจทั้งหมด  11 ตัวอย่าง           ในปี 2022 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชายชนิดสีดำ จำนวน  11 ตัวอย่างทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อตรวจหา สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (สีเอโซที่ให้อะโรแมติกแอมีน) , ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และ ค่าความเป็นกรด-ด่าง อีกครั้งพบผลการทดสอบดังนี้          ·     มี 3  ตัวอย่างที่ตรวจพบ สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน คือ  กางเกงใน GIORDANO,  กางเกงใน Me-Style และกางเกงใน DOUBLE GOOSE (ห่านคู่)  โดยสารที่ตรวจพบคือ 4,4'-Diaminodiphenylmethane (1 ใน 24 ตัวตาม มอก. 2346-2550) ปริมาณที่พบเกินมาตรฐาน คือ  ยี่ห้อ GIORDANO พบปริมาณ 61.40 มก./กก. ยี่ห้อ Me-Style พบ 59.89 มก./กก.  สำหรับ DOUBLE GOOSE (ห่านคู่) พบ 14.55 มก./กก. ไม่เกินค่ามาตรฐาน        ·     ตัวอย่างที่พบค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอสูงคือ  Me-Style มีค่ากรด - ด่าง 7.26  แต่ไม่เกินมาตรฐาน (มาตรฐานคือช่วงระหว่าง 4-7.5)           ·     ทั้ง 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์         แม้ทั้ง การทดสอบของฉลาดซื้อจำนวน 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์  แต่สารเคมีอันตรายในกลุ่มเสื้อผ้าสิ่งทอ ยังน่าเป็นห่วง ล่าสุด (29 พ.ย.) กรีนพีซ เยอรมนี แถลงว่าจากการตรวจ สินค้า SHEIN ในหลายแห่งทั่วโลก ทั้งหมด 42 ชิ้น ประกอบไปด้วยเครื่องแต่งกาย รองเท้า ทั้งสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผลิตภัณฑ์สำหรับทารก พบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ 7 ชิ้น (คิดเป็น 15%) โดยการพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์นี้ผิดเงื่อนไขการจำกัดปริมาณสารเคมีของสหภาพยุโรป นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ 5 ชิ้นจากทั้งหมดผิดเงื่อนไข โดยปนเปื้อนเกิน 100% หรือมากกว่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์ 15 ชิ้นจากทั้งหมดปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในระดับที่น่าเป็นห่วง (คิดเป็น 32%)…………………………………………………………………………………………………..อันตรายและค่ามาตรฐานของสารที่ดำเนินการตรวจ (  ที่มา อ้างอิงตาม มอก.2346-2550        ·     ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟอร์มาลีน”  คือสารเคมีทำให้ผ้าฝ้ายเรียบ รีดง่าย ยับยาก ยังผสมในสีทาบ้าน พลาสติก รวมถึงการดองศพ ฟอร์มาลดีไฮด์ที่สะสมอยู่ในผ้าจะระเหยออกมาในอากาศส่งผลต่อระบบประสาท ระคายผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเป็นต้นเหตุของมะเร็งได้> ปริมาณต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปชนิดที่ 2)         ·     ค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอ หรือ pH ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ สำหรับผิวหนังมนุษย์ที่มีความเป็นกรดอ่อนๆ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรค แต่หากค่าความเป็นกรด-ด่าง จากเสื้อผ้าทำให้สมดุลผิวเสียไป ผิวหนังอาจระคายเคืองและเสียความสามารถในการปกป้องผิว ดังนั้นค่าความเป็น กรด-ด่าง ควรต้องอยู่ระหว่าง 4.0 ถึง 7.5 ตามมาตรฐานจึงจะมีความปลอดภัย             ·     สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน 24 ชนิด เป็นกลุ่มสารอันตรายเมื่อสัมผัสผิวหนัง ทำให้ผิวเกิดอาการแพ้จนกระทั่งเกิดมะเร็งได้  บางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติต่อพันธุกรรม และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ>  ต้องมีไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม…………………………………………………………………………………………………..อ่านผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำ  ฉบับเต็มได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/4145 #สิทธิผู้บริโภค#สารเคมีในชุดชั้นใน#FastFashion#WhoMadeMyClothes 

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ทดสอบคุณภาพน้ำผึ้งแท้ ได้คุณภาพตามน้ำผึ้งแท้ทุกตัวอย่างการทดสอบ

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบคุณภาพน้ำผึ้งที่ระบุในฉลากว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ จำนวน 19 ตัวอย่าง พบทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน        วันนี้ (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565)  นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)  กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งจากห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และห้างออนไลน์ จำนวน 19 ตัวอย่าง ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อดูคุณภาพของน้ำผึ้งตัวอย่างว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ เป็นน้ำผึ้งแท้ที่ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในคุณภาพได้หรือไม่ เนื่องจากน้ำผึ้งเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมด้วยเชื่อมั่นในสรรพคุณทั้งบำรุงร่างกายและเป็นยาบำบัด แต่ปัจจุบันประชาชนอาจกังวลว่าน้ำผึ้งที่วางจำหน่ายทั่วไปเป็นน้ำผึ้งแท้หรือไม่ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตาเปล่า ทั้งยังพบน้ำผึ้งปลอมวางจำหน่ายปะปนกับน้ำผึ้งแท้อยู่มากมาย               น้ำผึ้ง 19 ตัวอย่างที่ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ทำการทดสอบ คือ กู๊ดบี , ชุมชนผึ้งจากดอกลำไย ,น้ำผึ้งดอยคำ, เขาค้อทะเลภู ,โคลส์ บลู กัม ฮันนี่ , เวชพงศ์  น้ำผึ้งสดแท้  , ท็อปส์  ดอกลำไย , น้ำผึ้งสวนจิตรลดา ,น้ำผึ้งไตรฟลอร่าฮันนี่ สวีท บี , บี  โบตานี , แฮปปี้ เมท , น้ำผึ้งบัวหลวง, โลตัส น้ำผึ้งดอกลำไย, น้ำผึ้งตราคาเฟอเมซอน , น้ำผึ้งตราไทยฮันนี่ , น้ำผึ้งตราดอยผาผึ้ง ,น้ำผึ้ง ตรา Tai Honey Queen , น้ำผึ้งป่าเดือน 5  Honey House , น้ำผึ้งป่าตรา BEARY  HONEY  จากน้ำผึ้งจำนวน 19 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบพบว่า คุณภาพส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานสินค้าเกษตร น้ำผึ้ง มกษ.8003-2556 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 211 พ.ศ.2543 เรื่องน้ำผึ้ง         สำหรับค่ามาตรฐานคุณภาพในมิติต่างๆ ของน้ำผึ้งแท้ที่ได้ทำการทดสอบคุณภาพ ประกอบด้วย 1. ความชื้น(น้ำ) มีเกณฑ์มาตรฐาน ไม่เกินร้อยละ 21 ของน้ำหนัก 2. น้ำตาลรีดิวซิ่ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของน้ำหนัก  3.น้ำตาลซูโครส ไม่เกินร้อยละ 5 ของน้ำหนัก 4.เถ้า ไม่เกินร้อยละ 0.6 ของน้ำหนัก 5.สารที่ไม่ละลายน้ำ ไม่เกินร้อยละ 0.1 ของน้ำหนัก 6. น้ำตาลฟรุกโตส 7. ความเป็นกรดทั้งหมดไม่เกิน 50 มิลลิอิควิวาเลนด์ของกรด / กิโลกรัม (ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขต้องไม่เกิน 40) 8. ค่าไดแอสเตท ไม่น้อยกว่า 3 9.ค่าสารไฮดรอกซีเมททิลเฟอร์ฟิวรัล ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม        ผลการทดสอบของน้ำผึ้งทั้ง 19 ตัวอย่าง  พบค่าความชื้นมีค่าอยู่ระหว่าง 14.1- 19 ค่าน้ำตาลรีดิวซิ่ง 67.60 - 76.47 ค่าน้ำตาลซูโครส 0 -7.0 ค่าของเถ้าพบ 0.02 - 0.11 สารที่ไม่ละลายน้ำ 0.001- 0.026 ค่าความเป็นกรด 2.45 – 29.85 ค่าไดแอสเตส 0.77-13.95 ค่าสารไฮดรอกซีเมททิลเฟอร์ฟิวรัล  4.42- 86.50         อีกปัจจัยที่หลายคนมักกังวล และสงสัยคือสีของน้ำผึ้ง ซึ่งแตกต่างกันออกไปได้ตามแหล่งน้ำหวาน ได้แก่ ดอกไม้หรือพืชพรรณ ที่ผึ้งนำมาสู่รวง ซึ่งจาก 19 ตัวอย่างที่ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อสุ่มทดสอบ มีทั้งน้ำผึ้งจากดอกทานตะวัน  ดอกลำไย  ดอกไม้ป่า จึงได้เห็นน้ำผึ้งมีสีที่มีความเข้มแตกต่างกัน ซึ่งไม่ส่งผลต่อคุณสมบัติการเป็นน้ำผึ้งแท้แต่อย่างใด สรุป น้ำผึ้ง จำนวน 19 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบมี คุณภาพส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานสินค้าเกษตร น้ำผึ้ง มกษ.8003-2556 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 211 พ.ศ.2543 เรื่องน้ำผึ้ง  เมื่อทั้งหมด คือ น้ำผึ้งแท้ เราจึงเปรียบเทียบฉลากอีกครั้งเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้ตามราคาที่เหมาะสม น้ำผึ้งที่ถูกที่สุดคือ น้ำผึ้ง ตรา TAI HONEY QUEEN  ราคาต่อกรัม = 0.08 บาท  ส่วนน้ำผึ้งที่มีราคาต่อกรัมแพงที่สุดได้แก่ สวีท บี น้ำผึ้งไตรฟลอร่าฮันนี่  ราคาต่อกรัม = 0.65 บาท        อ่านรายละเอียดผลทดสอบได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ https://www.chaladsue.com/article/4094 

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจฉลากครีมนวดผม พบซิลิโคนในครีมนวดทุกตัวอย่าง ซึ่งจะสะสมทำให้ผมร่วงได้ เตือนผู้บริโภคศึกษาชื่อสารเคมีบางชนิดเพื่อรู้เท่าทันฉลาก

        วันนี้ (28 ตุลาคม 2565) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้เปิดเผยผลสำรวจฉลากครีมนวดผม เนื่องจากในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อเส้นผม และหนังศีรษะหลายชนิด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงสุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ครีมนวดผม” จำนวน 12 ตัวอย่าง  ในเดือนมิถุนายน 2565  จากห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำทั่วไป  ได้แก่ยี่ห้อ ซันซิล , เทรซาเม่ , ลอรีอัล ปารีส , บุ๊ทส์ , รีจอยส์ , โดฟ , เฮดแอนด์โชว์เดอร์ , แพนทีน , วัตสัน ,  เฮอร์บัล เอสเซนส์ ,ซึบากิ ,เคลียร์ ผลการสำรวจฉลากครีมนวดผม ทั้ง 12 ตัวอย่าง           -  พบสารซิลิโคนทั้ง 12 ตัวอย่าง        -  ไม่พบ พาราเบน ฟอร์มาดีไฮด์ และอิมิดาโซลิตินิล ยูเรีย        -  พบเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (MIT) ใน 7 ตัวอย่าง  คิดเป็น 58.33 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -  พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 66.67 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -  เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ  1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเคลียร์ แอนตี้แดนดรัฟ สกาล์ป แคร์ คอนดิชันเนอร์ ไอซ์คูล เมนทอล แพงสุดคือ 0.61 บาท ส่วนยี่ห้อซันซิล แดเมจ รีสโตร์เซรั่มคอนดิชันเนอร์ แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น ถูกสุดคือ 0.16 บาท         นอกจากนี้ จาก 12 ตัวอย่าง  มี 4 ตัวอย่างที่พบสารกันเสียทั้งเมทิลไอโซไทอะโซลิโนนและพีน็อกซี่เอทานอล ซึ่งเป็นการใช้สารเคมีกันเสียมากกว่า 1 ชนิดใน 1 ผลิตภัณฑ์  และมี 4 ตัวอย่างที่ระบุวันที่ผลิตแต่ไม่ระบุวันหมดอายุ         ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายปัจจัยแวดล้อมทำให้ผมเสียทั้งแสงแดด ฝุ่นควัน ความร้อนจากการเป่าและหนีบผม รวมถึงสารเคมีจากการทำสีผม ไฮไลต์ผม สังเกตพบว่า ในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจึงมีการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อเส้นผม และหนังศีรษะหลายชนิด และเนื่องจากผู้บริโภคต้องการดูแลเส้นผมมากขึ้น จึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ได้รับความนิยมมากขึ้น ตามไปด้วย  ในปี 2564 ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมในประเทศไทย เติบโตถึง 5.6% มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท ในการตลาดระดับโลก ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมและทรีตเมนต์มีมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2563         ดังนั้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคำแนะนำในการเลือกซื้อ เลือกใช้ครีมนวดผมคือ หนึ่ง เลือกซื้อครีมนวดผมคือ  เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย และมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชื่อผลิตภัณฑ์ประเภทสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและสถานที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและปริมาณสุทธิ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญที่เชื่อถือได้ และผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบปริมาณ และคุณภาพเทียบกับราคาได้   สอง เมื่อซื้อครีมนวดผมที่มีโปรโมชันลดราคาเยอะๆ ยิ่งควรสังเกตวันหมดอายุให้ดี เพราะหากหมดอายุไปแล้ว จะเสียเงินเปล่าและจะทำให้สารเคมีในครีมนวดผมมีอันตรายต่อเส้นผมและหนังศีรษะมากขึ้น  สาม  การใช้ครีมนวดผม ไม่ควรชโลมครีมนวดผมที่หนังศีรษะเพราะทำให้หนังศีรษะมัน ครีมนวดผมนั้นยังถูกออกแบบมาให้บำรุงเฉพาะเส้นผม การใช้ครีมนวดผมให้ได้ผลดีที่สุด คือการใช้บริเวณกลางเส้นผมจรดปลาย  นอกจากนี้เมื่อรู้ว่า ครีมนวดผมที่เลือกใช้มีส่วนผสมของซิลิโคน ยิ่งควรล้างออกให้สะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีตกค้างสะสม  สี่ หากระคายเคืองผิว หรือแพ้ คันจากการใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ นอกจากหยุดใช้และไปพบแพทย์แล้ว ควรศึกษาฉลาก ดูส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นให้ดี เพราะจะได้สามารถเลือกซื้อครีมนวดผมที่จะไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่แพ้อีกในครั้งหน้า          นอกจากนี้ฉลาดซื้อขอแนะนำว่า ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติใกล้ตัว ในครัว เช่น มะกรูด อัญชัน ไข่ไก่ โยเกิร์ต  น้ำมันมะพร้าว  เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้บำรุงเส้นผม โดยที่ไม่มีสารเคมีตกค้างได้เช่นกัน         อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่บทความทดสอบ จากนิตยสารฉลาดซื้อ “มีอะไรน่าสนใจใน “ครีมนวดผม” https://www.chaladsue.com/article/4095

อ่านเพิ่มเติม >


ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ทดสอบการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ พบปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง ของทุกประเภทกาแฟ

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกันดำเนินการทดสอบการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ ทั้งประเภทคั่วและสำเร็จรูป รวมเก็บตัวอย่างทั้งหมด 27 ตัวอย่าง แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง กาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ผลการทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ในทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56- 372.62 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่าง พบอะคริลาไมด์ปริมาณสูงกว่า เกณฑ์ของสหภาพยุโรป         วันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ในงานแถลงข่าวผลการทดสอบ การปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า สารอะคริลาไมด์เป็นสารกลุ่มที่ มีผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังที่จำเป็นในยุคสมัยนี้ เนื่องจากมีการบริโภคกาแฟกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคให้ทำการสำรวจปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ ทั้งประเภทกาแฟคั่วและกาแฟสำเร็จรูป         การเก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีก และร้านค้าออนไลน์ โดยเก็บกาแฟคั่วทดสอบ 12 ตัวอย่าง ได้แก่ Illy, Suzuki, Aroma, Bon Cafe, the coffee Bean, Doitung, UCC, Doi Chaang, Movenpick, Bluekoff, Arigato และ Starbucks ส่วนกาแฟสำเร็จรูปนั้นได้เก็บทดสอบ 15 ตัวอย่าง ได้แก่ Nescafe Gold, Moccona, เขาช่อง กาแฟ, Bon Aroma Gold, Dao Coffee Gold, BigC Happy PricePro, Tchibo Family, AGF Maxim Freeze Dried Coffee, Nescafe Red Cup, Festa Gold, Davidoff Rich Aroma, Nescafe Tester’s Choice House Blend, UCC The blend1 117, My Choice Gold และ Aro Instant Coffee         ตามเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรปนั้นได้กำหนดให้มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่วและไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ พบว่าที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์ในอาหารซึ่งพบว่า พริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดและรองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้ง มันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป เผือกฉาบ อย่างไรก็ดีปริมาณที่พบนั้นถือว่า เป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะก่อพิษต่อร่างกาย ผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่างคือ พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง โดยผลการวิเคราะห์พบปริมาณที่อยู่ระหว่าง 135.56-372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ส่วนในกลุ่มกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างนั้น พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่างเช่นกัน โดยพบปริมาณสารอะคริลาไมด์ในทุกตัวอย่างกาแฟที่มีปริมาณระหว่าง 298.79–954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ที่น่าสังเกตคือ มี 2 ตัวอย่างที่พบสารอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา มี 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม, เอจีเอฟ แม็กซิม มี 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบสารอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย ในแง่อันตรายต่อผู้บริโภคนั้นสารอะคริลาไมด์ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในหนูทดลอง มีการศึกษาพบว่าในหนูเพศผู้นั้นเกิดเนื้องอกที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์และต่อมไทรอยด์ ในขณะที่ในหนูเพศเมียนั้นเกิดเนื้องอกที่เต้านมและเนื้อในต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้การที่มีรายงานการพบสารอะคริลาไมด์ในอาหารหลายชนิดและมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับปริมาณการสัมผัสของมนุษย์ การดูดซึมในมนุษย์ และความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลอง ทาง US.NTP Center for the Evaluation of Risks to Human Reproduction ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์มนุษย์จึงได้ผลิตเอกสารเรื่อง NTP-CERHR Monograph on the Potential Human Reproductive and Developmental Effects of Acrylamide (NIH Publication No. 05–4472 ของเดือน February 2005) เกี่ยวกับผลของสารอะคริลาไมด์ในการก่อความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์และการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์มารดา สำหรับปริมาณสารอะคริลาไมด์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ แพทย์ประจำสาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไว้ในบทความเรื่อง"ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ว่า “ร่างกายควรได้รับสารอะคริลาไมด์ไม่เกิน 2.6 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากได้รับมากกว่าที่กำหนดไว้จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง” นางสาวทัศนีย์กล่าวเสริมว่า การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามการได้รับสารอะคริลาไมด์ปริมาณสูงจากอาหารหลายชนิดในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานของผู้ที่มีระบบกำจัดสารพิษไม่สมบูรณ์ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากอันตรายที่มีการสะสมในร่างกาย จึงควรลด ละ เลี่ยงอาหารที่ผ่านความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือใช้อุณหภูมิสูงเกิน 120 oC เพราะเป็นอาหารลักษณะนี้มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารอะคริลาไมด์         นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าและชื่อผู้ประกอบธุรกิจเพื่อเผยแพร่แจ้งเตือนภัย เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งกาแฟก็เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม แต่สารปนเปื้อนต่างๆที่อยู่ในกาแฟนั้นผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย ดังนั้นผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจเลือกบริโภคกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้เกิดผลดีต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในระยะยาว ตลอดจนสร้างความตื่นตัวแก่ผู้ประกอบการผลิตกาแฟที่จะได้ทบทวนกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคมากขึ้น ดังที่สภาผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยผลวิเคราะห์สารอะคริลาไมด์ในกาแฟเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า การไม่พบอะคริลาไมด์ในกาแฟ 2 ตัวอย่าง จากการทดสอบผลิตภัณฑ์กาแฟ 49 ตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ผลิตสามารถลดโอกาสในการเกิดสารอะคริลาไมด์ได้ โดยหลังจากนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคจะนำผลทดสอบครั้งนี้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางหรือมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟของประเทศไทยต่อไปอ่านผลทดสอบได้ที่ : https://chaladsue.com/article/4070

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ จับมือนักวิชาการร่วมยกระดับมาตรฐานหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี

        วันนี้ ( วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ) นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ทดสอบหน้ากากอนามัยที่ระบุบนฉลากสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 5-12 ปี เพื่อเป็นข้อมูลผลักดันการออกมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเด็ก เพื่อให้สอดคล้องกับในปี พ.ศ. 2565 ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำลังผลักดันให้ สินค้าหน้ากากอนามัยเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค         ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นวิถีชีวิตปกติสำหรับทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยจึงมีจำหน่ายทั่วไป หาซื้อได้สะดวกทุกที่ซึ่งสำหรับหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย และด้วยสภาพร่างกายของเด็กที่ต่างจากผู้ใหญ่ หน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับเด็กจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลต่างของค่าความดันอากาศ เพื่อให้ระบบการหายใจของเด็กยังคล่องตัว นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น คณะทำงานได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าทั้งสิ้น 20 ตัวอย่าง เมื่อประมาณกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2565 โดยทดสอบคุณสมบัติ 2 รายการที่กำหนดใน มอก.2424-2562 และ มอก. 2480-2562 ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก 2) ทดสอบผลต่างความดันของอากาศ (ค่าการหายใจได้สะดวก) โดยมีผลการทดสอบ ดังนี้        1. ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป และการแพทย์ศัลยกรรมตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562 สุ่มทดสอบจำนวน 3 ยี่ห้อ พบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคทุกยี่ห้อ ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ผลต่างความดันอยู่ในเกณฑ์ของ มอก. ทุกยี่ห้อ        2. ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไปตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562 สุ่มทดสอบในกลุ่มนี้จำนวน 11 ยี่ห้อ พบว่า ยี่ห้อ Unicharm มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในส่วนยี่ห้อ ที่มีค่า ผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ Glowy Star ยี่ห้อ Lotus’s ยี่ห้อ KSG ยี่ห้อ Iris OYAMA และ ยี่ห้อ Linkcare        3. ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากป้องกันระบบทางเดินหายใจ ประเภท FFP2 KN95 KF94 และ N95 ตาม มอก. 2480-2562 สุ่มทดสอบจำนวน 6 ยี่ห้อ พบว่าทุกยี่ห้อมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค เป็นไปตามเกณฑ์ สำหรับยี่ห้อที่มีค่าผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ SUMMIT PEREON ยี่ห้อ Minicare ยี่ห้อ Kuwin และ ยี่ห้อ Kangju (ดูตารางตามเอกสารแนบ ตารางที่ 3 ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไป )        4. การตรวจสอบ เครื่องหมาย มอก. บนผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กที่จำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม ยกเว้นยี่ห้อ Welcare         ดร.ไพบูลย์ ยังได้เสนอว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานสำหรับหน้ากากอนามัยเด็กโดยเฉพาะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องการอ่านค่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาค กับ ค่าผลต่างความดัน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกใช้หน้ากากอนามัยได้อย่างเหมาะสม         อ.ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าสูง มาตรฐานที่มีอาจดูแลเด็กได้ไม่เพียงพอ และปัจจุบันยังปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เด็กมีภาวะภูมิแพ้มากขึ้น หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กจะช่วยป้องกันได้หากมาร่วมมือกันจัดทำแนวทางเพื่อยกระดับมาตรฐานหน้ากากอนามัยเด็กให้ชัดเจน         “หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว ปัจจุบันคนที่ขาดแคลนอาจจะไม่ได้ใช้ครั้งเดียว ใช้แล้วทิ้ง จึงยิ่งมีความเสี่ยง และเราจะให้ทางเลือกแก่สังคมอย่างไร เราปลูกฝังเด็ก สร้างพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยที่เหมาะสม แต่ถ้าใส่แล้วหายใจลำบาก เราใส่แล้วเราก็จะถอดๆ แล้วมันจะไม่เกิดประโยชน์”         รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ประสานความร่วมมือกันเพียงพอ การทำงานหน้าที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม( สมอ.) ยังเป็นการกำกับติดตามผู้ผลิตแค่บางส่วนแต่เมื่อสินค้าวางสู่ตลาด และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายังกำกับติดตามไม่ทั่วถึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสินค้าที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน การยกระดับคุณภาพหน้ากากอนามัยให้มีมาตรฐานจึงต้องเป็นความร่วมมือกัน         “เรื่องหน้ากากอนามัยเด็ก ค่าความต่างแรงดัน (ระดับการหายใจใด้ง่าย) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะสรีระของเด็กมีความแตกต่าง และมาตรฐานเฉพาะสำหรับเด็กยังไม่มีความชัดเจน ระหว่างที่ยังไม่มีการออกมาตรฐานโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควรจะต้องเข้ามากำกับดูแลฉลากให้มีความชัดเจนที่ควรระบุทั้งค่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาค และค่าความต่างแรงดัน เพราะปัจจุบัน หน้ากากอนามัยเด็กยังมีการใช้ข้อความที่ส่อให้เข้าใจผิด”         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การควบคุมมาตรฐานสินค้าชนิดนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและร่วมกันผลักดัน เพราะนอกจากภัยจากโรคระบาดแล้วยังมีปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการปกป้อง การทำให้เด็กทุกคนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงหน้ากากป้องกันที่มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เป็นทั้งเรื่องความเป็นธรรมและความมั่นคงของชาติที่จะมีคนในอนาคตที่มีสุขภาพดี”        1. สนับสนุนให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ซึ่งครอบคลุมถึงหน้ากากสำหรับเด็กเล็กด้วยและควรมีบทกำหนดโทษ ในกรณีที่ผู้ประกอบการทำการฝ่าฝืนและละเมิดสิทธิผู้บริโภค        2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ควรดำเนินการเชิงรุกในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุ 5-12 ปี        3. สภาองค์กรของผู้บริโภคควรเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โดยให้ตรวจสอบและรายงานประจำปีต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวสำหรับเด็ก        4. เจ้าของแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ ควรมีมาตรการสนับสนุนการเสนอขายหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว เฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเนื่องจากหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าที่มีผลกระทบกับสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็กเล็ก        5. เสนอให้มีความร่วมมือในการทำงานระหว่าง สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่ปัจจุบันยังมีช่องว่างในการทำหน้าที่เฝ้าระวังสินค้าของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยให้เรื่องการเฝ้าระวังมาตรฐานหน้ากากอนามัยเด็กเป็น โมเดลการทำงานร่วมกัน เรื่อง post marketing ที่ทั้ง อย. สมอ. สคบ. และ สภาองค์กรของผู้บริโภค มาเป็นคณะทำงานร่วมกัน        6. เสนอ อย.กำกับดูแลเรื่องฉลากให้ระบุไม่เกินความเป็นจริง หากระบุตัวผลิตภัณฑ์ว่าเป็นหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก ต้องมีการระบุคุณสมบัติเฉพาะสำหรับเด็ก (การระบุค่าทดสอบ : ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค กับ ค่าผลต่างความดัน Delta P)         สำหรับรายละเอียดผลการทดสอบหน้ากากอนามัยเด็ก อ่านต่อได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/4023

อ่านเพิ่มเติม >