ฉลาดซื้อเปิดผลทดสอบคุณสมบัติการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ 3 ระบบ

        ฉลาดซื้อ และเครือข่ายผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบคุณสมบัติการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ 3 ระบบ( RO, UF, UV ) พบว่า เครื่องกรองน้ำบางยี่ห้อ ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงเครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ อันจะนำไปสู่การติดเชื้อและเจ็บป่วยจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาดต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน พร้อมเสนอ สมอ.ออกมาตรฐานบังคับ                                 วันนี้ ( 30 กรกฎาคม 2564 ) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ แถลงผลทดสอบคุณสมบัติการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ 3 ระบบ ( RO, UF, UV ) โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง นักวิชาการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  กล่าวว่า  “ ปัจจุบันระบบการกรองน้ำที่ใช้กันแพร่หลาย และวางจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบ Reverse Osmosis (RO) ระบบ Ultra-Filter (UF) และ ระบบ UV (Ultra Violet) ซึ่งแต่ละระบบมีการทำงานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งาน รวมถึงความต้องการการใช้น้ำที่แตกต่างกันไป การทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ในครั้งนี้เน้นเลือกเครื่องกรองน้ำที่มีการเปิดเผย หรือเผยแพร่คุณสมบัติจากการโฆษณา จำนวน เครื่อง จาก 3 ระบบการกรอง  โดยสุ่มซื้อเก็บตัวอย่างเครื่องกรองน้ำที่มีจำหน่ายในท้องตลาด และจากเว็ปไซต์ห้างค้าปลีกออนไลน์ ในเดือนธันวาคม  พ.ศ. 2563 การทดสอบครั้งนี้ทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์         1.เครื่องกรองน้ำระบบ RO (Reverse Osmosis) จำนวน  11 ตัวอย่าง        2.เครื่องกรองน้ำระบบ Ultrafiltration (UF) จำนวน 8 ตัวอย่าง        3.เครื่องกรองน้ำระบบ Ultraviolet (UV) จำนวน 7 ตัวอย่าง การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ RO มีรายละเอียด ดังนี้        เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Toshiba รุ่น TWP-N1890UK Stiebel Eltron รุ่นGlacier Filtex รุ่น FT 241 RO Aquatek รุ่น RO 150 GPD และ Mi รุ่น water purifier 1A         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย ร้อยละ 50 – 80 ได้แก่ Mazuma รุ่น RO PURE LI และ Pure รุ่น KT RO         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Treatton รุ่น RO 300 GPD และ Turboraรุ่น 5ROC-PRC         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบบทีเรียได้ ได้แก่ Carina รุ่น  CA-5RO และ Pentair รุ่น GRO-50 System การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ UF มีผลทดสอบ ดังนี้          เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Stiebel Eltron รุ่น Rain Plus และ Pure รุ่น DM 01         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย ร้อยละ 50 – 80 ได้แก่ Unipure รุ่น BLUE 20”(UF)         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Astina รุ่น AP401UF และ Aquatek รุ่น Silver UF         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ได้แก่ Turbora รุ่น BUF-401N Filtex รุ่น FT-220 และ Mazuma  รุ่น AQ 50 UF  การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ UV มีรายละเอียด ดังนี้        เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Mazuma รุ่น AQ-5F-UVS และ Amway รุ่น eSpring         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Pure รุ่น DM 01 UV และ Filtex รุ่น FT-229         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ได้แก่ Turbora รุ่น 5PUVPRC Carina รุ่น CA-5UV และ Absolute รุ่น Ultraviolet & Ceramic        ผู้บริโภคสามารถใช้ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกรองเชื้อแบคทีเรียของครื่องกรองน้ำ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องกรองน้ำที่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตามควรพิจารณาคุณสมบัติและ ประสิทธิภาพอื่นๆ  ของเครื่องกรองน้ำประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการกรองโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และสารพิษอื่นๆ เช่น สารตกค้างจากยาฆ่าแมลง สารเคมีกำจัดวัชพืช ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำที่เราใช้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนได้         ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมีข้อแนะนำว่า  ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงเครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนามัย อันจะนำไปสู่การติดเชื้อและเจ็บป่วยจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน                                                                                                         โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า “ น้ำดื่มเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย โดยผู้บริโภค ควรมีสิทธิเข้าถึงน้ำดื่มน้ำใช้ที่มีความสะอาด ปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดี  การบริโภคน้ำจากแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำบาดาล หรือน้ำจากประปาอาจมีจุลินทรีย์เจือปนที่เป็นโทษต่อร่างกาย ประกอบกับน้ำประปานั้น แม้เป็นน้ำสะอาดที่สามารถนำมาอุปโภค บริโภคได้ตามที่การประปาประกาศ แต่กระบวนการส่งน้ำจากโรงกรองน้ำที่กว่าจะมาถึงท่อน้ำประปาแต่ละบ้านนั้นอาจจะมีสิ่งปลอมปนจากปัญหาท่อน้ำแตก ท่อน้ำบางช่วงเกิดตะกอนสะสมจนสกปรก หรือแม้แต่สิ่งสกปรกจากการซ่อมท่อน้ำได้เช่นกัน ดังนั้น การติดตั้งเครื่องกรองน้ำจึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ภายในครัวเรือนเพื่อสร้างความอุ่นใจในการบริโภคน้ำให้มากขึ้น  แต่ในปัจจุบันนั้น  มาตรฐานของเครื่องกรองน้ำ ที่กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. นั้น เป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับ ทำให้มีเครื่องกรองน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานวางจำหน่าย และผู้บริโภคก็ต้องเจอความเสี่ยงต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องกรองน้ำก็มุ่งหวังจะได้สินค้าที่ตัวช่วยเพื่อให้ได้บริโภคน้ำที่สะอาด ปลอดภัยมากขึ้น แต่ผู้บริโภคเองก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ขณะซื้อและหลังซื้อ ว่าเครื่องกรองน้ำตัวใดกรองเชื้อแบคทีเรียได้หรือไม่  อีกทั้งเครื่องกรองน้ำทุกวันนี้ เน้นทำโฆษณากับผู้บริโภคชวนเชื่อเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการกรองสิ่งเจือปนต่างๆ  ในเมื่อผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องกรองน้ำตามคำโฆษณาได้โดยง่าย จึงควรเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ออกมาตรฐานเครื่องกรองน้ำ เป็นมาตรฐานบังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคต่อสินค้าดังกล่าวด้วย  สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคเห็นว่า เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ประเด็นเครื่องกรองน้ำเป็นสินค้าที่จำเป็นที่หน่วยงานรัฐควรมีการกำกับดูแลและยกระดับมาตรฐานของสินค้าให้สูงขึ้น สภาฯจะมีการทำข้อเสนอแนะนโยบายไปยัง สมอ. เพื่อติดตามการกำหนดมาตรฐานบังคับของเครื่องกรองน้ำเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อไป         อ่านรายละเอียดผลทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (1) ระบบ RO https://www.chaladsue.com/article/3771 และ ผลการทดสอบประสิทธิภาพ การกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (2) ระบบ UF และ ระบบ UV https://www.chaladsue.com/article/3772        ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  ชนิษฎา โทรศัพท์ 0813563591

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อตรวจเวย์โปรตีน พบบางยี่ห้อมีโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

        ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน ไม่พบสเตียรอยด์ แต่ทดสอบพบ 2 ตัวอย่างมีปริมาณโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก แนะผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการทานเวย์โปรตีนที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์มากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ          นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ดำเนินการทดสอบนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และได้รับความปลอดภัยจากสินค้าหรือบริการ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 9 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่          ผลสำรวจพบว่า ไม่พบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) แต่พบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีนที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีนที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         จากผลสำรวจอาหารเสริมเวย์โปรตีนไม่ตรงตามการกล่าวอ้างบนฉลาก เข้าลักษณะอาหารปลอม กล่าวคือ อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ตามมาตรา 27 (4) และอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6 (2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละ 30 จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทําให้เกิดโทษหรืออันตราย ตามมาตรา 27 (5) ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อ่านผลการทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3716 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ พบสารกันเสียในยาแต้มสิว 1 ตัวอย่าง

        ฉลาดซื้อ เผยผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่(ยาแต้มสิว) พบสารกันเสีย 1 ตัวอย่าง แนะผู้บริโภคควรเลือกใช้ยาแต้มสิวให้เหมาะกับลักษณะและความรุนแรงของสิว เพื่อให้ได้ผลและลดความเสี่ยงการเกิดผลข้า         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่(ยาแต้มสิว) จำนวน 10 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2563 - มกราคม 2564 เพื่อสำรวจฉลากยาแต้มสิวเหล่านี้ว่ามีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังได้แก่ สารกันเสีย คือ พาราเบน (Paraben) และเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinon : MIT) และแอลกอฮอล์และน้ำหอม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการเลือกยาแต้มสิวให้เหมาะกับลักษณะและความรุนแรงของสิว         ผลสำรวจพบว่า ไม่พบสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังในการแสดงฉลากจำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ มิซึมิ เปปไทด์ แอคเน่ เจล และสมูทอี แอคเน่ ไฮโดรเจน พลัส พบพาราเบน (Paraben) 5 ตัวอย่าง ได่แก่ ดร.สมชายแอคเน่ สปอตทัช เจล, ยันฮี ครีมแต้มสิว, โปรวาเมด แอคเน่ สปอต เจล, เมนโทลาทั่ม แอคเน่ส์ ซีลลิ่ง เจล, เดอร์มาแองเจิ้ล แอคเน่ แคร์ อินเท็นซีฟ เจล พบเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinon : MIT) 1 ตัวอย่าง ได้แก่ จุฬาเฮิร์บ แมริโกลด์ แอคเน่ เจล พบแอลกอฮอล์ 6 ตัวอย่าง ได้แก่ โอลด์ร๊อค แอนตี้ แอคเน่ สปอต เจล พลัส, ดร.สมชายแอคเน่ สปอตทัช เจล, จุฬาเฮิร์บ แมริโกลด์ แอคเน่ เจล, ยันฮี ครีมแต้มสิว, เมนโทลาทั่ม แอคเน่ส์ ซีลลิ่ง เจล, เทริสเดย์ แพลนเทชั่น ที ทรี แอคเน่ เจล พบน้ำหอม 4 ตัวอย่าง ได้แก่ โอลด์ร๊อค แอนตี้ แอคเน่ สปอต เจล พลัส, จุฬาเฮิร์บ แมริโกลด์ แอคเน่ เจล, เมนโทลาทั่ม แอคเน่ส์ ซีลลิ่ง เจล, เดอร์มาแองเจิ้ล แอคเน่ แคร์ อินเท็นซีฟ เจลอ่านผลสำรวจฉลากยาแต้มสิว ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3691 ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ         การเลือกยาแต้มสิวมาใช้ผลัดสิวหลุด หยุดสิวโผล่ให้เห็นผลผู้บริโภคต้องรู้ก่อนว่าตัวเองเป็นสิวแบบไหน โดยปัญหาสิวส่วนใหญ่เกิดจากความมันส่วนเกินบนใบหน้าไปอุดตันรูขุมขน จนเกิดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการอักเสบตามมา ควรเลือกใช้ยาแต้มสิวให้เหมาะกับลักษณะและความรุนแรงของสิว เพื่อให้ได้ผลและลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ด้วย เพราะสารสำคัญในยาแต้มสิวมีหลายชนิดและออกฤทธิ์แตกต่างกัน

อ่านเพิ่มเติม >

เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือร่วมกับฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์หมูยอ

        เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือร่วมกับฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์หมูยอส่วนใหญ่ปลอดภัย เหมาะซื้อเป็นของฝาก         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายตามตลาดสด ร้านขายของฝากในจังหวัดภาคเหนือ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 30 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกันยายน 2563 ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid)         สรุปผลการทดสอบ พบว่า มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่ 1) บิ๊กซี หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ 2) บ้านไผ่ หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ  และ 3) ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ     มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่        1)  เอโร่ aro จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 6.34 มก./กก.        2)  เซฟแพ็ค Savepak จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 6.68 มก./กก.        3)  444 ตองสี่ จาก ร้านตองสี่ ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 860.23 มก./กก.         4)  ป้าปี๋ (ขนาดใหญ่ ซองสีแดงเหลือง)  พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  883.96 มก./กก.         และมีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกเกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ หมูยอ พญาลอ ตลาดแม่ทองคำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดซอร์บิก 1,652.41 มก./กก.        นางสาวพวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า “ การเก็บตัวอย่างหมูยอ ครั้งนี้เราสุ่มเก็บตัวอย่างหมูยอที่วางจำหน่ายตามตลาดสด ร้านขายของฝากในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับความร่วมมือจาก จังหวัด ได้แก่ พะเยา, แพร่, เชียงราย, สำปาง, ลำพูน และเชียงใหม่ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมจำนวน 30 ตัวอย่าง มีเพียง 1 ตัวอย่างที่พบปริมาณสารกันบูดเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งทางเครือข่ายภาคเหนือที่เป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่าง หลังจากทราบผลการวิเคราะห์ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดประชุมหารือกับสำนักงานสาธารณสุขภาคเหนือถึงแนวทางการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หมูยอให้ปลอดจากสารปนเปื้อน เพื่อความปลอดภัยกับผู้บริโภคในพื้นที่และเป็นของฝากในช่วงวันหยุดสงกรานต์นี้ ”         นอกจากนี้นิตยสารฉลาดซื้อสังเกตว่า โดย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศฯ ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิก ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีไว้ โดยอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม         ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) ไม่ได้กำหนดปริมาณของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ในอาหารประเภทหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว,เนื้อหมู,เนื้อไก่) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อนเอาไว้ ดังนั้นตามข้อกำหนดจึงไม่สามารถใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์หมูยอได้         จากการสังเกตเรื่องการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 27 ตัวอย่างที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีเพียง 11 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 40.74) ที่แสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์         จากการสังเกตข้อมูลวันผลิตและวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง มีเพียง 10 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 33.33) ที่แสดงข้อมูลวันผลิตหรือวันหมดอายุ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่างที่วางจำหน่ายในตลาดสด หรือร้านของฝาก ซึ่งไม่ได้มีการระบุวันผลิต วันหมดอายุ อาจเนื่องมาจากเป็นสินค้าที่ผู้ปรุงเป็นผู้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง แบบวันต่อวัน         จากการตรวจสอบข้อมูลเลขสารบบอาหาร พบว่า เลข อย.ที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่าง ตรวจไม่พบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ มีชื่อผลิตภัณฑ์ หรือ สถานที่ผลิต ไม่ตรงกับในระบบฐานข้อมูล        ข้อแนะนำในการบริโภค หากเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของฝากจำพวกหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น ไส้อั่ว ในเบื้องต้นผู้บริโภคอาจสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากไม่มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลาก อาจเป็นสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายแบบวันต่อวัน ซึ่งแม่ค้าปรุงและนำมาขายเอง ก็ให้สอบถามจากแม่ค้าดูว่ามีการใช้สารกันบูดหรือไม่         นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณที่พอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆ อีกด้วย        อ่านผลทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ www.chaladsue.com/article/3555

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ฉลาดซื้อ เปิดผลทดสอบครัวซองต์ ยี่ห้อไหนให้พลังงานสูง

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างครัวซองต์ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ และใกล้เคียง จำนวน 31 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์ค่าพลังงาน ไขมัน (ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว  ไขมันทรานส์) และปริมาณโซเดียม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เนื่องจากขนมอบชนิดนี้มีค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพลังงานจากไขมัน และยังเป็นการเฝ้าระวังเรื่องไขมันทรานส์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ปริมาณโซเดียมในขนมอบหรือเบเกอรีก็เป็นสิ่งทึ่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญและตระหนักรู้ ว่านี่คือแหล่งอาหารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณโซเดียมสูง แม้ไม่มีรสเค็ม         สรุปผลการวิเคราะห์ครัวซองต์มีดังนี้ ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 415 – 511 กิโลแคลอรี ตัวอย่างที่มีพลังงานมากที่สุด คือ ครัวซองต์ของร้าน KANOM  สาขา สามย่านมิตรทาวน์ มีพลังงาน 511 กิโลแคลอรี่ (Kcal) ตัวอย่างที่มีพลังงานน้อยที่สุดคือ ครัวซองต์จาก Big C  สาขาบางปะกอก  พลังงาน 415 กิโลแคลอรี่ (Kcal)         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าไขมันรวม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 21.6 – 33 กรัม  ค่าไขมันอิ่มตัว ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 9.53 – 19.83 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ขนมอบเบเกอรี่ที่มีปริมาณไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวที่สูง สำหรับไขมันทรานส์ ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 0.13 – 1.09 กรัม ทั้งนี้เมื่อนำมาคำนวณตามปริมาณในหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ชิ้น) พบว่ามี 3 ยี่ห้อ   ที่มีปริมาณไขมันทรานส์ เกิน 0.5 กรัม  ได้แก่ กาโตว์ เฮ้าส์ (0.56 กรัม/หน่วยบริโภค 52 กรัม) Au bon pain (0.60 กรัม/หน่วยบริโภค 58 กรัม) และ พรมารีย์ เบเกอรี (0.63 กรัม/หน่วยบริโภค 63 กรัม)         ส่วนปริมาณโซเดียมของครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่างนั้นมีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ในช่วง 244.83 – 522.26 มิลลิกรัม         สำหรับการตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ รศ.ดร.วันทนีย์  เกรียงสินยศ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปริมาณไขมันทรานส์ที่พบนั้นเป็นไขมันทรานส์จากธรรมชาติ”  องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization, FAO) แนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันทรานส์ต้องไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค) อย่างไรก็ตาม FAO ยังแนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่ไม่เกิน 10% ของค่าพลังงาน (หรือประมาณ 20 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 5 กรัมต่อมื้อ) ไว้ด้วย เนื่องจากตระหนักว่าไขมันทั้งสองประเภทยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น จึงต้องควบคุมปริมาณการบริโภคร่วมกัน”         แม้ประเทศไทยมีการแบนไขมันทรานส์ (ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะต้องไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 แล้ว แต่ไขมันทรานส์สามารถตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบบางชนิดที่ได้จากสัตว์เคี้ยวเอื้องซึ่งตามธรรมชาติมีไขมันทรานส์เป็นองค์ประกอบ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น  แต่ทั้งนี้แหล่งที่มาต้องไม่ใช่จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน        ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ส่วนใหญ่ให้พลังงานสูง โดยเฉพาะประเภทที่มีการใช้เนย/ครีมเป็นส่วนประกอบมาก มีทั้งไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่สูง การบริโภคเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงควรระมัดระวังไม่รับประทานมากเป็นประจำ         เพื่อสุขภาพที่ดีควรบริโภคผัก ผลไม้ ให้มากพอ เป็นประจำทุกวัน        อ่านบทความเต็มได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/3685         สนับสนุนการทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อให้ต่อเนื่องและยั่งยืนด้วยการสมัครเป็นสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อได้ที่ facebook แฟนเพจนิตยสารฉลาดซื้อ มลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือบริจาคสนับสนุนกิจกรรมทดสอบได้ที่ ธนาคารไยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 319-2-62123-1 และพบกับบูธนิตยสารฉลาดซื้อ O 07 (โอ ศูนย์ เจ็ด) ได้ที่งานหนังสือ ไบเทคบางนา ระหว่างวันที่ 17-25 เมษายน 2564 นี้

อ่านเพิ่มเติม >

“ฉลาดซื้อ” ทดสอบเครื่องฟอกอากาศ พบหลายแบรนด์ลด PM 2.5 ไม่ได้อย่างที่โฆษณา

        นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ร่วมกันทดสอบเครื่องฟอกอากาศ เน้นเฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5 โดยอ้างอิง มอก.3061 – 2563 ของเครื่องฟอกอากาศจำนวน 9 ยี่ห้อ ได้แก่  Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST, Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M), Licc รุ่น Fresh 241, Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  , Saijo Denki รุ่น AP-P35, SHIMONO รุ่น AP-9000, Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV, Tefal รุ่น PU6067, และ LG รุ่น AS60GDPV0 (เก็บตัวอย่างสินค้าเดือนกันยายน 2563) พบ 6 แบรนด์ไม่เป็นตามคำโฆษณา         ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 โดยพิจารณาจากค่าประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นในแง่อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate, CADR) สูงสุด ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Shimono รุ่น AP-9000 มีค่า CADR สูงสุด เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 71.36 ตารางเมตร และอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST ST เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 56.71 ตารางเมตร ในอันดับ 3 คือ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  โดยทั้ง 3 ยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 เป็นไปตามที่โฆษณาไว้อันดับ 4 Licc รุ่น Fresh 241 และอันดับ 5 LG รุ่น AS60GDPV0 อันดับ 6 คือยี่ห้อ Tefal รุ่น PU6067 อันดับ 7 คือยี่ห้อ Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M) อันดับ 8 คือยี่ห้อ Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV อันดับ 9 ยี่ห้อ Saijo Denki รุ่น AP-P35 แต่ขนาดห้องที่แนะนำ ทั้ง 6 ยี่ห้อ ไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้          การทดสอบเครื่องฟอกอากาศ (เฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5)        1.อ้างอิงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องฟอกอากาศเฉพาะด้านประสิทธิภาพการลด PM2.5 (มอก. 3061 – 2563) ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศสำหรับในที่อยู่อาศัยและงานที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน         2. ทดสอบในห้องที่มีการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศให้มีค่าน้อยที่สุดและมีการควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 μm (PM2.5) ที่สร้างให้มีค่าอยู่ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3         3. ฝุ่นที่ใช้ในการทดสอบใช้เครื่องสร้างฝุ่น TOPAS aerosol generator ATM 226 เพื่อสร้างฝุ่นจำลองขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.1-0.9 μm (ฝุ่นส่วนใหญ่มีขนาดอนุภาค 0.2 μm)        4. เครื่องวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ในการทดสอบนี้ คือ DUSTTRAK DRX AEROSOL MONITOR 8533         5. ห้องที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นละอองนี้มีขนาดห้อง 30.45 m3 [กว้าง×ยาว×สูง:3.53 m x 3.45 m x 2.50 m]                  ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า การบอกขนาดห้องที่เหมาะสมของเครื่องฟอกอากาศแต่ละยี่ห้อ จะมีความแตกต่างกัน บางยี่ห้อ บอกขนาดห้องที่เหมาะสม ในช่วงที่ค่อนข้างกว้าง เมื่อดูจากผลการทดสอบกว่าร้อยละ 60 ของตัวอย่างเครื่องฟอกอากาศที่นำมาทดสอบไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้         นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกระดับมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน ทั่วไปเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้า ที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ในการป้องกัน อันตรายจากการสูดดม ฝุ่นและควันมลพิษที่แพร่กระจายเข้ามาสู่ตัวบ้าน และสร้างผลกระทบทางสุขภาพกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เช่น ทารก เด็กเล็ก และผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจ         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด กล่าวว่า เรื่องมลพิษทางอากาศซับซ้อน ต้องจัดการร่วมกันหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับสังคม และต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกันการหาทางจัดการต้นเหตุ การสุ่มทดสอบเครื่องฟอกอากาศกลุ่มที่สองที่มีราคาแพงขึ้น กว่าครั้งแรกนี้ เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคในการปลุกพลังพลเมืองให้เป็นยามเฝ้าระวังแบบ citizen watchdog ในการปกป้องคนทุกกลุ่ม จากการกระทำที่ไม่ถูกต้อง         “ในขณะที่การจัดการที่ยั่งยืนจะต้องมีการแก้ไขระบบของรัฐที่กระจัดกระจายและขาดประสิทธิภาพ เราจึงจำเป็นต้องมีการเสนอกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน ที่เน้นการปฏิรูประบบบริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพของประชาชน โดยมีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน” ดร.นพ.วิรุฬ กล่าว                  ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org)                  ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเผยผลตรวจ ‘เครื่องดื่มผสมวิตามินซี’ ไม่พบปริมาณวิตามินซี 8 ตัวอย่าง และมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

วันนี้ 15 ธันวาคม 2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี แนะผู้บริโภครับประทานวิตามินซีจากผักหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือลูกหม่อนตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่        1) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)ขนาด 460 มล.(วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021)        2) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช ขนาด 150 มล.( วันผลิต 11-08-2020 / 10-08-2021  )        3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน  ขนาด 48 มล. ( วันผลิต12-06-2019 / 12-06-2021  )        4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. ( วันผลิต 07-03-2019 / 07-03-2021 )        5) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล. ( วันผลิต00-00-0000 / 03-10-2021 )        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร 100 ขนาด มล.( วันผลิต 02-09-2019 / 01-03-2021  )        7) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่ ขนาด 345 มล. ( วันผลิต 00-00-00 / 26-08-21 )และ 8) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล. ( วันผลิต09-11-2020 / 09-11-2021)          และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลาก มากกว่าหรือน้อยกว่า ร้อยละ 30 บนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 37 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลาก          ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคต่อวันตาม Thai RDI* (Thai Recommended Daily Intakes) อยู่ที่ 60 มิลลิกรัม โดยวิตามินซีสามารถสลายตัวได้ง่ายหากสัมผัสกับแสงหรือความร้อน แหล่งอาหารสำคัญที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคเพื่อให้ได้วิตามินซี คือ ผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ฝรั่ง หรือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และหม่อนอย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินซี ขนาดสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chaladsue.com* Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเปิดเผยผลทดสอบโลหะหนักจากปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ปลอดภัยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าทั่วไป โดยเก็บตัวอย่างเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 14 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว และแคดเมียม และสังเกตปริมาณโซเดียมบนฉลากนางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวสรุปผลการทดสอบว่า พบผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศจำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท*          ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน          *ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา            โดยประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง ก็ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของประกาศฯ ฉบับใหม่นี้เช่นกัน          ส่วนข้อสังเกตปริมาณโซเดียมนั้น จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ พบว่า ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อ สามแม่ครัว ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียม เท่ากับ 230 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ½ กระป๋อง (77 กรัม) และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุด คือ ยี่ห้อ ซูมาโก ซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 660 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ 1 กระป๋อง (125 กรัม)          ทั้งนี้ในแต่ละยี่ห้อมีปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำแตกต่างกันไป ตั้งแต่ ½ กระป๋อง (ประมาณ 77 กรัม) ถึง 1 กระป๋อง (ประมาณ 125 กรัม) ดังนั้นการพิจารณาปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากการบริโภค จึงต้องเปรียบเทียบหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำประกอบกันไปด้วย และ โดยทั่วไปปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของอาหารในกลุ่มอาหารบรรจุกระป๋อง ขวดแก้วที่ปิดสนิท หรือในซองอะลูมิเนียมฟอยล์ จำพวกเนื้อสัตว์ ปลา หอย ในซอส เช่น ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศอยู่ที่ 85 กรัม แม้ว่าปลากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก อยู่บ้างจากการสะสมในธรรมชาติ ซึ่งแม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น          ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือความเสี่ยงจากสารอันตรายที่เรียกว่า "ฮีสตามีน" ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยกรดอะมิโนในตัวปลา ในระหว่างการขนส่งและจัดเก็บปลาทะเลที่ควบคุมความเย็นได้ไม่มากพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอาการแพ้ฮีสตามีนได้ นอกจากนี้ ปลากระป๋องยังมีโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน หากบริโภคมากจนเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้อ่านข้อมูลและผลทดสอบได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ https://chaladsue.com/article/3499

อ่านเพิ่มเติม >

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >