เมี้ยว...เมี้ยว...เมี้ยว...นุดคนไหนเป็นทาสแมว มามุงกันตรงนี้เร็ว! ปัจจุบัน ราว 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศไทยมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน แน่นอนว่าต้องมีหลายบ้านที่เลี้ยงแมว และหลายคนไม่ได้เลี้ยงแบบคนรักสัตว์ทั่วไปเท่านั้น แต่ดูแลเหมือนลูกหรือสมาชิกในครอบครัวกันเลยทีเดียว โดยมีการสำรวจพบว่าทาสแมวพร้อมจ่ายเพื่อเลี้ยงเจ้าเหมียวเฉลี่ย 14,200 บาทต่อปี แบ่งเป็นค่าอาหารเม็ดทั้งปีอยู่ที่ 4,200 บาท (ที่มา : RS พฤศจิกายน 2564) หรือเดือนละ 350 บาท เอาละ ไหนๆ จะจ่ายทั้งทีแล้ว ก็ต้องเลือกอาหารเม็ดที่ดีมีคุณภาพให้เจ้าเหมียวแสนรักกันหน่อย นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก “อาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปีขึ้นไป” จำนวน 12 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมกราคม 2566 มาสำรวจฉลาก และส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษที่ไม่ควรมี และสารอาหารต่างๆ ที่ควรมีอย่างเหมาะสม เพื่อให้ทาสแมวใช้ตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเม็ดให้แมวสุดเลิฟได้อย่างคุ้มค่า ให้เจ้าเหมียวกินแล้วเติบโตสมวัยอย่างปลอดภัยด้วยสรุปผลการวิเคราะห์ สิ่งที่ตรวจหาในการเปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมวครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่มีน้อยยิ่งดี : สหภาพยุโรปกำหนดให้ในอาหารแมวมีไมโคทอกซิน HT-2 และ T-2 ได้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมว ส่วนองค์กรทดสอบระหว่างประเทศให้ข้อสังเกตไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 183 ว่าอาหารแมวไม่ต้องมีไฟเบอร์ก็ได้ เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากมีไฟเบอร์มากกว่า 1% หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน สรุปผลการทดสอบ - ไม่พบ HT-2 ในทุกตัวอย่าง - พบ T-2 ปริมาณน้อยกว่า 10 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ในยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท - ทุกตัวอย่างมีไฟเบอร์มากกว่า 1% ยี่ห้อมีโอ รสปลาทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 1.99% ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 4.17% 2. กลุ่มที่มีมากเกินไปไม่ดี : อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ European Pet Food Industry Federation (FEDIAF 2021) แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีโซเดียม 80 มิลลิกรัม(0.08 กรัม) และแมกนีเซียม 40 มิลลิกรัม(0.04 กรัม)(หากแมวได้รับโซเดียมมากเกินไปจะเสี่ยงเป็นโรคไต และถ้าได้แมกนีเซียมมากเกินไปอาจเป็นนิ่วในไตได้) สรุปผลทดสอบ - ทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมมากกว่า 80 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพียวริน่า ฟริสกี้ส์ รสรวมมิตรปลาทะเล มีมากที่สุด คือ 687.36 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 393.58 มิลลิกรัม - ทุกตัวอย่างมีปริมาณแมกนีเซียมมากกว่า 40 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพ็ทส์ เฟรนด์ รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 164.02 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 75.86 มิลลิกรัม 3. กลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี : อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ FEDIAF 2021 แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีทอรีน 100 มิลลิกรัม(0.10 กรัม) ทอรีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายแมวไม่สามารถผลิตเองได้ หากได้รับน้อยเกินไปอาจทำให้แมวตาบอด ขนหรือฟันร่วงก่อนเวลาอันควร รวมถึงมีความปกติของระบบสืบพันธุ์ โปรตีน 25 กรัม ไขมัน 9 กรัม แคลเซียม 400 มิลลิกรัม (0.40 กรัม) และฟอสฟอรัส 260 มิลลิกรัม (0.26 กรัม) สรุปผลทดสอบ - ทุกตัวอย่างมีทอรีนมากกว่า 100 มิลลิกรัม ยกเว้นยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า มี 93.19 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อที่มีทอรีนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 (197.09 มิลลิกรัม), วิสกัส รสปลาทูน่า (191.17 มิลลิกรัม) และมีโอ รสปลาทูน่า (187.90 มิลลิกรัม) - ทุกตัวอย่างมีโปรตีนมากกว่า 25 กรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุดคือ 35.44 กรัม ส่วนยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 มีน้อยที่สุด คือ 26.95 กรัม - ทุกตัวอย่างมีไขมันมากกว่า 9 กรัม ยี่ห้อแม็กซีม่า มีมากที่สุด คือ 22.4 กรัม ส่วนยี่ห้อเพ็ทส์เฟรนด์ รสทูน่า มีน้อยที่สุด คือ 10.1 กรัม - ทุกตัวอย่างมีแคลเซียมมากกว่า 400 มิลลิกรัม ยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุด คือ 2035.37 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 813.08 มิลลิกรัม - ทุกตัวอย่างมีฟอสฟอรัสมากกว่า 260 มิลลิกรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุด คือ 1382.41 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 695.47 มิลลิกรัม และเมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณอาหารเม็ดแมว 1 กรัม พบว่ายี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท ราคาแพงที่สุด คือ 0.38 บาท ส่วนยี่ห้อโลตัส รสปลาทูน่า ราคาถูกที่สุด คือ 0.08 บาท ข้อสังเกต - ฉลาดซื้อฉบับที่ 183 ได้เสนอผลทดสอบอาหารเม็ดสำหรับแมวโตเต็มวัย ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำร่วมกับห้องปฏิบัติการของสถาบันสัตวแพทย์แห่งชาติสวีเดนไว้ ซึ่งพบว่ามีไมโคทอกซิน มากถึง 180 ไมโครกรัม/กิโลกรัม แต่จากตัวอย่างอาหารแมวที่มีขายในบ้านเราครั้งนี้ตรวจพบไมโคทอกซิน ในยี่ห้อเดียวและมีปริมาณน้อยมาก อาจสะท้อนได้ว่าผู้ผลิตอาหารแมวใส่ใจในคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีไฟเบอร์มากกว่า 1 % ในทุกตัวอย่างเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว - ทุกตัวอย่างมีความชื้นไม่มากกว่าร้อยละ 14 ของน้ำหนัก ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้ - ทุกตัวอย่างระบุข้อมูลคุณภาพของอาหารสัตว์ทางเคมี (โปรตีน ไขมัน และกาก) ไว้ตรงกับผลวิเคราะห์ที่ได้จากห้องปฏิบัติการ มีเพียงยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า ที่ฉลากระบุว่ามีโปรตีนไม่น้อยกว่า 30% แต่ผลวิเคระห์ออกมาได้ 29.83% (ซึ่งน่าจะพออนุโลมกันได้) - ตัวอย่างส่วนใหญ่มีธัญพืชเป็นส่วนประกอบ ซึ่งแมวจะย่อยยากและอาจเกิดอาการแพ้ได้ ฉลาดซื้อแนะ - ก่อนซื้อทุกครั้ง ต้องหาเลขทะเบียนอาหารสัตว์ให้เจอ โดยสังเกตตัวเลข 10 หลักที่อยู่ด้านหลังซองอาหารแมว เพื่อแสดงว่าอาหารผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้ว จากนั้นดูส่วนผสมและสารอาหารว่ามีอะไรบ้าง มีสารปรุงแต่งที่ต้องระวังไหม แสดงปริมาณอาหารที่แนะนำต่อวันให้หรือเปล่า ถ้ามีมาตรฐานรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ยิ่งดี ที่สำคัญคือต้องระบุวันหมดอายุไว้ชัดเจน - อาหารเม็ดแมวมี 2 ประเภทหลัก ๆ คือสูตรโภชนาการครบถ้วนสำหรับแมวที่สุขภาพดี หาซื้อได้ทั่วไป และสูตรป้องกันโรคที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเฉพาะจุดสำหรับแมวป่วย ควรซื้อจากโรงพยาบาลสัตว์ และได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ก่อน - แม้ซื้ออาหารเม็ดแมวถุงใหญ่จะคุ้มกว่าถุงเล็ก แต่ถ้าเก็บไว้นานเกินไปจนทำให้กลิ่น รสชาติและสัมผัสของอาหารเม็ดเปลี่ยนไป แมวอาจไม่ยอมกิน ก็น่าเสียดาย จึงควรเลือกซื้ออาหารเม็ดแมวในปริมาณที่แมวสามารถกินหมดได้ภายใน 1 เดือนเพื่อรักษาความสดใหม่ไว้ - แมวแต่ละตัวมีโอกาสแพ้สารแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นธัญพืช โปรตีนจากสัตว์บางชนิด สารกันบูดและสารกันความชื้นต่าง ๆ หากสังเกตว่าแมวกินอาหารแล้วมีอาการผิดปกติ เช่นผื่นขึ้น ตุ่มขึ้น ตาบวม น้ำมูกน้ำตาไหล ให้เปลี่ยนอาหาร ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปรักษาและนำอาหารนั้นไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย - ไม่ควรซื้ออาหารแมวที่มีสีสันฉูดฉาดเกินไป เพราะอาจมีส่วนผสมที่ทำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไตได้ - ไม่ควรเทอาหารแมวค้างคืนหรือเททิ้งไว้นานจนเกินไป เพราะอาหารจะเสื่อมสภาพและเป็นแหล่งของเชื้อโรคแทนได้ - แม้แมวเป็นสัตว์กินเนื้อที่ไม่จำเป็นต้องได้รับไฟเบอร์สูงมากเท่าสัตว์กินพืช แต่ไฟเบอร์ก็มีประโยชน์สำหรับแมวที่มีปัญหาท้องผูก และแมวอ้วนลงพุงที่จำเป็นต้องลดน้ำหนักข้อมูลอ้างอิงhttps://europeanpetfood.org/wp-content/uploads/2022/03/Updated-Nutritional-Guidelines.pdfhttps://my-best.in.th/ (วิธีเลือกอาหารเม็ดแมว)https://www.talingchanpet.net/ (การอ่านฉลากอาหารสัตว์เลี้ยง)บทความ“Pet Parent” เลี้ยงสัตว์แบบเลี้ยงลูก กำลังมาแรง ในประเทศไทย โดย ลงทุนแมน
อ่านเพิ่มเติม >จากข้อมูลผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่าในปีนี้ประเทศไทยได้มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 หรือบริโภคไม่เกิน 700 - 800 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร ภายในปี พ.ศ. 2568 ฉลาดซื้อฉบับที่ 261 (พฤศจิกายน 2565) ได้สำรวจโซเดียมในถั่วอบเกลือ (1) พบปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ 250 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 38 กรัม ในฉบับนี้เราจะมาสำรวจต่อในกลุ่มถั่วเปลือกแข็ง (Nut) ซึ่งเป็นซูเปอร์ฟู้ดขวัญใจคนรักสุขภาพกัน นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วพิสทาชิโอ ถั่วอัลมอนด์ และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 19 ตัวอย่าง 11 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน และราคา นำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก จากผลิตภัณฑ์ถั่วอบเกลือ 19 ตัวอย่าง ได้แก่ ถั่วพิสทาชิโอ 5 ตัวอย่าง ถั่วอัลมอลด์ 5 ตัวอย่าง และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 9 ตัวอย่าง พบว่า - ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 160 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อทองการ์เด้น อัลมอนด์อบเกลือ (มีโพแทสเซียม 220 มิลลิกรัมด้วย) และเจดีย์คู่ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ส่วนยี่ห้อเปเล่ มะม่วงหิมพานต์อบเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ในขณะที่ยี่ห้อนัท เนเทอร์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ไม่มีโซเดียม (แต่มีโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม) - ปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 9 กรัม ในยี่ห้อเจดีย์คู่ พิสตาชิโออบเกลือ ส่วนยี่ห้อซันคิสท์ พิสทาชิโออบเกลือ และนัท วอร์คเกอร์ พิสทาชิโออบเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 3 กรัม - ยี่ห้อคาเมล พิสทาชิโออบรสธรรมชาติ ระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 40 กรัม ส่วนยี่ห้อซันคิสท์ พิสทาชิโออบเกลือ และนัท วอร์คเกอร์ พิสทาชิโออบเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 15 กรัม (ไม่รวมเปลือก) ราคาต่อปริมาณ เมื่อคำนวณความคุ้มค่าของราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อซันคิสท์ อัลมอนด์อบเกลือรสเค็มน้อย ราคาแพงสุดคือ 1.15 บาท ส่วนยี่ห้อสแนคทาวน์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ราคาถูกสุดคือ 0.67 บาท ตารางเปรียบเทียบผลสำรวจฉลากตัวอย่างถั่วอบเกลือ 2 กลุ่ม จากตารางนี้พบว่า ตัวอย่างถั่วกลุ่มเปลือกแข็ง (Nut) มีปริมาณโซเดียมและโปรตีนต่อหน่วยบริโภคน้อยกว่าตัวอย่างถั่วกลุ่ม (1) แต่มีราคาสูงสุดต่อปริมาณ 1 กรัมแพงกว่าประมาณ 4.4 เท่า ข้อสังเกต - มี 1 ตัวอย่างที่ได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” คือ ยี่ห้อนัท เนเทอร์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ไม่มีโซเดียม อย่างไรก็ตามพบว่ามีโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัม (ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม หรือ 633.33 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม) -เมื่อลองใช้เกณฑ์สัญลักษณ์ ”ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว ที่กำหนดให้มีโซเดียม ≤ 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม มาพิจารณาในกลุ่มตัวอย่างนี้จะพบว่า มี 2 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์นี้ ได้แก่ ยี่ห้อเปเล่ มะม่วงหิมพานต์อบเกลือ มี 31.25 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม และยี่ห้อซันคิสท์ อัลมอนด์อบเกลือรสเค็มน้อย มี 66.67 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม - มี 2 ตัวอย่างที่ไม่ระบุข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหารไว้บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อคาเมล เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ และยี่ห้อลูคาส เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วเกลือ ฉลาดซื้อแนะ - รสชาติเค็มๆ มันๆ ของถั่วอบเกลือ ทำให้ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลิน หากเผลอกินมากไปอาจได้รับพลังงานและโซเดียมเกินจำเป็นได้ ปริมาณที่แนะนำกันคือ 30 กรัมต่อวัน (ถั่วพิสทาชิโอ 30 เม็ด อัลมอนด์ 20 เม็ด และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 15 เม็ด อาจมากน้อยกว่านี้นิดหน่อยได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเมล็ดถั่วด้วย) - แม้ไม่มีคำว่าเกลือในชื่อก็ไม่แน่ว่าจะไม่มีโซเดียม จึงควรพิจารณาส่วนประกอบและข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยโรคไตและความดันสูง - ถ้าเลือกได้ ควรเลือกถั่วอบที่ไม่ปรุงรสใดๆ เลย จะดีต่อสุขภาพมากที่สุด - ควรเคี้ยวถั่วให้ละเอียดก่อนกลืน โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ หากเป็นถั่วเปลือกแข็งเมล็ดใหญ่ควรตำหรือบดให้เล็กลง เพื่อป้องกันการติดคอ สำลัก หรือฟันหักได้ - หากซื้อถั่วถุงใหญ่ ควรแบ่งบริโภคให้พอเหมาะ และเก็บถั่วที่เหลือในภาชนะที่ปิดมิดชิด วางไว้ในที่แห้ง หลีกเลี่ยงแสงแดดและความชื้นข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.th (เลือกกิน “ถั่ว” ให้ถูก ดีต่อสุขภาพแน่นอน)https://www.pobpad.com (ถั่วพิสตาชิโอ อาหารลดน้ำหนักและบำรุงสุขภาพ/ กินอัลมอนด์อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ/ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ของว่างเปี่ยมคุณค่าทางโภชนาการ)
อ่านเพิ่มเติม >จากข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดขนมขบเคี้ยวประเภท “ถั่ว” ในประเทศไทย ย้อนไปเมื่อปี 2562 อยู่ที่ 12.3% มูลค่าประมาณ 4,562 บาท เป็นลำดับ 3 รองจากมันฝรั่งและขนมขึ้นรูป (ที่มา:Marketeer ) แต่เชื่อว่าด้วยกระแสความนิยมบริโภคโปรตีนจากพืชที่ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่องอยู่ตอนนี้ หากถามถึงของว่างกินเล่นเพื่อสุขภาพในดวงใจของหลายๆ คนแล้ว ถั่วต่างๆ น่าจะมาวินอย่างแน่นอน เพราะในถั่วแต่ละชนิดนั้นมีโปรตีนสูง ไขมันชนิดดี เส้นใยอาหาร และวิตามินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สำคัญอร่อยเคี้ยวเพลิน ทว่าในถั่วที่ผ่านการปรุงรสต่างๆ อย่าง “ถั่วอบเกลือ” รสชาติเค็มๆ มันๆ นั้น หากเคี้ยวเพลินเกินพอดี ร่างกายอาจเสี่ยงได้รับโซเดียมปริมาณสูงและส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ถัวปากอ้า(ถั่วฟาบา) และถั่วเขียวเลาะเปลือก ซึ่งผู้บริโภครู้จักกันดี หาซื้อง่ายและราคาถูก จำนวน 13 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน พลังงานและราคานำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก จากผลิตภัณฑ์ถั่วอบเกลือ 13 ตัวอย่าง ได้แก่ ถั่วลิสง 6 ตัวอย่าง ถั่วลันเตา 3 ตัวอย่าง ถั่วปากอ้า 3 ตัวอย่าง ถั่วเขียวเลาะเปลือก(ถั่วทอง) 1 ตัวอย่าง พบว่า - ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 250 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อโก๋แก่ ถั่วลิสงเยื่อแดงโรยเกลือ และพี่รี่ ถั่วลันเตาอบกรอบ รสดั้งเดิม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ มีน้อยที่สุด คือ 20 มิลลิกรัม (แต่มีโพแทสเซียม 320 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค) - ปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 18 กรัม ในยี่ห้อมารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายัน ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วปากอ้าอบเกลือ และถั่วฟาบาโรยเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 6 กรัม - ยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลันเตาเขียวอบเกลือ ระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 45 กรัม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วฟาบาโรยเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 25 กรัมราคาต่อปริมาณ เมื่อคำนวณความคุ้มค่าของราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ราคาแพงสุดคือ 0.26 บาท ได้แก่ยี่ห้อโก๋แก่ ถั่วลิสงอบเกลือ และทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือข้อสังเกตน่าสนใจ - ด้านการแสดงฉลากโภชนาการ พบว่า การแสดงปริมาณค่าพลังงานทั้งหมดของ มารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายัน น่าจะให้ข้อมูลผิด โดยเมื่ออ่านฉลากโภชนาการด้านหลังซอง ระบุ ค่าพลังงานทั้งหมด (ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม) คือ 520 กิโลแคลอรี แต่ในสัญลักษณ์ด้านหน้า (รูปกระบอก) ระบุว่า ทั้งซอง (ปริมาณบรรจุ 160 กรัม) ซึ่งแบ่งบริโภค 5 ครั้งนั้น มีพลังงานรวม 1040 กิโลแคลอรี หมายความว่า เมื่อหารด้วย 5 ค่าพลังงานต่อหน่วยบริโภคจะเท่ากับ 280 กิโลแคลอรีเท่านั้น และเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นก็พบว่ามีความสอดคล้องกันว่าน่าจะเป็นการแสดงฉลากผิดพลาด ทำให้ข้อสังเกตส่งผลถึงเรื่องปริมาณของโซเดียมด้วย เพราะด้านหน้าของซองระบุปริมาณโซเดียม 130 มิลลิกรัมหากนำมาหารด้วยหน่วยบริโภคคือ 5 ครั้ง ควรมีค่าโซเดียมในฉลากโภชนาการเพียงแค่ 26 มิลลิกรัมแต่ในฉลากโภชนาการด้านหลังกลับระบุว่า 65 มิลลิกรัม -เมื่อลองใช้เกณฑ์สัญลักษณ์ ”ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว ที่กำหนดให้มีโซเดียม ≤ 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม มาพิจารณาในกลุ่มตัวอย่างนี้จะพบว่า ยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่มีปริมาณโซเดียมเข้าเกณฑ์นี้ คือ 52.63 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม อย่างไรก็ตามพบว่ามีโพแทสเซียมอยู่ 320 มิลลิกรัม (ต่อหน่วยบริโภค 38 กรัม หรือ 842 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมต้องระวัง ฉลาดซื้อแนะ - ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ -ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95 มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน 40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน 50-150 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวเกินวันละ 2 มื้อ - หากซื้อถุงใหญ่ แนะนำให้แบ่งใส่ภาชนะแต่พอดี แล้วปิดถุง เก็บไว้ไกลมือ จะได้ไม่เผลอหยิบเข้าปากเคี้ยวเพลินจนหมดถุง เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น - ถั่วลิสงมีโปรตีนสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วปากอ้า ถั่วเขียวเลาะเปลือก และถั่วลันเตา ตามลำดับ - ถั่วปากอ้ามีเส้นใยอาหารสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วลันเตา ถั่วลิสง และถั่วเขียวเลาะเปลือก ตามลำดับ ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thairath.co.th ("โรคแพ้ถั่วปากอ้า" หรือ "ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD" โรคที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้)https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1365(มารู้จักโซเดียมกันเถอะ)https://planforfit.com (เลือกถั่วให้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง)https://www.gourmetandcuisine.com(ถั่วกับประโยชน์ต่อสุขภาพ)http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=756 (กินถั่วอย่างไร ได้ประโยชน์สูงสุด)https://www.pobpad.com (อาหารโปรตีนสูง ทางเลือกโภชนาการเพื่อสุขภาพ)
อ่านเพิ่มเติม >เยลลี่เหลวที่บรรจุในถุงพร้อมดื่ม มีทั้งที่ระบุว่าเป็น “ขนมเยลลี่คาราจีแนน” “ขนมเยลลี่คาราจีแนนและบุก” “วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนน” หรือ“วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนนแบบผสมบุกผง” ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้อิ่มท้อง จนหลายคนเลือกดื่มเยลลี่เหลวแบบนี้เพื่อควบคุมน้ำหนัก เพราะอร่อย หาซื้อง่ายและราคาถูก ข้อมูลจากเอซี นีลเส็น (AC Nielsen) เผยว่า “ตลาดเยลลี่พร้อมดื่ม” มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยอยู่ที่ 9% ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่เรามักเห็นเยลลี่พร้อมดื่มหลายสูตรและหลายรสชาติ วางเรียงอยู่ในตู้แช่ของร้านสะดวกซื้ออย่างละลานตา ชนิดที่ว่าเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว ในปัจจุบันผู้ผลิตยังแข่งกันชูจุดขายด้านสุขภาพและความงาม โดยเน้นเป็นสูตรน้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำและยังพ่วงผสมวิตามินต่าง ๆ คอลลาเจน ไฟเบอร์และสารอาหารอื่นๆ เพิ่มเข้าไปด้วย นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มจำนวน 22 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกชื้อได้ถูกปาก ปลอดภัยและคุ้มค่า ผลการสำรวจฉลากในส่วนประกอบ พบว่า 1.สัดส่วนของปริมาณน้ำผลไม้ มากที่สุดคือ 30 % มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ คอลลาเจน , วิตามิน A ,C, E และแบล็คเคอร์แร้นท์ น้อยที่สุดคือ 8% มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A, วิตามินรวมและวิตามิน C+B 2.วัตถุกันเสีย 18 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้ ( คิดเป็น 81.82 % ของตัวอย่างทั้งหมด ) และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิม, กลิ่นแอปเปิ้ล ฮันนี่ และบลู วิตามิน เยลลี่ ส่วนเจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ระบุไว้ชัดเจนว่า”ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” 3.วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล 19 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้ (คิดเป็น 86.36% ของตัวอย่างทั้งหมด) และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E และนูริช เมท แอลคาร์นิทีนและคอลลาเจน ในส่วนฉลากโภชนาการ (ปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภค) พบว่า 1.พลังงาน มากที่สุดคือ 60 กิโลแคลอรี มี 5 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ,เซ็ปเป้บิวติเจลลี่ คอลลาเจน , กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ , นูริช เมท ฝรั่งชมพูและแอลคาร์นิทีน ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือ 20 กิโลแคลอรี 2.น้ำตาล มากที่สุด 14 กรัม คือ กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ มีน้อยที่สุด 3 กรัม คือ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E 3.โซเดียม มากที่สุดคือ 75 มิลลิกรัม ได้แก่ ซี-วิต เยลลี่ รสส้มและรสเลมอน น้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ได้แก่ เจเล่ ไลท์ เฟรช์ชี่ กลิ่นสตรอเบอรี่และกลิ่นบลูเบอร์รี่ ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A และเซ็ปเป้บิวติเจลลี่ ไฟเบอร์ ระบุว่าไม่มี เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า แพงที่สุดคือ 0.12 บาท (8 ตัวอย่าง) ถูกที่สุดคือ 0.06 บาท (2 ตัวอย่าง) ข้อสังเกต - น้ำองุ่นขาว (จากองุ่นขาวเข้มข้น) เป็นน้ำผลไม้ที่นิยมใช้ในส่วนประกอบมากที่สุด (17 ตัวอย่าง) - เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิมและกลิ่นแอปเปิ้ลฮันนี่ ระบุคำเตือนถึงผู้ที่มีสภาวะฟินิลคีโตนูเรียไว้ว่า ผลิตภัณฑ์มี “ฟินิลอลานีน” - เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ระบุว่าไม่ใช่อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก - 9 ตัวอย่าง มีปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หน่วยบริโภค ตั้งแต่ 10 -14 กรัม ใน 1 วัน เราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 24 กรัม ดังนั้นถ้าเราดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาล 14 กรัมต่อถุง ไป 2 ถุง เราก็จะได้รับน้ำตาลมากเกินไป ยังไม่นับว่ารวมถึงอาหารอื่นๆ ที่รับประทานในหนึ่งวันด้วย ฉลาดซื้อแนะ - หากต้องการลดน้ำหนัก ควรพิจารณาฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะเยลลี่แต่ละยี่ห้อดื่มแล้วอิ่มท้องพอกัน แต่หากเผลอเลือกดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาลสูง อาจยิ่งเพิ่มความอ้วนได้ - ไม่ควรดื่มเยลลี่แทนมื้ออาหารหลักเพื่อลดน้ำหนัก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ - จากตัวอย่างเยลลี่พร้อมดื่มส่วนใหญ่ใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จึงไม่ควรดื่มปริมาณมากๆ บ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดการสะสมของสารสังเคราะห์เหล่านี้ จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ -ในแต่ละวัน ถ้าเราได้รับวัตถุกันเสียในปริมาณน้อย ร่างกายจะสามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากได้รับในปริมาณมากทุกวัน ตับและไตจะต้องทำงานหนักขึ้น และหากกำจัดออกไปไม่หมด ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ลดลง และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตับและไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการใส่วัตถุกันเสียหรือบริโภคแต่น้อย น่าจะดีต่อสุขภาพที่สุด -ผู้บริโภคที่แพ้ปลา ควรหลีกเลี่ยงเยลลี่พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนจากปลา -หากเคยดื่มเยลลี่แล้วมีอาการปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ให้สันนิษฐานว่ากระเพาะอาหารของคุณอาจไวต่อคาราจีแนน ทั้งนี้จากผลศึกษาเปรียบเทียบ 45 รายการโดยศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐ (National Center for Biotechnology Information: NCBI) เมื่อปี 2001 สรุปว่าการกินคาราจีแนนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อมะเร็งระบบทางเดินอาหารและลำไส้อักเสบ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 158 เยลลี่ กับสารกันบูดhttps://consumerthai.org (เรื่อง ปลอดภัยไหม..เมื่อต้องกินอาหารที่แถมสารกันบูด)https://www.thansettakij.com/business/marketing/539834https://brandinside.asia/jelly-for-beauty-and-healthy/https://waymagazine.org (เรื่อง คาร์ราจีแนน ภัยเงียบในกระเพาะอาหาร)
อ่านเพิ่มเติม >กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มเป็นที่นิยมแพร่หลาย เพราะหาซื้อง่ายในราคาที่จ่ายได้ เปิดปุ๊บ ดื่มปั๊บ ตาสว่างปิ๊ง มีรสชาติให้เลือกตามชอบ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คอกาแฟทุกเพศ ทั้งในกลุ่มนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน คนทำงานเป็นกะ พนักงานออฟฟิศ ไปจนถึงระดับผู้บริหาร ในปี 2562 ตลาดกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มมีมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท เติบโต 2.3% จาก 5 ปีย้อนหลัง ตลาดโตเฉลี่ย 3.4% มีสัดส่วน 45% ของตลาดกาแฟทุกหมวดหมู่ แม้ในปี 2563 คนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน ทำให้ตลาดเติบโตลดลง -5% มีมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น (ที่มา: https://www.brandage.com/article/23891/Nescafe) ดังจะเห็นว่าตอนนี้มีหลายบริษัทจัดแคมเปญการตลาดและออกกาแฟสูตรใหม่ๆ มาแข่งขันกันเต็มที่ ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อโดยพิจารณาที่ปริมาณคาเฟอีน รสชาติ และผลกระทบต่อสุขภาพควบคู่กับการตลาดที่โดนใจด้วย นิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งดำเนินโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับ สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม” จำนวน 13 ตัวอย่าง 4 ยี่ห้อ เมื่อเดือนกันยายน 2565 มาสำรวจฉลากดูปริมาณคาเฟอีน พลังงาน น้ำตาลและราคา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค ผลการสำรวจฉลาก “กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม” 13 ตัวอย่าง - ปริมาณ คาเฟอีนต่อ 100 มิลลิลิตร มากที่สุดคือ 90 มิลลิกรัม ในยี่ห้อเนสกาแฟ โรบัสต้า แบล็ค โรสต์และน้อยที่สุดคือ 39.2 มิลลิกรัม ในยี่ห้ออาราบัส สูตรคาราเมลมัคคิอาโต้ - ปริมาณ คาเฟอีนต่อกระป๋อง/ถ้วย ยี่ห้อเนสกาแฟ ทริปเปิล เอสเปรสโซ มีมากที่สุดคือ 176 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้ออาราบัส สูตรคาราเมลมัคคิอาโต้ มีน้อยที่สุดคือ 78.4 มิลลิกรัม - ปริมาณน้ำตาลต่อกระป๋อง/ถ้วย มากที่สุดคือ 18 กรัม ในยี่ห้ออาราบัส สูตรมอคค่า และสูตรคาราเมลมัคคิอาโต้ ส่วนยี่ห้อเบอร์ดี้ โรบัสต้า โลว์ชูการ์ มีน้อยที่สุดคือ 4 กรัม - ปริมาณพลังงานต่อกระป๋อง/ถ้วย มากที่สุดคือ 150 กิโลแคลอรี ในยี่ห้อทรู คอฟฟี่ ซิกเนเจอร์ ลาเต้, อาราบัส สูตรมอคค่า และสูตรคาราเมลมัคคิอาโต้ ส่วนยี่ห้อเบอร์ดี้ โรบัสต้า โลว์ชูการ์ มีน้อยที่สุดคือ 45 กิโลแคลอรี - เทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่าราคาแพงสุดอยู่ที่ 0.2 บาท คือยี่ห้อทรูคอฟฟี่ ซิกเนเจอร์ ลาเต้ ส่วนราคาถูกสุดอยู่ที่ 0.08 บาท ได้แก่ยี่ห้อ อาราบัส เอสเพรสโซผสมน้ำมะพร้าวแท้, ยี่ห้อเบอร์ดี้ สูตรโรบัสต้า สูตรโรบัสต้า โลว์ชูการ์ และสูตรลาเต้ น้ำตาลน้อยกว่า และยี่ห้อเนสกาแฟ สูตรเอสเปรสโซ โรสต์ สูตรลาเต้ และสูตรโรบัสต้า แบล็ค โรสต์ .............ข้อสังเกต - มี 5 ตัวอย่างที่มีสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ได้แก่ ยี่ห้อเบอร์ดี้ สูตรโรบัสต้า สูตรโรบัสต้าโลว์ชูการ์ และลาเต้ น้ำตาลน้อยกว่า และยี่ห้อเนสกาแฟ สูตรเอสเปรสโซ โรสต์ และโรบัสต้า แบล็ค โรสต์ - ยี่ห้อเบอร์ดี้ โรบัสต้า โลว์ชูการ์ มีราคาถูกที่สุด มีพลังงานและน้ำตาลต่อกระป๋องน้อยที่สุด - ยี่ห้ออาราบัส สูตรคาราเมลมัคคิอาโต้ มีคาเฟอีนต่อถ้วยน้อยที่สุด มีพลังงานและน้ำตาลต่อถ้วยมากที่สุด - มี 8 ตัวอย่าง ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คิดเป็น 61.54 % ของตัวอย่างทั้งหมด - สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้มากที่สุด คือ แอซีซัลเฟมโพแทสเซียม รองลงมาคือซูคราโลส และสติวีออลไกลโคไซต์ ตามลำดับ - เมื่อนำผลจากฉลาดซื้อฉบับที่ 192 (ปี 2557) ที่เคยสำรวจ “ปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม” มาเทียบกัน พบการเปลี่ยนแปลงใน 2 ตัวอย่าง คือยี่ห้ออาราบัส สูตรลาเต้ มีคาเฟอีนต่อ100 มิลลิลิตร ลดลงจาก 45.4 เป็น 44.4 มิลลิกรัม และยี่ห้อเนสกาแฟ เอสเปรสโซ โรสต์ มีน้ำตาลต่อกระป๋องลดลงจาก 16 กรัม เป็น 11 กรัม ตารางเปรียบเทียบผลสำรวจปี 2557 และ ปี 2565ปีที่สำรวจจำนวนตัวอย่างมีปริมาณคาเฟอีน(มิลลิกรัม) ต่อ 100 มิลลิลิตรมีปริมาณน้ำตาล(กรัม)ต่อกระป๋อง/ถ้วยพ.ศ. 255726 ตัวอย่าง19 ยี่ห้อ29 - 91.1 มิลลิกรัม14 - 49 กรัมพ.ศ. 256513 ตัวอย่าง4 ยี่ห้อ39.2 - 90 มิลลิกรัม4 - 18 กรัม จากตารางเปรียบเทียบนี้จะเห็นว่า ผ่านมาเกือบ 8 ปี ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม 100 มิลลิลิตรนั้นไม่ต่างจากเดิมมากนัก ในขณะที่ปริมาณน้ำตาลต่อกระป๋อง/ถ้วยน้อยที่สุดลดลง 3.5 เท่าและปริมาณน้ำตาลต่อกระป๋อง/ถ้วยมากที่สุดนั้นลดลงประมาณ 2.7 เท่า (อาจเนื่องจากมีการปรับสูตรเป็นการเติมสารให้ความหวานแทนน้ำตาล) ฉลาดซื้อแนะ - ควรอ่านฉลากเพื่อดูส่วนประกอบ ข้อมูลโภชนาการและคำแนะนำเฉพาะของแต่ละผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง - ใน 1 วัน ร่างกายควรได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 300 – 400 มิลลลิกรัม และน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัมทั้งนี้แต่ละวันเรายังได้รับคาเฟอีนและน้ำตาลจากอาหารอื่นๆ ด้วย คำแนะนำบนผลิตภัณฑ์คือ ไม่ควรบริโภคกาแฟปรุงสำเร็จเกินวันละ 2 กระป๋อง/ถ้วย จึงไม่ควรละเลย - ควรเลือกประเภทที่น้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำ โดยอาจใช้เกณฑ์ของสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” มาพิจารณาในเบื้องต้นได้ เช่น ในปริมาณ 100 มิลลิลิตร ควรมีน้ำตาล ≤ 6 กรัม พลังงาน ≤ 60 กิโลแคลอรี และ ≤ 40 กิโลแคลอรี กรณีสูตรมีน้ำตาลและวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล - ใครที่ชื่นชอบดื่มกาแฟรสชาติหวานๆ มันๆ ควรเลี่ยงหรือลด และควรออกกำลังกายด้วยเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากร่างกายมีน้ำตาลและไขมันสะสมมากเกินไป - เลือกบรรจุภัณฑ์ที่นำไปรีไซเคิลได้ เพื่อลดปริมาณขยะข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 192 “ปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม”https://healthierlogo.com (หลักเกณฑ์ของกลุ่มผลิตภัณฑ์-กลุ่มเครื่องดื่ม)
อ่านเพิ่มเติม >ข่าวเด็กป่วยจากการกินขนมผสมกัญชา ซึ่งมีการเปิดเสรีให้นำมาผสมในอาหารได้นั้น ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ปกครองว่าวันใดวันหนึ่งบุตรหลานของตนอาจจะต้องประสบกับปัญหาการบริโภคอาหารที่มีการผสมกัญชา โดยไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลย ไม่เพียงเท่านั้นการเปิดกว้างแบบเสรีของการอนุญาตให้ใช้กัญชา ทำให้ประชาชนสามารถการเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้จะพบว่ามีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าแปรรูปที่มีส่วนผสมของกัญชาวางขายในท้องตลาดทั่วไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด เป็นต้น โดยสินค้าทั้งน้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมต่างๆ ไม่ได้ระบุ ข้อห้ามของการจำหน่าย คำเตือนภัย อันตรายต่างๆ สำหรับการจำหน่ายสำหรับเด็ก อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร จึงทำให้กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการบริโภคสินค้าดังกล่าวโดยไม่รู้โทษภัยของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ จึงเป็นที่มาของการร่วมกันทำงานระหว่าง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก และนิตยสารฉลาดซื้อ จากโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. วิธีการศึกษา ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่จำหน่ายในท้องตลาด โดยแบ่งการสำรวจเก็บตัวอย่างสินค้า เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ กลุ่มที่ 2 ตลาดนัด ร้านค้าริมทาง และ กลุ่มที่ 3 ร้านค้าออนไลน์ กำหนดพื้นที่ในการสำรวจ เขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดนครปฐม สำรวจว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายนั้น มีป้ายเตือน คำเตือนหรือฉลากเตือนหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาของเด็กและสตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และจัดทำเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยสาธิต ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดลสำรวจเดือน กรกฎาคม 2565 ข้อเสนอ 1.ควรกำกับดูแลให้มีแสดงคำเตือนผู้บริโภคบนฉลากสินค้า ตลอดจนฉลากคำเตือนและฉลากห้ามจำหน่ายในบริเวณหรือพื้นที่ ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ ชั้นวางสินค้าหรือแคชเชียร์ หน้าจอแสดงสินค้าบนแอพพลิเคชันต่างๆ 2.หน่วยงานด้านการศึกษา ควรจัดให้มีมีกิจกรรมสอนให้เด็กได้ทำความรู้จักกับใบกัญชา เรียนรู้เรื่องโทษจากใบกัญชา มีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการเลือกซื้อขนมที่ปลอดภัย ไม่มีส่วนผสมของกัญชา
อ่านเพิ่มเติม >โกโก้ และ ช็อกโกแลต เป็นเครื่องดื่มที่คนทุกเพศทุกวัยทั่วโลกต่างนิยมชมชอบ นอกจากกลิ่นหอมและรสชาติอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังมีผลวิจัยว่าช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินที่เป็นสารแห่งความสุขและสารบรรเทาอาการปวดตามธรรมชาติด้วย ในเมล็ดโกโก้ที่เป็นส่วนประกอบหลักนั้นมีสารสำคัญหลายชนิดที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น คาเฟอีน อัลคาลอยด์ ทีโอโบรมีน และโพลีฟีนอล ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ขับปัสสาวะ ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ รวมถึงมีสารฟลาโวนอล (Flavonols) ที่ช่วยส่งผลให้ประสิทธิภาพความจำและการทำงานของสมองเพิ่มสูงขึ้นด้วย ตามมาตรฐานเลขที่ มอก.1137-2550 ได้กำหนดคุณภาพโกโก้ผงสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมไว้และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ.2527) เรื่อง ช็อกโกแลต ข้อ 1 ระบุให้ช็อกโกแลตเป็นอาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ผงโกโก้” จำนวน 12 ตัวอย่าง และ “ผงช็อกโกแลตชงดื่มปรุงสำเร็จ” จำนวน 10 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซื้อจากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมาณฑล เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและข้อมูลโภชนาการ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกว่ายี่ห้อไหนจะคุ้มค่าสำหรับคุณผลการสำรวจฉลาก จากผลิตภัณฑ์ผงโกโก้ 12 ตัวอย่าง พบว่า - ทุกตัวอย่างแสดงส่วนประกอบว่ามี ผงโกโก้ 100% - มี 1 ตัวอย่างที่ระบุว่ามีวัตถุเจือปนอาหาร คือ ยี่ห้อแวน ฮูเต็นเมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อนูทริริสแพงที่สุดคือ 1.80 บาท ยี่ห้อโกโก้ฮัทถูกที่สุดคือ 0.36 บาท จากผลิตภัณฑ์ผงช็อกโกแลตชงดื่มปรุงสำเร็จ 10 ตัวอย่าง พบว่า - มี 2 ตัวอย่างที่มีโกโก้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 25% ได้แก่ ยี่ห้อตาลบุรี โกโก้มอลต์ 3 อิน 1 (40%) และฟอร์แคร์บาลานซ์ (36.5%) - มี 6 ตัวอย่างที่มีไขมันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 25% ได้แก่ ยี่ห้อคาเฟ่ อเมซอน ดาร์กช็อก (48%), โกโก้ดัทช์ เครื่องดื่มโกโก้ 3 in 1 (42%), คาเฟ่อเมซอน คลาสสิกช็อก (38%), แวน ฮูเต็น มิลค์ช็อกโกแลต ดริ้งค์ (36%), เบลนดี้ โกโก้ (36%) และฟอร์แคร์บาลานซ์ (31%) - ทุกตัวอย่างมีส่วนประกอบที่ระบุว่า “น้ำตาล” ไม่เกิน 55% แต่หากรวมปริมาณสารให้ความหวานทั้งหมดที่ให้พลังงานในชื่ออื่นๆ ด้วย จะพบว่ายี่ห้อเนสท์เล่ ริช มิลค์ ช็อคโกแลตมีถึง 64% - มี 3 ตัวอย่างที่ใช้วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล ได้แก่ ยี่ห้อโกโก้ดัทช์ เครื่องดื่มโกโก้ 3 in 1, เนสท์เล่ ริช มิลค์ ช็อคโกแลต และเบลนดี้ โกโก้ เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่ายี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ แพงที่สุดคือ 0.98 บาท (ซองละ19.67บาท) ยี่ห้อโอวัลติน ไฟน์เนสท์ โกโก้ ถูกที่สุดคือ 0.34 บาท (ซองละ 10 บาท)ฉลาดซื้อแนะ - ก่อนซื้อทุกครั้ง สังเกตเครื่องหมาย อย. อ่านฉลากดูส่วนประกอบสำคัญ ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิตหรือนำเข้า วันที่ผลิต-วันหมดอายุ และข้อมูลโภชนาการ (ถ้ามี) - การบริโภคโกโก้และช็อกโกแลตอาจเกิดโทษต่อร่างกายได้ หากเติมน้ำตาลและไขมันเพิ่มเข้าไปมากๆ - การซื้อผงโกโก้ 100% มาชงดื่มเอง จะทำให้ควบคุมปริมาณน้ำตาลและไขมันได้ตามใจ โดยหลังจากเปิดใช้แล้วควรเก็บในภาชนะทึบแสงที่ปิดฝาสนิท วางไว้ในอุณหภูมิห้องปกติ และจดวันหมดอายุกำกับไว้ด้วย หรือหากจะนำผงโกโก้มาทำขนม ควรเลือกชนิดไขมันสูง - หลายคนเลือกซื้อผงช็อกโกแลตชงดื่มปรุงสำเร็จแบบซอง เพราะสะดวกและรสชาติหวานมันอร่อย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีน้ำตาลและไขมันสูง จึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ข้อมูลอ้างอิงhttps://my-best.in.th/50588https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/472345http://oryor.com
อ่านเพิ่มเติม >น้ำผึ้ง เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมด้วยเชื่อมั่นในสรรพคุณที่ค่อนข้างเด่นทั้งในด้านอาหารที่มีสารอาหารที่ดี แหล่งน้ำตาลที่ดี ตลอดจนสรรพคุณด้านเภสัชวิทยาที่ให้ผลในการรักษาในหลายอาการ แต่ก็อาจทำให้พะวงในเรื่องว่า น้ำผึ้งที่ซื้อหามานั้นเป็นน้ำผึ้งแท้หรือไม่ เพราะการพิสูจน์ด้วยตาเปล่าหรือวิธีที่บอกเล่ากันมาอาจยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้มากพอ ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ ฉลาดซื้อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งจากห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และห้างออนไลน์ จำนวน 19 ตัวอย่าง ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อดูคุณภาพของน้ำผึ้งตัวอย่างว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ เป็นน้ำผึ้งแท้ที่ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในคุณภาพได้หรือไม่ ขอเชิญมาตรวจสอบได้จากรายงานผลทดสอบของเรา ผลทดสอบน้ำผึ้ง น้ำผึ้งจำนวน 19 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบพบว่า คุณภาพส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานสินค้าเกษตร น้ำผึ้ง มกษ.8003-2556 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 211 พ.ศ.2543 เรื่องน้ำผึ้ง (ดูผลทดสอบโดยสรุปได้ที่ ตารางที่ 1) ตารางที่ 1 ภาพรวมผลทดสอบน้ำผึ้ง 19 ตัวอย่าง ทั้งนี้น้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งคุณภาพจะผันแปรไปตามแหล่งน้ำหวาน ได้แก่ ดอกไม้หรือพืชพรรณที่ผึ้งนำสู่รวง ตลอดจนปัจจัยภายนอก เช่น ฤดูกาล สภาพสิ่งแวดล้อมและกระบวนการผลิต ดังนั้นคุณภาพจึงอาจไม่คงที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยตามที่ได้กล่าวมา (ดูรายละเอียดแต่ละผลิตภัณฑ์ได้ที่ ตารางที่ 2)
อ่านเพิ่มเติม >เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟในผลิตภัณฑ์กาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง (นอกจากทดสอบอะคริลาไมด์แล้ว สภาฯ ยังทดสอบปริมาณคาเฟอีน สารเคมีการเกษตรและปริมาณสารพิษจากเชื้อรา โอคราทอกซินเอ ด้วย) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งนี้สารอะคริลาไมด์นั้นผู้บริโภคจะได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย สำหรับประเทศไทยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์พบว่าพริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้งมันฝรั่ง ขนมถุงที่ทำจากมันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป และเผือกฉาบ แต่ก็พบว่าเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะส่งพิษต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยง นิตยสารฉลาดซื้อ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ในฐานะหน่วยประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งมีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้เก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีกและร้านค้าออนไลน์ ส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทดสอบหาสารอะคริลาไมด์ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ ผลทดสอบ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ แต่เกณฑ์ของสหภาพยุโรปกำหนดไว้ไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่ว และไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป - ผลทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56 – 372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม - ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 298.79 – 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยมี 2 ตัวอย่างที่พบอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม , เอจีเอฟ แม็กซิม 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ฉลาดซื้อแนะ การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม จึงควรลด เลี่ยงอาหารที่ผ่านการใช้ความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือย่างที่ใช้อุณหภูมิสูงเกินไป (งานวิชาการบางชิ้นระบุไม่ควรเกิน 120 องศาเซลเซียส) หรือใช้ระยะเวลานานเกินไป กรณีกาแฟคำแนะนำจากสภาองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงแนะว่า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการอาจต้องคำนึงถึงวิธีการคั่วเพื่อเพิ่มความปลอดภัย (ลดความเสี่ยงของการเกิดการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ในกาแฟ) ข้อมูล- Pay Heed to the Amount and Frequency in Enjoying Coffee Be Mindful of Caffeine Addiction and the Risks of Genotoxic Carcinogenic Acrylamide Intake | Consumer Council- www.cancer.org/healthy/cancer-causes/chemicals/acrylamide.html- ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่? • รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)-“สารอะคริลาไมด์ที่แฝงมากับอาหารไทย” จิตติมา เจริญพานิช. ว.วิทย. มข.40(4) 1059-1072 (2555)
อ่านเพิ่มเติม >ฉลาดซื้อฉบับที่ 253 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมานำเสนอผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยาไป ซึ่งในครั้งนั้นเราพบทั้งตัวอย่างไส้กรอกที่ใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ห้ามใช้ และที่ใช้สารกันเสียในปริมาณที่เกินมาตรฐานรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อติดตามสถานการณ์ด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางและฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างไส้กรอกในพื้นที่กรุงเก่าในเดือนพฤษภาคมอีกครั้ง มาดูกันว่าไส้กรอกที่มีขายในจังหวัดอยุธยา จะมีความปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 14 ตัวอย่าง และลูกชิ้น 2 ตัวอย่าง ภายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกำหนดขอบเขตจากร้านอาหารบริเวณหน้าโรงเรียน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และนำส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่สรุปผลทดสอบ 1. สารเบนโซอิก : ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก - พบสารเบนโซอิกในไส้กรอก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไส้กรอกไก่สอดไส้ซอสมะเขือเทศ ตรา AFM (48.71 มก./กก.) ไส้กรอกไก่รสนมวนิลา ตรา TFG ไทยฟู้ดส์ (484.31 มก./กก.) และไส้กรอกไก่ รสชีสเนย ตรา เค เอฟ เอ็ม (23.72 มก./กก.) ส่วนในลูกชิ้นพบทั้ง 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ลูกชิ้นปิ้ง"นมสด" SNOWBOY (1153.10 มก./กก.) และลูกชิ้นเอ็นไก่ ลูกชิ้นสุภาพ อยุธยา (1071.90 มก./กก.) 2. สารไนเตรท : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น) - พบสารไนเตรทในทั้ง 16 ตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 10.71- 42.04 มก./กก. 3. สารไนไตรท์ : ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มก./กก. - พบสารไนไตรท์ในไส้กรอก 8 ตัวอย่าง มีปริมาณตั้งแต่ < 10.00 – 48.29 มก./กก. ซึ่งไม่เกินมาตรฐานกำหนด 4. สารซอร์บิก : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีได้ไม่เกิน 1500 มก./กก. โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์ - พบสารซอร์บิกในไส้กรอก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไส้กรอกไก่เวียนนาสอดไส้ชีส ตรา AFM (ตัวอย่างที่พบว่ามีสารที่ใช้ร่วมกัน 3 ชนิด ได้แก่ ไส้กรอกไก่สอดไส้ซอสมะเขือเทศ ตรา AFM และไส้กรอกไก่ รสชีสเนย ตรา เค เอฟ เอ็ม พบเบนโซอิก+ไนเตรท+ไนไตรท์ ส่วนไส้กรอกคอกเทลไก่(ปอก) ตรา PCF พบไนเตรท+ไนไตรท์+ ซอร์บิก 3. ยี่ห้อ AFM มี 6 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบไนเตรททั้งหมด ไนไตรท์ 4 ตัวอย่าง เบนโซอิก 1 ตัวอย่าง และซอร์บิก 2 ตัวอย่าง 4. ในลูกชิ้นทั้ง 2 ตัวอย่าง มีปริมาณเบนโซอิกมากกว่าที่พบสูงสุดในไส้กรอกประมาณ 2.4 เท่า และไม่ได้แสดงวัน/เดือน/ปี ที่ผลิตและหมดอายุไว้ด้วย ฉลาดซื้อแนะ 1. เลือกซื้อไส้กรอกที่มีฉลากแสดงเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. มีชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน ส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ และซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ 2. ไม่เลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีสดจัดจนเกินไป 3. ถ้าซื้อไส้กรอกแบบพร้อมทานหรือปรุงสำเร็จที่ไม่รู้ว่าเป็นยี่ห้ออะไร อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขายเพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่ 4. โดยเฉพาะเด็กๆ ไม่ควรกินบ่อยเกินไปและไม่กินปริมาณมากในครั้งเดียว ร่างกายรับสารไนไตรท์ได้ไม่เกิน 0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากจะทำให้มีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ายิ่งได้รับมากเกินไปจะเกิดอาการปวดท้อง กล้ามเนื้อไม่มีแรง และร่างกายขาดออกซิเจนได้
อ่านเพิ่มเติม >