ฉบับที่ 155 คาปูชิโนเย็นร้านไหน? ให้พลังงานสูง!!!

คอกาแฟหลายๆ คนคงจะเคยได้ยินคำเตือน เรื่องที่ว่าดื่มกาแฟแล้วทำให้อ้วน โดยเฉพาะกาแฟเย็น หลายคนเข้าใจได้ว่ากาแฟเย็น 1 แก้ว ใส่ทั้งนม น้ำเชื่อม น้ำตาล แต่ถ้านั้นยังไม่ช่วยให้คำตอบเรื่องดื่มกาแฟแล้วอ้วน ส่งผลเสียทำลายสุขภาพของหลายๆ คนคลี่คลาย ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพิสูจน์ปริมาณพลังงานที่ได้รับจากการดื่มกาแฟเย็น โดยเราเลือกสำรวจกาแฟประเภท “คาปูชิโนเย็น” ซึ่งถือเป็น 1 ในกาแฟยอดนิยมและหาทานได้ทุกร้านกาแฟ โดยเราได้สุ่มตัวอย่างจากร้านกาแฟชื่อดังระดับพรีเมี่ยม 10 ตัวอย่าง และอีก 1 ตัวอย่างจากร้านกาแฟขนาดเล็ก               ผลการทดสอบ -ผลทดสอบที่ได้คิดเป็นเป็นค่าเฉลี่ยปริมาณพลังงานต่อปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร -ตัวอย่างกาแฟคาปูชิโนเย็นที่พบค่าพลังงานสูงที่สุดคือ กาแฟจากร้าน คอฟฟี่ ทูเดย์ ซึ่งพบปริมาณพลังงานอยู่ที่ 183 กิโลแคลอรีต่อกาแฟ 100 มิลลิลิตร ซึ่งจากตัวอย่างที่เรานำมาทดสอบพบว่า กาแฟคาปูชิโนเย็นจากร้านคอฟฟี่ ทูเดย์ 1 แก้วมีปริมาณกาแฟอยู่ที่ประมาณ 290 มิลลิลิตร (ไม่รวมน้ำแข็ง) นั่นเท่ากับว่ากาแฟคาปูชิโนเย็นจากร้านคอฟฟี่ ทูเดย์ 1 แก้ว ราคา 50 บาท จะให้ค่าพลังงานเท่ากับ 530.7 กิโลแคลอรี -อีกตัวอย่างที่พบปริมาณพลังงานค่อนข้างสูงคือ ตัวอย่างกาแฟอนันต์ ที่พบค่าพลังงานอยู่ที่ 163 กิโลแคลอรีต่อปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร ซึ่งปริมาณกาแฟคาปูชิโนเย็นของร้านกาแฟอนันต์ 1 แก้ว ราคา 35 บาท อยู่ที่ประมาณ 160 มิลลิลิตร ปริมาณพลังงานจึงเท่ากับ 260.8 กิโลแคลอรี -เมื่อดูข้อมูลจากแผนภาพแสดงปริมาณพลังงานในกาแฟคาปูชิโนจากตัวอย่างทั้งหมดที่เราทดสอบ พบว่าจากทั้ง 11 ตัวอย่าง มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 122.9 ต่อปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร หากคิดเป็นปริมาณกาแฟคาปูชิโนเย็น 1 แก้วที่น้ำหนัก 300 มิลลิลิตร (ไม่รวมน้ำแข็ง) ปริมาณพลังงานที่ได้จะอยู่ที่ 368.7 กิโลแคลอรี   เรื่องน่ารู้ พลังงานกับคาปูฯ เย็น -ปริมาณพลังงานที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน คือไม่เกิน 2,000 กิโลแคลอรี -ตามหลักโภชนาการแล้วของว่างหรืออาหารว่างควรมีพลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการสำหรับผู้ใหญ่ หรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี -ปริมาณกาแฟคาปูชิโนเย็น 1 แก้ว ให้ปริมาณพลังงานที่ค่อนข้างสูง แถมหลายคนที่นิยมดื่มกาแฟร่วมกับของทานเล่นอื่นๆ เช่น คุกกี้ ขนมเค้ก โอกาสที่ร่างกายจะได้รับพลังงานเกินความต้องการก็ยิ่งมีสูง -ปริมาณพลังงานที่เกนความจำเป็นของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน และโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น หัวใจ ความดัน ฯลฯ -การหลีกเลี่ยงการได้รับปริมาณพลังงานสูงเกินความต้องการจากการดื่มกาแฟคาปูชิโน มีวิธีง่ายๆ คือเลือกสั่งแบบที่ไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำเชื่อม ส่วนนมถ้าเลือกได้ก็เลือกชนิดที่เป็นสูตรพร่องมันเนย หรือชนิดไขมัน 0% ซึ่งถ้าดูจากผลแผนภาพแสดงปริมาณพลังงานในกาแฟคาปูชิโนจากตัวอย่างทั้งหมดที่เราทดสอบ จะเห็นว่าตัวอย่างที่พบปริมาณน้อยที่สุด 2 อันดับแรก คือ สตาร์บัคที่พบค่าพลังงาน 53 กิโลแคลอรี และ ทรู คอฟฟี ที่พบพลังงาน 79 กิโลแคลอรี จากปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร ซึ่งปริมาณค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตัวอย่างอื่นๆ นั้นเป็นเพราะตัวอย่างกาแฟคาปูชิโนจากทั้ง 2 ร้าน ไม่มีการใส่น้ำตาลหรือน้ำเชื่อม แต่จะให้ลูกค้าที่ซื้อเลือกเติมเองทีหลัง จะใส่มากใส่น้อยหรือจะไม่เติมเลยก็ได้ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีที่ช่วยให้เราลดปริมาณพลังงานจากการดื่มกาแฟคาปูชิโนเย็นได้   คอกาแฟควรรู้ -กาแฟเย็น 1 แก้ว มีขนาดบรรจุประมาณ 13 – 20 ออนซ์ หรือ 400 – 600 มิลลิลิตร ให้พลังงานอยู่ที่ 97 – 400 กิโลแคลอรี, ไขมัน 0.4 – 22.1 กรัม, โปรตีน 0.6 – 10.9 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 19.4 – 49.4 กรัม, น้ำตาล 11 – 38 กรัม -มอคค่า เป็นกาแฟที่ให้ปริมาณพลังงานสูงที่สุด เมื่อเทียบกับ คาปูชิโน และ ลาเต้ -กาแฟอเมริกาโน มีพลังงานน้อยที่สุด คือประมาณ 97 กิโลแคลอรีต่อแก้วขนาด 13 ออนซ์ -พลังงานที่ได้จากกาแฟเย็น 1 แก้ว ส่วนใหญ่เป็นพลังงานที่ได้จาก ไขมัน และ น้ำตาล -กาแฟที่นิยมดื่มในปัจจุบัน มีอยู่ 2 สายพันธ์ คือ อาราบิก้า และ โรบัสต้า   -อาราบิก้า มีปริมาณคาเฟอีน ร้อยละ 0.75-1.70 ส่วน โรบัสต้ามีปริมาณคาเฟอีนร้อยละ 2.0 - 4.5 -ประเทศไทยเรามีการปลูกกาแฟทั้ง อาราบิก้า และ โรบัสต้า แต่อาราบิก้า ได้รับความนิยมมากกว่า โดยปลูกมากทางภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นกาแฟที่ดี ได้รับความนิยม ไมว่าจะเป็น กาแฟดอยช้าง ดอยวารี ที่จังหวัดเชียงรายและ ดอยขุนวาง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนโรบัสต้า นิยมปลูกในภาคใต้ เช่นที่จังหวัด ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช ยะลา สุราษฎร์ธานี เอสเปรสโซ่ (espresso) เป็นกาแฟที่เข้มข้นที่สุด ชงผ่านเครื่อง เอสเปรสโซ่ โดยใช้แรงน้าดันผ่านเนื้อกาแฟบด เอสเปรสโซ่ เป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟสูตรอื่นๆไม่ว่าจะชงกาแฟสูตรใด ก็ต้องมีกาแฟเอสเปรสโซ่เป็นกาแฟพื้นฐานก่อน คาร์ปูชิโน่ (Cappuccino) เป็นการผสมผสานระหว่างกาแฟเอสเปรสโซ่ นมร้อน และฟองนม ในปริมาณเฉลี่ยที่เท่ากันทั้ง 3 ส่วนผสม คาปูชิโนมีสัดส่วนพลังงานของ ไขมัน : คาร์โบไฮเดรต : โปรตีน ร้อยละ 32:63:7 คาเฟ่ ลาเต้ (Caffe Latte) เป็นกาแฟผสมนมที่มีรสและกลิ่นกาแฟน้อยที่สุด โดยเน้นที่นมร้อนมากกว่าปริมาณกาแฟ กาแฟลาเต้มีสัดส่วนพลังงานของ ไขมัน : คาร์โบไฮเดรต : โปรตีน ร้อยละ 30:60:10 มอคค่า (Caffe Mocha) เป็นกาแฟผสมช็อกโกแลตและนมร้อน มอคค่ามีสัดส่วนพลังงานของ ไขมัน : คาร์โบไฮเดรต : โปรตีน ร้อยละ 36:56:8 ที่มา :  รายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง สารอาหารในกาแฟเย็น สำนักการโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 154 ขนมปังกรอบ โซเดียมที่คาดไม่ถึง

ขนมปังกรอบ หรือเรียกอย่างฝรั่งว่า แครกเกอร์(Cracker) นั้น  เป็นขนมอบกรอบอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันมากพอสมควร นิยมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะรับประทานกับชีสต่างๆ ร่วมกับการดื่มชาหรือกาแฟ หรือเวลาจัดงานเลี้ยงปีใหม่ งานเลี้ยงค็อกเทลก็จะเห็นมีการนำมาจัดวางกับพวกผักสลัด ชีส แฮม/ไส้กรอก ทำเป็นของกินเล่นได้อีกด้วย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มขนมปังกรอบและแครกเกอร์ในประเทศไทยมีการขยายตัวทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ปัจจุบันมูลค่าตลาดขนมปังกรอบในไทยโดยรวมปี 2554 อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วน แครกเกอร์ 38%, คุกกี้ 32% และเวเฟอร์ 30% โดยมีอัตราการเติบโตที่ 13%  แน่นอนว่าเราจะพบเห็นโฆษณาที่มากขึ้นของขนมชนิดนี้ในสื่อต่างๆ และความหลากหลายของยี่ห้อที่พบวางอยู่บนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อพิจารณาจากส่วนประกอบในแครกเกอร์ ซึ่งมีแป้งสาลี ไขมัน น้ำตาลและเกลือ เป็นหลักแล้ว คงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมหลายๆ คนจึงชอบแครกเกอร์ ทั้งนี้คงเพราะติดใจในรสชาติเค็มๆ มันๆ แบบ ชิ้นเดียวไม่เคยพอ แต่เมื่อลองหยิบฉลากมาดู โอ้ แคลอรีกับโซเดียมไม่เบาเลยแฮะ เห็นแผ่นบางๆ แค่ไม่กี่แผ่น ถ้าเผลอกินเพลินไปล่ะก็ ได้รับโซเดียมกระฉูดแน่   ดังนั้นก่อนหยิบแครกเกอร์กินในครั้งต่อไป โปรดเช็คฉลากสักนิดว่า พลังงานและปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจะดูรายละเอียดก่อนไปหยิบฉวยในซูเปอร์มาร์เก็ต ฉลาดซื้อมีมาฝากในฉบับนี้ค่ะ   แครกเกอร์(ขนมปังกรอบ) บิสกิต           ความต่างของคุกกี้ บิสกิตและแครกเกอร์ ทั้งหมดต่างเป็นขนมอบ ส่วนใหญ่ทำจากแป้งสาลีลักษณะกรอบ แห้ง คุกกี้ ได้จากการแบ่งแป้งขนมเค้กที่ผสมแล้วออกมาส่วนหนึ่ง จากนั้นแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำเข้าเตาอบ (เดิม)เพื่อทดสอบอุณหภูมิที่จะใช้อบขนมเค้ก คำว่า "คุกกี้" (cookie) ใช้กันในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในขณะที่ในสหราชอาณาจักรจะเรียกขนมแบบเดียวกันนี้ว่า "บิสกิต" (biscuit) ส่วน แครกเกอร์ (cracker) จะเป็นขนมปังกรอบแผ่นบางๆ แห้งๆ รสเค็มเอาไว้กินกับชีส ครีมชีส หรือทำเป็นขนมชีสเค้กต่างๆ     ความเสี่ยงของขนมปังกรอบ คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ นอกจากเรื่องแคลอรีและโซเดียมที่สูง ก็คือ ไขมันทรานส์ และสารอะคริลาไมด์ (AA) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในอาหารประเภทแป้งที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 154 พิสูจน์ “โซเดียม” ในพิซซ่าหน้าซีฟู้ด

พิซซ่า เป็นหนึ่งในอาหารฟาสต์ฟู้ดที่นักโภชนาการออกมาเตือนอยู่เสมอๆ ว่าเป็นเมนูทำลายสุขภาพ เพราะให้ทั้งพลังงานและไขมันที่เกินความจำเป็นของร่างกาย แถมยังมีปริมาณโซเดียมสูงปรี๊ด ถือเป็นอาหารบั้นทอนสุขภาพอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลงานวิจัยทั้งหลายที่พูดถึงอันตรายแฝงในพิซซ่า แทบไม่มีผลต่อความนิยมที่หลายๆ คนมีต่อเมนูอาหารสัญชาติอิตาลี ดูได้จากจำนวนร้านพิซซ่าที่เปิดขายอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่แบรนด์ดังที่แข่งขันกันขยายสาขามากมายไม่ได้หยุดหย่อน หรือจะเป็นร้านเล็กร้านน้อย ร้านรายย่อยอื่นๆ ที่นำเสนอเมนูพิซซ่ารสชาติใหม่ๆ มาเอาใจเหล่าพิซซ่าเลิฟเวอร์กันอย่างคึกคัก ตามประสาชาวฉลาดซื้อ ที่ชอบแกล้งคนอ่านด้วยการหาข้อมูลน่าตกใจมานำเสนอ เราจึงไปตระเวนเก็บ“พิซซ่า หน้าซีฟู้ด” มาทดสอบดูปริมาณโซเดียม จาก 8 ร้าน ที่เป็นที่รู้จักและนิยมของคนส่วนใหญ่ ทั้งจากร้านแบรนด์ดัง และร้านพิซซ่าสไตล์โฮมเมด เลือกตัวอย่างพิซซ่าหน้าซีฟู้ด เพราะเป็นหน้าที่ได้รับความนิยม และมีให้เลือกสั่งทุกร้าน   แสดงผลวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมในตัวอย่างพิซซ่าหน้าซีฟู้ด   *หมายเหตุ ผลการทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น   ผลทดสอบ - ค่าเฉลี่ยโซเดียมของพิซซ่าที่ทดสอบอยู่ที่ 300 – 600 มิลลิกรัมต่อพิซซ่า 100 กรัม (พิซซ่า 1 ถาด สามารถแบ่งได้ 6 – 8 ชิ้น พิซซ่า 1 ชิ้น จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 100 – 150 กรัม) ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เพราะหลายคนมักรับประทานพิซซ่ามากกว่าครั้งละ 1 ชิ้น (ในปริมาณที่กิน 1 มื้อ) หากนำไปรวมกับโซเดียมที่ได้จากการรับประทานอาหารมื้ออื่นๆ ใน 1 วัน ย่อมมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับโซเดียมสูงเกินความต้องการของร่างกาย - ตัวอย่างพิซซ่าที่มีปริมาณโซเดียมสูงที่สุด คือ พิซซ่าหน้าซีฟู้ดเลิฟเวอร์จากร้าน พิซซ่า พิซซ่า บาย ญาณี ที่พิซซ่าขนาด 100 กรัม มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 759.51 มิลลิกรัม ฉะนั้นถ้าเรากินพิซซ่าแค่เพียง 1 ชิ้น (ประมาณ100 กรัม) เท่ากับเราได้รับโซเดียมไปแล้วเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนที่พอเหมาะกับร่างกายควรได้รับใน 1 วัน คำเตือน คนที่ชอบรับประทานพิซซ่า คือ ไม่ใช่แค่เฉพาะพิซซ่าเท่านั้นที่ให้ปริมาณโซเดียมสูงจนต้องรับประทานอย่างระมัดระวัง แต่ยังมีอีกหนึ่งความเสี่ยง นั้นคือ ซอสมะเขือเทศ ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสที่หลายคนคู่กับพิซซ่า ซอสมะเขือเทศอุดมไปด้วยโซเดียม ที่ฉลาดซื้อเราเคยทดสอบไว้ พบว่า ซอสมะเขือเทศ 100 กรัม มีปริมาณโซเดียมมากถึง 600 – 1,000 มิลลิกรัมเลยทีเดียว ลองคิดดูซิว่า ถ้าเรากินพิซซ่า 1 ชิ้น แป้งหนาๆ หน้าเน้นๆ ที่ราดด้วยมะเขือเทศชุ่มๆ ปริมาณโซเดียมจะเข้าไปสะสมในร่างกายเรามากสักขนาดไหน   ปริมาณโซเดียมที่สะสมในร่างกายมากเกินไป จะทำให้ร่างกายเกิดสภาวะบวมน้ำ              มีผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือด   และการทำงานของไตปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมสำหรับคนไทย คือ ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน   อย่าเลย ซื้อ 1 แถม 1 คนละชิ้นก็พอ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พิซซ่ากลายมาเป็นเมนูอาหารฟาสต์ฟู้ดยอดนิยมของคนไทย ก็คือยุทธวิธี “ซื้อ 1 แถม 1” ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับบริการพร้อมส่งบ้าน ยิ่งทำให้ยอดขายพิซซ่าเพิ่มขึ้นแบบถล่มทลาย ส่งผลให้คนไทยเรายิ่งดื่มด่ำกับพิซซ่ากันมากขึ้น เวลาที่สั่งพิซซ่า ก็ไม่ได้มีเฉพาะเมนูพิซซ่าเท่านั้นที่เราสั่ง แต่ยังพวงเมนูอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สปาเก็ตตี้ ลาซานญ่า ผักโขมอมชีส ขนมปังกระเทียม ฯลฯ ซึ่งเกือบทุกอันอุดมด้วยไขมันและโซเดียมถ้าหากรับประทานพร้อมๆ กัน คาดว่าน่าจะเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ายังรักสุขภาพของตัวเอง สัก 1 ชิ้นเวลาอยากรับประทานก็น่าจะเพียงพอ   พิซซ่า กินแล้วอ้วน ผลการวิจัยเรื่องคุณค่าสารอาหารในพิซซ่าหน้าซีฟู้ดขอบชีสไส้กรอกและแฮม โดย ผศ.ดร.สิทธิพงษ์ ดิลกวณิช และคณะ เมื่อปี 2549 พบว่า พิซซ่า 1 ชิ้น (139 กรัม) ให้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 38.7 พลังงานจากโปรตีน ร้อยละ 22.3 พลังงานจากไขมัน ร้อยละ 39 แต่สัดส่วนพลังงานที่แนะนำใน 1 วัน คือ คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 55-65, โปรตีน ร้อยละ 10-15 และไขมัน ร้อยละ 25-30 มูลค่าการตลาดของพิซซ่าในบ้านเรา ปัจจุบันสูงถึง 6,400 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7 – 8% โดยเจ้าที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด คือ เดอะพิซซ่า คอมปะนี ที่ 70% รองลงมาคือ พิซซ่าฮัท 20% อีก 10% ที่เหลือเป็นเจ้าอื่นๆ ที่มา : “สงครามราคา "พิซซ่า" ระอุ "โดมิโน่ส์" ท้าชิง "พิซซ่าฮัท”” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 ก.พ. 56, “เดอะพิซซ่าทั่วไทยอีก 3 ปี เพิ่มงบแคมเปญเด็ด 20%” ผู้จัดการออนไลน์ 22 ก.พ.56   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 153 มีอะไรอยู่ในช็อกโกแลต?

ช็อกโกแลต อาจเป็นขนมหวานสุดโปรดของใครหลายคน ด้วยรสชาติที่แสนจะเป็นเอกลักษณ์ หวานและขมที่ผสมอยู่รวมกัน ครองใจคนรักขนมหวาน แม้หลายคนจะออกตัวว่าโปรดปรานชอบรับประทานช็อกโกแลต แถมบางคนยังเลือกช็อกโกแลตเป็นของขวัญของฝากมอบให้กันในช่วงเทศกาลและวันสำคัญต่างๆ แต่ช็อกโกแลตที่วางขายอยู่ในบ้านเราส่วนใหญ่มักเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากต่างประเทศ ด้วยความที่ประเทศไทยเรายังไม่ค่อยนิยมผลิตช็อกโกแลตที่ดี หรือที่เรียกกันว่าช็อกโกแลตในกลุ่มพรีเมี่ยม ช็อกโกแลตที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่น่าจะใช้คำว่า “ผลิตภัณฑ์ขนมหวานรสช็อกโกแลต” มากกว่า เพราะมีส่วนประกอบของโกโก้อยู่น้อยมาก ประมาณแค่ 20% ของส่วนประกอบทั้งหมดเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่คนรักช็อกโกแลตจะอยากลิ้มลองของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะคุณภาพของวัตถุดิบที่ดีกว่า รสชาติอร่อยกว่า แถมบางคนก็ชื่อชอบเพราะแพ็คเก็จสวยกว่า เหมาะมากเวลานำมาเป็นของขวัญ ช็อกโกแลตที่นำเข้าส่วนใหญ่มาจากหลากหลายประเทศทางยุโรปที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตช็อกโกแลต ไม่ว่าจะเป็น เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และยังรวมถึงสหรัฐอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย หรือแม้แต่ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมาอาหารที่นำเข้าแม้จะมาจากประเทศใหญ่ๆ ก็ยังเคยเกิดปัญหาเรื่องการปนเปื้อน ที่เป็นข่าวดังหน่อย คงไม่พ้นเรื่องของสารเมลามีนที่มากรพบปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตที่นำเข้ามาจากประเทศจีน  หรือแม้แต่เรื่องการปนเปื้อนของสิ่งที่คาดไม่ถึง อย่าง เศษชิ้นส่วนเล็กๆ ของซากแมลง และขนของหนู ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราแทบไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะขนาดเล็กมากๆ แต่ดูแล้วน่าจะมีการปนเปื้อนในลักษณะนี้อยู่ไม่ใช้น้อย ขนาดที่องค์การอาหารและยาของอเมริกา (U S Food and Drug Administration) ต้องกำหนดค่าการปนเปื้อน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคประเทศเขาได้รับอันตรายจากการรับประทานช็อกโกแลต   ข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาของอเมริกา เรื่องการปนเปื้อนของเศษแมลงและขนหนูในช็อกโกแลต - ห้ามให้มีเศษชิ้นส่วนแมลงเกินกว่า 60 ชิ้น ต่อช็อกโกแลต 100 กรัม โดยต้องเทียบตัวอย่างจากตัวอย่างปริมาณ 100 กรัม จำนวน 6 ชิ้น หรือถ้าคิดเป็นตัวอย่าง 1 ชิ้น ห้ามมีเศษชิ้นส่วนแมลงปนเปื้อนเกิน 90 ชิ้น - ห้ามมีเศษขนหนูมากกว่า 1 เส้น ต่อช็อกโกแลต 100 กรัม โดยต้องเทียบตัวอย่างจากตัวอย่างปริมาณ 100 กรัม จำนวน 6 ชิ้น หรือถ้าคิดเป็นตัวอย่าง 1 ชิ้น ห้ามมีเศษเส้นขนหนูปนเปื้อนเกิน 3 เส้น ฉลาดฉบับนี้จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างของช็อกโกแลตทั้งที่นำเข้าและที่ผลิตในไทย โดยเราเลือกเก็บตัวอย่างจากหลายๆ จังหวัด โดยเฉพาะที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มักเป็นจุดผ่านของสินค้าอาหารนำเข้า ไม่ว่าจะเป็น สตูล สงขลา เชียงราย พะเยา โดยมีตัวอย่างช็อกโกแลตรวมทั้งหมด 20 ตัวอย่าง โดยฉลาดซื้อได้ส่งตัวอย่างไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเศษชิ้นส่วนแมลงและขนหนู   ตารางรายชื่อตัวอย่างช็อกโกแลต สำหรับวิเคราะห์การปนเปื้อนทางชีวภาพ ผลการตรวจวิเคราะห์ จากการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเศษชิ้นส่วนแมลงและขนหนูจากตัวอย่างช็อกโกแลตทั้ง 20 ตัวอย่าง ได้ผลออกมาว่า ไม่พบสิ่งปนเปื้อนทางชีวภาพ ซึ่งหมายถึงไม่พบการปนเปื้อนของเศษชิ้นส่วนจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเศษชิ้นส่วนแมลงและขนหนู แต่ที่น่าสังเกตคือพบวัสดุคล้ายเส้นใยขนาดเล็กมาก ในบางตัวอย่าง ตั้งแต่ 1 – 4 เส้น ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเส้นใยของอะไร เพราะพบในจำนวนที่น้อยและมีขนาดเล็กมาก แต่ผู้บริโภคอย่าตกใจไป เพราะเส้นใยที่พบไม่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค คนที่ชอบรับประทานช็อกโกแลตมั่นใจได้   เรื่องของปริมาณโกโก้ในช็อกโกแลต ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) เรื่อง ช็อกโกแลต ได้กำหนดคุณภาพและมาตรฐานเฉพาะของช็อกโกแลตแต่ละชนิดเอาไว้ สำหรับช็อกโกแลตนม ซึ่งเป็นชนิดของช็อกโกแลตที่เราเลือกสุ่มเก็บมาเป็นตัวอย่างในการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ มีการกำหนดคุณภาพไว้ว่าต้องมีปริมาณโกโก้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของปริมาณช็อกโกแลต โก้โกปราศจากไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 มีธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10.5 และต้องมีน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 55 จากการอ่านดูข้อมูลส่วนประกอบบนฉลากของตัวอย่างช็อกโกแลตที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจในครั้งนี้ พบว่าโกโก้ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในช็อกโกแลตนมนั้นจะเป็น “โกโก้แมส” หรือ “โกโก้เพสต์” ซึ่งเป็นส่วนที่ได้หลังจากการคั่วและบดเมล็ดโกโก้ เป็นโกโก้ที่ผ่านความร้อนไขมันจะหลอมละลายออกมา ซึ่งจากการตรวจสอบดูข้อมูลในฉลากพบว่าผ่านเกณฑ์ทุกตัวอย่าง ยกเว้นบางตัวอย่างที่ไม่มีข้อมูลฉลากภาษาไทย และไม่ได้แจ้งปริมาณส่วนประกอบเอาไว้ ส่วนปริมาณน้ำตาลก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ทุกตัวอย่าง คือไม่เกินร้อยละ 55 ของปริมาณช็อกโกแลต แต่ที่อยากฝากไว้เป็นข้อสังเกตของคนที่ชอบช็อกโกแลตก็คือ เมื่อดูปริมาณส่วนประกอบทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตนม จะเห็นว่ากว่า 50% ของส่วนประกอบทั้งหมด คือ น้ำตาล เพราะฉะนั้นถ้าหากรับประทานมากๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน ถึงจะชอบแค่ไหนก็ต้องยั้งใจไว้บ้าง ยิ่งเด็กๆ ยิ่งต้องระวัง เสี่ยงทั้งโรคอ้วน ฟันผุ และในช็อกโกแลตมีสารคาเฟอีนด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนติดช็อกโกแลต   ช็อกโกแลตที่ได้มาตรฐานควรมีลักษณะอย่างไร? -มีกลิ่นและรสตามลักษณะเฉพาะของช็อกโกแลตนั้น ๆ -ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค -ไม่ใช้วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล -ไม่มีการเจือสีใดๆ ที่มา : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) เรื่อง ช็อกโกแลต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 เช็คสารตะกั่วใน “ปลาทูน่ากระป๋อง”

ถ้าย้อนไปเมื่อก่อน คนไทยเราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับปลาทูน่า เพราะคนไทยไม่ค่อยนิยมทานปลาทะเล ด้วยราคาที่แพงกว่าปลาน้ำจืด แม้ชื่อจะคล้ายกับปลาทูบ้านเรา แต่เราก็แทบไม่เห็นบ้านไหนเสิร์ฟเมนูที่ทำจากปลาทูน่าเป็นกับข้าวมื้อเย็น วันเวลาเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็รู้จักปลาทูน่า ไปต้องลำบากไปเดินเลือกซื้อในตลาด ไม่ต้องเหนื่อยขอดเกล็ด ล้างหั่นทำความสะอาด เพราะเดี๋ยวนี้ปลาทูน่าหาทานง่ายยิ่งกว่าปลาชนิดไหนๆ เพราะมันถูกบรรจุมาในกระป๋อง  แค่แวะร้านสะดวกซื้อก็ได้ทานปลาทูน่าสมใจ แต่ปัญหาก็แอบมากลับทูน่ากระป๋องเหมือนกัน เรามักจะได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่ามีการตรวจพบสารปนเปื้อนทั้งในทูน่าสดและทูน่ากระป๋อง อย่างเมื่อปีก่อนเคยมีข่าวว่าหลายประเทศในสหภาพยุโรปต้องสั่งระงับการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศไทย เพราะตรวจพบสารฮีสตามีน (histamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ทั่วโลกยังมีการเฝ้าระวังเรื่องของการปนเปื้อนสารตะกั่วในอาหารทะเล เพราะสารตะกั่วที่เกิดจากบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมต่างไหลลงสู่ทะเล แล้วแทรกซึมเข้าสู่สิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งปลาทูน่าถือเป็นอาหารทะเลที่มีผู้นิยมบริโภคกันมาก การจับตาดูจึงมีมากเป็นพิเศษ เกริ่นมาซะยาวเพราะอยากจะบอกว่า “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จะพาไปดูกันว่า ปลาทูน่ากระป๋องที่วางขายอยู่ในท้องตลาดบ้านเรานั้น มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วหรือเปล่า ไขข้อข้องใจให้กับผู้บริโภค ต่อไปจะได้ทานปลาทูน่ากระป๋องได้อย่างมั่นใจ แถมด้วยการเช็คปริมาณโซเดียม ดูสิว่าทานปลาทูน่ากระป๋องแล้วจะสุขภาพดีเพราะมีคุณค่าทางอาหาร หรือจะต้องป่วยเสียก่อนเพราะร่างกายดันได้รับโซเดียมมากเกินไป   ผลการทดสอบ ฉลาดซื้อได้สุ่มตัวอย่างปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 16 ตัวอย่าง 8 ยี่ห้อ โดยแต่ละยี่ห้อจะแบ่งเป็นปลาทูน่ากระป๋องชนิดที่ปรุงในน้ำมันพืช และชนิดที่ปรุงในน้ำเกลือ อย่างละ 1 ตัวอย่าง โดยการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารตะกั่วนั้น ฉลาดซื้อได้ส่งไปตรวจยัง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 จ.อุบลราชธานี ส่วนการตรวจดูข้อมูลปริมาณโซเดียม ฉลาดซื้อใช้วิธีคำนวณจากปริมาณโซเดียมที่แจ้งไว้ในฉลากโภชนาการข้างกระป๋อง   การปนเปื้อนสารตะกั่ว สำหรับผลวิเคราะห์การปนเปื้อนสารตะกั่ว ถือว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภคเพราะปลาทูน่ากระป๋องทุกตัวอย่างที่เราส่งตรวจ ไม่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว จากนี้ไปเราก็สามารถทางปลาทูน่ากระป๋องกันได้อย่างสบายใจ แต่แม้จะปลอดจากสารตะกั่ว แต่อาจต้องระวังการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่อาจป่นเปื้อนมากับเนื้อปลา ซึ่งเกิดขึ้นได้จากขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้นวิธีแก้ง่ายๆ คือการปรุงเนื้อปลาทูน่าให้สุกก่อนทาน แม้ปลาทูน่ากระป๋องจะผ่านกรรมวิธีทำให้เนื้อปลาสุกมาแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท ทำให้สุกอีกทีเพื่อความปลอดภัย   ปริมาณโซเดียม ส่วนเรื่องของปริมาณโซเดียมในทูน่ากระป๋อง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่คนชอบทานปลาทูน่ากระป๋องต้องระวังเป็นพิเศษ  เพราะในปลาทูน่า 1 กระป๋องอาจมีโซเดียมถึง 1 ใน 4 ของปริมาณโซเดียมที่เหมาะต่อร่างกายคนเราใน 1 วัน (ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม) จากการตรวจเช็คปริมาณโซเดียมในปลาทูน่ากระป๋องจากข้อมูลในฉลากโภชนาการ พบว่าประมาณโซเดียมจะอยู่ที่ประมาณ 300 – 600 มิลลิกรัมต่อ 1 กระป๋อง (น้ำหนัก 185 กรัม แต่ถ้าเฉพาะน้ำหนักเนื้อปลาจะอยู่ที่ 140 กรัม) เพราะฉะนั้นเราควรทานทูน่ากระป๋องแต่พอดี ควรทานให้เป็นอาหารมื้อหลักมากว่าเป็นเมนูทานเล่น ทานเต็มที่ไม่ควรเกินวันละ 1 กระป๋อง และต้องควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย สำหรับใครที่คิดว่าปลาทูน่ากระป๋องชนิดที่ปรุงในน้ำมันพืชจะมีปริมาณโซเดียม น้อยกว่าปลาทูน่ากระป๋องที่ปรุงในน้ำเกลือคงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะจากการตรวจเช็คปริมาณโซเดียมที่แจ้งในฉลากโภชนาการ  พบว่าปลาทูน่าในน้ำมันพืช 1 กระป๋องมีปริมาณโซเดียมมากกว่าปลาทูน่าในน้ำเกลือถึง 50 -100 มิลลิกรัมเลยทีเดียว   ---------------------------------------------------- ฉลาดซื้อแนะนำ -ปลาทูน่ากระป๋องที่ดี ต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอมใดๆ ปนเปื้อนมากับเนื้อปลา -เนื้อปลาต้องสุก ต้องไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น กินเหม็น หรือ กลิ่นหืน -เนื้อปลาต้องไม่นิ่มเละ หรือ กระด้างเกินกว่าที่ควรจะเป็น เนื้อไม่มีลักษณะพรุนแบบรังผึ้ง -เนื้อปลาต้องไม่เป็นสีที่ชวนให้น่าสงสัยว่าเกิดการผิดปกติ เช่น สีเขียว หรือสีที่มีลักษณะคล้ำ -เนื้อปลาต้องไม่มีผลึกใส ซึ่งเป็นผลึกเกลือ ของสารประกอบของแมกนีเซียม ฟอสเฟต และแอมโมเนีย มักเกิดกับอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ทำปฏิกิริยากับโปรตีน สาเหตุของการเกิดผลึกเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ เป็นการบ่งชี้ว่าวัตถุดิบไม่สด มีคุณภาพไม่ดี หรือขั้นตอนการผลิตไม่เหมาะสม -เลือกกระป่องที่อยู่ในสภาพดี ไม่บวม บุบ เบี้ยว ไม่มีสนิม -อ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ บนฉลากต้องมี ชื่อสินค้า ชื่อของเหลวที่ใส่มาพร้อมเนื้อปลา เช่น ปลาทูน่าในน้ำเกลือ ปลาทูน่าในน้ำมัน ฯลฯ ต้องบอกส่วนประกอบ มีฉลากโภชนาการ บอกชื่อที่อยู่ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ -ปลาทูน่ากระป่องที่เปิดกระป๋องแล้วแต่ยังทานไม่หมด ควรเก็บเข้าตู้เย็นและเปลี่ยนมาใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ป้องกันเชื่อโรคเข้าไปปนเปื้อน -----------------------   ปลาทูน่ากระป๋องที่เรากินส่วนใหญ่ ทำจากปลาทูน่านำเข้า แม้ประเทศไทยเราจะได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องออกไปขายทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเรายังคงต้องใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างเนื้อปลาทูน่าสดปริมาณมากกว่า 8 แสนตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 80 ของปลาทูน่าที่ใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง เท่ากับว่ามีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นปลาทูน่าที่เราจับได้จากประมงไทย เหตุผลที่ไทยเรายังคงต้องสั่งนำเข้าปลาทูน่ามากมายขณะนี้ เป็นเพราะด้วยคุณภาพของปลาทูน่าที่จับได้ในทะเลไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ที่สำคัญคือความด้อยด้านเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับปลาทูน่า การประมงน้ำลึกของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การเลือกนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจึงดูเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์การผลิตได้มากกว่า   ข้อมูลปี 2553 ประเทศไทยเรานำเข้าปลาทูน่าปริมาณรวม 816,473 ตัน คิดเป็นมูลค่าที่ต้องจ่ายไป 35,656 ล้านบาท ขณะที่ ปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีเดียวกัน อยู่ที่ 521,205 ตัน คิดเป็นรายได้กลับเข้าประเทศ 51,942 ล้านบาท ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ   รู้จักกับปลาทูน่าที่ถูกจับลงกระป๋อง -ปลาทูน่าท้องแถบ (Skip-Jack Tunas) ถือเป็นสายพันธ์ปลาทูน่าที่นิยมใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องมากที่สุดในปัจจุบัน ถึงเกือบร้อยละ 80 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ตัวหนึ่งหนักประมาณ 3 – 7 กิโลกรัม เนื้อปลาจะมีค่อนข้างดำ -ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellow Fin Tunas) สายพันธ์นี้จะอาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งตะวันตกและตะวันออก ลำตัวมีความยาวประมาณ 27-60 นิ้ว เป็นสายพันธ์ปลาทูน่าที่มีขนาดใหญ่ บางตัวหนักถึง 20 กิโลกรัม เนื้อจะมีสีขาว คุณภาพดีกว่าปลาทูน่าท้องแถบ แต่ราคาก็สูงกว่าตามไปด้วย -ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore or Long Finned Tunas) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ ลักษณะและขนาดจะคล้ายกับปลาทูน่าครีบเหลือง -ปลาทูน่าชนิดอื่นๆ ได้แก่ ปลาทูน่าตาโต ทูน่าครีบน้ำเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเอาไปทำปลาดิบมากกว่าบรรจุลงกระป๋อง เพราะคุณภาพจะดีกว่า ราคาก็จะแพงกว่า   ---------------------------------------------------- กินปลาทูน่าแบบรักษ์โลก ถ้าสังเกตที่ข้างกระป๋องปลาทูน่าดีๆ จะเห็นสัญลักษณ์ "Dolphin Safe" ที่เป็นรูปปลาโลมา เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการทำประมงจับทูน่าแบบอนุรักษ์ ไม่ทำร้ายปลาโลมา ซึ่งเป็นข้อตกลงทีมาจากบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของสหรัฐฯ  (Marine Mammal Protection Act-MMPA)  ที่กำหนดห้ามไม่ให้ขายปลาทูน่าที่จับโดยเรือประมงทั้งในหรือต่างประเทศที่ใช้อวนแบบ purse seine  หรืออวนที่ดักล้อมเป็นระยะทางยาวเป็นไมล์   เพราะอวนชนิดนี้ไม่ได้จับได้เฉพาะปลาทูน่าเท่านั้น แต่ยังจับเอาปลาโลมาติดมาด้วย เพราะปลาทูน่าถือเป็นอาหารของปลาโลมา ในฝูงปลาทูน่าจึงมักมีปลาโลมาเกาะกลุ่มอยู่ด้วย ที่ผ่านมามีปลาโลมาที่ต้องตายเพราะอุตสาหกรรมประมงทูน่าหลายล้านตัว สหรัฐอเมริกาจึงทำมาตรการณ์ร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ทุกประเทศที่จะทำการค้าปลาทูน่าทั้งสดและบรรจุกระป๋องต้อง ทำประมงจับทูน่าแบบอนุรักษ์ ไม่ทำร้ายปลาโลมา รวมถึงจับปลาทูน่าเท่าที่จำเป็น   ประโยชน์ของปลาทูน่า ความนิยมในการทานทูน่ากระป๋องที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช้เฉพาะแค่เมืองไทย แต่คนทั่วโลกก็ชื่นชอบปลาทูน่ากระป๋อง ไม่ใช่แค่เพราะความสะดวก แต่ยังรวมถึงเรื่องของคุณประโยชน์ที่ได้ ปลาทูน่าไม่ว่าจะเป็นแบบสดหรือที่บรรจุกระป๋อง จะมีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 และมีดีเฮชเอ (Docosahexaenoic acid (DHA)) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายแต่ร่างกายเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ประโยชน์ของกรดไขมันเหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างความแข้งแรงให้กับเซลล์ ช่วยในการทำงานของระบบสมอง ระบบประสาท ที่สำคัญในโอเมก้า 3 ยังมีสาร เอชดีแอล โคเลสเตอรอล (HDL cholesterol) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลชนิดดี ที่จะไปช่วยจัดโคเลสเตอรอลชนิดเลวออกไปจากร่างกาย ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ แถมปลาทูน่ายังให้โปรตีนที่สูงอีกต่างหาก   ตารางแสดงผลทดสอบปริมาณโซเดียมและการปนเปื้อนของสาตะกั่วในทูน่ากระป๋อง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 152 เปิดขวด “น้ำจิ้มสุกี้”

สุกี้ ถือเป็นเมนูที่หลายๆ คนยกให้เป็นอาหารจานสุขภาพ เพราะความที่เป็นเมนูที่เน้นผักมากกว่าเนื้อสัตว์ สาวๆ หลายคนเลือกรับประทานสุกี้เพราะเชื่อว่ากินแล้วจะไม่อ้วน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการรับประทานสุกี้ให้เป็นเมนูสุขภาพ ไม่ใช่เพราะแค่ดันเข้าใจผิดไปจัดเต็มกับสุกี้บุฟเฟ่ต์ แต่ยังเป็นเพราะสุกี้จานโปรดของคุณเล่นเติมน้ำจิ้มแบบไม่บันยะบันยัง รู้มั้ยในน้ำจิ้มสุกี้รสเด็ด มีทั้งน้ำตาล เกลือ บางยี่ห้อก็มีผงชูรส ฉลาดซื้อเป็นห่วงสุขภาพของคนชอบทานสุกี้ เราจึงลองสำรวจดูว่า น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อต่างๆ ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปนั้น เสี่ยงต่อความหวานของน้ำตาล และความเค็มของโซเดียมมากน้อยแค่ไหน   ตารางสำรวจปริมาณโซเดียมและน้ำตาลในน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวด ปริมาณโซเดียมและน้ำตาลที่เหมาะสมต่อสุขภาพ ***ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภคสำหรับคนไทยใน 1 วัน คือไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ส่วนปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมในการบริโภคสำหรับคนไทยใน 1 วัน คือไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม   วิธีการสำรวจ ฉลาดซื้อได้ทำการสุ่มสำรวจตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดจำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณของโซเดียมและน้ำตาล โดยการดูข้อมูลในฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บนขวดน้ำจิ้มสุกี้แต่ละยี่ห้อ ซึ่งมีการแจ้งปริมาณของโซเดียมและน้ำตาลต่อหน่วยบริโภคเป็นช้อนโต๊ะ เช่น น้ำจิ้มสุกี้ตราสุรีย์ สูตรกวางตุ้ง ข้อมูลในฉลากโภชนาการแจ้งว่า ปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (25กรัม) มีปริมาณโซเดียม 460 มิลลิกรัม ปริมาณน้ำตาล 6 กรัม เป็นต้น โดยจากตัวอย่างทั้งหมด 12 ตัวอย่าง มี 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ คือ น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อพันท้าย (สูตรดั้งเดิม) และ น้ำจิ้มสุกี้เด็กสมบูรณ์ (สูตรกวางตุ้ง) แต่ฉลาดซื้ออยากรู้ปริมาณโซเดียมและน้ำตาลของทั้ง 2 ตัวอย่าง เราจึงส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เพื่อนำผลมาฝากแฟนฉลาดซื้อ   ผลการสำรวจ โซเดียม ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่พบปริมาณโซเดียมสูงที่สุด คือ น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อควิกเชฟ (สูตรกวางตุ้ง) ที่บอกไว้ในฉลากโภชนาการว่ามีปริมาณโซเดียม 740 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (2,400 มิลลิกรัม) ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้ออื่นๆ ที่พบปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ได้แก่ ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ (สูตรกวางตุ้ง) พบปริมาณโซเดียมจากการส่งวิเคราะห์โดยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ที่ปริมาณ 2,152 มิลลิกรับต่อ 100 กรัม หรือที่ประมาณ 646 มิลลิกรัม ต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ ยี่ห้อ แม่ประนอม (สูตรกวางตุ้ง) และ ยี่ห้อบิ๊กซี (รสจัดจ้าน) ที่แสดงปริมาณโซเดียมไว้ที่ 600 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) ส่วนตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่เหลือพบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่ประมาณ 500 – 600 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นการแสดงปริมาณโซเดียมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะเท่านั้น แต่เชื่อว่าหลายคนเวลาทานสุกี้หรือทานพวกอาหารบุฟเฟ่ต์ที่มีน้ำจิ้มสุกี้เป็นน้ำจิ้ม คงไม่เติมกันแค่ 2 ช้อนโต๊ะ หลายคนเติมแล้วเติมอีก บางคนก็กินน้ำจิ้มกันทีเป็นถ้วยๆ ฉลาดซื้อขอเตือนว่าใครที่มีพฤติกรรมกินน้ำจิ้มสุกี้แบบนั้น มีสิทธิได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่เหมาะสมกับสุขภาพ (2,400 มิลลิกรัมต่อวัน)   น้ำตาล ปริมาณน้ำตาลในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่พบในการสำรวจ เฉลี่ยอยู่ที่ 7 กรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ ที่พบมีปริมาณสูงสุดคือ ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อเจ๊เล็ก (สูตรกวางตุ้ง เผ็ดกลาง) ซึ่งแสดงปริมาณน้ำตาลในฉลากโภชนาการไว้ที่ 4 กรัมต่อหนึ่งช้อนโต๊ะ (17 กรัม) หรือถ้าเทียบเป็น 2 ช้อนโต๊ะ (34 กรัม) แบบตัวอย่างอื่นๆ จะเท่ากับ 8 กรัม ซึ่งมากที่สุดในตัวอย่างทั้งหมด 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (24 กรัม) สำหรับตัวอย่างที่พบปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจครั้งนี้คือ ยี่ห้อบิ๊กซี (รสจัดจ้าน) ซึ่งพบปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 3 กรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (33 กรัม) เช่นเดียวกับโซเดียม การทานน้ำจิ้มสุกี้ในปริมาณที่มากเกินไป ย่อมมีความเสี่ยงต่อการได้รับปริมาณน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าจะกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพของเรา ข่าวดี!!!ไม่พบอะฟลาท็อกซินในน้ำจิ้มสุกี้ นอกจากปริมาณของโซเดียมและน้ำตาลแล้ว ฉลาดซื้อยังได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเชื้อรา “อะฟลาท็อกซิน” ในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดทั้ง 12 ตัวอย่าง เนื่องจากส่วนประกอบในน้ำจิ้มสุกี้มีทั้ง พริก และ งา ซึ่งมีโอกาสเป็นแหล่งกำเนิดของสารอะฟลาท็อกซิน จากการวิเคราะห์โดยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ฉลาดซื้อได้ผลวิเคราะห์ที่ถือว่าเป็นข่าวดี เพราะตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ทั้ง 12 ยี่ห้อ ไม่พบการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซิน ผู้บริโภคสบายใจได้ ฉลาดซื้อแนะนำ ถ้าไม่อยากเสี่ยงโซเดียมและน้ำตาลในน้ำจิ้มสุกี้ -  ชิมก่อนปรุง ด้วยความที่คนไทยเราชอบทานอาหารรสจัด ก็เลยอดไม่ได้ที่จะต้องเติมเครื่องปรุงเพิ่ม เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากได้รับโซเดียมและน้ำตาลมากเกินไป ก็ควรชิมก่อนตัดสินใจเติมเครื่องปรุงหรือน้ำจิ้มต่างๆ เพิ่ม - อ่านฉลากโภชนาการ การอ่านฉลากโภชนาการถือเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้รู้ได้ว่าอาหารที่เรากำลังทานอยู่นั้นมีปริมาณสารอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โซเดียม น้ำตาล หรือสารอาหารอื่นๆ เป็นปริมาณเท่าไหร่ น้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่เราสำรวจส่วนใหญ่ก็มีการแสดงฉลากโภชนาการ   ***มีข้อสังเกตเรื่องฉลากโภชนาการ แม้ว่าตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่ฉลาดซื้อสำรวจส่วนใหญ่ (10 จาก 12 ตัวอย่าง) จะแสดงฉลากโภชนาการซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่การกำหนดหน่วยบริโภคเพื่อแสดงปริมาณของน้ำจิ้มสุกี้นั้น ยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการนำไปเป็นข้อมูลการเปรียบเทียบของผู้บริโภค เช่นบางยี่ห้อ กำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค = 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 30 กรัม ขณะที่อีกยี่ห้อกลับกำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค 2 ช้อนโต๊ะ = 33 กรัม บางยี่ห้อก็กำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค 2 ช้อนโต๊ะ = 25 กรัม พูดง่ายๆ คือไม่มีมาตรฐานกลางที่แน่นอน ผู้บริโภคจึงต้องลำบากคำนวณเปรียบเทียบกันเอง เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดเรื่องหน่วยบริโภคให้เป็นหน่วยเดียวกัน   ปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรสชนิดต่างๆ ที่มา: “กินดีสมดุล...การเสริมสร้างวิถีชีวิตสุขภาพ” รองศาสตราจารย์ ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จากการสัมมนาเครือข่ายวิชาการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ จัดโดยสำนักควบคุมโรค 23 กุภาพันธ์ 2554

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ผลทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร

ดาวน์โหลดตารางรายละเอียดการทดสอบ >>>  กดโหลด ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่ม ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที ดังนั้นเพื่อทำตามคำมั่นสัญญา และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้ โดยการนำขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ เพื่อรณรงค์ให้สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กๆ ปลอดภัยจากสารตะกั่ว มูลนิธิบูรณะนิเวศและฉลาดซื้อจึงขอเสนอผลการวิเคราะห์สีทาอาคาร 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ที่มีสิทธิจะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน มีสิทธิในการเลือกและมีสิทธิในการได้รับสินค้าที่ปลอดภัย   ทำไมต้องตรวจตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร ตะกั่วเป็นโลหะหนักอันตรายอย่างหนึ่งที่พบในผลิตภัณฑ์สี เนื่องจากผู้ผลิตนิยมเติมสารตะกั่วบางประเภทเข้าไปเป็นส่วนประกอบของเม็ดสี เพื่อทำให้สีสดใส เช่น สีเหลืองเติมตะกั่วโครเมต สีแดงเติมตะกั่วออกไซด์ สีขาวเติมตะกั่วคาร์บอเนต เป็นต้น นอกจากนี้ตะกั่วยังเป็นสารเร่งแห้งที่ทำให้สีแห้งไวเท่ากันทั่วพื้นผิว และทำให้สีมีความคงทนยิ่งขึ้น การผลิตสีน้ำ ที่เรียกว่าสีพลาสติกหรือสีอคริลิกในหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่เลิกใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมแล้ว ขณะที่สีน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากยังมีการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมสำคัญ การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้จึงเน้นเฉพาะสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่เป็นสีน้ำมัน ประเทศไทยมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จำหน่ายภายในประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้นมาบังคับใช้ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มสีทาอาคาร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก) ได้กำหนดมาตรฐานปริมาณตะกั่วไว้ในสีบางประเภทแบบสมัครใจ คือไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยมาตรฐานปริมาณตะกั่วในแต่ละผลิตภัณฑ์มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน สำหรับสีน้ำมันทาอาคารประเภทที่ใช้แอลคีด (alkyd) เป็นสารยึดเกาะ   ไม่ว่าจะเป็นสีเคลือบเงาแอลคีด (มอก.327-2553) หรือสีเคลือบด้านแอลคีด (มอก.1406-2553) ต้องมีสารตะกั่วไม่เกิน 100 ppm การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN) เพื่อสร้างความตื่นตัวถึงอันตรายจากสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สี และส่งเสริมให้ผู้บริโภค ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันปกป้องเด็กๆ จากทุกมุมโลกให้ปลอดภัยจากพิษตะกั่ว   สำรวจยี่ห้อทั่วไปก่อนเก็บตัวอย่าง ขั้นตอนแรกสุดของการศึกษามูลนิธิบูรณะนิเวศได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคและทีมวิจัยฉลาดซื้อสำรวจผลิตภัณฑ์สียี่ห้อต่างๆ ในตลาดสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายทั่วไป โดยสำรวจตามร้านค้า 3 ประเภทในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้แก่ ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ  ร้านค้าขนาดกลางที่เป็นร้านค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้รับเหมาก่อสร้าง และร้านค้าขนาดเล็กที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์สีในย่านชุมชน เมื่อกำหนดยี่ห้อที่จะตรวจสอบได้แล้ว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 ทีมวิจัยของมูลนิธิบูรณะนิเวศจึงตระเวนซื้อตัวอย่างสียี่ห้อต่างๆ จากร้านค้าทั้ง 3 ประเภท ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา รวมถึงผลิตภัณฑ์อีกบางยี่ห้อที่สำรวจพบเพิ่มเติมภายหลัง รวมแล้วมีผลิตภัณฑ์สีที่นำมาตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด 120 ตัวอย่าง จาก 68 ยี่ห้อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโทนสีสด ได้แก่ สีเหลือง แดง น้ำเงิน ฯลฯ มี 68 ตัวอย่าง จาก 64 ยี่ห้อ และกลุ่มโทนสีขาวจำนวน 52 ตัวอย่าง จาก 51 ยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อเดียวกันในทั้งสองกลุ่ม การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้ทำโดยห้องปฏิบัติการ Certottica ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยโครงการทดสอบความสามารถการวิเคราะห์ตะกั่วในสิ่งแวดล้อม (ELPAT) โดยใช้เครื่อง Inductively Coupled Plasma-Atomic Emission Spectrophotometer (ICP-AES) และใช้วิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากลสำหรับการทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสี   ก่อนตีพิมพ์ผลการทดสอบเรื่องปริมาณสารตะกั่วในครั้งนี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้จัดส่งผลการทดสอบให้กับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ เพื่อผลในการปรับปรุงและดูแลผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  และเมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศและนิตยสารฉลาดซื้อ ยังได้ประชุมร่วมกันกับตัวแทนบริษัทผู้ผลิตสีหลายบริษัท ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตสีไทย โดยมีตัวแทนจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร.พ. รามาธิบดี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนจาก สมอ. เข้าร่วมด้วย ในการประชุมดังกล่าว ทางตัวแทนบริษัทและทางสมาคม มีข้อเสนอและร้องขอให้ทางผู้วิจัยและฉลาดซื้อ อย่านำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะในลักษณะที่เปิดเผยชื่อยี่ห้อและชื่อบริษัท ฯลฯ ด้วยเกรงจะกระทบต่อผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันถึงการใช้สิทธิของผู้บริโภค ที่ควรจะต้องมีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้วยข้อมูลที่ชัดเจน ทางผู้วิจัยและนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ขอสงวนสิทธิการตัดสินใจในการลงเผยแพร่ เพราะเห็นว่าการเปิดเผยผลทดสอบจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าการปกปิดข้อมูล และโดยที่ผลการตรวจสอบพบว่ามีทั้งสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วสูง และสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจได้ “ในเมื่อท่านตัดสินใจประกาศผลทดสอบ ท่านก็อาจต้องระวังว่าทางผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการฟ้องร้องท่านแน่นอน”  อันนี้ถือเป็นคำเตือน คำขู่ หรือไม่ อย่างไร ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า ตกลงเรื่องนี้ใครกันเป็นคนทำผิด      ผลทดสอบ ผลจากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีการใช้สารตะกั่วสูงกว่ากลุ่มโทนสีขาว โดยพบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานแบบสมัครใจของไทย (100 ppm) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm เมื่อมองในภาพรวมตามเกณฑ์มาตรฐานของสารตะกั่วแบบสมัครใจในไทย พบว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมดมีตะกั่วเกิน 100 ppm ปริมาณสารตะกั่วในสีที่พบต่ำสุดจากตัวอย่างสีโทนสีสดใสคือ 26 ppm และปริมาณสูงสุดที่พบคือ  95,000 ppm ส่วนปริมาณตะกั่วต่ำสุดในตัวอย่างโทนสีขาวคือ น้อยกว่า 9 ppm และปริมาณสูงสุดคือ 9,500 ppm รายละเอียดดังแสดงในตาราง   ผลวิเคระห์ปริมาณตะกั่วในตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร ประเภทตัวอย่างสี จำนวนตัวอย่าง ค่ามาตรฐานแบบ สมัครใจตาม มอก. (ตะกั่วไม่เกิน 100 ppm)   ค่าตะกั่วต่ำสุด (ppm) ค่าตะกั่วสูงสุด (ppm) สีน้ำมันทาอาคาร 120 ร้อยละ 79 (95 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 95,000 โทนสีสดใส (ส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง) 68 ร้อยละ 93 (63 ตัวอย่าง)   26   95,000 โทนสีขาว 52 ร้อยละ 62 (32 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 9,500     ข้อมูลบนฉลากแสดงปริมาณตะกั่วไม่ตรงตามจริง จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า สีบางยี่ห้อมีการให้ข้อมูลสารตะกั่วบนฉลากเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อ โดยผลสำรวจพบว่ามีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่าง ที่ติดฉลากให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในแบบต่างๆ  เช่น  “ไม่ผสมสารปรอท ไม่ผสมสารตะกั่ว” (No Added Mercury No Added Lead),  “ปราศจากสารปรอทและตะกั่ว”  (Mercury and Lead Free),  “ไม่ผสมสารตะกั่วและปรอท” (No Added Lead and mercury) และ “ปราศจากสารตะกั่ว 100% ปราศจากสารปรอท 100%”  (100% Lead Free 100% Mercury Free)  เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน  เรื่องนี้ผู้บริโภคจึงควรระวัง เนื่องจากไม่สามารถวางใจข้อมูลบนฉลากได้ทั้งหมด   ตัวอย่างข้อมูลฉลากและปริมาณตะกั่วในสี     ปริมาณสารตะกั่ว 56,000 ppm สียี่ห้อ เด็นโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว  53,000 ppm สียี่ห้อ เบ็นโทน ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์   ปริมาณสารตะกั่ว 49,000 ppm สียี่ห้อ ซีสโต้ ผลิตโดย ซีซั่นเพ้นท์     ปริมาณสารตะกั่ว 48,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ชิลด์ ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์ ปริมาณสารตะกั่ว 43,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ดีไลท์ไททาเนียมผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์     ปริมาณสารตะกั่ว 34,000 ppm สียี่ห้อ คินโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว 28,000 ppm สียี่ห้อ โทรา ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม     ปริมาณสารตะกั่ว 18,000 ppmสียี่ห้อ ร็อกเก็ต ผลิตโดย ทีเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 2,600 ppm สียี่ห้อ ซันเก ผลิตโดย โกลเด้นท์แอร์โร โค๊ทติ้ง     ปริมาณสารตะกั่ว 640 ppm สียี่ห้อ ซุปเปอร์มาเท็กซ์ ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 230 ppm สียี่ห้อ ทีโอเอ กลิปตั้น ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์   ปริมาณสารตะกั่ว 390 ppm สียี่ห้อ กัปตัน ผลิตโดย กัปตันโคตติ้ง (กิจการร่วมกับ ทีโอเอ เพ้นท์)   และด้วยเหตุที่ฉลากบนกระป๋องสีมีรูปแบบและข้อความที่หลากหลาย ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขให้ฉลากมีมาตรฐานเดียวกัน น่าจะช่วยให้ข้อมูลบนฉลากมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงควรเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น อันตรายของสารตะกั่ว และข้อควรระวังในการขูดลอกสีเก่า เป็นต้น   คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1. เลือกสีทาอาคารชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย โดยเฉพาะสีน้ำมัน เฉดสีสด เหลือง ส้ม แดง ควรหลีกเลี่ยง สีน้ำมันทาอาคารเหมาะกับไม้และโลหะ ไม่ควรนำไปทาบนผิวปูนซีเมนต์ โดยในขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานบังคับ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง เพื่อเป็นการลดเรื่องความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ซึ่งพบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบัน 2. สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาก็ต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด อย่าผูกใจเชื่อไปเองว่า สีที่ราคาแพงจะมีคุณภาพดีและปลอดภัยกว่า 3. การเลือกใช้สีว่าจะใช้ของยี่ห้อใดนั้น ให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 4. อ่านฉลากให้ละเอียด แต่อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด ลองศึกษารายละเอียดผลทดสอบทั้งหมดตามที่เสนอไว้ใน “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้ หากพบข้อมูลที่ข้ดแย้งกัน ให้ละเว้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากหลอกลวงไปเลย 5. เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น  ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ 6. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา 7. กรณีจ้างช่างทาสี ควรระบุความต้องการของท่านให้ชัด โดยเลือกใช้สีที่ไม่มีสารตะกั่ว เรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะจากการทดสอบที่ได้นำเสนอไป พบว่า ท่านสามารถเลือกใช้สีที่ปลอดภัยจากสารตะกั่วได้ ในราคาเหมาะสม ไม่แพงเกินไป   คำแนะนำในการทาสีบ้าน การขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ ควรระมัดระวังมิให้ฝุ่นสีฟุ้งกระจายและควรหลีกเลี่ยงการสูดดมหรือสัมผัสฝุ่นสี ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการถูพื้นหรือเช็ดเปียก นอกเหนือจากการกวาด เนื่องจากฝุ่นตะกั่วไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อันนี้เท่ากับจะนำเสนอยี่ห้อที่มีตะกั่วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งก็ควรเขียนหัวข้อให้ชัด ที่สำคัญกว่าคือคงต้องเขียนหมายเหตุให้ชัดว่า อันนี้เป็นผลจากการตรวจ 120 ตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าจำนวนดังกล่าวจะครอบคลุมยี่ห้อต่างๆ ถึง 68 ยี่ห้อ แต่ก็อาจมีบางยี่ห้อที่ไม่อยู่ในการทดสอบนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 150 ตรวจคุณภาพข้าวสารบรรจุถุง ตอนที่ 2

เรื่องของข้าวสารบรรจุถุงยังไม่จบ หลังจากที่ฉลาดซื้อรายงานผลการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารเคมีไปเมื่อฉบับที่แล้ว ฉบับนี้เรายังมีเรื่องของผลวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพของข้าวสารบรรจุถุงมาให้ติดตามกันต่อ การตรวจวิเคราะห์ด้านกายภาพ เป็นการตรวจวิเคราะห์เพื่อดูเรื่องของคุณภาพข้าวสารบรรจุถุง โดยจะดูเรื่องของสิ่งปนเปื้อนที่ปลอมปนมาในข้าวและปริมาณของเมล็ดข้าวที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน เช่น ปริมาณข้าวหัก ข้าวเมล็ดสีอื่น อย่างสีแดง สีเหลือง ข้าวเปลือก หรือ เมล็ดพืชชนิดอื่นๆ โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2549 และ มาตรฐานสินค้าข้าวขาว พ.ศ. 2555 ที่รับรองโดยกระทรวงพาณิชย์   มาตรฐานข้าวขาวหอมมะลิ 100% และ ข้าวขาว 100% (ชั้น 3) -ข้าวเต็มเมล็ด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 -ข้าวหักที่มีความยาวตั้งแต่ 5.0 ส่วนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 8.0 ส่วน  ไม่เกินร้อยละ 5.0 ในจำนวนนี้อาจมีข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึง 5.0 ส่วน และไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 ไม่เกินร้อยละ 0.5 และปลายข้าวขาวซีวัน ไม่เกินร้อยละ 0.1 นอกนั้นเป็นข้าวที่มีความยาวตั้งแต่ 8.0 ส่วนขึ้นไป -ข้าวและสิ่งที่อาจมีปนได้ ข้าวเมล็ดแดง     ห้ามพบ ข้าวเมล็ดเหลือง ไม่เกินร้อยละ 0.2 ข้าวเมล็ดท้องไข่  ไม่เกินร้อยละ 6.0 ข้าวเมล็ดเสีย      ไม่เกินร้อยละ 0.25 ข้าวเหนียวขาว    ไม่เกินร้อยละ 1.5 ข้าวเปลือก         ไม่เกิน 7 เมล็ดต่อข้าว 1 กิโลกรัม ข้าวเมล็ดลีบ ข้าวเมล็ดอ่อน เมล็ดพืชอื่น และวัตถุอื่น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันไม่เกินร้อยละ 0.2   -ระดับการสี สีดีพิเศษ ที่มา : ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง  กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย   สรุปภาพรวมผลการทดสอบคุณภาพทางกายภาพของข้าวสารบรรจุถุง กลุ่มข้าวหอมมะลิ 100% จำนวนตัวอย่างข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% ที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจมีทั้ง 15 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อดังต่อไป 1. ลายกนก 2.สุรินทร์ทิพย์ 3.ข้าวโรงเรียน 4. ปทุมทอง 5. cooking for fun 6.ฉัตรทอง 7.ข้าวเบญจรงค์ 8.ข้าวหอมมะลิแปดริ้ว 9.ตราเกษตร 10.ติ๊ก ชีโร่ 11.ดอกบัว 12.ท๊อปส์ 13.หงษ์ทอง 14.โฮมเฟรชมาร์ช จัสมิน และ 15.ชามทอง ซึ่งจากผลการวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ ข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% บรรจุถุงทั้ง 15 อย่าง พบเรื่องที่น่ายินดี คือ ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์ในเรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 60% อีกเรื่องที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์คือ ปริมาณของข้าวหัก ที่กำหนดว่าห้ามเกิน 8% จากการวิเคราะห์มีเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่สูงเกินมาตรฐาน คือตัวอย่างยี่ห้อปทุมทอง ขณะที่ผลการวิเคราะห์เรื่องสิ่งปลอมปนในข้าว พบว่ามีหลายตัวอย่างพบการปนของข้าวเมล็ดแดง (ข้าวที่สีต่ำกว่ามาตรฐาน) และข้าวเมล็ดเหลือง ที่กำหนดไว้ว่าห้ามพบสำหรับข้าวเมล็ดแดง และ ไม่เกิน 0.2% สำหรับข้าวเมล็ดเหลือง ตัวที่พบได้แก่ ลายกนก, สุรินทร์ทิพย์, ข้าวโรงเรียน, ปทุมทอง, ข้าวเบญจรงค์, ตราเกษตร, ติ๊ก ชีโร่, ดอกบัว, โฮมเฟรชมาร์ช จัสมิน และ ชามทอง ซึ่งปริมาณที่เกินเกณฑ์มานั้นก็ไม่ได้มากมายอะไร ไม่ถึง 1% ส่วนการปลอมปนของสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ อย่าง ข้าวเมล็ดท้องไข่ ข้าวเมล็ดเสีย ข้าวเปลือก จากผลการวิเคราะห์ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ในเรื่องการคุณภาพการสีทีกำหนดไว้ว่าต้องเป็นระดับการสีดีพิเศษ ข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% บรรจุถุงทั้ง 15 ตัวอย่าง มีระดับการสีอยู่ที่สีดีเท่านั้น   กลุ่มข้าวหอมผสม เพราะมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยของกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ข้าวสารบรรจุถุงหากจะใช้คำว่า “ข้าวหอมมะลิ” ในทางการค้า ข้าวที่นำมาบรรจุถุงขายต้องมีปริมาณข้าวหอมมะลิไม่น้อยกว่า 92% หากน้อยกว่านี้ใช้ได้เพียงแค่คำว่า ข้าวหอม เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะลักษณะเป็นข้าวผสม คือ มีข้าวหอมมะลิอยู่ประมาณ 70% จำนวนข้าวทั้งหมด อีก 30% ที่เหลือเป็นข้าวขาวธรรมดา ซึ่งข้าวหอมมะลิที่ใช้มักเป็นข้าวหอมมะลิที่เกรดคุณภาพ 10% หรือ 5% ซึ่งคุณภาพจะแตกต่างจากข้าวหอมมะลิเกรดคุณภาพ 100% ที่ยอมให้มี % ปริมาณของข้าวหักและสิ่งปลอมปน เช่น ข้าวเมล็ดแดง ข้าวเมล็ดเหลือง ข้าวเมล็ดเสีย ข้าวเปลือก ข้าวเมล็ดลีบ ได้มากกว่า สำหรับผลการวิเคราะห์ พบว่าข้าวที่อยู่ในกลุ่มข้าวหอมผสม ซึ่งมีตัวอย่างจำนวน 6 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.บัวทิพย์ 2.ธรรมคัลเจอร์ ข้าวหอมคุณภาพคัดพิเศษ 3.ปิ่นเงิน ข้าวหอมคัดพิเศษ 4.ข้าวแสนดี ข้าวหอมยโสธร 5.ข้าวหอมผสมเอโร่ และ 6.สุพรรณหงส์ ข้าวหอมสุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีอีก 1 ตัวอย่าง ที่ไม่ได้แจ้งทั้งเกรดคุณภาพของข้าวและปริมาณของข้าว คือยี่ห้อ ไก่แจ้เขียว บอกแต่เพียงว่าเป็นข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ซึ่งเราจะนำตัวอย่างในกลุ่มนี้เทียบโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิ 100% ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด ส่วนเรื่องการปลอมปนนั้น มีหลายยี่ห้อที่พบการปลอมปนของเมล็ดข้าวเหลืองเกินมาตรฐาน ได้แก่ยี่ห้อ ธรรมคัลเจอร์, ข้าวแสนดี และ ปิ่นเงิน ซึ่งตัวอย่างข้าวสารถุงยี่ห้อ ปิ่นเงิน ข้าวหอมคัดพิเศษ พบว่าตกเกณฑ์มาตรฐานหลายข้อ ทั้ง % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน การปนของเมล็ดข้าวแดงและเมล็ดข้าวเหลือง เรื่องคุณภาพการสีทุกตัวอย่างอยู่ในระดับ สีดี   กลุ่มข้าวหอมปทุม มาตรฐานข้าวหอมปทุมตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เป็นมาตรฐานแบบเดียวกับมาตรฐานข้าวหอมมะลิ 100% ซึ่งในตัวอย่างข้าวสารถุงที่ฉลาดซื้อสุ่มมาวิเคราะห์นั้น มี 2 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าเป็นข้าวหอมปทุม 100% คือ 1.ท๊อปส์ ข้าวหอมปทุมธานี และ 2.ยี่ห้อบิ๊กซี ข้าวหอมปทุม ทั้ง 2 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์เรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด แต่ทั้ง 2 ตัวอย่าง ตกเกณฑ์เรื่อง % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน ส่วนเรื่องสิ่งปลอมปน ท๊อปส์ ข้าวหอมปทุมธานี พบปริมาณข้าวเมล็ดแดงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนบิ๊กซี ข้าวหอมปทุม พบปริมาณข้าวเมล็ดเหลืองเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนสิ่งปลอมปนอื่นๆ ผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ตัวอย่าง เรื่องระดับคุณภาพการสี ทั้ง 2 ตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ สีดี ซึ่งตามมาตรฐานต้องเป็น สีดีพิเศษ   กลุ่มข้าวขาว มาตรฐานทางกายภาพของข้าวขาวจะถูกแบ่งตามเกรดคุณภาพของข้าว ไล่ตั้งแต่ ข้าวขาว 100% ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ข้าวขาว 15% ข้าวขาว 25% และ ข้าวขาว 35% ซึ่งเกณฑ์แต่ละประเภทก็จะเคร่งครัดลดหลั่นกันไป โดยตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่ฉลาดซื้อสุ่มเก็บมาวิเคราะห์นั้น มีตัวอย่างครบทุกเกรดข้าว รวมทั้งหมด 21 ตัวอย่าง ข้าวขาว 100% มีด้วยกัน 7 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ข้าวพันดี 2.ดอกบัว ตงฮั้ว 3.ข้าวแสนดี 4.มาบุญครอง 5.ช้างเผือก 6.เอโร่ ข้าวขาว 100% และ 7.ดอกบัว ข้าวขาวตาแห้ง ซึ่งผลการวิเคราะห์เรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด พบว่ามีเพียง 1 ยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ ดอกบัว ตงฮั้ว ที่ระบุว่าเป็นข้าวขาวเสาไห้ ส่วนเกณฑ์ที่มีหลายตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ คือเรื่องส่วนของข้าวหัก และ% ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน รวมถึงเรื่องการปนของข้าวเมล็ดแดงและข้าวเมล็ดเสีย ตัวอย่างข้าวในกลุ่มนี้ที่ผลวิเคราะห์ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ มียี่ห้อ ดอกบัว ข้าวขาวตาแห้ง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องการปนของข้าวเมล็ดแดงเรื่องเดียวเท่านั้น เรื่องคุณภาพการสี ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์สีดี ซึ่งตามมาตรฐานต้องเป็นสีดีพิเศษ ข้าวขาว 5% มีจำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ตราฉัตร 2.โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา 3.ข้าวมหานคร 4.ข้าวแสนดี ข้าวหอมทิพย์ และ 5. ตราคุ้มค่า ข้าวหอม ในกลุ่มนี้ตัวอย่างส่วนใหญ่จะตกเกณฑ์ในเรื่องของส่วนของข้าวหัก และ % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน  ทั้ง ตราฉัตร, โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา และ ข้าวมหานคร ตัวอย่างในกลุ่มข้าวขาว 5% ไม่ค่อยพบการตกเกณฑ์เรื่องการปลอมปนของข้าวเมล็ดแดงหรือเมล็ดเหลือง แต่พบตกเกณฑ์การปนของข้าวเมล็ดท้องไข่ใน 2 ตัวอย่าง คือ ตราฉัตร และ ข้าวมหานคร ระดับคุณภาพการสี ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์สีดี ซึ่งถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ข้าวขาว 10% มี 2 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ชาวนาไทย ข้าวเสาไห้ และ 2.ข้าวหอมฉัตรอรุณ สำหรับตัวอย่าง ชาวนาไทย ข้าวเสาไห้ ตกเกณฑ์ในเรื่อง ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ ปลายข้าวซีวัน ส่วน ข้าวหอมฉัตรอรุณ ตกเกณฑ์เรื่อง ส่วนของข้าวหัก % ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ % การปลอมปนของข้าวเมล็ดเหลือง ข้าวขาว 15% มี 2 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ตราฉัตร และ 2.พนมรุ้ง ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่างตกเกณฑ์เรื่องเดียวกัน คือ ส่วนของข้าวหัก % ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ % ปลายข้าวซีวัน โดยเฉพาะ พนมรุ้ง ที่ผลวิเคราะห์ที่ได้ตกจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ค่อนข้างเยอะ ข้าวขาว 25% มี 1 ตัวอย่าง คือยี่ห้อ ข้าวอิ่มทิพย์ ซึ่งผลวิเคราะห์ตกเกณฑ์เรื่อง % ปลายข้าวซีวัน และการปนของเมล็ดข้าวเหลือง ข้าวขาว 35% มีจำนวน 4 ตัวอย่าง 1.รุ้งทิพย์ 2.คุ้มค่า 3.ถูกใจ และ 4.แฮปปี้บาท ตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงในกลุ่มนี้ ตกเกณฑ์ในเรื่องของส่วนของข้าวหัก และ % ปลายข้าวซีวัน   ฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อข้าวสารถุงหากต้องการชนิดของข้าวสารตรงตามกับที่ต้องการ ต้องไม่ลืมที่จะอ่านรายละเอียดส่วนประกอบที่อยู่บนฉลากข้างถุงเด็ดขาด เพราะข้าวสารถุงหลายยี่ห้อที่เป็นข้าวแบบผสม ถ้าเราไม่อ่านส่วนประกอบเราจะไม่รู้เลยว่า ข้าวที่ผสมกันนั้น เป็นข้าวหอมกี่ % ข้าวขาวกี่ % และเป็นข้าวเกรดไหน ซึ่งเมื่อรู้ว่าข้าวยี่ห้อนี้เป็นข้าวเกรดอะไร เราก็สามารถนำไปเปรียบเทียบกับข้าวเกรดเดียวกันยี่ห้ออื่นๆ เพื่อเลือกดูที่ยี่ห้อที่คุ้มค่าคุ้มราคามากที่สุด ส่วนของเมล็ดข้าว คือ ส่วนของข้าวเต็มเมล็ดแต่ละส่วนที่แบ่งตามความยาวของเมล็ดออกเป็น 10 ส่วนเท่า ๆ กัน ข้าวเต็มเมล็ด คือ เมล็ดข้าวที่อยู่ในสภาพ เต็มเมล็ด ไม่มีส่วนใดหักและให้รวมถึงเมล็ดข้าวที่มีความยาวตั้งแต่ 9ส่วนขึ้นไป ข้าวหัก คือ เมล็ดข้าวแตกเป็นซีกที่มีเนื้อที่เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 80 ของเมล็ด ปลายข้าวซีวัน คือ เมล็ดข้าวหักขนาดเล็กที่ร่อนผ่านตะแกรงเบอร์ 7 ตะแกรงเบอร์ 7 คือ ตะแกรงโลหะรูกลม หนา 0.79 มิลลิเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางรู 1.75 มิลลิเมตร ข้าวเมล็ดแดง คือ เมล็ดข้าวที่มีรำสีแดงหุ้มอยู่ทั้งเมล็ดหรือติดอยู่เป็นบางส่วนของเมล็ด ข้าวเมล็ดเหลือง คือ เมล็ดข้าวที่มีบางส่วนของเมล็ดกลายเป็นสีเหลืองอย่างชัดแจ้ง ข้าวเมล็ดท้องไข่ คือ เมล็ดข้าวเจ้าที่เป็นสีขาวขุ่นเหมือนช็อล์คมีเนื้อที่ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปของเนื้อที่เมล็ดข้าว ข้าวเมล็ดเสีย คือ เมล็ดข้าวที่เสียอย่างเห็นได้ชัดแจ้งด้วยตาเปล่าซึ่งเกิดจากความชื้น ความร้อน เชื้อรา แมลง หรืออื่น ๆ ข้าวเมล็ดลีบ คือ เมล็ดข้าวที่ไม่เจริญเติบโตตามธรรมดาที่ควรจะเป็น มีลักษณะแฟบ แบน ระดับการสี แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.สีดีพิเศษ คือการขัดสีเอารำออกทั้งหมดจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามเป็นพิเศษ 2.สีดี คือ การขัดสีเอารำออกทั้งหมดจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามดี 3.สีดีปานกลาง คือการขัดสีเอารำออกเป็นส่วนมากจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามพอสมควร และ 4.สีธรรมดา คือการขัดสีเอารำออกแต่เพียงบางส่วน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 146 อย่าลืมดู “ส่วนประกอบ” ก่อนซื้ออาหารสำเร็จรูป

  เมื่อหมูย่างกลายเป็นไก่ย่าง             ในวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีแต่ความเร่งรีบ เรื่องของความสะดวกและรวดเร็ว ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากคนรุ่นก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน จากวิถีการบริโภคที่เนิ่นช้า ใช้เวลาในการประดิดประดอย ตกแต่งทั้งรสชาติและรูปร่างหน้าตาของอาหารให้มีความสวยงาม เปลี่ยนมาสู่อาหารที่พร้อมบริโภคได้ทันที เพียงแค่เอาออกจากตู้แช่แล้วผ่านความร้อนแค่ไม่กี่นาที จากเตาไมโครเวฟ โดยเราเรียกมันว่า “อาหารแช่เย็น – แช่แข็ง”    ถ้ามองผ่านๆ รูปร่างหน้าตาบนฉลากสินค้าเหล่านี้จะดูน่ารับประทานและมีความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์สูง เรียกว่า อยากกินเมนูอะไรก็มีให้เลือกมากมาย แต่เดี๋ยวก่อน ...การมองเฉพาะชื่ออาหารบนผลิตภัณฑ์อาจไม่ใช่อย่างที่คุณคิด เพราะเป็นไปได้ว่า หมูย่างที่คุณกำลังจะกินอาจมีไก่ผสม หรือ ลูกชิ้นกุ้ง ไม่ได้เป็นกุ้งล้วน แต่เป็นเนื้อปลา   ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” จึงได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชนสุ่มสำรวจตัวอย่างอาหารพร้อมบริโภคชนิดแช่เย็นและแช่แข็ง จำนวน 76 ตัวอย่าง 3 กลุ่มอาหาร ประกอบด้วย กลุ่มเบอร์เกอร์-ฮอทดอก-แซนวิช กลุ่มติ่มซำ-อาหารเรียกน้ำย่อย และกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป จากร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โฮมเฟรชมาร์ท บิ๊กซี โลตัส และกูร์เม่ มาร์เก็ต สยามพารากอน เซเว่นอีเลฟเว่น ระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2556 เมื่อมาพิจารณาเปรียบเทียบการแสดงรายละเอียดของชื่ออาหาร และส่วนประกอบ ว่ามีความสอดคล้องหรือไม่ และอาจจะนำมาซึ่งความสับสนแก่ผู้บริโภคหรือไม่   ผลทดสอบ  ร้อยละ 62 ฉลากควรต้องปรับปรุง            “ฉลาดซื้อ” พบว่า จาก 76 ตัวอย่าง มี 29 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่ฉลากแสดงข้อมูลได้ค่อนข้างดี คือ มีการใช้ชื่ออาหารที่ชัดเจนเข้าใจได้ทันทีเมื่ออ่านชื่ออาหาร มีการแสดงชื่ออาหารที่สอดคล้องกับส่วนประกอบ และมีการแสดงรายการส่วนประกอบที่ค่อนข้างละเอียดและชัดเจน ขณะที่อีก 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62) มีการแสดงข้อมูลบนฉลากที่สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค บางรายการอาจเข้าข่ายทำให้เข้าใจผิดและเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานแสดงฉลากไม่ถูกต้องได้ (มาตรา 6(10) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522) โดย แบ่งตามลักษณะการกระทำความผิดได้เป็น 5 ลักษณะ คือ   ชื่ออาหารไม่สอดคล้องกับส่วนประกอบ การแสดงชื่ออาหารไม่สอดคล้องกับส่วนประกอบหลักของอาหาร เช่น ตรา เดลี่ไทย ใช้ชื่ออาหารว่า ข้าวเหนียวหมูย่าง แต่มีส่วนประกอบของหมูและไก่ อีกทั้งปริมาณและสัดส่วนของเนื้อสัตว์ทั้งสองชนิดยังใกล้เคียงกันมากคือ ร้อยละ 10 และ ร้อยละ 9 ตามลำดับ หรือ ไส้กรอกชีสต์หมู ตราเบทเทอร์ฟู้ด ที่ส่วนประกอบไม่มีการระบุว่า มีชีสต์ ทั้งที่ในชื่ออาหารแสดงไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นไส้กรอกชีสต์ กุ้งทอดสอดไส้ชีส ตราสุรพลฟู้ดส์ ที่ชื่อบอกว่ากุ้ง แต่มีส่วนประกอบ ทั้งกุ้งและปลา คือ กุ้ง 23%, เกล็ดขนมปัง 17%, เนื้อปลาบด 15%, ชีส 6% เป็นต้น   การแสดงชื่ออาหารไม่ได้บอกว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไร การแสดงชื่ออาหารไม่ได้บ่งชี้ว่าอาหารชนิดนั้นคืออะไร ทำมาจากอะไร เช่น แซนวิชเค้กไส้กรอก ตรา เซเว่น เฟรช ที่ส่วนประกอบระบุว่า ไส้กรอก 41%, ไข่ขาว 13.20%, แป้งสาลี 10.8%... ฯลฯ ซึ่งทั้งชื่ออาหารและส่วนประกอบไม่ได้ให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า ไส้กรอกนั้น ๆ คืออะไร หรือ WAVE DOG ฮอทดอกซอสพิซซ่า ที่ส่วนประกอบแสดงว่าทำจากไส้กรอกไก่ แต่มิได้แสดงชื่อไส้กรอกไก่ไว้บนฉลาก   การแสดงชื่ออาหารไม่ชัดเจน เมื่อชื่ออาหารไม่ชัดเจน ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไรเป็นจริงตามชื่ออาหารที่กล่าวอ้างหรือไม่ รวมถึงมิได้มีการแสดงส่วนประกอบเป็นร้อยละ หากแต่แสดงเพียงรายการวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นอาหารเท่านั้น เช่น ลูกชิ้นหมูปิ้ง ตรา เซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ ที่ส่วนประกอบระบุแค่ เนื้อสัตว์ เพียงอย่างเดียว หรือ เกี๊ยวปู ตรา เจด ดราก้อน ที่ระบุส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ 49.5%, แผ่นแป้ง 29.5% เครื่องปรุงรส 11.9%, มันแกว 11.5% ยอพริก (ไส้กรอกตราซีเค ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์) ที่ชื่อไม่บอกว่าทำจากสัตว์ โดย ส่วนประกอบ แสดงแค่ว่าทำจากเนื้อสัตว์ + เครื่องปรุงรส แต่บนฉลากกลับมีการแสดงรูปไก่ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นยอไก่ได้ เป็นต้น   มีการแสดงฉลากอาหารสองชุด คือมีฉลากที่สลักติดมากับบรรจุภัณฑ์และฉลากแบบที่เป็นสติ๊กเกอร์ที่แปะมาในภายหลังซึ่งฉลากทั้งสองชุดมีการแสดงรายการส่วนประกอบที่ไม่ตรงกัน เช่น ไส้กรอกคอกเทลรมควัน ตรา ซีพี ซึ่งฉลากที่ติดมากับซองแสดงรายละเอียดว่า เนื้อสัตว์ ขณะที่ ฉลากที่เป็นสติ๊กเกอร์ ระบุว่า ทำมาจาก เนื้อหมู และเนื้อไก่ หรือ ไส้กรอกหมูเวียนนา ตรา บางกอกแฮม รูปหมูตัวเดียว ที่มีฉลาก 2 ชุด ชุดแรกเป็นสติ๊กเกอร์แสดงรายละเอียดว่า ทำจากเนื้อหมูและอื่น ๆ กับ ฉลากชุดที่สองเป็นตัวหนังสือสลักบนซองบอกรายละเอียดว่าทำจากเนื้อสัตว์และอื่น ๆ เป็นต้น   มีชื่ออาหารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ความหมายไม่ตรงกัน ชื่อที่อาจสร้างความสับสน เช่น ลูกชิ้นกุ้งมังกรเทียม (เนื้อปลาบดปรุงรส) ขณะที่ ชื่อภาษาอังกฤษ แสดงคำว่า Lobster Ball ซึ่งหมายถึงว่าทำมาจากกุ้งมังกรแท้ กับ Shrimp Shao – mai ขนมจีบ ตรา S&p ที่ชื่อภาษาอังกฤษแสดงว่าเป็นขนมจีบกุ้ง ขณะที่ชื่อภาษาไทยบอกแค่ขนมจีบ เป็นต้น   ข้อควรระวัง สีของซองกับตัวอักษรบนซองกลืนกัน อ่านได้ยาก เช่น กุ้งทิพย์ ตรา พี.เอฟ.พี (เนื้อปลาผสมกุ้งปรุงรส) ที่ทำสีซองและตัวหนังสือเป็นสีเหลืองกลืนกับสีพื้น ชื่ออาหารตัวเล็กอ่านได้ยากเนื่องจากมีชื่ออาหารที่ยาวเกินไป เช่น เนื้อปลาบดปรุงรสผสมกลิ่นไก่และกลิ่นชีส รมควันรูปแองกรี้เบิร์ดส์ ตรา TVI ทวีวงษ์ Angry Birds Fish Cake การแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบบางครั้งยังไม่ละเอียดเพียงพอ ไม่สามารถทราบได้ว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไร เช่น เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นสำเร็จรูป ไส้กุ้งทรงเครื่อง ตรา โออิชิ เกี๊ยวซ่า ที่ส่วนประกอบหลักระบุเพียงแค่ว่าทำจาก ไส้กุ้งทรงเครื่อง 57% ขณะที่เกี๊ยวหมูซอสญี่ปุ่น ตรา ซีพี ที่มีการแสดงส่วนประกอบคล้าย ๆ กัน กลับแสดงรายละเอียดเป็นวงเล็บไว้ว่าไส้หมูสูตรญี่ปุ่นทำจาก เนื้อหมู ผัก และเครื่องปรุงรส การแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบที่อาจมีผลต่อการก่อภูมิแพ้สำหรับผู้แพ้อาหารยังคงเป็นการแสดงโดยสมัครใจ (ผู้ผลิต เป็นผู้อาสาแสดงรายละเอียดเองโดยไม่มีกฎหมายบังคับ) และยังไม่โดดเด่นพอที่จะเป็นจุดสังเกตให้ผู้บริโภคต้องระวังเมื่ออ่านฉลาก ส่วนใหญ่ของอาหารที่ฉลาดซื้อนำมาสำรวจในครั้งนี้ใช้ ผงชูรส (msg-โมโนโซเดียมกลูตาเมต) และวัตถุปรุงแต่งรสอาหารชนิดอื่น ๆ ประกอบอาหารด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ทำให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาโรคไตหรือมีปัญหากับผงชูรส ไม่มีตัวเลือกเท่าไหร่นัก กว่าหนึ่งในสามของตัวอย่างที่ทดสอบจะมีการใช้เนื้อสัตว์อื่นนอกจากเนื้อสัตว์ที่เป็นชื่ออาหารมาผสมเป็นอาหาร ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาแพ้อาหารหรือไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์บางประเภทได้ด้วยปัญหาด้านสุขภาพส่วนตัว (เช่น เป็นโรคแพ้กุ้ง หรือเป็นโรคเก๊าท์ ทานเนื้อไก่ไม่ได้ เป็นต้น) จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจจะได้เนื้อสัตว์อื่นที่ไม่ต้องการเป็นของแถมเมื่อบริโภคอาหารในกลุ่มนี้   ฉลาดซื้อแนะนำ 1.อ่านฉลากอาหารโดยละเอียด อย่าดูเพียงแค่วันผลิต – วันหมดอายุ โดยให้อ่านทั้งชื่ออาหาร ส่วนประกอบของอาหาร รวมถึงข้อมูลโภชนาการ ว่าสอดคล้องกับชื่ออาหารที่แสดงไว้หรือไม่ และอย่าลืมดูชื่อผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่ายด้วย เนื่องจากหากต้องการร้องเรียนหรือให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาด จะได้ดำเนินการได้โดยตรง 2.ให้ดำเนินการร้องเรียน เมื่อพบอาหารที่มีปัญหาการแสดงฉลาก หรือสงสัยว่าจะมีปัญหากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยทำหนังสือเป็นทางการพร้อมส่งภาพฉลากอาหารที่สงสัยให้กับ อย. เพื่อให้วินิจฉัย พร้อมดำเนินการทางกฎหมายหากพบว่าเป็นการกระทำความผิดจริงตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 3.ควรซื้อหรือรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ และ/หรือปรุงอาหารรับประทานเองบ้าง อาหารแช่แข็งควรเป็นเพียงแค่ตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น อย่าจำกัดชีวิตตัวเองมากเกินไป   ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่การแสดงฉลากควรปรับปรุง   ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญ ที่แสดงบนฉลาก สถานที่ผลิต/จัดจำหน่าย เลขสารบบอาหาร (เครื่องหมาย อย.) ข้าวเหนียวหมูย่าง ตรา เดลี่ไทย ข้าวเหนียว 71.4%, เนื้อหมู 10.6%, เนื้อไก่ 9.1% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0347 เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวหมูย่าง ตรา เดลี่ไทย ข้าวเหนียว 67.7%, เนื้อหมู 14.0%, เนื้อไก่ 12.0% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0726 เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวลาบหมู ตรา 7 เฟรช ข้าวเหนียว 67.7%, เนื้อหมู 12.7%, เนื้อไก่ 7.5% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0611 แซนวิชเค้กไส้กรอก ตรา เซเว่นเฟรช Sausage Cake Sandwitch ไส้กรอก 41%, ไข่ขาว 13.20% แป้งสาลี 10.80%... ฯลฯ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด 12-2-01653-2-0002 เกี๊ยวหมูซอสสุกี้ ตราซีพี แผ่นเกี๊ยว 31%, เนื้อหมู 26%, ผัก 23 %, เนื้อไก่ 14% บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 24-2-02255-2-0029 เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่น ไส้หมู ตรา สุรพลฟู้ดส์ Pork Gyoza ผัก 27.1%, แป้งเกี๊ยว 22.8% เนื้อหมู 21.3%, เนื้อไก่ 15.4% บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ 11-1-21429-2-0353 ขนมจีบกุ้ง ตรา เทสโก้ Shrimp Shumai กุ้ง 39%, มันแกว 27%, ปลาบด 10% บริษัท พัฒนาซีฟู้ดส์ จำกัด (สำนักงานใหญ่) 74-2-00644-2-0068 Shrimp Shao – mai ขนมจีบ ตรา S&p กุ้ง, หมู, แป้งสาลี, เครื่องปรุงรส บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 11-1-21429-2-0056 กุ้งบอมบ์ ตรา สามสมุทร Sea Shrimp Bomb ขนมปังหั่นเต๋า 40%, เนื้อปลา 35% กุ้ง 12%, … ฯลฯ บริษัท เค. แอล. ห้องเย็นจำกัด 74-2-03448-2-0075 เกี๊ยวปู ตรา เจด ดราก้อน Crab Dumpling เนื้อสัตว์ 49.5%, แผ่นแป้ง 29.5% เครื่องปรุงรส 11.9%,มันแกว 11.5% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0693 ลูกชิ้นหมูปิ้ง ตราเซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ เนื้อสัตว์ บริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 14-2-01552-2-0001 ลูกชิ้นปลาหมึก (cuttlefish ball) ตราแต้จิ๋ว เนื้อปลา 58% ปลาหมึก 15% บริษัท มหาชัยฟู้ดโปรเซสซิ่ง จำกัด 74-2-00637-2-0001 ลูกชิ้นกุ้งมังกรเทียม (เนื้อปลาบดปรุงแต่งรส) Lobster Ball เนื้อปลา 60% น้ำ 35% แป้ง 6% ผลิตโดย บริษัท ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด 74-1-28034-2-0010 ชิกเก้นแฟรงค์ (ไก่) ตรา ซีพี มีฉลาก 2 ชุดแสดงข้อมูลต่างกันเล็กน้อย ชุดแรกป้ายแปะบนซอง : เนื้อไก่, เกลือเสริมไอโอดีน, น้ำตาล, เครื่องเทศ ชุดที่สองตัวอักษรสลักบนซองอาหาร: เนื้อสัตว์ เกลือเสริมไอโอดีน น้ำตาล เครื่องเทศ ผลิต/บรรจุโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   10-1-05649-1-0678 ไส้กรอกชีสไก่ Halal ตรา บีเคพี มีฉลาก 2 ชุด แสดงข้อมูลตรงกัน คือ เนื้อไก่, เกลือเสริมไอโอดีน, น้ำตาล, เครื่องเทศ (ไม่มีการแสดงชีสในส่วนประกอบ) ผลิตโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   19-2-01155-2-0031 ไส้กรอกไก่-หนังกรอบ ตรา SSP (ฉลากบนซองไม่ระบุชนิดของไส้กรอก บอกเพียงแค่ ไส้กรอก SSP) เนื้อสัตว์ 80%, ไขมัน 12% น้ำ 2%, แป้ง 4%, เครื่องปรุง 2% ผลิตโดย บริษัท เจพีเอ็ม ซอสเซส จำกัด 26-2-00250-2-0022 ไส้กรอกจูเนียร์ไก่ ตรา โชคุ-ดี เนื้อสัตว์ 85%, ไขมัน 10%, เกลือ-น้ำตาล 4%, เครื่องเทศ 1% บริษัท ทีดี มีท โปรดักส์ จำกัด 30-2-03153-2-0001 ไส้กรอกชีสหมู ตราเบทเทอร์ฟู้ด เนื้อสัตว์อนามัย ไขมัน น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด โรงงาน: อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 16-2-01746-2-0271 ไส้กรอกหมูเวียนนา ตรา บางกอกแฮม รูปหมูตัวเดียว มีฉลาก 2 ชุดแสดงข้อมูลต่างกันเล็กน้อย ชุดแรกเป็นป้ายแปะบนซอง : เนื้อหมู น้ำตาล เครื่องเทศ เกลือเสริมไอโอดีน ชุดที่สองเป็นตัวอักษรสลักบนซองอาหาร: เนื้อสัตว์ เกลือ น้ำตาล เครื่องเทศ บริษัท บางกอกแฮม โปรดักส์ ซัพพลาย จำกัด 11-2-10747-2-0037 ยอพริก (ไส้กรอกตราซีเค ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์) เนื้อสัตว์อนามัย ไขมัน วิตามิน น้ำตาล เครื่องเทศ บริษัท แอดวานซ์ มีท โปรดักส์ จำกัด 13-2-06647-2-0072 ตับบด (ก้อน) ตรา ทีจีเอ็ม Liver Sausage เนื้อหมู 60%, ตับหมู 15%, มันหมู 15%, น้ำ 5%,… ผลิตโดย บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด 24-2-00936-2-0102       ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากชัดเจน ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญ ที่แสดงบนฉลาก สถานที่ผลิต/จัดจำหน่าย เลขสารบบอาหาร (เครื่องหมาย อย.) เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวไก่ทอดหาดใหญ่ ตรา เซเว่นเฟรช Hat Yai Fried Chicken Sticky Rice Burger ข้าวเหนียว 61.5%, เนื้อไก่ 22.5%, เครื่องปรุงรส 6.9% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0836 ข้าวเหนียวไก่ทอด ตรา พรานไพร Fried Chicken with Sticky Rice ข้าวเหนียว 70% เนื้อไก่ 24.5%...ฯลฯ บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซนโปรดักส์ จำกัด 74-2-01249-2-0221 หมูปิ้งสูตรนมสด ตราเซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ เนื้อหมู 73%, เครื่องปรุง 11.26% (พริกไทย,…ฯลฯ), นมข้นจืด 1.50% บริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 14-2-01552-2-0014 แซนวิชกุ้งชีส ตรา I-Bake Sandwich Shrimp & Cheese ขนมปังแซนวิชนมสด 40% เบอร์เกอร์กุ้ง 32%, แซนวิช สเปรด 22%, ชีสสไลด์ 6% บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด   12-2-01653-2-0043 เบรก แอนด์ ฟาสต์ แซนวิช ไส้หมูอบซอสญี่ปุ่นและชีส ตรา โออิชิ ขนมปังแซนวิช 54%, มายองเนสซอสญี่ปุ่น 24%, หมูอบ 18%, เชดด้าชีส 4% บริษํท โออิชิเทรดดิ้ง จำกัด 13-2-02746-2-0416 เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นสำเร็จรูป ไส้หมู ตรา โออิชิ เกี๊ยวซ่า เนื้อหมู 45%, แป้ง 35% กะหล่ำปลีและหอมใหญ่ 20% เครื่องปรุงรส 3% บริษํท โออิชิเทรดดิ้ง จำกัด 13-2-02746-2-0055 เกี๊ยวหมูลุยสวน ตรา ซีพี ไส้หมูลุยสวน (เนื้อหมู, ผัก และเครื่องปรุงรส) 48%, แผ่นเกี๊ยวผัก 30%, น้ำจิ้มลุยสวน 22% ผลิตโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   24-2-02255-2-0017 กุ้งทิพย์ ตรา พี.เอฟ.พี (เนื้อปลาผสมกุ้งปรุงรส) เนื้อปลาบด 64.08% น้ำแข็ง 17.68% เนื้อกุ้งบด 8.59% เกล็ดขนมปัง 6.71% ผู้ผลิต บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด   90-1-22129-2-0004 กุ้งระเบิด Shrimp Bomb เนื้อปลาบดปรุงรส ผสมกุ้งชุบเกล็ดขนมปัง เนื้อปลาบด 30%, น้ำ 23%, เกล็ดขนมปัง 15%, เนื้อกุ้ง 12%, … ฯลฯ บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด   74-1-01029-2-0007 นักเก็ตกุ้ง ตรา ซีพี CP Appetizer แป้งทอด 50% กุ้ง 48% เครื่องปรุงรส 2% ผลิต/บรรจุโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 74-2-00348-2-0029 หมูพันสาหร่าย ตรา เจด ดราก้อน Seaweed Pork Roll   เนื้อหมู 60%, เครื่องปรุงรส 16%, โปรตีนถั่วเหลือง 12%, น้ำกรอง 6%, สาหร่ายทะเลอบแห้ง 4%, น้ำมันงา 2% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด   13-1-19233-20004 ขนมจีบไก่สับ ตรา เปาสตาร์ Chicken Shu Mai เนื้อไก่ 58.4%, มันแกว 13.3%, เครื่องปรุง 12.9%, แป้งสาลี 10%, …ฯลฯ ผลิตโดย บริษัท บีดีซี สเปเชียลตี้ฟู้ดส์ จำกัด 13-2-00549-2-0022 ไส้กรอกพ๊อคจูเนียร์ ตรา ทีจีเอ็ม Junior Pork Sausage เนื้อหมู 80%, น้ำ 15%, เครื่องปรุงรส 5% ผลิตโดย บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด 24-2-00936-2-0267 ไส้กรอกเวียนนาหมู ตรา บิ๊กซี Pork Vienna Sausage เนื้อหมู 85%, น้ำ 10%, เครื่องปรุงรส 5% บริษัท พลายฟู้ดส์ จำกัด 74-2-02551-2-0010 ไส้กรอกหมูกระเทียมพริกไทย ตรา S&p Premo Pepper and Garlic Pork Sausage เนื้อหมู, เครื่องเทศ, น้ำตาล, เกลือ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)   10-1-07036-1-0250 ลูกชิ้นหมู ปิ้ง – ทอด ตรา โฮเด้ง เนื้อหมู 70%, แป้งมัน 20%, พริกไทยและอื่น ๆ 6%... บริษัท บิ๊กบอล ฟู้ดส์ จำกัด 73-2-06146-2-0012 เนื้อปลาบดปรุงรสผสมกลิ่นไก่และกลิ่นชีส รมควันรูปแองกรี้เบิร์ดส์ ตรา TVI ทวีวงษ์ Angry Birds Fish Cake เนื้อปลาบด 50% น้ำ 34.8% แป้งมันฝรั่ง 10% บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด   74-1-01029-2-0181 มูส เดอ ฟัว (ตับหมูบดนึ่ง) ตราคาสิโน ตับหมู 30%, ไขมัน 30%, หนังหมู 10%, …. ฯลฯ ผลิตโดย Madrange La Valoine ประเทศฝรั่งเศส นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 10-3-07554-1-0112  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 144 น้ำตาลสังเคราะห์

  เมื่อน้ำตาลได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ร้ายที่ถูกส่งมาทำลายหุ่นอันผอมเพรียวและไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เลยต้องมีการคิดค้นและพัฒนาสารอะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อเป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เราคุ้นเคย สำหรับคนที่ อดหวาน ไม่ได้   ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาคุณมารู้จักกับ “ความหวาน” แบบพลังงานต่ำหรือไม่ให้พลังงาน ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล(Sweetener) ซึ่งเทรนด์ตลาดวัตถุให้ความหวานในเมืองไทย เมื่อปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมประมาณ 300-400 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดูจากปัจจุบันที่มีสินค้ากลุ่มนี้วางจำหน่ายอยู่หลายยี่ห้อและวางบนชั้นวางของห้างค้าปลีกทั่วไป     วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จากการสำรวจตลาดพบว่า มีผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.น้ำตาลฟรุคโตส(fructose) 2.กลุ่มที่ใช้แอสปาร์แทม 3.กลุ่มที่ใช้ซูคราโลส 4.กลุ่มที่ใช้สเตวิโอไซด์(หญ้าหวาน) 5.กลุ่มที่ใช้อะเซซัลเฟม-เค ร่วมกับแอสปาร์แทม 6.กลุ่มที่ใช้ซูโครสเป็นหลักร่วมกับสารให้ความหวานอื่นๆ   1.น้ำตาลฟรุคโตส(Fructose) เป็นน้ำตาลที่พบได้ในผลไม้และน้ำผึ้งตามธรรมชาติ ให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทรายคือ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่น้ำตาลฟรุคโตสมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึงเท่าตัว ดังนั้นจึงสามารถใช้ในปริมาณที่น้อยลงกว่าครึ่งเมื่อต้องการความหวานที่เท่ากัน    2.แอสปาร์แทม(Aspartame) แอสปาร์แทม เป็นผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ให้ความหวานประมาณ 200 เท่าของน้ำตาลทราย แอสปาร์แทมให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทรายคือ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่ใช้เพียงนิดก็หวานมากแล้ว ดังนั้นแอสปาร์แทมจึงให้แคลอรี่ที่น้อยกว่ามากเมื่อผสมลงในอาหาร ตัวอย่างเช่น น้ำอัดลมแคลอรี่ต่ำ ข้อเสียที่สำคัญของแอสปาร์แทมในเรื่องรสชาติคือ แอสปาร์แทมไวต่อความร้อน ดังนั้นเครื่องดื่มที่ผสมแอสปาร์แทมอาจมีรสชาติที่เปลี่ยนไปเมื่อสัมผัสกับความร้อน จึงไม่เหมาะจะนำไปใช้กับเครื่องดื่มหรืออาหารที่ต้องใช้ความร้อนในการปรุง คำเตือนอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยเฟนิลคีโตนูเรีย   เพราะว่าใช้แอสปาร์แทมเพียงจำนวนน้อยก็หวานมากแล้ว ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเติมสารเพิ่มปริมาณ คือ แลคโตส ที่มีความหวานเพียง 0.2 เท่าของน้ำตาลในเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่า แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ อให้เป็นตัวหลักแค่ต้องการเพิ่มปริมาณบรรจุเท่านั้น แลคโตสนี้อาจมีปัญหาทำให้ท้องอืดได้สำหรับคนที่ไม่มีเอนไซม์ที่ใช้ย่อยแลคโตส   3.ซูคราโลส(Sucralose) ซูคราโลสนี้หวานกว่าน้ำตาลทรายถึง 600 เท่า ข้อดีของซูคราโลสคือ รสชาติ ที่ใกล้เคียงน้ำตาล ไม่มีรสขม และทนต่อความร้อน จึงมีการนำไปใช้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่นเดียวกับแอสปาร์แทม เนื่องจากซูคราโลสมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 600 เท่า การนำมาใช้จึงอยู่ในปริมาณที่น้อยมากๆ ดังนั้นเพื่อให้มีน้ำหนักเพิ่มจึงผสมกับน้ำตาลกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ ได้แก่ มอลทิทอลและเออริทริทอล ซึ่งสองตัวนี้มีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทรายและให้พลังงานไม่มาก แต่ถ้ารับประทานมากไปอาจกระทบกับระบบทางเดินอาหารทำให้ท้องเสียได้   4.สเตวิโอไซด์(หญ้าหวาน) หญ้าหวาน หรือ ต้นสตีเวีย(Stevia rebaudiana Bertoni) เป็นพืชพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยสารที่สกัดออกมาคือ สเตวิโอไซด์ หวานมากกว่าน้ำตาลทราย 300 เท่า ไม่ให้พลังงาน มีความคงตัวที่อุณหภูมิสูง สเตวิโอไซด์ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาของอเมริกาให้ใช้เป็นสารให้ความหวานแต่อนุญาตให้ใช้ผงแห้งและสารสกัดจากใบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   5.ใช้อะเซซัลเฟม-เค ร่วมกับแอสปาร์แทม อะเซซัลเฟม-เค (Acesulfame-K) เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่หวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า ข้อดีคือให้รสหวานที่รับรู้รสได้เร็วแต่บางครั้งก็จะมีรสขมเมื่อใช้ในปริมาณสูง ไม่ให้พลังงานและทนความร้อนได้ดี ผู้ผลิตนิยมใช้อะเซซัลเฟม-เคร่วมกับแอสปาร์แทม เพื่อลดจุดด้อยของกันและกัน และเลี่ยงการเกิดรสขมเมื่อใช้ในปริมาณสูง     6.ใช้น้ำตาลทราย(Sucrose) ร่วมกับสารให้ความหวานอื่นๆ กลุ่มนี้เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมแคลอรีมากกว่าใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะส่วนประกอบหลักยังคงเป็นน้ำตาลทรายมากกว่า 90% แต่เพิ่มสารให้ความหวานเข้าไปเพื่อลดปริมาณการใช้ลงมา ดังนั้นรสชาติจะเหมือนน้ำตาลปกติและแต่ค่าพลังงานจะต่ำลงมาเพราะปริมาณการใช้ที่น้อยลง     ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- น้ำตาลเป็นอาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง เป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต ชื่อของน้ำตาลมักจะใช้คำลงท้ายว่า “โอส” (“ose”) อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่เราทราบกันดีว่าได้แก่อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล คาร์โบไฮเดรตมีรากศัพท์มาจากคำว่า “คาร์บอน”รวมกับ”ไฮเดรท” แปลว่าเป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างที่มีน้ำจับอยู่กับทุกๆ อะตอมของคาร์บอน   ---------------------------------------------------------------------------------------------------- วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม วัตถุให้ความหวานที่ให้พลังงาน ได้แก่ ฟรุคโตส(น้ำตาลจากผลไม้) มอลทิทอล เออริทริทอลและไซลิทอล สารให้ความหวานกลุ่มนี้ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยโรคเบาหวาน วัตถุให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำ ได้แก่ ซูคราโลส หญ้าหวาน แอสปาร์แทม อะเซซัลเฟม-เค สารให้ความหวานกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยโรคเบาหวาน ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ข้อมูล 1.เป็นเบาหวาน เลือกอะไรใส่กาแฟแทนน้ำตาล. รศ.วิมล ศรีสุข คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=100 2.สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการ http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15566&id_L3=565

อ่านเพิ่มเติม >