ฉบับที่ 114 ชื่นใจอย่างปลอดภัย กับ เก็กฮวย

    “ดอกเก๊กฮวย” เป็นไม้ดอกในตระกูลเบญจมาศ มี ถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นและจีน ถือเป็นไม้ดอกที่ มีรูปทรงสวยงาม สีสันสดใส ดอกจะบานสวยงามในหน้าหนาว ในประเทศจีนยกให้เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง และความมีคุณธรรมที่ไม่ยอมโอนอ่อนตามฤดูกาล ซึ่งดอกเบญจมาศถือเป็นดอกไม้ที่มีการซื้อขายกันมากทั่วโลก เพราะปลูกง่ายและมีหลากหลายพันธุ์ ทั้งแบบสวยงามใช้เพื่อการประดับตกแต่ง และแบบที่นำมาทำเครื่องดื่มซึ่งก็คือ ดอกเก๊กฮวย นั่นเอง   ชื่นใจอย่างปลอดภัย กับ “เก๊กฮวย” เป็นธรรมดาเวลาที่เราต้องเจอกับอากาศร้อนๆ หรือทำงานมาเหนื่อยๆ หลายคนก็คงรู้สึกกระหายอยากดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ ที่ดื่มแล้วทำให้รู้สึกชื่นใจ หายเหนื่อย และถ้ามีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยก็จะดีไม่น้อย แต่ก็คงมีบางคนที่อาจจะเบื่อน้ำเปล่า หรือถ้าเป็นชา กาแฟก็ไม่ค่อยถูกใจ น้ำอัดลมดื่มแล้วไม่มีประโยชน์ ส่วนน้ำผลไม้ก็แพงเกินไป  “ฉลาดซื้อ” จึงอยากแนะนำเครื่องดื่มสมุนไพร ดื่มแล้วชื่นใจ แถมให้ประโยชน์ ที่ไม่ว่าใครก็รู้จักกันดี อย่าง “เก๊กฮวย” น้ำเก๊กฮวย เป็นเครื่องดื่มในดวงใจของใครหลายๆ คน ด้วยกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ จะต้มดื่มเองก็ง่าย จะซื้อแบบพร้อมดื่มก็สะดวกดีเพราะมีขายอยู่ทั่วไป ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น   ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเก๊กฮวยว่า มีการตรวจพบอาหารหลายชนิดที่นำเข้ามาจากจีนที่ด่านอาหารและยาเชียงแสน จ.เชียงราย มีการปนเปื้อนของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปริมาณสูง ซึ่งมีดอกเก๊กฮวยแห้งรวมอยู่ด้วย เพื่อความสบายใจของคนที่ชอบดื่มน้ำเก๊กฮวย “ฉลาดซื้อ” จึงขออาสาพิสูจน์ความจริง มาดูกันซิว่าจะมีสิ่งไม่พึ่งประสงค์อยู่ในเก๊กฮวยหรือเปล่า   “ซัลเฟอร์ไดออกไซด์” อันตรายยังไง?  ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นสารเจือปนอาหารที่มีฤทธิ์ในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย จุลินทรีย์ และรา จึงช่วยชะลอการเน่าเสียของอาหาร ยืดอายุของอาหาร แถมยังช่วยป้องกันการเปลี่ยนสีของอาหารได้ด้วย   แต่ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นอันตรายต่อร่างกาย แม้ร่างกายสามารถขับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้โดยการปัสสาวะ แต่ถ้าร่างกายได้รับมากเกินไปจะมีผลไปลดประสิทธิภาพการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกาย และมีฤทธิ์ทำลายวิตามิน B1 อาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ได้รับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าสู่ร่างกายมากๆ คือ จะทำให้หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนหัว คนที่แพ้มากๆ หรือเป็นหอบหืดอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้   นอกจากดอกเก๊กฮวยแห้งแล้ว ยังมีอาหารอีก   หลายชนิดที่มีโอกาสเสี่ยงซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เช่น  ผักผลไม้แห้ง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กวน ผักผลไม้กระป๋อง แยม น้ำตาลทราย เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ แป้ง อาหารแช่แข็ง ฯลฯ    ผลทดสอบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในดอกเก๊กฮวยแห้ง   “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่าง ดอกเก๊กฮวยแห้ง สำหรับนำไปต้มดื่มเองที่บ้าน ซึ่งตัวอย่างที่เราเก็บส่วนใหญ่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายในห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง มีเพียงหนึ่งตัวอย่าง (ดอกเก๊กฮวยแห้งตราเสือ) ที่เราไปเลือกซื้อที่ตลาดเยาวราช เพราะน่าจะเป็นที่ที่แม่ค้าหลายเจ้าไปซื้อเพื่อนำมาต้มเป็นน้ำเก๊กฮวยขาย ต่ออีกที ซึ่งช่วงที่เราไปซื้อตัวอย่างยี่ห้อดังกล่าว พบว่ามีวางจำหน่ายอยู่หลายร้านในตลาดเยาวราช เราจึงคาดว่า ดอกเก๊กฮวยแห้งยี่ห้อนี้น่าจะเป็นที่นิยมพอสมควร     • สำหรับข้อกำหนดของการปนเปื้อนของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในดอกเก๊กฮวยแห้งนั้น ประกาศกระทรวง  สาธารณสุข (ฉบับที่ 280) พ.ศ.2547 เรื่อง ชาสมุนไพร ซึ่งนับรวมดอกเก๊กฮวยแห้งเอาไว้ด้วย ได้กำหนดไว้ว่าอนุญาตให้มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 10 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม • ในการทดสอบหาสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในดอกเก๊กฮวยแห้งครั้งนี้ มีอยู่ 2 ตัวอย่างจากทั้งหมด 8 ตัวอย่าง  ซึ่งพบในระดับที่สูงที่เกินกว่าประกาศของกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างมาก คือ สมุนไพร ดอกเก๊กฮวย  ตรา ดร.กรีน พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปนเปื้อน 754.37 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ ดอกเก๊กฮวย ตรา Tesco  พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปนเปื้อน 155.67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   • อย่าเพิ่งตกใจแม้จะเห็นตัวเลขการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในดอกเก๊กฮวยแห้งที่เราทดสอบสูงกว่า  มาตรฐานที่กำหนดค่อนข้างมาก แต่ก็ถือเป็นตัวเลขที่เทียบจากปริมาณดอกเก๊กฮวยแห้ง 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เยอะมากยิ่งนำไปต้มเป็นน้ำดื่มก็ยิ่งมีปริมาณมากขึ้นไปอีก แถมยังมีเพียงแค่ 2 จาก 8 ตัวอย่างเท่านั้น ที่พบการปนเปื้อน นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ดอกเก๊กฮวยแห้งในวางขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ปลอดภัย   • แต่คราวหน้าถ้าจะซื้อดอกเก๊กฮวยแห้งมาต้มน้ำเก๊กฮวยดื่มที่บ้าน ก็ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่บรรจุมิดชิด สะอาด มีชื่อที่อยู่ผู้ผลิตและวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุระบุไว้ชัดเจน หรือถ้ามีบอกกรรมวิธีการผลิตหรือวัตถุดิบที่ใช้ก็จะยิ่งดีมาก • ในการทดสอบดอกเก๊กฮวยแห้งครั้งนี้ ”ฉลาดซื้อ” ยังได้ทดสอบหาการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซินด้วยซึ่งผลที่ออกมาน่าดีใจ เพราะไม่พบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินในดอกเก๊กฮวยแห้งทั้ง 8 ตัวอย่าง -------------------------------------------------- ประโยชน์ของการดื่มน้ำเก๊กฮวย -น้ำเก๊กฮวยดื่มแล้วชื่นใจ ทำให้รู้สึกสดชื่น แก้กระหาย แถมช่วยแก้ร้อนใน ขับพิษร้อน ขับลม ขับเหงื่อได้ด้วย -ดอกเก๊กฮวยสารแคโรทีนอยด์ (carotenoid) ช่วยบำรุงสายตา บรรเทาอาการไข้ แก้วิงเวียนศีรษะ และอาการหน้ามืด -เป็นยาระบายและช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง -ดื่มน้ำเก๊กฮวยช่วยบำรุงหัวใจ และระบบการทำงานของหลอดเลือด ช่วยขยายหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เลี้ยงหัวใจ จึงช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเส้นเลือดตีบ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 114 เฟรนช์ฟราย จานด่วน อันตราย

  เฟรนช์ฟราย ของอร่อยที่มากับความน่ากลัว (รึเปล่า) หากพูดถึงร้านอาหารจานด่วนหรือร้านฟาสต์ฟู้ด ผมมั่นใจได้ว่าเฟรนช์ฟรายจะมาเป็นลำดับต้น ๆ ของรายการอาหารในร้านอาหารจานด่วนที่ท่านผู้อ่านจะนึกถึง เฟร้นช์ฟรายหรือมันฝรั่งแท่งทอดมีต้นกำเนิดมาจากประเทศเบลเยียมในปี ค.ศ. 1680 ภายหลังได้แพร่กระจายไปหลายประเทศในยุโรปจนมาถึงประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1856 โดยพ่อครัวชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่งทำอาหารชนิดนี้และนำไปเสิร์ฟให้กับประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา ในชื่อสั้น ๆ ว่า ฟราย (Fries) และกลายเป็นรายการอาหารหลักในร้านฟาสต์ฟู้ด จัดว่าเป็นหนึ่งในอาหารที่ทำกำไรได้มากที่สุดของร้านอาหารจานด่วนต่างๆ ทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทย   เพื่อทดสอบความปลอดภัยของเฟรนช์ฟรายที่บริโภคกันอยู่ในปัจจุบัน ทางโครงการพัฒนากลไกการ เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคจึงได้เก็บตัวอย่างเฟรนช์ฟราย จำนวน 30 ตัวอย่าง ในการเก็บตัวอย่างจำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2552 เก็บตัวอย่างจากร้านอาหารจานด่วน หรือฟาสต์ฟู้ดเฟรนไชส์ใหญ่ จำนวน 6 ยี่ห้อ ได้แก่ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เชสเตอร์กริลล์ เบอร์เกอร์คิง เอแอนด์ดับบลิว และมอสเบอร์เกอร์ ในกรุงเทพมหานคร กับ ร้านเคเอฟซี จำนวน 2 สาขาในจังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนี้ยังได้เก็บตัวอย่างเฟรนช์ฟรายจากร้านอาหารจานด่วนขนาดเล็ก อีก 2 ร้าน คือร้านยูเฟรนและร้านอีสานคลาสสิคในจังหวัดสมุทรสงคราม การเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมีนาคม 2553 จากร้านอาหารจานด่วนเฟรนไชส์ขนาดใหญ่ จำนวน 4 ยี่ห้อ ได้แก่ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เชสเตอร์กริลล์ และเบอร์เกอร์คิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับ ร้านเคเอฟซี จำนวน 2 สาขาในจังหวัดสมุทรสงคราม การเก็บตัวอย่างครั้งที่ 3 เก็บตัวอย่างซ้ำของครั้งที่ 1 และ 2 ในเดือนเมษายน 2553 ดำเนินการเก็บตัวอย่างจากร้านอาหารจานด่วนเฟรนไชส์ขนาดใหญ่จำนวน 6 ยี่ห้อที่เก็บเมื่อการเก็บตัวอย่างครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2552 รวม 9 ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และตัวอย่างจากร้านเคเอฟซีอีก 2 สาขา จำนวน 4 ตัวอย่าง กับตัวอย่างจากร้านยูเฟรน และร้านทีสเต็ก รวม 4 ตัวอย่าง ในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยตรวจหาปริมาณเกลือ (Salt) ไขมันทรานส์ (Trans fat) และค่าของกรด (Acid Value) ผลการทดสอบ(3 ครั้ง) พบว่า• เกลือหรือโซเดียมยังสูง...น่าห่วงการทดสอบปริมาณเกลือหรือโซเดียมในเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่ที่เก็บเมื่อเดือนมีนาคม 2553 นั้นทั้ง 6 ตัวอย่างของเฟรนช์ฟรายที่ทดสอบ มีปริมาณเกลือในระดับที่สูงและจัดว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อไตได้หากมีการบริโภคติดต่อกันในระยะยาว โดยมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 1.48 กรัม/100 กรัม เทียบน้ำหนักต่อห่อของเฟรนช์ฟรายจะพบว่า 1 ห่อมีน้ำหนักอยู่ที่ 150 – 200 กรัม ซึ่งหากใช้ปริมาณเฉลี่ยที่ตรวจพบเป็นฐานคิดจะพบว่าในการบริโภคเฟรนช์ฟราย 1 ห่อจะได้รับเกลือเข้าร่างกายประมาณ 2.2 กรัม – 2-9 กรัม/หน่วยบริโภค ซึ่งเกือบจะเทียบเท่าหรือสูงกว่าปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทย(Thai RDI) ที่ระบุไว้ว่าควรบริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัมหรือ 2.4 กรัมต่อวัน   • ไขมันทรานส์ ต่ำกว่าเกณฑ์เป็นอันตรายการทดสอบไขมันทรานส์ (Trans fat) ที่เป็นตัวเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL: low-density lipoprotein) ในเลือดและลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL: high-density lipoprotein) ในเลือด อันก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น พบว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยในการบริโภค โดยพบไขมันทรานส์ในทั้ง 10 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจในการเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ด้วยอัตราเฉลี่ย เท่ากับ 0.09 กรัม/100 กรัม หรือเท่ากับ 0.14 – 0.18 กรัม/หน่วยบริโภคที่ 150 – 200 กรัม ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคม 2553 พบไขมันทรานส์ในตัวอย่างจำนวน 5 จาก 6 ตัวอย่างที่ทดสอบด้วยอัตราเฉลี่ยเท่ากับ 0.04 กรัม/100 กรัม หรือเท่ากับ 0.06 – 0.08 กรัม/หน่วยบริโภค 150 – 200 กรัมซึ่งค่าเฉลี่ยของไขมันทรานส์ที่พบในการทดสอบทั้งสองครั้งนั้นต่ำกว่าค่ามาตรฐานการบริโภคไขมันทรานส์ที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการแนะนำให้บริโภคไม่เกิน 0.7 กรัม/หน่วยบริโภคอยู่อย่างน้อยกว่า 3 เท่า     • น้ำมันทอดซ้ำ ยังเข้าข่ายเฝ้าระวังการทดสอบค่าของกรด (Acid Value) [จำนวนมิลลิกรัมของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ที่ทำปฏิกิริยาเป็นกลาง (Neutralize) พอดีกับกรดไขมันอิสระที่มีอยู่ในน้ำมันหรือไขมัน 1 กรัม] ซึ่งค่าของกรดจะเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหาร โดยหากค่าของกรดต่ำหมายความว่าน้ำมันที่ใช้มีคุณภาพดีและหากค่าของกรดสูงหมายความว่าน้ำมันที่ใช้ผ่านการใช้ซ้ำมาแล้วหลายครั้ง จากการทดสอบพบว่า มีค่าเฉลี่ยของค่าของกรดจากการทดสอบครั้งที่ 3 เดือนเมษายน 2553 เท่ากับ 2.06 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) โดยมีตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง จาก 15 ตัวอย่างส่งตรวจ ที่พบค่าของกรดสูงกว่า 3 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) [อ้างอิงโดยอนุโลมจากค่ามาตรฐานตามกฎหมายสาธารณสุขด้านอาหารของประเทศญี่ปุ่น (Japan Food Sanitation Act) เรื่อง น้ำมันในอาหารซึ่งสกัดออกจากอาหารของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป]       ได้แก่ ตัวอย่างจากร้าน เคเอฟซี สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวที่ปริมาณ 5.44 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) และตัวอย่างจากร้านเบอร์เกอร์คิง สาขามาบุญครอง ที่ปริมาณ 4.47 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างอีก 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณค่าของกรดใกล้เคียงกับมาตรฐาน (สูงกว่า 2 แต่ไม่ถึง 3 mgKOH/g oil โดยอ้างอิงเกณฑ์พึงระวังจากมาตรฐานกลางหรือโคเด็กซ์ - Codex Commodity Standard) คือตัวอย่างจากร้านแมคโดนัลด์ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ที่ปริมาณ 2.52 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) ในการเก็บตัวอย่างเดือนมีนาคม 2553 ตัวอย่างจากร้านเคเอฟซี สาขาเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ปริมาณ 2.3 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) และ ตัวอย่างจากร้านแมคโดนัลด์ สาขาเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ปริมาณ 2.22 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) ในการเก็บตัวอย่างเดือนพฤศจิกายน 2552         บริโภคแต่น้อย เพื่อสุขภาพที่ดีเมื่อดูภาพรวมหลังการทดสอบ การบริโภคเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไตอันเนื่องมาจากได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง ความดันโลหิต และหลอดเลือดหัวใจอันเนื่องมาจากการบริโภคน้ำมันทอดซ้ำ แต่ถ้ายังรู้สึกว่า ชีวิตจะไร้สีสันไปสักนิดหากงดบริโภคไปเลย ก็มีข้อแนะนำดังนี้  • ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเฟรนช์ฟรายที่ขายในร้านอาหารจานด่วนทั้งหลาย โดยเฉพาะเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่ เพราะโอกาสที่จะกินให้หมดเนื่องจากเสียดายมีสูง • หากจะบริโภคจริงๆ ก็เลือกขนาดเล็ก กินให้น้อยและไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นประจำ ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้เจ้าของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารในร้านบ่อยๆ และใส่เกลือลงในเฟรนช์ฟรายให้น้อยลง • ทำกินเองที่บ้านก็ดีนะครับ เพราะสามารถควบคุมปริมาณเกลือที่จะใช้และอุณหภูมิในการทอดและคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ทอดได้------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  “น้ำมันทอดซ้ำ” น้ำมันทอดซ้ำ ถือเป็นภัยใกล้ตัวคนไทย เพราะบ้านเรามีพวกอาหารทอดๆ ขายเยอะแยะเต็มไปหมด น้ำมันทอดซ้ำก็คือน้ำมันที่ผ่านการทอดมาหลายครั้งจนเสื่อมคุณภาพและเกิดการแตกตัวเป็นสารโพลาร์ ซึ่งทำให้น้ำมันเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีกลิ่นเหม็นหืน และเป็นต้นเหตุทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ทำให้ตับเสื่อม นอกจานี้ยังก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด วิธีที่จะเลี่ยงภัยเสี่ยงจากน้ำมันทอดซ้ำ ก็ต้องพยายามสังเกตน้ำมันที่ร้านค้านั้นใช้ ต้องไม่มีกลิ่นเหม็นหืน หรือมีสีดำคล้ำ เวลาทอดต้องไม่มีฟองกับควันมากเกินไป เพราะนั้นแสดงว่าน้ำมันใช้มานาน ส่วนใครที่ทำกับข้าวกินเองที่บ้าน มีหลายวิธีหลีกหนีจากภัยน้ำมันทอดซ้ำ เช่น ไม่ควรใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำเกิน 2 ครั้ง หรือหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ให้เทน้ำมันเก่าทิ้ง 1 ใน 3 แล้วเติมน้ำมันใหม่ลงไปแทน ไม่ควรทอดไฟแรงเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 160 – 180 องศาเซลเซียส หรือซับน้ำส่วนที่เกินบริเวณผิวหน้าอาหารดิบก่อนทอด ก็ช่วยชะลอการเสื่อมสลายตัวของน้ำมันได้ เฟรนช์ฟราย จานด่วน อันตราย!โดย นายพชร แกล้วกล้าผู้ประสานงานโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 กุ้งแห้ง แดงนี้อาจมีปัญหา

เมนูยอดฮิตอย่าง ส้มตำ ผัดไทยและยำรสเด็ด กุ้งแห้งตัวแดงๆ นี้ถือเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้เชียว เพราะมันทั้งช่วยเพิ่มรสชาติและสีสันให้อาหารชวนรับประทานมากยิ่งนัก กุ้งแห้งที่เรารับประทานกันทุกวันนี้มีหลายไซด์หลายราคา เกรดดีเกรดไม่ดี ก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ ยิ่งกุ้งตัวใหญ่อ้วนท้วนสมบูรณ์ราคาก็จะสูงตามไปด้วย กุ้งแห้งที่ขายกันอยู่ในตลาดนั้นมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละร้อยกว่าบาทไปจนถึงพันบาท ปัจจัยในการซื้อไม่เพียงแค่เรื่องราคา ขนาด ความสะอาดและแหล่งผลิตแล้ว เราต้องไม่มองข้ามเรื่อง “สี” นะครับเพราะกุ้งแห้งที่ดีไม่ควรผสมสีใดๆ ลงไปทั้งสิ้น ผลการทดสอบที่นำมาเสนอนี้เป็นการเก็บตัวอย่างอาหารครั้งที่ 3 ของโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเช่นเคยครับ มีจำนวนตัวอย่างที่เก็บทั้งสิ้นจำนวน 8 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมกราคม 2553 จากพื้นที่ดำเนินงานโครงการ ใน 8 จังหวัดจาก 4 ภูมิภาค ดังนี้ ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสงคราม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพะเยา และภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล กุ้งแห้งที่นำมาทดสอบเป็นกุ้งแห้งขนาดเล็กไม่แกะเปลือกสำหรับใช้ประกอบอาหาร และมีสิ่งที่ต้องการทดสอบคือตรวจหาสิ่งปนเปื้อนในอาหาร 3 ชนิดได้แก่ สารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาทอกซิน สีปรุงแต่งอาหาร และสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์   ผลการทดสอบ - ข่าวดี ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาทอกซินในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ (8 ตัวอย่าง) - ข่าวร้าย พบสีสังเคราะห์ในตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 25 ของตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บ โดยตัวอย่างที่เก็บจากร้านเจ๊รัตนา ในตลาดสดจังหวัดมหาสารคามพบสีตระกูลสีส้ม ซึ่งไม่ใช่สีสังเคราะห์ที่กฎหมายอนุญาตให้ใส่ในอาหาร และตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบสีสังเคราะห์ชนิดสีแดง-ปองโซ 4 อาร์ และชนิดสีเหลือง-ซันเซ็ตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ อันนี้อนุญาตให้ใช้กับอาหารแต่ไม่อนุญาตในกุ้งแห้งครับ   - พบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างจำนวน 4 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 50 ของตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บ คือ 1. กุ้งแห้งใหญ่ ยี่ห้อ BDMP ของบริษัทบางกอกดีไฮเดรทมารีนโปรดักส์ จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างสยามพารากอน กรุงเทพฯ พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin )ที่ปริมาณ 0.098 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.131 มิลลิกรัม/กิโลกรัม2. กุ้งแห้งจากร้านเจ๊ดม ณ ตลาดเทศบาลเมืองสมุทรสงครามพบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin ) ที่ปริมาณ 0.052 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.235 มิลลิกรัม/กิโลกรัม3. กุ้งแห้งที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin ) ที่ปริมาณ 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.061 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4. กุ้งแห้งนำเข้าจากประเทศจีนที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin ) ที่ปริมาณ 0.048 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.33 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   ข้อสังเกต• ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบการปนเปื้อนทั้งสีสังเคราะห์สีแดงและสีเหลืองและพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (ยาฆ่าแมลง) • ผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดสอบกว่าร้อยละ 90 ไม่ระบุยี่ห้อ ไม่ทราบวันผลิตและวันหมดอายุ และไม่ทราบผู้ผลิต ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4 (2) ระบุว่าให้พบการปนเปื้อนของ อฟลาทอกซิน ได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สาระน่ารู้เกี่ยวกับสิ่งปนเปื้อนที่พบในกุ้งแห้ง สีผสมอาหาร นิยมใส่ในอาหารเพื่อทำให้อาหารมีสีสันสดใสดึงดูดใจให้รู้สึกอยากรับประทาน ซึ่งสีที่ใส่ในอาหารมีทั้งสีจากธรรมชาติและสีที่สังเคราะห์ขึ้นมา แน่นอนสีผสมอาหารไม่มีคุณค่าทางอาหารแถมถ้าสะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมากๆ ก็อาจเป็นอันตรายต่อตัวเราได้ โดยเฉพาะกับระบบการทำงานของกระเพาะอาหาร เพราะสีผสมอาหารจะเข้าไปเคลือบกระเพาะอาหารการดูดซึมสารอาหารก็จะมีปัญหา และอาจลุกลามไปกระทบต่อการทำงานของไตด้วย สำหรับวิธีง่ายๆ เพื่อจะดูว่ากุ้งแห้งที่เราจะซื้อใส่สีหรือเปล่า แม่ค้าอาหารทะเลแห้งจากตลาดมหาชัยแนะนำว่าให้ดูที่ท้องกุ้ง ถ้ากุ้งแห้งไม่ใส่สีท้องกุ้งจะขาว แต่ถ้าเกิดเป็นสีแดงหรือส้มก็ให้สงสัยได้เลยว่าใส่สี สารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ เป็นสารเคมีในกลุ่มยาจำกัดแมลงซึ่งสารพิษชนิดนี้จะทำอันตรายกับคนเราไม่มาก แต่ก็ไม่ควรให้ร่างกายสัมผัสหรือหายใจเข้าไป ยิ่งถ้าหากเข้าสู่ร่างกายโดยการดื่มกินเข้าไปก็ต้องระวัง โดยเฉพาะคนที่เป็นและเคยเป็นโรคหอบหืด เพราะจะทำให้อาการหอบหืดปรากฏขึ้นมาได้ อาการเบื้องต้นก็มีทั้ง คลื่นไส้ อาเจียน ไปจนถึงชีพจรเต้นช้า หายใจติดขัด ผิวหนังซีด เหงื่อออก กล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งเหตุผลที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาปนเปื้อนอยู่ในกุ้งแห้งก็เพราะพ่อค้า-แม่ค้าบางคนนำเจ้าสารเคมีดังกล่าวมาฉีดลงบนกุ้งแห้งเพราะไม่อยากให้มีแมลงวันมาตอมกลัวจะดูไม่ดีลูกค้าไม่มาซื้อ อะฟลาทอกซิน เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักเกิดกับพืชตระกูลถั่ว ข้าว และอาหารแห้งต่างๆ โดยเฉพาะยิ่งเมื่ออยู่ในสภาพอาการที่ร้อนชื้น สำหรับพิษของอะฟลาทอกซินจะไปทำอันตรายกับตับ คือทำให้เกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับตับ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง รวมทั้งอาจทำให้เกิดอาการสมองอักเสบ วิธีหลีกเลี่ยงสารอะฟลาทอกซินอย่างแรกก็คือ ไม่ทานอาหารที่มีเชื้อราขึ้น สังเกตง่ายๆ ก็คือถ้ามีรอยสีดำหรือสีเขียวเข้มๆ เกิดที่อาหาร ให้สงสัยได้เลยว่าเป็นเชื้อรา วิธีทำกุ้งแห้ง บ้านเราแดดจัดดี ถ้าพอมีพื้นที่โล่ง ทำกุ้งแห้งกินเองก็ดีนะครับ กุ้งที่นิยมนำมาทำกุ้งแห้งคือกุ้งทะเลเปลือกบางครับ นำมาต้มหรือนึ่งจนสุก โดยเคล้าเกลือพอให้มีรสเค็ม จากนั้นก็นำไปตากแดด ถ้าแดดดี ๆ แค่วันเดียวก็แห้งใช้ได้แล้วครับ จากนั้นก็หาถุงผ้าใส่กุ้งลงไปแล้วบุบหรือทุบด้วยไม้ตีพริก จะทำให้เปลือกร่อนออกมา แกะส่วนเปลือกทิ้งไป เราก็จะได้กุ้งแห้งอย่างดี รสชาติอร่อย ไม่ปนเปื้อนสารเคมีครับ อ้อสำหรับบ้านที่ไม่มีพื้นที่สำหรับตากแดด ลองนำกุ้งสดหรือกุ้งแช่แข็ง(ละลายก่อนนะครับ) เคล้าเกลือแล้วอบด้วยเตาอบไฟฟ้า ก็พอจะเป็นกุ้งแห้งแบบบ้านๆ ได้แล้วครับ กุ้งขนาดกลาง 1 กิโลกรัม พอตากแดดแห้งแล้วจะเหลือน้ำหนักประมาณ 250 กรัมครับ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281( พ.ศ.2547) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ระบุว่า เนื้อสัตว์ทุกชนิด ที่ปรุงแต่ง รมควัน ทำให้แห้ง ห้ามใส่สี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่288 (พ.ศ. 2548) เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ระบุว่าอนุญาติให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในอาหารทะเลแห้ง ดังนั้นจึงไม่ควรมีปนเปื้อนมาในอาหาร (ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 111 ผลทดสอบ เห็ดหอม เห็ดหูหนูขาวและสาหร่ายทะเล

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอรายงานผลการทดสอบของแห้งสำหรับปรุงอาหารยอดนิยม 3 ชนิดคือ เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายทะเลแห้ง ครับผลการทดสอบที่จะนำเสนอคราวนี้มาจากการเก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนกันยายน และครั้งที่สอง เดือนพฤศจิกายน 2552 โดยเก็บตัวอย่างจากทั้งในห้างสรรพสินค้าและในตลาดสด ของพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สตูล และสงขลา เห็ดหอมแห้ง จำนวนรวมของตัวอย่างที่ทดสอบ คือ 17 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ครั้งที่ 1 จำนวน 9 ตัวอย่าง และ ครั้งที่ 2 จำนวน 8 ตัวอย่าง 1. การทดสอบสารตกค้างทางการเกษตรประเภทยากันรา พบยากันรา (คาร์เบนดาซิม: Carbendazim) 12 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 5 ตัวอย่าง + ทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็น 2 ใน 3 ของตัวอย่างทั้งหมด ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.33 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณที่พบสูงสุด 3 อันดับแรก ดังนี้ (1) 1.71 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มียี่ห้อและไม่ระบุผู้ผลิต เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 2 จังหวัดขอนแก่น (2) 0.67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มียี่ห้อ และไม่ทราบผู้ผลิต เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองสตูล (3) 0.54 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตราตะวัน บ. ตะวันพืชผล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ เก็บตัวอย่างจากบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม 2. การทดสอบสารเคมีตกค้างทางการเกษตรกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) พบตัวอย่างที่ปนเปื้อนสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต 9 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 5 ตัวอย่าง และ จากการทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 4 ตัวอย่าง ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.016 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณสารเคมีที่พบซึ่งมีค่าสูงกว่า 0.02 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 2 ตัวอย่าง คือ (1) ยี่ห้อเทสโก้ โลตัส ปริมาณที่พบ 0.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาจังหวัดสมุทรสงคราม และ (2) ยี่ห้อ บิ๊กซี ปริมาณที่พบ น้อยกว่า 0.035 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขาพระราม 2 กรุงเทพฯ 3. การทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) พบตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน จำนวน 5 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 3 ตัวอย่าง และ จากการทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 2 ตัวอย่าง หรือประมาณ 1 ใน 4 ของตัวอย่างทั้งหมด มีปริมาณเฉลี่ยที่พบเท่ากับ 5.42 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (เทียบเท่ากับ 1 ใน 4 ของปริมาณสูงสุดที่กำหนดให้มีได้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ซึ่งระบุไว้ว่าไม่เกิน 20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม) โดยมีปริมาณอะฟลาทอกซินทั้งหมดที่พบสูง 3 อันดับดังนี้ (1) ตราคุ้มค่า ของ บ. ตะวันพืชผล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ ปริมาณที่พบ 11.0 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สาขาบางประกอก กรุงเทพฯ (2) ยี่ห้อ บิ๊กซี ของ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต ปริมาณที่พบ 8.1 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขาพระราม 2 กรุงเทพฯ (3) ยี่ห้อ เทสโก้ โลตัส ของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กรุงเทพฯ ปริมาณที่พบ 5.0 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ข้อสังเกต1. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 7 ตัวอย่าง จาก 17 ตัวอย่าง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เชื้อรา (Mold) ซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดในกระบวนการผลิต และมีอัตราเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 1,764.3 โคโลนี/กรัม (เกณฑ์มาตรฐานกรมวิทย์ฯ เท่ากับ 500 โคโลนี/กรัม)2. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่างจาก 2 ตัวอย่าง (อีก 15 ตัวอย่าง ไม่ได้วิเคราะห์) ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกินมาตรฐาน โดยทั้งสองตัวอย่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา ปริมาณที่พบ 2,379.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่พบเท่ากับ 2,065.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม3. ผลิตภัณฑ์กว่า 3 ใน 4 ของที่เก็บตัวอย่างไม่สามารถระบุวันผลิตและวันหมดอายุได้ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีอายุแค่ไหน เหมาะสมแก่การบริโภคหรือไม่4. ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากห้างค้าส่งหรือค้าปลีกขนาดใหญ่หรือผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสด ล้วนมีความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างทางการเกษตร อะฟลาทอกซิน หรือแม้กระทั่งซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่แตกต่างกัน ** อย่างไรก็ตามปริมาณการปนเปื้อนในเห็ดหอมแห้งที่พบโดยภาพรวมยังถือว่ามีปริมาณไม่มากนัก และไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายฉับพลันจากการบริโภค ยกเว้น แต่ในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ อาจจะพบอาการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจจากการบริโภคเห็ดหอมแห้งที่มีการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณสูงได้   เห็ดหูหนูขาว เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 16 ตัวอย่าง (ครั้งที่ 1 เดือนกันยายน และครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 ครั้งละ 8 ตัวอย่าง) 1.พบการปนเปื้อนของยากันรา – คาร์เบนดาซิม 2 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ ทั้งหมดพบในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือนกันยายน 2552 คิดเป็นร้อยละ 12.5 โดยตัวอย่างที่พบ ได้แก่ ยี่ห้อปลาทอง ของ บ. เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาสตูล ปริมาณที่พบ 0.282 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดพะเยา ปริมาณที่พบ น้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2.พบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร กลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต 6 จาก 16 ตัวอย่าง โดยทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.073 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สารเคมีที่พบ มี 2 ชนิดคือ Methamidophos (จำนวน 2 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ 0.28 และ 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจาก จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล ตามลำดับ) และ Chlorpyrifos (จำนวน 4 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.0037 – 0.0027 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม, ตลาดเก่าเยาวราช กรุงเทพฯ, ห้างแมคโคร เชียงใหม่, และตลาดเมืองพะเยา 3.พบการปนเปื้อนของสารฟอกขาว-ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในตัวอย่างทั้งสิ้น 12 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ ปริมาณเฉลี่ยที่พบ 1,638.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มี 8 ตัวอย่างที่พบมีการปนเปื้อนเกินมาตรฐานวัตถุเจือปนอาหาร (1,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ดังนี้ (1) ตัวอย่างนำเข้าจากประเทศจีนไม่ทราบยี่ห้อ ที่เก็บจากตลาดนิวกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 3,588 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) ยี่ห้อ Tai Liang Yao เก็บตัวอย่างจากตลาดเก่าเยาวราช กรุงเทพ ฯ ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,978.7 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(3) ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเทศบาล 3 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,585 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(4) ผลิตภัณฑ์ของ บ. ทริปเปิ้ลทู มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ สาขารังสิต ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,226.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(5) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู จังหวัดสตูล ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,250.49 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (6) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองพะเยา ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,183.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(7) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,038.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(8) ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเทศบาล 2 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือน พฤศจิกายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 1526.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4.พบสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาท็อกซิน 1 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจากการเก็บต้วอย่างครั้งที่ 2 เดือน พฤศจิกายน 52 ยี่ห้อตะวัน ของ บริษัท บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม สารพิษที่พบ คือ อะฟลาทอกซิน ชนิด B1 ปริมาณที่พบ 0.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ข้อสังเกต1. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 1 ตัวอย่างจากทั้งหมด 16 ตัวอย่างที่พบค่าเชื้อรา (Mold) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดจากการผลิตเกินมาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ไม่เกิน 500 โคโลนี/ต่อกรัม) ที่จำนวน 5,800 โคโลนี/กรัม โดยเป็นตัวอย่าง ยี่ห้อตะวัน ของ บริษัท บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม2. ผลิตภัณฑ์ที่เก็บส่วนใหญ่ ( 14 จาก 16 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 87.5) ไม่มีการระบุวันผลิตและวันหมดอายุ สาหร่ายทะเลแห้ง เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 22 ตัวอย่าง (ครั้งที่ 1 เดือนกันยายน 52 จำนวน 7 ตัวอย่าง และ ครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 52 จำนวน 15 ตัวอย่าง) ผลทดสอบ1.ไม่พบการปนเปื้อนของสารกันรา – คาร์เบนดาซิม ในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ2.พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต 10 จาก 22 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนกันยายน 52 จำนวน 2 ตัวอย่างและตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนพฤศจิกายน 52 จำนวน 8 ตัวอย่าง ปริมาณเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.005 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณบริโภคปกติจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย3.ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซิน ในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ 4.พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก ตะกั่ว (Lead) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณเฉลี่ยของตะกั่วที่พบเท่ากับ 0.57 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของ ค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนด (ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) เมื่อนำมาตรฐานมาเทียบพบว่ามีผลิตภัณฑ์จำนวน 3 ตัวอย่างมีค่าตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐาน (ร้อยละ 13.6) โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บเมื่อเดือนกันยายน 2552 จำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ เขียวธรรมชาติ เก็บตัวอย่างจาก เทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม ปริมาณที่พบ 1.31 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ Seaweed ผลิตโดย Poo tradind and export ,Pinang , Malaysia เก็บตัวอย่างจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ปริมาณตะกั่วที่พบเท่ากับ 1.88 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยี่ห้อ ใบเขียว ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ปริมาณที่พบเท่ากับ 1.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 5.พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก แคดเมียม (Cadmium) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบเท่ากับ 1.86 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ เกือบสิบเท่าของมาตรฐานอาหารสากลกำหนด (CODEX ใบผัก – 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณแคดเมียมสูงกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีทั้งสิ้น 9 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากตลาดสดมหาสารคาม ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 52 ปริมาณที่พบเท่ากับ 5.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) สาหร่ายทะเลแห้งยี่ห้อปลาทองของ บ.เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด เก็บตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบ เท่ากับ 4.66 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (3) ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Donghu seaweed เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองสตูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณที่แคดเมียมที่พบ เท่ากับ 3.93 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(4) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองพะเยาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 3.26 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(5) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเทศบาล 2 จังหวัดขอนแก่น เดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.34 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(6) สาหร่ายทะเลแห้งยี่ห้อปลาทองของ บ.เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด เก็บตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส สาขาสมุทรสงคราม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(7) ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเป็นภาษาจีน เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.11 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(8) ผลิตภัณฑ์นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อเดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(9) สาหร่ายทะเลแห้งตราแมกซ์ นำเข้าโดย บจก.แมกซ์เมริตี้ เก็บตัวอย่างจากห้างสยามพารากอน กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบ เท่ากับ 2.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ข้อมูลที่ต้องลงกำกับไปพร้อมกับตาราง • ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดลภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่นคณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ฉลาดซื้อ “ของแห้ง”1. ทั้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาวและสาหร่ายแห้ง ส่วนมากเป็นอาหารที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงยากที่เราจะทราบเรื่องวันเดือนปีที่ผลิต ดังนั้นวิธีการง่ายๆ ที่เราพอจะทำได้ในการสังเกตคุณภาพของอาหารแห้งเหล่านี้ก็คือ ดูที่บรรจุภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ไม่มีร่องรอยฉีกขาด หรือดูไม่สะอาดจนน่าสงสัย2. ขึ้นชื่อว่าอาหารแห้ง ตัวผลิตภัณฑ์ก็ต้องอยู่ในสภาพที่แห้งจริงๆ ไม่มีความชื้น เพราะถ้าหากมีความชื้นปนเปื้อนมาในอาหารแห้งที่เราซื้อ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าสินค้าตัวนั้นไม่มีคุณภาพ3. เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแห้ง ที่ซื้อมาควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย แช่น้ำให้นานๆ ก่อนนำไปปรุงอาหาร ช่วยกำจัดได้ทั้งฝุ่นและแมลงตัวเล็กๆ ที่มักปนเปื้อนมากับอาหารแห้ง รวมทั้งยังช่วยชะล้างสารเคมีบางชนิดได้ด้วย 4. ไม่เลือกผลิตภัณฑ์ที่ดูขาวจนผิดธรรมชาติ เพราะมีการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือสารฟอกขาวแน่ๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 110 ชาโบราณยี่ห้อไหนใส่สีมากเกินไป

เสน่ห์ของ ชาโบราณ ที่มัดใจใครหลายๆ คนให้หลงใหล คงหนีไม่พ้นเรื่องของรสชาติที่สะดุดลิ้นกับกลิ่นหอมที่ดึงดูดใจ และคงรวมไปถึงสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ ฉูดฉาดบาดใจ แต่นักดื่มชาโบราณทั้งหลายเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า สีของชาเย็น ชาดำเย็นที่เราดื่มนั้นมันเป็นสีจากธรรมชาติหรือมาจากการเติมแต่งเข้าไป “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้มีความจริงเรื่อง “สีในชา” ที่น่าตกใจมาเปิดเผยให้ทุกคนได้รู้กัน ชาโบราณ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทชาปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม ที่ทางการอนุญาตให้ใส่สีได้ โดยต้องมาจดแจ้งขออนุญาตกันก่อน เพื่อจำกัดปริมาณสีที่ผสมเข้าไปไม่ให้มากจนอาจเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ได้ตระเวนเก็บตัวอย่างชาผงสำเร็จรูป แบบที่นำมาชงเป็นชาดำเย็นหรือชาเย็นใส่นมที่หลายๆ คนชอบซื้อดื่มจากร้านหรือรถเข็นขายชา-กาแฟทั่วๆ ไป ซึ่งชาชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็น ชาโบราณ ชาแดง ชาซีลอน ชาดำ ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 196) พ.ศ. 2543 ระบุเอาไว้ว่า ชาผงสำเร็จรูป ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานดังนี้ คือ (1) มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 6 ของน้ำหนัก (2) มีเถ้าทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักชาผงสำเร็จรูปแห้ง (3) มีกาเฟอีน (caffeine) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.0 ของน้ำหนัก เว้นแต่ชาผงสำเร็จรูปที่สกัดเอากาเฟอีนออกแล้ว ให้มีกาเฟอีนได้ในปริมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และข้อที่ (4) ที่สำคัญมากๆ คือ เรื่อง สี ซึ่งในประกาศระบุไว้ว่า “ไม่ให้ใส่สี” แม้จะแต่งกลิ่นและรสได้ แต่ห้ามใส่สีเด็ดขาดทั้งในชาผงสำเร็จรูปและใบชา จะยกเว้นก็เฉพาะชาปรุงสำเร็จพร้อมดื่มที่ไม่ได้ระบุเรื่องการห้ามใส่สีเอาไว้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ผลทดสอบ “สี” ในชาผงปรุงสำเร็จ- ในการทดสอบครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จทั้งหมด 13 ยี่ห้อ ซึ่งเลือกจากการบอกเล่าของแม่ค้า พ่อค้า ที่ขายชาโบราณว่า นิยมใช้ยี่ห้อใดในการขาย โดยฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างของชาเขียว 1 ตัวอย่าง คือ ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม เพิ่มเติม นอกนั้นเป็นชาดำ ทั้งหมด - การทดสอบตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จทั้ง 13 ยี่ห้อ พบว่ามีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่ไม่พบการใส่สีสังเคราะห์เพิ่มเติม คือ Yoku ซึ่งที่ข้างซองไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ไว้เลย แจ้งเพียงแค่ ใบอนุญาตนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักรเลขที่ 10-3-13-13446 - สีผสมอาหารที่พบในการทดสอบครั้งนี้คือ ซันเซ็ต เย็ลโลว์ (Sunset yellow) และ ตาร์ตราซีน (Tartrazine) ซึ่งเป็นกลุ่มสีที่ให้สีเหลือง, ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4R) และ คาร์โมอีซีน (Carmoisine) กลุ่มสีที่ให้สีแดง และ บริลเลียนท์ บลู (Brilliant blue) กลุ่มสีที่ให้สีน้ำเงิน ซึ่งทั้งหมดเป็นสีผสมอาหารที่เป็นสีสังเคราะห์ - ซันเซ็ต เย็ลโลว์ เป็นสีที่พบในทุกตัวอย่าง (ยกเว้น Yoku ที่ไม่พบสีผสมอยู่เลย) ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ ยี่ห้อ ตราแพะ (ชาซีลอน) ซึ่งมีถึง 7356.70 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งในการชงชาดื่ม 1 แก้ว ปริมาณชาผงปรุงสำเร็จที่ใช้ชงจะอยู่ที่ 2 ช้อนชา หรือประมาณ 10 กรัม เมื่อคำนวณดูแล้ว ปริมาณสีสังเคราะห์ต่อการดื่มชาตราแพะ (ชาซีลอน) 1 แก้ว จะอยู่ที่ประมาณ 73.56 มิลลิกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูง เพราะโดยทั่วไปแล้วปริมาณที่ให้ใช้โดยปลอดภัยกำหนดไว้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน (จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. ภัยมืดจากสารพิษ. เชษฐ สตูดิโอ แอน กราฟิคดีไซน์ จำกัด : กรุงเทพฯ. 2537) - ตัวอย่างอื่นๆ ที่ตรวจพบสีในปริมาณที่สูงรองลงมา คือ ตรามังกรบิน (5091.60 มิลลิกรัม/ 1 กิโลกรัม), Racehorse (ตราม้าแข่ง) (4338.03 มล./ 1 กก.), ตรางูเห่า สูตรเข้มข้น (4012.31 มล./ 1 กก.) และ ตราเทพพนม (3191.35 มล./ 1 กก.) - Racehorse (ตราม้าแข่ง), ตราเทพพนม, ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม, ตราสามแพะ และ Kapak (ใบชาตราขวาน) ตรวจพบสีสังเคราะห์ปนเปื้อนมากกว่า 1 ชนิด คือ พบทั้ง ซันเซ็ต เย็ลโลว์ กับ ตาร์ตราซีน ซึ่งเป็นสีในกล่มสีเหลือง และ ปองโซ 4 อาร์ กับ คาร์โมอีซีน ซึ่งเป็นสีในกลุ่มสีแดง ยกเว้น ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม ที่ไม่ใส่สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง แต่พบสีในกลุ่มสีน้ำเงินคือ บริลเลียนท์ บลู - ชาโบราณ Finest Ceylontea Dust 999, ชาโบราณ Finest Ceylon Tea Dust 666 และ Racehorse (ตราม้าแข่ง) เป็นผลิตภัณฑ์ชาผงปรุงสำเร็จที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเคยมีข่าวว่า อย. เก็บตัวอย่างของทั้ง 3 ยี่ห้อมาทดสอบแล้วก็พบการเติมสีสังเคราะห์ในปริมาณสูงเช่นกัน ซึ่งแม้ อย. จะออกมาตรการคุมเข้มการนำเข้าสินค้าไม่มีคุณภาพ แต่ก็ยังมีสินค้าเหล่านี้เล็ดรอดเข้ามาได้อยู่ดี - ชาผงปรุงสำเร็จ ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม และ ตรามือ ฉลากแดง (ชนิดเติม) มีการระบุไว้ที่ฉลากว่า เจือสี ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่างมาจากผู้ผลิตเดียวกัน - นอกจากเรื่องสีผสมอาหารแล้ว ในการทดสอบชาผงปรุงสำเร็จครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ”  ได้เลือกวิเคราะห์หาสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ด้วย ซึ่งผลที่ออกมาน่าจะทำให้ผู้บริโภคสบายใจขึ้นบ้าง เพราะไม่พบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทำการทดสอบ ฉลาดซื้อแนะ1.ตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ร้านขายชา – กาแฟโบราณ ซื้อจากตลาดหรือร้านค้าส่งขนาดใหญ่ เพื่อไปต้มชงขายอีกที ซึ่งปกติเราก็ไม่ค่อยได้ทราบกันอยู่แล้วว่าร้านที่เราซื้อเขาใช้ชาแบบไหนมาชงให้เรา แบบนี้การหลีกเลี่ยงสีสังเคราะห์ที่อยู่ในชาก็เป็นเรื่องยาก นอกจากจะลดการดื่มชา ทั้งชาดำเย็นและชานมเย็น เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าสีส้มสวยๆ ของชา มาจากสีสังเคราะห์ซึ่งถ้าเราได้รับเข้าสู่ร่างกายมากๆ ก็อาจเป็นอันตราย2.แต่ถ้าหากอยากดื่มชา แนะนำว่าให้ซื้อมาชงกินเอง โดยเลือกซื้อชาผงสำเร็จรูปที่มีบรรจุภัณฑ์สะอาดเรียบร้อย มีเลขที่อย.ถูกต้อง มีการแจ้งชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ และส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงในการได้รับสีสังเคราะห์มากเกินไปแล้ว เรายังสามารถควบคุมเรื่องความหวานจากน้ำตาลและนมได้ด้วย---------------------------------------------------------------------------------------------------- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการกำหนดปริมาณสีที่อนุญาตให้ใช้ผสมในอาหารประเภท เครื่องดื่ม ไอศกรีม ลูกกวาด และขนมหวาน ดังนี้สีที่ใช้ได้ปริมาณไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้บริโภค 1 กิโลกรัม * สีแดง ได้แก่ - เอโซรูบีน , เออริโทรซิน * สีเหลือง ได้แก่ - ตาร์ตราซีน , ซันเซ็ตเย็ลโลว์ เอ็ฟ ซี เอ็ฟ * สีเขียว ได้แก่ - ฟาสต์ กรีน เอ็ฟ ซี เอ็ฟ * สีน้ำเงิน ได้แก่ - อินดิโกคาร์มีน หรือ อินดิโกตินสีที่ใช้ได้ปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้ บริโภค 1 กิโลกรัม * สีแดง ได้แก่ - ปองโซ 4 อาร์ * สีน้ำเงิน ได้แก่ - บริลเลียนห์บลู เอ็ฟ ซี เอ็ฟ www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/.../candy.htm - ---------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของสีผสมอาหาร1.การรับประทานสีสังเคราะห์ในปริมาณมากร่างกายอาจได้รับอันตราย สีสังเคราะห์เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้น้ำย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องผูก และยังมีผลทำให้การดูดซึมอาหารถูกขัดขวาง ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และอาจส่งผลต่อการทำงานของไตและตับ 2.ในสีสังเคราะห์มักจะมีสารตกค้างอื่นๆ ปะปนมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารประเภทโลหะหนัก เช่น แคดเมียม  ตะกั่ว สารหนู ปรอท พลวง  โครเมียม เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้แม้จะได้รับในปริมาณเล็กน้อยแต่ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ปล่อยไว้นานเข้าก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ตารางแสดงผลทดสอบสีผสมอาหารในชาผงปรุงสำเร็จ     ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น วิเคราะห์ผลโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ‘สารกันบูด’ สูตรอร่อยเสี่ยงในลูกชิ้น

ลูกชิ้น หนึ่งในอาหารยอดนิยม ทั้งกินเล่นกินจริง นำไปปรุงเป็นอาหารต่างๆ ได้หลายเมนู ทั้งใส่ ก๋วยเตี๋ยว ปิ้ง ทอด หรือยำลูกชิ้นก็มี ลูกชิ้นมีขายทั่วไปทั้งหน้าโรงเรียน หน้าปากซอย ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ตในห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ด้วยความหลากหลายในการนำไปประกอบอาหารนี้เอง ทำให้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารสนใจและอยากรู้ว่าจะมีการปนเปื้อนอะไรบ้างในลูกชิ้น ทางโครงการฯ ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และพื้นที่ดำเนินงานอีก 7 จังหวัด ของโครงการพัฒนากลไก ฯ จึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นไก่ และ ลูกชิ้นปลา จากทั้งตลาดสด ร้านค้าปลีกในจังหวัด และ ห้างค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่ (โลตัส แมคโคร คาร์ฟูร์) ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เพื่อตรวจหาสารกันบูด 4 ประเภท คือ กรดเบนโซอิค กรดซอร์บิค ไนเตรท และไนไตรท์ นอกจากนั้นยังตรวจหาน้ำประสานทองหรือ บอแรกซ์ อีกด้วย โดยเก็บตัวอย่างลูกชิ้นหมูจากพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ และ พะเยา จำนวน 22 ตัวอย่าง (22 ยี่ห้อ) เก็บตัวอย่างลูกชิ้นไก่จากจังหวัดสงขลา และ จังหวัดสตูล จำนวน 8 ตัวอย่าง (8 ยี่ห้อ) และ เก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลา จากจังหวัดพะเยา จำนวน 2 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) รวมตัวอย่างลูกชิ้นที่เก็บ ทั้งสิ้น 32 ตัวอย่าง (32 ยี่ห้อ) ผลการทดสอบ1. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหาร ประเภทสารกันบูด – กรดเบนโซอิค1.1. พบว่าลูกชิ้นหมูทุกยี่ห้อ (22 ยี่ห้อ) ที่เก็บตัวอย่างใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบอยู่ที่ 2,206.97 มิลลิกรัม/กิโลกรัม การแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามผลที่พบออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 7 ตัวอย่าง (ร้อยละ 32) และกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคสูงกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 15 ตัวอย่าง (ร้อยละ 68) ปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบสูงสุด 5 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ยี่ห้อกวางตุ้ง 9536.19 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างโลตัสจังหวัดเชียงใหม่ (2) ยี่ห้อหมูรวมดาว 3,572 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากจังหวัดมหาสารคาม (3) ยี่ห้อหมูสยาม 3317.59 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดยิ่งเจริญ กรุงเทพฯ (4) ยี่ห้อคุณหมอ 3,163.27 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดห้วยขวาง กรุงเทพฯ และ (5) ยี่ห้อน้องเพียร 3,152 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากจังหวัดมหาสารคาม 1.2. พบว่าลูกชิ้นไก่ทุกยี่ห้อ (8 ยี่ห้อ) ที่เก็บตัวอย่างใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบอยู่ที่ 2,243.668 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 37.5) ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคสูงกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบสูงสุด 3 ตัวอย่างได้แก่ (1) ยี่ห้ออร่อย 5 ดาว 5,796 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (2) ยี่ห้อบีบี 4,371.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล และ (3) ยี่ห้อจงหยวน 2,672 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 1.3. พบว่าลูกชิ้นปลาจำนวน 1 ตัวอย่างจาก 2 ตัวอย่างที่ทำการสำรวจในจังหวัดพะเยาใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค คือยี่ห้อห้าดาว ซึ่งเก็บจากตลาดสดแม่ต๋ำ โดยพบที่ปริมาณ 167.37 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – กรดซอร์บิคพบว่ามีลูกชิ้นจำนวน 5 ตัวอย่างที่ใช้กรดซอร์บิคในผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นลูกชิ้นหมูจำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ยี่ห้อแชมป์ 138.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างแม็คโคร จังหวัดเชียงใหม่ (2) ยี่ห้อหมูดี 61.34 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ และ (3) ยี่ห้อเทสโก้ 103.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างโลตัสจังหวัดพะเยา อีก 2 ตัวอย่างที่พบกรดซอร์บิค ได้แก่ลูกชิ้นไก่ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสตูล ประกอบด้วยยี่ห้อบีวัน 406 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ ยี่ห้อไก่ยิ้ม 143.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 3. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – ไนเตรทจากการทดสอบทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง พบการใช้ไนเตรทในลูกชิ้นทั้งสิ้น 11 ตัวอย่าง แบ่งเป็นลูกชิ้นหมู 7 ตัวอย่าง (กรุงเทพ ฯ 4 ตัวอย่าง สมุทรสงคราม 2 ตัวอย่าง และมหาสารคาม 1 ตัวอย่าง) และลูกชิ้นไก่ 4 ตัวอย่าง (ทั้งหมดจากจังหวัดสงขลา) โดยมีปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 2.5 – 35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – ไนไตรท์จากการทดสอบทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง พบการใช้ไนไตรท์ในลูกชิ้นทั้งสิ้น 11 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ลูกชิ้นหมู 7 ตัวอย่าง (กรุงเทพฯ 3 ตัวอย่าง และ สมุทรสงคราม 4 ตัวอย่าง) และลูกชิ้นไก่ 4 ตัวอย่าง (ทั้งหมดจากจังหวัดสงขลา) โดยมีปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.2 – 4.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 5. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหาร – น้ำประสานทอง หรือ บอแรกซ์ไม่พบน้ำประสานทอง (บอแรกซ์) ในทุกตัวอย่างที่ทำการทดสอบ ข้อสังเกต1. มีลูกชิ้นหมูทั้งสิ้น 3 ยี่ห้อ ที่ใช้สารกันบูด 2 ชนิด คือกรดเบนโซอิค และกรดซอร์บิคร่วมกันในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อหมูดีและยี่ห้อแชมป์ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดขอนแก่น และยี่ห้อเทสโก้ ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดพะเยา 2. มีลูกชิ้นไก่จำนวน 2 ยี่ห้อ ที่ใช้สารกันบูด 2 ชนิด คือกรดเบนโซอิค และกรดซอร์บิคร่วมกันในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อ บีวันของบริษัทอาหารเบทเทอร์ และ ยี่ห้อไก่ยิ้มของบริษัท ซีพี ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสงขลา 3. มีลูกชิ้นหมูจำนวน 5 ยี่ห้อ ที่ใส่สารกันบูดตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป (กรดเบนโซอิค ไนเตรท และไนไตรท์) ในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อหมูสยาม วีไอพี และคุณหมอ ซึ่งเก็บจากตลาดสดในกรุงเทพฯ และ ยี่ห้อ พีพีเอ็น และ ศรีปทุม ซึ่งเก็บจากร้านค้าในจังหวัดสมุทรสงคราม 4. มีลูกชิ้นไก่จำนวน 4 ยี่ห้อ ที่ใส่สารกันบูดตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป (กรดเบนโซอิค ไนเตรท และไนไตรท์) ในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อจงหยวน อร่อย 5 ดาว บอลลูน และดิสโก้ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากตลาดสดในจังหวัดสงขลา สรุปผลในการทดสอบครั้งนี้ พบว่าตัวอย่างลูกชิ้นเกือบทุกยี่ห้อที่เรานำมาทดสอบครั้งนี้มีการใช้สารกันบูด โดยเฉพาะกรดเบนโซอิค ซึ่งถึงแม้ อย. จะอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ปริมาณที่ตรวจพบอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบมาตรฐานอาหารสากล (Codex Alimentarius Commission) ซึ่งกำหนดปริมาณการใช้กรดเบนโซอิคในอาหารไว้ว่าไม่ควรเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับคนที่ชอบลูกชิ้น เห็นตัวเลขของสารกันบูดจากผลการทดสอบครั้งนี้แล้วอาจตกใจ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่า สารกันบูดสามารถใส่ลงในลูกชิ้นได้แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด ซึ่งเราในฐานะผู้บริโภคก็ต้องรู้จักเลือกที่จะรับประทาน คือเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงข้อมูลส่วนผสมต่างๆ ชัดเจน แสดงแหล่งที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ล่าสุด อย. ก็ได้ออกกฎระเบียบใหม่ให้ผู้ผลิตลูกชิ้นต้องติดฉลากแสดงข้อมูลสำคัญต่างๆ ลงบนสินค้าของตัวเอง ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อ นอกจากนี้คนที่ชอบทานลูกชิ้นก็ต้องรู้จักควบคุมปริมาณการรับประทาน คือทานแต่พอดี เพราะถ้าทานมากไปก็ยิ่งเสี่ยงอันตราย ตารางแสดงผลการทดสอบสารกันบูดในลูกชิ้น    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 95 หมูยอ ก็ไม่พ้นสารกันบูด

หมูยอ อาหารพื้นบ้านที่คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบรับประทานและนิยมซื้อเป็นของฝากเวลาไปแอ่วเมืองเหนือหรือเยือนถิ่นอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ได้ชื่อว่า มีผลิตภัณฑ์แหนมและหมูยอ เป็นของดีของฝากประจำจังหวัดเดิมเวลาอยากกินหมูยอ เราอาจต้องรอให้คนซื้อมาฝาก แต่ตอนนี้แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็มีขายแล้ว เพราะเขาพัฒนาให้หมูยอกลายเป็นสินค้าที่สามารถส่งขายได้ทั่วประเทศ แต่ผู้บริโภคก็ต้องระวังไว้นะคะ เพราะหมูยอ จำเป็นมากที่ต้องใส่สารกันบูด เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อหมู ที่เอามาปั่นให้ละเอียดและผสมเครื่องปรุงตามสูตร ตีให้เหนียวหนับจนสามารถปั้นเป็นแท่งกลมๆ ได้ ก่อนจะทำให้สุก  แม้เป็นอาหารที่สุกแล้ว แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่า อากาศบ้านเรานั้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์สุดๆ ดังนั้นอาหารชนิดนี้หากจะส่งขายทั่วประเทศหรือแม้แต่เจ้าดังที่ขายในท้องถิ่นหรือตลาดสดประจำเมืองท่องเที่ยวทั้งหลาย ก็จำเป็นต้องผสมสารกันบูดกันไว้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เพื่อถนอมรักษาให้ผลิตภัณฑ์ไม่บูดเน่าเสียก่อนจะเข้าปากผู้บริโภค  ------------------------------------------------------------------------------------------------------- กรดเบนโซอิกหรือเกลือเบนโซเอทมีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ดี เมื่อใส่ลงในอาหาร ทำให้รสชาติไม่เปลี่ยนแปลง และมีราคาถูก ประสิทธิภาพของกรดเบนโซอิก คือสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายเชื้อจุลินทรีย์จำพวกยีสต์และแบคทีเรียได้ดี โดยปกติร่างกายของคนเรา สามารถกำจัดกรดเบนโซอิกออกได้โดยขับออกมาทางปัสสาวะ ------------------------------------------------------------------------------------------------------- การผสมสารกันบูดทั้งสองชนิดที่กล่าวมา ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม สามารถทำได้ค่ะ ทางกระทรวงสาธารณสุขเขาอนุญาต แต่มีมาตรฐานกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  เพราะถ้ามากกว่านี้เราก็เสี่ยงกับการรับสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายมากเกินไป (ต้องไม่ลืมว่าวันหนึ่งเรากินอะไรสารพัดอย่าง อาจไปเจอเอาสารกันบูดสองตัวนี้เข้าอีกก็ได้)ฉลาดซื้อจึงไปเดินตลาด เดินซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างและร้านสะดวกซื้อ แล้วได้หมูยอชนิดที่วางขายทั่วประเทศจำนวน  5 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.เจ๊หงษ์  หมูยอ 2.เจ้าสัว เตียหงี่เฮียง 3.เวียงเหนือ หมูยอ 4.บ้านไผ่ หมูยอ  5.ส.ขอนแก่น หมูยอเล็ก แล้วยังได้หมูยอที่จำหน่ายใน กาดวโรรส ตลาดดังเมืองเชียงใหม่ มาอีก 3 ยี่ห้อ คือ ป้าย่น หมูยอตำรับจีนไหหลำ วิมลรัตน์ หมูยอพริกไทยดำและสมพัตร หมูยอ ตำรับอุดร ซึ่ง 3 ตัวหลังนี้ไม่มีวันหมดอายุระบุ เพราะแม่ค้าเขาแจ้งว่า “ขายหมดวันต่อวันจ้า” ตารางทดสอบ สารกันบูด Benzoic and Sorbic acid ;ในผลิตภัณฑ์หมูยอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 94 มีถั่วลิสงที่ไหน มีอะฟลาท็อกซินที่นั่น ?

ถั่วลิสงเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ และใช้บริโภคได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบสด หรือนำไปประกอบอาหารอื่นๆ อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีและราคาไม่แพง แต่ก็นั่นแหละ เวลาที่กระทรวงสาธารณสุขสำรวจอาหารทั่วประเทศทีไร ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอๆ ก็คือ การปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาทอกซิน ที่มักตรวจพบในถั่วลิสงมากที่สุด โดยเฉพาะถั่วคั่วที่นำมาปรุงอาหารหลายชนิด อย่างก๋วยเตี๋ยวผัดไท ก๋วยเตี๋ยวต้มยำหรือส้มตำไทยที่คนนิยมกันทุกหัวระแหงนั่นแหละตัวดีเลย ตรวจเจอเป็นประจำ ผู้บริโภคจึงไม่ควรรับประทานให้บ่อยมากนัก ในส่วนของถั่วคั่วเราอาจพอคาดเดาได้ว่า มีสารอะฟลาท็อกซินอยู่มากและควรหลีกเลี่ยง แต่ในกรณีของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่วเป็นตัวชูโรง อย่างถั่วลิสงอบเกลือ หรือถั่วลิสงเคลือบแป้ง ตลอดจนถั่วลิสงที่อบกรอบทั้งเปลือกที่บรรจุซองขายในลักษณะของอาหารว่างนั้น ก็เข้าข่ายต้องสงสัยเหมือนกันว่า มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนต่อการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาท็อกซิน ตารางทดสอบถั่วลิสงอบเกลือ/ถั่วลิสงเคลือบแป้ง/ถั่วลิสงอบกรอบทั้งเปลือก ทดสอบที่สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดลส่งตัวอย่างวิเคราะห์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551ผลการวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 94 พริกป่น…เสี่ยงอะฟลาท็อกซินไม่แพ้ถั่วลิสง

เกิดเป็นไทยกินอาหารอะไรก็ต้องให้แซ่บไว้ก่อน พริกเลยเป็นเครื่องเทศที่เกือบขาดไม่ได้ในอาหารไทย นอกจากเรื่องกินแล้ว พริกยังจัดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญระดับประเทศ เพราะสามารถนำไปพัฒนาในระดับอุตสาหกรรมได้อีกหลายอย่างนอกจากเรื่องอาหาร ได้แก่ ยา ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ยาฆ่าแมลง ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ปลวก หนู ส่วนผสมของสายเคเบิล ผลิตภัณฑ์แก้ง่วง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ป้องกันตนเองในกลุ่มของผลิตภัณฑ์อาหารนอกจากน้ำพริก ซอสพริกแล้ว พริกแห้ง พริกป่น ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน ดูอย่างก๋วยเตี๋ยวถ้าสั่งใส่ถุงกลับบ้าน ทุกถุงก็จะได้รับพริกป่นในแบบซองเล็กๆ ใส่ให้ด้วย ถ้าเป็นแบบเดิมคนขายจะตักแยกใส่ถุงพลาสติกแบ่งครึ่งกับน้ำตาลทรายให้ลูกค้า แต่แบบซองเล็กๆ นี้ก็สะดวกมากขึ้นเพราะดูผนึกเรียบร้อยมิดชิดดี พริกป่นนั้นควรต้องเก็บในที่แห้งสนิท เพราะเชื้อราจะขึ้นได้ง่ายมาก และหากเกิดเชื้อราขึ้นแล้วเราก็จะได้รับสารพิษ “อะฟลาท็อกซิน” เป็นของแถม จากข้อมูลที่ผ่านมา พริกป่น จัดว่าเป็นอาหารที่เสี่ยงต่ออะฟลาท็อกซินไม่แพ้ถั่วลิสง ยิ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าพริกป่นจากต่างประเทศมากขึ้น ความเสี่ยงก็มีมากขึ้น เพราะผู้บริโภคจะขาดข้อมูลในเรื่องแหล่งผลิตสินค้า ทำให้ไม่อาจมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตพริกป่นนั้นมีการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ฉลาดซื้อทดสอบเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเรื่อง อะฟลาท็อกซินในพริกป่น ฉลาดซื้อ ได้เก็บตัวอย่างพริกป่นที่บรรจุในซองสำเร็จรูปที่แถมกับอาหารตามสั่งหรือก๋วยเตี๋ยว ยี่ห้อยอดนิยมสองยี่ห้อได้แก่ ไร่ทิพย์และข้าวทอง พร้อมด้วยพริกป่นที่บรรจุซองขายในห้างสรรพสินค้าอีก 5 ยี่ห้อ ได้แก่ พริกขี้หนูป่นตรา เจเจ พริกขี้หนูป่นตราบางช้าง พริกขี้หนูป่น ตรามือที่ 1 พริกขี้หนูป่น ตรานักรบ และพริกขี้หนูป่น ตราศาลาแม่บ้าน และพริกขี้หนูแบบแบ่งขายในตลาดสดพระประแดงและตลาดสดดินแดง แล้วมอบให้ห้องทดสอบของสถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล ตรวจหาสารพิษอะฟลาท็อกซิน ผลทดสอบพบว่า มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในพริกป่นเกือบทุกตัวอย่าง แต่ในปริมาณที่ไม่มากจนน่าห่วง พบน้อยกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม อีกอย่างพริกนั้นเรากินไม่มาก แค่พอชูรสให้อร่อย จากผลทดสอบจึงไม่น่าจะมีปัญหาต่อการบริโภค แต่ก็ไม่ควรประมาทเพราะวันหนึ่งๆ เราก็กินอาหารอื่นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินด้วยเช่นเดียวกัน ให้ดีที่สุดก็คือ เลือกพริกแห้งมาคั่วทำพริกป่นกินเองจะดีที่สุด ส่วนแม่ค้าแม่ขายที่ซื้อพริกป่นจากตลาดสด ควรเลือก เจ้าที่เชื่อถือได้และมีการหมุนเวียนขายพริกได้ไว อย่างที่ตลาดพระประแดง ฉลาดซื้อไม่พบอะฟลาท็อกซินในตัวอย่างพริกป่นเลย เพราะของเขาขายดีมาก หมดไวมาก ขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ พบอะฟลาท็อกซินกันอย่างละเล็กละน้อย  (ดูตาราง) ตารางผลทดสอบปริมาณอะฟลาท็อกซินในพริกป่น

อ่านเพิ่มเติม >